จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
มีนาคม 28, 2024, 11:16:53 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: บทประพันธ์ ที่สำคัญของพระเจ้าตากสินมหาราช / หลักฐานชิ้นเอกทางประวัติศาสตร์  (อ่าน 14350 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1410


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: ธันวาคม 24, 2011, 01:26:29 pm »

พระราชปรารภของพระเจ้ากรุงธนบุรี

 

อันตัวพ่อ ชื่อว่า พระยาตาก
ทนทุกข์ยาก กู้ชาติ พระศาสนา
ถวายแผ่นดิน ให้เป็น พุทธบูชา
แด่ศาสนา สมณะ พระพุทธโคดม
ให้ยืนยง คงถ้วน ห้าพันปี
สมณะพราหมณ์ ปฏิบัติ ให้พอสม
เจริญสมถะ วิปัสนา พ่อชื่นชม
ถวายบังคม รอยบาท พระศาสดา
คิดถึงพ่อ พ่ออยู่ คู่กับเจ้า
ชาติของเรา คงอยู่ คู่พระศาสนา
พระพุทธศาสนา อยู่ยง คู่องค์กษัตรา
พระศาสดา ฝากไว้ ให้คู่กัน


๑.รามเกียรติ์ ฉบับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มี ๔ ตอน คือ

       ตอนพระมงกุฎ

      หนุมานเกี้ยวนางวานริน


ท้าวมาลีวราชว่าความ


และทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกลดปลุกหอกกบิลพัท


พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
ใช้คำประพันธ์ ร้อยกรองประเภทกลอนบทละคร
เพื่อใช้เล่นละคร และเพื่อฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม

 

 ท้าวมาลีวราชว่าความ
 ทศกรรฐ์แค้นใจมาก คิดถึงท้าวมาลีวราชผู้เป็นปู่ ซึ่งมีวาจาประกาศิต และมีความเที่ยงธรรม ที่ภูเขายอดฟ้า ควรจะเชิญมาลงกาและกล่าวโทษพระรามพระลักษมณ์ เมื่อท้าวมาลีวราชเชื่อพระรามพระลักษมณ์จะแพ้ พร้อมกับให้นนยวิกและวายุเวกไปเชิญท้าวมาลีวราชมา ท้าวมาลีวราชมีความสงสัย จึงถามนนยวิกวายุเวก ว่า  

".......  อันลักษมณ์รามพี่น้องเป็นไฉน
เขาอยู่ถิ่นฐานเมืองใด  สุริยวงศ์พงศ์ไหนจึงอาจนัก
อันว่าทศเศียรอสุรี  ฤทธีปราบได้ทั้งไตรจักร
ถึงเทวินอินทรพรหมยมยักษ์   ก็เกรงศักดาเดชกุมภัณฑ์
ทั้งกรุงลงกามหานิเวศน์  พระสมุทรเป็นเขตคูกั้น
กว้างลึกล้อมรอบเป็นขอบคัน  ข้าศึกนั้นข้ามมาอย่างไร
หรือเขารู้เดินน้ำดำดิน  เหาะบินมาได้หรือไฉน
สาเหตุเพทพาลประการใด  จึงตั้งใจเคี่ยวฆ่าราวี "  

นนยวิกและวายุเวก จึงเล่าตามคำเสี้ยมสอนของทศกรรฐ์ พร้อมกับว่าทั้งสองคนเป็นมนุษย์มีฤทธิ์อำนาจด้านการใช้ศร ได้คุมพลลิงจองถนนข้ามไปลงกา แล้วอ้างเป็นสามีนางสีดามาฆ่าเหล่ายักษ์  ท้าวมาลีวราชจึงรู้ว่าพระรามและพระลักษมณ์ เป็นโอรสท้าวทศรถและท้าวอัชบาลก็เคยเป็นเพื่อนสนิทกันมาก่อน และได้ก่อสงครามขึ้นเพราะ ผู้หญิง ควรจะไปเกลี้ยกล่อมให้เป็นมิตรทั้งสองฝ่าย จึงยกทัพมาพักบริเวณสมรภูมิเพื่อตัดสินความ  

" ....... ใกล้ถึงลงกากรุงไกร  ภูวนัยถวิลจินดา
แม้นกูจะเข้าไปยังเมืองยักษ์   พระรามพระลักษมณ์จะกังขา
ถ้าไปเข้าข้างทัพอยุธยา   ทศพักตร์ยักษาจะน้อยใจ
จำจะหยุดอยู่แต่ในที่รบ  ตามขนบตัวกูเป็นผู้ใหญ่
จะไปหาที่สมรภูมิชัย   อย่าให้นินทาเป็นราคี "

แม้ว่าทศกรรฐ์จะยกทัพมาเชิญเสด็จเข้าเมืองก็ไม่ยอมเข้า เพราะเกรงจะเป็นข้อครหาว่าเข้าข้างฝ่ายทศกรรฐ์ แล้วเชิญเหล่าเทพยดามาประชุมเป็นสักขีพยาน
ทศกรรฐ์ชี้แจงว่า ได้ไปเที่ยวป่าพบกับนางสีดา ไม่มีบิดามารดาและคู่ครอง จึงรับมาเลี้ยงที่สวนขวัญ ต่อมามีมนุษย์ชื่อรามและลักษมณ์ คุมวานรสร้างถนนข้ามมาลงกา อ้างตัวว่าเป็นผัวและฆ่าเหล่ายักษ์ตายลงเป็นอันมาก ท้าวมาลีวราชฟังทศกรรฐ์กล่าวโทษอีกฝ่ายหนึ่ง จึงให้พระวิศณุกรรมไปเชิญพระรามกับพระลักษมณ์ ชี้แจงด้วยความยุติธรรม
พระรามได้เล่าให้ฟังตามความเป็นจริง ท้าวมาลีวราชฟังแล้วไม่รู้ว่าใครถูกใครผิด จึงให้ไปตามนางสีดามาไต่สวนด้วย ท้าวมาลีวราชเห็นนางสีดาก็ประจักษ์แก่ใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เมื่อนั้น   ท้าวมาลีวราชรังสรรค์  
เห็นนางสีดาวิลาวัณย์   งามดั่งดวงจันทร์ไม่ราคี
มาตรแม้นถึงองค์พระอุมา   นางสุชาดาโฉมศรี  
นางสุจิตราเทวี   สุนันทานารีอรทัย
ทั้งสุธรรมานงคราญ   จะเปรียบปานเยาวมาลย์ก็ไม่ได้
ทั่วสวรรค์ชั้นฟ้าสุราลัย  ไกลกันกับโฉมนางสีดา
กระนี้แหละหรือทศกรรณฐ์  จะไม่ผูกพันเสน่หา
พาทั้งโคตรวงศ์ในลงกา  แสนสุรีโยธาวายปราณ
แต่กูผู้ทรงทศธรรม์   ยังหวาดหวั่นเคลิ้มไปด้วยสงสาร
หากมีอุเบกขาญาน  จึงประหารเสียได้ไม่ไยดี


เมื่อเห็นว่าคำให้การของพระรามและนางสีดาสอดคล้องกัน รวมทั้งเหล่าเทวดาในที่นั่นก็ยืนยันว่าเป็นสัตย์จริง แต่ทศกรรฐ์ได้ทูลว่า เหล่าเทวดาทั้งหลายเกลียดชังตน และที่พระรามมาก่อสงครามที่เมืองยักษ์นั้น พระอินทร์ยังประทานรถเวชยันต์พร้อมพระมาตุลีให้ เมื่อมาเป็นพยานก็คงจะต้องดลใจให้นางสีดาพูดตามพระราม ท้าวมาลีวราชโกรธทศกรรฐ์ที่โกหก จึงให้ส่งนางสีดาคืน
" ซึ่งเอ็งกล่าวหาทุกข้อ  ล้วนแกล้งติดต่อให้เหมาะมั่น
สืบสวนก็ไม่ได้เป็นสัตย์ธรรม   สารพันทรลักษณ์อัปรีย์
เห็นจริงว่าตัวบังอาจ   ไปลอบลักอัครราชมเหสี
ขององค์พระรามจักรี  อสุรีเร่งส่งนางสีดา "

ทศกรรฐ์ไม่ยอมคืนนางสีดา ยกทัพกลับลงกาโดยไม่ไหว้ลาท้าวมาลีวราช ด้วยความแค้นที่ได้กล่าวประจานตนให้อับอาย

บทละครเรื่องรามเกียรติ์ฉบับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
         บทละครเรื่องรามเกียรติ์ฉบับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงพระราชนิพนธ์เมื่อพ.ศ.๒๓๑๓ เพื่อใช้เล่นละครหลวงด้วย ในพ.ศ.๒๓๑๓ นี้พระองค์ทรงยกกองทัพไปปราบเจ้านครศรีธรรมราชจึงโปรดให้หัดละครหลวงขึ้น และทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์เพื่อใช้เล่นละครและใช้ในงานสมโภชต่างๆ
         ลักษณะการแต่ง ทรงพระราชนิพนธ์เป็นกลอนบทละคร และบอกชื่อเพลงหน้าพาทย์ไว้ด้วย ต้นฉบับบทละครเรื่องนี้เป็นสมุดไทยดำ ตัวหนังสือเป็นเส้นทอง มีจำนวน ๔ เล่มสมุดไทย
        เนื้อเรื่อง มี ๔ ตอน คือ
      ๑.ตอนพระมงกุฎประลองศร เนื้อเรื่องตอนนี้เป็นตอนท้ายของเรื่องรามเกียรติ์แต่ทงพระราชนิพนธ์ขึ้นก่อนตอนอื่นๆ เนื้อเรื่องมีว่า นางสีดามาอาศัยอยู่กับฤาษีวัชมฤคและประสูติพระมงกุฎ พระฤาษีได้ชุบพระลบเป็นเพื่อนกับพระมงกุฏและชุบศรให้เป็นอาวุธพระมงกุฏและพระลบได้ประลองศรยิงต้นรัง เสียงศรดังกึกก้องจนถึงกรุงอโยธยา พระรามได้ยินเสียงจึงประกอบพิธีอัศวเมธ โดยมีพระภรต พระสัตรุด และหนุมานคุมกองทัพตามม้าอุปการ พระมงกุฎจับม้าอุปการ จึงรบกับหนุมาน หนุมานเสียที พระภรตจึงเข้าช่วยและจับพระมงกุฎมาถวายพระราม พระลบตามไปช่วยได้และพากันหนี พระรามยกกองทัพออกติดตาม จึงรบกับพระมงกุฎ ภายหลังจึงทราบว่าเป็นพ่อลูกกัน
        ๒. ตอนหนุมานเกี้ยวนางวาริน เนื้อเรื่องตอนแรกขาดหายไป เริ่มแต่หนุมานพบนางวารินในถ้ำ นางวารินนั้นเป็นนางฟ้าถูกพระอิศวรสาปให้มาอยู่ในถ้ำ คอยพบหนุมานเพื่อบอกทางแก่หนุมานไปฆ่าวิรุณจำบัง แล้วจึงจะพ้นคำสาป เมื่อหนุมานพบนางวาริน นางไม่เชื่อว่าเป็นหนุมาน หนุมานจึงต้องหาวเป็นดาวเป็นเดือนให้ดู นางจึงเชื่อหนุมานเกี้ยวนางวารินและได้นางเป็นภรรยา ต่อมาหนุมานไปฆ่าวิรุณจำบังตามที่นางวารินบอก เมื่อฆ่าวิรุณจำบังแล้ว หนุมานจึงกลับมายังถ้ำ และส่งนางวารินกลับเขาไกรลาสตามที่ได้สัญญาไว้กับนาง
         ๓. ตอนท้าวมาลีวราชว่าความ   เป็นตอนต่อจากหนุมานเกี้ยวนางวาริน ทศกัณฐ์ทราบว่าวิรุณจำบังตาย จึงทรงทูลเชิญท้าวมาลีวราชพระอัยกาผู้มีวาจาสิทธิ์มาว่าความท้าวมาลีวราชเสด็จมายังสนามรบ
ทศกัณฐ์เข้าเฝ้ากล่าวโทษพระราม ท้าวมาลีวราชจึงทรงตรัสสั่งให้พระรามและนางสีดาเข้าเฝ้าเพื่อไต่ถามความจริง นางสีดาทูลตามความเป็นจริงท้าวมาลีวราชจึงตรัสให้ทศกัณฐ์คืนนางสีดาแก่พระราม แต่
ทศกัณฐ์ไม่ยอม ท้าวมาลีวราชจึงทรงสาปแช่งทศกัณฐ์ และอวยพรให้แก่พระรามแล้วเสด็จกลับ
        ๔. ตอนทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด ตอนนี้เป็นตอนต่อจากท้าวมาลีวราชว่าความ เรื่องมีว่า ทศกัณฐ์มีความแค้นเทวดาที่เป็นพยานให้แก่พระราม จึงทำพิธีปลุกเสกหอกกบิลพัทที่เชิงเขาพระสุเมรุ และทำพิธีเผารูปเทวดา พระอิศวรจึงมีเทวบัญชาให้เทพบุตรพาลีมาทำลายพิธี ทศกัณฐ์พุ่งหอกกบิลพัทหมายสังหารพิเภก พิเภกหลบไปอนยู่หลังพระลักษณ์ พระลักษณ์ต้องหอกกบิลพัทสลบไป พิเภกทูลพระรามให้หายามาแก้ไขพร้อมแม่หินบดยาที่เมืองบาดาล และลูกหินบดยาที่ทศกัณฐ์หนุนนอน พระรามให้หนุมานไปหายาพร้อมแม่หินและลูกหิน หนุมานเข้าเมืองลงกาเพื่อไปนำลูกหินบดยามา และผูกผมทศกัณฐ์กับผมนางมณโฑไว้ด้วยกัน พระฤาษีโคบุตรต้องมาช่วยแก้ผมให้
        ตัวอย่าง
๑. ตอนหนุมานเกี้ยวนางวาริน
                  เจ้านี้ยศยิ่งยอดกัญญา       สาวสวรรค์ชั้นฟ้าไม่มีสอง
           อย่าแคลงพี่จะให้แจ้งน้อง        ขอต้องนิดหนึ่งนารี
          นี่แน่เมื่อพบอสุรา                     ยังกรุณาบ้างหรือสาวศรี
          หรือเจ้ากลัวมันราวี                  จูบทีพี่จะแผลงฤทธา
๒. ตอนทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด
         ทศกัณฐ์สนทนากับนางมณโฑจะเผารูปเทวดา
                  ฝ่ายพี่จะปั้นรูปเทวดา       บูชาเสียให้มันม้วยไหม้
         ครั้นถ้วนคำรบสามวันไซร้          เทวัญจะบรรลัยด้วยฤทธา
         ไม่ยากลำบากที่ปราบ                 ราบรื่นมิพักไปเข่นฆ่า
         พี่ไม่ให้ม้วยแต่นางฟ้า               จะพามาไว้ในธานี
       ฤาษีโคตบุครสอนทศกัณฐ์ แสดงภูมิธรรมชั้นสูงของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
                  อันได้เนกขัมประหารแล้ว    คือแก้ววิเชียรไม่มีค่า
         ทั้งฤทธิ์และจิตวิชชา                    อีกกุพนามโนมัย
         กอปรไปด้วนโสตประสาทญาณ    การชาติหน้าหลังระลึกได้
         ถึงนั่นแล้วอันจะบรรลัย                 ไม่มีกะตัวถ่ายเดียว
         สำนวนโวหาร ใช้ถ้อยคำพื้นๆ และเหมาะสมกับท้องเรื่อง ทรงถือเนื้อความเป็นสำคัญ กระบวนกลอนจึงฟังไม่ราบรื่นนัก แต่มีลักษณะขึงขัง การดำเนินเรื่องรวดเร็ว บางตอนสอดแทรกอารมณ์ขันไว้ เช่น ตอนหนุมานเกี้ยวนางวาริน ตอนทศกัณฐ์สนทนากับนางมณโฑถึงเรื่องเผารูปเทวดา นอกจากนั้นตอนพระฤาษีโคตบุตรสอนทศกัณฐ์ก็ยังแสดงภูมิธรรมอันลึกซึ้งไว้ด้วย
       คุณค่าของหนังสือ เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงฟื้นฟูวรรณคดีในรัชสมัยของพระองค์ และแสดงให้เห็นถึงการเอาพระทัยใส่ในการละครอีกด้วย บทละครที่ทรงคัดเลือกมาทรงพระราชนิพนธ์ก็เป็นตอนที่มีคุณธรรม ปลุกปลอบให้ประชาชนมีขวัญและกำลังใจดีขึ้น
ดั่งเช่นตอนพระมงกุฎประลองศร เมื่อพระรามกับพระมงกุฎเข้าใจกันแล้วก็ทำให้เกิดความสงบสุข บางตอนก็สอดแทรกคำสอนทางพระพุทธศาสนาไว้ เช่น พระฤาษีโคตบุตรสอนทศกัณฐ์ให้มีศีลและมีหิริโอตตัปปะ เป็นต้น
       อิทธิพลของเรื่องรามเกียรติ์ที่มีต่อสังคมและวัฒนธรรมไทย
รามเกียรติ์เป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมสูงในหมู่คนไทย เพราะเนื้อเรื่องมีความสนุกสนาน ประกอบด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์และสอดแทรกคุณธรรมไว้ อีกทั้งอุปนิสัยของตัวละครก็สอดคล้องกับวัฒนธรรมของไทย เช่น นางสีดาเป็นแบบแผนของหญิงที่มีความชื่อสัตย์ต่อสามี พระรามเป็นแบบแผนของลูกที่ดี เป็นต้น รามเกียรติ์จึงมีอิทธิพลต่อสังคมไทยหลายประการดังนี้ คือ
         ๑. ด้านภาษาและวรรณคดี ีมีสำนวนที่มาจากเรื่องรามเกียรติ์หลายสำนวน เช่น ลูกทรพี เหาะเกินลงกา สิบแปดมงกุฎ ราพณาสูร ตกที่นั่งพิเภก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผู้นิยมแต่งรามเกียรติ์ ทำให้เกิดรามเกียรติ์หลายสำนวน
         ๒. ด้านศิลปกรรม รามเกีรติ์ก่อให้เกิดแรงดลใจให้จิตรกรนำเรื่องราวไปวาดภาพตามฝาผนังโบสถ์ วิหาร เช่นเดียวกับเรื่องชาดกนอกจากนั้นยังมีการแกะสลัก การปั้นตัวละครต่างๆ ในเรื่องรามเกียรติ์ เพื่อใช้ประดับในที่ต่างๆ
        ๓. ด้านนาฏศิลป์ เรื่องนี้นิยมนำมาแสดงโขน ละคร หนังใหญ่ จึงนับว่ามีอิทธิพลต่อนาฏกรรมไม่ใช่น้อย
         ๔. ด้านประเพณี รามเกียรติ์ให้ความรู้เกี่ยวกับด้านประเพณีต่างๆโดยเฉพาะพระราชพิธี เช่น พระราชพิธีวิวามงคล พระราชพิธีราชาภิเษก พิธีปล่อยม้าอุปการ การยกทัพ เป็นต้น
         ๕. ด้านความเชื่อ พระรามเป็นพระนารายณ์อวตาร ฉะนั้น พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ จะใช้พระนามของพระรามเพื่อความเป็นสิริวัสดิมงคล เช่น พระรามาธิบดี พระราเมศวร เป็นต้น
         นอกจากนั้น เรื่องรามเกียรติ์มีอิทธิพลในด้านโหราศาสตร์ และการใช้ชื่อในรามเกียรติ์เป็นชื่อของสถานที่ ชื่ออาหาร เป็นต้น  เช่น ถนนพระราม ๔ (ชื่อสถานที่) พระรามลงสรง(ชื่ออาหาร)  รามเกียรติ์จึงมีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมิใช่น้อย


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 24, 2011, 01:59:27 pm โดย apairach » บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!