จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
เมษายน 26, 2024, 07:36:08 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับชาวกำแพงเพชร สืบค้นโดย อาจารย์รุ่งเรือง สอนชู  (อ่าน 3533 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1414


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: กันยายน 09, 2016, 09:12:26 am »

สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับชาวกำแพงเพชร
สืบค้นโดย อาจารย์รุ่งเรือง สอนชู
ความเดิมก่อนที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะเสด็จมากำแพงเพชร
                  พระมหาธรรมราชามีพระนามเดิม ว่าขุนพิเรนทรเทพ    ได้รับการพูนบำเหน็จจากมหาจักรพรรดิให้เป็นพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าไปครองเมืองพิษณุโลกและมีอำนาจครองเมืองเหนือทั้ง ๖ เมือง   พร้อมทั้งให้พระธิดาคือพระวิสุทธิกษัตรีไปเป็นอัครมเหสี  ซึ่งต่อมาเกิดพระธิดาและพระโอรส
                               องค์ที่  ๑  พระสุพรรณกัลยานี
                               องค์ที่ ๒  พระนเรศวร
                               องค์ที่ ๓  พระเอกาทศรถ
                เมื่อคราวที่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๓  เมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๖ ครั้งนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิยอมแพ้  ยินยอมให้พระเจ้าหงสาวดีนำ พระราเมศวร  เจ้าพระยาจักรี พระสุนทรสงครามไปเป็นเชลยที่เมืองหงสาวดี  แต่ในพงศาวดารพม่าว่ารวมทั้งพระนเรศวรด้วย ซึ่งมีอายุ ๙ พรรษา และคราวที่พระเจ้าหงสาวดียกทัพมาตรีกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๑๑๑  พระนเรศวรก็มากับกองทัพของพระเจ้าหงสาวดีด้วย
               หลังจากที่เสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่า เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๙  แรม ๑๑ ค่ำ ปีมะเส็ง  พ.ศ. ๒๑๑๒ หลังจากนั้นอีกประมาณ  ๓ เดือน คือ วันศุกร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๑๑๒ ได้สถาปนาสมเด็จพระมหาธรรมราชิราชเจ้า ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา องค์ที่  ๑๗  ทรงพระนามสมเด็จพระสรรเพชญ์ 
                  เมื่อพระมหาธรรมราชาขึ้นครองราชย์กรุงศรีอยุธยา   ได้นำพระธิดา คือ พระสุพรรณกัลยานี ไปถวายให้กับพระเจ้าหงสาวดีในฐานะมเหสีของพระเจ้าหงสาวดี เพื่อแลกเปลี่ยน ขอพระนเรศวรกลับมากรุงศรีอยุธยาเพื่อช่วยในงานสงคราม และต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นมหาอุปราช ให้พระนเรศวรขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลกเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๑๑๔   ด้วยวัยเพียง ๑๖ พรรษา
วีรกรรมอันโดดเด่นของสมเด็จพระนเรศวร
             สมเด็จพระนเรศวรได้ออกสู้รบช่วยปกป้องกรุงศรีอยุธยามาหลายครั้ง  จนกระทั่งในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๑๒๔ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสวรรคต  มังเอิง(มังชัยสิงห์)ราชบุตรผู้เป็นมหาอุปราชขึ้นครองราชย์สมบัติ มีพระนามว่า พระเจ้านันทบุเรง  และตรัสให้ราชบุตร มังสามเกลียด(มังกยอชวา)เป็นมหาอุปราช พระเจ้านันทบุเรงเสวยราชย์ใหม่ บ้านเมืองยังไม่ปรกติ เมืองรุมเมืองคังก็แข็งเมืองขึ้น  สมเด็จ พระนเรศวรทรงทราบ จึงกราบทูลพระมหาธรรมราชารับอาสาออกไปร่วมรบในครั้งนี้  พระเจ้านันทบุเรงจึงได้จัดส่งไปครั้งนี้ ๓ กองทัพ
                       
                       ๑  กองทัพมังสามเกลียด(มังกยอชวา)มหาอุปราชเมืองหงสาวดี
                        ๒. กองทัพพระสังกะทัต(นัดจินหน่อง)   ซึ่งเป็นราชบุตรของพระเจ้าตองอู
                        ๓ กองทัพของพระนเรศวร มหาอุปราชกรุงศรีอยุธยา
                ในการเข้าตีเมืองรุม เมืองคัง ได้แบ่งกองทัพเข้าคนละวัน  วันแรกกองทัพของมหาอุปราชเข้าตีก่อน  แต่แพ้แก่ชาวเมืองรุม เมืองคัง  วันที่สองกองทัพของพระสังกะทัตเข้าตีเมืองเมืองรุม เมืองคัง ก็แพ้เช่นเดียวกัน  พอถึงวันของพระนเรศวรเข้าตี  แต่ได้รับชัยชนะ ยึดเมืองรุม เมืองคังได้   จับตัวเจ้าเมืองรุม เจ้าเมืองคัง มาเมืองหงสาวดี  พระเจ้าหงสาวดีได้กล่าวคำชมเชยและพระราชทานบำเหน็จรางวัลถึงขนาด แล้วเสด็จกลับมาเมืองไทย
สาเหตุที่ทำให้สมเด็จพระนเรศวรเสด็จมากำแพงเพชรหลายครั้ง
                  พระเจ้าหงสาวดีเห็นถึงความสามารถของพระนเรศวร จึงคิดที่จะหาวิธีกำจัดพระนเรศวร โดยเริ่มปรับปรุงเส้นทางจากแม่สอด จนถึงเมืองกำแพงเพชร  ให้ขุนนางนายทหารชื่อ  นันทสู  กับ  ราชสังครำ(หรือราชสงคราม) คุมทหารกำกับพวกไทยใหญ่ จำนวน หนึ่งหมื่นคน เข้ามาตั้งยุ้งฉางอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร  ที่พระเจ้าหงสาวดีทำทางเข้ามาเมืองไทยครั้งนั้นเพื่ออ้างไว้บำรุงคมนาคม แต่จุดประสงค์ที่แท้จริงถ้าไทยเอาใจออกห่างกำเริบขึ้นเมื่อใดก็จะยกทัพมาปราบได้ทันที
                เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๑๒๖ เกิดกบฏที่เมืองอังวะ เป็นโอกาสที่พระเจ้านันทบุเรงคิดที่กำจัดสมเด็จพระนเรศวร  พระเจ้าหงสาวดีคิดเป็นกลอุบายโดยแจ้งหนังสือ ให้ สมเด็จระนเรศวรไปช่วยปราบปรามเมืองอังวะ สมเด็จพระนเรศวรยกกองกับออกจากเมืองพิษณุโลกผ่านมาทางกำแพงเพชร ถึงตำบลวัดยม แล้วไปตั้งค่ายพักทัพที่หนองปลิงได้ ๓ วัน แล้วเดินทางไปหงสาวดีทางแม่สอด
       ขณะนั้นพระยากำแพงเพชร รายงานว่า พวกไทยใหญ่ที่อยู่ที่กำแพงเพชรหลบหนีพม่าไปทางเมืองพิษณุโลก  สมเด็จพระนเรศวรทราบ สั่งให้ม้าเร็วไปบอกแก่ หลวงโกษา และข้าหลวงเมืองพิษณุโลก ให้ดูแลทุกด่านทั้งนครไทย  เพชรบูรณ์ ไม่ให้ผ่านไป  ให้ดูแลรักษาไว้
         เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกทัพไปตีเมืองอังวะ ในครั้งนี้คิดที่จะกำจัดพระนเรศวรด้วย จึงตรัสสั่งพระมหาอุปราชให้คุมพลอยู่หงสาวดี ถ้าพระนเรศวรเสด็จไปถึง ให้ต้อนรับแล้วคิดกำจัดเสีย
         เมื่อสมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปถึงเมืองแครง   พระมหาอุปราชจึงให้พระยามอญ ๒ คน คือพระยาเกียรติ และพระยาราม เป็นข้าหลวงมาคอยรับเสด็จพระนเรศวรที่เมือง แครง  สั่งมาเป็นความลับเป็นไส้ศึกปนไปในกองทัพสมเด็จพระนเรศวร เมื่อได้โอกาสก็กำจัดเสีย  พระยาเกียรติ  พระยาราม ได้นำความลับไปแจ้งแก่พระมหาเถรคันฉ่อง ซึ่งเป็นพระอาจารย์ พระมหาเถรคันฉ่องทรงรักใคร่ชอบพอกันอยู่แล้ว จึงได้เล่าให้พระนเรศวรทรงทราบ   พระนเรศวรทรงโกรธมากในการกระทำครั้งนี้  จึงสั่งให้แม่ทัพ นายกอง มาฟังเรื่องราวทั้งหมด แล้วทรงหลั่งน้ำจากเต้าทองคำลงเหนือแผ่นดิน ประกาศแก่เทพดาต่อหน้าที่ประชุม ว่า ตั้งแต่วันนี้กรุงศรีอยุธยาขาดทางไมตรีกับกรุงหงสาวดี มิได้เป็นมิตรกันดังแต่ก่อนต่อไป( เดือน ๖  ปีมะแม พ.ศ. ๒๑๒๗)  เมื่อประกาศอิสรภาพแล้วก็ถามชาวมอญทั้งหลาย ชาวมอญพร้อมมาอยู่กับไทย แล้วให้พระยาเกียรติและพรยารามออกไปเล่าเรื่องราวให้ชาวหงสาวดีรู้  ยกทัพออกจากเมืองแครงเมือเดือน ๖ แรม ๙ ค่ำ ข้ามแม่น้ำสะโตงไปยังเมืองหงสาวดี
         พระมหาอุปราชาที่รักษาพระนคร รู้เรื่องสมเด็จพระนเรศวร  ยกทัพกวาดครัวแล้วถอยทัพกลับไป  ก็จัดทัพให้ สุรกรรมาเป็นกองหน้า พระมหาอุปราชาเป็นกองหลัง ยกทัพติดตามทันที่แม่น้ำสะโตง  สมเด็จพระนเรศวรให้กองทัพที่ล่วงหน้ามาก่อนเดินทัพต่อไป  แต่กองทัพของพระองค์ก็ตั้งรอข้าศึกที่ริมแม่น้ำสะโตง  เมื่อกองทัพของสุรกรรมมาฝั่งแม่น้ำต่างก็ใช้ปืนต่อสู้กัน แต่แม่น้ำกว้างมาก จึงไม่ถึงฝั่ง  แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงยิงปืน  นกสับ อย่างยาว ถูกสุรกรรมานายทัพหน้าของข้าศึกตายอยู่กับคอช้าง  พวกรี้พลเห็นแม่ทัพตายก็พากันกลัวและยกกลับไปหงสาวดี   
                 เมือสมเด็จพระนเรศวรยกทัพกลับ ผ่านมาทางด่านเจดีย์สามองค์ผ่านกาญจบุรี (เพราะถ้าผ่านกำแพงเพชร ก็จะเจอกองทัพของพม่า)  ถึงกรุงศรีอยุธยานำพระมหาเถรคันฉ่อง พร้อมทั้งญาติโยม รวมทั้งพระยาเกียรติ พระยารามตั้งบ้านเรือนในกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระนเรศวรปกป้องชาวกำแพงเพชร
                สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบเรื่องราวที่กล่าวถึงพม่ามาตั้งกองทัพที่เมืองกำแพงเพชร ก็เสด็จกลับถึงเมืองพิษณุโลก   หลวงโกษารายงานเรื่องราวทั้งหมดให้กับพระนเรศวร(มีหนังสือถึงเมืองพิษณุโลกให้คืนไทยใหญ่ให้กับพระนันทสู และราชสังครำ ถ้าไม่คืนให้  จะจับชาวกำแพงเพชรเป็นตัวประกัน)  พระนเรศวรไม่ยินยอมคืนให้  และจะไม่ให้ชาวกำแพงเพชรต้องลำบาก  ทรงสั่งให้พระยาไชยบูรณ์ ขุนพสี และพระหัวเมืองทั้งปวง  เป็นทัพหน้า  สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปในกองทัพหลวง ถึงเมืองกำแพงเพชร ไปขับไล่นันทสูและราชสังครำ  ไปจากเมืองกำแพงเพชร   
             ฝ่ายนันทสูกับราชสังครำ รู้ว่า พระนเรศวรเสด็จมากำแพงเพชร  ก็รีบหลบหนีออกจากกำแพงเพชร  สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบ จึงตรัสสั่งให้ พระยาไชยบูรณ์  ขุนพสี และพระหัวเมืองทั้งปวงยกองทัพล่วงหน้าไป  พระยาไชยบูรณ์  ขุนพสี ไล่ตามไปทันถึงตำบลแม่ระกา ต่างต่อสู้กัน และหลบหนีไปได้ ทางเมืองเชียงทอง


สมเด็จพระนเรศวรนำชาวกำแพงเพชรไปดูแลที่กรุงศรีอยุธยา
             .ในคราวที่สมเด็จพระนเรศวรเกณฑ์คนหัวเมืองเหนือ(พิชัย สวรรคโลก  สุโขทัย พิษณุโลก  กำแพงเพชร  พิจิตร ) ไปขับไล่นันทะสูและราชสังครำครั้งนั้น  พระยาพิชัย และพระยาสวรรคโลกเป็นขบถ ได้ประหารทั้ง ๒ คน  และสมเด็จพระนเรศววรให้ย้ายผู้คน(เทครัว)และพาหนะในเมืองพิษณุโลก  เมืองสวรรคโลก  เมืองสุโขทัย  เมืองกำแพงเพชร เมืองพิจิตร เมืองเล็กน้อยทั้งนั้น  ลงบรรทุกแพบ้าง เรือบ้าง แล้วแต่งเรือคุมเป็นหมวดเป็นกอง และแต่งกองทัพป้องกันทั้งสองฝั่งฟากน้ำลงมา จนถึงกรุงศรีอยุธยา     สมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จลงมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗ นั้น
ครั้งสุดท้ายของชาวกำแพงเพชรที่มีโอกาสต้อนรับสมเด็จพระนเรศวรเคลื่อนทัพผ่านเมืองกำแพงเพชร
                   เมื่อถึง  ปีเถาะ พ.ศ. ๒๑๔๖  สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่าพระเจ้าอังวะตั้งตัวเป็นใหญ่ในเมือง   
 พม่าเหนือ  ยกกองทัพไปเอาเมืองไทยใหญ่ที่ตั้งตัวเป็นอิสระได้แล้ว  เลยบุกรุกเข้ามาตีเมืองนาย แลเมือง     แสนหวีไทยใหญ่ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของไทย  เห็นว่าเมืองไทยใหญ่มีความสำคัญมาก  ถ้าพระเจ้าอังวะ
บังอาจบุกรุกได้เมืองไทยใหญ่ทั้งหมดแล้ว  อาจจะมีกำลังถึงสามารถรวมอาณาเขตพม่าได้กลับตั้ง
 ประเทศหงสาวดีได้อีก และในช่วงเวลานั้น  การบำรุงรี้พลมีความพร้อมเพรียง  สมเด็จพระนเรศวรเห็น
  ควรจะปราบพระเจ้าอังวะเสียแต่ยังไม่ทันมีกำลังมาก
                 สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกทัพหลวงออกจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันพฤหัสบดี เดือนยี่ แรม ๖ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๔๗เสด็จไปด้วยกันกับสมเด็จพระเอกาทศรถ ไปทางบก  ผ่านเมืองกำแพงเพชร ขึ้นไปเมืองเชียงใหม่  ตั้งทัพหลวงอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ได้  ๑ เดือน  สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จไปทางเมืองฝาง สมเด็จพระนเรศวรทรงยกทัพหลวงไปทางเมืองหาง (หรือเมืองห้างหลวง)  ตั้งทับหลวงอยู่ที่ตำบลทุ่งแก้ว
                 ในขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรทรงพระประชวนเป็นหัวระลอกขี้น(บ้างว่าถูกตัวสัตว์พวกแมลงมีพิษต่อย)  ที่พระพักตร์ แล้วเลยเป็นบาททะพิษจนพระอาการหนัก  จึงตรัสสั่งให้ข้าหลวงรีบไปเชิญสมเด็จพระเอกาทศรถมาเฝ้า  สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จมาถึงทันทรงพยาบาลได้ ๓ วัน  สมเด็จพระนเรศวรเสด็จสวรรคตที่เมืองหาง  เมื่อวันจันทร์  เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ  ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๑๔๘ พระชันษาได้   ๕๐ ปี  เสวยราชสมบัติ ได้ ๑๕ ปี
                สมเด็จพระเอกาทศรถก็ยกทับหลวงจากเมืองหางโดยทางเรือถึงเมืองเชียงใหม่ ตั้งทัพหลวงที่เชียงใหม่ ๑ คืน แล้วเสด็จมาทางสุโขทัย  มายังท่าเรือในเมืองกำแพงเพชร  ในขณะนั้นเมืองไทรบุรี แต่งทูตให้ถือหนังสือและเครื่องบรรณการมาถวายถึงทัพหลวงที่เมืองกำแพงเพชร
               สมเด็จพระเอกาทศรถนำพระบรมศพของสมเด็จพระนเรศวรไว้ที่เมืองกำแพงเพชร ๑๕ วัน แล้วยกทัพกลวงนำพระบรมศพไปกรุงศรีอยุธยา

อ้างอิง
กรมศิลปากร. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑.สำนักพิมพ์คลังวิทยา.กรุงเทพฯ:๒๕๑๖
คณะกรรมการอำนวยการจัดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ ๕๐ ปี. ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนา
                    ภิเษก เล่ม ๓. กรุงเทพมหานคร : กรมศิลปากร, ๒๕๔๒.
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. พระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช. กรุงเทพฯ:  มติชน  ๒๕๔๗
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!