จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
เมษายน 20, 2024, 04:01:19 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: #ดาบที่สร้างจากประวัติศาสตร์ ... #ดาบรามเพชรรัตน์ อนุสรณ์เจ้ากำแพงเพชร ... #พระ  (อ่าน 2989 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1413


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 02, 2020, 09:08:36 pm »

#ดาบที่สร้างจากประวัติศาสตร์
...
#ดาบรามเพชรรัตน์  อนุสรณ์เจ้ากำแพงเพชร
...
#พระแสงราชศัสตราแห่งเมืองกำแพงเพชร เป็นพระแสงประจำเมืองเล่มเดียวในประเทศที่เป็นของเก่าที่แท้จริง เนื่องด้วยเป็นพระแสงที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ให้เป็นบำเหน็จความดีความชอบในการศึกปัตตานี ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แก่ พระยากำแพงเพชร นุช  ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรคนที่ 2 ต่อจากบิดา ส่วนพระแสงประจำเมืองของจังหวัดอื่น ๆ ล้วนสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา
...
#พระยากำแพงเพชรนุช  นั้นเป็นใคร ??  ทำไมจึงได้รับพระราชทานพระแสงทองคำ ??
...
ในสงครามเก้าทัพนั้น สมรภูมิทางใต้ อย่างหัวเมืองแขกมลายู นั้นมีความสำคัญเท่าๆ กับหัวเมืองเหนือ โดยเฉพาะรัฐปัตตานี อันเป็นศูนย์กลางอำนาจแห่งหนึ่งในคาบสมุทรมลายู การที่สยามรบชนะยึดเมืองปัตตานีได้ พร้อมชะลอปืนใหญ่อย่าง พญาตานี อันเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจทางการทหารมาไว้ยังกรุงเทพฯ ตามธรรมเนียมการศึกสงครามนั้นก็เหมือนกับที่สยามสมัยพระเจ้าตากสินมหาราชตีเวียงจันทร์แล้วอัญเชิญพระแก้วมรกตมายังกรุงธนุรี นั่นเอง
...
การศึกปัตตานีในสมัยรัชกาลที่ 1 นั้นมี 3 ครั้ง คือ ศึกใหญ่ในช่วงสงคราม 9 ทัพ ปี พ.ศ. 2328  ศึกปัตตานีครั้งที่ 2 ปี พ.ศ.2334 และศึกปัตตานีครั้งที่ 3 ปี พ.ศ.2351 ซึ่งใน 2 ครั้งหลัง จัดเป็นศึกปราบกบฏ  จึงมีคำถามว่า พระยากำแพงเพชรนุช ท่านได้ความดีความชอบจากศึกไหน ฮืม ซึ่งเราคงต้องสืบค้นกันต่อไป
...
ในเอกสารที่บันทึกถึงพระยากำแพงเพชรนุชนั้น มีการกล่าวว่าท่านเป็นก๊กวังหลัง  คำว่า ก๊กวังหลัง นั้นตีความหมายได้ค่อนข้างกว้างมาก แต่ไม่น่าจะใช่ขุนนางในกรมพระราชวังหลัง เพราะรัชกาลที่ 1 ทรงแต่งตั้งหลานขึ้นเป็นกรมพระราชวังหลัง ครั้งเมื่อเสร็จศึกสงครามเก้าทัพ และกรมพระราชวังหลังทรงขึ้นไปปราบศึกหัวเมืองเหนือ มิใช่หัวเมืองใต้ อย่าง ศึกปัตตานี ดังนั้นจึงเหลือเพียงประการเดียว คือ พระยากำแพงเพชรนุช ต้องมีความเกี่ยวข้องในระดับเครือญาติ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
...
#พระยากำแพงเพชรนุช นั้นถึงจะมิได้มีความสำคัญเทียบเท่าเจ้าหัวเมืองเหนือ อย่าง เชียงใหม่ ลำปาง หรือน่าน ที่เสมือนเจ้าประเทศราชในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ อันเป็นที่มาของราชสกุล อย่าง ณ เชียงใหม่  ณ ลำปาง หรือ ณ น่าน เป็นต้น
 แต่ตามบันทึกนั้นปรากฏว่า ภรรยาของท่านสืบสายโลหิตเจ้าเมืองเชียงแสน และมีเชื้อสายชาวกาวเมืองน่าน  ยิ่งเป็นเครื่องช่วยยืนยันถึงโอกาสที่ พระยากำแพงเพชรนุช จะเป็นหนึ่งในพระประยูรญาติ หรือเป็นเครือญาติที่เกี่ยวพันกับรัชกาลที่ 1 มากยิ่งขึ้นอีกประการหนึ่ง และด้วยเหตุนี้จึงทำให้ลูกหลานของพระยากำแพงเพชรนุช ได้สืบทอดตำแหน่งเจ้าเมืองกำแพงเพชรกันมาอีกหลายรุ่นเกือบ 100 ปี จึงเปลี่ยนเจ้าเมืองเป็นคนจากสกุลอื่นแทนในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5
...
#พระแสงราชศัสตราแห่งกำแพงเพชร
...
การได้รับพระราชทานพระแสงดาบจากรัชกาลที่ 1 ในลักษณะนี้ เรียกได้ว่าเป็นการพระราชทานไว้เป็นประจำ ผู้ที่ได้รับพระราชทานย่อมต้องเป็นที่โปรดปรานเป็นพิเศษ แต่ถือว่าเป็นการพระราชทานเป็นส่วนพระองค์เพื่อส่วนตัวของผู้นั้นเอง พระแสงดาบนี้จึงมิได้มีอำนาจอาญาสิทธิ์ในราชการเมือง  ซึ่งสุดท้ายจากพระแสงราชศัสตราจึงเลือนกลายเป็นดาบประจำตระกูลไปในที่สุด (กรมศิลปากร , พระแสงราชศัสตราประจำเมือง : ๒๕๓๙ หน้า ๕๒ )
...
ตั้งแต่ต้นสมัยรัตนโกสินทร์มานั้น มีการพระราชทานพระแสงดาบในลักษณะนี้เพียง 2 เล่ม ซึ่งอีกเล่มหนึ่งคือ พระแสงดาบที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 3 พระราชทานให้กับเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แต่ปัจจุบันจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพฯ ส่วนพระแสงดาบกำแพงเพชร เก็บรักษาไว้ที่ห้องมั่นคง สำนักงานคลังจังหวัดกำแพงเพชร โดยไม่ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม ยกเว้นทายาทพระยากำแพงเพชร ในสายสกุลต่างๆ ที่มาร่วมพิธีวางพวงมาลาถวายพระพุทธเจ้าหลวง เนื่องในวันปิยะมหาราช เดือนตุลาคม เท่านั้น
...
สายสกุลทายาทพระยากำแพงเพชร นั้น มี 9 สกุลหลัก คือ กำแหงสงคราม กลิ่นบัว นาคน้อย นุชนิยม รอดศิริ รามบุตร รามสูต ศุภดิษฐ์ และอินทรสูต และยังมีสกุลที่เกี่ยวข้องอีก 6 สกุล ปัจจุบันผู้ที่เป็นทายาทสายเลือดพระยากำแพงเพชรน่าจะมีถึงหลักพันคน บางท่านเป็นนายทหารระดับผู้ใหญ่ บางท่านเป็นนักธุรกิจใหญ่ เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ เป็นครูอาจารย์ เป็นพ่อค้า เป็นเกษตรกร เรียกได้ว่า ครอบคลุมทุกระดับชั้น
...
ผมในฐานะทายาทรุ่นที่ 9 ในสายสกุล รามสูต ทายาทจากสายพระยารามรณณรงค์สงคราม (เกิด) เจ้าเมืองกำแพงเพชรคนที่ 7 แห่งรัชสมัยรัตนโกสินทร์  ซึ่งเป็นหลานตาของพระยากำแพงเพชรนุช ด้วยจิตสำนึกในเกียรติภูมิของบรรพบุรุษทุกๆ รุ่น ลงมาถึงบิดาและมารดาของผม  ที่ล้วนรับราชการสนองคุณแผ่นดินมาโดยตลอด จึงขอยอยกพระแสงดาบกำแพงเพชร ขึ้นเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์  ศัสตราทายาท  อันดาบรามเพชรรัตน์นั้น คำว่า “ราม” มาจากตำแหน่งเจ้าเมืองกำแพงเพชร คือ ออกญารามรณณรงค์สงครามฯ คำว่า “เพชร” มาจากชื่อเมืองกำแพงเพชร  คำว่า “รัตน์” (รัตนะ) ที่แปลว่าแก้ว นั้นมาจาก พระแก้วมรกต ที่เคยประดิษฐาน ณ วัดพระแก้ว เมืองกำแพงเพชร  ดาบรามเพชรรัตน์เล่มนี้จึงมีต้นกำเนิดเป็นสิ่งสำคัญ เป็นเรื่องราวและตำนานของเมืองกำแพงเพชรไว้อย่างครอบคลุม  ให้ปรากฏเป็นอนุสรณ์แห่งเจ้ากำแพงเพชร สืบไป
...
โดยในการนี้ได้จำลองลักษณะใบดาบของพระแสงกำแพงเพชร ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างดาบ ในการนี้ ศัสตราเมธี ครูพรชัย ตุ้ยดง ได้ใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ยืนยันว่า พระแสงดาบกำแพงเพชรนี้ เป็นดาบ ล้านนาทรงเจ้าลำปาง ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของ ปราชญ์เมืองกำแพงเพชร อาจารย์สันติ อภัยราช ที่เป็นผู้มีส่วนร่วมในการบูรณะพระแสงดาบกำแพงเพชรองค์จริงมาตั้งแต่ต้น ว่าเป็นดาบล้านนา อย่างมิต้องสงสัย 
...
โดยพระแสงราชศัสตราเมืองกำแพงเพชรนั้น ใบทรงเจ้าลำปางยาว 18 นิ้ว ด้ามยาว 15.5 นิ้ว ใบกว้างสุด 1 นิ้ว หลูบด้วยทองคำทั้งด้ามและฝักตามจารีตดาบล้านนา เพียงแต่ที่ด้ามไม่ใส่ลูกแก้ว ที่คอด้าม ก่อนการบูรณะมีน้ำหนักรวมด้ามฝักและใบ 636.2 กรัม
...
ดาบรามเพชรรัตน์ ใบทรงเจ้าลำปางยาว 20 นิ้ว ด้ามยาวรวม 18 นิ้ว ใบตีจากอุกกาบาตชนิดเหล็ก ด้ามไม้ไผ่สีสุกโค้งธรรมชาติ และฝักไม้สักทอง ทั้งด้ามและฝักหลูบด้วยเงินแท้ชุบทองคำ ส้นด้ามใส่แก้วผลึกใสกลึง ปลายฝักหลูบด้วยแผ่นทองแดง สร้างตามศิลป์และจารีตล้านนาผสมลาว โดยในการนี้ ผมได้นำคติความเชื่อเรื่อง อัษฎมงคล 8 ประการ ของพุทธนิกายตันตระ มาประยุกต์และสอดแทรกในการหลูบดาบรามเพชรรัตน์
 
#ส้นด้าม เป็นแก้วผลึกแกะลายก้นหอยสังข์มงคล มีดอกบัวมงคลบานมารองรับ
#ด้าม ใส่บัวรัดมีลายหนาเป็นข้อ ๆ แทน ฉัตรมงคล 9 ชั้นและ 5 ชั้น
#กลุ่มลายบัว ในทุกข้อ จบด้วยบัวลายหางปลามงคล
#บัวรัดตรงรอยต่อด้ามกับฝัก มีลายเปียถัก 4 หรือลายเงื่อนมงคล
#ใส่ตะหวา ทองแดงตอกลายธรรมจักรมงคล
#ฝัก ใส่กลุ่มลายบัวคู่ แบ่งฝักเป็น 3 ช่วง แทน ตุงมงคลหรือธงทางล้านนา
#ตัวฝักแทนภาชนะ หม้อน้ำ ปูรณฆฏะ โดยแกะลายดอกพุดตานที่ขอบฝัก
...
#งานหลูบเงินชุบทอง นี้จะสำเร็จออกมามิได้หากไม่ได้ สล่าหลูบเงินผู้มีฝีมือฉกาจฉกรรจ์ อย่าง #สล่าแคบหมู ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี พ.ศ.2563 นายธีร์ธวัช  แก้วอุด มาเป็นผู้สร้างสรรค์งาน  สำหรับดาบรามเพชรรัตน์ เล่มนี้ ยังมีรายละเอียดที่ผมอยากนำเสนอเพิ่มเติมอีกในครั้งต่อไป อาจเป็นในงานพินิจศาสตราฯ ที่จะจัดขึ้นในเดือนนี้ ที่ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ จึงขอเชิญชวนท่านผู้สนใจ มาเที่ยวชมงานได้ ซึ่งจะมีดาบที่สวยงามและทรงคุณค่าของท่านอื่นๆอีกมากมายมาให้ร่วมชมกัน
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!