จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
เมษายน 19, 2024, 10:01:59 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ประพาสเมืองกำแพงเพชร  (อ่าน 4095 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1413


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: พฤศจิกายน 19, 2011, 09:55:40 pm »

ตอนที่ ๑ ที่ควรไปดูตามทางไปกำแพงเพชร[/color]



? บางคนถึงกับเปล่งอุทานวาจาว่าเมืองเก่านั้นจะไปดูอะไรป่านนี้ จนปรักหักพังเสียหมดแล้ว เพราะคนเรามีความคิดเช่นนี้ เรื่องราวของชาติจึงได้สูญเร็วนัก ชาวเราไม่รู้สึกลอายแก่ชาติอื่น ๆ เขาบ้างเลย น่าจะประสงค์ที่จะอวดว่าเราเปนชาติที่แก่กลับอาจจะลืมความแก่ของชาติเสีย อยากแต่จะตั้งหนึ่งใหม่ เริ่มด้วยสมัยที่รู้สึกว่าเดินไปสู่ทางจำเริญอย่างแบบยุโรปแล้วเท่านั้น ข้อที่ประสงค์เช่นนี้เพราะประสงค์จะให้ชาวยุโรปนิยมว่าชาติไทยไม่เคยเป็นชาติ "ป่า" เลย พอเกิดขึ้นก็จำเริญเทียมหน้าเพื่อนทีเดียว ข้อนี้เป็นข้อที่เข้าใจผิดโดยแท้ ชาวยุโรปไม่นับถือของใหม่ทั้งชาติใหม่ นิยมในของโบราณและชาติที่โบราณมากกว่าทั้งนั้น ในหมู่เมืองในประเทศยุโรปเองแข่งกันอยู่เสมอว่าชาติไหนจะค้นคว้าเรื่องราวของชาติได้นานไปกว่ากัน?

.                                            
พระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง


หนังสือนี้กล่าวถึงเรื่องไปเที่ยวเมืองพระร่วงก็จริง แต่ตามหนทางไปมามีที่ซึ่งควรดูหลายแห่ง ที่เหล่านี้ถึงแม้จะมิได้เป็นที่เกี่ยวข้องกับพระร่วงก็จริง แต่เป็นที่ควรดู เพราะมีเรื่องนับเนื่องเกี่ยวกันอยู่ในเรื่องของชาติไทย จึงเห็นว่าแม้จะกล่าวถึงบ้างก็ไม่สู้เสียเวลาอ่านมากนัก

ข้าพเจ้าออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ร.ศ.๑๒๖ โดยสารรถไฟไปจนถึงปากน้ำโพมิได้แวะแห่งใด ที่เมืองนครสวรรค์เองมีของโบราณที่ปรากฏอยู่คือค่ายสันคู ซึ่งมีแต่เทินดินและคูเหลือเป็นแนว ได้ทราบว่ายังพอเห็นเป็นรูปเป็นร่างได้ แต่หาเวลาตรวจตรานานไม่ได้ ทั้งไม่เชื่อว่าจะค้นพบอะไรที่เป็นหลักฐานหรือที่น่าดู จึงเลยไม่ได้พยายามต่อไป วันที่ ๖ มกราคม ออกจากนครสวรรค์ขึ้นทางแควน้อยโดยเรือแม่ปะ การเดินทางย่อมจะต้องช้าอยู่ เพราะจะต้องใช้ถ่อขึ้นไปตลอดทาง วันที่ ๘ จึงถึงที่ซึ่งมีของควรดู คือถึงบ้านหูกวาง จอดเรือที่ฝั่งตะวันตก

ของควรดูที่บ้านหูกวางนี้ ก็คือถนนที่ถมข้ามบึงหูกวาง เมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือเสด็จจับช้างที่นี้ ผู้ที่แม่นอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงทวาราวดีก็คงจะจำได้ว่า เมื่อปีมะเมียจัตวาศก จุลศักราช ๑๐๖๔ พระพุทธเจ้าเสือได้เสด็จโดยขบวนเรือขึ้นไปที่นครสวรรค์ ขึ้นตั้งตำหนักพลับพลาอยู่ตำบลบ้านหูกวาง แล้วทรงพระกรุณาให้ตั้งค่ายปีกกาล้อมฝูงช้างเถื่อน ณ ป่ายางกองทอง และให้ตั้งค่ายมั่นสำหรับจะกันช้างเถื่อนเข้าจับนั้น ต่อนั้นมามีข้อความกล่าวไว้ว่า ในระหว่างค่ายหลวงที่ประทับ และค่ายล้อมช้างต่อกันนั้น มีบึงใหญ่หลวงขวางอยู่หว่างกลาง และทางเดินลัดตัดตรงไปค่ายล้อมนั้นต้องผ่าบึงใหญ่ไปจึงใกล้ ถ้าและจะเดินหลีกไปให้พ้นบึงนั้นจะมีระยะอ้อมวงไปไกลนัก จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสองพระองค์ให้เป็นแม่กอง เกณฑ์คนถมถนนหลวงเป็นทางสถลมารคข้ามบึงใหญ่นั้นไปให้สำเร็จแต่ในเพลากลางคืน รุ่งสางขึ้นจะเสด็จพระราชดำเนินช้างพระที่นั่งข้ามไป ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันรุ่งขึ้นนั้น คือ ช้างพระที่นั่งไปตกหล่มกลางบึง และทรงพระพิโรธสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธออย่างไรบ้างนั้น เป็นเรื่องราวที่คนโดยมากย่อมจำได้โดยแม่นยำ ไม่จำเป็นต้องกล่าวซ้ำในที่นี้



บ้านหูกวางนั้น ข้าพเจ้าทราบแล้วว่ายังมีอยู่ แต่ไม่เชื่อถนนข้ามบึงนั้นจะยังแลเห็นเป็นขอบคันอยู่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อได้ทราบข่าวจากพระยาอมรินทรฦๅไชยว่าได้ไปพบถนนนั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็ตั้งใจที่จะไปดูให้จงได้ เพราะฉะนั้นพอมีโอกาสๆได้ขึ้นไปเที่ยวทางเมืองเหนือ จึงได้แวะที่ตำบลบ้านหูกวาง ขึ้นเดินจากฝั่งแม่น้ำไปประมาณ ๘ เส้นก็ถึงขอบบึงหูกวาง ถึงปลายถนนด้านตะวันออกเฉียงเหนือ แล้วเดินไปตามถนนเบ็ดเสร็จยาวประมาณ ๑๐ เส้น ยังพอเห็นเป็นคันได้ถนัด คะเนว่าถนนกว้างประมาณ ๑๐ วา ส่วนบึงนั้น ในเวลาที่ไปดูสังเกตยากว่าจะหมดเขตเพียงใดแน่เพราะเป็นเวลาน้ำแห้ง ในบึงเป็นดงแขมรกทั่วไป ทางด้านเหนือลุ่มมีน้ำขังอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ด้านใต้ดอนเสียหมด มีสิ่งที่พอจะเป็นเครื่องสังเกตได้ว่าแห่งใดเป็นบึง แห่งใดเป็นดอนนั้น คือในที่บึงมีแต่ต้นไม้ย่อมๆ ที่ดอนมีไม้เขื่องๆ คะเนว่าบึงนั้นทางยาวประมาณ ๑๐๐ เส้น กว้างประมาณ ๑๐ เส้น ตามขอบบึงด้านตะวันตกเฉียงใต้มีป่ายางสูง แลเห็นเป็นทิวไม้ตลอดไปจนต่อกับเนินทางทิศเหนือของบึง ซึ่งราษฎรเรียกชื่อว่า "เนินทอง" นี่คือกองทองที่กล่าวถึงในพงศาวดาร

ส่วนค่ายปีกกาซึ่งตั้งล้อมฝูงช้างเถื่อนครั้งนั้น น่าจะเดาว่าตั้งยาวไปตามขอบบึงทางตะวันตกเฉียงใต้ไปเนินกองทองทางด้านเหนือ ส่วนค่ายหลวงนั้นน่าจะตั้งอยู่ริมแม่น้ำทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของขอบบึง เพราะฉะนั้นจึงต้องทำถนนเป็นทางข้ามบึงลัดไปป่ายาง ถ้าค่ายตั้งทางตะวันออกเฉียงเหนือ หรือเหนือของบึงคงจะไม่ต้องทำถนนลัด เพราะที่นั้นใกล้กองทอง เดินไปกองทองไม่ต้องอ้อมมากมายอะไร แต่ที่จะชี้ลงไปให้แน่นั้นย่อมเป็นการยากอยู่เอง เพราะค่ายคงจะทำด้วยไม้สำหรับใช้ชั่วคราวทั้งสิ้น

แต่ส่วนถนนนั้นถ้าจะพิจารณาดูก็เห็นว่า น่าจะสรรเสริญความอุตส่าห์ของผู้ทำ การที่ทำถนนกว้าง ๑๐ วา ยาว ๑๐ เส้นกว่า ให้แล้วเสร็จภายในคืนเดียวนั้น ถึงแม้ทำไปในที่ดอนและในฤดูแล้วก็ไม่ใช่การเล็กน้อยอยู่แล้ว นี่ยังต้องทำข้ามบึงและทำในฤดูฝน น้ำท่วมนองไปใช่แต่ในบึงทั้งในป่าด้วยฉะนั้น ทำให้เป็นงานหนักขึ้นอีกหลายเท่า นึกดูก็น่าประหลาดที่ช้างพระที่นั่งไปตกหล่มลง ในพงศาวดารกล่าวว่าช้างพระที่นั่งไปตกหล่มที่กลางบึง ซึ่งเป็นที่ลุ่ม แต่เมื่อได้ไปดูถึงที่แล้ว จึงสังเกตได้ว่า ที่ตรงกลางบึงไม่ใช่เป็นลุ่มที่สุด ยังมีที่ลุ่มกว่านั้นอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่าที่น้ำไหล เพราะในฤดูน้ำมีสายน้ำไหลข้ามที่ตรงนี้ ถึงในฤดูแล้วก็ยังเห็นว่าเป็นหล่มอยู่มากกว่าแห่งอื่น จึงทำให้คิดไปว่าบางทีจะเป็นแถบนี้เองกระมังที่ช้างพระที่นั่งมาตกหล่ม แต่ที่น้ำไหลนั้นไม่อยู่ที่ตรงกลางบึง อยู่ค่อนไปทางป่ายางทางปลายถนนด้านตะวันตกเฉียงใต้ ห่างจากขอบบึงทางประมาณ ๒ หรือ ๓ เส้น ตรวจค้นได้เท่านี้

เดินทางตั้งแต่บ้านหูกวางต่อขึ้นไป ก็ไม่มีอะไรที่จะพึงดูจนกระทั่งบ้านโคน ซึ่งได้ไปถึงเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม เวลาบ่าย ต่อเมื่อวันรุ่งขึ้น วันที่ ๑๔ มกราคม เวลาเช้าจึงได้ขึ้นบก ที่นี้มีปัญหาอยู่ว่า จะเป็นที่ตั้งเมืองเทพนครของพระเจ้าศิริไชยเชียงแสนหรือมิใช่ เพราะฉะนั้นจึงเห็นเป็นที่ควรขึ้นดูสักคราวหนึ่ง จากที่เรือจอดต้องเดินข้ามหาดทรายไปหน่อยหนึ่งก่อน แล้วจึงถึงที่ตลิ่งแท้ๆ บนตลิ่งมีหมู่บ้าน ดูแน่นหนาตา แต่ในชั้นต้นยังไม่ได้ดูหมู่บ้าน แต่ได้เดินเลยออกไปในป่า ซึ่งมิใช่ป่าสูง ต้นไม้ก็ไม่สู้ใหญ่นักพอเดินไปได้ร่มสบาย เดินไปได้ประมาณ ๒๐ เส้นก็ไปถึงลำน้ำแห่งหนึ่ง มีน้ำขังอยู่เป็นห้วงๆ เมื่อแรกเข้าใจว่าจะเป็นคูเมือง แต่ถ้าเช่นนั้นแล้วหลังลำน้ำเข้าไปควรจะมีเทิน แต่เมื่อได้ข้ามคลองนั้นไปแล้วค้นดูไม่พบเทินหรือเนิน ที่รูปร่างพอจะเหยียดเป็นเทินได้เลย พระวิเชียรปราการชี้แจงว่าคลองนี้ออกไปต่อกับลำน้ำแควน้อย เพราะฉะนั้นเข้าใจว่าเป็นลำน้ำเก่า ก็ดูชอบกลอยู่ เลยยอมเห็นตามด้วย

เดินต่อไปอีกถึงวัดซึ่งราษฎรเรียกว่า วัดกาทิ้ง ไม่ปรากฏว่าเหตุใดจึงเรียกชื่อเช่นนั้น ทางตั้งแต่ท่าเรือมาประมาณ ๔๐ เส้น สังเกตว่าวัดนี้เป็นวัดเก่าจริงและได้ซ่อมแซมหลายครั้ง มีอุโบสถย่อมก่อด้วยอิฐแผ่นใหญ่ๆถูกขุดเสียป่นปี้แล้ว ที่พื้นอุโบสถซึ่งยกพื้นสูงเหนือพื้นดินราว ๒ ศอกนั้น ตรงกลางถูกขุดเสียจนเป็นบ่อลึกถนัด พระประธานก็พระเศียรหาย คงจะถูกทำลายเสียด้วยเหมือนกัน เสมาชัยหน้าโบสถ์ถูกถอนขึ้นมาล้มนอนอยู่ และที่ตรงที่ตั้งเสมานั้นเป็นหลุมลึก คงจะเป็นนักเลงเล่นพระพิมพ์ทำเสียเป็นแน่ ต่อโบสถ์ออกไปทางทิศตะวันออกมีวิหารกว้างขวางกว่าโบสถ์ตามแบบวัดโบราณ เสาระเบียงมีเหลืออยู่บ้าง และรักแร้ผนังยังอยู่มุมหนึ่ง วิหารนี้ในชั้นแรกใช้ก่ออิฐแผ่นใหญ่ กว้างยาวขนาดที่ก่อกำแพงกรุงทวาราวดี แต่จะบางกว่าสักหน่อยหนึ่ง แต่อิฐที่ใช้ซ่อมแซมในชั้นหลังนั้นเล็กเพียงขนาดที่ใช้ก่อตึกกันในบัดนี้ ส่วนเสาระเบียงนั้นใช้ก่อด้วยแลง พระประธานที่วิหารยังอยู่พอเห็นได้ พระพักตร์ยาวๆเช่นอย่างพวกพระกำแพงเพชร ไม่ห่างจากวิหารนักมีสระเล็กๆอยู่สระหนึ่งยังมีเสาปักอยู่ ๔ ต้น ซึ่งเข้าใจได้ว่าเป็นเสาหอไตร เสานั้นยังบริบูรณ์ดีอยู่ ซึ่งทำให้เข้าใจว่าที่วัดนี้น่าจะพึ่งร้างไปในไม่สู้ช้านัก คงจะพึ่งทิ้งเมื่อลำน้ำเก่าซึ่งผ่านไปริมวัดนี้เขินแห้งขึ้นมานั้นเอง

ออกจากวัดเดินต่อไป ข้ามลำน้ำเก่าบ่ายหน้าลงไปทางลำน้ำใหม่ มีหมู่บ้านซึ่งเรียกว่าบ้านโคนนั้น ตั้งแต่ริมน้ำเก่าตลอดลงไปจนถึงฝั่งน้ำแควน้อย สังเกตว่าบ้านเรือนตามแถบนี้แน่นหนา และปลูกไว้เป็นแถวสองข้างถนน ดูท่วงทีเป็นบ้านเป็นเมือง ทางที่ลึกเข้ามาจากลำน้ำแควน้อยมีบ้านเรือนห่างๆกัน แต่ยิ่งใกล้ลำน้ำลงไปบ้านเรือนยิ่งหนาเข้า มีสวนมีไร่ติดอยู่กับเรือนดูท่าทางมั่นคง ทั้งราษฎรในบ้านโคนนี้ก็ดูกิริยาเป็นชาวเมือง จะเปรียบกับกำแพงเพชรก็คล้ายกัน แลเห็นผิดกับราษฎรที่ได้พบแล้วตามทางที่ไปมาก ด้วยเหตุเหล่านี้ทำให้ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า ที่บ้านโคนนี้คงจะเป็นเมืองมาแต่โบราณกาล แต่หาคูหรือเทินและกำแพงไม่ได้เลย จึงเข้าใจว่าคงจะเป็นเมืองชั่วคราว ซึ่งเจ้าแผ่นดินได้มาตั้งพักอยู่ในระหว่างที่จะเที่ยวหาชัยภูมิสร้างเมืองใหม่ จึงทำแต่ค่ายระเนียดขึ้นไว้เป็นขอบเขต เมื่อสร้างเมืองใหม่แล้วยกราชสำนักไป ค่ายตรงนั้นก็รื้อหรือทิ้งให้โทรมไปเองโดยมิได้ซ่อมแซมอีก เพราะมิได้ตั้งใจให้เป็นที่ตั้งรับศัตรูต่อไป

ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ก็จะกินกับข้อความที่กล่าวในเรื่องต้นแห่งพระราชพงศาวดารกรุงทวาราวดี ว่าพระเจ้าศิริไชยเชียงแสนได้สร้างเมืองเทพนครขึ้น ส่วนพระเจ้าศิริไชยเชียงแสนซึ่งพงศาวดารกล่าวว่าเสวยราชย์อยู่ ณ เมืองเทพนคร ๒๕ พรรษานั้น เข้าใจว่าคงจะคลาดเคลื่อน ถ้าแม้จะเดาแล้วข้าพเจ้าคงจะเดาว่า ข้อที่พระเจ้าศิริไชยเชียงแสนเสวยราชย์อยู่ได้ ๒๕ พรรษานั้น ถ้าจริงเช่นนั้นคงต้องนับรวมทั้งที่อื่นด้วย คือไม่ใช่สร้างเทพนครแล้วจึงเป็นเจ้า คงเป็นเจ้าอยู่แต่ก่อนแล้ว และที่มาพักอยู่ที่เมืองเทพนครนั้นคงจะไม่สู้นานนักก่อนสิ้นพระชนม์

ส่วนข้อที่ว่าท้าวอู่ทองมาจากไหนแน่ นั้นมีกล่าวกันอยู่สองทาง ทางหนึ่งว่าลงมาจากเมืองเชียงรายจึงเรียกราชวงศ์นั้นในพงศาวดารว่าวงศ์เชียงราย แต่อีกทางหนึ่งว่ามาจากเมืองสุพรรณหรือสุวรรณภูมิ และว่าพระนามพระเจ้าอู่ทองนั้นเองเป็นพยานอยู่ว่า เดิมเป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิหรือท้าวอู่ทอง และเมืองท้าวอู่ทองเก่าเดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่ที่ใกล้เมืองสุพรรณบุรี การที่ท้าวอู่ทองต้องทิ้งเมืองสุวรรณภูมิ มาสร้างกรุงทวาราวดีขึ้นใหม่นั้น เพราะว่าเกิดห่าขึ้นในเมืองสุวรรณภูมิ แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วเหตุไฉนจึงยังมีกษัตริย์ครองเมืองสุพรรณอยู่ กล่าวคือขุนหลวงพงัว ซึ่งเป็นพระเชษฐาแห่งพระอัครมเหสีพระเจ้าอู่ทองนั้นเล่า ข้อนี้ชักให้ข้าพเจ้านึกสันนิษฐานเองว่า พระรามาธิบดีซึ่งเรียกว่าพระเจ้าอู่ทองนั้น ตามความจริงหาได้เป็นกษัตริย์วงศ์พระพรรษาเมืองสุวรรณภูมิไม่ เป็นแต่ได้ราชธิดาพระพรรษาเป็นมเหสีเท่านั้น และบางทีเวลาที่ไปเป็นเขยอยู่นั้นจะได้เป็นอุปราชครองกึ่งพระนครตามแบบโบราณก็ได้ ครั้นเมื่อพระพรรษาสิ้นพระชนม์แล้ว ขุนหลวงพงัวผู้เป็นราชโอรสจึงได้ครองราชสมบัติสืบพระวงศ์มา ส่วนเรื่องราวที่มีปรากฏอยู่ว่าท้าวอู่ทองได้อพยพหนีห่านั้น อาจจะเป็นขุนหลวงพงัวหรือพระราชบิดาขุนหลวงพงัวก็ได้ ไม่จำจะต้องเจาะจงลงไปว่าเป็นองค์เดียวกับท่านที่ไปสร้างกรุงทวาราวดีภายหลัง ถ้าแม้ว่าท้าวอู่ทองที่หนีที่หนีจากสุวรรณภูมิเก่านั้น คือ พระรามาธิบดีที่ ๑ กรุงทวาราวดีแล้ว ก็น่าจะถามว่า ถ้าเช่นนั้นขุนหลวงพงัวได้คนที่ไหนมาสร้างสุพรรณใหม่ และต้องเข้าใจว่าพวกพ้องขุนหลวงพงัวไม่มีน้อยๆ ต้องมีมากจึงได้เข้ามาแย่งราชสมบัติพระราเมศวรได้

ข้าพเจ้าจึงค่อนข้างจะเชื่อว่าพระรามาธิบดีที่ ๑ นั้นเป็นวงศ์เชียงรายจริง ตามที่พงศาวดารกล่าวและเชื่อว่าพระเจ้าศิริไชยเชียงแสนได้ลงมาจากเชียงรายมาตั้งอยู่ที่ใดที่หนึ่งทางแควน้อย ความประสงค์ของพวกเชียงรายก็คงจะอยากตั้งตัวขึ้นในทิศใต้ แต่พระเจ้าศิริไชยเชียงแสนเองยังมิทันจะเลือกชัยภูมิได้เหมาะก็สิ้นพระชนม์เสียก่อน จึงได้ตกมาเป็นหน้าที่ของพระเจ้าอู่ทองผู้เป็นราชโอรส เป็นผู้เลือกหาชัยภูมิสร้างกรุงทวาราวดีได้สำเร็จ ส่วนข้อที่ว่าชาวเชียงรายจะสามารถเดินลงมาถึงแควน้อยได้ โดยไม่ถูกสุโขทัยและกำแพงเพชรกีดกั้นขัดขวางนั้น ถ้าคิดดูถึงเรื่องพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเมืองเชียงแสนลงมาสร้างเมืองพิษณุโลกได้แล้ว เหตุไฉนพระเจ้าศิริไชยเชียงแสนจะลงมาสร้างเทพนครทางแควน้อยไม่ได้ ต้องเข้าใจว่าตามความจริงพวกเชียงแสน เชียงราย กับพวกสุโขทัย กำแพงเพชรก็เป็นไทยด้วยกัน และมีเกี่ยวดองกันอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นคงจะไม่สู้เกียดกันอะไรกันนัก(๑)

ในวันที่ ๑๔ มกราคม นั้น พอได้เดินดูที่บ้านโคนทั่วแล้วกลับลงไปกินข้าวที่เรือ แล้วก็ออกเรือ เดินทางสัก ๒ ชั่วโมงก็ถึงที่ตำบลวังพระธาตุ ที่นี้มีที่ซึ่งราษฎรตามแถบนี้เรียกว่าเมืองตาขี้ปม เมื่อไปครั้งหลังข้าพเจ้าหาได้ขึ้นไปดูไม่ เพราะได้ขึ้นไปดูแต่เมื่อครั้งเดินทางกลับมาจากเมืองมณฑลพายัพเมื่อ ร.ศ.๓๘ ๑๒๔ นั้นแล้ว ที่เรียกเมืองนั้น มีคูและเทินดินอย่างแบ่งออกเป็น ๓ ตอน มีเจดีย์ร้างอยู่ในที่นั้นแห่งหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ตรวจดูตลอดแล้วสันนิษฐานว่าเป็นค่ายเก่า แต่จะเป็นค่ายครั้งใดก็เหลือที่จะกำหนดลงมาเป็นแน่นอนได้ แต่เห็นว่าภูมิฐานไม่เป็นเมือง การที่เรียกกันว่าเมืองตาขี้ปมนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่คิดผสมเข้าภายหลัง

วันที่ ๑๕ มกราคม เวลาเช้า ๒ โมง ออกเรือจากวังพระธาตุพอบ่ายประมาณ ๒ โมง ก็ถึงเมืองกำแพงเพชร

ตอนที่ ๒ เมืองกำแพงเพชร


เมืองกำแพงเพชรเป็นเมืองที่ดูได้ง่าย แต่ที่จะสันนิษฐานเรื่องของเมืองนั้นยากกว่าดูหลายส่วน เพราะจะว่าไม่มีหลักฐานอะไรจะยึดเลยก็ว่าได้ เรื่องราวที่เป็นตำนานก็ไม่พบ ในพงศาวดารเหนือก็ไม่กล่าวถึง ในพงศาวดารกรุงทวาราวดีที่กล่าวถึงว่าเป็นเมืองประเทศราชฝ่ายเหนือทีเดียว ไม่ปรากฏว่าใครสร้าง ในตำนานพระเเก้วมรกตนั้นก็กล่าวถึงแต่ว่าเป็นที่ซึ่งพระแก้วเคยไปประดิษฐานไม่มีตำนานว่าใครสร้าง ที่สุดศิลาจารึกเมืองกำแพงเพชรนั้นก็ไม่เป็นหลักฐานที่จะชี้ทางให้สันนิษฐานได้ชัดเจน เพราะมีข้อความเฉพาะเรื่องสร้างพระมหาธาตุเท่านั้น แต่คงได้ได้ความจากหลักศิลานั้นอย่างหนึ่งว่า "สักราช ๑๒๓๗ ปีระกา เดือนแปด ออกห้าค่ำ วันศุกร์" เป็นวันที่จะนับ จำเดิมอายุแห่งพระมหาธาตุซึ่ง "พระญาฏไทยราชผู้เป็นลูกพระญาเลือไทยเป็นหลานแก่พระญารามราช" นั้นได้สถาปนาขึ้น "ในเมืองนครปุนี้ปีนั้น" จึงต้องพึงเข้าใจว่าเมืองนครปุหรือกำแพงเพชรมีอยู่แล้ว เมื่อศักราชได้ ๑๒๓๗ ปี คือ ๕๗๑ ปีล่วงมาแล้ว แต่จะได้สร้างขึ้นก่อนเพียงไรก็ไม่มีหลักอะไรที่จะกำหนดได้

เมื่อข้าพเจ้าไปเมืองกำแพงเพชรครั้งแรก คือแวะเมื่อล่องกลับจากเชียงใหม่ ร.ศ.๓๘ ๑๒๔ นั้น ได้พักอยู่ ๓ คืน ๒ วัน ได้เที่ยวดูในเมืองเก่าและตามวัดที่นอกเมืองบ้าง แต่ในเวลานั้นต้องนับว่ายังอ่อนอยู่มากในทางโบราณคดี คือยังไม่ใคร่ได้มีโอกาสตรวจค้นมาก ทั้งเวลาที่อยู่ก็น้อย และเป็นคนแรกที่ได้ไปดู จะอาศัยฟังความคิดความเห็นผู้ใดๆก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความเห็นในเวลานั้นจึงยังไม่กล้าแสดงให้แพร่หลายมากนัก เป็นแต่ได้ทำรายงานกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามที่ได้สังเกตเห็นด้วยตา และแสดงความเห็นส่วนตัวบ้างเล็กน้อย ภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปประพาสเมืองกำแพงเพชร ทอดพระเนตรสถานต่างๆแล้ว พระราชทานพระบรมราโชวาทเป็นอันมาก ครั้นเมื่อได้ทราบกระแสพระราชดำริแล้ว เมื่อปลาย ร.ศ.๔๐ ๑๒๖ ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปตรวจดูสถานที่ในเมืองกำแพงเพชรซ้ำอีก จึงเห็นทางแจ่มแจ้งดีกว่าครั้งแรกเป็นอันมาก

ที่เรียกว่าเมืองเก่าเดี๋ยวนี้ไม่ใช่เป็นเมืองเก่าที่สุด คือเมืองเรียกในศิลาจารึกว่าเมืองนครปุนั้น ไม่ได้ตั้งอยู่ที่เมืองเก่าตั้งอยู่เดี๋ยวนี้ เมืองนครปุนั้นสันนิษฐานว่าตั้งอยู่ทางตะวันออกของเมืองเก่าออกไป ในเวลานี้หาคูหรือกำแพงนครปุมิได้เลย ซึ่งไม่เป็นของประหลาดอันใด เพราะอาจที่จะรื้อกำแพงเก่าเข้ามาทำกำแพงเมืองใหม่ที่ริมฝั่งแควน้อยนั้นได้ประการหนึ่ง หรืออีกประการหนึ่ง เมืองนครปุอาจที่จะเป็นเมืองไม่มีกำแพงซึ่งก่อด้วยอิฐหรือแลงอย่างถาวรก็ได้ เมืองโบราณที่ไม่มีกำแพงเช่นนี้ก็มีตัวอย่างอยู่มาก และยังอยากจะใคร่เดาต่อไปอีกว่า ชื่อเมืองกำแพงเพชรนั้นน่าจะให้ภายหลัง เมื่อได้ยกลงมาตั้งริมลำน้ำแควน้อยแล้ว และได้ก่อกำแพงขึ้นด้วยแลงเป็นที่มั่นคง จึงตื่นกำแพงใหม่นั้นนักหนาจนเปลี่ยนชื่อเมือง เรียกว่าเมืองกำแพงเพชร คือประสงค์จะอวดกำแพงนั้นเอง

คราวนี้มีปัญหาซึ่งจะต้องตอบอยู่ข้อหนึ่ง ว่าเหตุไรจึงต้องย้ายเมืองจากที่เดิม ตอบได้ตามความสันนิษฐานทันทีว่า เพราะลำน้ำเก่าแห้งเขินจึงต้องย้ายเมืองลงไปหาลำน้ำที่ยังมีบริบูรณ์ เมื่อได้ไปตรวจดูถึงที่แล้วก็แลเห็นพยานปรากฏอยู่ชัดเจน ว่าข้อสันนิษฐานไว้นั้นไม่ผิด คือได้พบลำน้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งได้ความว่าในฤดูแล้งน้ำแห้ง แต่ในฤดูฝนมีน้ำไหล ลำน้ำนี้ปากไปออกแควน้อย ส่วนข้อที่ว่าเมืองเดิมจะตั้งอยู่แห่งใดนั้น ถ้าเมื่อได้ไปดูถึงที่แล้วก็คงจะตอบปัญหาได้โดยความเชื่อว่าจะไม่พลาดมากนัก คือตามที่ใกล้ๆลำน้ำที่กล่าวมาแล้วนั้น มีวัดร้างใหญ่ๆอยู่ติดๆกันเป็นหลายวัด ซึ่งพอเข้าใจอีกอย่างหนึ่งว่า ถึงแม้เมื่อได้ย้ายเมืองลงมาตั้งริมฝั่งแควน้อยแล้วก็ยังมีบ้านคนอยู่ในที่ตั้งนครปุเดิม เพราะยังมีถนนจากประตูสะพานโคมด้านตะวันออกแห่งเมืองกำแพงเพชร ออกไปจนถึงวัดต่างๆในนครปุ ถนนนี้ถมสูงพ้นจากพื้นดินบางแห่งถึง ๒ ศอกเศษ ในกาลบัดนี้ก็ใช้เป็นทางเดินไปได้ นี่เป็นพยานอยู่ว่า วัดเหล่านั้นเจ้าเมืองกำแพงเพชรคงจะยังทำนุบำรุงเป็นพระอารามหลวงอยู่ และถ้าเช่นนั้นแล้วก็ต้องสันนิษฐานได้ว่าบ้านคนคงจะต้องมีอยู่ด้วย มิฉะนั้นพระสงฆ์จะอยู่ในวัดนั้นๆไม่ได้เลย ถ้าแม้จะต้องเดินเข้ามาบิณฑบาตถึงในเมืองกำแพงเพชรทุกวัน ต้องแปลว่าเดินวันละ ๑๐๐ เส้นเศษเสมอ อยู่ข้างจะลำบากมากอยู่ แต่ยังมีพยานอื่นๆอีกว่า มีบ้านคนอยู่ตามแถบเมืองเดิมนั้น ซึ่งอาจจะสันนิษฐานได้เมื่อพบบ่อขุดแลงและสิ่งของอื่นๆ ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป

กับยังมีพยานว่าเมืองเดิมอยู่ทางที่กล่าวแล้วนั้น คือข้างถนนที่เดินจากเมืองกำแพงเพชรนั้น มีสระอยู่ ๒ สระ ราษฎรตามแถบนั้นเรียกว่าสระแก้วกับสระคา (คือคงคา) สระทั้ง ๒ นี้คงจะเป็นที่ขังน้ำในเมืองเดิม เช่นสระอื่นๆและสระตระพังททองตระพังเงินเมืองสุโขทัยนั้นเป็นต้น แลเมื่อย้ายเมืองไปตั้งใหม่แล้ว ราษฎรที่ยังคงอยู่แถบเมืองเดิม ก็คงยังได้อาศัยน้ำในสระนั้นเอง จึงยังคงอยู่ได้ต่อไป(๑)



เมืองกำแพงเพชรนี้เป็นเมืองที่อยู่ริมทางที่คนขึ้นล่องก็จริงอยู่ แต่น่าประหลาดที่หาคนที่ได้เคยเที่ยวดูตลอดยากนัก การเที่ยวของไทยเราโดยมากมักนึกถึงแต่การเที่ยวตามตลาดและบ้านผู้คนอยู่เป็นหมู่ๆเท่านั้น เพราะฉะนั้นบางคนแทบจะไม่ทราบว่า ที่กำแพงเพชรมีเมืองเก่าที่จะเที่ยวดูเล่นได้ เมื่อผ่านไปแลเห็นกำแพงเมืองเก่าก็พอแต่ทราบว่ามีเมืองเก่าเท่านั้น ไม่ได้นึกอยากดูหรืออยากทราบอะไรอีกต่อไป บางคนถึงกับเปล่งอุทานวาจาว่าเมืองเก่านั้นจะไปดูอะไรป่านนี้ จนปรักหักพังเสียหมดแล้ว เพราะคนเรามีความคิดเช่นนี้ เรื่องราวของชาติเราจึงได้สูญเร็วนัก ชาวเราไม่รู้สึกละอายแก่ชาติอื่นๆเขาบ้างเลย น่าจะประสงค์ที่จะอวดว่าเราเป็นชาติที่แก่ กลับอยากจะลืมความแก่ของชาติเสีย อยากแต่จะตั้งหนึ่งใหม่ เริ่มด้วยสมัยเมื่อรู้สึกว่าเดินไปสู่ทางเจริญอย่างแบบยุโรปแล้วเท่านั้น ข้อที่ประสงค์เช่นนี้ก็เพราะประสงค์จะให้ชาวยุโรปนิยมว่า ชาติไทยไม่เคยเป็นชาติ "ป่า" เลย พอเกิดขึ้นก็จำเริญเทียมหน้าเพื่อนทีเดียว ข้อนี้เป็นข้อที่เข้าใจผิดโดยแท้ ชาวยุโรปไม่นับถือทั้งของใหม่ทั้งชาติใหม่ นิยมในของโบราณและชาติที่โบราณมากกว่าทั้งนั้น ในหมู่เมืองในประเทศยุโรปเองแข่งกันอยู่เสมอว่า ชาติไหนจะค้นเรื่องราวของชาติได้นานขึ้นไปกว่ากัน เพราะฉะนั้น ที่นิยมเห็นว่าการตัดอายุแห่งชาติตนเป็นของควรกระทำนั้น เป็นความนิยมผิด เท่ากับการหมิ่นประมาทผู้ใหญ่ว่างุ่มง่ามใช้ไม่ได้ ซึ่งเป็นความคิดของคนไทยสมัยใหม่บางจำพวกนั้นแล

ในชั้นต้นก่อนที่จะไปดูวัดใหญ่ๆซึ่งตั้งอยู่นอกเมือง ต้องไปเที่ยวดูภายในกำแพงเสียก่อน เมืองกำแพงเพชรนี้รูปชอบกลไม่ใช่รูปสี่เหลี่ยม กำแพงด้านตะวันออกตะวันตกยาวกว่าด้านเหนือด้านใต้หลายส่วน ด้านเหนือด้านใต้มีประตูด้านละช่องเดียวเท่านั้น แต่ด้านตะวันออกตะวันตกมีหลาช่อง ทั้งมีป้อมวางเป็นระยะไปด้วย รูปกำแพงทั้ง ๒ ด้านนั้นไม่เป็นบรรทัดตรง ตั้งโค้งๆ เพราะฉะนั้นถ้าจะเปรียบรูปเมืองกำแพงเพชร น่าจะเปรียบกับรูปเรือเป็ด กำแพงบนเชิงเทินทำแน่นหนาก่อด้วยแลง มีใบเสมาก่อเป็นแผ่นตรงขึ้นไปสักศอกหนึ่ง แล้วจึงก่อเป็นรูปหลังเจียดขึ้นไปอีกศอกหนึ่ง บนกำแพงมีทางเดินได้รอบ กว้างพอคนเดินหลีกกันได้สบาย นอกกำแพงมีคูลึก เดี๋ยวนี้น้ำยังขังอยู่บ้างเป็นแห่งๆ ทางน้ำไหลเข้ามาจากลำแควน้อยได้ สังเกตว่าเป็นเมืองที่แข็งแรงมั่นคง น่าจะรักษาไว้ให้มั่นคงได้นานๆ

ในกำแพงเมืองนี้ ที่ซึ่งจำเป็นต้องไปก่อนก็คือหลักเมือง ซึ่งได้ไปบวงสรวงตามธรรมเนียม แต่ผู้ที่ไปดูอย่าได้หาหลักเลย เพราะไม่มีหลักศิลา และรูปยักษ์ที่ตั้งไว้เป็นเครื่องหมายเดี๋ยวนี้ เชื่อว่าไม่ใช่ของตั้งอยู่แต่เดิม ออกจากหลักเมืองก็ต้องเลยไปศาลพระอิศวร ที่นี้มีเป็นฐานอยู่ เข้าใจว่าเดิมคงจะทำเป็นรูปปรางค์คล้ายศาลเสื้อเมืองในกรุงเทพฯเป็นต้น แต่ทลายลงเสียสิ้นแล้วเหลือที่จะเดา ที่นั้นมีเทวรูปอยู่ ๒ องค์ หล่อด้วยทองเหลืององค์ใหญ่ ราษฎรนิยมเรียกกันว่าพระนารายณ์ แต่ข้าพเจ้าได้ปีนขึ้นไปตรวจจนถึงที่ประดิษฐานก็เห็นได้ว่าเป็นรูปพระอุมา เครื่องแต่งกายและอาภรณ์ก็เป็นอย่างเครื่องแต่งผู้หญิง และยังมีถันปรากฏอยู่อีกด้วย ตามคำราษฎรกล่าวกันว่าถ้าใครกล้าไปจับที่ทรวงเป็นต้องมีเหตุป่วยไข้ ทางที่เกิดกล่าวกันเป็นเรื่องเป็นราวเช่นนี้ คงเกิดขึ้นเพราะผู้ที่รักษาเทวสถานนั้น พูดขู่ไว้เพื่อจะมิให้ผู้ใดขึ้นไปคลำเทวรูปเล่นให้มัวหมอง เมื่อสังเกตดูถึงความพอใจของคนเรา ที่จะลูบคลำอกตุ๊กตาจนดำไปด้วยเหงื่อไคลที่ติดมือแล้ว ก็จะต้องชมว่าความคิดของผู้รักษาเทวสถานนั้นอยู่ข้างจะแยบคาย ถ้าจะห้ามเฉยๆคงไม่ฟัง จึงต้องขู่เสียให้กลัวเจ็บกลัวตาย



ส่วนรูปพระอิศวรเองนั้น ในเวลาที่ข้าพเจ้าไปดูหาได้ประดิษฐานอยู่ ณ ที่นั้นไม่ ได้คงวามว่า รูปที่เคยตั้งอยู่ที่นั้นลงมาอยู่เสียที่กรุงเทพฯ เหตุที่รูปพระอิศวรจะมาตกอยู่ในกรุงเทพฯนั้นคือ หลายปีมาแล้วมีชาวเยอรมันผู้หนึ่งไปเที่ยวในเมืองกำแพงเพชรได้ฉวยเทวรูปนั้นลงมาเสียด้วย เมืองกำแพงเพชรมีบอกลงมาที่กระทรวงมหาดไทย จึงได้ต่อว่าต่อขานกันขึ้นกับกงสุลเยอรมัน กงสุลเยอรมันจึงได้จัดการไปเรียกรูปนั้นคืนมา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ซึ่งในเวลานั้นได้ทรงกำกับราชการกระทรวงมหาดไทยได้ทรงรับไว้ เทวรูปนั้นจึงเลยตกอยู่ในกรุงเทพฯจนทุกวันนี้ ยังหาได้กลับไปอยู่ที่เทวสถานเดิมไม่

เทวสถานนั้นจะสร้างขึ้นแต่ครั้งใดก็บอกไม่ได้แน่ แต่น่าจะสร้างขึ้นพร้อมๆกับสร้างเมืองใหม่นี้ การก่อสร้างใช้แลงเหมือนกัน ชาวเมืองกำแพงเพชรเขามีเรื่องเล่าถึงการสร้างศาลพระอิศวร แต่เป็นเรื่องที่ไม่มีหลักฐานอันใด และสงสัยว่าจะเป็นเรื่องที่เล่าประกอบขึ้นภายหลังตามแบบของเรื่องต่างๆ โดยมากที่เกี่ยวด้วยสถานที่อย่างเดียวกับเรื่องเกาะตาม่องลาย เขาสามร้อยยอด เกาะนมสาวเป็นต้น แต่ถึงกระนั้นก็เป็นเรื่องที่ควรฟัง จึงได้เล่าไว้ในแห่งอื่นต่อไป

ในที่เกือบจะกลางเมือง ไม่ห่างจากหลักเมืองนัก มีที่วังอยู่แห่งหนึ่ง เป็นเกาะย่อมๆมีคูรอบและมีสระเล็กๆ ๒ สระ แต่เชิงเทินหรือกำแพงไม่มี จึงสันนิษฐานว่าคงจะใช้กำแพงอย่างระเนียด คือเป็นรั้วไม้ปักกับดินพอเป็นเครื่องกั้น ให้เป็นฝารอบขอบชิดเท่านั้น ส่วนปราสาทราชฐานไม่มีเหลืออยู่เลย และที่จริงก็ไม่ได้คาดว่าจะเหลือ เพราะเชื่ออยู่ว่าคงทำด้วยไม้ทั้งสิ้น อย่างเช่นวังเก่าๆในที่อื่นๆ

ที่ข้างวังทางด้านตะวันตก มีวัดใหญ่อยู่วัดหนึ่ง มีถนนคั่นห่างจากวังอยู่ชั่วทางกว้างของถนนประมาณ ๔ วา เท่านั้น ที่ทางวังตรงวัดมีเกยอยู่อันหนึ่ง และมีเกยอยู่ตรงข้ามฟากถนนอีกอันหนึ่ง มีรากเป็นเรือนยาวๆอยู่หลังหนึ่ง ที่ยังเหลืออยู่มีเป็นฐานแลงรูปสี่เหลี่ยมรี มีเสาไม้ยังฝังอยู่บ้าง ซึ่งทำให้เข้าใจว่าคงจะมีฐานแลงและปลูกเรือนไม้ขึ้นบนฐานนั้น ถ้าจะคิดดูตามที่ตั้งอยู่น่าจะเดาว่าเป็นพลับพลาเปลื้องเครื่อง ส่วนวัดนั้นคงเป็นอย่างวัดพระศรีสรรเพชญ์กรุงทวาราวดี มีเจดีย์โบสถ์วิหารใหญ่ๆงามๆอยู่มาก การก่อสร้างใช้แลงเป็นพื้น มีที่ก่อซ่อมแซมด้วยอิฐภายหลังก็มาก มีกำแพงแก้วสูงประมาณ ๓ ศอก ล้อมรอบลานต่อลงไปทางด้านใต้มีลานอีกลานหนึ่ง มีกำแพงแก้วล้อมเหมือนกัน ในที่กลางมีพระธาตุใหญ่ตั้งบนลานสูง พระวิเชียรปราการตั้งชื่อไว้ว่าวัดมหาธาตุ แต่ดูเหมือนที่จริงจะเป็นวัดเดียวกันกับวัดริมวังนั้นเอง วัดริมวังนั้นเดิมข้าพเจ้าเดาว่าจะเป็นวัดพระแก้ว คือวัดที่ได้ประดิษฐานพระมณีรัตนปฏิมากร เมื่อได้ไปอยู่ ณ เมืองกำแพงเพชร ตามที่กล่าวไว้ในตำนานพระแก้วมรกต แต่ก็ไม่มีหลักฐานอย่างไร

ต่อมาเมื่อได้ทราบกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องเมืองเก่า จึงได้กลับความคิดเห็นว่าพระแก้วมรกตคงจะได้มาประดิษฐานไว้ที่ในวัดหนึ่งในเมืองนครปุ คือเมื่อพระแก้วมรกตมาอยู่กำแพงเพชรนั้น เมืองกำแพงเพชรใหม่ยังไม่ได้สร้างขึ้น ครั้นได้ตรวจหนังสือในหลักศิลาจารึกว่าด้วยสุโขทัยมีปรากฏอยู่ว่า เมืองกำแพงเพชรเวลานั้นยังเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ห่างลำน้ำแควน้อยจึงได้ไปขึ้นเรือที่เชียงทอง ซึ่งเข้าใจอยู่ว่าอยู่เหนือกำแพงเพชรขึ้นไป

นอกจากวัดใหญ่ข้างวังที่กล่าวแล้วนั้น ยังมีวัดอยู่อีกบ้างสักสามสี่แห่งในเมือง แต่ทราบว่าเป็นวัดเล็กและรกเต็มที ไม่มีเวลาที่จะถางเข้าไปดูได้(๒) ใช่ว่าจะย่อท้อในการถาง ถ้าแม้ได้ทราบว่าแห่งใดมีที่ควรดู ได้เคยพยายามถางเข้าไปจนได้โดยมาก (ที่สุโขทัยและสวรรคโลกต้องไปลงมือถางเข้าไปเองหลายแห่ง) บางทีเมื่อเข้าไปถึงที่แล้วยังดูไม่ได้ เพราะต้นไม้ขึ้นเกาะเสียรุงรังต้องถางและถอนลงเสียก่อนจึงดูได้ แต่ที่ในกำแพงเพชรนี้ไม่ได้นึกเชื่อว่าจะมีอะไรที่สลักสำคัญพอที่จะยอมเสียเวลาถางจึงเลยงดไว้ ไปดูนอกเมือง

ที่นอกเมืองไปทางด้านตะวันออก เดินไปตามถนนโบราณผ่านสระแก้ว สระคา ทางไปจากเมืองราว ๑๐๐ เส้น ถึงหมู่วัดใหญ่ๆน่าดูมีอยู่หลายวัด ที่แถบนี้เป็นที่ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งนครปุโบราณ(๑) วัดต่างๆในแถบนี้เหลือที่จะดูให้ทั่ว และที่จริงก็ไม่สู้จำเป็นที่จะดูให้ทุกวัด เลือกดูแต่ที่วัดใหญ่ๆก็พอ วัดที่สำคัญที่สุดในแถวนี้ก็คือวัดที่เรียกตามชื่อราษฎรว่า อาวาสใหญ่ ชิ้นสำคัญในวัดชิ้นนี้ คือ พระธาตุใหญ่ อยู่กลางลาน รอบลานมีกำแพงสูงประมาณ ๕ ศอก บนกำแพงมีเจดีย์ย่อมๆ ก่อเป็นระยะไว้รอบ เป็นบริวารพระธาตุ ตัวพระมหาธาตุเองตั้งบนฐานทักษิณ มีบันไดขึ้นสี่ด้าน มีกำแพงล้อมรอบทักษิณ ทั้งที่กำแพงและที่ประตูมีรูปสลักงามๆ เป็นยักษ์บ้างเทวดาบ้าง ฝีมือสลักแลงงามน่าดูนัก น่าจะสันนิษฐานว่า พระธาตุองค์นี้เป็นองค์ที่กล่าวถึงในศิลาจารึกเมืองกำแพงเพชร อันมีความปรากฏอยู่ว่า

"ศักราช ๑๒๓๙ ปีระกา เดือนแปด ออกห้าค่ำ วันศุกร์ หนไท ถัดเราปู ฯลฯ สกุณินักสัตว์ เมื่อยามอนนสถาปนาน้นนเป็นหกค่ำแล้ พรญาฏไทยราชผูเปนลูกพญาเลือไทยเปนหลานแก่พระญารามราช เมื่อได้เสวยราชในเมืองศรีสัชนาลัย ศุโขทัย ได้ราชาภิเษกอนนฝูงท้าวพรญาท้งงหลายอนนมิศหาย อนนมีในสี่ทิศนี้แต่งกรยาตงวายของฝาง หมากมาลามาไหว้ บนยดดยญอภิเษกเปนท้าวเปนพรญา จึงขึ้นชื่อศรีสุริยพรหมาธรมมราชาธิราช หากเอาพรศรีรัตนมหาธาตุอนนนี้มาสถาปนาในเมืองนครปุนี้ปีน้นน พรมหาธาตุอนนนี้ใช่ธาตุอนนสามาน คือธาตุแท้จริงแล้ เอาลุกแต่ลังกาทวีปพู้นมาดาย เอาท้งงพืชพรศรีมหาโพธิอนนพรพุทธเจ้าเราเสด็จอยู่ใต้ต้นแล ฯลฯ หลขุนมาราชาธิราชได้ปราบแก่สรรเพชญเดญญานเปนพระพุทธ มาปลูกเบื้องหลังพรมหาธาตุนี้ ฯลฯ"(๓)

ศักราช ๑๒๓๙ ที่กล่าวในที่นี้คือมหาสักราช คิดแต่นั้นมาจนกาลบัดนี้ (ซึ่งเป็นปีมหาศักราช ๑๘๓๐) ได้ ๕๙๑ ปี พรญาฏไทยราชนั้น คือพระเจ้าแผ่นดินกรุงสุโขทัยที่กล่าวถึงในศิลาจารึกเมืองสุโขทัยที่ ๒ มีนามปรากฏในนั้นว่า พระบาทสมเด็จพระกมรเตญอัตศรีสุริยพงษ์ราม มหาธรรมมิกราชาธิราช พรญาเลือไทยนั้นตรงกับพระบาทสมเด็จพระกมรเตญอัตหฤทัยไชยเชฐ พรญารามชารนั้นก็ตรงกับพระเจ้ารามกำแหง ในหลักศิลาจารึกเมืองสุโขทัยที่ ๑ แต่ศักราชสองแห่งไม่ตรงกัน ในหลักศิลาสุโขทัยมีปรากฏอยู่ว่า เมื่อมหาศักราช ๑๒๖๙ พระเจ้าธรรมราช ซึ่งเป็นอุปราชอยู่ในเมืองศรีสัชนาลัย ได้ยกทัพเข้าไปในเมืองสุโขทัย ปราบปรามพวกศัตรูหมู่ร้ายแล้วจึงได้ขึ้นครองราชสมบัติแทนพระราชบิดาที่สวรรคต ดังนี้ ศักราชผิดกันอยู่ถึง ๓๐ ปี จะเป็นด้วยในเวลานั้นศักราชคิดกันเป็นหลายวิธีจึงได้เลอะเทอะเช่นนั้น(๔)

ที่อาวาสใหญ่นั้นนอกจากองค์พระธาตุและพระเจดีย์บริวาร ยังมีสิ่งน่าดูอยู่อีกอย่างหนึ่ง คือที่นอกกำแพงแก้วออกไป มีบ่อน้ำใหญ่อยู่บ่อหนึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่แรกดูไม่ทราบว่าก่อด้วยอะไร ครั้นพิจารณาดูแล้วจึงได้ความว่า บ่อนั้นหาได้มีสิ่งอะไรก่อเป็นผนังไม่ ที่แผ่นดินตรงนั้นเป็นแลง ขุดบ่อลงไปในแลง ข้างๆบ่อนั้นพอถูกอากาศก็แข็งเป็นศิลา จึงดูเหมือนก่อเรียบร้อย เพราะฉะนั้นเป็นของควรดูอย่างหนึ่ง และเมื่อดูแล้วจะต้องออกรู้สึกอิจฉาว่าเข้าทำบ่อได้ดีและถาวร โดยไม่ต้องเปลืองโสหุ้ยค่าก่อข้างบ่อด้วยศิลาหรืออิฐปูนอะไรเลย บ่อนี้เป็นพยานให้เห็นได้ว่าน่าจะเป็นวัดใหญ่มีพระสงฆ์อยู่มาก คงจะเป็นวัดสำคัญในนครปุโบราณนั้นเป็นแน่ โดยเหตุนี้และสันนิษฐานตามรูปพระเจดีย์ จึงเห็นว่าน่าจะเป็นที่นี้เองซึ่งเป็นที่บรรจุพระศรีรัตนมหาธาตุ อันกล่าวถึงในศิลาจารึกนั้น

ยังมีที่วัดใหญ่ และที่มีพระเจดีย์เป็นชิ้นสำคัญอยู่อีกวัดหนึ่ง คือวัดที่ราษฎรเรียกกันว่า วัดช้างรอบ พระเจดีย์ในวัดนี้ตั้งอยู่กลางลาน มีกำแพงแก้วล้อมรอบสูงประมาณ ๓ ศอก ที่ฐานทักษิณมีสลักเป็นรูปช้างครึ่งตัวยืนอยู่รอบ หันศีรษะออกมาจากฐาน จึงได้เรียกนามปรากฏอยู่ว่า วัดช้างรอบ ส่วนองค์พระธาตุนั้นเข้าใจว่าคงจะเป็นรูประฆังอย่างทรงสูง แต่ก็ได้แต่เดา เพราะทลายลงมาเสียแล้ว ทางขึ้นไปชั้นทักษิณมีสี่ด้าน ลวดลายมีบ้าง แต่สู้ที่อาวาสใหญ่ไม่ได้ มีวิหารอยู่ติดพระเจดีย์ทางด้านตะวันออก วิหารนั้นก็ยกพื้นขึ้นบนฐานสูงประมาณ ๔ ศอก ที่วัดนี้ก็เป็นวัดใหญ่น่าจะมีพระสงฆ์ประจำอยู่ พระศรีรัตนมหาธาตุนั้นนอกจากที่อาวาสใหญ่ จะมีที่สมควรจะบรรจุได้อีกแห่งหนึ่งก็ที่วัดนี้เท่านั้น

ยังมีวัดที่น่าดูอยู่อีกสองแห่ง คือแห่งหนึ่งเรียกว่าวัดพระนอน แห่งหนึ่งเรียกว่างวัดพระสี่อิริยาบถ ที่วัดพระนอนนั้นยังมีชิ้นสำคัญอยู่ คือวิหารพระนอน ซึ่งทำด้วยฝีมือดี การก่อสร้างใช้แลงทั้งนั้น เสาเป็นเสากลมก่อด้วยแลงก้อนใหญ่ๆรูปอย่างศิลาโม่ ก้อนใหญ่ๆและหนาๆมาก ผนังวิหารมีเป็นช่องลูกกรง ลูกกรงทำด้วยแลงแท่งสี่เหลี่ยม สูงราว ๓ ศอก ดูทางข้างนอกงามดีมาก แต่มีความเสียใจที่องค์พระนอนนั้นไม่เป็นรูปเสียแล้ว เพราะมีนักเลงขุดหาทรัพย์ไปทำลายเสียเมื่อเร็วๆนี้เอง ได้ความจากพระวิเชียรปราการว่าจับผู้ที่ทำลายได้ ได้ฟ้องในศาล ๆ ได้ตัดสินจำคุกแล้ว ส่วนที่วัดพระสี่อิริยาบถนั้น มีชิ้นสำคัญอยู่ คือ วิหารสี่คูหา มีพระยืนด้านหนึ่ง พระนั่งด้านหนึ่ง พระลีลาด้านหนึ่ง พระไสยาสน์ด้านหนึ่ง พระยืน พระนั่ง พระลีลายังอยู่พอเป็นรูปร่างเห็นได้ถนัด แต่พระนอนนั้นชำรุดจนไม่เป็นรูป รอบวิหารมีผนังลูกกรงโปร่ง มองเข้าไปข้างในได้ทั้งสี่ด้าน แต่วัดนี้เหมือนวัดเชตุพนที่สุโขทัยเกือบจะไม่มีผิด แต่เล็กกว่าและฝีมือทำเลวกว่า เพราะฉะนั้นจึงจะไม่กล่าวถึงให้ยืดยาวนักในที่นี้ รอไว้ไปกล่าวให้ละเอียดเมื่อเล่าถึงวัดเชตุพนเมืองสุโขทัยทีเดียว

นอกจากวัดใหญ่ๆที่กล่าวมาแล้วนี้ ยังได้ไปดูวัดเล็กอีกแห่งหนึ่งราษฎรเรียกกันว่า วัดตึกพราหมณ์ อยู่ไม่ห่างอาวาสใหญ่นัก และใกล้ลำน้ำเก่าที่ได้กล่าวถึงมาแล้สนั้น ที่วัดตึกพราหมณ์นั้นเหลืออยู่แต่พระเจดีย์กับบริวาร ซึ่งตั้งรวมอยู่บนลานสูงมีบันไดขึ้นไป ๔ หรือ ๕ ขั้น ทั้งพระเจดีย์และวิหารไม่สู้ใหญ่โตนัก ในพระเจดีย์นั้นได้บรรจุตุ่มเคลือบขนาดใหญ่ ชนิดที่เรียกว่าตุ่มนครสวรรค์นั้นไว้ ๓ ตุ่ม ถูกต่อยทะลวงเสียแล้วทั้ง ๓ ตุ่ม เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรเหลืออยู่ในนั้นเลย ตุ่มนั้นใหญ่มาก คนผู้ใหญ่เข้าไปนั่งในนั้นได้คนหนึ่ง วิธีบรรจุตุ่มนั้นตุ่ม ๑ อยู่ตรงตัวระฆังพระเจดีย์ อีกสองตุ่มอยู่ในฐาน องค์พระเจดีย์ที่ตรงระฆังก็เท่าตุ่มนั้นเอง คือตั้งตุ่มลงก่อนแล้วก่อแลงทับชั้นเดียว ปากตุ่มบนกับคอระฆังตรงกัน และก่อยอดซ้อนขึ้นไปบนนั้น ในตุ่มทั้ง ๓ นั้นจะมีอะไรอยู่ก็ไม่ได้ความ แต่น่าจะเป็นพระพิมพ์ เพราะพระพิมพ์กำแพงเพชรเช่นชนิดที่เรียกว่า พระกำแพงเขย่งนั้นก็ขุดได้จากเจดีย์สถานในเมืองโบราณนี้เอง เพราะเหตุนี้พระเจดีย์วัดตึกพราหมณ์จึงถูกทะลวงเสียป่น พื้นวิหารก็ขุดเสียหลายบ่อ จนชั้นพระประธานแลงในวิหารก็ถูกเจาะที่พระทรวงจนเป็นรู น่าสังเวชจริงๆ


 
        

    

        
     
    
(ต่อ)
แต่การที่ถูกทำลายเช่นนี้มีทั่วไปในเมืองกำแพงเพชร และเมืองเก่าๆอื่นๆ มีคนอยู่จำพวกหนึ่งซึ่งเคยหาเลี้ยงชีพในทางค้นหาทรัพย์ต่างๆ พระวิเชียรปราการเล่าว่าคนจำพวกนี้ความที่ชำนาญจนบอกได้ว่าพระเจดีย์รูปอย่างไร จะมีตรุฝังที่ตรงไหน ตรงไปถึงก็ทำลายที่ตรงต้องการทีเดียว ไม่ต้องมัวเสียเวลาค้น วิธีทำลายก็ออกความคิดกันต่างๆ ถ้ามีกำลังน้อยๆใช้วิธีอาศัยแรงต้นไม้เป็นอย่างง่าย คือเอาหวายผูกโยงยอดพระเจดีย์ไปผูกติดกับยอดไม้ ซึ่งได้ดึงโน้มลงมาหาแล้ว พอฟันต้นไม้ให้ล้มลงก็พาพระเจดีย์โค่นลงไปด้วยดังนี้ นับว่าอยู่ข้างจะช่างคิด ถ้าใช้ความคิดเช่นนี้ในที่อันควรจะน่าสรรเสริญหาน้อยไม่ พระวิเชียรปราการได้เล่าต่อไปว่า วิธีที่กล่าวแล้วนั้นได้ทราบมาจากชายผู้หนึ่งซึ่งแต่ก่อนเป็นผู้ชำนาญในทางทำลายพระเจดีย์ และโบราณสถานต่างๆเพื่อหาตรุ ชายผู้นี้บัดนี้เป็นคนพิการ หนังลอกกลายเป็นเผือกไปทั้งตัวและกลายเป็นง่อยเดินไม่ได้ ไปไหนก็ต้องถัด นี่ถ้าจะนึกไปก็ควรจะว่ากรรมตามทัน และดูไม่น่าสงสารเลย

ในเวลานี้เทศาภิบาลได้จัดการตรวจตราแข็งแรงคอยจับคนที่ทำลายเจดีย์และโบราณสถานต่างๆ และก็จับได้หลายรายแล้ว เช่นรายที่ทำลายพระนอนในวัดพระนอนเป็นต้น ผู้ร้ายก็ไม่ได้อะไรไปมากมายนัก ได้แต่พลอยเลวๆไป ๒ หรือ ๓ เมล็ดเท่านั้น แต่ครั้นเมื่อฟ้องศาลๆก็ได้ตัดสินจำคุกถึงคนละ ๓ ปี การที่ลงโทษเสียหนักเช่นนี้ดีนัก จะได้เป็นตัวอย่างแก่คนอื่นๆต่อไป แต่ที่จะให้หมดทีเดียวเห็นจะยาก เพราะที่ทางก็กว้างใหญ่และไกลที่บ้านเรือนคนอยู่ การที่จะรักษาให้กวดขันนักย่อมจะเป็นการยาก เมืองกำแพงเพชรต้องนับว่าเป็นเมืองเคราะห์ร้าย ที่มีชื่อเสียงเสียแล้วว่ามีพระพิมพ์ดีๆ มีอภินิหารต่างๆ กันสาตราวุธ ฟันไม่เข้ายิงไม่ออกเป็นต้น ของชนิดนี้ถ้ายังมีคนที่อยากจะเป็นคน "เก่ง" อยู่ตราบใด ก็คงยังมีราคาอยู่ตราบนั้น นึกๆดูก็น่าขันที่เอาพระพุทธรูปผูกคอไปเพื่อป้องกันตนในการที่คิดมิชอบต่างๆ มีปล้นสะดมหรือตีรันฟันแทงเกะกะต่างๆเป็นต้น จริงอยู่ผู้ที่นับถือพระพิมพ์หรือเครื่องรางต่างๆ เช่นผ้าประเจียดแหวนพิรอดเป็นต้นนั้นอาจที่จะเป็นคนดี และอาจที่จะประสงค์ของนั้นๆไปเพื่อป้องกันตัวในเวลาสงครามเป็นต้นก็ได้ แต่สมัยนี้เมืองเราก็สงบราบคาบไม่มีเสี้ยนหนามศัตรูมาเบียดเบียน เพราะฉะนั้นการที่คนดีๆจะต้องการเครื่องรางจึงน้อยนักหนา ยังคงมีผู้ต้องการเครื่องรางหรือต้องการมีวิทยาคมกระทำตนให้คงแก่ฟันก็ยังมีอยู่ แต่ผู้ที่ใจพาลสันดานหยาบ ซึ่งต้องการแผ่อำนาจของตนเพื่อความพอใจของตนเท่านั้น และเพราะตนมีใจขลาดจึงต้องผูกเครื่องราง หรือสักยันต์จนเต็มไปทั้งเนื้อทั้งตัวเพื่ออุดหนุนให้ใจกล้าขึ้น ถ้าคนชนิดนี้ยังมีอยู่ต่อไปตราบใด พระกำแพงก็คงต้องเป็นสิ่งมีราคาอยู่ตราบนั้น และสถานที่ต่างๆที่เป็นที่ควรรักษาไว้เป็นอนุสรณ์ของชาติ ก็จะยังคงต้องถูกขุดถูกทำลายลงเพราะความโลภของผู้ขุดพระ และความหลงของคน "เก่ง" ที่ต้องการพระนั้น เพราะเป็นธรรมดาความโลภและความหลงทั้ง ๒ ประการนี้ อาจทำให้คนลืมทั้งชาติทั้งศาสนาได้

ถ้าแม้จะเล่าถึงเมืองกำแพงเพชรให้ละเอียดไปยิ่งกว่าที่ได้เล่ามาแล้วนี้ ก็คงจะพอเล่าได้ แต่เมื่อนึกดูว่ากำแพงเพชรนี้ก็มีอะไรๆคล้ายที่สุโขทัยและที่สวรรคโลกโดยมาก ก็รู้สึกว่าไม่จำจะต้องมาเสียเวลาที่กำแพงเพชรนี้ให้มากนัก สู้เลยไปดูที่สุโขทัยและสวรรคโลกต่อไปไม่ได้ ตั้งแต่ไปกำแพงเพชรเมืองปลายศก ๑๒๔ นั้นแล้ว ข้าพเจ้าได้เคยเชื่ออยู่ว่าเป็นเมืองลูกหลวงของสุโขทัย(๕) ถึงแม้พงศาวดารเหนือจะมิได้กล่าวความปรากฏไว้เช่นนี้ก็จริง แต่ครั้นเมื่อได้ไปดูเมืองสุโขทัยแล้วก็ยิ่งมีความเชื่อแน่ยิ่งขึ้นว่า กำแพงเพชรเป็นเมืองลูกหลวงของสุโขทัย ทั้งเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญรักษาต้นทางอันหนึ่งด้วย สรุปความว่าถ้าผู้ใดไม่มีเวลาพอที่จะไปถึงเมืองสุโขทัยหรือสวรรคโลก ถ้าได้ไปดูเมืองกำแพงเพชรก็พอจะอวดกับเขาได้บ้างแล้ว ว่าพอเดาถูกว่าเมืองพระร่วงเป็นอย่างไร





อธิบายความเพิ่มเติมในตอนที่ ๒


(๑) เรื่องเมืองกำแพงเพชรเก่าใหม่ตรวจในสมัยต่อมาได้ความดังนี้ ที่เรียกว่าเมือง "นครปุ" นั้น ที่ถูกคือเมือง "นครชุม" เพราะในจารึกเขียน "นครชุo" ดังนี้ เมื่ออ่านกันชั้นแรกเข้าใจว่าชื่อนครปุ ต่อภายหลังจึงพิจารณาเห็นว่า ชุo เมืองนี้เป็นเมืองเดิม ที่เรียกในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมืองชากังราว ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกใต้ปากคลองสวนหมาก เมืองกำแพงเพชรที่ริมน้ำทางฝั่งตะวันออกเป็นเมืองสร้างทีหลัง หลังเมืองกำแพงเพชรออกไปทางตะวันออกที่มีวัดสร้างไว้มากนั้น เป็นที่อรัญญิกมิใช่เมือง

(๒) เรื่องวัดข้างในเมืองกำแพงเพชร ภายหลังมาได้ถางตรวจดูทั้งหมดเห็นแปลกประหลาดกว่าที่อื่น คือมีที่เป็นบริเวณวัดอยู่ ๒ บริเวณ แต่ในบริเวณเดียวกันสร้างวัดเป็นหลายวัด ต่างมีโบสถ์วิหารและพระสถูปเจดีย์อยู่ติดๆกันไป ไม่เห็นมีที่ไหนเหมือน ตรวจค้นหาเหตุที่สร้างวัดอย่างนี้อยู่ช้านาน จึงคิดเห็นว่าวัดที่สร้างในสมัยครั้งสุโขทัยและตอนต้นสมัยอยุธยาโดยมากสร้างเป็นอย่างอนุสาวรีย์ ไม่มีพระสงฆ์อยู่เหมือนอย่างวัดในสมัยชั้นหลัง ที่สร้างโบสถ์หลายโบสถ์ไว้ในบริเวณเดียวกัน เห็นจะเป็นแต่ให้พระสงฆ์บวชนาคได้ในวัดซึ่งสร้างเป็นอนุสาวรีย์นั้น อนึ่งสังเกตดูวัดที่สร้างในเมืองกำแพงเพชร สันนิษฐานว่าจะเป็นของสร้างชั้นหลังด้วยฝีมือเลวกว่าวัดซึ่งสร้างไว้ในอรัญญิกข้างหลังเมืองออกไป


(๓) พระมหาธาตุที่ในศิลาจารึกว่า พญาฤไทยราชสร้างนั้น ภายหลังสอบได้ความแน่ ว่าอยู่ที่เมืองนครชุมฝั่งตะวันตกที่ปากคลองสวนหมาก เดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่ แต่เศรษฐีกะเหรี่ยงคนหนึ่งปฏิสังขรณ์ แปลงรูปไปเป็นพระเจดีย์พม่าเสีย


(๔) สอบศิลาจารึกได้ความว่า ญาฤไทยราชที่เป็นพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย กับที่สร้างพระมหาธาตุที่เมืองนครชุมเมื่อเสวยราชย์แล้ว เป็นองค์เดียวกัน


(๕) ชื่อเมืองงกำแพงเพชรนี้สังเกตดูชอบกล ในบรรดาศิลาจารึกครั้งสุโขทัยมิได้กล่าวถึงเลย มีออกชื่ออยู่ในศิลาจารึกแผ่น ๑ ก็เรียกว่าเมืองนครชุม คือเมืองที่อยู่ฝั่งตะวันตก แต่หนังสือโบราณทางเชียงใหม่ก็ดี ทางกรุงศรีอยุธยาเช่นในกฎหมายลักษณะลักพา ซึ่งตั้งแต่ในรัชกาลพระเจ้าอู่ทองก็ดี เรียกว่าเมืองกำแพงเพชรทั้งนั้น แต่เป็นเมืองลูกหลวงดังทรงพระราชดำริเป็นแน่ มีเมืองเช่นเดียวกันทั้ง ๔ ทิศเมืองสุโขทัย คือเมืองศรีสัชนาลัย(สวรรคโลก)อยู่ทิศเหนือ เมืองสองแคว(พิษณุโลก)อยู่ทิศตะวันออก เมืองสระหลวง(พิจิตร)อยู่ทิศใต้ เมืองกำแพงเพชรอยู่ทิศตะวันตก


...


ตอนที่ ๓ กล่าวถึงถนนพระร่วง


เมื่อก่อนที่ข้าพเจ้าจะไปเที่ยวเมืองเหนือครั้งหลัง คือปลายปี ร.ศ. ๑๒๖ นั้น พอได้ทราบข่าวว่าจะได้เดินไปตามถนนพระร่วง ข้าพเจ้าช่างรู้สึกยินดีเสียจริงๆ เพราะตั้งแต่ข้าพเจ้าไปเมืองกำแพงเพชรเมื่อปลายศก ๑๒๔ นั้นแล้ว ข้าพเจ้าได้ปรารภอยู่ว่าอยากจะเดินไปตามถนนพระร่วงจนถึงสุโขทัย แต่ในเวลานั้นไม่ได้คาดได้หมายเลยว่าจะได้สมประสงค์ เพราะประการหนึ่งข้าพเจ้าต้องรับสารภาพว่าไม่สู้จะแน่ใจนักว่าได้มีถนนในระหว่างกำแพงเพชรกับสุโขทัย โดยเหตุที่ข้าพเจ้ายังอ่อนในทางโบราณคดีอยู่มาก และจำไม่ได้ถนัดว่าได้อ่านพบที่แห่งใดในเรื่องถนนพระร่วง อีกประการหนึ่งนึกอยู่ว่าถึงแม้ถนนจะได้เคยมีไปครั้งหนึ่ง ก็น่ากลัวจะสูญไปเสียหมดแล้ว เพราะได้ไต่ถามผู้ที่เคยเที่ยวตามแถบนั้นมาแล้วบ้าง ไม่ใคร่ได้มีผู้ใดได้สังเกตนัก ว่าถนนจะมีอยู่มากเท่าใด แต่ข้าพเจ้าได้บอกพระวิเชียรปราการไว้ว่าขอให้ลองค้นดู เพราะฉะนั้นจึงมีความยินดีเป็นอันมาก เมื่อได้ทราบข่าวจากพระวิเชียรปราการมาว่าได้ค้นพบถนนแล้ว และภายหลังได้ทราบต่อไปว่าถนนพระร่วงมีติดต่อตลอดไป ตั้งแต่เมืองกำแพงเพชรถึงสุโขทัย และตั้งแต่สุโขทัยไปถึงสวรรคโลก

ต่อนั้นมาก็ได้ตั้งต้นตรวจค้นดู ว่าจะมีกล่าวถึงถนนอยู่ในหนังสือแห่งใดบ้าง ได้พบหลักฐานอยู่แห่งเดียวแต่ในคำแปลหลักศิลาเมืองสุโขทัยที่ ๒ ซึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ สมเด็จกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงแต่ง ลงพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณรายเดือนเล่ม ๑ ฉบับที่ ๓ ปี ๑๒๔๖ ในหนังสือนี้มีปรากฏอยู่ว่า "ในการนั้นพระองค์(พระเจ้ากมรเตญอัตศรีธรรมิกราชาธิราช) ทรงระลึกถึงพระเชษฐาเมืองศรีสัชนาลัยจะเสด็จนำพยุหพลไป ฯลฯ แล้วพระองค์ท่านเสด็จดำเนินพลไปปราบปรามเมืองหนึ่งชื่อศรีจุธามลราชมหานคร ตั้งอยู่ทิศพายัพเมืองศรีสัชนาลัย เสด็จทอดพระเนตรตามระยะสถลมารคไปเห็นว่าทางลำบากยากแก่ราษฎรไปมาค้าขาย จึงทรงพระกรุณาโปรดให้รี้พลขุดคลองทำถนนหนทางหลวง ตั้งแต่เมืองสุโขทัยมาจนตลอดถึงเมืองศรีสัชนาลัยและเมืองน้อยเมืองใหญ่ ทำทางน้ำทางบกแวะเวียนไปตามหว่างทางใหญ่เป็นการบุญสนองคุณพระราชบิดา"

การทำถนนนี้มิได้กล่าวปรากฏว่าทำเมื่อศักราชเท่าไร แต่ปรากฏอยู่ว่าทำภายหลังเวลาที่ได้ทรงผนวชที่วัดป่ามะม่วงในสำนักพระมหาสามีสังฆราช เมื่อไปอาราธนาพระสามีสังฆราชมานั้น มีปรากฏอยู่ว่ามหาศักราชได้ ๑๒๘๓ ศกฉลู เพราะฉะนั้นถนนนั้นต้องเข้าใจว่าได้ทำขึ้นภายหลังมหาศักราช ๑๒๘๓ นั้น แต่พิจารณาดูตามคำแปลหลักศิลานั้นมีปรากฏอยู่ว่า เมื่อพระมหาสามีสังฆราชมาจากนครจันทรเขตในลังกาทวีปนั้น ได้ขึ้นเดินโดยทางสถลมารค "แต่เมืองเชียงทอง เมืองจันทร เมืองพราน เมืองวาน ตลอดถึงเมืองสุโขทัย" ข้อนี้ทำให้นึกสันนิษฐานว่า ถนนตอนระหว่างท่าเรือที่ลำน้ำแควน้อยไปจนถึงเมืองสุโขทัยนั้น ถ้าไม่ได้มีอยู่ก่อนแล้วก็คงจะได้ทำขึ้นในคราวที่พระสังฆราชจะเดินไปนั้นเอง เพราะฉะนั้นต้องเดาว่าเก่ากว่าตอนที่ต่อแต่สุโขทัยไปสวรรคโลก

ยังมีสิ่งที่ทำให้น่าเชื่อมากขึ้นคือ ถนนระหว่างกำแพงเพชรกับสุโขทัยนั้นได้ผ่านไปใกล้เมืองย่อมๆ ๓ เมือง ตรงตามความในหลักศิลา แต่เมื่อข้าพเจ้าเดินตามถนนนั้นได้เห็นปลายถนนทางด้านตะวันตก ไปหมดอยู่เพียงขอบบึงใหญ่อันหนึ่ง ห่างจากเมืองกำแพงเพชรกว่า ๑๐๐ เส้น พระวิเชียรปราการแสดงความเห็นว่าน่าจะทำข้ามบึงไป แต่น้ำได้พัดทำลายไปเสียหมดแล้ว ข้อนี้ก็อาจจะเป็นได้ แต่ข้าพเจ้ายังไม่สู้จะเชื่อนัก ยังนึกสงสัยอยู่ว่าคงจะมีต่อไปจนถึงเมืองเชียงทอง ซึ่งเป็นเมืองท่าเรือ ถามถึงเมืองเชียงทองแต่เมื่ออยู่เมืองกำแพงเพชรก็ยังไม่ได้ความ ครั้นจะอยู่รอค้นหาต่อไปก็ไม่มีเวลาพอ จึงได้ขอให้พระวิเชียรปราการจัดหาคนที่รู้จักภูมิประเทศ เที่ยวตรวจค้นดูทางเหนือเมืองกำแพงเพชรขึ้นไป ว่าจะหาที่อะไรที่พอจะสันนิษฐานว่าเป็นเมืองได้บ้างหรือไม่ แล้วก็ออกเดินทางต่อไป

ฝ่ายพระวิเชียรปราการได้ไปด้วย ถึงที่บ้านพรานกระต่ายพบสนทนากับขุนภักดีนายอำเภอ ตกลงสั่งให้ขุนภักดีไปตรวจค้นหาเมืองตามที่ข้าพเจ้าแนะนำ ขุนภักดีได้ไปเที่ยวตรวจค้นจนพบ แล้วรีบตามไปที่สวรรคโลก บอกว่าได้พบเมืองโบราณเมืองหนึ่งอยู่เหนือเมืองกำแพงเพชรขึ้นไปประมาณ ๒๐๐ เส้นเศษ เป็นเมืองย่อมๆเป็นคูและเทินดิน ราษฎรตามแถบนั้นเรียกว่าเมืองเทินทอง หรือชุมนุมกองทอง เมืองนั้นตั้งอยู่ริมลำน้ำเรียกว่าคลองเรือ ปากคลองทะลุลำน้ำแควน้อย และมีถนนจากเมืองนั้นไปทางตะวันออกเฉียงใต้ แต่มาขาดเสียกลางทาง นี่เป็นพยานอยู่ว่า การที่สันนิษฐานไว้นั้นถูกต้องแล้ว และถนนคงจะได้มีมาจนต่อกับที่ขาดอยู่ที่บึงอยู่นั้น ส่วนเมืองกองทองหรือเนินทองนั้นข้าพเจ้าเชื่อว่าคือเมืองเชียงทองที่กล่าวถึงในหลักศิลานั้นเอง เพราะฟังดูภูมิฐานที่ตั้งก็ดูเหมาะกับที่จะเป็นเมืองท่าเรือทะเล และที่นี้เองน่าจะเป็นเมืองเชียงทองที่กล่าวถึงอยู่หลายแห่งในพระราชพงศาวดารกรุงทวาราวดี และน่าจะเป็นเมืองนี้เองที่กล่าวถึงในเรื่องขุนช้างขุนแผน

ส่วนเมืองจันทร เมืองพราน เมืองวาน ทั้ง ๓ เมืองที่กล่าวไว้ว่าพระมหาสามีสังฆราชได้ผ่านไปเมื่อไปสุโขทัยนั้น ข้าพเจ้าได้ผ่านไปและพักดูทั้ง ๓ แห่ง เชื่อว่าคงจะไม่ผิด แต่จะของดไว้กล่าวถึงต่อภายหลังตามลำดับระยะทางที่เดินไป

ตามที่ได้กล่าวถึงเรื่องถนนพระร่วงนั้น กล่าวแต่เฉพาะตามที่ค้นได้ในหนังสือเป็นแน่นอน แต่ข้าพเจ้าเองไม่ใคร่อยากจะเชื่อว่าได้ทำขึ้นใหม่ในแผ่นดินพระเจ้าธรรมิกราช เพราะถ้าอ่านดูตามถ้อยคำที่พระเจ้ารามคำแหงได้จารึกไว้ ต้องเข้าใจว่าเมืองสุโขทัยในสมัยพระเจ้ารามคำแหง (ราวมหาศักราช ๑๒๐๕ - ๑๒๑๔ คือ ๖๐๐ ปีเศษล่วงมาแล้ว) นั้นจำเริญรุ่งเรืองมาก อาณาเขตกว้างขวาง ควรจะได้มีถนนไปติดต่อกับเมืองลูกหลวงบ้าง มีสวรรคโลกและกำแพงเพชรเป็นต้น ที่เมืองศรีสัชนาลัยนั้นควรเชื่อได้ว่าอย่างไรๆพระเจ้ารามคำแหงคงได้เสด็จไปอยู่บ้าง จนได้ปรากฏอยู่ในคำจารึกหลักศิลาเมืองสุโขทัยที่ ๑ มีข้อความอยู่ว่า "๑๒๐๙ ศกปีกุน ให้ขุดเอาพระธาตุออกท้งงหลายเห็นกทำบูชาบำเรอแก่พระธาตุได้เดือนหกวนน จึงเอาลงฝงงในกลางเมืองศรีสัชนาไลย ก่อพระเจดีย์เหนือหกเข้า(ปี) จึงออกแล้วต้งงวงผา(กำแพงศิลา) ล้อมพระธาตุสามเข้าจึงแล้ว"

การก่อสร้างพระธาตุเจดีย์ต้องทำอยู่ถึง ๖ ปีจึงแล้ว ดังนั้นก็ต้องพึงเข้าใจว่าคงจะต้องมีการไปมาระหว่างเมืองศรีสัชนาลัย(สวรรคโลก) กับสุโขทัยอยู่บ่อยๆ ถึงแม้ไม่ใช่พระราชาเสด็จเอง พวกบริษัทบริวารก็คงจะต้องเดินไปมาอยู่ เพราะฉะนั้นจึงทำให้น่าถามว่า ถนนพระร่วงนั้นจะเดาว่าได้ทำขึ้นในสมัยนั้นแล้วได้หรือไม่ ถ้าแม้ได้ก็ต้องเลยเดาต่อไปว่า การที่พระเจ้ากมรเตญอัตศรีธรรมิกราช ได้สั่งทำถนนระหว่างสุโขทัยกับสวรรคโลกนั้นไม่ใช่ให้ทำถนนขึ้นใหม่ เป็นแต่ซ่อมแซมถนนเก่าของพระเจ้ารามคำแหงผู้เป็นอัยกา ให้แน่นหนาดีขึ้นกว่าเก่า แล้วทำถนนเล็กแยกซอยเพิ่มเติมขึ้นอีกเท่านั้น ส่วนคลองที่ว่าให้ขุดนั้นก็ขุดด้วยความประสงค์สองประการ คือให้มีน้ำใช้ตามทางประการหนึ่ง กับต้องการดินขึ้นมาถมถนนอีกประการหนึ่ง ข้อนี้เมื่อได้เดินไปตามถนนพระร่วงแล้วได้แลเห็นแก่ตา ถึงกล้ากล่าวลงไว้ได้เป็นแน่นนอนเช่นนี้

ถนนพระร่วงนี้เชื่อว่าพึ่งมาสูญไปเสียเมื่อเร็วๆนี้ ที่ว่าสูญในที่นี้ไม่ใช่หมายความว่าหายไปทีเดียว เป็นแต่คนลืมเสียเท่านั้น จนกระทั่งผู้ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ๆถนนนั้นโดยมาก ถามดูก็ไม่ใคร่ทราบว่าถนนจะไปทางไหน บอกได้แต่ว่าออกจากหมู่บ้านที่ตนอยู่ แล้วก็เลยหายเข้าไปในป่าเท่านั้น ถนนพระร่วงในเร็วๆนี้เป็นอันไม่ได้ใช้เป็นถนนเลย บางแห่งใช้เป็นคันนา บางแห่งปลูกเรือนคร่อม บางแห่งเกลี่ยแล้วปลูกกล้วยบนหลังถนน การที่จะเดินตามถนนนี้จึงไม่ใช่การง่าย ต้องถางทางเลียบไปข้างๆถนนเดิมอย่างนั้นเอง หาได้ไปตามทางเกวียนที่ใช้กันอยู่ไม่ นึกดูก็น่าเสียดายที่ไม่ได้รักษาไว้เป็นทางหลวง เพราะถ้าใครได้เห็นแล้วต้องชมทั้งนั้นว่า การที่ทำแน่นหนาดีน่าประหลาด ถ้าได้ขุดถอนตอลงเสียให้สิ้นแล้ว อาจที่จะทำเป็นถนนรถเดินไปสบาย ที่กล่าวเช่นนี้ก็พอให้เห็นว่าถนนนั้นยังเหลืออยู่ดีปานใด แต่ที่เหลืออยู่สูงๆกว้างๆนั้น เป็นตอนที่อยู่ในป่าสูงโดยมาก ตอนที่อยู่ริมบ้านคนมักป่นปี้ไปมาก เพราะคนเหล่านั้นเกลี่ยลงเพื่อเพาะปลูกเป็นต้น และบางแห่งที่อยู่ในทุ่งนาถูกไถนากินกร่อนเข้าไปมากจนเหลือนิดเดียว เช่นในทุ่งหนองดินแดง อำเภอพรานกระต่าย แขวงเมืองกำแพงเพชร เป็นต้น

ถ้าขืนปล่อยให้คนทำลายถนนไปด้วยความเขลาเช่นนี้ ไม่ช้าถนนพระร่วงจะสูญจริงๆ จะไม่มีใครชี้ได้ถูกอีกต่อไปว่าอยู่ตรงไหน และพยานแห่งความเจริญรุ่งเรืองของชาติไทยเราในโบราณกาลก็จะหมดไปอีกอย่างหนึ่ง และยังจะมีผลอีกประการหนึ่งคือต่อไปในอนาคตกาล เมื่อใครกล่าวขึ้นว่าได้เห็นถนนพระร่วง พวกคนภายหลังก็น่าจะหาว่าหลงประการหนึ่ง หรือร้ายกว่านั้นจะหาว่า "กุ" หรือ "กุละ" (คือพูดเล่นเฉยๆโดยหาหลังฐานมิได้เลย) เพราะฉะนั้น จึงจำจะต้องกล่าวเรื่องถนนพระร่วงนี้ไว้ให้ยืดยาวเป็นส่วนคำนำกลายๆในที่นี้ ในตอนหลังๆจะได้เล่าข้อความตามลำดับที่ได้ดูเห็นตามระยะทางต่อไป


...
   
        



        
     
    
ตอนที่ ๔ เดินตามทางที่พระสังฆราชเดิน


วันที่ ๑๘ มกราคม เวลาเช้า ๓ โมงเศษ ได้ออกจากที่พัก ณ เมืองกำแพงเพชรเดินทางด้วยม้าเข้าไปในเมืองเก่า ทางประตูน้ำอ้อยด้านตะวันตก แล้วตัดข้ามไปออกทางประตูสะพานโคมด้านตะวันออก ไปตามถนนที่ไปนคร "ปุ" แต่ยังไม่มันถึงหมู่วัดใหญ่ๆที่ได้ดูแล้ว ก็แยกทางไปทางขวามือไปตามทางเกวียน ริมทางได้เห็นบ่อที่ขุดศิลาแลง และตัดเป็นแท่งๆสี่เหลี่ยมไว้แล้วก็มี บ่อนั้นดูก็ไม่สู้ลึก ดูๆไปก็ทำให้นึกเสียดายว่า ไม่มีผู้ใดคิดขุดเอาแลงขึ้นมาก่อสร้างเล่นบ้างเหมือนแต่ก่อน

ต่อแถบบ่อแลงลงมาได้สักหน่อย เป็นทางไปในดงอยู่ข้างจะร่มดี เดินทางสบายเสียแต่ฝุ่นจัด ไปได้ประมาณ ๒๐๐ เส้นเศษจึงถึงถนนพระร่วง ปลายถนนมาหมดอยู่เพียงบึงที่ได้เดินเลียบมาแล้วนั้น ถนนนี้ในชั้นต้นตัดผ่านไปในทุ่งจระเข้ บางแห่งอยู่ข้างจะเลือนเห็นยากว่าเป็นถนน ที่รู้ได้ก็คือพื้นดินเรียบราบ และดูจะแน่นกว่าพื้นดินสองข้างทาง กับเห็นต้นไม้ใหญ่ๆขึ้นเป็นเทือกไปทั้งสองข้าง ผิดกับทางทุ่งซึ่งโดยมากเห็นแต่ต้นไม้เล็กๆ ถนนบางแห่งกว้างประมาณสัก ๓ วา จึงเข้าใจว่าคงจะเคยเป็นถนนใหญ่ พอพ้นทุ่งไปแล้ว เขาดงไปอีกหน่อยก็ถึงที่พักร้อนอยู่ริมลำน้ำรียกว่าคลองประจำรัก หน้าน้ำมีน้ำเดิน แต่หน้าแล้งแห้งขอด

ที่ริมที่พักร้อนนั้น มีที่อันหนึ่งเรียกว่าเมืองพลับพลา ตามคำราษฎรแถบนี้เล่าเรื่องราวว่า ในกาลครั้งหนึ่งมีผู้เดินไปตามทางถนนพระร่วง พบตาผ้าขาวผู้หนึ่งมายืนอยู่ตรงนั้น ชนสามัญจะไต่ถามประการใดก็มิได้โต้ได้ตอบเลย มีผู้นำความไปบอกพระยาบางพาน พระยาบางพานจึงออกมาหาตาผ้าขาวเอง ตาผ้าขาวบอกกับพระยาบางพานว่า อยากจะเฝ้าพระเจ้าศรีธรรมาโศกเมืองกำแพงเพชร เพราะมีข่าวสำคัญที่จะทูล พระยาบางพานก็รีบเข้าไปเฝ้าพระเจ้าศรีธรรมาโศก ทูลเล่าความทุกประการ พระเจ้าศรีธรรมาโศกก็มีรับสั่งให้ไปปลูกพลับพลาขึ้นที่กลางป่า ริมที่ตาผ้าขาวยืนอยู่นั้น แล้วก็เสด็จออกไปอัญเชิญตาผ้าขาวขึ้นบนพลับพลา ถามว่าเป็นผู้ใดและมีข่าวสำคัญอะไรมาบอก ตาผ้าขาวบอกว่าตนคือองค์อมรินทราธิราช การที่มานี้ประสงค์จะมาบอกข่าวว่าจะเกิดมีความไข้ขึ้นในเมืองกำแพงเพชร เพราะฉะนั้นให้สร้างเทวรูปพระเป็นเจ้าทั้ง ๓ ขึ้นประดิษฐานไว้ในที่อันควร เมื่อเกิดไข้ขึ้นก็ให้ไปรองน้ำมนต์สรงพระเป็นเจ้าทั้ง ๓ นั้นไปอาบและกิน พอกล่าวดังนั้นแล้ว ตาผ้าขาวก็อันตรธานไปทันที พระเจ้าศรีธรรมาโสกทรงทราบได้ชัดว่า องค์สมเด็จพระอมรินทราธฺราชได้จำแลงพระองค์ลงมาบอกข่าวสำคัญ จึงรีบเสด็จกลับเข้าไปในเมืองกำแพงเพชร ครั้นเมื่อได้เกิดความไข้ขึ้นจริงดังเทวทำนาย ก็ได้ใช้น้ำมนต์สรงเทวรูปเป็นยารักษาบำบัดโรคได้ ที่ตำบลที่ปลูกพลับพลานั้นก็เลยเรียกว่าเมืองพลับพลามาจนทุกวันนี้

ถามพระวิเชียรปราการว่ามีสิ่งไรเป็นพยานว่ามีเมืองอยู่บ้างหรือเปล่า พระวิเชียรปราการว่าไม่มีอะไรเลย เพราะฉะนั้นเรื่องเมืองพลับพลาทั้งเรื่องทน่ากลัวจะเป็นเรื่องเล่าประกอบขึ้นภายหลัง อย่างแบบเรื่องต่างๆของที่ตามเมืองโบราณ ข้าพเจ้าสงสัยต่อไปว่า ที่เรียกเมืองพลับพลานั้นบางทีจะเรียกผิด บางทีเดิมจะเรียกว่าเหมืองพลับพลา คือเป็นชื่อเหมืองหรือลำน้ำเล็กๆ แต่ภายหลังเรียกกันเลือนเลอะกลายเป็นเมืองไป แต่ข้อนี้ก็ไม่มีหลักฐานอะไร

จากที่พักร้อนเดินทางต่อไป ๑๐๐ เส้นเศษ พอถึงที่พักแรมริมเมืองบางพานพลับพลาตั้งอยู่ในทุ่งริมบ้านบางพาน ที่ตรงหน้าที่พักออกไป มีถนนซึ่งตามแถบนั้นเรียกว่าถนน "พระยาพาน" ทำออกมาจากเมืองบางพาน เลี้ยวไปทางเขานางทองสายหนึ่ง แยกไปเข้าบรรจบถนนพระร่วงสายหนึ่ง ถนนตอนตั้งแต่หน้าเมืองพานไปจนต่อถนนพระร่วงนั้น เข้าใจว่าทำไปตามแนวถนนเดิม พระยาพานเป็นแต่เสริมให้สูงขึ้นเท่านั้น

เวลาบ่ายเดิยเลียบไปตามถนนพระยาพาน เลี้ยวข้ามทุ่งไปทางทิศตะวันตกจากที่พักประมาณ ๔ เส้นเศษถึงเชิงเขานางทอง ถนนที่มาทางนี้ทำเป็นคันสูง เหนือพื้นทุ่งข้างๆราว ๒ ศอก แต่กำหนดแน่ยาก เพราะต้นไม้ใหญ่ขึ้นเสียบนนี้เป็นอันมาก จนดินเป็นเนินๆไปทั้งนั้น ทางกว้างจะเพียงไรก็กำหนดแน่ไม่ได้ เพราะทลายเสียมากแล้ว คงเหลือแต่ดินที่เกาะอยู่กับต้นไม้รากไม้ยึดไว้ แต่เชื่อว่าอย่างไรๆถนนคงไม่เกินกว่า ๘ ศอก หรือ ๓ วา

เขานางทองนี้ตามคำเล่ากันว่า เรียกชื่อตามนางทองผู้หนึ่ง ซึ่งถูกพระยานาคกลืนเข้าไปไว้ พระร่วงตามถึงที่เขานี้ ได้ล้วงนางออกจากคอพระยานาค แล้วเลยได้นางไปเป็นชายา บนยอดเขานี้มีกองแลงอยู่กองหนึ่งซึ่งอาจเป็นพระเจดีย์ ได้ตั้งอยู่บนเนินหนึ่ง อีกเนินหนึ่งมีอะไรคล้ายบุษบกอยู่บนนั้น ที่ระหว่างเนินทั้งสองนี้มีแผ่นศิลาสลักเป็นรอยพระพุทธบาทไว้แผ่นหนึ่ง นอกจากลายก้นหอยที่นิ้วกับจักรใหญ่ตรงกลางฝ่าพระบาท มีลายต่างๆแบ่งเป็นห้องดูเป็นทำนองจีน มีอะไรคล้ายๆเก๋งจีนอยู่ในนั้นหลายห้อง ทางริมแผ่นศิลาข้างซ้ายพระบาท แต่นอกรอยพระบาทออกมามีตัวอักษรขอมจารึกอยู่ แต่ศิลากะเทาะออกเสียมาก อ่านไม่ได้ความ พระบาทนี้เหลือที่กำหนดอายุได้ อาจเป็นของเก่าครั้งพระร่วง(๑) หรือเป็นของใหม่เร็วๆนี้ก็ได้ ที่หน้าศิลากะเทาะนั้น ก็ไม่เป็นพยานว่าเป็นของเก่า เพราะได้ทราบความจากพระวิเชียรปราการว่าราษฎรได้มาชะลอเอาไปไว้ที่อื่นเพื่อนมัสการให้สะดวก พึ่งได้ยกกลับคืนมาไว้ที่เดิม การที่ยกไปมาขึ้นลงจากเขานี้ อาจเป็นเหตุให้ชำรุดไปได้เป็นอันมาก

ลงจากเขานางทอง เดินตามถนนพระยาพาน ไปดูเมืองบางพานซึ่งอยู่ห่างจากพลับพลาที่พักไปทางใต้ประมาณ ๑๑ เส้นเศษ เมืองพานหรือบางพานนี้ มีคูและเทินสองชั้น ได้ความว่าโดยรอบกำแพง ๘๐ เส้นเศษ มีลำน้ำผ่าไปกลางเมือง ลำน้ำนี้มีน้ำขังอยู่เป็นห้วงเป็นตอนในหน้าแล้ง ราษฎรที่ตั้งบ้านอยู่ตามแถบนี้ ก็ได้อาศัยใช้น้ำในลำน้ำนี้เอง แต่เดิมคงจะเป็นลำน้ำใหญ่ บางทีจะเป็นต้นของลำน้ำเก่าที่นคร "ปุ" และเมืองพานนี้ต้องทิ้งร้างไปก็คงจะเป็นเพราะแม่น้ำเขินไม่มีน้ำกินพอ เช่นนคร "ปุ" นั้นเอง(๒)

ในเมืองบางพานเวลานี้ค้นอะไรไม่พบ นอกจากที่ราษฎรเรียกว่าวัดกลางเมือง มีกองศิลาแลงรูปร่างคล้ายพระเจดีย์อยู่อันหนึ่งแต่ดูเล็กนัก ต่อนั้นไปอีกเป็นลานยกสูงขึ้นไปจากพื้นดิน บนนั้นมีฐานชุกชีอยู่อันหนึ่งรากก่อด้วยแลง แล้วมีอิฐก่อทับเป็นฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีบัวซ้อนกันขึ้นไปสามชั้นแล้วถึงฐานเป็นรูปกลม อิฐทำโค้งสำหรับให้เข้ารูป พระวิเชียรปราการสืบได้ความว่าที่ตรงนั้นเคยมีหลักศิลาจารึกตั้งอยู่ แต่ราษฎรได้มาทำลายและรื้อไปเสียแล้ว พระวิเชียรปราการให้เที่ยวตาม ก็ไม่พบเป็นแท่งใหญ่ๆ มีอยู่บ้างตามบ้านราษฎร แต่เขาได้ใช้เป็นศิลาลับมีดเสียแล้ว และเฉพาะเลือกลับทางที่จารึกตัวอักษร ลบไปจนหมดไม่มีเหลือเลย พระวิเชียรปราการเก็บได้แต่ชิ้นเล็กๆที่ต่อยเป็นเศษทิ้งไว้ ยังมีตัวอักษรติดอยู่บ้าง แต่เหลือที่จะอ่านได้ นอกจากนี้ก็ค้นไม่พบอะไรอีกเลย

น่าเสียดายศิลานั้นเป็นอันมาก เพราะอาจจะได้เรื่องราวประกอบเป็นหลักฐาน ในเวลานี้ก็คงได้แต่เดาว่าเมืองพานนี้คงจะตรงกับเมืองวาน ที่กล่าวถึงในหลักศิลาเมืองสุโขทัยที่ ๒ เป็นเมืองอันหนึ่งที่พระมหาสามีสังฆราชได้พักระหว่างในเวลาเดินทางไปสุโขทัย เชื่อว่าคงจะเป็นเมืองด่าน ไม่ใช่เมืองกษัตริย์ และน่าจะเป็นเมืองขึ้นกำแพงเพชร เพราะห่างกันเพียง ๕๐๐ เส้นเศษเท่านั้น

วันที่ ๑๙ มกราคม เวลาเช้า ๓ โมงครึ่ง ออกจากที่พักบางพานไปโดยพาหนะช้าง ถึงบ้านพรานกระต่ายจวนเที่ยง ที่บ้านพรานกระต่ายนี้มีบ้านเรือนแน่นหนา ทุกๆบ้านมีรั้วกั้นเป็นขอบเขต สังเกตว่าบ้านช่องดีสะอาดและเรียบร้อยเป็นระเบียบ จึงเข้าใจว่าราษฎรตามแถบนี้อยู่ข้างจะบริบูรณ์ และนายอำเภอก็ทีจะเป็นคนแข็งแรง ที่พักเขาได้ปลูกขึ้นแน่หนา ถามดูได้ความว่าเขาจะเลยใช้เป็นที่ว่าการอำเภอต่อไป พวกผู้หญิง มีภรรยาขุนภักดีนายอำเภอเป็นประธาน ได้จัดสำรับมาเลี้ยง ในระหว่างเวลาที่เลี้ยงนั้นราษฎรได้ขออนุญาตเวียนเทียนทำขวัญบรรดาพวกที่เดินทาง จัดให้หญิงแก่ผู้หนึ่งเป็นผู้ให้พร พวกราษฎรรับโห่รอบพลับพลา ตีฆ้องและประโคมพิณพาทย์อยู่ข้างจะครึกครื้นมาก นับว่าเป็นการสมโภชเต็มบริบูรณ์ตามศัพท์ เพราะได้กินอาหารจริง ไม่ใช่แต่จิบน้ำมะพร้าวสามจิบพอเปรี้ยวๆปาก ตามอย่างที่พราหมณ์ทำ

ที่นี้ได้เห็นของประหลาดอย่างนึ่ง คือกระจกหอบ่าวสาว กระจกนี้เป็นของนายมากผู้ใหญ่บ้าน กรอบทำด้วยไม่สลักลวดลายแปลก มีกระจกอยู่ที่ตอนข้างบนใต้ยอดกรอบลงมานิดเดียว กระจกนั้นก็บานเล็ก กรอบโตกว่าเป็นอันมาก ถ้าดูผาดๆก็นึกว่ากระดานทำรูปคล้ายพระเจดีย์ ยอดสลักเป็นรูปหงส์ แต่กระจกนี้เป็นของสำคัญมาก ใครจะแต่งงานกันต้องมายืมกระจกบานนี้ไปแต่งเรือนหอ พอเสร็จงานแล้วก็นำไปส่งคืนเจ้าของ ว่าเป็นธรรมเนียมเช่นนี้มายายแล้ว กระจกนี้นายมากว่าได้รับมรดกสืบต่อกันมาหลายชั่วคน ว่าเดิมเป็นของพวกเชียงราย เมื่อถูกพวกเมืองเชียงแสนตีแตกกระจัดกระจายหนีมาอยู่ที่พรานกระต่าย หวังใจว่าเจ้าของจะไม่ขายกระจกนั้นไปเสีย ถ้าชาวต่างประเทศมาฉวยไปเสียได้ก็จะเจ็บอยู่ แต่นึกค่อยอุ่นใจนิดหนึ่ง ที่ตรงว่าบ้านพรานกระต่ายนี้ไม่ใคร่มีใครไปถึง

แต่ที่จริงบ้านพรานกระต่ายไม่ใช่ที่เลว ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วบ้านเรือนก็มีแน่นหนามาก ราษฎรก็อยู่ข้างบริบูรณ์และไร่นาดี ได้สังเกตกิริยามารยาทเรียบร้อยซึ่งทำให้เข้าใจว่า ที่นี้จะได้เป็นที่ตั้งบ้านเมืองมาแต่โบราณกาล ถนนพระร่วงก็ได้ผ่านหมู่บ้านนี้ไปทีเดียว มีเรือนตั้งคร่อมถนนก็หลายหลัง ข้อนี้ทำให้สันนิษฐานว่าบ้านพรานกระต่ายจะเป็นเมืองพรานที่กล่าวถึงในหลักศิลาเมืองสุโขทัยที่ ๒

เวลาบ่ายออกจากบ้านพรานกระต่าย ลองขึ้นเกวียน ถ้าผู้ใดไม่เคยลองเดินทางด้วยเกวียนก็ควรจะต้องลอง แต่ครั้งเดียวคงพอเพราะถูกฟัดไปฟัดมาเมื่อยไปทั้งกาย เดินทางพอพ้นวัดพรานกระต่ายออกไปทุ่งนา เข้าประจบถนนพระร่วง ที่ตอนนี้ไม่มีเป็นขอบคันอะไร มีแต่ทิวไม้เป็นที่สังเกตไปจนถึงบ้านหนองโสน จึงได้เห็นถนนเป็นคันขึ้นมาสูงกว่าพื้นข้างๆมาก ตามแถบนี้ลุ่ม จึงต้องถมขึ้นมาเป็นคันให้พ้นน้ำ ดินที่ถนนแน่นดี เกวียนเดินตามถนนพระร่วงเลียบไป บางทีก็ไปข้างถนน บางทีก็ไปบนถนนทีเดียว ถนนมีตรงข้างทุ่งหนองดินแดงไป ผ่านบ้านวังตะแบกซึ่งตั้งอยู่ทั้งสองข้างถนน บนถนนนั้นตามแถบนี้ใช้ปลูกกล้วย เพราะเป็นเนินน้ำไม่ท่วม ก็เลยเป็นเคราะห์ดี ถ้ามิฉะนั้นถนนคงจะต้องเป็นอันตรายไป เช่นในทุ่งดินแดงซึ่งถูกไถนากินแหว่งไปเสียบ้าง

ถนนที่ต่อวังตะแบกไปนั้น อยู่ข้างจะบริบูรณ์ดีมาก บางแห่งเหลืออยู่กว้างเกือบ ๕ วา ข้ามห้วยยั้งไปแล้ว เข้าไปในป่าเต็งรัง ที่ถนนยังแลเห็นถนัดอยู่ แต่ไม่สู้เป็นเนินสูงเหมือนเช่นในทุ่ง เพราะไปถึงที่ดอนขึ้นแล้วไม่จำเป็นจะต้องถมให้สูง จนมาถึงบ้านเหมืองหาดทราย เกือบจะราบเสมอพื้นดินข้างๆทาง พ้นเหมืองหาดทรายไปอีกนิดหนึ่งก็ออกทุ่งนา เดินข้ามทุ่งไปอีกครู่หนึ่งถึงที่พักแรม ตำบลคลองยางโทน รวมทางเดินจากบางพานถึงคลองยางโทน ๔๑๕ เส้น

วันที่ ๒๐ มกราคม เวลาเช้า ๓ โมงออกเดินทาง ใช้ช้างเป็นพาหนะ เมื่อแรกออกเดินก็ได้เลียบไปตามถนนพระร่วง ไปได้ราว ๓๐๐ เส้น ข้ามคลองวังขนานซึ่งเป็นพรมแดนเมืองกำแพงเพชรกับเมืองสุโขทัยต่อกัน ตั้งแต่นี้ไปทางที่เดินไม่ใคร่จะได้ไปตามแนวถนน บางแห่งก็จำเป็นต้องออกห่างมากจนแลไม่เห็นเนินถนน แต่คงแลเห็นทิวไม้เรื่อยไปจนถึงห้วยตาเถียน ทางจากยางโทนประมาณ ๑๔๐ เส้น ได้เห็นถนนเป็นคันสูงขึ้นมามาก มีคูทั้ง ๒ ข้างถนน และถนนตรงนี้ที่ยังเหลืออยู่กว้างประมาณ ๕ วา เวลาเช้า ๕ โมงครึ่งถึงบ่อชุมแสง

ที่ริมบ่อชุมแสงนี้มีเมืองร้างอยู่เมืองหนึ่ง ซึ่งราษฎรเรียกว่าเมืองเพชรหรือศรีคีรีมาศ เมืองนี้มีคูและเทินดินอยู่รอบบริบูรณ์รูปเป็นสี่เหลี่ยมรียาว ๖ เส้น ๑๕ วา กว้าง ๓ เส้น ๕ วา ภายในเขตเมืองไม่มีอะไร จึงเข้าใจว่าเป็นเมืองด่านอันหนึ่งเท่านั้น เพราะตั้งอยู่ริมถนนพระร่วงทีเดียว พระวิเชียรปราการออกความเห็นว่านี่คือเมืองจันทรที่กล่าวถึงในคำจารึกหลักศิลา ในส่วนระยะทางเดินของพระสามีสังฆราช แต่ชื่อที่เรียกกันอยู่เดี๋ยวนี้ ดูไม่มีจันทรอะไรอยู่ในนั้นเลย เป็นเพชรเป็นเขาทองอะไรไปไหนๆ เพราะฉะนั้นยากที่จะกล่าวได้ว่า ความสันนิษฐานจะผิดถูกอย่างไร ไม่มีหลักพอที่จะยึดได้ เช่นเมืองวานหรือเมืองพรานนั้นเลย

เวลาบ่ายโมง ๕๐ นาที ออกเดินจากบ่อชุมแสง ตามแนวถนนพระร่วงเรื่อยไป แลเห็นถนนได้ถนัดดี เพราะพูนเป็นค้นขึ้นมาสูงพ้นพื้นดิน ทั้งมีคูไปข้างถนนทางด้านตะวันตกด้วย เข้าใจว่าคงได้ขุดดินจากคูนั้นเองขึ้นมาถมถนน นอกจากนั้นคูคงจะได้ใช้เป็นประโยชน์ทางขังน้ำไว้กินกลางทางบ้าง ถึงในเวลาเมื่อไปนั้นก็ยังได้เห็นน้ำขังอยู่บ้างบางแห่ง จึงเข้าใจว่าในฤดูฝนน้ำคงจะมีอยู่มาก ถนนแถบนี้แลดูเป็นสันลิ่วไป ราวกับถนนตัดใหม่ๆ เสียอยู่ก็แต่มีต้นไม้ขึ้นรกเกะกะอยู่บนทางเดินเท่านั้น ถนนไม่มีขาดตอนเลยตั้งแต่ออกจากเมืองเพชร ไปได้ประมาณ ๑๓๐ เส้นถึงบึงแห่งหนึ่ง เรียกว่าตระพังมะขาม ถนนขาดตอนที่ขอบบึงนี้

ช้างเดินเลียบขอบบึงไปออกทุ่งนานิดหนึ่ง แล้วผ่านหมู่บ้านวังมะขามจึงได้เห็นถนนอีก ดังนี้ทำให้เข้าใจว่าเดิมถนนคงได้ทำข้ามตระพังมะขามไป แต่โดยเหตุที่เป็นที่ขังและไหลอยู่บ้าง ถนนจึงได้อันตรธานไปเสียแล้ว นอกจากที่ได้อันตรายไปเพราะน้ำ ยังมีที่เป็นอันตรายไปเพราะคนชั้นหลังนี้อีก ตอนริมๆบ้านถนนถูกปราบลงเพื่อทำไร่อ้อยเสียก็มี แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีเค้าพอสังเกตได้ พ้นบ้านวังมะขามไปหน่อยหนึ่งทางเดินเข้าป่า มีไม้ไผ่และไม้เต็งรังร่มรื่น เกินวังมะขามไปอีกประมาณ ๒๐ เส้น จึงได้เห็นถนนสงพ้นดินข้างๆขึ้นมาอีก แต่คูนั้นคงมีเป็นแนวต่อไป แต่ส่วนตัวถนนนั้นเป็นคันเรียบร้อยไปไม่ได้กี่มากน้อย ก็แลเห็นเป็นท่อนๆเป็นเนินเล็กๆเรียงๆกันไป ไม่สม่ำเสมอ มีลำน้ำเล็กผ่าไปหลายแห่ง บางแห่งที่ทางเกวียนตัดข้ามถนนก็มีเป็นช่องเฉพาะทางเกวียน จนเดินพ้นวังมะขามไปแล้วได้ประมาณ ๑๐๐ เส้น ถนนจึงได้เห็นเป็นรูปร่างขึ้นอีกคล้ายที่ใกล้ๆเมืองเพชร เป็นเช่นนี้ไปได้ประมาณ ๑๐ เส้น ทางผ่านเข้าไปในป่าไผ่ลำใหญ่ถนนกลับทลายเหลวไปอีก เพราะสู้รากไผ่ไม่ไหว ถนนไม่เป็นไปเช่นนี้ประมาณ ๑๕ เส้น พ้นป่าไม้ไผ่แล้วจึงเห็นเป็นคันสูงขึ้นมาอีกและไม่ขาดเป็นตอนๆเลย เป็นประดุจเทินยาวยืดไป บางแห่งซึ่งเป็นที่ลุ่มถนนได้พูนขึ้นไว้สูงมาก ช้างเดินไปข้างๆสังเกตว่าเกือบท่วมหลังช้าง เพราะฉะนั้นแปลว่าสูงเกือบ ๕ ศอก ทางกว้างยาวบางแห่งราว ๑๕ วา คงจะทำให้หนาเช่นนี้ไว้เผื่อถูกน้ำชะทลาย ได้เดินเลียบไปตามถนนที่ถมสูงและใหญ่เช่นนี้ ประมาณ ๑๑ เส้น ถึงคลองแดน ได้หยุดพักนอนริมคลองแดนคืนหนึ่ง

ที่พักริมคลองแดนนั้น ตั้งอยู่ริมเขาลูกหนึ่ง ซึ่งมีต้นไม้เป็นยาขึ้นอยู่มากกับที่นี้ พระพยุหภิบาล*ผู้รั้งราชการเมืองสุโขทัยได้นำไม้ชนิดหนึ่งมาให้ แลดูเหมือนไม้เชอรี่ที่ฝรั่งชอบใช้ทำไม้เท้าและกล้องสูบยา และกลิ่นนั้นก็เป็นไม้เชอรี่นั้นเองไม่มีผิดเลย ถามว่าไม้อะไร ได้ความว่าเป็นไม้อบเชย คือลำต้นอบเชยที่ใช้ใบทำยานั้นเอง ถามว่าต้นเป็นอย่างไร ได้ความว่าเป็นไม้แก่นต้นอย่างใหญ่ราวอ้อมหนึ่ง มีดอกสีขาวเต็มต้น และเมื่อดอกร่วงแล้วมีผลย่อมๆสีแดง ถามว่ารสชาติผลอบเชยเป็นอย่างไรก็ไม่ได้ความ เพราะคนตามแถบนั้นไม่มีผู้ใดเคยลองกินเลย ฟังดูตามเสียงที่เล่าดูได้เค้าเป็นไม้เชอรี่ของฝรั่ง หรือบ๋วยของจีนนั้นเอง ข้าพเจ้าต้องยอมสารภาพว่าพึ่งทราบว่าในเมืองไทยเรามี อบเชยนั้นก็เคยได้ยินชื่อมานานแล้ว แต่ไม่ได้คาดหมายเลยว่าจะเป็นต้นเชอรี่ ถามเขาว่าต้นอบเชยนั้นขึ้นอยู่ที่ไหน ได้ความว่าขึ้นอบยู่บนเขาหลวงซึ่งแลเห็นจากที่พักริมคลองแดน

เขาหลวงนี้ตามคำที่กล่าวกันว่าเป็นเขาที่มีนามปรากฏอยู่ในพงศาวดารเหนือ คือตรงกับเขาใหญ่ ซึ่งเป็นที่พระยาอภัยคามณีเมืองหริภุญชัยออกไปจำศีลอยู่ จนร้อนถึงนางนาค และนางนาคได้ขึ้นมาพบเสพเมถุนด้วยพระยาอภัยคามณีจึงได้เกิดมีกุมารด้วยกัน ซึ่งภายหลังพระยาอภัยคามณีให้นามว่าเจ้าอรุณราชกุมาร เจ้าอรุณราชกุมารนี้พระยาอภัยคามณีได้เอาไปเป็นพระยาในเมืองศรีสัชนาลัย ได้นามภายหลังว่าพระร่วง ที่เขาหลวงนี้มีปล่องอยู่ปล่องหนึ่ง ซึ่งคนตามแถบนั้นชี้กันว่า เป็นทางนางนาคขึ้นมาหาพระยาอภัยคามณีครั้งหนึ่ง และได้ขึ้นมาเมื่อคลอดเจ้าอรุณราชกุมารอีกครั้งหนึ่ง ทางจากคลองแดนไปเขาหลวงก็ไม่สู้ไกลนัก แต่ได้ข่าวว่าเขาขึ้นอยู่ข้างจะลำบาก รวมเบ็ดเสร็จชั่วแต่พาไปจะต้องให้เวลาถึง ๒ วัน จึงเห็นว่าดูจะเสียเวลาโดนหาผลมิได้ เพราะไม่เชื่อว่าจะมีสิ่งที่ควรดูบนเขานั้นเลย นอกจากเหวที่กล่าวว่าเป็นปล่องนางนาคนั้น จึงเลยเป็นอันงดไม่ได้คิดไป ถึงแม้จะไปก็คงจะไม่ช่วยในการสันนิษฐานเรื่องราวของสุโขทัยเลยจนนิดเดียว และถ้าจะไปชั่วแต่สำหรับไปดูไม้อบเชยเท่านั้นก็ยิ่งจะไม่จำเป็นใหญ่ จึงตกลงกันว่าทนโง่ ไม่รู้จักเขาหลวงเสียทีหนึ่ง เมื่อผู้ใดจะไปตรวจต่อไปภายหลังก็แล้วแต่การ**

รุ่งขึ้นวันที่ ๒๑ มกราคม เวลาเช้า ๓ โมงเศษ ออกเดินทางต่อไป วันนี้โดยมากได้เดินไปตามข้างถนนพระร่วง ซึ่งแลเห็นได้ถนัดเป็นคันสูงพ้นดินเป็นเทือกไป ทางไปในป่าไผ่โดยมากมีไม้เต็งรัง และไม้อื่นแทรกบ้างบางแห่ง มีข้ามคลองสองสามแห่ง ที่ข้ามคลองถนนมักขาดไปนิดหนึ่งเป็นช่องเฉพาะคลอง แล้วก็มีต่ออีก กับมีคูข้างถนนไปตลอด เดินจากคลองแดนได้ ๑๒๐ เส้น ถนนเป็นเนินสูงขึ้นมามากจนคะเนเท่าหลังช้างที่ขี่ และสูงไปเช่นนี้จนถึงคลองฉลวย ต่อคลองฉลวยมาถนนกลับเป็นลูกๆ เตี้ยบ้างสูงบ้างไปอีก จนมาได้เกือบถึงเมืองสุโขทัยเก่า จึงเป็นคันยาวต่อกันอีก บางแห่งกว่า ๕ หรือ ๖ วาเป็นอย่างน้อยอีก ๑๕ เส้นจึงถึงกำแพงเมือง เห็นถนนขวางตัดผ่านไปอีกสายหนึ่ง และตรงลิ่วไปทางตะวันออกตะวันตก เดินต่อไปอีกหน่อยก็ถึงกำแพงเมืองชั้นนอก เดินต่อจากมุมกำแพงนั้นอีกประมาณ ๔ เส้นก็ถึงที่พักซึ่งตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านตะวันออก

ตามที่ได้เดินไปจากกำแพงเพชรถึงเมืองสุโขทัยเก่านั้น ยกเสียแต่ตอนจากเมืองเชียงทองจนถึงบึงใหญ่นอกกำแพงเพชรโบราณ(หรือโบราณปุ)นั้น นับว่าได้เดินตามที่พระมหาสามีสังฆราชได้เดินไปสุโขทัยตลอด และบางทีจะเป็นทางนี้เองที่ "พระญาฏไทยราษ" ได้เดินไปนครปุ เมื่อไปทำพิธีประดิษฐานพระมหาธาตุดังกล่าว ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกเมืองกำแพงเพชรนั้น เพราะเหตุฉะนี้ อยู่ข้างจะรู้สึกยินดีอยู่บ้าง และเชื่อว่าคนชาวกรุงเทพฯสมัยนี้น้อยคนที่จะได้เคยเดินทางนี้



..........................................................................

* พระพยุหภิบาล ภายหลังได้เป็นพระยารามราชภักดี

** ปล่อง(นางนาค)ที่ว่านั้นพิจารณาดูต่อมา เห็นว่าเป็นปล่องภูเขาไฟแต่ดึกดำบรรพ์


..........................................................................



อธิบายความเพิ่มเติมในตอนที่ ๔


(๑) รอยพระบาทศิลาที่เขานางทองนี้ ได้ความในศิลาจารึกซึ่งพบภายหลังว่า พระมหาธรรมราชา(พญาฤทัยหรือลิทัย) ราชนัดดาของพระเจ้ารามคำแหงมหาราชทรงสร้าง เดี๋ยวนี้เอามารักษาไว้ที่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

(๒) ลำน้ำที่เมืองพานนี้ ได้ความต่อมาภายหลัง ว่ามีต่อไปทางตะวันออกจนถึงลำน้ำยม แต่โบราณน่าจะเป็นทางเรือในระหว่างเมืองสุโขทัยกับเมืองกำแพงเพชร


...



.............................


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 19, 2011, 10:40:31 pm โดย apairach » บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!