จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
เมษายน 20, 2024, 03:50:16 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การแสดงแสงเสียงประกอบจินตนาการ เรื่อง ๑๑๐ ปี ขาณุวรลักษบุรี ใต้ร่มบารมี พระพุทธเ  (อ่าน 3070 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1413


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: มิถุนายน 16, 2016, 07:16:53 pm »

การแสดงแสงเสียงประกอบจินตนาการ เรื่อง
๑๑๐ ปี ขาณุวรลักษบุรี ใต้ร่มบารมี พระพุทธเจ้าหลวง
แสดงวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๙ เวลา ๒๐.๐๐ น.  ณ ริมแม่น้ำปิง อำเภอขาณุวรลักษบุรี  จังหวัดกำแพงเพชร
องก์นำ  ( ๕นาที) การแสดงจินตลีลาแบบไทย ประกอบเสภา  ผู้แสดง ๓-๕ คน
      เมืองโบราณ  ที่ยิ่งใหญ่  ใกล้ลำน้ำ      แม่ปิงล้ำ  กว้างใหญ่  แสนไพศาล
อุดมสมบูรณ์ พัฒนา  มาช้านาน            เมืองแสนตอ เมืองโบราณ  จึงรุ่งเรือง
      แหล่งอารยะธรรม แหล่งแรก หมื่นปีแล้ว        เขากะล่อน เพริศแพร้ว  ถิ่นฟูเฟื่อง
ครั้งยุคหิน  ถิ่นสำคัญ อันประเทือง            เคยลือเลื่อง ยุคหิน  ถิ่นกำแพง   
      ตอเป็นแสน  ปักรอ  ชะลอน้ำ         ตอขวางกั้น  พม่าล้ำ  อย่ากำแหง
โดนตอตำ เรือรั่ว ตอสำแดง               นามเปลี่ยนแปลง เป็นขาณุ ลุนามนี้
      ขาณุวรลัก ษณบุรี มีการเปลี่ยน          ตัด ณ เตียน  เปลี่ยนไป  ให้เป็นศรี
จึงกลายเป็น ขาณุ วรลักษ บุรี            ขาณุ มี คู่แสนตอ  อย่างพอใจ
      คนผมแดง  แหล่งสำคัญ คำขวัญกล่าว      ถึงเรื่องราว  คนผมแดง อย่างผ่องใส
อพยพ จากเวียงจันทน์  พลันเข้าไทย            เมืองแสนตอ แสนวิไล  ได้พิงพัก
      สืบเชื้อสาย  หลายรุ่น  มีผมสี         งดงามมี สีแดงทอง เป็นศรีศักดิ์
คนผมแดง แปลงเปลี่ยน ใจจงรัก            พระพุทธเจ้าหลวง ทรงประจักษ์  ในรักจริง
      ร้อยสิบปี  พระพุทธเจ้าหลวง  ทรงห่วงรัก         ประพาสต้น จิตประจักษ์  กว่าทุกสิ่ง
สิบแปดสิงห์ สองสี่สี่เก้า ไม่ประวิง            เรือหางแมงป่อง ใหญ่ยิ่ง เทียบแสนตอ
      ทรงเที่ยวชม  โปรดวัด โปรดทวยราษฎร์        เมืองแสนตอ ถิ่นประพาส ทรงเคยขอ
คนผมแดง ไปเป็นลูก  ไม่รีรอ               เมืองแสนตอ ใต้ร่มรัก ร่วมภักดี
      ร่มราชวงศ์ จักรี มีคุณค่า            ร่มศรัทธา ร่มรัก ร่มศักดิ์ศรี
เมืองแสนตอ ร่มเย็น เพราะบารมี            ชาวแสนตอ ถวายชีวี จักรีเอย
องก์ที่ ๑ เขากะล่อนแหล่งอารยธรรมหมื่นปี ( ๕นาที ผู้แสดง เป็นมนุษย์ยุคหิน ๓-๕ คน)
      เมื่อประมาณ หมื่นปี ที่ผ่านมา มีขุนเขา เหยียดยาว สามลูกต่อกัน  ใกล้ลำน้ำปิง อันอุดมสมบูรณ์ไปด้วย น้ำท่า ข้าวปลา สัตว์ป่า นานาชนิด มนุษย์ยุคหิน ของกำแพงเพชร ได้อาศัยอยู่ในถ้ำและเพิงผา เขาการ้อง ซึ่งเรียกขานกันต่อมาว่าเขากะล่อน ปัจจุบัน อยู่ที่บ้านหาดชะอม ตำบลป่าพุทรา  อำเภอขาณุวรลักษบุรี  จังหวัดกำแพงเพชร จากการค้นพบขวานหินขัด ขนาดต่างๆ รวมที่ยังทำไม่สำเร็จหลายร้อยอัน หัวธนูหิน กำไลหิน ที่ติดอยู่กับกระดูกท่อนแขน สันนิษฐานว่า น่าจะมีประชากรยุคหินกำแพงเพชร อาศัยอยู่ในถ้ำเขาการ้อง หลายครอบครัว
( ผู้แสดง กำลัง กะเทาะหิน เพื่อทำขวานหินและนำเถาวัลย์ มามัดขวานหินกับด้ามไม้เพื่อไว้ล่าสัตว์)
พวกเขาอาศัยอยู่ในถ้ำหรือเพิงผายังไม่มีความคิดสร้างที่อยู่อาศัยโดยใช้วัสดุธรรมชาติหรือตั้งรกรากถาวรดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์หาปลาและเก็บหาผลไม้ในป่าเมื่ออาหารตามธรรมชาติ เมื่อถิ่นนี้หมดก็อพยพไปหาแหล่งอาหารที่อื่นต่อไปมนุษย์ยุคหิน รู้จักประดิษฐ์เครื่องมืออย่างหยาบๆเครื่องมือที่ใช้ทั่วไปคือเครื่องมือหินกะเทาะที่มีลักษณะหยาบใหญ่หนากะเทาะเพียงด้านเดียวหรือสองด้านไม่มี การฝนให้เรียบมนุษย์ยุคหิน รู้จักนำหนังสัตว์มาทำเป็นเครื่องนุ่งห่มรู้จักใช้ไฟเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายให้แสงสว่างให้ความปลอดภัยและหุงหาอาหารมีการฝังศพทำพิธีกรรมเกี่ยวกับการตายและมี การนำเครื่องมือเครื่องใช้และอาวุธต่างๆของผู้ตายฝังไว้ในหลุมศพ  เขากะล่อนจึงเป็นแหล่งโบราณคดี แห่งแรกในเมืองกำแพงเพชร ที่ค้นพบ มนุษย์ยุคหินที่ แสนตอ แห่งแรกและแห่งเดียว ในกำแพงเพชร
       (ผู้แสดง ออกล่าสัตว์ หาปลา แลเอาหินมา กระทบกัน เพื่อ ก่อไฟ ในการให้การอบอุ่น และทำอาหาร)
   องก์ที่ ๒  ร่มพระบารมี วัดน้อย วรลักษณ์ ( ๑๕ นาที)
ผู้แสดง  พระพุทธเจ้าหลวง (พระบรมฉายาลักษณ์)  พระวิเชียรปราการ (เจ้าเมืองกำแพงเพชร)  พระวรลักษณ์บุราภิรมย์ (พระขาณุ) คุณหญิงน้อยวรลักษณ์ (ภริยาพระขาณุ) เจ้าอาวาสวัดหัวเมือง  เจ้าคะนัง (เงาะป่า)
ในเดือนสิงหาคม ปีพระพุทธศักราช ๒๔๔๙ พระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จประพาสต้นหัวเมืองเหนือ เพื่อได้ทรงทอดพระเนตร ความเป็นอยู่ของอาณาประชาราษฎร์ด้วยพระเนตรของพระองค์ พระบารมีปกเกล้าชาวกำแพงเพชร ในวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๔๙ พระองค์ทรงบันทึกจดหมายเหตุไว้ว่า
จนเวลาย่ำค่ำขึ้นที่หาดบ้านแสนตอ เดินข้ามไปวัดสว่างอารมณ์ ตำบลที่เรียกว่าแสนตอ จนเป็นชื่อเมืองขาณุ(๖๐)นี้มีตอมากจริง เรือได้โดนครั้งหนึ่ง เพราะเหตุที่เป็นตลิ่งพังมาก เดินตามถนนฝั่งตะวันตก แวะเก็บอะไรต่ออะไรบ้าง มาจนถึงวัดซึ่งเป็นวัดสร้างใหม่ เรียกว่าวัดหัวเมือง ต่อแต่วัดนั้นมาถึงที่ว่าการเมือง ซึ่งยังเป็นหลังคามุงแฝกอยู่ทั้งนั้น ที่จอดเรืออยู่เหนือที่ว่าการนิดหนึ่ง
ประชาชนชาวแสนตอ แสดงเพลงพื้นบ้านถวาย (เพลงพื้นบ้าน บ้านบุ่ง ต.ยางสูง อ.ขาณุ กำแพงเพชร) เริ่มต้นจากเพลงพวงมาลัย  ๓นาที เพลง รำโทน ๒ นาที) ถวายหน้าพระที่นั่ง ณ วัดหัวเมือง
https://www.youtube.com/watch?v=MkP34BscN2g  (เพลงพวงมาลัย)
https://www.youtube.com/watch?v=V38FmKLQUMg  (เพลงรำโทน)
    พระพุทธเจ้าหลวง  -  วัดนี้ชื่อวัดอะไรหรือ พระวิเชียรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร
พระวิเชียรปราการ –  วัดนี้เรียกกันว่า วัดหัวเมือง พระพุทธเจ้าข้า แต่ ชาวบ้านเรียกขานกันว่า วัดเหนือ เพราะอยู่ทาง
                             เหนือของวัดสว่างอารมณ์ และเรียกวัดสว่างอารมณ์ว่าวัดใต้  ยังไม่มีชื่อเป็นทางการ พระพุทธเจ้าข้า
พระขาณุ   -   วัดหัวเมืองหรือวัดเหนือแห่งนี้ มีคุณหญิงน้อยภริยา ของข้าพระพุทธเจ้า เป้นผู้ออกทุนก่อสร้างและ               
                                                 ดูแลอุปัฎฐาก อยู่ที่วัดนี้ มาโดยตลอด  พระพุทธเจ้าข้า
คุณหญิงน้อย   -(ก้มลงกราบ) ข้าพระพุทธเจ้า คุณหญิงน้อยวรลักษณ์ ภริยา พระขาณุวรลักษณ์ ผู้เป็นโยมอุฎฐานวัดหัวเมืองแหงนี้ ยังไม่มีชื่อวัดเป็นทางการ ขอพระองค์พระราชทานชื่อวัดด้วยพระพุทธเจ้าข้า
พระพุทธเจ้าหลวง-    เมื่อ วัดใหม่แห่งนี้ ยังไม่มีชื่อ ข้าพระขอตั้งชื่อวัดนี้ ตามชื่อของคุณหญิงน้อยวรลักษณ์ ภริยาของพระขาณุวรลักษณ์เจ้าเมือง ขาณุว่า    วัดน้อยวรลักษณ์ ขอให้วัดน้อยแห่งนี้ จงเป็นวัดสำคัญที่ดำรงประโยชน์แก่ประชาชน ชาวแสนตอ สืบไป
ท่านเจ่าอาวาสวัด-   เจริญพรมหาบพิตร อาตมา  "ขอถวายพระพรเจริญพระราชสิริสวัสดิ์ พิพัฒนมงคลพระชนมสุขทุกประการจงมีแต่สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ อาตมาภาพเจ้าอาวาส รับสนองนามพระราชทาน และขอคำปฏิญาณสัญญา ว่าจะดูแลวัดน้อยวรลักษณ์ นามพระราชทานแห่งนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อ พุทธบริษัท ๔ ไปชั่วกาลนาน
พระพุทธเจ้าหลง -  คำอวยพร และคำปฏิญาณสัญญาที่ท่านได้กล่าวนั้นเป็นที่ประทับใจมาก ขอขอบใจและท่านทั้งหลาย ที่พรั่งพร้อมกัน มาด้วยความปรารถดี และไมตรีจิต ความปรารถนาดีและความพร้อมเพรียงกันของทุกท่าน อย่างที่ได้เห็นในวันนี้ ทำให้ข้าพเจ้าปลื้มใจ มีกำลังใจมากขึ้น มีความเชื่อเสมอว่าความเมตตาปรารถนาดีของท่านต่อกันนี้เป็นปัจจัยอย่างสำคัญ ที่จะทำให้ความพร้อมเพรียงให้เกิดขึ้น ดีขึ้นทั้งในหมู่คณะและในชาติบ้านเมือง แต่ถ้าคนไทยเรายังมีคุณธรรมข้อนี้ประจำอยู่ในจิตใจก็จะมีความหวังได้ว่าบ้านเมืองไทยไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดๆ ก็จะอยู่รอดปลอดภัย และธรรมธำรงมั่นคงปลอดภัย ได้ตลอดรอดฝั่งอย่างแน่นอน ขออำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทรงคุ้มครองรักษาพวกท่าน และชาวแสนตอ ให้มีแต่ความผาสุก ร่มเย็นยั่งยืนตลอดไป
พร้อมกัน   ทุกคนก้มลงกราบ  (เจ้าอาวาสยกมือพนม กล่าวว่า สาธุ)
-   ต่อมาสายน้ำปิงได้เปลี่ยนทิศทาง ได้พัดเอาตลิ่งพังทลายลงน้ำ ทำให้วัดน้อยวรลักษณ์เสียหายเป็นอันมาก จนไม่สามารถตั้งอยู่ที่เดิมได้ จึงต้องย้ายมาตั้งที่ใหม่ บนเนินสูงเป็นที่ดินของ ตาเขียว ยายกวา ชูพินิจ ท่าน ได้ถวายที่ดินให้สร้างวัดน้อยวรลักษณ์ ใหม่ จำนวน ๑๐ไร่ ๒ งาน ๖๕ ตารางวา  ห่างจากที่ตั้งวัดเดิมราว ๖๐๐ เมตร  ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒กุมภาพันธ์  พุทธศักราช ๒๕๐๒ จนถึงในกาลปัจจุบัน มีพระครูสิทธิวชิรธรรม (บุญชื่น) เป็นเจ้าอาวาส เป็นที่พึ่งพิงทางใจของ ชาวบ้านแสนตอ มาตลอดกว่า ร้อยปีจนปัจจุบันกาล
องก์ที่ ๓  พระพุทธเจ้าหลวงทรงประจักษ์วัฒนธรรมเมืองแสนตอ  ( ๑๐ นาที)
ผู้แสดง    พระพุทธเจ้าหลวง (พระบรมฉายาลักษณ์)  พระวิเชียรปราการ (เจ้าเมืองกำแพงเพชร)  พระวรลักษณ์บุราภิรมย์ เจ้าคะนัง (เงาะป่า)  ไทยทรงดำเพื่อฟ้อนไทยทรงดำ)  และชาวลาวครั่ง แสดงการเข้าทรงนางด้ง) ประมาณ ๒๕-๓๐ คน
คืนวันที่ ๑๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๔๙ พระพุทธเจ้าหลวงพักแรม  ณ พลับพลา เมืองแสนตอ ทรงเกษมสำราญชาวบ้านราษฎรที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ หลวงพระบาง อาทิ ลาวโซ่งหรือ ไทยทรงดำ ลาวครั่งหรือลาวภูคัง มารับเสด็จมากมาย บริเวณพลับพลาที่ประทับแรม
พระวิเชียรปราการ – ประชาชนชาวไทยทรงดำ และลาวครั่ง มาเข้าเฝ้าถวายความจงรักภักดี ต่อพระองค์ พระขาณุวรลักษณ์และคุณหญิงน้อยวรลักษณ์ จะเข้าเฝ้ากราบ
ทูลถวายรายงาน
พระพุทธเจ้าหลวง –  เรามาประพาสต้นกำแพงเพชร ในครั้งนี้ ไม่ต้องการให้เป็นทางการแต่อย่างไร    เมื่อราษฎรประสงค์จะเข้าเฝ้า เรายินดีที่จะชื่นชม ในการแสดง
ความจงรักและภักดีของเขา
พระขาณุวรลักษณ์ –ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า พระขาณุวรลักษณ์ เจ้าเมืองแสนตอ ขอพระราชทาน  พระบรมราชวโรกาส   - 
กราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท เบิกตัวผู้แสดง การฟ้อนของลาวโช่ง หรือไทยทรงดำ และการเข้าทรงนางด้งภูมิปัญญาของลาวครั่ง   ที่เมืองแสนตอ พระพุทธเจ้าข้า
พระพุทธเจ้าหลวง  - พระขาณุ ไม่ต้องใช้ราชาศัพท์กับเราหรอก เรามาอย่างไม่เป็นทางการ มีอะไร เปิดการแสดงได้เลย
         การแสดงชุดที่ ๑ ฟ้อนของไทยทรงดำ  ๔ นาที
         การแสดงชุดที่ ๒ การเข้าทรงผีนางด้ง ๕ นาที

องก์ที่ ๔ พระพุทธเจ้าหลวงทรงขอ คนผมแดงเป็นโอรสบุญธรรม  ( ๘ นาที)
ผู้แสดง  พระพุทธเจ้าหลวง (พระบรมฉายาลักษณ์)  พระวิเชียรปราการ (เจ้าเมืองกำแพงเพชร)  พระวรลักษณ์บุราภิรมย์ เจ้าคะนัง (เงาะป่า)  ชาวผมแดง ๖ คน  เจ้าหญิงผมแดง  นายพรานป่า  และชาวผมแดง กลุ่มหนึ่ง ๖-๘ คน

วันที่ ๑๙ วันนี้ตื่นสายไป แล้วพระวิเชียรพาคนผมแดงมาให้ดู อันลักษณะผมแดงนั้นเป็นผมม้า แดงอย่างอ่อนหรือเหลืองแก่ ผมที่แดงนี้มาข้างพันธุ์พ่อ ถ้าผู้หญิงไปได้ผัวผมดำ ลูกออกมาก็ผมดำไปด้วย ผมแดงนั้นเปลี่ยน ๓ อย่าง แรกแดงครั้นอายุมากเข้าก็ดำหม่น ลงแก่ก็เลยขาวทีเดียว บอกพืชพันธุ์ว่า ทราบว่าตัวมาแต่เวียงจันทน์ แต่มาก่อนอนุเป็นขบถ จะได้ตั้งอยู่นานเท่าไรไม่ทราบ พูดเป็นไทยประพฤติอาการกิริยาก็เป็นไทย เฉพาะมีมากอยู่ที่เมืองขาณุ ที่กำแพงเพชรนี้มี แต่กระเส็นกระสาย
พระวิเชียรปราการ - ขอเดชะฝาละอองธุลีพระบาท ข้าพระพุทธเจ้าพระวิเชียรปราการ ผู้รั้งราชการเมืองกำแพงเพชร ขอบรมราชานุญาต นำคนผมแดง ที่เมือง
แสนตอ เข้าเฝ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระพุทธเจ้าข้า
พระพุทธเจ้าหลวง – ไม่ต้องใช้ราชาศัพท์หรอกพระวิเชียร เจ้าเมืองกำแพงเพชร เราอนุญาต คนผมแดงคือใคร สำคัญอย่างไร ท่านเล่าให้เราฟังซิ เราสนใจเป็นอย่างมาก
ดูเจ้าคะนังเงาะป่าซิ เราขอมาเลี้ยงไว้ เขาฉลาด และฉลาดมาก ใช่ไหม เจ้าคะนัง
เจ้าคะนัง –        ขอรับ พระพุทธเจ้าข้า กระหม่อมมีความสุขมาก ที่ได้มาอยู่ ใต้บารมีของพระองค์ พระเจ้าข้า
พระพุทธเจ้าหลวง-      ดูซิ เจ้าคะนังฉลาดมาก ใช้ราชาศัพท์เป็น ปรับตัวเก่ง จากคนป่าเงาะป่าเมืองพัทลุง มาเป็นคนเมือง มากำแพงเที่ยวนี้ ดูสนุกมาก
เจ้าคะนัง-                ขอรับ พระพุทธเจ้าข้า (ก้มลงกราบ)
พระวิเชียร-       ขออนุญาต เจ้าเมืองแสนตอ เล่าเรื่องราวของคนผมแดงถวายให้ฟัง ขอรับ
พระขาณุ-       (กราบถวายบังคม) ขอบรมาราชานุญาต ใช้ภาษาสามัญ พระพุทธเจ้าข้า
พระพุทธเจ้าหลวง –    เราอนุญาต เล่าไปเลยไม่ต้องตัดทอน เราสนใจมาก
พระขาณุ-     (เมื่อราวสมัยกรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก คราวดำรงพระยศเป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เสด็จไปเมืองศรีสัตนาคนหุต ประเทศลาว ได้มีชาวลาว หลายกลุ่ม ตามเสด็จกลับเข้ามาประเทศไทยด้วย คนลาวกลุ่มนี้ มีกลุ่มชนผมแดง เข้ามา และมาพระบรมราชานุญาตให้เลือกถิ่นที่อยู่ ในประเทศไทย ได้อย่างเสรี คนผมแดงเลือที่จะอยู่ที่เมืองแสนตอ มานานแสนนาน)
เจ้าหญิงผมแดง-   พวกเรา ชาวผมแดง แผ่นดินสยาม อุดมสมบูรณ์ เหลือเกิน เราจะตั้งหลักปักฐานที่ไหนดี เราจะทำมาหากินอยู่ที่แผ่นดินสยามแห่งนี้ เราจะพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ของพระมหากษัตริย์ไทย ไปชั่วลูกหลานของเรา พวกเราเห็นด้วยไหม
ชายหนุ่มผู้นำทาง-   ท่านเจ้าหญิง ขวัญกำลังใจแก่คนผมแดง ท่านได้นำพระนาคปรก สิงศักดิ์สิทธิ์ของพวกเรามาด้วย เดินทางมาแสนไกล จากเมืองลาว มาถึงเมืองแสนตอ ข้าเห็นสมควรให้พวกเรา พักที่ เมืองแสนตอ ริมน้ำปิง เป้นที่ทำกินและตั้งหลักปักฐาน ของพวกเราเถิด
เจ้าหญิงผมแดง   เราเห็นด้วย




 
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!