จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ตุลาคม 08, 2024, 09:58:28 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติ ครูมาลัย ชูพินิจ  (อ่าน 5146 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1438


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: กรกฎาคม 03, 2023, 06:15:56 am »

                                                                                  ครูมาลัย ชูพินิจ
    
          ครูมาลัย ชูพินิจ เกิดเมื่อวันพุธที่ 25 เมษายน พ.ศ.2449 ที่บ้านริมแม่น้ำปิง ตำบลคลองสวนหมาก อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร เป็นบุตรของ นายสอน และนางระเบียบ ชูพินิจ ในวัยเด็ก ครูมาลัย ชูพินิจ เข้ารับการศึกษาชั้นต้นที่จังหวัดกำแพงเพชร จนจบชั้นประโยคประถมศึกษา เมื่ออายุประมาณ ๑๐ ปี จึงเข้าไปศึกษาต่อใน ระดับสูงจนจบประโยคมัธยมศึกษา  เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๖๗
 และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ อยู่ในกรุงเทพฯ ครูมาลัย ชูพินิจ เริ่มประกอบอาชีพครั้งแรกโดยรับราชการครู ที่โรงเรียนวัดสระเกศ เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๖๗ สองปีต่อมาก็ลาออกจาก อาชีพครูเนื่องจากพอใจกับงานหนังสือพิมพ์มากกว่า และได้ยึดอาชีพนักหนังสือพิมพ์ และนักประพันธ์มาโดยตลอด ๓๗ ปี จนถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งที่ปอดเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๖ เวลา ๑๗.๔๕ น. ณ  โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ในช่วงเวลาที่ ครูมาลัย ชูพินิจ ประกอบอาชีพนักหนังสือพิมพ์ และนักประพันธ์ ได้สร้างผลงานไว้มากมาย ทั้งด้านสารคดี บทความ กีฬา ปรัชญา นวนิยาย เรื่องสั้น บทละคร มีผู้กล่าวคาดประมาณกันว่าผลงานของมาลัย ชูพินิจ มีประมาณ ๓๐๐๐ เรื่อง นับว่ามาลัย ชูพินิจ เป็นนักประพันธ์ที่มีผลงานมากที่สุดคนหนึ่ง เป็นตัวอย่างของ ความอุตสาหะ ในการประกอบอาชีพที่ดียิ่ง นามปากกาของ มาลัย ชูพินิจ ได้แก่ ก.ก.ก. จิตรลดา ฐ.ฐ.ฐ. ต่อแตน น.น.น. น้อย อินทนนท์ นายไข่ขาว นายฉันทนา นายดอกไม้ นายม้าลาย แบ๊ตตลิ่งกรอบ ผุสดี ผู้นำ พลับพลึง ม.ชูพินิจ มะกะโท แม่อนงค์ เรไร เรียมเอง ลูกป่า วิชนี ส.ส.ส. สมิง กะหร่องหนอนหนังสือ อะแลดดิน อาละดิน Aladdin อาตมา อินทนนท์น้อย อุมา ฮ.ฮ.ฮ. ฉ.ฉ.ฉ. ดุสิต ลดารักษ์
          นวนิยายที่ดีเด่น แสดงถึงความผูกพันทางความรู้สึกระหว่างครูมาลัย ชูพินิจ กับกำแพงเพชร คือ นวนิยาย เรื่อง ทุ่งมหาราช ใช้นามปากกาว่า เรียมเอง ซึ่งมาลัย ชูพินิจ กล่าวไว้ในคำนำของหนังสือว่า "ความมุ่งหมายของข้าพเจ้าในการเขียนทุ่งมหาราช ก็มิได้ ปรารถนาจะให้เป็นประวัติของตำบลคลองสวนหมาก ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนนามกันมา เป็นนครชุมหรือประวัติศาสตร์ของชาวบ้านนั้น โดยแท้จริงมากไปกว่าเสมือนบันทึกของเหตุการณ์ประจำยุค ประจำสมัย" นวนิยายเล่มนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของข้อมูลการค้นหาตนเองของอนุชนกำแพงเพชรในปัจจุบัน
          ครูมาลัย ชูพินิจ เป็นผู้มีผลงานสร้างสรรค์ต่อวงการหนังสือพิมพ์และวงการ ประพันธ์เป็นอเนกอนันต์ นอกจากงานหนังสือพิมพ์ และการประพันธ์แล้ว มาลัย ชูพินิจ ยังได้ปฏิบัติงานรับใช้สังคมอีกเป็นอันมาก ได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการในองค์การทางสังคม หลายองค์การ ในทางการเมืองได้รับแต่งตั้ง เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในทางวิชาการเป็นอาจารย์พิเศษ วิชาการบริหาร ฝ่ายบรรณาธิการของวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
          ผลงานทุกประเภทของมาลัย ชูพินิจ ได้รับการยอมรับนับถือจากทุกวงการ เกียรติยศก่อนเสียชีวิต คือการได้รับพระราชทานปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕


ชีวประวัติ
         มาลัย ชูพินิจ เป็นชาวกำแพงเพชรโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันพุธที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๙ บ้านอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิง ตำบลคลองสวนหมาก อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร บิดามารดาคือ นายสอนและนางระเบียบ ชูพินิจ ตระกูลชูพินิจ มีบรรพบุรุษสืบต่อมาจากตระกูล ณ บางช้าง ซึ่งนิยมรับราชการสืบต่อกันมา จนกระทั่งถึงชั้นปู่ของมาลัย ชูพินิจ ซึ่งได้ย้ายไปรับราชการประจำอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชรในรัชกาลที่ 5 แต่บิดามารดาของมาลัย ชูพินิจ มิได้รับราชการตามบรรพบุรุษ หากหันมาค้าไม้สักและไม้กระยาเลย อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติสำคัญของจังหวัดนั้น
         มาลัย ชูพินิจ มีน้องชายร่วมมารคา 1 คน หากเสียชีวิตแต่เยาว์วัย ด้วยไข้ทรพิษ ต่อมาเมื่อมาลัย  ชูพินิจ มีอายุประมาณ 10 ขวบเศษมารดาได้เสียชีวิตลง หลังมรณกรรมของมารดา บิดาของเขาได้แต่งงานใหม่ และมีบุตรชาย หญิงซึ่งนับเป็นน้องต่างมารดาของมาลัย ชูพินิจ อีก ๔ คน คือ
         ๑. เด็กชาย... ชูพินิจ (ถึงแก่กรรม)
         ๒. นางสาวสำเนียง ชูพินิจ (ถึงแก่กรรม)
         ๓. นายประสาน ชูพินิจ  (ถึงแก่กรรม)
         ๔. นางสาวมาลี ชูพินิจ (ถึงแก่กรรม)
         มาลัย ชูพินิจ ใช้ชีวิตวัยเด็กที่ตำบลคลองสวนหมาก จังหวัดกำแพงเพชร อยู่จนอายุประมาณ ๑๐ ขวบเศษ จึงได้เดินทางไปพำนักอยู่ที่กรุงเทพมหานครเพื่อศึกษาต่อ โดยในชั้นแรกได้พักอาศัยอยู่กับญาติผู้หนึ่ง จนย่างเข้าวัยรุ่น จึงได้เข้าไปอาศัยอยู่กับพระยามหาอำมาตยาธิบดี ที่ตำบลยศเสจนกระทั่งสำเร็จการศึกษา
ด้านการศึกษา
         มาลัย ชูพินิจ ได้รับการศึกษาขั้นต้นที่วัดบรมธาตุ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บ้านที่ตำบลคลองสวนหมาก จังหวัดกำแพงเพชร แล้วย้ายไปเรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัดกำแพงเพชร จนจบประถมศึกษา
         เริ่มเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ มาลัย  ชูพินิจ ได้ย้ายไปเรียนวิชาครูโดยเฉพาะที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ
         เมื่อจบการศึกษาวิชาครูจากโรงเรียนวัดบวรนิเวศ มาลัย ชูพินิจได้กลับเข้าเรียนวิชาสามัญในมัธยมศึกษาปีที่ ๗  ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
         ในขณะที่เรียนอยู่ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย มาลัย ชูพินิจ ได้ใช้เวลาว่างในตอนกลางคืนเรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ เขาจึงได้ ชื่อว่าเป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ด้วยผู้หนึ่ง

ด้านการทำงาน
         พ.ศ.๒๔๖๙ ทำหนังสือไทยใต้ ที่จังหวัดสงขลา ตามคำชักชวนของ นายบุญทอง เลขะกุล ซึ่งเป็นเพื่อนคนหนึ่ง
         พ.ศ.๒๔๗๐ เดินทางกลับกรุงเทพฯ ตามคำชักชวนของนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ เข้าทำงานที่หนังสือพิมพ์รายวัน บางกอกการเมือง รับผิดชอบงานในแผนกสารคดี
         พ.ศ. ๒๔๗๑ ร่วมก่อตั้ง หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการ นับเป็นงานที่ประสบผลสำเร็จ มียอดขายถึง ๔,๐๐๐ ฉบับ
         พ.ศ.๒๔๗๓ ร่วมกันทำหนังสือพิมพ์ใหม่รายวัน  มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกสารคดี และบันเทิง ได้รับเงินเดือนชั้นหลังสุดที่ได้รับก่อนลาออกจากครู ทำได้ ๑ ปี คณะผู้จัดทำลาออกทั้งคณะ เพราะถูกบีบบังคับจากนายทุนผู้ดำเนินการในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
         พ.ศ ๒๔๗๕ รวมดำเนินงานจัดทำหนังสือพิมพ์ประชาชาติ มีตำแห่งเป็นหัวหน้าแผนกสารคดีและบันเทิงคดีต่อมาได้เลื่อนเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการและบรรณาธิการ การทำงานด้านหนังสือพิมพ์นี้ครูมาลัย ชูพินิจ ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยในการทำหนังสือพิมพ์ทีเดียว ทำงานอยู่ ๗ ปี จึงลาออกด้วยเหตุผลทางการเมือง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐
         พ.ศ.๒๔๘๐ ไปทำไร่ถั่วเหลือง ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
         พ.ศ.๒๔๘๑ รวบรวมพรรคพวกตั้งบริษัทจำกัด ไทยวิวัฒน์ (ต่อมาเป็นบริษัท อักษรนิติ) ออกหนังสือพิมพ์ฉบับบ่าย ประชามิตร รายวัน ตำแหน่งผู้ช่วยบรรณาธิการ และหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ ฉบับเช้า ตำแหน่งบรรณาธิการ จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๖ จึงลาออกเพราะสุขภาพไม่ดี และขณะนั้นประเทศไทยอยู่ในภาวะสงคราม
         พ.ศ.๒๔๘๖ ไปทำสวนมะพร้าวที่อ่าวพนังตัก จังหวัดชุมพร เป็นเวลา ๑ ปี
         พ.ศ.๒๔๘๘ ร่วมกับคุณอารีย์ ลีวีระ ก่อตั้งบริษัท ไทยพาณิชยการ จำกัด จัดทำหนังสือพิมพ์รายวันสยามนิกร พิมพ์ไทย สยามสมัย ตำแหน่งที่ปรึกษาของหนังสือพิมพ์ไทย และเป็นนักเขียนประจำของบริษัทไทยพาณิชยการ จำกัด ทำงานอยู่นานถึง ๑๗ ปี

ครอบครัว
         มาลัย ชูพินิจ สมรสกับนางสาวสงวน จันทร์สิงห์ เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๙ ทั้งสองได้พบและรู้จักกันเมื่อครั้งมาลัย ชูพินิจเป็นครูสอนพิเศษวิชาภาษาอังกฤษอยู่ที่โรงเรียนรวมการสอนและนางสาวสงวน จันทร์สิงห์ไปเรียนพิเศษอยู่ที่นั่น มาลัย ชูพินิจ มีบุตรและธิดา รวม ๕ คน คือ
         1. นายสุคต ชูพินิจ นิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
         2. นายกิตติ ชูพินิจ รัฐศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
         3. นางขนิษฐา ณ บางช้าง ศิลปะบัณฑิต (โบราณคดี) มหาวิทยาลัยศิลปากร
         4. นางสาวโสมนัส ชูพินิจ อักษรศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
         5. นางสาวสมาพร ชูพินิจ นิสิตคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
         ชีวิตครอบครัวของมาลัย ชูพินิจเป็นชีวิตที่สงบ ราบรื่นและมีความสุข แม้จะมีงานในตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ เป็นอันมาก แต่มาลัย ชูพินิจ ก็สามารถแบ่งเวลาสำหรับครอบครัวได้เสมอ เขาเป็นพ่อที่ลูกจะเข้าไปหาเพื่อปรึกษาและขอคำแนะนำได้ทุกเวลาและทุกกรณี

ถึงแก่กรรม
         มาลัย ชูพินิจ เป็นผู้ที่ทำงานหนักมาตลอดชีวิต โดยมิได้คำนึงถึงสุขภาพของตนเอง แม้กระนั้นเขาก็ยังคงเป็นผู้มีสุขภาพดีและแข็งแรงอยู่เสมอ จนกระทั่งประมาณต้นปี ๒๕๐๖ สุขภาพเขาเริ่มทรุดโทรมลง มีอาการเจ็บป่วยบ่อยๆ แต่ก็ยังคงทำงานในหน้าที่ของเขาต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง ประมาณเดือนกรกฎาคม ๒๕๐๖ ก่อนหน้าที่จะเดินทางไปสำรวจความขาดแคลนของนักเรียนในภาคเหนือ ตามโครงการของมูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลนในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งเขาเป็นกรรมการอยู่ เขาก็ล้มเจ็บลง แต่ยังไม่ทันที่จะหายเขาก็ได้เดินทางไปภาคเหนือตามโครงการนั้นๆ จนเสร็จสิ้นภาระ จึงเดินทางกลับกรุงเทพฯและล้มเจ็บอีกครั้งหนึ่ง จนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จากการตรวจรักษาของแพทย์ปรากฏว่า เขาเป็นมะเร็งที่ปอดขั้นร้ายแรง มาลัย ชูพินิจถึงแก่กรรม ณ ห้อง ๒๒ ตึกปัญจราชินี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๐๖ เวลา 17๑๗.๔๕ น.     

ความชำนาญ
         จากการศึกษาชีวิตและงานของนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงของไทยหลายคนทั้งในอดีตและปัจจุบัน ได้พบว่า ก่อนหน้าที่จะก้าวเข้าสู่วงการหนังสือ เขาเหล่านั้นล้วนมีสิ่งผลักดันหรือได้รับความบันดาลใจให้เกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นคนเขียนหนังสือมาแล้วทั้งสิ้น
         สำหรับมาลัย ชูพินิจ ความเป็นนักประพันธ์และนักหนังสือพิมพ์ของเขามีที่มาจากภาวการณ์และแรงดลใจหลายประการ ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
         ประการแรก มาลัย ชูพินิจ มีนิสัยรักการอ่านเป็นคุณสมบัติประจำตัวมาตั้งแต่เด็ก จากการเป็นนักอ่านหนังสือนี่เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้มาลัย ชูพินิจ เป็นนักเขียนในเวลาต่อมา
         ประการที่สอง มาลัย ชูพินิจ เคยเป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยและโรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งล้วนเป็นสถานศึกษาที่ผลิตนักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียงของไทยมาหลายยุค หลายสมัย
         ประการที่สาม ซึ่งอาจจะเป็นประการสำคัญที่สุด คือ ความรัก นักประพันธ์ชายเป็นจำนวนมากได้รับแรงบันดาลใจให้เป็นนักเขียนจากความรัก มาลัย ชูพินิจ ไม่ยอมรับว่า แรงดลใจให้เป็นนักประพันธ์ของเขามาจากความรักอย่างเดียว หากแต่ถือว่ามันเป็นเพียงโซ่วงหนึ่งของสายโซ่เท่านั้น และโซ่วงนี้เขาเรียกมันว่าความบังเอิญ
         ประการที่สี่ เช่นเดียวกับที่หลวงวิจิตรวาทการ เคยสรุปสาเหตุที่ทำให้คนเป็นนักประพันธ์ไว้ข้อหนึ่งว่า คนบางคนเป็นนักประพันธ์เพื่อกระทำให้ความปรารถนาของตนบริบูรณ์ มาลัย ชูพินิจ ต้องสูญเสียความหวังและความฝันที่จะเป็นเจ้าของไร่หรือพ่อค้าไม้ไปกับภาวะตลาดไม้ตกต่ำใน พ.ศ.2463 แต่เขาก็ได้ความฝันนี้กลับคืนมาเมื่อเขาเขียน “ทุ่งมหาราช” "แผ่นดินของเรา" และเรื่องสั้นอีกหลายเรื่อง สมกับความปรารถนาของเขาเองที่ต้องการเป็นนักประพันธ์เพื่อฝันถึงสิ่งที่ตนต้องการแต่ไม่มี ฝันถึงความสำเร็จที่ตนปรารถนาแต่ไม่ได้ (สุธิรา สุขนิยม, 2532, ออนไลน์)

ผลงานสำคัญ/ที่สร้างชื่อเสียง
         - ทุ่งมหาราช มหาราช เป็นประวัติของตำบลคลองสวนหมาก จังหวัดกำแพงเพชร สะท้อนภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านในตำบลนั้น แสดงการต่อสู้ของมนุษย์กับโรคระบาดและไฟป่า
         - แผ่นดินของเรา แสดงการต่อสู้ของภัคคินีกับเคราะห์กรรมที่บังเกิดขึ้นภายหลังจากที่หล่อนหนีสามีไปอยู่กับชู้รัก จนถูกชู้รักทอดทิ้งไปมีภรรยาใหม่ บ้านถูกไฟไหม้และตนเองต้องไปประกอบอาชีพเป็นโสเภณี เพื่อหาเงินมารักษาโรคให้ชู้รัก จนในที่สุดก็ล้มเจ็บอยู่อย่างโดดเดี่ยวและกลับมาตายในบ้านของสามีเก่า
         - บันทึกจอมพลเป็นสารคดีทางการเมืองเล่มสำคัญเมหนึ่ง ซึ่งสะท้อนบรรยากาศของการเมือง ความเป็นอยู่และจิตใจของบุคคลหลายกลุ่มของไทยในช่วงเวลาระหว่างพ.ศ.2475 ถึง พ.ศ.2488 ได้อย่างแจ่มชัด แม้การลำดับเหตุการณ์บางตอนจะยังไม่ดีพอทางด้านรายละเอียด แต่การเปิดเผยเรื่องบางเรื่องซึ่งยังไม่เคยถูกนำมาเปิดเผยและเป็นเรื่องที่ออกมาจากต้นตอของข่าวโดยตรง ทำให้หนังสือเล่มนี้มีคุณค่าทางการศึกษาประวัติศาสตร์ยุคหนึ่งของไทยมิใช่น้อย
         - เสือฝ้ายสิบทิศเป็นสารคดีที่เปิดเผยชีวิตของเสื้อฝ้ายตั้งแต่ต้นจนได้ชื่อว่าเป็นขุมโจร 10 จังหวัด ผู้อ่านจะได้ทราบสาเหตุที่เขาเปลี่ยนชีวิตจากผู้ใหญ่บ้านมาเป็นโจร ความลับในเรื่องกำลังคนและอาวุธ รายละเอียดของการปล้นสะดมครั้งสำคัญนับแต่ปล้นคหบดี โรงสี โรงเลื่อย ตลอดจนเรือโยงของญี่ปุ่น กลวิธีที่ใช้ในการปล้นละวินัยของโจรในการใช้ศาลเตี้ยในการชำระความ และสาเหตุที่ทำให้เขากลับตัวเป็นคนดี (วรินทร์ธรา  ธราณิชอิศม์เดช, 2560, ออนไลน์)
         ในบั้นปลายของชีวิตครูมาลัย ชูพินิจ ประสบความสำเร็จในชีวิตที่เป็นที่ยอมรับของสังคมเป็นอย่างมากประมวลได้ดังนี้
             - พ.ศ.2502 ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
             - พ.ศ.๒๕๐๕ รับพระราชทานปริญญาบัตร วารสารดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
         ผลงานสำคัญต่างประเทศ ได้รับเชิญไปปฏิบัติงานในต่างประเทศหลายครั้ง คือ
             - ได้รับเชิญจากรัฐบาลเยอรมันตะวันตกไปสังเกตสถานการณ์ ในนครเบอร์ลินและเยอรมันตะวันตก พ.ศ.๒๕๐๒
             - ได้รับเชิญไปประชุองค์การต่อต้านคอมมิวนิสต์ (APACL) ครั้งที่ ๕ ที่นครเซอูล ประเทศเกาหลีประเทศเกาหลีใต้ และครั้งที่ ๖  ณ กรุงไทเป และดูงานที่ไต้หวัน เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓
             - ได้รับเชิญจากรัฐบาลไต้หวัน ให้ไปสังเกตการณ์ ณ เกาะคีมอย (QUEMOR)
             - ได้รับการแต่งตั้งร่วมคณะผู้แทนไทยไปร่วมสัมมนาขององค์การซีโต้  ณ เมืองละฮอร์ ประเทศปากีสถาน
             - ได้รับเชิญจากบริษัทการบินแอร์ฟรานซ์ (AIR FRANCE) เดินทางไปรอบโลก
             - ได้รับเชิญจากรัฐบาลเยอรมันไปสังเกตสถานการณ์เบอร์ลิน เยอรมันตะวันตก พร้อมทั้งรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
             - ได้รับเชิญจากรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อสังเกตการณ์การเศรษฐกิจ ศึกษาวัฒนธรรม และเพื่อความเข้าใจอันดีระหว่างกัน เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๔
             - ได้รับเชิญจากสมาคมการประพันธ์ฟิลิปปินส์ ให้ไปประชุมที่บาเกียว
             - ได้รับเชิญจากบริษัทการบิน SWISS AIR และรัฐบาลสวิสให้ไปเยือนประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ผลงาน/เกียรติคุณ/รางวัลอื่นๆ
         มาลัย ชูพินิจ เป็นนักเขียนคนหนึ่งในจำนวนน้อยคนของนักเขียนไทยที่สามารถเปลี่ยนแนวการเขียนไปต่างๆ แนว และเขียนได้ดีทุกประเภท
         เนื่องจากมาลัย ชูพินิจ เป็นทั้งนักหนังสือพิมพ์และนักประพันธ์ ในขณะเดียวกัน งานเขียนของเขาจงมีทั้งประเภทบันเทิงคดีและสารคดี ซึ่งจำแนกออกได้เป็น ๖ ประเภท คือ
         ๑. นวนิยาย
         นวนิยายของมาลัย ชูพินิจ มีทั้งประเภทเพ้อฝันและสมจริง นวนิยายที่เขียนในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๙ -๒๔๘๐ ส่วนใหญ่เป็นนวนิยายเพ้อฝัน และที่เขียนในระหว่างพ.ศ.๒๔๘๐-๒๕๐๒ ส่วนใหญ่เป็นนวนิยายสมจริง
         นวนิยายเพ้อฝันของมาลัย ชูพินิจ จำแนกออกเป็นประเภทย่อยได้ดังนี้
             ๑. นวนิยายประเภทรักโศก เนื้อเรื่องเกี่ยวกับความรักระหว่างหนุ่มสาว จบลงด้วยความเศร้า เช่น ธาตุรัก, เกิดเป็นหญิง เป็นต้น
             ๒. นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ เป็นนวนิยายที่นำโครงเรื่องมาจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หรือพงศาวดาร เป็นผลงานประเภทแรกที่สุดของมาลัย ชูพินิจ ซึ่งเขียนตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้แก่ สงครามชิงนางและศึกอนงค์ ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๘๒ ได้เขียนเรื่อง ยอดทหารหาญ และหลังจากที่หันไปสนใจเขียนนวนิยายสมจริงเป็นเวลาหลายปี เขาได้กลับมาเขียนนวนิยายประเภทนี้อีกครั้งหนึ่งคือเรื่องล่าฟ้า
             ๓. นวนิยายอิงวรรณคดี คือน วนิยายที่เขียนโดยนำโครงเรื่องมาจากวรรณคดี มีเพียงเรื่องเดียวคือ ชายชาตรี
             ๔. นวนิยายสมจริงของมาลัย ชูพินิจ จำแนกออกเป็นประเภทย่อยได้ดังนี้
                 ๔.๑ นวนิยายแสดงแนวคิด คือนวนิยายที่สร้างเนื้อเรื่องจากแนวความคิด เพื่อแสดงให้เห็นแนวความคิดนั้น ๆ เด่นชัดขึ้น เช่นเรื่อง ความรักลอยมา แสดงแนวคิดว่า ผู้ที่สามารถดำรงชีวิตให้เป็นสุขได้ จะต้องรู้จักตนเองและความต้องการของตนเองให้แน่นอน เพื่อที่จะได้ปฏิบัติตนไปตามแนวทางที่ตนต้องการ และต้องไม่เรียกร้องทุกสิ่งทุกอย่างจากชีวิต เพราะเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
                 ๔.๒ นวนิยายแสดงปัญหา คือนวนิยายที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ เช่น ความเลวร้ายทางการเมือง, ความเหลวแหลกของสังคม, การปฏิรูปที่คุมขัง, การหย่าร้างและปัญหาเยาวชน เป็นต้น นวนิยายประเภทนี้ มาลัย ชูพินิจเขียนไว้หลายเล่ม เช่นเรื่อง ลมแดง แสดงปัญหาความขัดแย้งระหว่างนายทุนและกรรมกร เป็นต้น
                 ๔.๓ นวนิยายสังคม คือนวนิยายที่หยิบยกส่วนหนึ่งของสังคมมาเป็นเนื้อเรื่อง เช่น ทุ่งมหาราช เป็นประวัติของตำบลคลองสวนหมาก จังหวัดกำแพงเพชร สะท้อนภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านในตำบลนั้น
                 ๔.๔ นวนิยายผจญภัย คือนวนิยายที่เกี่ยวกับการเสี่ยงโชคและงานที่เต็มไปด้วยอันตรายและการเสี่ยงภัย นวนิยายประเภทนี้ได้แก่ ล่องไพร และลูกไพร
                 ๔,๕ นวนิยายนักสืบ คือนวนิยายที่เกี่ยวกับการสอบสวนสืบสวนเรื่องลึกลับต่างๆจากร่องรอยหรือการไขปัญหา นวนิยายประเภทนี้มีน้อยมาก ได้แก่เรื่อง เสือจำศีล และชายสามหน้า
         ๒. เรื่องสั้น
         มาลัย ชูพินิจ เริ่มเขียนเรื่องสั้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ โดยเรื่องสั้นแรกสุดของเขาเท่าที่ค้นพบคือ หล่อนผู้ก่อกรรม ใช้นามปากกา ม.ชูพินิจ พิมพ์ในนิตยสารศัพท์ไทย ต่อจากนั้นเขาก็มีผลงานประเภทนี้ลงพิมพ์ติดต่อกันเรื่อยมา โดยไม่ขาดระยะในนิตยสารและหนังสือพิมพ์หลายฉบับ
         เรื่องสั้นของมาลัย ชูพินิจ แบ่งออกเป็น ๔ ลักษณะ คือ
             ๒.๑ เรื่องสั้นประเภทไม่มีโครงเรื่อง คือเรื่องสั้นประเภทเหตุการณ์ที่มีความหมาย เป็นเรื่องเล่าถึงเหตุการณ์อย่างหนึ่งที่เป็นประสบการณ์ของตัวละคร ซึ่งในสายตาของผู้อื่นแล้วไม่แลเห็นความสำคัญอะไร แต่ผู้เขียนทำให้สำคัญ เช่นเรื่อง แก้เผ็ด เป็นเรื่องของหญิงชายคู่หนึ่งซึ่งต่างคนต่างถูกคนรักทรยศต่อความรัก ทั้งสองได้พบกันโดยบังเอิญและเมื่อได้รู้ว่า แต่ละคนผิดหวังมาจากความรักแล้วก็ตัดสินใจร่วมชีวิตใหม่กันต่อไป
             ๒.๒ เรื่องสั้นประเภทแสดงโครงเรื่อง คือเรื่องสั้นที่ต้องการแสดงโครงเรื่องเป็นสำคัญ มาลัย ชูพินิจ เขียนเรื่องสั้นประเภทนี้มากที่สุด และส่วนใหญ่มีตอนจบเป็นแบบหักมุมหรือพลิกความคาดหมายของผู้อ่าน เช่นเรื่อง อวสานของฤดูร้อน
             ๒.๓ เรื่องสั้นประเภทแสดงแนวคิด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักและการแต่งงาน เช่น เรื่องวันแต่งงาน แสดงแนวคิดว่า การแต่งงานเป็นสิ่งที่สวยงามเมื่อยังใหม่หรือเมื่อยังมีความรักอยู่เท่านั้น แต่เมื่อความรักเสื่อมคลายลง ถ้าปราศจากความซื่อตรงจงรักและการให้อภัยแล้ว ชีวิตแต่งงานก็ไม่ยั่งยืน
             ๒.๔ เรื่องสั้นประเภทแสดงความสำคัญของฉาก ให้ฉากเป็นสิ่งสำคัญของเรื่อง เป็นการแสดงถึงอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมต่อชีวิตมนุษย์ มาลัย ชูพินิจ เขียนเรื่องประเภทนี้ได้ดี โดยมักกำหนดให้ฉากหรือสิ่งแวดล้อมเป็นผู้แก้ปัญหาชีวิตของมนุษย์หรือเปลี่ยนแปลงชีวิตมนุษย์ เช่นเรื่อง น้ำเหนือ
         ๓. บทละคร
         งานเขียนประเภทบทละครของมาลัย ชูพินิจ มี 2 ประเภท คือ
             ๓.๑ บทละครพูด บทละครพูดของมาลัย ชูพินิจ มีจุดมุ่งหมายคือเขียนให้อ่านเพื่อความบันเทิง มิใช่เขียนเพื่อการแสดงบนเวที ซึ่งเขาได้ประพันธ์ไว้มากมายได้แก่ นักเลงดี, ละครพูด, วันว่าง, แม่เลี้ยง, เพลงลา, รังรัก, การทดลองของแพรว, ฎีกา 5 บาท, เมืองใหม่, ทายาทรัก, เลขานุการินี, สามชาย, ลิปสติก, ตามใจท่าน, ช.ต.พ., ไข้รายแรก, นักย่องเบา, ยามพักฟื้น, วันดีวันร้าย, แขกนอกบัญชี, ลึกลับตลอดกาล, บ้านของเรา, สองสมัย, ไล่เบี้ย, แม่ปลาช่อน, ครูมวย, รสนิยม, นักเรียนใหม่, ชีวิตเช่า, สองสมัย ฯลฯ
             ๓.๒ บทละครวิทยุและโทรทัศน์ บทละครวิทยุของมาลัย ชูพินิจ มีเพียงเรื่องเดียวและมีชื่อเสียงมาก คือเรื่อง ล่องไพร ส่วนบทละครโทรทัศน์นั้น มาลัย ชูพินิจ เริ่มเขียนเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒  ด้วยเรื่อง สกุณาจากรัง แสดงโดยคณะกัญชลิกา ออกอากาศ ณ สถานีวิทยุไทยโทรทัศน์ และหลังจากนั้นได้เขียนบทละครให้เป็นประจำเฉลี่ยประมาณเดือนละ ๑ เรื่อง
              บทละครที่เขียนให้แก่คณะกัญชลิกาใช้ชื่อว่า ละครชีวิตครอบครัว เนื้อเรื่องเกี่ยวกับปัญหาชีวิตครอบครัว จุดมุ่งหมายเพื่อแสดงคติสอนใจและเพื่อแนะแนวทางแก้ปัญหาชีวิต ส่วนใหญ่เป็นบทละครที่เขียนขึ้นใหม่เพื่อการแสดงโดยเฉพาะ มีเพียงบางเรื่องที่ดัดแปลงจากเรื่องสั้นของตนเอง เช่นเรื่อง ตายทั้งเป็นและธาตุดิน เป็นต้น
              มาลัย ชูพินิจ เขียนบทละครโทรทัศน์ให้กับคณะกัญชลิกาติดต่อกันมาเป็นเวลาประมาณ ๓ ปี จึงหยุดเขียน เนื่องจากมีงานด้านอื่นเพิ่มขึ้น บทละครที่เขียนให้แก่คณะกัญชลิกาส่วนหนึ่ง ได้แก่เรื่อง นามหล่อนคือหญิง , สามชีวิต,  แกะในหนังราชสีห์, โคกตะแบก, ล็อตเตอรี่ที่หนึ่ง และเลขานุการใหม่
               นอกจากคณะกัญชลิกาแล้ว มาลัย ชูพินิจ ยังเขียนให้แก่คณะพงษ์ลดา พิมลพรรณ และแก่สถาบันต่างๆ ซึ่งแสดงเพื่อการกุศล เช่น มูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เช่นเรื่อง ฝันร้าย เขียนจากเค้าโครงเรื่องของคุณหญิงอุศนา ปราโมช แสดงเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๐๒
         ๕. งานเขียนคอลัมน์ประเภทต่างๆ
         งานเขียนคอลัมน์ของมาลัย ชูพินิจ มีดังนี้
             - คอลัมน์ ระหว่างบรรทัด เป็นคอลัมน์ที่มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมตั้งแต่การเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา กีฬา และอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนเรา
             - คอลัมน์ ระหว่างยก เป็นบทนำที่เขียนเป็นประจำในหนังสือพิมพ์สังเวียนซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ เกี่ยวกับวงการกีฬาและเน้นหนักในเรื่องมวยเป็นสำคัญ โดยใช้นามปากกาว่า สมิงกะหร่อง เป็นบทนำประเภทที่มีชื่อเรื่อง
             - คอลัมน์ น้อย อินทนนท์ เขียน...  เป็นคอลัมน์ประจำในสยามสมัยรายสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่ฉบับครบรอบปีที่ ๑๕ เป็นต้นมา เป็นคอลัมน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสาธารณกิจเป็นส่วนใหญ่ โดยเน้นหนักไปในเรื่องการเมืองภายในประเทศ วิธีเขียนจึงมีลักษณะเป็นแบบวิเคราะห์ประกอบกับแบบพรรณนา
             - คอลัมน์ หมายเหตุ เป็นคอลัมน์ที่เปิดขึ้นในสยามสมัยรายสัปดาห์ โดยมาลัย ชูพินิจ เขียนแทน ธนาลัย ซึ่งหยุดพักการเขียนเพื่อการอุปสมบท ใช้นามปากกาว่า น้อย อินทนนท์ ใช้วิธีเขียนแบบบทความประเภทวิเคราะห์ผสมกับพรรณนา เนื้อหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง
             - คอลัมน์ พูดกันฉันเพื่อน ใช้นามปากกา ผู้นำ ในไทยใหม่ (รายวัน) บางฉบับ เช่น ฉบับที่ ๓ มกราคม ๒๔๗๓ แสดงข้อคิดเห็นว่าผู้ที่ก้าวไปสู่ความมีชื่อเสียงด้วยการโป้ปดมดเท็จตลบตะแลงย่อมจะทานอานุภาพความจริงไปไม่ได้ และจะต้องตกลงมาอย่างไม่เป็นท่าในวันหนึ่ง
             - คอลัมน์ของนักคิด ใช้นามปากกา นายดอกไม้, ม.ชูพินิจ แสดงทัศนะและปรัชญาชีวิตอย่างสั้นๆ ในหนังสือพิมพ์ผู้นำ
             - คอลัมน์ ประชาชน เป็นคอลัมน์แสดงแง่คิดจากเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมและสวัสดิภาพของประชาชน
             - คอลัมน์ ป.ล. เป็นคอลัมน์ที่มีลักษณะเด่นและนำชื่อเสียงมาสู่ผู้เขียนเป็นอย่างมาก
             - คอลัมน์ แว่นใจ ในพิมพ์ไทยรายเดือน ใช้นามปากกาต่างๆกัน เช่น จิตรลดา, ฮ.ฮ.ฮ, ก.ก.ก, ฐ.ฐ.ฐ แสดงข้อคิดและปรัชญาชีวิต
             - คอลัมน์ ชีวิตในเดือนนี้ ในปิยมิตรรายเดือน ใช้นามปากกา นายฉันทนา แสดงทัศนะและปรัชญาชีวิต
             - คอลัมน์ บทเรียนจากชีวิต ในพิมพ์ไทยรายเดือน ใช้นามปากกาต่างๆกัน เช่น น.น.น, ส.ส.ส แสดงทัศนะและปรัชญาชีวิต
             - คอลัมน์ อาณาจักรของข้าพเจ้า ในแสนสุข ใช้นามปากกา ม.ชูพินิจ แสดงทัศนะและปรัชญาชีวิต
             - คอลัมน์ เพื่อผู้หญิง ใช้นามปากกา เรไร เนื้อหาของคอลัมน์มีขอบเขตกว้างขวางมาก นับตั้งแต่การเย็บปักษ์ถักร้อย การบริหารร่างกาย แบบบ้านและแบบเครื่องเรือนเครื่องใช้สำหรับสตรีไปจนถึงแฟชั่นเครื่องแต่งกายของสตรีด้วย
             - คอลัมน์ ปัญหาชีวิต โดยผุสดี เป็นคอลัมน์สำหรับผู้หญิงอีกแบบหนึ่งในประชามิตรรายสัปดาห์ มาลัย ชูพินิจใช้วิธีเขียนแบบเป็นจดหมายจากพี่ถึงน้อง แนะนำแนวทางที่ควรประพฤติและปฏิบัติตนของหญิงวัยรุ่น ซึ่งนอกจากจะเกี่ยวกับความรัก การคบเพื่อนต่างเพศแล้ว ยังแนะนำเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยอีกด้วย
            - คอลัมน์ เพื่อผู้ชาย โดยเรียมเอง ที่ประชาชาติรายสัปดาห์ เป็นข้อเขียนเกี่ยวกับทัศนะและเรื่องราวต่าง ๆ ที่ผู้ชายควรรู้ รวมทั้งสอนกีฬาประเภทต่างๆ
            - คอลัมน์ บ้านและโรงเรียน โดยผุสดี ซึ่งลักษณะการเขียนแต่ละบทแต่ละตอนแสดงออกถึงความเข้าใจในจิตวิทยาของเด็กและความเอาใจใส่ของผู้เขียนที่มีต่อเยาวชนได้เป็นอย่างดีจนไม่น่าเชื่อว่าผู้เขียนเป็นผู้ชาย
            - คอลัมน์ ความในใจ โดยอุมา ในประชามิตร-สุภาพบุรุษ เป็นคอลัมน์ตอบปัญหาชีวิต ซึ่งส่วนมากเกี่ยวกับความรักของหนุ่มสาว (สุธิรา สุขนิยม, 2532, ออนไลน์)
         ๕. สารคดี
         มาลัย ชูพินิจ มักเขียนสารคดีประเภทชีวประวัติบุคคลสำคัญของต่างประเทศ เช่น เรื่องโซเครตีส เจ้าลัทธิและมหาปราชญ์คนแรกแห่งกรีก ใช้นามปากกา ม.ชูพินิจ, เดวิด ทิฟวิงสโตน วีรบุรุษเอกของแอฟริกา ใช้นามปากกา นายดอกไม้, ความรักของจินตกวีเอกอิตาลี ใช้นามปากกา ผู้นำ เป็นต้น
         ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ เขาเริ่มเขียนสารคดีเชิงข่าว มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์ของโลกในขณะนั้น โดยเขียนแบบข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์คือใช้การพาดหัวแทนชื่อเรื่อง เช่น ญี่ปุ่นว่าจะรบอเมริกาแน่ในขั้นต้นจะยึดเกาะฮาวาย ซึ่งแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่แปลจากภาษาญี่ปุ่น เขียนโดย นายพลโท กิโอ คัตสุชาโต
         ในปีเดียวกัน เขาเขียนสารคดีท่องเที่ยวเป็นครั้งแรกใน ผู้นำ คือเรื่องชีวิตของการท่องเที่ยวภาคเหนือ ซึ่งเป็นเรื่องการท่องเที่ยวครั้งใหญ่ของเขา
         สารคดีอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งเขาทำขึ้นในระยะแรกคือ สารคดีภาพข่าว ซึ่งเป็นการรวบรวมภาพในเรื่องต่างๆกัน เช่น ชีวิตของพีระ, สงครามอิตาลี-อะบิสซิเนีย และจีนรบญี่ปุ่น เป็นต้น
         สารคดีที่นำชื่อเสียงมาสู่มาลัย  ชูพินิจ อย่างแท้จริงคือ สารคดีเบื้องหลังข่าว เรื่อง บันทึกจอมพลและเสือฝ้ายสิบทิศ
         ๖. งานแปล
         มาลัย ชูพินิจ เริ่มงานแปลตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๙ ผลงานแปลในระยะแรกเริ่มนี้ได้แก่ เรื่องสั้นชื่อ สามวันจากนารี ซึ่งตีพิมพ์ในศัพท์ไทย ฉบับเดือนมิถุนายน ๒๔๖๙ และสิเหน่ห์นางละคร ในสมานมิตรบันเทิง
         หลังจากนั้นเขาก็เริ่มสนใจในงานเขียนของมาเรีย คอเรลลี่(Marie Corelli) นักเขียนชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียง โดยทดลองแปลเรื่องสั้นก่อน เช่นเรื่อง ผู้คงแก่เรียน (The Stepping Stone) , ธาตุหญิง (The Withering of a Rose) และไปสวรรค์  (The Distance voice) เป็นต้น เมื่อได้ผลเป็นที่พอใจแล้วจึงเริ่มแปลและเรียบเรียงเรื่องเถ้าสวาท (Wormwood) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2471 แปลจบในเดือนมีนาคมปีเดียวกัน แล้วมอบให้สำนักพิมพ์นายเทพปรีชาจัดพิมพ์จำหน่าย
         ผลงานชิ้นสำคัญต่อมาคือเรื่อง เต็ลมา  (Thelma) ของคอเรลลี่ เช่นเดียวกันในพ.ศ. ๒๔๗๙ ส่งพิมพ์เป็นตอนๆในสยามนิกร แต่หลังจากแปลได้เพียงภาคแรก สยามนิกรก็หยุดกิจการไปชั่วคราว ทำให้มาลัย  ชูพินิจ ชะงักการแปลไปด้วย จนกระทั่งสำนักพิมพ์พิพัฒน์พานิชมาติดต่อขอนำไปพิมพ์เป็นเล่ม เขาจึงแปลต่อให้จนจบในพ.ศ.๒๔๘๕
         นอกจากผลงานด้านการประพันธ์แล้ว ครูมาลัย  ชูพินิจ ยังมีผลงานที่อุทิศตนเพื่อประโยชน์แก่สังคม โดยให้ความสนใจงานด้านการศึกษา และงานเกี่ยงกับเยาวชนการปฏิบัติเพื่อสังคม ดังนี้
             - กรรมการในคณะกรรมการฝ่ายการสื่อสารมวลชนของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วย การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
             - กรรมการบริหารมูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลนในพระบรมราชินูปถัมภ์
             - กรรมการมูลนิธิราชประชาสมาสัย
             - กรรมการสภาสังคมสงเคราะห์ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
             - ที่ปรึกษาสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
             - กรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
             - อุปนายกสมาคมภาษาและหนังสือ
             - อุปนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (สันติ อภัยราช, 2562, ออนไลน์)
ผลงานชิ้นเอกของครูมาลัย ชูพินิจ
ผลงานชิ้นเอกของ ครูมาลัย ชูพินิจ นักประพันธ์ ชาวกำแพงเพชร ที่ฉายภาพบ้านเมืองคลองสวนหมากหรือนครชุมในอดีต ระหว่าง พ.ศ.๒๔๓๓-๒๔๙๓ ครูมาลัยเขียนเรื่องนี้จากความทรงจำรำลึก ความสำนึกในบุญคุณ และความรักในมาตุภูมิ ดังที่กล่าวไว้ในคำนำหนังสือว่าเรื่องทุ่งมหาราชเป็น “เสมือนบันทึกของเหตุการณ์ประจำยุคประจำสมัย ซึ่งผ่านมาในชีวิตของข้าพเจ้าและก่อนหน้าข้าพเจ้าขึ้นไป...” เนื่องจาก “ทุ่งมหาราช” เป็นวรรณกรรมที่สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของคนปากคลองสวนหมาก การต่อสู้กับภัยธรรมชาติและภัยพิบัตินานา ด้วยความทรหดอดทนด้วยหัวใจของนักสู้ผู้มีความรักอันยิ่งใหญ่ต่อบ้านเกิดเมืองนอน โดยครูมาลัยได้ผูกโครงเรื่องและดำเนินเรื่องผ่านการต่อสู่ของตัวละครเอกในเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพินิจพิจารณาบรรยายฉากด้วยภาษาที่งดงามของนักประพันธ์แล้ว 
จะมองเห็นภาพวิถีชีวิตของคนปากคลองสวนหมาก วัฒนธรรม การละเล่น การทำมาหากินของชาวบ้าน บุคคลสำคัญ และเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ได้อย่างชัดเจน ดังตัวอย่าง “...นั่นดงเศรษฐี ไม่มีใครรู้ว่าสร้างมาเมื่อไหร่ ร้างมาแต่เมื่อไหร่ แต่มันเป็นเครื่องหมายของปู่ย่าตายายก่อนๆ เราขึ้นไปก่อนปู่ยาทวดของเราขึ้นไป เป็นมรดกที่ทิ้งไว้ให้พวกคนไทยรุ่นหลังได้ระลึก...” “...นี่เองพะโป้ผู้ยิ่งใหญ่ พะโป้ผู้มีคุณแก่ชาวกำแพงเพชรโดยทั่วไปและคลองสวนหมากโดยเฉพาะ พะโป้ผู้นำฉัตรทองแต่ตะโก้งมาประดิษฐาน ณ ยอดพระบรมธาตุ...” เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเรื่อง “ทุ่งมหาราช” เป็นวรรณกรรมท้องถิ่นของชาวกำแพงเพชรโดยแท้ ผู้อ่านสามารถมองเห็นภาพท้องถิ่นของชาวคลองสวนหมากหรือนครชุมในอดีต ซึ่งสะท้อนภาพประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งของกำแพงเพชรไว้ได้อย่างดี นอกจากเรื่อง “ทุ่งมหาราช” จะเป็นวรรณกรรมของท้องถิ่นแล้วยังได้รับยกย่องให้เป็นหนังสือดีหนึ่งใน ๑๐๐ เล่มที่คนไทยควรอ่าน
ครูมาลัย ชุพินิจ คือบุคคลสำคัญของจังหวัดกำแพงเพชร อีกท่านหนึ่ง
เอกสารอ้างอิง
http://www.sunti-apairach.com/book/book1pdf/booksec1_05.pdf
http://www.sunti-apairach.com/letter/index.php/topic,1007.0.html
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!