จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
เมษายน 16, 2024, 07:47:00 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ปีใหม่ไปไหว้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อเป็นศิริมงคลต่อตนเอง  (อ่าน 15503 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1410


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: ธันวาคม 25, 2011, 11:04:28 am »

  
ปีใหม่ไปไหว้  สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อเป็นศิริมงคลต่อตนเองและครอบครัว เป็นวันเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ดีงามกว่าเก่า /เริ่มต้นด้วยตนเอง/ไม่ต้องรอให้ใครบอก          

          1.ศาลหลักเมืองกำแพงเพชร
          2. วัดพระแก้ว
          3. ศาลพระอิศวร
          4. หลวงพ่อเพชร
          5. พระประธานวิหาร วัดคูยาง
          6. พระบรมสาริกธาตุ วัดพระบรมธาตุนครชุม
          7. วัดสว่างอารมณ์
          8. วัดวังพระธาตุ แห่งเมืองไตรตรึงษ์
          9. หลวงพ่อโต วัดปราสาท เมืองคณฑี
            10. พระกำแพงขาโต๊ะ วัดเสด็จ
            11. พระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชร
               12. เหรียญปลอดภัย


เจ้าพ่อหลักเมืองกำแพงเพชร




        เจ้าพ่อหลักเมือง  คือหลักใจของคนกำแพงเพชร เป็นที่พึ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจมาหลายชั่วอายุคน ผู้ใดลำบากเดือดร้อน ก็จะไปบนบานศาลกล่าว ขอให้เจ้าพ่อช่วยเหลือเหลือคุ้มครอง เจ้าพ่อหลักเมืองก็จักช่วยเหลือคุ้มครองทุกครั้ง  จนเป็นที่เลื่องลือ ไปทั่งบ้านทั่วเมืองแม้คนต่างจังหวัด ก็มาขอความช่วยเหลือจากเจ้าพ่อหลักเมืองกำแพงเพชร แม้ลำบากไกลแสนไกล ก็ดั้นด้นกันมาพึ่งบารมี เจ้าพ่อหลักเมืองซึ่งเป็น เทพคุ้มครองเมืองกำแพงเพชร มาทุกยุคทุกสมัย อันเป็นภูมิปัญญาของคนไทย ในสมัยโบราณในการสร้างบ้านแปงเมือง
ตามตำนานการสร้างหลักเมืองกำแพงเพชรหรือหลักเมืองของทุกเมือง  เล่ากันต่อๆมาว่า ก่อนสร้างหลักเมืองได้ขุดหลุมกลางใจเมือง ป่าวประกาศ หาคนชื่อ อิน จัน มั่น คง  เมื่อได้แล้วจึงมาไว้ที่ก้นหลุม และฝังเสาหลักเมืองลงทับร่างทั้งสี่  เพื่อให้เป็น ผีเฝ้าหลักเมือง เป็นเทพารักษ์ ประจำเมือง เป็นปีศาจคุ้มครองเมือง  เป็นประเพณี ในการก่อสร้างเมืองทุกเมืองมาโดยตลอด  นับว่าทั้งสี่ท่านคือ อิน จัน มั่น และคง  เป็นผู้เสียสละชีวิต เพื่อมาพิทักษ์บ้านเมืองของเรา กลายมาเป็นเจ้าพ่อหลักเมืองในที่สุด
เชื่อกันว่า เมืองกำแพงเพชรน่าจะสร้างพร้อมๆกับเมืองสุโขทัย และมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง ทางทิศใต้ของสุโขทัย  สังเกตได้จากแนวกำแพงสามชั้น ซึ่งเรียกว่า ตรีบูร เหมือนสุโขทัย หรือร่วมสมัยกันกับสุโขทัย
เจ้าพ่อหลักเมืองกำแพงเพชร สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย เดิมทำด้วยศิลาแลง  รูปกลมยาวประมาณ 2 เมตร  ฝังโผล่ขึ้นดินมาประมาณ  หนึ่งเมตรเศษ มีรูปเศียรเทพารักษ์ อยู่บนยอดศิลาแลง  เชื่อกันว่าคือเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองน่าจะร้าง เหมือนโบราณสถานทั่วไป     พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้น กำแพงเพชร ทรงบันทึกไว้ว่า   ออกจากวัด  ไปที่หลักเมือง ซึ่งอยู่มุมท้ายวัดอยู่ระหว่างวัดกับวังทรงบันทึกเมื่องวันที่ 23 สิงหาคม 2449 ไว้เพียงเท่านี้เอง
การบูรณะศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2472 หลวงมนตรี (หวาน) เป็นศาลาทรงไทย ในปี พ.ศ 2488 มีผู้ลักลอบ  ตัดเศียรเทพารักษ์ ไป  หลวงปริวรรตวรวิจิตร  ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ได้ขอให้นายฉกาจ กุลสุ ปั้นเศียรเทพารัก์ขึ้นใหม่  ด้วยดินจากยอดเขาที่สูงที่สุด ของเขาหลวง ดินใจกลางโบสถ์ ดินใจกลางเจดีย์ ทั้งใน กำแพงเพชร สุโขทัย  ศรีสัชนาลัย พิษณุโลก และตาก มาปั้นเป็นเศียรที่เห็นในปัจจุบัน
ในปีพ.ศ 2526 นายเชาววัศน์  สุดลาภา ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น ได้บูรณะอาคารใหม่ เฉลิมฉลองเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2527 ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
ในทุกวันก่อน ก่อนเวลา 11.00 น จะมีผู้มาแก้บน เป็นจำนวนมาก เจ้าพ่อหลักเมืองกำแพงเพชร จึงเป็นที่ยึดเนี่ยวจิตใจของคนกำแพงเพชร ใครเดือดร้อนเป็นทุกข์ก็มาหา มากราบไหว้ ขอพร  นับว่าเป็นภูมิปัญญา ที่ยิ่งใหญ่ของชาวไทย ในการผ่อนคลายความเดือดร้อน และให้จิตใจคลาย ความวิตกกังวล นับเป็นจิตวิทยาชั้นสูง ที่บรรพบุรุษ ของเราซ่อนไว้อย่างล้ำค่า น่าภูมิใจ ในความชาญฉลาดของบรรพบุรุษของเรายิ่งนัก
เจ้าพ่อหลักเมืองกำแพงเพชร คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของคนกำแพงเพชร เป็นที่เคารพรัก สักการบูชา มาตลอดหลายร้อยปี  เป็นเทพ ที่คอยดูแล ความเป็นอยู่ของชาวกำแพงเพชร คุ้มครองชาวกำแพงเพชรให้ปลอดภัยจากทุกสรรพสิ่ง   ไปชั่วนิจนิรันดร์
                                                              
                                                                                                             สันติ  อภัยราช

วัดพระแก้ว  พระแก้วมรกตกับเมืองกำแพงเพชร
   




พระพุทธรูปที่ทรงคุณค่าควรเมืองที่สุดในประเทศไทยคือ พระแก้วมรกต เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของไทยมาช้านาน .ตามตำนานกล่าวว่า...ผู้สร้างคือพระนาคเสนเถระ พระอรหันต์เจ้าแห่งประเทศอินเดีย ท่านต้องการบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองสืบไป จึงดำริที่สร้างพระพุทธรูปด้วยแก้วมณี เมื่อสร้างเสร็จได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ เจ็ดพระองค์ เข้าประดิษฐานในองค์พระแก้วมรกต พระแก้วมรกตเดิมประดิษฐานที่นครปาตลีบุตร แห่งประเทศอินเดีย ต่อมาเกิดสงครามประชาชนจึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปยังลังกาทวีป จากนั้นหลังปีพุทธศักราช 1000 พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่พระมหานครเอกราช แต่เกิดอุทกภัย ทำให้ประชาชนตายทั้งพระนคร...ต่อพระเจ้าอาทิตยราช แห่งอโยชยา ยกกองทัพมาตีชายแดนมหานครเอกราชจึงอัญเชิญมาไว้ที่
นครอโยชยา พระยาวิเชียรปราการแห่งเมืองกำแพงเพชร ได้มาอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชร...
..........จากตำนานพระแก้วมรกต ฉบับเจ้านันทเสน กล่าวถึงการเกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศเขมรพระเถระรูปหนึ่งได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานทางเหนือของนครอินทปัตถ์ พระเจ้าอติราชแห่งแค้วนสยามฝ่ายเหนือ คือนครศรีอยุธยา เกรงว่าพระแก้วมรกตจะเป็นอันตราย จึงยกกองทัพไปสืบหาพระแก้วมรกตแล้วอัญเชิญไปไว้ในพระนครศรีอยุธยา ประดิษฐานอยู่หลายชั่วกษัตริย์ ภายหลังเจ้าเมืองกำแพงเพชรเป็นพระญาติกับพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาไว้ที่กำแพงเพชรและถ้ามาอยู่ที่กำแพงเพชร พระพุทธเจ้าหลวงได้ตั้งข้อสังเกตในจดหมายเหตุประพาสต้นเมืองกำแพงเพชรไว้ว่า...ซึ่งยอมรับจะเรียกวัดพระแก้วได้นั้น เพราะเหตุที่มีตำนานว่า พระแก้วได้เคยมาอยู่ที่เมืองนี้ ถ้าหากว่าได้มาอยู่คงจะไม่ได้อยู่วัดอื่น คงอยู่วัดนี้แน่ .....ซึ่งหมายถึงวัดพระแก้วกลางเมืองกำแพงเพชรในปัจจุบัน.... และได้ถูกอัญเชิญไปไว้ที่เชียงรายและเชียงใหม่ตามลำดับ..
...พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีความเห็นว่า พระแก้วมรกตมีหลักฐานชัดเจนเมื่อ
คราวพบ ในเจดีย์ ณ วัดพระแก้วเมืองเชียงราย  ซึ่งเป็นวัดคู่เมืองเชียงรายมาแต่อดีตกาล ในปีพุทธศักราช 1977 ฟ้าได้ผ่าอยู่ด้านหลังของวัด ป่าเยี้ยะ (วัดป่าไผ่) พบพระพุทธรูปทำด้วยพระแก้วมรกต ลักษณะงดงามมาก เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว และเปลี่ยนชื่อวัดป่าเยี้ยะว่าวัด พระแก้วตั้งแต่นั้นมา
.....พระแก้วมรกตได้ไปอยู่ที่เขลางค์นคร ( เมืองลำปาง) 32 ปี แล้วนำไปไว้เชียงใหม่ ในสมัยพระเจ้า ติโลกราช จนมาถึงปลายราชวงศ์มังราย พระไชยเชษฐาได้เสด็จมาครองเมืองเชียงใหม่ ได้ไม่นานพระเจ้าโพธิสารพระราชบิดาที่เมืองหลวงพระบางสวรรคต พระไชยเชษฐาเสด็จกลับแล้วนำพระแก้วมรกตไปด้วย ไปไว้ที่หลวงพระบาง แต่เมื่อพระองค์เสด็จมาครองเมืองเวียงจันทน์ พระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่เวียงจันทน์ด้วย จนกระทั่งได้อัญเชิญมาไว้ที่กรุงธนบุรี และกรุงเทพใน
ปัจจุบัน....
เมื่อพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชรนั้น ..ต้องประดิษฐาน ณ วัดในกำแพงเมือง วัดประจำเมืองกำแพงเพชรคือวัดที่เรียกกันว่าวัดพระแก้ว เพราะเชื่อกันว่าถ้ามาอยู่กำแพงเพชร  ต้องอยู่ที่วัดนี้อย่างแน่นอน .... และประกอบกับที่วัดพระแก้วมีมณฑปขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนฐานบัวลูกฟัก ย่อมุม 28 ตั้งซ้อนกันอยู่ 2 ชั้น   ฐานชั้นล่างกว้างประมาณ 12 เมตร  สูงประมาณ 2 เมตร ตรงกลางด้านทิศตะวันออก ทำเป็นทางขึ้น ถัดจากนั้นเป็นฐานบัวลูกฟัก ย่อมุม 36 อีก 1 ชั้น แต่ชั้นนี้ไม่มีบันไดทางขึ้น ต่อไปเป็นฐานย่อมุม 28 กว้างประมาณ 8 เมตร รองรับตัวเรือนธาตุ ย่อมุมไม้ 12 มีประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้าน ภายในเป็นห้อง ที่สันนิษฐานว่า   น่าจะประดิษฐานพระแก้วมรกต.....พระแก้วมรกตประดิษฐานที่กำแพงเพชรระยะหนึ่ง....ทำให้เมืองกำแพงเพชรมีชื่อเสียง โด่งดังว่าเป็นเมืองสำคัญ...ในทางพระพุทธศาสนา...ทำให้หัวเมืองฝ่ายเหนือคิดจะแย่งชิงพระแก้วมรกตไปแต่ทำไม่สำเร็จ เพราะความแข็งแกร่งของเมืองกำแพงเพชร....
....เจ้านครเชียงราย ยกกองทัพใหญ่มีไพร่พล นับแสน  มากำแพงเพชร เพื่อทูลขอพระแก้วมรกต ไปเป็นขวัญพระนครเชียงราย ด้วยแสนยานุภาพที่เกรียงไกร กำแพงเพชรจึงให้พระแก้วมรกตไปด้วยความโศกเศร้าเสียดายของอาณาประชาราษฏร์ ....คงมีการแย่งชิงพระแก้วมรกตกันอีกหลายครั้งทำให้เจ้าผู้ครองนครเชียงราย นำพระแก้วมรกตไปซ่อนไว้ภายในพระเจดีย์ วัดป่าเยี้ยะ ทำให้พระแก้วมรกตหายสาบสูญไป จนกระทั่งเกิด ฟ้าผ่า พระเจดีย์ ทำให้พบพระแก้วมรกตอีกครั้ง .... เจ้าเมืองเชียงใหม่ตั้งใจจะอัญเชิญพระแก้วมรกตไปไว้ที่เชียงใหม่ แต่มาถึงกลางทางช้างที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตไม่ยอมเดิน แต่กลับมาที่เขลางค์นคร จึงมาประดิษฐานที่นครลำปาง ต่อมาพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ เชียงใหม่ ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตจาก ลำปางมาไว้ที่สถูปเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่ต่อมาพระเจ้าไชยเชษฐาได้อัญเชิญพระแก้วมรกต ไปไว้ที่นครหลวงพระบาง  และไปประดิษฐานที่เมืองเวียงจันทน์ในที่สุด .อยู่ในประเทศลาว เป็นเวลาประมาณ 200 ปี
   พระแก้วมรกต ได้รับการอาราธนาอีกครั้งหนึ่งในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี จากเมืองเวียงจันทน์  มายังพลับพลาที่วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) โดยพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขาว่า ได้อาราธนา จากเมืองเวียงจันทน์ ข้ามมายังเมืองพานพร้าว(น่าจะเป็นเมืองศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย) ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขงเดินทัพมาถึงเมืองสระบุรี  พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ เสด็จขึ้นไปรับพระแก้วมรกต ว่าเป็นขบวนเรือไปรับที่ท่าเจ้าสนุก หลังจากที่อัญเชิญมาทางบก แล้วทำพิธีสมโภช 3 วัน 3 คืน จึงอัญเชิญมาที่ท่าพระราชวังหลวง มาประทับแรมที่พระตำหนักบางธรณี ( วัดตำหนักใต้บางกระสอ นนทบุรี) และในที่สุดพระแก้วมรกต มาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน.....

                     สันติ อภัยราช

พระอิศวรเมืองกำแพงเพชร
   


      กำแพงเพชร มีเทวรูปศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครอง สัตว์สองตีนสี่ตีนในเมืองกำแพงเพชรมาช้านาน  สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นคือเทวรูปพระอิศวร    พระอิศวร คือเทพสูงสุดแห่งศาสนาพราหมณ์  เรียกกันว่าพระศิวะก็ได้ พระอิศวรเป็นเทพเจ้าที่มีอำนาจมากและดุร้าย จึงนับว่าเป็นเทพผู้สร้าง ผู้ทำลาย เป็นเทพที่มีลักษณะพิเศษ คือพระศอสีนิล พระองค์สีแดง มีพระเนตรที่ สาม  เมื่อลืมตาที่สามแล้วจะทำลายล้างโลกได้สิ้น   แล้วจึงสร้างใหม่  สิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของการเกิดคือ ศิวลึงค์ พระอิศวรมีพระมเหสี คือพระนางอุมาเทวี     พระอิศวร มีงูเป็นสังวาล กะโหลกศีรษะมนุษย์ร้อยเป็นสร้อยพระศอ  ทรงโคเผือก อุศุภราช  นุ่งหนังเสือ แบบพระฤาษี ทรงพระจันทร์เป็นปิ่นปักผม สถิต ณ เขาไกรลาส  เป็นที่เคารพบูชาของผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์ทั่วโลก
   พระอิศวร เมืองกำแพงเพชร สร้างเมื่อปีพุทธศักราช2053 หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ สูง 210 เซ็นติเมตร เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช เจ้าเมืองกำแพงเพชรเป็นผู้หล่อขึ้น ลักษณะของเทวรูปพระอิศวร เมืองกำแพงเพชร มีพระพักตร์ดุพระพักตร์ รูปสี่เหลี่ยม แสดงถึงพระราชอำนาจ มีพระมัสสุ (หนวด) มีเครา ปรากฏชัดเจน ลักษณะของผ้าทรงมีอิทธิพลของศิลปะเขมรสมัยปลาย  รัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กรองศอและสายรัดพระองค์มีอุบะสั้นๆ ห้อยประดับผ้าโจงกระเบนที่นุ่งสั้นมีชายผ้าเป็นสามเหลี่ยมห้อยอยู่ข้างหน้า  กรรเจียกหรือรัดเกล้าข้างพระเศียรเหนือพระกรรณ (หู)  ไม่เคยปรากฏในเทวรูปสมัยสุโขทัย
   พระอิศวรแต่เดิมประดิษฐานอยู่ บริเวณศาลพระอิศวร  เยื้องหลังที่ว่าการอำเภอเมืองในปัจจุบัน สภาพรกร้าง และถูกทำลายโดยสิ้นเชิง และถูกโจรกรรมไปเพื่อนำไปต่างประเทศ ในสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ติดตามคืนมาและนำไปไว้ที่กรุงเทพมหานครชั่วคราว ในที่สุดนำมาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชรในปัจจุบัน  ส่วนพระอิศวรที่ประดิษฐาน ณ ศาลพระอิศวร ที่เห็นทุกวันนี้  ได้หล่อขึ้นมาใหม่เพื่อให้เป็นอนุสรณ์ ที่ระลึก ณ ศาลพระอิศวร เมืองกำแพงเพชร เป็นองค์พระอิศวร แทนให้ประชาชนได้สัการะบูชา
   จากจารึกที่ฐานเทวรูปพระอิศวร พระองค์นี้ เรียกว่าจารึกหลักที่ 13 จารึกไว้ความตอนหนึ่งว่า เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ประดิษฐานพระอิศวรเป็นเจ้านี้ไว้ให้ครองสัตว์สี่ตีน สองตีนในเมืองกำแพงเพชร     จารึกฐานพระอิศวร  องค์นี้ ทำให้เราทราบถึงประวัติศาสตร์เมืองกำแพงเพชรได้อย่างชัดเจน ทำให้เราภูมิใจในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของเราที่บันทึกประวัติศาสตร์ ไว้บนฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือเทวรูปพระอิศวร  ทำให้จารึกสำคัญนี้ สามารถอยู่ได้มาถึงจนสมัยปัจจุบัน ประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จึงสว่างและชัดเจน ขึ้น ด้วยพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร นอกจากพระอิศวรจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองกำแพงเพชรแล้ว ยังเป็นหลักฐานสำคัญที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์เมืองกำแพงเพชรได้อย่างชัดเจนที่สุดเท่าที่เคยมีหลักฐานมา
   พระอิศวร เป็นเทวรูปที่ชาวกำแพงเพชร สักการะมาช้านาน สิ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองกำแพงเพชร ในทุกวันสงกรานต์ จะมีการบวงสรวงและสรงน้ำพระอิศวรทุกปี  เป็นอีกหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวกำแพงเพชรนับถือมากที่สุด มาหลายชั่วอายุคน พระอิศวรเมืองกำแพงเพชรที่คนกำแพงเพชร ไม่รู้ลืม
                     สันติ อภัยราช

หลวงพ่อเพชรวัดบาง พระพุทธรูปสัมฤทธิ์สมัยเชียงแสน
   

             จะมีใครสักกี่คน ที่ทราบว่าที่วัดบาง กลางเมืองกำแพงเพชร มีพระพุทธรูปสมัยเชียงแสน ที่หล่อด้วยสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ที่สุด เท่าที่พบในเมืองกำแพงเพชร เก่าแก่สมัยเชียงแสน ที่เรียกกันว่า สิงห์หนึ่ง ซึ่งนับว่าไม่ได้เห็นกันได้ง่ายนัก
   พระพุทธรูปสมัยเชียงแสนได้รับอิทธิพลมาจาก พระพุทธรูปของอินเดียแบบปาละ มีพุทธลักษณะที่อวบอ้วน พระพักตร์กลมสั้น  พระหนุ (หะนุ) หรือคาง เป็นปุ่มยื่น เม็ดพระศกเป็นก้นหอยขนาดใหญ่  พระอุระนูนใหญ่ จีวรบางแนบไปกับพระวรกาย  และที่สำคัญที่สุดคือ ชายสังฆาฏิพาดสั้นอยู่เหนือ ราวพระอุระ  ด้านซ้าย ประทับ ปางมารวิชัย  แบบขัดสมาธิเพชร งดงามมาก
   พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 2 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว  สูง 3 ศอก 1 คืบ สมัยเชียงแสน สิงห์หนึ่ง ที่พบในจังหวัดกำแพงเพชร คือหลวงพ่อเพชร ของวัดบาง จังหวัดกำแพงเพชร  มีอายุกว่า 800 ปี  ซึ่งอัญเชิญมาจากวัดตอม่อ ซึ่ง เป็นวัดเก่าโบราณ อยู่บริเวณตลาดศูนย์การค้า กลางเมืองกำแพงเพชร ในปัจจุบัน
   เมื่อประมาณ พุทธศักราช 2479  หลวงพ่อผิว พระธรรมาธิมุตมุนี เจ้าอาวาสวัดบาง เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร ในสมัยนั้น และหลวงพ่อภา พระครูวิธานวชิรศาสตร์   ได้ไปอัญเชิญหลวงพ่อเพชร มาจากวัดต่อม่อ  ซึ่งเป็นพระประธานในวิหารโบราณ มาไว้ในอุโบสถวัดบาง พร้อมกับหลวงพ่อสุโขทัย  แต่มิได้ ประชาสัมพันธ์ให้แพร่หลาย แต่ประการใด
   ปัจจุบันหลวงพ่อเพชร วัดบางประดิษฐานอยู่ ในวิหารของวัดบาง แต่เดิมมิได้เปิดให้ประชาชนสักการบูชา  หลังจากวันแม่ 12 สิงหาคม 2551 พระครูวิเชียรคุณโชติ ( ตุ่น คงประทีป)เจ้าอาวาสวัดบาง และประชาชนทั่วไป พากันขอให้เปิด สักการะ ดังนั้นชาวกำแพงเพชร และนักท่องเที่ยว จะได้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 9.00 น. ถึง 20.00 น. เพื่อชมบารมีของหลวงพ่อเพชร ของจังหวัดกำแพงเพชร พระพุทธรูปเก่าแก่ที่ศักดิ์สิทธิ์ ชาวกำแพงเพชร ภูมิใจที่จะได้นำเสนอ  เพื่อให้หลวงพ่อเพชร เป็นสัญลักษณ์ ของกำแพงเพชร   เพื่อให้ คล้ายพระพุทธชินราช เป็นสัญลักษณ์ ของจังหวัดพิษณุโลก
   จึงเชิญชวน ชาวกำแพงเพชร เข้าสักการบูชา หลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน ที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุด เท่าที่พบในกำแพงเพชร


                     


ประวัติวัดพระบรมธาตุ  พระอารามหลวง
สันติ  อภัยราช   เรียบเรียง                                                                                                        พระมหาจำเนียร  จิรวํโส   แก้ไขเพิ่มเติม




...พระยาลือไทยราช  ผู้เป็นลูกพระยาเลอไทย  เป็นหลานแก่พระยารามราช  เมื่อได้เสวยราชย์ในเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย   ได้ราชาภิเษกเป็นท้าวเป็นพระยาขึ้น   ชื่อศรีสุริยพงศ์มหาธรราชาธิราช  หากเอาพระศรีรัตนมหาธาตุอันนี้มาสถาปนาในเมืองนครชุมปีนี้นั้น  พระมหาธาตุอันนี้หาใช่ธาตุอันสามานต์ คือ พระธาตุแท้จริงแล้  เอาลูกแต่ลังกาทวีปพู้นมาดาย  เอาทั้งพืชพระศรีมหาโพธิ์อันพระพุทธเจ้าเราเสด็จอยู่ใต้ต้นและผจญขุนมาราธิราช  ได้ปราบแก่พระสัพพัญญุตญาณเป็นพระพุทธเจ้า  มาปลูกเบื้องหลังพระมหาธาตุนี้  ผิผู้ใดได้ไหว้นบกระทำบูชาพระศรีรัตนมหาธาตุและพระศรีมหาโพธิ์นี้ว่าไซร้  มีผลอานิสงค์พร่ำเสมอดังได้นบตนพระเป็นเจ้าบ้างแล้...
ข้อความจากจารึกนครชุมที่คัดมานี้ได้บอกถึงประวัติความเป็นมาของวัดพระบรมธาตุได้ชัดเจนทีสุด  เป็นวัดที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระศรีมหาโพธิ์  มีอายุเก่าแก่กว่า ๖๔๘ ปี คือ ตั้งแต่ พ.ศ. ๑๙๐๐  สมัยของพระมหาธรราชาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย
 

วัดพระบรมธาตุ    เป็นวัดที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับเมืองนครชุม  เป็นพระอารามหลวงประจำเมืองเหมือนกับวัดพระแก้ว  เป็นพระอารามหลวงประจำเมืองกำแพงเพชร  วัดพระบรมธาตุขึ้นทะเบียนเป็นวัด เมื่อ พ.ศ. ๑๘๕๘ ในสมัยต้นกรุงสุโขทัย  เมื่อตีความจากจารึกนครชุม  วัดพระบรมธาตุควรจะสร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๗๖๒ ในสมัยของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์   เจดีย์มหาธาตุเมืองนครชุมเดิมมี ๓ องค์  ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน  สันนิษฐานว่าสร้างโดยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์  พ่อขุนรามคำแหงมหาราช  และพระมหาธรรมราชาลิไท  สร้างเป็นพุทธเจดีย์ประจำรัชกาล
วัดพระบรมธาตุ  เจริญรุ่งเรืองมากว่า ๒๐๐ ปี    จนกระทั่งเมืองนครชุมถึงภาวะล่มสลายตามกฎแห่งอนิจจัง  เพราะแม่น้ำปิงกัดเซาะแนวกำแพงเมืองพังพินาศ  ความเจริญทางพุทธจักรและอาณาจักรได้สูญสิ้นไปจากเมืองนครชุม  เมืองฝั่งตรงข้ามทางทิศตะวันออก คือ เมืองกำแพงเพชร  ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่  วัดพระบรมธาตุสร้างมานานกว่า ๓๐๐ ปี  จนกระทั่งถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์  วัดพระบรมธาตุจึงมีหลักฐานที่ชัดเจนอีกครั้ง   จากหนังสือพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ เมื่อเดือนสิงหาคม  พ.ศ. ๒๔๔๙  ณ เมืองกำแพงเพชร  ความว่า
ใน พ.ศ. ๒๓๙๒ สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) แห่งวัดระฆังโฆษิตาราม    ได้เสด็จมาเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชร  พักที่วัดเสด็จ   ได้อ่านจารึกนครชุม  ที่ประดิษฐาน ณ อุโบสถวัดเสด็จ  ตำบลในเมือง  อำเภอเมือง  จังหวัดกำแพงเพชร   ได้ทราบว่ามีเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตกตรงข้ามเมืองเก่าสามองค์  
  
จึงได้ให้เจ้าเมืองกำแพงเพชร พระยารามรณรงค์สงคราม (น้อย)  ได้ป่าวร้องให้ประชาชนแผ้วถาง  พบพระเจดีย์ตามจารึกจริง  และปฏิสังขรณ์ขึ้น
ในปี พ.ศ. ๒๔๑๔ แซภอ (แซงพอ หรือพระยาตะก่า)  พ่อค้าไม้ชาวกะเหรี่ยงมีใจศรัทธาจะบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์วัดพระบรมธาตุ นครชุม  พระยากำแพงเพชร  เจ้าเมืองได้ทำหนังสือขออนุญาตลงมาที่กรุงเทพ  ทางกรุงเทพจึงตอบอนุโมทนาและอนุญาตให้ซ่อมแซมได้  ดังปรากฏสำเนาสารตราจากสมุหนายก  ซึ่งรับผิดชอบกำกับดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือ  ดังนี้
สารตราพระยาจักรีองครักษ์สมุหนายก  อัครมหาเสนาบดี  อภัยพิริยปรากรพาหุมาถึงพระยาจ่าแสนเสนาบดี  ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือ
พระยากำแพงเพชร  มีใบบอกลงไปว่า
...แซภอ...เข้ามาทำหนังสือสัญญาขอทำไม้ของสัก ณ ป่าคลองสวนหมาก  คลองวังเจ้า  คลองประกัง  แขวงเมืองกำแพงเพชร  ได้ผลประโยชน์มาก   แซภอ มีใจศรัทธาอยากจะสร้างพระเจดีย์ก่อสวมพระเจดีย์เก่าที่วัดพระบรมธาตุ  หน้าเมืองกำแพงเพชร  ฝั่งตะวันตก   แซภอได้จ้างราษฎรทำอิฐเก้าหมื่น  สิ้นเงิน ๔๔ ชั่ง ๗ ตำลึง ๒ บาท  จะก่อสวมพระเจดีย์เก่าลงทั้งสามองค์  กว้าง ๑๖ วา  ยาว ๑๕ วา  ชักเป็น ๔ เหลี่ยม มีมุข ๔ ด้าน  แล้วจะก่อเจดีย์บนมุขด้านละองค์  ขอพระราชทานที่ดินก่อกำแพงรอบพระเจดีย์  หนาสามศอก  สูงสี่ศอก  ห่างพระเจดีย์ออกไปอีก ๑๐ วา  จะเอาช่างเมืองนอกมาก่อ  จะลงมือกระทุ้งราก ณ เดือนหก ข้างขึ้น ปีวอก จัตวาศก   แต่รูปพระเจดีย์เก่าที่ชำรุดหักพังนั้นได้นำแผนที่ถ่ายตัวอย่างให้ข้าหลวงชำนาญภาษาลงไปนั้นได้แจ้งตามบอกแล้ว  จึงให้พระราชเสนาปลัดทูลฉลองมหาดไทยฝ่ายเหนือบอกเสนอท่านเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงศ์  ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน  ท่านเจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุหนายก  ได้ปรึกษาพร้อมกันเห็นว่า   แซภอ  กะเหรี่ยงมาทำป่าไม้ขอนสักแขวงเมืองกำแพงเพชร  มีทุนรอนมาก  มีใจศรัทธาที่จะสถาปนาพระเจดีย์เก่า  ทำมุขก่อกำแพงสวมพระเจดีย์ธาตุนั้น  เป็นกองการกุศลของ แซภอ  ต่อไปในพระพุทธศาสนาจะได้เป็นที่สักการบูชาต่อไป
                        
ต่อมา พ.ศ. ๒๔๑๘ แซภอถึงแก่กรรม  การปฏิสังขรณ์ชะงักไป   จนถึง  พ.ศ. ๒๔๔๘-๒๔๔๙  พะโป้  จึงรวบรวมทุนทรัพย์ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่จนสำเร็จ  และยกยอดฉัตรขึ้นประดิษฐานในเพ็ญเดือน ๖  พ.ศ. ๒๔๔๙  ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชรเพียง ๓ เดือน  พระองค์ทรงมีพระราชหัตถเลขาบันทึกไว้ว่า
พระเจดีย์นี้ทาสีเหลือง  มีลายปูนขาว  แลดูในน้ำงามดี
พะโป้ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลถวายพระราชกุศล  เล่ารายละเอียดในการบูรณะว่า
ข้าพระพุทธเจ้า  นายร้อยพะโป้  ผัว   ทองย้อย  ภรรยา    ข้าพระพุทธเจ้าชาติกะเหรี่ยง  คนในบังคับอังกฤษ  แต่ทองย้อยภรรยาเป็นคนสยาม  ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลคลองสวนหมาก  ท้องที่อำเภอเมือง  แขวงเมืองกำแพงเพชร  ขอถวายรายงานทูลเกล้าถวายพระราชกุศลการปฏิสังขรณ์วัดพระบรมธาตุ  ยื่นต่อ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงดำลงราชานุภาพ  เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย  ขอฝ่าพระบาทตรวจดู  เห็นไม่มีโทษแล้วขอให้ทรงนำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงทราบ

 

ข้อ ๑    เดิมช้านานประมาณ ๓๗ ปีมาแล้ว  พระยาตะก่า  ชาติกะเหรี่ยง  พี่ชายของข้าพระพุทธเจ้า  ได้ก่อสร้างพระบรมธาตุองค์นี้ไว้ที่ตำบลพระบรมธาตุ  แขวงเมืองกำแพงเพชร   แต่ยังหาทันสำเร็จไม่  พระยาตะก่าถึงแก่อนิจกรรมเสีย  ตั้งแต่นั้นมาก็หามีผู้ใดปฏิสังขรณ์ขึ้นไม่
ข้อ ๒    ครั้นศก ๑๒๓-๑๒๔  ข้าพระพุทธเจ้ามีศรัทธา  ได้ออกทรัพย์ของข้าพระพุทธเจ้า  ๑๕,๐๐๐ บาท    เมื่อศก ๑๒๓  พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นนครชัยศรี  ทรงโมทนาในพระบรมธาตุ ๑๐๐ บาท    เมื่อศก ๑๒๔ พระเจ้าลูกยาเธอสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  ทรงโมทนาในพระบรมธาตุ ๒๐ บาท    พระวิเชียรปราการ  ผู้ว่าราชการเมือง  โมทนา ๑๐๐ บาท    นายบุญ  เจ้าพนักงานสรรพากรเมืองกำแพงเพชร ๒๐    หลวงประชุม  เมืองชัยนาท  ๘๐ บาท    จีนล่ำซำ ๑๐๐ บาท    พระครูเมธีคณานุรักษ์  เจ้าอธิการวัดนี้ ๑๒๐ บาท    นายวัน  อำแดงไทย  ๑๐๐ บาท    นายชุ่ม  อำแดงวิง  ๑๐๐ บาท    พระครูวิเศษ  แขวงพรานกระต่าย  กับ  ข้าพระพุทธเจ้า  เป็นหัวหน้าเรี่ยไรได้เงิน  ๑,๕๐๐ บาท    รวมเป็นเงินทั้งสิ้น  ๑๗,๒๔๐ บาท
ข้อ ๓    เมื่อต้นเดือนเมษายน  ศกนี้   ข้าพระพุทธเจ้าได้จ้างคนออกไปซื้อยอดฉัตรพระบรมธาตุมาจากเมืองย่างกุ้ง  เป็นราคา ๑,๗๐๐ บาท   เมื่อเดือนหก  ศกนี้  ขึ้น ๑๕ ค่ำ  ได้ประชุมมหาชนบรรดาที่ศรัทธาในพระบรมธาตุ  ยกยอดฉัตรพระบรมธาตุทำการมหกรรมมีมหรสพฉลอง  ได้มีพระธรรมเทศนาสังคายนาและมีพระไตรลักษณ์จตุราริยสัจ  รวม ๓ วัน  เป็นการฉลอง   ได้ถวายไทยทานแด่พระสงฆ์ ๓๘๐ รูปทั้ง ๓ วัน  ตามกำลังศรัทธาของข้าพระพุทธเจ้าและมหาชนทั้งหลาย   ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายพระราชกุศล
 
นอกจากหลักฐานจากจารึกนครชุม  และจดหมายเหตุใบบอกของพระยาตะก่าและนายร้อยพะโป้แล้ว  ยังมีรายละเอียดเพิ่มเติมจากวรรณกรรม ทุ่งมหาราช  ของนายมาลัย  ชูพินิจ  เอกอัครศิลปินของชาวกำแพงเพชร  ที่เติบโตจากลุ่มน้ำคลองสวนหมากข้างวัดพระบรมธาตุนี้เองประพันธ์เอาไว้ว่า
...แต่ก่อน  ที่นี้มีพระเจดีย์อยู่สามองค์  ไม่มีใครรู้ว่ามีมาแต่ครั้งไหน  ไม่มีใครรู้ว่าใครมาสร้างไว้  นอกจากชาดกเรื่องปรำปรา  หรือเรื่องเทพนิยาย  แต่ทุกคนรู้ว่าใครเป็นผู้มารวมพระเจดีย์สามองค์ขึ้นสร้างเป็นองค์เดียว  ทุกคนรู้ว่าใครยกยอดฉัตรทอง   แต่ก่อนมา  ข้ามองแล้วเกิดอัศจรรย์ใจว่าสุดวิสัยที่มนุษย์ธรรมดาสามัญสมัยนี้จะทำอย่างนั้นได้   มาเมื่อกี้นี้เอง  ทันใดที่ก้มกราบองค์พระโป้  ภายหลังได้พูดจากับแกครั้งนั้นแล้วข้าคิดว่า  ข้าเข้าใจว่าทำไมพระธาตุองค์นี้จึงเป็นเจดีย์ใหญ่มหึมาขึ้นมาได้  และทำไมการยกยอดฉัตรทองจึงสำเร็จ  คนอย่างพระยาตะก่า  พี่  พะโป้  น้อง  หาไม่ได้อีกแล้วในชาตินี้  แกไม่ใช่คนไทย  แต่แกก็รักเมืองไทย  รักคนไทย  เพราะมันเป็นถิ่นฐานที่สร้างแกขึ้นมา.....
จากพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชร  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙  ทรงบันทึกถึงวัดพระบรมธาตุไว้ว่า
...ครั้งแรกที่ได้พบเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุและพระพิมพ์เหล่านี้  เดิม ณ ปีระกา  เอกศก  จุลศักราช ๑๒๑๑ (พ.ศ. ๒๓๙๒)  สมเด็จพระพุฒาจารย์โต  วัดระฆัง  กรุงเทพ   ขึ้นมาเยี่ยมญาติ ณ เมืองกำแพงเพชร  ได้อ่านแผ่นจารึกอักษรไทยที่ประดิษฐานอยู่ ณ อุโบสถวัดเสด็จ  ได้ความว่ามีพระเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมธาตุอยู่ริมแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตก  ตรงข้ามเมืองเก่า ๓ องค์  
 
ขณะนั้น  พระยากำแพง(น้อย)  ผู้ว่าราชการเมือง  ได้จัดการค้นคว้าพบวัดและเจดีย์สมตามอักษรในแผ่นศิลา  จึงป่าวร้องบอกบุญราษฎรช่วยกันแผ้วถางและปฏิสังขรณ์ขึ้น   เจดีย์ที่พบมี ๓ องค์  องค์ใหญ่บรรจุพระบรมธาตุ  ชำรุดบ้างทั้ง ๓ องค์
จากหลักฐานบันทึกการตรวจการคณะสงฆ์  เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๖  ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  สมเด็จพระสังฆราชเจ้า  ว่า
เสด็จทอดพระเนตรโบสถ์  โบสถ์เล็กเตี้ย  ฝาผนังตึก  ในโบสถ์ไม่มีพระประธาน  เมื่อทรงสักการะแล้วดำรัสสั่งให้พระครูเมธีคณานุรักษ์เชิญพระพุทธรูปที่บ้านโคน  องค์ที่ทรงเลืกไว้  มาประดิษฐาน ณ อุโบสถนี้
จากหลักฐานที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือว่าด้วยระยะทางล่องน้ำปิง  ดังนี้
กลับมาแวะที่วัดมหาธาตุ  ถามพระครูถึงเรื่องศิลาจารึกของพระมหาธรรมราชาลิไท  คือ จารึกหลักที่ ๓  จารึกเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๐  ซึ่งอยู่ในพระหอสมุดฯ  ทราบว่าได้ไปจากเมืองกำแพงเพชร  แต่ยังไม่ทราบว่าเดิมอยู่ที่ไหน  ได้ทราบจากพระครูชัดเจนว่า  ศิลาจารึกแผ่นนั้นเดิมอยู่ที่วัดมหาธาตุแห่งนี้เอง  ตุ้งอยู่ที่มุขเด็จ  เป็นศิลาแลงแท่งใหญ่  พิเคราะห์ดูช่องเจาะกลางเจาะเป็นช่องเฉพาะฝังโคนศิลาจารึก  พิเคราะห์ดูช่องพอได้กับขนาดศิลาจารึกแผ่นนั้น  พระมหาธรรมราชาลิไท  ทำไว้ที่วัดนี้  และเมืองนี้ครั้งสมัยสุโขทัยเรียกว่า  เมืองนครชุม  ไม่มีที่สงสัย  วิหารหลวงหลังนี้เป็นวิหารเก้าห้อง ก่อด้วยแลง  มีกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลงทั้งแท่ง  พระครูบอกว่าเดิมกำแพงชำรุดหักพัง  ก้อนศิลาแลงกองเกลื่อนกลาดอยู่   เมื่อซ่อมพระมหาธาตุ  ผู้ซ่อมเอาช้างลากก้องแลงเหล่านั้นลงไปทิ้งน้ำทำเขื่อนกันน้ำเซาะ  ยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้   องค์พระมหาธาตูนั้น  พระครูบอกว่าฐานล่างเป็นศิลาแลง   ส่วนพระเจดีย์ก่อด้วยอิฐแบบอย่างเจดีย์สุโขทัย ๓ องค์  อยู่ตรงศูนย์กลางพระวิหารองค์หนึ่ง  ต่อมาทางทิศตะวันออกองค์หนึ่ง  ทางทิศตะวันตกวิหารองค์หนึ่งบนฐานใหญ่เดียวกัน    อยู่มามีพม่าพ่อค้าไม้คนหนึ่งเรียกกันว่า  พระยาตะก่า  ขออนุญาตปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุ  ครั้นได้รับอนุญาตจากกรุงเทพแล้ว  พม่าคนนั้นศรัทธาทำพระเจดีย์ใหม่ใหญ่กว่าเดิม  จึงรื้อพระเจดีย์เดิมเสียทั้ง ๓ องค์   เมื่อรื้อนั้นได้พบพระบรมธาตุในเจดีย์องค์กลางใส่ภาชนะเงินทำเป็นรูปสำเภาบรรจุไว้  มีพระบรมธาตุ ๙ องค์  พระครูทันได้เห็นแล้วจึงเอาเข้าบรรจุไว้ในฐานล่างพระเจดีย์ใหม่  ซึ่งพม่าผู้ศรัทธานั้นสร้างตามแบบพระเจดีย์พม่าก็ไม่เห็นเจ้าเมืองห้ามปราม  พระมหาธาตุเมืองกำแพงเพชรจึงกลายเป็นพระเจดีย์พม่าอยู่จนบัดนี้  เจ้าคณะจังหวัดอยู่วัดนี้  มีงานไว้พระมหาธาตุเป็นงานประจำทุกปี  ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๓
วัดพระบรมธาตุ  นครชุม  มีหลักฐานจากแหล่งต่างๆที่ชัดเจน   แสดงให้เห็นว่าเป็นวัดที่เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองนครชุมอย่างแท้จริง   แท้แต่ในปัจจุบันคำขวัญของเมืองนครชุมก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณกาลว่า

พระบรมธาตุคู่บ้าน   พระยาวชิรปราการคุมเมือง   ป้อมทุ่งเศรษฐีลือเลื่อง
กำแพงเมืองเจ็ดร้อยปี   คลองสวนหมากเสด็จประพาส   ทุ่งมหาราชบทประพันธ์ดี
หลวงพ่ออุโมงค์เป็นศักดิ์ศรี   คนดีศรีเมืองนครพระชุม
ปัจจุบัน  วัดพระบรมธาตุ  มีฐานะเป็นพระอารามหลวง  ชั้นตรี  ชนิด  สามัญ  ได้รับการสถาปนา   เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์  พ.ศ. ๒๕๐๙   ตามประกาศของกรมการศาสนากระทรวงศึกษาธิการ  ลงวันที่  ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๙   ตั้งอยู่เลขที่ ๑๕  หมู่ที่ ๓   บ้านปากคลองใต้   ตำบลนครชุม  อำเภอเมือง   จังหวัดกำแพงเพชร   สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ภาค ๔     มีที่ดินตั้งวัด  เนื้อที่ ๓๒ ไร่  ๒ งาน   บนพื้นที่ราบริมแม่น้ำปิงทางฝั่งใต้  (ขณะนี้ติดคลองสวนหมาก)  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งล่าสุด   เมื่อ วันที่ ๒ กันยายน  พ.ศ. ๒๔๙๗  เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างเมื่อปี  พ.ศ. ๒๕๐๗   เป็นวัดพัฒนาดีเด่นเมื่อปี  พ.ศ. ๒๕๑๖   เป็นวัดสะอาดประชาสุขใจ  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๘
 

ปูชนียสถานและถาวรวัตถุภายในวัด
๑.  พระบรมธาตุเจดีย์    บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  จำนวน ๙ องค์  ซึ่งสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท   ทรงนำมาสถาปนาไว้  เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๐๐  แต่เดิมพระบรมธาตุเจดีย์  เป็นพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ๓ องค์  ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน   สันนิษฐานว่าสร้างโดย  พ่อขุนศรีอินทราทิตย์  ปฐมบรมกษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัย  องค์ ๑    พ่อขุนรามคำแหงมหาราช  องค์ ๑    และสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท  องค์ ๑    ปัจจุบันพระบรมธาตุเจดีย์เป็นพระเจดีย์ทรงไทยประยุกต์ผสมมอญ    เนื่องจากผู้ที่บูรณะครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ คือ  พระยาตะก่า  และพะโป้คหบดี  พ่อค้าไม้ชาวกะเหรี่ยงได้สร้างพระเจดีย์ทรงมอญครอบไว้บนฐานเดิม   พระเจดีย์จึงมีรูปอย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้
 
๒.  ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ๓ ต้น    สมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไททรงนำมาสถาปนาไว้  เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๐  พร้อมกับพระบรมสารีริกธาตุ   ปัจจุบันต้นพระศรีมหาโพธิ์มีขนาดบุรุษโดย  ๑๐  คนโอบ   ละเหลืออยู่เพียง ๒ ต้น  เนื่องจากอีก ๑ ต้นนั้นโดนน้ำกัดเซาะโค่นลงแม่น้ำปิงไปนานแล้ว  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระบรมธาตุเจดีย์
 
๓.  พระอุโบสถ    เป็นอาคารทรงไทยหลังคาลด ๒ ชั้น  สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก  เครื่องบนเป็นไม้  ภายในเขียนรูปจิตรกรรมสมันนิยมยุคปัจจุบัน
๔.  พระวิหาร    เป็นอาคารทรงไทยหลังคาลดชั้นเดียว   สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก  เครื่องบนเป็นไม้  เป็นที่เก็บพระพุทธรูป  และคัมภีร์เก่า
๕.  วิหารพระประธานพร    เป็นอาคารทรงไทยหลังคาลดขั้นเดียว   สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก  เครื่องบนเป็นไม้  ประดิษฐานพระพุทธรูปปางประธานพร
๖.  วิหารพระนอน    เป็นอาคารทรงไทยหลังคาลดชั้นเดียว    สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก  เครื่องบนเป็นไม้   เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์  และปางอื่นๆ
๗.  วิหารคดด้านทิศใต้    เป็นอาคารทรงไทยหลังคาลดชั้นเดียว  สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก  เครื่องบนเป็นไม้  เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ๓ สมัย  จำนวน ๓๐ องค์   ปัจจุบันเป็นที่ตั้งกองอำนวยการกุศลของทางวัด  เช่น  ที่จำหน่ายดอกไม้ธูปเทียน  
๘.  ศาลาเรือนไทย    เป็นอาคารทรงไทยแบบนครชุม   สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง   เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุเจดีย์จำลอง   หลวงพ่อโสธรจำลอง   รูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์            ( โต  พฺรหมฺรํสี )  สำหรับให้ประชาชนได้กราบไหว้และปิดทอง
๙.  วิหารอดีตเจ้าอาวาส    เป็นอาคารทรงไทยหลังคาลดชั้นเดียว   สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก  เครื่องบนเป็นไม้  เป็นที่ประดิษฐานรูปหล่ออดีตเจ้าอาวาส ๒ รูป  คือ  พระครูธรราธิมุตมุนี (สี)  และ  พระวิเชียรโมลี (ปลั่ง)
๑๐.  เจดีย์บรรจุอัฐิอดีตเจ้าอาวาส    เป็นเจดีย์ที่สร้างโดยช่างพื้นบ้าน   สำหรับบรรจุอัฐิ    ของอคีตเจ้าอาวาส  อดีตเจ้าคณะจังหวัด ๓ รูป  คือ  พระครูธรรามุนี (สี)   พระวิเชียรโมลี (ปลั่ง)   และพระสิทธิวชิรโสภณ (ช่วง)
๑๑.  ศาลาการเปรียญศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุม    เป็นอาคารทรงไทยเดิมมีจั่วเดียว  ปัจจุบันบูรณะเป็น ๓ จั่ว   ด้านบนสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง  ใช้เป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์  พื้นบ้านศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุม   ด้านล่างก่ออิฐถือปูน  ปูด้วยหินอ่อนอย่างดี  ใช้เป็นห้องประชุม  ปฏิบัติธรรม  มีห้องน้ำในตัว ๑๒ ห้อง
๑๒.  ศาลาเอนกประสงค์    เป็นอาคารทรงไทยหลังคาลดชั้นเดียว    สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก  เครื่องบนเป็นไม้  เป็นที่บำเพ็ญกุศลทั่วไปทั้งงานมงคลและอวมงคล
๑๓.  สำนักงานวัด    เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์   สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก  เครื่องบนเป็นไม้  เป็นสถานที่ติดต่องานทั่วไป  และต้อนรับแขก
๑๔.  กุฏิเจ้าอาวาส    เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ ๓ มุข  สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก  เครื่องบนเป็นไม้  เป็นที่พักของเจ้าอาวาส
๑๕.  หมู่กุฏิสงฆ์    เป็นอาคารทรงไทยปั้นหยา ๒ ชั้น  ครึ่งตึกครึ่งไม้ ๒๓ หลัง ๔ แถว  ตั้งล้อมรอบหอฉันเก่า  ด้านหลังองค์พระบรมธาตุเจดีย์ตามแบบแปลนวัดสมัยเก่า  ที่กุฏิจะอยู่ด้านหลังพระมหาธาตุหรืเจดีย์ประธานของวัด
๑๖.  ศาลาหอฉันเก่า    เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์  สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง  ตั้งอยู่กลางหมู่กุฏิสงฆ์  ปัจจุบันแบ่งซอยออกเป็นห้องพักพระภิกษุ  จำนวน ๑๐ ห้อง    
๑๗.  โรงเรียนพระปริยัติธรรมหลังเก่า    เป็นอาคารทรงไทยแบบนครชุม  สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง   ปัจจุบันด้านบนใช้เป็นที่เก็บพระพุทธรูป  สิ่งของต่างๆ
๑๘.  หอกลอง-ระฆัง    เป็นอาคารทรงไทย ๒ ชั้น   หลังคาลด ๒ ชั้น ๔ มุข    สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก
๑๙.  เมรุ    เป็นอาคารทรงไทยหลังคาลดชั้นเดียว  แบบเตาเผาเดียว   สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก
๒๐.  ศาลาธรรมสังเวช    เป็นอาคารทรงไทยหลังคาลดชั้นเดียว   สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก  เครื่องบนเป็นไม้  เป็นที่บำเพ็ญกุศลศพ ? อัฐิ
๒๑.  ศาลาหอฉัน    เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์   สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก  อยู่ติดกับศาลาเอนกประสงค์  เป็นที่ฉันภัตตาหารเช้า ? เพล ของพระภิกษุสามเณร
๒๒.  โรงครัว    เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์   สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก  อยู่ติดกับหอฉัน  เป็นที่ประกอบภัตตาหารเช้า ? เพล ถวายพระภิกษุสามเณร
๒๓.  ภัณฑาคาร    เป็นอาคารทรงไทยประยุกต์  สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก  อยู่ติดกับสำนักงานวัด  เป็นที่เก็บรักษา ? จ่ายพัสดุของใช้ต่างๆภายในวัด
๒๔.  ห้องน้ำสาธารณะ    สร้างตามแบบมาตรฐาน ๕ ห้องอยู่ด้านทิศตะวันออกของพระอุโบสถ     ๑๖ ห้อง  อยู่ด้านหลังศาลาเอนกประสงค์     ๑๒ ห้องในศาลาการเปรียญชั้นล่างรวมห้องน้ำสาธารณะ ๓๓ ห้อง
 

ลำดับเจ้าอาวาส
เนื่องจากวัดพระบรมธาตุ  เป็นพระอารามหลวง   ที่เจริญรุ่งเรืองตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี  และล่มสลายไปตามกฎวัฏจักร  และตั้งขึ้นเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง  จึงไม่สามารถระบุนามเจ้าอาวาสได้ทั้งหมดเท่าที่สืบค้นได้  มีดังนี้
๑.   พระครูธรรมาธิมุตมุนี (สี)  เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร  พ.ศ. ๒๔๓๙-๒๔๗๖
๒.   พระวิเชียรโมลี (ปลั่ง)     เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร  พ.ศ. ๒๔๗๗-๒๔๘๘
๓.   เจ้าอธิการชู  จันทร์เปรม     เจ้าคณะตำบลนครชุม   พ.ศ. ๒๔๘๙-๒๔๙๐
๔.   พระสิทธิวชิรโสภณ (ช่วง)  เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร  พ.ศ. ๒๔๙๑-๒๕๓๙
๕.   พระอุดม   อุปโล    รักษาการแทนเจ้าอาวาส  พ.ศ. ๒๕๓๙-๒๕๔๓
๖.   พระเทพปริยัติ (อดุลย์ ป.ธ.๘)   เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร  รักษาการ  พ.ศ. ๒๕๔๔
๗.   พระศรีวชิราภรณ์  (วีระ ป.ธ.๙) เจ้าอาวาส ? พระอุปัชฌาย์  พ.ศ. ๒๕๔๕ - ปัจจุบัน





ปัจจุบันมีผู้ช่วยเจ้าอาวาส ๓ รูป  คือ
   ๑.   พระมหาจำเนียร  จิรวํโส  ป.ธ.๙  ศศ.ม.    ผู้ช่วยเจ้าอาวาสรูปที่ ๑ และอาจารย์ใหญ่
   ๒.   พระครูอาทรวชิโรดม  (อุดม  อุปโล)      ผู้ช่วยเจ้าอาวาสรูปที่ ๒
   ๓.   พระครูสถิตย์วชิรธรรม  (ประดิษฐ์)     ผู้ช่วยเจ้าอาวาสรูปที่ ๓
มีพระภิกษุ  ๓๗  รูป    สามเณร ๓๗ รูป     รวม ๗๔ รูป   เรียนธรรม ? บาลี   โดยในแต่ละปีนั้นมีพระภิกษุสามเณรสอบได้มากที่สุดเป็นอันดับ ๑  ของจังหวัดกำแพงเพชร
 

 
พระครูธรรมมาธิมุตมุนี  (สี)
อดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ  และเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร
ประวัติความเป็นมาไม่สามารถสืบทราบได้
เป็นที่ พระครูเมธีคณานุรักษ์  ครั้งพระพุทธเจ้าหลวง ร.๕  เสด็จประพาสวัดพระบรมธาตุ
ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่  พระครูธรรมาธิมุนี  เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร
ครองวัดอยู่ ๓๗ ปี  จนมรณภาพ










 
พระวิเชียรโมลี  (ปลั่ง  พรฺหมฺโชโต)
อดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ  และเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร
เดิมชื่อปลั่ง  ส่วนนามสกุลไม่สามารถสืบทราบได้  เป็นบุตรคนที่ ๒  ของพ่อพุ่ม  แม่น้อย  ชาวลานดอกไม้ตก  อุปสมบทที่วัดคูยาง  และเคยเป็นเจ้าอาวาสวัดคูยางก่อนที่จะมาอยู่วัดนี้
   พ.ศ. ๒๔๖๙    เป็นพระครูเมธีคณานุรักษ์  รั้งตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด
   พ.ศ. ๒๔๗๓   เป็นพระครูวิเชียรโมลีศรีบรมธาตุนุรักษ์สังฆวาหะ  เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร
   พ.ศ. ๒๔๗๘   เป็นพระวิเชียรโมลีศรีวชิรปราการคณานุรักษ์สังฆปาโมกข์  เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร  ครองวัดอยู่ ๑๑ ปี  จนมรณภาพ








 
เจ้าอธิการชู   จันทร์เปรม
อดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ  และเจ้าคณะตำบลนครชุม
เดิมชื่อชู   จันทร์เปรม   อุปสมบทที่วัดพระบรมธาตุ  ส่วนนามฉายามาสามารถสืบทราบได้   และตำแหน่งนั้นก็ไม่มีผู้ยืนยันว่าเป็นเจ้าคณะตำบลหรือไม่   สันนิษฐานจากคำนำหน้าชื่อว่าน่าจะเป็นเจ้าคณะตำบลนครชุม
ครองวัดอยู่ ๑ ปีเศษ  แล้วลาสิกขาไปมีครอบครัว

 
พระสิทธิวชิรโสภณ  (ช่วง  ปญฺญาโชโต  พรหมอินทร์)
อดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ   และเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร
เดิมชื่อ ช่วง   นามสกุล พรหมอินทร์   เป็นบุตรคนที่ ๘ ของพ่อสอน  แม่ใจ   เกิดที่บ้านโขมงหัก  อำเภอเมือง  อุปสมบทที่วัดคูยาง  แล้วย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ  และเป็นผู้ขอสถาปนาวัดขึ้นเป็นพระอารามหลวง  เมื่อปี  พ.ศ. ๒๕๐๙
   พ.ศ. ๒๔๙๓   เป็นพระครูสิทธิวชิรโสภณ    เจ้าคณะอำเภอเมืองกำแพงเพชร
   พ.ศ. ๒๕๐๓   เป็นพระสิทธิวชิรโสภณ    เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร
ครองวัดอยู่ ๕๐ ปี  จนมรณภาพ
 
พระศรีวชิราภรณ์  (วีระ ป.ธ.๙)
เดิมชื่อ  วีระ   นามสกุล  ภูมิเมือง   เป็นบุตรคนที่ ๖  ของพ่อทวี   แม่บาง   เกิดที่บ้านคุยป่ารัง   อำเภอพรานกระต่าย  อุปสมบทที่วัดสุวรรณาราม   ศึกษาหาความรู้จากวัดต่างๆ  จนได้รับวุฒิทางการศึกษามากมาย  เช่น  พ.ม. ป.ธ.๙    พธ.บ.    ศษ.บ.    อ.ม.    ปัจจุบันกำลังศึกษาดุษฎีบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยนเรศวร  พิษณุโลก
   พ.ศ. ๒๕๔๔   เป็นพระศรีวชิราภรณ์   เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ  พระอารามหลวง  พระอุปัชฌาย์
   ปัจจุบันเป็นรองผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์  มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
ครองวัดเมื่อปี  พ.ศ. ๒๕๔๕ ? ปัจจุบัน


 +
พระมหาจำเนียร    จิรวํโส  ผลาวงค์   ป.ธ.    ศษ.บ.    ศศ.ม.
อาจารย์ใหญ่  และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ  พระอารามหลวง  รูปที่ ๑
 
พระครูอาทรวชิโรดม
(อุดม  อุปโล  ภู่น้อย  น.ธ.เอก    พ.ม.    พก.ศ.)
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ  รูปที่ ๒
 
พระครูสถิตวชิราทร
(ประดิษฐ์  ยสวฑฺฒโน  สิทธิศักดิ์   น.ธ.เอก    พ.ม.)
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ  รูปที่ ๓



การบูรณะพระบรมธาตุ ๓ ครั้งใหญ่
ครั้งที่ ๑    พระยาตะก่า  และพะโป้   พ่อค้าไม้คหบดีชาวกะเหรี่ยง ๒ พี่น้อง   ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติรื้อพระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ๓ องค์   ก่อใหม่เป็นพระเจดีย์ทรงมอญ   กว้างยาวด้านละ ๑๕ วา (๓๐ เมตร  เทียบบารมี ๓๐ ทิศ)   สูง ๑๖ วา ๓ ศอก (๓๗ เมตร  เทียบโพธิปักขิยธรรม ๓๗)  เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ แล้วเสร็จเมื่อ  พ.ศ. ๒๔๔๙  ก่อนการเสด็จประพาสต้นเพียง ๓ เดือน  ในสมัยหลวงพ่อพระครูธรรมาธิมุตมุนี (สี)  เป็นเจ้าอาวาส
ครั้งที่ ๒    ร.ต. ทวี   ผดุงรัตน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชรในสมัยนั้น   ได้ชักชวนสาธุชนร่วมกันบูรณะองค์พระบรมธาตุเจดีย์  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓  โดยทำฉัตรขึ้นใหม่แทนของเดิมที่พะโป้นำมาจากเมืองย่างกุ้ง  ประเทศพม่า  โบกฉาบปูนปั้นลายทาสีใหม่  ในสมัยหลวงพ่อพระสิทธิ  วชิรโสภณ (ช่วง)  เป็นเจ้าอาวาส
ครั้งที่ ๓    คุณทรงพล   คุณกัลยาณี   พันธุ์เถกิงอมร  บริจาค ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท   เป็นเจ้าภาพบูรณะทาสีทององค์พระบรมธาตุ    คุณสันติ  พันธุ์เถกิงอมร   ทอดผ้าป่าสมทบอีก ๖๗๐,๐๐๐ บาท  เพื่อซ่อมฉัตรและทาสีทอง    คุณประเสริฐสุข  คุณสีสุดา   ล่ำซำ   และคณะ  บริจาค  ๓๐๐,๐๐๐ บาท  ปูหินแกรนิตรอบองค์พระบรมธาตุ   และศรัทธาจากพุทธบริษัททั่วไปบริจาคเป็นเจ้าภาพรั้วอัลลอยรอบองค์พระบรมธาตุ  ๔๗๐,๐๐๐ บาท   และศรัทธาจากสาธุชนอีก  ๖๐,๐๐๐ บาท   รวมทั้งหมด  ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท   โดยอัญเชิญฉัตรลงเมื่อวันมาฆบูชา  ทำการบูรณะอยู่ ๓ เดือน   จึงแล้วเสร็จ   และมีพิธีอัญเชิญฉัตรขึ้นประดิษฐานบนยอดพระบรมธาตเจดีย์ในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๘   ในสมัยของหลวงพ่อพระศรีวชิราภรณ์  (วีระ)   เป็นเจ้าอาวาส
 

ประเพณีการนบพระเล่นเพลง
   หลังจากที่สมเด็จพระมหาธรราชาลิไทหรือพระยาลิไท   ได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุและต้นพระศรีมหาโพธิ์มาสถาปนาไว้ ณ วัดพระมหาธาตุ (เดิมชื่อเรียกอย่างนี้)  เมืองนครชุมซึ่งเป็นเมืองลูกหลวงทางทิศตะวันตก  แล้วนั้น   เมื่อถึงวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓  ของทุก ๆ ปี   พระองค์จะเสด็จมาจากเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยโดยกระบวนพยุหยาตรามายังเมืองนครชุมทุกปี   เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุและต้นพระศรีมหาโพธิ์    เจ้าเมืองที่อยู่ในปกครองของเมืองนครชุม เช่น เมืองกำแพงเพชร   เมืองไตรตรึงษ์   เมืองคณฑี   เมืองเทพนคร    เมืองโกสัมพีนคร ฯลฯ  ก็พากันมาเข้าเฝ้าและนำการละเล่นประจำเมืองของตนมาแสดงเพื่อความสำราญพระราชหฤทัยของพระเจ้าแผ่นดินเหนือหัว   และให้เป็นการละเล่นที่จะสร้างความเพลิดเพลินและคลายความเหน็ดเหนื่อยจากการเดินทางของเหล่าทหารในกระบวนพยุหยาตรา   ซึ่งก็เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนานจนเลือนหายไปในสมัยกรุงศรีอยุธยา   พึ่งมาฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ด้วยเห็นว่าเป็นประเพณีที่ดีงามเมื่อประมาณ ๒๐ กว่าปีที่ผ่านมานี้และปฏิบัติสืบต่อกันมาทุก ๆ ปี
   เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน ๓ ของทุกปี   ทางวัดได้จัดประเพณีไหว้พระบรมธาตุ  นครชุม    โดยเริ่มงานตั้งแต่วันขึ้น ๑๔ ค่ำ  ถึง  วันแรม ๓ ค่ำ  เดือน ๓  ของทุกปี   และมีสาธุชนมาร่วมสนับสนุนนมัสการพระบรมธาตุกันอย่างต่อเนื่อง  เพราะเชื่อว่ามีอานิสงค์มาก  ดังคำในจารึกนครชุมที่ว่า
   ...ผิผู้ใดได้ไหว้นบกระทำบูชาพระศรีรัตนมหาธาตุ   และพระศรีมหาโพธิ์นี้ว่าไซร้   มีผล  อานิสงค์  พร่ำเสมอดั่งได้นบตนเป็นพระเป็นเจ้าบ้างแล้...  
จังหวัดกำแพงเพชรและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  ได้จัดกระบวนพยุหยาตราเพื่อมานบพระบรมธาตุและต้นพระศรีมหาโพธิ์   ตามแบบอย่างที่พระยาลิไทได้ปฏิบัติมา   โดยใช้ชื่อว่า  ประเพณีนบพระเล่นเพลง   นบ คือ ไหว้   เล่นเพลง คือ  การละเล่นต่าง ๆ  ที่จัดให้มีในงานนั่นเอง
   แต่เดิมประเพณีไหว้พระบรมธาตุ  นครชุม  นั้นมีถึง ๑๕ วัน ๑๕ คืน   มีผู้คนจากต่างถิ่นเดินทางมาพักค้างแรมบริเวณรอบวัดเต็มไปหมดเพื่อเที่ยวงานไหว้พระบรมธาตุซึ่งเป็นมหกรรมใหญ่ประจำปี  ซึ่งต่อมาได้จัดงานลดลง ๆ เหลือ ๙ วัน ๙ คืน  แล้วลดลงมาเหลือ ๗ วัน ๗ คืน  จนกระทั่งในปัจจุบันเหลือเพียง ๕ วัน ๕ คืนเท่านั้น  แต่ก็ยังมีประชาชนมาไหว้กันอย่างมาขาดสาย

ศิลาจารึกหลักที่ ๓
(จารึกนครชุม)

      ศักราช ๑๒๗๙ ปีระกา   เดือน ๘ ออก ๕ ค่ำ  วันศุกร์  หนไทย  กัดเล้า  บูรผลคุณีนักษัตร   เมื่อยามอันสถาปนานั้นเป็น ๖ ค่ำแล   พระยาลือไทยราช  ผู้เป็นลูกพระยาเลอไทย  เป็นหลานแก่พระยารามราช   เมื่อได้เสวยราชย์ในเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยได้ราชาภิเษก   อันฝูงเท้าพระยาทั้งหลายอันเป็นมิตรสหาย  อันมีในสี่ทิศนี้  แต่งกระยาดงหวาย  ของฝากหมากปากมาไหว้อันยัดยัญอภิเษกเป็นท้าวเป็นพระยาจึงขึ้นชื่อศรีสุริยพงศ์มหาธรรมราชาธิราช   หากเอาพระศรีรัตนมหาธาตุอันนี้มาสถาปนาในเมืองนครชุมนี้ปีนั้น   พระมหาธาตุอันนี้ใช่ธาตุอันสามานต์ คือ พระธาตุแท้จริงแล  เอาลุกแต่ลังกาทวีปพู้น  มาดาย  เอาทั้งพืชพระศรีมหาโพธิ์  อันพระพุทธเจ้าเราเสด็จ  อยู่ใต้ต้นและผจญพลขุนมาราธิราช  ได้ปราบแก่สัพพัญญุตญาณเป็นพระพุทธมาปลูกเบื้องหลังพระมหาธาตุนี้  ผิผู้ใดได้ไหว้นบกระทำบูชาพระศรีรัตนมหาธาตุ   และพระศรีมหาโพธิ์นี้ว่าไซร้   มีผล  อานิสงค์พร่ำ  เสมอดังได้นบตนเป็นพระเป็นเจ้าบ้างแล้   ความดังนี้เราบ่มิหากกล่าวคำ  พระพุทธเจ้าเราบอกไว้เองไซร้เมื่อพระเป็นเจ้าได้เป็นพระพุทธ  วันนั้นชนมาพิธี  เราคนนี้ยังในร้อยปีเลย  แต่เมื่อนั้นแลมาเถิง  บัดนี้ว่าไซร้  ชนม์  เราคนคลาจาก  ร้อยปีแลบัดนี้ถอยปีหนึ่ง  ไปแล้ยังแต่เก้าสิบเก้าปีดาย   ผิมีคนถามว่านี้ตั้งแต่คลาร้อยปีนั้นแล้  ยังคงแต่เก้าสิบเก้านั้น  ได้กี่ปีแล้สิ้น  ให้แก้ว่าดังนี้  เมื่อปีอันพระยามหาธรรมราชก่อพระธาตุนี้ชนม์คนถอยจากร้อยปีนั้นได้ร้อยสามสิบเก้าปีแล   ปีอันถอยนั้นว่าไซร้ในปีเถาะแต่ปีนั้นมาแล  ฝูงเจ้าขุนพรามณ์เศรษฐี   ถอยจากเป็นมลาก  เป็นดีเข้าแต่นั้นแลยังฝูงรู้หลวก   โหรทายยาหยูกก็ถอยแต่นั้นแล  บ่ชอบบ่ยำเลยผิมีคนถามดังนี้โสด   แต่วันพระเจ้าเราได้เป็นพระพุทธในใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์   มาเถิงวันสถาปนาพระศรีรัตนธาตุนี้ได้เท่าใด   ให้แก้ว่าดังนี้  ผิจักนับด้วยปี   ได้พันเก้าร้อยสี่สิบหกปี 0 ปี   อันพระได้เป็นพระพุทธนั้นในปีวอกผจักนับด้วยวันได้เจ็ดแสนหมื่นสี่ร้อยหกสิบแปดวัน   วันพระได้เป็นพระพุทธนั้นในวันพุธ   วันหนไทยวันเตาญี 0 ผิมีคนถามศาสนาพระเป็นเจ้ายังเท่าใดจักสิ้นอั้น   ให้แก้ว่าดังนี้   แต่ปีอันสถาปนาพระมหาธาตุนี้เมื่อหน้า  ได้สามพันเก้าสิบปีจึงจักสิ้นศาสนาพระเป็นเจ้า 0 อันหนึ่งโสดนับแต่ปีสถาปนาพระมหาธาตุนี้ไปเมื่อหน้า  ได้เก้าสิบเก้าปีเถิงในปีกุน   อันว่าพระปิฏกไตรนี้จักหายแล  หาคนจักรู้แท้มิได้เลย  ยังมีคนรู้คัน  สเล็กสน้อยไซร้ธรรมเทศนาอันเป็นต้นว่าพระมหาชาติ  หาคนสวดแลมิได้เลย  ธรรมชาดกอันอื่นไซร้  มีต้นหาปลายมิได้เลย   จำพวกอภิธรรมไซร้พระปัฏฐานแลพระยมก  ก็จักหายเมื่อนั้นแล   แต่นั้นเมื่อหน้า  ได้พันปีโสด  ฝูงภิกษุสงฆ์อันจำศีลคงสิกขาบทสี่  อันยังมีสิกขาบทอันหนักหนามิได้เลย  แต่นั้นเมื่อหน้าได้พันปีโสด  อันว่าฝูงจักทรงผ้าจีวรหามิได้เลยเท่ายังมีผ้าเหลืองน้อยหนึ่งเหน็บในหูแลรู้จักศาสนาพระเป็นเจ้าตาย  แต่นั้นเมื่อหน้าได้พันปีโสด  อันว่าจักรู้จักผ้าจีวร  จักรู้จักสมณะน้อยหนึ่งหามิได้เลย  ธาตุพระเป็นเจ้าที่นี่ก็ดี  แห่งอื่นก็ดียังคงเลย  เมื่อปีอันจักสิ้นศาสนาพระพุทธเป็นเจ้าที่สุดทั้งหลายอั้น   ปีชวดเดือนหกบูรณมี  เสาร์  วันไทย   วันระวายสัน  วันไพสาขฤกษ์  เถิงเมื่อวันดังนั้น  แต่พระธาตุทั้งหลายอันมีในแผ่นดินนี้ก็ดี  ในเทพโลกก็ดี  ในนาคโลกก็ดี  เหาะไปกลางหาว  และไปประชุมกันในลังกาทวีปเข้าอยู่ในกลวง  รัตนมาลิก  มหาสถูปแล้วจึงจักเหาะไปอยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พระพุทธเป็นเจ้าตรัสแก่สรรเพชญุตญาณเป็นพระพุทธเมื่อก่อนอั้น  จึงจักกาล   ไฟไหม้พระธาตุทั้งอั้นสิ้นแล  เปลวพุ่งขึ้นคุงพรหมโลก  ศาสนาพระพุทธจักสิ้นในวันดังกล่าวอั้นแล  แต่นั้นเมื่อหน้า  ฝูงคนอันจักรู้บุญธรรมหามิได้หลายเลยย่อมจักกระทำบาปกรรมแลจักเอาตนไปเกิดในนรกไซร้   แต่นี้เมื่อหน้า  ฝูงสาธุสัตบุรุษทั้งหลายเร่ง   เร่งกระทำบุญธรรมในศาสนาพระพุทธ  เมื่อยังมีเท่าวัน   ชั่วเราบัดนี้มีบุญหนักหนา   จึงจักได้มาเกิดทันศาสนาพระเป็นเจ้าไซร้จุ่งทั้งหลายหมั่นกระทำบูชาพระสถูป  เจดีย์  พระศรีมหาโพธิ์อันเสมอดังตน  พระเจ้าเรา  ผิผู้ใดได้ปรารถนาด้วยใจศรัทธาดังอั้นซือ  จักปรารถนาไปเกิดในเมืองฟ้า...ตรอด   พระศรีอารยไมตรีลงมาเป็นพระพุทธ เยีย  มาเกิดในเมืองดินนี้คาบเดียวก็ได้ ดาย  ผิมีคนถามดังนี้โสด  ดังฤาแลไปรู้ระบับ  ปีเดือนวันคืนอันถอยแท้  ดังอั้น  ผู้ใดหารังพิจารณาสังขยาคูนดูแลดังอั้นสิ้น  ให้ขานว่าดังนี้  ผู้คูณสังขยาพิจารณาดูอั้นคือตนะรัยาศรีสุริยพงศ์มหาธรรมราชาธิราชแล  พระยามหาธรรมราชนั้นยังมีคุณอันรู้ดังฤาบ้างอั้น  ให้ขานว่าดังนี้   พระยาธรรมราชนั้นคงปัญจศีลทุกเมื่อ  นบพ...ส...รร...ในราชมนเทียรบ่ห่อน   ขาดสักวันสักคืน.....ง....เดือนเพ็ญไปนบพระธาตุอันตนห............ทั้งหลาย   สดับธรรมเทศนาโอยทานเข....เบรียน    ภิกษุสงฆ์ทั้งหลายให้..........มุดเป็นเถรมหาเถรอัน.............ใ............หลายประการหนักหนา..........ที่คณนาแลมิได้รู้จัก    ค.............ฟ้าหลายกว่า   พันชื่อคน..........น   ดาวไซร้ร้จักเป็น.........จักลม    จักไฟจัก........ม   จักเป็น............ปาก   ดัง.............ขึ้นจักดู.......ต........น   ผู้.......เ.......เมืองอันใดก็รู้สิ้น   อันรู้ศาสตร์   อ..............คล้องช้างเป็นพฤฒิบาศ        ศาสตร์............ก็นับตวงถ้วนไซร้

ยังมากกลา...............แพ้ตนแพ้ท่านก็รู้หมั่น............................เหมืองแปลงฝายรู้ปรา.........................คู้ลักข้าวลักของบ่อห่อน...........................นโทระแก่ตนเหียมบา...........................เมื่อชั่วพระยารามราช............................................กว้างขวางรอกทุกแห่ง..........................................ไหว้มาคัลทุกแห่ง เ ม?ฮืมฮืมฮืมฮืมฮืม??..ทุ ก แ ห่ ง เ พื่ อ พ่ อ ลู ก
พ่อ...........เป็นเจ้าเป็นขุนอยู่บ้านเมืองขาด.............................หลายบั้นหลายทอดแซว.............หลายบั้นท่อนดังเมืองพ.....................................นกเป็นขุนหนึ่ง                            เมืองคณฑีพระบางหาเป็นขุนหนึ่ง...............................เมืองเชียงทอง   หาเป็นขุนหนึ่ง  เมือง..........................หาเป็นขุนหนึ่ง  เมืองยางฉลังหาเป็นขุนหนึ่ง.............................ต่างทำเนื้อทำตนเขาอยู่  เมื่อล........................น   ได้เสวยราชย์แทนที่ปู่ย่าพ่อแม่.............................................เป็นเจ้าขุนเป็นขุนนั้นด้วยกำลัง............................................กโรม   ในตีนพิงนี้.............................ปลูกหมากพร้าวหมากกลาง  ทุกแห่ง..................แต่งให้ขุนพี่ขุนน้องลูกหลาน...........................ไพร่ฟ้าข้าไทย   ขี่เรือไปค้าขี่ม้าไปขาย..................งต้องใจมิได้เพื่อด้วยอำนาจแก่..............................ราชนั้น  เมื่อชั่งลุนนี้  ผิขุนผู้ใดในเมืองนี้ว่าไซร้   จุ่งให้รู้บุญธรรมสถูป  เจดีย์ พระศรีมหาโพธิ..................งานไซร้ใช้ผิบ่อชอบเมื่อใช้ไซร้   อย่าพาใช้....................นาจุ่งข้าวเหลือเกลือทุนใน                     เมืองตน   ผิว่า...........................ต่างบ้านต่างเมือง          ก็จักมาพึ่งมาอิงตน......................................ว่าไซร้  ตนไปขอพึ่งเมืองน่าน  ท่านก็ดูแคลนนิสัยคนโสด  ไพร่ฟ้าข้าไทยลูกเจ้าขุนผู้ใดได้ข้ำ  เอาเหย้าน้าวเอาเรือนเขา  พ่อตายให้ไว้แก่ลูก  พี่ตายให้ไว้แก่น้องขุนผู้ใดกระทำชอบด้วยธรรมดังอั้น  ขุนผู้นั้น....................มิยืนเยิงเหิงนานเลย   คำนี้กล่าวคันสเล็กสน้อย   แลคำอันพิสดารไซร้  กล่าวไว้ในจารึกอันมีเมืองสุโขทัย...................................พระยาธรรมิกราชให้ไปพิมพ์เอารอยตีน...........................พระเป็นเจ้าเถิงสิงหลอันเหยียบเหนือจอมเขาสุมนกูฏบรรพตประมาณเท่าใดเอามาพิมพ์ไว้จุ่งคนทั้งหลายแท้....................................อันหนึ่งประดิษฐานไว้ในเมืองศรีสัชนาลัยเหนือจอมเขา..................อันหนึ่งประดิษฐานไว้ในเมืองบางพาน  เหนือจอมเขานางทองอันหนึ่งประดิษฐานไว้เหนือจอมเขาที่ปากพระบาง  จารึกก็ยังไว้ด้วยทุกแห่งฯ
 
 
วัดวังพระธาตุ นครไตรตรึงษ์
   


         นอกเมืองเก่า ไตรตรึงษ์ ริมฝั่งแม่น้ำปิง มีวัดโบราณที่สำคัญวัดหนึ่ง ประชาชนเรียกขานกันว่าวัดวังพระธาตุ  เชื่อกันว่า ภายในพระมหาเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ขนาดใหญ่ และสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ....  ในวันมาฆบูชา  วันวิสาขบูชา และวันอาสาฬบูชา ชาวบ้านในเขตใกล้กับวัดทั่วไปพบปรากฏการณ์มหัศจรรย์ คือ พระบรมธาตุ จากวัดวังพระธาตุ จะลอยมามีขนาดประมาณผลส้มเกลี้ยงลอยวนไปมา แล้วลอยมาที่วัดเสด็จในเมืองกำแพงเพชร แล้วลอยไปที่วัดพระบรมธาตุ นครชุม เป็นอย่างนี้ทุกปีมา จนกระทั่งวัดเสด็จได้ชื่อว่าวัดเสด็จ คือพระบรมธาตุเสด็จนั่นเอง เป็นที่กล่าวสรรเสริญกันไปในยุค 50 ปีที่ผ่านมา....
   เหตุผลที่เรียกขานกันว่าวัดวังพระธาตุเพราะ หน้าวัดเป็นห้วงน้ำใหญ่ เรียกกันโดยสามัญว่า วังเมื่อมีพระธาตุตั้งอยู่ จึงเรียกกันว่าวังพระธาตุ ท่านเจ้าอาวาสพระครูสถิตวชิรคุณ ได้เล่าให้ฟังว่า บริเวณวังน้ำหน้าวัดใกล้กับศาลท้าวแสนปมเดิม มีวังน้ำขนาดใหญ่ มีอุโมงค์ เข้าไปถึงองค์พระเจดีย์ มีสมบัติซ่อนอยู่มากมาย เมื่อน้ำปิงขึ้นสูง น้ำจะไหลเข้ามาตามอุโมงค์ จนมาถึงฐานพระมหาเจดีย์ มีแผ่นหินใหญ่ปิดไว้ แต่ปัจจุบันไม่มีหลักฐานให้เห็นนอกจาก คำบอกเล่าเท่านั้น
   สถานที่สำคัญของวัดวังพระธาตุคือ
      พระมหาเจดีย์ ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ สมัยสุโขทัย ขนาดใหญ่มากที่สุดที่พบในจังหวัดกำแพงเพชร ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้วจากกรมศิลปากร ศิลปะงดงามสร้างด้วยแผ่นอิฐขนาดใหญ่
เมื่อในปีพุทธศักราช 2449 พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกำแพงเพชร แวะที่วัดวังพระธาตุ ทรงบันทึกไว้ว่า
.........พระธาตุนี้มีฐานแท่นซ้อนสามชั้น แล้วถึงชั้นคูหาบนเป็นรูปกลม ซึ่งกรมหลวงนริศ เรียกว่า
ทะนาน ถัดขึ้นไปจึงถึงบัลลังก์ปล้องไฉนเจ็ดปล้องปลีแล้วปักฉัตร ไม่ผิดกับพระเจดีย์เมืองฝาง.....องค์พระเจดีย์ชำรุดพังลงมาเสียซีกหนึ่ง มีรากระเบียงรอบวิหาร 4ทิศ วิหารใหญ่ที่บูชาอยู่ทิศใต้ พระอุโบสถซึ่งมีสีมาเป็นสำคัญ อยู่ทิศตะวันออกเยื้องไม่ตรงกลางเขาปลูกโรงหลังคามุงกระเบื้องในที่ใกล้พระเจดีย์ด้านตะวันออก มีพระพุทธรูปทั้งนั่ง ทั้งยืนหลายองค์ พระพุทธรูปหน้าตาดีแปลกกว่าที่เคยเห็น เวลานี้มีพระซึ่งมาแต่เมืองนนท์ เป็นคนเคยรู้จักกันมาแต่ก่อน ขึ้นมาจำพรรษาอยู่ที่นี้ คิดจะปฏิสังขรณ์ปลูกกุฏิที่เยื้องหน้าพระธาตุ...........
   พระวิหาร สภาพชำรุดแต่เดิมเห็นแค่เนินดินเท่านั้น  สร้างด้วยอิฐเป็นฐานเสาเป็นศิลาแลง คงสร้างในสมัยเดียวกับพระเจดีย์ เป็นวิหารยกพื้นมีบันไดห้าขั้น ทางทิศเหนือและทิศใต้ สภาพได้รับการบูรณะแล้วบางส่วน
   เศียรหลวงพ่อโต เดิมเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนวิหาร เป็นพระที่สร้างขึ้นมาใหม่ จากคำบอกเล่าของนางเสนอ   สิทธิ  ปราชญ์ชาวบ้านเมืองไตรตรึงษ์เล่าว่า เป็นพระที่สร้างขึ้นมาใหม่  ทางวัดได้จัดหาลิเกมาเล่น และได้ให้เล่นบนวิหารโบราณ ในคืนนั้นฝนตกหนัก ตอนเช้าได้พบว่าองค์พระได้โค่นลงมาแล้ว พังเสียหายหมดหรือแต่เศียรเท่านั้น ทางวัดจึงยกเศียรขึ้น ตั้งอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
   โบสถ์วัดวังพระธาตุ ได้รับการต่อเติมจากใหม่จากชาวบ้าน ภายในมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านเรียกขานกันว่าหลวงพ่อเพชร ใต้ฐานพระอุโบสถ ได้ขุดลงไปทะลุไปทั้งสองด้าน ทำให้งดงาม
ลมพัดผ่านเย็น เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของนักท่องเที่ยวต่างถิ่น
   วัดวังพระธาตุ เป็นวัดที่สำคัญและเก่าแก่ที่สุดวัดหนึ่งในกำแพงเพชร มีภูมิทัศน์ที่งดงาม เหมาะสำหรับที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอย่างยิ่ง เพราะมีโบราณสถานหลายแห่งภายในวัดวังพระธาตุแห่งนี้ วัดวังพระธาตุ อาจเปรียบได้กับเพชรน้ำหนึ่ง ของนครไตรตรึงษ์ ที่น่ามาสัมผัสถึงประเพณีและวัฒนธรรมอันงดงามหาที่เปรียบได้ยากนัก และยังคงอยู่ได้เกือบสมบูรณ์เลยทีเดียว

พระกำแพงขาโต๊ะวัดเสด็จ



    วัดเสด็จเป็นวัดมหานิกาย ประวัติความเป็นมาของวัดนี้ไม่มีหลักฐานและบุคคลใดยืนยันได้ละเอียด แต่พอจะสันนิษฐานว่า สมัยเมืองกำแพงเพชรในอดีต ประชาชนที่ตั้งหลักฐานทำมาหากินอยู่นอกตัวเมือง  คงจะร่วมใจกันสร้างวัดนี้ขึ้น  เดิมชื่อวัดราชพฤกษ์  และเท่าที่ทราบมาสาเหตุที่เรียกชื่อวัดนี้ว่า  ?วัดเสด็จ?  จึงพอจะอนุมานได้เป็น  ๒ ทาง คือ ทางหนึ่งอาจจะมีผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองบ้านเมืองสมัยก่อนเสด็จมาประทับที่วัดนี้อย่างหนึ่ง  อีกอย่างหนึ่งเคยมีผู้สูงอายุเล่าว่า  เคยเห็นพระธาตุเสด็จจากวัดเสด็จนี้    ไปยังเจดีย์ที่วัดพระบรมธาตุฝั่งนครชุมและ  ในบางครั้งพระธาตุก็จะเสด็จมาจากวัดพระบรมธาตุมายังวัดเสด็จ  ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวมานี้  จึงได้มีนามว่า  ?วัดเสด็จ?  ก็เป็นได้
วัดนี้แต่เดิมเขตวัดจะถึงริมแม่น้ำปิง  ทางวัดได้เคยสร้างศาลาท่าน้ำ  ถนนหน้าวัดคงจะไม่มี  แต่จะมีทางสัญจรให้คนเดินผ่านหน้าวัดได้  ครั้นต่อมาเมื่อทางราชการได้ย้ายตัวเมืองมาตั้งใหม่อยู่นอกตัวเมืองเก่า  เพราะต้องอาศัยลำแม่น้ำปิง  ครั้นเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้น  และเสด็จสำรวจปูชนียสถานและโบราณสถานในเมืองเก่าด้วย พระวิเชียรปราการ  ท่านเจ้าเมืองในสมัยนั้น  ได้ขอที่ประชาชนรวมทั้งที่วัดเสด็จด้วย  และได้ตัดถนนจากประตูเมืองเก่า  (ประตูน้ำอ้อยทางทิศตะวันตกเฉียงใต้)  เป็นเส้นตรงมาทางทิศใต้ประมาณ  ๑  กิโลเมตร  และต่อมาถนนนี้ได้รับพระราชทานนามว่า  ?ถนนราชดำเนิน
วัดเสด็จมีรอยพระพุทธบาทจำลองแต่โบราณ เคยเป็นที่เก็บศิลาจารึกนครชุมหลักที่ ๓ และตำนานพระเครื่องเมืองนี้  ทั้งสมเด็จพุฒาจารย์  (โต)  วัดระฆัง  และสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช  ต่างก็ได้เสด็จที่วัดนี้และได้ทำให้หลักฐานดังกล่าวเป็นที่รู้ทั่วไป  โดยเฉพาะการนับถือพระเครื่อง  การไหว้พระธาตุ  และการไหว้พระพุทธบาท  คือมีประเพณีการทำบุญกันสืบมาจนปัจจุบัน  ที่ชาวบ้านเรียกว่า  ทำบุญเพ็ญเดือน  ๓  มีการทำบุญไหว้พระธาตุที่ตำบลนครชุม  และไหว้พระพุทธบาทจำลองที่วัดเสด็จพร้อมกัน
ในปีพ.ศ.2550 วัดเสด็จได้ทำการบูรณะวิหารหลังเก่า ให้งดงามเป็นวิหารตรีมุข  ได้จัดสร้างพระกำแพงสามขา หรือพระกำแพงขาโต๊ะขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์ และหาเงินทุนสำหรับสร้างวิหาร
พระกำแพงขาโต๊ะ จัดว่าเป็นสุดยอดพระบูชาในอดีต ที่มีพุทธลักษณะ และพุทธศิลป์ที่งดงามหาที่เปรียบได้ยาก ทรงไว้ซึ่งพุทธคุณที่ทุกบ้านควรมีไว้บูชา มีความเชื่อว่า มีพุทธคุณทางด้านโชคลาภ โภคทรัพย์เพิ่มพูน อยู่เย็นเป็นสุข เมตตามหานิยม  ค้าขายคล่อง ปัจจุบันคนกำแพงเพชรมีพระบูชาพระกำแพงขาโต๊ะ น้อยมาก พระบูชาที่วัดเสด็จสร้างนี้งดงามและเหมือนกับของโบราณมาก สมควรที่ชาวกำแพงจะได้ไว้กราบไหว้บูชาอย่างที่สุด  ในเทศกาลวันมาฆบูชา หรือเพ็ญเดือนสาม โอกาสสำคัญในการได้เป็นเจ้าของ พระบูชาที่งดงามเช่นนี้มีไม่มาก  และสุดยอดคือได้ทำบุญสร้างวิหารศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดเสด็จพร้อมกัน จึงเป็นอานิสงส์ที่ยิ่งใหญ่มากในชีวิตของเรา



                                      
 พระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชร
   
  


มืองคนแกร่ง  แหล่งนักรบ ผู้เก่งกล้า   คือพระยา   รามรณรงค์  ยิ่งยงแสน    
พระยากำแพงนุช  กระเดื่องแดน         ทุกแว่นแคว้น  ไม่กล้า มาผจญ      
   ตามเสด็จไปสงคราม ปัตตานี       ด้วยวิถี  คนกล้า  ย่ำทุกหน              
พระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลก โปรดบัดดล      ดาบฝักทอง ให้กับคน พิชิตชัย
   พระแสงราชศัสตรา กำแพงเพชร      งามก่องเก็จ คู่กำแพง ทุกสมัย          
เฉลิมฉลอง ดาบฝักทอง ด้วยหัวใจ         ชาวกำแพงเพชร รวมดวงใจ ถวายพระพร  

   พระแสงราชศัสตรา ประจำเมืองกำแพงเพชร มีประวัติความเป็นมาที่มหัศจรรย์ คือเป็นดาบฝักทองคำ
ด้ามทองคำลงยา งดงาม   คมกริบ  เป็นดาบพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระราชทานแก่ พระยากำแพงนุช  เมื่อไปรบชนะเมืองปัตตานี และพระราชทานตำแหน่งให้เป็นที่ พระยารามรณรงค์สงครามรามภักดีอภัยพิริยปรากรมพาหุ กินเมืองกำแพงเพชร     พร้อมทั้งพระราชทานแขกปัตตานีเชลย มาไว้ที่เกาะแขก จำนวน 100 ครอบครัว ..
ดาบฝักทอง คล้าย พระแสงอาญาสิทธิ์พระราชทาน ประจำตระกูลเจ้าเมืองกำแพงเพชร มาหลายชั่วอายุ
คน คือ  พระยากำแพงนาค   พระยากำแพงบัว  พระยากำแพงน้อย  พระยากำแพงเกิด  พระยากำแพงอ้น และตกทอดมาถึงหลวงพิพิธอภัย(หวล ) บุตรพระยากำแพงอ้น ซึ่งมิได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร  
เมื่อเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๔๙  พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้น เมืองกำแพงเพชร หลวงพิพิธอภัย ได้นำดาบฝักทองพระราชทานไปถวายคืนแก่ พระพุทธเจ้าหลวง ดังความในพระราชนิพนธ์ จดหมายเหตุประพาสต้น เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๔๙ ความว่า....
วันที่ ๒๖ หมายจะยังไม่ตื่น แต่หมาเข้าไปปลุก ๒ โมงเศษ กินข้าวแล้วออกไปแจกของให้ผู้ที่มาเลี้ยงดูและรับทั้งผู้หญิงผู้ชาย หลวงพิพิธอภัยผู้ช่วยซึ่งเป็นบุตรพระยากำแพง(อ้น) นำดาบฝักทองซึ่งพระพุทธยอดฟ้าพระราชทานพระยากำแพง(นุช)เป็นบำเหน็จมือ เมื่อไปทัพแขก แล้วตกมาแก่พระยากำแพง(นาค)ซึ่งเป็นสามีแพง บุตรีพระยากำแพง(นุช) บุตรพระยากำแพง(นาค)และแพงภรรยาได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองกำแพง ต่อมา ๔ คน คือ พระยากำแพง(บัว) พระยากำแพง(เถื่อน) พระยากำแพง(น้อย) พระยากำแพง(เกิด) ได้รับดาบนี้ต่อๆกันมา ครั้นพระยากำแพง(เกิด)ถึงอนิจกรรม ผู้อื่นนอกจากตระกูลนี้มาเป็นพระยากำแพงหลายคน ดาบตกอยู่แก่นายอ้นบุตรพระยากำแพง(เกิด) ซึ่งเป็นบิดาหลวงพิพิธอภัย ภายหลังนายอ้นได้เป็นพระยากำแพง ครั้นพระยากำแพง(อ้น)ถึงแก่กรรม ดาบจึงตกอยู่กับหลวงพิพิธอภัยบุตรผู้นำมาให้นี้ พิเคราะห์ดูก็เห็นจะเป็นดาบพระราชทานจริง เห็นว่าเมืองกำแพงเพชรยังไม่มีพระแสงสำหรับเมืองเช่นแควใหญ่ ไม่ได้เตรียมมา จึงได้มอบดาบเล่มนี้ไว้เป็นพระแสงสำหรับเมือง ให้ผู้ว่าราชการรักษาไว้สำหรับใช้ในพระราชพิธี   .....


พระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชร จึงเป็นพระแสงที่ได้รับพระราชทานจากสองมหาราช ผู้ยิ่งใหญ่
คือจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และจากพระปิยมหาราช นับได้ว่าไม่เหมือนกับพระแสงราชศัสตราองค์ใด ในประเทศไทย จึงมีค่าควรเมืองกำแพงเพชรยิ่งนัก
ผู้รับพระราชทานดาบฝักทองนี้ไว้คือ พระวิเชียรปราการ  ผู้ว่าราชการเมืองกำแพงเพชรในขณะนั้น
ลักษณะดาบฝักทอง พระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชร เรียกลักษณะนามเป็นองค์ เป็นพระแสงด้ามทอง ฝักทอง ลักษณะอาวุธประจำกายมิได้ไว้รบระยะห่าง  แต่ไว้รบเมื่อประชิดตัว เป็นพระแสงดาบคู่พระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมีลักษณะเหมือนดาบล้านนา คือเรียวยาวและขนาดเล็ก
มีความยาว    88.5 เซนติเมตร     ด้ามยาว      39.5 เซนติเมตร
ฝักยาว      49 เซนติเมตร        ใบดาบยาว      45.5 เซนติเมตร
ใบดาบกว้าง   2.4 เซนติเมตร
มีน้ำหนักของด้ามพร้อมใบพระแสงราชศัสตรา      471 กรัม
น้ำหนักของฝักพระแสงราชศัสตรา         165.2 กรัม
            รวมน้ำหนักพระแสงราชศัสตรา         632.2 กรัม
เนื่องจากอายุของพระแสงราชศัสตรามากกว่า 300 ปี   และมีลักษณะกรำศึก ทำให้มีบางส่วนชำรุดไป คือปลายฝัก ปลอกฝักทองหลุดหายไป ด้ามและฝักมีความหม่นหมอง ไม่เปล่งประกายโลหะทองคำและใบมีคราบสนิมจับอยู่บางส่วน
นายวิทยา  ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตซ่อมอนุรักษ์และจัดกิจกรรมสมโภชพระแสงราชศัสตรา   ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้อนุรักษ์พระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชรได้
พระครูวิสุทธิธรรมภาณ ( พระมหาสมจิตร อภิจิตโต) วัดบวรนิเวศวิหาร  กรุงเทพมหานคร  ได้มอบทองคำ น้ำหนัก 46.4กรัม สำหรับใช้ในการอนุรักษ์พระแสงราชศัสตราประจำเมืองและสนับสนุนค่าใช้จ่ายอื่นๆในการดำเนินการของช่างผู้ปฏิบัติการทั้งหมด
   กรมศิลปากรผู้รับผิดชอบในการอนุรักษ์พระแสงราชศัสตราประจำเมือง ได้มอบหมายให้สำนักช่างสิบหมู่ กลุ่มงานช่างโลหะและช่างศิราภรณ์ กลุ่มประณีตศิลป์และการช่างไทย ได้เริ่มลงมือปฏิบัติการอนุรักษ์พระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชร ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2550 ถึงวันอังคารที่ 11 ธันวาคม 2550 โดย
นายยงยุทธ   วรรณโกวิท นายช่างประณีตศิลป์
   เมื่อแล้วเสร็จ ส่งคืนให้จังหวัดกำแพงเพชรในวันที่ 21 ธันวาคม 2550 และได้จัดงานเฉลิมฉลอง พระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชรในโอกาสร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 80 พรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2550.....  ในวันที่ ๒๙ -๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๐

             คำว่า " พระแสงราชศัสตรา "  หมายถึงอาวุธมีคมของพระมหากษัตริย์ที่ใช้สำหรับเป็นเครื่องฟันแทง  หมายรวมถึงอาวุธทุกชนิด   แต่ในกรณีนี้จะหมายความเฉพาะพระแสงดาบ  ซึ่งอาจพิจารณาแบ่งแยกนัยตามความสำคัญของพระแสงราชศัสตราได้เป็นสองประการ ดังนี้
               ประการแรก  พระแสงราชศัสตราถือเป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศอย่างหนึ่งในชุดเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์  อันแสดงฐานะความสำคัญของพระมหากษัตริย์  และพระราชอำนาจอันเป็นอาญาสิทธิ์สูงสุดในการปกครองแผ่นดิน  ซึ่งมีมานับแต่ครั้งอดีตตราบจนถึงปัจจุบัน  พระแสงราชศัสตราซึ่งใช้เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศแห่งพระมหากษัตริย์นี้มีองค์เดียว  คือ "พระแสงขรรค์ชัยศรี"  ถือได้ว่าเป็นพระแสงสำคัญเหนือกว่าพระแสงทั้งปวง  กำหนดให้ใช้ในการพระราชพิธีสำคัญ  อาทิ  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก  พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
          ประการที่สอง  พระแสงราชศัสตราถือเป็นเครื่องราชูปโภคประเภทเครื่องราชศัสตราวุธ  ซึ่งหมายรวมถึงพระแสงทุกองค์ ทั้ง กระบี่  หอก  ดาบ  ง้าว  หลาว  แหลน ฯลฯ  และในบรรดาพระแสงเหล่านี้มีพระแสงดาบสำคัญองค์หนึ่งที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกใช้ประจำพระองค์  และถือเป็นพระแสงสำคัญประจำรัชกาล
   เมื่อพระมหากษัตริย์พระราชทานพระแสงราชศัสตราแก่ผู้ใด หมายความว่า มีพระราชประสงค์ให้บุคคลนั้น มีอำนาจสิทธิขาดในการปฏิบัติราชกิจแทนพระองค์ในวาระสำคัญต่าง ๆ เช่น การทำศึกสงคราม หรือการปกครองดูแลหัวเมืองต่างพระเนตรพระกรรณ ....พระแสงราชศัสตรา จึงถือเป็นพระแสงดาบอาญาสิทธิ์
 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ จะฟื้นฟูธรรมเนียมการพระราชทานพระแสงราชศัสตราไว้ประจำเมืองต่าง ๆ เพื่อเป็นเครื่องหมายแทนพระองค์และใช้สำหรับแทงน้ำในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เป็นสำคัญ แต่ไม่มีอำนาจสิทธิ์ขาดที่จะใช้ลงโทษเหมือนพระแสงดาบอาญาสิทธิ์ในสมัยก่อน
            มีประเพณีสำคัญสำหรับพระแสงราชศัสตราว่า เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จไปประทับแรมในเมืองใด เมื่อใด ให้ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายพระแสงราชศัสตรา มาไว้ประจำพระองค์ตลอดเวลาที่ประทับอยู่ในเมืองนั้น
   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริให้รักษาธรรมเนียมการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระแสงราชศัสตราประจำเมืองไว้เพียงประการเดียว...... โดยมิได้พระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองเพิ่มเติมอีก ด้วยมีพระราชนิยมที่จะพระราชทาน ?พระพุทธนวราชบพิตร? เพื่อเป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัดต่าง ๆ ทั่วพระราชอาณาจักร ซึ่งพระพุทธรูปที่พระราชทานนั้นจะเป็นที่ตั้งแห่งคุณพระรัตนตรัยอันเป็นที่เคารพสูงสุด และเป็นนิมิตหมายสำคัญของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนไทยทั้งชาติ   





พระแสงราชศัสตราองค์นี้  นับว่าเป็นโบราณวัตถุที่ล้ำค่ายิ่งของจังหวัดกำแพงเพชรสมควร ที่ชาว
กำแพงเพชรทุกคนควรได้ภูมิใจ...ที่มีโอกาสได้อนุรักษ์พระแสงราชศัสตราองค์นี้ คู่กับชาวกำแพงเพชรตลอดไป  
การสมโภชพระแสงราชศัสตรา ประจำเมืองกำแพงเพชร เมื่อซ่อมอนุรักษ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว...จัดเป็นกิจกรรมใหญ่เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา......  ขอพระองค์ทรงพระเจริญ.....


                             สันติ   อภัยราช
                        ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร

เหรียญปลอดภัย อานุภาพแห่งเหรียญรูปเหมือนเมืองกำแพงเพชร

       สุดยอดแห่งเหรียญ รูปเหมือน เมืองกำแพงเพชร ต้องยกให้ เหรียญรูปเหมือนของหลวงปู่พระวิบูลวชิรธรรม (สว่าง อุตตโร)  วัดคฤหบดีสงฆ์ ตำบลท่าพุทรา อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหรียญปลอดภัย
      เหรียญปลอดภัย สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึก เนื่องจากการประสบอุบัติเหตุของหลวงปู่แล้วปลอดภัย  มีคุณอภินิหารอย่างมากมาย ทำให้ต้องสร้างขึ้นอีกหลายครั้ง มีข้อสังเกตว่าเหรียญยอดนิยมนี้ ที่ตัว ป ปลา มีขีด เหรียญอื่นไม่มี จึงเป็นจุดสังเกตที่สำคัญ
         ลักษณะด้านหน้าเป็นรูปครึ่งองค์ ด้านบนมีตัวอักษรว่า ที่ระฤก ? ปลอดภัย? ด้านล่างมีชื่อ พระวิบูลวชิรธรรม (อุตตโร)  สร้างด้วยเนื้ออัลปาก้า เพียงเนื้อเดียว ด้านหลัง เป็นยันต์ปลอดภัย และ ๒๖ เม.ย ๒๕๑๐ รุ่นแรก สร้าง หนึ่งพันเหรียญ
         รุ่นที่ ๑ หมดไปอย่างรวดเร็ว  หลวงปู่จึงสร้างเพิ่มเติม เป็นรุ่นที่ ๒ ในปีเดียวกัน มึข้อแตกต่างเล็กน้อย ที่ สระ อะ คำว่าที่ระฤก  เลือนไป จึงกลายเป็นข้อสังเกต
   รุ่นที่ ๓ พิมพ์เดียวกัน  มีข้อสังเกตสำคัญคือ เนื้ออัลปาก้า ชุบนิเกิล  รุ่นนี้มีประมาณ ห้าพันเหรียญ สร้างในปี เดียวกัน
   รุ่นที่ ๔ พิมพ์เดียวกัน กับรุ่นแรก มี สองพิมพ์ คือที่บ่าของ หลวงปู่ มีรอยแตก สร้างด้วยอัลปาก้า ชุบนิเกิล เช่นกัน สร้างประมาณ ๕๐๐๐ เหรียญ
              รุ่นที่ ๕ พิมพ์ เศียรโล้น แกะแม่พิมพ์ใหม่ ไม่มีผม เนื้ออัลปาก้า ชุบนิเกิล  สร้างห้าพันเหรียญ
     รุ่นที่ ๖ พิมพ์สายฝน เหตุที่เรียกเช่นนี้เพราะ มาลายขนแมวทั่วไป เต็มเหรียญ  เนื้ออัลปาก้า ชุบนิเกิล สร้างสามพันเหรียญ
      นอกจากนั้น มีการสร้างอีกหลายรุ่น ทั้งผู้สร้างถวาย ทั้งของลูกศิษย์แล้วให้หลวงพ่อปลุกเสก ทำให้ เหรียญปลอดภัยมีมากมาย ในตลาดพระ ในการประกวดพระเครื่อง ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร ทำให้ราคาของ เหรียญปลอดภัยมีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นที่ต้องการของคนทั่วไปทั้งแผ่นดิน บางเหรียญมีราคาเช่าถึง เลข หกหลัก  และนับว่าเหรียญปลอดภัย หาได้ยากขึ้นทุกวัน
         ส่วนคุณวิเศษ ของเหรียญปลอดภัย ขึ้นอยู่กับ ความเชื่อถือ และประสบการณ์ที่ได้พบของแต่ละท่าน ไม่สามารถ บอกได้ว่า มีคุณวิเศษอย่างไรบ้าง จึงได้บันทึกเรื่องของเหรียญปลอดภัย ไว้ ในรายการโทรทัศน์วัฒนธรรม

                                                                               สันติ อภัยราช


      

   

               





















                     










  

    
  



















« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 25, 2011, 01:14:23 pm โดย apairach » บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!