จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ธันวาคม 12, 2024, 11:48:14 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ตำนานพระซุ้มกอ ฉบับสมบูรณ์ โดยอาจารย์สันติ อภัยราช  (อ่าน 55164 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1444


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: กันยายน 14, 2010, 12:10:16 pm »

  ตำนานพระซุ้มกอ



มีกูไว้แล้วไม่จน  คือถ้อยคำประจำองค์พระซุ้มกอ  ซึ่งหมายถึง พระซุ้มกอสุดยอดทางโชคลาภ เมตตามหานิยม ใครมีไว้แล้วจะร่ำรวย เป็นมหาเศรษฐี เจริญรุ่งเรือง ในชีวิต  ทำให้ผู้คนทั้งประเทศปรารถนาที่จะเป็นเจ้าของพระซุ้มกอ การเช่าจึงอยู่ที่หลักล้านขึ้นไป พระซุ้มกอจึงกลายเป็น หนึ่งในเบญจภาคี  หรือหนึ่งในจักรพรรดิแห่งวงการพระเครื่อง
 เบญจภาคี คือ การนำเอาพระเครื่องที่เป็นพระเครื่องชั้นยอดมารวมกัน ๕ องค์ โดยผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่ง ในวงการพระเครื่องยุคแรก ที่วงการพระรู้จักท่านในนามปากกา " ตรียัมปวาย " เป็นผู้บัญญัติจัดตั้งขึ้น จนเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป พระเบญจภาคี ๕ องค์ ประกอบด้วย
 
                                                                 พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่
.   พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์พระประธาน หรือที่นิยมเรียกว่า พระพิมพ์ใหญ่ เป็นพระพิมพ์ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในบรรดาพระสมเด็จวัดระฆังทั้ง ๔ พิมพ์ ด้วยความสง่างดงาม  ขององค์พระ และความสมบรูณ์
สมส่วนขององค์ประกอบโดยรวมขององค์ประกอบศิลป์ทั้งหมด ประกอบกับจำนวนพระที่มีปริมาณเหมาะสม จึงส่งผลให้พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์พระประธานนี้ นับเป็นสุดยอดของพระในตระกูลสมเด็จทั้งหมด
      พระสมเด็จวัดระฆังโฆษิตาราม
พระสมเด็จวัดระฆังเป็นพระที่สร้างจากเนื้อผงวิเศษ ๕ ชนิด คือ ปถมัง , อิทธเจ , มหาราช , พุทธคุณ และตรีนิสิงเห ตามลำดับ การเกิดผงวิเศษทั้ง ๕ นี้ นับเป็นขบวนการหล่อหลอมพระเวทย์วิทยาคมอันศักดิ์สิทธิ์ทั้ง ๕ มาเป็นหนึ่งเดียว วิธีการสร้างผงวิเศษนั้นเริ่มมาจากการบริกรรมพระคาถา เขียนสูตร ชักยันต์ด้วยชอล์กลงในกระดาษชนวน เขียนแล้วลบ ลบแล้วเขียนใหม่ทำเช่นนี้นับเป็นร้อยๆครั้ง จนเกิดเศษ ชอล์ก จากการลบ ซึ่งถือว่าเป็นผงศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดจากการตั้งจิตบริกรรมพระเวทย์ในขณะที่เขียนให้ครบถ้วนตามจำนวนที่พระเวทย์ในแต่ละบทกำหนดไว้ ขั้นผงที่ได้ออกมาเป็นผงที่ได้ออกมาเป็นผงที่มีชื่อ ? ปถมัง ? .....เมื่อได้ผง ? ปถมัง ? แล้ว นำผงนี้มาปั้นเป็นดินสอ ตากแห้ง แล้วนำแท่งดินสอชอล์กที่เกิดจากผงปถมัง มาเขียนสูตรพระเวทย์อีกบทหนึ่งเขียนแล้วลบ ทำซ้ำกันตามจำนวนครั้งที่พระเวทย์บทใหม่กำหนด จนเกิดผงชอล์กครั้งใหม่ ที่เรียกว่า ? ผงอิทธเจ ? แล้วก็ผงอิทธเจมาปั้นเป็นแท่งชอล์ก เขียนสูตรพระเวทย์อีก เขียนแล้วลบ ลบแล้วเขียนเช่นนี้จนได้ ผงมหาราช แล้วก็ผงมหาราช กระทำเช่นเดียวกับขั้นตอนการทำตอนการผงอื่นๆ หากแตกต่างกันที่สูตรในการเขียน อักขระเลขยันต์ และจำนวนครั้งที่ถือเป็นเฉพาะแต่ละสูตรจนได้ ผงพุทธคุณ และสุดท้ายคือ ผงตรีนิสิงเห อันเกิดจากหลอมรวมสูตรทั้ง ๕ มาเป็นหนึ่งเดียวจากนั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังษี ) จึงนำผงวิเศษนี้มาผสมรวมกันกับเปลือกหอยที่บดหอยที่บดละเอียดอันเป็นส่วนผสมหลัก นอกจากนี้ก็จะมีข้าวสุก ดินสอพอง กล้วย โดยมีน้ำตังอิ๊วเป็นตัวประสานส่วนผสมเหล่านี้ จากนั้นจึงนำพระที่ผสมเสร็จแล้วนั้น กดลงในแม่พิมพ์ซึ่งแกะพิมพ์โดย นายเทศ แห่งช่างหล่อ ทำให้ พิมพ์งดงามและสมบูรณ์แบบ
                     พระรอด วัดมหาวัน จ.ลำพูน

 
                                                                 พระรอด วัดมหาวัน จ.ลำพูน
วัดมหาวัน จ.ลำพูน พระอารามที่มีชื่อเสียงเลื่องลือไป ทั่วทุกภูมิภาคของเมืองไทย ทั้งนี้มิใช่เพราะเรื่องอื่นใด นอกจากเพียงประการเดียวคือ เป็นแหล่งกำเนิดของ "พระรอด" ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องชุดเบญจภาคี พระรอด วัดมหาวัน มีพระพุทธศิลป์เป็นยุคสมัยทวาราวดี ประทับนั่งปางมารวิชัยและขัดเพชรบนฐานบัว ๒ ชั้น ด้านหลังขององค์พระเป็นปรกโพธิ์เรียงตั้งแต่หัวเข่าขององค์พระขึ้นเป็นซุ้มครอบองค์พระ จำนวนใบโพธิ์และเอกลักษณ์ของ ก้านโพธิ์ที่ชัดเจนในแต่ละพิมพ์จะมีจำนวนไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพระรอดในแต่ละพิมพ์ การขุดหาพระรอดมีกันหลายครั้งหลายหน จนประมาณครั้งมิได้ เท่าที่สืบทราบมีดังนี้  การพบกรุพระรอดในสมัยเจ้าหลวงเหมพินธุไพจิตร เมื่อปี ๒๔๓๕-๒๔๔๕ พระเจดีย์มหาวันชำรุดทรุดโทรมและพังทลายลงมาเป็นส่วนมาก ดังนั้น เจ้าเหมพินธุไพจิตร จึงดำริให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่ โดยการสร้างสวมครอบองค์เดิมลงไป ส่วนเศษปรักหักพังที่กองทับถมกันอยู่นั้น ได้จัดการให้โกยเอาไปถมหนองน้ำซึ่งอยู่ระหว่างหอสมุดของวัด โอกาสนั้นได้พบพระรอดเป็นจำนวนมากมายภายในกรุพระเจดีย์มหาวัน พระรอดส่วนหนึ่งได้รับการบรรจุ กลับคืนเข้าไปในพระเจดีย์ตามเดิม อีกส่วนหนึ่งมีผู้นำไปสักการบูชา และส่วนสุดท้ายได้ปะปนกับสร้างกรุและ เศษดินทรายจมอยู่ในหนองน้ำพระรอดได้ขุดพบที่วัดมหาวัน พุทธศิลป์อยู่ในยุคกลางของสมัยหริภุญไชย (ลำพูน) อาณาจักรหริภุญไชย สร้างขึ้นราวต้นศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ เป็นอาณาจักรของ กลุ่มชนมอญโบราณ ทางภาคเหนือของประเทศไทย นับถือพระพุทธศาสนาหินยาน ใช้ภาษาบาลีจดคำสอนทางศาสนา ได้มีการกำหนดอายุและ ศิลปะพระรอดว่า สร้างในสมัยกษัตริย์จามเทวี เป็นยุคต้นของสมัยหริภุญไชย มีศิลปะสมัยทวารวดี ในทางพุทธศิลป์แล้ว พระรอดน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงหลังสมัยทวาราวดี รูปแบบของพระรอดคือประทับพระบาทสมาธิเพชร (ท่านั่งขัดสมาธิเพชร) ในสมัยทวาราวดีสร้างพระพุทธรูปนั่งขัดหลวมและหงายฝ่าพระบาทกางออก และไม่ปรากฏพระพุทธรูปนั่งขัดเพชรในศิลปะทวาราวดี พระพุทธรูปนั่งขัดเพชรเป็นแบบอย่างเฉพาะของพระพุทธรูปอินเดียฝ่ายเหนือ (มหายาน) พระพุทธรูปและพระเครื่องในลำพูนได้ปรากฏศิลปะสมัยต่างๆ รวมอยู่หลายสมัย คือ สมัยทวาราวดี ลพบุรี แบบหริภุญไชย พุกาม อู่ทองและสมัยล้านนา
พระนางพญา
 
     จากหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์พบว่า วัดนางพญาสร้างโดยกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา คือ พระวิสุทธิกษัตริย์ เป็นพระราชธิดา ท้าวศรี สุริโยทัย และเป็นพระมารดาขององค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผู้สร้างวัดราชบูรณะ คือพระมหาธรรมราชา จากเหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นอยู่ในระ หว่างศึกสงครามถูกพม่ารุกราน จึงมีการสร้างพระเครื่องมอบให้เป็นขวัญและกำลังใจแก่ทหารที่ออกรบ พระเครื่องรุ่นแรกๆจะมีรูปทรงและองค์พระไม่สวย งาม การทำแม่พิมพ์ก็ทำกันแบบรีบร้อน คือพิมพ์ได้ครั้งละ 3 องค์ แล้วนำไปตัดแยกออกด้วยตอก เนื่องจากในขณะนั้นเป็นช่วงของสงครามถูกพม่ารุกราน จึงทำกันอย่างรีบร้อนทำให้บางองค์ไม่ได้ตัดแบ่งแยกออกจากกันก็มี คือ ยังติดกันเป็นแผงสามองค์   หลังจากองค์สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพ เป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาแล้ว จึงหันมาพัฒนาวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดนางพญา วัดราชบูรณะที่พระราชบิดาและพระราชมารดาทรงสร้างและสร้าง พระเครื่องให้เป็นขวัญและกำลังใจแก่ทหารที่ออกรบอีกครั้ง ที่เหลือก็นำไปบรรจุไว้ในกรุวัดทั้งสามเพราะมีเขตขัณฑสีมาติดต่อกัน
               พระนางพญาที่สร้างขึ้นมี ๖ พิมพ์ด้วยกัน คือพิมพ์เข่าตรง พิมพ์เข่าโค้ง พิมพ์สังฆาฏิ พิมพ์เทวดา พิมพ์อกนูนใหญ่ พิมพ์อกนูนเล็ก  ยุคแรกสร้างโดยพระวิสุทธิกษัตริย์ รูปทรงองค์พระไม่สวยงามนัก ยุคที่สองสร้างโดยองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช รูปทรงองค์พระสวยงามกว่ารุ่นแรกมาก พระนางพญาทั้งสองยุคนี้อายุการสร้างใกล้เคียงกัน มีพุทธคุณเหมือนกันคือเน้นหนักในเรื่องแคล้วคลาด อยู่ยงคงกระพัน โชคลาภ ค้าขายดี และเมตตามหา นิยมเป็นหลัก พิธีปลุกเสกใช้วิธีอัญเชิญเทพฯ เทวดา ฤาษี พระสงฆ์ผู้ทรงศีลและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเมืองพิษณุโลกอันได้แก่หลวงพ่อพระพุทธชินราชเป็นต้น ปลุก เสกกันที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
          มีประสบการณ์เล่าต่อๆกันมาว่า ทหารขององค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไปรบที่ไหนก็ประสบชัยชนะที่นั่น เป็นที่หวั่นเกรงแก่พม่าในขณะนั้น และอีกประสบการณ์หนึ่งคือเมื่อครั้งที่ทหารไทยไปรบในสงครามอินโดจีนมีชัยชนะครั้งแล้วครั้งเล่า ต่อมามีนักสะสมพระเครื่องนำพระนางพญามาจัดเข้าชุด เบญจภาคี พุทธศิลป์ศิลปะอยุธยาประเภทเนื้อดินเผา ผสมมวลสารพระธาตุเหล็กไหล เหล็กน้ำพี้ โพรงเหล็กไหล พระธาตุสีขาวขุ่น พระธาตุสีชมพู ผงถ่าน ใบลาน เกสรดอกไม้ 108 ว่าน 108 น้ำมนต์ทิพย์ ดินมงคลตามที่ต่างๆ ทรายเงิน ทรายทอง และศาสตราวุธต่างๆ
               ความหมายของมวลสารที่นำมาผสมในพระสมเด็จนางพญามีดังนี้ 1. พระธาตุเหล็กไหล มีความสำคัญด้านคงกระพัน 2. เหล็กน้ำพี้ มีความสำคัญ ด้านแก้เคล็ดและความแข็งแกร่ง 3. โพรงเหล็กไหล มีความสำคัญด้านคงกระพัน แคล้วคลาด 4. พระธาตุสีขาวขุ่นและพระธาตุสีชมพู มีความสำคัญด้านสิริ มงคลและแก้อาถรรพ์ 5. ผงถ่านใบลาน มีความสำคัญด้านอยู่ยงคงกระพัน 6. เกสรดอกไม้ มีความสำคัญด้านเมตตามหานิยม 7. ว่าน 108 มีความสำคัญ ทางด้านแคล้วคลาดและคงกระพัน 8. น้ำมนต์ทิพย์ มีความสำคัญทางด้านแก้เคล็ดและแก้อาถรรพ์ 9. ดินมงคลตามที่ต่างๆ มีความสำคัญทางด้านสิริมงคล 10. ทรายเงินทรายทอง มีความสำคัญทางด้านโชคลาภและเงินทอง

พระผงสุพรรณ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรรณบุรี
 
พระผงสุพรรณ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรรณบุรี
   จังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากเป็นดินแดนแห่ง ยุทธหัตถีแล้ว ยังเป็นเสมือนเมืองแห่งพระเครื่อง พระบูชา หลายสิบชนิด ตั้งแต่สมัยอมรวดี ทวาราวดี ศรีวิชัย ปาละ ลพบุรี อู่ทอง อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ในจำนวนพระที่ขุดพบนั้น พระผงสุพรรณ กรุวัด พระศรีรัตนมหาธาตุ ถือว่าเป็นสุดยอดของพระทั้งหมด โดยจัดให้อยู่ในชุดพระเบญจภาคี วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือที่ชาวสุพรรณเรียกสั้นๆ ว่า วัดพระธาตุ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองสุพรรณ สมัยอู่ทองและอยุธยา ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี มีองค์พระปรางค์สูงตระหง่าน ส่วนใครเป็นผู้สร้างวัดนั้น นักประวัติศาสตร์ไม่กล้ายืนยัน เพียงแต่สันนิษฐานว่า น่าจะสร้างใน สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามาพระยา) หรือ สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

พระซุ้มกอ

 
จากพระราชนิพนธ์ประพาสต้นกำแพงเพชรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบันทึกไว้ว่า นายชิด มหาดเล็กหลานพระยาประธานนคโรทัยจางวางเมืองอุทัยธานีเดิมได้รับราชการในกระทรวงมหาดไทยเป็นตำแหน่งนายอำเภอ อยู่ในมณฑลนครชัยศรี ป่วยลาออกมารักษาตัว อยู่บ้านภรรยาที่เมืองกำแพงเพชร ไปได้ตำนานพระพิมพ์มาให้  ว่ามีกษัตริย์องค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระยาศรีธรรมาโศกราช จะบำรุงพระพุทธศาสนาจึงไปเชิญพระธาตุมาแต่ลังกา สร้างเจดีย์ บรรจุไว้แควน้ำปิงและน้ำยมเป็นจำนวนพระเจดีย์ 84,000 องค์ พระฤาษีจึงได้สร้างพระพิมพ์ขึ้นถวายพระยาศรีธรรมาโศกราชเป็นอุปการะ จึงได้บรรจุพระธาตุและพระพิมพ์ไว้ ในพระเจดีย์แต่นั้นมา เหตุที่จะพบพระพิมพ์กำแพงเพชรขึ้นนี้ว่า
เมื่อปีระกาเอกศก จุลศักราช 1211 สมเด็จพระพุฒาจารย์โต วัดระฆัง ขึ้นมาเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชร ได้อ่านศิลาจารึกไทยโบราณมีอยู่ที่วัดเสด็จได้ความว่า มีพระเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมาตุอยู่ริมน้ำปิง ฝั่งตะวันตกตรงข้ามเมือง จึงได้ค้นคว้ากันขึ้น พบพระเจดีย์สามองค์นี้ ชำรุดทั้งสามองค์ เมื่อพญาตะก่าขอสร้างรวมเป็นองค์เดียว รื้อพระเจดีย์ลงจึงได้พบพระพิมพ์กับได้ลานเงินจารึกอักษรขอม เป็นตำนานสร้างพระพิมพ์ และวิธีบูชา นายชิดได้คัดตำนานและวิธีบูชามาให้ด้วย ของถวายในเมืองกำแพงเพชรนี้มีพระพิมพ์เป็นพื้น ได้คัดตำนานติด ท้ายหนังสือเล่มนี้ไว้ด้วย

                     เมืองกำแพงเพชร
               วันที่ 25 สิงหาคม รัตนโกสินทร์ศก 125
ข้าพระพุทธเจ้า นายชิด มหาดเล็กเวร หลานพระยานคโรทัย จางวางเมืองอุทัยธานี เดิมได้รับราชการในกระทรวงมหาดไทย เป็นตำแหน่งนายอำเภอ อยู่มณฑลนครชัยศรี  ข้าพระพุทธเจ้า เจ็บทุพลภาพจึงกราบถวายบังคมลาออกจากหน้าที่ราชการ ขึ้นมารักษาตัวอยู่บ้านภรรยาที่เมืองกำแพงเพชร ข้าพระพุทธเจ้า ได้สืบเสาะหาพระพิมพ์ของโบราณ ซึ่งมีผู้ขุดค้นได้ในเมืองกำแพงเพชรนี้ ได้ไว้หลายอย่างพร้อมกัน พิมพ์แบบทำพระหนึ่งแบบ ขอพระราชทานทูลเกล้าถวาย
ข้าพระพุทธเจ้า ได้สืบถามผู้เฒ่าผู้แก่ถึงตำนานพระพิมพ์เหล่านี้ อันเป็นที่เชื่อถือกันในแขวงเมืองกำแพงเพชรสืบมาแต่ก่อน ได้ความว่า พระพิมพ์เมืองกำแพงเพชรนี้ มีมหาชนเป็นอันมากนิยมนับถือลือชามาช้านาน ว่ามีคุณาสงส์แก่ผู้สักการบูชาในปัจจุบัน หรือมีอานุภาพทำให้สำเร็จผลความปรารถนาแห่งผู้สักการบูชาด้วยอเนกประการ  สัณฐานของพระพุทธรูปพิมพ์นี้ ตามที่มีผู้ได้พบเห็นแล้วมีสามอย่าง คือ
   พระลีลาศ ( ที่เรียกว่าพระเดิน)  อย่าง1 พระยืนอย่าง 1 พระนั่งสมาธิอย่าง 1
วัตถุที่ทำเป็นองค์พระต่างกันเป็น 4 อย่างคือ ดีบุกหรือตะกั่วอย่าง 1 ว่านอย่าง 1 เกสรอย่าง 1
ดินอย่าง 1     พระพิมพ์นี้ ครั้งแรกที่มหาชนจะได้พบเห็นนั้น  ได้ในเจดีย์วัดพระธาตุฝั่งตะวันตกเป็นเดิม
และการสร้างพระพิมพ์นี้ขึ้นนั้น ตามสามัญนิยมว่า ณ กาลครั้งหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว มีพระบรมกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระยาศรีธรรมาโศกราช เป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ ทรงมหิทธิเดชานุภาพแผ่ไปในทิศานุทิศ ตลอดจนถึงลังกาทวีปรวบรวมพระบรมธาตุ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นำมาสร้างสถูปเจดีย์บรรจุไว้ ในแควน้ำปิงและน้ำยม เป็นต้นเป็นจำนวนเจดีย์  84,000 องค์ ครั้งนั้นพระฤาษี จึงได้กระทำพิธีสร้างพระพิมพ์เหล่านี้ถวายแก่พระยาศรีธรรมาโศกราช  เป็นการอุปการะในพระพุทธศาสนา  ครั้งแรกที่จะได้พบพระเจดีย์ บรรจุพระบรมธาตุและพระพิมพ์เหล่านี้  เดิม ณ ปีระกาเอกศกจุลศักราช 1211 สมเด็จพุฒาจารย์(โต) วัดระฆัง  กรุงเทพ ขึ้นมาเยี่ยมญาติ ณ เมืองกำแพงเพชร  ได้อ่านแผ่นศิลาจารึกอักษรไทยโบราณที่ประดิษฐานอยู่ ณ อุโบสถวัดเสด็จ ได้ความว่า...
มีเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมธาตุ อยู่น้ำปิงฝั่งตะวันตก ตรงหน้าเมืองเก่าข้ามสามองค์ ขณะนั้นพระยากำแพง(น้อย)  ผู้งว่าราชการเมืองได้จัดการ ค้นคว้า  พบวัดและเจดีย์สมตามอักษรในแผ่นศิลา จึงป่าวร้องบอกบุญราษฎร ช่วยกันแผ้วถาง และปฏิสังขรณ์ขึ้น เจดีย์ที่ค้นพบเดิมมีสามองค์  องค์ใหญ่ซึ่งบรรจุพระบรมธาตุอยู่กลาง ชำรุดบ้างทั้งสามองค์ ภายหลังพระยากำแพง(อ่อง) เป็นผู้ว่าราชการเมือง  แซงพอกะเหรี่ยง ( ที่ราษฎรเรียกพญาตะก่า) ได้ขออนุญาตรื้อพระเจดีย์สามองค์นี้ทำใหม่ รวมเป็นองค์เดียว
ขณะที่รื้อพระเจดีย์ 3 องค์นั้น ได้พบตรุพระพุทธรูปพิมพ์ และลานเงินจารึกอักษรขอม กล่าวตำนานการสร้างพระพิมพ์ และลักษณะการสักการบูชาด้วยประการต่างๆ  พระพิมพ์ชนิดนี้ มีผู้ขุดได้ที่เมืองสรรค์บุรีครั้งหนึ่งแต่หามีแผ่นลานเงินไม่ แผ่นลานเงินในตำนานนี้กล่าวว่า มีเฉพาะแต่ ในพระเจดีย์วัดพระธาตุฝั่งน้ำปิงตะวันตกแห่งเดียว มีสำเนาที่ผู้อื่นเขียนไว้ดังนี้

            ตำนานที่ปรากฏในจารึกลานเงิน
ตำบลเมืองพิษณุโลก  เมืองกำแพงเพชร เมืองพิชัยสงคราม เมืองพิจิตร เมืองสุพรรณบุรี  ว่ายังมีฤาษี 11 ตน ฤาษีเป็นใหญ่สามตน ตนหนึ่งฤาษีพิลาไลย  ตนหนึ่งฤาษีตาไฟ ตนหนึ่งฤาษีตางัว เป็นประธานแก่ฤาษีทั้งหลาย  จึงปรึกษากันว่า เราท่านทั้งนี้ จะเอาอะไรให้แก่พระยาศรีธรรมาโศกราช ฤาษีทั้งสาม จึงว่าแก่ฤาษีทั้งปวงว่า เราจะทำด้วยฤทธิ์  ทำด้วยเครื่องประดิษฐานเงินทอง ไว้ฉะนี้ฉลองพระองค์ จึงทำเป็นเมฆพัด  อุทุมพร เป็นมฤตย์พิศม์ อายุวัฒนะ  พระฤาษี         ประดิษฐานในถ้ำเหวน้อยใหญ่ เป็นอานุภาพแก่มนุษย์ทั้งหลายสมณชีพราหมณาจารย์เจ้าไปถ้วน 5,000 พระพรรษา   ฤาษีตนหนึ่งจึงว่าแก่ฤาษีทั้งหลายว่า ท่านจงไปเอาว่านทั้งหลาย อันมีฤทธิ์เอามาได้สัก 1000 เก็บเอาเกสรไม้อันวิเศษที่มีกฤษณาเป็นอาทิให้ได้ 1000  ครั้นเสร็จแล้ว ฤาษีจึงป่าวร้องเทวดาทั้งปวงให้ช่วยกันบดยาทำเป็นพระพิมพ์ไว้สถานหนึ่ง เมฆพัดสถานหนึ่ง  ฤาษีทั้งสามองค์จึงให้ฤาษีทั้งปวง ให้เอาว่านทำเป็นผง เป็นก้อนประดิษฐาน ด้วยมนตร์คาถาทั้งปวงให้ประสิทธิทุกอัน จึงให้ฤาษีทั้งนั้นเอาเกสรและว่านมาประสมกันดี เป็นพระให้ประสิทธิแล้ว  ด้วยเนาวหรคุณ  ประดิษฐานไว้บนเจดีย์อันหนึ่งถ้าผู้ใดถวายพระพรแล้วจึงเอาไว้ใช้ตามอานุภาพเถิด  ให้ระลึกถึงคุณพระฤาษีที่ทำไว้นั้นเถิด ฤาษีไว้อุปเทศดังนี้.
   1.แม้อันตรายสักเท่าใด ให้นิมนต์พระใส่ศีรษะ อันตรายทั้งปวงหายสิ้น
   2. ถ้าทำการสงคราม ให้เอาพระใส่น้ำมันหอม แล้วใส่ผม จะไม่ต้องศัตราวุธ
   3. ถ้าจะใคร่มาตุคาม (สตรี)  เอาพระสรงน้ำมันหอมใส่ ใบพลู ทาตัว
   4. ถ้าจะเจรจาให้สง่างาม คนเกรงกลัวเอาพระใส่น้ำมันหอมหุงขี้ผึ้งเสกทาปาก
   5.ถ้าค้าขาย หรือเดินทาง เอาพระสรงน้ำหอมเสกด้วยพระพุทธคุณ
   6. ถ้าเป็นความกัน ให้เอาพระสรงน้ำหอม เอาด้าย 11 เส้น ชุบน้ำมันหอมนั้นและทำไส้เทียนตามถวายพระ แล้วพิษฐานตามใจชอบ ......จารึกลานเงินยังบันทึกว่า.....พระเกสรก็ดี พระว่านก็ดี พระปรอทก็ดี  อานุภาพดังกำแพงล้อมกันภัยแก่ผู้นั้น

ขนาดของพระซุ้มกอ เท่าที่พบในจังหวัดกำแพงเพชร มีหลายขนาดคือ
   พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่
   พระซุ้มกอพิมพ์กลาง
   พระซุ้มกอพิมพ์เล็ก
   พระซุ้มกอพิมพ์คะแนน
พิมพ์ของพระซุ้มกอ มีหลายพิมพ์ คือ
   พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ มีกนก
   พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ ไม่มีกนก (ซุ้มกอดำ)
   พระซุ้มกอพิมพ์กลาง
   พระซุ้มกอพิมพ์เล็ก
   พระซุ้มกอพิมพ์ขนมเปี๊ยะ (ไม่ตัดปีก)
   พระซุ้มกอพิมพ์เล็ก พัดใบลาน
พระซุ้มกอที่นิยมกันมากที่สุดคือ พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่มีลายกนก พบที่กรุทุ่งเศรษฐี และพระบรมธาตุนครชุม เป็นพระดินเผาเนื้อค่อนข้างนิ่ม ละเอียดมาก มีว่านดอกมะขามปรากฏทั่วองค์ การที่มีเนื้อละเอียดและนิ่มทำให้พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ มักหักชำรุดเสียหายเป็นส่วนใหญ่ เหลือที่สมบูรณ์จริงๆน้อยมาก ทำให้ราคาเช่าสูงมาก เป็นที่นิยมสูงสุด    คนกำแพงเพชร น้อยคนนักที่ได้มีโอกาสเห็นพระซุ้มกอองค์นี้ทั้งที่ กรุอยู่ที่กำแพงเพชร
พุทธลักษณะของพระกำแพงซุ้มกอ เป็นปางสมาธิ พบทั้งสมาธิราบ และสมาธิเพชร เป็นศิลปะเชียงแสนผสมกับสุโขทัย คือองค์พระอวบอ้วน พระอุระผึ่งนูนดูเด่นสง่างามมาก แบบเชียงแสนพระนาภีเรียว การทิ้งพระพาหา และขัดสมาธิงดงามแบบสุโขทัย มีประภามณฑลรอบพระเศียรคล้ายรูปตัว
ก ไก่ บางท่านว่าซุ้มที่องค์พระเหมือนรูปก.ไก่มาก จึงเรียกกันว่าพระซุ้มกอ
   พระซุ้มกอมีหลายประเภท  มีหลายสี มีทั้งสีแดง สีดำ สีขาว สีเขียว ชนิดซุ้มกอดำ เป็นพระที่ไม่ได้เผา องค์พระสร้างด้วยไส้ในของเม็ดมะค่าผสมปูนกินหมาก ผงอิทธิเจ เกสรดอกไม้ 108 ชนิด



ความเชื่อบุญฤทธิ์ของพระซุ้มกอ
   1.พระซุ้มกอดำ มีอิทธิฤทธิ์ อานุภาพ ในทางเมตตามหานิยมและอยู่ยงคงกระพัน
มีลักษณะเป็นพระนั่งสมาธิมือวางบนพระเพลา ไม่เผามีรักทาทั้งองค์
   2.พระซุ้มกอแดง ขาวและเขียว มีอิทธิฤทธิ์สูงทางเมตตามหานิยมสูง มีลักษณะเดียวกับพระซุ้มกอดำ โดยเฉพาะพระซุ้มกอแดง เผาแล้วซัดด้วยว่านผง องค์พระจึงสีสดงดงามมาก เนื้อมันปู มีความแข็งแกร่งคงทนกว่าสีดำ ยังพอมีให้เห็นบ้างในบ้านคหบดีที่กำแพงเพชร

การค้นพบพระซุ้มกอ
เมื่อสมเด็จพุฒาจารย์(โต)เสด็จมาเยี่ยมญาติที่กำแพงเพชร บางท่านว่า มาฌาปนกิจท่านผู้หญิงแพง ภริยาพระยากำแพง(นาค) มีศักดิ์เป็นป้า หลวงพ่อโต ได้เสด็จมาพักที่วิหารวัดเสด็จ ท่านได้นั่งทางใน พบว่าในจอมปลวก มีสิ่งสำคัญอยู่ จึงโปรดให้เลกวัด(ผู้ดูแลรับใช้ในวัด) ขุดพบศิลาจารึกนครชุม (ศิลาจารึกหลักที่สาม) ท่านได้อ่านได้ทราบว่า มีพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เมืองนครชุม
ตรงข้ามเมืองกำแพงเพชร จึงโปรดให้พระยากำแพงผู้เป็นหลาน ได้ไปแผ้วถางและค้นพบ พระเจดีย์สามองค์อยู่บนฐานเดียวกัน เมื่อสมเด็จพุฒาจารย์(โต) ไปค้นหาพระธาตุ พบพระบรมธาตุ และค้นพบพระพิมพ์จำนวนมาก  มีพระซุ้มกอจำนวนมากด้วย ทรงสั่งให้ปฏิสังขรณ์  และรับสั่งให้ฟื้นฟูวัดพระบรม
ธาตุใหม่ แล้วพระองค์เสด็จกลับกรุงเทพ
   พญาตะก่า (แซงพอ)ชาวกะเหรี่ยง มาทำไม้ขอนสักที่เมืองกำแพง ได้ขออนุญาตรื้อพระเจดีย์ทั้งสามองค์ และสร้างเจดีย์ทรงมอญครอบไว้ แต่พญาตะก่าทำไม่เสร็จถึงแก่กรรมก่อน
   พะโป้ น้องชายพญาตะก่า เป็นคนในบังคับอังกฤษ มาขอสัมปทานป่าไม้ในกำแพงเพชร ได้ผลประโยชน์มากมาย จึงได้บูรณะปฏิสังขรณ์ พระบรมธาตุต่อ สร้างเสร็จก่อนพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกำแพงเพชร เพียงสามเดือน
   ระหว่างที่รื้อ เพื่อดำเนินการซ่อมพระบรมธาตุได้ค้นพบพระซุ้มกอจำนวนมาก ในสมัยนั้นประชาชนไม่นิยมนำพระไปไว้ที่บ้านถือว่าไม่เหมาะสม ไม่เป็นสิริมงคล เมื่อพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จเมืองกำแพงเพชร เมื่อเดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2449  จึงมีผู้นำพระเครื่องมาถวายจำนวนมากพระองค์พระราชนิพนธ์ไว้ว่า
   ต่อเมื่อเสด็จมา จึงรู้ว่าพระพิมพ์ มีมากถึงเพียงนี้ ต่างคนต่างเตรียมกันออกมาถวาย ไม่ได้ถือหรือห่อมาตามปกติ จัดมาในพานดอกไม้นั่งราย ตามริมถนนได้เสมอทุกวันไม่ได้ขาด
เมื่อพระพุทธเจ้าหลวงพระราชทาน พระเครื่องให้พระบรมวงศานุวงศ์และผู้ติดตาม ทำให้ประชาชนนิยมแขวนพระเครื่องหรือเก็บพระเครื่องไว้ กับตัวเอง เพื่อเป็นสิริมงคล จึงทำให้ประชาชนแสวงหาพระเครื่องกันอย่างมากมาย แต่ความเชื่อที่ว่า พระควรอยู่วัด ไม่ควรอยู่ที่บ้าน ยังอยู่ในหัวใจประชาชน
การค้นพบครั้งต่อมา ประมาณพุทธศักราช 2490 โดยนาคนาค บุญปรี ได้ค้นพบพระเครื่องจำนวนมาก ที่บริเวณป้อมทุ่งเศรษฐี  แต่ความจริงการขุดสมบัติ จากพระวัด และปราสาทราชวัง มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แล้ว การขุดในสมัยโบราณ นิยมเลือกเอาเฉพาะทองคำ เครื่องเพชร และสิ่งมีค่าที่ฝังไว้  .....  พระเครื่องจะไม่นิยมกันเลย เมื่อขุดพบ จะสาดทิ้ง ในบริเวณใกล้เคียง   นำสิ่งมีค่าไปขาย มีผู้ลักลอบขุดกัน ทั่วทั้งกำแพงเพชร ทั้งวัดและวัง จึงพังพินาศหมด
   พระเครื่องเริ่มมีราคาสูงขึ้น เพราะมีผู้นิยมมากโดยเฉพาะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่นิยมนำไปให้เจ้านาย
เพื่อ ผลประโยชน์หลายด้าน ที่บ้านของผู้เขียน ในราวพุทธศักราช 2499 มีผู้ขุดพระเกือบทุกคน นำพระเครื่องมามอบให้บิดา (ปลัดเสรี อภัยราช) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอเมืองกำแพงเพชร จำได้ว่าทุกวัน จะนำพระไปตากที่นอกชานบ้าน ขนาดสนามบาสเกตบอล ทุกวัน มีมากขนาดที่ไม่มีใครสนใจ เลย บิดา ได้นำพระที่ตากแล้วใส่กระป๋องยาเส้น แยกขนาดและประเภทวางไว้ตามคร่าวข้างฝาเรียงรายเต็มไปหมด แต่ไม่มีใครในบ้านสนใจมากมาย นอกจากช่วยกันนับแยกประเภทออกเท่านั้น ภาพเหล่านั้นยังซึมซับอยู่บ้าง ระยะหลังบิดาได้ให้พระแก่ผู้มาขอไปทั้งหมด โดยมิได้เก็บไว้เลยและหมดไป ในระยะเวลาไม่ถึง 20 ปี เหลือไว้แต่เพียงภาพในอดีตเท่านั้น
   การค้นพบระยะหลังๆเป็นสาเหตุทำให้ พระเจดีย์น้อยใหญ่ วิหารโบสถ์ ถูกทำลายโดยสิ้นเชิง การขุดพระ ทำกันอย่างซ้ำซ้อนครั้งแล้วครั้งเล่า ขุดค้นกันทุกตารางนิ้ว แบบนำดินมาบดให้ละเอียดด้วยมือ เนื่องจากพบพระจำนวนมาก ทำให้ทุกคนแสวงหาพระเครื่องกันมาก ถนนทุกสาย มุ่งมาที่กำแพงเพชร มือใครยาวสาวได้สาวเอา บ้านเมืองในขณะนั้น ปากว่าตาขยิบ เมื่อพระกรุใดแตก ก็แบ่งพระกันไป ผู้เขียนเคยไปดูรุ่นพี่ๆเขาขุดกัน ขุดกันอย่างเปิดเผยแม้จะผิดกฎหมาย พระเครื่องพระบูชากำแพงเพชรมากจริงๆ เมื่อขุดลงไปราวๆ 10 เมตร โรยเชือกและตะเกียงเจ้าพายุลงไป พบพระบูชาวางเรียงรายเต็มฐานพระเจดีย์ นับร้อยองค์ ค่อยๆมัดองค์พระใส่เข่ง ดึงพระขึ้นมาจากหลุม มาแบ่งกันปากหลุม บางที ก็ซื้อขายกันปากหลุมเหมือนเป็นเรื่องปกติธรรม ในเมืองกำแพงเพชรขณะนั้น
   แม้แต่เศษของพระซุ้มกอ ก็ยังแสวงหาเพราะทรงอานุภาพมาก อิทธิฤทธิ์ของผงอิทธเจ และคาถาอาคมที่กำกับ  เกจิทั้งหลาย ทดลองมาปลุก ยังกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าแม้แค่ชิ้นส่วนยังทรงอานุภาพ  ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่พระซุ้มกอกำแพงเพชร มีค่าและราคา เลขเจ็ดหลัก  ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมจึง มีผู้คนแสวงหากันมาก
   ด้วยเหตุสำคัญนี้จึงมี ผู้ทำพระซุ้มกอปลอมจำนวนมาก ทั้งทำเหมือนขุดจากกรุ และลือว่ากรุแตก
โดยนำพระไปโรยไว้ที่หลุมที่อ้างว่าพบ พระ  การซื้อขายพระซุ้มกอทำเหมือนเป็นสินค้าเลยทีเดียว  เซียนทั้งหลาย ที่ตั้งตนเป็นเกจิเชี่ยวชาญการดูพระ โดนต้มไปเป็นจำนวนมาก  คนในพื้นที่ ที่ทราบความจริง ก็ได้แต่หัวเราะ เพราะพระซุ้มกอที่เมืองกำแพงเพชรไม่มี อีกแล้ว พระที่ขึ้นมาใหม่ ล้วนเป็นพระที่ฝังไว้ในช่วง 50 -60 ปีเท่านั้น มิใช่พระสมัยโบราณจริงๆ
   กรุที่พบพระซุ้มกอ
   1. กรุทุ่งเศรษฐี  เมืองนครชุม   พบทุกกรุและมีจำนวนมากมาย  อาทิ
      1.1 กรุวัดพระบรมธาตุ นครชุม เป็นกรุแรกที่ ค้นพบพระซุ้มกอ มีการขุดค้นกันตลอด แม้ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมายังมีการขุดค้นอยู่  อาจกล่าวได้ว่าเป็นต้นกำเนิดพระเครื่อง เพราะเนื่องจากพญาลิไท ได้บรรจุพระบรมธาตุและพระเครื่อง ที่วัดพระบรมธาตุแห่งนี้
      1.2 กรุเจดีย์กลางทุ่ง เป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์  หรือเจดีย์ทรงดอกบัวตูมที่มีลักษณะงดงามมาก สร้างราวสมัยพญาลิไท มีการขุดค้นพบพระกำแพงซุ้มกออย่างมากมายที่วัดแห่งนี้ ทั้งในพระเจดีย์และบริเวณอุทกสีมา
      1.3 กรุวัดพิกุล วัดพิกุลมีมณฑปทรงเทวาลัย คาดว่าก่อนหน้าพระพุทธศาสนา วัดพิกุลเป็นเทวาลัยของศาสนาพราหมณ์มาก่อน ผู้ขุดค้นที่วัดพิกุลเล่าให้ฟังว่า เมื่อราวพ.ศ.2490 วัดพิกุลยังเป็นป่าทึบ ได้ขุดค้นพบสมบัติมากมาย พร้อมโครงกระดูกมนุษย์โบราณที่ฝังไว้พร้อมกับเครื่องแต่งกายสมัยทวาราวดี ใต้ฐานบันไดขั้นที่ 2ของเทวาลัย มีดาบ สังวาล แหวนและเครื่องประดับอื่นๆ เป็นจำนวนมาก
เมื่อขุดค้นพบ ได้แบ่งปันกันไป และทำลายกระดูกนั้นเสีย ส่วนพระเครื่องไปสาดทิ้งในบริเวณอุทกสีมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระกำแพงนางพญาที่วัดพิกุลนี้งดงามมาก
      1.4 กรุวัดซุ้มกอ วัดซุ้มกอเป็นวัดเล็กๆในเขตอรัญญิกนครชุม อยู่หน้าศูนย์ท่ารถบขส.ในปัจจุบัน ถนนเข้าเมืองกำแพงเพชรตัดผ่านวัด ทำให้เสียหายมาก พระซุ้มกอที่ค้นพบในวัดนี้ มีจำนวนมาก จนประชาชนเรียกขานวัดแห่งนี้ว่าวัดซุ้มกอ เนื่องจากมีพระดีจำนวนมาก วัดจึงถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง  แต่เดิมเหลือสภาพเป็นแค่เนินดินคล้ายจอมปลวก  เมื่อผู้เขียนเป็นเด็ก มีไร่มีสวนอยู่หลังวัดซุ้มกอได้มีโอกาสเดินผ่านเกือบทุกวัน พบเห็นผู้คนขุดค้นกันทั้งกลางวันและกลางคืน
      1.5 กรุบ้านเศรษฐี อยู่บริเวณป้อมทุ่งเศรษฐี ในบริเวณหลังป้อม มีวัดหลายวัด แต่ในบริเวณป้อมไม่มีวัดอยู่ จากการขุดแต่งของกรมศิลปากร ไม่พบสิ่งก่อสร้างในบริเวณป้อมเลย   เจดีย์วิหารและโบสถ์ทั้งหลาย  ได้ถูกไถทิ้งไป ในคราวขุดสระขนาดใหญ่ของเอกชน  มีการขุดค้นพบพระซุ้มกอบริเวณนอกป้อมทุ่งเศรษฐี จำนวนมาก
      1.6 กรุวัดหนองลังกา  เป็นเจดีย์ทรงลังกา งดงามมากอยู่กลางทุ่ง   สร้างสมัยสุโขทัย
สันนิษฐานว่าสมเด็จพระสังฆราชจากลังกา เสด็จมาประทับที่วัดหนองลังกาแห่งนี้  มีการขุดค้นพระเครื่องที่วัดหนองลังกา อยู่ตลอดเวลาแม้ในปัจจุบัน
   นอกจากนั้น ยังพบ พระซุ้มกอ ในกรุอื่นๆในบริเวณทุ่งเศรษฐี  อีกหลายสิบกรุ
แต่หลักฐานส่วนสำคัญ ได้ถูกทำลายไปโดยสิ้นเชิง
     เนื้อพระซุ้มกอบริเวณทุ่งเศรษฐีนี้ งดงามมาก ใช้ดินบริเวณทุ่งเศรษฐีนี้เองในการมาพิมพ์พระ นับว่าเป็นเคล็ดลับสำคัญอย่างหนึ่งของ พระซุ้มกอกรุทุ่งเศรษฐี
   2. กรุพระซุ้มกอฝั่งกำแพงเพชร
      2.1 กรุวัดพระแก้ว  เป็นวัดหลวงอยู่กลางเมืองกำแพงเพชร เป็นวัดมีขนาดใหญ่เชื่อกันว่า เมื่อครั้งพระแก้วมาประดิษฐานที่กำแพงเพชร ได้มาประดิษฐานที่วัดพระแก้วแห่งนี้ จึงเรียกขานกันว่าวัดพระแก้ว  พบพระซุ้มกอ   เนื่องจากวัดพระแก้วเป็นวัดหลวง จึงพบพระซุ้มกอโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระซุ้มกอหน้าทองจำนวนมากที่วัดนี้
      2.2 วัดในเขตอรัญญิกของกำแพงเพชร ที่มีวัดอยู่กว่า 50 วัด อาทิวัดพระนอน วัดป่ามืด
วัดพระสี่อิริยาบถ วัดนาคเจ็ดเศียร วัดฆ้องชัย วัดสิงห์ วัดช้างรอบ  วัดกรุสี่ห้อง วัดริมทาง วัดอาวาสน้อย
วัดอาวาสใหญ่ วัดหมาผี วัดกำแพงงาม วัดช้าง  ฯลฯ  ปรากฏว่า ทุกวัดพบพระเครื่องซุ้มกอจำนวนมาก

   พระซุ้มกอเมืองกำแพงเพชร เป็นเหมือนดั่งอัญมณีที่สำคัญของเมืองกำแพงเพชร ทำให้คำขวัญวรรคแรกของ จังหวัดกำแพงเพชร   ว่า กรุพระเครื่อง   เมืองคนแกร่ง    ศิลาแลงใหญ่  กล้วยไข่หวาน น้ำมันลานกระบือ  เลื่องลือมรดกโลก  ผู้คนรู้จักกำแพงเพชร เพราะพระกำแพงซุ้มกอ จำนวนมากเช่นกัน คนกำแพงเพชร สมควรที่จะภูมิใจในความเป็นคนกำแพงเพชร และเมืองมรดกโลก ไปนานแสนนาน                          
 



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 15, 2010, 07:17:09 pm โดย apairach » บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!