จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
เมษายน 24, 2024, 06:24:15 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 10
 31 
 เมื่อ: ตุลาคม 31, 2023, 07:52:43 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
รายชื่อ

 32 
 เมื่อ: ตุลาคม 14, 2023, 11:35:09 am 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
โค้ชสตรอง

 33 
 เมื่อ: ตุลาคม 14, 2023, 11:15:26 am 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
คณะทำงานส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนไตรตรึงษ์

 34 
 เมื่อ: ตุลาคม 13, 2023, 09:49:50 am 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
คำสั่งจังหวัดกำแพงเพชร

 35 
 เมื่อ: ตุลาคม 12, 2023, 04:17:41 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
คือคนดี คือคนเก่ง คือคนกล้า
เจรจา อ่อนน้อม ถนอมศักดิ์
ป.ป.ช.กำแพงเพชร ทุกคนรัก
ได้ประจักษ์ ศรัทธา มหาชน
ท่านยึดมั่น หลักการ สุจริต
มหามิตร มหาชน ไม่ฉ้อฉล
คือบรรทัด คือผู้นำ ที่อดทน
ของผู้คน ที่รู้จัก ตระหนักงาน
ประสานคน ประสานตน ประสานใจ
ประสานได้ สิบทิศ มหาศาล
ประทับใจ พิเชฐ พิมพา มาช้านาน
ผู้ก่อการ สุจริต มิตรไมตรี
ขอให้ท่าน ได้พบ แต่ความสุข
ไม่มีทุกข์ ในวิญญา คงศักดิ์ศรี
ถนอมรัก ถนอมคน ในปฐพี
สดุดี พิเชฐ พิมพา ผู้กล้าเอย
 
นายสันติ อภัยราช
รองประธานโคชสตรองจิตพอเพียงต้านทุจริต จังหวัดกำแพงเพชร
๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๖

 36 
 เมื่อ: ตุลาคม 06, 2023, 01:29:43 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
ยกย่องนางสาวธัญดา   ศุภโชติพิมล เป็นผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่งยวด

 37 
 เมื่อ: กันยายน 19, 2023, 09:30:01 am 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
คณะกรรมการ

 38 
 เมื่อ: กรกฎาคม 21, 2023, 09:56:39 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
                                                         การแสดงแสงเสียงประกอบจินตนาการ
                                                เรื่อง พระมหาบารมี วีรกษัตริย์  ปกฉัตร นครไตรตรึงษ์
      วันอังคารที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๖ณ วัดวังพระธาตุ  นครไตรตรึงษ์  จังหวัดกำแพงเพชร  เวลา ๒๐.๐๐ น.
                                                                        รวม  ๖๐นาที

                                                              .................................................
ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ ทุกท่าน องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลนครไตรตรึงษ์ โรงเรียนนครไตรตรึงษ์ โรงเรียนบ้านไตรตรึงษ์ และประชาชนชาวนครไตรตรึงษ์  ยินดีต้อนรับทุกท่าน เข้าสู่การแสดงแสงเสียงประกอบจินตนาการ  เรื่อง  พระมหาบารมี วีรกษัตริย์ ปกฉัตร  นครไตรตรึงษ์     
 ในเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๔๙      พระพุทธเจ้าหลวง พระปิยมหาราช เสด็จประพาสต้น เมืองกำแพงเพชร ๑๐ วัน คือตั้งแต่วันที่ ๑๘ สิงหาคม ถึงวันที่ ๒๗ สิงหาคม พุทธศักราช  ๒๔๔๙  ทรงโปรดที่จะท่องเที่ยวและเยี่ยมเยือน  เมืองกำแพงเพชรมากที่สุด และวันนี้  ในอดีตคือวันที่ ๒๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๔๙ ทรงเสด็จ ประพาสต้น ทอดพระเนตร วัดวังพระธาตุ และ นครไตรตรึงษ์ นครแห่งองค์อัมรินทร์แห่งนี้ ทรงบันทึกเรื่องราวของเมืองประวัติศาสตร์ นครไตรตรึงษ์ไว้อย่างละเอียดที่สุด ทำให้เราเห็นภาพของเมืองนครไตรตรึงษ์  ในอดีตและได้เกิดจินตภาพ อย่างชัดเจน ลึกซึ้ง และจะอยุ่ในความทรงจำแห่งชาวเราตลอดไปชั่วกัลปาวสาร
 เพื่อชมการแสดงได้อย่างมีอรรถรส   โปรดปิดไฟในงานทุกจุด ปิดเครื่องมือสื่อสาร และงดการแสดงออกอื่นๆ ทั้งสิ้น
และที่สำคัญที่สุด เพื่อแสดงความจงรักภักดี ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่รักและเคารพอย่างยิ่งของชาวไทยทุกคนขอเชิญทุกท่าน โปรดยืนขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระองค์  (เปิดเพลงสรรเสริญบารมี)
เชิญทุกท่าน ได้เข้าสู่การแสดง แสงเสียง  เรื่อง พระมหาบารมี วีรกษัตริย์  ปกฉัตร นครไตรตรึงษ์ ตามโครงการ ชากังราว นครแห่งศิลป์ ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร     ณ บัดนี้           
..................................................................................
องก์ที่ ๑ …สถาปนา นครไตรตรึงษ์   (๑๕ นาที)
…….สายน้ำแม่ระมิงค์ที่ใสสะอาด ไหลผ่านนครเชียงใหม่ ลงมาทางทิศใต้สู่ ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ที่ยังเป็น ป่า ดงดิบที่ยังไม่มีผู้ใดค้นพบดินแดนอันงดงามและสงบสุข แห่งนี้
…..พระเจ้าพรหม โอรสแห่ง พระเจ้าพังคราชได้ขับไล่ขอมดําจากเหนือลงสู่ใต้ ระยะทางหลายร้อยเส้น มีการต่อสู้กันตลอดเส้นทางขอมดําได้สู้พลางถอยพลาง ผู้คนทั้งสองฝ่ายล้มตาย ราวใบไม้ร่วง ไล่ลงมาจนติดลําน้ำปิงตอนใต้ ขอมดํา ไม่ สามารถหนีไปได้ พากันล้มตายอย่างน่าเวทนาอย่างที่สุด
…..อัมรินทราธิราชเกรงผู้คนจะล้มตาย จนหมดสิ้น…จึงเสด็จมาจากสวรรค์ชั้น ดาวดึงส์ เปิดโลกสวรรค์กับโลกมนุษย์ให้เห็น กัน( เหาะมา) จึงรับสั่งแก่ พระวิษณุกรรมเทพเจ้าแห่ง ช่าง เป็น มธุรสวาจา ว่า
 พระอินทร์… ท่านวิษณุกรรมผู้ทรงไว้ซึ่งเทพเจ้าแห่ง ช่างอันประเสริฐที่สุด โปรดได้ เนรมิตกําแพงเมืองให้สูงตระหง่านและแข็งแกร่งประดุจเพชรกั้น ไม่ให้ ผู้คนทําร้ายซึ่งกันและกันให้สูญเผ่าพันธุ์เถิด
พระวิษณุกรรม   ท่าน เทพเจ้า ผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ ด้วยอำนาจแห่งความดีงาม และ ความซื่อสัตย์ ขอบันดาลให้เกิดกำแพงที่ยิ่งใหญ่ขวางกั้นมิให้มนุษย์สองเผ่าพันธุ์ ได้เข่นฆ่ากันให้เป็นบาปกรรม สืบต่อไป
.............ทันใด…เกิดกําแพงศิลาแลงอันมหัศจรรย์ขวางกั้นมิให้ทั้งสองฝ่ายประหัตถ์ ประหาร กัน…พระเจ้าพรหมจึง ยกกองทัพ กลับบ้านเมือง……
         พระเจ้าชัย ศิริโอรสพระเจ้าพรหม อพยพไพร่พล เพื่อตั้งราชธานีแห่งใหม่ รอนแรมมาแรมเดือน     มาถึงดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์นี้จึง สถาปนานครไตรตรึงษ์ ขึ้น เมื่อปีพุทธศักราช ๑๕๔๘
พระเจ้าชัยศิริ     แผ่นดินนี้ อุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก มีลำน้ำปิงไหลผ่าน ข้าวปลา อาหาร อุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก เหมาะกับการสร้างพระนคร ข้า จึงขอประกาศ   สถาปนา ให้พระนครแห่งนี้ มีนามว่าพระมหานครไตรตรึงษ์....................ขอให้ชื่อพระนครแห่งนี้ สถิตย์อยู่ชั่วกัลปาวสาร ................................
 (ระบำไตรตรึงษ์ เฉลิมฉลองพระนคร)
ตัวละคร
 ๑ พระเจ้าพรหม ทหารเอก 4 คน ทหารขอม 30 คน ทหารพระเจ้าพรหม30คน พระอินทร์ พระวิษณุกรรม
๒.พระเจ้าชัยศิริ  มเหสี  ( ราชธิดาน้อย ผู้แสดง อบจ. ) สนม กํานัล ทหารเอก 4 คน (เดิม) ทหาร 60 คนเดิม
๓ ระบำไตรตรึงษ์ ๕- ๙ คน
จบองค์ที่ ๑




องก์ ที่ ๒ ตำนานท้าวแสนปม กำเนิดพระเจ้าอู่ทอง  (๑๕ นาที)
          ที่นครไตรตรึงษ์ มีตำนานเล่าขานต่อๆกันมาว่า มีชายหนุ่ม รูปร่าง ประหลาดคนหนึ่ง มีปุ่มปม เต็มตัว  ถูกลอยแพ ตามแม่น้ำปิง มาถึง หน้านครไตรตรึงษ์  ติดอยู่ที่เกาะขี้เหล็ก ชายคนนั้น ขึ้นอาศัยบนเกาะ  ชาวบ้านเห็นชายหนุ่มนั้น จึงพากันเรียกว่าแสนปม ตามที่เห็น และเรียกเกาะขี้เหล็กว่า เกาะแสนปม ในกาลต่อมา  แสนปม ได้ ทำการปลูกกระท่อม และปลูกผักสวนครัว เลี้ยงชีวิต  มะเขือพร้าว เป็นพืชที่แสนปม ปลูกไว้จำนวนมาก มะเขือพร้าว มีผลขนาดใหญ่ มีสีขาวนวล งามมาก มีต้นหนึ่งแสนปมที่ปลูกไว้ข้างบันไดกระท่อม แสนปม ปัสวะรดทุกเช้า  จึงมีผลโตสวยงาม ขนาดใหญ่กว่าทุกต้นในสวนนั้น..............
     จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว พระนครไตรตรึงษ์ ว่า มะเขือพร้าว บนเกาะปมนั้นงามนัก มีผลขนาดใหญ่เป็นที่มหัศจรรย์ แก่ผู้พบเห็น .....ข่าวลือ ไปถึงพระกรรณของ พระนางอุษา พระราชธิดาผู้เลอโฉม ของ กษัตริย์แห่งนครไตรตรึงษ์
นางอุษา   พระพี่เลี้ยง ทั้ง ๔  เราได้ข่าวลือว่า ที่เกาะปม มีมะเขือพร้าวผลใหญ่ เป็นที่มหัศจรรย์ยิ่งนัก เราใคร่จะเห็น และอยากเสวยด้วย พี่ทั้งสี่ พาเราไปชมสวนมะเขือพร้าวที่เกาะแสนปม ได้หรือไม่
พระพี่เลี้ยง   พี่ว่าต้องไปทูลขออนุญาต จากเสด็จพ่อ เสด็จแม่ ของ พระราชธิดา ก่อน เราจึงไปได้เพค่ะ มิฉนั้น พระองค์ทรงพิโรธ แน่ๆ เพราะ ทั้งสองพระองค์ทรงห่วงและหวงพระราชธิดา ยิ่งนัก นะเพค่ะ
ณ ที่ในพระราชฐาน ชั้นในพระเจ้านครไตรตรึงษ์ และพระมเหสี เสด็จออก ขุนนางและมหาดเล็ก สนมกำนัล เข้าเฝ้าเต็มท้องพระโรง พระนางอุษา และพระพี่เลี้ยง เข้าเฝ้าอยู่ด้วย  เมื่อว่าราชการเรียบร้อยแล้ว  นางอุษาเสด็จเข้าไปใกล้ แล้วทูลขอพระราชทานบรมราชานุญาต
นางอุษา   เสด็จพ่อเสด็จแม่เพค่ะลูกขออนุญาตไปประพาสนอกพระนคร  เพื่อชมสวน ในเกาะแสนปม      หน้าเมืองใกล้แค่นี้เพค่ะ จะรีบไปรีบกลับ ไม่ให้ทั้งพระองค์เป็นห่วง เพค่ะ
พระเจ้าไตรตรึงษ์  อย่าไปเลยลูก พ่อเป็นห่วง ลูกยังไม่เคยออกนอกพระนครเลย   ลองถามแม่ ดูสิว่ามีความเห็นประการใด จะให้ไปไหม ลูกรักของพ่อ
นางอุษา   เสด็จแม่เพค่ะ ลูกขออนุญาต ไปกับพระพี่เลี้ยง ทั้ง๔ และ ทหารคุ้มกัน สัก สี่คน ลูกอยากชมบ้านเมืองและประชาราษฎรของเราด้วยเพค่ะเสด็จแม่อนุญาต นะเพค่ะ ลูกอยากไปเพค่ะ
พระมเหสี   เมื่อลูกอยากไปเยี่ยมพสกนิกร ของเรา แม่ก็อนุญาต  พระพี่เลี้ยง และทหารทั้ง ๔ ดูแลลูกเราให้ดี อย่าให้มีภยันตรายใดๆแก่ลูกของเรา ไปเถิดลูก
พระพี่เลี้ยงและ  ทหารทั้ง ๔    กราบทูลพร้อมกันว่า    พระพุทธเจ้าข้า กระหม่อมฉัน จะพิทักษ์พระธิดา ด้วยชีวิต ของกระหม่อมฉันพระพุทธเจ้าข้า  (ปิดไฟ)
ที่เกาะแสนปมพระธิดา เดินทอดพระเนตร เห็นมะเขือพร้าว ดกผลใหญ่ งดงามดังคำร่ำลือ  แสนปมเข้าเฝ้า ถวายมะเขือพร้าว ผลที่งามที่สุด ในสวน หลายผล
พระธิดา       เราขอบใจเจ้ามาก เจ้าแสนปม  ที่ถวายมะเขือพร้าวแก่ เรา เราจะนำไปทำอาหารเสวย ในพระราชวัง เราขอพระราชทาน  หมากให้แก่เจ้าหนึ่งคำ เป็นรางวัลเพื่อตอบแทนน้ำใจของเจ้า   เรากลับแล้วนะแสนปม
แสนปม      ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระองค์ทรงพระเจริญ ทรงพระสิริโฉมงดงาม เกษมสำราญทุกวารเวลา พระพุทธเจ้าข้า
                  (ปิดไฟ)
ในพระราชวัง ราชฐานชั้นใน ข่าวพระราชธิดา ทรงพระครรภ์  ล่วงรู้ถึง ท้าวไตรตรึงษ์ และพระมเหสี ทรงตรัสให้พระธิดา และพระพี่เลี้ยงเข้าเฝ้า ในราชสำนักส่วนพระองค์
พระเจ้าไตรตรึงษ์    อุษาลูกเรา  ลูกท้องกับใครบอกพ่อมา พ่อจะลากคอมันออกมารับผิดชอบ (สุรเสียงดัง ด้วยความโกรธ)
นางอุษา       ลูกไม่ทราบ เลยเพค่ะ ลูกไม่เคยยุ่งกับชายใดเลย ลงโทษลูกเถิดเพค่ะ ที่ทำให้เสด็จพ่อเสียพระเกียรติ ลูกยอมรับผิดทุกประการ แล้วแต่เสด็จพ่อเห็นสมควรเพค่ะ
พระมเหสี     เสด็จพี่เพค่ะ หม่อมฉัน คิดว่า เทพยดา คงลงมาเกิด เป็นหลานเรา ทรงพระบารมี เสริมพระชะตา  ของพระองค์เพค่ะในกาลข้างอาจเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ใหญ่ ชนะสิบทิศ นะเพค่ะ
พระเจ้าไตรตรีงษ์  เราจะเลี้ยงหลานเราไว้ เมื่อรู้ความ เราจะอธิฐานให้พบพระบิดาที่แท้จริง ของหลานเรา เจ้าอุษาจงดูแลพระครรภ์ของเธอให้จงดี อย่าให้เป็นอันตรายต่อหลานเรา
( ทุกคนกราบ ปิดไฟ)
เมื่อพระราชโอรส รู้ความ พระเจ้าไตรตรึงษ์ ทรงป่าวร้อง  ให้ ผู้ชาย ทั้งใกล้ไกล มาให้พระหลานขวัญเลือก ทรงอธิษฐานจิตว่า ถ้าพระหลานขวัญ รับของจากผู้ใดจะรับผู้นั้น อภิเษก กับพระราชธิดา เป็นพระราชบุตรเขย และยก นครไตรตรึงษ์ให้ครอบครอง
บรรดา กษัตริย์ต่างเมือง ต่างถือ ของดีๆ มาถวายพระราชโอรส ๆไม่รับของ จากใครๆเลย  บรรดาผู้ชายทุกคนที่ปรารถนาจะเป็นราชบุตรเขย ต่างผิดหวังตามๆกัน เมื่อพระราชโอรส มิรับของจากผู้ใดเลย มาถึงตนสุดท้าย แสนปม ถือก้อนข้าวเย็นมาถวาย
พระราชโอรสทรงรับ และเสวยข้าวเย็นนั้น ทำให้พระเจ้าไตรตรึงษ์ ทรงยอม ตามที่พระองค์ อธิษฐานไว้ ด้วยความไม่เต็มพระทัย
(มีผู้แสดง ประกอบการบรรยาย)
แสนปม พานางอุษาและพระราชโอรส  มาอยู่เกาะแสนปม อย่างมีความสุข  เมื่อแสนปม ไปทอดแห ที่คลองขมิ้นหน้าเมือง ทอดเท่าไร ก็ไม่ได้ปลา ได้แต่ขมิ้น ได้ทิ้งขมิ้นไป เหลือติดใต้ท้องเรือ เมื่อกลับมากระท่อม ขมิ้นเหล่านั้นกลายเป็นทองคำ  แสนปมนำทองคำมาทำอู่ให้ลูกนอน  จึงเรียกชื่อลูกว่า อู่ทอง ตามเปลทองที่นอนนั้น ชาวเมืองขนานนามเด็กคนนี้ว่าอู่ทอง เช่นกัน
(ปิดไฟ)
กาลต่อมา อัมรินทราธิราช  ประสงค์ที่จะช่วย แสนปม และด้วยบุญาธิการของเจ้าอู่ทอง ที่จะได้เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ภายภาตหน้า จึงแปลงกลายเป็นวานร ถือฆ้อง ใบน้อยลงมาลงมา เมื่อแสนปมหักล้างถางพง วันใด เช้าขึ้น ต้นไม้ที่ถากถางวันวาน กลับตั้งตรง ดังเดิม หลายครั้ง หลายครา แสนปมจึงลอบดู จึงได้ทราบว่า เป็นลิงน้อย ตีฆ้อง ทำให้ต้นไม้ตั้งขึ้น จึงจับลิงไว้ และลิงได้มอบฆ้องวิเศษให้และบอก ว่า ประสงค์สิ่งใดให้อธิษฐานสิ่งนั้นและตีฆ้อง จะได้ตามที่ปรารถนา ทุกประการ
      แสนปม จึง อธิษฐานให้รูปงาม และเนรมิต มหานครขึ้น เรียกขานราชธานีนั้นว่า เทพนคร อยู่ฝั่งตะวันออก ตรงข้ามนครไตรตรึงษ์ และแสนปม สถาปนาตนเอง เป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่าท้าวแสนปม มีนางอุษาเป็นพระมเหสี ส่วนราชโอรส เมื่อขึ้นครองราชย์ ตามตำนานเล่าว่า ไปสถาปนากรุงศรีอยุธยา ขึ้นเป็นราชธานี  ทรงพระนามว่า พระเจ้าอู่ทอง  ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา............................(ยิงพลุ)
ตัวละคร
          ท้าวไตรตรึงษ์  มเหสี    นางอุษา    แสนปม   ๒ ตัว   พี่เลี้ยง ๔ คน    ทหาร ๔ คน เดิม   เจ้าเมืองต่างๆ  สิบคน
ลิง ประชาชน  ๑๐ คน
อุปกรณ์ เปลทอง ฆ้อง  และของที่ เข้าต่างเมืองถือมา มะเขือ ต้น ผลมะเขือ
                                                    จบองก์ที่  ๒
องก์ที่ ๓ พระพุทธเจ้าหลวง เสด็จประพาสต้นกำแพงเพชร  ( ๕ นาที)

ทรงเริ่มออกเดินทางตั้งแต่ วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๔๙  ออกจากพระราชวังสวนดุสิต ๒ ทุ่ม  ถึงตำหนักแพวังหน้า ๕ ทุ่ม ถึงวัดเขมา ๕ ทุ่มครึ่ง      ทรงรอนแรมทางเรือ ผ่านเมืองต่างๆ จนกระทั่งเข้าเขตเมืองกำแพงเพชร ในวันที่ ๑๘ เดือนสิงหาคม ๒๔๔๙ ความว่า.................
วันที่ ๑๘ เวลาเช้าโมง ๑ ขึ้นไปถ่ายรูปที่วัดอรุณราชศรัทธารามหลังที่จอดเรือแล้วเดินขึ้นไปเขานอ ระยะ ๘๗ เส้น ตอนนอกเป็นป่าไผ่ แล้วมีสพานข้ามบึงตื้น ๆ ไปขึ้นชายป่าแล้วกลับลงที่ลุ่ม เมื่อเวลาน้ำมาครั้งก่อนท่วม แต่เวลานี้เฉพาะถูกคราวน้ำลด หนทางยังเป็นโคลนเดินยาก จนถึงชานเขาจึงดอน ตามคำเล่ากันว่าเปนเขาซึ่งนางพันธุรัตน์ตามมาพบพระสังข์ มีมนต์มหาจินดาเขียนอยู่ที่แผ่นศิลา
   วันที่ ๑๙ วันนี้ตื่นสายไป แล้วพระวิเชียรพาคนผมแดงมาให้ดู อันลักษณะผมแดงนั้นเป็นผมม้าแดงอย่างอ่อนหรือเหลืองอย่างแก่ ผมที่แดงนี้มาข้างพันธุ์พ่อ ถ้าผู้หญิงไปได้ผัวผมดำ ลูกออกมาก็ผมดำไปด้วย ผมแดงนั้นเปลี่ยน ๓ อย่าง แรกแดงครั้นอายุมากเข้าก็ดำหม่นลง แก่ก็เลยขาวทีเดียว บอกพืชพันธุ์ว่าทราบว่าตัวมาแต่เวียงจันทน์แต่มาก่อนอนุเป็นขบถ จะได้ตั้งอยู่ช้านานเท่าไรไม่ทราบ พูดเป็นไทยประพฤติอาการกิริยาก็เป็นไทย เฉพาะมีมากอยู่ที่เมืองขาณุ
ออกเรือเวลา ๓ โมงตรง เกือบ ๕ โมงจึงได้ขึ้นเรือเหลืองทำกับข้าว แวะเข้าจอดที่ ๆ ประทับร้อนเพราะระยะสั้นแต่จืดไปไม่สนุก จึงได้ไปจอด หัวหาดแม่ลาด ซึ่งมีต้นไม้ร่ม กินเข้าและถ่ายรูปเล่นในที่นั้นแล้วเดินทางต่อมา หมายว่าจะข้ามระยะไปนอน คลองขลุง แต่เห็นเวลาเย็น ที่พลับพลาตำบลบางแขม นี้ทำดี ตั้งอยู่ที่หาดแลพลับพลาหันหน้าต้องลม จึงได้หยุดพอเวลาบ่าย ๔ โมงตรง อาบน้ำแล้วมีพวกชาวบ้านลงมาหาเล่าถึงเรื่องไปทัพเงี้ยว เวลาเย็นขึ้นไปเทียว บ้านบางแขมนี้ก็เป็นบ้านหมู่ใหญ่อยู่ฝั่งตะวันออก
วันที่ ๒๐ ออกเรือเกือบ ๓ โมงเช้า ๔ โมงครึ่งขึ้นเรือเหลือง ทำกับเข้ามาจนถึงที่ประทับร้อนไม่แวะ เลยขึ้นมาข้างเหนือแวะฝั่งตะวันออก ตลิ่งชันแลสูงมาก แต่ต้นไม้งาม    ปีนขึ้นไปกินเข้าบนบกสำหรับถ่ายรูป แล้วลงเรือมาถึงวังนางร้างเป็นที่พักแรม   บ่าย ๓ โมงเท่านั้น ครั้นจะเลยไปอื่นระยะก็ห่าง จึงลงเรือเล็กไปถ่ายรูปฝั่งน้ำข้างตะวันออก แล้วข้ามมาตะวันตกหมายจะเข้าไปถ่ายรูปบ้านวังนางร้าง
วันที่ ๒๑ ออกเวลาเช้า ๒ โมงเศษ ๔ โมงครึ่งขึ้นเรือเหลือง  ถึงปึกผักกูดที่ประทับร้อน ไม่ได้หยุดเพราะกับข้าวยังไม่แล้ว ระยะสั้นจึงเลยไปจนถึงเกาะธำรง ซึ่งจัดไว้เป็นที่แรมก็เพียงเที่ยง เห็นควรจะย่นทางได้ หยุดกินข้าวเเล้วออกเรือต่อมา หยุดที่พักร้อนบ้านขี้เหล็ก ถึงบ่าย ๔ โมงครึ่ง  ตั้งแต่พลับพลาวังนางร้างมาฝั่งตะวันตกมีบ้านเรือนมาก มีเรือจอดมาก มีหีบเสียงเล่นด้วย เพราะเป็นท่าสินค้า  ต่อขึ้นมาก็มีเรือนราย ๆ แต่ฝั่งตะวันออกเป็นป่า จนถึงบ้านโคน ซึ่งเดากันว่าจะเป็นเมืองเทพนคร แต่ไม่มีหลักฐานอันใด  บ้านเรือนดีมีวัดใหญ่เสาหงส์มากเกินปรกติอยู่ฝั่งตะวันออก มาจนถึงบ้านท่าขี้เหล็กอยู่ฝั่งตะวันตก พลับพลาตั้งฝั่งตะวันออก เมื่อคืนนี้ฝนตกเกือบตลอดรุ่ง วันนี้ก็โปรยปรายเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปมีเวลาแดดน้อย จนต้องกินข้าวที่พลับพลาประทับร้อน ตั้งแต่บ่าย ๔ โมงเศษฝนก็ตกมาจนเวลานี้ ๒ ทุ่มเกือบครึ่งทีก็จะตลอดรุ่ง ที่พักอยู่ข้างจะกันดาร ........................
                                             จบองก์ที่ ๓

องค์ที่ ๔ เตรียมการรับเสด็จ (ที่บ้านกำนันสอน) ( ๑๐นาที)
(ที่บ้าน นายบ้านวังพระธาตุ  แม่บ้าน และนายบ้าน นั่งอยู่ด้วยกัน)
แม่บ้าน  นี่พ่อกำนัน พ่อได้ข่าว พระเจ้าอยู่หัวเสด็จ  เข้าเขตกำแพงเพชร แล้วแล้วใช่ไหม พ่อ

พ่อกำนัน * ข้าได้ข่าว ตั้งแต่เสด็จเข้ากำแพงเพชร ตั้งแต่วันที่ ๑๘ สิงหาแล้ว เห็นกระบวนเรือของพระยาวิเชียรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชรของเรา ไปรับเสด็จที่ปากน้ำโพ และเห็นกระบวนหรือของพระยาสุจริตรักษาเจ้าเมืองตาก ตามไปรับเสด็จอีกขบวน แต่ข้าไม่ได้รับคำสั่งใดๆ จากท่านเจ้าเมืองเลย จึงไม่ได้ตัดสินใจ ว่าเราจะทำอย่างไรกัน แล้วก็ทำอะไรไม่ถูกแล้วด้วย ตื่นเต้น ตัวสั่นไปทั้งตัว ได้ข่าวว่าพระองค์จะเสด็จขึ้นวังพระธาตุบ้านเราด้วยนา แม่บุญนาค เราจะทำประการใดดี
แม่บ้าน * ฉันทราบข่าวจาก คนที่กลับจากปากน้ำโพว่า การเสด็จประพาสต้นครั้งนี้ พระองค์เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ ไม่ต้องการให้ใครไปต้อนรับ ทรงปลอมพระองค์มาเป็นสามัญชน กินอยู่อย่างเรียบง่าย ต้องการมาเยี่ยมพสกนิกรของพระองค์เท่านั้น ไม่ประสงค์ให้ใครเดือดร้อนแล้วพวกเราจะทำอย่างไรกันดีพ่อกำนัน
พ่อกำนัน *  เราจะเรียกประชุมชาวบ้านวังพระธาตุกันดีไหม หารือกันว่า เราจะทำฉันใดกันดี พระองค์เสด็จมาถึงบ้านเรา เราไม่รับเสด็จได้อย่างไร นับว่าเป็นมหากรุณาธิคุณสูงสุด แก่พวกเราชาววังพระธาตุ ตามธรรมเนียมไทย ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ นี่เป็นถึงช้างเหยียบนา   พระยาเหยียบเมืองเชียวนาแม่บุญนาค
แม่บ้าน * ฉันเห็นด้วยจ้า พระองค์ทรงโปรดราษฎร์ของพระองค์เช่นนี้ พวกเราต้องทำอะไรสักอย่างที่ตอบแทนพระคุณของพระองค์ ท่านพ่อกำนันคิดถูกต้องแล้ว
พ่อกำนัน  *( ตีเกราะเคาะไม้ เสียงดังสนั่นไปทั้งคุ้งน้ำ บ้านวังพระธาตุ ในตอนค่ำ ของวันที่ ๒๑ สิงหาคม ประชาชนทยอยกันมาอยู่ลานบ้านกำนัน ราวทุ่มเศษ มากันครบทุกบ้าน (หน้าลานบ้านท่านกำนัน)
กำนัน * (ยืนขึ้น ชาวบ้านนั่งยองๆ รอบๆ กำนันด้านหน้า แม่บ้าน ยืนอยู่ข้างกำนัน)
กำนัน*  พวกเราชาววังพระธาตุ คงรู้กันทั่วไปแล้วว่า พระเจ้าอยู่หัวพระปิยมหาราข เสด็จ บ้านเราในวันพรุ่งนี้ ตอนสายๆ เราจะทำอย่างไรกันดี ข้าเชิญทุกท่านมาเพื่อปรึกษา การสำคัญอันนี้
ทิดแดง * ท่านกำนัน เราควรมาต้อนรับพระองค์ท่านที่ท่าน้ำหน้าวัดวังพระธาตุ ของเราให้เต็มท่าน้ำ เต็มลานวัด เตรียมการต้อนรับพระองค์อย่างสมพระเกียรติ ที่พระองค์ทรงเมตตาชาวป่าชาวดงอย่างพวกเรา เหลือเกิน ข้าขอจะเตรียมกระบวนกลองยาวไว้รับเสด็จ ให้ดีที่สุดที่พวกเราเคยเล่นมามา
กำนัน* ดีมากเลยทิดแดง พระองค์คงเกษมสำราญมากๆ ที่เห็นประชาชนสามัคคีกัน และจงรักภักดีต่อสถาบัน พระมหากษัตริย์
อำแดงเอี่ยม*  ข้าจะถวายพระเครื่อง ที่วัดวังพระธาตุ แด่พระองค์ ได้ไหมกำนัน
อำแดงอิ่ม*  ข้าจะถวาย น้ำและหมากพลูแก่พระองค์ท่าน
แม่บ้าน* ดีมากเลยที่พวกเราช่วยกันและสามัคคีกัน ฉันได้ซ้อมระบำไว้หนึ่งชุดหนึ่งจะรำถวายพระองค์ หลังจากพระองค์ ประทับแล้ว
กำนัน * ยอดเยี่ยม เลยพี่น้อง ชาววังพระธาตุ พรุ่งนี้เราจะเห็นความสามัคคี ของพวกเราที่มีต่อ พระพุทธเจ้าหลวงของเรา ข้าขอบใจทุกคนมาก พรุ่งนี้ ย่ำรุ่ง เราไปพร้อมกันที่ท่าน้ำวัดวังพระธาตุ อย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อเตรียมการรับเสด็จมิให้บกพร่อง เอาละวันนี้เราแยกย้ายกันไปก่อน
ตัวละคร
 ๑ กำนันสอน
๒ ภรรยา แม่บุญนาค
๓ทิดแดง
๔อำแดงเอี่ยม
๕อำแดงอิ่ม
๖ ประชาชน ร่วมประชุม ราว ๓๐ คน

องค์ที่ ๕ พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จเข้านครไตรตรึงษ์   (  ๑๕นาที)
(คำบรรยาย) วันที่ ๒๒-สิงหา  เมื่อคืนฝนตกพร่ำเพรื่อ ไปยังรุ่ง แรกนอนไม่รู้สึกว่าจะเย็น ต่อหลับไปตื่นขึ้นจึงรู้สึกเย็นไปทั้งตัวท้องก็แข็งขลุกขลักอยู่เป็นนาน เอาสักหลาดขึงอุดหมด จึงนอนหลับ ตื่น สองโมงเช้าครึ่ง ออกเรือจวนสามโมง  มาจาก          ท่าขี้เหล็ก เลี้ยวเดียวก็ถึงวังพระธาตุ อยู่ฝั่งตะวันตก มีบ้านเรือนราย ตลอดขึ้นมาแต่อยู่ฟากตะวันตก ฟากตะวันออกเป็นปาตั้งแต่พ้นคลองขลุงขึ้นมา มีต้นสักชุม แต่เป็นไม้เล็กๆ ซึ่งเป็นเวลาหวงห้าม เดินเรือวันนี้ว่าไปในป่ากลางสูง ได้ยินเสียงนกร้องต่างๆ อย่างชมดงเพรียกมาตลอดทาง
“ที่วังพระธาตุ เป็นชื่อชาวเรือตั้ง วังไม่ได้แปลว่าบ้าน แปลว่าห้วงน้ำ พระธาตุนั้นคือพระธาตุที่ตั้งตรงวังนั้นจอดเรือที่พักเหนือวังพระธาตุนิดหนึ่ง แล้วเสด็จขึ้นที่ท่าน้ำวังพระธาตุ”
( คำบรรยาย ไฟจับไปที่เรือพระที่นั่งหางแมงป่อง ในเรือพระที่นั่ง มี ผู้ตามเสด็จ ในเรือหลายคน)
พระภิกษุ ยืน หน้ากำนันผู้ใหญ่บ้าน  ประชาชน นั่งเรียงราย ถวายของ ถวายการต้อนรับตามแนวรายทาง พระองค์ทรงเกษมสำราญ ทักทาย อาณาประชาราษฎร์ ทันใดวงกลองยาว ออกมาจากป่าริมทาง ขบวนใหญ่ ร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน เจ้าคนังเงาะป่าตามเสด็จ วิ่งออกจากขบวนเสด็จ เข้ารำกับประชาชนอย่างสนุกสนาน (ประมาณ ๕นาที)
แล้วทรงเสด็จไปชมเจดีย์วัดวังพระธาตุ  ........ความในพระราชนิพนธ์ว่า.......................
         “ พระธาตุนั้นมีฐานแท่นซ้อนสามชั้น  แล้วถึงชั้นคูหาบนเป็นรูปกลม ซึ่งกรมหลวงนริศ เรียกว่าทะนาน ถัดขึ้นไปถึงถึงบัลลังก์ ปล้องไฉน ๗ปล้องปลีแล้วปักฉัตร  องค์พระเจดีย์พังมาเสียซีกหนึ่ง มีรากระเบียงรอบวิหาร สี่ทิศ วิหารใหญ่ที่บูชาอยู่ทิศใต้  พระอุโบสถที่มีสีมาเป็นสำคัญ อยู่ที่ทิศตะวันออก เยื้องไม่ตรงกลาง เขาปลูกโรงหลังคามุงกระเบื้องในที่ใกล้พระเจดีย์ด้านตะวันออก มีพระพุทธรูปทั้งนั่งและยืนหลายองค์  พระพุทธรูปหน้าตาดีแปลกกว่าที่เคยเห็น เป็นช่างได้ทำและถ่ายรูปที่เหล่านี้ไว้ เวลานี้มีพระที่มาจากเมืองนนท์ เป็นรู้จักมาแต่ก่อน ขึ้นมาจำพรรษาที่นี่ คิดจะปฎิสังขรณ์ ปลูกกุฎิอยู่เยื้องหน้าพระธาตุห่างจากศาลาบุงกระเบื้อง เดิมซึ่งอยู่ข้างลำน้ำใต้ลงไป  ล้วนน่าชื่นชม”
นำเสด็จสู่เมืองโบราณ นครไตรตรึงษ์ เดินจากวังพระธาตุไปตามลำน้ำข้างเหนือ ทาง ๒๖ เส้น ถึงคูด้านใต้ของเมืองไตรตรึงษ์ คูนั้นใหญ่กว้างราว ๑๕ วา ลึกลงเสมอพื้นหาดแต่น้ำแห้ง ยื่นเข้าไปจนถึงเชิงเทิน หลังเมืองไปมีถนนข้ามเข้าเมืองอยู่กลางย่านด้านใต้ แต่ด้านเหนือไม่มีถนน มีแต่ลำคูมาบรรจบด้านใต้ กำหนดเชิงเทินยาวตามลำแม่น้ำ ๔๐ เส้น ยืนเข้าไปทางตะวันตกตะวันออก ๓๗ เส้นเห็นเป็นเมืองใหญ่โตอยู่ พื้นแผ่นดินเป็นแลงไปทั่วทั้งนั้น ในท้องคูก็เป็นแลง เข้าไปในเมืองหน่อยหนึ่งพบโคก เห็นจะเป็นวิหารเจดีย์พังตั้งอยู่เบื้องหลัง ถัดเข้าไปอีกหน่อยหนึ่ง เรียกว่าเจดีย์ ๗ ยอด จะเป็นด้วยผู้ที่มาตรวจตราค้นพบสามารถจะถางเข้าไปได้แต่ ๗ ยอด แต่ที่จริงคราวนี้เขาได้ถางดีกว่าที่ได้ถางมาแต่ก่อน จึงได้ไปพบว่ากว่า ๗ คือพระเจดีย์ใหญ่ขนาดพระมหาธาตุริมน้ำอยู่กลาง มีพระเจดีย์ราย ๓ ด้าน
(เสด็จกลับมาที่วิหารวัดวังพระธาตุ)
พระพุทธเจ้าหลวง มีดำรัส แก่ประชาชนชาวไตรตรึงษ์ ท่ามกลางประชาชนที่มาส่งเสด็จ  ว่า
“เมืองไตรตรึงษ์ เป็นเมืองใหญ่มาแต่อดีต สร้างได้อย่างทันสมัย ประชาชนมีจำนวนมาก ประชาชนฉลาดหลักแหลม มีน้ำใจ มีความจงรักภักดี ขอให้ดูแลบ้านเมืองของท่านไว้ให้ดี รักษาวัฒนธรรมประเพณี ไว้ให้มั่นคง สืบชั่วลูกหลานเหลนของพวกเราทุกคนวันที่ ๒๒ สิงหาคม ของทุกปีจะกลายเป็นวันประวัติศาสตร์ของชาวนครไตรตรึงษ์ตลอดไป  ขอให้ทุกคนมีความสุขความเจริญ เราจะออกเดินทางเข้าเมืองกำแพงเพชร ในค่ำวันนี้ มีโอกาสเราจะมาเยี่ยมชาววังพระธาตุ นครไตรตรึงษ์อีกครั้ง เราประทับใจในการต้อนรับของทุกท่านเป็นอย่างยิ่ง (ทรงโบกพระหัตถ์“  ประชาชนก้มกราบ)
เรือพระที่นั่งหางแมงป่อง ค่อยๆเคลื่อนไปจากท่าน้ำวัดวังพระธาตุ สายพระเนตรของพระพุทธเจ้าหลวง มองราษฎร์ของพระองค์ด้วยความเมตตา
ประชาชนทุกคนน้ำตาคลอเบ้า ไม่คิดเลยว่า วันหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดิน ที่รักยิ่งของประชาชนพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช พระพุทธเจ้าหลวงของปวงชน ทรงไม่หวาดกลัวไข้ป่าและโรคระบาด ที่ชุมมากในเมืองไตรตรึงษ์ พระบารมีนี้จะปกเกล้า เหล่าชาวนครไตรตรึงษ์ ไปตลอดกาลสมัย ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ...........
ตัวละคร
๑.   พระพุทธเจ้าหลวง อาจใช้ภาพ หรือคนแสดงที่เหมาะสม แต่งกายแบบสามัญชน
๒.   กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๓.   พระยาวิเชียรปราการ
๔.   พระยาสุจริตรักษา
๕.   นายคนัง เงาะป่า
๖.   กำนันสอน
๗.    ภรรยา แม่บ้านแม่บุญนาค
๘.   ทิดแดง
๙.   อำแดงเอี่ยม
๑๐ อำแดงอิ่ม
๑๐ ประชาชน ร่วมตามเสด็จ ราว ๓๐ คน
 ๑๑.พระภิกษุ เจ้าอาวาสวัดวังพระธาตุ
   ๑๒   ขบวนกลองยาว
๑๓  ชุดรำถวายหน้าพระที่นั่ง                     
จบด้วย จินตลีลา ชุด ปิยมหาราชา บารมี
(ตัวละครทุกตัว เข้าอยู่ในฉากนี้)
(เปิดเพลง ..............................ในฉากฟินาเร)

                                                                                      จบบริบูรณ์



 39 
 เมื่อ: กรกฎาคม 13, 2023, 09:19:16 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
บันทึก สำรวจบึงน้อย บ้านน้ำดิบ กลางป่าแม่ระกา กำแพงเพชร

   วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๗  ได้นัดหมายกับ ดร.เอ (ดร.ลักษณ์ภัทรเกตุ  ชนประชา ชาญเชี่ยว ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา ความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ซึ่งท่านร้องขอให้ช่วยไปสำรวจ บึงน้อย หลังศูนย์เพาะกล้าพันธุ์ไม้ บ้านน้ำดิบ ว่าใช่เมืองโบราณหรือไม่ รับปากไว้กว่าเดือน ด้วยความเต็มใจ(เคยนัดสำรวจไว้เมื่อปีที่แล้วแต่บังเอิญสามีดร.เอเสียชีวิต กะทันหันจึงไม่ได้ไปสำรวจ) เพราะเคยไปสำรวจเมืองโบราณอย่างละเอียดแล้วทุกเมืองในกำแพงเพชร วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ เป็นวันอังคาร ดร.เอ มารับ เวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น. แปลกฝนตกหนักมาก จนคิดว่าไม่ได้ไปแล้ว แต่ดร.เอ ไม่ละความพยายาม มารับพร้อมกับคุณน้า วนิดา  ชาญเชี่ยว (มีศักดิ์เป็นแม่สามีดร.เอ) มีฟาร์โร หลานชาย ดร.เอเป็นสารถี  เราไปพร้อมกับอาจารย์จันทินี อภัยราช โดยนัด อ.รุ่งเรือง สอนชู  ไว้ที่หน้า ศูนย์ราชการจังหวัดกำแพงเพชร
   เมื่อพบกัน ครบถ้วนทุกคน เดินทาง เลี้ยวเข้าไปทางศูนย์เพาะพันธุ์พืช น้ำดิบ ซึ่งเป็นป่าแม่ระกา ทึบ รก ตลอดทางมี กิ่งไม้ ต้นไม้ล้มข้างทางหลายจุด เลาะเลี้ยว ไปสัก สิบนาที  ดร.เอ พาไปจุดที่เป็นบึงน้ำใหญ่  ชาวบ้านเรียกกันว่า บึงน้อย  เป็นบึงน้ำใหญ่เนื้อที่ไม่ต่ำกว่า ๕๐ ไร่ เป็นรูปวงรี  ข้างๆ บึงน้อย มีร่องรอยของคูเมือง ยาวเป็นรูป สี่เหลี่ยม  เนื้อที่ น่าจะอยู่ราว ๒๐๐ ไร่ จัดไว้อย่างเหมาะสม ( ดูหาพิกัดจากแผนที่ทางอากาศในกูเกิล) 
 
บริเวณจุดสีเหลือง สันนิษฐานว่า อาจเป็นแนวกำแพงเมือง(ซึ่งเป็นกำแพงดินเหมือนกำแพงเมืองสมัยสุโขทัย) เป็นรูปสี่เหลี่ยม คางหมู เหนือขึ้นไปเป็นบึงน้อย และเหนือขึ้นมาเป็นคลองแม่ระกา เชื่อต่อจากบึงน้อย ไหลขึ้นเหนือ มุ่งหน้าสู่สุโขทัย (ต้องสำรวจต่อไปว่า คลองแม่ระกาไหลไปถึง สุโขทัยในช่วงใด ดูในแผนที่กูเกิล ไหลขึ้นเหนือ ไป และหายไป ในช่วงสุโขทัย  ส่วนน้ำที่ไหลมา เข้าบึงน้อย ไหลมาจากคลองลำทวน หรือ คลองบางทวน  (เนื่องจากน้ำไหลทวนขึ้นเหนือ เพราะระดับแผ่นดิน สุโขทัย ต่ำกว่ากำแพงเพชร นับสิบเมตร (จีพีเอส)
คลองบางทวน จากปากคลอง ค่ายลูกเสือ วัดหนองปลิง ไหลเข้าสู่บึงน้อย
 
คลองแม่ระกา น้ำไหลออกจากบึงน้อย
ในบึงน้อย ได้สัมภาษณ์ กำนันชูชาติ กรัดแพ (กำนันจ็อก) กำนันตำบลบ้านนาเหนือ  ถึงความเป็นมาของบึงน้อย อย่างละเอียด ได้ความว่า
    หมู่บ้านนาเหนืออพยพมาจากบ้านหนองหัววัว  เกือบร้อยปี เดิมเป็นหมู่ที่ ๕ บ้านน้ำดิบ ปัจจุบันแบ่งแยกออกเป็น  บ้านคลองห้วยทราย และบ้านนาเหนือ  ท่านเล่าต่อไปว่า ในบึงน้อย มีความมหัศจรรย์เกิดขึ้นหลายเรื่อง  ตั้งแต่สมัยท่านเป็นเด็กๆ เมื่อน้ำลด พบหัวเรือ อาจเป็นเรือเรือสำเภาล่ม พบหลักฐานหลายชิ้น  เช่นเครื่องถ้วยชาม สมัยสุโขทัย และพระเครื่อง จำนวนมาก ได้นำพระเครื่องมาให้ชม เมื่อพิจารณาแล้ว มีส่วนที่จะ เป็นจริง บ้าง เพราะพระมีลักษณะพระสมัยสุโขทัย เกือบทั้งสิ้น มันเป็นไปได้อย่างมากว่า การติดต่อค้าขาย ในสมัยสุโขทัย ได้ใช้ลำน้ำ และใช้คลองลำทวน บึงน้อย คลองแม่ระกา หนองจระเข้ ติดต่อจนกระทั่งไปถึงสุโขทัย เป็นทางลัด ระหว่างเมืองสุโขทัย กับกำแพงเพชร มีความเป็นไปได้สูงทีเดียว แต่บางส่วนของลำน้ำอาจตื้นเขิน เหลือใช้ไม่ได้แล้ว
   และข้อสันนิษฐานว่า กษัตริย์สุโขทัย เคยเสด็จมาบริเวณนี้  ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนว่าพญาลิไท กษัตริย์แห่งสุโขทัย เคยเสด็จมากำแพงเพชร หลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี พุทธศักราช ๑๙๐๐ ได้ทรงนำพระบรมสารีริกธาตุ  และพระศรีมหาโพธิ์ มาประดิษฐ์ที่วัดพระบรมธาตุนครชุมนั้น เมื่อเสด็จมากำแพงเพชร ระยะต้นอาจเสด็จทางถนนพระร่วง  และเปลี่ยนมาเสด็จทางน้ำต่อ ตามคลองแม่ระกา ผ่านบึงน้อย และมาออกคลองลำทวน ตรงไปวัดพระบรมธาตุ ซึ่งอาจเป็นไปได้เช่นกัน เมื่อพระองค์เสด็จมาที่บึงน้อย อาจประทับที่บึงน้อยหลายราตรี เพราะ มีหลักฐาน ในป่า แม่ระกา พบว่า มีกองศิลาแลงคล้ายเจดีย์  มีแนวศิลาแลง เป็นอาคารจำนวนมาก บริเวณนี้  เมื่อพระองค์เสด็จมาประทับหลายเพลา อาจพบบาทบริจาริกา เป็นสตรีเมืองบึงน้อย อาจถึงขั้นสถาปนา เป็นพระสนมเอกได้เช่นกัน (ตามข้อกังขาของดร.เอที่ขอให้เราไปสำรวจถึงความเป็นไปได้ ในกรณีที่พิเศษเกินกว่าที่จะเขียนถึง)  เมื่อสำรวจไปถึงแนวกำแพงเก่า คูน้ำเก่า ตามคำบอกเล่าของผู้คน  ประกอบชมภาพถ่ายทางอากาศ แทบจะเชื่อได้เต็มที่ว่า  บริเวณบึงน้อย อาจเป็นเมืองโบราณ สำคัญเมืองหนึ่ง ที่มีหลายชื่อที่เรายังไม่สามารถค้นพบได้ 
 
กำนันชูชาติ กรัดแพ (กำนันจ็อก) กำนันตำบลบ้านนาเหนือ
 
แนวกองแลงที่พบบริเวณ เมืองโบราณ
 พระเครื่องที่พบ บริเวณ สำเภาล่ม
สำรวจแนวที่มีลักษณะคล้าย กำแพงโบราณ
ข้อสรุปในการสำรวจ     บริเวณบึงน้อย
   บึงน้อย เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญ ที่เชื่อมต่อกับ คลองลำทวน และคลองแม่ระกา น้ำไหลทวนขึ้นไป ถึงเขตสุโขทัย  จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า เมื่อคราวพญาลิไท เสด็จเมืองนครชุมเมื่อปีพุทธศักราช  ๑๙๐๐ เพื่อนำพระบรมสารีริกธาตุและพระศรีมหาโพธิ์ มาประดิษฐานที่เมืองนครชุม ตามจารึกหลักที่ ๓ จารึกนครชุมนั้น (เป็นตำนานประเพณีนบพระเล่นเพลง) พระองค์อาจมาประทับที่แห่งนี้ บริเวณบึงน้อย อาจสร้างตำหนักไว้เช่นกัน เพราะบริเวณนี้ มีบัวหลวงงดงามมาก ทั่วบริเวณ
   จากการสำรวจ ภูมิประเทศและภาพถ่ายแผนที่ทางอากาศ พบติดกับบึงน้อยมีแนว กำแพงเมืองขอบเขตกำแพงเมืองโบราณ มีคูน้ำคันดินที่ชัดเจน อาจสันนิษฐานได้ว่า อาจเป็นเมืองบางจันทร์  ที่ยังไม่ได้สรุปว่าอยู่ที่ใด ในเขตกำแพงเพชรนี้
   จากคำบอกเล่าของกำนัน และผู้นำชมนั้น อาจสรุปได้ว่าที่บึงน้อยนี้ มีอาถรรพณ์ ค่อนข้างลึกลับ ตามแบบฉบับของเมืองโบราณกำแพงเพชรโดยทั่วไป ซึ่งหาข้อพิสูจน์ได้ยากมากเพราะเป็นความเชื่อส่วนบุคคล และมิอาจดูแคลนว่า เป็นเรื่องเหลวไหลแต่ประการใด
   หลักฐานที่พบตาม ชัยภูมิ อาจสรุป ตามความเชื่อและหลักฐานของผู้เขียน ( อ.สันติ อภัยราช) ได้ว่า บริเวณบึงน้อย อาจเป็นเมืองโบราณสำคัญเมืองหนึ่ง คู่กับบางพาน นครชุม บางจันทร์ และเป็นเส้นทางเสด็จของพญาลิไท คราวเสด็จเมืองนครชุม ในปีพศ .๑๙๐๐ อาจประทับที่นี่หลายราตรี  หรืออาจมาอยู่ที่นี่ หลังจากสุโขทัย หมดอำนาจ อาจมามีบาทบริจาริกาที่นี่ ตามความเชื่อของดร.เอ  ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐาน ยังมิสามารถสรุปได้อย่างชัดเจน คงต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป



หมายเหตุ
   มีพระภิกษุ ระดับเจ้าอาวาส วัดสำคัญวัดหนึ่งในกำแพงเพชร  ได้รับนิมนต์เข้าไปในเขต บึงน้อยแห่งนี้ เพื่อทำพิธีกรรมทางศาสนา ท่านกลับออกมาอย่างรวดเร็ว โดยมิได้ทำพิธีใดๆ ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ท่านสัมผัสกับสิ่งที่ไม่เคยพบ เห็นและจะไม่เข้าไปรบกวน สิ่งที่สัมผัสอีกต่อไป เราจึงสนใจไปสำรวจบึงน้อย ว่าที่นี่คืออะไรกันแน่

                     สันติ อภัยราช
                     ๒ ตุลาคม ๒๕๕๗
                     เวลา ๙.๐๐ น.




 40 
 เมื่อ: กรกฎาคม 13, 2023, 09:04:04 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
เค้าโครง เรื่อง
พระเจ้าเสือ วีรกษัตริย์ นักพัฒนา ยอดกตัญญุตา ต่อแผ่นดิน
การแสดงแสงเสียง ประกอบจินตนาการ ในงานประจำปี วัดโพธิ์ประทับช้าง
 อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร
๑๑ เมษายน ๒๕๖๐ เวลา ๒๐.๐๐ น.
จัดโดยองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ประทับช้าง
........................

องก์ นำ   ๓ นาที
องก์ที่ ๑  ถิ่นประสูติ  พระเจ้าเสือ โพธิ์ประทับช้าง    ( ๙ นาที)
องก์ที่ ๒ กษัตริย์สร้าง วีรกรรมกู้   พระพุทธศาสนา   (๙ นาที)
องก์ที่ ๓ ปรมาจารย์  การต่อสู้   กู้นัครา (พันท้ายนรสิงห์)  (๑๙ นาที)   
องก์ที่ ๔ สร้างพัฒนา  วัดโพธิ์ประทับช้าง  กลางใจชน  ( ๙ นาที)
องก์สรุป  ๓ นาที
บทโดย อ.สันติ อภัยราช








องก์นำ    ( ๓ นาที )
ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน  เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่  8  พระพุทธเจ้าเสือ หรือสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 29 แห่งราช อาณาจักรอยุธยา พระองค์ประสูติเมื่อ พระพุทธศักราช  2204  ณ แผ่นดินแห่งวัดโพธิ์ประทับช้าง ดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้
 องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ประทับช้างอำเภอโพธิ์ประทับช้างจังหวัดพิจิตร ภูมิใจที่นำเสนอ กฤษฎาภินิหารแห่ง สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่  8  พระพุทธเจ้าเสือ กษัตริย์ยอดกตัญญู ต่อแผ่นดิน พระมหากษัตริย์ผู้รักและกตัญญูต่อบ้านโพธิ์ประทับช้างแผ่นดินเกิด เสกสร้าง วัดโพธิ์ประทับช้างที่มี สถาปัตยกรรมอันล้ำเลิศ วิจิตรการตา งดงามหาที่เปรียบมิได้ เป็นมรดกล้ำค่า ของชาวพิจิตรและประเทศไทยทรงเป็นพระมหากษัตริย์ชาตินิยมมากที่สุด ทรงปกป้อง มิให้ชาติไทย เปลี่ยนพระพุทธศาสนา และ ไม่ตกเป็นอาณานิคมของชาวตะวันตก พระเกียรติคุณ และพระมหากรุณาธิคุณต่อแผ่นดินยังฝังแน่นอยู่ในจิตใจของคนไทยทุกคนไม่รู้ลืม
         เพื่อแสดงความคารวะ ในพระมหากษัตริยาธิราช และดวงพระวิญญาณของพระมหากษัตริย์ ที่ทรงคุณต่อแผ่นดินไทย  โปรดยืนขึ้น เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ (เพลงสรรเสริญพระบารมี)
องก์ที่ ๑
องก์ที่ ๑  ถิ่นประสูติ  พระเจ้าเสือ โพธิ์ประทับช้าง    ( ๕ นาที)
ลุศักราช ๒๒๐๔ ในแผ่นสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระนารายณ์เป็นเจ้า  เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธชินราช และพระพุทธชินสีห์ ที่เมืองพิษณุโลก  ขณะถึงตำบลโพธิ์ประทับช้าง พระพันปีหลวง พระนางกุสาวดี พระราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่  พระสนมในสมเด็จพระนารายณ์ ที่ทรงพระนางพระราชทานแด่พระเพทราชา นายกรมช้าง โดยเสด็จพระราชดำเนินด้วยด้วย พระนางกุสาวดีทรงพระครรภ์แก่  ประสูติพระพุทธเจ้าเสือระหว่างต้นโพธิ์กับต้นมะเดื่อในเดือนอ้าย ปีขาล  และนำรกใส่ผอบเงินไปฝังใต้ร่มเงาต้นมะเดื่อ จึงขนานนาม พระเจ้าเสือ ว่า เจ้าเดื่อ หรือนายเดื่อ เพราะเหตุสำคัญนี้ 
พระนารายณ์   เจ้าเด็กน้อย คนนี้ มีลักษณะมหาบุรุษ จะมีบุญญาธิการหนัก เหนือผู้คนทั้งปวง  เราจักขนานนามให้ว่า เจ้าเดื่อ เพราะได้ฝังรกราก ไว้ที่โคนมะเดื่อ ที่ตำบลโพธิ์ประทับช้าง แขวงเมืองพิจิตร แห่งนี้ ขอให้นายกรมช้างพระเพทราชา และพระนางกุสาวดี ได้เลี้ยงดูให้ดี เด็กคนนี้ จะพิทักษ์พระพุทธศาสนา และราชบัลลังก์ ไว้ด้วยชีวิต ขอให้เจ้าเดื่อเติบโตเป็นหลักชัยของราชอาณาจักรอยุธยาของเราสืบไป
พระเพทราชา  ขอเดชะพระอาญามิพ้นเกล้า ขอองค์สมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า ไม่ต้องปริวิตก ข้าพระพุทธเจ้า พระเพทราชาและพระพระนางกุสาวดี จะทรงเลี้ยงพระราชโอรสของพระองค์ ให้ดีที่สุด ถวายด้วยชีวิต แด่พระองค์พระพุทธเจ้าข้า และจะสั่งสอนให้เจ้าราชบุตรเมื่อเติบใหญ่ขึ้น จะต้องมีความกตัญญูต่อแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา พระพุทธเจ้าข้า
พระนางกุสาวดี  ขอพระราชทานบรมราชานุญาต กระหม่อมฉัน พระนางกุสาวดี พระราชธิดาแห่งเจ้านครเชียงใหม่ จะดูแลเจ้าเดื่อราชโอรส ไว้ให้ดีที่สุด และเชื่อมั่นว่า เมื่อเติบใหญ่เจ้าเดื่อ จะดูแลบ้านเมืองราชอาณาจักรอยุธยา อย่างวิเศษ ขอพระองค์ทรงพระเจริญพระพุทธเจ้าข้า
พระนารายณ์  เมื่อท่านทั้งสอง รับปากว่าจะดูแลเจ้าราชบุตร ให้ดีที่สุด ข้าก็หมดห่วง เชื่อมั่นว่าเจ้าเดื่อเติบโตขึ้นจะเป็นที่พึ่งพาแก่อาณาประชาราษฎร์ มาเรามาเฉลิมฉลองกัน
การแสดง ๑ชุด    รำอวยพรอ่อนหวาน / รำกฤษฎาภินิหาร / รำดอกไม้เงินดอกไม้ทอง /หรือ กลองยาว ๑ชุด (๔ นาที)
องก์ที่ ๒ กษัตริย์สร้าง วีรกรรมกู้   พระพุทธศาสนา   (๙ นาที)
เมื่อนายเดื่อ เจริญวัยขึ้น พระเพทราชา  บิดาบุญธรรม นำนายเดื่อมาถวายตัวเป็นมหาดเล็ก ในสมเด็จพระนารายณ์ เป็นที่โปรดปรานและเสน่หา ของสมเด็จพระนารายณ์ยิ่งนัก ไม่ว่านายเดื่อจะทำผิดสิ่งใด ก็มิเคยได้รับพระอาญาจากพระองค์ เพราะพระนารายณ์ทรงทราบดีว่า นายเดื่อเป็นราชโอรส นอกเศวตฉัตร ของพระองค์ และเป็นธรรมเนียมกษัตริย์แต่โบราณที่พระองค์ใดจะขึ้นเป็นกษัตริย์ จะต้องมีพระมารดา เป็นคนไทย เท่านั้น พระนารายณ์พระราชทานตำแหน่งนายเดื่อมหาดเล็ก เป็นหลวงสรศักดิ์ ในฐานที่เชี่ยวชาญการใช้อาวุธทุกชนิดและคิดค้นศาสตร์สำคัญคือ แม่ไม้มวยไทย ได้อย่างเจนจบทุกกระบวนท่า เป็นที่เลื่องลือ ไปถึง เขมรลาว หลวงสรศักดิ์ระดมคนหนุ่ม สร้างกองทัพนักมวยขึ้น ที่บ้านของตน
ลุศักราช  ๒๒๓๑ สมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า พระองค์มีแต่พระราชธิดา ไม่มีราชโอรส คงมีแต่หม่อมปิยะ ราชโอรสบุญธรรม ซึ่งมีพระราชประสงค์จะให้ขึ้นครองราชย์ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์        ทำหน้าที่สมุหนายก สนับสนุน พระปิยะ ให้นับถือศาสนาหนึ่ง และให้ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระนารายณ์ ซึ่งพระเพทราชา และหลวงสรศักดิ์ ไม่เห็นด้วย  ท่านทั้งสอง  ถือหลักชาตินิยม และศาสนาพุทธนิยม  อย่างมั่นคงจึงเกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้น
เจ้าพระยาวิชาเยนทร์  (กล่าวกับชาวต่างชาติและคนไทยที่จงรักภักดีต่อเขารวมถึงพระมหาราชครูด้วย)เราเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ สมุหนายก แห่งราชอาณาจักรอยุธยาจะต้องให้คนไทยเข้ารีต ให้ได้ ขณะนี้พระปียะราชโอรสบุญธรรม ของพระนารายณ์ ลูกศิษย์ของเรา เข้ารีตเรียบร้อยแล้ว เมื่อสิ้นบุญพระนารายณ์ พระปียะขึ้นครองราชย์ คนอยุธยาทั้งหมด จะเข้ารีตเหมือนเราและเราจักต้องสึกพระภิกษุที่เก่งกล้าสามารถออกมารับราชการให้หมด จะได้ไม่มีใครสามารถขัดขวางเราได้ ฮะฮ้าๆๆๆ
พระมหาราชครู  เราต้องนำความไปกราบทูลพระนารายณ์ ให้ทรงทราบ ถึงความนัยที่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ จะนำคนไทยในกรุงศรีอยุธยาเข้ารีต พุทธศาสนาจะสิ้นไปจากอยุธยา
พระนารายณ์ (เสด็จมาที่ศาลามหาราชครูมหาราชครูเข้าเฝ้า ) ท่านมหาราชครู เรามีภารกิจสำคัญให้ท่านทำ ขณะนี้คนไทยของเรา ฝักใฝ่ ในลัทธินอกศาสนา ไม่สนใจเรียนรู้เรื่องของไทย แม้แต่ภาษาไทย เราอยากให้ท่านมหาราชครูนิพนธ์แบบเรียนภาษาไทยขึ้นสักเล่ม เพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้ ไม่ไปเข้ารีตกันหมดหลักสูตรและเนื้อหาแล้แต่ท่านมหาราชครูวัตถุประสงค์คือ ให้เด็กไทย เรียนรู้เรื่องของคนไทยและภาษาไทยให้แตกฉานข้าจะให้เด็กอยุธยา ทุกคนที่เรียนจบเข้ารับราชการ จะได้ไม่ต้องไปสึกพระเก่งๆมาหมด ทำได้ไหมท่านมหาราชครู
มหาราชครู  ข้าพระพุทธเจ้า จะไปกราบบังคมทูลเรื่องนี้อยู่พอดี พระพุทธเจ้าข้า พระองค์ทรงปราขญ์เปรื่องยิ่งนัก ทราบพระเนตรพระกรรณทุกเรื่อง  ข้าพระพุทธเจ้า จะแต่งหนังสือแบบเรียนภาษาไทยเรื่องหนึ่งให้กุลบุตรได้เรียน ให้ชื่อหนังสือว่า จินดามณี ที่แปลว่าแก้วสารพัดนึก พระพุทธเจ้าข้า
พระนารายณ์ ดีมากเลยท่านมหาราชครูเราหมดห่วงเรื่องการเข้ารีตของเด็กไทยไปได้อย่างหนึ่งแล้ว
เราจะเปิดสำนักเรียนจินดามณี ในราชสำนักของเรา
ในท้องพระโรง
เมื่อพระนารายณ์เสด็จออกว่าราชการ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ไปกราบบังคมทูลฟ้องว่า
เจ้าพระวิชาเยนทร์  อาญาเป็นล้นเกล้า บัดนี้หลวงสรศักดิ์ชกเอาปากข้าพระพุทธเจ้า ฟันหักไปสองซี่ ข้าพระพุทธเจ้าสิ้นสมปฤดีล้มสลบลงอยู่ ปิ้มประหนึ่งจะถึงแก่ชีวิต ข้าพระพุทธเจ้าได้ความเจ็บอายแก่ข้าราชการทั้งหลายทั้งปวงเป็นอันมาก ขอทรงพระกรุณาโปรดลงพระราชอาญาแก่หลวงสรศักดิ์จงหนัก แล้ว ข้าพระพุทธเจ้าจึ่งจะสิ้นความเจ็บอายพระพุทธเจ้าข้า
สมเด็จพระนารายณ์  ท่านทะเลาะวิวาทกับมันหรือประการใด ท่านสมุหนายก
เจ้าพระยาวิชาเยนทร์   ข้าพระพุทธเจ้าจะได้ทะเลาะวิวาทถุ้งเถียงกับหลวงสรศักดิ์สิ่งหนึ่งสิ่งใดนั้นหามิได้ พระพุทธเจ้าข้า อยู่ดีๆก็ชกที่ปากข้าพระพุทธเจ้า เลยพระพุทธเจ้าข้า
สมเด็จพระนารายณ์  ตำรวจหลวง จงไปเอาตัว หลวงสรศักดิ์ มาลงโทษ นะบัดนี้ ทำอะไรตามใจตนเองไม่ได้
ที่พระนครศรีอยุธยา
เจ้าแม่วัดดุสิต ( ซึ่งเป็นมารดาเจ้าพระยาโกษาเหล็ก เจ้าพระยาโกษาปาน แลเป็นพระนมผู้ใหญ่ของสมเด็จพระนารายณ์ พระพุทธเจ้าอยู่หัวนั้นหลวงสรศักดิ์ ถวายบังคมแล้วก็กราบทูลแถลงการอันเจ้าพระยาวิชเยนทร์กระทำให้ร้อนในพระพุทธศาสนาดั่งนั้น แลได้กราบทูลพระกรุณาแล้วก็มิได้เอาโทษ
หลวงสรศักดิ์   ข้าพเจ้ามีความโทมนัสถึงพระพุทธศาสนา อันเจ้าพระยาวิชเยนทร์จะทำให้พระพุทธศาสนาให้พินาศเสื่อมสูญดั่งนั้น จึ่งชกเอาปากเจ้าพระยาสมุหนายก แล้วก็หนีลงมา แลบัดนี้สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธ จะลงพระราชอาญาแก่ข้าพระพุทธเจ้า ขอจงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม อัญเชิญเสด็จขึ้นไปขอพระราชทานโทษ ข้าพระพุทธเจ้าครั้งหนึ่งเถิด ?
 ( เจ้าแม่ผู้เฒ่าได้ทรงฟังดั่งนั้นก็เห็นโทษ อันเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ทำผิด จึ่งเสด็จด้วยเรือพระที่นั่งขึ้นไปยังเมืองลพบุรี แลเสด็จถึงฉนวนน้ำประจำท่า ก็พาหลวงสรศักดิ์ขึ้นไปยังพระราชวัง แลให้ยับยั้งอยู่นอกลับแลก่อน แล้วก็เสด็จเข้าเฝ้าข้างใน    พระนารายณ์  พระมารดาเสด็จมาจากอโยธยาถึงพระนครลพบุรี ดูมีเรื่องร้อนพระทัย มีอะไรให้ลูกได้ช่วยเปลื้องทุกข์ ให้พระมารดา โปรดแสดงด้วยพระเจ้าข้า
เจ้าแม่วัดดุสิต  พระมารดา แจ้งว่า เจ้าเดื่อ มันทำผิดร้ายแรงนัก ชกปากเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ถึงสลบและฟันหัก ๒ ซี่  แม่จะขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่มันสักครั้ง  มันเล่าให้พระมารดาฟังว่า เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ จะนำ ศรีอโยธยา เข้ารีตฝรั่ง  และจะเป็นผู้สำเร็จราชการเองจริงหรือ พระมารดา ยึดมั่น ในบวรพระพุทธศาสนา รับไม่ได้เช่นกัน  เจ้าเดื่อ มันรักชาติและพระพุทธศาสนายิ่งชีพมันจึงกระทำการอุกอาจ พระมารดา ว่า แค่ว่ากล่าวตักเตือน น่าจะพอเพียงกับความผิด เมื่อเทียบกับความผิดของ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ทีจะให้ พวกเราเปลี่ยนพระศาสนา และสึกพระเก่งๆไปรับราชการ จำนวนมาก จนพระพุทธศาสนา เสื่อมถอย  แม่ขอเจ้า นะ
พระนารายณ์    พระพุทธเจ้าข้า สมเด็จแม่ ข้าจะเรียกเจ้าเดื่อ มาว่ากล่าวตักเตือน ข้าเองก็รักเจ้าเดื่อประดุจเลือดในอก เช่นกัน
ตั้งแต่นั้นมา หลวงสรศักดิ์ เป็นที่หวาดกลัวและเกรงใจของ กองทัพ ต่างชาติ ที่อยู่ในพระนครลพบุรีและ บรรดาข้าราชการทั้งปวง ที่ไม่พอใจ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ มาเข้ากับหลวงสรศักดิ์เป็นอันมาก
สมเด็จพระนารายณ์นั้นทรงประชวรอยู่ที่พระที่นั่งสุทธาสวรรย์  เมืองลพบุรี  พระเพทราชา  กับ  หลวงสรศักดิ์  เห็นว่า  พระเจ้าเหนือหัวทรงมีพระอาการหนัก  ไม่ทรงหายประชวรแน่แล้ว  จึงสั่งให้ตั้งกองทหารล้อมรักษาพระราชวังอย่างกวดขัน  แล้วทำการล่อเอาตัวพระปียะ  ไปประหารชีวิตเสียแล้วทำการจับเอาตัวเจ้าพระยาวิชาเยนทร์มาไต่สวนกล่าวโทษว่า  เจ้าพระยาวิชาเยนทร์นั้นเป็นกบฏจะชิงราชสมบัติให้พระปียะ  ด้วยประสงค์จะเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเสียเอง  เมื่อสอบสวนแล้วก็ให้เอาตัวเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ไปประหารชีวิตเสียที่ทะเลชุบศร
ขณะนั้นพระเพทราชา บิดาหลวงสรศักดิ์ ได้มุ่งที่จะทำการกำจัดพวกฝรั่งเศสที่อยู่ในอาณาจักรสยาม  โดยเฉพาะทหารฝรั่งเศสที่ประจำอยู่ป้อมเมืองธนบุรีศรีสมุทร  จึงมีเหตุการณ์สู้รบกันขึ้น  ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์ที่ทรงประชวรอยู่เมืองลพบุรีนั้นสวรรคตลงเมื่อ  พ.ศ. 2231  เจ้านายฝ่ายราชวงศ์นั้นได้หมดสิ้นลงแล้ว  และเวลานั้นมีเหตุการณ์สู้รบกับทหารฝรั่งเศสอยู่  จึงทำให้ข้าราชการทั้งปวงจำต้องเชิญพระเพทราชาขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาต่อมา  เป็นการเริ่มต้นราชวงศ์บ้านพลูหลวง  เมื่อพระเพทราชาได้ราชสมบัติ หลวงสรศักดิ์ ก็ได้รับสถาปนาเป็นมหาอุปราช มีฐานะคล้ายเป็นกษัตริย์องค์ที่ 2 ของอยุธยาแต่บัดนั้น
เมื่อพระเพทราชาสวรรคตแล้ว หลวงสรศักดิ์ได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็มสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่  8  หรือ  สมเด็จพระเจ้าเสือ ตั้งแต่นั้นมา
องก์ที่ ๓ ปรมาจารย์  การต่อสู้   กู้นัครา (พันท้ายนรสิงห์)  (๑๙ นาที)
   พระเจ้าเสือปลอมตัว   (ทิดเดื่อ)  เราได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยือนประชาชนอีกครั้งหนึ่ง ไอ้อ่อน ประชาชนเขามุงดูอะไรกันที่แม่น้ำ ไปดูซิ
   อ่อน(มหาดเล็กคู่ใจ)  เสียงเหมือนเล่นเพลงเรือ เราไปชมกัน เลยนะขอรับ พระพุทธเจ้าข้า
   ทิดเดื่อ   ไอ้อ่อน กูบอกแล้ว ไงล่ะ วันนี้เรามาฐานะเพื่อนกัน ไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดิน พูดแบบสามัญชนกับสามัญชน
   อ่อน  พระพุทธเจ้าข้า  (พระเจ้าเสือยันโครม)
ทิดเดื่อ  กูบอกว่าไง
อ่อน  จ้า ไอ้เดื่อ   เราไปชมชาวบ้านเล่นเพลงเรือกัน มึงตามกูมา
(ในลำน้ำ มีเรือ สองลำ ลำหนึ่งมีชายทั้งลำ ลำที่ ๒ เป็นหญิงทั้งลำ กำลังร้องโต้ตอบกันอย่างสนุกสนาน เสียงดังไปทั้งคุ้งน้ำ
เพลงเรือ  ชาย
เอ่อ เออ เอิง เอย ฮ้า ไฮ้ เชี้ยบ เชี้ยบ
พี่ลงเรือ ลำยาว หมายสาว กลางน้ำ       สองมือพี่ นี้กำ(ฮ้า..) ด้ามพาย (ไฮ้)
ด้ามพาย ของพี่ อันนี้ ไม่ใช่นิด             สองมือกำ ไม่มิด (ฮ้า..) ทั้งขวาซ้าย(ไฮ้)
พายก็ยาก เต็มที พี่นี้ อึดอัด                 ต้องพายงัด พายงัด (ฮ้า..) จนตาลาย(ไฮ้)
อยากชวน นวลเนื้อ มาพายเรือ ลำนี้       ลองมาใช้ พายพี่ (ฮ้า..) สักทีไหม(ไฮ้)
เรือน้อง คมขำ ก็ลำ ใหญ่โต                เชิญมาพาย เรือโชว์ (ฮ้า..) กับพี่ชาย(ไฮ้)
ช่วยกันพาย ช่วยกันจ้ำ ลอยลำ นาวา     ให้ก้าวล้ำ นำหน้า (ฮ้า..) สู่จุดหมาย(ไฮ้)
น้องจับ พี่จับ บังคับ ใบพาย                 ถึงแล้วก็ สบาย ใจเอย
(รับ) ถึงแล้วก็ สบาย ใจเอย                น้องจับ พี่จับ บังคับ ใบพาย พี่จับ พี่จับ บังคับ ใบพายถึงแล้วก็สบาย ถึงแล้วก็สบาย สบายใจเอย ฮ้า ไฮ้ เชี้ยบ เชี้ยบ

เพลงเรือ หญิง แก้
เอ่อ เออ เอิง เอย ฮ้า ไฮ้ เชี้ยบ เชี้ยบ
พายเรือ ลำน้อย ล่องลอย กลางน้ำ         แสนรำคาญ น้ำคำ(ฮ้า) ผู้ชาย (ไฮ้)
คุยนัก คุยหนา คุยว่าพาย ไม่เล็ก           โถแค่พาย เด็กเด็ก(ฮ้า) น่าอับอาย(ไฮ้)
เห็นพาย ของพี่ อันนี้นึก สงสาร             สู้พายเด็ก อนุบาล(ฮ้า) ยังไม่ได้(ไฮ้)
ด้ามโค้ง ปลายคด น่าสลด หดหู่            แถมยังสั้น จุ๊ดจู๋ (ฮ้า) ทู่ตรงปลาย(ไฮ้)
รูปพาย อย่างนี้ เห็นที พายไม่ทน           พายนิด ก็นั่งบ่น(ฮ้า) ทนไม่ไหว(ไฮ้)
จะมา ชวนน้อง ให้ลองใช้ พายพี่            ให้น้องใช้ ฟรีฟรี (ฮ้า) ไม่สนใจ(ไฮ้)
เบื่อคน คุยโว โม้กัน เกินไป                  นี่มันเป็น นิสัย ชายเอย
(รับ) นี่มันเป็น นิสัย ชายเอย             เบื่อคน คุยโว โม้กัน เกินไป คุยโว คุยโว โม้กัน เกินไปนี่มันเป็น นิสัย นี่มันเป็น นิสัย นิสัย ชายเอย ฮ้า ไฮ้ เชี้ยบ เชี้ยบ
ทิดเดื่อ  อีสาวเพลงเรือนั่นใครวะ ต้องตากูจังเลย สวยสะดุดตากูจัง อยากรู้จัก
อ่อน   ได้ยินเพื่อนๆเขาเรียกกันว่า อีนวล  มันขึ้นจากเรือแล้ว นวลๆ(ไอ้อ่อนเรียกเสียงดัง)
นวล  เสียงใครเรียกกูวะ กูว่ามันไม่ใช่คนบ้านเราว่ะ หน้าตาพิกล แต่ไอ้คนที่มากับมันสง่างาม เหมือนไม่ใช่พวกเรา ชาวบ้าน
อ่อน นวล เพื่อนข้าทิดเดื่อ อยากรู้จักเจ้า เขาชอบเจ้า หยุดคุยสักคำสองคำสิ
นวล พวกมึงมีอะไรจะคุยกับกูรึ กูไม่มีอะไรจะคุยกับพวกมึง คนต่างถิ่น
ทิดเดื่อ แม่คุณ แม่นวล ฉันชอบแม่นวล ร้องเพลงเรือเพราะจับใจฉันเหลือเกิน อยากรู้จักแม่คุณ
นวล ฉัน เป็นสาวชาวบ้าน เป็นลูกครูมวย ฉันมีคนรักแล้ว ชื่อพี่สิน คนเล่นเพลงเรือกับฉันเมื่อกี้ไงล่ะ 
      ขอบคุณพี่ทิดที่ชอบฉัน แต่ฉันชอบใครไม่ได้แล้วล่ะ
สิน  นวลมีอะไรหรือ ไอ้ทิดนี้มันทำอะไรนวล บอกพี่มา พี่จะจัดการให้
นวล ไม่มีอะไร หรอกพี่สินพี่ทิด เขาชอบฟังเพลงเรือ เขาเลยมาทักฉัน ไม่มีอะไรจริงๆ
สิน  (เดินเข้ามาหาทิดเดื่อ)  พี่ทิดมีอะไรหรือ  กับนวลมัน
ทิดเดื่อ  ข้าชื่อทิดเดื่อ มาจากพระนครศรีอยุธยา กับไอ้อ่อนเพื่อนข้า  บอกตามตรง ข้าชอบแม่เพลง
เรือนางนวล คนนี้ เจ้าชื่อสินหรือ ยกนางนวลให้ข้าได้ไหม ข้าชอบมันมาก
สิน  ได้ซิ ถ้าเจ้า ชกชนะข้า มาลองกันสักตั้ง ในวิเศษชัยชาญ ไม่มีใครรับเชิงมวยไอ้สินได้ (นวลปราดเข้ามาห้าม) นวลเองถอยไป ข้าไม่อยากให้คนต่างถิ่น มาดูถูกคนบ้านนอกอย่างเรา และข้าเชื่อมั่นว่า ในสิบหัวเมือง ไม่มีใครรับมือเชิงมวยข้าได้ ข้าเป็นศิษย์เอก ครูเมือง พ่อเองไม่ใช่หรือ ไม่ต้องกลัวข้าไม่มีทางพ่ายแพ้ ข้าต้องสั่งสอนไอ้คนสามหาวคนนี้
ทิดเดื่อ ข้าได้ยินว่า ครูมวยชื่อครูเมือง ดังไปถึงอยุธยา นี่หรือไอ้สิน ศิษย์เอกครูเมือง ดีล่ะข้าอยากสู้กับคนดีมีฝีมือมวยมานานแล้ว มาเข้ามา
ทั้งสอง ไหว้ครูอย่างงดงาม ในท่วงท่าของมวยไทย มวยเอกแห่งวิเศษชัยชาญ พบกับมวยเอกจากเมืองหลวง ผู้คนล้อมวงเข้าชมเป็นจำนวนมาก ทุกคนถือหาง เจ้าสิน มีไอ้อ่อนเท่านั้นที่ถือหางทิดเดื่อ เมื่อการต่อสู้เริ่มขึ้น
   ทั้งสองผลัดกันรุก ผลัดกันรับ ด้วยมีฝีมือไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ทิดเดื่อปล่อยหมัดเด็ดที่ปลายคางเจ้าสิน ล้มลง ครูเมืองปราดเข้าไปนับถึงแปด เจ้าสินลุกขึ้น ตะลุยเตะซ้ายขวา จนทิดเดื่อถอยกรูด ตั้งตัวไม่ทันล้มลง ครูเมืองปราดเข้าไปนับ ทันใดมีทหารหลวง ๓-๔ คนวิ่งเข้ามา ทำท่าป้องกันทิดเดื่อ
พระยาราชสงคราม (ตวาด) ถอยไปพวกมึงรู้ไหม คนที่มึงทำร้าย คือพ่ออยู่หัว ของพวกมึง พระเจ้าเสือ ไอ้พวกนี้จะต้องถูกประหารเจ็ดชั่วโคตร
ทิดเดื่อ  พวกมึงออกไป ไม่ต้องมาช่วยกู กูจะสู้กันตัวต่อตัว ให้รู้แพ้รู้ชนะ ไปออกไป
อ่อน    ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาท ยกโทษให้นายทหารเถิดพระเจ้าข้า เขาไม่ทราบเรื่องว่า
          พระองค์กำลังต่อสู้กับไอ้สินแบบลูกผู้ชาย มีนางนวลเป็นเดิมพัน
ทิดเดื่อ เออไม่เป็นไร หมดสนุกเลย ความแตก กูกำชับแล้ว ให้อยู่ห่างๆ ไม่ต้องมาคุ้มกันกู คนอย่างกูไม่มีใครมาทำร้ายได้ง่ายๆหรอก
พระยาราชสงคราม  ขอเดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้า ข้าพระพุทธเจ้า ผ่านมาพบพอดี ขอพระราชทานอภัยโทษ ไม่ทราบว่าพระองค์กำลังสนุก คิดว่าพระองค์ถูกรุมทำร้าย ขอพระราชทานอภัยพระพุทธเจ้าข้า
ทุกคนตะลึง เมื่อทราบว่าทิดเดื่อคือ เจ้ามหาชีวิต พระพุทธเจ้าเสือ กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงศรีอยุธยา
ทั้งวงทุกคนก้มลงกราบ รวมทั้ง สิน นวล และครูเมือง ต่างตัวสั่นงันงก ไม่คิดว่า ไอ้หนุ่มที่เขา เตะจนล้มไปคือ พระเจ้าเสือ
สิน  ขอเดชะ ยกโทษให้ข้า ให้นวล ให้ครูเมือง และพวกเราชาววิเศษชัยชาญ อย่าเผาพวกเราทั้งเป็นเลย ขอรับ พวกเราไม่ทราบจริงๆว่าเป็นพระเจ้าเสือเจ้าชีวิต ของพวกเรา
ทิดเดื่อ ข้าโหดเหี้ยมถึงเพียงนี้เลยหรือ เอะอะก็จะเผาทั้งเป็น ข้าไม่โหดเช่นนั้นหรอก ไอ้สิน ข้าชอบฝีมือเอง วะ ไปอยู่กับข้าไหม ข้าจะให้เป็นราชองครักษ์ติดตามข้าไปทุกแห่ง แล้วอีนวล เองจะยกให้ข้าไหม ครูเมือง ข้าขอมันกับเอง
สิน ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า ไม่มีความรู้อะไรเลย นอกจากเชิงดาบและเชิงมวย ข้าพระพุทธเจ้าไม่อยากรับราชการ พระพุทธเจ้าข้า อยากเป็นชาวบ้านอย่างนี้ ตลอดไป
ครูเมือง  ขอเดชะพระอาญาไม่พ้นเกล้ากระหม่อมฉันไม่ขัดข้อง เรื่อง อีนวล จะไปเป็นสนมของพระองค์ 
ทิดเดื่อ ไอ้สินมึงว่าไง จะยกอีนวลให้กูไหม กูให้พวกมึงไปตัดสินใจหนึ่งคืน พรุ่งนี้ไปหากู ที่เรือพระที่นั่งเอกชัย ท้ายเมือง วิเศษชัยชาญ
พระเจ้าเสือเสด็จจากไป อย่างรวดเร็ว
นวล (โผมาหาสิน) พี่สิน ฉันจะทำอย่างไรดี พรุ่งนี้ฉันต้องไป เป็นเมียพระเจ้าเสือแล้ว ไม่มีใครกล้าขัดพระราชโองการหรอก หรือพี่พาฉันหนีไปคืนนี้ หรือให้ฉันจะเป็นของพี่ก่อน พระเจ้าเสือพี่สินเราจะทำอย่างไรดี
(ทิดเดื่อและไอ้อ่อนแอบอยู่ข้างประตูบ้านของนวล)
สิน (เปิดเพลงน้ำตาแสงใต้)  ไม่ได้หรอกนวล พระองค์คือเจ้าชีวิตของเรา เราจะต้องซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อพระองค์ เราทำอะไรที่ผิดประเพณีไม่ได้ ข้ารักเองเพียงใด เองรักข้าเพียงใด ข้าจะไม่ยอมทำผิด ต่อพ่ออยู่หัวของเรา
นวล ฉันจะรักพี่สินตลอดไป พรุ่งนี้ ฉันจะก้มหน้า รับชะตากรรมของฉัน
เรือเอกชัยค่อยๆเคลื่อนมา เสียงร้องเห่เรือดังเข้ามาใกล้   พระเจ้าเสือประทับบนพระที่นั่งเรือเอกชัย  พร้อมไพร่พล และคนสนิท ประชาชนจำนวนมาก มาเข้าเฝ้ารับเสด็จที่ท่าน้ำ
พระเจ้าเสือ (องค์ใหม่ ) ว่าอย่างไร ครูเมือง  มึงพร้อมหรือยังที่จะให้อีนวลแต่งงาน
ครูเมือง พร้อมแล้วพระพุทธเจ้าข้า แล้วแต่พระองค์จะทรงโปรด
พระเจ้าเสือ  อีนวลเข้ามาใกล้ๆกู (นวลก้มกราบพระบาท)  ไอ้สิน เข้ามา ใกล้อีนวล กูพระเจ้าเสือแห่งกรุงศรีอยุธยา ขอประกาศว่า ให้ไอ้สินและอีนวล แต่งงานกัน กูขอให้มึงทั้งสองครองรักกันตราบนิรันดร์ (เจ้าเสือหลั่งน้ำพระพุทธมนต์รดศีรษะคนทั้งสอง ) และกูประกาศว่าให้ไอ้สิน รับตำแหน่ง พันท้ายนรสิงห์ คนถือท้ายเรือพระที่นั่งกูตลอดไป (ทั้งสองก้มกราบ  ปิดไฟ)
องก์ที่ ๔ สร้างพัฒนา  วัดโพธิ์ประทับช้าง  กลางใจชน  ( ๙ นาที)
พระเจ้าเสือ  (ทรงเรือพระที่นั่งเอกชัย จอดเรือหน้าเมือง มีพระมหาราชครูออกมาอ่านพระบรมราชโองการความว่า)
พระมหาราชครู (อ่านบรมราชโองการ)
            ลุศักราชได้   ๑๐๖๑   ปี เถาะ  เอกศก (พ.ศ. ๒๒๔๒) สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงพระราชดำริถึงภูมิชาติแห่งพระองค์  ซึ่งสมเด็จพระพันปีหลวง ตรัสบอกไว้แต่ยังทรงพระเยาว์อยู่นั้นว่า   เมื่อศักราช  ๑๐๒๔  ปี ขาล  อัฐศก (พ.ศ. ๒๒๐๕) แต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จบรมพิตรพระนารายณ์เป็นเจ้า  เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการพระพุทธปฏิมากรพระชินราช  พระชินสีห์   ณ  เมืองพิษณุโลก  ทรงพระกรุณาให้มีการมหรสพถวายพุทธสมโภชคำรบ   ๓  วัน   ครั้งนั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศพาเอาสมเด็จพระพันปีหลวงตามเสด็จขึ้นไปด้วย  ขณะนั้นสมเด็จพระพันปีหลวงทรงพระครรภ์แก่  จึงประสูติพระองค์ที่ตำบลบ้านโพธิ์ประทับช้าง  แขวงเมืองพิจิตร  ในเดือนอ้าย  ปีขาล อัฐศก  แล้วจึงเอารกที่สหชาตินั้นใส่ลงในผอบเงิน  เอาไปฝังไว้หว่างต้นโพธิ์ประทับช้าง และต้นมะเดื่ออุทุมพร  ต่อกันนั้น  เหตุนั้นจึงได้นามกรชื่อ  มะเดื่อ   และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงพระราชดำริระลึกถึงที่ภูมิชาติ  อันพระองค์ประสูติ  ณ  แขวงหัวเมืองฝ่ายเหนือ  เป็นที่มหามงคลสถานอันประเสริฐสมควรจะสร้างขึ้นเป็นพระอาราม 
         จึงมีพระราชดำรัสสั่ง สมุหนายก ให้เกณฑ์กันขึ้นไปสร้างพระอาราม  ตำบลบ้านโพธิ์ประทับช้าง  มีพระอุโบสถ  วิหาร  มหาธาตุเจดีย์  ศาลาการเปรียญ และกุฎีสงฆ์พร้อมเสร็จ  และสร้างพระอารามนั้นสองปีเศษ  จึงจะสำเร็จ  ในปีมะเส็ง ตรีศก  จึงสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวก็เสด็จด้วยพระชลวิมานโดยกระบวนนาวาพยุห  ขึ้นไปพระอารามตำบลโพธิ์ประทับช้างนั้น และท้าวพระยาข้าทูลละอองธุลีพระบาท  ซึ่งขึ้นไปคอยรับเสด็จโดยสถลมารคนั้นก็เป็นอันมาก  แล้วทรงพระกรุณาให้มีการฉลอง และมีการมหรสพคำรบสามวัน  ทรงถวายไทยทานแก่พระสงฆ์เป็นอันมาก  และทรงพระราชอุทิศถวายเลขข้าพระไว้สำหรับอุปฐากพระอาราม  ๒๐๐  ครัว  และถวายพระกัลปนาขึ้นแก่พระอารามตามธรรมเนียม  แล้วทรงพระกรุณาตั้งเจ้าอธิการ  ชื่อ  พระครูธรรมรูจีราชมุนี อยู่ครองพระอาราม ถวายเครื่องสมณบริขารตามศักดิ์พระราชาคณะแล้วเสร็จ  ก็เสด็จกลับยังพระนครศรีอยุธยา จำเดิมแต่นั้นมา  พระอารามนั้นให้เรียกว่า    วัดโพธิ์ประทับช้าง
                                   “””””””””””””””””””””””
องก์สรุป  ๔ นาที แสดงความอาลัย ในหลวงรัชกาลที่ ๙
เนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จสู่สวรรคาลัย เราชาวโพธิ์ประทับช้าง และชาว ไทยทุกคนขอ “กราบแทบพระยุคลบาท ส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และร่วมแสดงความอาลัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช ข้าพระพุทธเจ้า…”
เพลง ฟ้าร้องไห้
แล้วพ่อก็จากลูกไป จากไปไม่เอ่ยคำลา
แม้ทำใจเอาไว้ล่วงหน้า ถึงเวลากลั้นน้ำตาไม่ไหว
เสียงครวญคร่ำไปทั่วขวานทอง
ความหม่นหมองครอบครองอยู่ทั่วไทย
แม้แต่ฟ้าก็ยังร้องไห้
เหมือนรู้ใจ คนไทยอาลัยอาวรณ์

พ่อเหนื่อยมานานนัก งานหนักไม่ค่อยได้พักผ่อน
พันยอดดอยร้อยทุ่งนาป่าดอน
พ่อห่วงหาอาทร พสกนิกรของพ่อ

นับตั้งแต่นี้ต่อไป คงไม่ได้เห็นหน้าพ่ออีกหนอ
ด้วยผลบุญพ่อก่อ เป็นสะพานทอดรอ
นำพ่อสู่สรวงสวรรค์

ขาดพ่อเหมือนเรือถ่อหัก เราจงรักสามัคคีกันไว้
ทำตามคำสอนของพ่อ ชาติไทยก็เดินต่อไปได้
พ่อคอยจับจ้องมองมา จากชั้นฟ้าสวรรคาลัย
ถ้าลูกทุกคนรักพ่อ จงสานต่อตามรอยพ่อไป
รักษาบ้านเมืองเอาไว้ รักษาบ้านเมืองเอาไว้
ให้พ่อภูมิใจว่าเป็นลูกพ่อ

นับตั้งแต่นี้ต่อไป คงไม่ได้เห็นหน้าพ่ออีกหนอ
ด้วยผลบุญพ่อก่อ เป็นสะพานทอดรอ
นำพ่อสู่สรวงสวรรค์

พ่อเหนื่อยมานานนัก งานหนักไม่ค่อยได้พักผ่อน
พันยอดดอยร้อยทุ่งนาป่าดอน
พ่อห่วงหาอาทร พสกนิกรของพ่อ

นับตั้งแต่นี้ต่อไป คงไม่ได้เห็นหน้าพ่ออีกหนอ
ด้วยผลบุญพ่อก่อ เป็นสะพานทอดรอ
นำพ่อสู่สรวงสวรรค์
“พระองค์จะสถิตอยู่ในดวงใจปวงชนตลอดไป ขอพระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัย ข้าพระพุทธเจ้า…”
ฟินาเร่ จบด้วย มาร์ช พิจิตร
https://www.youtube.com/watch?v=V9Zbhk3GC3E


 
 

หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 10
Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!