จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
เมษายน 16, 2024, 11:46:48 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: หนองปลิงยุคสมเด็จพระนเรศวร เมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 1 พ.ศ. 2112 กรุงศรีอยุธย  (อ่าน 3316 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1410


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: กันยายน 15, 2015, 08:02:00 pm »

หนองปลิงยุคสมเด็จพระนเรศวร
   
เมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 1 พ.ศ. 2112 กรุงศรีอยุธยาต้องตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า  สมเด็จพระ นเรศวรถูกนำตัวไปเป็นประกันที่พม่าอยู่หลายปีจนเติบโตและกลับมาครองเมืองที่พิษณุโลกในครั้งนั้นพระเจ้าหงสาวดีมิได้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมดำริว่า สมเด็จพระนเรศวรมีความองอาจกล้าหาญและปัญญาหลักแหลมหากปล่อยให้เติบใหญ่ จะเป็นเสี้ยนหนามศรัตรูต่อเมืองหงสาวดี จึงคิดจะตัดกำลังของไทยด้วยการเทครัวอพยพหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทยทั้งปวงมาไว้เป็นกำลังในเมืองหงสาวดี อันจะทำให้กองทัพของสมเด็จพระนเรศวรอ่อนกำลังลง ดังนั้นจึงตรัสให้นันทสูและราชสังครำเป็นแม่ทัพใหญ่นำพล 1,000 คน มาตั้งยุ้งฉาง เตรียมเสบียง ณ เมืองกำแพงเพชร

สถานที่ตั้งทัพหลวง
ระหว่างที่ให้นันทสูกับราชสังครำมาตั้งยุ้งฉางเตรียมเสบียงอยู่ที่เมืองกำแพงเพชรนั้น ฝ่ายพระเจ้าหงสาวดีคิดอุบายร้ายหมายทำลายสมเด็จพระนเรศวร จึงมีใบศุภอักษรไปบอกสมเด็จพระนเรศวรว่า บัดนี้กรุงอังวะเป็นกบฎแข็งเมืองไม่ย่อมขึ้นต่อกรุงหงสาวดี จึงขอเชิญให้สมเด็จพระนเรศวรยกทัพมาช่วยราชการสงครามตีกรุงอังวะ
ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรสำคัญว่าเป็นเรื่องจริง จึงได้ทูลลาพระราชบิดาที่กรุงศรีอยุธยา แล้วเสด็จมายังเมืองพิษณุโลก เพื่อเตรียมไพร่พล 100,000 คน ช้างเครื่อง 800 เชือก และม้าศึก 1,500 ตัว เพื่อร่วมการศึกให้พร้อมเพรียง
ครั้นถึงวันอาทิตย์ เดือน 3 แรม 6 ค่ำ พ.ศ. 2127 (ตรงกับวันที่ 2 มีนาคม 2127)   ถือเป็นเพชรฤกษ์ พระนเรศวรจึงเสด็จโดยพระคชาธารพร้อมด้วยพยุหแสนยากร ระหว่างนั้นทอดพระเนตรเห็นพระบรมสารีริกธาตุขนาดเท่าผลมะพร้าวปอกเปลือก เสด็จอย่างปาฏิหารย์อยู่เหนือท้องฟ้าจากทางด้านตะวันออก (บูรพาทิศ) ผ่านพระคชาธารไปทางทิศตะวันตก (ประจิมทิศ) เห็นเป็นนิมิตรหมายอันดีจึงเคลื่อนทัพหลวงออกทางประตูไชยแสน เมืองพิษณุโลก เสด็จมาถึงตำบลวัดยม ท้ายเมืองกำแพงเพชร เมื่อเวลาบ่าย 5 โมงเย็น เกิดเหตุวาตพายุ แผ่นดินไหว เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก เสด็จพักทัพที่วัดยม 1 คืน
ครั้นรุ่งขึ้นจึงยกทัพหลวงเสด็จถึงเมืองกำแพงเพชร ตั้งประทับแรมอยู่ที่ตำบลหนองปลิงอยู่    3 วัน (เหตุที่ไม่พักทัพในตัวเมืองกำแพงเพชรอาจเป็นเพราะในขณะนั้นเมืองกำแพงเพชรถูกปกครองโดยนันทสูและราชสังครำแม่ทัพพม่าที่พระเจ้าหงสาวดีส่งให้มาครองเมืองกำแพงเพชรเพื่อเตรียมเสบียงอาหาร) แล้วจึงยกทัพหลวงไปทางป่าแม่ระกา ยกพลข้ามแม่น้ำปิงไปทางเมืองเชียงทอง ซึ่งในอดีตเป็นเมืองบริวารของเมืองกำแพงเพชร (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดตาก) ผ่านไปพักทัพที่เมืองแครง
สมรภูมิรบที่หนองปลิง
ระหว่างที่เดินทัพหลวงเพื่อจะไปยังเมืองอังวะอยู่นั้น พระยากำแพงเพชร ส่งข่าวไปถวายว่า พวกไทใหญ่ เวียงลือ เสือด้าน เกียกกาย ขุนปลัด มังทราง มังนิววาย กับพวกทั้งปวง ซึ่งเคยอาศัยอยู่ ณ เมืองกำแพงเพชร ได้พาครอบครัวอพยพหนีพวกพม่ามอญที่เข้ามายึดครองเมืองกำแพงเพชร โดยตามไปทันกันที่ตำบลหนองปลิง เกิดรบพุ่งกันเป็นสามารถ ทหารฝ่ายพม่ามอญสู้ไม่ได้แตกพ่ายแก่พวกไทใหญ่ ฝ่ายไทใหญ่เมื่อมีชัยชนะจึงได้ยกทัพมุ่งหน้าไปทางเมืองพิษณุโลก เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทราบเรื่อง จึงมีบัญชาให้ม้าเร็วไปบอกแก่หลวงโกษาที่อยู่รักษาเมืองพิษณุโลกให้รับพวกไทใหญ่และพวกทั้งปวงเข้าไว้ในเมืองพิษณุโลก
จากข้อความในประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 2 พงศาวดารกรุงสยามฯ จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน และประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 3 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับจันทนุมาศ (เจิม) เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่าตำบลหนองปลิงของเมืองกำแพงเพชร เป็นชุมชนดั่งเดิมมาช้านานไม่ต่ำกว่า 400 ปี เคยเป็นสถานที่ตั้งทัพหลวงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งเสด็จไปช่วยตีกรุงอังวะ แต่ระหว่างพักทัพที่เมืองแครง ได้ทราบความจริงว่าถูกหลอกมาเพื่อประทุษร้าย จึงได้ปะกาศอิสระภาพที่เมืองแครง
ช่วงที่ทัพหลวงของสมเด็จพระนเรศวรมาพักที่ตำบลหนองปลิงเป็นเวลา 3 วันนั้น อาจเป็นที่มาของตำนานบ่อสามแสน บ่อน้ำขนาดใหญ่หน้าวัดอาวาสใหญ่ ซึ่งเป็นบ่อศิลาแลง ที่ชาวบ้านเล่ากันสืบต่อมาว่า เป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ขนาดผู้คนจำนวนสามแสนคนมาใช้น้ำในบ่อนี้ได้อย่างไม่รู้จักหมด ผู้คนจำนวนมาก ๆ ที่มาใช้น้ำในบ่อนี้คงเป็นทัพหลวงของสมเด็จพระนเรศวรอย่างแน่นอน และคงไม่ได้ใช้น้ำจากบ่อสามแสนเพียงอย่างเดียว คงใช้น้ำจากแหล่งแน่ ๆ ด้วย เช่น จากหนองปลิง หนองน้ำขนาดใหญ่ของตำบลหนองปลิง หรือใช้น้ำจากแม่น้ำปลิงซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่ตั้งทัพมากนัก
บ่อสามแสนหน้าวัดอาวาสใหญ่ เป็นบ่อน้ำที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยเสด็จมาเที่ยวชมและทรงบันทึกเหตุการณ์เอาไว้ในหนังสือ เที่ยวเมืองพระร่วง ด้วยความชื่นชมดังข้อความว่า
“ที่อาวาสใหญ่นั้นนอกจากองค์พระธาตุและพระเจดีย์บริวารยังมีสิ่งน่าดูอยู่อีกอย่างหนึ่ง คือที่นอกกำแพงแก้วออกไป มีบ่อน้ำใหญ่อยู่บ่อหนึ่งเป็นรูปสี่เหลี่ยม แต่แรกดูไม่ทราบว่าก่อด้วยอะไร ครั้นพิจารณาดูแล้วจึงได้ความว่า บ่อนั้นหาได้มีสิ่งอะไรก่อเป็นผนังไม่ ที่แผ่นดินตรงนั้นเป็นแลง ขุดบ่อลงไปในแลง ข้าง ๆ บ่อนั้นพอถูกอากาศก็แข็งเป็นศิลา จึงดูเหมือนก่อเรียบร้อย เพราะฉะนั้นเป็นของควรดูอย่างหนึ่ง และเมื่อดูแล้วจะต้องออกรู้สึกอิจฉาว่าเขาทำบ่อได้ดีและถาวร โดยไม่ต้องเปลืองโสหุ้ยค่าก่อข้างบ่อด้วยศิลาหรืออิฐปูนอะไรเลย…”


สงครายุทธหัตถีระหว่างแม่ทัพ
เหตุการณ์การตั้งทัพและการศึกสู้รบในเขตพื้นที่ของตำบลหนองปลิงนอกจากจะเคยเป็นที่ตั้งทัพหลวงของสมเด็จพระนเรศวร เป็นสมรภูมิการสู้รบระหว่างไทใหญ่ที่เข้าแก่ฝ่ายไทยกับพวกพม่ามอญทหารของพระเจ้าหงสาวดีแล้ว ในเขตพื้นที่ตำบลหนองปลิงยังมีบันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้ครั้งยิ่งใหญ่เป็นสมรภูมิการทำสงครามยุทธหุตถีระหว่างแม่ทัพไทยกับแม่ทัพพม่าที่ป่าแม่ระกา (ป่าแม่ระกา ปัจจุบันเป็นเขตป่าสงวนของแห่งชาติ อยู่ในพื้นที่ตำบลหนองปลิง ลานดอกไม้ และโกสัมพี) ดังหลักฐานในประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 2 พงศาวดารกรุงสยามฯ จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอนที่สรุปความได้ดังนี้
ขณะที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จด้วยทัพหลวงไปเมืองแครงและได้ประกาศอิสระภาพให้ไทยแล้วจึงเดินทางกลับทางเมืองกาญจนบุรีถึงกรุงศรีอยุธยาเพื่อถวายรายงานแด่สมเด็จพระราชบิดา ขณะนั้นหลวงโกษาและลูกขุนที่รักษาเมืองพิษณุโลกได้นำบรรดาไทใหญ่ที่หันมาเข้ากับฝ่ายไทยไปเข้าเฝ้า พร้อมกับทูลว่า นันทสูกับราชสังครำ ซึ่งมาตั้งอยู่ ณ เมืองกำแพงเพชร มีความประสงค์ให้ส่งไทใหญ่และครอบครัวทั้งปวงที่หนีมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ณ เมืองพิษณุโลก โดยให้ส่งตัวไปที่เมืองกำแพงเพชร ถ้าไม่ส่งไทใหญ่และครอบครัวไปจะกวาดต้อนชาวกำแพงเพชรไปเป็นเชลย
สมเด็จพระนเรศวร จึงได้ประชุมท้าวพระยามุขมนตรีปรึกษาว่าจะละทิ้งให้ชาวกำแพงเพชร ต้องพลัดพรากจากภูมิลำเนานั้นเป็นการไม่ถูกต้องนัก จึงจะยกทัพไปตีนันทสูกับราชสังครำ เพื่อมิให้กวาดต้อนเอาชาวกำแพงเพชรไปได้ แล้วจึงตรัสให้จับตัวพวกพม่ามอญที่เข้ามาคุมอยู่ตามหัวเมืองฝ่ายเหนือต่าง ๆ เอาตัวส่งลงไปที่กรุงศรีอยุธยาให้หมดสิ้น ส่วนองค์สมเด็จพระนเรศวร ได้เสด็จมายังเมืองพิษณุโลกเพื่อตรวจรี้พลช้างม้าเตรียมการศึก ครั้นเมื่อถึงวันพฤหัสบดี เดือนแปด ขึ้น 7 ค่ำ พ.ศ. 2127 เวลา 5 โมงเช้า จึงเสด็จพยุหยาตราทัพจากเมืองพิษณุโลกมายังเมืองกำแพงเพชร
ฝ่ายนันทสูกับราชสังครำ รู้ข่าวว่าสมเด็จพระนเรศวรยกทัพมาก็เกรงในพระบรมเดชานุภาพ จึงพารี้พลช้างม้าหนีออกจากเมืองกำแพงเพชรไปในทันที  ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสให้พระยาไชยบูรณ์ ขุนศรี และพระหัวเมืองต่าง ๆ ยกรี้พลช้างม้าเป็นกองหน้าตามไปตีนันทสูกับราชสังครำ  พระยาไชยบูรณ์และขุนศรีตามไปทันที่ป่าแม่ระกา และได้รบพุ่งกันเป็นสามารถ ถือเป็นสงครามยุทธหัตถีครั้งสำคัญระหว่างแม่ทัพทั้งสองฝ่าย
พระยาไชยบูรณ์ขี่ช้างชื่อพลายปิ่นพระรามเข้าชนช้างกับนันทสู ผลัดกันรุกและรับ ช้างนันทสูได้ล่างชนช้างพระยาไชยบูรณ์เสียทีไป นันทสูจึงจ้วงฟันด้วยของ้าวถูกนิ้วของพระยาไชยบูรณ์ข้อขาดเลือดกระเซ็น ต่อมาช้างของพระยาไชยบูรณ์ได้ล่างบ้างเข้าค้ำได้ถนัด ช้างของนันทสูต้านทานกำลัง ไม่ไหวถอยพ่ายไป ฝ่ายขุนศรีขี่ช้างชื่อพลายศรัตรูนาศเข้าชนช้างกับราชสังครำ ช้างของราชสังครำสู้ไม่ได้พ่ายหนีไปอีกคน โดยทั้งนันทสูกับราชสังครำรีบหนีไปทางเมืองเชียงทอง เข้าระแหง สู่เขตพม่าต่อไป
จากข้อความในพงศาวดารดังกล่าว ทำให้รับรู้ได้ว่าท้องที่ในเขตตำบลหนองปลิง เคยเป็นสมรภูมิการสู้รบอันยิ่งใหญ่ถึงขั้นยุทธหัตถี แม้จะมิใช้สงครามยุทธหัตถีระดับพระมหากษัตริย์แต่ก็เป็นสงครามยุทธหัตถีระทัพแม่ทัพนายกอง สมควรที่ชาวหนองปลิงและชาวกำแพงเพชรทุกคนจะได้ภาคภูมิใจและบันทึกเอาไว้เป็นเกียรติประวัติอันสำคัญ
แม้จะสิ้นยุคของยุทธภูมิที่หนองปลิงหลังสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทำให้ชื่อของตำบลหนองปลิงได้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์และพงศาวดารฉบับต่าง ๆ แต่ในความเป็นจริงตำบลหนองปลิงยังคงมีอยู่อย่างสืบเนื่องต่อมาและอาจต้องพจญกับภัยสงครามด้วยทุกครั้งที่เมืองกำแพงเพชรถูกรุกรานหรือถูกยึดครองจากศรัตรูด้วยเป็นชุมชนสำคัญที่อยู่ใกล้เมืองกำแพงเพชรและเป็นทางผ่านของเส้นทางเดินทัพจากหนองปลิง ป่าแม่ระกา ผ่านไปยังเมืองเชียงทอง เมืองระแหง ออกด่านปลายเขตเดนที่แม่ละเมา



หนองปลิงยุคพระพุทธเจ้าหลวง

   ในยุคสมัยของพระพุทธเจ้าหลวงเมื่อ พ.ศ. 2424 มีนักธรรมชาติวิทยาชาวนอร์เวยคนหนึ่งชื่อ คาร์ลบ็อค ได้เดินทางล่องขึ้นมาทางลำน้ำจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปจนสุดภาคเหนือสุดของประเทศไทยซึ่งยังเป็นป่าดงทุรกันดาร พร้อมบันทึกออกมาเป็นงานเขียนที่มีคุณค่า เป็นหลักฐานร่วมสมัยอันสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่ได้บันทึกข้อมูลต่าง ๆ ตามรายทางเอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีในบันทึกหลักฐานของคนในท้องถิ่น ทั้งข้อมูลทางด้านภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ ข้อมูลทางสังคมวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่และความเชื่อต่าง ๆ
   บันทึกการเดินทางของคาร์ลบ็อคฉบับนี้ ได้รับการพิมพ์เป็นภาษาเยอรมัน ภาษาอังกฤษ และภาษาไทยในชื่อ ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง แปลโดยเสถียร  พันธรังและอัมพร  ทีขะระ ถือเป็นเอกสารบันทึกประสบการณ์การเดินทางและการสำรวจของชาวตะวันตกที่เกี่ยวกับแง่มุมต่างๆ ทั้งทางกายภาพและวัฒนธรรมของอาณาบริเวณที่เป็นประเทศไทยที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง ทำให้รับรู้ถึงสภาพของท้องถิ่นในหัวเมืองภาคเหนือในยุคพระพุทธเจ้าหลวง ช่วง พ.ศ. 2424 ได้เป็นอย่างดี
   ตามเส้นทางการเดินทางของ คาร์ลบ็อค ที่ล่องขึ้นมาทางลำน้ำปิง ผ่านท้องถิ่นต่าง ๆ ในเขตจังหวัดกำแพงเพชร และได้บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ตั้งแต่เข้ามาในเขตกำแพงเพชร ผ่านวังแขม    คลองขลุง แวะพักที่เมืองกำแพงเพชร และตำบลหนองปลิงเอาไว้เป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ และความสำคัญของชุมชนโบราณ ดังข้อความในบันทึกตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับตำบลหนองปลิง
   “ ข้าพเจ้าออกจากกำแพงเพชรเมื่อวันที่  7 ธันวาคม (2424) ยากที่จะลืมความสะดวกสบายที่สุดในระหว่างที่มาพักอยู่ที่แพงเพชรเสียได้ คนเรือถ่อเรือทวนน้ำที่เชี่ยวกรากไปสักสองสามชั่วโมงก็ถึงหมู่บ้านที่เรียกว่าบ้านหนองลิง (หนองปลิง) ใกล้ ๆ หมู่บ้านนี้มีซากโบสถ์หรือวัดที่กล่าวกันว่าสร้างราว 400 ปีมาแล้ว แต่ “อาณาจักรล่มหาย กษัตริย์มลายสิ้นความยิ่งใหญ่ทั้งผอง” และเรื่องของ Ichabod (ตัวละครของ Wasshing Irvng) ก็แต่งขึ้นเกี่ยวกับเช่นเดียวกับที่เกี่ยวแก่ซากสิ่งที่เคยรุ่งเรืองใหญ่โตอยู่ก่อนนี้อันมากมายเหลือคณานับ ที่ข้าพเจ้ายิ่งขึ้นไปทางเหนือก็ยิ่งเห็นมีทั่วไปและเห็นได้ชัดว่าไม่มีทางจะหมดไปได้ ดินแดนแถบนี้จะยังคงเป็นอนุสรณ์ของความรุ่งเรืองอันสิ้นยุคซึ่งได้ผ่านมานมนานแล้ว ที่ลับตาผู้คนอยู่ต่อไปจนกว่ากระแสของอารยธรรมจะไหลกลับหรือก้าวหน้าต่อไปตามแบบตะวันตก จนก้าวไปถึงจุดที่อารยธรรมได้เริ่มขึ้นแบบทางตะวันออกอย่างเต็มที่ ดินแดนในทวีปเอเชียแถบนี้ยังไม่อาจปรับปรุงความสำคัญอันแสนจะยิ่งใหญ่ของตนได้ จนกว่าจะมีความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการแบบตะวันตกมาชุบชีวิตซากอารยธรรมตะวันออกซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอายธรรมตะวันตกนั่นเองขึ้นมาใหม่
   ข้าพเจ้าอยากจะไปดูวัดโบราณนี้ แต่พวกเขาก็หาอุปสรรคทุกอย่างมาขัดขวางไว้ เช่นบอกว่าอยู่ในป่าลึกมากและเข้าไปไม่ถึงด้วยเหตุที่มีหนองน้ำนับจำนวนไม่ถ้วนกั้นอยู่แต่ข้าพเข้าก็ยังคงตัดสินใจที่จะฝ่าฟันอันตรายในป่าและห้วยหนองคลองบึงที่เขาขู่ไว้ให้จงได้ แต่เพื่อเป็นการถนอมรองเท้าไว้ก่อน ข้าพเจ้าจึงขอยืมม้าจากราชการคนหนึ่ง แต่หาอานหรือบังเหียนไม่ได้สักอย่างเดียว เมื่อไม่มีของสองอย่างนี้ ม้ามันก็ย่อมเป็นม้าที่ไม่มีอะไรเป็นพิเศษจากความเป็นม้าไปได้เลย แต่ขี่ม้าหลังเปล่าก็ยังดีกว่าจะเดินลุยโคลนบุกป่า บางครั้งก็ต้องลงจากหลังม้าลุยน้ำจนถึงหัวเข่าเข้าไปก็มี อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าต้องขี่ม้าผ่านความยากลำบากยากเย็นไปราว 2 ไมล์ จึงถึงซากวัดที่ข้าพเจ้าต้องการจะดู
   บริเวณเนื้อที่ภายในกำแพง (วัด) แสดงให้เห็นความกว้างขวางใหญ่โตของวัด และความเก่าแก่โบราณก็จะดูได้จากวัตถุที่สร้างใช้ศิลาแลงสีแดงปนน้ำตาล ชิ้นหนึ่งยาว 18 นิ้ว กว้าง 6 นิ้ว ตรงที่เคยเป็นทางเข้ามีรูปปั้นราชสีห์ 2 ตัว ราชสีห์นี้เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามนิยายในพุทธศาสนา ถือกันว่ามีอำนาจมากที่สุดในโลก ภายในบริเวณกำแพงชั้นนอกมีซากเสาใหญ่ ๆ อยู่มาก แต่หักเหลือเพียงท่อนสั้น ๆ เท่านั้น ที่กระจัดกระจายทั่วไปก็คือพระพุทธรูปสำริดซึ่งส่วนมากไม่มีพระเศียรและไม่มีพระหัตถ์
ข้าพเจ้าได้ความรู้เรื่องนี้มาจากพระภิกษุรูปหนึ่งที่หนองลิง (หนองปลิง) ภายหลังว่า มีพวกพระธุดงค์เดินทางมาถึงที่นี่แล้วมาคัดเลือกเอาพระพุทธรูปที่อยู่ในวัดร้างนั้นติดตัวไปถวายตามวัดต่าง ๆ กันทีละองค์สององค์ สำหรับข้าพเจ้านั้นท่านสมภารได้กรุณาให้เลือกเก็บเอาของบางอย่างออกไปเป็นที่ระลึกได้ ข้าพเจ้าลองเลือกได้พระพุทธรูปยืนยกพระหัตถ์ทั้งสองข้างในพระอิริยาบถแสดงพระธรรม(พระพุทธรูปปางห้ามญาติ) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่สง่างามอยู่ด้วยองค์หนึ่ง
   ในบรรดาสิ่งปรักหักพังเหล่านี้ มีพระเจดีย์ซึ่งส่วนมากอยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมปนอยู่ด้วย ความชำรุดทำให้รูปร่างแปลกไปมาก บางแห่งดูเป็นรูปคล้ายกับหลังคา แต่แทนที่จะมียอดแหลมต่อขึ้นไปดังหลังคาที่เคยเห็นมา กลับหักด้วนไปเหลือแต่องค์เจดีย์ เป็นรูปกลมบ้าง แบนบ้าง เหมือนกับหลังคาของสถาปัตยกรรมแบบโกธิคาที่ตัดยอดออก
   ที่รอยปูนแตกตามองค์พระเจดีย์ มีพืชบางชนิดขึ้นอยู่ เช่น เฟิร์น หญ้า ไม้เลื้อย และบางแห่งก็มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นตระหง่านอยู่เหนือยอดพระเจดีย์อย่างน่าดู ประหนึ่งธรรมชาติจะอับอายในความพินาศที่ธรรมชาติเองเป็นผู้บรรดาลให้เกิดขึ้นแก่สิ่งที่มนุษย์สร้าง ธรรมชาตินั้นจึงพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด โดยมาช่วยซ่อนรอยชำรุดทรุดโทรมของสิ่งที่คนสร้างขึ้นนั้นเสีย แต่ในขณะเดียวกัน ยังแสดงอำนาจอันยิ่งใหญ่ของมันที่จะจัดการเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ในเมื่องานชิ้นเอกที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นมีแต่จะพังพินาศสูญสิ้นไป อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าไม่มีทางทราบสาเหตุเลยว่าทำไมวัดอันมีค่าแห่งนี้จึงพังทลายไปได้
   ในตำบลบ้านหนองลิง (บ้านหนองปลิง) ที่เราผ่านไปนี้ มีผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งเคร่งครัดต่อศาสนามาก แกมีความเชื่อถือแน่นแฟ้นต่อบัญญัติของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ห้ามฆ่าสิ่งที่มีชีวิตทุก ๆ ชนิด”  และเชื่อถืออย่างเถรตรงตามตัวหนังสือ  โดยไม่เข้าใจความมุ่งหมาย แกไม่ยอมทำตามคำขอร้องที่ข้าพเจ้าขอให้จัดหาเป็ดไก่ให้ข้าพเจ้า แต่ในที่สุด แกก็หาทางเลี่ยงความเชื่อในเรื่องนี้ได้ด้วยการอนุญาตให้ข้าพเจ้ายิงเป็ดไก่ได้ตามที่ต้องการ แต่มีข้อแม้ว่าข้าพเจ้าจะต้องจ่ายเงินค่าเป็ดไก่แก่เจ้าของ  เป็นเงื่อนไขที่ดูจะไม่ไร้เหตุผลนักสำหรับชาว   ยุโรป ตามที่อาจจะมีต่อความรู้สึกของชาวตะวันออก
   จากข้อความตามบันทึกของคาร์ลบ็อค เป็นหลักฐานที่ชี้ชัดว่า ตำบลหนองปลิง ยังคงดำรงสภาพความเป็นชุมชนมาอย่างต่อเนื่องอย่างยาวนาน เมื่อ พ.ศ. 2424 ยังคงมีสภาพเป็นชุมชน มีวัด มีสมภาร และมีความเป็นอยู่ที่เงียบสงบ สภาพพื้นที่เต็มไปด้วยป่าไม้ที่เป็นดงทึบและมีหนองบึงเป็นจำนวนมาก ผู้คนในชุมชนต่างยึดมั่นศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้ใหญ่บ้านหนองปลิงไม่ยอมจัดหาเป็ดไก่ให้ฝรั่งต่างชาติที่สำคัญตัวเองว่ามีความเจริญกว่าคนไทยในท้องถิ่น ถ้าอยากได้ต้องไปไล่จับเอาเองและต้องจ่ายเงินใหักับผู้เป็นเจ้าของด้วย โดยทั่วไปแล้วคนไทยมักจะเชื่อหรือยอมตามชาวฝรั่งเพราะยอมรับในความเจริญของพวกเขาเหล่านั้น แต่สำหรับชาวบ้านหนองปลิงกับแสดงออกถึงความเชื่อมั่นในตนเองกล้าปฏิเสธที่จะไม่พาฝรั่งไปเที่ยวชมเมืองเก่า แต่เม่อถูกรบเร้ามากขึ้นก็จัดให้อย่างเสียไม่ได้
นอกจากนี้หนองปลิงยังเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้เขตโบราณสถานและมีส่วนเข้าไปดูแลอาณาเขตอรัญญิกเมืองกำแพงเพชร เพราะบริเวณที่ฝรั่งเข้าไปชมซากโบราณสถานนั้นคงเป็นวัดใด วัดหนึ่ง ในเขตอรัญญิกเมืองกำแพงเพชร และชาวหนองปลิงเอง ก็เคยนำรอยพระพุทธบาทจากวัดอาวาสใหญ่ไปประดิษฐานที่วัดหนองปลิง เพื่อเคารพบูชาและคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

เมืองหน้าด่าน “เนินทอง” อยู่ที่หนองปลิง

เคยมีการสำรวจวัดลั่นทม วัดเขาพระ บริเวณค่ายลูกเสือจังหวัดแพงเพชร ได้พบร่องรอยและซากโบราณสถานที่อยู่บนเนินเขา แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นสิ่งก่อสร้างใด มีความสำคัญและความเป็นมาอย่างไร จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จมาเมืองกำแพงเพชร  เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2450 และเสด็จไปตามแนวถนนพระร่วง พร้อมทั้งได้บันทึกเรื่องราวการเดินทางเอาไว้ในหนังสือ เที่ยวเมืองพระร่วง ในบทพระราชนิพนธ์ของพระองค์ทรงตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่าบริเวณเหนือเมืองกำแพงเพชรขึ้นไปน่าจะมีเมืองโบราณตั้งอยู่
ดังบทพระราชนิพนธ์ เที่ยวเมืองพระร่วง ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบันทึกเอาไว้ตอนหนึ่งมีความว่า
“…ยังมีสิ่งที่ทำให้น่าเชื่อถือมากขึ้นคือถนนระหว่างกำแพงเพชรกับสุโขทัยนั้นได้ผ่านไปใกล้เมืองย่อม ๆ 3 เมืองตรงตามความในหลักศิลา แต่เมื่อข้าพเจ้าเดินตามถนนนั้นได้เห็นปลายถนนทางด้านตะวันตก ไปหมดอยู่เพียงขอบบึงใหญ่อันหนึ่ง ห่างจากเมืองกำแพงเพชรกว่า 100 เส้น พระวิเชียรปราการแสดงความเห็นว่าน่าจะข้ามบึงไป แต่น้ำได้พัดทำลายไปเสียหมดแล้ว ข้อนี้ก็อาจจะเป็นได้ แต่ข้าพเจ้ายังไม่สู้จะเชื่อนัก ยังนึกสงสัยอยู่ว่าคงจะมีต่อไปจนถึงเมืองเชียงทอง แต่เมื่ออยู่ที่กำแพงเพชรก็ยังไม่ได้ความ ครั้นจะรออยู่ค้นหาต่อไปก็ไม่มีเวลาพอ จึงได้ขอให้พระวิเชียรปราการจัดหาคนที่รู้จักภูมิประเทศ เที่ยวตรวจคนดูทางเหนือเมืองกำแพงเพชรขึ้นไป ว่าจะหาอะไรที่พอจะสันนิษฐานว่าเป็นเมืองได้บ้างหรือไม่ แล้วก็ออกเดินทางต่อไป ฝ่ายพระวิเชียรปราการได้ไปด้วย ถึงที่บ้านพรานกระต่ายพบสนทนากับขุนภักดีนายอำเภอ ตกลงเป็นสั่งให้ขุนภักดีไปตรวจค้นหาเมืองตามที่ข้าพเจ้าแนะนำ  ขุนภักดีได้ไปเที่ยวตรวจค้นจนพบ แล้วรีบตามไปที่สวรรคโลก บอกว่าได้พบเมืองโบราณเมืองหนึ่งอยู่เหนือเมืองกำแพงเพชรขึ้นไปประมาณ 200 เส้นเศษเป็นเมืองย่อม ๆ เป็นคูและเทินดิน ราษฎรแถบนั้นเรียกว่าเมืองเทินทอง หรือชุมนุมกองทอง เมืองนั้นตั้งอยู่ริมลำน้ำเรียกว่าคลองเรือ ปากคลองทะลุลำน้ำแควน้อย และมีถนนจากเมืองนั้นไปทางตะวันออกเฉียงใต้ แต่มาขาดเสียกลางทาง นี่เป็นพยานอยู่ว่า การที่สันนิษฐานไว้นั้นถูกต้องแล้ว..”
แต่เดิมพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสันนิษฐานว่าเมืองเนินทองที่อยู่ในตำบลหนองปลิงนั้น คือเมืองเชียงทอง เมืองโบราณที่อยู่ในเส้นทางเสด็จของพระมหาสมีสังฆราชที่เสด็จ ผ่านเมืองเชียงทอง เมืองจันทร เมืองพาน เมืองวาน ถึงเมืองสุโขทัย แต่ต่อมานักประวัติศาสตร์ให้ความเห็นว่า เมืองเชียงทอง ปัจจุบันคือเมืองที่อยู่ในพื้นที่ของจังหวัดตาก (ในอดีตเมืองเชียงทองเป็นเมืองบริวารของกำแพงเพชร) ทางด้านตะวันตกของแม่น้ำปิง
จากการศึกษาร่องรอยของประวัติศาสตร์จะพบว่า จะมีแนวถนนสายหนึ่งตั้งต้นออกจากเมืองกำแพงเพชรตัดผ่านเข้าไปในกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่บริเวณอรัญญิกเมืองกำแพงเพชรซึ่งอยู่ในท้องที่ของตำบลหนองปลิง โบราณสถานขนาดใหญ่เหล่านั้นตั้งเรียงรายอยู่บริเวณทางด้านทิศเหนือของตัวเมือง อันได้แก่ วัดป่ามืด วัดพระนอน และวัดพระสี่อิริยาบถ แนวถนนตัดขึ้นไปทางด้านทิศเหนือผ่านวัดช้างรอบ แล้วตัดออกไปจนถึงเมืองเนินทอง บ้างก็เรียกว่าเมืองกองทอง หรือเมืองเทินทอง และอาจเป็นเมือง สุพรรณภาว ตามจารึกก็เป็นได้
เมืองเนินทองเป็นเมืองโบราณขนาดย่อม มีเกี่ยวข้องกับเมืองกำแพงเพชรโดยอาจเป็นเมืองบริวารล้อมรอบ ซึ่งเมื่อศึกษาประวัติศาสตร์แล้วจะพบว่าเมืองกำแพงเพชรมีเมืองบริวารล้อมรอบทั้ง 4 ด้านดังนี้
ด้านทิศเหนือ เมืองเทินทอง หรือเมืองเนินทอง อยู่ที่ตำบลหนองปลิง อำเภอเมืองกำแพงเพชร
ด้านทิศตะวันตก เมืองโนนม่วง อยู่ที่ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร
ด้านทิศตะวันออก เมืองบางพาน อยู่ที่ตำบลเขาคีริส อำเภอพรานกระต่าย
ด้านทิศใต้  เมืองเทพนครหรือคณฑี อยู่ที่ตำบลคณฑี อำเภอเมืองกำแพงเพชร
เหตุที่เมืองกำแพงเพชรต้องมีเมืองบริวารล้อมรอบเพื่อให้เมืองเหล่านั้นทำหน้าที่เป็นป้อมปราการ ป้องกันและดูแลบริเวณรอบนอก และเมื่อข้าศึกเข้ามารุกรานทางเมืองกำแพงเพชรสามารถส่งกำลังเข้าไปช่วยเหลือได้ทัน ทำให้ข้าศึกเข้าถึงเมืองกำแพงเพชรได้ยากขึ้น
ลักษณะของเมืองเนินทอง หรือเมืองเทินทอง เมืองหน้าด่านของเมืองกำแพงเพชร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิงทางด้านทิศเหนือของเมืองกำแพงเพชร เป็นเมืองโบราณตั้งอยู่บนเนินเขาขนาดย่อม ไม่สูงมากนัก บริเวณเขตเมืองทางด้านตะวันตกเฉียงใต้มีลำน้ำคลองบางทวนไหลผ่านออกมาบรรจบกับแม่น้ำปิง ทำหน้าที่เป็นเมืองหน้าด่านทางด้านทิศเหนือสำหรับตรวจตราและตั้งรับข้าศึกที่จะยกกองทัพมาทางแม่น้ำปิงก่อนที่จะเข้าถึงเมืองกำแพงเพชร
ที่ตั้งของเมืองเนินทอง หรือเทินทอง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ หมู่ที่ 3 ตำบลหนองปลิง อำเภอเมืองกำแพงเพชร มีการก่อสร้างทับซ้อนซากโบราณสถานและแปรเปลี่ยนสภาพไปจนเกือบไม่เหลือร่องรอยใด ๆ คูน้ำและคันดินรอบเมืองถูกไถกลบจนไม่ปรากฏร่องรอยให้เห็น และในปัจจุบันมีเอกชนและหน่วยราชการเข้าไปใช้พื้นที่ ส่วนหนึ่งเป็นวัดลั่นทม และสำนักสงฆ์เขาพระ ซึ่งเป็นวัดใหม่ที่สร้างแทนซากโบราณสถานร้างบนเนินเขา ส่วนทางด้านที่ราบชายเนินเขาเป็นค่ายลูกเสือจังหวัดกำแพงเพชร และสวนส้มของเอกชน
สิ่งที่สูญหายไปแล้วย่อมเป็นเรื่องยากที่จะเรียกร้องให้กลับคืนมา แต่สิ่งที่ยังคงเหลืออยู่ถือเป็นเรื่องสำคัญที่คนรุ่นหลังจะต้องมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ ช่วยกันดูแล และหวงแหนเอาไว้เพื่อความภาคภิมูใจในความยิ่งใหญ่ของบรรพชนที่ได้สร้างสรรค์เอาไว้ใ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!