จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
กรกฎาคม 04, 2025, 05:10:15 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: หนึ่งเดียวในไทย ประเพณีแห่พระด้วยเกวียน อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร ณัฐพงศ  (อ่าน 92 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1501


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: กรกฎาคม 03, 2025, 07:13:35 pm »

หนึ่งเดียวในไทย
ประเพณีแห่พระด้วยเกวียน อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร

ณัฐพงศ์  แก้วทุ่ง
ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร

จังหวัดกำแพงเพชรมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน นับตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี คนไทยในอดีตส่วนใหญ่อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นปึกแผ่น มีความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกันจนเกิดเป็นสังคม จากวิถีชีวิต ความเป็นอยู่
ความเชื่อ รวมถึงสภาพแวดล้อม ก่อให้เกิดศิลปวัฒนธรรมและประเพณีที่หลากหลาย มีเอกลักษณ์ที่บ่งบอก         ถึงความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่นั้น สะท้อนให้เห็นทัศนคติ ความเชื่อ เอกลักษณ์            ของคนในท้องถิ่น ที่นิยมประพฤติ ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นแบบแผน ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี           จากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน
อำเภอลานกระบือเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดกำแพงเพชร ในอดีตเป็นพื้นที่ที่มีฝูงควายป่าอาศัยอยู่        เป็นจำนวนมาก จึงเป็นที่มาของชื่อ “บ้านลานควาย” ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “ลานกระบือ” พื้นที่อำเภอนี้ นอกจากจะมีแหล่งน้ำมันดิบบนบกขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย คือ แหล่งน้ำมันสิริกิติ์แล้ว ยังมีประเพณีอันดีงาม
ที่ทรงคุณค่าเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และสืบทอดกันมาอย่างยาวนานนั้นก็คือ ประเพณีแห่พระด้วยเกวียน






ประเพณีแห่พระด้วยเกวียน จัดขึ้นในช่วงประเพณีสงกรานต์เพื่อเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ของชาวบ้าน
ตำบลลานกระบือ ณ บริเวณวัดแก้วสุริย์ฉายซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน โดยแต่ละหมู่บ้านจะนำล้อเกวียนที่จัดตกแต่งอย่างสวยงาม พร้อมอัญเชิญพระพุทธรูปไว้ด้านหน้า ถัดมาเป็นขันน้ำมนต์ และพระสงฆ์สามเณร
เมื่อล้อเกวียนเคลื่อนมารวมกัน ณ วัดแห่งนี้พร้อมกันแล้ว จึงแห่เกวียนไปทั่วพื้นที่ตำบลลานกระบือ ระหว่างทางพระสงฆ์จะสวดมนต์ให้พร ประพรมน้ำมนต์ให้ชาวบ้านที่มารอสรงน้ำพระพุทธรูปอยู่สองข้างทาง เพื่อความ         เป็นสิริมงคล ประเพณีนี้ชาวลานกระบือปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่โบราณ เป็นช่วงเวลาแห่งความเอื้ออาทร ความรัก
ความผูกพันที่มีต่อกันทั้งในครอบครัว ชุมชน สังคมและศาสนา เนื่องจากสมาชิกของครอบครัวมีโอกาสมาอยู่ร่วมกัน ช่วยกันทำความสะอาดบ้าน ทำขนมไว้ทำบุญและเลี้ยงลูกหลาน พร้อมทั้งจัดหาผ้าผืนใหม่เพื่อมอบแด่ผู้มีพระคุณ และผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ต่อจากนั้น จะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวที นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่ทำให้เกิดความสามัคคี เช่น การแบ่งปันของกินแก่กัน ร่วมกันทำบุญ ให้ทาน พบปะสังสรรค์ สนุกสนาน รื่นเริงร่วมกัน และช่วยกันทำความสะอาดวัดวาอาราม ที่สาธารณะและอาคารสถานที่ต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะแตกต่างจากที่อื่น ๆ ดังนี้






ก่อนวันสงกรานต์ ชาวลานกระบือที่ไปทำงานต่างถิ่นจะเดินทางกลับมาที่บ้านของตนเพื่อทำบุญร่วมกัน
อยู่กันพร้อมหน้า ได้พบปะสังสรรค์กันระหว่างญาติพี่น้องและคนในครอบครัว
วันที่ 12 เมษายน จะเตรียมพร้อมเพื่อเริ่มต้นชีวิตในวันขึ้นปีใหม่ไทย สำหรับสิ่งที่เตรียมไว้ล่วงหน้า ได้แก่ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และขนมเพื่อไปทำบุญที่วัด ส่วนอาหารคาวจะจัดเตรียมในช่วงเช้ามืดของวันที่ 13 เมษายน ในช่วงเช้าของวันที่ 13-15 เมษายน ชาวบ้านจะไปทำบุญตักบาตรที่วัดแก้วสุริย์ฉายเพื่อสืบทอดและทำนุบำรุง
พระพุทธศาสนา และฟังคำสอน หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ช่วยขัดเกลาจิตใจ รู้จักการให้ทาน ทำบุญอัฐิ           และอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ เพื่อแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ หรือญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว             บางคนนำปลาไปปล่อยในสระน้ำของวัด สำหรับการปล่อยปลานั้น ผู้ที่จะปล่อยต้องจัดหามาเอง อาจจะซื้อ         จากตลาด หรือจับปลาตกคลั่กมาจากแอ่งน้ำ หรือหนองน้ำจากทุ่งนาของตน ซึ่งในช่วงสงกรานต์เป็นฤดูแล้ง       อากาศร้อนจัดและน้ำแห้งขอด ปลาเหล่านั้นอาจจะตาย จึงนำไปปล่อยเป็นการทำบุญต่อชีวิตให้แก่สัตว์อีกด้วย
วันที่ 15 เมษายน หลังจากทำบุญตักบาตรในช่วงเช้าแล้ว ชาวบ้านจะไปรวมตัวกันที่วัดแก้วสุริย์ฉาย
เพื่อร่วมกิจกรรมก่อเจดีย์ทราย โดยส่วนใหญ่จะแต่งกายชุดพื้นบ้าน ผู้ชายสวมกางเกงขาก๊วย ผ้าขาวม้าคาดพุง ผู้หญิงนุ่งผ้าถุง สวมเสื้อคอกระเช้า ดูแล้วสวยงามตามแบบย้อนยุค พร้อมทั้งเตรียมอุปกรณ์ตกแต่งเจดีย์ทราย
ให้สวยงาม เช่น พวงเต่ารั้ง ธง สายรุ้ง ดอกไม้สด เป็นต้น กิจกรรมก่อเจดีย์ทรายมีจุดประสงค์หลักเพื่อนำทราย
เข้าวัด ซึ่งในอดีตส่วนใหญ่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ในวัด ทรายอาจติดเท้าออกไปได้ เมื่อถึงเทศกาลจึงควรขนทราย
ไปคืนเพื่อให้วัดใช้ก่อสร้างหรือถมพื้นที่ต่อไป และในตอนบ่ายชาวบ้านจะมาพร้อมกันที่บริเวณวัดแก้วสุริย์ฉาย
อีกครั้ง โดยจัดเตรียมอุปกรณ์ตกแต่งล้อเกวียน เช่น ก้านมะพร้าว ดอกไม้ ใบตอง เป็นต้น และช่วยกันประดับตกแต่งล้อเกวียนให้สวยงาม เพื่อเตรียมพร้อมไปใช้ในพิธีแห่พระวันที่ 16 เมษายน นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมแข่งขันฟุตบอล หรือกีฬาพื้นบ้าน บางปีมีมหรสพในภาคค่ำ เช่น ลิเก รำวงย้อนยุค และการประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง เป็นต้น
 





วันที่ 16 เมษายน หลังจากทำบุญตักบาตรในช่วงเช้าเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านทุกหมู่บ้านมารวมกันที่ขบวนล้อเกวียนของตนซึ่งจัดตกแต่งไว้ พร้อมมโหรีบรรเลง ได้แก่ แคนวงประยุกต์ และเปิดเพลงจังหวะเร้าใจ ขณะเดียวกันก็จะร้องรำและเล่นสาดน้ำกันอย่างมีความสุข จากนั้นจึงเริ่มขบวนล้อเกวียนพิธีแห่พระ ขบวนแรกอัญเชิญพระพุทธรูป และรูปหล่อหลวงพ่อกลับ หลวงพ่อขำ ซึ่งเป็นอดีตพระเกจิอาจารย์ที่ชาวลานกระบือศรัทธาและเคารพนับถือมาประดิษฐาน ขบวนถัดไปเป็นล้อเกวียนของแต่ละหมู่บ้าน ด้านหน้าของล้อเกวียนจะอัญเชิญพระพุทธรูป จำนวน 1 องค์ น้ำมนต์ 3 ขัน ก่อนเคลื่อนขบวนออกจากวัดไปตามหมู่บ้าน จะทำพิธีจุดธูปเทียน    พร้อมด้วยดอกไม้บูชาพระรัตนตรัย อาราธนาพระปริตร จากนั้นนิมนต์พระภิกษุ สามเณรขึ้นนั่งบนล้อเกวียน
เพื่อสวดมนต์ให้พร ประพรมน้ำมนต์แก่ชาวบ้านที่มารอสรงน้ำพระอยู่ระหว่างสองข้างทาง เพื่อเป็นสิริมงคล
แก่ผู้เฒ่าผู้แก่ หรือผู้ที่ไม่มีโอกาสเดินทางไปสรงน้ำพระที่วัด หลังจากแห่ขบวนไปครบทุกหมู่บ้านแล้วจะแห่กลับมา
ที่วัด จากนั้นชาวบ้านจึงร่วมกันสรงน้ำพระพุทธรูป รูปหล่อหลวงพ่อกลับ หลวงพ่อขำ และพระภิกษุ สามเณร
เพื่อแสดงความเคารพต่อปูชนียบุคคลผู้สืบทอดพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว      หลังจากนั้นจะร่วมกันทำพิธีรดน้ำขอพรจากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน เพื่อแสดงความเคารพ ความกตัญญูกตเวที         ต่อผู้มีพระคุณ แล้วชาวบ้านจึงสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานทั่วทั้งบริเวณวัดและบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง



    

ประเพณีแห่พระด้วยเกวียนเป็นประเพณีที่ก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคีของคนในท้องถิ่น บรรพบุรุษของชาวตำบลลานกระบือจึงยกให้วันสงกรานต์มีความสำคัญยิ่งขึ้น โดยสร้างกิจกรรมทางศาสนาและสังคม ได้แก่ กิจกรรมสรงน้ำพระ และปฏิบัติตนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ร่วมกันทำบุญ ทำทาน ฟังธรรม และขอพรจากผู้เฒ่า
ของชุมชน อันเป็นกิจกรรมที่สร้างความมั่นคงทางจิตใจที่ซ่อนอยู่ให้เราเรียนรู้ ดังนั้น การช่วยกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู      และร่วมกันสืบสานประเพณีอันดีงามนี้ ให้คงอยู่คู่กับตำบลลานกระบือ อำเภอลานกระบือ ก็คงเป็นส่วนหนึ่ง          ที่จะช่วยให้ชุมชนแห่งนี้น่าอยู่สืบไปอีกหลายชั่วอายุคน
อ้างอิง
จิรัฏฐ์ เพ็งแดง. (2563). ประเพณีการแห่พระด้วยเกวียน อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร ในบริบทการใช้
   ประเพณีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจากแนวคิดของคนในท้องถิ่น. วารสาร สื่อ ศิลป์, 3(6), 61-62.
   https://acc.kpru.ac.th/sarnsuesin/articles/7-202203071646643645.pdf
จิรัสฐภรณ์ แจ่มจำรัส. (2561). ประเพณีแห่พระด้วยเกวียน อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร. กำแพงเพชรศึกษา
   มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. https://acc.kpru.ac.th/KPPStudies/index.php?title=ฐานข้อมูล
   _เรื่อง_ประเพณีแห่พระด้วยเกวียน_อ.ลานกระบือ_จ.กำแพงเพชร#
ธำรง จันคง. (2567, 16 เมษายน). ประเพณีวัฒนธรรมของชาวลานกระบือ [Facebook]. https://www.facebook.com/photo?fbid=1887809065010946&set=pcb.1887809851677534
สมพงษ์ พงศ์สุทธิยากร. (2562, 13 เมษายน). “สงกรานต์ลานกระบือ” หนึ่งเดียว “แห่พระด้วยเกวียน”
สันติ อภัยราช. อำเภอลานกระบือ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาอำเภอลานกระบือ.
   กำแพงเพชรศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร.
   สืบทอด 300 ปี. ไทยรัฐ ออนไลน์. https://www.thairath.co.th/news/local/north/1543445
MGR online. (2561, 16 เมษายน). หนึ่งเดียวในไทย! ชาวลานกระบือ “แห่พระด้วยเกวียนวันสงกรานต์”
 สานประเพณี เก่าแก่. https://mgronline.com/local/detail/9610000037565




บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!