จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
เมษายน 20, 2024, 07:45:27 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ปรองดองแห่งชาติในสายตาสังคมวิทยากฎหมาย  (อ่าน 6309 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1413


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: มิถุนายน 18, 2012, 10:20:27 am »

ปรองดองแห่งชาติในสายตาสังคมวิทยากฎหมาย
โดย กฤษณ์  วงศ์วิเศษธร (นักศึกษาปริญญาโท สาขากฎหมายมหาชน)

 
?ความยุติธรรม คือเจตจำนงอันแน่วแน่ตลอดกาลที่จะให้แก่ทุกคนในส่วนที่เขาควรจะได้?

- Corpus Iuris Civilis -

 

บทนำ

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ประเด็นหนึ่งที่กลุ่มคนเสื้อแดงหยิบยกขึ้นมาในการต่อสู้ครั้งนี้คือ ปัญหาทางชนชั้น ระหว่างกลุ่มคนที่เรียกว่า ?ไพร่? และ กลุ่มคนที่เรียกว่า ?อำมาตย์?

ไม่ว่าทั้งสองคำจะมีการตีความไปในนัยใดก็ตาม แต่เราก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ว่า คำว่า ?ไพร่? นั้นเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้แทนกลุ่มคนธรรมดาที่ไม่ได้มีฐานดีอะไร บ้างก็เรียกว่า ?รากหญ้า? บ้างก็เรียกคนยากจน ในขณะที่สังคมเมืองค่อนไปทางกลุ่มที่เรียกว่า ?อำมาตย์? กล่าวคือ เป็นผู้มีการศึกษา มีฐานะตั้งแต่ระดับกลางจนไปถึงมีเกียรติยศ มีชื่อเสียงทางสังคม หรืออาจรวมถึงกลุ่มคนผู้มีอำนาจพิเศษภายใต้ระบบอุปถัมภ์

ดูเหมือนว่า ปัญหาความแตกต่างระหว่างชนชั้น จะมีแกนกลางอยู่ที่ฐานะ และอำนาจทางสังคมที่แตกต่างกัน ในเชิงความแตกต่างด้านฐานะนั้น กลายเป็นมูลฐานสำคัญที่สุดที่นำไปสู่ความแตกต่างด้านอำนาจเหนือของสังคมด้วย เช่น คนที่มีฐานะดีกว่า ย่อมมีโอกาสเป็นเจ้าของกิจการ และย่อมมีอำนาจต่อรองดีกว่า คนที่ฐานะด้อยกว่าและเป็นลูกจ้าง หรือ ผู้ที่มีฐานะทางการเงินที่ดี สนับสนุนพรรคการเมือง และมีโอกาสเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญในทางการเมือง ย่อมมีอำนาจเหนือการผู้ที่มิได้มีโอกาสดีเช่นนั้น อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า กลุ่มคนที่มีฐานะดีกว่า หรือมีอำนาจเหนือกว่า กลับกลายเป็นคนที่มีจำนวนน้อยกว่า บุคคลทั่วๆไปในสังคม หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า คนรวยในสังคมมีจำนวนมากกว่าคนจนในสังคม และคนที่มีอำนาจในสังคมแค่ไม่กี่คน กลับมีอำนาจมากมายในการชี้นำการปกครองคนจำนวนมาก

การจัดการปัญหาเหล่านี้ ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร และยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวังไว้  เพราะดูเหมือนว่าคนที่มีฐานะทางการเงินดีมาก ก็จะย่อมมีโอกาสเข้าสู่อำนาจมาก เมื่อมีอำนาจมาก ก็นำมาสู่ฐานะทางการเงินที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆอย่างเป็นวัฏจักร ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่มีลักษณะสากลคือ ลักษณะทั่วไป(General) ที่เกิดในหลายสังคม ในหลายประเทศคล้ายคลึงกัน

สำหรับประเทศไทยในห้วงเวลานี้ การตั้งคณะกรรมการปฏิรูปโดยการนำของนายอานันท์  ปัญยารชุน และนายแพทย์ประเวศ  วะสี ได้มุ่งพิจารณาประเด็นความปรองดองของคนในสังคม เพื่อการประสานรอยร้าว และปมความขัดแย้งต่างๆของสังคม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือความแตกต่างทางสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า ทั้งนายอานันท์ และนายแพทย์ประเวส ก็ล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มคนที่อาจเรียกได้ว่าเป็นคนที่มีฐานะดีทั้งทางสังคมและทางเศรษฐกิจ จนหลายฝ่ายต่างพากันตั้งข้อสังเกตว่า ภายใต้การนำของบุคคลทั้งสองนี้ จะเข้าถึงปัญหาความแตกต่างทางฐานะของบุคคลได้จริงหรือ? และดูเหมือนว่า คณะกรรมการปฏิรูปนี้ไม่น่าจะประสบความสำเร็จได้เลย

อย่างไรก็ตาม ในเชิงกฎหมายแล้ว มีคำถามที่ว่าจะเอากฎหมายไปปฏิรูปสังคมได้อย่างไร ถูกนำเสนอมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็โดย Roscoe Pound แห่งมหาวิทยาลัย Harvard ซึ่งเขาเสนอว่า กฎหมายนั้นเป็นวิศวกรรมของสังคม (Social Engineering) สังคมมนุษย์นั้นเมื่อมีความรู้ในด้านกฎหมายและในด้านอื่นๆ ก็สามารถปรุงแต่งสังคมได้โดยความพยายามที่จะใช้ความรู้ที่มีอยู่มาทำให้เป็นประโยชน์และแก้ไขสังคมให้เป็นสังคมที่ดีขึ้น สังคมที่ดีและน่าอยู่คือสังคมที่มีความกลมกลืน (harmony)1  เราเรียกแนวความคิดทำนองนี้ว่า แนวคิดสังคมวิทยากฎหมาย (Sociology of Law) สำหรับในที่นี้เราจะไปศึกษาถึงแนวคิดเกี่ยวกับกฎหมายโดยสังเขปของสำนักความคิดนี้ และจะได้วิพากษ์ถึงแนวคิดปรองดองแห่งชาติในสายตาของสังคมวิทยากฎหมาย

แนวความคิดกฎหมายของสำนักสังคมวิทยากฎหมาย

สังคมวิทยากฎหมายเป็นแนวคิดคิดที่ค่อยๆก่อตัวขึ้นอย่างชัดเจนในปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่20 นี้นี่เอง แม้จะดูเหมือนว่าเกิดขึ้นได้ไม่นานนัก แต่ผู้ที่มีแนวคิดในการศึกษากฎหมายควบคู่กับการศึกษาสังคมคนแรกๆที่มีชื่อเสียงคือ มองเตสกิเออร์ (Montesquieu) โดยเขาอธิบายว่า ?กฎหมายทั้งหลายในลักษณะที่สำคัญที่ทั่วไปคือความสัมพันธ์ที่จำเป็นจะต้องเป็นเช่นนั้นอันเกิดจากเหตุผลของเรื่อง เพราะฉะนั้นมนุษย์ก็มีกฎหมายของมนุษย์ พระเจ้าก็มีกฎหมายของพระเจ้า สัตว์ก็มีกฎหมายของสัตว์2? นอกจากนี้เขายังกล่าวไว้ในคำนำของหนังสือ จิตวิญญาณของกฎหมาย(Esprit des Lois) ในการพิมพ์ครั้งแรกว่า ?จิตวิญญาณของกฎหมาย หรือความสัมพันธ์ซึ่งมักจะปรากฏตัวขึ้นระหว่างบรรดากฎหมายและรัฐธรรมนูญของทุกๆรัฐบาล, จารีต,สภาวะอากาศ, ประชากร, ศาสนา, การค้าฯลฯ3?  แสดงให้เห็นค่อนข้างชัดเจนว่า มองเตสกิเออร์เองก็เห็นว่า กฎหมายนั้นควรศึกษาควบคู่ไปกับปรากฏการณ์อื่นๆของสังคม และเป็นความสัมพันธ์ที่มิอาจจะแยกจากกันได้อย่างเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับว่าผู้ที่วางระบบระเบียบการศึกษากฎหมายในเชิงสังคมวิทยาหรือสังคมวิทยากฎหมายนี้คือนักคิดเรืองนามชาวเยอรมัน ชื่อ รูดอล์ฟ ฟอน เยียริ่ง (Rudolf von Jhering : 1818 - 1892) นอกจากนี้ยังมีนักคิดที่น่าสนใจอีกหลายท่านเช่น เล-อง ดูกีว์(L?on Duguit), เยียริช(Eugen Ehrlich), แมกซ์ เวเบอร์(Max Waber), หรือในภาคพื้นอเมริกาก็มี รอสโค่ พาวด์(Roscoe Pound), โฮม(O.W. Holmes), เบนจามิน  คาโดโซ่(Benjamin  Cardozo) นอกจากนี้ยังมีนักคิดในสมัยใหม่ที่เรียกว่า แนวคิดหลังสมัยใหม่(Post-modern) อีกหลายท่าน อาทิ เยอร์เก้น ฮาเบอร์มาส(J?rgen Habermas), มิเชล ฟูโก(Michele Foucault) เป็นต้น

สำหรับในที่นี้จะหยิบยกขึ้นมากล่าวเฉพาะนักคิดในสำนักสังคมวิทยากฎหมายบางท่านเท่านั้น

(1) รูดอล์ฟ ฟอน เยียริ่ง(Rudolf von Jhering)

เยยริ่งได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งสังคมวิทยากฎหมาย ในตอนแรกนั้น เขามุ่งศึกษาประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์กฎหมายโรมัน ต่อมาในงานเขียนของเขาที่ชื่อ Zweck im Recht หรือที่เรียกว่า ?วัตถุประสงค์ของกฎหมาย? เยียริ่งศึกษาของการแปลงรูป (Tranforming) ของสังคมวิทยากฎหมายสู่หลักกฎหมายบริสุทธิ์ในทางทฤษฎี ตามทฤษฎีนี้กฎหมายทั้งหลายล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากเป้าประสงค์ (aim) ในการปกป้อง (defend) ผลประโยชน์ของสังคม และการปกป้องถูกทำให้มีผลโดยรัฐ ดังนั้น กฎหมายทั้งปวงมีความเกี่ยวข้องกับการควบคุมของรัฐ4  เขาแบ่งผลประโยชน์ออกเป็น 3 ประเภทคือ ผลประโยชน์ของปัจเจกชน, ผลประโยชน์ของรัฐ และผลประโยชน์ของสังคม และเพื่อให้ผลประโยชน์ทั้งสามกลมกลืนกัน เยยริ่งได้เสนอ หลักการคัดง้างตัวของสังคมเกิดจากการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม การดำรงอยู่ของสังคม ต้องมีเครื่องมือคัดง้างอันเหมาะสมได้แก่ การได้สิ่งตอบแทน, การข่มขู่ลงโทษ, หน้าที่และความรัก เราต้องผสมผสานมูลเหตุจูงใจทั้งหลายเหล่านี้เข้าด้วยกันเพื่อความสงบสุขของสังคม

(2) รอสโค่  พาวด์(Roscoe Pound)

Pound เสนอแนวคิดที่เรียกว่า นิติศาสตร์ทางสังคมวิทยา (Sociological Jurisprudence) เขาเห็นว่าสังคมมีความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของกฎหมายที่ปรับผลประโยชน์ที่ขัดกันในสังคมเหล่านั้นให้สมดุลจนอยู่ด้วยกันได้ด้วยดี กฎหมายเหมือนเครื่องจักรและนักกฎหมายเองคือวิศวกรสังคม (Social Engineer) นอกจากนี้ Pound ยังกล่าวอีกว่า การที่นักกฎหมายจะเป็นวิศวกรสังคมที่ดี จะรู้แต่วิชานิติศาสตร์ไม่ได้ เขาเรียกร้องให้นักกฎหมายจำต้องศึกษาข้อเท็จจริงในฐานปรากฏการณ์ทางสังคมด้วย ดังนั้น  Pound จึงเสนอให้ทฤษฎีศึกษาเรื่องผลประโยชน์(Doctrine of Interest)ในสังคม โดยเขาแยกผลประโยชน์ในสังคมออกเป็น 3 ประเภท คือ5

ประเภทแรก ผลประโยชน์ของปัจเจกบุคคล (Individual Interest) คือ ข้อเรียกร้อง, ความต้องการ, ความปรารถนา และความคาดหมายในการดำรงชีวิตของปัจเจกชน (individual) ซึ่งเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ด้านบุคลิกภาพส่วนตัว ความสัมพันธ์ทางครอบครัว สิทธิและเสรีภาพในนามส่วนตัว

ประการที่สอง ผลประโยชน์ของมหาชน (Public Interest) คือ ข้อเรียกร้อง, ความต้องการหรือความปรารถนาที่ปัจเจกชนยึดมั่นอันเกี่ยวพันหรือเกิดจากจุดยืนในการดำรงชีวิตที่เกี่ยวกับการเมือง (Political lift) อันได้แก่ผลประโยชน์ของรัฐในฐานะที่เป็นบุคคล ที่จะครอบครองหรือเวนคืนทรัพย์สิน รวมทั้งผลประโยชน์ของรัฐในฐานะผู้พิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ของสังคม

ประการที่สาม ผลประโยชน์ของสังคม (Social Interest) คือ ข้อเรียกร้อง, ความต้องการ หรือความปรารถนาที่พิจารณาจากแง่ความคาดหมายในการดำรงชีวิตทางสังคม อันรวมถึงผลประโยชน์ในแง่ความปลอดภัย ในแง่เศรษฐกิจ การเมือง หรือศีลธรรมและกฎหมาย

เมื่อศึกษาเรื่องผลประโยชน์แล้ว เพื่อจะทำ Social Engineering ได้ดีในฐานะ Social Engineer คือ การปรับสังคมที่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกันให้ลงรอยปรองดอง เพราะฉะนั้น Pound จึงเสนอให้ศึกษาผลประโยชน์ ว่าถ้าศึกษาผลประโยชน์ให้เข้าใจดีแล้วว่ามีกี่ประเภท เรียงลำดับความสำคัญได้อย่างไร หากมีปัญหาความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ เราก็สามารถปรับให้ผลประโยชน์กลมกลืนกัน6

อย่างไรก็ตาม ความคิดเรื่องของผลประโยชน์ของ Pound ก็ยังมีข้อบกพร่องอยู่ คือ ประการแรก Pound ไม่อาจพัฒนาทฤษฎีเรื่องผลประโยชน์ของเขาได้ และก็ไม่มีความแน่นอนชัดเจนว่าผลประโยชน์หลายๆเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่จะอยู่ในประเภทใด ประการต่อมา แนวคิดของ Pound ที่ว่าให้ศึกษาผลประโยชน์ แล้วจึงออกกฎหมายมารับรองและแก้ปัญหาการขัดกันของประโยชน์เหล่านั้น เขาลืมไปว่าผลประโยชน์บางเรื่องก็เกิดจากการก่อตั้งของกฎหมาย อาทิ เช่น เรื่องสวัสดิการสังคม7  ประการที่สาม เป็นที่ยอมรับกันว่า กระบวนการนิติบัญญัติสมัยใหม่ การออกกฎหมายจะต้องผ่านรัฐสภาซึ่งมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนกระบวนการออกกฎหมาย และบุคคลเหล่านี้มีผลประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น การออกกฎหมายภายใต้กรอบความคิดของประโยชน์ฝ่ายตน เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากที่กฎหมายจะออกมาเพื่อประโยชน์ของสังคมอย่างแม้จริง ตรงนี้เองที่อาจทำให้ความคิดของ Pound อาจเป็นไปได้ในเชิงอุดมคติ แต่อาจเป็นไปได้ยากยิ่งในสังคมปัจจุบัน

(3) เล-อง ดูกีว์ (L?on  Duguit)

ดูกีว์ เป็นนักนิติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสแห่งคณะนิติศาสตร์บอร์กโดซ์(Bordeaux) หรือบางคนเรียกว่าสำนักบริการสาธารณะ สำหรับแนวคิดของดูกีว์นั้นได้รับอิทธิพลมาจากความคิดของเอมิว  เดอร์ไคม์(?mile  Durkheim)  ซึ่งเน้นเรื่องความสมานฉันท์ของสังคมผ่านการแบ่งแยกแรงงาน โดยดูกีว์ก็ได้เสนอเรื่อง ?ความสมานฉันท์ของสังคม?(Social Solidarity) ซึ่งเขากล่าวว่า เมื่อกล่าวถึงกฎหมาย เราจะกล่าวถึงในฐานะที่เป็นเรื่องส่วนเอกชนอย่างเดียวมิได้ กฎหมายนั้น แท้จริงเป็นเรื่องของสังคม8 หรือก็คือความสมานฉันท์ของสังคม  นอกจากนี้เขายังปฏิเสธด้วยว่า แต่ละคนนั้นไม่ได้มีสิทธิในฐานะเอกชน แต่ว่ามีสิทธิในฐานะที่เป็นหน้าที่ของตนเท่านั้น ดังนั้น กฎหมายในความคิดของดูกีว์ คือ ระบบของหน้าที่ไม่ใช่ระบบของสิทธิและถ้าคนจะมีสิทธิใดก็ตาม สิทธิอันนั้นแท้จริงแล้วก็คือสิทธิที่จะทำตามหน้าที่ของตนเท่านั้น9

กล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า แนวคิดของสังคมวิทยากฎหมาย มุ่งศึกษากฎหมายควบคู่กับการศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคมในฐานะที่กฎหมายเองก็เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ทางสังคมเช่นเดียวกัน ความคิดอันนี้นี่เองที่ทำให้สำนักความคิดสังคมวิทยากฎหมายแตกต่างอย่างเด่นชัดจากสำนักปฏิฐานนิยมกฎหมาย(Positivism) กล่าวคือ สำนักปฏิฐานนิยมกฎหมายเห็นว่าควรแยกกฎหมายออกจากสิ่งอื่นๆที่ไม่ใช่กฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นกฎหมายอันบริสุทธิ์ (Pure Law) ปราศจากซึ่งการเมือง อำนาจ หรือคุณค่าใดๆทั้งสิ้น การคิดคำนึงว่ากฎหมายจะดีหรือเลว ไม่ใช่หน้าที่ของนักกฎหมาย ในขณะที่การศึกษากฎหมายในแง่มุมของสำนักสังคมวิทยากฎหมาย กลับเน้นที่การศึกษาข้อเท็จจริงของสังคม คุณค่าของสิ่งต่างๆควบคู่ไปกับการศึกษาวิชานิติศาสตร์หรือการศึกษาตัวบทกฎหมาย เยยริ่งเห็นว่ากฎหมายคือ ผลรวมแห่งเหล่าเงื่อนไขของชีวิตทางสังคมในความหมายกว้างที่สุด ซึ่งได้รับการประกันคุ้มครองโดยอำนาจของรัฐผ่านวิถีทางบังคับคุมคุมนอกร่างกาย10

ในแง่ของหน้าที่(Function) และวิธีศึกษา ของสำนักสังคมวิทยากฎหมาย เราจึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ?กฎหมาย คือ ข้อเท็จจริงอันเป็นปรากฏการณ์หนึ่งของสังคม ที่ปรากฏตัวขึ้นหรือมีเพื่อการประสมประสาน ต่อรองผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆในสังคมให้เกิดความสงบสุข?

สังคมวิทยากฎหมายกับความปรองดองในสังคม

ตามที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นว่า รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่ลงรอยของสังคม โดยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนต่างๆ ทั้งสื่อ ทั้งฝ่ายพันธมิตร(เสื้อเหลือง) ทั้งฝ่ายนปช.(เสื้อแดง) รวมทั้งฝ่ายต่างๆ ดูเหมือนว่าเป็นแนวทางที่ดี หรืออีกนัยหนึ่งคือฟังแล้วดูดี แต่หากในมุมมองของสังคมวิทยากฎหมายแล้ว การผสานรอยร้าวของกลุ่มต่างๆในขณะนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่กฎหมายและนักกฎหมายจำต้องเข้ามามีบทบาท อย่างที่ Pound กล่าวว่า นักกฎหมายเป็นวิศวกรของสังคม (Social Engineer) ลำพังคณะกรรมการปฏิรูปที่มิได้มีอำนาจใดเลยในทางกฎหมาย ก็คงมิขับเคลื่อนกระบวนการแก้ปัญหาสังคมได้อย่างที่มุ่งหวังไว้ อย่างไรตาม ปัญหาเรื่องความปรองดองของสังคมมีข้อพิจารณาดังนี้

ประการแรก หากพิจารณาโดยปราศจากอคติแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้ สาเหตุหลักอย่างหนึ่งเกิดจากการละเลยกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในสังคมไป หรือกดทับบุคคลเหล่านี้ด้วยค่านิยมบางอย่าง บุคคลที่ว่านี้คือคนต่างจังหวัด และคนยากจน  ซึ่งเราต้องยอมรับว่าเป็นเวลาช้านานแล้วที่บุคคลเหล่านี้ถูกละเลย ไม่ว่าจะในทางนโยบายของรัฐบาลและด้านการกระจายทรัพยากรของประเทศ ดังนั้น ในการเลือกตั้งแต่ละครั้งพวกเขาจึงรู้สึกว่า หนึ่งเสียงของเขาไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรอย่างเป็นรูปธรรมต่อพวกเขาเลย ในทางกลับกัน นโยบายและทรัพยากรทั้งหลายต่างกระจุกตัวอยู่ในเมือง หากมองอย่างสังคมวิทยากฎหมายแล้ว เหล่านี้คือกลุ่มผลประโยชน์ชนิดหนึ่ง ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ถูกละเลย ในขณะที่กลุ่มผลประโยชน์อื่นๆในสังคมกลับได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เมื่อพวกเขาเหล่านี้มิอาจทนไหวจึงออกมาเรียกร้องและแสดงออกถึงความคิดเห็นเพื่อสิ่งที่ตนควรจะได้รับ

นอกจากนี้ สมควรกล่าวด้วยว่า สำหรับประเทศไทยนั้น ปัญหาเรื่องการไม่ลงรอยกันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองอันเป็นโครงสร้างส่วนบน ตั้งแต่หลังการอภิวัฒน์ 2475 เป็นต้นมา ก็ยังคงดำรงอยู่ถึงทุกวันนี้  ความขัดแย้งดังกล่าวได้แผ่ขยายออกไปยังภาคส่วนต่างๆในสังคมด้วย ดังนั้น สิ่งแรกที่ควรจะต้องกระทำในมุมมองของสังคมวิทยากฎหมายคือ ต้องไม่ปฏิเสธที่จะรับรู้อย่างแท้จริงว่า ปัจจุบันมีกลุ่มผลประโยชน์ใดบ้างในสังคม และพยายามประสานประโยชน์ให้กลมกลืน(Harmony)กันให้ได้มากที่สุด การปฏิเสธที่จะกล่าวถึงหรือยอมรับการมีอยู่ของกลุ่มผลประโยชน์ใดกลุ่มประโยชน์หนึ่ง เป็นข้อบกพร่องอย่างมากในมุมมองสังคมวิทยากฎหมาย ดังเช่นไม่นานมานี้ มีนักกฎหมายอาวุโสผู้หนึ่งได้พูดถึงการนำสังคมวิทยากฎหมายมาใช้ในการแก้ปัญหาการทางการเมือง แต่ตัวของนักกฎหมายผู้นั้นเองกลับมองข้ามและชิงชังการมีอย่างของกลุ่มผลประโยชน์ที่เขาเรียกว่า ?กลุ่มทุนนิยมการเมือง? หรือ ?เผด็จการทุนนิยม? การมีอคติเช่นนี้ ในทางสังคมวิทยากฎหมายแล้ว นักกฎหมายไม่อาจจะออกแบบกฎหมายให้สอดรับประสานผลประโยชน์ได้อย่างลงตัวเลย ในการนี้ดูกีว์จึงยืนยันว่าชีวิตความเป็นไปทางสังคมควรได้รับการพิจารณาตามสภาพข้อเท็จจริงที่มันดำเนินอยู่หากเราต้องการเห็นภาพทั่วไปของสังคมอย่างถูกต้องใกล้เคียงที่สุด11   ในเรื่องนี้รศ.ดร.วรเจตน์ภาคีรัตน์เห็นว่า12

?การวิเคราะห์สภาพปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จะต้องนำสถาบันและกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองทุกกลุ่มทั้งที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญและที่ไม่ปรากฏในรัฐธรรมนูญมาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อพิจารณาว่าสถาบันและกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองเหล่านั้นมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างไร การกระจายผลประโยชน์ในทางการเมืองบนพื้นฐานของกติกาประชาธิปไตยควรจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่การวิเคราะห์เฉพาะนักการเมืองและพรรคการเมืองเท่านั้น ด้วยเหตุนี้หากจะวิเคราะห์สภาพสังคมวิทยาการเมืองไทยให้เป็นวิชาการจริงๆแล้ว ผู้วิเคราะห์จะต้องวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ในทางการเมืองของสถาบันและกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองเหล่านี้ทั้งหมด คือ สถาบันพระมหากษัตริย์และองคมนตรี นักการเมืองและพรรคการเมือง บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา รัฐมนตรี ผู้พิพากษาตุลาการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ทหาร ข้าราชการ พนักงานของรัฐ รวมตลอดถึงนักธุรกิจ นักวิชาการ สื่อมวลชนตลอดจนกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ เพราะหากการวิเคราะห์ไม่ได้กระทำอย่างรอบด้านแล้ว ก็อาจนำไปสู่บทสรุปที่ผิดพลาดได้?

ประการที่สอง  ความมุ่งหวังให้เกิดความสมานฉันท์ในสังคมภายใต้การประกาศใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ปฏิภาคพจน์(Paradox) เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในมุมมองของเยียริ่ง อาจเป็นไปว่าสิ่งนี้คือ สิ่งที่เขาเรียกว่า การคัดง้างตัวของสังคม กฎหมายที่ออกมาเพื่อข่มขู่ลงโทษในขณะที่การดำเนินการเพื่อสร้างความสงบสุขในสังคมกำลังดำเนินการต่อไป ในความเป็นจริงสภาพการณ์เช่นนี้อาจไม่เป็นไปตามทฤษฎีของเขา เพราะการใช้กฎหมายเพื่อข่มขู่และลงโทษออกจะเกิดเลยไปกว่าการดำเนินการที่ให้ผลในเชิงบวก การคัดง้างตัวจึงไม่อาจสำเร็จลุล่วงไปได้ แต่หากเป็นไปตามทฤษฎีผลประโยชน์ของพาวด์แล้วนั้น การใช้อำนาจตามกฎหมายกดมิให้กลุ่มผลประโยชน์ใดผลประโยชน์หนึ่งออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้อง แสดงความปรารถนาของ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะระบบการจัดการผสมผสานประโยชน์ไม่อาจเป็นไปตามความต้องการแท้จริงของสังคม

ประการที่สาม ปัญหาความยากจน ปัญหาเรื่องชนชั้น ตลอดจนปัญหาเรื่องการแตกแยกของคนในสังคมต่างมีลักษณะที่เรียกว่าสหสัมพันธ์(Relative) กันอย่างมิอาจจะแยกออกจากกันได้ กล่าวคือ เมื่อฐานะทางเศรษฐกิจของคนสองกลุ่มแตกต่างกัน คนที่มีฐานะเหนือกว่าย่อมมีอำนาจทางเศรษฐกิจเหนือกว่า สามารถกำหนดชะตากรรมทางเศรษฐกิจของคนที่มีฐานะด้อยกว่าได้ ซึ่งปรากฏมาในรูปของการกดขี่ทางแรงงาน การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ยิ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจดีเท่าไหร่ โอกาสในการเข้าสู่กระบวนการทางอำนาจ (เช่นการเมือง) ย่อมมีขึ้นมากเท่านั้น หรือโอกาสที่จะได้รับสิ่งที่ดีกว่า เช่น การศึกษาขั้นสูงก็จะมีมากขึ้น และเมื่อมีการศึกษาสูงขึ้น หรือเมื่อเข้าสู่อำนาจได้ก็ยิ่งหาช่องทางและโอกาสในการเพิ่มฐานะทางเศรษฐกิจให้มั่งคั่งยิ่งขึ้นเข้าไปอีก ความห่างทางสังคมและชนชั้นก็จะเพิ่มมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาการแตกแยกก็จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ และเราต้องยอมรับว่าความแตกต่างนี้นำมาสู่ความแตกแยกของสังคมอย่างเช่นทุกวันนี้ ซึ่งในสายตาของสังคมวิทยากฎหมายแล้ว สิ่งเหล่านี้คือการไม่อาจประสานกันได้ของผลประโยชน์ต่างๆ

ในมุมมองของสังคมวิทยากฎหมาย กฎหมายต้องทำหน้าที่ประสานผลประโยชน์ของกลุ่มคนต่างๆให้เข้ากัน เพื่อความกลมกลืนของสังคม  นำไปสู่ความสมานฉันท์ของสังคมอย่างที่ ดูกีว์คาดหวังไว้ ในต่างประเทศอาทิ ประเทศอังกฤษ หรือกลุ่มสแกนดิเนเวีย ได้มีชุดของกฎหมายที่ออกแบบมาเพื่อประสานประโยชน์และลดช่องว่างของสังคม เราเรียกว่า ชุดกฎหมายความยากจน(Poverty Law Series) ซึ่งได้แก่ กฎหมายเกี่ยวกับคนยากจน (Poor Law), กฎหมายการช่วยเหลือด้านอาหาร, กฎหมายช่วยเหลือผู้ไร้ที่อยู่อาศัย, กฎหมายสวัสดิการสังคม, กฎหมายประกันสังคม, กฎหมายเพื่อผู้อนาถา ฯลฯ จะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วนั้น กฎหมายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ถูกตราขึ้นจากข้อเท็จจริงของสังคม เพื่อแก้ปัญหาของสังคม และสิ่งเหล่านี้ ในบางประเทศอาจมีความโน้มเอียงไปในทางรัฐสวัสดิการ (Welfare State) คือ รัฐเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในฐานะประสานประโยชน์ของแต่ละฝ่าย สำหรับดูกีว์นั้น สถาบันทางสังคมทั้งหมดจะต้องถูกตัดสินกันที่จุดว่ามันมีส่วนช่วยเสริมความสมานฉันท์ของสังคมได้อย่างไร รัฐนั้นมิได้มีตำแหน่งหรือฐานะเป็นบุคคลพิเศษแต่อย่างใด มิได้มีตัวตนลึกลับที่ไหนเมื่อมองตามความเป็นจริง แต่เป็นองค์การรูปหนึ่งของประชาชน ซึ่งได้รับความเชื่อถือตราบเท่าที่มันส่งเสริมความสมานฉันท์ของสังคม หากมันมิได้แสดงบทบาทนี้แล้วก็ย่อมถือว่าเป็นพันธะหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องต่อต้านรัฐ เรื่องอำนาจอธิปไตยก็เช่นกัน มิใช่ถ้อยคำที่อ้างหรูหราและว่างเปล่า หากมีกำเนิดจากบทบาทหน้าที่การรับใช้บริการสังคมมากกว่า แท้จริงแล้วความคิดเรื่องการบริการสังคม(Public service) สมควรนำมาแทนที่ความคิดเรื่องอำนาจอธิปไตย13

บทสรุป

กล่าวโดยสรุปจะเห็นได้ว่า แนวโน้มของกฎหมายในโลกนี้ มิอาจจะผละไปได้จากการศึกษาข้อเท็จจริงอื่นๆทางสังคมควบคู่ไปด้วย แนวความคิดของสังคมวิทยากฎหมายจึงเป็นแนวคิดที่ไม่อาจจะมองข้ามไปได้ในปัจจุบัน ทั้งในการการพัฒนาสังคม การศึกษาสังคม และประสานผลประโยชน์ต่างๆอันทำให้สังคมสงบสุข กฎหมายในฐานะข้อเท็จจริงหรือปรากฏการณ์อันหนึ่งของสังคมย่อมมีหน้าที่เพื่อสิ่งเหล่านั้น

ปัญหาความยากจน ปัญหาชนชั้น และปัญหาการแตกแยกของสังคมไทย หากมองในแง่ของสังคมวิทยากฎหมายแล้ว การออกแบบกฎหมายมาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้อาจเป็นแนวทางที่สำคัญแนวทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า ผู้ที่กุมอำนาจรัฐในฐานะผู้ออกกฎหมาย ก็เป็นกลุ่มผลประโยชน์หนึ่งที่สำคัญ การออกกฎหมายมาเพื่อให้ตนเองเสียประโยชน์นั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมากดังที่ คาร์ล มาร์กซ์ กล่าวว่า ชนชั้นใดย่อมออกกฎหมายมาเพื่อชนชั้นนั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนสุดคือร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเราต้องยอมรับว่าผู้ที่เสียประโยชน์ก็คือเหล่าบรรดาผู้พิจารณาร่างกฎหมายนี้นั่นเอง ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า ยิ่งมีโอกาสเข้าสู่กระบวนการทางอำนาจซึ่งก็คือทางการเมืองมากเท่าไหร่ ความมั่งคั่งก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย การถือครองทรัพย์สินเหล่านี้ก็ย่อมที่จะมากตาม และท้ายสุดตนนั่นเองที่จะเป็นผู้เสียประโยชน์

ในท้ายที่สุด ปัญหาความแตกแยกในสังคมก็จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้มีอำนาจเองไม่ได้มีเป้าประสงค์ที่แท้จริงในการประสานกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดีหรือยากจน และกลุ่มผู้ด้อยโอกาสที่จะเข้ามามีอำนาจทางการเมืองหรือเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม  มิหนำซ้ำการมองข้าม การพยายามกำจัดหรือทำลายกลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนั้น ย่อมไม่อาจจะให้เกิดเกิดความสมานฉันท์ขึ้นได้เลยตราบใดที่ยังคงเป็นเช่นนี้อยู่ และในท่ามกลางความบิดเบือนข้อเท็จจริงเหล่านี้ คงเป็นไปได้ยากยิ่งที่กฎหมายจะถูกออกแบบมาทำหน้าที่ประสานรอยร้าวของสังคม และนักกฎหมายก็คงมิอาจจะทำหน้าที่วิศวกรสังคมได้อย่างมุ่งหวังไว้ ข้อเท็จจริงทางสังคมที่บิดเบือนย่อมส่งผลให้กฎหมายที่ออกมาบิดเบือนตามไปด้วยนอกจากนี้ การมองข้ามกลุ่มคนด้อยฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจ โดยเลือกปฏิบัติต่อผู้คนเหล่านี้อย่างไม่เป็นธรรม เสมือนพลเมืองชั้นรองของประเทศ ปิดกั้นการแสดงออกซึ่งข้อเรียกร้องของผู้คนเหล่านั้น คือการมองข้ามกลุ่มผลประโยชน์ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นจำนวนมากที่สุดของประเทศไป ดังนั้น ในสายตาของสังคมวิทยากฎหมาย ความปรองดองที่แม้จริงของสังคมในสภาพโดยใช้กฎเกณฑ์หรือกฎหมายเป็นเครื่องช่วยรังสรรค์ในสภาวการณ์เช่นนั้น ก็คงมิต่างอะไรกับการวิ่งวนในเขาวงกตที่กฎหมายมิอาจนำทางออกมาสู่สังคมได้อย่างแท้จริง.

----------------------------------

1. สมยศ  เชื้อไทย,ทฤษฎีกฎหมายนิติปรัชญา, พิมพ์ครั้งที่ 12 แก้ไขเพิ่มเติม (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2552) น.145.

2. เพิ่งอ้าง, น. 138.

3.Georges Gurvitch, Sociology of Law, second impression (London : Lowe and Brydone(Printer) LTD.), P. 59.

4. Supra note 3, P. 77.

5. จรัญ  โฆษณานันท์, นิติปรัชญา, พิมพ์ครั้งที่ 15 (กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2550), น.255-256.

6. ปรดี  เกษมทรัพย์, นิติปรัชญา, พิมพ์ครั้งที่ 6 (กรุงเทพมหานคร: โครงการตำราและวารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2546), น. 277.

7. Raymond Wacks, Understanding Jurisprudence An Introduction to Legal Theory, First Publish (New York: Oxford University Press Inc, 2005), P.201.

8. อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 1, น. 141.

9. เพิ่งอ้าง, น.142.

10. อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 5, น.244

11. อ้างแล้ว เชิงอรรถที่ 5, น.246.

12. วรเจตน์  ภาคีรัตน์,?จดหมายชี้แจง? โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์, www.pub-law.net

13. L?on  Duguit, Law in the Modern State, (New York, Howard Fertig,1970), PP xliv,32-67 อ้างใน จรัญ  โฆษณานันท์, อ้างแล้วเชิงอรรถที่ 5, น.246-247.

บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!