จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
เมษายน 27, 2024, 10:04:19 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การแสดงแสงเสียงประกอบจินตนาการ นครไตรตรึงษ์ ปี ๖๖  (อ่าน 3881 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1414


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: กรกฎาคม 21, 2023, 09:56:39 pm »

                                                         การแสดงแสงเสียงประกอบจินตนาการ
                                                เรื่อง พระมหาบารมี วีรกษัตริย์  ปกฉัตร นครไตรตรึงษ์
      วันอังคารที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๖ณ วัดวังพระธาตุ  นครไตรตรึงษ์  จังหวัดกำแพงเพชร  เวลา ๒๐.๐๐ น.
                                                                        รวม  ๖๐นาที

                                                              .................................................
ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ ทุกท่าน องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลนครไตรตรึงษ์ โรงเรียนนครไตรตรึงษ์ โรงเรียนบ้านไตรตรึงษ์ และประชาชนชาวนครไตรตรึงษ์  ยินดีต้อนรับทุกท่าน เข้าสู่การแสดงแสงเสียงประกอบจินตนาการ  เรื่อง  พระมหาบารมี วีรกษัตริย์ ปกฉัตร  นครไตรตรึงษ์     
 ในเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๔๙      พระพุทธเจ้าหลวง พระปิยมหาราช เสด็จประพาสต้น เมืองกำแพงเพชร ๑๐ วัน คือตั้งแต่วันที่ ๑๘ สิงหาคม ถึงวันที่ ๒๗ สิงหาคม พุทธศักราช  ๒๔๔๙  ทรงโปรดที่จะท่องเที่ยวและเยี่ยมเยือน  เมืองกำแพงเพชรมากที่สุด และวันนี้  ในอดีตคือวันที่ ๒๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๔๙ ทรงเสด็จ ประพาสต้น ทอดพระเนตร วัดวังพระธาตุ และ นครไตรตรึงษ์ นครแห่งองค์อัมรินทร์แห่งนี้ ทรงบันทึกเรื่องราวของเมืองประวัติศาสตร์ นครไตรตรึงษ์ไว้อย่างละเอียดที่สุด ทำให้เราเห็นภาพของเมืองนครไตรตรึงษ์  ในอดีตและได้เกิดจินตภาพ อย่างชัดเจน ลึกซึ้ง และจะอยุ่ในความทรงจำแห่งชาวเราตลอดไปชั่วกัลปาวสาร
 เพื่อชมการแสดงได้อย่างมีอรรถรส   โปรดปิดไฟในงานทุกจุด ปิดเครื่องมือสื่อสาร และงดการแสดงออกอื่นๆ ทั้งสิ้น
และที่สำคัญที่สุด เพื่อแสดงความจงรักภักดี ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่รักและเคารพอย่างยิ่งของชาวไทยทุกคนขอเชิญทุกท่าน โปรดยืนขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระองค์  (เปิดเพลงสรรเสริญบารมี)
เชิญทุกท่าน ได้เข้าสู่การแสดง แสงเสียง  เรื่อง พระมหาบารมี วีรกษัตริย์  ปกฉัตร นครไตรตรึงษ์ ตามโครงการ ชากังราว นครแห่งศิลป์ ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร     ณ บัดนี้           
..................................................................................
องก์ที่ ๑ …สถาปนา นครไตรตรึงษ์   (๑๕ นาที)
…….สายน้ำแม่ระมิงค์ที่ใสสะอาด ไหลผ่านนครเชียงใหม่ ลงมาทางทิศใต้สู่ ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ที่ยังเป็น ป่า ดงดิบที่ยังไม่มีผู้ใดค้นพบดินแดนอันงดงามและสงบสุข แห่งนี้
…..พระเจ้าพรหม โอรสแห่ง พระเจ้าพังคราชได้ขับไล่ขอมดําจากเหนือลงสู่ใต้ ระยะทางหลายร้อยเส้น มีการต่อสู้กันตลอดเส้นทางขอมดําได้สู้พลางถอยพลาง ผู้คนทั้งสองฝ่ายล้มตาย ราวใบไม้ร่วง ไล่ลงมาจนติดลําน้ำปิงตอนใต้ ขอมดํา ไม่ สามารถหนีไปได้ พากันล้มตายอย่างน่าเวทนาอย่างที่สุด
…..อัมรินทราธิราชเกรงผู้คนจะล้มตาย จนหมดสิ้น…จึงเสด็จมาจากสวรรค์ชั้น ดาวดึงส์ เปิดโลกสวรรค์กับโลกมนุษย์ให้เห็น กัน( เหาะมา) จึงรับสั่งแก่ พระวิษณุกรรมเทพเจ้าแห่ง ช่าง เป็น มธุรสวาจา ว่า
 พระอินทร์… ท่านวิษณุกรรมผู้ทรงไว้ซึ่งเทพเจ้าแห่ง ช่างอันประเสริฐที่สุด โปรดได้ เนรมิตกําแพงเมืองให้สูงตระหง่านและแข็งแกร่งประดุจเพชรกั้น ไม่ให้ ผู้คนทําร้ายซึ่งกันและกันให้สูญเผ่าพันธุ์เถิด
พระวิษณุกรรม   ท่าน เทพเจ้า ผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ ด้วยอำนาจแห่งความดีงาม และ ความซื่อสัตย์ ขอบันดาลให้เกิดกำแพงที่ยิ่งใหญ่ขวางกั้นมิให้มนุษย์สองเผ่าพันธุ์ ได้เข่นฆ่ากันให้เป็นบาปกรรม สืบต่อไป
.............ทันใด…เกิดกําแพงศิลาแลงอันมหัศจรรย์ขวางกั้นมิให้ทั้งสองฝ่ายประหัตถ์ ประหาร กัน…พระเจ้าพรหมจึง ยกกองทัพ กลับบ้านเมือง……
         พระเจ้าชัย ศิริโอรสพระเจ้าพรหม อพยพไพร่พล เพื่อตั้งราชธานีแห่งใหม่ รอนแรมมาแรมเดือน     มาถึงดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์นี้จึง สถาปนานครไตรตรึงษ์ ขึ้น เมื่อปีพุทธศักราช ๑๕๔๘
พระเจ้าชัยศิริ     แผ่นดินนี้ อุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก มีลำน้ำปิงไหลผ่าน ข้าวปลา อาหาร อุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก เหมาะกับการสร้างพระนคร ข้า จึงขอประกาศ   สถาปนา ให้พระนครแห่งนี้ มีนามว่าพระมหานครไตรตรึงษ์....................ขอให้ชื่อพระนครแห่งนี้ สถิตย์อยู่ชั่วกัลปาวสาร ................................
 (ระบำไตรตรึงษ์ เฉลิมฉลองพระนคร)
ตัวละคร
 ๑ พระเจ้าพรหม ทหารเอก 4 คน ทหารขอม 30 คน ทหารพระเจ้าพรหม30คน พระอินทร์ พระวิษณุกรรม
๒.พระเจ้าชัยศิริ  มเหสี  ( ราชธิดาน้อย ผู้แสดง อบจ. ) สนม กํานัล ทหารเอก 4 คน (เดิม) ทหาร 60 คนเดิม
๓ ระบำไตรตรึงษ์ ๕- ๙ คน
จบองค์ที่ ๑




องก์ ที่ ๒ ตำนานท้าวแสนปม กำเนิดพระเจ้าอู่ทอง  (๑๕ นาที)
          ที่นครไตรตรึงษ์ มีตำนานเล่าขานต่อๆกันมาว่า มีชายหนุ่ม รูปร่าง ประหลาดคนหนึ่ง มีปุ่มปม เต็มตัว  ถูกลอยแพ ตามแม่น้ำปิง มาถึง หน้านครไตรตรึงษ์  ติดอยู่ที่เกาะขี้เหล็ก ชายคนนั้น ขึ้นอาศัยบนเกาะ  ชาวบ้านเห็นชายหนุ่มนั้น จึงพากันเรียกว่าแสนปม ตามที่เห็น และเรียกเกาะขี้เหล็กว่า เกาะแสนปม ในกาลต่อมา  แสนปม ได้ ทำการปลูกกระท่อม และปลูกผักสวนครัว เลี้ยงชีวิต  มะเขือพร้าว เป็นพืชที่แสนปม ปลูกไว้จำนวนมาก มะเขือพร้าว มีผลขนาดใหญ่ มีสีขาวนวล งามมาก มีต้นหนึ่งแสนปมที่ปลูกไว้ข้างบันไดกระท่อม แสนปม ปัสวะรดทุกเช้า  จึงมีผลโตสวยงาม ขนาดใหญ่กว่าทุกต้นในสวนนั้น..............
     จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว พระนครไตรตรึงษ์ ว่า มะเขือพร้าว บนเกาะปมนั้นงามนัก มีผลขนาดใหญ่เป็นที่มหัศจรรย์ แก่ผู้พบเห็น .....ข่าวลือ ไปถึงพระกรรณของ พระนางอุษา พระราชธิดาผู้เลอโฉม ของ กษัตริย์แห่งนครไตรตรึงษ์
นางอุษา   พระพี่เลี้ยง ทั้ง ๔  เราได้ข่าวลือว่า ที่เกาะปม มีมะเขือพร้าวผลใหญ่ เป็นที่มหัศจรรย์ยิ่งนัก เราใคร่จะเห็น และอยากเสวยด้วย พี่ทั้งสี่ พาเราไปชมสวนมะเขือพร้าวที่เกาะแสนปม ได้หรือไม่
พระพี่เลี้ยง   พี่ว่าต้องไปทูลขออนุญาต จากเสด็จพ่อ เสด็จแม่ ของ พระราชธิดา ก่อน เราจึงไปได้เพค่ะ มิฉนั้น พระองค์ทรงพิโรธ แน่ๆ เพราะ ทั้งสองพระองค์ทรงห่วงและหวงพระราชธิดา ยิ่งนัก นะเพค่ะ
ณ ที่ในพระราชฐาน ชั้นในพระเจ้านครไตรตรึงษ์ และพระมเหสี เสด็จออก ขุนนางและมหาดเล็ก สนมกำนัล เข้าเฝ้าเต็มท้องพระโรง พระนางอุษา และพระพี่เลี้ยง เข้าเฝ้าอยู่ด้วย  เมื่อว่าราชการเรียบร้อยแล้ว  นางอุษาเสด็จเข้าไปใกล้ แล้วทูลขอพระราชทานบรมราชานุญาต
นางอุษา   เสด็จพ่อเสด็จแม่เพค่ะลูกขออนุญาตไปประพาสนอกพระนคร  เพื่อชมสวน ในเกาะแสนปม      หน้าเมืองใกล้แค่นี้เพค่ะ จะรีบไปรีบกลับ ไม่ให้ทั้งพระองค์เป็นห่วง เพค่ะ
พระเจ้าไตรตรึงษ์  อย่าไปเลยลูก พ่อเป็นห่วง ลูกยังไม่เคยออกนอกพระนครเลย   ลองถามแม่ ดูสิว่ามีความเห็นประการใด จะให้ไปไหม ลูกรักของพ่อ
นางอุษา   เสด็จแม่เพค่ะ ลูกขออนุญาต ไปกับพระพี่เลี้ยง ทั้ง๔ และ ทหารคุ้มกัน สัก สี่คน ลูกอยากชมบ้านเมืองและประชาราษฎรของเราด้วยเพค่ะเสด็จแม่อนุญาต นะเพค่ะ ลูกอยากไปเพค่ะ
พระมเหสี   เมื่อลูกอยากไปเยี่ยมพสกนิกร ของเรา แม่ก็อนุญาต  พระพี่เลี้ยง และทหารทั้ง ๔ ดูแลลูกเราให้ดี อย่าให้มีภยันตรายใดๆแก่ลูกของเรา ไปเถิดลูก
พระพี่เลี้ยงและ  ทหารทั้ง ๔    กราบทูลพร้อมกันว่า    พระพุทธเจ้าข้า กระหม่อมฉัน จะพิทักษ์พระธิดา ด้วยชีวิต ของกระหม่อมฉันพระพุทธเจ้าข้า  (ปิดไฟ)
ที่เกาะแสนปมพระธิดา เดินทอดพระเนตร เห็นมะเขือพร้าว ดกผลใหญ่ งดงามดังคำร่ำลือ  แสนปมเข้าเฝ้า ถวายมะเขือพร้าว ผลที่งามที่สุด ในสวน หลายผล
พระธิดา       เราขอบใจเจ้ามาก เจ้าแสนปม  ที่ถวายมะเขือพร้าวแก่ เรา เราจะนำไปทำอาหารเสวย ในพระราชวัง เราขอพระราชทาน  หมากให้แก่เจ้าหนึ่งคำ เป็นรางวัลเพื่อตอบแทนน้ำใจของเจ้า   เรากลับแล้วนะแสนปม
แสนปม      ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระองค์ทรงพระเจริญ ทรงพระสิริโฉมงดงาม เกษมสำราญทุกวารเวลา พระพุทธเจ้าข้า
                  (ปิดไฟ)
ในพระราชวัง ราชฐานชั้นใน ข่าวพระราชธิดา ทรงพระครรภ์  ล่วงรู้ถึง ท้าวไตรตรึงษ์ และพระมเหสี ทรงตรัสให้พระธิดา และพระพี่เลี้ยงเข้าเฝ้า ในราชสำนักส่วนพระองค์
พระเจ้าไตรตรึงษ์    อุษาลูกเรา  ลูกท้องกับใครบอกพ่อมา พ่อจะลากคอมันออกมารับผิดชอบ (สุรเสียงดัง ด้วยความโกรธ)
นางอุษา       ลูกไม่ทราบ เลยเพค่ะ ลูกไม่เคยยุ่งกับชายใดเลย ลงโทษลูกเถิดเพค่ะ ที่ทำให้เสด็จพ่อเสียพระเกียรติ ลูกยอมรับผิดทุกประการ แล้วแต่เสด็จพ่อเห็นสมควรเพค่ะ
พระมเหสี     เสด็จพี่เพค่ะ หม่อมฉัน คิดว่า เทพยดา คงลงมาเกิด เป็นหลานเรา ทรงพระบารมี เสริมพระชะตา  ของพระองค์เพค่ะในกาลข้างอาจเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ใหญ่ ชนะสิบทิศ นะเพค่ะ
พระเจ้าไตรตรีงษ์  เราจะเลี้ยงหลานเราไว้ เมื่อรู้ความ เราจะอธิฐานให้พบพระบิดาที่แท้จริง ของหลานเรา เจ้าอุษาจงดูแลพระครรภ์ของเธอให้จงดี อย่าให้เป็นอันตรายต่อหลานเรา
( ทุกคนกราบ ปิดไฟ)
เมื่อพระราชโอรส รู้ความ พระเจ้าไตรตรึงษ์ ทรงป่าวร้อง  ให้ ผู้ชาย ทั้งใกล้ไกล มาให้พระหลานขวัญเลือก ทรงอธิษฐานจิตว่า ถ้าพระหลานขวัญ รับของจากผู้ใดจะรับผู้นั้น อภิเษก กับพระราชธิดา เป็นพระราชบุตรเขย และยก นครไตรตรึงษ์ให้ครอบครอง
บรรดา กษัตริย์ต่างเมือง ต่างถือ ของดีๆ มาถวายพระราชโอรส ๆไม่รับของ จากใครๆเลย  บรรดาผู้ชายทุกคนที่ปรารถนาจะเป็นราชบุตรเขย ต่างผิดหวังตามๆกัน เมื่อพระราชโอรส มิรับของจากผู้ใดเลย มาถึงตนสุดท้าย แสนปม ถือก้อนข้าวเย็นมาถวาย
พระราชโอรสทรงรับ และเสวยข้าวเย็นนั้น ทำให้พระเจ้าไตรตรึงษ์ ทรงยอม ตามที่พระองค์ อธิษฐานไว้ ด้วยความไม่เต็มพระทัย
(มีผู้แสดง ประกอบการบรรยาย)
แสนปม พานางอุษาและพระราชโอรส  มาอยู่เกาะแสนปม อย่างมีความสุข  เมื่อแสนปม ไปทอดแห ที่คลองขมิ้นหน้าเมือง ทอดเท่าไร ก็ไม่ได้ปลา ได้แต่ขมิ้น ได้ทิ้งขมิ้นไป เหลือติดใต้ท้องเรือ เมื่อกลับมากระท่อม ขมิ้นเหล่านั้นกลายเป็นทองคำ  แสนปมนำทองคำมาทำอู่ให้ลูกนอน  จึงเรียกชื่อลูกว่า อู่ทอง ตามเปลทองที่นอนนั้น ชาวเมืองขนานนามเด็กคนนี้ว่าอู่ทอง เช่นกัน
(ปิดไฟ)
กาลต่อมา อัมรินทราธิราช  ประสงค์ที่จะช่วย แสนปม และด้วยบุญาธิการของเจ้าอู่ทอง ที่จะได้เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ภายภาตหน้า จึงแปลงกลายเป็นวานร ถือฆ้อง ใบน้อยลงมาลงมา เมื่อแสนปมหักล้างถางพง วันใด เช้าขึ้น ต้นไม้ที่ถากถางวันวาน กลับตั้งตรง ดังเดิม หลายครั้ง หลายครา แสนปมจึงลอบดู จึงได้ทราบว่า เป็นลิงน้อย ตีฆ้อง ทำให้ต้นไม้ตั้งขึ้น จึงจับลิงไว้ และลิงได้มอบฆ้องวิเศษให้และบอก ว่า ประสงค์สิ่งใดให้อธิษฐานสิ่งนั้นและตีฆ้อง จะได้ตามที่ปรารถนา ทุกประการ
      แสนปม จึง อธิษฐานให้รูปงาม และเนรมิต มหานครขึ้น เรียกขานราชธานีนั้นว่า เทพนคร อยู่ฝั่งตะวันออก ตรงข้ามนครไตรตรึงษ์ และแสนปม สถาปนาตนเอง เป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่าท้าวแสนปม มีนางอุษาเป็นพระมเหสี ส่วนราชโอรส เมื่อขึ้นครองราชย์ ตามตำนานเล่าว่า ไปสถาปนากรุงศรีอยุธยา ขึ้นเป็นราชธานี  ทรงพระนามว่า พระเจ้าอู่ทอง  ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา............................(ยิงพลุ)
ตัวละคร
          ท้าวไตรตรึงษ์  มเหสี    นางอุษา    แสนปม   ๒ ตัว   พี่เลี้ยง ๔ คน    ทหาร ๔ คน เดิม   เจ้าเมืองต่างๆ  สิบคน
ลิง ประชาชน  ๑๐ คน
อุปกรณ์ เปลทอง ฆ้อง  และของที่ เข้าต่างเมืองถือมา มะเขือ ต้น ผลมะเขือ
                                                    จบองก์ที่  ๒
องก์ที่ ๓ พระพุทธเจ้าหลวง เสด็จประพาสต้นกำแพงเพชร  ( ๕ นาที)

ทรงเริ่มออกเดินทางตั้งแต่ วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๔๙  ออกจากพระราชวังสวนดุสิต ๒ ทุ่ม  ถึงตำหนักแพวังหน้า ๕ ทุ่ม ถึงวัดเขมา ๕ ทุ่มครึ่ง      ทรงรอนแรมทางเรือ ผ่านเมืองต่างๆ จนกระทั่งเข้าเขตเมืองกำแพงเพชร ในวันที่ ๑๘ เดือนสิงหาคม ๒๔๔๙ ความว่า.................
วันที่ ๑๘ เวลาเช้าโมง ๑ ขึ้นไปถ่ายรูปที่วัดอรุณราชศรัทธารามหลังที่จอดเรือแล้วเดินขึ้นไปเขานอ ระยะ ๘๗ เส้น ตอนนอกเป็นป่าไผ่ แล้วมีสพานข้ามบึงตื้น ๆ ไปขึ้นชายป่าแล้วกลับลงที่ลุ่ม เมื่อเวลาน้ำมาครั้งก่อนท่วม แต่เวลานี้เฉพาะถูกคราวน้ำลด หนทางยังเป็นโคลนเดินยาก จนถึงชานเขาจึงดอน ตามคำเล่ากันว่าเปนเขาซึ่งนางพันธุรัตน์ตามมาพบพระสังข์ มีมนต์มหาจินดาเขียนอยู่ที่แผ่นศิลา
   วันที่ ๑๙ วันนี้ตื่นสายไป แล้วพระวิเชียรพาคนผมแดงมาให้ดู อันลักษณะผมแดงนั้นเป็นผมม้าแดงอย่างอ่อนหรือเหลืองอย่างแก่ ผมที่แดงนี้มาข้างพันธุ์พ่อ ถ้าผู้หญิงไปได้ผัวผมดำ ลูกออกมาก็ผมดำไปด้วย ผมแดงนั้นเปลี่ยน ๓ อย่าง แรกแดงครั้นอายุมากเข้าก็ดำหม่นลง แก่ก็เลยขาวทีเดียว บอกพืชพันธุ์ว่าทราบว่าตัวมาแต่เวียงจันทน์แต่มาก่อนอนุเป็นขบถ จะได้ตั้งอยู่ช้านานเท่าไรไม่ทราบ พูดเป็นไทยประพฤติอาการกิริยาก็เป็นไทย เฉพาะมีมากอยู่ที่เมืองขาณุ
ออกเรือเวลา ๓ โมงตรง เกือบ ๕ โมงจึงได้ขึ้นเรือเหลืองทำกับข้าว แวะเข้าจอดที่ ๆ ประทับร้อนเพราะระยะสั้นแต่จืดไปไม่สนุก จึงได้ไปจอด หัวหาดแม่ลาด ซึ่งมีต้นไม้ร่ม กินเข้าและถ่ายรูปเล่นในที่นั้นแล้วเดินทางต่อมา หมายว่าจะข้ามระยะไปนอน คลองขลุง แต่เห็นเวลาเย็น ที่พลับพลาตำบลบางแขม นี้ทำดี ตั้งอยู่ที่หาดแลพลับพลาหันหน้าต้องลม จึงได้หยุดพอเวลาบ่าย ๔ โมงตรง อาบน้ำแล้วมีพวกชาวบ้านลงมาหาเล่าถึงเรื่องไปทัพเงี้ยว เวลาเย็นขึ้นไปเทียว บ้านบางแขมนี้ก็เป็นบ้านหมู่ใหญ่อยู่ฝั่งตะวันออก
วันที่ ๒๐ ออกเรือเกือบ ๓ โมงเช้า ๔ โมงครึ่งขึ้นเรือเหลือง ทำกับเข้ามาจนถึงที่ประทับร้อนไม่แวะ เลยขึ้นมาข้างเหนือแวะฝั่งตะวันออก ตลิ่งชันแลสูงมาก แต่ต้นไม้งาม    ปีนขึ้นไปกินเข้าบนบกสำหรับถ่ายรูป แล้วลงเรือมาถึงวังนางร้างเป็นที่พักแรม   บ่าย ๓ โมงเท่านั้น ครั้นจะเลยไปอื่นระยะก็ห่าง จึงลงเรือเล็กไปถ่ายรูปฝั่งน้ำข้างตะวันออก แล้วข้ามมาตะวันตกหมายจะเข้าไปถ่ายรูปบ้านวังนางร้าง
วันที่ ๒๑ ออกเวลาเช้า ๒ โมงเศษ ๔ โมงครึ่งขึ้นเรือเหลือง  ถึงปึกผักกูดที่ประทับร้อน ไม่ได้หยุดเพราะกับข้าวยังไม่แล้ว ระยะสั้นจึงเลยไปจนถึงเกาะธำรง ซึ่งจัดไว้เป็นที่แรมก็เพียงเที่ยง เห็นควรจะย่นทางได้ หยุดกินข้าวเเล้วออกเรือต่อมา หยุดที่พักร้อนบ้านขี้เหล็ก ถึงบ่าย ๔ โมงครึ่ง  ตั้งแต่พลับพลาวังนางร้างมาฝั่งตะวันตกมีบ้านเรือนมาก มีเรือจอดมาก มีหีบเสียงเล่นด้วย เพราะเป็นท่าสินค้า  ต่อขึ้นมาก็มีเรือนราย ๆ แต่ฝั่งตะวันออกเป็นป่า จนถึงบ้านโคน ซึ่งเดากันว่าจะเป็นเมืองเทพนคร แต่ไม่มีหลักฐานอันใด  บ้านเรือนดีมีวัดใหญ่เสาหงส์มากเกินปรกติอยู่ฝั่งตะวันออก มาจนถึงบ้านท่าขี้เหล็กอยู่ฝั่งตะวันตก พลับพลาตั้งฝั่งตะวันออก เมื่อคืนนี้ฝนตกเกือบตลอดรุ่ง วันนี้ก็โปรยปรายเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปมีเวลาแดดน้อย จนต้องกินข้าวที่พลับพลาประทับร้อน ตั้งแต่บ่าย ๔ โมงเศษฝนก็ตกมาจนเวลานี้ ๒ ทุ่มเกือบครึ่งทีก็จะตลอดรุ่ง ที่พักอยู่ข้างจะกันดาร ........................
                                             จบองก์ที่ ๓

องค์ที่ ๔ เตรียมการรับเสด็จ (ที่บ้านกำนันสอน) ( ๑๐นาที)
(ที่บ้าน นายบ้านวังพระธาตุ  แม่บ้าน และนายบ้าน นั่งอยู่ด้วยกัน)
แม่บ้าน  นี่พ่อกำนัน พ่อได้ข่าว พระเจ้าอยู่หัวเสด็จ  เข้าเขตกำแพงเพชร แล้วแล้วใช่ไหม พ่อ

พ่อกำนัน * ข้าได้ข่าว ตั้งแต่เสด็จเข้ากำแพงเพชร ตั้งแต่วันที่ ๑๘ สิงหาแล้ว เห็นกระบวนเรือของพระยาวิเชียรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชรของเรา ไปรับเสด็จที่ปากน้ำโพ และเห็นกระบวนหรือของพระยาสุจริตรักษาเจ้าเมืองตาก ตามไปรับเสด็จอีกขบวน แต่ข้าไม่ได้รับคำสั่งใดๆ จากท่านเจ้าเมืองเลย จึงไม่ได้ตัดสินใจ ว่าเราจะทำอย่างไรกัน แล้วก็ทำอะไรไม่ถูกแล้วด้วย ตื่นเต้น ตัวสั่นไปทั้งตัว ได้ข่าวว่าพระองค์จะเสด็จขึ้นวังพระธาตุบ้านเราด้วยนา แม่บุญนาค เราจะทำประการใดดี
แม่บ้าน * ฉันทราบข่าวจาก คนที่กลับจากปากน้ำโพว่า การเสด็จประพาสต้นครั้งนี้ พระองค์เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ ไม่ต้องการให้ใครไปต้อนรับ ทรงปลอมพระองค์มาเป็นสามัญชน กินอยู่อย่างเรียบง่าย ต้องการมาเยี่ยมพสกนิกรของพระองค์เท่านั้น ไม่ประสงค์ให้ใครเดือดร้อนแล้วพวกเราจะทำอย่างไรกันดีพ่อกำนัน
พ่อกำนัน *  เราจะเรียกประชุมชาวบ้านวังพระธาตุกันดีไหม หารือกันว่า เราจะทำฉันใดกันดี พระองค์เสด็จมาถึงบ้านเรา เราไม่รับเสด็จได้อย่างไร นับว่าเป็นมหากรุณาธิคุณสูงสุด แก่พวกเราชาววังพระธาตุ ตามธรรมเนียมไทย ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ นี่เป็นถึงช้างเหยียบนา   พระยาเหยียบเมืองเชียวนาแม่บุญนาค
แม่บ้าน * ฉันเห็นด้วยจ้า พระองค์ทรงโปรดราษฎร์ของพระองค์เช่นนี้ พวกเราต้องทำอะไรสักอย่างที่ตอบแทนพระคุณของพระองค์ ท่านพ่อกำนันคิดถูกต้องแล้ว
พ่อกำนัน  *( ตีเกราะเคาะไม้ เสียงดังสนั่นไปทั้งคุ้งน้ำ บ้านวังพระธาตุ ในตอนค่ำ ของวันที่ ๒๑ สิงหาคม ประชาชนทยอยกันมาอยู่ลานบ้านกำนัน ราวทุ่มเศษ มากันครบทุกบ้าน (หน้าลานบ้านท่านกำนัน)
กำนัน * (ยืนขึ้น ชาวบ้านนั่งยองๆ รอบๆ กำนันด้านหน้า แม่บ้าน ยืนอยู่ข้างกำนัน)
กำนัน*  พวกเราชาววังพระธาตุ คงรู้กันทั่วไปแล้วว่า พระเจ้าอยู่หัวพระปิยมหาราข เสด็จ บ้านเราในวันพรุ่งนี้ ตอนสายๆ เราจะทำอย่างไรกันดี ข้าเชิญทุกท่านมาเพื่อปรึกษา การสำคัญอันนี้
ทิดแดง * ท่านกำนัน เราควรมาต้อนรับพระองค์ท่านที่ท่าน้ำหน้าวัดวังพระธาตุ ของเราให้เต็มท่าน้ำ เต็มลานวัด เตรียมการต้อนรับพระองค์อย่างสมพระเกียรติ ที่พระองค์ทรงเมตตาชาวป่าชาวดงอย่างพวกเรา เหลือเกิน ข้าขอจะเตรียมกระบวนกลองยาวไว้รับเสด็จ ให้ดีที่สุดที่พวกเราเคยเล่นมามา
กำนัน* ดีมากเลยทิดแดง พระองค์คงเกษมสำราญมากๆ ที่เห็นประชาชนสามัคคีกัน และจงรักภักดีต่อสถาบัน พระมหากษัตริย์
อำแดงเอี่ยม*  ข้าจะถวายพระเครื่อง ที่วัดวังพระธาตุ แด่พระองค์ ได้ไหมกำนัน
อำแดงอิ่ม*  ข้าจะถวาย น้ำและหมากพลูแก่พระองค์ท่าน
แม่บ้าน* ดีมากเลยที่พวกเราช่วยกันและสามัคคีกัน ฉันได้ซ้อมระบำไว้หนึ่งชุดหนึ่งจะรำถวายพระองค์ หลังจากพระองค์ ประทับแล้ว
กำนัน * ยอดเยี่ยม เลยพี่น้อง ชาววังพระธาตุ พรุ่งนี้เราจะเห็นความสามัคคี ของพวกเราที่มีต่อ พระพุทธเจ้าหลวงของเรา ข้าขอบใจทุกคนมาก พรุ่งนี้ ย่ำรุ่ง เราไปพร้อมกันที่ท่าน้ำวัดวังพระธาตุ อย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อเตรียมการรับเสด็จมิให้บกพร่อง เอาละวันนี้เราแยกย้ายกันไปก่อน
ตัวละคร
 ๑ กำนันสอน
๒ ภรรยา แม่บุญนาค
๓ทิดแดง
๔อำแดงเอี่ยม
๕อำแดงอิ่ม
๖ ประชาชน ร่วมประชุม ราว ๓๐ คน

องค์ที่ ๕ พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จเข้านครไตรตรึงษ์   (  ๑๕นาที)
(คำบรรยาย) วันที่ ๒๒-สิงหา  เมื่อคืนฝนตกพร่ำเพรื่อ ไปยังรุ่ง แรกนอนไม่รู้สึกว่าจะเย็น ต่อหลับไปตื่นขึ้นจึงรู้สึกเย็นไปทั้งตัวท้องก็แข็งขลุกขลักอยู่เป็นนาน เอาสักหลาดขึงอุดหมด จึงนอนหลับ ตื่น สองโมงเช้าครึ่ง ออกเรือจวนสามโมง  มาจาก          ท่าขี้เหล็ก เลี้ยวเดียวก็ถึงวังพระธาตุ อยู่ฝั่งตะวันตก มีบ้านเรือนราย ตลอดขึ้นมาแต่อยู่ฟากตะวันตก ฟากตะวันออกเป็นปาตั้งแต่พ้นคลองขลุงขึ้นมา มีต้นสักชุม แต่เป็นไม้เล็กๆ ซึ่งเป็นเวลาหวงห้าม เดินเรือวันนี้ว่าไปในป่ากลางสูง ได้ยินเสียงนกร้องต่างๆ อย่างชมดงเพรียกมาตลอดทาง
“ที่วังพระธาตุ เป็นชื่อชาวเรือตั้ง วังไม่ได้แปลว่าบ้าน แปลว่าห้วงน้ำ พระธาตุนั้นคือพระธาตุที่ตั้งตรงวังนั้นจอดเรือที่พักเหนือวังพระธาตุนิดหนึ่ง แล้วเสด็จขึ้นที่ท่าน้ำวังพระธาตุ”
( คำบรรยาย ไฟจับไปที่เรือพระที่นั่งหางแมงป่อง ในเรือพระที่นั่ง มี ผู้ตามเสด็จ ในเรือหลายคน)
พระภิกษุ ยืน หน้ากำนันผู้ใหญ่บ้าน  ประชาชน นั่งเรียงราย ถวายของ ถวายการต้อนรับตามแนวรายทาง พระองค์ทรงเกษมสำราญ ทักทาย อาณาประชาราษฎร์ ทันใดวงกลองยาว ออกมาจากป่าริมทาง ขบวนใหญ่ ร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน เจ้าคนังเงาะป่าตามเสด็จ วิ่งออกจากขบวนเสด็จ เข้ารำกับประชาชนอย่างสนุกสนาน (ประมาณ ๕นาที)
แล้วทรงเสด็จไปชมเจดีย์วัดวังพระธาตุ  ........ความในพระราชนิพนธ์ว่า.......................
         “ พระธาตุนั้นมีฐานแท่นซ้อนสามชั้น  แล้วถึงชั้นคูหาบนเป็นรูปกลม ซึ่งกรมหลวงนริศ เรียกว่าทะนาน ถัดขึ้นไปถึงถึงบัลลังก์ ปล้องไฉน ๗ปล้องปลีแล้วปักฉัตร  องค์พระเจดีย์พังมาเสียซีกหนึ่ง มีรากระเบียงรอบวิหาร สี่ทิศ วิหารใหญ่ที่บูชาอยู่ทิศใต้  พระอุโบสถที่มีสีมาเป็นสำคัญ อยู่ที่ทิศตะวันออก เยื้องไม่ตรงกลาง เขาปลูกโรงหลังคามุงกระเบื้องในที่ใกล้พระเจดีย์ด้านตะวันออก มีพระพุทธรูปทั้งนั่งและยืนหลายองค์  พระพุทธรูปหน้าตาดีแปลกกว่าที่เคยเห็น เป็นช่างได้ทำและถ่ายรูปที่เหล่านี้ไว้ เวลานี้มีพระที่มาจากเมืองนนท์ เป็นรู้จักมาแต่ก่อน ขึ้นมาจำพรรษาที่นี่ คิดจะปฎิสังขรณ์ ปลูกกุฎิอยู่เยื้องหน้าพระธาตุห่างจากศาลาบุงกระเบื้อง เดิมซึ่งอยู่ข้างลำน้ำใต้ลงไป  ล้วนน่าชื่นชม”
นำเสด็จสู่เมืองโบราณ นครไตรตรึงษ์ เดินจากวังพระธาตุไปตามลำน้ำข้างเหนือ ทาง ๒๖ เส้น ถึงคูด้านใต้ของเมืองไตรตรึงษ์ คูนั้นใหญ่กว้างราว ๑๕ วา ลึกลงเสมอพื้นหาดแต่น้ำแห้ง ยื่นเข้าไปจนถึงเชิงเทิน หลังเมืองไปมีถนนข้ามเข้าเมืองอยู่กลางย่านด้านใต้ แต่ด้านเหนือไม่มีถนน มีแต่ลำคูมาบรรจบด้านใต้ กำหนดเชิงเทินยาวตามลำแม่น้ำ ๔๐ เส้น ยืนเข้าไปทางตะวันตกตะวันออก ๓๗ เส้นเห็นเป็นเมืองใหญ่โตอยู่ พื้นแผ่นดินเป็นแลงไปทั่วทั้งนั้น ในท้องคูก็เป็นแลง เข้าไปในเมืองหน่อยหนึ่งพบโคก เห็นจะเป็นวิหารเจดีย์พังตั้งอยู่เบื้องหลัง ถัดเข้าไปอีกหน่อยหนึ่ง เรียกว่าเจดีย์ ๗ ยอด จะเป็นด้วยผู้ที่มาตรวจตราค้นพบสามารถจะถางเข้าไปได้แต่ ๗ ยอด แต่ที่จริงคราวนี้เขาได้ถางดีกว่าที่ได้ถางมาแต่ก่อน จึงได้ไปพบว่ากว่า ๗ คือพระเจดีย์ใหญ่ขนาดพระมหาธาตุริมน้ำอยู่กลาง มีพระเจดีย์ราย ๓ ด้าน
(เสด็จกลับมาที่วิหารวัดวังพระธาตุ)
พระพุทธเจ้าหลวง มีดำรัส แก่ประชาชนชาวไตรตรึงษ์ ท่ามกลางประชาชนที่มาส่งเสด็จ  ว่า
“เมืองไตรตรึงษ์ เป็นเมืองใหญ่มาแต่อดีต สร้างได้อย่างทันสมัย ประชาชนมีจำนวนมาก ประชาชนฉลาดหลักแหลม มีน้ำใจ มีความจงรักภักดี ขอให้ดูแลบ้านเมืองของท่านไว้ให้ดี รักษาวัฒนธรรมประเพณี ไว้ให้มั่นคง สืบชั่วลูกหลานเหลนของพวกเราทุกคนวันที่ ๒๒ สิงหาคม ของทุกปีจะกลายเป็นวันประวัติศาสตร์ของชาวนครไตรตรึงษ์ตลอดไป  ขอให้ทุกคนมีความสุขความเจริญ เราจะออกเดินทางเข้าเมืองกำแพงเพชร ในค่ำวันนี้ มีโอกาสเราจะมาเยี่ยมชาววังพระธาตุ นครไตรตรึงษ์อีกครั้ง เราประทับใจในการต้อนรับของทุกท่านเป็นอย่างยิ่ง (ทรงโบกพระหัตถ์“  ประชาชนก้มกราบ)
เรือพระที่นั่งหางแมงป่อง ค่อยๆเคลื่อนไปจากท่าน้ำวัดวังพระธาตุ สายพระเนตรของพระพุทธเจ้าหลวง มองราษฎร์ของพระองค์ด้วยความเมตตา
ประชาชนทุกคนน้ำตาคลอเบ้า ไม่คิดเลยว่า วันหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดิน ที่รักยิ่งของประชาชนพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช พระพุทธเจ้าหลวงของปวงชน ทรงไม่หวาดกลัวไข้ป่าและโรคระบาด ที่ชุมมากในเมืองไตรตรึงษ์ พระบารมีนี้จะปกเกล้า เหล่าชาวนครไตรตรึงษ์ ไปตลอดกาลสมัย ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ...........
ตัวละคร
๑.   พระพุทธเจ้าหลวง อาจใช้ภาพ หรือคนแสดงที่เหมาะสม แต่งกายแบบสามัญชน
๒.   กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๓.   พระยาวิเชียรปราการ
๔.   พระยาสุจริตรักษา
๕.   นายคนัง เงาะป่า
๖.   กำนันสอน
๗.    ภรรยา แม่บ้านแม่บุญนาค
๘.   ทิดแดง
๙.   อำแดงเอี่ยม
๑๐ อำแดงอิ่ม
๑๐ ประชาชน ร่วมตามเสด็จ ราว ๓๐ คน
 ๑๑.พระภิกษุ เจ้าอาวาสวัดวังพระธาตุ
   ๑๒   ขบวนกลองยาว
๑๓  ชุดรำถวายหน้าพระที่นั่ง                     
จบด้วย จินตลีลา ชุด ปิยมหาราชา บารมี
(ตัวละครทุกตัว เข้าอยู่ในฉากนี้)
(เปิดเพลง ..............................ในฉากฟินาเร)

                                                                                      จบบริบูรณ์


บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!