จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
มีนาคม 29, 2024, 06:19:28 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: กำแพงเพชรใต้ร่มฟ้ามหาบารมี โดยอาจารย์สันติ อภัยราช  (อ่าน 3772 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1410


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: กันยายน 14, 2010, 12:01:08 pm »

ทุกรอยพระ ยุคลบาท ประกาศก้อง      กำแพงเพชร ทั้งผอง  ร่วมสรรเสริญ
ทรงปลูกสุข  ดับทุกข์  ไทยจำเริญ         ทอดพระเนตร บาทดำเนิน ทั่วแผ่นดิน
   พระการุณ  ทั้งสามครา มาปรากฏ      กำแพงเพชร เลอยศ  ทั่วทุกถิ่น
ดั่งฝนโปรย ดับร้อน ชนยลยิน            ทุกชีวิน  ใต้ร่มฟ้ามหาบารมี

   จังหวัดกำแพงเพชร เป็นเมืองโบราณที่สำคัญยิ่ง มาตลอดยุคสมัย และเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไทยมาโดยตลอด อาจนับตั้งแต่ พระร่วงโรจนราช กษัตริย์ต้นราชวงศ์พระร่วง
จากตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ว่ามาจากบ้านโคน เมืองคณฑี จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งชาวบ้านโคนถือกันว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก แม้ตำนานท้าวแสนปม ได้กล่าวถึงท้าวแสนปมเป็นพระราชบิดาของ พระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา..เป็นความเชื่อทั้งสองเรื่องที่คู่กับจังหวัดกำแพงเพชรเล่าขานสืบต่อกันมาช้านาน...ว่าปฐมกษัตริย์ทั้งกรุงสุโขทัย และอยุธยามาจากกำแพงเพชรทั้งสองพระองค์  ....
   จากตำนานสิงหนวติกุมาร ฉบับสอบค้น ของนายมานิต  วัลลิโภดม ได้กล่าวถึงกำแพงเพชรที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์หลายตอนอาทิ....พระเจ้าพรหม  เป็นวีรบุรุษ เป็นศูนย์กลางของพวกเผ่าพันธุ์ที่อยู่ในตระกูลไทย-ลาว เป็นผู้นำขับไล่พวกขอมดำสำเร็จ ในตำนานสิงหนวติกุมาร บอกว่าพรหมกุมารกำจัดพญาขอมดำและพวกขอมบริวารทั้งหลาย หนีลงไปทางทิศใต้ พรหมกุมารตามพิฆาตเข่นฆ่า จนร้อนถึงพระอินทร์ต้องเนรมิตกำแพงหินกั้นกางขวางหน้าไว้ เพื่อช่วยชีวิตพวกขอมดำมิให้สูญเผ่าพันธุ์ กำแพงขวางกั้นกลายเป็นกำแพงเพชร ในกาลต่อมา  พระเจ้าชัยสิริ โอรสพระเจ้าพรหม หนีพระยาสุธรรมวดี มาเดือนหนึ่งถึงแนวกำแพงที่พระอินทร์เนรมิต จึงประกาศสร้างเมืองกำแพงเพชร ณที่นั้น....
   หลักฐานมาปรากฏชัดเจน เป็นที่ยืนยันได้อย่างแน่นอนว่า พญาลิไท กษัตริย์แห่งสุโขทัยเสด็จมาเมืองนครชุม โดยมีหลักฐานจากจารึกนครชุม (จารึกหลักที่ 3) ว่า
พระยาลือไทยราช ผู้เป็นลูกพระยาเลอไทย เป็นหลานแก่พระยารามราช เมื่อได้เสวยราชย์ในเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยได้ราชาภิเษก อันฝูงเท้าพระยาทั้งหลายอันเป็นมิตรสหาย อันมีในสี่ทิศนี้ แต่งกระยาดงวาย ของฝากหมากปลามาไหว้อันยัดยัญอภิเษกเป็นท้าวเป็นพระยาจึงขึ้นชื่อศรีสุริยพงศ์มหาธรรมราชาธิราช...หากเอาพระศรีรัตนมหาธาตุอันนี้มาสถาปนาในเมืองนครชุมปีนี้นั้น พระมหาธาตุอันนี้ใช่ธาตุอันสามานย์ คือพระธาตุแท้จริงแล้ เอาลุกแต่ลังกาทวีปพู้นมาดาย เอาทั้งพืชพระศรีมหาโพธิ์ อันพระพุทธเจ้าเราเสด็จอยู่ใต้ต้นและผจญพลขุนมาราธิราช ได้ปราบแก่สัพพัญญุตญาณเป็นพระพุทธ มาปลูกเบื้องหลังพระมหาธาตุนี้ ผิผู้ใดได้ไหว้นบกระทำบูชาพระศรีรัตนมหาธาตุและพระศรีมหาโพธิ์นี้ว่าไซร้ มีผลอานิสงส์พร่ำเสมอดังได้นบตนพระเป็นเจ้าบ้างแล........
   ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี พระมหากษัตริย์ในยุคนั้นได้เสด็จมากำแพงเพชรหลายครั้งดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร
ครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2088  สมเด็จพระชัยราชาธิราช ยกกองทัพไปเชียงใหม่ ประทับพักทัพหลวง ณ เมืองกำแพงเพชร ถึงหนึ่งเดือน ตามพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐบันทึกไว้ว่า สมเด็จพระชัยราชาธิราชเจ้าเสด็จไปทัพเชียงใหม่ ให้พระยาพิษณุโลกเป็นทัพหน้าและยกพลตั้งทัพชัยตำบลบางพาน (เมืองเก่าในอำเภอพรานกระต่าย) ทัพหลวงประทับแรมที่เมืองกำแพงเพชร 1 เดือน
ครั้งที่ 2  ในปีพ.ศ. 2102 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จมาคล้องช้าง ณ เมืองแสนตอ ซึ่งขึ้นกับเมืองกำแพงเพชร ได้ช้าง 40 เชือก
ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2127 สมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพไปช่วยพระเจ้าหงสาวดีรบกับพระเจ้ากรุงอังวะจากพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐบันทึกไว้ว่า   ศักราช ๙๔๖ วอกศก (พ.ศ. ๒๑๒๗) ครั้งนั้นสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า เสวยราชสมบัติ ณ เมืองพิษณุโลก รู้ข่าวมาว่าพระเจ้าหงสากับพระเจ้าอังวะผิดกัน ครั้งนั้นเสด็จไปช่วยการเศิกพระเจ้าหงสาและอยู่ในวันพฤหัสบดี แรม ๓ ค่ำ เดือน ๕ ช้างต้นพลายสวัสดิมงคลและช้างต้นพลายแก้วจักรรัตน์ชนกัน และงาช้างต้นพลายสวัสดิมงคลลุ่ยข้างซ้าย และโหรทำนายว่าห้ามยาตรา และมีพระราชโองการตรัสว่าได้ตกแต่งการนั้นสรรพแล้ว จึงเสด็จพยุหยาตราไป ครั้งเถิง ณ วันพุธ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๕ เสด็จออกตั้งทัพชัยตำบลวัดยม ท้ายเมืองกำแพงเพชรในวันนั้นแผ่นดินไหว แล้วจึงยกทัพหลวงเสด็จไปถึงเมืองแกรง แล้วจึงทัพหลวงเสด็จกลับคืนมาพระนครศรีอยุธยา ฝ่ายเมืองพิษณุโลกนั้นอยู่ในวันพุธ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐ เกิดอัศจรรย์แม่น้ำทรายหัวเมืองพิษณุโลกนั้น ป่วนขึ้นสูงกว่าพื้นน้ำนั้น ๓ ศอก อนึ่งเห็นสตรีภาพผู้หนึ่ง หน้าประดุจหน้าช้าง และทรงสัณฐานประดุจวงช้างและหูนั้นใหญ่ นั่งอยู่ ณ วัดประสาท หัวเมืองพิษณุโลก อนึ่ง ช้างใหญ่ตัวหนึ่งยืนอยู่ ณ ท้องสนามนั้นอยู่ก็ล้มตายลงกับที่บัดเดี๋ยวนั้น อนึ่งเห็นตักแตนบินมา ณ อากาศเป็นอันมาก และบังแสงพระอาทิตย์บดมาแล้วก็บินกระจัดกระจายสูญไป ในปีเดียวนั้นให้เทครัวเมืองเหนือทั้งปวง ลงมายังกรุงพระนครศรีอยุธยา ในปีเดียวนั้นพระเจ้าหงสาให้พระเจ้าสาวถี และพระยาพสิม ยกพลลงมายังกรุงพระนคร และ ณ วันพุธ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๒ เพลาเที่ยงคืนแล้ว ๒ นาฬิกา ๙ บาท เสด็จพยุหบาตราไปตั้งทัพตำบลสามขนอน ครั้งนั้นเศิกหงสาแตกพ่ายหนีไป อนึ่งม้าตัวหนึ่งตกลูกและศีรษะม้านั้นเป็นศีรษะเดียวกัน แต่ตัวม้านั้นเป็น ๒ ตัว และเท้าม้านั้นตัวละสี่เท้า ประดุจชิงศีรษะแก่กัน
ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2148 สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จเมืองกำแพงเพชร และประทับที่เมืองกำแพงเพชร 15 วัน
ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2310 พระยาวชิรปราการ (พระเจ้ากรุงธนบุรี) ได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่มิทันได้มาครองเมือง ไปช่วยราชการที่กรุงศรีอยุธยาก่อน
ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ ยกกองทัพผ่านเมืองกำแพงเพชร
ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2318  พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ครั้งเป็นพระยาจักรี ยกกองทัพมาตั้งที่เมืองกำแพงเพชร  เกิดตำนานสมเด็จพุฒาจารย์(โต)
ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2488 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิศริยยศที่พระบรมโอรสาธิราช เพื่อทอดพระเนตรโบราณสถาน ในระหว่างวันที่ 16-17 มกราคม 2448  ประทับแรมที่พลับพลา หน้าวัดชีนางเกา 2 ราตรี
ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2449  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชร
ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม ถึงวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2449  ทรงนำความเจริญและความสงบสุขมาสู่เมืองกำแพงเพชรอย่างมากมาย ทรงถ่ายภาพเมืองกำแพงเพชร ไว้จำนวนมาก และบันทึกการเดินทางประพาสต้นเมืองกำแพงเพชรไว้อย่างละเอียด
   ครั้งที่ 10 พ.ศ.2450 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิศริยยศที่พระบรมโอรสาธิราช เพื่อทอดพระเนตรโบราณสถาน ในวันที่ 15 มกราคม 2450 ประทับแรมที่พลับพลา หน้าวัดชีนางเกา 1 ราตรี พระบรมโอรสามหาวชิราวุธสยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็เมืองกำแพงเพชรสองคราว มีการจารึกเล่าเรื่องราวการเสด็จประพาสไว้ในศิลาแผ่นหนึ่ง ความว่า


   
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  ทรงพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวไทยทั้งชาติทรงเสด็จไปเยี่ยมพสกนิกร ทั่วทั้งประเทศไม่มีสถานที่ใดในประเทศไทยที่พระเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จไปเยี่ยม นำความผาสุกร่มเย็นมาสู่คนไทยทั้งชาติ
ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ล้ำเลิศด้วยทศพิธราชธรรม เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณ มีน้ำพระราชหฤทัยห่วงใยประชาราษฏรทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าท้องถิ่นนั้นจะทุรกันดารเพียงใด ทรงเสด็จไปทุกหนแห่ง ทำให้เกิดโครงการพระราชดำรินับร้อยนับพันโครงการ ซึ่งไม่มีพระมหากษัตริย์ใดในโลกเสมอเหมือน
   ตลอดระยะเวลา หกสิบปีที่เถลิงถวัลยราชสมบัติ   ระยะแปดสิบปีที่ปกครองดูแลพระบารมีแผ่ไพศาลทรง  ทรงมีพระราชอุตสาหะอันแรงกล้าที่จะบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อประโยชน์สุขแห่งราษฎรของพระองค์ที่อยู่ใต้ร่มฟ้าพระบารมีทั้งทางตรงและทางอ้อม พระบารมีที่ปกเกล้าปกกระหม่อมประจักษ์จิตชัดเจนทุกก้าวย่างจารจารึกในจิตใจประชนของพระองค์ไม่รู้ลืม
   โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดกำแพงเพชรของเรา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเสด็จมาเยือนถึงสามครั้ง แต่ละครั้งนำความปลื้มปิติ และสิ่งที่ดีมีมงคลมามอบให้ชาวกำแพงเพชรเสมอ
ทุกรอยละอองธุลีพระบาทที่ทรงยาตรย่ำลง ณ สถานที่ใด ชาวกำแพงเพชรยังจดจำอยู่มิรู้คลาย
ภาพต่างๆ ได้ประทับในดวงจิตชาวประชากำแพงเพชรมิลืมเลือน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดกำแพงเพชรครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ . 2510  ถึงกำแพงเพชรเวลา 10.30 น. เพื่อบวงสรวงสังเวยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเมื่อพ.ศ. 2126 ทรงกรีธาทัพผ่านเมืองกำแพงเพชร ประทับที่วัดยมท้ายเมืองกำแพงเพชรปัจจุบันคือวัดกะโลทัย วันรุ่งขึ้นพักทัพชัยที่ตำบลหนองปลิงสามเพลา)
นายร้อยตำรวจโทปิ่น  สหัสโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น เข้าเฝ้าถวายบังคมทูลอัญเชิญล้นเกล้าทั้งสองพระองค์เสด็จกระทำบวงสรวงสังเวยสมเด็จพระนเรศวร และเยี่ยมเยียนพสกนิกรของพระองค์ บรรดาราษฎรพากันตั้งโต๊ะหมู่บูชาสองข้างทาง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงรับศีลก่อนทำพิธีบวงสรวง เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์ จึงทรงบวงสรวงสังเวยสมเด็จพระนเรศวร แล้วเสด็จทอดพระเนตรผังเมืองเก่าและโบราณวัตถุที่กรมศิลปากรจัดให้ทอดพระเนตร จากนั้นเสด็จมายังศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อเสวยพระกระยาหารกลางวัน จนกระทั่งเวลาประมาณ 14.30 น. จึงเสด็จออกมาปลูกต้นสัก ณ บริเวณ หน้าศาลากลางจังหวัด โดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปลูกต้นด้านขวา และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงปลูกต้นด้านซ้าย ของศาลากลาง แล้วจึงเสด็จเยี่ยมราษฎรของพระองค์ เสด็จกลับด้วยเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง
เพื่อเสด็จสู่จังหวัดพิษณุโลกและประทับเครื่องบินพระที่นั่งเสด็จนิวัติพระนคร
ปัจจุบันต้นสักที่ทั้งสองพระองค์ทรงปลูกไว้  จังหวัดกำแพงเพชร ได้นำภาพถ่ายที่ทั้งสองพระองค์ทรงปลูกมาขยายใหญ่ประดิษฐานไว้ ณ ที่ นั้น นับว่าเป็นการทำที่ถูกต้องเหมาะสมยิ่ง และการได้ขยายพันธุ์สักพระราชทาน ไปปลูกทั่วทั้งจังหวัดกำแพงเพชร นับมีวิสัยทัศน์อันกว้างไกล สมควรได้รับการปรบมือให้
   ครั้งที่สอง ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธร เสด็จมาบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินส่วนพระองค์ ณ วัดคูยาง อำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชร ขณะนั้นพระวิเชียรธรรมคณี (ทองพาน) เป็นเจ้าอาวาส
ทรงถวายพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเป็นทุนเริ่มต้นในการก่อสร้างพระอุโบสถซึ่งกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล เป็นเงินหก
หมื่นบาท ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ   ภ.ป.ร. มาประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถด้านหน้า และพระนามาภิไธยย่อ  ส. ก.มาประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถด้านหลัง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมพ.ศ. 2523    และพระราชทานนามพระพุทธรูปประธาน ซึ่งหล่อแบบศิลปะสุโขทัย  หมวดกำแพงเพชร ขนาดหน้าตักกว้าง 6 ศอก 9 นิ้ว ว่าพระพุทธวชิรปราการ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527    มีราษฎรมาเข้าเฝ้ารับเสด็จจำนวนมาก  ทั้งสามพระองค์ ทรงเกษมสำราญพระราชหฤทัย ทรงเยี่ยมเยียนราษฎรอย่างใกล้ชิดนำความสุขมาสู่ประชาชนอย่างถ้วนหน้า พระองค์ เสด็จนิวัติพระนครในวันเดียวกัน
   ครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้าน ของอำเภอต่างๆในจังหวัดกำแพงเพชรจำนวน 117  รุ่น ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้านแล้วทรงพระราชทานพระบรมราโชวาท ต่อลูกเสือชาวบ้านและพสกนิกรที่มารับเสด็จ เมื่อเสร็จสิ้น
พิธีการทรงเสด็จพระราชดำเนิน เยี่ยมเยียนราษฎรที่เข้าเฝ้ารับเสด็จฯ ในบริเวณนั้น จำนวนมากมาย ในขณะนั้น ประชาชน บ้านกิโลสอง   บ้านกิโลสาม  และบ้านกิโลหก  และชาวบ้านใกล้เคียงในเขตอำเภอเมืองกำแพงเพชร ได้กราบทูลขอพระราชทาน ให้ทรงช่วยเหลือจัดหาน้ำให้เพื่อใช้ในการเพาะปลูกและในการอุปโภคและบริโภคได้ตลอดปี 
   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการพระราชดำริเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2521 ซึ่งในปัจจุบันประชาชน ทั้งหมดมีคลองชลประทาน ไปถึงหน้าบ้านและเรือกสวนไร่นาของประชาชน ทุกหนแห่ง สร้างความชื่นชมของชาวบ้านที่มีต่อพระองค์อย่างมิรู้คลาย
   การเสด็จกำแพงเพชรทั้งสามครั้งแม้เป็นเหตุการณ์ที่ ผ่านไปนานแสนนานแล้วก็ตาม แต่ประชาชนชาวกำแพงเพชร ทุกคนที่ได้ชมพระบารมี เมื่อไปสัมภาษณ์แต่ละท่าน ทุกท่านยังประทับใจในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างไม่ลืมเลือน  เพราะชาวกำแพงเพชร
จะอยู่ใต้ร่มฟ้ามหาบารมี   ของพระองค์ตลอดตราบนิจนิรันดร์     ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

                                            สันติ   อภัยราช
                     

บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!