จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
เมษายน 20, 2024, 10:48:23 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: วัฒนธรรมสำคัญตำบลแม่ลาด ๑. วัฒนธรรมลาวครั่ง ตำบลแม่ลาด หมู่ที่ ๒ บ้านแม่ลาดใหญ่  (อ่าน 3714 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1413


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: กันยายน 14, 2015, 10:48:56 am »

วัฒนธรรมสำคัญตำบลแม่ลาด
 ๑. วัฒนธรรมลาวครั่ง
ตำบลแม่ลาด หมู่ที่ ๒ บ้านแม่ลาดใหญ่ และหมู่ที่ ๖ บ้านห้วยน้อย ประชากรส่วนใหญ่เป็นลาวครั่ง ที่มีวัฒนธรรมประเพณี ที่น่าสนใจประวัติความเป็นมาของลาวครั่ง หมู่ ๒บ้านแม่ลาดใหญ่ และหมู่ ๖ บ้านห้วยน้อย ตำบลแม่ลาดอำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร
ลาวคั่ง หรือลาวครั่ง ในเขตภาคกลางตอนบนนั้น มีหลักฐานประวัติความเป็นมา พบว่าบรรพบุรุษได้อพยพมาจากอาณาจักรเวียงจันทน์ และหลวงพระบางพร้อมกับลาวกลุ่มอื่นๆได้อพยพเข้ามาที่ประเทศไทยด้วยเหตุผลที่ทางการเมืองและเป็นเชลยศึกยามสงคราม อาศัยอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศไทย จากการสันนิษฐานลาวครั่งเป็นชื่อของภาษาและกลุ่มผู้มีเชื้อสาย ลาวกลุ่มหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ในภาคกลางของประเทศไทยเช่นในจังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดชัยนาทจังหวัดอุทัยธานี ฯลฯ ลาวครั่งมักจะเรียกตนเองว่า "ลาวขี้ครั่ง" หรือ "ลาวคั่ง" ความหมายของคำว่า "ลาวครั่ง" ยังไม่ทราบความหมายที่แน่ชัดบางท่านสันนิฐานว่ามาจากคำว่า "ภูฆัง" ซึ่งเป็นชื่อของภูเขาที่มีลักษณะคล้ายระฆัง อยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองหลวงพระบางในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อันเป็นถิ่นฐานเดิมของลาวครั่ง
    จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เชื่อแน่ว่าชาวลาวครั่งถูกกวาดต้อนเข้ามาในประเทศไทยในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีปีพุทธศักราช ๒๓๒๑ และในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชในปีพุทธศักราช ๒๓๓๔ ไม่ปีใดก็ปีหนึ่งอย่างแน่นอน เพราะไทยยกกองทัพไปตีเมืองหลวงพระบาง และกวาดต้อนครอบครัวของชาวลาวมาในช่วงนั้น เนื่องจากลาวแพ้สงคราม
ลักษณะทั่วไปของลาวครั่ง คือมีรูปร่างค่อนข้างไปทางสูงหรือสันทัด ทั้งหญิงและชายผิวค่อนข้องเหลือง ตาสองชั้น ใบหน้าไม่เหลี่ยมมากจมูกมีสันผมเหยียดตรง ชอบนุ่งผ้าซิ่นคลุมเข่า นุ่งซิ่น มีดอก ลาวครั่งมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ในการทอผ้าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน และใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆโดยเฉพาะเทศกาลต่างๆ และสามารถรักษาวัฒนธรรมของตนเองไว้ได้อย่างเหนียวแน่น
สรุปความเป็นมาของลาวครั่ง ได้ ๒ ประเด็น คือ
ประเด็นที่ ๑ มาจากชื่อของภูเขา ในอาณาเขตของอาณาจักรหลวงพระบาง ที่มีรูปร่างเหมือนกับระฆัง จึงทำให้เรียกชื่อตามนั้น คือ ลาวภูฆัง และ เรียกกันจนเพี้ยนกลายเป็น ลาวครั่ง
ประเด็นที่ ๒ สันนิษฐานว่าสาเหตุที่เรียกชื่อกลุ่มของตนเองมาตั้งแต่โบราณว่า ลาวครั่ง เป็นการเรียกตามชื่อของครั่งที่นิยมนำมาใช้ย้อมสีผ้าให้เป็นสีแดง เพื่อใช้ในการทอเป็นเครื่องนุ่งห่ม
ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สงครามระหว่างไทยลาว เป็นเหตุให้ชาวลาวหลายชนเผ่าต้องถูกกวาดต้อนเข้ามาอยู่บริเวณภาคกลางของไทย คนกลุ่มน้อยเหล่านั้นก็แยกกันอยู่ตามกลุ่มวัฒนธรรมย่อยของตน หนึ่งในนั้นก็คือ ชุมชนลาวครั่ง ชาวลาวครั่ง อพยพมาจากเมืองหลวงพระบาง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๗ ผู้นำกลุ่มลาวครั่ง ได้ย้ายถิ่นฐานจากบ้านเขากระจิว จ.กาญจนบุรี (ปัจจุบันคือ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
 คนไทยเชื้อสายลาวครั่งมีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ของตนเองได้แก่ ภาษา การแต่งกาย ประเพณี และพิธีกรรมความเชื่อ ต่างๆโดยได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน อีกทั้งภาษาที่ใช้ คือภาษาลาวครั่ง นักภาษาศาสตร์ได้จัดภาษาลาวครั่งอยู่ในตระกูลภาษาไท-กะได การแต่งกายของคนไทยเชื้อสายลาวครั่ง จะมีแบบฉบับเป็นของตนเองซึ่งนำวัสดุจากธรรมชาติในท้องถิ่นคือ ฝ้าย และไหม ที่เป็นวัสดุในการทอ เทคนิคที่ใช้มีทั้งการจกและมัดหมี่ ผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวลาวครั่งคือ ผ้าซิ่นมัดหมี่ ต่อตีนจก ซึ่งมีลายผ้าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะท้องถิ่น และ ผ้าขาวม้า ห้า สีมีลวดลายหลากหลายและสีที่ใช้เป็นสีที่ได้จากธรรมชาติ เช่นสีเหลืองนำมาจากหัวขมิ้น สีดำนำมาจากมะเกลือ + เทา (ตะไคร่น้ำ) สีครามได้มาจากต้นครามผสมกับปูนกินหมาก สีแดงได้มาจากครั่ง นอกจากจะทอไว้เพื่อใช้ในครัวเรือนแล้ว ยังทอเพื่อการจำหน่ายเป็นรายได้เสริมจากอาชีพหลัก และอาชีพลักก็คือ เกษตรกรรม เนื่องจากสภาพดินเหมาะแก่การเพาะปลูกเป็นอย่างมากความสามัคคีของลาวครั่ง ชาวลาวครั่งจะมีความสามัคคีกันอย่างมากไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือกันไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของเครือญาติหรือเพื่อนบ้าน เช่น ลงแขกเกี่ยวข้าว ทำไร่ หรือแม้แต่งานบุญ งานศพ งานรื่นเริงต่างๆ ชาวบ้านก็จะมาช่วยงานกันเป็นจำนวนมากตั้งแต่เริ่มงานจนงานเสร็จเรียบร้อย ชุมชนวัฒนธรรมลาวครั่งบ้านแม่ลาด มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของตนเองไว้อย่าง เหนียวแน่นในอดีต  อาทิเช่น ประเพณีบายศรีสูขวัญต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยือน ภาษาพูด ดนตรีพื้นเมือง อาหารท้องถิ่น ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทำขนมจีนโบราณ ภูมิปัญญาพื้นบ้านในด้านการรักษาด้วยสมุนไพร การนวดแผนโบราณ วิถีชีวิตการทำนาปลูกข้าวตามฤดูกาล การผลิตข้าวซ้อมมือ การแต่งกายด้วยผ้าทอพื้นบ้าน การทอผ้าลวดลายที่มีเอกลักษณ์คือ ผ้าขิด ผ้าจกและผ้ามัดหมี่ ทอทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม ผ้าทอที่ใช้ในพิธีทางศาสนา ผ้าคลุมหัวนาค ผ้าห่อคัมภีร์ ผ้าทอใช้ในชีวิตประจำวัน ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า หมอนน้อย หมอนเท้า ถุงขนมเส้น และมีการจัดงานประเพณีท้องถิ่นที่ได้ยึดถือกันมายาวนาน โดยเฉพาะงานประเพณีสงกรานต์ "ต้อนฮับสังขาร บุญสงกรานต์ปีใหม่ไท" ซึ่งถือได้ว่าเป็นงานประเพณีที่สำคัญ  มีศูนย์สาธิตวีถีชีวิตชุมชนได้แก่ การทอผ้า การสีข้าวและการตำข้าวแบบโบราณ การทำข้าวกล้อง การจักสานไม้ไผ่ และศูนย์แพทย์แผนไทย เป็นต้น ชุมชนแม่ลาดก็เหมือนกับชนเผ่าทั้งหลายในเอเชียอาคเนย์ที่เชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติทั่วไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่เป็นอย่างยิ่ง เป็นการเพิ่มขวัญกำลังใจ และความมั่นใจ ในการทำมาหากินและการดำเนินชีวิตของตน ซึ่งชาวบ้านแม่ลาดส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร อาทิ ทำนา ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ พิธีกรรมต่าง ๆ ที่สืบทอดต่อกันมาจนเป็นประเพณีล้วนสะท้อนถึงความต้องการในวิถีชีวิตเรื่อง น้ำและความอุดมสมบูรณ์ อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมเกษตร เช่น การเปิดยุ้งข้าว การเรียกขวัญข้าว นอกจากนั้นในแต่ละช่วงเดือนชาวบ้านยังร่วมทำบุญที่วัดตามความเชื่อในพุทธ ศาสนาเพื่อสะท้อนความต้องการความคุ้มครองจากเทพสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความ ศรัทธา ที่มีต่อพุทธศาสนา เพื่อความสงบสุขในชีวิตของตนเองและครอบครัว เช่น พิธีทำบุญกลางบ้าน วันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา ออกพรรษา
พิธีกรรมและความเชื่อของชาวลาวครั่ง
ลาวครั่ง มีความเชื่อในเรื่องผีบรรพบุรุษเป็นอย่างมาก การนับถือผีของชาวลาวครั่งเป็นการถือผีตามบรรพบุรุษ คือผีเจ้านายและผีเทวดา การนับถือมีอิทธิพลต่อชาวลาวครั่งมาก แม้แต่ในแง่ของการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการประกอบพิธีกรรมหรือการดำรงชีวิตประจำวัน ก็จะต้องไปข้องเกี่ยวกับผีของบรรพบุรุษ เนื่องจากอาชีพหลักของชาวลาวครั่ง คือการทำนา จึงมีประเพณีความเชื่อ ที่ถือปฏิบัติกันมาเพื่อความอุดมสมบูรณ์ คือ พิธีบูชาเซ่นสรวงแม่ธรณี และแม่โพสพ ก่อนหว่านข้าวเป็นการบอกกล่าวแม่ธรณีโดยจัดวางเครื่องเซ่นไว้บนพื้นดินบริเวณหัวคันนาและกล่าวแก่แม่ธรณีว่า จะทำนาแล้วขอให้คนและ ควายอยู่ดีมีสุขสบาย คราดไถอย่าให้หักบ่ได้มาแย่งดิน ขอเพียงแค่ทำกิน พิธีนี้ภาษาถิ่นเรียกว่า พิธีแฮกนา พิธีที่เกี่ยวกับความเชื่ออีกวิธีหนึ่งคือ พิธีศพ เมื่อนำศพผู้ตายใส่ลงหีบ ถ้าเป็นชายก็จะใช้ผ้าขาวม้าของผู้ตาย คลุมทับผ้าขาวบนฝาหีบ ถ้าเป็นหญิงก็จะคลุมหีบด้วยสไบของผู้ตาย และจะเผาเครื่องนุ่งห่มต่างๆของผู้ตาย เช่น ผ้าขาวม้าไหม โสร่งไหม ผ้าพุ่งไหม ผ้าม่วงโรง หรือผ้าซิ่นมัดหมี่ ผ้าสไบ เสื้อฯลฯ เผาไปด้วย พิธีนี้จึงเป็นสาเหตุแห่งความสูญเสียผ้าโบราณที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีไป พิธีกรรมมีความสัมพันธ์กับความเชื่อ เพราะพิธีกรรมต้องมีความเชื่อเป็นพื้นฐานของการกระทำไม่ว่าจะเป็นความเชื่อต่อสิ่งใด ฉะนั้นความเชื่อจึงเป็นรากฐานการกระทำ ผีวิญญาณบรรพบุรุษ ยังเป็นการควบคุมความประพฤติของคนในสังคมของหมู่บ้านเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังพบว่าชาวบ้านแห่งนี้ยังมีความเชื่อเรื่อง ภูตผีวิญญาณ อย่างเหนียวแน่น ถึงแม้พระพุทธศาสนาจะเข้ามามีบทบาทต่อสังคมชาวลาวครั่ง ก็ไม่ทำให้ความเชื่อนี้ลบล้างไป อาทิในพิธีการแต่งงานของชาวลาวครั่ง จะต้องทำพิธีบูชาผีเทวดา โดยใช้ผ้าขาวม้า ๑ ผืน เงิน ๔ บาท ข้าวต้มมัดไม่ใส่ไส้ กล้วย เทียน ข้าวสุกโรยน้ำตาล ดอกไม้และเหล้า อีก ๑ ขวดด้วยระบบความเชื่อเรื่องผีเจ้านายและผีเทวดาของชาวลาวครั่ง จึงมีข้อห้ามและบทลงโทษ สำหรับหญิงชายที่ได้เสียกันก่อนแต่ง โดยจะต้องทำเสียผีที่บ้านของฝ่ายหญิง ซึ่งจะมีการเซ่นไหว้ผีเจ้านายด้วย โดยใช้เหล้า ๘ ไห ไก่ ๘ ตัว นำไปฆ่าที่ศาลเจ้านายให้เลือดไก่หยดลงบนแท่นบูชาเจ้านาย เมื่อหญิงชายใดที่ตกลงจะอยู่กินกันฉันมีภรรยา จะต้องได้รับการอนุญาตจากญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย หลังจากนั้นจะหาฤกษ์งามยามดีซึ่งชาวลาวครั่งเรียกว่า หักไม้ใส่ยาม วันฟูและวันจม ประเพณีแต่งงานของลาวครั่ง แต่เดิมจะมีการสู่ขวัญคู่บ่าวสาว โดยจะมีหมอมาทำพิธี มักทำกันในตอนเย็นวันสุกดิบ ทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะทำพิธีสู่ขวัญน้อยที่บ้านของตนบางรายก็อาจจะมาสู่ขวัญน้อยรวมกันที่บ้านของเจ้าสาวในวันรุ่งขึ้นจะมีพิธีสู่ขวัญใหญ่ที่บ้านเจ้าสาวหมอขวัญจะเป็นผู้ที่คอยสั่งสอนอบรมคู่บ่าวสาว ให้รู้จักการครองเรือนตลอดจนการประพฤติตนในฐานะของเขยและสะใภ้ เมื่อถึงวันงานฝ่ายเจ้าบ่าวจะจัดพานขวัญแห่ไปทำพิธีที่บ้านเจ้าสาวซึ่งประกอบด้วยบายศรี พร้อมของหวานและเหล้า การแห่ขันหมาก พิธีสู่ขวัญคู่บ่าวสาว ฝ่ายเจ้าสาวก็จะเตรียมพานขวัญนี้ไว้เช่นเดียวกันเมื่อได้ฤกษ์แล้วก็จะยกขบวนพานขวัญ โดยจะใช้ไม้ กำพัน ซึ่งเป็นไม้สำหรับกรอด้าย ใช้หาบพานขวัญแทนไม้คาน เพราะเป็นเคล็ดว่าคู่บ่าวสาวจะรักใคร่กลมเกลียวกันเสมือนด้ายที่อยู่ในไม้กรอด้ายดังกล่าว ผู้ที่ทำหน้าที่หาบพานขวัญต้องเป็นคนโสดเหมือนกับเพื่อนเจ้าสาว เมื่อถึงเรือนเจ้าสาวจะเป็นคนล้างเท้าให้เจ้าบ่าว ซึ่งจะมีที่พักเท้าเจ้าบ่าว เป็นหินลับมีด แล้วนำใบตองมาปูทับไว้อีกทีเมื่อผ่านประตูทองแล้ว จะพาคู่บ่าวสาวไปพักไว้ที่ห้องหอ จะมีผู้ที่คอยต้อนรับเจ้าบ่าวและพาไปยังห้องหอ ซึ่งคน ๆนี้ จะต้องเป็นผู้ที่ยังไม่มีครอบครัว จะเป็นม่ายไม่ได้ เพราะจะห้ามไม่ให้ม่ายเข้ามาถูกเนื้อต้องตัวคู่บ่าวสาวโดยเด็ดขาด เพราะเกรงว่าจะเป็นลาง ให้คู่สมรสเป็นม่ายได้ ชาวลาวครั่งเชื่อในเรื่องฤกษ์ยามการส่งตัวเข้าหออย่างเคร่งครัด เมื่อเสร็จสิ้นงานแล้วสะใภ้จะเป็นผู้นำเอาเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม หรือว่าที่นอนหมอนมุ้งไปกราบพ่อแม่ของสามี ซึ่งในปัจจุบันการแต่งงานของชาวลาวครั่งแม่ลาด ไม่สามารถรักษาวัฒนธรรมนี้ไว้ได้ จึงเลือนหายไป ในที่สุด
ในปัจจุบันลาวครั่งนับถือพุทธศาสนาผสมกับ ศาสนาพราหมณ์ และนับถือผีเช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์ไท อื่น ๆ โดยเชื่อว่าปีมี  ๒ ฝ่าย คือ ฝ่าย “เจ้านาย” และ “ฝ่ายเทวดา” มาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษที่เมือง     ภูฆัง ประเทศลาว ในชุมชนลาวครั่งจึงมักแยกออกเป็น 2 กลุ่ม ตามความเชื่อผีของครอบครัว คือ ผีเจ้านาย คือ มูลนายที่อพยพเข้ามาอยู่ก่อน เป็นนักรบผู้สืบเชื้อสายเผ่าพันธุ์เดียวกับสมาชิกในชุมชน จะอัญเชิญผีเจ้านายมาสถิตในศาลของหมู่บ้านเรียกว่า “หอเจ้านาย” ความเชื่อ “ผีเจ้านาย” ถือเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบของสังคม ด้วยมีข้อห้ามเรื่อง “ผิดผี” เป็นจารีตที่ทุกคนต้องปฏิบัติ หากเกิดผิดผีจะต้องทำพิธีเซ่นไหว้ขอขมาผีแล้วแต่จะทำการสิ่งใดออกนอกหมู่บ้านไปค้าขาย หรือทำไร่ ทำนา หรือมีงานประเพณีใด ๆ จะต้องมาบอกกล่าวผีเจ้านายเพื่อให้ผีเจ้านายได้ช่วยดูแลคุ้มครอง ปกปักรักษาไม่ให้สิ่งไม่ดีเข้ามากล้ำกราย ให้พบแต่สิ่งที่ดีมีความเจริญ ส่วน “ผีเทวดา” คือ วิญญาณของเทวดาที่เคยปกปักรักษาบ้านเมืองของตนมาตั้งแต่อยู่ที่ล้านช้าง จะมีจารีตและพิธีกรรมเพื่อแสดงถึงการเคารพนับถือ “หิ้งเทวดา” จะมีลักษณะเป็นหิ้งไม้ ๒ ชั้น ชั้นบนเล็กกว่า เป็นที่วางพานทองเหลืองใส่คัมภีร์โบราณ ๒ เล่ม และดาบเหล็กด้ามไม้ ๒ อัน ส่วนข้างล่างใหญ่กว่าเป็นที่วางเครื่องสักการะ ได้แก่ ดอกไม้ ธูปเทียน และส่วยที่ชาวบ้านนำมาทำพิธีแก้บน ดอกไม้ที่นำมาแก้บนไม่สามารถนำลงจากหิ้งได้ จนกว่าจะถึงงานเลี้ยงผี จึงเปลี่ยนได้และนำดอกไม้มาแทน ผู้ทำพิธีและสื่อสารติดต่อกับเทวดา เรียกว่า “คนต้น” เป็นผู้หญิงหรือผู้ชายมักจะสืบทอดตำแหน่งตามสายโลหิต ปัจจุบัน ประเพณีและความเชื่อต่างๆ ถูกลืมเลือน ไปกับ ความเจริญที่เข้ามา สมควรได้รับการฟื้นฟู ให้เหมาะสม ต่อไปที่ตำบลแม่ลาด แทบไม่เหลือให้เห็นอีกเลย
การทำขวัญข้าวของลาวครั่ง
 

เมื่อข้าวออกรวงแก่ใกล้จะเก็บเกี่ยวได้แล้ว จะเป็นสีเหลืองอร่ามไปทั่วทุ่งนา ชาวนาจะต้องระมัดระวังสัตว์ร้ายหลายประเภทที่เป็นศัตรูข้าว เช่นนกกระจาบที่ชอบพากันมากินข้าวเป็นฝูง ๆ หรือปูที่ทำอันตรายต้นข้าวมากกว่านกกระจาบ นอกนั้นมีสัตว์อื่น ๆ อีก เช่น หนูพุก และเต่านา ดังนั้นในตอนนี้ชาวนาต้องทำหุ่นไล่กา หรือทำที่พักสำหรับไล่นก หรือทำเป็นกังหันให้ลมพัดหมุนมีเสียงดังหรือทำอย่างอื่นเพื่อคอยดูแลต้นข้าว นอกจากนี้มีพิธีไล่หนู นก เพลี้ย แมลง ปู หนอน และศัตรูข้าวอื่น ๆ พิธีทำขึ้นเพื่อไม่ให้ถูกนก หนูและสัตว์อื่น ๆ มาทำลายต้นข้าวส่วนทางภาคอีสาน จะมีพิธีปลงลอมข้าวเป็นพิธีที่ทำหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว และได้ขนข้าวที่ลานนวดจนเสร็จเรียบร้อยเป็นพิธีที่ทำก่อนจะนวดข้าว คำว่าลอมข้าว หมายถึง กองข้าวที่เตรียมจะนวด เป็นพิธีที่บอกกล่าวแม่โพสพให้ออกจากลานนวดข้าว เพราะกลัวจะกระทบกระเทือน และอีกประการหนึ่งเพื่อขอโทษหรือขอขมาที่ต้องทำรุนแรงกับข้าว ดวง ทองบุญ โดยกล่าวถึงพิธีปลงลอมข้าวไว้ ดังนี้ “พิธีนี้เป็นพิธีที่กระทำภายหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ และได้นำข้าวที่เก็บเสร็จนั้นมาไว้ที่ลานนวดข้าวเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะกระทำก่อนที่จะเริ่มการนวดข้าว พิธีนี้เรียกว่า “พิธีปลงลอมข้าว” (ลอมข้าว = กองข้าวที่เตรียมจะนวด) ผู้ที่จะทำพิธีดังกล่าว คือ ผู้อาวุโสที่สุดในครอบครัวอีกเช่นเดิม กล่าวคือ ผู้อาวุโสจะนำ “ตะกร้าขวัญข้าว” (ตะกร้าเล็ก ๆ ที่ทำด้วยไม้ไผ่สานหรือวัสดุอื่น ๆ ก็ได้ ในตะกร้าขวัญข้าวประกอบด้วยใบคูน ใบยอ หมาก ๕ คำ ยา (บุหรี่) ๕ คำ ขันห้า (ประกอบด้วย ดอกไม้ ๕ คู่ เทียน ๕ คู่) ข้าวต้มมัด ไข่ไก่ สุรา เมื่อได้ทุกอย่างครบแล้ว ก็จะนำเอาบรรจุลงในตะกร้าขวัญข้าว แล้วนำไปยังลานนวดข้าว เมื่อไปถึงก็เอาตะกร้าขวัญข้าววางลง แล้วเอาไม้สำหรับนวดข้าวมาวางไว้ข้างตะกร้าขวัญข้าว แล้วว่านะโม ๓ จบ แล้วทำพิธีบอกกล่าวแม่โพสพ (ทั้งนี้แล้วแต่ใครจะพูดเช่นไร) เช่น “มื่อนี่เป็นมื่อสันวันดี ลงมาปลงลอมข้าวเด้อ....แม่โพสพเอ่ย ค้อนสั้น เขาสิตีของดีเขาสิฟาด คานหนามถาบเขี่ยฟาง ทัดพนาคราดคูนขื่น ให้มันขึ่นจั่งช่วยตุ่น จูนพูนคือจั่งกองทราย ไหลลงมาคือจั่งทราย ไหลแล่ว....โอม อุ มะ มุนะ มูมา” ความหมาย “วันนี้เป็นวันดี ข้าพเจ้าจะมาปลงลอมข้าว นะแม่โพสพ ค้อนสั้นข้าจะตีฟ่อนข้าว ไม้นวดข้าวจะตีข้าวลงกับพื้น จงหมีข้าวมากเหมือนดังกองทราย ให้เมล็ดข้าวไหลออกเรื่อย ๆ เหมือนดังทรายฉันนั้น....” คำบอกกล่าวดังกล่าวเป็นการบอกเจ้าที่เจ้าทาง ซึ่งในที่นี้คือ “แม่โพสพ” เพื่อให้ออกไปจากบริเวณที่จะนวดข้าว เพราะกลัวจะกระทบกระเทือน และอีกประการหนึ่ง ก็เป็นการขอโทษที่ต้องทำรุนแรงกับข้าว เมื่อบอกกล่าวเสร็จแล้ว ผู้ทำพิธีก็จะนำโค้นข้าว ๗ โค้น (มัด) แล้วว่าคาถาบาลี ๓ จบ แล้วเอาไม้ที่ใช้นวดข้าวมามัดโค้นข้าว แล้วว่าคาถาบาลีอีก ๓ จบ แล้วจึงเริ่มตีข้าว จนครบ ๗ โค้น เมื่อครบทั้ง ๗ แล้ว ก็จะเอาข้าวที่ตีได้ใส่ลงไปในตะกร้าขวัญข้าว พอเป็นพิธี และใส่รวมกับสิ่งของที่มีอยู่ในตะกร้านั้นด้วย เมื่อเสร็จก็เริ่มการตีข้าวที่เหลือให้หมดได้เลย เสร็จจากการเชิญแม่โพสพมาสู่ลานแล้วก็เริ่มลงมือนวดข้าวกัน ในช่วงนี้ถ้ามีแขกอีกจะเป็นเวลาของความสนุกเพลิดเพลินสำหรับหนุ่ม ๆ สาว ๆ เพราะจะมีการเล่นร้องเพลงต่อกลอนกันขณะทำงานไปด้วย ปัจจุบัน ประเพณี หายไปจาก ตำบลแม่ลาด กว่า ๔๐ ปี สมควรได้รับการฟื้นฟู ที่หมู่ ๒ บ้านแม่ลาดใหญ่ และ ที่ หมู่ ๖ บ้านห้วยน้อย เพราะมีประชาชน เชื้อสายลาวครั่ง อยู่เป็นจำนวนมาก
ชุมชนวัฒนธรรมลาวครั่งบ้านแม่ลาดใหญ่ แต่เดิม มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของตนเองไว้อย่างเหนียวแน่น อาทิเช่น ประเพณีบายศรีสู่ขวัญต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยือน ภาษาพูด ดนตรีพื้นเมือง อาหารท้องถิ่น ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทำขนมจีนโบราณ ภูมิปัญญาพื้นบ้านในด้านการักษาด้วยสมุนไพร การนวดแผนโบราณ วิถีชีวิตการทำนาปลูกข้าวตามฤดูกาล การผลิตข้าวซ้อมมือ การแต่งกายด้วยผ้าทอพื้นบ้าน การทอผ้าลวดลายที่มีเอกลักษณ์คือ ผ้าขิด ผ้าจกและผ้ามัดหมี่ ทอทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม  มีความเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติทั่วไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่เป็นอย่างยิ่ง เป็นการเพิ่มขวัญกำลังใจ และความมั่นใจ ในการทำมาหากินและการดำเนินชีวิตของตน ซึ่งชาวบ้านแม่ลาด ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร อาทิ ทำนา ทำสวน ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ พิธีกรรมต่าง ๆ ที่สืบทอดต่อกันมาจนเป็นประเพณีล้วนสะท้อนถึงความต้องการในวิถีชีวิตเรื่องน้ำและความอุดมสมบูรณ์ อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมเกษตร เช่น การเปิดยุ้งข้าว การเรียกขวัญข้าว นอกจากนั้นในแต่ละช่วงเดือนชาวบ้านยังร่วมทำบุญที่วัดตามความเชื่อในพุทธศาสนาเพื่อสะท้อนความต้องการความคุ้มครองจากเทพสิ่งศักดิ์สิทธิ์และความศรัทธา ที่มีต่อพุทธศาสนา เพื่อความสงบสุขในชีวิตของตนเองและครอบครัว เช่น พิธีทำบุญกลางบ้าน วันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา ออกพรรษา ควรได้ทำโครงการในด้านภูมิปัญญาในด้านต่างๆเพื่ออนุรักษ์และรักษาวัฒนธรรมให้คงอยู่ตลอดไป
การเข้าทรงนางด้ง ที่บ้านแม่ลาดใหญ่
   ที่ตำบลแม่ลาด หมู่ที่ ๒ บ้านแม่ลาดใหญ่ มีภูมิปัญญาลาวครั่ง ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นสิ่งที่สั่งสม มาช้านาน ถึงการนำอุดมการณ์แห่งความรัก ความสามัคคี ความอบอุ่น ความเข้าใจ และการอยู่ร่วมกัน ในกลุ่มชนอย่างผาสุก มาใช้ได้อย่างเหมาะสม แนบเนียน ในชีวิตประจำวัน ทำให้สังคมไทยอยู่อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ในชีวิตความเป็นอยู่ที่สมถะ เรียบง่าย และไม่เน้นกฎเกณฑ์ที่ตายตัว ยืดหยุ่น รักสงบ มีความสุข ในการทำกิจกรรมร่วมกัน
          การเข้าทรงนางด้ง หรือผีนางด้ง เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิม ที่สำคัญของคนไทยที่มีเชื้อสายลาวครั่ง มิใช่เรื่องไร้สาระกิจกรรมทุกกิจกรรม ล้วนแฝงไว้ด้วยความลึกซึ้งของสังคมและวัฒนธรรม ในเกือบทุกภาค ที่มีอาชีพทำไร่ทำนา แต่ไม่มีหมู่บ้านใดดำรงความเป็นไทย และภูมิปัญญาไทยไว้ได้ ที่หมู่บ้าน แม่ลาดใหญ่ ตำบลแม่ลาด อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ประชาชนในหมู่บ้านไร้รื้อฟื้นประเพณี การละเล่นพื้นบ้านที่หายสาบสูญไปนับ ครึ่งศตวรรษ กับคืนมาด้วยความรัก และความสามัคคีของคนในหมู่บ้านได้อย่างน่าชื่นชม... เครื่องมือประกอบการแสดง การเข้าทรง ล้วนเป็นเครื่องมือในการเกษตรอย่างเช่น กระด้งสำหรับ ฝัดข้าว สากสำหรับการตำข้าว ผ้าขาวม้า.เพลงที่มีเนื้อร้องที่น่าสนใจ ในภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างลึกซึ้งและกลมกลืน....น่าฟัง...แต่ละแห่งจะแตกต่างกันไป ตามที่จดจำกันมา แบบมุขปาฐะ
 

       เพลงที่ใช้ร้องเชิญผีนางด้ง จะแตกต่างกันออกไป ตามแต่จะจำกันมา เช่น
  นางด้งเอย...ละป่าระหง ....กระด้งใหม่ๆ ....ของฝัดเครื่องแกง.... ข้าวแดง แมงเม่า....กระด้งฝัดข้าว ออกมาพึกๆ.... ออกมาผายๆ ...ขอคืนกาย มาเข้านางด้ง.....ขอเชิญพระเจ้า มาเข้านางด้ง....ร้องซ้ำไปซ้ำ มาอยู่หลายรอบ ความเยือกเย็นของน้ำเสียงทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ...ในการเข้าทรง... .....อุปกรณ์ที่สำคัญของการเข้าทรงคือ กระด้งของและสากตำข้าว ของแม่ม่าย มีข้อพิเศษ คือต้องไปเอาของสองสิ่งมาโดยไม่บอกให้เจ้าของทราบ...คือขโมยมานั่นเอง. การเข้าทรงหญิงเข้าทรงจะนั่งอยู่ตรงกลาง มีผู้ช่วยนั่งอยู่ตรงหน้า ในระหว่างสากทั้งสอง นำกระด้ง หุ้มด้วย ผ้าขาวม้า เมื่อไหว้ครูและเชิญวิญญาณ มาเข้า ทรงท่ามกลางเสียงเพลง ที่เยือกเย็นแต่แฝงไว้ด้วยความเชื่อมั่น ในความเชื่อเรื่อง ทรงเจ้า เข้าผีของ พวกเขา ...เมื่อวิญญาณมาเข้าแล้ว นางด้งจะเริ่มสั่นไปทั้งร่างกาย ผีจะเข้าทรงที่เรียกกันว่าผีนางด้ง จะเริ่มลุกขึ้นร่ายรำ อย่างสนุกสนาน และลืมความเหน็ดเหนื่อย ผีนางด้ง จะนำกระด้ง ไปกวักใคร หรือไปแตะใคร ผู้นั้นจะต้องออกมารำ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาแห่งการมีส่วนร่วม ชาวบ้านจะร้องเพลงตีกลองให้จังหวะอย่างสนุกสนาน ในที่สุดก็จะ รำกันทั้งหมู่บ้าน ซึ่งแสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความสามัคคี ในหมู่คณะ ของชาวบ้าน .เมื่อรำไปได้สักพักหนึ่ง ชาวบ้านที่รักสนุกอยากจะหยอก ผู้เข้าทรงนางด้ง ก็จะลักสากตำข้าวไปซ่อน นางด้งก็จะโมโห และไล่นำกระด้งไปฟาด ผู้นั้นจนต้องนำมาคืน หรือหาสากพบ นำความสนุกสนานครื้นเครงมาสู่หมู่บ้านนั้นอย่างกลมกลืนและแนบเนียน
         เมื่อสนุกสนานกันได้ครู่หนึ่ง ก็จะมีการทำนายทายทักเรื่องราวต่างๆ ในหมู่บ้านหรือเรื่องทั่วไปเพื่อช่วยในการสร้างความสามัคคี และความอบอุ่นใจ โดยมีชาวบ้านที่ร่วมกิจกรรมการเข้าทรงมาถามเรื่องที่ตนเองสงสัย หรือถามเรื่องที่ทำความครึกครื้น ในหมู่บ้าน อันเกิดความเข้าใจและเกิดกำลังใจ ให้ชาวบ้านในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต เมื่อเห็นว่า นางด้งสนุกสนานช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ไม่น่าเบื่อ ก็จะเชิญนางด้งออก ผู้เข้าทรงจะไม่ทราบเรื่องรางที่ตนเองเข้าทรงเลย จะงงและถามว่าเกิดอะไรขึ้น
        การเข้าทรงนางด้ง จึงเป็นภูมิปัญญาไทยในภาคอีสาน ภาคเหนือ ภาคกลาง ที่ประกอบอาชีพ ในการทำไร่ ทำนา ทำเกษตรกรรมอันเป็นพื้นฐานแห่งวิถีชีวิตอย่างลึกซึ้งของคนไทยที่นิยมเล่นกันในวันสงกรานต์ ...ต้องยกย่องประชาชน หมู่บ้านแม่ลาดใหญ่ ที่สามารถฟื้นฟูวิถีชีวิตไทยสามารถนำภูมิปัญญาไทยมาสร้างสีสันได้อย่างเหมาะสม.มิใช่เป็นเรื่องความเชื่อแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีภูมิปัญญาที่ทรงไว้อย่างมั่นคง อย่างสงบ เรียบง่าย สมถะ ในเศรษฐกิจพอเพียง ของสังคมไทยนี่แหละวิถีชีวิตแท้ๆของไทย ที่นับวันจะสูญหายไปอย่างไร้คนเข้าใจและมักดูถูกรากเหง้าของตนเองว่าคร่ำครึ ดีใจที่หมู่ ๒ บ้านแม่ลาดใหญ่ เริ่มฟื้นฟู อีกครั้งหนึ่ง ทำให้ชาวบ้านรักและสามัคคีกัน อย่างเหนียวแน่น
 
อุปกรณ์สำหรับการเข้าทรงนางด้ง

ประเพณีสำคัญตำบลแม่ลาด
ประเพณีสงกรานต์ที่ตำบลแม่ลาด
สงกรานต์ เป็นประเพณีปีใหม่ของประเทศในแถบทวีปเอเชียที่ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนา  ได้แก่ ประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนามและมณฑลยูนานของจีน ศรีลังกาและทางตะวันออกของประเทศอินเดีย สงกรานต์เป็นคำสันสกฤต หมายถึงการเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี หรือคือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับเป็นภูมิปัญญาที่ชาญฉลาด ในการแก้ปัญหา ในฤดูร้อนโดยการนำน้ำมาเชื่อม ในประเพณีสงกรานต์
สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ คำว่าตรุษเป็นภาษาทมิฬ แปลว่าการสิ้นปี  ได้ปฏิบัติสืบต่อเนื่องกันมาหลายร้อยปี
 
การอาบน้ำผู้ใหญ่ในปัจจุบันที่ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลาด
พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ประชาชน ที่อยู่ต่างถิ่นต่างกลับภูมิลำเนา เพื่อ กลับมาเยี่ยมบรรพบุรุษ
เริ่มตั้งแต่"วันสังขารล่อง"(๑๓ เม.ย.)ที่มีการทำความสะอาดบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล “วันเนา”หรือ”วันเน่า”(๑๔ เม.ย.) วันที่ห้ามใครด่าทอว่าร้ายเพราะจะทำให้โชคร้ายไปตลอดทั้งปี “วันพญาวัน”หรือ”วันเถลิงศก” (๑๕ เม.ย.) วันนี้ชาวบ้านจะตื่นแต่เช้าทำบุญตักบาตรเข้าวัดฟังธรรม ก่อนจะไปรดน้ำดำหัวขอขมาญาติผู้ใหญ่ในช่วงบ่าย”วันปากปี”(๑๖ เม.ย.) ชาวบ้านจะพากันไปรดน้ำเจ้าอาวาสตามวัดต่างๆเพื่อขอขมาคารวะ และ”วันปากเดือน”(๑๗ เม.ย.) เป็นวันที่ชาวบ้านส่งเคราะห์ต่างๆออกไปจากตัวเพื่อปิดฉากประเพณี
 
การอาบน้ำผู้ใหญ่ แบบดั้งเดิม ที่ตำบลแม่ลาด
 
ประเพณีสงกรานต์ที่ตำบลแม่ลาด
 



ประเพณีการแห่เทียนเข้าพรรษา ของตำบลแม่ลาด เหมือนกับภาคกลาง คือแห่เทียนไปถวายวัดเพื่อพระภิกษุ ได้ใช้ในวันเข้าพรรษา
 
 
ประเพณีลอยกระทง เริ่มเวลา ๑๘.๐๐ น. ณ วัดแม่ลาด หมู่ที่ ๒ บ้านแม่ลาดใหญ่ โดยมีกิจกรรมการประกวดนางนพมาศ รำวงย้อนยุกต์ การแสดงของผู้สูงอายุ สอยดาว และการละเล่นอีกมากมาย
มูลเหตุของการก่อเจดีย์ทราย
มีเรื่องเล่าว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปยังเมืองสาวัตถีพร้อมบริวาร ได้เห็นหาดทรายขาวบริสุทธิ์ก็เกิดจิตศรัทธาก่อทรายเป็นเจดีย์ ๘ หมื่น ๔ พันองค์ แล้วอุทิศเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา และ      สังฆบูชา เมื่อพระองค์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ได้ทูลถามถึงอานิสงส์การก่อเจดีย์ทรายดังกล่าว พระพุทธเจ้าตรัสว่า การที่มีจิตเลื่อมใสศรัทธาก่อเจดีย์ทรายถึง ๘ หมื่น ๔ พันองค์หรือเพียงองค์เดียวก็ได้อานิสงส์มาก คือ จะไม่ตกนรกหลายร้อยชาติ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็จะเพียบพร้อมไปด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ มีบริวารและเกียรติยศชื่อเสียง หากตายก็จะได้ขึ้นสวรรค์ พรั่งพร้อมด้วยสมบัติและมีนางฟ้าเป็นบริวาร ด้วยอานิสงส์ดังกล่าวจึงทำให้คนโบราณนิยมก่อเจดีย์ทรายเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้
     แต่ก็มีคนโบราณบางท่านได้กล่าวไว้ว่า เวลาที่เราไปทำบุญที่วัด เราอาจจะเหยียบเอาทรายติดเท้ากลับมาด้วย จึงต้องขนทรายกลับไปไว้ดังเดิม นี่อาจจะเป็นกุศโลบายของคนโบราณก็ได้ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงมาตามยุคสมัย
การก่อพระเจดีย์ข้าวเปลือก
การก่อพระเจดีย์ทรายเป็นประเพณีที่ชาวไทย ได้กระทำสืบทอดกันมาแต่อดีตกาล วัตถุประสงค์เพื่อนำเอาทรายมาใช้ทำสาธารณประโยชน์ในวัด  ต่อมาเมื่อข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ชาวนาจึงนำข้าวเปลือกที่เหลือจากการขายหรือแบ่งจากการขาย มาทำบุญที่วัด เพื่อต้องการ ให้วัดและพระ ได้ใช้ประโยชน์จากข้าวเปลือก มา สีเป็นข้าวสาร เพื่อจำหน่ายหารายได้เข้าวัด หรือให้พระภิกษุ ได้มีข้าวให้ฉัน ในฤดูที่ขาดแคลน ชาวบ้าน หมู่ที่๒ แม่ลาดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา จึงทำเป็นประเพณีสืบมา มาทำบุญที่วัดแม่ลาดใหญ่
พิธีกรรมความเชื่อ
การก่อพระเจดีย์ทรายเนื่องจากสภาพท้องถิ่นของตำบลแม่ลาด  การก่อพระเจดีย์ทรายของชาวแม่ลาด เดิมต่างฝ่ายต่างขนทรายจากท่าน้ำมา ก่อพระเจดีย์ทราย จึงเปลี่ยนจากการขนทรายมาเป็นการซื้อทรายจากทางวัด ซึ่งที่วัดแม่ลาดใหญ่ จะประกาศให้ทราบล่วงหน้าก่อน ว่าจะมีการการก่อพระเจดีย์ทรายในวันพระไหน เมื่อถึงวันกำหนดประชาชนก็จะไปทำบุญและก่อพระเจดีย์ทรายร่วมกัน จากนั้นก็มีการประกวดความสวยงามของพระเจดีย์ ว่าใครตกแต่งได้ดีกว่ากันสวยกว่ากันทำให้เกิดความรักและความสามัคคี
ส่วนการก่อพระทรายข้าวเปลือก ก็มีวิธีดำเนินการเช่นเดียวกัน คือ นัดวัน เมื่อถึงวันกำหนดชาวบ้านก็จะนำข้าวเปลือกใส่กระบุงไปวัด แล้วเอาไปเทกองรวมกันในที่วัดจัดไว้เป็นพระเจดีย์ ควบคู่ไปกับการทำบุญ ข้าวเปลือกที่ได้ทางวัดจะนำไปขาย เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยมาใช้จ่ายในการทำนุบำรุงศาสนสถานของวัดต่อไป จะนิยมกัน ในวันสงกรานต์ เช่นกัน
การก่อพระทรายข้าวเปลือก เป็นการทำบุญศาสนาของชาวบ้านด้วยการนำผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญ มาร่วมกันบริจาคเพื่อให้ทางวัดได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านการพัฒนา อีกทั้งสร้างนิสัยด้านการบริจาค ความสามัคคีแก่ผู้คนในชุมชน นับเป็นภูมิปัญญาที่น่ารักษาไว้มากที่สุด

ประเพณีการยกธง
ประเพณี “ยกธงเลิกวันสงกรานต์”ประวัติความเป็นมา ในพื้นที่หมู่ที่ ๒ บ้านแม่ลาดใหญ่ ตำบลแม่ลาด  มีกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง พักอาศัยอยู่จึงได้นำเอาวัฒนธรรมท้องถิ่น การยกธงเลิกสงกรานต์ มาสืบทอด โดยถือว่าวันสงกรานต์เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ คือวันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปี ซึ่งคำว่า สงกรานต์ แปลว่า ล่วง หรือเลยไป เคลื่อนไป การต้อนรับปีใหม่ถือว่าสำคัญเพราะปีหนึ่งมีครั้งเดียว การได้รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุพร้อมทั้งขอพรจากผู้ใหญ่ ถือเป็นประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามยิ่ง ที่คนไทยทุกคน ทุกชนชั้นได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาและเมื่อมีการเริ่มต้นสงกรานต์ก็ต้องมีการเลิกหรือหยุดงานวันสงกรานต์ โดยผู้นำของวัด ผู้นำชุมชนและชาวบ้านร่วมกันปรึกษาว่าจะยกธงเลิกสงกรานต์กันในวันใด ต่างมีความเห็นที่ตรงกันว่า นางสงกรานต์นั้นมีทั้งหมด ๗ คน จึงยึดเอา ๗ วัน คือนับจากวันที่ ๑๓ เมษายน ไปอีก ๗ วัน จึงตรงกับวันที่ ๑๙ เมษายน ให้ถือเป็นวันยกธงเลิกสงกรานต์ ในวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๕ เวลา ๑๓.๐๐ น.เป็นต้นไป ณ วัดแม่ลาดใหญ่ หมู่ที่ ๒ บ้านแม่ลาดใหญ่ สำหรับประเพณียกธงนั้น มี
 
 

ประวัติและความเป็นมาก็เพื่อเป็นการแสดงถึงความสำเร็จของกลุ่มชนที่ย้ายเข้ามาอยู่ในที่อุดมสมบูรณ์ จึงกำหนดให้เป็นวันที่ ๑๙ เมษายนของทุกปีเป็นวันยกธง ก่อนจะมาการยกธงชาวบ้านจะหาตัดไม้ไผ่ลำตรง ๆ ยาว ๆ เพื่อนำมาทำคันธง ส่วนผู้หญิงก็จะเตรียมทำผ้าธงประดับด้วยสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความสวยงาม เพื่อจะนำไปติดที่คันธง เมื่อถึงวันสุดท้ายของสงกรานต์ชาวบ้านก็จะนำคันธงมารวมกันที่วัดและเมื่อได้เวลาก็จะทำพิธีแห่ธง รอบวัด คนละ ๓ รอบ จากนั้นก็จะนำคันธงมาปักลงหลุม ที่เตรียมไว้ จากนั้นจะมีการร้องรำกันรอบคันธงของตัวเองอย่างสนุกสนาน เมื่อเสร็จพิธี แล้ว จะนำผ้าทั้งหมดถวายวัด ในแต่ละปีจะแห่ผ้าเพื่อยกธง ไม่เหมือนกัน แล้วแต่ความต้องการการใช้ผ้าของวัด แม่ลาดใหญ่ เป็นหลัก
 


ประเพณีการแห่ดอกไม้
เช้าวันที่ ๑๔ เมษายน วันแรกของการแห่ต้นดอกไม้ แต่เดิมชาวบ้านแม่ลาดใหญ่ ผู้ชายจะไปตัดไม้ไผ่ในหมู่บ้านมาเตรียมไว้ตั้งแต่เช้า เช้านั้นสนุกสนานมากได้นั่งรถอีแต๊กแบบที่ เรียกว่ารถไถไทยประดิษฐ์ แต่นำมาดัดแปลงใส่ที่นั่งทั้งด้านหน้า และด้านหลัง เพื่อตัดไม้ไผ่ โดยจะเลือกตัดหลายขนาดตามแต่ว่าจะนำไปใช้ทำโครงสร้างส่วนใดของต้นดอกไม้  มีทั้งต้นเล็กและต้นใหญ่เมื่อได้ไม้ไผ่ที่ต้องการแล้วก็จะนำมาช่วยกันประกอบโครง โดยโครงสร้างจะต้องทำด้วยไม้ไผ่ทั้งหมด ไม่มีลวด ตะปู โดยไม่ว่าจะเป็นต้นดอกไม้ขนาดเล็กหรือใหญ่
ระหว่างที่ฝ่ายชายกำลังทำต้นอยู่ อีกฝ่ายหญิงก็จะไปหาดอกไม้สดที่มีอยู่ทั่วไปในหมู่บ้านมาเตรียมเอาไว้ประดับโครงต้นดอกไม้ โดยดอกไม้ที่เราเห็นส่วนใหญ่ก็จะเป็นดอกไม้ที่ออกในฤดูร้อนคือดอกคูณหรือดอกราชพฤกษ์ ที่มีดอกเป็นพวงสีเหลืองๆ ดอกหางนกยูง สีส้มๆ และดอกตะแบก สีม่วงอมชมพู  บางต้นก็มีดอกเฟืองฟ้าด้วย  เมื่อทำโครงเสร็จสิ้นชาวบ้านก็จะมาช่วยกันมัดดอกไม้เข้ากับโครงด้วยไม้ไผ่ที่ทำเป็นแผ่นบางๆ เล็กๆ ให้พอมัดได้   ต้นดอกไม้ทั้งเล็กและใหญ่นี้ จะต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียวเท่านั้น และทันแห่ตอนหนึ่งทุ่มอีกด้วย  นอกจากความร่วมมือ ร่วมใจ กันทำแล้ว ยังเห็นถึงความสนุกสนานและความสามัคคี ก็ระหว่างที่ช่วยกันทำต้นดอกไม้ เค้าก็จะเปิดเพลงไปด้วย บ้างก็เต้นไป ทำไป บ้างก็เอาน้ำมาสาดกันเพิ่มความสดชื่นให้ทั้งดอกไม้และคนทำ  เมื่อประกอบโครงและตกแต่งต้นดอกไม้จนเสร็จแล้ว ไม่เกินหกโมงเย็น ชาวบ้านหมู่ไหนที่ทำเสร็จแล้วก็จะช่วยกันแห่ต้นดอกไม้มายังที่วัด แล้วนำมาตั้งไว้ข้างๆ โบสถ์ในบริเวณวัดแม่ลาดใหญ่สถานที่จัดงานประเพณีแห่ต้นดอกไม้  งานนี้เต็มไปด้วยชาวบ้านที่มาร่วมงาน มาร่วมงานและรอถ่ายรูปกันอย่างคึกคัก ก่อนจะถึงเวลาแห่ ก็จำนำเทียนเล็กๆ มาจุดเรียงเป็นแถวที่คานสำหรับหามต้นดอกไม้  ทางวัดจะตีกลองเพล เพื่อเป็นสัญญาณให้ชุมชนรู้ว่าใกล้ถึงเวลาแล้ว  ชาวบ้านจะปีนขึ้นไปในต้นดอกไม้เพื่อจุดเทียนที่อยู่ด้านใน โดยทำเป็นรางไม้ไผ่เสียบเทียนแท่งใหญ่ประมาณข้อมือที่เรียงเป็นแถวด้านในต้นดอกไม้  ชาวบ้านจะแบ่งหน้าที่กันทำ เป็น 3 ฝ่าย คือหามต้นดอกไม้,ตีกลอง ฆ้อง ฉิ่ง ฉาบ แคน พิณ และฝ่ายแห่ต้นดอกไม้นำหน้า   การแห่ต้นดอกไม้เริ่มต้นด้วยการสวดมนต์ของพระและชาวบ้าน เมื่อเสียงสวดมนต์เงียบลง เสียงดนตรีอันสนุกสนาน คึกคัก ก็เริ่มขึ้น ทุกคนร้องรำกันอย่างสนุกสนาน  ไม่เว้นแม้แต่ต้นดอกไม้ที่ต้องโยกไปด้วยตามจังหวะกลองด้วย 
การแห่ต้นดอกไม้นี้ชาวบ้านจะแห่กัน ๓ รอบ  เป็นการบูชา พระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์  และเมื่อแห่ครบสามรอบก็จะวางต้นดอกไม้ทุกต้นไว้รอบอุโบสถเพื่อบูชาพระรัตนตรัยทั้งคืน  พอตอนเช้าก็จะนำต้นดอกไม้ออกจากวัดไปซ่อมแซมต้นที่ชำรุดและเปลี่ยนดอกไม้สำหรับใช้ในคืนถัดไป  งานประเพณีแห่ดอกไม้ โดยจะมีการจัดขึ้นในทุกๆ ปี ซึ่งจะเริ่มต้นแห่กันตั้งแต่วันที่ ๑๔ เมษายน ติดต่อกัน ในเวลา ๑๖.๐๐- ๑๘.๐๐ น. และ โดยมีความเชื่อว่าเป็นสิริมงคล ที่ได้นำดอกไม้มาบูชาพระรัตนตรัย  ทำให้อยู่ดีมีสุข ฝนตกต้องตามฤดูกาล บ้านเมืองร่มเย็น ปราศจากโรคภัย วัว ควาย สัตว์เลี้ยงขยายคอกออกผลสมบูรณ์ จะมีพระภิกษุ ผู้ใหญ่ นั่งรถนำหน้า แต่ในสมัยโบราณมีการเดินแห่ดอกไม้กันอย่างสนุกสนานสมควรได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง
ประเพณีการทำบุญกลางบ้าน
   ลักษณะความเชื่อเป็นการทำบุญตลอดจนบูชาและอุทิศส่วนกุศลให้พระภูมิเจ้าที่ เจ้ากรรมนายเวร เพื่อขอความคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุขและประสบความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน    ขับไล่สิ่งเลวร้ายต่าง ๆ ที่ผ่านมาให้หมดสิ้นไปด้วยการสะเดาะเคราะห์ และขอให้ฝนตกตามฤดูกาล อันจะทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ความสำคัญสร้างความสามัคคีของคนในหมู่บ้าน ให้มีความรักสามัคคี ไต่ถามทุกข์สุขซึ่งกันและกัน มีปัญหาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
พิธีกรรม กระทำพิธีประมาณกลางเดือน ๖ โดยให้ผู้เฒ่าผู้แก่ หรือชาวบ้านกำหนดวันทำบุญโดยถือเอาวันสะดวกและวันว่าง ใช้สถานที่ที่เป็นที่ว่างกลางหมู่บ้าน แต่เดิมพิธีกรรมจะเริ่มเมื่อสวดมนต์เย็นในบริเวณพิธี พระสงฆ์ประมาณ ๙ รูป หรือมากกว่าจะมาสวดมนต์เย็น ปัจจุบันเป็น ทำบุญเช้าแทน หลังจากนั้นจะมีการละเล่นในหมู่บ้านและตอนเช้าวันรุ่งขื้นมีการสวดมนต์ทำบุญเลี้ยงพระ ชาวบ้านจะนำอาหารมาถวายพระและจะแบ่งอาหารใส่กระทงใบตอง วางลงบนกระทงกาบกล้วยรูปสี่เหลี่ยม และใช้กาบกล้วยตัดเป็นรูปคน หรือใช้ดินเหนียวปั้นวางลงในกระทงจุดธูปดอกเดียวปักลงในกระทง และนำไปวางไว้ที่ทิศตะวันตก เมื่อพระฉันอาหารเสร็จเรียบร้อยจะนำน้ำมารูปละ ๑ แก้ว ยืนเป็นวงกลมแล้วสวดมนต์กรวดน้ำราดลงไปในกระทง บางแห่งอุทิศให้คนอยู่บางแห่งอุทิศให้คนตาย เสร็จแล้วจะนำกระทงไปวางทิ้งบริเวณพื้นที่ทางสามแพร่ง หลังจากเสร็จพิธีชาวบ้านจึงร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน ไต่ถามความเป็นอยู่ตลอดจนแก้ปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน หรืออาจจะมีการละเล่นต่าง ๆ ที่สำคัญคือมีการโยงสายสิญจน์จากการทำบุญกลางบ้าน ไปทุกหลังคาเรือน เพื่อเป็นสิริมงคลทั่วกัน
ประเพณีการสรงน้ำพระ
การสรงน้ำพระ มี ๒ แบบ คือ
๑) การสรงน้ำพระพุทธรูป
๒) การสรงน้ำพระภิกษุสามเณร
การสรงน้ำพระพุทธรูป อาจจะจัดเป็นขบวนแห่ หรือ อัญเชิญพระพุทธรูปมาประดิษฐานในที่อันเหมาะสม การสรงน้ำจะใช้น้ำอบ น้ำหอม หรือน้ำที่ผสมด้วยน้ำอบ น้ำหอมประพรมที่องค์พระ
การสรงน้ำพระภิกษุสามเณร จะใช้แบบเดียวกับอาบน้ำ คือ การใช้ขันตักรดที่ตัวท่าน หรือที่ฝ่ามือก็ได้ แล้วแต่ความนิยม หากเป็นการสรงน้ำแบบอาบน้ำพระ จะมีการถวายผ้าสบงหรือถวายผ้าไตรตามแต่ศรัทธาด้วย
การสรงน้ำพระได้บุญ คือ ความสุขใจ เบิกบานใจ ชุ่มชื่นใจ ความสะอาดของจิตใจ อันเกิดจากความเลื่อมใสในสิ่งที่ตนเคารพแล้วกระทำการบูชา ดังพระบาลีว่า "นัตถิ จิตเต ปะสันนัมหิ อัปปะกา นามะ ทักขิณา เมื่อจิตเลื่อมใสแล้ว ผลบุญไม่ชื่อว่าน้อย" การสรงน้ำพระ ก็เป็นการกระทำที่เกิดจากจิตที่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยแล้วต้องการถวายน้ำอบน้ำหอม อันเป็นอามิสบูชา อีกนัยหนึ่งเป็นการแสดงมุทิตาจิตในท่านผู้เป็นที่เคารพ ซึ่งพระภิกษุสงฆ์ก็จัดอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพทางด้านจิตใจ เพราะเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ สืบสานหลักธรรมนำเผยแผ่ สาธุชนสำนึกในคุณงามความดีของท่านจึงถวายการเคารพบูชาด้วยการสรงน้ำ ซึ่งมีอานิสงส์ที่ท่านได้แสดงไว้ดังนี้
เรื่องเล่าอานิสงส์ การสรงน้ำพระในสมัยพุทธกาล
ในกาลครั้งนั้นองค์สมเด็จพุทธเจ้า เสด็จประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร พร้อมภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป พระเจ้าปัสเสนทิโกศล พร้อมด้วยมหาอำมาตย์ทั้งหลาย ได้นำ เครื่องสักการะทั้งหลาย เข้าไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร ถวายอภิวาท แด่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วทูลถามว่า ภนฺเต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อันบุคคลใดกระทำสักการะบูชาสรงเถราภิเษก แก่สงฆ์ ด้วยใจเลื่อมใสศรัทธา จะได้ผลอานิสงส์เป็นอย่างไรพระเจ้าข้า
องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่าดูกรมหาราช บุคคลใด มีความเชื่อในคุณพระรัตนตรัยทั้ง ๓ ประการในเมื่อปรารถนาอันใด ก็จะสม ความมุ่งมาตรปรารถนาทุกประการ การทำ          เถราภิเษกนี้ได้ทำกันสืบๆ มาในครั้งพุทธเจ้าก่อน ๆ
แล้วพระองค์ทรงแสดงสืบต่อไปว่า ในกาลครั้งนั้นเป็นสมัยครั้งศาสนาของพุทธเจ้าเมธังกร ยังมี พระยาพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าวิชัยยะ ได้เสวยสมบัติ ในเมืองสารนครประกอบไปด้วยทศพิธราชธรรม ๑๐ ประการ มีเถระองค์หนึ่งชื่อว่าอุสสา เป็นอันเตวาสิกแห่งพุทธเจ้าเมธังกร พระยาวิชัยยะ ได้ทอดพระเนตรเห็น พระมหาเถระเข้ามาในเมือง พระยาวิชัยยะก็มีใจศรัทธาเลื่อมใส ในอิริยาบถ ของพระมหาเถระเจ้าเสร็จไปต้อนรับนิมนต์ให้ไปสู่ปราสาทของพระองค์ แล้วก็จัดแจง สรงเถราภิเษกด้วยน้ำหอม เสร็จแล้วถวายภัตตาหาร ตั้งความปรารถนาว่า ปวงชนทั้งหลายที่อยู่ใน ขอบเขตขัณฑเสมา ขอจงตั้งอยู่ใน โอวาทคำสอน ของพระองค์ ทุกเมื่อ และขอให้ข้าพระองค์ได้พ้นจากทุกข์ภัยเวร ข้าศึกศัตรูทั้งหลายด้วยบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้กระทำไว้ในอนาคตกาลโน้นเทอญ พระมหาเถระเจ้า ก็ได้อนุโมทนา แห่งพระยาวิชัยยะ แล้วถวายพระพรทิพย์ ๑๐ ประการ ลากลับไปสู่ สำนักแห่งพระมหาเถระเจ้า พระยาวิชัยยะได้รับพร แห่งพระมหาเถระ แล้วมีจิตยินดีรื่นเริงบันเทิงใจ ต่อบุญกุศลของพระองค์ที่ทรงกระทำไว้ ครั้นจุติจากโลกแล้วก็ไปอุบัติ อยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิตพิภพ มีวิมานทองสูง ๒๒ โยชน์ มีนางเทพอัปสรแสนหนึ่งเป็นบริวาร ครั้นสิ้นชีพเทวบุตรแล้ว ได้ไปเกิดเป็นเจ้าพระสิริตะ เสริมสร้างบารมีให้แก่กล้าขึ้นไป ได้มาเกิดเป็น องค์พระตถาคต เดี๋ยวนี้แล
เป็นเหตุสำคัญ ทำให้เกิดประเพณีสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ ซึ่งในปัจจุบัน กลายเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นของทุกแห่งในประเทศไทย รวมทั้งที่ตำบลแม่ลาดด้วย



ประเพณีการอาบน้ำผู้ใหญ่
ช่วงเวลา ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๕ เดือนเมษายน (เดือน ๕) ของทุกปี ซึ่งจะเลือกทำวันไหนก็ได้ จะเป็นตอนเช้า หรือตอนบ่ายเป็นไปตามการนัดหมายของแต่ละครอบครัว แต่ละบ้านโดยนัดหมายสถานที่และวันเวลาไว้ล่วงหน้าเป็นประจำทุกปี ซึ่งอาจเป็นที่บ้านหรือที่วัดก็ได้ตามความเหมาะสม ความสำคัญประเพณีอาบน้ำผู้ใหญ่เป็นวิธีการแสดงออกซึ่งความเคารพนับถือ แก่บิดามารดา และญาติคนแก่ (ผู้อาวุโส) ของตระกูล รวมทั้งผู้มีพระคุณและบุคคลที่ตนเคารพนับถือ
พิธีกรรม
๑. การขอขมาเมื่อเชิญผู้ใหญ่ทั้งหลายนั่งในโรงพิธีเรียบร้อยแล้ว ลูกหลานและชาวบ้านที่มาร่วมพิธี จะรวมกลุ่มยืนอยู่ด้านหน้าของคนแก่ทั้งหลาย ผู้นำในพิธีนำดอกไม้และจุดธูปเทียนพนมมือ แล้วกล่าวขอขมา ทุกคนว่าตามดังนี้  "กายกรรมสาม วจีกรรมสี่ มโนกรรมสาม หากข้าพเจ้าทั้งหลายเกิดประมาทพลาดพลั้งแก่ท่าน ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี ต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดี ไม่เจตนาก็ดี ขอให้ท่านอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด และขอได้โปรดอำนวยพรให้ข้าพเจ้าทั้งหลาย มีความสุขความเจริญตลอดไป และขอตั้งจิตอธิษฐานขอให้ท่านเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ตลอดไป
๒. พิธีการอาบน้ำการอาบน้ำเป็นการตักน้ำมารดอาบให้ผู้ใหญ่จนเปียกโชกทั้งตัว ปัจจุบันบางหมู่บ้านได้ปรับเปลี่ยนวิธีการในการอาบน้ำ มารดน้ำที่มือทั้งสองของคนแก่แทนเพราะคนแก่ที่มีอายุมาก มีลูกหลานและผู้ที่เคารพนับถือมาก พิธีการอาบน้ำต้องใช้เวลานานจึงแล้วเสร็จ คนแก่เหล่านั้นอาจรู้สึกหนาวสะท้าน ซึ่งเป็นเหตุให้เจ็บป่วยเป็นไข้ได้ ลูกหลานจะเข้าแถวตักน้ำที่เตรียมไว้ในโอ่ง มารดที่มือหรือที่ตัวคนแก่ และมอบเครื่องนุ่งห่มเครื่องใช้ให้คนแก่พร้อมกับขอพร คนแก่ก็จะให้พรลูกหลาน การอาบน้ำจะทำไปตามลำดับจนครบทุกคนเมื่อเสร็จพิธี ลูกหลานจะนำเสื้อผ้าชุดใหม่มาผลัดเปลี่ยนให้คนแก่ ทาแป้ง หวีผม แต่งตัวให้ เป็นอันเสร็จพิธีการอาบน้ำ
ประเพณีอาบน้ำผู้ใหญ่ เป็นภูมิปัญญาในการเชื่อมสายใยของครอบครัวให้สาระสำคัญหลายประการคือ
๑. เป็นประเพณีที่มีบทบาทในการควบคุมคนในสังคมให้วางตนให้เหมาะสมตามฐานะของคน คือเมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็ต้องเป็นผู้ใหญ่ที่ดีเพื่อให้คนเคารพนับถือ เมื่อเป็นผู้น้อยก็ต้องแสดงความเคารพ และมีความกตัญญูต่อผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณ
๒. เป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ซึ่งได้แก่ คนแก่ในตระกูล บิดามารดา ตลอดจนผู้ที่ตนเคารพนับถือทั้งหลาย
๓. เกิดความผูกพันในวงศาคณาญาติ สร้างความสนิทสนมกลมเกลียวรักใคร่กันในตระกูลยิ่งขึ้น การพบปะกันในระหว่างญาติพี่น้อง สร้างความอบอุ่นปลาบปลื้มใจให้แก่คนแก่ของตระกูลที่ได้เห็นความเป็นปึกแผ่นของลูกหลาน
ปัจจุบันมักนิยม นำผู้ใหญ่ ในหมู่บ้านมานั่งรวมกันแล้ว อาบน้ำผู้ใหญ่ทีเดียวเลย แต่เดิม ชาวบ้านจะมีขบวนแห่ ไปตามบ้าน ของผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ แล้วไปอาบน้ำผู้ใหญ่ที่เคารพทีละบ้าน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมอันดีงาม ของตำบลแม่ลาด เลยทีเดียว
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!