จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
เมษายน 29, 2024, 05:21:47 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพงั่ว) เสด็จมาเอาเมืองกำแพงเพชรจริงหรือ  (อ่าน 4980 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1414


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: กรกฎาคม 19, 2012, 04:03:27 pm »

สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่  1 (ขุนหลวงพงั่ว)  เสด็จมาเอาเมืองกำแพงเพชรจริงหรือ

สืบคนโดยอาจารย์รุ่งเรือง  สอนชู
             

  ผู้เขียนกล่าวไว้ในบทความเรื่อง ?เล่าเรื่องเมืองชากังราว? มาแล้วว่า เมืองชากังราวนั้น ได้ตรวจสอบเอกสารจากหลายฉบับพบว่าเป็นชื่อของเมืองซึ่งซ้ำกัน  2 เมือง คือเมืองกำแพงเพชร และ

เมืองศรีสัชนาลัย(สวรรคโลก)  และในข้อความสุดท้ายว่า   พระราชพงศาวดารกรุงเก่า  ฉบับหลวงประเสริฐ ในหนังสือประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1  หน้า 212-213   ได้กล่าวถึง ?สมเด็จพระบรมราชาธิราช(พงั่ว) ที่ 1?ได้ยกทัพมาปราบปรามเมือง ?ชากังราว? ถึง 4  ครั้งนั้น ท่านปราบปราม ?เมืองชากังราว? ไหนแน่

                  ผู้เขียนพยายามสืบค้นจากเอกสารหลายฉบับ  พบว่ามีเอกสารที่สามารถจะวินิจฉัยได้ว่า ??เมืองชากังราว?ที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพงั่ว)  ยกทัพมาปราบปรามนั้นหมายถึง ?เมืองศรีสัชนาลัย?  ตามหลักฐานจากเอกสารที่สืบค้นได้แก่

หนังสือ เที่ยวเมืองพระร่วง  เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

โดยได้คัดลอกข้อความในหน้า  153 ? 155  มาเสนอดังนี้

                  ?เมื่อได้ตรวจเรื่องเมืองสวรรคโลกในพงศาวดารเหนือแล้ว ก็ควรตรวจดูเรื่องราวของเมืองนั้น  ที่มีอยู่ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาสืบไป

                   จำเดิมเริ่มที่จะกล่าวถึงเมืองสวรรคโลกในพงศาวดารกรุงเก่าก็มีอยู่ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดี(อู่ทอง) ปรากฏอยู่ว่าในสมัยนั้นมีพระยาประเทศราชขึ้น 16 เมือง  และเมืองสวรรคโลกเป็นเมืองประเทศราชเมืองหนึ่ง  ต่อนี้มานามเมืองสวรรคโลกก็หายไปนาน  แต่ใช่ว่าตัวเมืองนั้นจะวิบัติสูญไป  เป็นแต่จะเรียกชื่อแปลกไปจนจำไม่ได้เท่านั้น  คือ ข้าพเจ้าเชื่อตามความเห็นของท่านนักเลงโบราณคดีบางท่านว่าเมืองชากังราวที่กล่าวถึงในพงศาวดารกรุงเก่าเป็นหลายครั้งนั้นไม่ใช่อื่นไกล คือเมืองสวรรคโลกนั่นเอง  พิเคราะห์ดูตามข้อความในพงศาวดาร  ซึ่งมีอยู่ว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราช(ขุนหลวงพะงั่ว) ได้เสด็จขึ้นไปเอาเมืองชากังราวถึง  3  ครั้ง คือจุลศักราช  735  ปีฉลู เบญจศก เสด็จขึ้นไปเอาเมืองชากังราว  พระยาชัยแก้ว  พระยากำแหง เจ้าเมืองออกต่อรบ  พระยาชัยแก้วตาย แต่พระยากำแหงและไพร่พลหนีเข้าเมืองได้ ทัพหลวงก็ยกกลับคืนพระนครนี่เป็นครั้งที่ 1  จุลศักราช  738  ปีมะโรง อัฐศก  เสด็จขึ้นไปเอาเมืองชากังราวได้ พระยากำแหงกับท้าวผากองคิดกันว่าจะยกตีทัพหลวงไม่สำเร็จเลิกหนีไป  ทัพหลวงตีทัพผากองแตก  ได้ท้าวพระยาเสนาขุนหมื่นครั้งนั้นมาก แล้วก็เลิกทัพหลวงกลับพระนคร นี้เป็นครั้งที่ 2  จุลศักราช   740   ปีมะเมีย สัมฤทธิ์ศก  ไปเอาชากังราวอีกเป็นครั้งที่  3  ครั้งนั้นพระมหาธรรมราชาออกมาถวายบังคม  ตรวจดูกับพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ อักษรนิติ  ได้ความงอกออกไปอีกว่าขุนหลวงพงั่วได้เสด็จไปเอาเมืองชากังราวอีกครั้ง  1  เป็นครั้งที่  4  เมื่อจุลศักราช  750  ปีมะโรง  สัมฤทธิ์ศก  ครั้งนี้สมเด็จพระบรมราชาธิราช(ขุนหลวงพงั่ว) ทรงพระประชวรหนักต้องเสด็จกลับ  ตามข้อความเหล่านี้พึงเข้าใจได้อยู่แล้วว่าเมืองชากังราวมิใช่เมืองเล็กน้อย  เป็นเมืองสำคัญอันหนึ่ง  แต่เมื่อก่อนได้พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐมานั้น  ไม่มีผู้ใดเดาได้เลยว่าเมืองชากังราวคือเมืองใด อยู่แห่งหนตำบลใด  มาได้หนทางเดาในพงศาวดารฉบับที่กล่าวแล้วนั้น  คือแห่งหนึ่งมีข้อความกล่าวไว้ว่า  ?ศักราช  813  มะแมศก  ครั้งนั้นมหาราชมาเอาเมืองชากังราวได้แล้วจึงมาเอาเมืองสุโขทัย  เข้าปล้นเมืองมิได้ก็เลยยกทัพกลับคืน?  ดังนี้จึงเป็นเครื่องนำให้สันนิษฐานเมืองชากังราวนั้น คือเมืองสวรรคโลก  เพราะปรากฏว่า  มหาราช (เมืองเชียงใหม่)  ได้ชากังราวแล้วเลยไปเอาเมืองสุโขทัย  ต้องเข้าใจว่าเป็นเมืองที่อยู่ใกล้เคียงกัน  ถ้าจะนึกถึงทางที่เดินก็ดูถูกต้องดี  แต่เหตุไฉนจึงเรียกชื่อเมืองสวรรคโลกว่าชากังราว  ข้อนี้ยังแปลไม่ออก

                  เมืองสวรรคโลกนี้  ถึงแม้เมื่อกรุงศรีอยุธมีอำนาจขึ้นแล้ว  ใช่ว่าจะเสียอิสรภาพ  ยังคงเป็นเมืองมีกษัตริย์ครองเรื่อยมา  แม้พระมหาธรรมราชาได้ออกมาถวายบังคมขุนหลวงพงั่วแล้ว  เมืองก็ยังคงเป็นเมืองมีอิสรภาพอยู่  เพราะในสมัยนั้นไม่สู้จะฝักใฝ่ในเรื่องอาณาเขตนัก  ต้องการแต่เรื่องคนเท่านั้น  แต่วงศ์กษัตริย์ครองสวรรคโลกจะได้สูญไปเมื่อใดแน่ก็ม่าปรากฏ?

                  จากข้อความทั้งหมดที่คัดลอกมานั้น  สรุปได้ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงวินิจฉัยในครั้งที่สมเด็จพระบรมราชาธิราช(ขุนหลวงพงั่ว) ได้เสด็จขึ้นไปเอาเมืองชากังราวถึง  4  ครั้ง นั้นหมายถึงเมืองศรีสัชนาลัยหรือเมืองสวรรคโลก

                   2. หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ หน้า   115-116     ได้กล่าวถึงสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ว่าได้ทรงยึดเมืองชัยนาท(พิษณุโลก)ได้  ให้สมเด็จพระบรมราชาธิราช(ขุนหลวงพงั่ว)เจ้าเมืองสุพรรณบุรีขึ้นมาครอบครอง  พระยาลิไทต้องยินยอม และต้องส่งบรรณาการเป็นอันมาก   ในเวลาต่อมาพระยาลิไทได้ขอเมืองพิษณุโลกคืนจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)   สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)  ได้คืนเมืองพิษณุโลกให้กับพระยาลิไท   ส่วนสมเด็จพระบรมราชาธิราช(ขุนหลวงพงั่ว)ซึ่งเคยครองเมืองพิษณุโลกกลับไปครองเมืองสุพรรณบุรีตามเดิม  พระยาลิไทครองเมืองพิษณุโลก  ทรงตั้งพระมหาเทวีซึ่งเป็นขนิษฐาครองเมืองสุโขทัย  และทรงตั้ง ติปัญญาอำมาตย์(หรือเรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่าพระยาญาณดิส) ครองเมืองกำแพงเพชร  ในช่วงครองเมืองกำแพงเพชรอยู่นั้น พระยาญาณดิสได้ยินยอมให้พระมารดา ไปเป็นมเหสีแก่สมเด็จพระบรมราช(ขุนหลวงพงั่ว) ซึ่งขณะนั้นได้ครองกรุงศรีอยุธยา   และพระมารดานั้นได้เป็นที่รักใคร่โปรดปานของสมเด็จพระบรมราชาธิราช(ขุนหลวงพงั่ว)  จนสามารถขอพระแก้วมรกตจากสมเด็จพระบรมราชาธิราช(หลวงพะงั่ว)มาไว้ที่เมืองกำแพงเพชร

              3.  ในหนังสือประชุมพงศาวดาร ฉบับกาญจนาภิเษกเล่ม 7  หน้า   576-579   มีข้อความที่สรุปได้ว่า    จุลศักราช 762 (พ.ศ.1943)  ท้าวมหาพรหมเจ้าเมืองเชียงรายซึ่งเคยหลบหนีเจ้าเมืองเชียงใหม่มาพึ่งพาพระยาญาณดิสที่เมืองกำแพงเพชร  ไปนำทหารแปดหมื่นจากเชียงใหม่มาล้อมเมืองกำแพงเพชรไว้       ให้พระสุคันธเถระเข้าเจรจาขอให้พระยาญาณดิสยอมถวายพระแก้วมรกตให้กับท้าวมหาพรหม   พระยาญาณดิสเห็นจะสู้รบไม่ได้  จึงแต่งบรรณาการเครื่องช้างอย่างดีส่งไปถวายแด่ท้าวมหาพรหม  ขอเป็นทางราชไมตรีและยอมถวายพระแก้วมรกตให้  แต่ขอให้ท้าวมหาพรหมถอยทัพไปก่อนจึงจะส่งพระแก้วมรกตตามไปถวายภายหลัง  เพราะว่ากองทัพจากกรุงศรีอยุทธยา(สมเด็จพระรามราชาธิราช กษัตริย์ องค์ที่ 5 แห่งกรุงศรีอยุธยา) ยกทัพมาถึงปากน้ำโพแล้ว  ถ้าเสด็จมาถึงก็จะไม่ได้พระแก้วมรกตไป  ท้าวมหาพรหมจึงถอยทัพไปตั้ง ณ เมืองตาก  ครั้นครบ ๗ วัน พระเจ้าญาณดิสก็เชิญพระแก้วมรกตลงเรือ  มอบให้พระสุคันธเถระไปถวายท้าวมหาพรหม

               จากหนังสือทั้ง 2 เรื่องที่นำมาเสนอนั้นสามารถที่จะกล่าวได้ว่า  พระปัญญาอำมาตย์ หรือ พระยาญาณดิส นั้น เป็นโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราช(ขุนหลวงพงั่ว) และพระมารดานั้นเป็นมเหสีคนโปรดของสมเด็จพระบรมราชาธิราช(ขุนหลวงพงั่ว)  จนสามารถขอพระแก้วมรกตมาไว้ที่เมืองกำแพงเพชรได้  นอกจากนั้นแล้ว  พระปัญญาอำมาตย์ หรือ พระยาญาณดิส ได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร ไม่น้อยกว่า 30 ปีตั้งแต่ปลายสมัยพระยาลิไทจนถึงสมัยสมเด็จพระรามราชาธิราช (กษัตริย์องค์ที่ 5  แห่งกรุงศรีอยุธยา)  
  จึงทำให้สันนิษฐานได้ว่า    สมเด็จพระบรมราชาธิราช(ขุนหลวงพงั่ว) ไม่เคยยกทัพมายึดเมืองกำแพงเพชร แต่อย่างใด  



อ้างอิง

         คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี. ประชุมพงศาวดารฉบับ        

                                            กาญจนา ภิเษก เล่ม 7. กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, 2545.

         พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. เที่ยวเมืองพระร่วง. กรุงเทพมหานคร : ศึกษาพันธ์

                                           พานิช,2526

         แสง  มนวิทูร, ร.ต.ท.  ชินกาลมาลีปกรณ์.(พิมพ์อนุสรณ์นายกี  นิมมานเหมินทร์) มิตรนราการพิมพ์,

                      2510.
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!