จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
มีนาคม 28, 2024, 09:31:20 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: กว่าจะมาเป็น คณฑี เทพนคร ภาคที่ ๑ อดีตเมื่องเอกราช ถิ่นกำเนิดพ่อขุนศรี ปรา  (อ่าน 2596 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1410


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: เมษายน 01, 2021, 09:36:02 am »

กว่าจะมาเป็น คณฑี เทพนคร
ภาคที่ ๑ อดีตเมื่องเอกราช

ถิ่นกำเนิดพ่อขุนศรี      ปราสาทเก่าเจ็ดร้อยปี           คณฑี เมืองโบราณ
                                           เล่าขานพระพุทธลีลา          กราบวันทาหลวงพ่อโต

ี           ตำบลคณฑี หรือตำบลบ้านโคน หรือ เมืองคณฑี เมืองที่ยิ่งใหญ่ ในอดีตมีคำขวัญประจำตำบลที่นำเสนอเอกลักษณ์ของตำบลอย่างชัดเจนคือ       
ถิ่นกำเนิดพ่อขุนศรี
 ปราสาทเก่าเจ็ดร้อยปี
คณฑี เมืองโบราณ
เล่าขานพระพุทธลีลา
 กราบวันทาหลวงพ่อโต
ถิ่นกำเนิดพ่อขุนศรี
 
มีหลักฐานชัดเจนจากชินกาลมาลีปกรณ์ ว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์มีกำเนิดที่บ้านโคน ยังมีชายคนหนึ่ง(จันทราชา)รูปงามมีกำลังมาก ท่องเที่ยวอยู่ในป่า มีนางเทพธิดาองค์หนึ่ง(สาวชาวบ้านเมืองคณฑี)เห็นชายคนนั้นแล้ว ใคร่ร่วมสังวาสด้วยจึงแสดงมารยาหญิง ชายคนนั้นก็ร่วมสังวาสกับนางเทพธิดาองค์นั้น เนื่องจากการร่วมสังวาสของทั้งสองคนนั้นจึงเกิดบุตรชายคนหนึ่ง และบุตรชายคนนั้นมีกำลังมาก รูปงาม เพราะฉะนั้น ชาวบ้านทั้งปวงจึงพร้อมใจกันทำราชาภิเษกบุตรชายคนนั้น บุตรชายซึ่งครองราชย์สมบัติในเมืองสุโขทัยนั้น ปรากฏพระนามในครั้งนั้นว่า โรจราช ภายหลังปรากฏพระนามว่าพระเจ้าล่วง (ร่วง)
ปราสาทเก่าเจ็ดร้อยปี
 

ซึ่งหมายถึง สิ่งก่อสร้างคล้ายพระเจดีย์ทรงปราสาท ภายในวัดปราสาท เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองคณฑี ปราสาท ที่ไม่มีใครกล้าแตะต้อง วันดีคืนดี มีพระพุทธรูปทองคำออกมาจากปราสาท ซึ่งแสดงปาฏิหาริย์ให้ชาวบ้านพบเห็นเนืองๆเป็นที่สักการะของชาวกำแพงเพชรและชาวจังหวัดใกล้เคียง
คณฑีเมืองโบราณ
ซึ่งหมายถึง เมืองคณฑีเป็นเมืองยุคแรกๆของกำแพงเพชร ตามตำนานเมืองเหนือกล่าวไว้ว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ แห่งกรุงสุโขทัย เสด็จไปจากบ้านโคน หรือเมืองคณฑี แสดงว่า เมืองคณฑีนี้เก่าแก่กว่าสุโขทัยเจริญรุ่งเรืองมาก่อนกรุงสุโขทัย นับร้อยปี ทำให้ชาวบ้านโคนภูมิใจในบรรพบุรุษจึงนำมาเป็นคำขวัญประจำเมือง



เล่าขานพระพุทธลีลา
 
 ที่เมืองคณฑีมีพระพุทธรูปลีลา ปางประทานพร ขนาดใหญ่สูงถึง 1.50เมตรมีพุทธลักษณะที่งดงามมาก เชื่อกันว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ประดิษฐานที่ วัดปราสาทมาช้านาน แม้จะถูกโจรกรรมไป ด้วยอภินิหารของพระพุทธลีลา ทรงเสด็จกลับมาประดิษฐานที่วัดปราสาทดังเดิม


กราบวันทาหลวงพ่อโต
 
 หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปสำคัญ ในวิหารวัดปราสาท ทรงความศักดิ์สิทธิ์และศรัทธายิ่งแก่ประชาชน เป็นที่พึ่งทางจิตใจ เมื่อสังเกตดูให้ดีพระพุทธรูปหลวงพ่อโต ได้มีปูนฉาบไว้ภายนอก องค์จริงน่าจะเป็นทองสัมฤทธิ์ ที่มีพุทธลักษณะงดงามมากประชาชนพากันมากราบไหว้มิได้ขาด
เมืองคณฑี จึงมีคำขวัญที่อธิบายเรื่องราวของบ้านเมืองไว้อย่างชัดเจนยิ่งนัก........เมืองคณฑีมีประวัติความเป็นมาที่พิสดารยิ่ง เกินพรรณนา เมืองคณฑี เป็นชุมชนโบราณ ที่ไม่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของลำน้ำปิง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มหาวชิราวุธ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จมาเมืองกำแพงเพชรครั้งที่ 2 เมื่อปี 2450 ทรงกล่าวถึงชุมชนบ้านโคนว่า
คงเป็นเมืองมาแต่โบราณ แต่หาคูหรือเชิงเทินและกำแพงไม่ได้ วัดเก่าที่อยู่ในบริเวณนี้คือวัดกาทึ้ง มีสิ่งก่อสร้างสำคัญ อุโบสถก่อด้วยอิฐแผ่นใหญ่ ถัดจากอุโบสถไปทางทิศตะวันออก เป็น
วิหารที่มีขนาดใหญ่กว่า ก่อด้วยอิฐแผ่นใหญ่เช่นเดียวกัน พระประธานภายในวิหารมีพระพุทธรูปเป็นพระพุทธรูปหมวดเมืองกำแพงเพชร ตามโคกเนิน พบเศษภาชนะดินเผา แบบธรรมดาและแบบเผาไม่แกร่ง ไม่เคลือบ และเครื่องเคลือบแบบสุโขทัย ชุมชนโบราณบ้านโคนนี้ เชื่อกันว่าน่าจะเป็นเมืองคณฑี ตามที่กล่าวไว้ในจารึกหลักที่ 1 ว่าเมืองหัวนอน รอดคณฑี พระบาง นอกจากนี้ยังมีตำนานเกี่ยวกับบรรพบุรุษของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์อีกด้วย
ตามตำนานเมืองเหนือ กล่าวว่า ที่บ้านโคน มีชายรูปงาม รูปร่างใหญ่โต แข็งแรง ได้เป็นที่พอใจของนางเทพธิดา จึงได้ร่วมสังวาสด้วย จึงเกิดบุตรชายที่สง่างาม มีบุญยิ่ง ชื่อโรจราช ได้ไป
เป็นกษัตริย์องค์แรกของเมืองสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ จึงน่าจะมาจากเมืองคณฑี หรือบ้านโคนแห่งนี้
เมืองคณฑี เป็นเมืองใหญ่ มาก่อนเมืองใดๆในลุ่มน้ำปิง ดังจารึกหลักที่ 1 ที่กล่าวถึงอาณาจักรสุโขทัยว่า ทิศใต้ ได้เมืองคณฑี ดังความว่า
สุโขทัยมีเมืองกว้างช้างหลาย ปราบเบื้องตะวันออก รอดสระหลวง สองแคว ลุมบาจาย
สคา เท้าฝั่งของ เถิงเวียงจันทร์ เวียงคำเป็นที่แล้ว เบื้องหัวนอน รอดคณฑี พระบาง แพรก สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ศรีรรมราช ฝั่งมหาสมุทรเป็นที่แล้ว…………….
ในจารึกหลักที่ 3 กล่าวถึงเมืองคณฑี ตั้งตนเป็นใหญ่ประกาศอิสรภาพ ตอนที่พญาลิไท เสด็จมาเมืองกำแพงเพชร ในปี พ.ศ. 1900 ประกาศตนเป็นเอกราช มีเจ้าผู้ครองนครของตน ความว่า
……….. หาเป็นขุนหนึ่ง เมืองคณฑีพระบาง หาเป็นขุนหนึ่ง เมืองเชียงทอง หาเป็นขุนหนึ่ง เมืองบางพานหาเป็นขุนหนึ่ง จากนั้นเมืองคณฑี แทบจะหายไป จากประวัติศาสตร์
จากการสำรวจครั้งสุดท้าย ปี 2549 เมืองคณฑี ที่มีที่ตั้งบริเวณวัดกาทึ้ง น่าใช้ลำคลองกาทึ้งเป็นคูเมืองป้องกัน อาจใช้ไม้เป็นระเนียด แทนแนวกำแพงเมือง หรือมีแนวกำแพงเมืองแต่ร้างไปนาน จึงทำให้ กำแพงเมืองซึ่งเป็นกำแพงดิน สลายตัวไปตามสภาพ สภาพวัดกาทึ้งอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ ถูกรุกที่ ไม่เห็นความสำคัญ ที่เป็นโบราณสถานที่มีอายุนานนับพันปี น่าเสียดายยิ่ง…
นอกจากวัดกาทึ้ง แล้ว ยังมีวัดปราสาท ที่เก่าแก่ใกล้เคียงกัน น่าจะมีอายุราวสมัยทวารวดี
จากการวิเคราะห์ สภาพโบราณสถาน โบราณวัตถุ พบซากโบราณสถานโบราณวัตถุจำนวนมาก
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตั้งแต่พ.ศ. 2450 มีเจดีย์ทรงปราสาทที่เรียก กันว่าวัดปราสาท
ทำให้วัดนี้น่าสนใจยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พิพิธภัณฑวัดปราสาท ที่งดงาม และมีโบราณวัตถุที่ยิ่งใหญ่มาก
โดยเฉพาะพระปางลีลา ที่งดงามที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา
……. เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จผ่านวัดปราสาทว่า วันที่ 21 สิงหาคม 2449 ออกเวลา 2โมงเช้า 4โมงขึ้นเรือเหลือง
จนถึงบ้านโคน ซึ่งเดากันว่าเป็นเมืองเทพนคร แต่ไม่มีหลักฐานอันใด บ้านเรือนดี มีวัดใหญ่ เสาหงส์มากเกินปกติ……………
เมืองคณฑี จึงเป็นเมืองที่เก่าแก่ เสมอด้วยนครไตรตรึงษ์ เมืองเทพนคร เมืองคลองเมือง อายุกว่าพันปี จึงเป็นเมืองที่น่าศึกษายิ่ง ....
 ประวัติพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
                      ตามพงศาวดาร และคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์  ได้กล่าวไว้ว่าพ่อขุนศรี  อินทราทิตย์มีพระนามเต็ม  คือ  กำมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์  พระนามเดิม  พ่อขุนบางกลางหาว (ไม่ใช่  “กล่างท่าว”)  ทรงเป็นปฐมวงศ์ราชวงศ์พระร่วงแห่งอาณาจักรสุโขทัย  ครองราชย์สมบัติ  ตั้งแต่  พ.ศ.  1782 - 1822 (30 ปี คำนวณศักราชจากคัมภีร์สุริยยาตรตามข้อเสนอของ  ศ.ประเสริฐ  ณ  นครและ  พ.อ.พิเศษ  เอื้อนมณเฑียรทอง)
 
                       เมื่อจุลศักราช 536 พระเจ้าสุริยราชา ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ได้ทรงตบแต่งซ่อมแซมแปลงเมืองพิจิตรปราการ(กำแพงเพชร)ขึ้นใหม่ครองราชย์สมบัติต่อไป มีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่า สิริสุธาราชเทวี มีพระราชโอรสองค์หนึ่งด้วยพระอัครมเหสี ทรงพระนามว่าจันทกุมารพระเจ้าสุริยราชา เมื่อแรกได้ราชสมบัติพระชนม์ได้ 20 พรรษา อยู่ในราชสมบัติ 28 ปี เสด็จสวรรคตพระชนม์ได้ 47 พรรษา พระองค์ประสูติวันจันทร์ จุลศักราช 570 พระจันทกุมารราชโอรส ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ ทรงพระนามว่า พระเจ้าจันทรราชาและตามพระราชพงศาวดารโยนก หน้า 80 วรรค 2 กล่าวไว้ว่ายังมีข้อความในหนังสือชินกาลมาลินี กล่าวถึงมูลประวัติของพระเจ้าโรจนราชผู้ได้ พระพุทธสิหิงค์มาจากศรีธรรมนครนั้นว่า บุรุษผู้หนึ่งหลงป่าที่บริเวณ บ้านโคณคาม(เข้าใจว่าบ้านโคนริมเมืองเทพนคร)และได้พบนางเทพธิดาแปลงเป็นมนุษย์(สาวชาวบ้านเมืองคณฑี)มาร่วมสมัครสังวาสเกิดบุตรได้มาเป็นเจ้ากรุงสุโขทัยทรงนามว่า โรจราช
                           ประวัติพระองค์ท่านจากคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์  หน้า  112-113  ตอนหนึ่งกล่าวถึงการประสูติของพระองค์ ได้ยินว่าที่บ้านโค  (บ้านโคน จังหวัดกำแพงเพชร  ในปัจจุบัน)  ยังมีชายคนหนึ่ง(จันทราชา)รูปงามมีกำลังมาก ท่องเที่ยวอยู่ในป่า  มีนางเทพธิดาองค์หนึ่ง(สาวชาวบ้านเมืองคณฑี)เห็นชายคนนั้นแล้ว  ใคร่ร่วมสังวาสด้วยจึงแสดงมารยาหญิง  ชายคนนั้นก็ร่วมสังวาสกับนางเทพธิดาองค์นั้น  เนื่องจากการร่วมสังวาสของทั้งสองคนนั้นจึงเกิดบุตรชายคนหนึ่ง  และบุตรชายคนนั้นมีกำลังมาก  รูปงาม  เพราะฉะนั้น  ชาวบ้านทั้งปวงจึงพร้อมใจกันทำราชาภิเษกบุตรชายคนนั้น  บุตรชายซึ่งครองราชย์สมบัติในเมืองสุโขทัยนั้น ปรากฏพระนามในครั้งนั้นว่า  โรจราช    ภายหลังปรากฏพระนามว่าพระเจ้าล่วง
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์  ทั้งหมดเชื่อได้ว่า  เมืองคณฑีโบราณ  หรือตำบลคณฑี
จังหวัดกำแพงเพชร  ในปัจจุบันนั้นอยู่ในอาณาจักร  สุโขทัย  เนื่องจากพระเจ้าสุริยราชา  (พระอัยกาของ  พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ )  ครองราชย์สมบัติที่เมืองพิจิตปราการ  (เมืองกำแพงเพชร  ปัจจุบัน) หลังจากนั้นก็เสด็จสวรรคตและต่อมาพระจันทกุมารราชโอรส  (พระเจ้าจันทรราชา  พระราชบิดา  ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์)  ก็เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติต่อ  ระหว่างนี้เกิดปาฏิหาริย์หลายสิ่งมากมายจนกระทั่งได้มเหสีเป็นเชื้อชาตินางนาคกุมารี  และมีพระราชโอรสคือ  พระร่วง  (พ่อขุนศรีอินทราทิตย์)  นั่นเอง  เพราะอีกเหตุผลหนึ่งที่น่าเชื่อถือคือ  พ่อขุนศรีอินทราทิตย์  หรือพระนามเต็ม กำมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์  ชินกาลมาลีปกรณ์  ว่า  บ้านเดิมของพระองค์อยู่ที่  “บ้านโคน ” ในจังหวัดกำแพงเพชร  พระองค์ทรงนำชนชาติไทยต่อสู้กับชนชาติขอมซึ่งเป็นใหญ่อยู่ในสุวรรณภูมิ  อันเป็นที่ตั้งของประเทศไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงกรุงสุโขทัยด้วย  ทรงได้ชัยชนะขอมและประกาศอิสรภาพ  ตั้งราชอาณาจักรสุโขทัย  ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์แรกและเป็นต้นราชวงศ์พระร่วง-             เป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย
ส่วนพระราชกรณียกิจที่สำคัญ
พ่อขุนศรีอินทราทิตย์เมื่อครั้งยังเป็นพ่อขุนบางกลางหาวได้ร่วมกับพ่อขุนผาเมือง  เจ้า  เมืองราด
แห่งราชวงศ์ศรีนาวนำถมรวมกำลังพลกัน  กระทำรัฐประหารขอมสบาดโขลญลำพง  โดยพ่อขุนบางกลางหาวตีเมือง  ศรีสัชนาลัย  และเมืองบางขลงได้  และยกทั้งสองเมืองให้พ่อขุนผาเมือง  ส่วนพ่อขุนผาเมืองตีเมืองสุโขทัยได้  ก็ได้มอบเมืองสุโขทัยให้พ่อขุนบางกลางหาว  พร้อมพระขรรค์ชัยศรีและยกพระกนิษฐา(นางเสือง)ให้เป็นมเหสีอีกด้วยส่วนพระนาม  “ศรีอินทรบดินทราทิตย์”  ซึ่งได้นำมาใช้เป็นพระนาม  ภายหลังได้กลายเป็น  ศรีอินทราทิตย์  โดยคำว่า “บดินทร” หายออกไป  เชื่อกันว่าเพื่อเป็นการแสดงว่ามิได้  เป็น  บดีแห่งอินทรปัต  คืออยู่ภายใต้อิทธิพลของเขมร  (เมืองอินทรปัต)  อีกต่อไป การเข้ามาครองสุโขทัยของพระองค์  ส่งผลให้  ราชวงศ์พระร่วง  เข้ามามีอิทธิพลในเขตนครสุโขทัยเพิ่มมากขึ้น  และได้แผ่ขยายดินแดนกว้างขวางมากออกไป  แต่เขตแดนเมืองสลวงสองแคว  ก็ยังคงเป็นฐานกำลังของราชวงศ์ศรีนาวนำถมอยู่ในกลางรัชสมัย  ทรงมีสงครามกับขุนสามชน  เจ้าเมืองฉอด  ทรงชนช้างกับขุนสามชน  แต่ช้างทรงพระองค์  ได้เตลิดหนีดังคำในศิลาจารึกว่า  “หนีญญ่ายพ่ายจแจ” ขณะนั้นพระโอรสองค์เล็ก  ทรงมีพระปรีชาสามารถ  ได้ชนช้างชนะขุนสามชนภายหลังจึงทรงเฉลิมพระนามพระโอรสว่า  รามคำแหงในยุคประวัติพ่อขุน
ศรีอินทราทิตย์มีพระราชโอรสและพระธิดารวม  5 พระองค์  ได้แก่
1.       พระราชโอรสองค์โต  (ไม่ปรากฏนาม)  เสียชีวิตตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
2.       พ่อขุนบานเมือง
3.       พ่อขุนรามคำแหงมหาราช  (พระนามขณะที่ยังทรงพระเยาว์ไม่ปรากฏ)
4.       พระธิดา  (ไม่ปรากฏนาม)
5.       พระธิดา  (ไม่ปรากฏนาม)
วิธีการคิดปั้นรูปหล่อ(จินตนาการ)พ่อขุนศรีฯ
เมื่อเทียบเคียงวิเคราะห์ในแง่มุมต่างๆ ของหลักฐานที่มีอยู่ จัดแบ่งลำดับขั้นตอนความสำคัญที่มีลักษณะเด่นเฉพาะ โดยนำมาประมวลออกแบบสร้างสรรค์ให้เป็นรูปธรรมขององค์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ซึ่งกำหนดลักษณะตามแบบอย่างพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงเครื่องพระอิสริยยศทรงจอมทัพไทย ประทับยืนทรงถือพระแสงขรรค์ชัยศรีด้วยพระหัตถ์ทั้งสองข้าง พระพักตร์ทอดพระเนตรเบื้องหน้าเสมือนกับทรงดูแลอาณาประชาราษฎร์ของพระองค์ให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขขณะเดียวกันก็ยังคงดูลักษณะการประทับยืนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นท่าประทับยื่นที่สง่างามกว่าทุกพระองค์) ประกอบไปด้วย
                เมื่อได้ลักษณะของรูปแบบจากความคิดแล้วออกแบบเขียนภาพร่าง โดยคัดเลือกคนผู้เป็นหุ่นยืนเป็นแบบเพื่อดูลักษณะการยืน ดูกล้ามเนื้อ ดูโครงสร้างของร่างกายแต่ละส่วน เพื่อพิจารณาถึงรายละเอียดที่จะต้องแสดงให้ปรากฏออกมา ซึ่งจะต้องมีความเป็นพิเศษต่างจากบุคคลทั่วไป เพื่อให้มีภาพลักษณ์เป็นองค์พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ จากนั้นเป็นเรื่องของแบบเครื่องทรง
                  เครื่องทรงของแบบรูปปั้นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์พระวรกายตอนบนเป็นลักษณะเครื่องทรงแบบสุโขทัยโบราณ ทรงสวมพระมงกุฎทรงเทริด ยอดพระมงกุฎเป็นลวดลายกลับบัว 3 ชั้น
พระศอมีสร้อยพระศอ และพระกรองศอ สร้อยสังวาลพร้อมทับทรวงพระพาหุตอนบน ประดับ
พาหุรัด ข้อพระหัตถ์เป็นทองกร พระวรกายจากบั้นพระองค์ถึงพระบาททรงฉลองพระภูษายาวกรอบข้อพระบาท พร้อมคาดปั้นเหน่งทับและห้อยพระสุวรรณกันถอบด้านหน้าพระภูษาทรงด้านเปิดชายผ้าชั้นนอกซ้าย-ขวาลักษณะทิ้งชายผ้าให้พลิ้วเคลื่อนไหว ชายผ้าทั้งชั้นนอกและชั้นในเป็น
ลายกรวยเชิงประดับ และข้อพระบาทประดับทองบาท(กำไลเท้า) พร้อมฉลองพระบาท ทั้งนี้เพื่อต้องการให้พระบรมรูปมีลักษณะของฉลองพระองค์เป็นแบบมหากษัตริย์สมัยสุโขทัยโบราณตามที่ได้ทำการศึกษาค้นคว้า












     ภาค๒ ก่อนถึงปัจจุบัน                   
    ผู้บุกเบิกบ้านโคนในยุคปัจจุบัน
บ้านโคนร้างมานานกว่า ห้าร้อยปี เมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์   นายพวง  และนางปุย ได้เมาบุกเบิกบริเวณป่าบ้านโคน จนกำเนิดผู้นำคนสำคัญของบ้านคณฑี ตือ  กำนันประสิทธิ์ วัฒนศิริ ในระยะแรก ท่านได้พาญาติพี่น้องอพยพไปตั้งบ้านเรือนบริเวณไร่นาของบิดา ( บ้านโคนเหนือ ) ในตอนแรกที่อพยพไปมีครอบครัวตั้งอยู่ก่อนแล้วประมาณ 5 ครอบครัว  พอกำนันประสิทธิ์ วัฒนศิริ และญาติพี่น้องพร้อมกับคนงานเข้าไปสมทบก็ประมาณราวๆ 20 ครัวเรือน  กำนันประสิทธิ์ วัฒนศิริ เป็นคนที่มีที่ดินมากหลายร้อยไร่ ก็ชวนชาวบ้านในแถบอื่นๆ เข้ามาตั้งบ้านเรือนสมทบ โดยได้แบ่งที่ดินขายให้ราคาถูกเพื่อจะได้มีเพื่อนบ้านเพราะในสมัยนั้นมีโจรผู้ร้ายชุกชุม มีการปล้นสะดมบ่อยครั้ง จะได้มีเพื่อนบ้านไว้คอยต่อสู้กับพวกผู้ร้าย  ต่อมาในบริเวณที่กำนันประสิทธิ์ วัฒนศิริ ไปตั้งถิ่นฐานชาวบ้านเรียกว่า “ บ้านโคนเหนือ “ซึ่งต่อมาท่านได้เป็นกำนันคนสำคัญของบ้านโคนมาเกือบ ๒๐ ปี คือกำนันประสิทธิ์ วัฒนศิริ นั่นเอง  ท่านมีส่วนสำคัญในการทำให้บ้านโคนเจริญรุ่งเรือง ขึ้นอย่างรวดเร็ว
 ต่อมาเมื่อความเจริญมากขึ้นประชากรมากขึ้น บ้านโคน จึงเมีการเปลี่ยนแปลงโดยแยกบ้านโคนเป็น  ๒ หมู่บ้าน คือบ้านโคนใต้และบ้านโคนเหนือ
บ้านโคนใต้  คือหมู่ที่ ๒ ตำบลคณฑี อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชรมีอาณาเขต
   ทิศเหนือ         ติดกับบ้านโพธิ์อำนวย
   ทิศใต้         ติดต่อกับบ้านท่าเสลี่ยง
   ทิศตะวันออก      ติดกับบ้านโพธิ์พัฒนา
           ทิศตะวันตก      ติดกับลำน้ำปิง
สภาพทั่วไปของหมู่บ้าน ห่างจากตัวเมืองกำแพงเพชร ไปทางทิศใต้ตามเส้นทางกำแพงเพชรท่ามะเขือ ประมาณ ๒๒ กิโลเมตรมีทั้งบ้านเรือนที่ตั้งริมน้ำและอยู่ในแนวถนน ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
   บ้านโคนเหนือ คือหมูที่ ๙ตำบลเทพนครอำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชรแยกตัวมาจากบ้านโคนใต้ แต่กลับมาขึ้นกับตำบลเทพนครโดยมีอาณาเขต
      ทิศเหนือ         ติดกับหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร
      ทิศใต้         ติดต่อกับแม่น้ำปิง
      ทิศตะวันออก      ติดกับบ้านเกาะสง่า
                           ทิศตะวันตก      ติดกับบ้านท่าตะคร้อ
ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเหมือนบ้านโคนใต้ มีการพัฒนามาตลอดนอกจากการทำไร่ ทำนาแล้ว ที่บ้านโคนมีป่าไม้มากมากมาย อาชีพค้าไม้ จึงเป็นอาชีพสำคัญ

บุคคลสำคัญแห่งบ้านโคน
 

     นายประสิทธิ์  วัฒนศิริ อาจเรียกท่านว่า  กำนันนักบุญตำบลคณฑี     ท่านดำรงตำแหน่งกำนันที่ตำบลคณฑีมาเกือบ ๒๐ปี กำนันตำบลคณฑี อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร (๒๔๗๐ ถึง ๒๔๘๙)       
 นายประสิทธิ์ วัฒนศิริ เกิดเมื่อวันที่ ๒๑กรกฎาคม  ๒๔๔๗ ในหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ปากคลองลุน (บ้านโคนใต้) ซึ่งปัจจุบัน อยู่ในเขตหมู่ที่ ๑ ตำบลคณฑี อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร บิดาชื่อนายพวง แซ่ลิ้ม มารดาชื่อ นางปุย  ได้เรียนหนังสือจนอ่านออก เขียนได้ ทั้งภาษาไทยและภาษาขอม จากสำนักเรียนวัดปราสาท บ้านโคนใต้ จากนั้นในปี ๒๔๖๑ ได้เรียนจบการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จากโรงเรียนประชาบาล อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร  นายประสิทธิ์ วัฒนศิริ สมรสกับกลำภัก โพธิ์แย้ม ในปี ๒๔๗๑  มีธิดา 1 คน คือ น.ส.ทองรวม และบุตร 1 คน คือ ด.ช.บุญเลิศ ซึ่งต่อมาทั้งสองได้ถึงแก่กรรม จากนั้นได้สมรสอีกครั้งหนึ่งกับนางสุมาลี เฉยไว ในปี 2489 โดยได้รับความเห็นชอบจากนางกลำภัก นายประสิทธิ์ มีบุตรกับนางสุมาลีทั้งสิ้น ๕ คน ได้แก่
        ๑ นายแพทย์ดำรงศิริ วัฒนศิริ
          ๒. นายเลิศศิริ วัฒนศิริ
          ๓. นายสุวัฒน์  วัฒนศิริ 
          ๔. นายชำนาญ  วัฒนศิริ
          ๕. นายพิชัย  วัฒนศิริ
        นายประสิทธิ์ วัฒนศิริ เป็นคนเก่ง อ่านออก เขียนได้ มีความขยัน มีความเป็นผู้นำ จนได้รับคัดเลือกให้เป็นกำนันตำบลคณฑี (ตั้งแต่ปี ๒๔๗๐ ถึง ๒๔๘๙รวม ๑๙ ปี) และได้รับคัดเลือกให้เป็นกำนันดีเด่นของจังหวัดกำแพงเพชร ท่านได้มุ่งมั่นพัฒนาชุมชนให้เจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลคนขยันของจังหวัดกำแพงเพชรในปี  ๒๔๗๙  และพ่อตัวอย่างของจังหวัดกำแพงเพชร ในปี  ๒๕๒๕
        กำนันประสิทธิ์ วัฒนศิริ ได้มุ่งมั่นพัฒนาการศึกษา ควบคู่ไปกับการพัฒนา ได้บริจาคที่ดินให้สร้างโรงเรียนประถมศึกษาแห่งแรกในชุมชน ปัจจุบันคือโรงเรียนชุมชนบ้านคณฑี (ประสิทธิ์ อุปภัมภ์) และในปี ได้มอบที่ดินเพื่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก "ศูนย์พัฒนาเด็กวันมหาราช" ซึ่งปัจจุบันคือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลคณฑี และ ได้บริจาคที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียนคณฑีพิทยาคม ซึ่งเปิดสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ปัจจุบันเปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น-ปลาย) จึงกล่าวได้ว่า กำนันประสิทธิ์ วัฒนศิริ บริจาคที่ดินให้กับชุมชนเพื่อให้การศึกษาแก่เยาวชนตั้งแต่เด็กเล็ก จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย   นอกจากนี้ ท่านและบิดาได้ถวายที่ดินแก่สงฆ์  เพื่อสร้างวัด ดังมีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้
๑.   พ.ศ. ๒๔๘๐ มอบที่ดินตั้งโรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนชุมชนบ้านคณฑี(ประสิทธิ์ อุปถัมภ์)  เนื้อที่ ๓ ไร่ ๓ งาน ๖๐ ตารางวา
๒.   พ.ศ.๒๔๘๓ จัดหาที่ดินเพื่อสร้างวัดคณฑีศรีวชิราราม เนื้อที่ ๕ไร่เศษ
๓.   พ.ศ.๒๔๘๘ มอบที่นาส่วนตัว เป็นสมบัติของวัด เนื้อที่ ๑๐๐ ไร่เศษ
๔.   พ.ศ. ๒๔๙๓ มอบที่ดินเพื่อจัดตั้งสถานีอนามัย เนื้อที่ ๔ไร่๒ งาน
๕.   พ.ศ. ๒๕๑๕ มอบที่ดินเพิ่มให้โรงเรียนชุมชนบ้านคณฑี(ประสิทธิ์ อุปถัมภ์) เนื้อที่ ๙ ไร่ ๒ งาน ๕๐ ตารางวา
๖.   พ.ศ.๒๕๑๘ มอบที่ดินสร้างศูนย์เด็กวันมหาราช เนื้อที่ ๓งาน
๗.   พ.ศ.๒๕๒๑ มอบที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียนมัธยม คณฑีพิทยาคม เนื้อที่ ๓ตไร่ ๒งาน
๘.   พ.ศ. ๒๕๒๗ มอบเงินเพื่อจัดตั้งมูลนิธิประสิทธิ์ วัฒนศิริ  จำนวน ๑๑๒,๐๐๐ บาท
๙.   พ.ศ. ๒๕๓๔ มอบที่ดินให้โรงเรียนประถมศึกษาโรงเรียนชุมชนบ้านคณฑี(ประสิทธิ์ อุปถัมภ์) เพิ่มอีก ๑ไร่ ๓ งาน
กำนันประสิทธิ์ วัฒนศิริ ประพฤติคุณธรรมมาตลอดชีวิต ที่บ้านโคน ไม่มีใครเลยที่ไม่รักและเคารพท่าน ในที่สุดเมื่อชราภาพ ท่านจากไป เมื่อวันที่ ๒๘  กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ รวมอายุได้ ๘๖ ปี  ท่านผ่านชีวิต นักสู้ นักบุกเบิก นักปกครอง เป็นพ่อที่วิเศษของลูกๆ สมควรที่ได้รับการบันทึกไว้ให้เป็นแบบอย่าง ในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบ้านโคน คณฑี กำแพงเพชร ด้วยความคารวะ
ผลงานของกำนันประสิทธิ์ วัฒนศิริ
บริจาคที่ดินเพื่อสร้าง โรงเรียนชุมชนบ้านคณฑี (ประสิทธิ์อุปถัมภ์)   
ประวัติโรงเรียนชุมชนบ้านคณฑี (ประสิทธิ์อุปถัมภ์)   
 
โรงเรียนชุมชนบ้านคณฑี (ประสิทธิ์อุปถัมภ์)  ตั้งอยู่เลขที่ 444  หมู่  9 บ้านโคนเหนือ ตำบลเทพนคร  อำเภอเมืองกำแพงเพชร  จังหวัดกำแพงเพชร  รหัสไปรษณีย์  62000  โทรศัพท์  055-760131  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  กระทรวงศึกษาธิการ
            โรงเรียนชุมชนบ้านคณฑี(ประสิทธิ์อุปถัมภ์) เดิมมี   นายประสิทธิ์   วัฒนศิริ    กำนันตำบลคณฑี ในสมัยนั้นได้ยกบ้านพักชั่วคราวถวายให้แก่ท่านพระครูนิทาน   โพธิ์วัฒน์  เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์(พระราชพรหมมาภรณ์ในปัจจุบัน) แต่ยังมิได้รื้อถอนไป  ต่อมานายประสิทธิ์   วัฒนศิริ ได้ยกที่ดินปลูกบ้านหลังนั้นให้เป็นสมบัติของกระทรวงศึกษาธิการ   เพื่อจัดตั้งโรงเรียน   ท่านพระครูนิทานจึงยกบ้านหลังดังกล่าวให้เป็นที่เรียนของนักเรียน    ทางโรงเรียนได้รับเด็กเข้าเรียน
เมื่อวันที่   26   มิถุนายน    พ.ศ.  2481
โรงเรียนชุมชนบ้านคณฑี   (ประสิทธิ์อุปถัมภ์) เดิมชื่อ  “โรงเรียนประชาบาลตำบลคณฑี 4 “ก่อตั้งเมื่อ 26 มิถุนายน 2481 โดยกำนันประสิทธิ์  วัฒนศิริ แกนนำชาวบ้านร่วมกันก่อตั้ง บนที่ดินของตนเอง ต่อมาในปีพ.ศ.2483 คณะกรรมการศึกษาได้อนุมัติเงินร่วมสมทบสร้างโรงเรียนหลังใหม่เพิ่มและเปิดดำเนินการได้เมื่อปี พ.ศ.2485โดยให้ใช้ชื่อโรงเรียนใหม่ว่าโรงเรียประชาบาลตำบลคณฑี 4 (ประสิทธิ์วิทยาคาร) และในปี พ.ศ. 2496  ทางราชการได้ตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า  “หมู่บ้านเกาะพังงา”อยู่ติดริมแม่น้ำปิง ทางโรงเรียนจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนบ้านเกาะพังงา” (ประสิทธิ์วิทยาคาร) ตามชื่อหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ติดกับบริเวณทิศเหนือของถนนสายกำแพงเพชร – ท่ามะเขือ หลักกิโลเมตรที่ 18 หมู่ที่ 9 ตำบลเทพนคร อำเภอเมืองกำแพงเพชรปัจจุบันปีการศึกษา   ๒๕๕๔  ได้เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลศึกษาปีที่  ๑  ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่  ๖   รวม ๘  ห้องเรียน  มีนักเรียนทั้งสิ้นจำนวน ๑๕๖  คน  มีครู  ๙  คน  มีลูกจ้างประจำตำแหน่ง นักการ๑  คน
นายอวยชัย  พิลึก   ชุมชนบ้านคณฑี (ประสิทธิ์อุปถัมภ์)  ดำรงตำแหน่ง  ผู้อำนวยการโรงเรียน



ท่านกำนันประสิทธิ์  วัฒนศิริ    บริจาคที่ดินเพื่อสร้าง วัดคณฑีศรีวชิราราม
 
                   หลวงพ่อธรรมบาล
เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่แต่โบราณ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประจำวัด  คณฑีศรีวชิราราม  เป็นที่สักการะบูชาของประชาชน ชาวเทพนครและคณฑี
จากการสืบค้น ตั้งแต่การก่อสร้างวัดบ้านโคนเหนือ(วัดคณฑีศรีวชิราราม ) ประมาณปีพุทธศักราช  ๒๔๘๒ ๒๔๘๓
ได้มีการสร้างศาลาใหญ่ชาวบ้านได้พร้อมใจไปอัญเชิญหลวงพ่อธรรมบาลซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่แก่อยู่ในโบสถ์เก่าโบราณ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำฝั่งตรงข้ามกับวัด ชาวบ้านเรียกว่าเกาะพริกแกว ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็นเกาะไอ้แจว
เกาะอีแจว ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดเสมางาม หมู่๒ ตำบลธำรง .อ.เมืองกำแพงเพชร สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย นำขึ้นล้อเกวียนมาในฤดูแล้ง น้ำลดลงต่ำมาก เมื่อพระพุทธศักราช ๒๔๙๖ ได้มีการเฉลิมฉลองสมโภชหลวงพ่อธรรมภิบาล ต่อมาสร้างศาลาใหญ่ พุทธศักราช ๒๔๙๗ ผู้ดำเนินการจะมีนายประสิทธิ์ วัฒนศิริ นายพายุ เกิดพันธ์ นายโม้ รัตถา และประชาชนชาวคณฑี ปัจจุบัน หลวงพ่อธรรมบาล เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของประชาชน ในตำบลคณฑี และตำบลใกล้เคียง

 

วัดคณฑีศรีวชิราราม  ตั้งอยู่เลขที่ ๑๗ บ้านโคนเหนือ หมู่ที่ ๙ ตำบลเทพนคร อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินที่ตั้งวัดมี เนื้อที่ ๖ไร่ ๑ งาน ๔๗ ตารางวา  วัดคณฑีศรีวชิาราม ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ ชาวบ้านเรียกสั้นๆว่า “วัดคณที” ตามชื่อหมู่บ้าน วัดดังกล่าวมี นายประสิทธิ์  วัฒนศีริ เป็นผู้ริเริ่มนำชาวบ้านสร้างวัดขึ้นมา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสี เมือวันที่ ๒๓ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๑  เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร

 










พ.ศ. ๒๔๙๓ มอบที่ดินเพื่อจัดตั้งสถานีอนามัย เนื้อที่ ๔ไร่๒ งาน
 
 

 
โรงเรียนคณฑีพิทยาคม
ได้รับบริจาคที่ดินจากกำนันประสิทธิ์ วัฒนศิริ จำนวน 35 ไร่ 2 งาน 31 ตารางวา เป็นสถานที่ตั้งโรงเรียน โดยมีกำนันสมบูรณ์ รัตถา เป็นแกนนำร่วมกับประชาชนในท้องถิ่น สร้างอาคารชั่วคราว 1 หลัง จำนวน 3 ห้องเรียน
 
     โรงเรียนคณฑีพิทยาคม ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2522 และเริ่มเปิดทำการเรียนการสอนครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2522 โดยมีนักเรียนรุ่นแรก จำนวน 30 คน มีครู - อาจารย์ จำนวน 4 คน ลูกจ้างประจำ 2 คน และมีนายอนันต์ น่วมอินทร์ เป็นครูใหญ่
     ปัจจุบันโรงเรียนคณฑีพิทยาคม มีนักเรียนทั้งสิ้น จำนวน 455 คน ครูจำนวน 31 คน พนักงานราชการจำนวน 3 คน ครูอัตราจ้างจำนวน 3 คน ครูธุรการ จำนวน 1 คน เจ้าหน้าที่วิชาการจำนวน 1 คน ครูต่างชาติจำนวน 1 คน ลูกจ้างจำนวน 1 คน ลูกจ้างชั่วคราวจำนวน 3 คน โดยมีนายนายเผ่าชาย ชาญชึ่ยว ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน และนายชำนาญ  วัฒนศิริ ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน





 
 

 










 







ภาคที่ ๓ ภาคผนวก
คณฑี เทพนคร  ไตรตรึงษ์ สามนครที่ยิ่งใหญ่
ตามตำนานท้าวแสนปม...ได้กล่าวถึงเมืองเทพนคร ว่าเป็นเมืองเนรมิต จากอำนาจของ พระอินทร์ดังเรื่องที่เล่ากันว่าเมื่อท้าวแสนปมได้นางอุษาเป็นชายาแล้ว...ถูกขับออกไปทำไร่หักล้างถางพงแต่วันรุ่งขึ้น ต้นไม้เหล่านั้นได้กลับขึ้นมาใหม่....จึงซุ่มดูอยู่เห็นวานรตัวหนึ่งซึ่งเป็น พระอินทร์แปลงกายถือ อินทรเภรี คือกลองวิเศษ ..ท้าวแสนปมได้จับวานรได้..วานรได้มอบกลองวิเศษให้ และบอกว่า ตีกลองขอได้สามสิ่ง ท้าวแสนปมจึงตีครั้งที่ 1 ขอให้ปมทั้งหลายหายไปกลายเป็นบุรุษรูปงาม ตีครั้งที่ 2 ขอเมืองใหม่จึงเกิดเมืองเนรมิต ขึ้น เมืองนี้คือเมืองเทพนคร ตีครั้งที่ 3 ขออู่หรือเปลทองคำให้ราชโอรส ซึ่งเมื่อเติบโตขึ้นเป็นพระเจ้าอู่ทองปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาเราจึงคิดว่าเมืองเทพนครจึงแค่เป็นเมืองที่เล่าขานตามตำนานมิได้มีจริง.... จึงมิได้ค้นหาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เมื่อหาร่องรอยเมืองเทพนครไม่พบ จึงเลิกค้นหา...
         .อาจารย์รุ่งเรือง สอนชู แห่งโรงเรียนบ้านเทพนคร สนใจเรื่องราวของเมืองเทพนครอย่างยิ่งได้แจ้งให้คณะทำงานโทรทัศน์วัฒนธรรมว่าได้ค้นพบ เมืองเทพนครแล้ว....เราจึงนัดหมายกันเพื่อไปค้นคว้า ...เมืองเทพนครเมืองที่หายสาปสูญไปหลายร้อยปี....อาจารย์รุ่งเรือง สอนชู อาจารย์วิไลพร สอนชู จากโรงเรียนบ้านเทพนคร นายสิน คำหงษา อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 15 ตำบลเทพนคร ประธานกรรมการสถานศึกษา โรงเรียนบ้านเทพนคร.... นางมรินทร์ ประสิทธิเขตกิจ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล เทพนคร อาจารย์เรืองศักดิ์ แสงทอง นักนิยมประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จักรพรรดิ ร้องเสียง ตากล้องทีวีมือหนึ่งของเรา พร้อมด้วย คณะนักเรียนประถมปีที่ 6 โรงเรียนเทพนครอีก ประมาณ 20 คน.....ออกเดินทางไปยังบริเวณที่เรียกว่าคูเมืองเทพนคร ห่างจากถนนราว 800 เมตร เราพบแนวคูเมือง ที่เป็นลักษณะ สี่เหลี่ยมผืนผ้าอย่างจงใจ แนวกำแพงเมือง พบแล้ว เดินตามแนวกำแพงเมืองเทพนครไปราว 500 เมตร พบเนินดินที่เป็นลักษณะ เหมือนป้อมมุมเมืองเนื้อที่ราว 200 ตารางเมตร ยังอยู่ในสภาพดี ได้สำรวจจนทั่ว ทุกคนยืนยันว่าเป็นป้อมมุมเมือง แนวกำแพงที่เลี้ยวไปทางแม่น้ำ ถูกไถทำที่นา ทั้งหมด เมื่อไม่มีหลักฐานบริเวณนี้ คณะสำรวจได้เดินกลับไปทางเดิม เดินสำรวจไปทิศตรงกันข้าม ตามแนวคันดินและคูเมืองเทพนครด้านนอก อีกประมาณ 200 เมตร พบป้อมมุมเมืองเช่นเดียวกัน เห็นคันคูน้ำ ยาวเหยียดสุดสายตา.... ทั้งหมดเมืองเทพนคร มีหลักฐานให้เห็น คูเมือง เป็นลักษณะมุมฉาก เหลือประมาณ ร้อยละ 40 ส่วนกำแพงเมืองไม่พบร่องรอย นอกจากแนวถนนที่เราสันนิษฐานว่าเป็นกำแพงเมืองเท่านั้น....
         เรากลับมาที่บ้านของนายยงค์ ทองปรางค์ ตั้งอยู่ริมน้ำปิง ห่างจากแม่น้ำราว 20เมตร พบร่องรอยของวัดโบราณอาจเป็นวัดประจำเมืองเทพนคร มีหลักฐานแค่ฐานพระประธานให้เห็น และแนวฐานพระวิหารยังเห็นชัดอยู่ นายยงค์ ทองปรางค์ เล่าว่าค้นพบพระพุทธรูป ในบริเวณนี้ เมื่อขุดหลุมปลูกพริก ที่ได้นำพระพุทธรูปมาให้เราชมด้วย....มีพุทธลักษณะงดงามมาก... เมืองโบราณเทพนคร สร้างอย่างใหญ่โต.....และมีสถาปัตยกรรมที่ถูกต้องตามหลักยุทธศาสตร์ กล่าวกันว่า เมืองเทพนคร ป็นราชธานีอยู่เพียง 30 ปี ท้าวแสนปมขึ้นครองราชย์ ที่เมืองเทพนคร ทรงพระนามว่าพระเจ้าศิริชัยเชียงแสน ่วนราชโอรสที่เกิดจากนางอุษาที่ทรงบรรทมอู่ทองเนรมิตนั้น มีพระนามสืบกันมาว่าพระเจ้าอู่ทอง พระเจ้าศิริชัย เชียงแสน อยู่ในราชสมบัติ 25 ปี สวรรคตในปีพ.ศ. 1887 พระเจ้าอู่ทอง ครองราชย์สมบัติต่อมา อีก 5 ปีจึงอพยพผู้คนไปตั้งราชธานีที่กรุงศรีอยุธยา....ทำให้ทิ้งให้เมืองเทพนครร้าง ตั้งแต่ปี 1900 .....ไม่มีผู้คนอพยพไปตั้งบ้านเรือนอีกเลย.. ตำนานก็คือตำนาน...แต่มีเค้าความจริงอยู่ เมื่อเราค้นพบแนวกำแพงเมืองเทพนคร ประมาณ 2 กิโลเมตร มีคูเมืองปรากฏอย่างชัดเจน.....
.......ตามข้อสันนิษฐาน พระเจ้าศิริชัยเชียงแสน คงอพยพผู้คนมาจากทางเหนือ ปลอมตนเป็นชายเข็ญใจ และเมื่อได้กับนางอุษาที่เมืองไตรตรึงษ์แล้ว...จึงสร้างบ้านเมืองที่ฝั่งตรงข้ามกับเมืองไตรตรึงษ์ เมืองที่สร้างใหม่คือเมืองเทพนคร.....แต่เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วเมืองเทพนครมีปัญหาเหมือนเมืองนครชุมคือ แม่น้ำปิงกัดเซาะ ให้กำแพงในส่วนริมน้ำปิงพังพินาศหมด ....จึงต้องอพยพผู้คนไปหาชัยภูมิใหม่....อาจเป็นต้นกำเนิดคนไทยที่กรุงศรีอยุธยาจริง....
.....เป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์ใจ พระร่วงเจ้าไปจากเมืองคนฑี กำแพงเพชร เพื่อไปสร้างกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
.....พระเจ้าอู่ทอง ไปจากเมืองเทพนคร ไปสร้างกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี.
......พระยาวชิรปราการไปจากเมืองกำแพงเพชร .....ไปสร้างกรุงธนบุรี เป็นราชธานีเช่นกัน เป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อแต่ก็มีหลักฐานที่ชัดเจน........
เราจึงร่วมกันภูมิใจ ในการที่เราเป็น ชาวคณฑี เทพนคร  และไตรตรึงษ์   กำแพงเพชร ร่วมกัน
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!