จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
เมษายน 25, 2024, 09:09:52 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: แม่ไน้ สตรีนักบวช มีจริยวัตรน่าเลื่อมใสยิ่ง วัดปากอ่าง ตำบลปากอ่าง กำแพงเพชร  (อ่าน 9625 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1414


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: มิถุนายน 17, 2012, 01:32:14 pm »

แม่ไน้ สตรีนักบวช มีจริยวัตรน่าเลื่อมใสยิ่ง

แม่ไน้ สตรีนักบวช มีจริยวัตรน่าเลื่อมใสยิ่ง

 
เรานักปฏิบัติถ้ายังละวางไม่ได้ก็อายนก นกมันกินผลไม้แล้วมันก็บินไป
มันไม่เคยหวงว่าเป็นของมัน อิ่มแล้วก็บินไป
คนเราน่าจะอายนก มีอะไรก็ว่าของกูอยู่นั่นแหละ
คนเราที่หลงมากที่สุดคือหลงคนที่เรารัก กับคนที่เราเกลียด
หลงความคิดตัวเองว่า ความคิดเป็นเรา เราเป็นความคิด
ใจเราถ้ารู้ไม่ทันใจ เราก็อยากอยู่นั่นแหละ
หลงกายหลงใจตัวเอง...
    เป็นคำสอน ของแม่ไน้  สตรีนักบวช มีคำสอนที่น่าสนใจและเลื่อมใสยิ่ง คณะของเรา เดินทางไปวัดปากอ่างอุทัยทอง  ตำบลอ่างทอง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อพฤหัสบดี ที่ ๑๔ มิถุายน ๒๕๕๕ เวลา ประมาณ ๑๓.๐๐ น. เดินทางไปรับคุณมุก ปัทมาวดี ไฮซีค ที่บ้าน แล้วมารับ อี๊ด ช่างภาพ คนเก่ง ที่ทิพย์เคบิลทีวี โดยนัด อ.รุ่งเรือง สอนชู ผู้สนใจ ประวัติศาสตร์ของบ้านเมือง ที่ วัดแม่ชีไน้ ด้วยความมุ่งมั่น เพื่อศึกษา คำสอนของท่านแม่ไน้
        เมื่อไปถึงวัด ไม่คาดฝัน ดังคำที่เราอธิษฐานไว้ว่า ขอให้ได้สนทนาธรรมกับแม่ไน้ แบบไร้อุปสรรค  แม่ไน้ กำลังสนทนาธรรมกับพระภิกษุ อาคันตุกะ สามรูป อยู่ เมื่อเราเดินไปที่กุฏิท่าน  พระภิกษุ ลากลับ ไปอย่างรวดเร็ว
      
 










 ภาพที่เราเห็น คือสุภาพสตรีสูงอายุ นุ่งห่มเหลือง เหมือนภิกษุณี ในครั้งพุทธกาล นั่งกับพื้น อย่างสงบ ท่าทางยังแข็งแรง และเชื่อมั่นตนเองอย่างสูง ดวงตาที่มุ่งมั่น ราว เหล็กกล้า
        เมื่อเราแนะนำตัวแล้ว ก็นิมนต์นั่งบนที่อันควรแล้ว  บอกวัตถุประสงค์ แล้วนิมนต์ท่านเล่าชีวิตของท่าน อย่าง ไม่ปิดบังและไร้ มายา เท่าที่เราสังเกต
      แม่ไน้ เล่าว่า ท่านเกิดที่สุพรรณ บ้านศรีประจันต์ เมื่อราวพุทธศักราช ๒๔๘๓ ในตระกูล เกษตรกร ทำงานหนักมาทั้งชีวิต เรียนหนังสือจบระดับประถมศึกษา สนใจในงานบุญมาตั้งแต่เด็กๆ เรียนรู้แบบไม่เข้าใจ มาตลอด พิธีกรรมทั้งหมด ทุกเรื่อง แม่ไน้ทำได้หมด แต่ได้หาเข้าใจ ในเหตุผล ทำตามตัวอย่าง ที่คนรุ่นเก่าทำตามกันมา  ท่านถามหาเหตุผล เสมอว่าทำไม ต้องทำอย่างนี้  ไม่มีใครตอบแทนให้ได้ ท่านเก็บความสงสัยมา และหาเหตุผลด้วยตนเอง แสวงหาความรู้และความเข้าใจด้วยตนเองมาตลอด เมื่อเป็นสาว ก็ถูกพ่อแม่บังคับให้แต่งงาน แต่ท่านมองเห็นว่า ชีวิตครอบครัว ไม่ใช่ทางออก ของชีวิตที่ปรารถนา ท่านศึกษาธรรมะของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง จนอายุย่างเข้า ๔๐  เมื่อพ่อ เสียชีวิต ตามด้วยแม่ อายุราว ๔๓ ปี มาที่ ปากอ่าง เมืองกำแพงเพชร มาศึกษา ธรรมะที่สงสัย กับอาจารย์กาหลงพระกาหลงเป็นผู้ให้อารมณ์การปฏิบัติกับแม่ไนท์เป็นคนแรก และหลังจากนั้นไม่นาน การปฏิบัติของแม่ไนท์ก็เจริญก้าวหน้าตามลำดับ จนพระกาหลงต้องพามาพบลุงหมอสวัสดิ์ วัฒนพรหม อาจารย์ใหญ่ของเราเป็นผู้แก้ไขอารมณ์ที่ขัดข้องต่อการปฏิบัติธรรมและได้ก้าวหน้าในที่สุด..."คนส่วนใหญ่มักจะหาว่าคนอื่นผิดหมด ยกเว้นตนเอง  ตั้งสำนัก สงฆ์อุทัยทองขึ้น
          นาม"อุทัยทอง"นั้นได้มาอย่างไร ต้องย้อนอดีตไปยังครูอาจารย์คนแรกของเรา คือลุงหมอสวัสดิ์ วัฒนพรหม หมอแผนโบราณ ที่เป็นผู้ถ่ายทอดและประสิทธิประสาทวิชาต่างๆให้กับหมู่ศิษย์คนแล้วคนเล่า ณ.บ้านสองชั้นที่ตลาดปากอ่าง ครั้งมีผู้ปฏิบัติมากขึ้น หลายปีต่อมา ลุงหมอสวัสดิ์ฯ จึงปรึกษากับอาสม วัฒนพรหม ผู้เป็นน้องชาย ถามว่าจะขอซื้อสวนมะม่วง อาสมถามว่าพี่จะเอาที่ไปทำอะไร ลุงหมอสวัสดิ์ตอบว่า จะสร้างสถานที่ปฏิบัติให้แก่ผู้ปฏิบัติเนื่องจากที่บ้านคงไม่สามารถรองรับได้ืั้งหมด และเป้นที่พึ่งอาศัยของผู้ปฏิบัติที่ถึงขั้นออกบวชจากเรือน จึงควรมีสถานที่ที่ไม่ไกลและสามารถทำนุบำรุงดูแลได้ อาสมเมื่อทราบความประสงค์ของพี่เช่นนั้น ก็มีความยินดียิ่งนัก จึงขอร่วมบุญกับพี่ด้วยและขายให้ในราคา ห้าหมื่นบาทต่อเนื้อที่ประมาณสิบไร่เศษ
ขณะนั้นพระกาหลง เป็นผู้ที่สมควรเป็นอาจารย์ช่วยควบคุม การปฏิบัติได้ ก็ได้รับการมอบหมายให้ดูแลการปฏิบัติในสถานที่ดังกล่าว เมื่อมีผู้ปฏิบัติที่มีปัญหา บางครั้งลุงหมอสวัสดิ์ก็จะเข้าไปสอนให้ถึงที่พักสงฆ์ บางครั้งก็ให้ผู้ปฏิบัติมาปฏิบัติต่อที่บ้านของลุงหมอสวัสดิ์เอง ในเวลาต่อมาจึงได้ปรึกษากันว่าจะตั้งชื่อว่าอย่างไร ครูอาจารย์ที่เป็นศิษย์ อาทิเช่น นายปรมัตถ์ วิมานสาร นายพจนารถ พจนพาที ฯลฯ จึงเสนอว่าควรใช้คำว่า "วิปัสสนาสถาน" รู้สึกว่าจะเป็นความเห็นของอาจารย์พจนารถ พจนพาทีเสนอขึ้นและได้รับการยอมรับ ส่วนคำว่าอุทัยทองนั้น ลุงหมอสวัสดิ์เห็นว่า คณะสงฆ์ ที่สามรถพึ่งพาและเข้าใจต่อการปฏิบัตินั้น ก็มีพระครูอุทัยฯ เจ้าอาวาสวัดเทพสถาพรที่เขาหน่อ ที่มีความคุ้นเคยกับลุงหมอสวัสดิ์เป็นอย่างดี รับจะเป็นผู้ดูแลพระภิกษุสงฆ์ที่มาจำพรรษาที่สำนักสงฆ์วิปัสสนาสสถานอุทัยทอง ป้ายอันแรกเป็นไม้ที่แกะสลักอย่างดี ด้วยฝีมืออันปราณีตของ ท่านอาจารย์พจนารถ พจนพาที
         จึงเป็นที่มา ของสำนักสงฆ์อุทัยทอง และเป็นวัดปากอ่าง ในที่สุด เมื่อแม่ไน้ ได้ศึกษาธรรมด้วยตนเองหลายประการ และสามารถ เนรมิต วัดปากอ่าง เนื้อที่ ๘๘ ไร่ กลายเป็นสวนป่า ไม้หายาก โดยมีพรรณไม้ทุกชนิดด้วยฝีมือ ของแม่ชีไน้ อย่างน่าพิศวง  นอกจากท่าน จะลึกซึ้งธรรมะแล้วท่านยังลึกซึ้งเรื่องของต้นไม้ ที่ร่มเย็น และเป็นระเบียบอย่างที่สุด ท่านสอนว่า
     การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เป็นกิจกรรมปฏิบัติบูชา ที่เชื่อกันตามพระดำรัสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าตราบใดที่ยังมีการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง ตามพระธรรมคำสั่งสอนโลกนี้ไม่ว่างจากพระอรหันต์ นี่แสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติบูชาเป็นแก่นแท้ ดุจต้นไม้ที่จะมีอายุยืนยาวนานต้องมีแก่นเหมือนศาสนาที่ดีต้องมีแก่นสารที่สามารถนำให้สัตว์โลกพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงได้ ยามที่สัตว์ทั้งหลายได้เห็นประตูทุกข์แล้วเมื่อใด นั่นหมายถึงปากทางหรืออริยสัจ๑   แห่งอริยสัจ ๔ นั่นเอง แต่ทุกข์นั้นเป็นผลที่อาศัยเกิดมาจากเหตุ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์นั้นจึงเป็นอริยสัจ๔ ตัวที่ ๒ ที่ผู้ปฏิบัติต้องพบด้วยตนเอง และเมื่อประกอบตนอยู่ในมรรคมีองค์ ๘ เมื่อใด มรรคเป็นอริยสัจ ตัวที่ ๓ เป็นเหตุที่โยคาวจร ต้องประกอบให้ถูกต้องให้บริบูรณ์ จึงจะเข้าสู่ ความดับทุกข์หรือนิโรธ ซึ่งเป็นอริยสัจ ตัวที่ ๔เป็นผลจาก มรรคสัจ ตัวที่ ๓ นั่นเอง
 วัดจึงเป็นสถานที่อยู่ของผู้มีศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา จนถึงขั้นอุทิศตนเองออกบวช และเป็นที่อยู่ของนักปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติตรง เป็นแบบอย่างแก่ชีวิตอื่น โดยอาศัยอาหารและบิณฑบาต จาก ญาติโยมที่อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา การถึงซึ่งความดับทุกข์หรือนิโรธนั้นไม่ได้เกิดจากการร่ำร้อง ยามที่ถูกความทุกข์เบียดเบียน ก็ไม่สามารถข้ามพ้นโดยวิธีอื่นๆ เรามักนิยมการดับทุกข์ชั่วคราวกัน เช่นกิน นอน ยืน เดิน นั่ง และอิริยาบถน้อยใหญ่ทั้งหลายที่ปิดบังทุกข์อยู่ ถ้าเราอยู่ในอิริยาบถใดนานๆ สภาพทุกข์ที่บีบคั้นที่จะแสดงออกมาให้รู้ทันที ถ้าพิจารณาบ่อยๆก็สามารถเกิดปัญญาได้ การพิจารณาโดยแยบคายนี้เรียกว่าการโยนิโสมนสิการ นั่นคือกระบวนการใช้ปัญญาพิจารณา การฝึกเจริญกรรมฐานนั้น เป็นการเริ่มต้นฝึกให้อินทรีย์ ๕ ให้แก่กล้าจนสามารถเห็นสภาวะทุกข์ได้ทันทีเรียกว่าปัจจุบันธรรม เป็นสิ่งที่สามารถรู้ได้โดยไม่ต้องเชื่อใครอีก เพราะไม่ว่าเราจะดับทุกข์ชั่วคราวอย่างไร ทุกข์ก็ยังแสดงอยู่ตลอดเวลา เพราะเหตุแห่งทุกข์ยังมีอยู่
        สติปัญญาอันน้อยนิดของเรา เริ่มเข้าใจบ้าง ในรสพระธรรม แต่กิเลส และมารอันหนา ทำให้เราเข้าใจได้ช้ามากขึ้น หลังจากนั้น ท่านพาเราขึ้น รถไฟฟ้า ท่านขับเคลื่อนเอง ขับไปรอบวัด พาไปชมสิ่งต่างๆ ในวัดอย่างน่าพิศวง  เราเข้าเรื่องต่างๆมากขึ้น สุดท้าย แม่ไน้ พาเราไปที่พระมหาเจดีย์ ที่แม่กำลังสร้างขึ้นมหกรรมการก่อสร้างขนาดยักษ์กำลังจะเกิดขึ้น ที่วัดปากอ่าง(อุทัยทอง)กำแพงเพชร
        ทันทีที่คุณอัญญา.....ศิษย์ที่ใกล้ชิดอุปัฏฐากตุ๊เจ้าเสือดาวจนถึงวาระสุดท้ายของท่านนั้นได้มีโอกาสปฏิบัติดูแลท่านมาโดยตลอด แม้จนกระทั่งเธอได้มีครอบครัวที่ดีไปแล้ว แต่ความรักบูชาตุ๊เจ้าเสือดาว ยังคงติดตาตรึงใจของเธอ ด้วยเหตุนี้เธอและสามี คุณประกิต จึงได้ซื้อที่แปลงหนึ่งซึ่งติดอยู่กับวัดในเวลานั้นไว้ โดยหวังว่าจะสร้างเจดีย์ถวายแก่ตุ๊เจ้าเสือดาว ต่อมาแม่ชีไนท์ต้องการที่ดินแปลงนั้น ด้วยเกรงว่าจะถูกพวกขุดลูกรังไปขายขุดมาถึงวัด จึงรับบริจาคที่ดินและพร้อมสัญญาว่าจะสร้างมหาเจดีย์ ภายในชั้นล่างเป็นอาคารขนาดใหญ่ที่สามารถใช้เป็นอาคารเอนกประสงค์ได้ ประเมินกันคร่าวๆว่า งานนี้ แม่ชีไน้ท์ต้องหาเงินจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาคมาสร้างเจดีย์แห่งนี้ประเมินตามแปลนที่ออกแบบไว้ คร่าวๆ หนึ่งร้อยล้าน....
ดังนั้นสาธุชนที่เป็นศิษย์ของแม่ไน้อย่าลืมระดมทุนสร้างบุญด้วยกัน อาจไปที่วัดโดยตรง คือวัดปากอ่าง(อุทัยทอง) หรือไม่สะดวกจะมาด้วยตนเอง ก็สามารถบริจาคผ่านธนาคารธนชาติ สาขากำแพงเพชร เลขที่บัญชี 526-200980-8 ชื่อบัญชี(เจดีย์) ประเภทบัญชี สะสมทรัพย์ สามารถโทรแจ้งเจ้าอาวาส 086-4412271 หรือเบอร์แม่ชีไนท์ 087-8429980



ของฝากจากใจ แม่ไน้ แช่มช้อย
 

๑. มีศีลเป็นรากแก้ว ไม่คลอนแคลน
๒. มีความอดทนเป็นทัพหน้า
๓. เอาความเพียรเป็นกองหนุน
๔. เอาสติปัญญาเป็นผู้ควบคุมดูแล เป็นทัพหลัง
เกิดมาถ้าไม่แก้ไข ก็เสียชาติที่เราเกิดมาเป็นคน
 

เราเกิดมาทุกวันนี้ ไม่รู้ตัวเลยกลัวแต่ผีมันหลอก
ไม่เคยรู้เลยว่า กิเลสมันหลอกอยู่ทุกวันทุกคืน
กิเลสน่ากลัวกว่าผีหลอก หลอกอย่างหน้าตาเฉย
ความจริงมันบอกว่าไม่จริงอยู่อย่างละเมอเพ้อฝัน
คิดแต่ว่าฉันไม่แก่ ฉันไม่เจ็บ ฉันไม่ตาย
ไม่เคยเห็นได้ตามความเป็นจริงเลย
ฉันเป็นคนทำบุญ แต่ฉันไม่เคยละบาป  
กายกรรมฉันไม่รู้ วจีกรรมก็ไม่รู้ มโนกรรมฉันไม่รู้
ไปที่ไหนก็เอาทิฐิมานะ หัวโขนมากัดกินใจตัวเอง
กัดตัวเองยังไม่พอ เอาไปกัดคนอื่นอีก
ไม่เคยรู้ได้ตามความ เป็นจริงเลย
 

เราพูดกันเสมอว่าเรารู้จักคนอื่น
ถ้าเราไม่รู้จักตัวเอง  เราอย่างหวังว่าจะรู้จักคนอื่นเลย
 

กิเลสมันเป็นอกาลิโก ไม่จำกัดกาล
กิเลสไม่เคยมี วันเสาร์ วันอาทิตย์
กิเลสมันไม่มีเวลาหลับนอน นอนก็ยังฝัน
หาแต่เรื่องมาทำร้ายใจตัวเอง
ตัวเรามองเราไม่ออก ไม่เคยรู้จักหันใจมาดูใจ
ดูออกแต่นอก ตัวเองหมด
 

ทำอย่างไรภาชนะ เราจะหงายได้
ลดความหลงลงเสียได้บ้าง
บางคนหลงจนไม่รู้  บางคนรู้จนหลง
 

คนโบราณพูดว่า มัวอยู่นั้นแหละ
คนมัว คือ คนใกล้จะมืด มืดตาใสใสนั้นแหละ
ถ้าตาไม่สว่าง ก็เหมือนปลาที่ใกล้จะตาย
เราจะเป็นปลาตาย หรือ จะเป็นปลาเป็น
 

นั่งอ่านหนังสือกับนั่งอ่านใจ อย่างไหนยากกว่ากัน
อ่านหนังสือเก่ง ก็สู้อ่านใจตัวเองเก่งไม่ได้
 
หลงอะไรก็ไม่เท่ากับหลงตัวเอง
 
เกิดก่อนรู้ หรือรู้ก่อนเกิด ถ้ารู้คงไม่เกิดที่เกิดคือไม่รู้
 
งานอะไร ไม่หนักเท่ากับงานละกิเลส
ทุกข์อะไรก็ไม่เท่ากับทุกข์ใจ
ใจเป็นของหนักที่สุดยิ่งกว่า หาบหามของหนัก
 

กิเลสของเราถ้ามีปัญญาเข้ามาซักฟอก ถึงจะเห็็นตามความเป็นจริงได้
 

คนเราไม่เคยเลยที่จะตื่นอยู่
ที่เราอยู่กันนี้อยู่อย่างอมทุกข์
ไม่เคยอยู่อย่างเห็นทุกข์
ทุกข์เป็นของทนได้ยาก
อยากจะสบายก็ต้องหยุดอยาก
หยุดอยากต้องใช้ปัญญาเห็นตามความเป็นจริง
เห็นตามความเป็นจริงไม่ใช่ความจำ
ถ้าความจำ คือ ความหลง
ความฉลาดไม่มีใครฉลาดเกิดคน
ความจนไม่มีใครจนเกินสุนัข
จนไม่พอแต่ยังอาภัพอีกด้วย
 

จะถอดถอนกิเลสต้องใช้สติปัญญา
หาอะไรก็ไม่ยากเท่าหาตัวตน
เพราะเราไม่เคยหาตัวเราเลย หาแต่คนอื่น
 

จะปราบกิเลสทุกประเภทต้องใช้สติปัญญา
ปฏิปทาจะใช้ได้ในระดับไหน
ก็ต้องตามภูมิปัญญาของตนเอง
ภูมิปัญญาหรือภูมิธรรมของคนไม่เท่ากัน
 

คิดก่อนทำหรือทำก่อนคิด
เราปฏิบัติต้องดูกาย ดูใจให้เป็น
ส่วนมากจะดูไม่เป็น
คำสอนของพระพุทธเจ้าก็มีอยู่
ครูบาอาจารย์ก็มีอยู่ หูตาเราก็มี
มัวทำอะไรกันอยู่ มันถึงไม่ซึมซับบ้างเลย
ฉันก็เป็นคนหนามาเหมือนกัน มาพากเพียรมากขึ้น
กิเลสมันก็ไม่หน้าด้านอยู่
เรานักปฏิบัติ ปฏิบัติเหมือน ทัพพีขวางหม้อแกง
ยิ่งปฏิบัติกิเลสมันก็ยิ่งพอกพูนมากขึ้น
กิเลสมันหน้าด้านขนาดไหน ยิ่งอยู่ ก็ยิ่งมาก
เอามาขวิดคนนั้น คนนี้ อยู่ไม่เป็นสุข มึงว่ากู กูว่ามึง
เป็นเหมือนคนชาวบ้าน มึงดีกว่ากู กูดีกว่ามึง
ไม่อายใจบ้าง นั่งที่ไหนก็นินทากันเอง
ไม่อายผ้าขาวที่เราใสบ้างเลย
ศีลว่ากันทุกวัน กรรมบถสิบว่ากันทุกวัน
ว่าแต่ไม่เอามาใช้บ้างเลย ว่าทำไม ไม่อายนกแก้วนกขุนทองบ้างหรือไง
 

ธรรมะคือธรรมชาติของใจ
เราไม่รู้จักใจ เราจึงไม่รู้ธรรมะ
ทุกอิริยาบถของกายและจิต
เราต้องมีสติรู้ทัน
นี่แหละการปฏิบัติตามดูให้ทัน ของไม่ยาก
จิตเราเหมือนหมาถูกน้ำร้อนลวก
จิตเหมือนหนู  รู้เหมือนแมว
เราจิตออกนอกตลอด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ใช่กิเลส
กิเลสอยู่ที่ใจ ถ้าเราไม่รู้จักใจ เราก็ไม่รู้จักกิเลสเรา
เราจะคอยใครช่วยเราอยู่
อยู่กันทุกวันคิดแต่ว่าบุญจะช่วย  
ถ้าเราไม่ช่วยตัวเอง บุญอยู่ที่ไหน
บุญอยู่ที่การกระทำทุกวันทุกคืน เราทำบุญหรือบาป
 

ธรรมะคือกายกับใจ เราตามดูกาย ดูใจ
เราถึงจะเกิดปัญญา จิตเรามันหลงอารมณ์
เรานี้คิดจนไม่รู้ จิตส่งออกดูไม่ทัน
เราปฏิบัติธรรม เราปฏิบัติธรรม คือ ปฏิบัติการงานของเรา
คือชีวิตประจำวัน ส่งออกให้รู้ทัน...
 

เรานักปฏิบัติถ้ายังละวางไม่ได้ก็อายนก นกมันกินผลไม้แล้วมันก็บินไป
มันไม่เคยหวงว่าเป็นของมัน อิ่มแล้วก็บินไป
คนเราน่าจะอายนก มีอะไรก็ว่าของกูอยู่นั่นแหละ
คนเราที่หลงมากที่สุดคือหลงคนที่เรารัก กับคนที่เราเกลียด
หลงความคิดตัวเองว่า ความคิดเป็นเรา เราเป็นความคิด
ใจเราถ้ารู้ไม่ทันใจ เราก็อยากอยู่นั่นแหละ
หลงกายหลงใจตัวเอง...
                                                                             สันติ อภัยราช
                                                                                 ๑๗ มิย ๕๕




« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 17, 2012, 01:33:55 pm โดย apairach » บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!