จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
เมษายน 20, 2024, 11:48:51 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: นครชุม  (อ่าน 2489 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1413


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: สิงหาคม 09, 2021, 09:31:15 pm »

รอบรู้เรื่องเมืองนครชุม
นครชุมดินแดนที่มีตำนานและทรงคุณค่า ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายที่น่าจดจำ ครูมาลัย ชูพินิจ นักประพันธ์เอก ผู้สร้างสรรค์นวนิยาย ที่โด่งดัง ฉายา “สุภาพบุรุษแห่งคลองสวนหมาก” นำเรื่องราวของวิถีชีวิตหรือตำนานไปเป็นแรงบันดาลใจในการประพันธ์นวนิยายที่มีชื่อเสียงอยู่หลายเรื่อง  จึงการันตีได้ว่าชุมชนนครชุมมีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย

นครชุม
      “นครชุม” เป็นตำบลเล็กๆ ในอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ที่มีประวัติยาวนานหลายร้อยปี มีโบราณสถานและโบราณวัตถุปรากฏเป็นหลักฐานอย่างมากมาย เมืองนครชุมอยู่ติดลุ่มแม่น้ำปิง ซึ่งมีลำคลองที่สำคัญคือ “คลองสวนหมาก”  เนื่องจากนครชุมในอดีตเป็นเมืองค้าขาย โดยเฉพาะค้าไม้และของจำเป็นอื่นๆ จึงมีทั้งพ่อค้าและแรงงานจากต่างถิ่นหลากหลายชนชาติทั้ง ไทย จีน กะเหรี่ยง มอญ และลาว ทำให้มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย นอกจากนั้นยังมีประวัติเล่าขานมากมาย มาเป็นนวนิยาย เรื่อง ทุ่งมหาราชครูมาลัย ชูพินิจ” ได้นำบรรยากาศของเมืองนครชุมและประวัติศาสตร์ของเมืองนครชุมมาเป็นฉากหลัง พร้อมกับหยิบเรื่องราวของ “พะโป้” ชาวกะเหรี่ยงผู้ได้รับสัมปทานไม้แห่งเมืองกำแพงเพชร ที่มาตั้งบ้านเรือนที่บริเวณปากคลองสวนหมาก ซึ่งเคยมีชีวิตอยู่จริงมาเป็นตัวละครในนวนิยายที่แต่งขึ้น      ทำให้นวนิยายเรื่องทุ่งมหาราช ฉายภาพชีวิต ของชาวบ้านปากคลองโดยเฉพาะทิดรื่น หรือขุนนิคมบริบาลผู้นำชาวบ้านปากคลอง  ได้อย่างชัดเจนที่สุดในสมัยของ ช่วงหนึ่งร้อยกว่าปีที่ผ่านมา
ประวัติ
ตำบลนครชุมตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบริเวณปากคลองสวนหมากทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร จากจารึกหลักที่ 3 ในต้นพุทธศตวรรษ ที่ 19 (1900) บ้านนครชุมมีชื่อเรียกว่า “นครพระชุม” เป็นเมืองสำคัญในสมัยสุโขทัย ความสำคัญของเมือง ”นครพระชุม” เห็นได้จากการที่พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่วัดพระมหาธาตุโดยนำหน่อมาจากศรีลังกา และอาจจะทรงสร้างเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ อย่างน้อย 1 ในจำนวน 3 องค์ ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ภายในเจดีย์นั้น เมื่อครบรอบดิถีแห่งมาฆปูรณมี (เพ็ญเดือนสาม) พระองค์และเหล่าโยธาทวยหาญบริพารบรรดามี เสด็จยังวัดพระมหาธาตุเมืองนครพระชุม เพื่อประกอบกรณียกิจทางศาสนา
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 8 (2468)  ได้มีการเปลี่ยนชื่อจากเดิม บ้านปากคลองสวนหมาก เป็นบ้านนครชุม ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในตำบลของจังหวัดกำแพงเพชร เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีศิลปวัฒนธรรม ที่สืบทอดและผสมผสานความเป็นอยู่ของคนมอญ คนลาว พม่า กะเหรี่ยง จีน ไทย และคนในพื้นที่ไว้ด้วยกันอย่างแนบแน่น ผู้คนดำเนินชีวิตตามปกติในเมืองโบราณที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขด้วยสภาพของบ้านช่องที่ยังหลงเหลือให้ได้ชมและบรรยากาศโดยรวมยังมีกลิ่นอายของอดีตอยู่ไม่น้อย

สถานที่ท่องเที่ยว
ชุมชนนครชุมมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามหลายแห่งขอรับประกันได้เลยว่าทุกท่านจะตื่นตาตื่นใจกับความงามอย่างไร้ของสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าและควรค่าแก่การรับชมอย่างยิ่ง

ตลาดย้อนยุคนครชุม
ตลาดย้อนยุคนครชุมเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของชาวนครชุม โดยจะจัดขึ้นทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ในสัปดาห์แรกของทุกเดือน เวลา 15:00 - 21:00 น. โดยตลาดนั้นจะถูกจำลองให้เป็นแบบย้อนยุคที่ชวนให้นึกถึงบรรยากาศเก่าๆของตลาดซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการค้าย่านธุรกิจที่มีการค้าขายเจริญรุ่งเรืองครั้งในอดีตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการค้าขายให้แก่คนในพื้นที่ เหล่าพ่อค้าแม่ขายจะแต่งกายแบบย้อนยุค และขายอาหารพื้นบ้านแบบดั้งเดิมให้ได้ลองชิมอีกด้วย อีกทั้งยังมีศิลปหัตถกรรม อาทิเช่น การจักสานไม้ไผ่ ให้ได้เยี่ยมชม นอกจากนั้นแล้วภายในตลาดจะมีการละเล่นพื้นบ้าน การประกวดร้องเพลงไทยลูกทุ่ง ตลอดจนการบรรเลงดนตรีเครื่องสายหรือบรรเลงดนตรีไทย เพื่อปลูกฝังคนรุ่นใหม่ให้อนุรักษ์และสืบสานขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของชาวนครชุมให้คงอยู่สืบต่อไป


บ้านห้างฯโบราณ สมัยรัชกาลที่ ๕
   เมื่อพูดถึงสถาปัตยกรรมที่ขึ้นชื่อของตำบลนครชุม บ้านห้างฯโบราณ สมัยรัชกาลที่ ๕ จัดได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีความสำคัญและเต็มไปด้วยเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านนครชุม รวมไปถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ เรียกได้ว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของตำบลนครชุมเลยก็ว่าได้
   บ้านห้างฯโบราณ สมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “บ้านห้างร. ๕”, “บ้านห้างล่ำซำ”, “บ้านผีสิง”, “บ้านห้างพะโป้”, และมีชื่อเรียกอีกมากมาย เป็นบ้านของคหบดีทำสัมปทานไม้ชาวกระเหรี่ยงนามว่า “พะโป้” ที่ได้ซื้อต่อมาจากพระยาราม เจ้าเมืองกําแพงเพชร เพื่อใช้เป็น สำนักงานบริหารกิจการไม้ ควบคุมเส้นทางการชักลากไม้ออกจากป่าคลองสวนหมาก แล้วลําเลียงผูกเป็นแพ ล่องลงไปยังนครสวรรค์อันเป็นชุมทางการค้าไม้ที่สำคัญในเขตภาคเหนือตอนล่าง โดยตัวบ้านนั้นเป็นรูปแบบอาคารไม้ ๒ ชั้น ในอดีตรูปอาคารเป็นทรงตัวยู แต่ในปัจจุบันได้มีบางส่วนปรักหักพักลงจึงคงเหลือไว้ให้เห็นเป็นอาคารไม้เดี่ยวเท่านั้น ซึ่งชั้นล่างสูงกว่าบ้านทั่วไปและยกพื้นพ้นดินขึ้นมามากกว่า ๑ วา สร้างด้วยไม้สักเกือบทั้งหลัง รูปแบบไทยผสมตะวันตก ประตูเป็นไม้ ฉลุลายอย่างละเอียด ประณีต ระเบียงชั้นบนล้อมรอบอาคาร ซึ่งสามารถที่จะเดินได้รอบตัวอาคาร บริเวณเชิงชายประดับด้วยไม้ฉลุลาย เสา ชายคา และลูกกรงเป็นรูปแบบงานกลึง ดูอ่อนช้อย สวยงาม เหมือนบ้านพักตากอากาศและคล้ายราชวังทางตะวันตก ซึ่งปัจจุบันบ้านหลังนี้มีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปีแล้ว
   ครั้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชร ก็ได้เสด็จเยือน ณ บ้านห้างหลังนี้จึงเป็นที่มาของชื่อที่เรียกว่า “บ้านห้างร.๕” ซึ่งจะปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์ในจดหมายเหตุการเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ ของพระพุทธเจ้าหลวง
   บ้านห้างฯโบราณ สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่หากใครมาเที่ยวนครชุมแล้วไม่ควรพลาดที่จะมาเยี่ยมชม เพราะสถานที่แห่งนี้นับว่าเป็นสถานที่ที่ทรงคุณค่า และควรค่าแก่การอนุรักษ์ เพื่อเป็นเอกลักษณ์และสัญลักษณ์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและตัวตนของคนนครชุม

ป้อมทุ่งเศรษฐี
             ป้อมทุ่งเศรษฐี เมืองกำแพงเพชร เป็นป้อมนอกเมืองกำแพงเพชรอยู่คนละฝั่งแม่น้ำปิงและตัวเมือง การก่อสร้างสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบยุโรป คาดว่า เป็นชาติโปรตุเกส มาสร้างให้ โดยการขน ศิลาแลง มาจากฝั่งกำแพงเพชร มาทำป้อมปราการที่ทันสมัยและแข็งแกร่งที่สุดในสมัยนั้น
โดยตัวป้อมทุ่งเศรษฐีนั้น ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธินริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๑ ก่อนถึงตัวเมืองกำแพงเพชรเล็กน้อยและอยู่นอกเมืองนครชุมทางด้านทิศใต้ เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่จะเห็นได้ว่ามีกำแพงศิลาแลงเป็นป้อมและมีใบเสมาเหลืออยู่ ป้อมนี้ก่อด้วยศิลาแลงกว้าง ๘๓.๕ เมตร มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สูงประมาณ ๖ เมตร ตรงกลางแต่ละด้านมีช่องประตูเข้า – ออกบริเวณกึ่งกลางป้อมทั้ง ๔ ด้าน ทางด้านในก่อเป็นเชิงเทินพอเดินหลีกกันได้ ตรงฐานป้อมใต้เชิงเทินเป็นห้องมีทางเดินต่อกันได้ มีช่องมองอยู่ติดกับพื้นที่ก่อด้วยศิลาแลง กำแพงด้านนอกก่อเป็นผนังสูง ตอนบนสุดของกำแพงก่อเป็นรูปใบเสมา ใต้ใบเสมาทุกใบมีช่องซึ่งอาจจะใช้เป็นช่องปืน ส่วนตรงมุมกำแพงทั้ง ๔ มุม ทำเป็นป้อมรูปสี่เหลี่ยมยื่นออกมา ตอนล่างของแนวกำแพงมีช่องกุดทำเป็นวงโค้งมียอดแหลม ป้อมทุ่งเศรษฐีมีการก่อสร้างป้อมนี้ให้มีความมั่นคงมาก แต่ด้านทิศเหนือถูกรื้อออกไปด้านหนึ่ง จึงเหลือเพียง ๓ ด้าน บริเวณนี้มีวัดเก่าแก่หลายวัด เช่น วัดหนองพิกุล วัดซุ้มกอ วัดหนองลังกา เป็นต้น และที่สำคัญเป็นบริเวณที่พบพระเครื่องเลื่องลือว่าเป็นที่ขึ้นชื่อของเมืองกำแพงเพชร เช่น พระซุ้มกอ ลีลาเม็ดขนุน ทุ่งเศรษฐี หรือกำแพงเขย่ง ปัจจุบันกำแพงเหลืออยู่เพียงบางส่วน โดยบางส่วนนั้นได้ถูกรื้อออกเพื่อนำไปถมตลิ่งหน้าวัดพระบรมธาตุเจดียาราม เมื่อครั้งบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ ป้อมทุ่งเศรษฐีนี้ยังเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีการค้นพบพระเครื่องที่มีชื่อเสียงของป้อมทุ่งเศรษฐีอีกด้วย หลังรอดจากการรื้อเพราะมีการก่อสร้างถนน ผ่านป้อมอย่างหวุดหวิด เพราะทุกคนเห็นความสำคัญของป้อมทุ่งเศรษฐีแห่งนี้ ถ้าท่านผ่านมาลองเข้าไปชมความยิ่งใหญ่ และแข็งแกร่งของป้อมนี้ ท่านจะมีความภูมิใจเป็นอย่างมาก

วัดเจดีย์กลางทุ่ง
วัดเจดีย์กลางทุ่งถูกสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 เดิมทีวัดนี้เป็นวัดที่ไม่มีชื่อ แต่ด้วยจุดเด่นของวัดนี้คือเจดีย์อันสูงใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่ในใจกลางของวัด ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า วัดเจดีย์กลางทุ่ง ซึ่งเจดีย์ของวัดนี้ได้รับอิทธิพลมาจากอาณาจักรสุโขทัยซึ่งเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือ ทรงดอกบัวตูม บริเวณรอบๆ ของเจดีย์มีวิหารตั้งอยู่ ซึ่งปัจจุบันนี้วิหารได้พังทลายจนสิ้นจึงเหลือเพียงแค่เจดีย์องค์เดียว และยังมีคูน้ำขนาดใหญ่อยู่ล้อมรอบทั้ง4ด้าน เรียกว่า อุทกสีมา อีกทั้งยังมีลานที่เรียกว่าลานประทักษิณที่กว้างใหญ่สามารถทำศาสนพิธีได้อย่างสะดวกสบายอยู่บริเวณรอบๆของเจดีย์อีกด้วย บริเวณฐานของเจดีย์มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมเรียงซ้อนลดหลั่นลงมาอย่างสวยงามรับกับฐานบัวแก้วและอกไก่ได้อย่างลงตัว ในส่วนของยอดเจดีย์คาดการณ์ว่าได้หักลงมาแต่ยังคงไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด นับได้ว่าเจดีย์ของวัดนี้เป็นสัญลักษณ์ของเมืองนครชุมเลยทีเดียว แต่ทว่าปัจจุบันนี้ความเจริญได้มาทำให้ความงดงามของวัดสูญเสียไปมากทีเดียว

วัดพระบรมธาตุนครชุม
   วัดพระบรมธาตุนครชุม ตั้งอยู่ใน อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกับเมืองนครชุมเป็นวัดประจำเมือง ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดภายในวัดก็คือ พระบรมธาตุนครชุม มหาเจดีย์ทรงสูงใหญ่ งดงามงามไปด้วยสถาปัตยกรรมและสีทองอร่ามทั้งองค์เสมือนดั่งแบบ เจดีย์ชเวดากอง ในประเทศพม่า ภายในพระบรมธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจำนวน ๙ องค์ ซึ่งชาวกำแพงเพชรมีความศรัทธาและความเชื่อต่อองค์พระธาตุดังจารึกที่ว่า "ผิผู้ใดได้ไหว้นบกระทำบูชาพระศรีรัตมหาธาตุและพระศรีมหาโพธิ์นี้ว่าไซร้ มีผลอานิสงส์พร่ำเสมอดังได้นบพระผู้เป็นเจ้า"
พระบรมธาตุเจดีย์อยู่คู่เมืองกำแพงเพชรมาตั้งแต่สมัยเป็นเมืองนครชุมยาวนานกว่า ๖๐๐ ปี ตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า แต่เดิมนั้นเจดีย์เป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์(ทรงดอกบัว)สามองค์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๐๐  พระธรรมราชาที่ ๑(ลิไท) เสด็จมาเมืองนครชุม ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ มาประดิษฐานในเมืองนครชุม  ในปี พ.ศ.๒๔๑๔ มีคหบดีชาวพม่าซึ่งมีอาชีพค้าไม้ชื่อ พระยาตะก่า(แซงพอ) ที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้ขอราชานุญาตรื้อพระเจดีย์องค์เดิมและสร้างพระเจดีย์ทรงมอญครอบแทนพระเจดีย์เดิมทั้งสามองค์ แต่ไม่แล้วเสร็จ อีกทั้งในปี พ.ศ.๒๔๑๘ พระยาตะก่าถึงแก่กรรม การปฏิสังขรณ์จึงถูกชะงักไป  พ.ศ.๒๔๔๗ พะโป้ น้องชายพระยาตะก่า ได้ทำการบูรณะต่อและได้นำยอดฉัตรมาจากพม่าขึ้นประดิษฐานบนยอดพระเจดีย์พระบรมธาตุ ในปี พ.ศ.๒๔๔๙  ดังนั้นพระเจดีย์จึงคงอยู่คู่เมืองนครชุมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


วัดสว่างอารมณ์
 
 วัดสว่างอารมณ์ เป็นวัดเล็ก ๆ มีความเงียบสงบและงดงามเป็นอย่างมาก ตั้งอยู่บริเวณปากคลองสวนหมาก เป็นวัดที่สร้างขึ้นด้วยศิลปะแบบพม่าผสมไทย โดยพ่อค้าชาวพม่า ภายในวัดมีปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ หลวงพ่ออุโมงค์ พระพุทธรูป สมัยเชียงแสน ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของ จ.กำแพงเพชร พุทธลักษณะงดงาม บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่าง เมืองกําแพงเพชรและอาณาจักรล้านนาในอดีต โดยประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหาร
     จากคำบอกเล่าได้กล่าวว่า ได้พบหลวงพ่ออุโมงค์ ในบริเวณเนินดินลักษณะคล้ายจอมปลวก ซึ่งชาวบ้านได้ขุดและพบเจอโดยบังเอิญ โดยปรากฏลักษณะเหมือนประดิษฐานอยู่ภายในอุโมงค์ จึงเป็นที่มาของชื่อ หลวงพ่ออุโมงค์ เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 4 ชาว จังหวัดกำแพงเพชร จะจัดงานประเพณีนมัสการปิดทอง “หลวงพ่ออุโมงค์” เป็นประจำทุกปี ซึ่งนอกจากนี้ภายในวัดยังมีส่วนอื่นๆที่น่าสนใจ เช่น ศาลาเก่าของวัดท่าหมัน


วัดหนองพิกุล
    วัดหนองพิกุลแห่งนี้ ชาวบ้านเล่าต่อกันมาว่า ผู้สร้างวัดหนองพิกุล คือนางพิกุล ธิดาของเศรษฐีใหญ่แห่งบ้านป้อมเศรษฐี มาสร้างวัดนี้ จึงเรียกกันตามผู้สร้างว่าวัดหนองพิกุล วัดนี้จึงมีลักษณะสวยงามอ่อนช้อย มีลักษณะเหมือนสตรี และที่สำคัญวัดหนองพิกุล ได้ขุดพบพระเครื่องที่เรียกกันว่าพระนางกำแพงที่งดงามจำนวนมาก ทำชื่อเสียงให้แก่ชาวกำแพงเพชรมาตลอดนับศตวรรษ
    บางตำราว่าเรียกวัดหนองพิกุลเพราะบริเวณวัดมีต้นพิกุล ขนาดใหญ่หลายต้น และมีหนองน้ำโดยรอบ เลยเรียว่าวัดหนองพิกุล บริเวณวัดหนองพิกุลมีบ่อน้ำโบราณขนาดใหญ่ ที่ก่อด้วยอิฐ อายุประมาณ 700 ปี และวัดหนองพิกุลเป็นหน้าเป็นตาของ เมืองนครชุมและเมืองกำแพงเพชรสวยงามและแปลกกว่าทุกวัด  และเป็นวัดที่สร้างขึ้นในกลุ่มอรัญญิกนอกเมืองทางทิศใต้ มีคูน้ำโดยรอบทั้งสี่ด้าน “อุทกสีมา” สิ่งก่อสร้าง ภายในวัดแตกต่างจากวัดแห่งอื่นๆ คือ การสร้างมณฑปอยู่หลังวิหารทำหน้าที่เป็นเจดีย์ประธานของวัด ลักษณะมณฑปเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยม ฐานสูงประมาณ 1.50 เมตร ก่อผนังทึบทั้งสามด้านเว้นทางเข้าออกทางด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ส่วนบนของฒณฑปประธานนั้นพังเสียหาย เดิมเป็นเครื่องไม้ ใช้กระเบื้องดินเผาแบบตะขอเป็นกระเบื้องมุงหลังคา ทรงหลังคาเป็นแบบมณฑปยอดแหลม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ แต่ในปัจจุบันได้พังเสียหายเกือบหมด

วัดหนองยายช่วย
วัดหนองยายช่วยมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวัดหนองพลับตั้งอยู่ในเขตอรัญญิก เมืองนครชุม เป็นโบราณสถานที่มีอายุมากกว่า 700 ปี
           วัดหนองยายช่วย อยู่ถัดจากวัดหนองลังกา ไปทางทิศตะวันออก ห่างจากวัดหนองลังกา ประมาณ 200 เมตร มีลักษณะรกร้าง รูปทรงเจดีย์ เป็นเจดีย์ ทรงลังกา ฐานแปดเหลี่ยม ที่มีลักษณะที่งดงามมาก มีศิลปะที่อ่อนช้อย รูปทรงเพรียวสมส่วนและยังสมบูรณ์ตั้งแต่คอระฆังลงมา ยอดที่หักไม่สามารถค้นพบได้ ส่วนบริเวณฐานพระเจดีย์ มีซุ้มพระ อีก 4 ซุ้ม มีลักษณะซุ้มที่ใหญ่มาก แต่ไม่พบพระว่ามีลักษณะใด แต่เมื่อเทียบกับวัดหนองลังกาแล้ว คาดว่าเป็นพระสี่อิริยาบถ คือยืน เดิน นั่ง นอน วัดที่มีลักษณะเหมือนกันในบริเวณนี้คือ วัดหนองลังกา วัดหม่องกาเล และวัดหนองยายช่วย และลักษณะที่พิเศษกว่าทุกวัด คือมีซุ้มพระ เจดีย์ราย และหนองน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบ แบบลัทธิลังกาวงศ์ ด้านหน้าวัด มีฐานวิหารขนาดใหญ่ ยังมีฐานที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ฐานพระประธาน มีขนาดใหญ่มาก ยังไม่ถูกทำลาย แต่องค์พระไม่มีแล้ว สันนิษฐานว่าจะเป็นพระปูนปั้น จึงได้ถูกทำลายไป พร้อมกับ เจดีย์ที่ถูกขุดค้นพบขึ้น…ลักษณะของวิหารเหมือนกับการสร้างโบสถ์ซ้อนอยู่ บนวิหาร มีลักษณะที่ เหมาะสมและงดงามอย่างที่สุด

วัดหนองลังกา
  วัดหนองลังกา เป็นวัดที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของฝั่งนครชุมและเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ อยู่นอกอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร วัดนี้มีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 หรือสมัยพระธรรมราชาลิไท และสันนิษฐานกันว่าอาจเคยมีพระภิกษุจากลังกามาจำพรรษา โดยรอบตัววัดแห่งนี้มีร่องรอยการขุดคูน้ำรอบๆ ทั้งสี่ด้าน เป็นอุทกสีมา ตามแบบแผนสุโขทัยและโดดเด่นด้วยเจดีย์ทรงระฆังเพรียว สิ่งสำคัญภายในวัดคือเจดีย์ประธาน ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังศิลปะลังกาของสุโขทัยก่อด้วยอิฐ ที่ฐานจะปรากฏซุ้มพระยื่นออกมาจากฐานทั้งสี่ด้าน ถัดมาเป็นชั้นมาลัยเถาจะรองรับองค์ระฆังเป็นแบบบัวค่ำ - บัวหงายสามชั้น และส่วนยอดของเจดีย์ปรากฏบัลลังก์ ประกอบด้วย ปล้องไฉน บัวฝาระมีและปลียอด โดยมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปรากฏทั้งสี่ด้าน ส่วนผนังของวัดจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออกและมีพระวิหารตั้งอยู่ส่วนหน้าของเจดีย์ประธานก่อด้วยอิฐ ส่วนของผนังก่อเป็นซุ้มเข้าไปช่องเว้นช่องสวยงาม นับเป็นวัดที่มีสภาพสมบูรณ์มากที่สุดของเขตอรัญญิก


วัดหม่องกาเล
วัดหม่องกาเล ตั้งอยู่ในบริเวณอรัญญิกนครชุม บนแนวถนนโบราณหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าถนนตาพระร่วง
 วัดนี้ชื่อปรากฏอย่างไม่แน่ชัด แต่ชาวบ้านเรียกวัดหม่องกาเลเพราะว่าวัดนี้ได้เคยอยู่ในที่ดินของชาวพม่า ชื่อว่าหม่องกาเลหลังจากนั้นตาหมอหร่องได้ครอบครองพื้นที่แห่งนี้และนายจันทร์ซึ่งเป็นลูกเขยของตาหมอหร่องได้ครอบครองพื้นที่นี้ต่อมานายจันทร์ได้ขายที่ดินนี้ให้ผู้อื่นซึ่งไม่สามารถสืบหาต่อได้ ปัจจุบันวัดหม่องกาเลได้รับการบูรณะแล้ว วัดนี้มีเจดีย์ประธานที่รูปทรงสวยงามขนาดเล็กกว่าวัดหนองลังกาเล็กน้อยและบริเวณฐานเจดีย์ได้มีซุ้มอยู่ประมาณสามซุ้ม ยอดของเจดีย์หักลงมาถึงบริเวณคอระฆังของเจดีย์และไม่พบซากของยอดเจดีย์ในบริเวณนั้น ด้านหน้าเจดีย์มีวิหารคล้ายวิหารของวัดเจดีย์กลางทุ่งอีกทั้งยังมีกรุพระเครื่องที่โด่งดังอย่าง พระซุ้มกอ ถูกพบอยู่ในบริเวณวัดนี้อีกด้วย

อาหาร
นอกจากจะมีสถานที่ที่สวยงามและน่าสนใจแล้ว นครชุมยังขึ้นชื่อในเรื่องของอาหารที่มีทั้งคาวและหวาน ที่นักท่องเที่ยวต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอร่อยและราคาประหยัดจนเป็นเหตุให้กลับมากินอีกครั้ง

อาหารและขนม
นครชุมนอกจากจะมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ชวนให้หลงใหลแล้ว ยังมีอาหารที่ขึ้นชื่อ และมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่อื่น ซึ่งรับประกันได้เลยว่า หากได้ลองชิมแล้วจะต้องติดใจและต้องกลับมาทานอีกครั้งอย่างแน่นอน
แกงขี้เหล็ก
ในวันเพ็ญเดือน 12 ชาวนครชุมจะทำแกงขี้เหล็ก ซึ่งเป็นประเพณีประจำถิ่นของชาวนครชุม โดยจะเก็บใบและดอกขี้เหล็กตอนเช้ามืดของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (หลังเที่ยงคืนก่อนเข้าสู่วันลอยกระทง) ก่อนจะรับประทานต้องทำพิธีขออนุญาตและขอพรจากต้นขี้เหล็ก โดยจุดธูป 3 ดอกและตั้งนะโม 3 จบ และทานให้หมดภายในวันนั้น เชื่อกันว่าขี้เหล็กเป็นยาอายุวัฒนะเพราะมีความเชื่อว่าในวันที่พระจันทร์เต็มดวง สารอาหารและสรรพคุณทางยาดึงดูดขึ้นไปที่ยอด ทำให้ได้กินแกงขี้เหล็กที่มีประโยชน์ที่สุด



เเกงหยวก
 แกงหยวก ถือเป็นอาหารที่มีความสำคัญกับคนในตำบลนครชุมเป็นอย่างมาก เพราะสื่อถึงการสืบทอดวิถีชีวิตของบรรพบุรุษ แกงหยวกนิยมทานเป็นอาหารหลักประจำครัวเรือน หยวกนั้นเป็นเเกนกลางของต้นกล้วย มีสีขาวอ่อน สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น เเกงใส่ไก่บ้าน เเละ  แกงใส่วุ้นเส้น วิธีการแกงหยวกคล้ายกับการเเกงอ่อมเเต่จะมีความพิเศษตรงที่มีกลิ่นหอมเเละความกรอบของหยวกกล้วย

แจ๋วบะหมี่เกี๊ยว
แจ๋วบะหมี่เกี๊ยว เป็นร้านบะหมี่เกี๊ยวแห่งเดียวที่มีการคิดค้นวิธีการทำเส้นบะหมี่ขึ้นมาเอง ซึ่งเป็นการทำแบบส่งต่อรุ่นสู่รุ่น เปิดมายาวนานถึง 60 ปี ปัจจุบันกิจการได้รับดูแลโดยรุ่นที่ 3 เป็นผู้บริหารกิจการต่อ ซึ่งความพิเศษของร้านแจ๋วบะหมี่เกี๊ยวก็คือ เส้นหมี่ที่ทำจากไข่ มีความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น โดยตัวเส้นจะมีความเหนียวนุ่ม รสชาติหอมอร่อย เมนูที่เป็นที่นิยมของร้านนี้ก็คือ เส้นหมี่เกี๊ยว หมูสับและหมูแดง สามารถมาลองทานได้ที่ร้านแจ๋วบะหมี่เกี๊ยว อยู่ใกล้ตลาดนครชุม ร้านแจ๋วบะหมี่เกี๊ยวเปิดให้บริการทุกวัน


ผัดไทยป้าสุภาพ
ผัดไทยป้าสุภาพ ผัดไทยนครชุม เป็นผัดไทยที่เก่าแก่ ตั้งแต่สะพานข้ามแม่น้ำปิงกำแพงเพชรแห่งแรกยังไม่ได้สร้าง ริเริ่มโดยแม่บุญเมือง อินทร์จันทร์ ร้านเปิดให้บริเวณการที่หน้าโรงภาพยนตร์เฉลิมนคร                 
ผัดไทยแม่สุภาพมีรสชาติอร่อย เส้นเหนียวหนึบนุ่ม ซอสผัดไทยรสเข้มสามรส ที่มีกลิ่นหอมของซีอิ๊ว ความพิเศษก็คือ แม่สุภาพใช้น้ำมันหมูผัดและใส่แคบหมูแทนถั่วลิสง และจัดเตรียมวัตถุดิบไม่อั้น เรื่องของผักที่ใช้กินกับผัดไทยคือ ใบกระเทียม ถั่วงอกและหัวปลีสด หากท่านใดสนใจอยากลองทาสามารถไปทานที่ร้านผัดไทยป้าสุภาพได้



เมี่ยงนครชุม
เมี่ยงนครชุม เป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลมาจากทางประเทศลาว ไส้ของเมี่ยงทำมาจาก มะพร้าวคั่ว กระเทียม ถั่วลิสง และขิง จากนั้นนำวัตถุดิบเหล่านี้ไปทอดกรอบ ทานคู่กับใบเมี่ยง (ใบชาหมัก) ใบชาหมักมีรสชาติเปรี้ยวเฝื่อน ส่วนมากนิยมทานกันทางฝั่งภาคเหนือ ซึ่งอาจมีการโรยกากหมูเพิ่มเติมไปด้วย ในสมัยโบราณเมี่ยงนั้นถือว่าเป็นอาหารพื้นบ้านและเป็นของฝากของทานเล่น เด็กและผู้ใหญ่สามารถทานได้ เมี่ยงนครชุมถือว่าเป็นเมี่ยงที่พิเศษกว่าที่อื่น เพราะไส้เมี่ยงจะมีรสชาติที่เเตกต่างออกไป อีกทั้งยังมีความหอมหวานของมะพร้าวคั่วเเละกลิ่นของมะพร้าวคั่วอีกด้วย จึงถือว่าเป็นเอกลักษณ์พิเศษอย่างหนึ่งให้ได้มาลองชิมกัน


ขนมจีบแป้งสด
ขนมจีบแป้งสด เป็นหนึ่งในอาหารว่างที่เป็นที่นิยมอย่างมาก โดยจะมีรสชาติอร่อยไม่เหมือนใคร  เพราะขนมจีบแป้งสดของนครชุมมีการนำแป้งข้าวเจ้ามาทำเป็นแผ่นบางใสสำหรับห่อไส้ ซึ่งประกอบไปด้วยหน่อไม้ กุ้ง หมูสับ พร้อมเครื่องเทศรสจัดจ้านและกลมกล่อม เวลาทานจะมีความรู้สึกถึงความเหนียวนุ่ม เต็มคำ ปัจจุบันนี้สามารถหาทานได้จากตลาดสดนครชุมและตลาดย้อนยุคนครชุมเท่านั้น


ขนมข้าวตอก
ขนมข้าวตอก หรือขนมข้าวตอกอัด จัดอยู่ในประเภทขนมหวาน ทำมาจาก ข้าวเปลือกข้าวเหนียว น้ำตาลปี๊บ และน้ำกะทิ ข้าวตอกอัดเป็นขนมโบราณที่มีมาอย่างช้านานของชาวบ้านนครชุม โดยเฉพาะขนมข้าวตอกอัดสูตรของบ้านยายประภาศรี เอกปาน ซึ่งเป็นบ้านที่ขึ้นชื่อเรื่องขนมโบราณแห่งเมืองนครชุม ที่ยังมีกรรมวิธีและรสชาติแบบดั้งเดิม ขนมข้าวตอกมีลักษณะเหนียวนุ่ม และมีกลิ่นหอม วิธีทำขนมข้าวตอกมีหลายขั้นตอนและใช้เวลานานกว่าจะได้ขนมที่มีความนุ่ม เหนียว และอร่อย มีกลิ่นหอมหวนชวนรับประทาน จึงนับเป็นของดีอีกหนึ่งอย่างของเมืองกำแพงเพชรไม่แพ้เฉาก๊วยชากังราว ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินิยมซื้อติดไม้ติดมือเป็นของฝาก แต่ในปัจจุบันนี้ขนมข้าวตอกอัดสูตรของบ้านยายประภาศรี นับเป็นของหายาก เพราะไม่ได้ทำขายเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ต้องสั่งทำเป็นพิเศษเท่านั้น แต่อย่างไรก็ดี ยังมีขนมข้าวตอกอัดจากเจ้าอื่นในนครชุมที่ยังสืบทอดเพื่อให้เป็นอาหารประจำท้องถิ่นของชาวนครชุมต่อไป สามารถหาทานได้จากตลาดย้อนยุคนครชุมและงานเทศกาลประเพณีที่สำคัญเท่านั้น


บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!