จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
มีนาคม 28, 2024, 04:51:12 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เล่าเรื่อง ?ท้าวแสนปม? 3 เรื่อง 3 แหล่ง สืบค้นโดยอาจารย์รุ่งเรือง สอนชู  (อ่าน 5866 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1410


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: มิถุนายน 13, 2012, 09:56:09 am »

เล่าเรื่อง ?ท้าวแสนปม?    3  เรื่อง   3  แหล่ง
สืบค้นโดยอาจารย์รุ่งเรือง  สอนชู
           


 เรื่อง ?ท้าวแสนปม?  เป็นเรื่องที่เล่าขานต่อเนื่องกันมาช้านาน  กล่าวถึงบุรุษผู้หนึ่งซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ของเมืองไตรตรึงษ์  ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมืองกำแพงเพชร             ในระยะแรก  ผู้เขียนรู้สึกแปลกใจ ที่พยายามจะศึกษาเรื่องราวของท้าวแสนปม  แต่ละคนที่ให้ความรู้ให้ข้อมูลแตกต่างกันออกไป ไม่เหมือนกัน   จึงได้พยายามสืบค้นจากเอกสารต่าง ๆ  จึงรู้ได้ว่าสาเหตุที่แตกต่างกันนั้น เกิดจากต้นเรื่องหรือข้อมูลของเรืองมาจากหลายแหล่ง    ซึ่งพอที่จะกล่าวถึงที่มาและเนื้อเรื่องดังนี้
1   ?ท้าวแสนปม? จากตำนานพื้นบ้าน
2   ?ท้าวแสนปม? จากพงศาวดาร
3   ?ท้าวแสนปม? จากบทละคร  
 ?ท้าวแสนปม?  จากตำนานพื้นบ้าน
            ประวัติเมืองไตรตรึงษ์  เป็นเอกสารขององค์การบริหารส่วนตำบลไตรตรึงษ์  ตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมืองกำแพงเพชร  จังหวัดกำแพงเพชร  ได้เล่าถึงตำนาน ?ท้าวแสนปม? ไว้ว่า
            ?นานมาแล้ว  มีชายผู้หนึ่ง  ถูกลอยแพมาติดที่เกาะขี้เหล็ก  ซึ่งอยู่ใต้เมืองกำแพงเพชร  ชายผู้นี้มีรูปร่างน่าเกลียดมีปุ่มปมขึ้นเต็มตัว  ชาวบ้านจึงเรียกเขาว่า  แสนปม  และเรียกเกาะขี้เหล็กว่า เกาะปม ตามชื่อแสนปม
            แสนปมทำไร่ ปลูกพริก ปลูกมะเขืออยู่ที่เกาะปมนี้ และมีมะเขือต้นหนึ่ง อยู่หน้ากระท่อม มีผลใหญ่มาก เพาระแสนปมปัสสาวะรดทุกวัน  วันหนึ่งพระราชธิดาของเจ้าเมืองไตรตรึงษ์ เสด็จประพาสที่เกาะปม ทอดพระเนตรเห็นผลมะเขือ ก็นึกอยากเสวย  จึงรับสั่งให้นางสนมไปขอเจ้าของมะเขือ ที่อยู่หน้ากระท่อมให้นางสนมไปถวาย  หลังจากพระราชธิดาเสวยผลมะเขือไปไม่นาน ก็ทรงครรภ์  เจ้าเมืองไตรตรึงษ์ทรงพิโรธมาก  เพราะพระราชธิดาไม่สามารถบอกได้ว่าใครเป็นพ่อ นอกจากเสวยมะเขือของแสนปมเท่านั้น  ต่อมาพระราชธิดาทรงมีประสูติกาลเป็นพระโอรส  จนเจริญวัยน่ารัก  เจ้าเมืองจึงรับสั่งให้เสนา ป่าวประกาศให้ผู้ชายทุกคนมาเสี่ยงทายเป็นบิดาของพระราชโอรส  ว่าถ้าผู้ใดเป็นบิดาขอให้พระราชโอรสคลานเข้าไปหา   บรรดาผู้ชายทุกคนไม่ว่า หนุ่ม แก่  ยาจก  หรือเศรษฐี  ยกเว้นแสนปมคนเดียว  ต่างพากันมาเสี่ยงทายเป็นบิดาของพระราชโอรส  แต่พระราชโอรสไม่ได้คลานเข้าไปหาใครเลย  แม้จะใช้ของล่อใจอย่างไรก็ตาม  เจ้าเมืองแปลกพระทัย  จึงให้เสนาไปตามนายแสนปม ซึ่งยังไม่ได้มาเสี่ยงทายในครั้งนี้ให้มาเข้าเฝ้า  พร้อมทั้งถือข้าวเย็นมา 1  ก้อน  เมื่อมาถึงจึงอธิษฐาน และยื่นก้อนข้าวเย็นให้  พระราชโอรสก็คลานเข้ามาหา  เจ้าเมืองจึงยกราชธิดาให้แก่แสนปมและให้กลับไปอยู่ที่เกาะปม
              วันหนึ่งแสนปมไปทอดแหที่คลองขมิ้น  แต่ทอดแหครั้งใดก็ได้แต่ขมิ้นจนเต็มลำเรือ  แสนปมแปลกใจมาก  เมือกลับมาถึงบ้าน ขมิ้นก็กลายเป็นทองคำ  แสนปมจึงนำทองคำไปทำเป็นเปลให้ลูก  และตั้งชื่อลูกว่า อู่ทอง?
 ?ท้าแสนปม? จากพงศาวดาร
              จากเรื่องเทศนาจุลยุทธการวงศ์  โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส(สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)   ในหนังสือประชุมพงศาวดาร  ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 1  หน้า  189-191 ได้ทรงเทศนาเรื่อง ท้าวแสนปมไว้ดังนี้
                 ? บัดนี้จะได้รับพระราชทานถวายพระสัทธรรมเทศนา ในจุลยุทธการวงศ์ สำแดงเรื่องลำดับโบราณกษัตริย์ในสยามประเทศนี้  อันบุพพาจารย์รจนาไว้ว่า
                  กาลเมื่อพระเจ้าเชียงรายพ่ายแพ้ยุทธสงครามแต่พระยาสตองเสียพระนคร  พาประชา
ราษฎรชาวเมืองเชียงราย  ปลาสนาการมาสู่แว่นแคว้นสยามประเทศ ถึงราวป่าใกล้เมืองกำแพงเพชร  ด้วยบุญญานุภาพแห่งพระองค์  สมเด็จอมรินทร์ทราธิราชนิมิตพระกายเป็นดาบสมาประดิษฐานอยู่ตรงหน้าช้างพระที่นั่ง  ตรัสบอกให้ตั้งพระนครในที่นี้เป็นชัยมงคลสถาน  บรมกษัตริย์ก็ให้สร้างพระนครลงในที่นั้น  จึงให้นามชื่อว่าเมืองไตรตรึงษ์  พระองค์เสวยไอศุริยสมบัติอยู่ในพระนครนั้นตราบเท่าทิวงคต  พระราชโอรสนัดดาครองสมบัติสืบๆ กันมาถึงสี่ชั่วกษัตริย์
                  ครั้งนั้นยังมีบุรุษผู้หนึ่ง เป็นปุ่มปมไปทั้งร่างกาย  ทำไร่ปลูกพริกมะเขืออยู่ในแดนพระนครนั้น  เก็บผลพริกมะเขือขายเลี้ยงชีวิต  แลมะเขือต้นหนึ่งอยู่ใกล้ห้าง  บุรุษนั้นไปถ่ายปัสสาวะลงที่ริมต้นนั้นเป็นนิจ  มะเขือนั้นออกผล  ผลหนึ่งใหญ่กว่ามะเขือทั้งปวง    พอพระราชธิดาไตรตรึงษ์มีพระทัยปรารถนาจะเสวยผลมะเขือ  จึงให้ทาสีไปซื้อ  ก็ได้ผลใหญ่นั้นมาเสวย  นางก็ทรงครรภ์  ทราบถึงพระราชบิดาตรัสไต่ถาม  ก็ไม่ได้ความว่าคบหาสมัครสังวาสกับบุรุษใด  ต่อมาพระธิดาประสูติพระราชกุมาร  พระรูปโฉมงามประกอบด้วยลักษณะอันบริบูรณ์  พระญาติทั้งหลายบำรุงเลี้ยงพระราชกุมารจนโตขึ้น  ประมาณพระชนม์สองสามขวบ  สมเด็จพระอัยกาปรารถนาจะทดลองเสี่ยงทายแสวงหาบิดาพระราชกุมาร  จึงให้ตีกลองป่าวร้องบุรุษชาวเมืองทั้งหมด  ให้ถือขนมหรือผลไม้ติดมือมาทุกคน  มาพร้อมกันที่หน้าพระลาน  ทรงพระอธิษฐานว่าถ้าบุรุษผู้ใดเป็นบิดาของทารกนั้น  ขอจงทารกนี้รับเอาสิ่งของในมือแห่งบุรุษนั้นมาบริโภค  แล้วให้อุ้มกุมารนั้นออกไปให้ทุกคนรับรู้  บุรุษกายปมนั้นได้แต่ก้อนข้าวเย็นถือมาก้อนหนึ่ง  พระราชกุมารนั้นก็เข้ากอดเอาคอ  แล้วรับเอาก้อนข้าวมาบริโภค  ชนทั้งปวงเห็นก็พิศวงชวนกันกล่าวติเตียนต่าง ๆ  สมเด็จพระบรมกษัตริย์ก็ละอายพระทัย  ได้ความอัปยศ  จึงพระราชทานพระราชธิดาและพระนัดดาให้แก่บุรุษแสนปมให้ใส่แพลอยไปถึงที่ไร่มะเขือไกลจากพระนครทางวันหนึ่ง  บุรุษแสนปมก็พาบุตรภริยาขึ้นสู่ไร่อันเป็นที่อยู่  ด้วยอานุภาพแห่งชนทั้งสาม  บันดาลให้สมเด็จอมรินทริราช  นิมิตกายเป็นวานรนำทิพยเภรีมาส่งให้นายแสนปมนั้น  แล้วตรัสบอกว่า  ท่านจะปรารถนาสิ่งใดจงตีเภรีนี้  อาจให้สำเร็จที่ความปรารถนาทั้งสิ้น  บุรุษแสนปมปรารถนาจะให้รูปงามจึงตีกลองนั้นเข้า อันว่าปมเปาทั้งปวงก็อันตรธานหาย  รูปชายนั้นก็งามบริสุทธิ์  จึงนำเอากลองนั้นกลับมาสู่ที่สำนัก  แล้วบอกเหตุแก่ภริยา  ส่วนพระนางนั้นก็กอร์ปด้วยปิติโสมนัส  จึงตีกลองนิมิตทอง ให้ช่างกระทำอู่ทองให้พระราชโอรสไสยาสน์  เหตุดังนั้นพระราชกุมารจึงได้พระนามปรากฏว่าเจ้าอู่ทองจำเดิมแต่นั้นมา  เมื่อจุลศักราชล่วงได้ 681 ปี  บิดาแห่งเจ้าอู่ทองราชกุมาร  จึงประหารซึ่งทิพยเภรีนิมิตเป็นพระนครขึ้นใหม่ที่นั้น  ให้นามชื่อว่าเทพนคร มีมหาชนทั้งปวงชวนกันมาอาศัยอยู่ในพระนครนั้นเป็นอันมาก  พระองค์ก็ได้เสวยไอศุรียสมบัติเมืองเทพนคร  ทรงพระนามกรชื่อพระเจ้าศิริไชยเชียงแสน  เมือจุลศักราชล่วงได้ 706  ปี  พระเจ้าศิริไชยเชียงแสนเสด็จดับขันธ์ทิวงคต  กลองทิพย์นั้นก็อันตรฐานหาย  สมเด็จพระเจ้าอู่ทองราชโอรสได้เสวยราชสมบัติแทนพระราชบิดาได้  6  พระวัสสา  ทรงพระปรารภจะสร้างพระนครใหม่  จึงให้ราชบุรุษให้เที่ยวแสวงหาภูมาประเทศที่มีพรรณมัจฉาชาติบริบูรณ์ครบทุกสิ่ง  ราชบุรุษเที่ยวหามาโดยทักษิณทิศ ถีงประเทศที่หนองโสน กอรปด้วยพรรณมัจฉาชาติพร้อมบริบูรณ์  สมเด็จบรมกษัตริย์ทรงทราบ  จึงยกจตุรงค์โยธาประชาราษฎรทั้งปวง  มาสร้างพระนครลงในประเทศที่นั้นในกาลเมือจุลศักราชล่วงได้  712  ปี  ให้นามบัญญัติชื่อว่ากรุงเทพมหานครนามหนึ่ง  ตามนามพระนครเดิมแห่งพระราชบิดา  ให้ชื่อว่าทวาราวดี  นามหนึ่ง  เหตุมีคงคาล้อมรอบเป็นของเขตดุจเมืองทวาราวดี  ให้ชื่อศรีอยุธยานามหนึ่ง  เหตุเป็นที่อยู่แห่งชนชราทั้งสอง  อันชื่อยายศรีอายุและตาอุทะยาเป็นสามีภริยากัน  อาศัยอยู่ในที่นั้น  ประกอบพร้อมด้วยนามทั้งสามจึงเรียกว่า  กรุงเทพหานคร บวรทวาราวดี  ศรีอยุธยา
                 สมเด็จพระเจ้าอู่ทองได้ราชาภิเษก เสวยสวริยาธิปัตย์ถวัลยราท  ณ  กรุงเทพมหานคร  ทรงพระนามสมเด็จพระรามาธิบดี  และวันเมื่อราชาภิเษกนั้น  ได้สังข์ทักษิณาวรรต  ณ  ภายใต้ต้นไม้หมันในพระนคร  เมื่อแรกได้ราชสมบัตินั้นพระชนม์ได้  37  พระวัสสา  แล้วให้พระบรมราชาธิราชผู้เป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ ตรัสเรียกว่าพระเชษฐาธิราชไปปกครองสมบัติ  ณ  เมืองสุพรรณบุรี  ให้พระนามพระราเมศวรกุมารไปผ่านสมบัติ ณ เมืองลพบุรี
                
              

               ครั้งนั้นมีเมืองประเทศราชขึ้นแก่กรุงเทพมหานคร 16  เมือง คือ เมืองมะละกา  เมืองชะวา
เมืองตะนาวสี  เมืองนครศรีธรรมราช  เมืองทวาย  เมืองเมาะตะมะ  เมืองเมาะลำเลิง  เมืองสงขลา  เมืองจันทบูร  เมืองพระพิศนุโลกย์  เมืองสุโขทัย  เมืองพิไชย  เมืองพิจิตร  เมืองสวารรคโลกย์  เมืองกำแพงเพชร  เมืองนครสวรรค์
                 พระองค์ทรงสร้างพุไทยสวรรค์ยาวาศวิหารและรัตนะวนาวาศรีวิหาร คือวัดป่าแก้ว  พระสถิตอยู่ในราชสมบัติ  20  พระวัสสาก็เสด็จทิวงคต ?
?ท้าวแสนปม? จากบทละคร
                 บทละครเรื่อง ?ท้าวแสนปม?  เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  เป็นคำกลอนบทละคร  ซึ่งเนื้อเรื่องจากบทละครนั้น ในหนังสือ  วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา กำแพงเพชร  หน้า  160  ได้อธิบายไว้เป็นร้ยยแก้วดังข้อความต่อไปนี้
                 ?เจ้านครไตรตรึงษ์องค์นี้มีธิดานามว่าอุษา  มีรูปโฉมงดงามร่ำลือไปถึงศิริชัยเชียงแสน  เจ้าชายชินเสนซึ่งเป็นโอรสได้ยินข่าวก็หลงรักนาง  แต่เนื่องจากทั้งสองเมืองนี้เป็นอริกันมาก่อน  เจ้าชายชินเสนจึงปลอมตนเป็นชายอัปลักษณ์  เนื้อตัวมีปุ่มปมขึ้นเต็มไปหมด  แล้วเข้าไปขออาศัยอยู่กับตายายที่เฝ้าอุทยานท้ายวังนครไตรตรึงษ์ได้ชื่อเรียกว่า ?แสนปม?  วันหนึ่งนางอุษาออกมาชมสวน  แสนปมแอบดูนางนางแล้วเกิดความรัก  จึงนำผักที่ปลูกไว้ไปถวาย  เมื่อนางอุษาเห็นแสนปมก็นึกรักเช่นเดียวกัน  จึงให้พี่เลี้ยงนำหมากไปให้เป็นของตอบแทน  แสนปมได้สลักมะเขือเป็นสารเกี้ยวพารานาสีนางแล้วส่งไปถวายอีก  นางอุษาก็ตอบสารในที่รับรักใส่ในห่อหมากแล้วฝากมาให้แก่แสนปม  แสนปมจึงทราบว่านางก็รักตนเช่นเดียวกัน  คืนหนึ่งแสนปมลอบเข้าไปหานางในวัง  แล้วทั้งสองก็ได้อยู่ร่วมกันโดยไม่มีใครทราบเรื่องจนกระทั่ง
นางอุษาตั้งครรภ์
                   ต่อมาแสนปมได้ทราบข่าวว่าพระเจ้าศิริชัยเชียงแสนประชวรหนัก  จึงเดินทางกลับบ้านเมืองโดยไม่ทราบว่านางอุษาตั้งครรภ์  เวลาผ่านไปนางอุษาให้กำเนิดกุมารหน้าตาน่ารัก  ยังความทุกข์ใจมาให้แก่เจ้านครไตรตรึงษ์ยิ่งนัก  เพราะนางอุษาไม่ยอมบอกความจริง  เจ้านครไตรตรึงษ์จึงหาวิธีที่จะให้รู้แน่ว่าใครเป็นบิดาของกุมาร  จงป่าวประกาศให้เจ้าเมืองต่างๆ รวมทั้งทวยราษฎร์มาพร้อมกันที่หน้าพระลานพร้อมทั้งให้นำขนมนมเนยติดมือมาด้วย  ถ้ากุมารรับขนมจากมือผู้ใดก็ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นบิดาของกุมารและจะได้อภิเษกกับนางอุษา พระชินเสนได้ข่าวก็เตรียมรี้พลมา  ตั้งพระทัยจะอภิเษกกับนางอุษาให้ได้  แล้วปลอมตัวเป็นแสนปมพร้อมทั้งนำข้าวเย็นมาก้อนหนึ่งเพื่อให้กุมารเลือก  ครั้นถึงเวลาที่กำหนดจึงให้กุมารเลือกขนมจากบรรดาผู้ที่นำมา  ปรากฏว่ากุมารรับข้าวเย็นจากแสนปมไปเคี้ยวกินอย่างเอร็ดอร่อย  ท้าวไตรตรึงษ์รู้สึกอับอายอย่างมาก  ด้วยความโกรธจึงขับไล่นางอุษาออกจากเมืองโดยทันที  แสนปมจึงแสดงตนให้รู้ว่าตนเองคือพระชินเสน  แล้วพานางอุษาและกุมารเดินทางกลับอาณาจักรชัยเชียงแสนและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
?ท้าวแสนปม? ได้สร้างกษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา
               ?ท้าวแสนปม?  จากเรื่องเทศนาจุลยุทธการวงศ์  โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ถือว่าเป็นหลักฐานที่สำคัญซึ่งนักประวัติศาสตร์นำไปสืบค้นถึงพระราชประวัติของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) ว่าประสูติที่เมืองไตรตรึงษ์  มีพระราชมารดาเป็นธิดาของเมืองไตรตรึงษ์เชื้อสายกษัตริย์เชียงราย  ส่วนพระราชบิดานั้นมีพระนามว่า ?ท้าวแสนปม?หรือ ?ศิริไชยเชียงแสน? ซี่งจนบัดนี้นักประวัติศาสตร์ก็ยังไม่สามารถกล่าวได้ว่ามีเชื้อสายมาจากที่ใด   นอกจากนี้แล้วในเนื้อหาได้กล่าวไว้อย่างถูกต้องว่ามีการสร้างเมืองเทพนคร        ภาพถ่ายแสดงที่ตั้งเมืองโบราณไตรตรึงษ์และเมืองโบราณเทพนคร
ตรงข้ามเมืองไตรตรึงษ์
อ้างอิง
 
 คณะกรรมการดำเนินการจัดทำหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา                      
                  จังหวัดกำแพงเพชร,   วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา        
                  จังหวัดกำแพงเพชร .กรมศิลปากร,2544      
คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี, ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนา
                    ภิเษก เล่ม 1. กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, 2542.
องค์การบริหารส่วนตำบลไตรตรึงษ์,ประวัติเมืองไตรตรึงษ์.เอกสารแผ่นพับ


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 13, 2012, 10:06:45 am โดย apairach » บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!