จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
เมษายน 25, 2024, 05:16:06 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: คำเพิ่มเติมอธิบายรูป นิราศชากังราว ของคุณสมบัติ โฆษิตานนท์ ( โบราณสถานสำคัญของเมืองกำแพง  (อ่าน 3422 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1414


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 19, 2012, 11:16:12 am »

คำเพิ่มเติมอธิบายรูป นิราศชากังราว ของคุณสมบัติ โฆษิตานนท์

ชากังราว       ชื่อเดิม แต่โบราณ ของเมืองกำแพงเพชร  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ทรง มีพระราชวินิฉัยว่า
                         ในหนังสือพระราชพงศาวดารมีเรื่องเกี่ยวกับเมืองชากังราวหลายแห่ง ในตอนแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชนี้ เป็นอย่างมาก แต่ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ยังออกชื่อเสียงชากังราวลงไปถึงแผ่นดิน สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบแผนที่เข้ากับเรื่องที่มาใน พระราชพงศาวดารเห็นว่า เมืองชากังราวจะเป็นเมืองอื่น นอกจากเมืองกำแพงเพชรทุกวันนี้ไม่ได้ และได้พบหลักฐานประกอบในพระราชกฤษฎีกาของ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ เรียกชื่อเมือง "ชาดงราว" กำแพงเพชรควบไว้ดังนี้ (คำว่า ชาดงราว นั้นเชื่อได้แน่ว่า ผู้คัดลอกเขียนผิดมาจาก ชากังราวนั่นเอง)

 วัดพระแก้ว  ตั้งอยู่กลางเมืองกำแพงเพชร เป็นวัดที่สำคัญอยู่ติดกับบริเวณวัง เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ที่ จังหวัดอยุธยาครับหรือวัดมหาธาตุ กลางเมืองสุโขทัย กำแพงวัดเป็นศิลาแลงกลมทั้งท่อนสูงประมาณเมตร เศษ แผนผังของวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนานไปกับกำแพงเมือง กำแพงวัดขาดเป็นตอน ๆ สิ่งก่อสร้าง ภายในใช้ศิลาแลงเป็นส่วนใหญ่ ตรงกลางของวัดมีพระเจดีย์กลมแบบลังกาองค์ใหญ่เป็นประธาน ฐานสี่ เหลี่ยมที่ฐานทำเป็นซุ้มคูหาโดยรอบมีสิงห์ยืนอยู่ในคูหา แต่ชำรุดหมด วัดพระแก้วนี้หลังจากขุดแต่งแล้วปรากฏ ว่า พบฐานเจดีย์แบบต่าง ๆ กันรวม 35 ฐาน วิหารใหญ่และเล็ก 8 วิหาร ฐานโบสถ์ 3 แห่ง ซึ่งแสดงว่าเป็นวัด ใหญ่ และสำคัญมากมาก่อน

วัดพระธาตุ  ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของวัดพระแก้ว มีพระเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมเป็นประธาน ล้อมรอบด้วยระเบียบคด ที่เชื่อมต่อกับวิหารด้านทิศตะวันออก ที่สองข้างวิหารมีเจดีย์รายอยู่ข้างละ ๑ องค์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบ อยู่ด้านหน้า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร

วังโบราณ (สระมน)เป็นสระรูปสี่เหลี่ยมกว้างประมาณ ๑๖ เมตร รอบสระมีคันดินคูน้ำล้อมรอบ จากการขุดค้นที่บริเวณนี้ พบเศษกระเบื้องมุงหลังคา เครื่องมือเครื่องใช้ และเครื่องประดับ เชื่อกันว่าเป็นราชวังโบราณ ของเมืองกำแพงเพชร



ศาลพระอิศวร ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังศาลจังหวัดกำแพงเพชร เป็นฐานก่อด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมยกพื้นสูง 1.5 เมตร มีบันไดขึ้นด้านหน้า บนฐานชุกชีอยู่เป็นที่ตั้งของเทวรูปพระอิศวรสัมฤทธิ์ ซึ่งจําลองขึ้นในสมัยที่นายเชาวนวัศ สุดลาภา เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เทวรูป พระอิศวรองค์จริงปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกําแพงเพชร รูปพระอิศวรนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวเยอรมันมาเที่ยว เมืองกําแพงเพชร ได้ลักลอบตัดเศียรและพระหัตถส่งลงเรือมากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2429 เจ้าเมืองกําแพงเพชรได้บอกเข้ามายังกรุงเทพฯจึงโปรดฯ ให้ขอพระเศียรและพระหัตถ์คืน และได้ทรงสร้างพระอิศวรจําลองประทานใหม่ ซึ่งปัจจุบันตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์กรุงเบอร์ลิน มีองค์เดียวในโลก ที่ฐาน มีจารึก เรื่องราวของกำแพงเพชรในอดีต อย่างชัดเจน

เขตอรัญญิก บริเวณนอกเมืองทางด้านทิศเหนือ มีกลุ่มวัดโบราณขนาดใหญ่น้อยประมาณ 40 แห่ง สร้างอยู่บนเนินเขาลูกรังขนาดย่อม จัดเป็นเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร โบราณสถานสำคัญ ได้แก่ วัดพระนอน วัดป่ามืด วัดพระสี่อิริยาบถ วัดฆ้องชัย วัดนาคเจ็ดเศียร วัดสิงห์ วัดกำแพงงาม วัดเตาหม้อ วัดช้างรอบ และวัดอาวาสใหญ่ กลุ่มโบราณสถานเขตอรัญญิกนับเป็นงานสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของเมืองกำแพงเพชร ด้วยโบราณสถานสร้างรวมกลุ่มหนาแน่นในบริเวณพื้นที่ติดต่อเป็นผืนเดียวกัน โบราณสถานมีขนาดใหญ่โตอลังการใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง และมีความงดงามทางศิลปกรรมของสกุลช่างเมืองกำแพงเพชรควบคู่กันไป เป็นอรัญญิกที่เต็มไปด้วยป่าไม้ที่งดงาม ราวกับในอดึต


วัดพระนอนมีกำแพงศิลาแลงปักล้อมรอบวัดไว้ทั้ง ๔ ด้าน ด้านหน้าวัดมีบ่อน้ำสี่เหลี่ยม มีห้องอาบน้ำและศาลาน้ำ ฐานและเสาเป็นศิลาแลง มีทางเท้าปูด้วยศิลาแลง มีโบสถ์ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหน้า ด้านหลังเป็นวิหารพระนอน ก่อสร้างด้วยเสาศิลาแลงขนาดใหญ่ หลักฐานทางประติมากรรมที่พบ คือ ใบเสมารูปเทพพนม พาลีกับทรพี สันนิษฐานว่าสลักขึ้นในสมัยอยุธยา มีเสาศิลาแลงที่ใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ที่วัดพระนอนแห่งนี้


วัดพระสี่อิริยาบถวัดนี้มีบ่อน้ำและที่อาบน้ำอยู่หน้าวัดเช่นเดียวกับวัดพระนอน กำแพงเป็นศิลาแลงปักตั้งล้อม ๔ ด้าน ด้านหน้าวัดมีวิหารขนาดใหญ่ยกฐานสูง ๒ เมตร มีเสาลูกกรง เป็นศิลาแลงเหลี่ยม และมีทับหลังบนมุขหน้าวิหาร สิ่งสำคัญของวัดได้แก่ มณฑปจตุรมุข แต่ละทิศประดิษฐาน พระพุทธรูป ๔ ปาง คือ เดิน นั่ง ยืน และนอน อยู่โดยรอบทั้ง ๔ ทิศตามลำดับ ปัจจุบันเหลือเพียง พระยืนขนาดใหญ่ที่สวยงาม พระพักตร์เป็นลักษณะพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย แบบกำแพงเพชรคือ พระนลาฏกว้าง และพระหนุเสี้ยม เดิมเรียกกันว่าวัดพระยืน  เป็นที่ใหญ่และงดงามที่สุด


วัดพระสิงห์ถัดจากวัดพระสี่อิริยาบถไปทางทิศเหนือประมาณ ๑๐๐ เมตร สันนิษฐานว่าใช้เวลาสร้างถึง ๒ สมัย คือ สมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา ผังรวมของวัดแบ่งเขตพุทธาวาส ให้อยู่ในกลุ่มกลาง ล้อมรอบด้วยเขตสังฆาวาส หรือกุฏิสงฆ์ โดยมีพระเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมมีซุ้มทั้ง ๔ ด้าน เป็นประธาน ด้านหน้าเป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่ ยกฐานประทักษิณสูง บนฐานประทักษิณนี้ประดิษฐานพัทธสีมา ไว้ทั้งแปดทิศ มุขด้านหน้าของฐานประทักษิณ มีรูปสิงห์รูปนาคประดับ ที่สำคัญมีรูปของเทวสตรี ประดับอย่างสวยงาม และแปลกกว่าวัดอื่นๆ

วัดช้างรอบเป็นวัดที่สร้างบนยอดเนิน มีพระเจดีย์ทรงลังกา ซึ่งยอดหักพังหมดแล้ว มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน ที่ชั้นฐานลานประทักษิณ ประดับด้วยช้างทรงเครื่องครึ่งตัว จำนวน ๖๘ เชือก ระหว่างช้างแต่ละเชือก มีภาพปั้นรูปลายพรรณพฤกษา ในพระพุทธศาสนา เช่น ต้นโพธิ์ และต้นสาละ เป็นต้น  ในสมัยโบราณ มีอุโมงค์ จากฐาน ขึ้นไปถึงคอระฆัง อาจหมายถึงให้กษัตริย์หรือเจ้าเมืองเสด้จ ภายในอุโมงค์ เพื่อขึ้น นมัสการ


วัดป่าแลง? พื้นที่ของวัดประมาณ ๒๑,๗๐๐ ตารางเมตร ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างสำคัญ ได้แก่ เจดีย์ประธานทรงระฆังฐานแปดเหลี่ยม วิหาร ๒ หลัง เจดีย์ราย ๙ องค์ บ่อน้ำ ๕ บ่อน้ำ บ่อศิลาแลง ๒ บ่อ มีลานปูลาดด้วยศิลาแลง สันนิษฐานตามลักษณะสถาปัตยกรรมว่า สร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙

วัดมณฑป เป็นวัดขนาดเล็ก ที่อยู่ริมถนนทางทิศตะวันออกของวัดหมาผี ภายในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2478 ประกอบด้วยโบราณสถานที่สำคัญคือ มณฑปยอดเจดีย์ ซึ่งเป็นประธานของวัด มีวิหารขนาดปานกลางอยู่ด้านหน้า มีกำแพงล้อมโดยรอบปัจจุบันเหลือเพียง 3 ด้าน มีบ่อน้ำอยู่หน้าวัด วัสดุหลักในการสร้างวัดคือศิลาแลง ผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เหมือนวัดทั่วไปในเขตอรัญญิก


วัดอาวาสใหญ่เป็นวัดขนาดใหญ่วัดหนึ่งในกลุ่มโบราณสถานของอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร สิ่งปลูกสร้างส่วนใหญ่ใช้ศิลาแลง ด้านหน้าวัด มีบ่อน้ำขนาดใหญ่เรียกว่า บ่อสามแสน ผังโบราณสถานจัดวางได้อย่างสวยงาม เป็นเอกลักษณ์ของวัดอาวาสใหญ่ โบราณสถานภายในวัดประกอบด้วยพระเจดีย์ราย อยู่ส่วนหน้าสุดของวัด ขนาบเบื้องซ้ายและเบื้องขวาของพระวิหารประธาน ตั้งอยู่บนฐานไพทีรูปฉาก มีพระเจดีย์ ข้างละแปดองค์ แต่ละฐานมีลักษณะแตกต่างกันไป
พระวิหารประธาน อยู่ส่วนหน้าของวัด ระหว่างฐานพระเจดีย์รายทั้งสอง ตั้งอยู่บนฐานทักษิณรูปสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ มีบันไดทางขึ้นทั้งสามด้าน หน้ากระดานฐานประดับด้วยบัวลูกแก้วอกไก่ ส่วนบนฐานโดยรอบประดับด้วยราวกันตกศิลาแลง

บ่อสามแสนเป็นบ่อศิลาแลง ขนาดใหญ่มหึมา ชาวกำแพงเพชรเรียกขานกันว่า บ่อสามแสน โดยมีตำนานว่าน้ำในบ่อมีจำนวนมาก แม้คนสามแสนคนใช้ดื่มกินก็ไม่มีวันหมด จึงเรียกชื่อตามบ่อสามแสน อยู่หน้าอุทยานประวัติศาสตร์ กำแพงเพชรเป็นสิ่งมหัศจรรย์ สิ่งหนึ่งของกำแพงเพชร คือมีน้ำตลอดทั้งปี โดยไม่มีท่อต่อมาจากแหล่งอื่น

ป้อมทุ่งเศรษฐี ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของเมืองนครชุม บริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ใกล้ วัดซุ้มกอ เป็นป้อมปราการรูปสี่เหลี่ยม ใช้ในการป้องกันการรุกรานจากข้าศึก โดยอยู่บริเวณหัวมุมกำแพง มีช่องเข้าออกที่บริเวณกึ่งกลางกำแพงทั้งสี่ด้าน สร้างด้วยก้อนศิลาแลง แข็งแกร่งดังชื่อกำแพงเพชร กำแพงก่อเป็นผนังสูงส่วนบนเป็นใบเสมา ใต้ใบเสมาเจาะช่องเพื่อใช้ในการตรวจดูข้าศึกและเป็นช่องปืนไปในตัว ด้านในกำแพงก่อเชิงเทินตลอดแนวเพื่อใช้เดินตรวจตรา ส่วนล่างของกำแพงด้านในก่อเป็นช่องกุด ส่วนบนของกุดก่อเป็นยอดแหลม คล้ายช่องหน้าต่าง ตำหนักกำมะเลียน วัดกุฎีดาว จ.อยุธยา ปัจจุบันกำแพงเหลืออยู่เพียงบางส่วน โดยบางส่วนนั้นได้ถูกรื้อออกเพื่อนำไปถมตลิ่งหน้าวัดพระบรมธาตุเจดียาราม เมื่อครั้งบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ ป้อมทุ่งเศรษฐีนี้ยังเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีการค้นพบพระเครื่องที่มีชื่อเสียง จากการขุดค้นไม่พบสิ่งก่อสร้างภายในป้อมแห่งนี้ แสดงว่าเป็นป้อมรับศึกจริงๆ


วัดพระบรมธาตุ ตั้งอยู่กลางเมืองนครชุม เป็นเจดีย์ที่พญาลิไทเสด็จมาสถาปนาและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๐ เดิมเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้างบิณฑ์ 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ต่อมาพ่อค้าไม้ชาวกะเหรี่ยงได้ปฏิสังขรณ์เป็นเจดีย์แบบมอญ ต้นกำเนิด ประเพณี นบพระเล่นเพลง มีประวัติ ที่พิสดารมาก เชื่อกันว่าศักดิ์สิทธิ์นัก ใครได้มานบพระบรมธาตุแห่งนี้ มีผล อานิสงส์ราวกับนบ พระพุทธเจ้าด้วยตนเอง

วัดซุ้มกอ อยู่ในเขตอรัญญิกบริเวณทุ่งเศรษฐี บริเวณตรงกันข้ามกับสถานีขนส่งจังหวัดกำแพงเพชร ประกอบด้วยป้อมทุ่งเศรษฐี วัดหนองพิกุล วัดหนองลังกา วัดหนองพุทรา วัดหนองยายช่วย วัดหม่องกาเล และวัดเจดีย์กลางทุ่ง .....วัดซุ้มกอ ที่เรียกว่าวัดซุ้มกอเพราะ พบพระเครื่อง ที่วงการพระเครื่องเรียกกันว่า พระซุ้มกอ ทุกพิมพ์ คือพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก และพิมพ์คะแนน จำนวนมากที่วัดนี้....
          เนื่องจาก วัดซุ้มกอ มีพระซุ้มกอ ที่มีชื่อเสียง เป็นหนึ่งในเบญจภาคี สุดยอดแห่งจักรพรรดิ์พระเครื่อง ทำให้โบราณสถานและโบราณวัตถุ ในบริเวณวัดซุ้มกอถูกทำลายจนหมดสิ้น ที่พบ ก่อนการบูรณะคือเนินดิน ที่เป็นเจดีย์ทรงลังกา และเนินวิหารขนาดเล็ก มีเจดีย์ราย รอบเจดีย์ใหญ่ แต่ไม่เหลือแม้กระทั่งซาก พระเครื่อง พระบูชา พระพุทธรูป ถูกขนย้ายไปจากบริเวณวัดซุ้มกอทั้งหมด
รอบๆวัด มีคูน้ำล้อมรอบ เป็นลักษณะ อุทกสีมา ตามคตินิยมแบบลังกา วัดบริเวณนี้ทั้งหมด มีอุทกสีมาเหมือนกันทั้งหมด ยืนยันได้ว่าสร้าง ในสมัยใกล้เคียงกัน


วัดหนองลังกา     บริเวณอรัญญิกเมืองนครชุม ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมือง ห่างจากแนวกำแพงเมืองที่ถูกทำลายไปแล้วโดยสิ้นเชิงออกไปประมาณ 500 เมตร กลุ่มวัดในเขตอรัญญิกเมืองนครชุมแตกต่างจากกลุ่มวัดในเขตอรัญญิกเมืองกำแพงเพชร คือส่วนใหญ่นิยมสร้างด้วยอิฐ ขนาดสิ่งก่อสร้างไม่ใหญ่โตมากนัก วัดที่สำคัญ เช่น วัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดหนองพิกุล วัดซุ้มกอ วัดหม่องกาเล และวัดหนองยายช่วย รูปแบบทางสถาปัตยกรรม เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 19 หรือสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท เสด็จมาเมืองนครชุม
        แผนผังของวัด การวางผังวัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีเจดีย์หรือมณฑป เป็นประธานวัด ด้านหน้าเจดีย์เป็นวิหาร แต่สภาพของที่ตั้งวัดอยู่ในที่ลุ่มต่ำ จึงมีการขุดคูเป็นขอบเขตวัด เพื่อนำดินจากการขุดคูไปปรับถมที่บริเวณวัดให้สูงขึ้น และเป็นคูน้ำเพื่อกักเก็บน้ำในฤดูแล้งด้วย วัดหนองลังกา เป็นวัดขนาดใหญ่ที่สุด ในเขตอรัญญิกเมืองนครชุม ตั้งอยู่นอกเมืองทางทิศใต้ แผนผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีคูน้ำล้อมรอบ 4 ด้าน อันเป็นลักษณะแบบอุทกสีมา ของพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ ที่นิยมแพร่หลายในช่วงสุโขทัยเจดีย์ประธาน เป็นลักษณะเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆัง ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้ว ลักษณะองค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียงเตี้ยๆ ฐานล่างทำเป็นซุ้มยื่นมาทั้ง 4 ด้าน มีพระพุทธรูป อยู่ประจำทิศ แต่ถูกขุดค้นทำลายจนสิ้นซาก ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดาน สี่เหลี่ยมและฐานบัวลูกแก้วอกไก่ หรือฐานปัทม์สี่เหลี่ยม ซ้อนลดหลั่นกันไป ชั้นมาลัยเถามีลักษณะเป็นแบบชั้นบัวคว่ำและบัวหงายซ้อนกันอยู่ 3 ชั้น รองรับองค์ระฆังที่ มีขนาดงดงาม สมบูรณ์ เหมาะสม และสวยงามยิ่งนัก บัลลังก์เป็นฐานปัทม์ สี่เหลี่ยม ส่วนท้องไม้ประดับด้วยลูกแก้วอกไก่ ถัดจากบัลลังก์ขึ้นไปเป็นแกนปล้องไฉน ซึ่งประดับลูกแก้วอกไก่ 2 แถว แล้วเป็นบัวฝาละมี ปล้องไฉน ปลียอด เจดีย์ทรงระฆังวัดหนองลังกา รูปทรงสูงชะลูด หรือเพรียวสมส่วน มีสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่พบ ในเมืองนครชุม

วัดเจดีย์กลางทุ่ง เดิมชื่อวัดอะไร ไม่ปรากฏหลักฐาน เดิมเห็นแต่ มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่กลางทุ่งนา จึงเรียกขานกันว่าวัดเจดีย์กลางทุ่ง ลักษณะของวัดเจดีย์กลางทุ่ง น่าจะสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 18- 19 ในสมัยสุโขทัยเรืองอำนาจ มีคูน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบ ทั้งสี่ด้านที่เรียกกันว่า อุทกสีมา ภายในอุทกสีมา มีวิหารขนาดใหญ่ ลักษณะค่อนข้างแปลก เกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และอยู่ต่ำกว่าปกติ ด้านหลังมีเจดีย์ประธาน ที่เป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ขนาดใหญ่ ที่ค่อนข้างสมบูรณ์และสมส่วน สร้างด้วยอิฐที่ได้จากดินเหนียวบริเวณทุ่งเศรษฐี ลานประทักษิณรอบๆเจดีย์ มีขนาดกว้างมาก ทำ ศาสนพิธี ได้อย่างสะดวกสบาย มีฐานเขียงสี่เหลี่ยม ซ้อนกันลดหลั่นอย่างสวยงาม รับฐานบัวแก้วและอกไก่ ส่วนยอดสุดหักตกลงมาไม่เห็นมีหลักฐาน นับว่าเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ขนาดใหญ่ ที่งดงามมาก เป็นสัญลักษณ์ของเมืองนครชุมเลยทีเดียว

วัดหม่องกาเล ดิมชื่อวัดใดไม่ปรากฏชัดเจน ชาวบ้านเมืองนครชุมเรียกตาม ภูมินามที่พบเห็นเช่นเห็นเจดีย์ อยู่กลางทุ่ง ก็เรียกวัดเจดีย์กลางทุ่ง อยู่ในบริเวณนาของยายช่วย ก็เรียกว่า วัดหนองยายช่วย วัดหม่องกาเล เช่นเดียวกัน สันนิษฐานว่า บริเวณที่ค้นพบวัด อยู่ในที่จับจอง ของชาวพม่า ที่ชื่อหม่องกาเล ซึ่งสืบหาลูกหลานของท่านไม่ได้ รู้แต่ว่าหลังจากหม่องกาเล ที่บริเวณนั้น เป็นที่ครอบครองของตาหมอหร่อง ตาหมอหร่อง มีลูกเขยชื่อนายจันทร์ ได้ครอบครองที่ดินบริเวณนี้ต่อมา และได้ขายที่ดินทั้งหมดให้ ผู้อื่น?.ปัจจุบันยังสวยงามมาก

งานนบพระเล่นเพลงจังหวัดกําแพงเพชรมีงานประเพณีประจําปี ซึ่งเป็นที่รู้จัก และสร้างชื่อเสียงให้แก่จังหวัดคือ งานนบพระ-เล่นเพลง งานนี้จัดขึ้นในระหว่างวันมาฆบูชา หรือวันเพ็ญเดือนสาม ซึ่งจะเป็นช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ เป็นการฟื้นฟูงานประเพณีดั้งเดิมตามหลักฐานในศิลาจารึกเมืองพระชุม หรือ เมืองนครชุม ซึ่งกล่าวถึงการจัดขบวนแห่ไปนับพระมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ลักษณะการจัดงานในปัจจุบันจะมีการตกแต่ง ริ้วขบวนอย่างสวยงาม โดยมีผู้เข้าร่วมขบวนแต่งการแบบโบราณแล้วเคลื่อนขบวนข้ามแม่น้ำปิงไปนมัสการพระบรมธาตุเจดีย์ที่ฝั่งนครชุมมีการแสดงมหรสพ ศิลปวัฒนธรรมไทย และการออกร้านของ ส่วนราชการ นับว่าน่าท่องเที่ยวมาก

ทอดผ้าป่าแถว...การทอดผ้าป่า เป็นประเพณีในพระพุทธศาสนา มาช้านาน เนื่องจากพระภิกษุมีจำนวนมากขึ้นทำให้เครื่องนุ่งห่มของพระไม่เพียงพอ ที่จะเก็บมาจากป่า ซึ่งแต่เดิมในสมัยพุทธกาล พระภิกษุผู้สันโดษในการนุ่งห่ม ได้เก็บเศษผ้าที่ทิ้งไว้หรือผ้าที่ห่อซากศพของมนุษย์ มาตัดเย็บเป็นจีวร และได้อาศัยเปลือกไม้ย้อมฝาด กลายเป็นผ้ากาสาวพัตร์ ....ในสมัยต่อมา ประชาชนเห็นว่าพระภิกษุ ไม่สามารถหาผ้าจากป่ามาทำจีวรได้อย่างเพียงพอกับจำนวนของภิกษุ จึงได้นำผ้าซึ่งตัดเย็บแล้วไปไว้ในป่า พาดไว้ตามกิ่งไม้ จึงเรียกกันว่าผ้าป่า .......พระ.ภิกษุได้อาศัยผ้าจากป่าเหล่านี้ ทำเป็นจีวรนุ่งห่มสืบมา
          ......ที่จังหวัดกำแพงเพชร มีการทอดผ้าป่า เหมือนกับที่อื่นๆในประเทศไทย คือวันเพ็ญเดือนสิบสอง หลังจากออกพรรษาแล้ว ก่อนที่จะมีการลอยกระทง ที่ท่าน้ำวัดบาง ประชาชนจะไปรวมกันที่วัดบางเพื่อทอดผ้าป่าพระภิกษุทั้งสามวัด คือวัดคูยาง วัดบางและวัดเสด็จ จะมารวมกันที่วัดบาง มีประชาชนมาเป็นจำนวนมาก เมื่อมีการทอดผ้าป่า พระภิกษุต้องใช้เวลานานกว่าจะหาต้นผ้าป่าที่ท่านจับสลากได้พบ นับเป็นการโกลาหล ขึ้นทุกปี ..
          .......หลังจากเกิดปัญหา การทอดผ้าป่าและการชักผ้าป่าเกิดขึ้น ทำให้ประชาชนและพระภิกษุพากันคิดวิธีใหม่คือจัดให้ผ้าป่าให้เป็นแถว เรียงเป็นระยะตรงไป ตามจำนวนของผู้มาทำบุญทอดผ้าป่า จึงทำให้พระภิกษุและประชาชน พบกันและหาผ้าป่าที่จับสลากได้ง่ายขึ้น...จึงกลายเป็นประเพณีสืบมาจนทุกวันนี้ เรียกกันว่าผ้าป่าแถวในที่สุด ไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่าการทอดผ้าป่าแถวในกำแพงเพชรเริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยใด นานเท่าใดแล้ว แต่เนื่องจากประชาชนในกำแพงเพชร มีจำนวนมากที่มาทำบุญทอดผ้าป่าจึงมีภูมิปัญญาในการจัดการ ทอดผ้าป่าแถว ขึ้น

งานเดือนสิบสารทไทยงานสารทไทยกล้วยไข่เมืองกําแพง เป็นการจัดงานเฉลิมฉลองวันสาร์ทไทยในวันขึ้น 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ
ของเดือนกันยายนทุกปี และมีจุดมุ่งหมายที่จะเผยแพร่กล้วยไข่ ซึ่งเป็นผลไม้พื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของจังหวัดในงานนี้จะมีการประกวด และจําหน่ายกล้วยไข่ การแข่งขันกวนกระยาสาร์ท งานนิทรรศการ ทางการเกษตร การออกร้านจําหน่ายสินค้าและการแสดงมหรสพ ต่างๆ

บ่อน้ำพุร้อนพระร่วง (บึงสาป) ตั้งอยู่ที่หมู่ 3 ตำบลลานดอกไม้ อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร โดยสามารถเดินทางได้ 2 เส้นทาง
- เส้นทางแรก ถนนสายกำแพงเพชร - สุโขทัย ห่างจากตัวเมืองกำแพงเพชรระยะทางประมาณ 18 กิโลเมตร และแยกซ้ายมือไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตร รวมระยะทาง 25 กิโลเมตร
- เส้นทางที่สอง ถนนสายหนองปลิง - ท่าไม้แดง โดยทางแยกเข้าบ่อน้ำพุร้อนห่างจากตัวเมืองกำแพงเพชร ระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร และแยกขวามือไปอีก 5 กิโลเมตร รวมระยะทาง 26 กิโลเมตร
ลักษณะทั่วไป
เป็นบ่อน้ำพุร้อนผุดขึ้นจากใต้ดิน จำนวน 5 จุด ในพื้นที่ประมาณ 15 ไร่ มีความร้อนประมาณ 40 - 65 องศาเซลเซียส เป็นที่โจษขานว่า หากใครได้อาบหรือดื่มกินจะรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้เช่น โรคผิวหนัง โรคปวดเมื่อย ฯลฯ นอกจากนี้ยังเชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ สามารถนำกลับไปเพื่อเป็นสิริมงคลยังบ้านเรือน ดังจะเห็นได้จากในวโรกาสรัฐพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์อันศักดิ์สิทธิ์เพื่อทูลเกล้าฯ ในพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2530 ได้มีการนำน้ำจากบ่อน้ำพุร้อนพระร่วงไปเข้าพิธี ดังกล่าวร่วมกับน้ำศักดิ์สิทธิ์จากจังหวัดต่างๆทั้ง 76 จังหวัด ณ.พระวิหารหลวง วัดสุทัศน์เทพวราราม กรุงเทพฯ ถือเป็นการยืนยันความสำคัญของบ่อน้ำพุร้อนพระร่วงได้เป็นอย่างดี เชื่อว่า พระร่วงเจ้าสาปไว้ ให้ร้อน จีงเรียกขานกันแต่โบราณว่าบึงสาป

จาการตรวจสอบของกระทรวงสาธารณสุขปรากฏว่า ไม่มีสารปนเปื้อนและเชื้อโรคอันตรายเกินมาตรฐานแต่อย่างใด สามารถใช้บริโภค และอุปโภคได้ ไม่มีกลิ่นกำมะถัน

หัตถกรรมหินอ่อน  แหล่งหินอ่อนที่สำคัญในจังหวัดกำแพงเพชร อยู่ที่อำเภอพรานกระต่าย บริเวณทิวเขา สว่างอารมณ์ เขาเขียว และเขาโทน ในทางธรณีวิทยา จัดว่าหินอ่อนที่เขาสว่างอารมณ์ มีอายุประมาณ 300 ? 400 ล้านปี เป็นหินปูนที่ตกผลึกใหม่อาจเรียกว่า หินอ่อนในแง่การค้า เขาสว่างอารมณ์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของตลาดพรานกระต่าย ลักษณะเป็นภูเขายอดแหลม มีผาชันเช่นเช่นเดียวกับหินปูนทั่วไป ประกอบด้วยหินปูนตกผลึกใหม่ โดยทั่วไปมีชั้นหนาสีขาว สีเทาอ่อน สีเทาแก่ปานกลาง ชั้นหินทั้งหมดหนาประมาณ 150 เมตร ในปัจจุบัน รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการทำเหมืองหินอ่อน ในจังหวัดกำแพงเพชร โดยการให้สัมปทาน การทำเหมืองหินอ่อน ในเขตเขาโทน อันเป็นภูเขาลูกหนึ่ง ในทิวเขาสว่าง ให้ประทาน บัตร ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2524 หินอ่อนที่เขาโทนมีคุณสมบัติเด่น คือผิวเป็นมัน มีสีเทาและขาว อมชมพู ที่พรานกระต่าย มีหัตถกรรมหินอ่อนจำนวนมาก มีฝึมือดี ส่งขายไปทั่วโลก นำรายได้มาสู่กำแพงเพชร มากมาย

ดลองลานมีน้ำตกคลองลาน เกิดจากเทือกเขาขุนคลองลาน ซึ่งมียอดสูง 1,439 เมตร จากระดับน้ำทะเล เหนือหน้าผาน้ำตกเป็นที่ราบกว้าง ในฤดูฝนสายน้ำจะไหลจากลำห้วยต่าง ๆ ประมาณ 5 สาย ลงสู่แอ่งน้ำกลางหุบเขา เกิดเป็นวังน้ำลึกและลำน้ำยาวประมาณ 3 กิโลเมตร แล้วไหลผ่านหน้าผาลงมาเป็นน้ำตกคลองลาน สูง 100 เมตร กว้างประมาณ 40 เมตร
และน้ำตกคลองน้ำไหลหรือน้ำตกปางควาย ห่างจากที่ทำการประมาณ 25 กิโลเมตร จากเส้นทางสายอุ้มผาง-คลองลาน ก่อนถึงอำเภอคลองลาน มีทางแยกด้านขวาเข้าสู่น้ำตก เรียกว่า ?ถนนปางควาย? ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร ถึงน้ำตกคลองน้ำไหล ซึ่งมีทั้งหมด 9 ชั้น แต่ละชั้นมี แอ่งน้ำและความสูงต่างกัน ลานหินที่นี่กว้างมากเป็นสีนิลวาววับเมื่อตัดกับสายน้ำ ลำธารสวยด้วยโขดหินในชั้นที่ 3 น้ำตกจะแยกเป็น 2 สาย ดูสวยงามทางฝั่งขวาไหลลงสู่แอ่งน้ำกว้างประมาณ 3 เมตร เหมาะสำหรับการเล่นน้ำตก มีประชาชน มาพักผ่อนกันวันละจำนวนมาก


                                                                                             สันติ อภัยราช
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 19, 2012, 11:42:08 am โดย apairach » บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!