จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
เมษายน 25, 2024, 08:52:42 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ตำบลแม่ลาด ตำบลแม่ลาด เป็นตำบลสำคัญตำบลหนึ่งในอำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร เห  (อ่าน 3271 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1414


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: กันยายน 14, 2015, 10:41:30 am »

ตำบลแม่ลาด
   ตำบลแม่ลาด เป็นตำบลสำคัญตำบลหนึ่งในอำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร เหตุที่เรียกว่า  ตำบลแม่ลาดเนื่องมาจากว่าพื้นที่ในตำบลแม่ลาด เป็นพื้นที่ลาดต่ำ ในฤดูน้ำหลาก น้ำจากอำเภอคลองลานจะไหลผ่านตำบลวังไทร อำเภอคลองขลุง และจะไหลหลาก มาที่ตำบลแม่ลาดเป็นประจำทุกปี แต่ไม่มีน้ำท่วมขังเพราะตำบลแม่ลาดติดกับแม่น้ำปิง จึงเรียกกันเป็นสามัญว่าแม่ลาด  ( ภาษาไทยกลางน้ำไหลมาอย่างรวดเร็ว เรียกว่า น้ำหลาก ภาษาถิ่นลาวครั่งเรียกว่าน้ำลาด)ตำบลแม่ลาด จัดตั้งเป็นตำบลขึ้นเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๔ โดยมีเขตการปกครองรวม ๖ หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ ๑ บ้านใหม่สุขสมบูรณ์  โอนมาจากหมู่ที่ ๑ ตำบลวังยาง ,หมู่ที่ ๒ บ้านแม่ลาดใหญ่ โอนมาจากหมู่ที่ ๑ ตำบลวังแขม ,หมู่ที่ ๓ บ้านแม่ลาดน้อย โอนมาจากหมู่ที่ ๒ ตำบลวังแขม ,    หมู่ที่ ๔ บ้านท่ามะขาม โอนมาจากหมู่ที่ ๓ ตำบลวังแขม ,หมู่ที่ ๕บ้านเกาะแตง  โอนมาจากหมู่ที่ ๔ ตำบลวังแขม และหมู่ที่ ๖ บ้านห้วยน้อย  โอนมาจากหมู่ที่ ๑๓ ตำบลวังแขม

เยาวชนและประชาชนตำบลแม่ลาดอบรมโครงการปกป้องสถาบัน

ตำบลแม่ลาด  ประกอบไปด้วยหมู่บ้านจำนวนหมู่บ้าน ๖ หมู่บ้านมีประวัติความเป็นมาที่สำคัญ ดังต่อไปนี้
หมู่ที่ ๑ บ้านใหม่สุขสมบูรณ์
 
บ้านใหม่สุขสมบูรณ์ ตั้งอยู่พื้นที่หมู่ที่ ๑ ตำบลแม่ลาด อำเภอคลองขลุง ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕มีพื้นที่ทั้งหมด ๓,๙๑๖ ไร่ ประชากรที่อาศัยอยู่ อพยพมาจากบ้านวังยาง บ้านวังแขม บ้านคลองขลุง สาเหตุที่เรียกว่า “บ้านใหม่สุขสมบูรณ์” เนื่องจากชาวบ้านที่อพยพมาอยู่ ย้ายมาจากหมู่บ้านต่าง ๆ จึงเรียกที่มาอยู่แห่งใหม่ ว่าบ้านใหม่ และเห็นว่าพื้นที่ของหมู่บ้านมีน้ำอุดมสมบูรณ์ จึงได้เพิ่มชื่อหมู่บ้านให้มีความไพเราะยิ่งขึ้นว่า “บ้านใหม่สุขสมบูรณ์” ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ผู้ใหญ่บ้าน/กำนัน อดีตถึงปัจจุบันมีดังนี้ นายย้วน คมสัน, นายคง สัตตบุษย์, นายเอิบ บุญรอด  นายโกมล มาจาด c]t    นายสำอางค์ แก้วโพธิ์คา

    ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร คือภาษาไทยกลาง สถานที่สำคัญ ๆ ของหมู่บ้าน คือ วัดคงคาราม เป็นวัดประจำหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านที่อพยพมาอยู่ ได้ร่วมกันจัดสร้างขึ้น เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และจัดงานประเพณีต่าง ๆ ประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญ ได้แก่ การทำบุญวันขึ้นปีใหม่ , ทำบุญวันสงกรานต์, ประเพณีสรงน้ำพระ, ทำบุญวันเข้าพรรษา, ทำบุญวันออกพรรษา และประเพณีลอยกระทง ประเพณีส่วนใหญ่ มีพิธีกรรมและการกระทำเหมือนภาคกลางโดยทั่วไป  ส่วนโรงเรียนประจำหมู่บ้านคือโรงเรียนวัดคงคาราม ซึ่งได้ปิดทำการไปแล้ว
   บ้านใหม่สุขสมบูรณ์มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ ทิศเหนือจดหมู่ที่ ๓ บ้านท้องคุ้ง ตำบลคลองขลุง และแม่น้ำปิง ทิศใต้จดหมู่ที่ ๒ บ้านแม่ลาดใหญ่ ตำบลแม่ลาด ทิศตะวันออกจดหมู่ที่ ๕ บ้านเกาะแตง ตำบลแม่ลาดทิศตะวันตกจดหมู่ที่ ๑ บ้านถนนงาม ตำบลคลองขลุง อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร
หมู่ที่ ๒ บ้านแม่ลาดใหญ่
 
    ตั้งอยู่บนพื้นที่หมู่ที่ ๒ ตำบลแม่ลาด อำเภอคลองขลุง ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๐เดิมเป็นชุมชนที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอคลองขลุง มีบ้านเรือนในขณะนั้นกว่าหนึ่งพันครัวเรือน บางส่วนได้ย้ายไป หมู่บ้านโค้งวิไล ตำบลคลองขลุง อำเภอคลองขลุง บ้านหินดาด ตำบลหินดาด อำเภอปางศิลาทอง บ้านแม่ยื้อ บ้านไทรงามใต้  อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร มีพื้นที่ทั้งหมด ๖,๘๑๕ ไร่ สาเหตุที่เรียกว่า “บ้านแม่ลาดใหญ่” เพราะสมัยปู่ย่า ตายาย เล่ากันว่าที่หมู่บ้านเป็นพื้นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ ในฤดูฝน น้ำจะท่วมทุกปี และมีแอ่งน้ำ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “วังแม่ลาด” ชาวบ้านจึงได้นำมาเรียกเป็นชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านแม่ลาดใหญ่” ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ส่วนใหญ่อพยพมาจากบ้านโนนม่วง อำเภอวัดสิงห์, บ้านท่าแก้ว อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท, บ้านหนองตาสาม อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดนครปฐม ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา และเลี้ยงหมู สถานที่สำคัญ ๆ ของหมู่บ้านคือ โรงเรียนบ้านแม่ลาดใหญ่, วัดแม่ลาดใหญ่ ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ
ผู้ใหญ่บ้าน/กำนันตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คือนายทำ มั่นเขตวิทย์ นายบุญธรรม มั่นเขตวิทย์ นายแพว ใจแสน, นายดวด สีดาฟอง นายยัง พิมสอน, นายเสน่ห์ พิลาวัลย์, นายพ่าย แก้วบัวดี, นายสนอง พิมสอน, นายทองสุข ขุนศรีสุขขา และนายเฮียง ใจแสน
 ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร คือภาษาไทยกลาง และภาษาลาวครั่งประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญ ๆ ได้แก่ การทำบุญวันขึ้นปีใหม่, การเข้าทรงนางด้ง การก่อพระเจดีย์ข้าวเปลือก การทำขวัญข้าว ทำบุญวันสงกรานต์, ประเพณีสรงน้ำพระ, ก่อพระเจดีย์ทราย การแห่ดอกไม้ ช่วงเย็นทุกวันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และประเพณียกธง, ทำบุญวันเข้าพรรษา, ทำบุญวันออกพรรษา และทำบุญกลางบ้านในช่วงเดือน ๖ ของทุกปี โดยโยงสายสิญจน์รอบหมู่บ้าน
   บ้านแม่ลาดใหญ่ มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ ทิศเหนือจดหมู่ที่ ๑ บ้านใหม่สุขสมบูรณ์ ตำบลแม่ลาด ทิศใต้จดหมู่ที่ ๖ บ้านห้วยน้อย ตำบลแม่ลาด ทิศตะวันออกจดหมู่ที่ ๔ บ้านท่ามะขาม และหมู่ที่ ๕ บ้านเกาะแตง ตำบลแม่ลาด ทิศตะวันตกจดหมู่ที่ ๑๓ บ้านหนองตาเถร ตำบลคลองขลุง อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร




หมู่ที่ ๓ บ้านแม่ลาดน้อย
 
บ้านแม่ลาดน้อย ตั้งอยู่บนพื้นที่หมู่ที่ ๓ ตำบลแม่ลาด อำเภอคลองขลุง ตั้งขึ้นเมื่อ ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๐๐ มีพื้นที่ ๒,๐๗๐ ไร่ สาเหตุที่เรียกว่า “บ้านแม่ลาดน้อย” เพราะหมู่บ้านเดิมตั้งอยู่บริเวณบนเนื้อที่น้ำไหล ติดแม่น้ำปิง ปลายคลองแม่ลาดไหลลงสู่แม่น้ำปิง ซึ่งมีแอ่งน้ำเล็กเรียกว่า “วังแม่ลาด” เมื่อสมัยก่อนเวลาหน้าฝนจะเกิดน้ำท่วม และน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำปิง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “น้ำหลาก” ต่อมาเพี้ยนไปเป็น “แม่น้ำลาด” นานเข้าก็เปลี่ยนเป็นแม่ลาดน้อย และได้นำมาตั้งชื่อหมู่บ้าน “บ้านแม่ลาดน้อย” จนถึงปัจจุบัน ประชากรที่อาศัยอยู่อพยพมาจากจังหวัดอยุธยา จังหวัดนครสวรรค์ ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร คือภาษาไทยกลาง และเนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำอุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับการทำการเกษตร บ้านแม่ลาดน้อยจึงมีอัตลักษณ์ว่า “หมู่บ้านเกษตรกรรมธรรมชาติ”
กำนันและผู้ใหญ่บ้านอดีตถึงปัจจุบัน คือ นายคง เสือกล้า, นายไหม  เฮียะหลง, นายปอย สุดเขียว,            นายไวยวุฒิ   เถื่อนดำ นายประเสริฐ นามนาค และนางละมัย สุ่มกัน
 สถานที่สำคัญ ๆ ของหมู่บ้าน คือ วัดพรหมประดิษฐ์ เป็นวัดทางประวัติศาสตร์ของหมู่บ้าน กล่าวคือ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสต้น และมีโรงเรียนอยู่ในบริเวณวัด ประเพณีที่สำคัญ ๆ ของหมู่บ้าน ได้แก่ ทำบุญในวันปีใหม่, ทำบุญวันสงกรานต์, ประเพณีสรงน้ำพระ, ทำบุญวันเข้าพรรษา-ออกพรรษา และประเพณีลอยกระทง เป็นต้น
   บ้านแม่ลาดน้อย มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ทิศเหนือจดหมู่ที่ ๔ บ้านท่ามะขาม ตำบลแม่ลาด ทิศใต้จดหมู่ที่ ๑ บ้านโรงสูบ ตำบลเกาะตาล อำเภอขาณุวรลักษบุรี ทิศตะวันออกจดแม่น้ำปิง และทิศตะวันตกจดหมู่ที่ ๖ บ้านห้วยน้อย ตำบลแม่ลาด อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร
หมู่ที่ ๔ บ้านท่ามะขาม
 
บ้านท่ามะขาม หมู่ที่ ๔ ตำบลแม่ลาด อำเภอคลองขลุง ตั้งขึ้นเมื่อ : ปี พ.ศ. ๒๓๕๘
ประชากรที่อาศัยอยู่เป็นคนพื้นบ้านทั้งหมดไม่ได้อพยพมาจากที่ใด เหตุที่เรียกว่า “บ้านท่ามะขาม” เพราะสมัยก่อนมีต้นมะขามขึ้นอยู่ริมตลิ่งบริเวณท่าน้ำ(ริมน้ำใช้สำหรับขึ้น-ลง) ชาวบ้านจึงเรียกว่า “บ้านท่ามะขาม” สถานที่สำคัญ ๆ ของหมู่บ้าน คือศาลเจ้าพ่อเสือ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของคนในหมู่บ้าน เนื่องจากหมู่บ้านยังเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ จึงไม่มีวัดเดิมมีโรงเรียนชื่อว่าโรงเรียนบ้านท่ามะขาม เป็นโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ปัจจุบันได้ยุบโรงเรียนนี้ไปแล้ว
    ผู้ใหญ่บ้าน/กำนันอดีตถึงปัจจุบัน คือ นายหมั่ง แจ้งสว่าง, นายไร หงส์ทอง, นายบุญลือ หมื่นจันทร์, นายจอม แก้วจันทร์, นายสนาม นาคนาม, นายสนิท มณีพราย, นายสนอง มณีพราย, นายสนิท มณีพราย และนายมนัส มณีพราย ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร คือภาษาไทยกลาง ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และประกอบอาชีพเกษตรกรรม ประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญ ๆ ได้แก่ การบุญวันขึ้นปีใหม่, ทำบุญวันสงกรานต์, ประเพณีสรงน้ำพระ, ทำบุญวันเข้าพรรษา, ประเพณีลอยกระทง และทำบุญวันออกพรรษา
   บ้านท่ามะขาม มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ ทิศเหนือจดหมู่ที่ ๕ บ้านเกาะแตง ตำบลแม่ลาด ทิศใต้จดหมู่ที่ ๓ บ้านแม่ลาดน้อย ตำบลแม่ลาด ทิศตะวันออกจดแม่น้ำปิง ทิศตะวันตกจดหมู่ที่ ๒ บ้านแม่ลาดใหญ่ และหมู่ที่ ๖ บ้านห้วยน้อย ตำบลแม่ลาด อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร
 
                                             ต้นมะขามยักษ์ ที่บ้านท่ามะขาม







หมู่ที่ ๕ บ้านเกาะแตง
 
บ้านเกาะแตง ตั้งอยู่บนพื้นที่หมู่ที่ ๕ ตำบลแม่ลาด อำเภอคลองขลุง ตั้งขึ้นก่อนพ.ศ. ๒๕๑๔ มีพื้นที่ทั้งหมด ๓,๓๑๒ ไร่ เดิมเป็นพื้นที่เดียวกับหมู่ ๔ บ้านบึงลาด ตำบลวังแขม และเป็นพื้นที่ติดริมแม่น้ำปิง และมีเกาะกลางลำน้ำปิง มีเนื้อที่ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้แยกมาขึ้นอยู่กับองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลาด เพื่อความเหมาะสมในการบริหารจัดการของภาครัฐ เหตุที่เรียกว่า บ้านเกาะแตง เพราะเดิมประชากรในพื้นที่ได้เข้าไปปลูกแตงที่เกาะจำนวนมาก จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านตามลักษณะพื้นที่ที่ไม่เหมือนหมู่บ้านอื่น คือมีเกาะกลางแม่น้ำ ที่มีชาวบ้านไปปลูกต้นแตงจำนวนมากว่า “บ้านเกาะแตง” ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
ผู้ใหญ่บ้าน / กำนันอดีตถึงปัจจุบัน คือ นายบุญเพิ่ม ธนะวงศ์ นายอิน มณีพลาย นายนาม มณีพลาย นายเยื้อง นาคนาม, นายประจิม ฤทธิ์นุช, นายประจิน นามัย, นายหาญ ประเสริฐดี นายชัชชาพัฒน์  บุญมาก  ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร คือ ภาษาไทยกลาง สถานที่สำคัญ ๆ ของหมู่บ้าน คือ หมู่บ้านโฮมสเตย์  เกาะแตง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีความเป็นเอกลักษณ์เป็นธรรมชาติ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของหมู่บ้าน วัดและโรงเรียนในหมู่บ้านยังไม่มี ชาวบ้านนิยมไปทำบุญและร่วมกิจกรรมประเพณีกันที่วัดจันทาราม ตำบลวังแขม และวัดพรหมประดิษฐ์ ประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญๆ ได้แก่ การทำบุญวันขึ้นปีใหม่, ทำบุญวันสงกรานต์, ประเพณีสรงน้ำพระ, ทำบุญวันเข้าพรรษา, ประเพณีลอยกระทง และวันออกพรรษา
   บ้านเกาะแตง มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ ทิศเหนือจดหมู่ที่ ๑ บ้านใหม่สุขสมบูรณ์ ตำบลแม่ลาด ทิศใต้จดหมู่ที่ ๔ บ้านท่ามะขาม ตำบลแม่ลาด ทิศตะวันออกจดแม่น้ำปิง ตำบลแม่ลาด ทิศตะวันตกจดหมู่ที่ ๒ บ้านแม่ลาดใหญ่ ตำบลแม่ลาด อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร
หมู่ที่ ๖ บ้านห้วยน้อย
 
บ้านห้วยน้อย ตั้งอยู่พื้นที่หมู่ที่ ๖ ตำบลแม่ลาด อำเภอคลองขลุง ตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ประชากรที่อาศัยอยู่อพยพมาจาก บ้านคลองตัน บ้านสระยายโสม บ้านโป่ง ตำบลสระยายโสม อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี  บางส่วน อพยพมาจาก บ้านท่าเสา บ้านกระดีอ้อ ตำบลกระตึบ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และอพยพมาจากบ้านหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง  จังหวัดราชบุรี
 เหตุที่เรียกว่า”บ้านห้วยน้อย” เพราะเมื่อสมัยก่อนประชาชนที่อพยพมาโดยใช้เกวียนเป็นพาหนะแผ้วถางป่าซึ่งเป็นป่าทึบจับจองที่ดินเป็นของตนเอง พบลำห้วยอยู่ด้านหลังหมู่บ้าน มีขนาดเล็กจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านห้วยน้อย
ผู้ใหญ่บ้าน/กำนันตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คือ นายกิ่ง ธรรมรงค์ นายเขียน สามงามยา นายสุนันต์ สามงามยา และนายวันชัย สระสรีโสม
ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร คือ ภาษาลาวครั่ง ไทยทรงดำ ภาษาไทยกลาง ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญ ๆ ได้แก่ การทำบุญวันขึ้นปีใหม่, ทำบุญวันสงกรานต์, ประเพณีสรงน้ำพระ, ทำบุญเข้าพรรษา, ออกพรรษา
   บ้านห้วยน้อย มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ ทิศเหนือจดหมู่ที่ ๒ บ้านแม่ลาดใหญ่ ตำบลแม่ลาด อำเภอคลองขลุง ทิศใต้จดหมู่ที่ บ้านคลองน้ำเย็นใต้ บ้านท่าดินแดน ตำบลโค้งไผ่ และบ้านโรงสูบ ตำบลเกาะตาล อำเภอขาณุวรลักษบุรี ทิศตะวันออกจดหมู่ที่ ๓ บ้านแม่ลาดน้อย ตำบลแม่ลาด อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชรทิศตะวันตกจดหมู่ที่ ๗ บ้านคลองน้ำเย็นใต้ ตำบลคลองขลุง อำเภอคลองขลุง
   ประชากรส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพทำการเกษตรเป็นหลัก เช่น ทำนา ทำสวนผลไม้ สวนผักชี เลี้ยงปลาในกระชัง เลี้ยงสัตว์เป็นบางส่วน
ความอุดมสมบูรณ์ของตำบลแม่ลาด
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!