จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
เมษายน 19, 2024, 08:18:42 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: นครไตรตรึงษ์ นครแห่งแรก ของกำแพงเพชร เจดีย์เจ็ดยอดงามสม ท้าวแสนปมนามกระ  (อ่าน 7150 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1413


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: สิงหาคม 11, 2014, 09:45:24 pm »

นครไตรตรึงษ์  นครแห่งแรก   ของกำแพงเพชร
            
เจดีย์เจ็ดยอดงามสม  ท้าวแสนปมนามกระเดื่อง  วัดวังพระธาตุฟูเฟื่อง   เลื่องลือไกลไตรตรึงษ์
 

สะพานเชื่อม ระหว่าง  ไตรตรึงษ์ กับ เทพนคร

   เมืองไตรตรึงษ์เป็นนครแห่งแรกของเมืองกำแพงเพชร  หมายถึงเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีพระอินทร์เป็นมหาราชาประจำสวรรค์ชั้นนี้ นครไตรตรึงษ์ เป็นเมืองโบราณ แห่งแรกของกำแพงเพชร นับว่ายิ่งใหญ่ และเกรียงไกรอย่างยิ่ง เมืองไตรตรึงษ์คู่กับเมืองเทพนคร ตั้งอยู่คนละฟากฝั่งลำน้ำปิง เมืองไตรตรึงษ์คือเมืองของนางอุษา เมืองเทพนคร คือเมืองของท้าวชินเสน  หรือท้าวแสนปม ซึ่งเมืองทั้งสองยังมีหลักฐานที่ชัดเจน ในเขตอำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชร มีคำขวัญที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ในอดีตของนครไตรตรึงษ์  ว่า เจดีย์เจ็ดยอดงามสม  ท้าวแสนปมนามกระเดื่อง  วัดวังพระธาตุฟูเฟื่อง 
เลื่องลือไกลไตรตรึงษ์ ดังจะพรรณนา ความหมายของคำขวัญวรรคต่างๆดังนี้ 
                                                   เจดีย์ประธานวัดเจดีย์เจ็ดยอด
   
เจดีย์เจ็ดยอดงามสม   หมายถึง  ภายในกำแพงเมืองโบราณของนครไตรตรึงษ์ มีวัดประจำเมืองคือวัดเจดีย์เจ็ดยอด ซึ่งเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้น กำแพงเพชร ในเดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2449  เมื่อถึงนครไตรตรึงษ์ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า ? วิหารเจดีย์พังตั้งอยู่เบื้องหลัง ถัดเข้าไปอีกหน่อยหนึ่ง เรียกว่าเจดีย์เจ็ดยอด จะเป็นด้วยผู้มาตรวจตราค้นพบ สามารถจะถางเข้าไปได้แค่เจ็ดยอดแต่ที่จริงคราวนี้ เขาถางได้ดีกว่า จึงได้พบมากกว่า 7 คือ พระเจดีย์ใหญ่ขนาดพระมหาธาตุริมน้ำอยู่กลาง มีพระเจดีย์สามด้าน?  เจดีย์เจ็ดยอด มีเจดีย์รายล้อม พระมหาเจดีย์ อยู่ 3 ด้าน รวม 14 องค์  ลักษณะเจดีย์
เป็นเจดีย์ฐาน สี่เหลี่ยม ขนาดใหญ่ ก่อด้วยอิฐ เจดีย์ประธานเป็นลักษณะเจดีย์ทรงดอกบัวหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ฐานล่างก่อเป็นแบบฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมซ้อนกันสี่ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย จึงเป็นส่วนเรือนธาตุย่อไม้ยี่สิบ ส่วนยอดพังทลาย ฐานด้านหน้าหรือด้านตะวันออกทำเป็นซุ้มพระยื่นออกมา รายรอบเจดีย์ประธานมีฐานเจดีย์รายเล็กๆ ก่อด้วยอิฐหลายองค์ มีลักษณะที่งดงามมากสมเป็นวัดประจำเมืองไตรตรึงษ์ เมืองสวรรค์ชั้นที่สามสิบสามหรือดาวดึงส์เมืองแห่งอินทราธิราช
เจดีย์เจ็ดยอดจึงงามสมกับเมืองไตรตรึงษ์อย่างที่สุดที่สุด
                                   รูปปั้นท้าวแสนปมหน้าเจดีย์วังพระธาตุ
   
ท้าวแสนปมนามกระเดื่อง หมายถึง ท้าวแสนปม เป็นสัญลักษณ์สำคัญของนครไตรตรึงษ์ มีนิทานเล่ากันมาว่า  เจ้าเมืองไตรตรึงษ์ มีพระธิดาสิริโสภาองค์หนึ่งซึ่งเป็นที่รักใคร่ดังดวงแก้วตาทรงพระนามว่า นางอุษา  ที่ใกล้เมืองไตรตรึงษ์นี้มีชายคนหนึ่งซึ่งร่างกายเต็มไป ด้วยปุ่มปม ชาวบ้านเรียกเขาว่า นายแสนปม มีอาชีพปลูกผักสวนครัวขายเลี้ยงตัว มะเขือที่เขาปลูกเอาไว้ต้นหนึ่งมีผลโตน่ากินเพราะ นายแสนปมถ่ายปัสสาวะรดเป็นประจำ อยู่มาวันหนึ่งเทวดาดลใจให้พระธิดานีกอยากเสวยมะเขือ พวกนางข้าหลวงจึงออกเสาะหาจน มาพบมะเขือในสวนของนายแสนปมลูกใหญ่อวบจึงขอซื้อ

ไปถวาย หลังจากพระราชธิดาเสวยมะเขือของนายแสนปมได้ไม่นานก็เกิด ตั้งครรภ์ขึ้น
ท้าวไตรตรึงษ์รู้สึกอับอายขายหน้า พยายามสอบถามอย่างไรพระธิดาก็ไม่ยอมบอกว่าใครคือพ่อของเด็กในท้อง ครั้นเมื่อพระกุมารได้ เติบโตพอรู้ความ ท้าวไตรตรึงษ์จึงประกาศให้บรรดาขุนนางและเหล่าราษฎร์ทั้งหลายให้นำของกินเข้ามาในวัง หากพระกุมารยอมกิน ของผู้ใดผู้นั้นจะได้เป็นเขยหลวง บรรดาชายหนุ่มในเมืองต่างก็รีบเดินทางเข้าวังพร้อมของกินดีๆ

นายแสนปมทราบข่าวก็เข้าวังมาด้วยเช่นกัน โดยถือเพียงข้าวสุกติดมือมาก้อนเดียว แต่พระกุมารรับไปเสวย ท้าวไตรตรึงษ์ทรงกริ้ว ที่พระธิดาไปได้กับคนชั้นไพร่ มิหนำซ้ำยังอัปลักษณ์จึงขับไล่ออกจากวัง นายแสนปมพาพระธิดากับพระกุมารเดินทางเข้าไปหาที่อยู่ใหม่ ร้อนถึงพระอินทร์ต้องแปลงเป็นลิงนำกลองวิเศษมามอบให้ กลองนี้อยากได้อะไรก็ตีเอาตามได้ดังสารพัดนึก
นายแสนปมอธิษฐานให้ปุ่มปมตามตัวหายไปแล้วตีกลองวิเศษ ร่างก็กลับเป็นชายรูปงาม จึงตีกลองขอบ้านเมืองขึ้นมาเมืองหนึ่ง ให้ชื่อ ว่า เมืองเทพนคร และสถาปนาตัวเองเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า ท้าวแสนปม ปกครองไพร่ฟ้าด้วยความสงบสุข และเชื่อกันว่าราชโอรสของท้าวแสนปมคือพระเจ้า
อู่ทอง กษัตริย์ผู้ก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา จึงทำให้ชื่อเสียงของท้าวแสนปมดังไปทั่วประเทศ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า นำไปพระราชนิพนธ์ เรื่อง ท้าวแสนปม ทำให้คนทั้งประเทศรู้จักท้าวแสนปมมากขึ้น


   
         ท้าวแสนปมในศาลนอกวัดวังพระธาตุ

วัดวังพระธาตุฟูเฟื่อง หมายถึง  ที่นครไตรตรึงษ์มีวัดขนาดใหญ่ นอกเมืองไตรตรึงษ์ทางทิศตะวันออกตามลําน้ำปิง มีโบราณสถานขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง เรียกว่า วัดวังพระธาตุ หลวงพ่อเจริญ   ชูโชติ หรือ พระครูสถิตวชิรคุณ เจ้าอาวาสวัดวังพระธาตุ อายุ 78 พรรษา บวชมา 58 พรรษา หลวงพ่อเล่าว่าเมื่อตอนที่หลวงพ่อมาอยู่ที่วัดวังพระธาตุนี้ก็พบว่ามี โบสถ์  เจดีย์  และ วิหาร อยู่แล้ว แต่ก่อนวัดแห่งนี้ไม่มีพระจำพรรษาอยู่เลย จะเริ่มมีพระมาจำพรรษาอยู่ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2493 และแต่ก่อนที่วัดแห่งนี้เป็นป่ารกร้าง บริเวณพระวิหารมีเนินดินและต้นไม้ใหญ่ปกคลุมจนแทบมองไม่เห็นพระวิหาร ต่อมากรมศิลปากรก็ได้มาบูรณะให้ใหม่จนมีสภาพปัจจุบัน และยังพบว่ามีอุโมงค์จากเจดีย์ไปถึงแม่น้ำ  ที่ทราบว่ามีอุโมงค์จากแม่น้ำไปถึงเจดีย์ ก็เพราะว่าเมื่อถึงหน้าน้ำ น้ำจากแม่น้ำก็จะไหลเข้าไปในอุโมงค์ก็จะได้ยินเสียงสัตว์น้ำส่งเสียงบริเวณเจดีย์ และยังมีความเชื่อว่า ในป่าบริเวณวัดมีเมืองลับแลอยู่ด้วย เนื่องจากมีคนเคยเห็นว่ามีคนกวักมือเรียกให้เข้าไปบริเวณป่านั้นด้วย  นอกเมืองเก่า ไตรตรึงษ์ ริมฝั่งแม่น้ำปิง มีวัดโบราณที่สำคัญวัดหนึ่ง ประชาชนเรียกขานกันว่าวัดวังพระธาตุ  เชื่อกันว่า ภายในพระมหาเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ขนาดใหญ่ และสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ....  ในวันมาฆบูชา  วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬบูชา ชาวบ้านในเขตใกล้กับวัดทั่วไปพบปรากฏการณ์มหัศจรรย์ คือ พระบรมธาตุ จากวัดวังพระธาตุ จะลอยมามีขนาดประมาณผลส้มเกลี้ยงลอยวนไปมา แล้วลอยมาที่วัดเสด็จในเมืองกำแพงเพชร แล้วลอยไปที่วัดพระบรมธาตุ นครชุม เป็นอย่างนี้ทุกปีมา จนกระทั่งวัดเสด็จได้ชื่อว่าวัดเสด็จ คือพระบรมธาตุเสด็จนั่นเอง เป็นที่กล่าวสรรเสริญกันไปในยุค 50 ปีที่ผ่านมา....
   เหตุผลที่เรียกขานกันว่าวัดวังพระธาตุเพราะ หน้าวัดเป็นห้วงน้ำใหญ่ เรียกกันโดยสามัญว่า วังเมื่อมีพระธาตุตั้งอยู่ จึงเรียกกันว่าวังพระธาตุ ท่านเจ้าอาวาสพระครูสถิตวชิรคุณ ได้เล่าให้ฟังว่า บริเวณวังน้ำหน้าวัดใกล้กับศาลท้าวแสนปมเดิม มีวังน้ำขนาดใหญ่ มีอุโมงค์ เข้าไปถึงองค์พระเจดีย์ มีสมบัติซ่อนอยู่มากมาย เมื่อน้ำปิงขึ้นสูง น้ำจะไหลเข้ามาตามอุโมงค์ จนมาถึงฐานพระมหาเจดีย์ มีแผ่นหินใหญ่ปิดไว้ แต่ปัจจุบันไม่มีหลักฐานให้เห็นนอกจาก คำบอกเล่าเท่านั้น
   สถานที่สำคัญของวัดวังพระธาตุคือ
      พระมหาเจดีย์ ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ สมัยสุโขทัย ขนาดใหญ่มากที่สุดที่พบในจังหวัดกำแพงเพชร ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้วจากกรมศิลปากร ศิลปะงดงามสร้างด้วยแผ่นอิฐขนาดใหญ่
เมื่อในปีพุทธศักราช 2449 พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกำแพงเพชร แวะที่วัดวังพระธาตุ ทรงบันทึกไว้ว่า
.........พระธาตุนี้มีฐานแท่นซ้อนสามชั้น แล้วถึงชั้นคูหาบนเป็นรูปกลม ซึ่งกรมหลวงนริศ เรียกว่า
ทะนาน ถัดขึ้นไปจึงถึงบัลลังก์ปล้องไฉนเจ็ดปล้องปลีแล้วปักฉัตร ไม่ผิดกับพระเจดีย์เมืองฝาง.....องค์พระเจดีย์ชำรุดพังลงมาเสียซีกหนึ่ง มีรากระเบียงรอบวิหาร 4ทิศ วิหารใหญ่ที่บูชาอยู่ทิศใต้ พระอุโบสถซึ่งมีสีมาเป็นสำคัญ อยู่ทิศตะวันออกเยื้องไม่ตรงกลางเขาปลูกโรงหลังคามุงกระเบื้องในที่ใกล้พระเจดีย์ด้านตะวันออก มีพระพุทธรูปทั้งนั่ง ทั้งยืนหลายองค์ พระพุทธรูปหน้าตาดีแปลกกว่าที่เคยเห็น เวลานี้มีพระซึ่งมาแต่เมืองนนท์ เป็นคนเคยรู้จักกันมาแต่ก่อน ขึ้นมาจำพรรษาอยู่ที่นี้ คิดจะปฏิสังขรณ์ปลูกกุฏิที่เยื้องหน้าพระธาตุ...........
   พระวิหาร สภาพชำรุดแต่เดิมเห็นแค่เนินดินเท่านั้น  สร้างด้วยอิฐเป็นฐานเสาเป็นศิลาแลง คงสร้างในสมัยเดียวกับพระเจดีย์ เป็นวิหารยกพื้นมีบันไดห้าขั้น ทางทิศเหนือและทิศใต้ สภาพได้รับการบูรณะแล้วบางส่วน เป็นรายละเอียดของวัดวังพระธาตุ

 
                            เจดีย์วัดวังพระธาตุ

   เลื่องลือไกลไตรตรึงษ์     นครไตรตรึงษ์ ตามตำนานสิงหนวัติกุมาร สร้างสมัยพระเจ้าชัยศิริ  หรือหรือพระเจ้าศิริชัยเชียงแสนตาม ตำนานท้าวแสนปม และกำเนิดพระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งอยุธยา เมื่อราวปีพุทธศักราช 1547
 
กำแพงเมืองโบราณ ของนครไตรตรึงษ์

เมืองไตรตรึงษ์มีกำแพงเมืองสามชั้น ที่เรียกกันว่าตรีบูร สภาพกำแพงเมืองชั้นในยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ คูเมืองยังลึกและงดงามมาก กำแพงเมืองชั้นนอกสุดถูกปาดไปเป็นถนนส่วนหนึ่ง กำแพงชั้นกลางยังพอให้เห็นอยู่บ้างเล็กน้อย กำแพงชั้นในบางส่วนถูกไถเพื่อทำไร่น้อยหน่า ไร่มันสำปะหลัง ไปบ้าง การมาสำรวจเมืองไตรตรึงษ์ในครั้งนี้ พบว่าแนวกำแพงเมืองคูเมืองได้รับความเสียหายมาก กว่าเมื่อ
ห้าปีที่ผ่านมา 
ความจริงเมืองไตรตรึงษ์เป็นเมืองที่สง่างามตั้งบนชัยภูมิที่เหมาะสม คือตำบล  มอพระธาตุ น้ำท่วมไม่ถึง มีแม่น้ำปิงเป็นแนวคูเมือง ผันน้ำจากลำน้ำปิง มาหล่อเลี้ยงคูเมืองทั้งสามชั้น  ต้องตามตำรับพิชัยสงคราม แต่กลับเป็นเมืองที่ทิ้งร้าง มาราว 200 ปี  ถ้ามีโอกาสชุบชีวิตเมืองไตรตรึงษ์ขึ้นมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางอารยธรรมจะสามารถทำได้ สมบูรณ์ยิ่งใหญ่มาก จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของกำแพงเพชรเลยทีเดียวเพราะแวะชมได้ง่าย และอยู่ไม่ห่างจากถนน พหลโยธิน
ได้ไปพบกับคุณสมานและคุณสมพงษ์ วันเชื้อ สองสามีภรรยา ผู้พบเครื่องปั้นดินเผา แวดินเผา ลูกปัดโบราณจำนวนมาก ทั้งสองท่านเล่าว่า ทุกวันที่มีฝนตก จะมีเครื่องปั้นดินเผาและลูกปัดโบราณสมัยทวาราวดี ลอยขึ้นมาจากดินจำนวนมาก
 
แวดินเผาที่พบในเมืองไตรตรึงษ์

ในบริเวณเมืองเก่าไตรตรึงษ์ มีวัดประจำเมือง เรียกกันโดยสามัญว่าวัดเจดีย์เจ็ดยอดรูปทรงงดงาม แม้กรมศิลปากรจะขุดแต่งแล้ว แต่เมื่อเข้าไปใกล้ เจดีย์ทั้งเจดีย์ ถูกเจาะเข้าไปทุกด้าน ทั้งด้านบนและด้านล่าง เจดีย์รายทั้งหมด ได้ถูกขุดทำลายโดยสิ้นเชิง ร่องรอยถูกขุดใหม่ๆยังปรากฏอยู่ ซึ่งชาวบ้านแถบนั้นพูดกันว่าป้องกันได้ยากมาก เพราะผู้ขุดมาขุดในเวลายามวิกาล  เมืองไตรตรึงษ์ ในอดีตเป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่มาก มานับพันปี เป็นต้นกำเนิดของปฐมกษัตริย์แห่งอยุธยา ในอนาคต เมืองไตรตรึงษ์อาจเหมือนอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร หรือเนรมิตให้เหมือนเวียงกุมกามที่เชียงใหม่ รับรองได้ว่าจะงดงามอย่างที่สุด
 
ลูกปัดสมัยทวาราวดี ที่พบในเมืองเก่าไตรตรึงษ์
เจดีย์เจ็ดยอดงามสม  ท้าวแสนปมนามกระเดื่อง  วัดวังพระธาตุฟูเฟื่อง   เลื่องลือไกลไตรตรึงษ์ จึงเป็นคำขวัญที่แสดง ถึงความยิ่งใหญ่ในอดีตของ นครไตรตรึงษ์ อย่างแท้จริง เมื่อผ่านเมืองนครไตรตรึงษ์ควรอย่างยิ่งที่ท่านจะได้แวะชมความยิ่งใหญ่ของนครไตรตรึงษ์ แล้วท่านจะประทับใจอย่างที่สุด


                           สันติ อภัยราช
                  ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร



























ปกหลัง
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!