จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
มีนาคม 28, 2024, 04:01:27 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: มรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของจังหวัดกำแพงเพชร  (อ่าน 4176 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1410


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: มีนาคม 27, 2014, 09:50:20 pm »

มรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของจังหวัดกำแพงเพชร
ประเภทของศิลปวัฒนธรรม
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้แบ่งศิลปวัฒนธรรมออกเป็น ๕ ประเภท ดังนี้
?   ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ และศาสนา
?   ภาษา และวรรณกรรม
?   ศิลปกรรม และโบราณคดี
?   การละเล่น ดนตรี และนาฏศิลป์
?   ชีวิตความเป็นอยู่ และวิทยาการ
สงกรานต์กำแพงเพชร
    สงกรานต์แต่ละเมืองต่างมีเอกลักษณ์ แตกต่างกันไป กำแพงเพชรเป็นอีกเมืองหนึ่งที่มี เอกลักษณ์งานสงกรานต์เฉพาะตัว เพราะเป็นเมืองโบราณที่สืบทอดประเพณีสงกรานต์กันมาหลายร้อยปี
         โดยเริ่มจากวันที่ 12 เมษายน ประชาชนจะทำบุญตักบาตรกันในตอนเช้า ในตอนเย็นจะมีประเพณีการขนทรายเข้าวัด และร่วมกันก่อเจดีย์ทราย ที่ตกแต่งด้วย ดอกไม้ ธงทิว พวงมะโหด ปักเท่าอายุตนเอง เพื่อเป็นการสะเดาะเคราะห์ เมื่อก่อพระทรายแล้วนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ ที่กำแพงเพชร นิยมก่อที่วัดบาง นำทรายจากหาดทรายแม่น้ำปิงหน้าวัดบางมาก่อพระเจดีย์ แต่ ในปัจจุบัน หาดทรายอยู่ห่างจากวัดมาก จึงใช้รถขนมา หรือซื้อมาแล้วมาก่อที่วัด อาจไม่ได้ความรู้สึกที่ดีๆ เหมือนในอดีต ที่หนุ่มสาว หาบ ขน ทราย จากหาดทราย กระเซ้าเย้าแหย่ กันมาตลอดทางจนถึงวัด บรรยากาศจะเป็นธรรมชาติและสนุกมาก??ซึ่งในปัจจุบันไม่เห็นมาหลายสิบปีแล้ว??
         ประชาชนจะเริ่ม รดน้ำสาดน้ำกัน ในวันที่ 12 นี้ บรรยากาศสงกรานต์ ในทุ่งมหาราช ที่บรรยายภาพ ที่สนุกสนาน หนุ่มสาวจะมีโอกาสได้ใกล้ชิด และถูกเนื้อต้องตัวกันในประเพณีสงกรานต์ โดยที่ฝ่ายหญิงจะเป็นฝ่ายตะลุมบอน และจับฝ่ายชาย มอมด้วยดินหม้อ ฝ่ายหญิงจะจับฝ่ายชายเพื่อเรียกค่าไถ่ แล้วนำมาดื่มกินอย่างสนุกสนานและเป็นกันเอง ไม่เลือกชั้นวรรณะเล่น
กันอย่างสนุกสุดตัว ฝ่ายชายก็จะมอมหน้าฝ่ายหญิง ด้วย ดินหม้อเหมือนกัน ตอนกลางคืนจะเป็นการเข้าทรงแม่ศรี ซึ่งเหมือนกับเป็นการ คัดเลือกสาวงามประจำหมู่บ้าน ในสมัยโบราณ
        ในวันที่ 13 เมษายน ซึ่งถือกันว่าเป็นวันมหาสงกรานต์ ตอนเช้ามีการทำบุญตักบาตรที่วัด ถือกันว่าเป็นการฉลองพระเจดีย์ทรายที่ก่อเมื่อวันวาน ที่วัดพระบรมธาตุนครชุม หลังจากทำบุญตักบาตรในตอนเช้า แล้วจะทำบุญเลี้ยงพระในตอนเพล ประชาชนมาสรงน้ำพระสงฆ์
        ?ในระหว่างวันสงกรานต์ ชาวกำแพงเพชรไม่เรียกว่ารดน้ำดำหัว แต่เรียกว่าอาบน้ำผู้ใหญ่ หรือผู้ที่เคารพนับถือ จะมีการจัดขบวนไปอาบน้ำผู้ใหญ่ที่บ้าน เพื่อเป็นการขอศีลขอพรจากผู้ใหญ่ และในการนี้จะจัดเสื้อผ้า น้ำอบ น้ำหอมเพื่อไปผลัดเปลี่ยนให้ ในแต่ละบ้านจะนำพระพุทธรูปประจำบ้านหรือพระเครื่องมาสรงน้ำด้วย
       ในวันที่ 14 เมษายน ประชาชนจะมารวมกันที่วัด เพื่อนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีสรงน้ำ เมื่อสรงน้ำแล้วจะถวายภัตตาหารเพล จากนั้นนัดกันแห่ผ้าไปห่มพระบรมธาตุ ที่เมืองนครชุม ประชาชนจะร้องรำเล่นกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งถือกันว่าในพระบรมธาตุมีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ ตั้งแต่พุทธศักราช 1900 สมัยมหาธรรมราชาลิไท เชื่อกันว่า ถ้าหากไหว้พระบรมธาตุนครชุมแล้ว เหมือนได้นบพระพุทธเจ้าด้วยตนเอง
       ในวันที่ 15 เมษายน ซึ่งถือกันว่าเป็นวันพญาวัน ผู้เฒ่าผู้แก่ จะใช้ด้ายแดงและด้ายสีขาว ผูกข้อมือ หรือมัดมือบุตรหลาน ตลอดจนภาชนะสิ่งของสัตว์พาหนะต่างๆ พร้อมกับกล่าวคำกวยชัยให้พร เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ทุกคน และทุกสิ่งในครอบครัว และวันที่ 15 เมษายน เป็นวันที่ไหว้เจ้าพ่อหลักเมือง เพื่อกราบไหว้และขอพร ถ้าท่านใดยังค้างบนอยู่ให้แก้บน หรือใช้บน ให้เสร็จสิ้นในวันนี้ด้วย เมื่อสมัยก่อนการเดินทางไปเจ้าพ่อหลักเมืองถือว่าไกล และลำบากนัก ประชาชนจะแห่แหนไปด้วยความสนุกสนาน เป็นวันที่มีประชาชนมารวมกันมากที่สุด เพราะเจ้าพ่อหลักเมืองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองกำแพงเพชร ในปีหนึ่งขอให้ทุกคนได้มีโอกาสอาบน้ำเจ้าพ่อครั้งหนึ่ง จากนั้นได้ไปสรงน้ำพระอิศวร เทวรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองกำแพงเพชร ซึ่งมีบรรยากาศที่สนุกสนานและประทับใจมาก ในอดีต จะมีความสุขมาก เพราะทุกคนไปด้วยความศรัทธาอย่างจริงใจ
       จากนั้นประชาชนหลายหมื่นคน มารวมตัวกันก่อพระทรายน้ำไหล ในบริเวณหน้าเมืองที่มีหาดทราย และน้ำตื้นเหมาะในการก่อพระทรายน้ำไหลมาก วันนี้เป็นวันที่สนุกที่สุดของหนุ่มสาว ในอดีต เป็นวันที่ รวมตัวของหนุ่มสาวในทุกหมู่บ้านตำบล และในวันนี้จะมีการแสดงพลังอำนาจ ของวัยรุ่นในหมู่บ้าน ว่าใครจะเป็นนักเลงจริง ในปัจจุบัน ประเพณีนี้หายไปจากหมู่บ้านแล้ว ชาวกำแพงเพชร ก่อพระทรายน้ำไหลกันด้วยความสามัคคี
        การเล่นรดน้ำ สาดน้ำ ในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนแปลงไปมากแต่การสาดน้ำในสมัยโบราณมีการสาดน้ำเล่นน้ำกันอย่างไม่ถือตัวฝ่ายชายหญิงที่ออกมาเล่นน้ำแสดงว่าพร้อมที่จะสนุกสนานด้วย การถูกเนื้อต้องตัว กันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องเป็นไปตามการเล่น หรือกติกา ของสังคม ฝ่ายชายจะไม่ฉวยโอกาสลวนลาม ฝ่ายหญิง แต่ทุกอย่างเป็นไปตามครรลอง แห่งประเพณีอันดีงามประเพณีสงกรานต์ เป็นภูมิปัญญาที่สำคัญของสังคมที่ได้รับการตอบรับอย่างดียิ่ง เป็นการรวมตัวของผู้คนที่มีโอกาสได้พบกันในปีหนึ่งๆพ่อแม่พี่น้องที่ไปทำมาหากินไกลๆ ได้มีโอกาสมาพบกันโดยเป็นสิ่งที่งดงามมากในปีหนึ่ง ทุกคนในตระกูลจะได้มีโอกาสมาพบกัน นานถึงสามวันและเดือนเมษายน เป็นฤดูร้อน ได้ใช้น้ำมาดับร้อนกัน นอกจากจะเป็นความสามัคคี ในครอบครัว ยังเป็นความสามัคคี ในกลุ่มสังคม และในประเทศชาติอีกด้วย
        นอกจากนั้นสงกรานต์ เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่นำเงินเข้าประเทศปีละไม่ใช่น้อย และเชื่อมั่นว่าสงกรานต์จะพัฒนาไปสู่กระบวนการที่ยั่งยืน และถาวร
ประเพณีการแต่งงาน จังหวัดกำแพงเพชร
   ประเพณีการแต่งงาน ในจังหวัดกำแพงเพชร ได้รับการบันทึกการสืบทอดจากการปฏิบัติมากกว่าการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร การศึกษาประเพณีการแต่งงาน จากนวนิยายเรื่องทุ่งมหาราช ของครูมาลัย ชูพินิจ ระหว่าง ทิด รื่น หนุ่มวังแขม กับสุดใจสาวปากคลองสวนหมาก ทำให้เราทราบว่าการแต่งงานระหว่างอดีตกับปัจจุบันยังไม่แตกต่างกันมากนัก แม้ระยะเวลาจะห่างกันกว่าหนึ่งร้อยปี ซึ่งประเพณีการแต่งงานของกำแพงเพชร แบ่งเป็นสามขั้นตอนคือ
   การสู่ขอ  ฝ่ายหญิงจะพิจารณา ว่าผู้ชายเป็นคนดี มีศีลธรรม เป็นคนทำมาหากิน ฝ่ายชายจะพิจารณาว่าฝ่ายหญิงเป็นแม่บ้านแม่เรือน มีกิริยามารยาทดี  ไถ่ถามกันถึงสินสอดทองหมั้น ตกลงกันและฝ่ายชายจะยกขันหมากมาสู่ขอและหมั้นกันในที่สุด
   พิธีหมั้น เมื่อได้ฤกษ์แล้วฝ่ายชายจะให้เฒ่าแก่คนเดิม หรือผู้ใหญ่ที่ตนนับถือ ซึ่งต้องเป็นคู่สามีภรรยา ที่อยู่กินกันอย่างปกติสุข อยู่ในศีลธรรมปฏิบัติแต่คุณงามความดี เป็นผู้นำของหมั้นไปโดยมีขันโตกสองใบใส่ของหมั้นและสิ่งที่เป็นสิริมงคล ตามความเชื่อ ได้แก่  ใบพลู หมาก ถั่ว งา ใบเงิน ใบทอง  ใช้ผ้าคลุมสีสวยคลุมขันหมาก ห่อแล้วห้ามเปิดอีก จนกว่าจะถึงพิธี เมื่อเฒ่าแก่ฝ่ายชาย นำขันหมากไปถึง ฝ่ายหญิงต้อง ต้องหาเฒ่าแก่มารับขันหมากหมั้น ประกาศการหมั้นโดยเฒ่าแก่ฝ่ายชายอาจจะกล่าวว่า
   วันนี้เป็นวันดี  ขอหมั้นนางสาว.... กับนาย.... เฒ่าแก่ฝ่ายหญิงจะรับหมั้นและจะนำของหมั้นลงไปตรวจนับ โดยละเอียด  และมอบสินสอดทองหมั้นทั้งหมดให้กับ ให้พ่อแม่ฝ่ายหญิงเป็นผู้เก็บแล้วคืนขันให้ฝ่ายชาย อาจหมั้นตอนเช้า แต่งงานตอนกลางวัน หรือในตอนเย็นในวันเดียวกันก็ได้
   ตอนเช้ามีพิธีสงฆ์ เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์แล้ว ฝ่ายชายจะต้องแห่ขันหมากมาบ้านฝ่ายหญิง ขันหมาก มีผ้าคลุม ทั้งหมดแปดคู่ คู่แรกถือสินสอดทองหมั้น คู่ต่อมาถือโตกใส่เป็ดไก่ ซึ่งอาจใช้เป็ดไก่จริงหรือใช้แป้งปั้นเป็นเป็ดไก่แทนก็ได้ จากนั้นมีขนมต้มขาว ขนมต้มแดง  หัวหมูต้ม  ขนมจีน ทุกอย่างต้องจัดเป็นคู่ ผ้าไหว้คือผ้าขาวและผ้าแดง อย่างละผืน ให้ญาติฝ่ายชายถือมา อาจเป็นเด็กผู้หญิง พรหมจารี
   การยกขันหมากจะแห่กันมาอย่างสนุกสนาน นำขบวนด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย  อย่างละคู่ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาในการเริ่มครอบครัวใหม่ ให้มีกล้วยมีอ้อยปลูกไว้ประจำบ้านใหม่ หรือเรือนหอใหม่ ปิดท้ายขบวนด้วยถาดใส่ผลไม้ และขนมต่างๆ  เช่นขนมกง ขนมโก๋ ขนมปุยฝ้าย ขนมถ้วยฟู  มะพร้าวอ่อนเป็นลูก
กล้วยดิบ เป็นหวี อ้อยเป็นท่อน  ทุกอย่างต้องเป็นคู่ ก่อนเคลื่อนขบวนต้องโห่สามครั้ง เมื่อถึงบ้ายฝ่ายหญิง ต้องโห่อีกครั้ง  เพื่อบอกให้ทราบว่ามาถึงแล้ว  เมื่อเจ้าบ่าวจะขึ้นบ้าน จะต้องก้าวข้าม หญ้าแพรกที่วางอยู่บนก้อนหิน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความหนักแน่น และความเจริญงอกงาม จะต้องผ่านประตูเงินประตูทอง ที่สมมุติขึ้นโดยใช้เด็กหรือผู้ใหญ่ 2 คน ถือสร้อยหรือเข็มขัดกั้นไว้  การผ่านประตูต้องเสียเงินและสุรา ปัจจุบันฝ่ายชายจะเตรียมเงินไว้จ่าย โดยเฉพาะประตูทอง ผู้กั้นจะเรียกเงินค่าผ่านประตูทองสูงกว่าประตูเงิน จึงจะเข้าไปในบ้านได้
   ฝ่ายชาย จะเปิดขันหมากต่อหน้าพ่อแม่ฝ่ายหญิง จะนำเงินและทองมานับ และอวยพรให้คู่บ่าวสาว ให้อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุข  หลังจากนั้นทำพิธีไหว้ผีบ้านผีเรือน บอกเล่าแก่ ผีปู่ย่าตายาย ว่าบ่าวสาวขออนุญาต แต่งงานและอยู่กินกัน โดยการจุดเทียน 6 คู่  ของไหว้ผีบ้าน ผีเรือน ผีปู่ย่า ตายายได้แก่ ขนมจีน น้ำยา หัวหมู น้ำพริกดำ อาจเรียกว่า กินสี่ถ้วย  เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ขนมนมเนยจะแบ่งกัน โดยแบ่งกันระหว่างบ้านเจ้าบ่าวและเจ้าสาวคนละครึ่ง
   ส่วนการหลั่งน้ำพระพุทธมนตร์ ประเพณีดั้งเดิมนั้น คู่บ่าวสาวจะแต่งตัวอย่างงดงาม จะรดน้ำทั้งตัว โดยทั้งหนุ่มสาวจะเปียกโชก ตั้งแต่ศีรษะ ถึงปลายเท้า ต่อมารดน้ำแค่ศีรษะ และพัฒนามารดน้ำเพียงแต่มืออย่างเดียว เดิมต้องมีเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว เพราะหนุ่มสาวไม่รู้จักกันดีพอ ภายหลังไม่ต้องมีเพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว เพราะทั้งคู่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
   ส่วนการปูที่นอนหรือเรียงหมอน  ผู้ปูต้องเลือกคู่สามีภรรยา ที่อยู่กันอย่างมีความสุข มีศีลธรรมและมีบุตร เมื่อไหว้เจ้าที่เจ้าทางแล้ว ผู้ใหญ่ที่ปูที่นอน  อาจลงนอนเป็นพิธี  เมื่ออวยพรเสร็จแล้ว ผุ้ใหญ่จะกลับกันหมด แล้วห้ามคู่สมรส ออกมาจากห้องหออีก ส่วนการกล่อมหอด้วยมโหรี ปัจจุบันไม่มีแล้ว
   การแต่งงานของชาวกำแพงเพชร  มีบางส่วนที่เหมือนเดิม บางส่วนที่แตกต่าง แต่ละท้องถิ่นจะมีประเพณีการแต่งงานที่แตกต่างกันไป แต่การแต่งงานที่กำแพงเพชรยังสามารถรักษาเอกลักษณ์ ของกำแพงเพชรไว้ได้ เป็นแบบอย่างแก่ลูกหลาน
ขอบคุณ คุณอริษา ท่อนแก้ว และคุณนิพันธ์ ท้าวแดนคำ ที่เป็นแม่แบบในการแต่งงาน โดยใช้ประเพณีของกำแพงเพชร โดยละเอียด รายการโทรทัศน์วัฒนธรรม ขอบคุณที่ทุกท่านให้ความร่วมมือในการถ่ายทอดวัฒนธรรมของกำแพงเพชรสู่ลูกหลานอย่างดีที่สุด


ตำนานการแต่งกายของชาวกำแพงเพชร

          1.จุดกำเนิดของการแต่งกายต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากการพบชุมชนโบราณที่เขากะล่อน พบเครื่องประดับประเภททำด้วยหิน เช่น กำไล หินขัด ชุมชนโบราณบ้านหนองกอง ตำบลนาบ่อคำ พบลูกปัดแก้ว ลูกปัดทำจากแร่อะเกตตา เนียล และชุมชนโบราณเมืองไตรตรึงษ์ พบลูกปัดแก้ว ลูกปัดหินทำเป็นสร้อยคอและสร้อยข้อมือ เป็นจุดกำเนิดของการแต่งกายของชาวกำแพงเพชรสมัยก่อนประวัติศาสตร์เท่าที่สืบค้นได้ในปัจจุบัน
          สมัยประวัติศาสตร์เริ่มจากสมัยสุโขทัย จุดเริ่มต้นการแต่งกายของสตรีชั้นสูงชาวกำแพงเพชรสัณนิษฐานจากรูปปั้นเทวสตรีที่พบบริเวณศาลพระอิศวร
          สมัยอยุธยาเท่าที่พบหลักฐาน พ.ศ. 2053 น่าจะมีจุดกำเนิดการแต่งกายจากเทวรูปพระ อิศวร และการแต่งกายของชาวอยุธยาซึ่งเป็นเมืองหลวงในสมัยนั้น
          สมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ พบจุดกำเนิดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ พระองค์เสด็จประพาสต้นเมือองกำแพงเพชร พ.ศ. 2449 ทรงถ่ายภาพชาวกำแพงเพชรจำนวนมาก
          2. ลักษณะของการแต่งกายต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากหลักฐานที่พบลักษณะการแต่งกายของชาวกำแพงเพชรในสมัยสุโขทัย มีลักษณะคล้าย การแต่งกายของพวกขอมหรือเขมรโบราณ ต่อมาในสมัยอยุธยารัชสมัยของพระนารายณ์มหาราชมีชาวตะวันตกเข้ามามาก ได้รับอิทธิพลการแต่งกายจากชาวตะวันตกมากขึ้น โดยมีราชสำนัก ขุนนาง ข้าราชการเป็นผู้นำเข้ามา สำหรับลักษณะการแต่งกายของราษฎรในแต่ละสมัยไม่น่าจะแตกต่างกันมากนัก ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์บ้านเมือง ฐานะและตำแหน่ง แต่ในปัจจุบันความเท่าเทียมทางสังคมตามการพัฒนาของรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย มีส่วนทำให้การแต่งกายมีความเท่าเทียมกันประกอบกับค่านิยมต่างชาติ โดยเฉพาะตะวันตก จึงมีลักษณะการแต่งกายตามแฟชั่นและแต่งกายตามนโยบายรัฐ ในหมู่ของข้าราชการ สรุปลักษณะการแต่งกายของชาวกำแพงเพชรมีดังนี้
          1. แต่งกายตามฐานะ
          2. แต่งกายตามเทศกาล
          3. แต่งกายตามนโยบายรัฐ
          4. แต่งกายตามสภาพดินฟ้าอากาศ
          5. แต่งกายตามค่านิยม
          6. แต่งกายตามแฟชั่น
          7. แต่งกายตามอาชีพ

          การแต่งกายที่สูญหายไป และสาเหตุของการสูญหาย
          การแต่งกายของหญิงสาวชาวกำแพงเพชร ที่สูญหายไปไม่นิยมใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ยัง มีบางคนต้องการฟื้นฟูจึงนำมาแต่งบ้างในโอกาสสำคัญ เช่น งานประเพณีสำคัญ กิจกรรมใน โอกาสพิเศษ ได้แก่
          1. การนุงผ้าซิ้นหรือผ้าถุงของหญิงสาว
          2. การนุ่งโจงกระเบน ของผู้ชายและผู้หญิง
          3. การนุ่งผ้าจีบหน้านางของผู้หญิง
          4. การห่มผ้าสไบและผ้าแถบของผู้หญิง
          5. การสวมหมวกกะโล่ของผู้ชาย และกางเกงแพร ขณะออกนอกบ้าน
          6. เด็กผู้หญิงขณะแต่งเครื่องแบบนักเรียน
          7. การไว้ผมจุกของเด็กผู้หญิง
          8. การสวมตะปิ้งของเด็กผู้หญิง
          9. การสวมกำไลลูกกระพรวนข้อมือและข้อเท้าของเด็กเล็กที่หญิงและชาย
          10. การนุ่งและโพกผ้าขาวม้าของผู้ชาย
          11. การนุ่งกางเกงจีนของผู้ชาย

          สาเหตุของการสูญหาย
          1. ไม่สะดวก ไม่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตในปัจจุบัน
          2. นิยมการแต่งกายตามแฟชั่น ซึ่งมีสื่อหลากหลายที่เผยแพร่อย่างรวดเร็วทั่วถึง
          3. ค่านิยมตะวันตก
          4. ความทันสมัยของเทคโนโลยี
          5. ราคาถูก หาซื้อได้ง่าย
          6. ล้าสมัย
การกำเนิดการแต่งกายในปัจจุบัน มีการกำเนิด ลักษณะและสาเหตุดังนี้
          1. แต่งกายในสมัยเก่าล้าสมัยไม่เหมาะสมกับชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่มีความเจริญในทุก ๆ ด้าน เช่น การคมนาคม สมัยโบราณไปมาหาสู่กันด้วยการเดินเท้า ใช้สัตว์เป็นพาหนะ การแต่งกายไม่ต้องรัดกุมมากนัก
          2. ความเจริญทางเทคโนโลยี ทำให้การติดต่อสื่อสารได้สะดวกรวดเร็ว การลอกเลียนแบบการแต่งกายของตะวันตกทำได้ง่ายมากขึ้น
          3. ค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไป
          4. การประกอบอาชีพหลากหลายมากขึ้น
          5. ความเท่าเทียมทางสังคมตามการพัฒนาของรัฐธรรมนูญ ทำให้ทุกคนมีสิทธิในการแต่งกาย ไม่แยกชนชั้น แต่งตามฐานะทางเศรษฐกิจ

ภาษาและวรรณกรรม กำแพงเพชร
จารึกนครชุม เนื้อหา
พระยาฦๅไทยคือพระธรรมราชาที่ ๑ ได้ประดิษฐานพระศรีรัตนมหาธาตุและได้ปลูกพระศรีมหาโพธิ ซึ่งได้มาจากลังกาทวีป เรื่องนี้มีในด้านที่ ๑ ตั้งแต่บรรทัดที่ ๑-๑๔ และตั้งแต่บรรทัดที่ ๑๕-๖๓ กล่าวถึงเรื่องสัทธรรมอันตรธาน ๕ และเป็นคำตักเตือนสัตบุรุษให้รีบเร่งทำบุญกุศลเมื่อพระพุทธศาสนายังมีอยู่ ตั้งแต่บรรทัดที่ ๖๔ ถึงด้านที่ ๒ เป็นคำสรรเสริญพระเจ้าธรรมราชาที่ ๑ ว่าเป็นกษัตริย์ผู้ดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรมและเป็นธรรมิกะมหาราช ที่สุดกล่าวถึงศิลาจารึกและรอยพระพุทธบาทต่างๆ ที่พระธรรมราชาทรงสร้าง ในหัวเมืองต่างๆ ในอาณาเขตของพระองค์
จารึกฐานพระอิศวร
ศักราช ๑๔๓๒ มะเมียนักษัตร อาทิตยพารเดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ได้หัสตฤกษ์ เพลารุ่งแล้ว ๒ นาฬิกา จึงเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราชประดิษฐานพระอิศวรเป็นเจ้านี้ไว้ให้ครองสัตว์สี่ตีนสองตีนในเมืองกำแพงเพชรและช่วยเลิก ศาสนา พุทธศาสตร์และไสยศาสตร์และเทพกรรมมิให้หม่นให้หมองให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว และซ่อมแปลงพระมหาธาตุและวัดบริพารในเมืองนองเมือง และที่แดนเหย้าเรือนถนนถลา อันเปนตรธานไปเถิงบางพานขุดแม่ไตรบางพร้อ อนึ่งแต่ก่อนย่อมขายวัวไปแก่ละว้า อันจะให้ขายดุจก่อนนั้น ก็ห้ามมิให้ขาย อนึ่งเมื่อทำนาไซร้ ย่อมข้าวพืชข้าวในนานั้นปลูกเอง มิได้เอาในยุ้งไมหว่านไปดำดังทั้งหลาย อนึ่งท่อปู่พระยาร่วงทำเอาน้ำไปเถิงบางพรานนั้น ก็ถมหานสิ้นและเขาย่อมทำนาทางฟ้าและหาท่อนั้นพบกระทำท่อเอาน้ำเข้าไปเลี้ยงนา ให้เป็นนาเหมืองนาฝาย มิได้เป็นทางฟ้า อันทำทั้งนี้ถวายพระราชกุศลแต่สมเด็จบพิตร พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ฯ"
จารึกวงเวียนต้นโพ
เป็นการจารึก (กพ. ๘) หลักที่ ๒๓๗ นายประสาร บุญประคอง ได้อ่านจารึกหลักนี้ความว่า
๑. ศุภมัสดุพระพุทธศาสนายุกาลได้ ๒๔๔๘ พรรษา
๒. จุลศักราช ๑๒๖๗ ศกมะเส็ง รัตนโกสินทรศก ๑๒๔
๓. เป็นปีที่ ๓๘ ในรัชกาลแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
๔. เจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
๕. มกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชดำเนินจากมณฑลพายัพ
๖. มาถึงเมืองกำแพงเพชรนี้ วันอังคารเดือนยี่ แรม ๗ ค่ำ
๗. สุริยคติกาลกำหนด วันที่ ๑๖ เดือนมกราคม เสด็จประพาส
๘. ทอดพระเนตรโบราณสถานหลายแห่งเป็นครั้งแรก
๙. ประทับแรมอยู่ ๒ ราตรีตั้งพลับพลานอกกำแพง
๑๐. เมืองกำแพงเพชร ที่วัดชีนางเกา  (วัดชินวงศ์) ริมลำน้ำปิงฝั่งเหนือฯ
๑๑. ครั้นลุพระศาสนายุกาลได้ ๒๔๕๐ พรรษา
๑๒. จุลศักราช ๑๒๖๙ ศกมะแม รัตนโกสินทรศก ๑๒๖
๑๓. เป็นปีที่ ๔๐ ในรัชกาลแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
๑๔. เจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์นั้น
๑๕. ได้เสด็จพระราชดำเนินมาถึงเมืองกำแพงเพชรนี้
๑๖. วันพุธเดือนยี่ขึ้น ๑๓ ค่ำ สุริยคติกาลกำหนด
๑๗. วันที่ ๑๕ มกราคม ได้เสด็จประพาสทอดพระเนตร
๑๘. โบราณสถานซ้ำอีกเป็นครั้งที่ ๒ ประทับแรมอยู่
๑๙. ๓ ราตรีที่พลับพลาเดิมฯ

ศิลปกรรม และโบราณคดี

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
   เมืองกำแพงเพชรตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงและเป็นบริเวณที่ตั้งของตัวจังหวัดกำแพงเพชรปัจจุบัน ลักษณะเมืองมีรูปแบบคล้ายกับสี่เหลี่ยมคางหมูวางยาวขนานไปกับแม่น้ำ ความยาวของกำแพงเมืองด้านเหนือประมาณ 2,400 เมตร ด้านใต้ประมาณ 2,160 เมตร ความกว้างด้านตะวันออกประมาณ 540 เมตร และความกว้างด้านตะวันตกประมาณ 220 เมตร กำแพงเมืองก่อด้วยศิลาแลงทำเป็นชั้นเชิงเทิน ตอนบนสุดก่อเป็นรูปใบเสมา มีประตูเมืองโดยรอบรวม 10 ประตู กำแพงเมืองยังมีป้อมปราการที่มั่นคงแข็งแรงทั้งที่บริเวณมุมเมืองทั้ง 4 มุมและในแนวกำแพงเมือง รวมทั้งยังมีป้อมรูปสี่เหลี่ยมตั้งอยู่ด้านหน้าประตูเมืองด้วย ถัดจากกำแพงเมืองศิลาแลงเป็นคูเมืองกว้างประมาณ 30 เมตร จากการที่เมืองกำแพงเพชรตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำปิง จึงพบหลักฐานเกี่ยวกับการทดน้ำจากแม่น้ำปิง เพื่อนำน้ำเข้าสู่คูเมืองบริเวณมุมหัวเมือง และเมื่อน้ำล้นคูเมืองเกินความจำเป็นแล้วก็จะระบายออกที่ด้านมุมท้ายเมืองลงสู่ลำคลองธรรมชาติ
   ภายในเมืองและนอกเมืองกำแพงเพชรมีซากโบราณสถานใหญ่น้อยเป็นจำนวนมาก เกือบทั้งหมดเป็นศาสนสถานเนื่องในพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์ กลางเมืองมีวัดพระแก้ว วัดพระธาตุเป็นศูนย์กลาง เป็นลักษณะวัดหลวงที่มีเฉพาะเขตพุทธาวาส ไม่มีพระภิกษุจำพรรษา ทางด้านทิศเหนือของวัดพระแก้วเป็นบริเวณที่เรียกว่าสระมน (เชื่อกันว่าเป็นบริเวณวังโบราณ) และเทวสถานศาลพระอิศวรซึ่งสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา บริเวณนอกเมืองทางด้านทิศเหนือ มีกลุ่มวัดโบราณขนาดใหญ่น้อยประมาณ 40 แห่ง สร้างอยู่บนเนินเขาลูกรังขนาดย่อม จัดเป็นเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร โบราณสถานสำคัญ ได้แก่ วัดพระนอน วัดป่ามืด วัดพระสี่อิริยาบถ วัดฆ้องชัย วัดนาคเจ็ดเศียร วัดสิงห์ วัดกำแพงงาม วัดเตาหม้อ วัดช้างรอบ และวัดอาวาสใหญ่ กลุ่มโบราณสถานเขตอรัญญิกนับเป็นงานสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของเมืองกำแพงเพชร ด้วยโบราณสถานสร้างรวมกลุ่มหนาแน่นในบริเวณพื้นที่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน โบราณสถานมีขนาดใหญ่โตอลังการใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง และมีความงดงามทางศิลปกรรมของสกุลช่างเมืองกำแพงเพชรควบคู่กันไป
   บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิงหรือฝั่งตรงข้ามกับเมืองกำแพงเพชร เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณอีกเมืองหนึ่งที่เรียกว่าเมืองนครชุม ลักษณะตัวเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอยู่ตรงปากคลองสวนหมาก กำแพงเมืองเป็นลักษณะคันดินสามชั้น ซึ่งในปัจจุบันถูกทำลายไปมากทั้งการกัดเซาะของแม่น้ำปิง และการขยายตัวของชุมชนปัจจุบัน
   กลุ่มโบราณสถานสำคัญชองเมืองนครชุมตั้งอยู่นอกเมืองทางด้านทิศใต้ ห่างจากแนวกำแพงเมืองประมาณ 500 เมตร เป็นกลุ่มวัดเขตอรัญญิกของเมืองนครชุม วัดสำคัญได้แก่ วัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดหนองพิกุล วัดซุ้มกอ และวัดหนองลังกา
ประวัติความเป็นมาของเมืองกำแพงเพชร
   บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงในท้องที่ของจังหวัดกำแพงเพชร ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดี ที่แสดงถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์ในช่วงก่อนสมัยสุโขทัย อาทิเช่น แหล่งโบราณคดีเขากะล่อน อำเภอขาณุวรลักษบุรี และแหล่งโบราณคดีบ้านคลองเมือง กิ่งอำเภอโกสัมพีนคร พบโบราณวัตถุที่กำหนดอายุอยู่ในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ขวานหินขัดแบบมีบ่า เศษเครื่องปั้นดินเผาแบบไม่เคลือบ เศษขี้แร่ (ตะกรัน) แวดินเผา (ดินเผาเจาะรูตรงกลาง เป็นอุปกรณ์ในการปั่นด้าย)
   เมืองไตรตรึงษ์บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง พบโบราณวัตถุสมัยทวารวดี เช่น ลูกปัดแก้ว และชิ้นส่วนตะเกียงดินเผาแบบอินเดีย สันนิษฐานว่า บริเวณเมืองไตรตรึงษ์คงจะเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมโบราณ ระหว่างบ้านเมืองในบริเวณภาคกลางกับชุมชนในท้องที่จังหวัดลำพูนหรือหริภุญไชย
   นอกจากหลักฐานทางโบราณคดีแล้ว ยังปรากฏเรื่องราวในตำนาน และพงศาวดารหลายฉบับที่กล่าวถึงชุมชนในแถบลุ่มแม่น้ำปิง เช่น ตำนานสิงหนวัติกุมารได้กล่าวถึงพระเจ้าชัยศิริได้หนีข้าศึกจากเมืองเหนือมาตั้งเมืองใหม่ชื่อเมืองกำแพงเพชร ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16
จากหลักฐานทางโบราณคดี ตลอดจนเรื่องราวในตำนานทำให้ทราบว่าได้มีชุมชนเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณแม่น้ำปิง ในเขตจังหวัดกำแพงเพชรก่อนสมัยสุโขทัย แต่การพัฒนาขึ้นเป็นชุมชนเมืองกำแพงเพชรขนาดใหญ่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน
   ศิลาจารึกสมัยสุโขทัยหลายหลัก รวมไปถึงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและประติมากรรมจำนวนมาก ทำให้ทราบว่าเมืองกำแพงเพชรและเมืองนครชุมสถานปนาขึ้นในช่วงสมัยสุโขทัย ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 หรือภายหลังรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหง ในระยะแรกเมืองนครชุม คงจะมีบทบาทและความสำคัญมากกว่าเมืองกำแพงเพชร ดังหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ 3 (จารึกนครชุม) กล่าวถึงพระมหาธรรมราชาลิไท ได้เสด็จสถาปนาพระศรีรัตนมหาธาตุกลางเมืองนครชุม พร้อมปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ซึ่งได้มาจากลังกาทวีป เมื่อพ.ศ. 1900 ต่อมาได้ย้ายศูนย์กลางเมืองมาอยู่ทางฝั่งเมืองกำแพงเพชร ซี่งอาจจะเนื่องด้วยสาเหตุทางการเมืองกับกรุงศรีอยุธยาที่ขยายอำนาจทางการเมืองขึ้นมาทางเหนือ เมืองนครชุมตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมในทางยุทธศาสตร์ หรืออาจจะเนื่องจากการประสบปัญหาแม่น้ำปิงกัดเซาะตลิ่ง ตลอดจนเกิดอุทกภัยน้ำหลากจากภูเขาทางทิศตะวันตก น้ำไหลท่วมคลองสวนหมากและตัวเมืองที่เป็นที่ลุ่มต่ำอยู่เสมอ
เมืองกำแพงเพชรทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงคงจะมีบทบาทสำคัญในฐานะศูนย์กลางการเมืองการปกครองในแถบลุ่มแม่น้ำปิง ในขณะเดียวกันด้านการศาสนาและศิลปกรรมได้เจริญรุ่งเรืองควบคู่ไปกับอำนาจการเมืองการปกครอง เรื่องราวที่กล่าวไว้ในตำนานที่เกี่ยวข้องกับพระแก้วมรกตและพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองทั้งสององค์มาชั่วระยะหนึ่ง
   สมัยอยุธยา เมืองกำแพงเพชรได้เป็นหัวเมืองหนึ่งของกรุงศรีอยุธยาในกลุ่มหัวเมืองเหนือ และยังคงมีบทบาทสำคัญในฐานะเมืองหน้าด่านที่ต้องคอยรับศึกจากกองทัพพม่ามาโดยตลอด เมืองกำแพงเพชรคงจะลดบทบาทและร้างไปในที่สุด เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่าครั้งที่สองเมื่อ พ.ศ. 2310
   จากประวัติศาสตร์ความเป็นมาและเมืองที่ตั้งของเมืองกำแพงเพชรที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างแคว้นสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา และในขณะเดียวกันก็สามารถติดต่อกับบ้านเมืองเชตล้านนาที่อยู่ทางเหนือได้อย่างสะดวก ดังหลักฐานทางโบราณคดีที่พบที่เมืองกำแพงเพชรจึงแสดงลักษณะที่เกี่ยวกับดินแดนทั้งสามแห่ง แต่ก็แฝงไว้ด้วยศิลปะของท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของสกุลช่างเมืองกำแพงเพชรเอาไว้ด้วย
การจัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
   กรมศิลปากรได้ดำเนินการคุ้มครองป้องกันโบราณสถานเมืองกำแพงเพชรและเมือนครชุม โดยการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อ พ.ศ. 2478 และ พ.ศ. 2480 ต่อมาได้ประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดขอบเขตอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2511 ในส่วนของการขุดแต่ง บูรณะ และพัฒนาโบราณสถาน ได้เริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2508 จนถึง พ.ศ. 2525 กรมศิลปากรจึงได้บรรจุงานปรับปรุงโบราณสถานเมืองกำแพงเพชรในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (2525 ? 2529) โดยใช้ชื่อ โครงการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร มุ่งเน้นการอนุรักษ์และพัฒนากลุ่มโบราณสถานทั้งภายในเมืองเนื้อที่ 503 ไร่ และเขตอรัญญิก เนื้อที่ 1,611 ไร่ เพื่อป้องกันมิให้ถูกทำลายหรือเสื่อมค่า พัฒนาโบราณสถาน และบริเวณเพื่อให้เป็นแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม เกิดความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติ กรมศิลปากรได้ดำเนินการเปิดอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรอย่างเป็นทางการเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 18 เมษายน พุทธศักราช 2524 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จเป็นองค์ประธาน
   โบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ยังเป็นงานสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ทั้งในด้านการใช้วัสดุศิลาแลงเป็นวัสดุก่อสร้าง รูปแบบทางศิลปกรรมเป็นของแท้ดั้งเดิมที่แสดงถึงฝีมือและความเชื่อของบรรพชนในอดีต ตลอดจนโบราณสถานรวมกลุ่มหนาแน่นในบริเวณป่าธรรมชาติ ซึ่งยังคงบรรยากาศพุทธสถานเขตอรัญวาสีดังเช่นในอดีต ดังนั้นคณะกรรมการมรดกโลกแห่งอนุสัญญาคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและฑรรมชาติของโลก จึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองสุโขทัยและเมืองบริวารคือ เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองกำแพงเพชรเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปีพุทธศักราช 2534
   โบราณสถานของเมืองกำแพงเพชร เกือบทั้งหมดเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์ โดยมีอายุไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 19 หรือสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไท พุทธศาสนาในสมัยนั้นมีพระสงฆ์สองฝ่ายคือ ฝ่ายคามวาสีหรือวัดที่อยู่ในเมือง และอรัญวาสีหรือฝ่ายที่อยู่นอกเมือง
วัดพระแก้ว เป็นพระอารามหลวงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่กลางเมืองเช่นเดียวกับวัดมหาธาตุกรุงสุโขทัย และวัดพระศรีสรรเพชญ กรุงศรีอยุธยา เป็นวัดที่มีเฉพาะเขตพุทธาวาสไม่มีพระภิกษุจำพรรษา สิ่งก่อสร้างภายในวัดเรียงเป็นแนวยาวตามแกนตะวันออก-ตะวันตกขนานกับกำแพงเมืองด้านทิศใต้ ตอนหน้าสุดของวัดเป็นฐานไพทีใหญ่ บนฐานยังมีโกลนศิลาแลงพระพุทธรูปประธาน ถัดมาเป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ ฐานมีสิงห์ล้อมรอบ วิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นสามองค์ และตอนท้ายสุดเป็นเจดีย์ทรงระฆังประดับช้างปูนปั้นที่ฐานโดยรอบ
เอกสารตำนานโบราณกล่าวถึงพระแก้วมรกตและพระพุทธสิหิงค์ ได้เคยประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชรซึ่งน่าจะประดิษฐานที่วักพระแก้วแห่งนี้
วัดพระธาตุ ตั้งอยู่ทางด้านหน้าหรือด้านตะวันออกของวัดพระแก้ว เจดีย์ประธานภายในวัดเป็นแบบเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆังสูงใหญ่ก่อด้วยอิฐ องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานแปดเหลี่ยมที่ซ้อนลดหลั่นกันหลายชั้น องค์ระฆังค่อนข้างเล็กอันเป็นรูปแบบเฉพาะของเมืองกำแพงเพชร ด้านหน้าเจดีย์ประธานเป็นฐานวิหารศิลาแลงและมีเจดีย์รายอยู่บริเวณมุมด้านหน้าข้างวิหารข้างละองค์
วังโบราณหรือสระมน อยู่ทางด้านทิศเหนือของวัดพระแก้ว ติดกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ บริเวณประตูสะพานโคม มีคันดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบ กึ่งกลางมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยม จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบฐานอาคาร เศษกระเบื้องมุงหลังคา เศษภาชนะดินเผา และหลักฐานที่เป็นสิ่งของเครื่องใช้อีกจำนวนมาก
ศาลพระอิศวร เป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดูเพียงแห่งเดียวในเมืองกำแพงเพชร เหลือเฉพาะฐานของอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลง เดิมประดิษฐานเทวรูปพระอิศวรสำริดซึ่งมีจารึกที่ฐานว่า เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ได้สร้างเทวรูปองค์นี้เมื่อ พ.ศ. 2053 ตรงกับสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 กรุงศรีอยุธยา จารึกยังได้กล่าวถึงการซ่อมแซมถนน คลองส่งน้ำ และการซ่อมแซมพระธาตุทั้งในเมืองและนอกเมือง
   วัดพระนอน เป็นวัดขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่นอกเมืองทางทิศเหนือ หรือบริเวณที่เรียกว่าอรัญญิก สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในวัดใช้ศิลาแลงแทบทั้งสิ้น หน้าวัดมีบ่อน้ำ ห้องน้ำและศาลาพัก ภายในวัดตอนหน้าวัดเป็นฐานอุโบสถเสาแปดเหลี่ยม ถัดไปเป็นวิหารซึ่งเดิมประดิษฐานพระนอนเป็นประธาน เสาวิหารใช้ศิลาแรงแท่งเดียวตลอดที่มีขนาดสูงใหญ่ ปักเรียงรายอยู่ภายในอาคาร โครงหลังคาเดิมเป็นเครื่องไม้ สังเกตได้จากช่องสี่เหลี่ยมตามหัวเสาสำหรับสอดหัวขื่อหัวคาน ผนังวิหารเรียงศิลาแลงเป็นผนังช่องลูกกรมหรือช่องลม ถัดจากวิหารไปทางด้านหลังเป็นเจดีย์ประธานทรงระฆังฐานแปดเหลี่ยม นอกจากสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว ยังมีสิ่งก่อสร้างอีกจำนวนมากมายในวัดนี้
วัดพระสี่อิริยาบถ อยู่ทางเหนือของวัดพระนอน ถัดขึ้นไปประมาณ 100 เมตร หน้าวัดมีบ่อน้ำ ห้องน้ำ และศาลาพักเช่นเดียวกับวัดพระนอน สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัดคือ วิหารที่สร้างบนฐานทักษิณขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ตอนหน้าวัด ด้านหลังวิหารสร้างเป็นมณฑป ทำหน้าที่เป็นเจดีย์ประธานของวัด ลักษณะมณฑปแบบจตุรมุข กึ่งกลางทำเป็นแท่งสี่เหลี่ยมรับส่วนยอดหลังคา จากนั้นทำเป็นมุมยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน ผนังแต่ละด้านของแท่งสี่เหลี่ยมก่อให้เว้าเข้าไป และประดิษฐานพระพุทธรูปแตกต่างกันออกไปในแต่ละด้าน คือ เดิน นั่ง ยืน นอน ปัจจุบันเหลือพระยืนขนาดใหญ่ทางด้านทิศใต้ พระพักตร์เป็นลักษณะศิลปะสุโขทัยหมวดกำแพงเพชร คือ พระนลาฏกว้าง พระหนุเสี้ยม
วัดช้างรอบ ตั้งอยู่บนยอดเนินสูงสุดของเขตอรัญญิก สิ่งสำคัญของวัดแห่งนี้คือ เจดีย์ประธานทรงระฆังขนาดใหญ่ ซึ่งยอดหักพังหมดแล้ว ฐานสี่เหลี่ยมด้านล่างสูงใหญ่ มีบันไดอยู่ที่กลางด้านทั้งสี่เพื่อขึ้นไปถึงลานด้านบน หรือลานทักษิณ ฐานล่างประดับช้างปูนปั้นครึ่งตัวจำนวน 68 เชือก ตัวช้างทำลายปูนปั้นที่แผงคอ โคนขา และข้อขา ระหว่างช้างแต่ละเชือกตกแต่งลายปูนปั้นนูนสูงรูปพันธุ์พฤกษา เจดีย์ด้านบนเหลือเฉพาะฐานแปดเหลี่ยม และหน้ากระดานกลม ซึ่งพบหลักฐานว่ามีการประดับลายปูนปั้นเล่าเรื่องพุทธประวัติ และประดับรูปเทวดา นางฟ้า กินนร กินรี และหงส์ ด้านหน้าเจดีย์ประธานทีฐานวิหารขนาดใหญ่และถัดไปเป็นสระน้ำที่ขุดลงไปในชั้นศิลาแลง
การละเล่นดนตรี และนาฏศิลป์
 

    ระบำก.ไก่
    รำโทน

    เพลงพวงมาลัย
    ระบำร้องแก้*

    เพลงลิเกป่า
    รำวงพื้นบ้าน

    แคนหรือเก้งของชาวม้ง
    การเต้นกำรำเคียวของชาวเขาทอง*

    การรำแม่บทเล็ก
    นางละคร

    เพลงฉ่อยตำบลลานดอกไม้
    เพลงพื้นบ้านชุมชนท่าไม้

    เพลงเรือ 48
    ระบำกลางบ้าน บ้านวังพระธาตุ นครไตรตรึงษ์

    รำโทน ชุมชนเขาทอง
    ลำตัด เพลงพื้นบ้าน

    ระบำกำแพงเพชร
    รำวงย้อนยุค เมืองนครชุม

    ลิเก
    เพลง พิษฐาน

    การเล่นพื้นบ้านของตำบลไตรตรึงษ์
    เพลงพื้นบ้านหมู่บ้านวังแขม

    เพลงกล่อมเด็ก
    การละครมรดกใหม่

    .การถ่ายทอด ศิลปะการแสดงพื้นบ้านระบำคล้องช้าง สู้เยาวชน
    ทัศนศึกษาสัมมนาศิลปพื้นบ้านกำแพงเพชร

    ลิเกแก้บน เจ้าพ่อหลักเมืองกำแพงเพชร 
    เพลงกล่อมเด็กนครไตรตรึงษ์ 

    การแสดงเพลงฉ่อย อ.ลานกระบือ 
    ระบำคล้องช้างนครชุม 

    รวมศิลปินพื้นบ้านกำแพงเพชร 
    การแสดงพื้นบ้านชุมชนโบราณนครชุม 

    รำวงพื้นบ้านภาคกลาง 
    การแสดงเพลงฉ่อยเพชรชมพู เกาะรากเสียด 

    เพลง รำโทน บ้านบุ่ง ขาณุ 
    เพลง พวงมาลัย บ้านบุ่ง ขาณุ 

    รำโทนเขาทอง 
    การฟื้นฟูและอนุรักษ์ศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ลิเก ( คณะคลองขลุงบำรุงศิลป์)

    ประกวดจินตลีลา ประเพณีสารทไท กล้วยไข่ เมืองกำแพงเพชร ๒๕๕๔ 
    วงปี่พาทย์ ไม้แข็ง เครื่องคู่ 

    รำหุ่นกระบอก 
    
 


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 27, 2014, 10:07:02 pm โดย apairach » บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!