จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
เมษายน 28, 2024, 06:17:35 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ภาษาและวรรณกรรมจังหวัดกำแพงเพชร  (อ่าน 3095 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1414


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: กรกฎาคม 04, 2023, 11:27:59 am »

ภาษาและวรรณกรรมจังหวัดกำแพงเพชร
    จังหวัดกำแพงเพชร มีเมืองโบราณสำคัญอยู่จำนวนมาก อาทิ เมืองไตรตรึงษ์ คณฑี เทพนคร นครชุม บางพาน โกสัมพี ดังนั้นกำแพงเพชรจึงมี ภาษาและวรรณกรรมที่หลากหลายที่ฉายให้เห็นถึงคงามเป็น อัตลักษณ์ ของกำแพงเพชรมากมาย
      ภาษา ตามรูปศัพท์หมายถึง คำพูดหรือถ้อยคำ ภาษาเป็นเครื่องมือของมนุษย์ที่ใช้ในการสื่อความหมายให้สามารถติดต่อสื่อสาร เข้าใจกันได้ โดยมีระเบียบของเสียงและเรื่องของคำเป็นเครื่องกำหนด รวมถึงภาษาถิ่นด้วย อาทิ ภาษาถิ่น พรานกระต่าย ภาษาถิ่นนครชุม
       วรรณกรรม หมายถึง งานเขียนที่แต่งขึ้นหรืองานศิลปะ ที่เป็นผลงานอันเกิดจากการคิด และจินตนาการ แล้วเรียบเรียง นำมาบอกเล่า บันทึก ขับร้อง หรือสื่อออกมาด้วยกลวิธีต่างๆ โดยทั่วไปแล้ว จะแบ่งวรรณกรรมเป็น ๒ ประเภท คือ วรรณกรรมลายลักษณ์ คือวรรณกรรมที่บันทึกเป็นตัวหนังสือ และวรรณกรรมมุขปาฐะ อันได้แก่วรรณกรรมที่เล่าด้วยปาก ไม่ได้จดบันทึก  อาทิ ตำนานท้าวแสนปม นวนิยายเรื่องทุ่งมหาราช จดหมายเหตุประพาสต้นพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จเมืองกำแพงเพชร รวมถึงเพลงพื้นบ้านกำแพงเพชร ค้นพบ
ด้วยเหตุนี้ ภาษาและวรรณกรรมจึงมีความหมายครอบคลุมกว้าง ถึงประวัติ นิทาน ตำนาน เรื่องเล่า ขำขัน เรื่องสั้น นวนิยาย บทเพลง คำคมตลอดจนภาษาถิ่น  เป็นต้น
ตำนาน นิทาน ในเมืองกำแพงเพชร
         ๑ ตำนานท้าวแสนปม
    ๒.ตำนานเขานางทอง
   ๓. ตำนานเมืองพลับพลา
   ๔.ตำนานบึงสาป
   ๕.ตำนานถ้ำกระต่ายทอง
                                         
 ตำนานท้าวแสนปม

นานมาแล้วมีชายผู้หนี่ง ถูกลอยแพมาติดที่เกาะขี้เหล็ก ซึ่งอยู่ใต้เมืองกำแพงเพชร ชายผู้นั้นมีรูปร่างน่าเกลียดมีปุ่มปมขึ้นเต็มตัว ชาวบ้านจึงเรียกเขาว่า แสนปม และเรียกเกาะขี้เหล็กว่า เกาะตาปม ตามชื่อแสนปม นายแสนปมทำไร่ ปลูกพริก ปลูกมะเขืออยู่ที่เกาะปมนี้ และมีมะเขือต้นหนึ่ง อยู่หน้ากระท่อมมีผลใหญ่มาก เพราะแสนปม   ปัสสวะรดทุกวัน
 
      วันหนึ่งพระราชธิดาของเจ้าเมืองไตรตรึงษ์นามว่าพระนางอุษา เสด็จประพาสที่เกาะปม ทอดพระเนตรเห็นผลมะเขือ ก็นึกอยากเสวย จึงรับสั่งให้นางสนมไปขอเจ้าของมะเขือ แสนปมจึงเก็บผลมะเขือ ที่อยู่หน้ากระท่อม ให้นางสนมไปถวาย หลังจากพระราชธิดาอุษาเสวยผลมะเขือไปไม่นานก็ทรงครรภ์ เจ้าเมืองไตรตรึงษ์ ทรงพิโรธมาก เพราะพระราชธิดาไม่สามารถบอกได้ว่าใครเป็นพ่อ นอกจากว่าเสวยผลมะเขือ ของแสนปมเท่านั้น
          ต่อมาพระราชธิดา ทรงมีพระประสูติกาล เป็นพระราชโอรส เจริญวัยน่ารัก รูปโฉมงดงาม  เจ้าเมืองไตรตรึงษ์ ผู้เป็นพระราชบิดา ต้องการหาพ่อให้กับพระราชนัดดา จึงรับสั่งให้เสนา อำมาตย์ ป่าวประกาศให้ผู้ชายทุกคน มาเสี่ยงทายเป็นพระบิดาของพระราชโอรส ว่า ถ้าผู้ใดเป็นบิดาขอให้โอรสคลานเข้าไปหา บรรดาผู้ชายทุกคน ไม่ว่าหนุ่มแก่ชรา ยาจก เข็ญใจ เศรษฐี รวมทั้ง เจ้าต่างเมือง ต่างพากันมาเสี่ยงทาย เป็นบิดาของพระราชโอรส แต่พระราชโอรสไม่ได้คลานไปหาใครเลย แม้จะใช้ของล่อใจอย่างไรก็ตาม
          เจ้าเมืองไตรตรึงษ์ทรงแปลกพระทัย จึงให้เสนาไปตามแสนปม ซึ่งยังไม่ได้มาเสี่ยงทายในครั้งนี้ ให้มาเข้าเฝ้า เพื่อลองเสี่ยงทายเป็นบิดา เพราะทั้งเมืองเหลือแสนปมเพียงคนเดียว
          แสนปมจึงต้องมาเข้าเฝ้า พร้อมทั้งถือก้อนข้าวเย็นมาหนึ่งก้อน เมื่อมาถึงจึงอธิษฐานว่าถ้าเป็นบุตรตนเองให้รับข้าวเย็น  แล้วยื่นก้อนข้าวเย็นให้ พระราชโอรสก็คลานเข้ามาหาและรับข้าวเย็นจากแสนปม เจ้าเมืองไตรตรึงษ์จึงจำยกพระราชธิดาอุษา ให้ แก่แสนปม และพิโรธเป็นอันมากและไล่ให้กลับไปอยู่ที่เกาะปม ทั้งนางอุษาและราชนัดดา
       วันหนึ่งท้าวแสนปมไปทอดแหที่คลองขมิ้น เพื่อหาเลี้ยงเมียและลูก  แต่ทอดแหครั้งใดก็ได้แต่ขมิ้นจนเต็มลำเรือ แสนปมจึงแปลกใจมาก เมื่อกลับไปบ้านขมิ้นกลับกลายเป็นทองคำ แสนปมจึงนำทองคำไปทำเปลอู่ ให้ลูกชาย และตั้งชื่อลูกว่าอู่ทอง
          ทุกวันแสนปมจะไปถางไร่ จนกระทั่งวันหนึ่งแสนปมไปถึงไร่ก็พบว่าต้นไม้ที่ถางไว้กลับขึ้นงดงามตามเดิม แสนปมจึงถากถางใหม่ แต่วันรุ่งขึ้นก็ปรากฏเหตุการณ์ เหมือนเดิม แสนปมจึงแอบดู ก็เห็นลิงตัวหนึ่งเดินตีกลอง ออกมาจากป่า ต้นไม้ก็กลับขึ้นงอกงามเหมือนเดิม
   แสนปมจับลิงแปลง ได้ และลิงมอบกลองวิเศษให้บอกว่าเป็นกลองวิเศษเมื่อตีแล้วจะขออะไรก็ได้  แสนปม จึงตีขอให้มีรูปงาม แล้วกลับมาที่บ้านของตน ในสภาพของชายรูปงาม
    เมื่อกลับมาถึงบ้าน พระราชธิดาไม่เชื่อว่าเป็นแสนปม แสนปมจึงเล่าเรื่องให้ฟัง และทดลองตีกลองให้ดู กลับเป็นแสนปมตามเดิม พระราชธิดาจึงเชื่อ และตีกลองให้เป็นชายรูปงามอีกครั้ง   จากนั้นท้าวแสนปม จึงตีกลองเพื่อเนรมิต เมืองใหม่ ให้ชื่อว่าเมืองกรุงเทพนคร  อยู่ฝั่งตรงข้ามเมืองไตรตรึงษ์  และตั้งตัวเป็นเจ้าเมือง ผู้คนจึงเรียกขานว่าท้าวแสนปม  เมื่อท้าวแสนปม สิ้นพระชนม์  พระราชโอรส คือ เจ้าชายอู่ทอง ได้ขึ้นครองราชสมบัติ ในเมืองเทพนคร ต่อจากพระราชบิดา ทรงพระนามว่า พระเจ้าอู่ทอง ต่อมาเมืองเทพนคร เกิดโรคระบาด และประกอบกับตลิ่งพังทลายตกน้ำ เนื่องจากน้ำกัดเซาะ พระเจ้าอู่ทอง จึงอพยพผู้คนมาสร้างเมืองใหม่ นามว่า กรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา  เป็นพระนครหลวงพระนครศรีอยุธยาสืบมา ถึง ๔๑๗ ปี มีพระมหากษัตริย์สืบต่อมาถึง ๓๖ พระองค์
                 นิทานเรื่องท้าวแสนปม เป็นตำนานและเรื่องราวของ กำเนิดพระเจ้าอู่ทองปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา มีเรื่องเล่าที่สืบทอด มาตั้งแต่สมัยโบราณ ที่ตำบลไตรตรึงษ์ มีหลักฐานชัดเจน ตามเรื่องเล่า เช่นศาลท้าวแสนปม ที่มีผู้คนมากราบไหว้ต่อเนื่อง มานานแสนนาน มีเกาะตาปม มีมะเขือพร้าว(มะเขือใหญ่ที่สามารถเขียนเพลงยาวได้) มีเมือง  เทพนคร เมืองนครไตรตรึงษ์ เป็นหลักฐานสำคัญ ทำให้เชื่อมั่นว่า นิทานท้าวแสนปม เกิดขึ้นที่ เมืองไตรตรึงษ์และเมืองเทพนครอย่างแน่นอน
                                                                 
                                           ตำนาน เขานางทอง
     ความรักอมตะของพระร่วงเจ้า กับนางทอง เป็นเรื่องที่เล่าขาน กันอย่างแพร่หลาย มีหลายตำนาน แต่ก็มีเนื้อหาที่คล้ายกัน แตกต่างกันไม่มากนัก ตำนานหนึ่งว่า
นางทองเป็นผู้หญิงสาวชาวบ้านเมืองบางพาน (บางตำนานว่าเป็นราชธิดาแห่งเมืองบางพาน) มีรูปโฉมที่งดงามมาก พญานาคราชหลงรักนาง จึงกลืนเข้าไปในท้องเพื่อนำไปเป็นชายา ในเมืองบาดาล พระร่วงเจ้าแห่งอาณาจักรสุโขทัยได้พบเห็นจึงได้เข้าช่วยโดยใช้อิทธิฤทธิ์ของตน ล้วงนางทองออกมาจากท้องของพญานาค เนื่องจากนางทองเป็นคนที่มีสิริโฉมงดงามจึงเป็นที่สบพระทัยของพระร่วง ต่อมาจึงได้อภิเษกเป็นพระมเหสี สร้างตำหนักให้พักอาศัยบนเขานางทอง และยังได้นางคำ(นางพัน)หญิงชาวบ้านอีกคนหนึ่งเป็นพระสนมเอก สร้างตำหนักให้พักอาศัย บนเขานางคำ (นางพันก็เรียก)
 อยู่มาวันหนึ่งพระร่วงได้เสด็จกลับ กรุงสุโขทัย พระมเหสีทองซึ่งเป็นคนที่มีความมานะอดทนขยันหมั่นเพียรในการทอผ้าด้วยกี่ทอผ้า ได้ไปซักผ้าอ้อมที่สระน้ำซึ่งพระร่วงได้สร้างพระตำหนักแพหน้าพระราชวังในคลองใหญ่ไว้เป็นที่พักผ่อนพระอิริยาบถและซักผ้า ในวันนั้นขณะที่ซักผ้าอ้อมเสร็จและจะนำไปตาก (บริเวณที่ตากผ้าอ้อมนั้น ไม่มีต้นไม้ขึ้นเลย จะโล่งเตียนไปหมด เพราะ พระร่วงสาปไว้สำหรับตากผ้าอ้อม) ระหว่างที่ตากผ้าอ้อมพระมเหสีทองก็กลัวว่าผ้าอ้อมจะไม่แห้งจึงทรงอุทานขึ้นเป็นทำนองบทเพลงเก่าว่า "ตะวันเอยอย่ารีบจร นกเอยอย่ารีบนอน หักไม้ค้ำตะวันไว้ก่อน กลัวผ้าอ้อมเนื้ออ่อนจะไม่แห้ง”  ปรากฏว่าตะวัน หรือดวงอาทิตย์ไม่ยอมเคลื่อน จนกระทั่งผ้าอ้อมแห้ง จึงได้โคจรต่อไป
 ที่ คลองใหญ่หน้าพระราชวังเมืองบางพานนั้น มีจระเข้ขนาดใหญ่อาศัยอยู่  จรเข้ยักษ์ หลงรักนางทองมาก ขณะนางทองอาบน้ำจึงขึ้นมาคาบพระมเหสีทองไป เพื่อเอาไปเป็นชายา แต่ขณะนั้นเป็นเวลาที่พระร่วงกลับจากสุโขทัยพอดี พอกลับมาพระร่วงไม่เห็นนางทองจึงถามพวกนก พวกกวาง ว่าพระมเหสีทองหายไปไหน พวกสัตว์ต่างๆ ก็บอกว่าพระมเหสีทองได้ถูกจระเข้คาบไปแล้ว พระร่วงได้ยินดังนั้นก็รีบตามไปทันที พระร่วงเดินทางไปทางไหนต้องการให้เป็นทางเดินก็ปรากฏเป็นทางเดิน ทางเกวียนตลอดทาง พระร่วงได้เดินทางผ่านนาป่าแดง คลองวัว และได้ขอน้ำกินแถวๆ หมู่บ้าน (หมู่บ้านนาป่าแดงปัจจุบัน) พระร่วงพูดว่า "ข้าหิวน้ำจังเลย ขอน้ำกินหน่อยได้ไหม" คนในหมู่บ้านไม่ให้กินจึงพูดว่า "น้ำข้าไม่มี" พระร่วงเป็นคนที่วาจาศักดิ์สิทธิ์  พระร่วงจึงพูดว่า "เออ อย่างนั้นพวกมึงก็ไม่ต้องมีน้ำกินตลอดไป" จนป่านนี้นาป่าแดงจึงไม่ค่อยมีน้ำกินน้ำใช้กัน ตามความเชื่อของคนในปัจจุบัน
           พระร่วงได้ตามจระเข้ที่คาบพระมเหสีทองทันที่คลองทองแดง บริเวณจระเข้ปูน ในปัจจุบัน จระเข้ยักษ์เห็นจวนตัวจระเข้จึงกลืนนางทองลงในท้อง  พระร่วงจึงสาปจระเข้ให้เป็นหินอยู่ตรงนั้นมาถึงทุกวันนี้ ประชาชนเรียกขานบ้านนี้ว่า บ้านจระเข้ปูน
                                     
                                                                 ตำนานเมืองพลับพลา

…..บริเวณริมถนนพระร่วง…ถัดจากจระเข้ปูนมาเล็กน้อย..ชาวบ้านแถบนั้นทำไร่มันสำปะหลัง แต่มีบริเวณหนึ่งประมาณ ๓ ไร่เศษ ชาวไร่ เล่าว่า ไม่สามารถนำรถไถไปไถได้ เพราะเครื่องจะดับ…. เมื่อเรา..เข้าไปใกล้ พบบ่อน้ำโบราณจำนวนมาก ที่ก่อด้วยศิลาแลง วางผังของบ่อน้ำไว้ เป็นแนวสี่เหลี่ยม มีบ่อน้ำทำมุมกับวัดเก่า ซึ่งไม่มีชื่อ อยู่กลาง มีลักษณะเป็นวัดร้าง ที่ถูกขุดทำลายโดยสิ้นเชิง เจดีย์หรือเฉพาะฐาน วิหาร…โบสถ์ ถูกขุดอย่างยับเยิน….. แต่แนวกำแพงแก้วยังเห็นได้ชัด เมืองที่เราเห็นนี้ ห่างจากริมถนนพระร่วง…เพียงเล็กน้อย คุณสรพงศ์ พรหมาตร์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองปลิง….ได้ค้นพบเมืองโบราณริมถนนพระร่วง โดยเฉพาะ คุณสมเด็จ สนจุ้ย สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองปลิง …ผู้บุกเบิกที่บริเวณนี้ทำไร่มากว่า ๓๐ ปี
……….จากหนังสือเที่ยวเมืองพระร่วง….ของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๕๐พระองค์ เสด็จมาที่เมืองกำแพงเพชร บันทึกถึงบริเวณ นี้ว่า …
………ที่ริมที่พักร้อน มีที่อันหนึ่งเรียกว่าเมืองพลับพลา …..ราษฎรแถบนี้เล่าเรื่องว่า ในกาลครั้งหนึ่งมีผู้เดินทางไปตามถนนพระร่วง พบตาผ้าขาว ….อยากเข้าเฝ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช เมืองกำแพงเพชร มีข่าวจะกราบทูล ตาผ้าขาวบอกว่าให้สร้างเทวรูป พระเป็นเจ้าทั้งสาม คือพระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ….ไว้….จากจารึกฐานพระอิศวร ย่อมปรากฏหลักฐานชัดเจน…


                                                                      ตำนานบึงสาป
บ่อน้ำพุร้อนพระร่วง หรือ บึงสาป มีลักษณะเป็นลุ่มน้ำขัง มีป่าโปร่งล้อมรอบสลับด้วยเนินเตี้ยๆ พื้นดินบางแห่งมีหินโผล่ขึ้นเป็นกลุ่มน้อยใหญ่สลับกันไป ตำนานเล่าว่าครั้งสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จประพาสป่าล่าสัตว์มาถึงบริเวณบ้านลานหิน และเสด็จฯไปประทับที่บริเวณนั้น
 
            วันหนึ่งพระองค์ทรงเห็นไก่ป่าตัวหนึ่งมีลักษณะสวยงาม และมีเสียงขันไพเราะมาก จึงทรงให้นายพรานที่ตามเสด็จฯ ต่อไก่ป่าตัวนั้นและได้ไก่ป่าสมพระราชประสงค์ โดยมีไก่ป่าตัวอื่น ๆ ติดไปด้วยเป็นจำนวนมาก ในวันนั้นพระองค์และนายพรานล่าสัตว์อื่นไม่ได้เลย จึงทรงให้ทหารนำไก่ป่าตัวอื่น ๆ ไปปรุงอาหารสำหรับเสวย แต่เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นป่า ไม่มีบ้านเรือนราษฎร จึงไม่มีไฟใช้ทำอาหาร พระองค์จึงทรงสาปน้ำที่อยู่ในบึงบริเวณใกล้ ๆ ให้เป็นน้ำร้อน บึงดังกล่าวจึงเรียกว่า บึงพระร่วงสาป ต่อมาภายหลังเรียกสั้นลงว่า บึงสาป และเป็นที่โจษจันกันว่าน้ำในบึงสาปนี้สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บ เช่น โรคปวดตามร่างกาย โรคผิวหนังได้ จึงมีประชาชนในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียงพากันไปอาบ ดื่ม กิน และบางรายนำน้ำกลับไปเพื่อเป็นสิริมงคล
            บ่อน้ำพุร้อนพระร่วง หรือบึงสาปแห่งนี้ เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดกำแพงเพชรนำน้ำจากบึงนี้ไปประกอบพิธีสำคัญของบ้านเมืองตลอดมาเช่นในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เนื่องจากบ่อน้ำพุร้อนพระร่วง เป็นน้ำที่เกิดจาก แร่ธาตุและความร้อนภายในโลก ทำให้น้ำพุร้อนผุดขึ้นมาตลอดเวลา ซึ่งตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ น้ำแร่ธาตุนี้สามารถรักษาโรคได้หลายชนิด โดยเฉพาะโรคผิวหนัง บ่อน้ำพุร้อนพระร่วง อยู่ที่หมู่ ๓ ตำบลลานดอกไม้ อำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชร ห่างจากตัวเมือง ๑๓ กิโลเมตร บนทางหลวง ๑๐๑ สายกำแพงเพชร พรานกระต่าย แยกทางซ้ายไปประมาณ ๑๒ กิโลเมตร เป็นน้ำพุร้อนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จำนวน ๕ จุด อุณหภูมิประมาณ ๔๐-๖๕ องศาเซลเซียส จากการตรวจสอบของกระทรวงสาธารณสุขปรากฏว่าไม่มีสารปนเปื้อนและเชื้อโรคอันตรายเกินมาตรฐาน
            องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร ได้พัฒนาบึงสาปให้เป็นบ่อน้ำพุร้อนพระร่วง ที่สามารถรับนักท่องเที่ยวได้จำนวนมาก โดยจัดทำให้สถานที่รื่นรมย์มากขึ้น มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ให้ประชาชนที่มาใช้บริการ เมื่อเข้าไปจะพบกับบ่อน้ำร้อนและบ่อน้ำเย็นที่ปรับภูมิทัศน์จนงดงาม บ่อน้ำอุ่นแช่เท้า น่าสนใจมาก ทำให้สบายมากขึ้น มีประชาชนมาใช้บริการมากมาย น้ำกำลังอุ่นพอดี..... สถานที่อาบน้ำอุ่นราคาย่อมเยาเป็นส่วนตัว ช่วยบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ ให้หายได้อย่างทันตาเห็น จากคำบอกเล่าของท่านผู้มาใช้บริการ นอกจากบริการของบ่อน้ำร้อนแล้ว ยังมีบริการนวดแผนโบราณ ที่ประทับใจยิ่ง
            บ่อน้ำพุร้อนพระร่วง เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่น่าสนใจมากแห่งหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร ถ้าท่านว่างจากภารกิจ อยากจะพักผ่อนให้คลายจากความเครียดโปรดมาใช้บริการ จากบ่อน้ำพุร้อนพระร่วงแล้วท่านจะประทับใจกลับไปอย่างมีความสุข

ตำนานถ้ำกระต่ายทอง
      พรานกระต่ายเป็นชื่ออำเภอหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร  เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ภาคเหนือของจังหวัด  มีฐานะเป็นอำเภอมาตั้งแต่สมัยรัชการที่  ๙  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โดยได้รับจัดตั้งขึ้นเป็นอำเภอเมื่อปี ๒๔๓๘  เป็นส่วนหนึ่งในการปกครองของจังหวัดกำแพงเพชรมีมณฑลนครเป็นหน่วยปกครองส่วนภูมิภาคอีกชั้นหนึ่ง  ชื่ออำเภอพรานกระต่าย  มีประวัติความเป็นมาเป็นตำนานเล่าขนานกันมาหลายชั่วคนดังนี้
 
      ประมาณปี พ.ศ. ๑๔๒๐ พรานกระต่ายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองพานมีมหาพุทธสาครเป็นกษัตริย์  ตัวเมืองตั้งอยู่ห่างจากอำเภอปัจจุบันทางทิศใต้ประมาณ  ๑๕  กิโลเมตร  เมืองพานนั้นเจริญรุ่งเรืองมา  เพราะตั้งอยู่ในในที่ราบลำน้ำใหญ่ไหลผ่านจากกำแพงเพชรไปสู่ที่จังหวัดสุโขทัย  จึงเป็นเส้นทางคมนาคมเมืองใหญ่และเป็นแหล่งนี้อันอุดมสมบูรณ์  บ้านเรือนเรียงขนานแน่นสองฝั่งคลอง  ปัจจุบันมีเมืองเก่าแก่ทรุดโทรมอยู่ในป่ารกเป็นคันเมือง  คูเมือง (วัดเก่าหลายแห่ง)  หมู่บ้านในอดีตยังเป็นหมู่บ้านในปัจจุบันอยู่บ้าง  เช่น  วัดโคก  บ้านวังไม้พาน  และบ้านจำปีจำปา  เป็นต้น  สัญลักษณ์แห่งความเจริญสูงสุดก็คือการสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองสัมฤทธิ์ไว้ที่วัดนางทองบนเขานางทองใกล้เมืองพาน ชื่อนางทอง  เป็นชื่อของพระมเหสีพระร่วง  มีถนนจากสุโขทัยผ่านอำเภอพรานกระต่ายไปถึงจังหวัดกำแพงเพชร  เรียกว่า  ถนนพระร่วง
      กล่าวกันว่าในปี พ.ศ. ๑๘๐๐ เศษ  พระร่วงครองสุโขทัย  ทรงมีนโยบายที่จะขยายอาณาเขตให้กว้างขวางและมั่นคง  จึงดำริที่จะสร้างเมืองหน้าด่านขึ้นทุกทิศซึ่งได้รับสั่งให้นายพรานผู้ชำนาญเดินป่าออกสำรวจเส้นทางและชัยภูมิที่มีลักษณะดี  กลุ่มนายพรานจึงได้กระจายกันออกสำรวจเส้นทางต่าง ๆ จนกระทั่งมาถึงบริเวณแห่งนี้ได้พบกระต่ายป่าขนสีเหลืองเปล่งปลั่งด้วยทองสวยงามมาก  นายพรานจึงกราบถวายบังคมทูลขอราชอนุญาตจากพระร่วงเจ้าไปติดตามจับกระต่ายขนสีทองตัวนี้มาถวายเป็นราชบรรณาการถวายแด่พระมเหสีพระร่วง  นายพรานจึงกลับไปติดตามกระต่ายป่าตัวสำคัญ ณ บริเวณที่เดิมที่พบกระต่ายได้ใช้ความพยายามดักจับหลายครั้ง  แต่กระต่ายตัวนั้นก็สามารถหลบหนีไปได้ทุกครั้ง  นายพรานมีความมุมานะที่จะจับให้ได้จึงไปชักชวนเพื่อนฝูงนายพรานด้วยกันมาช่วยกันจับแต่ยังไม่ได้จึงอพยพลูกหลานพี่น้อง  และกลุ่มเพื่อนฝูงต่าง ๆ มาสร้างบ้านถาวรขึ้นเพื่อผลที่จะจับกระต่ายขนสีทองให้ได้  กระต่ายก็หลบหนีเข้าไปในถ้ำ  ซึ่งหน้าถ้ำมีขนาดเล็กนายพรานเข้าไปไม่ได้แม้พยายามหาทางเข้าเท่าไรก็ไม่พบจึงได้ตั้งหมู่บ้านขึ้นหน้าถ้ำเพื่อเฝ้าคอยจับกระต่ายขนสีทอง  ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา  ซึ่งต่อมาหมู่บ้านได้ขยายตัวเป็นชุมชนขนาดใหญ่จึงได้เรียกชุมชนนั้นว่า บ้านพรานกระต่าย  และเป็นชื่ออำเภอในเวลาต่อมา
      ในปัจจุบันถ้ำที่กระต่ายขนสีทองหนีเข้าไปซึ่งชาวบ้านเรียกว่าถ้ำกระต่ายทอง  ได้รับการบูรณะใหม่เพื่อทำให้เป็นสัญลักษณ์ประจำท้องถิ่นและประชาชนก็เห็นความสำคัญของสถานที่นี้จึงได้ช่วยกันดูแลรักษาตกแต่งบริเวณให้สะอาดเพื่อเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญสำหรับหมู่บ้านสมกับเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญอำเภอพรานกระต่ายที่ว่า
            เอกลักษณ์ภาษาถิ่น        หินอ่อนเมืองพาน
            ตำนานกระต่ายทอง      เห็นโคนดองรสดี

วรรณกรรมจังหวัดกำแพงเพชร
                                  ๑.นวนิยายเรื่องทุ่งมหาราช
การบันทึกเหตุการณ์ประจำยุคสมัย ประวัติของบ้านเมือง และตำบลถิ่นเกิดของตนเอง เพื่อถ่ายทอดให้อนุชนรุ่นหลังได้รับทราบ ถือเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่สำคัญยิ่ง เฉกเช่น  ครูมาลัย  ชูพินิจ ได้ประพันธ์นวนิยายเรื่อง “ทุ่งมหาราช” เพื่อบันทึกเหตุการณ์ภาพชีวิตของผู้คนในตำบลคลองสวนหมากเมื่อครั้งอดีต ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นตำบลนครชุม นวนิยายเรื่องนี้จึงมีคุณค่าเป็นอย่างยิ่งสำหรับชาวนครชุม ชาวกำแพงเพชร และคนไทยผู้รักการอ่านทุกคน
ครูมาลัย  ชูพินิจ  เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๔๔๙ เป็นบุตรนายสอน นางระเบียบ  ชูพินิจ พ่อค้าไม้และกำนันตำบลคลองสวนหมาก ผู้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของชาวกำแพงเพชรโดยกำเนิดและเป็นนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ผู้มีอัจฉริยะภาพในวงการประพันธ์และหนังสือพิมพ์ ท่านได้สร้างสรรค์ผลงานเอาไว้ในโลกแห่งบรรณพิภพอันเป็นอมตะ  ทั้งผลงานใน
 

วงการหนังสือพิมพ์และวงการประพันธ์ มีทั้งนวนิยาย  เรื่องสั้น  บทความ บทนำ เรื่องแปล ฯลฯ อย่างหลากหลาย จนได้รับการยอมรับจากนักประพันธ์และนักอ่านยกย่องให้ มาลัย  ชูพินิจ เป็นครู ผู้ให้ความรู้ ความคิดอิสระ และบันเทิงใจแก่ทุกคน
บทประพันธ์อันเป็นที่ประทับใจของนักอ่านมาทุกยุคทุกสมัยคือนวนิยาย “ทุ่งมหาราช” ซึ่งครูมาลัย  ชูพินิจ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ สภาพชีวิตความเป็นอยู่ในท้องถิ่นจังหวัดกำแพงเพชรเอาไว้อย่างละเอียดลึกซึ้ง ถือเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่าและเป็นอมตะตลอดมา จนได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา  และยังเป็นผลงานที่ถูกจัดให้อยู่ในหนังสือดี ๑๐๐ เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน
   “ทุ่งมหาราช”  เป็นนวนิยายที่แต่งขึ้นมาจากความทรงจำรำลึก เพื่อสะท้อนภาพแห่งอดีตอันประทับใจและสำนึกในบุญคุณของแผ่นดินถิ่นเกิดของครูมาลัย  ชูพินิจ นักเขียนปากกาทอง ฝีมือชั้นครู ซึ่งได้บันทึกภาพเหตุการณ์บ้านเมือง และหมู่บ้านคลองสวนหมากตั้งแต่ครั้งยังมีบ้านเรือนไม่กี่หลังจนกลายมาเป็นชุมชนและตำบลนครชุมเอาไว้ด้วยภาษาอันงดงาม ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพของบ้านเมืองในอดีตเมื่อร้อยปีที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจนและท้าทายให้เข้าไปศึกษา ค้นหาร่องรอยความนัยแห่งประวัติศาสตร์ตามที่ถูกบันทึกเอาไว้ในเนื้อเรื่อง
เรื่องย่อ “ทุ่งมหาราช”
   รื่น ลูกทิดรุ่ง เป็นคนวังแขม อาชีพเดิมเป็นพ่อค้าเรือเร่ มาพบรักกับ สุดใจ หลานป้าแคล้ว สาวงามชาวคลองสวนหมากในวงรำแม่ศรีช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ลานวัดพระบรมธาตุ โดยมีจำปาเพื่อนสาวลูกพี่ลูกน้องของสุดใจเป็นแม่สื่อแม่ชัก ด้วยความรักอันบริสุทธิ์ที่มีต่อสุดใจและความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินคลองสวนหมาก รื่นจึงขอแต่งงานกับสุดใจและร่วมกันสร้างชีวิต สร้างครอบครัวและชุมชนคลองสวนหมากให้เจริญเติบโตในผืนดินที่เหมาะสำหรับจะอยู่กินและยึดเป็นเรือนตาย
   ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้รื่นจึงหันมาเริ่มต้นเป็นพ่อค้าไม้ ล่องแพซุงด้วยทุนของตัวเองแข่งกับพ่อค้าไม้รายใหญ่อย่างนายเสถียรและละเมียดสองสามีภรรยานายทุนผู้มาจากแดนไกล ในบางครั้งธุรกิจการค้าไม้ของรื่นต้องประสบกับปัญหานานาประการ โดยนายเสถียรได้ทุ่มเงินซื้อไม้ตัดหน้าจากชาวบ้านโดยให้ราคาดีกว่ารื่นหลายเท่า แต่ด้วยความเป็นคนมีน้ำใจและจริงใจกับทุกคนตลอดสองฝั่งปิง รื่นจึงได้รับการช่วยเหลือและผ่านเหตุร้ายในชีวิตมาได้
   ชีวิตของรื่นต้องเข้าไปพัวพันกับละเมียดโดยเข้าไปช่วยละเมียดซึ่งถูกโจรปล้นที่ลานดอกไม้ ทำให้ละเมียดประทับใจในน้ำใจไมตรีของรื่น ต่อมาทั้งสองมีโอกาสร่วมเดินทางมาเรือกำปั่นท้องแบนระหัดข้างจักรท้ายลำแรกของบริษัทป่าไม้ฝรั่งที่เข้ามาทดลองวิ่งเป็นครั้งแรกจากปากน้ำโพถึงจังหวัดตาก แต่เรือประสบอุบัติเหตุล่มลงก่อนถึงขาณุ ทำให้รื่นและละเมียดต้องไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันสองต่อสองบนเกาะกลางลำน้ำปิง
   นอกจากจะต้องต่อสู้กับนายทุนที่หวังจะฮุบกิจการการทำไม้แล้ว ชีวิตของรื่นและสุดใจยังต้องประสบกับเคราะห์หามยามร้ายเมื่อครอบครัวต้องเสียบุตรชายคนโตและชาวบ้านไปกับโรคฝีดาษซึ่งระบาดคร่าชีวิตชาวบ้านคลองสวนหมากไปเกือบหมดหมู่บ้าน รื่นจึงต้องแสดงถึงความเป็นผู้นำที่เด็ดขาดด้วยการให้ชาวบ้านเผาบ้านทิ้งแล้วอพยพไปทำนาที่วังกระทะ
   เจ้าเมืองกำแพงเพชรทราบข่าวจึงพาคณะมาเยี่ยมเยียนรื่นและชาวบ้านและบอกข่าวสำคัญว่าทางการกำลังจะยกฐานะของคลองสวนหมากให้เป็นตำบล จึงอยากให้รื่นเป็นผู้นำชาวบ้านกลับเข้าไปสร้างบ้านเรือนเพื่อฟื้นชีวิตของชุมชนคลองสวนหมากให้กลับคืนมา และเพื่อเตรียมการรับเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่จะเสด็จกำแพงเพชรและคลองสวนหมาก ซึ่งการเสด็จประพาสต้นในครั้งนั้นคือมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ที่ชุบชีวิตของรื่นและชาวคลองสวนหมากที่กำลังจะดับมิดับแหล่ ให้ลุกโชนสว่างสดใส ทำให้ทุกคนมีกำลังใจในการสร้างคลองสวนหมากให้เป็นตำบลโดยมีรื่นเป็นกำนัน
   เมื่อเหตุร้ายผ่านพ้นไป รื่นเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการค้าไม้ที่รุ่งเรืองอีกครั้ง การกลับมาทำการค้าไม้ในครั้งนี้ของรื่นทำให้ได้รู้จักพะโป้ผู้ยิ่งใหญ่ในวงการค้าไม้ และได้พบกับละเมียดซึ่งได้รับเลือกให้เป็นผู้จัดการบริษัทแทนนายเสถียรโดยมีหลวงราชบริพารนายอำเภอเป็นผู้หนุนหลังให้เข้ามาเป็นเจ้าของสัมปทานป่าไม้ที่โป่งน้ำร้อน
รื่นต้องต่อสู้กับปัญหาสัมปทานป่าไม้ที่โป่งน้ำร้อน สู้เพื่อสิทธิ์อันเป็นประเพณีของชาวบ้านที่ทำมาหากินกับป่าโป่งน้ำร้อนและคลองสวนหมากมาอย่างอิสระตลอดชีวิต ผลจากการต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวของรื่นโดยไม่มีฝ่ายใดต้องสูญเสียชีวิตทำให้พะโป้ บริษัทของละเมียดและผู้ว่าราชการจังหวัด ยินยอมให้ป่าโป่งน้ำร้อนเป็นป่าสาธารณะสำหรับชาวคลองสวนหมากที่เต็มไปด้วยป่าไม้ ข้าว ไต้ น้ำมันยาง สีเสียด ยาสูบ และหนังสัตว์ สำหรับใช้ทำมาหากินตามวิถีชีวิตที่อิงแอบอยู่กับธรรมชาติอย่างอุดมสมบูรณ์ไปตลอดชีวิต
ย้อนยลความนัยแห่งประวัติศาสตร์   
   แม้ “ทุ่งมหาราช”  จะมิใช่บันทึกประวัติศาสตร์แต่ก็มีความนัยทางประวัติศาสตร์  ซึ่งครูมาลัย  ชูพินิจ ได้บันทึกเหตุการณ์เอาไว้อย่างแยบยล และเป็นจริงตามเรื่องราวของประวัติศาสตร์อย่างไม่มีผิดเพี้ยนแต่อย่างใด
หากสืบเสาะ ค้นคว้าเรื่องราวแห่งประวัติศาสตร์ตามฉาก ตามภาพเหตุการณ์ และบุคคลที่ปรากฏอยู่ในเรื่อง “ทุ่งมหาราช”  จะทำให้พบข้อเท็จจริงแห่งประวัติศาสตร์ของเมืองกำแพงเพชรอย่างมากมาย ดังตัวอย่างจากเนื้อเรื่องบางตอน
สภาพของชุมชนคลองสวนหมากเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๔๓ ซึ่งครูมาลัย  ชูพินิจ ได้บรรยายเอาไว้ว่า
“ เมื่อ ๖๐ ปีก่อน นครชุมยังเป็นคลองสวนหมาก พร้อมด้วยเหย้าเรือนฝาขัดแตะและมุงแฝกไม่กี่สิบหลังคาเรือน และบ้านไร่เพิ่งมีพวกเวียงจันทน์อพยพมาอยู่ไม่กี่ครอบครัว ป่ามะพร้าวยังโหรงเหรง เนินกำแพงเมืองเก่าชั้นนอกยังไม่ถูกทำลายลงมาถมถนน และดงเศรษฐี ยังทิ้งซากของนครร้างเอาไว้เป็นอนุสรณ์แก่คนรุ่นหลัง..” ( ทุ่งมหาราช หน้า ๓ )
นครชุมในสมัยรัตนโกสินทร์ไม่มีชื่อเป็นที่รู้จัก ผู้คนทั่วไปคงเรียกบริเวณที่ตั้งบ้านเรือนของราษฎรบริเวณนี้ว่า “ปากคลองสวนหมาก” เพราะมีคลองสวนหมากไหลมาออกแม่น้ำปิง ราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวลาวอพยพมาจากเวียงจันทน์ ที่มารู้จักว่าชื่อ นครชุม มามีในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ศึกษาศิลาจารึกหลักที่ ๓ ที่นำไปเก็บไว้ที่วัดเสด็จ ตำบลในเมือง และได้ทรงทราบว่าย้ายมาจากบริเวณวัดพระบรมธาตุที่ปากคลองสวนหมาก จึงเสด็จไปตรวจดูพบฐานที่ตั้งของศิลาจารึกจึงเรียกบริเวณนั้นว่า “เมืองนครชุม”
ตำบลคลองสวนหมากเปลี่ยนมาเป็นตำบลนครชุมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒  ตาม พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามอำเภอ กิ่งอำเภอ และตำบลบางแห่งพุทธศักราช ๒๔๘๒ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ตราไว้ ณ วันที่ ๑๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๒ เพื่อประโยชน์และความสะดวกแก่ประชาชนและราชการ กับเพื่อรักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์แห่งท้องถิ่น" จึงได้เปลี่ยนชื่อจากตำบลคลองสวนหมากมาใช้ชื่อเป็น ตำบลนครชุม
   การทำไม้และบรรยากาศของการล่องแพซุงในแม่น้ำปิงคงไม่มีคำบรรยายใดที่ฉายภาพได้  ชัดเจนเท่ากับคำบรรยายของครูมาลัย  ชูพินิจ ซึ่งได้ประพันธ์เอาไว้ในนวนิยายเรื่องทุ่งมหาราช
“ ฉันยังจำได้ดีทุกอย่าง แม่เฒ่าคิด จำได้แน่ เหมือนมันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน มะม่วงสายทองต้นนั้น ซุงที่ท่าน้ำ แม่น้ำปิงที่เวิ้งว้าง เต็มไปด้วยจอกและสวะ เต็มไปด้วยแพไม้ แพเสา เรือโกลน ติดธงสีต่าง ๆ กัน ..” ( ทุ่งมหาราช หน้า ๔ )
   “เจตนาอันเด็ดเดี่ยวของเขา เป็นสิ่งยากที่ใครจะทัดทานได้ การล่องแพ ในสมัยนั้น หมายถึงการเสี่ยงสารพัดตลอดระยะทาง ๕ คืน ๖ วัน หรือน้อยและมากกว่านั้น แล้วแต่น้ำและอุปสรรคหรือความสะดวกในการเดินทาง จากกำแพงเพชรถึงปากน้ำโพ เขารู้ดีว่าในฐานะที่เป็นคนแรกในบ้านคลองสวนหมากใต้ ที่ริจะค้าไม้และล่องแพด้วยตนเองย่อมจะตกอยู่ในสายตาของคนทั่วไปอย่างคนที่ความคิดวิตถาร การค้าไม้เป็นของคนใหญ่คนโตทุนรอนนับเล่มเกวียนอย่างพะโป้ และบริษัทฝรั่ง  ไม่ใช่คนอย่างเขา ซึ่งขาดเครื่องมือเกือบทุกสิ่งทุกอย่างนอกจากความทะเยอทะยาน ความฝันและกำลังใจอันแรงกล้า” ( ทุ่งมหาราช หน้า ๖๗ )
ในสมัยก่อนการทำไม้และการล่องแพซุงของเมืองกำแพงเพชร   เป็นกิจการที่เฟื่องฟูมาก ตามท่าน้ำริมตลิ่งเต็มไปด้วยแพซุง โดยมีชุมทางอยู่ที่คลองสวนหมาก เพราะไม้ส่วนใหญ่ถูกชักลากออกจากป่าโป่งน้ำร้อน ชาวบ้านจะตัดไม้ทิ้งไว้เป็นปีแล้วจึงชักลากมารวมกองที่ริมตลิ่ง รอขายให้กับพ่อค้าที่เข้ามารับซื้อ หรือผูกแพล่องไปขายที่ปากน้ำโพ ซึ่งเป็นชุมทางค้าไม้ในสมัยนั้น เวลาที่ใช้ในการเดินทางจากกำแพงเพชรถึงปากน้ำโพประมาณ ๕-๗ วัน  ตลอดเส้นทางต้องผจญภัยกับความเชี่ยวกรากของสายน้ำ เกาะแก่ง ที่จะทำให้แพแตกไม้ลอยหายหมดตัวไปก็หลายราย
ภาพลักษณ์แห่งวัฒนธรรมประเพณีเฉพาะถิ่นของชาวคลองสวนหมากและกำแพงเพชรอย่าง ตรุษสงกรานต์ การละเล่นเพลงพื้นบ้าน ภาพแห่งความสนุกรื่นเริง ด้วยการร้องรำทำเพลงอย่างเพลงแม่ศรี เพลงพวงมาลัย การเล่นช่วงชัย หรือก่อพระทรายหน้าวัด ถือเป็นภาพแห่งความทรงจำของประเพณีของชาวคลองสวนหมากที่ครูมาลัย ชูพินิจ ได้ตั้งใจบันทึกเอาไว้ให้ลูกหลานได้สานต่อ
   “ในตอนบ่ายวันสุดท้ายของสงกรานต์ สุดใจ-ยังสวมกำไลข้อเท้า ๑๖ ปี แต่เปล่งปลั่งเหมือนสาวใหญ่..เปียกปอนไปทั้งตัวด้วยเล่นสาดน้ำกัน หน้าตายังขมุกขมอมเพราะดินหม้อจากการตะลุมบอน ฉวยขันลงหินและสบู่ลงไปที่ตีนท่าหน้าบ้าน เร่งรีบจะอาบน้ำชำระกาย เพื่อกลับขึ้นไปแต่งตัวใหม่ให้ทันไปเข้าวง ช่วงชัย ในตอนเย็น” ( ทุ่งมหาราช หน้า ๕ )
“เมื่อสงกรานต์มาถึงในปีนั้น เสียงเพลงแม่ศรี พวงมาลัย และเสียงหัวเราะอันชื่นบานด้วยความบริสุทธ์ ซึ่งเงียบหายไปนานนับแต่ปีกลาย ก็กลับมาสู่ชาวบ้านอีกครั้ง และรื่น ยืนมองดูเด็ก ๆ และหนุ่มสาว ทั้งชาวปากคลองและลาวพวน สรวลเสเฮฮากันอยู่ ณ วงแม่ศรี  ช่วงชัย  หรือรอบองค์พระทรายหน้าวัดคราวใด  คราวนั้นก็อดคิดขึ้นมาไม่ได้ด้วยความรู้สึกอันตื้นตัน” ( ทุ่งมหาราช หน้า ๓๐๖ )
ความรกร้างและสูญหายไปของวัดท่าหมัน วัดเก่าแก่อยู่ใกล้ท่าน้ำริมคลองสวนหมากที่ปากคลองเหนือ  “ผมกลับมา  ได้ข่าวว่าปีกลายฝีดาษกินเสียเตียนไปทั้งคลองเหนือ คลองใต้ ก็รีบเข้ามาเยี่ยม” ท่านเจ้าคุณบอกด้วยเสียงและสีหน้าสลด “เนจอนาถอะไรเช่นนั้น ตั้งแต่คลองเหนือ บ้านไร่ คลองใต้ หาผู้คนอยู่สักบ้านไม่ได้ พะโป้เองก็ยังไม่กลับจากแม่พล้อ วัดท่าหมัน ก็ร้าง ทั้งตลาดคลองเหนือเหลือแต่เจ๊กขายของอยู่สองสามครัว”  (ทุ่งมหาราช หน้า ๒๘๗)
   จากการสืบค้นพบว่าบริเวณตลาดครชุมมีวัดเก่าอยู่วัดหนึ่งชื่อวัดท่าหมัน เป็นที่สร้างมานานนับร้อยปี แต่สูญสภาพกลายเป็นตลาดนครชุมไปหมดแล้ว เมื่อสอบถามผู้เฒ่าผู้เแก่แถวตลาดนครชุมยังพอได้เค้าเกี่ยวกับเรื่องราวของวัดท่าหมันว่า  มีการย้ายศาลาวัดท่าหมันซึ่งถูกปล่อยทิ้งร้างไปก่อสร้างไว้เป็นอนุสรณ์ที่วัดสว่างอารมณ์ ตำบลนครชุม
ร่องรอยของบ้านห้างหรือบ้านพะโป้ที่เคยเต็มไปด้วยผู้คนทั้งไทย มอญ กะเหรี่ยง เสียงเพลงและความคึกครื้นด้วยงานรื่นเริงบันเทิงใจ
“จากประตูใหญ่  ริมคลองระหว่างรั้วซึ่งใช้ไม้สักทั้งต้นแทนเสา  กระทู้ปักเรียงราย มิดชิด มั่นคง และแข็งแรงประดุจป้อมปราการของเจ้าผู้ครองนครสมัยโบราณ บ้านสามชั้น หลังนั้น ดูสูงตระหง่าน และมหึมาเหมือนปราสาทในเทพนิยาย  รื่นไม่เคยคิดมาก่อนเลย จนกระทั่งก้าวเข้าไปในบริเวณนั้นแล้วว่าความกว้างขวางใหญ่โตของสถานที่ และผู้คนซึ่งพลุกพล่านอยู่ในบริเวณนั้น จะทำให้เขารู้สึกเล็กลงไปเพียงใด ราวกับเด็กที่เดินอยู่ในดงเปลี่ยว... ( ทุ่งมหาราช หน้า ๑๖๓ )
   ปัจจุบันบ้านห้างหรือบ้านพะโป้ ตั้งอยู่ริมคลองสวนหมากมีสภาพทรุดโทรม  เรือนไม้หลังนี้มีประวัติความเป็นมาที่ทรงคุณค่าของชาวนครชุมและเมืองกำแพงเพชร และยังเป็นบ้านที่พระพุทธเจ้าหลวงเคยเสด็จมาประทับและถ่ายรูปเอาไว้       
ตัวละครอย่างพะโป้ พ่อค้าไม้ชาวกะเหรี่ยงอยู่ในบังคับของอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลในการค้าไม้ประจำเมืองกำแพงเพชรในสมัยนั้นเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง
   “เขามองหน้าบุรุษผู้นั่งหัวเราะต่อไปอยู่ต่อหน้าขณะนั้นครั้นแล้วก็ได้คิดขึ้นมาด้วยความสะท้านสะเทือนใจว่า นี่เองพะโป้ ผู้ยิ่งใหญ่  พะโป้ผู้มีบุญคุณแก่ชาวกำแพงเพชรโดยทั่วไปและคลองสวนหมากโดยเฉพาะ พะโป้ผู้นำฉัตรทองแต่ตะโก้งมาประดิษฐาน ณ ยอดพระบรมธาตุเป็นสัญลักษณ์แห่งพระบวรพุทธศาสนา ( ทุ่งมหาราช หน้า ๑๖๙ )
   พะโป้ มีชื่อเต็ม ๆ คือ พะโป้พะเลวาซวยล่า สะมะเย เป็นพ่อค้าไม้ผู้มั่งคั่งชาวกะเหรี่ยง เดินทางจากพม่าเข้ามาทำไม้ในเขตพื้นที่ป่าคลองสวนหมาก ได้แต่งงานกับคนไทยชื่อ แม่ทองย้อย บุตรสาวผู้ใหญ่บ้านวันและอำแดงไทย ซึ่งมีบ้านเรือนอยู่ริมคลองสวนหมากใกล้กับบ้านห้าง มีบุตรธิดาด้วยกัน ๔ คน เป็นต้นตระกูล “รัตนบรรพต” ในปัจจุบัน
   พะโป้ถึงแก่กรรม ช่วงต้นรัชกาลที่ ๖ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้ตั้งศพไว้ที่ห้องโถงชั้นล่างของบ้านห้างเป็นเวลา ๑ ปี ตลอดเวลาจะมีพระสงฆ์มาสวดศพและทุก ๆ ๗ วัน ชาวกะเหรี่ยงจะพากันออกจากป่ามาคารวะศพและทำการสวดตามพิธีของชาวกะเหรี่ยง เมื่อครบกำหนดจึงได้นำศพไปทำพิธีฌาปนกิจที่วัดสว่างอารมณ์ ตำบลนครชุม
   ท่านเจ้าคุณกำแพง ผู้ว่าราชการจังหวัด  ผู้ทำคุณให้กับชาวกำแพงเพชรและผู้ปกครองราษฎรด้วยความปราณี เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ครูมาลัย  ชูพินิจ ได้นำมากล่าวไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดี   
“เครื่องแต่งกายซึ่งเป็นที่สะดุดตาในภูมิประเทศบ้านป่าเช่นนั้น มากกว่าบรรดาผู้สวมเอง เรียกร้องความสนใจของเขา และทุกคนก้มหน้าทำธุระอยู่กับงานของตนเช้าวันนั้น ให้เงยหน้าขึ้นไปจับตาดูอยู่เป็นเป้าเดียวกัน แม้กระนั้นร่างเล็ก ๆ ของหล่อนพร้อมด้วยใบหน้าอันเกลี้ยงเกลา และนัยน์ตาที่เป็นประกายวาวเพราะความตื่นเต้น ก็เป็นภาพแรกที่สะดุดสายตาเขา ในขณะที่คนอื่น ๆ บ้างยืนบ้างนั่ง ด้วยกิริยาท่าทางอันตื่นตะลึงต่าง ๆ กัน เมื่อ ปรากฎว่าร่างของชายชราในชุดกางเกงขาสั้นสวมถุงน่องรองเท้า หมวกกันแดดและเสื้อราชปแตนต์ คนนำหน้าคือท่านเจ้าคุณกำแพง ผู้ว่าราชการจังหวัด (ทุ่งมหาราช หน้า ๒๙๑)
ท่านเจ้าคุณกำแพงผู้ว่าราชการจังหวัด ตามที่ปรากฏในทุ่งมหาราชนั้น คือพระยาวิเชียรปราการ เจ้าเมืองเมืองกำแพงเพชร ในช่วง พ.ศ. ๒๔๔๗-๒๔๕๔
พระยาวิเชียรปราการ นามเดิม ฉาย  อัมพเศวต เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๔๑๐ ในรัชกาลที่ ๔ เป็นชาวเมืองสรรค์ (จังหวัดชัยนาท) เป็นบุตรของหลวงภักดีบริรักษ์ (อ่ำ) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นหลวงสรรค์บุรารักษ์ ตำแหน่งนายอำเภอสรรคบุรี    ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ตำแหน่งเจ้าเมืองกำแพงเพชรว่างลง ด้วยพระยารามรณรงค์สงคราม (หรุ่น)ต้องเข้าไปรายงานตัวในเมืองหลวง จึงโปรดเกล้าให้หลวงสรรค์บุรานุรักษ์ไปรับราชการเมืองกำแพงเพชร แล้วพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนเป็น “พระวิเชียรปราการ” ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร และเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เลื่อนเป็น “พระยาวิเชียรปราการ”   เสด็จประพาสต้นคือมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ ครูมาลัย  ชูพินิจ ได้บันทึกประวัติศาสตร์แห่งความปลื้มปิติของชาวคลองสวนหมากที่มีต่อพระเจ้าอยู่หัวของพวกเขาเอาไว้อย่างประทับใจและมีสำนึกในพระมหากรุณาอันล้นพ้น
“ริ่นจะไม่มีวันลืมวันนั้นเลย แม้อีกหลายสิบปีจะล่วงไปและวัยจะโร่งโรยแล้ว ๒๕ สิงหาคม ๒๔๔๙ จะประทับแน่นอยู่ในความทรงจำของเขาต่อไปชั่วชีวิตอวสาน มิใช่เพราะมันเป็นครั้งแรกที่เขาได้ เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าหลวง โดยใกล้ชิดเป็นครั้งแรกในชีวิต เมื่อเสด็จขึ้นทอดพระเนตรวัดพระบรมธาตุในตอนบ่ายอย่างเดียว หากความตื้นตันใจต่อภาพประชาชนทั้งชาวปากคลอง หนองปลิง ลานดอกไม้ แม้กระทั่งชนบทและตำบลที่ห่างไกลเข้าไปในป่าลึกและดงสูง ที่มาชุมนุมรับเสด็จรอชมบารมีเจ้าเหนือหัวของเขาแน่นขนัดไปหมดทั้งลานวัดอีกด้วย” ( ทุ่งมหาราช หน้า ๓๒๙ )
“แต่การเสด็จประพาสวัดพระบรมธาตุและคลองสวนหมากของพระพุทธเจ้าหลวง ครั้งนั้นเองเหมือนมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ มีความหมายที่จะชุบชีวิตซึ่งร่อยหรอประดุจกองไฟที่จะหรี่และดับมิดับแหล่ ของตำบลนั้นให้สว่างโพลง ยืนยงคงทนต่อไป ต่อหน้าโรคระบาด อุทกภัย ทุพภิกขภัยอย่างที่ไม่มีอำนาจใดจะมาทำลายให้ดับสูญไปได้”  (ทุ่งมหาราช หน้า ๓๓๐)
   พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสคลองสวนหมากและวัดพระบรมธาตุเป็นฉากที่สำคัญยิ่งฉากหนึ่งที่ปรากฏในนวนิยายเรื่องทุ่งมหาราช และเมื่อย้อนรอยเข้าไปศึกษาตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ก็พบความเป็นจริงว่า พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสคลองสวนหมากและวัดพระบรมธาตุเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๔๔๙ ในครั้งนี้มีประชาชนพากันมาเข้าเฝ้าอย่างแน่นขนัดทั้งชาวปากคลองสวนหมาก หนองปลิง ลานดอกไม้ และชนบทที่อยู่ห่างไกลออกไป
   การสะท้อนภาพชีวิตและประสบการณ์เดิมของครูมาลัย  ชูพินิจ ดังภาพเหตุการณ์เมื่อ พ.ศ ๒๔๕๙ เมื่อคราวไข้ทรพิษหรือฝีดาษระบาดที่ทำลายขวัญและชีวิตของชาวคลองสวนหมากจนเกือบสูญสิ้นทั้งตำบล รวมทั้งน้องชายร่วมมารดาของครูมาลัย  ชูพินิจ ด้วยผู้หนึ่ง
“…ทุก ๆ วัน ข่าวที่ได้รับจากบ้านไร่และคลองเหนือ ไม่บ้านใดก็บ้านหนึ่งจะต้องมีการป่วยด้วยโรคระบาดเดียวกันนี้ ความจริงนั้นหลายครอบครัวล้มเจ็บด้วยฝีดาษก่อนมณีจะลงมาถึงปากคลองด้วยซ้ำไป หลายคนโทษว่าลูกชายรื่นเป็นสื่อนำโรคนั้นมาสู่บ้านแต่อีกหลายคนก็ยืนยันได้โดยมีหลักฐานว่าคนงานของพะโป้นำมาจากป่าต้นคลองเหนือ เมื่อเวลาล่วงไปและอาการเจ็บไข้ระบาดออกไปทั่ว ต่างคนต่างก็วุ่นอยู่แต่สวัสดิภาพของตัวจนไม่มีเวลาพอที่จะไปคิดโทษใคร” (ทุ่งมหาราช หน้า ๒๗๒)
   “รื่นเป็นคนต่อมาที่สังเกตเห็นอาการทรุดหนักอย่างผิดปกติของลูกชายคนหัวปี สีหน้าของแกซึ่งไม่เป็นหน้าตาอีกต่อไป เกือบจะกลายเป็นสีขี้เถ้า แม้กระนั้นเขาก็มิได้เอ่ยอะไรกับสุดใจซึ่งตื่นขึ้นภายหลังวันนั้นทั้งวันผ่านไปอย่างเงียบเหงาประเดี๋ยวได้ข่าวคนตายจากบ้านไร่ ประเดี๋ยวจากท้ายวัด ประเดี๋ยวจากคลองเหนือ จากนอกชานเรือนของเขารื่นแลเห็นเรือหลายลำนำศพของผู้ตายข้ามไปยังฝั่งตรงข้าม ซึ่งเป็นป่าพุทรา—ป่าช้าฝังศพมาแต่ไหนแต่ไร บางรายเสียงร้องไห้ของญาติและมิตรของผู้ตายก็แว่วข้ามแม่น้ำมาถึง เขารู้ดีว่าวันหนึ่งบางทีจะชั่วโมงใดต่อไปข้างหน้า เขา สุดใจ จำปา ป้าแคล้วและคนในบ้านอันเป็นที่รักใคร่อย่างสุดสวาทขาดใจของเด็กผู้น่าสงสารก็คงจะต้องตกอยู่ในสภาพอย่างเดียวกัน รื่นรู้ว่าทุกชั่วนาฬิกาและนาทีเขาคอยเวลานั้นด้วยการปลงตกเสียแล้ว แต่เมื่อกาลอวสานของลูกชายหัวปีมาถึงเข้าจริง เขาก็อด สะเทือนใจ ทอดอาลัยตายอยากในชีวิตไปชั่วยามหนึ่งไม่ได้” (ทุ่งมหาราช หน้า ๒๗๕)
   นอกจากนี้ทุ่งมหาราช ยังมีฉากสำคัญอยู่หลายแห่งทั้งในเขตเมืองกำแพงเพชร ตำบลนครชุม ปากคลองเหนือ ปากคลองใต้ บ้านไร่ นาน้ำลาด วังกระทะ หนองปลิง ลานดอกไม้ วังแขม คลองขลุงแม่ลาด วังพระธาตุ ปากอ่าง เกาะธำมะรง เป็นต้น ฉากเหล่านี้ได้ถูกเชื่อมโยงกับตัวละครออกมาเป็นบทประพันธ์อันชวนอ่านด้วยฝีมือระดับชั้นครูที่ทำให้เรื่องราวของประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยสีสัน
    “ทุ่งมหาราช” อาจเป็นเพียงนวนิยายเรื่องเล็ก ๆ แต่ก็มีคุณค่าอันยิ่งใหญ่ต่อการบันทึก     ร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์ของเมืองกำแพงเพชร ที่ทำให้อนุชนรุ่นหลังสามารถย้อนรอยประวัติศาสตร์   วิถีชีวิต ตัวบุคคล วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาในท้องถิ่นได้อย่างถูกต้องและน่าสนใจ
“ทุ่งมหาราช” ทุ่งใหญ่แห่งชีวิตของชาวคลองสวนหมาก
   ภาพชีวิตและเหตุการณ์อันประทับใจ ความยิ่งใหญ่ในการเสียสละ ความทรหดอดทนของชาวคลองสวนหมากในยุคนั้น   เป็นบรรยากาศแห่งภราดรภาพที่ยังพิมพ์อยู่ในอนุสติของครูมาลัย     ชูพินิจ ท่านจึงได้นำเสนอไว้ใน “ทุ่งมหาราช” นวนิยายเรื่องเล็ก ๆ  ที่เข้าถึงความสำคัญแห่งความ    ยิ่งใหญ่ในการใช้ชีวิตด้วยความสุขและสวัสดิภาพของชาวคลองสวนหมาก
   ถือเป็นความตั้งใจอย่างแท้จริงของครูมาลัย  ชูพินิจ ที่บรรจงเขียน “ทุ่งมหาราช” จากความทรงจำรำลึกถึงเหตุการณ์ประจำยุคสมัย ภาพของเมืองและตำบล ขนบธรรมเนียมประเพณี เหตุการณ์อันเกิดจาก มหาตภัยธรรมชาติ โรคระบาด อุทกภัยและทุพภิกขภัย ซึ่งผ่านเข้ามาในชีวิตของท่านและเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นขึ้นไป
   “ทุ่งมหาราช” เป็นนวนิยายที่บรรยายให้เห็นสภาพชีวิต เหตุการณ์ บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ และก่อนหน้านั้นขึ้นไป โดยมีจุดเน้นอยู่ที่ตำบลคลองสวนหมากและวิถีชีวิตของผู้คนตามสายน้ำปิงซึ่งต้องต่อสู้กับความยากลำบากนานัปการ ตั้งแต่ความอดอยาก โรคภัยไข้เจ็บ โดยผ่านตัวละครที่มีเลือดเนื้อและจิตวิญญาณอย่าง “รื่น” หรือ ขุนนิคมบริบาล ผู้เต็มไปด้วยแนวคิดในการปกป้องรักษาแผ่นดินถิ่นเกิด ที่ทำมาหากิน ความรักอิสระ ด้วยภาษาสำนวนที่อ่านเข้าใจง่ายและการพรรณาที่มองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน   
   ทุกชาติและประเทศ ตำบลและหมู่บ้าน ล้วนมีประวัติความเป็นมาของตัวเองไม่มากก็น้อย เหมือนอย่างตำบลคลองสวนหมากที่เปลี่ยนมาเป็นนครชุม ซึ่งครูมาลัย  ชูพินิจ ได้บอกเล่าเอาไว้ใน นวนิยาย “ทุ่งมหาราช” แม้ท่านจะออกตัวว่ามิได้ตั้งใจให้เป็นประวัติของตำบลคลองสวนหมาก ขอให้เป็นเพียงบันทึกของเหตุการณ์ประจำยุคสมัยก็ตาม แต่การได้อ่าน “ทุ่งมหาราช” แล้วตามรอยเข้าไปศึกษาประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองในยุคนั้นถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งนัก เพราะแต่ละวรรคตอนล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราวของประวัติศาสตร์อันน่าสนใจ



๒.จดหมายเหตุพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชร
       การเสด็จประพาสต้น หมายถึง การที่เสด็จไปเยี่ยมเยือนพสกนิกรโดยมิได้นัดหมายหรือบอกล่วงหน้าแต่เสด็จไปแบบสามัญชน เพื่อทรงพักผ่อนพระวรกาย ในการเสด็จประพาสต้นครั้งที่-๒เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ เป้าหมายอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร
 


 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ นั้น เมื่อมีพระราชประสงค์จะเสด็จประพาสหัวเมืองใหญ่ ในพระราชอาณาเขต เพื่อสำราญพระราชอิริยาบถ พระองค์ไม่ทรงโปรดฯ ให้มีการจัดรับเสด็จเป็นทางการ แต่ทรงโปรดฯ ให้จัดการที่เสด็จให้เป็นไปโดยง่ายเพื่อสำราญพระราชอิริยาบถอย่างสามัญ โดยมิให้มีท้องตรา สั่งหัวมืองให้จัดทำที่ประทับแรม ณ ที่ใดๆ สุดแต่จะพอพระราชหฤทัย บางคราก็ทรงเรือเล็ก หรือเสด็จโดยสาร รถไฟไปไม่ให้ใครรู้จัก เรียกกันว่า “เสด็จประพาสต้น” เหตุที่เรียกเสด็จประพาสต้นนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ- กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายว่า เกิดแต่เมื่อครั้งเสด็จคราวแรก เพราะมีพระราชประสงค์มิให้ใครได้รู้ ว่าเสด็จไปทรงเรือมาดเก๋ง ๔ แจวลำหนึ่ง เรือนั้นไม่พอบรรทุกเครื่องครัว จึงทรงซื้อเรือมาดประทุน ๔ แจว ที่แม่น้ำอ้อม ที่แขวงราชบุรี และโปรดฯ ให้เจ้าหมื่นเสมอใจราช (อ้น) เป็นผู้คุมเครื่องครัว ทรงพระราชดำรัส เรือลำนี้ว่า “เรือตาอ้น” เรียกเร็วๆ เสียงจะกลายเป็น “เรือต้น” เหมือนบทเห่ซึ่งกล่าวว่า “พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย” ซึ่งฟังดูไพเราะ แต่เรือประทุนลำนั้นใช้การได้อยู่ไม่มาก จึงเปลี่ยนมาเป็นเรือมาด ๔ แจว กับอีกลำหนึ่ง และโปรดฯ ให้เอาเรือต้นมาใช้เพื่อเป็นเรือพระที่นั่ง โดยมีพระราชประสงค์จะมิให้ผู้ใดทราบว่า เสด็จไปเป็นสำคัญ และเรียกการประพาสเช่นนี้ว่า “ประพาสต้น” ...ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
การเสด็จประพาสต้นเมื่อรัตนโกสินทรศก ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙) หนังสือการเสด็จประพาสต้นครั้งนี้ เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงมี พระราชดำรัสให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี (สมเด็จหญิงน้อย) ทรงเขียนไว้ ในขณะนั้นยังทรงดำรงตำแหน่งราชเลขาธิการฝ่ายใน เพื่อบันทึกรายละเอียดในการเสด็จประพาสต้น ใน ร.ศ. ๑๒๕ นี้ พระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินีนาฏ พระชนนี ทรงพระปรารภใคร่จะจัดพิมพ์เป็นหนังสือ ประทานตอบแทนผู้ถวายรดน้ำสงกรานต์ จึงตรัสปรึกษาให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี (สมเด็จหญิงน้อย) พระธิดา จึงได้ทรงเก็บรวบรวมและพบสำเนาจดหมายเสด็จ ประพาสต้นครั้งที่สอง ซึ่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ถึง ๗ ปีแล้ว จึงประทานสำเนา มายังหอพระสมุดวชิรญาณ สำหรับพระนครในการเสด็จประพาสหัวเมืองภายในพระราชอาณาจักรนั้น ทำให้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ ทรงมีโอกาสสมาคมกับราษฎรอย่างใกล้ชิด ดังปรากฏคราวเสด็จ ประพาสต้นเมื่อ ร.ศ. ๑๒๓ และทำให้ทรงทราบทุกข์สุข และความเป็นไปของราษฎรอย่างละเอียดด้วยพระองค์เอง
นอกจากนี้ยังได้ทรงเห็นการปกครองของเจ้าหน้าที่ที่ทรงแต่งตั้งให้ออกไปปกครองต่างพระเนตรพระกรรณว่า ได้กดขี่ราษฎรเดือดร้อนหรือไม่อย่างไร หรือปกครองได้เรียบร้อยดีสมดังที่ไว้วางพระราชหฤทัยเพียงใด เมื่อเจ้าหน้าที่ ผู้ใดประพฤติมิชอบก็ทรงติเตียนลงโทษ หรือทรงปรับแนะและเปลี่ยนแปลงใหม่ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่บ้านเมือง ทั้งหลายเคร่งครัดซื่อตรงต่อการงานยิ่งขึ้น ตลอดจนเมื่อทรงเห็นราษฎรเจ็บป่วย ไม่ได้รับการเยียวยารักษาตามอันควร ก็เป็นเหตุให้ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้นายแพทย์คิดประกอบและจัดทำโอสถสภา รวมทั้งมอบให้เป็นธุระ ของเจ้าหน้าที่ที่จะให้ประโยชน์แก่พสกนิกรของพระองค์อย่างทั่วถึงกัน
แผนที่เสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒
 
              ครั้งหนึ่งที่ชาวกำแพงเพชรไม่เคยลืมเลือนและยังคงจดจำมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือ การเสด็จประพาสต้นหัวเมืองฝ่ายเหนือเป็นการส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๕ เพื่อทรงทราบทุกข์สุขของราษฎรใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอย่างแท้จริงด้วยพระองค์เอง  พระองค์ทรงเสด็จประพาสจังหวัดกำแพงเพชรเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ พระองค์ทรงเสด็จประพาสเขานอ (เขาหน่อ) ทรงแวะบ้านตาแสนปม และประทับแรม ณ หาดแสนตอ เมืองขาณุวรลักษบุรี  เช้าวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ พระองค์ทรงเสด็จไปทอดพระเนตรคนผมแดง จากนั้นเสด็จไปประทับแรม ณ ตำบลบางแขม ต่อมาวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคต่อไปยังวังนางร้างและได้ประทับแรม ณ ที่นี้ด้วย วันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ พระองค์เสด็จประพาสผ่านบ้านโคน ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเมืองเทพนคร ไปประทับแรมที่ท่าขี้เหล็ก วันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ พระองค์เสด็จประพาสวัดวังพระธาตุ เมืองไตรตรึงส์ จากนั้นเสด็จไปประทับแรมที่เมืองกำแพงเพชร ต่อมาวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ พระองค์ทรงประพาสป้อมประตูคูเมืองวัดพระแก้ว และทรงถ่ายรูปคนงามเมืองกำแพงเพชร จากนั้นประพาสเทวสถานพระอิศวร วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ พระองค์เสด็จประพาสแนวกำแพงเมือง ประตูเจ้าอินเจ้าจัน ประตูชัย ป้อมเพชร วัดกำแพงงาม วัดพระนอน และวัดพระยืน วันที่ ๒๕ สิงหาคม         พ.ศ. ๒๔๔๙ พระองค์เสด็จประพาสคลองสวนหมาก บ้านพระโป้ และวัดพระบรมาตุ ตำบลนครชุม ต่อมาวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ พระองค์เสด็จไปทรงถ่ายรูปบุคคลในตระกูลกำแพงเก่า จากนั้นเสด็จประพาสที่วัดเสด็จและวัดคูยาง จากนั้นเสด็จล่องจากกำแพงเพชร พักเสวยพระกระยาหารกลางวันที่ปากอ่าง จากนั้นเสด็จไปประทับแรม ณ วังอีร้างหรือนางร้าง และวันที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ทรงประทับแรม ณ บ้านแดน นับว่าเป็นที่สิ้นสุดการเสด็จประพาสต้น ณ เมืองกำแพงเพชร

  ในการประพาสต้นเมืองกำแพงเพชรของพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จนั้น ท่านได้ประพาสตั้งแต่เมื่อวันที่๑๘ สิงหาคมพ.ศ.๒๔๔๙ ประทับแรมอยู่เมืองกำแพงเพชร อยู่จนถึง วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๔๔๙ รวมทั้งสิ้น ๑๐ วัน แต่ขอสรุปในการประพาสต้นดังนี้เรื่องเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือพระพุทธเจ้าหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังจังหวัดกำแพงเพชร เป็นการเสด็จประพาสต้นที่นำความปลาบปลื้มมาสู่เมืองกำแพงเพชร และไม่ใช่เพียงเท่านั้นยังขจัดภัยจากความกลัว โรคร้ายภัยพิบัติต่างๆ ของชาวสวนหมากหรือชาวบ้านเมืองอื่นได้กล่าวไว้ว่าเมืองชากังราวนี้ มีโรคร้าย ภัยพิบัติต่างๆ ทำให้หมู่บ้านเล็กๆเติบโตขึ้นเป็นตำบล และได้มีผู้ชายที่ชื่อ รื่น ได้ซึ่งเป็นกำนันคนแรก ในนามของ ขุนนิคมบริบาล 
ตัวอย่างบางตอนจากพระราชนิพนธ์
                เช้าวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ฝนตกเวลา ๓ โมงเช้า เสด็จไปทั้งฝน ผ่านวัดเล็กๆ ทำด้วยแลง ผ่านที่ว่าการเมืองที่สร้างยังไม่เสร็จ  เสด็จเข้าทางประตูน้ำอ้อยได้มองเห็น ประตูสามประตู คือ ประตูน้ำอ้อย ประตูบ้านโนน ประตูดั้น เสด็จเข้าไปในวัดพระแก้ว ตอนนั้นเป็นวิหารใหญ่อย่างวัด พระศรีสรรเพชญ์ กรุงศรีอยุธยา มณฑป ที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ถ้าพระแก้วมาอยู่ที่กำแพงเพชรตามตำนาน ต้องมาอยู่ที่วัดแห่งนี้แน่นอน ได้ได้เอ่ยชมว่าพระเจดีย์วัดพระแก้ว เป็นเจดีย์ลอมฟาง ทำได้งามมาก เสด็จต่อไปจนถึงวัดช้างเผือก ไปที่ศาลหลักเมือง แล้วไปที่ สระมน พระราชวังโบราณของเมืองกำแพงเพชร ประชาชนสร้างสถานที่และปะรำในบริเวณสระมน มีประชาชนมาเข้าเฝ้าเป็นจำนวนมาก มีสำรับกับข้าว มาเลี้ยงหลายสิบสำรับ
                นายอำเภอพรานกระต่าย คือ หลวงอนุรักษ์รัฐกิจเป็นผู้ออกแบบสร้างถวาย ได้เสวยพระกระยาหารกลางวันที่สระมน แล้วได้ถ่ายรูปคนงามเมืองกำแพงเพชร ซึ่งเขาจัดหามาให้ ความจริงประชาชนที่มานั่งอยู่ทั้งหมู่หน้าตาดีกว่าก็มี ทรงตรัสชมว่า ผู้หญิงเมืองนี้นับว่าร่างหน้าตาดีกว่าเมืองอื่นในข้างเหนือ คนงาม ๔ คน มี หวีด บุตรหลวงพิพิธอภัยอายุ ๑๖ ปี คนนี้รู้จักโพสต์ถ่ายรูป จึงได้ถ่ายรูปเฉพาะคนเดียว ยังอีกสามคน ชื่อประคอง บุตรหลวงพิพิธอภัยเหมือนกัน อายุ ๑๗ ปี ริ้ว ลูกพระพล อายุ ๑๗ ปี พิง ลูกพระยารามรณรงค์ อายุ ๑๖ ปี แล้วจึงเสด็จไปที่ศาลพระอิศวร ถ่ายรูป ซากปรักหักพังของศาลพระอิศวรตรัสถึงคนเยอรมันมาลักรูปพระอิศวรไป ปัจจุบันตามกลับมาได้แล้ว พระองค์ส่งรูปไปล้างที่บางกอก ได้หนึ่งส่วน เสียสองส่วน เสียดายมาก จึงเอาห้องอาบน้ำที่สถานที่เป็นห้องล้างรูป ....
ชาวกำแพงเพชร สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างมิรู้ลืม

๓.เที่ยวเมืองพระร่วง พระราชนิพนธ์ พระมงกุฎเกล้าเอยู่หัว
เมื่อข้าพเจ้าไปเมืองกำแพงเพชรครั้งแรก คือแวะเมื่อล่องกลับจากเชียงใหม่ ร.ศ. ๑๒๔ นั้น ได้พักอยู่ ๓ คืน ๒ วัน ได้เที่ยวดูในเมืองเก่าและตามวัดที่นอกเมืองบ้าง แต่ในเวลานั้นต้องนับว่ายังอ่อนอยู่มากในทางโบราณคดี คือยังไม่ใคร่ได้มีโอกาสตรวจค้นมาก ทั้งเวลาที่อยู่ก็น้อย และเป็นคนแรกที่ได้ไปดู จะอาศัยฟังความคิดความเห็นผู้ใดๆก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความเห็นในเวลานั้นจึงยังไม่กล้าแสดงให้แพร่หลายมากนัก เป็นแต่ได้ทำรายงานกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามที่ได้สังเกตเห็นด้วยตา และแสดงความเห็นส่วนตัวบ้างเล็กน้อย ภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปประพาสเมืองกำแพงเพชร ทอดพระเนตรสถานต่างๆแล้ว พระราชทานพระบรมราโชวาทเป็นอันมาก ครั้นเมื่อได้ทราบกระแสพระราชดำริแล้ว เมื่อปลาย ร.ศ. ๑๒๖ ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปตรวจดูสถานที่ในเมืองกำแพงเพชรซ้ำอีก จึงเห็นทางแจ่มแจ้งดีกว่าครั้งแรกเป็นอันมาก
 
พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
ข้อความข้างต้นเป็นข้อความตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง ของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยในการศึกษาค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีอย่างยิ่ง ได้เสด็จประพาสเมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร พิชัยและพิษณุโลกเพื่อทอดพระเนตรโบราณสถาน โบราณวัตถุระหว่างวันที่ ๔ มกราคม - ๖ มีนาคม รศ. ๑๒๖ (พ.ศ.๒๔๕๐) และโปรดฯ ให้จัดพิมพ์พระราชนิพนธ์เรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” ซึ่งทรงบันทึกเรื่องราวระยะทางเสด็จประพาสในคราวนั้นพร้อมพระราชวิจารณ์ในแง่ประวัติศาสตร์และโบราณคดี ก่อให้เกิดกระแสตื่นตัวในการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทยในเวลานั้นอย่างมาก
ในส่วนของเมืองกำแพงเพชร   พระองค์ ทรงเสด็จมากำแพงเพชร สองครั้ง หลักฐานจากจารึกวงเวียนต้นโพ หลักที่ ๒๓๙    สร้างจาก หินปูนสีเทา กว้าง ๗๘ เซนติเมตร สูง ๑๒๖ เซนติเมตร หนา ๘ เซนติเมตร เป็นรูปใบเสมา   จารึกด้านเดียว มี ๑๙ บรรทัด นายประสาร บุญประคอง ได้อ่านจารึกหลักนี้
ความว่า
๑. ศุภมัสดุพระพุทธศาสนายุกาลได้ ๒๔๔๘ พรรษา
๒. จุลศักราช ๑๒๖๗ ศกมะเส็ง รัตนโกสินทรศก ๑๒๔
๓. เป็นปีที่ ๓๘ ในรัชกาลแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
๔. เจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
๕. มกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชดำเนินจากมณฑลพายัพ
๖. มาถึงเมืองกำแพงเพชรนี้ วันอังคารเดือนยี่ แรม ๗ ค่ำ
๗. สุริยคติกาลกำหนด วันที่ ๑๖ เดือนมกราคม เสด็จประพาส
๘. ทอดพระเนตรโบราณสถานหลายแห่งเป็นครั้งแรก
๙. ประทับแรมอยู่ ๒ ราตรีตั้งพลับพลานอกกำแพง
๑๐. เมืองกำแพงเพชร ที่วัดชีนางเกา   ริมลำน้ำปิงฝั่งเหนือฯ
๑๑. ครั้นลุพระศาสนายุกาลได้ ๒๔๕๐ พรรษา
๑๒. จุลศักราช ๑๒๖๙ ศกมะแม รัตนโกสินทรศก ๑๒๖
๑๓. เป็นปีที่ ๔๐ ในรัชกาลแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
๑๔. เจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์นั้น
๑๕. ได้เสด็จพระราชดำเนินมาถึงเมืองกำแพงเพชรนี้
๑๖. วันพุธเดือนยี่ขึ้น ๑๓ ค่ำ สุริยคติกาลกำหนด
๑๗. วันที่ ๑๕ มกราคม ได้เสด็จประพาสทอดพระเนตร
๑๘. โบราณสถานซ้ำอีกเป็นครั้งที่ ๒ ประทับแรมอยู่
๑๙. ๓ ราตรีที่พลับพลาเดิมฯ
มีใจความสำคัญ สรุปได้ว่า
พ.ศ. ๒๔๔๘ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินจากมณฑลพายัพมาถึงเมืองกำแพงเพชร ทอดพระเนตรโบราณสถานหลายแห่ง โดยประทับแรมที่พลับพลาบริเวณวัดชีนางเการิมลำน้ำปิงฝั่งเหนือ นอกเมืองกำแพงเพชร เป็นเวลา ๒ คืน ต่อมาในพ.ศ. ๒๔๕๐ เสด็จมาทอดพระเนตรโบราณสถานอีกครั้งหนึ่ง และทรงตั้งพลับพลาประทับแรม ๓ คืน ในที่เดิม
ในโอกาสที่ เสด็จเมืองกำแพงเพชรครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๐ ขณะนั้น ที่ว่าการเมืองกำแพงเพชร หลังแรก สร้างเสร็จพอดี (บริเวณที่ทำการเหล่ากาชาดกำแพงเพชร ในปัจจุบัน) พระองค์ทรงปลูกต้นสักไว้ที่หน้าที่ว่าการเมืองกำแพงเพชร เป็นที่ระลึก ปัจจุบันต้นสักทรงปลูก ยังสูงใหญ่และงดงามมาก
 
พลับพลาที่ประทับ ที่ ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มกุฎราชกุมาร บริเวณวัดชีนางเกานั้น เป็นทั้งที่ประทับแรมของพระพุทธเจ้าหลวงเมื่อคราประพาสต้น เมืองกำแพงเพชร ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ด้วย
ต่อมาจังหวัดกำแพงเพชร ได้ตั้งโรงเรียนสตรีขึ้น และได้ใช้พลับพลารับเสด็จและประทับแรม เป็นที่ทำการของโรงเรียน มีนามเป็นสิริมงคลว่า โรงเรียนสตรีพลับพลา ต่อมาได้ กลายเป็นโรงเรียนสตรีกำแพงเพชร “นารีวิทยา” ในที่สุด ได้รวมกันกับโรงเรียนชาย กำแพงเพชร “วัชรราษฎร์วิทยาลัย” เปลี่ยนนามเป็นโรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม ในปัจจุบัน
        โรงเรียนสตรีพลับพลา สร้างอาคารเรียนใหม่ เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนสตรีกำแพงเพชร “นารีวิทยา”
ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ จังหวัดกำแพงเพชร ได้สร้างที่ทำการเมืองหลังใหม่เสร็จเรียบร้อย ภายในกำแพงเมืองกำแพงเพชร และสร้างสะพานคอนกรีตข้ามลำน้ำปิง ตรงมายังที่ว่าการเมืองเลยทีเดียว ซึ่งผู้รู้ทั้งหลายทักกันว่า ผิดหลักฮวงจุ้ย จะไม่เป็นมงคลกับเมืองกำแพงเพชร ไม่สามารถแก้ไข เปลี่ยนแปลง ทั้งที่ว่าการเมือง(ศาลากลาง)และสะพานกำแพงเพชรได้ ที่ประชุมกรรมการเมืองกำแพงเพชร และท่านผู้รู้ในเมืองกำแพงเพชร ได้แก้เคล็ด ฮวงจุ้ย ดังกล่าว โดยอัญเชิญ ใบเสมาศิลาจารึก ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มกุฎราชกุมาร ที่ประดิษฐานบริเวณต้นโพ ขึ้นมาประดิษฐานกลางวงเวียน ขวางกันไว้ มิให้สิ่งที่ไม่เป็นมงคลเข้าสู่เมืองกำแพงเพชร ที่ตั้งใบเสมาจารึกสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มกุฎราชกุมาร จึงตั้งตระหง่าน เป็นจุดศูนย์กลางของเมืองกำแพงเพชรมาจนถึงปัจจุบัน แม้ได้เปลี่ยน ฐานรองรับมาหลายรูปแบบ จนมาถึงปัจจุบัน
นับว่าการเสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชร สองครา คือพุทธศักราช ๒๔๔๘ และ ๒๔๕๐ ทรงพระราชทานสิ่งที่เป็นมงคลให้ชาวกำแพงเพชร มาจนถึงปัจจุบัน คือ
๑.ต้นสัก ทรงปลูก เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๐
๒.จารึกวงเวียนต้นโพ กลางเมืองกำแพงเพชร
๓.หนังสือพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง
๔.พลับพลารับเสด็จวัดชีนางเกา กลายเป็นโรงเรียนสตรีพลับพลา  โรงเรียนสตรีกำแพงเพชร “นารีวิทยา” และ เป็นกำแพงเพชรพิทยาคม เมื่อรวมกับ กำแพงเพชร “วัชรราษฎร์วิทยาลัย”
นับ เป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อเมืองกำแพงเพชร ที่ชาวกำแพงเพชร ประทับใจอยู่มิรู้คลาย

ภาษา
ภาษาถิ่นอำเภอพรานกระต่าย
ภาษาถิ่น หมายถึง ภาษาที่ใช้ในท้องถิ่นหนึ่งของประเทศไทย ในประเทศไทยมีภาษาถิ่นอีสาน ภาษาถิ่นใต้ และภาษาถิ่นเหนือ ที่เรียกกันว่าภาษาล้านนา ภาษาถิ่นเป็นภาษาเดียวกับภาษาไทย แต่มีลักษณะบางอย่างแตกต่างผิดเพี้ยนไปจากภาษากลาง และความแตกต่างนั้น มักเป็นระบบ เช่น คำที่ใช้ภาษากรุงเทพฯใช้ ร ภาษาเหนือจะเป็น ฮ เช่นคำว่า รัก เป็นฮัก คำว่า เรือน เป็นเฮือน คำว่า ร้อง

       
        ลักษณะของภาษาถิ่นพรานกระต่าย คือ
        ๑. เป็นวัฒนธรรมทางภาษา ใกล้เคียงกับภาษากลาง มีแตกต่างและเพี้ยนไปจากภาษากลาง  เช่น
เสื่อ   เพี้ยนเป็น   เสือ
เสือ   เพี้ยนเป็น   เสื่อ
ข้าวสาร   เพี้ยนเป็น   ข้าวส่าน
หนังสือ   เพี้ยนเป็น   นั้งสื่อ
คนสวย   เพี้ยนเป็น   คนส่วย
มั่งซิ   เพี้ยนเป็น   มั่งฮิ
ไปซิวะ   เพี้ยนเป็น   ไปซิ
ไปไหนเล่า   เพี้ยนเป็น   ไปไหน่หลา
มังซิ   เพี้ยนเป็น   มั่งฮิ

        ๒. เป็นภาษาถิ่นที่ใช้แพร่หลายในหมู่คนพื้นบ้านพรานกระต่าย และยังใช้อยู่จนปัจจุบันนี้
ฝรั๋ง   ความหมายคือ   ฝรั่ง(ผลไม้)
น้ำแหน๋   “   น้อยหน่า
ยู้   “   ผลัก,ดัน
พัก   “   ผลักให้ล้ม
โด๋   “   สิ่งของที่อยู่ใกล้
ตรงโน้น   “   สิ่งของที่อยู่ไกล
เนี๊ยะ   “   ตรงนี้
ยั้ง   “   หยุด
ตะพัด   “   กั้นไว้,กักไว้
ไม้แง่ม   “   ไม้สอยผลไม้
งวม   “   ครอบ,สวม
แงะ   “   เหลียวหน้ามาดู
กะบก   “   จอบ
กะจอบ   “   เสียม
คุโยน   “   ภาชนะชนิดหนึ่งสาน
ด้วยไม้ไผ่ยาด้วย
ชันใช้ตักน้ำจากบ่อขุด
กะต๋าง   “   ถังน้ำ
อีมุย   “   ขวาน
ตุ๊กแก้ม   “   จิ้งจก
ลูกแอ   “   ลูกกระบือ
แมงกะบี้   “   ผีเสื้อ
ตุ๊กกะเดี้ย   “   ลูกน้ำ
ลูกโจ๋   ความหมายคือ   ลูกสุนัข
หยูด   “   ไม่กรอบ
กากหมู่   “   หนังหมูทอดพอง
แมงอี้หนีด   “   จิ้งหรีด

       
๓. คำสร้อย ใช้เสียงดนตรีในการขึ้น หรือจบประโยคในการสนทนา
ภาษากลาง   ภาษาพรานกระต่าย
ซิเรา   ฮิหล่าว
นั่น   ฮ่าน
ไปไหนมา   ไปไหนมาหล่า,ไปไหนมาเล๊า
เถอะ   เฮอะ ( ไปกันเฮอะ)
เอาซิ   เอาฮิ
ก้าย   คำลงท้ายจบประโยคในการพูด
หล่า   สร้อยคำพูดหลังจบประโยคคำถาม
        ๔
. ภาษาเปลี่ยนไป
อยู่ที่นี่   โด๋นิ
อยู่โน่น   โด๋น่ะ


ภาษาถิ่น   คำอ่าน   ภาษากลาง/ความหมาย
กงล้อ,กงรถ   กง – ล้อ, กง - รถ   ล้อรถ
กงแน๋ว   กง - แหนว   ตรงไป
กระเจิง   กะ – เจิง   กระจาย
กะต้า   กะ – ต้า   ตะกร้า
กะลุ้ง   กะ – ลุ้ง   ลังใส่ของ
กะบวย   กะ – บวย   ที่ตักน้ำ
กะบ๊ก   กะ – บ๊ก   จอบ
กะปี๊บ   กะ – ปี๊ป   ปีปน้ำ
กะมัง   กะ – มัง   กาละมัง
คว่ำข้าวเม่า   คว่ำ- ข้าว –เม่า   ล้ม กลิ้งไป
ก๊วยติ๊งนง   ก๊วย – ติ้ง – หนง   นั่งไขว่ห้าง
ก้อนเซ่า   ก้อน – เซ่า   ก้อนดินวางเป็นเส้า 3 ก้อนใช้หุงข้าว
กระบวย   กะ – บวย   กะบวยตักน้ำ
กะจ้อน   กะ – จ้อน   กระแต
กะชุก   กะ – ชุก   เสื่อหักมุม(เสื่อชนิดหนึ่งเหมือนบุ้งกี๋ชนกัน
กะเดียด   กะ – เดียด   เอาของวางที่เอวแล้วเดินๆไป
กะต้อ   กะ – ต้อ   กระโชงโลงวิดน้ำ
กะด๋อนกะแด๋น   กะ – ด๋อน - กะ – แด๋น   ไม่เรียบ ไม่สม่ำเสมอ
กะต๋อนกะแต๋น   กะ – ต๋อน – กะ – แต๋น   ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน
กะต๋าย   กะ – ต๋าย   กระต่าย
กะเทิ๊ด   กะ – เทิ๊ด   เลื่อน ,เคลื่อนที่
กะทุนล้อ   กะ – ทุน – ล้อ   หลังคาล้อเกวียนสานด้วยไม้
ไผ่กุด้วยใบตอง
กะบ๊ก   กะ – บ๊ก   จอบ
กะบวกกะบั๋ว   กะ – บวก – กะ บั๋ว   เป็นหลุมเป็นบ่อ
กะบั่ว   กะ – บั๋ว   ยุบเป็นรอยควาย
กะบ๊ะ   กะ – บ๊ะ   ถาดใส่ข้าว
กะเบ๊อะ   กะ – เบ๊อะ   เป็นก้อนใหญ่
กะพือ   กะ – พือ   พัด
กะเล็นเต   กะ – เล็น – เต   กระแตตัวเล็กๆ
กะโล่   กะ – โล่   ไม้สานสำหรับใส่ข้าว
กะโหลกกะลา   กะ –โหลก – กะ – ลา   กะลามะพร้าว
กิ้งก๋า   กิ้ง – ก๋า   กิ้งก่า
กินจุ๊จริงๆ   กิน – จุ๊ - จิง – จิง   กินกับข้าวมาก
กินเติบ   กิน – เติบ   กิน ข้าวได้มากๆ
กุ๊กๆ   กุ๊ก – กุ๊ก   เรียกไก่ให้มา
แกวนไฟ   แกวน – ไฟ   จุดไฟสกัดกั้นไม่ให้ไปลามมา
โกรกไม้   โกรก – ไม้   เลื่อยไม้
โก๊กๆ   โก๊ก – โก๊ก   เรียกไก่
ไก๋   ไก๋   ไก่
ไก๋ตักกะต๊าก   ไก่ – ตัก – กะ – ต๊าก   ไก่ตัวเมียตกใจร้อง
ก๋อไฟ   ก๋อ – ไฟ   ก่อกองไฟ
กล๋าวโทษ   กล๋าว – โทด   โทษ
ขนมคู่   ขะ- หนม – คู๋   ปาท่องโก๋
ข้าวเกียบโป๋ง   ข้าว – เกียบ – โป๋ง   ข้าวเกรียบว่าว
ขี้โก๊ะ   ขี้ – โก๊ะ   ขี้หัว
ขี้เท่อ   ขี้ – เท่อ   คนสมองไม่ดี – มีดไม่คม
ขี้ตะเก๊ด   ขี้ – ตะ – เก๊ด   ไม้เชื้อไฟ
ขึ้นกะปุ่มกะปิ๋ม   ขึ้น – กะ – ปุ๋ม – กะ – ปิ๋ม   ขึ้นปริ,พุ่งจะแตกปริ
ไขว   ไขว   ไขว่ห้าง
เขยิ้บ   ขะ – เยิ้บ   การเคลื่อนตัวเข้า – ออกโดย
ไม่ยกก้น
ควายฮึด   ควาย – ฮึด   ควายขวิด
คว่ำข้าเม่า   คว่ำ – ข้าว – เม่า   ล้มคว่ำ
คุย   คุย   เป็นเนินชายทุ่งนา
คุ่ยช่าย   คุ่ย – ช่าย   ต้นกุ๊ยช่าย
งบน้ำอ้อย   งบ – น้ำ – อ้อย   น้ำอ้อยที่หยอดเป็นแผ่นทรง
งัว   งัว   วัว
แงะ   แงะ   หันไปมอง
เงิง   เงิง   ทับกันไม่สนิท
โงนเงน   โงน – เงน   จะล้มลง -ฐานไม่แน่น
จ๊กดิน   จ๊ก – ดิน   ขุดดิน
จริงไม๊   จิง – ไม๊   จริงหรือไม่จริง
จัง   จัง   ถูก เจอ
จิ้งจัง   จิ้ง – จัง   มากมาย
จิ๊งเหล่น   จิ้ง – เหล่น   จิ้งเหลน
จุ๊กกะจี๋   จุ๊ก – กะ – จี๋   ตัวด้วงหรือแมลงที่เกิดจาก
เจิ๋งเลิ้ง   เจิ๋ง – เลิ้ง   น้ำมากเกินไป
เจิ๋นทาง   เจิ๋น – ทาง   หลงทางเดิน
โจ๋ๆ   โจ๋ – โจ๋   เรียกลูกหมา
ซะมุก   ซะ – มุก   กินมูมมาม ไม่เรียบร้อย
ชะโลกโกกเกก   ชะ – โลก – ก๊ก - เก๊ก   หุบเขาที่มีหินมาก
ซุหั่ว   ซุ – หั่ว   สระผม
ซ๊กม๊ก   ซ๊ก – ม๊ก   สกปรก
ดอกกระดาษ   ดอก – กระ –ดาด   ดอกเฟื่องฟ้า
ดั๊กตุ้ม   ดั๊ก – ตู้ม   การจับปลาด้วย
เครื่องจักสาน
ดั้งกางเกง   ดั้ง – กาง – เกง   เป้า กางเกง
เดี๊ยะๆ   เดี๊ยะ – เดี๊ยะ   ดุให้หยุดการกระทำ
เดินโดกเดก   เดิน – โดก – เดก   เดินไปเดินมา
โด๋ยนิ   โด๋ย – นิ   ใกล้ๆนี่
ตรงโน้น   ตรง – โน๊น   ตรงนั้น
ตะงุดๆ   ตะ - งุด - ตะ – งุด   โมโหตะหงุดตะหงิด
ต๊กใจ   ต๊ก – ใจ   ตกใจ
ตอดตอ   ตอด – ตอ   ตุ๊กแก
ตะไก   ตะ – ไก   กรรไกร
ตุ๊กแก้ม   ตุ๊ก – แก้ม   จิ้งจก
ตะคั่นตะครอ   ตะ – คั่น – ตะ - คอ   อาการครั่นเนื้อครั่น
ตัวเหมือนจะเป็นไข้
ตะปิ้ง   ตะ – ปิ้ง   เครื่องเงินสำหรับปิด
อวัยวะเพศเด็กผู้หญิง
ตะรูน   ตะ – รูน   พุ่งตัวออกไป, รีบร้อน
ตะวัก   ตะ – วัก   กะลามาทำเป็น
รูปช้อนตักข้าว
ตุ๊กกะเดียม   ตุ๊ก – กะ – เดียม   จั๊กกะจี้
ต๊กกะเด๋ง   ต๊ก – กะ – เด๋ง   กระดานหก
ติ๋น   ติ๋น   เนื้องอก
ตกกะเดี้ย   ตก – กะ – เดี้ย   ลูกน้ำ
แตกระแห่ง   แตก – ระ – แห่ง   ผิวแตก
ถะร้อง   ถะ – ร้อง   ป่าที่ต่ำ
ถั๋วไก่   ถั่ว – ไก๋   ถั่วเขียว
ถาด   ถาด   กระทกให้
ควายไปทางขวา
ถุ่ง   ถุงยาง   ถุงพลาสติกใส่ของ
ทด   ทด   ทำนบ
ท้องเปาะ   ท้อง – เปาะ   ท้องเสีย
ถ่อยลงมา   ถ่อย – ลง – มา   เลื่อนของ
ลงมาจากที่สูง
เทิน เทิน วางของซ้อนกัน
แทงคอน   แทง – คอน   ไปเช้ามืด
นกก๊อด   นก – ก๊อด   นกประหลอด
นกอีตุ้ม   นก – อี้ – ตุ้ม   นกตะลุ่ม
นอนแอ้งแม้ง   นอน – แอ้ง –แม้ง   นอนหมดเรี่ยว
หมดแรง
นอนไขว๋ห้าง   นอน – ไขว๋ – ห้าง   นอนยกเข่า
ขาทับซ้อนกัน
นอนแผ๋หล๋า   นอน – แผ๋ – หลา   นอนหงายหมดอาลัย
นอนเอกขะเน๊ก   นอน – เอก – ขะ – เน๊ก   นอนหงายอย่างสบายใจ
หน๋อไม้   หน๋อ – ไม้   หน่อไม้ไผ่
น้ำแหน๋   น้ำ – แหน๋   น้อยหน่า
นุง   นุง   ชื่นไม่กรอบ
โน้น   โน้น   ไกลลิบ
บ้องหู่   บ้อง – หู่   ใบหู
บะเล่อบะล่า   บะ – เล่อ – บะ – ล่า   ใหญ่โต
ปลาต๊กคลั่ก   ปลา – ต๊ก – คลั่ก   ปลาที่อยู่ในหนองน้ำ
ใกล้จะแห้ง
ปลาบ้วน   ปลา – บ้วน   ปลาขึ้นมาหายใจ
บนผิวน้ำ
ปลาเฮ้ด   ปลา – เฮ้ด   ทอดมันปลา
ปลาหง   ปลา – หง   ปลาตัวเล็กๆ,ลูกปลาตัวแดงๆ
ปั๊กกะเดก   ปั๊ก – กะ – เดก   ขาหัก
ปูก้ามเท่อ   ปู – ก้าม – เทอ   ปูก้ามใหญ่
ปูก้ามเทิ่ง   ปู – ก้าม –เทิ่ง   ปูตัวผู้ก้ามใหญ่
เป็นดุ้น   เป็น – ดุ้น   เป็นท่อน
เปรียว   เปรียว   ไม่เชื่อง
เปิดหน้าถัง   เปิด – หน้า – ถัง   เปิดประตูที่เป็นแผ่นพับ
แป๊ะเข่ามา   แป๊ะ – เข่า – มา   อาศัยเขามาด้วย
พักไห   พัก – ไห   มะระ
ผ้าคะม้า   ผ้า – คะ – ม้า   ผ้าขาวม้า
ผ้าห่มเช้า   ผ้า – ห่อ – เช้า   ผ้าขนหนู
ผ้าอีเตี๋ยว   ผ้า – อี – เตี๋ยว   ผ้าที่พันหม้อนึ่งข้าวเหนียว
โผเผ   โผ – เผ   เหนื่อยล้าแทบหมดแรง
ฝนกุ๋ม   ฝน – กุ๋ม   ฝนตกนานมาก(เมฆครึ้ม)
ฝนตกฉ่อฉ่อ   ฝน – ตก – ฉ่อ – ฉ่อ   ฝนตกพรำๆ
ฝนมีด   ฝน – มีด   ลับมีด
ฟ้าทะแหลบ   ฟ้า – ทะ – แหลบ   ฟ้าแลบ
ฝรั๋ง   ฟะ – หรั๋ง   ฝรั่ง(ผลไม้)
ม้วนกระลอก   ม้วน- กระ ลอก   อาการดิ้นยังไม่ตาย
มอง   มอง   ครกกระเดื่องตำข้าว
มะเขื่อรื่น   มะ – เขื่อ – รื่น   มะเขือรื่น
พุดทรา   พุด – ซา   พุทรา
มั่วอี้ตั้ว   มั่ว – อี้ – ตั้ว   ชุลมุนวุ่นวาย
มาฮิ   มา - ฮิ   มาซิ
แมงแสบ   แมง - แสบ   แมลงสาบ
แมงอีทอง   แมง – อี – ทอง   แมลงทับ
โม๋   โม๋   โผล่ขึ้นมา
ไม้กระตาก   ไม้ – กระ - ตาก   ไม้ท่อนขนาดเหมาะมือ
ไม้เท้าเอว   ไม้ – เท้า – เอว   ไม้ยันเรือนล้อ
ไม้แง่ม   ไม้ – แง่ม   ไม้สอยผลไม้
ยุ่ย   ยุ่ย   ยุ่ยสลาย, เปื่อย
หยูด   หยูด   เหี่ยวย่น
รถเครื่อง   รถ – เครื่อง   รถมอเตอร์ไซด์
รถอีเล่อ   รถ – อี – เล่อ   รถไถนา
ลอกควาย   ลอก – ควาย   กระดิ่งแขวนคอควาย
ล้อกะแทะ   ล้อ – กะ – แทะ   ล้อที่มีเหล็กหุ้มหน้ากง
ลอยกะเผ๋อเหล๋อ   ลอย – กะ – เผลอ – เหลอ   ของลอยอยู่ในน้ำ มากมาย
ล้ออีแอ๋ว   ล้อ – อี้ – แอ๋ว   ล้อหมุน
ลากแตกลากแตน   ลาก – แตก – ลาก – แตน   อาเจียนมากๆ
ลิ้นเตา   ลิ้น – เตา   รังผึ้งสำหรับ
ใส่ถ่านในเตา
ลิว   ลิว   โยนหรือเหวี่ยง
ลูกโจ๋   ลูก – โจ๋   ลูกหมา
ลูกต๋อม   ลูก – ต๋อม   ลูกช้าง
ลุมหลู่   ลุม – หลู่   ใกล้แจ้งใกล้สว่าง
ลูกหนัง   ลุก – หนัง   ลูกกระสุนดินเหนียว
ลูกอิฐ   ลูก – อิฐ   ลูกหิน
ลูกแอ   ลูก – แอ   ลูกควาย
แว้ง   แว้ง   เลี้ยวกลับ
สลาง   สะ – หลาง   ที่นึ่งข้าวเหนียว
เส้นนังร้อน   เส้น – นัง – ร้อน   วุ้นเส้น,เส้นแกงร้อน
เสอิ๊ก   สะ – เอิ๊ก   อาหารชนิดหนึ่ง
คล้ายๆกับห่อหมดใส่ไข่
เสือ   เสือ   เสื่อปูนอน
เสือกกะดี๋   เสือก – กะ – ดี๋   ว่ายน้ำหงายหลัง
เสือตบตูด   เสือ – ตบ – ตูด   ด้วงดักแด้
หญ้าก๋อน   หญ้า – ก๋อน   หญ้าเจ้าชู้
หนั๋งปะแด๋ะ   นั๊ง – ประ – แด๋ะ   เชือกที่ใช้หนังวัวหรือ
นั่งควายมาทำเป็นเป็นเกลียว
หม้อกา   หม้อ – กา   กาต้มน้ำร้อน
หมากเก็บ   หมาก – เก็บ   หมากเก็บ
หมู่   หมู่   หมู
หมู๋บ้าน   หมู – บ้าน   หมู่บ้าน
หยอดขิงขาง   หยอด – ขิง – ขาง   แมลงวันหยอดไข่
ยั้งก๋อน   ยั้ง – ก๋อน   หยุดก่อน
หล๋าย   หล๋าย   คลองน้ำเล็ก
หวานเห่   หวาน – เห่   ทอดเห
หอบแฮกๆ   หอบ – แฮก – แฮก   เหนื่อยจนหอบมากๆ
หอยแกลบ   หอย – แกลบ   หอยกาบ
หางโกน   หาง – โกน   เชือกที่ร้อยอ้อมควายไถนา
โหก   โหก   ไล่ควายกลับ
เหียนไส้   เหียนไส้   อาการคลื่นไส้
อ้อม   อ้อม   สายรัดวัว – ควายไว้ ไถนา
อัตตะวัด   อัด – ตะ – วัด   ควายวิ่งหรือคนไม่อยู่ ในกรอบ
อี้จี๋   อี้ – จี๋   แมลงกุดจี่
อีซิว   อี้ – ซิว   ปลาซิว
อี้ดุ๊ก   อี้ – ดุ๊ก   ปลาดุก
อี้ดี๋   อี้ – ดี๋   ปลากระดี่
อี้โผง   อี้ – โผง   กระบอกไม้เล็กๆใส่
ลูกไม้กระทุ้งแล้วเกิดเสียงดัง
อี่ข้อง   อี้ – ข้อง   ตะข้อง
อี้บุ้ง   อี้ – บุ้ง   ตัวบุ้งของผีเสื้อ
อี้โรย   อี้ – โรย   เครื่องโรยขนมจีน
อี้หง   อี้ – หง   เครื่องช้อนปลา
อี้หนีด   อี้ – หนีด   จิ้งหรีด
อี้หมอ   อี้ – หมอ   ปลาหมอ
อี้หวด   อี้ – หวด   มีดฟันหญ้า
อีกหน   อิ้ก – หน   อีกครั้ง
อี้ออดอี้แอด   อี้ – ออด –อี้ – แอด   การกระทำบ่อยครั้ง
เพียงเล็กๆน้อยๆ
อุงไป   อุง – ไป   หมุนไป (เช่น กงล้อมหมุนไป)
เอ้น   เอิ้น   เรียก
เอี้ยงไป   เอี้ยง – ไป   แอบไปมองดู
แอบหมาก   แอบ – หมาก   กระไทหมาก
ไอ้หนู่   ไอ้ – หนู่   ลูกผู้ชาย
ฮุ้มฮุ้ม   ฮุ้ม – ฮุ้ม   ฝนตกน้ำไหล มาเร็วมาก
ฮุน   ฮุน   ดึงเชือกให้ควายไปทางซ้าย
         ภาษาถิ่นพรานกระต่าย เป็นภาษาถิ่นที่งดงามควรแก่การรักษาไว้เพื่อสืบทอดสู่ลูกหลานชาวพรานกระต่ายให้นานที่สุด
ขอขอบพระคุณคุณแม่สนาม อยู่ครอบ และคุณครูจารีรัตน์ นทีประสิทธิพรที่ให้ข้อมูลภาษาถิ่นพรานกระต่าย


บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!