จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
เมษายน 26, 2024, 07:06:02 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 10
 11 
 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 05, 2024, 04:37:30 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
พระยารามรณรงค์สงครามรามภักดีอภัยพิริยปรากรมพาหุ (พระยากำแพงเพชร-นุช) เดิมรับราชการอยู่ที่กรุงเทพฯ ในรัชสมัยขององค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระยากำแพงเพชร (นุช) เป็นบุตรของพระยากำแพง (เกริก สมัยกรุงธนบุรี) มีภรรยาเรียกกันว่า ท่านผู้หญิงชี แต่ชื่อจริงเรียก “กาว” เป็นราชธิดาเจ้าผู้ครองนครเชียงราย พระยากำแพงเพชร (นุช) เป็นญาติกับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังโฆสิตาราม ครั้นพระยากำแพงเพชร (นุช) ได้ไปราชการทัพหลายครั้ง มีความดีความชอบ องค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้พระราชทาน ดาบด้ามทองฝักทองคำเป็นบำเหน็จมือ (พระแสงฯ ราชศัสตรา ประจำเมืองกำแพงแพชรในปัจจุบัน) และอีกทั้งได้รับพระราชทานตำแหน่งให้เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชร
พระยากำแพงเพชร (นุช) มีบุตรกับท่านผู้หญิงชีคือ
1. ท่านผู้หญิงแพง เป็นภรรยาพระกำแพงเพชร (นาค) มีบุตรด้วยกัน 6 คน เป็นผู้ชาย 5 คน ผู้หญิง 1 คน คือ
       - พระยากำแพงเพชร (บัว) ไปราชการทัพเวียงจันทน์ กลับมาก็ถึงอนิจกรรมในเวลานั้น
       - พระยาสวรรคโลก (เถื่อน) ลงไปรับราชการอยู่กรุงเทพฯ เป็นพระยาราชสงครามไปราชการทัพเวียงจันทน์ ได้ลาวเชลยมา 100 ครัวเรือนมีความชอบโปรดเกล้าให้ขึ้นมาเป็นพระยากำแพงเพชรแทนพี่ชายและได้รับพระราชทานลาว 100 ครัวเรือนด้วย ได้ให้เชลยตั้งบ้านเรือนอยู่วัดป่าหมู เหนือบ้านหลวงมนตรี ปัจจุบันเรียกว่า “เกาะยายจันทร์” ต่อมาได้อพยพชาวเวียงจันทน์ทั้งหมดมาอยู่ที่บ้านปากคลอง ท่านรับราชการได้ 16 ปีเศษ พระยากำแพงเพชร (เถื่อน) ก็ถึงอนิจกรรม
       - พระยากำแพงเพชร (น้อย) เป็นพระพลอยู่แล้ว ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยากำแพงเพชร รับราชการ 15 ปี ถึงแก่อนิจกรรม
      - พระยากำแพงเพชร (เกิด) รับราชการเป็นพระยาตากอยู่ 10 ปี ไปราชการทัพเชียงตุง กลับจากทัพ ได้เลื่อนเป็นพระยากำแพงเพชรแทนพี่ชาย อยู่ 11 ปี จึงถึงแก่อนิจกรรม (เป็นปู่ของพระกำแหงสงคราม- ฤกษ์ นุชนิยม)
     - นายสุดใจ รับราชการอยู่ที่กรุงเทพฯเป็นที่นายพลพ่าย หุ้มแพร
(ท่านทั้ง 5 นี้เคยเป็นมหาดเล็กหุ้มแพรทุกท่าน)
     - ท้าวอิ่ม เป็นท้าวอยู่ในแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และรับราชการอยู่จนแผ่นดินพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4
2. ท่านผู้หญิงพลับ
3. พระฤทธิเดช รับราชการอยู่ที่กรุงเทพฯ
สายสกุลสายตรงจากพระยากำแพงเพชร (นุช) คือ  กำแหงสงคราม, กลิ่นบัว, นาคน้อย, นุชนิยม, รอดศิริ, รามบุตร, รามสูต, ศุภดิษฐ์ และอินทรสูต---เรียงตามอักษร

 12 
 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 05, 2024, 04:37:05 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
พระครูวิบูลวชิรธรรม (หลวงพ่อปลอดภัย)
พระครูวิบูลวชิรธรรม มีนามเดิมว่า สว่าง เจริญศรี เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๖  เป็นบุตรของขุนเจริญสวัสดิ์ เมื่อพระครูวิบูลวชิรธรรม เกิดได้เพียง 5 วัน โยมมารดาของท่านก็ถึงแก่กรรม ได้มีแม่น้าเลี้ยงดูท่านจนเติบใหญ่ (แม่น้าก็คือภรรยาคนที่ 1 ของขุนเจริญสวัสดิ์) พอท่านมีอายุพอสมควรที่จะศึกษาเล่าเรียนได้ ท่านก็เริ่มศึกษาอักขระสมัย และหนังสืออักขระขอมเบื้องต้นจากขุนเจริญสวัสดิ์ผู้เป็นบิดา เมื่ออายุได้ 13 ปี ขุนเจริญสวัสดิ์ก็ถึงแก่กรรม พระครูวิบูลวชิรธรรมจึงกำพร้าบิดา-มารดาแต่เยาว์วัย แต่ท่านก็พยายามประคองตัวประคองใจเชื่อฟังคำตักเตือนสั่งสอนของแม่น้าเป็นอย่างดี เนื่องจากท่านอยู่กับแม่น้าของท่านมาโดยตลอด แม่น้าของท่านก็เอ็นดูรักใคร่สงสารปราณีท่านเสมือนเป็นบุตรที่แท้จริง มีความประสงค์อยากจะให้พระครูวิบูลวชิรธรรมได้รับการศึกษาชั้นสูง ๆ ขึ้นไปอีก เพื่อจะได้มีความรู้เฉลียวฉลาด จะได้ดำเนินวิถีชีวิตตามแบบอย่างขุนเจริญสวัสดิ์ผู้เป็นบิดา เนื่องจากบิดาของท่านเป็นผู้มีความสามารถเฉลียว
ฉลาด มีคนเคารพนับถือทั้งในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอใกล้เคียงทั่วไป แม่น้าจึงได้นำพระครูวิบูลวชิรธรรมไปฝากกับหลวงพ่อเผือกหรือพระครูบรรพโตปมญาณ วัดหัวดงเหนือ ตำบลหัวดง อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ สมัยนั้นนับว่าวัดหัวดงเหนือ เป็นสำนักเรียนคัมภีร์มูลกัจจายน์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังสำนักหนึ่ง ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนคัมภีร์มูลกัจจายน์ และหนังสืออักขระขอมอยู่ที่วัดหัวดงเหนือ เป็นเวลานานประมาณ 7 ปี มีพระอาจารย์สด (ต่อมาได้เลื่อนฐานะเป็นพระครูสวรรค์วิถี) เป็นครูสอน พอพระครูวิบูลวชิรธรรมมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ แม่น้าได้อนุญาตให้ไปศึกษาต่อที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยได้รับความเมตตาจากพระครูบรรพโตปมญาณ หรือหลวงพ่อเผือก วัดหัวดงเหนือ พระอาจารย์ของท่านเป็นผู้นำไป
ครั้นถึงปี พ.ศ. 2470 ท่านได้รับตราตั้งเป็นเจ้าคณะกิ่งอำเภอแสนตอ จังหวัดกำแพงเพชร ได้รับพระราชทานสมณะศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูวิบูลวชิรธรรม”
เมื่อ พ.ศ. 2500 คณะสงฆ์อำเภอคลองขลุงและประชาชนชาวตำบลท่าพุทรา ได้พร้อมกันไปอาราธนาพระครูวิบูลวชิรธรรม ให้ขึ้นมาประจำอยู่ที่วัดคฤหบดีสงฆ์ ตำบลท่าพุทรา อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร เพราะว่าวัดคฤหบดีสงฆ์ได้ชำรุดทรุดโทรมลงอย่างหนัก พระครูวิบูลวชิรธรรมมีความสนใจในเรื่องของวัตถุมงคลและวิชาอาคม ท่านจึงได้มีการไปเรียนวิชาอาคมกับพระอาจารย์ที่ท่านนับถือในจังหวัดต่าง ๆ และได้สร้างวัตถุมงคลแคล้วคลาดจากปวงภัย โดยเฉพาะที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก คือ ยันต์หนัง
หน้าผากเสือกับเหรียญปลอดภัย วัตถุมงคลทั้ง 2 สิ่งนี้เป็นวัตถุมงคลซึ่งมีประสบการณ์จากผู้ที่นำไปบูชาแล้วรอดปลอดภัยจากเหตุการณ์ต่าง ๆ จะเห็นได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์และความเชื่อของผู้คนที่มีต่อหลวงพ่อสว่างและวัตถุมงคลของท่าน

 13 
 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 05, 2024, 04:36:25 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
หลวงพ่อแสวง ฉนฺทโก
 หลวงพ่อพระครูวชิรคุณาทร  มีนามเดิมว่า แสวง  นามสกุล มาลัย เป็นบุตรของนายนาน และนางเยี่ยม  มาลัย  เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2469 (ปีขาล)
ณ หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านแหลม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน
 ในวัยเด็กหลวงพ่อแสวง  ท่านเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา  อุปนิสัยของท่านเป็นคนตรง รักความถูกต้อง สิ่งใดที่ไม่ถูกต้องท่านก็จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวและไม่ยอมใคร ในปี พ.ศ. 2479 บิดามารดาได้พาท่านไปฝากเรียนที่โรงเรียนวัดสวนราษฎร์บำรุง ตำบลไผ่กองดิน อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ท่านได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เมื่อปี  พ.ศ. 2483
หลวงพ่อแสวงท่านอุปสมบทเมื่อวันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ณ พัทธสีมาวัดดาว ตำบลบ้านแหลม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี พระครูครื้น อมโร  พระอุปัชฌาย์ได้ให้ฉายาแก่หลวงพ่อแสวงว่า
“ฉนฺทโก”  เมื่อบวชแล้วหลวงพ่อแสวงได้จำพรรษาอยู่ที่วัดดาว  และได้เริ่มศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย
หลวงพ่อแสวงท่านสนใจศึกษาร่ำเรียนวิชาต่าง ๆ เป็นอย่างมาก ครูบาอาจารย์ที่ท่านให้ความเคารพ                และฝากตัวเป็นศิษย์ที่สำคัญท่านหนึ่งก็คือพระครูครื้นวัดสังโฆสิตาราม  ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านและ                เป็นพระปรมาจารย์ผู้เรืองวิชาอาคมเป็นอย่างยิ่งในสมัยนั้น  ในขณะที่ท่านศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดโพธิ์ตะควนนั้นท่านได้ร่ำเรียนวิชาสักยันต์ไปด้วย  และที่สำคัญคือเรียนวิชาเกี่ยวกับเครื่องรางของขลังที่สร้างชื่อเสียงให้กับท่าน ในเวลาต่อมา คือการปลุกเสกสิงห์มหาอำนาจมหาบารมี  เมื่อท่านสอบได้นักธรรมเอกในปี พ.ศ. 2494 แล้วท่านได้ออกเดินธุดงค์ไปยังสถานที่ต่าง ๆ เช่น วัดพระพุทธบาทสระบุรี  วัดพระแท่นดงรัง  จังหวัดกาญจนบุรี  วัดตาก้องจังหวัดนครปฐมได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแช่มและได้ศึกษาเล่าเรียนวิชากับหลวงพ่อแช่มอยู่เป็นเวลานาน 
ในปี พ.ศ. 2502 หลวงพ่อแสวง ได้เดินทางมาบ้านวังน้ำแดงเป็นครั้งแรกตามที่มีชาวบ้านไปนิมนต์ท่าน  และท่านได้รับปากกับชาวบ้านว่าจะมาสร้างวัดวังน้ำแดง และอยู่เป็นเจ้าอาวาสวัดวังน้ำแดง ตามที่ชาวบ้านต้องการ
ในช่วงที่หลวงพ่อแสวงเดินธุดงค์ผ่านมาทางจังหวัดอ่างทองนั้น  ท่านได้พบครูบาอาจารย์สอน วิชาวัวกระทิงให้กับท่าน ท่านได้นำไม้มาแกะสลักเป็นรูปวัวกระทิงไว้ที่วัดวังน้ำแดงด้วย หลังจากมาอยู่ที่วัดวังน้ำแดง  หลวงพ่อแสวงท่านได้เริ่มสร้างวัตถุมงคลต่าง ๆ จำนวนมาก
หลวงพ่อแสวงได้มรณภาพด้วยโรคหัวใจล้มเหลว เมื่อวันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2542 เวลาประมาณ 16.30 น. สิริอายุได้ 73 ปี 9 เดือน 6 วัน รวมพรรษาได้ 52 พรรษา

 14 
 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 05, 2024, 04:34:59 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
หลวงพ่อวิเชียรโมลี (ปลั่ง พฺรหมฺโชโต)
"พระวิเชียรโมลี" อดีตเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร และอดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร พระภิกษุผู้ทรงวิทยาคุณ ที่ชาวเมืองกำแพงเพชร ให้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง         
พระวิเชียรโมลี มีนามเดิมว่า "ปลั่ง" ท่านเป็นชาวกำแพงเพชรโดยกำเนิด เกิดที่บ้านตำบลลานดอกไม้ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อปี พ.ศ.2417 บิดาชื่อ นายพุ่ม มารดาชื่อ นางน้อย ครอบครัวประกอบอาชีพกสิกรรม ท่านเป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนบุตร 5 คน ได้รับการศึกษาเบื้องต้นจนสามารถอ่านออกเขียนได้ที่วัดพระบรมธาตุ เมื่ออายุครบ
อุปสมบทแล้ว ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดคูยาง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร โดยมีพระครูธรรมาธิมุตมุนี (กลึง) วัดคูยาง เป็นพระอุปัชฌาย์พระปลัดจอก วัดเสด็จ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูชื่น วัดทุ่งสวน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า "พรหมโชโต" หลังจากอุปสมบทท่านได้เดินทางไปศึกษาหาความรู้ที่จังหวัดเชียงใหม่อยู่ระยะหนึ่งแล้วกลับมาอยู่ที่จังหวัดตาก
ต่อมาท่านได้กลับมาอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชรแดนมาตุภูมิอีกครั้ง โดยจำพรรษาที่วัดราษฎร์เจริญพร ตำบลหนองปลิง ก่อนย้ายไปอยู่ที่วัดอมฤต ตำบลลานดอกไม้ตก จากนั้นกลับไปอยู่ที่วัดคูยางอีกครั้ง ก่อนที่จะได้รับอาราธนาให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ เป็นลำดับ
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ. 2469 ครั้งแรกที่ได้รับพระราชทานแต่งตั้ง คือ พระครูเมธีคณานุรักษ์ ตำแหน่งผู้รักษาพระบรมธาตุ รั้งตำแหน่งรักษาการเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อปี พ.ศ. 2473 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระครูวิเชียรโมลี ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร และเมื่อปีพ.ศ.2478 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยกเป็น พระวิเชียรโมลี ศรีวชิรปราการคณานุรักษ์ สังฆปาโมกข์ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร
พระวิเชียรโมลี (ปลั่ง) วัดพระบรมธาตุ นครชุม เป็นพระเถระผู้ทรงวิทยาคุณ ได้รับอาราธนาเข้าร่วมในพิธีปลุกเสก พระกริ่งชนะสงคราม ที่รัฐบาลในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นมิ่งขวัญกำลังใจแก่ทหารหาญ นับว่าเป็นพระเถระผู้ทรงวิทยาคุณที่มีชื่อเสียงมากรูปหนึ่งในสมัยนั้น สมัยสงครามอินโดจีน ท่านยังได้ทำเสื้อยันต์แดง แจกทหารผู้ไปราชการสงคราม ทำให้มีผู้เลื่อมใสในตัวท่านเป็นอันมาก เนื่องจากประจักษ์ในวิทยาคม จนได้รับอาราธนาให้นั่งเครื่องบินเพื่อหว่านทรายเสกให้ประชาชนและทหารรอดพ้น จากอันตรายจากภัยสงคราม
นอกจากนี้ พระวิเชียรโมลี ยังมีวัตถุมงคลเครื่องรางของขลัง เป็นที่ปรารถนาของประชาชนอีกมากมาย อาทิ หนังหน้าเสือลงยันต์ นางกวัก ผ้ายันต์นกคุ้ม รูปหล่อลอยองค์ขนาดเล็กหน้าตัก 1 นิ้ว เหรียญรูปท่านรุ่นต่างๆ แหวนและพระกริ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมมากในสมัยนั้น และในปัจจุบันนี้ ก็ยังเสาะแสวงหาครอบครองกันอยู่ แต่มีน้อยนักที่จะได้ไว้ในครอบครอง
พระวิเชียรโมลี เน้นหลักคุณธรรม คือ ความเมตตา และความเสียสละ ละความโลภในลาภสักการะได้สิ้นเชิง ท่านเดินทางไปที่แห่งใด ไม่เคยต้องพกเงินติดตัวไปเลย ด้วยมีแต่ผู้คนเอามาถวายท่าน แต่ท่านก็ไม่เคยเก็บสะสมเงินทองที่ได้มานั้นไปใช้เป็นการส่วนตัว มีแต่นำไปพัฒนาบูรณะวัดให้สวยงามเป็นที่น่าศรัทธาเลื่อมใสของผู้มาทำบุญที่วัด นับว่าเป็นพระแท้ที่น่ายกย่องสรรเสริญกราบไหว้ได้อย่างสนิทใจอีกรูปหนึ่ง         
เจ้าคุณวิเชียรโมลี มรณภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2488 อายุ 71 ปี

 15 
 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 02, 2024, 04:00:32 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
ครูมาลัย ชูพินิจ เกิดเมื่อวันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ.2449 ที่บ้านริมแม่น้ำปิง ตำบลคลองสวนหมาก อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร เป็นบุตรของ นายสอน และนางระเบียบ ชูพินิจ ในวัยเด็ก ครูมาลัย ชูพินิจ เข้ารับการศึกษาชั้นต้นที่จังหวัดกำแพงเพชร จนจบชั้นประโยคประถมศึกษา เมื่ออายุประมาณ ๑๐ ปี จึงเข้าไปศึกษาต่อใน ระดับสูงจนจบประโยคมัธยมศึกษา  เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๖๗ และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ อยู่ในกรุงเทพฯ ครูมาลัย ชูพินิจ เริ่มประกอบอาชีพครั้งแรกโดยรับราชการครู ที่โรงเรียนวัดสระเกศ เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๖๗ สองปีต่อมาก็ลาออกจาก อาชีพครูเนื่องจากพอใจกับงานหนังสือพิมพ์มากกว่า และได้ยึดอาชีพนักหนังสือพิมพ์ และนักประพันธ์มาโดยตลอด ๓๗ ปี จนถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งที่ปอดเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๖ เวลา ๑๗.๔๕ น. ณ  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในช่วงเวลาที่ ครูมาลัย ชูพินิจ ประกอบอาชีพนักหนังสือพิมพ์ และนักประพันธ์
ได้สร้างผลงานไว้มากมาย ทั้งด้านสารคดี บทความ กีฬา ปรัชญา นวนิยาย เรื่องสั้น บทละคร มีผู้กล่าวคาดประมาณกันว่าผลงานของมาลัย ชูพินิจ มีประมาณ ๓๐๐๐ เรื่อง นับว่ามาลัย ชูพินิจ เป็นนักประพันธ์ที่มีผลงานมากที่สุดคนหนึ่ง เป็นตัวอย่างของ ความอุตสาหะ ในการประกอบอาชีพที่ดียิ่ง นามปากกาของ มาลัย ชูพินิจ ได้แก่ ก.ก.ก. จิตรลดา ฐ.ฐ.ฐ. ต่อแตน น.น.น. น้อย อินทนนท์ นายไข่ขาว นายฉันทนา นายดอกไม้ นายม้าลาย แบ๊ตตลิ่งกรอบ ผุสดี ผู้นำ พลับพลึง ม.ชูพินิจ มะกะโท แม่อนงค์ เรไร เรียมเอง ลูกป่า วิชนี ส.ส.ส. สมิง กะหร่องหนอนหนังสือ อะแลดดิน อาละดิน Aladdin อาตมา อินทนนท์น้อย อุมา ฮ.ฮ.ฮ. ฉ.ฉ.ฉ. ดุสิต ลดารักษ์
นวนิยายที่ดีเด่น แสดงถึงความผูกพันทางความรู้สึกระหว่างครูมาลัย ชูพินิจ กับกำแพงเพชร คือ นวนิยาย เรื่อง ทุ่งมหาราช ใช้นามปากกาว่า เรียมเอง ซึ่งมาลัย ชูพินิจ กล่าวไว้ในคำนำของหนังสือว่า "ความมุ่งหมายของข้าพเจ้าในการเขียนทุ่งมหาราช ก็มิได้ ปรารถนาจะให้เป็นประวัติของตำบลคลองสวนหมาก ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนนามกันมา เป็นนครชุมหรือประวัติศาสตร์ของชาวบ้านนั้น โดยแท้จริงมากไปกว่าเสมือนบันทึกของเหตุการณ์ประจำยุค ประจำสมัย" นวนิยายเล่มนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของข้อมูลการค้นหาตนเองของอนุชนกำแพงเพชรในปัจจุบัน
ครูมาลัย ชูพินิจ เป็นผู้มีผลงานสร้างสรรค์ต่อวงการหนังสือพิมพ์และวงการ ประพันธ์เป็นอเนกอนันต์ นอกจากงานหนังสือพิมพ์ และการประพันธ์แล้ว มาลัย ชูพินิจ ยังได้ปฏิบัติงานรับใช้สังคมอีกเป็นอันมาก ได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการในองค์การทางสังคม หลายองค์การ ในทางการเมืองได้รับแต่งตั้ง เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในทางวิชาการเป็นอาจารย์พิเศษ วิชาการบริหาร ฝ่ายบรรณาธิการของวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผลงานทุกประเภทของมาลัย ชูพินิจ ได้รับการยอมรับนับถือจากทุกวงการ เกียรติยศก่อนเสียชีวิต คือการได้รับพระราชทานปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕

 16 
 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 02, 2024, 03:59:45 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
นายประเสริฐ ศรีสุวพันธุ์ เป็นบุตรของนายสีและนางอินทร์ ศรีสุวพันธุ์ มีกำเนิดเมื่อวันอังคาร ที่ 31 พฤษภาคม พุทธศักราช 2470 ณ บ้านเลขที่ 5 ตำบลคลองสวนหมาก อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ปัจจุบันคือตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร 
เมื่อเจริญวัยขึ้นมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับวัด เนื่องจากน้าชายอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดท่าหมัน จึงเข้าไปรับใช้เป็นลูกศิษย์ของหลวงน้า ซึ่งเป็นพระภิกษุที่เข้มงวด เป็นผู้อบรมสั่งสอนหนังสือให้กับนายประเสริฐ ศรีสุวพันธุ์ ก่อนถึงวัยเกณฑ์การศึกษาจริง ขณะที่ศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียน
วัดท่าหมัน ก็ยังคงเป็นลูกศิษย์วัดอยู่ด้วย เมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก็ได้ศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
(ม.1) ที่โรงเรียนกำแพงเพชร “วัชรราษฎร์วิทยาลัย” ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด และสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่
 6 (ม.6) หลังจากจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็ได้ศึกษาต่อและได้เข้ารับราชการครู ในตำแหน่ง ครูประชาบาลโรงเรียนบ้านหนองปลิง อำเภอเมืองกำแพงเพชร ในปีพุทธศักราช 2493 ด้วยความเป็นผู้ใฝ่ศึกษา นายประเสริฐก็ได้สมัครสอบชุดครูมูล และสามารถสอบได้ 3 ชุดในคราวเดียวกัน เป็นที่สนใจและยอมรับของวงการครู ตำแหน่งที่สูงขึ้น คือเป็นผู้บริหารโรงเรียนบ้านทุ่งสวน และก็ทำหน้าที่ครูผู้สอนไปด้วย หลังจากนั้นผู้บังคับบัญชาได้ขอให้โอน ไปช่วยปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งเสมียนแผนกศึกษาธิการจังหวัดในปีพุทธศักราช 2497
นายประเสริฐ ศรีสุวพันธุ์ ได้สมรสกับนางสาวประเทือง ชาญเชี่ยว ซึ่งมีอาชีพเป็นข้าราชการครูเช่นเดียวกัน และมีบุตรด้วยกัน 5 คน หลังจากนั้นได้ดำรงตำแหน่งครูโรงเรียนวัดราษฎร์เจริญพร และดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนสหวิทยาคมและต่อมาได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ จังหวัดกำแพงเพชร นายประเสริฐ ศรีสุวพันธุ์ ได้ใช้ช่วงเวลาของชีวิตในวัยทำงานเดินทางสำรวจค้นคว้าทำความเข้าใจเรื่องราวของเมืองกำแพงเพชร และเมืองนครชุม ซึ่งเป็นบ้านเกิดอย่างต่อเนื่อง จนเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของท้องถิ่นเมืองกำแพงเพชรอย่างแตกฉาน ในขณะเดียวกันก็ไม่ละเลยต่อการศึกษาในระบบ โดยสมัครเข้า ศึกษาต่อและสำเร็จการศึกษาปริญญาศึกษาศาสตรบัณฑิต (ศษ.บ.) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปีพุทธศักราช 2515
ดังนั้น นายประเสริฐจึงเป็นบุคคลในกลุ่มแรก ๆ ที่ทำการศึกษาค้นคว้าและเผยแพร่เรื่องราวของท้องถิ่นเมืองกำแพงเพชรและเมืองนครชุมอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม โบราณคดี โดยเฉพาะเรื่องราวของพระเครื่องเมืองกำแพงเพชรและวัดต่างๆ ในประวัติศาสตร์ นายประเสริฐ ศรีสุวพันธุ์ เกษียณอายุราชการในตำแหน่งหัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อปีพุทธศักราช 2530 และเคยได้รับเกียรติปฏิบัติหน้าที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม จังหวัดกำแพงเพชร และได้รับเชิญจาก สถาบันไทยศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในระดับท้องถิ่น เขียนสารานุกรมวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร
จากประวัติและผลงานดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้อาจารย์ประเสริฐ ศรีสุวพันธุ์ เป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมสาขามนุษยศาสตร์

 17 
 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 02, 2024, 03:58:33 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
นายชัชวาลย์  ธรรมสอน
นายชัชวาลย์ ธรรมสอน เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๓ ที่ตำบลท่าไม้ อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร มีพี่น้องร่วมกัน ๖ คน เป็นบุตรคนโตของนายสุนทร และนางบุญธันว์ ธรรมสอน
ในวัยเด็กได้เข้าเรียน โรงเรียนอนุกูลศึกษา โรงเรียนวัดบาง และโรงเรียนบ้านท่าไม้ และเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนกำแพงเพชร “วัชรราษฎร์วิทยาลัย” และได้ไปศึกษาที่จังหวัดตาก โดยเข้าโรงเรียนตากพิทยาคมจนจบ ม.ศ.๓ และเข้ามาศึกษาต่อที่วิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร วิทยาลัยเทคนิคตาก วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ
 จนจบปริญญาตรี บริหารธุรกิจบัณฑิต (การจัดการงานก่อสร้าง) จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๗ และจบการศึกษาระดับปริญญาโท การศึกษามหาบัณฑิต (อุตสาหกรรมศึกษา) จากมหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๓๙
ชีวิตสมรสและครอบครัว นายชัชวาล ธรรมสอน สมรสกับนางธารทิพย์ ธรรมสอน มีบุตรธิดา รวม ๓ คน
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ นายชัชวาล ธรรมสอน ได้ดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ระดับ ๙ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
นายชัชวาลย์ ธรรมสอน มีประสบการณ์ด้านการบริหารภายในสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิชาการคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ในปีพ.ศ. พ.ศ.๒๕๔๑-๒๕๔๖ ได้รับดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายศึกษาค้นคว้าและวิจัยวัฒนธรรมสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ในปีพ.ศ.๒๕๔๓-๒๕๔๖ ได้รับดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม พ.ศ.๒๕๔๗ ถึงปัจจุบัน(๒๕๕๒) ได้รับดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดกำแพงเพชร พ.ศ.๒๕๔๗-๒๕๕๒ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 18 
 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 02, 2024, 03:57:56 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
นายบิน รักษ์ชน
 นายบิน รักษ์ชน เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2456 ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชรเป็นบุตรของนายติ นางจอก รักษ์ชน และมีพี่น้องร่วมกัน ๔ คน โดยนายบินเป็นบุตรคนสุดท้อง
 นายบิน รักษ์ชน ได้เข้ารับการศึกษาจากโรงเรียนกำแพงเพชร “วัชรราษฎร์วิทยาลัย” จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓  ต่อมาสอบไล่ได้ประโยคครูมูล โรงเรียนฝึกหัดครูมูลจังหวัดพิษณุโลก และสอบได้วาดเขียนโท
 นายบินเข้าทำงานในตำแหน่งครู ที่โรงเรียนเทศบาล 1 วัดบาง เมื่อปี พ.ศ. 2478 และเป็นครูสอนวิชาวาดเขียน โรงเรียนกำแพงเพชร "วัชรราษฎร์วิทยาลัย" และโรงเรียนสตรีกำแพงเพชร“นารีวิทยา”
เมื่อปี พ.ศ. 2๔79 "  หลังจากนั้นนายบิน ได้เป็นครูอีกหลายโรงเรียน อาทิ โรงเรียนบ้านวังยาง โรงเรียนบ้าน
ขโมงหัก และเป็นครูใหญ่ โรงเรียนบ้านมะเดื่อชุมพร โรงเรียนวัดพระบรมธาตุ โรงเรียนวัดปราสาท (บ้านโคนใต้) และโรงเรียนเทศบาลวัดบาง ในปี พ.ศ.๒๔๘๙ ได้ย้ายกลับมาเป็นครูที่โรงเรียนกำแพงเพชร “วัชรราษฎร์วิทยาลัย” และในปีพ.ศ. ๒๕๐๖ ได้ย้ายมาเป็นครูโรงเรียนวัดคูยาง จนเกษียณอายุราขการ
นายบิน รักษ์ชน ได้รับเกียรติยกย่องให้เป็น "ปราชญ์ชาวบ้านเมืองกำแพงเพชร" ในโครงการสื่อวัฒนธรรมสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) โครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากสำนักศิลปะวัฒนธรรม มหาวิทยาราชภัฏกำแพงเพชร เมื่อปี
พ.ศ. 2531

 19 
 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 02, 2024, 03:56:58 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
นางเสนอ สิทธิ
 นางเสนอ สิทธิ เกิดเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๑ ที่หมู่บ้านวังพระธาตุ ตำบลเกาะขี้เหล็ก (ปัจจุบันเป็นตำบลไตรตรึงษ์ หมู่ที่ ๔ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร) เป็นบุตรนายแดง นางโปรด ใยยวง เป็นบุตรสาวคนโต และมีพี่น้องร่วมกัน ๕ คน
นางเสนอ ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนวัดเกาะขี้เหล็ก (วัดท้ายเกาะ ในปัจจุบันชื่อวัดศรีปุณณาวาส) ซึ่งเป็นโรงเรียนประชาบาลแห่งแรกในตำบลนี้ นางเสนอเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ (ป.๔) มีอาชีพตักน้ำมันยาง ทำไต้
ค้าน้ำมันยาง ค้าไต้ และทำนา ต่อจากนั้นได้มาเป็นครูสอนคนชรา ในสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งในสมัยนั้นมีการรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไป ได้เรียนหนังสือและเลิก
กินหมาก พออายุได้ ๒๕ ปี ได้แต่งงานกับนายจินดา สิทธิ
จนมีบุตรด้วยกัน ๖ คน โดยมีนางสาวสุขศรี สิทธิ บุตรสาวคนโตเป็นผู้สืบทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นจนถึงปัจจุบัน
นางเสนอ เป็นบุคคลที่ประพฤติตนตามหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ยึดถือประเพณีต่าง ๆ ตลอดมา นอกจากนี้นางเสนอ ยังเป็นผู้สืบทอด และถ่ายทอดประเพณีวัฒนธรรม รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นต่าง ๆ ในหมู่บ้าน จนเป็นที่นับถือของคนทั่วไป ทั้งในหมู่บ้าน และบริเวณใกล้เคียง เป็นที่รวมน้ำใจของชาวบ้านคอยอบรมสั่งสอนตักเตือนทุกคนให้เป็นคนดี มีความรักความสามัคคี และชี้ให้เห็นความสำคัญในการดำรงชีวิต ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมประเพณี การละเล่นพื้นบ้าน และได้รวมกลุ่มผู้อนุรักษ์ ประเพณีและวัฒนธรรม
พื้นบ้านทั้งบทเพลง ระบำ ก.ไก่ เพลงคล้องช้าง เพลงกล่อมเด็ก การละเล่น และบทร้องเล่นต่าง ๆ จนเป็นที่ยอมรับแก่คนทั่วไป และได้รับเชิญเป็นวิทยากร ถ่ายทอดวัฒนธรรมให้กับสถาบันและหน่วยงานต่าง ๆ
นางเสนอสิทธิ เคยได้รับรางวัล โล่เกียรติยศแม่ดีเด่น “แม่ดีศรีเมืองกำแพง” ในปีพ.ศ. ๒๕๔๙ (ในระดับหมู่บ้าน ตำบล และจังหวัด) โล่เกียรติยศบุคคลดีเด่นด้านศิลปวัฒนธรรมการแสดงพื้นบ้านของมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร เมื่อปีพ.ศ. 2552 และเป็นผู้นำในการจัดตั้งชมรมอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นเมืองไตรตรึงษ์

 20 
 เมื่อ: มกราคม 26, 2024, 06:26:20 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
กำหนดการ
โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวคนกำแพงเที่ยวเมืองกำแพง
โดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร
--------------------------------------------

วันพุธ ที่ 31 มกราคม 2567    ณ ลานด้านหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว   
         หน้าที่ว่าการอำเภอเมืองกำแพงเพชร
17.30 - 18.30 น.            การแสดงพื้นถิ่นของจังหวัดกำแพงเพชร
18.30 - 19.00 น   พิธีเปิดโครงการ โดย นายสุนทร รัตนากร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร
๑๙.๐๐ – ๒๐.0๐ น.           กิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “วัฒนธรรมอาหารกับวิถีชุมชนเมืองกำแพงเพชร” โดย
1. นายสันติ อภัยราช ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรมและปราชญ์ท้องถิ่นจังหวัดกำแพงเพชร
2. นางอัจฉรา แสงจันทร์ ผู้ทรงคุณวุฒิรางวัลวัฒนคุณาธร โดยกระทรวงวัฒนธรรม
     3. นายกฤษณะพงศ์ บุญสำราญ ผู้ดำเนินรายการ
๒๐.0๐ – ๒1.๐๐ น.           การแสดงวัฒนธรรมไทย 4 ภาค
21.00 น.           ปิดโครงการ
วันศุกร์ ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567    ณ ตลาดย้อนยุคนครชุม
17.30 - 18.30 น.            การแสดงพื้นถิ่นของจังหวัดกำแพงเพชร
18.30 - 19.00 น        พิธีเปิดโครงการ โดย นายสุนทร รัตนากร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร
๑๙.๐๐ – ๒๐.0๐ น.           กิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “วัฒนธรรมอาหารกับวิถีชุมชนเมืองกำแพงเพชร” โดย
      1. นายสันติ อภัยราช ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรมและปราชญ์ท้องถิ่นจังหวัดกำแพงเพชร
     2. นางอัจฉรา แสงจันทร์ ผู้ทรงคุณวุฒิรางวัลวัฒนคุณาธร โดยกระทรวงวัฒนธรรม
     3. นายกฤษณะพงศ์ บุญสำราญ ผู้ดำเนินรายการ
๒๐.0๐ – ๒1.๐๐ น.           การแสดงวัฒนธรรมไทย 4 ภ
าค
21.00 น.           ปิดโครงการ


หมายเหตุ การแต่งกายชุดผ้าไทยพื้นเมือง




หน้า: 1 [2] 3 4 ... 10
Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!