จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
มีนาคม 29, 2024, 09:10:59 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: กำแพงเพชรเมืองมรดกโลก  (อ่าน 3539 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1410


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: กันยายน 04, 2015, 11:01:03 am »

กำแพงเพชรเมืองมรดกโลก
สารบัญ                           หน้า
ประวัติศาสตร์เมืองกำแพงเพชร
กำแพงเพชร ยุคหิน
กำแพงเพชร เมืองก่อนประวัติศาสตร์
กษัตริย์เมืองกำแพงเพชรในสมัยทวารวดี
ตำนาน“ท้าวแสนปม
ท้าวแสนปม” ได้สร้างกษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา
พระร่วงจากกำแพงเพชร  คือ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์
พญาลิไท กับวัดพระบรมธาตุนครชุม
กำแพงเพชรสมัยอยุธยา
กําแพงเพชรสมัยธนบุรี
ประวัติความเป็นมาของพระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชร
พระพุทธเจ้าหลวง เสด็จกำแพงเพชร ๑๐ วัน   ( ๑๘ สิงหาคม – ๒๗ สิงหาคม ๒๔๔๙
ในหลวงกับการเสด็จกำแพงเพชร ๓ ครั้ง
กำแพงเพชรเมืองมรดกโลก
โบราณสถาน โบราณวัตถุที่สำคัญในเมืองกำแพงเพชร
        กำแพงเมืองกำแพงเพชร 
         เจ้าพ่อหลักเมือง 
         สระมน พระราชวังโบราณ เมืองกำแพงเพชร
      พระอิศวรเมืองกำแพงเพชร
      วัดหมาผี
      วัดเตาหม้อ
      วัดนาคเจ็ดเศียร
      วัดป่ามืด
      กรุพระวัดอาวาสใหญ่ อาถรรพณ์หรือค่ายกล
      วัดอาวาสน้อย
เจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับนักท่องเที่ยว   


   





ประวัติศาสตร์เมืองกำแพงเพชร
ในเขตจังหวัดกำแพงเพชร มีเมืองโบราณตั้งอยู่มากมาย ยืนยันได้ว่ากำแพงเพชร เป็นเมืองโบราณมาช้านาน ไม่ต่ำกว่า พันปี  เมืองที่รู้จักกันดี คือ
เมืองแปบ อยู่บริเวณตีนสะพานกำแพงเพชร ฝั่งนครชุม ตั้งแต่หัวยาง ถึงวัดพระบรมธาตุนครชุม แต่ปัจจุบันไม่พบหลักฐาน เพราะ เมืองแปบทั้งเมืองถูกน้ำกัดเซาะทำลายสิ้นทั้งเมือง แต่ประชาชน ยังเรียกขานบริเวณนี้ว่าวังแปบอยู่
เมืองเทพนคร อยู่บริเวณตำบลเทพนครในปัจจุบัน สำรวจล่าสุดปี๒๕๕๖ เดิมเมื่อฝรั่งไปทำเกษตรบริเวณนั้นเคยเรียกว่า ปางหรั่ง หรือปางฝรั่ง ปัจจุบันพบเพียงคูน้ำ เพียงด้านเดียว พบป้อมปราการท้ายเมือง หนึ่งป้อม เพราะเมืองเทพนคร มีอายุอยู่ในระยะสั้นมาก อาจไม่ถีงช่วงสองร้อยปี (ราวพุทธศักราช ๑๖๐๐ – ๑๘๐๐)
เมืองไตรตรึงษ์ อยู่บริเวณบ้านวังพระธาตุ อำเภอเมือง สำรวจล่าสุดปี ๒๕๕๖ยังมีลักษณะเมืองที่สมบูรณ์มีกำแพงสามชั้น  ชั้นในสุดกว้างประมาณ ๘๐๐ เมตร ยาว ๘๔๐ เมตร อยู่คนละฝั่งแม่น้ำปิง กับเมืองเทพนคร  ปัจจุบัน กรมศิลปากรได้ ให้งบประมาณสำหรับบูรณปฏิสังขรณ์ ตามแบบของกรมศิลปากรแล้ว
เมืองพาน อยู่บริเวณ อำเภอพรานกระต่าย สำรวจล่าสุดปี ๒๕๕๖เป็นเมืองโบราณมีคันดินคูน้ำ สามชั้น เช่นกัน มีลักษณะคล้ายกับ เมืองไตรตรึงษ์ มีการสำรวจและขุดแต่งเป็นบางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เป็นคลองบางพาน พบหลักฐานมากมาย เช่นพระเครื่อง พระบูชา และพบ บริเวณที่เป็นตำหนัก ในคูน้ำ ใหญ่มาก พบเสาตำหนักจำนวนมากในบริเวณ วังพาน
เมืองคณฑี อยู่ถัดจากเมืองเทพนคร   อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง จากการลงพื้นที่สำรวจล่าสุดปี ๒๕๕๖ ไม่พบคูน้ำ คันดิน พบวัดโบราณ เก่าแก่คือวัดกาทึ้ง และวัดปราสาท และโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณ ก่อนสมัยสุโขทัย
เมืองโกสัมพี เป็นเมืองโบราณทางฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำปิง อยูในเขตอำเภอโกสัมพีนคร ชาวบ้านเรียกกันว่าบ้านคลองเมือง จากการสำรวจล่าสุด ปี ๒๕๕๖ ไม่พบหลักฐานอะไรเหลืออยู่เลย พบเพียง คันดิน และคูน้ำเท่านั้น เป็นเมืองที่อยู่บนเชิงเขา ชัยภูมิงดงามงาม เฉพาะในการดูแลป้องกันตัวเองมาก
เมืองรอ เป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ซ้อนอยู่กับตำบลถ้ำกระต่ายทองในปัจจุบัน จากการสำรวจในล่าสุดปี ๒๕๕๕ พบ คูน้ำ คันดิน เตาถลุงเหล็ก โบราณ วัดโบราณ ประชาชน บริเวณนั้นยังเรียกขานว่าเมืองรอเช่นกัน
หลักฐานที่กล่าวถึงเมืองโบราณในกำแพงเพชร
   จากจารึกหลักที่ ๑(พ่อขุนรามคำแหง) จารึกในปี ๑๘๓๕
กล่าวถึงเมืองคณฑี     ความว่า เบื้องหัวนอน รอดคนที... กล่าวถึงเมืองคณที ในจารึกแสดงว่า เป็นเมืองสำคัญมาก และใหญ่มาก
จากจารึกหลักที่ ๓  (จารึกนครชุม) จารึกในปี ๑๙๐๐
 กล่าวถึงพญาลิไทนำพระบรมธาตุมาประดิษฐานที่ เมืองนครชุม ความว่า  หากเอาพระศรีรัตนมหาธาตุ อันนี้มาสถาปนาในเมืองนครชุม..
จากจารึกหลักที่ ๘ (จารึกเขาสุมนกูฏ)  พ.ศ.  ๑๙๑๒
 กล่าวถึงเมือง ต่างๆความว่า มีทั้งชาวสระหลวง สองแคว ปากยม พระบาง ชากังราว สุพรรณภาวะ  นครพระชุม  ในปีนี้... ชากังราว เกิดขึ้นแล้ว บนฝั่งตะวันออก นครชุมอยู่ฝั่งตะวันตก ส่วนเมืองสุวรรณภาวะ ยังไม่ค้นพบว่าอยู่บริเวณใด
จากจารึกหลักที่  ๓๘ (จารึกวัดมหาธาตุวัดสระศรี)หรือศิลาจารึกกฎหมายลักษณะโจร (ราวพ.ศ. ๑๙๐๐-๒๐๐๐) ความว่า
   ....พระนครนี้ สิทธิสมเด็จบพิตร (มหาราชบุตร) ราชศรีบรมจักรพรรดิราช ท่านเสด็จขึ้นเสวยภิรมย์ สมดังราชมโนรถ ทดแทนแดนพระธรรมราชสีมานี้ ดุจตาวตึงสาพระองค์ท่านเสด็จในกำแพงเพชรบุรีศรีวิมลาสน์ ด้วยพระราชศฤงคารบริพารพลและจตุรงคนิกรธารลำน้ำ.....
ชากังราว อาจเปลี่ยนชื่อเป็นกำแพงเพชร ในช่วงนี้ ได้เช่นกัน
 จากหลักฐานจากศิลาจารึกที่อ้างถึงทั้งหมดเชื่อได้ว่า กำแพงเพชร เป็นเมืองใหญ่และเป็นเมืองโบราณในลุ่มน้ำปิง นับกว่าพันปีมาแล้วอย่างแน่นอน

 
กำแพงเพชร ยุคหิน
 
ขวานหินที่พบในบริเวณเขากะล่อน
ชุมชนดั้งเดิมของกำแพงเพชร ชุมชนยุคหิน เขากะล่อน (แผนที่ทหารเรียกว่าเขาการ้อง) เป็นเขาลูกรัง เป็นแนวติดต่อกันสามลูก ไปทางทิศเหนือและทิศใต้ อยู่ที่บ้านหาดชะอม ตำบลป่าพุทรา อำเภอขาณุวรลักษบุรี ห่างจากลำน้ำปิงไปทางตะวันออก ราว ๒ กิโลเมตร  จากการสำรวจของนายปรีชา สระแก้ว นายช่างกรมทางหลวง  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ ขุดค้นพบ ขวานหินขัด หัวธนูหิน กำไลหิน ลูกปัดหิน อายุราว ๑๐,๐๐๐ปี

 
สภาพเขากะล่อนในปัจจุบัน
เขากะล่อน แหล่งโบราณคดีแห่งใหม่ ที่ค้นพบ เมื่อปี ๒๕๒๙ ที่บ้านหาดชะอม อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร เป็นแหล่งโบราณคดี ยุคหินใหม่ จากการที่จังหวัดได้ให้สัมปทานเขากะล่อนให้ผู้รับเหมา สร้างทางหลวงแผ่นดินสายขาณุ เก้าเลี้ยว เมื่อไถหน้าดินลงไป ๑-๒ เมตร ก็พบขวานหินโบราณจำนวนมาก
เขากะล่อนเป็นเขาดินลูกรังต่อกันสามลูก เรียงตัวในทางทิศเหนือ-ใต้ อยู่ห่างจากลำน้ำปิงราว ๒ กิโลเมตร จากการไถขุดบริเวณเชิงเขา ได้พบโบราณวัตถุจำนวนมาก อาทิขวานหินขัด ขนาดต่างๆ รวมที่ยังทำไม่สำเร็จหลายร้อยอัน หัวธนูหิน กำไลหิน ที่ติดอยู่กับกระดูกท่อนแขน ได้ถูกรถแทรกเตอร์ดันขึ้นมา
เขากะล่อน ตามแผนที่ทหารมีชื่อว่า เขาการ้อง ภูมิประเทศและทำเล เหมาะกับ เป็นที่ตั้งบ้านเรือน คืออยู่บริเวณริมน้ำปิง เชิงเขากะล่อน น้ำจะท่วมไม่ถึง เขากะล่อนเคยได้รับการใส่ใจ จากเจ้าหน้าที่อยู่พักหนึ่ง แต่ไม่นาน ก็ไม่มีคนสนใจ ปัจจุบันกับถูกทอดทิ้ง ไร้คนดูแล ถูกลักลอบขุดลูกรังมาขาย
ชุมชนโบราณแหล่งโบราณคดีเขากะล่อน เป็นแหล่งมนุษย์ยุคหินยุคแรกของกำแพงเพชร คือราว ๑๐,๐๐๐ ปี ที่ผ่านมา นับว่าน่าสนใจ เป็นอันมาก สมควรที่กรมศิลปากรได้ขุดค้นอย่างจริงจัง เพื่อได้ยืนยันอย่างเป็นทางการ ว่าเมืองกำแพงเพชร เก่าแก่ถึงขั้น ยุคหิน
เขากะล่อน จึงเป็นสถานที่สำคัญที่แสดงรากฐานความเป็นชุมชนโบราณ ที่ควรขุดค้นเพื่อหาความจริง แห่งความภูมิใจในความเป็นเมืองกำแพงเพชร เราอาจพบอะไรอีกมากมาย ในการขุดค้นอย่างใช้หลักวิชา โดยไม่ใช้ รถขุด หรือแทรกเตอร์ ก่อนที่หลักฐานทุกอย่างจะถูกทำลายไป ด้วยมือของพวกเรา……………….
กำแพงเพชร เมืองก่อนประวัติศาสตร์
การสำรวจที่บ้านหนองกอง ตำบลนาบ่อคำ อำเภอเมืองกำแพงเพชร  พบ ตะเกียงดินเผา    แวดินเผา  แร่ทองคำ อันเป็นที่มาของ คำว่านาบ่อคำ พบลูกปัดแก้ว ลูกหินปัด เครื่องสำริด ตะกรัน
ขี้แร่  เศษพาชนะดินเผา จำนวนมาก
การสำรวจ บ้านคลองเมือง ตำบลโกสัมพี อำเภอโกสัมพีนคร พบหลักฐานเก่าก่อนประวัติศาสตร์ มากมายตำนานเมืองโกสัมพี  จังหวัดกำแพงเพชร ในพงศาวดารเหนือความว่า
         พระพุทธศักราช ๑๐๐๒ ปี จุลศักราช ๑๐ ปีรกาสัมฤทธิศก จึงพระยากาฬวรรณดิศราช บุตรของพระยากากะพัตรได้เสวยราชสมบัติเมืองตักกะสิลามหานคร(สันนิษฐานว่าเมืองตาก) จึงให้พราหมณ์ทั้งหลายยกพลลงไปสร้างเมืองลโว้ได้ ๑๙ ปี เมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๑๐๑๑ พรรษา จุลศักราชได้ ๑๐ ปีรกาสัมฤทธิศก แล้วพระยากาฬวรรณดิศราช ให้พระยาทั้งหลายไปตั้งเมืองอยู่ทุกแห่ง แลขุนนางขึ้นไปถึงเมืองทวารบุรี เมืองสันตนาหะ แลเมืองอเส   เมืองโกสัมพี   แล้วมานมัสการที่พระพุทธเจ้าตั้งบาตรตำบลบ้านแม่ซ้องแม้ว
      จากพงศาวดารเหนือ และประวัติเมืองตาก ทำให้เราสามารถประมวลได้ว่า เมืองโกสัมพีนคร น่าจะสร้างราว พ.ศ.๑๐๑๑ โดยพระยากาฬวรรณดิศ เจ้าเมืองตาก ได้สร้างเมืองต่างๆ ขึ้นสี่เมือง  มีนครโกสัมพีด้วย หลังจากนั้น ได้ทิ้งเมืองตากให้ร้าง และเสด็จไปสร้างเมืองละโว้ และครองละโว้ พระราชธิดาคือนางจามเทวี ได้เสด็จ ตามลำน้ำปิง ทำสงครามกับ เจ้าชายแห่งโกสัมพี เป็นศึกแห่งความรัก และเจ้าชายโกสัมพี สิ้นพระชนม์ที่วังเจ้า พระนางได้บูรณะ เมืองตากขึ้นใหม่เมื่อเสร็จแล้วจึงเสด็จไปครอง เมืองหริภุญชัย (ลำพูน)
                      เมืองโกสัมพี สันนิษฐานว่า เป็นเมืองก่อนประวัติศาสตร์ เราได้สำรวจพบ ขวานหิน ในยุคหิน กลางเมืองโกสัมพี จำนวนมาก และอาจเจริญ ก้าวหน้าขึ้นมาเป็น เมืองโกสัมพี ในยุค   ทวาราวดี  และกลายเป็นเมืองร้าง ในราวพุทธศักราช ๑๘๐๐ และร้างมานาน กว่า ๗๐๐ ปี เมื่อไปสำรวจ จึงไม่พบสิ่งก่อสร้างใดๆเลย นอกจากกองอิฐกองแลง แร่ตระกรัน จำนวนมากเท่านั้น สิ่งที่น่าแปลกอีกอย่างหนึ่งในนครโกสัมพี คือศาลท้าวเวสสุวรรณ อาจจะเป็นหลักเมือง ของเมือง   โกสัมพี ในสมัยโบราณ ปัจจุบัน ยังมีผู้คนกราบไหว้มิได้ขาด เมืองเป็นรูป วงรี คล้ายกับเมืองไตรตรึงษ์ มีคันดิน และคูเมือง โดยรอบ ยังมีหลักฐานให้เห็นรอบเมือง  ลักษณะเมืองตั้งอยู่บนเนินเขา ริมน้ำปิงมี คลองเมือง เป็นคูเมืองด้านเหนือ นับว่านครโกสัมพี มีชัยภูมิที่เหมาะในการรักษา

เมืองรอ หลักฐานตามพงศาวดารเหนือมีใจความว่า
         พระมหาพุทธสาครเป็นเชื้อสายมา ได้เสวยราชสมบัติอยู่ริม เกาะหนองโสน ที่วัดเดิมกันมีพระมหาเถรไสยลายองค์หนึ่งเป็นเชื้อมาแต่พระรามเทพได้พระบรมธาตุ ๖๕๐ พระองค์ กับพระศรีมหาโพธิสองต้น จากเมืองลังกาได้พาพระมหาสาครไปเมืองสาวัตถี ถ่ายเอาอย่างวัดเชตวนาราม มาสร้างไว้ต่อเมืองรอ แขวงบางทานนอก เมืองกำแพงเพ็ชร ชื่อวัดสังฆคณาวาศ แล้วเอาพระศรีมหาโพธิใส่อ่างทองคำมาปลูกไว้ริมหนองนากะเล นอกวัดเสมาปากน้ำแล้วเชิญพระบรมธาตุบรรจุไว้ด้วย ๓๖ พระองค์ จึงให้ชื่อว่าวัดพระศรีมหาโพธิ  แสดงว่า เรื่องเมืองรอ มีเค้าความจริงอยู่
  กำแพงเพชร สมัยก่อนประวัติศาสตร์
พระเจ้าพรหมราช   พระเจ้าไชยศิริเชียงแสน  ๒  กษัตริย์ผู้ร่วมสถาปนาเมืองกำแพงเพชร
                  ในจังหวัดกำแพงเพชร มีหลายแห่งที่มีกลุ่มชนได้มาอาศัยอยู่มานานแล้ว   บางแห่งก็ร้างไป   เมืองกำแพงเพชรนั้น เป็นเมืองที่มีอายุยืนยาวเกินกว่าหนึ่งพันปี 
                 ในหนังสือเรื่อง ตำนานสิงหนวัติกุมาร, ตำนานเมืองเชียงแสน และพงศาวดารโยนก ทั้ง 3 เรืองนี้ กล่าวถึงพระเจ้าพรหมราช และ พระเจ้าไชยศิริเชียงแสน เป็นผู้ร่วมสถาปนาเมืองกำแพงเพชรขึ้น  จึงขอนำเรื่องราวมาเล่าโดยย่อดังนี้
                  เมื่อมหาศักราช ๑๗ (โบราณศักราช ตรงกับ พ.ศ. ๔๓๑)  สิงหนวติกุมาร โอรสพระเจ้าเทวกาลหรือพระเจ้าขุนเมือง  มหากษัตริย์เมืองราชคฤห์นคร(หรือ นครแถน) ซึ่งอยู่ในประเทศจีน ได้สร้างเมืองนาคพันธุสิงหนวัตินคร(ซึ่งคราวหลังเรียก เมืองโยนก ) และได้ขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ 
             จุลศักราช ๒๗๗  (พ.ศ. ๑๔๕๘ )  พระเจ้าพังคราช อายุได้ ๑๘ ปี ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๔๒  แห่งเมืองโยนก
             จุลศักราช ๒๗๙  (พ.ศ. ๑๔๖๐ ) เสียเมืองโยนกให้แก่ขอมดำ และพระเจ้าพังคราชถูกขับไล่ออกจากเมืองโยนก  ไปอยู่ที่เมืองศรีทวง หรือเมืองพานคำ(ปัจจุบันคืออำเภอแม่สาย)  และจะต้องส่งส่วยเป็นทองคำให้แก่ขอมทุกปี
                 จุลศักราช๒๘๒ (พ.ศ. ๑๔๖๓) พระเจ้าพังคราช ประสูติพระโอรส ทรงพระนามว่า ทุกขิตกุมาร
                  จุลศักราช ๒๘๓ (พ.ศ. ๑๔๖๔) พระเจ้าพังคราช ประสูติพระโอรสอีกพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พรหมกุมาร  เมื่อเจริญวัยเพียง  ๗ ขวบ  พรหมกุมารก็มีน้ำใจองอาจกล้าหาญ ชอบเครื่องสรรพยุทธ์และวิชาการยุทธ์ทั้งปวง ครั้นชนมายุได้ ๑๓ ขวบ ได้จับช้างพานคำมาไว้เป็นคู่พระองค์  ได้ฝึกซ้อมในการสงครามจนมีความแข็งแกร่ง  ฝึกซ้อมทหารให้ชำนาญในสู้รบ สร้างอาวุธสะสมไว้เป็นจำนวนมาก    แล้วก็ตั้งแข็งเมืองไม่ส่งส่วยแก่ขอม
                  ครั้นพรหมกุมารมีอายุได้ ๑๖ ปี   ขาดส่งส่วยแก่ขอมมา  ๓ ปี  ขอมให้มาเร่งส่งส่วยเนือง ๆ หลายครั้งก็ไม่ได้ พระยาขอมจึงให้เตรียมทหารมาจับพระเจ้าพังคราช ฝ่ายพรหมกุมารก็ประชุมพลตั้งทัพเพื่อสู้รบ     
                จุลศักราช ๒๙๘  (พ.ศ.๑๔๗๙)  ปีวอก เดือน ๕  แรม   ๔ ค่ำ  วันอาทิตย์  พระยาขอมก็ยกรี้พลมาใกล้เมืองพานคำ เจ้าพรหมกุมารได้ทราบก็ขึ้นทรงช้างเผือกพานคำออกไปโจมตีทัพพระยาขอม ก็ได้ชัยชนะโดยง่าย กองทัพพระยาขอมก็แตกตื่นพ่ายหนีไป  พรหมกุมารก็ยกกองทัพตามตีจนถึงเมืองโยนก เข้าล้อมเมืองไว้  แล้วตีหักเข้าเมืองได้  ขอมทั้งหลายก็พากันพ่ายหนีล่องไปทางทิศใต้  พรหมกุมารได้เมืองแล้วพักพล พอหายอิดโรย แล้วก็ยกกองทัพตามตีขอมต่อไป เดินทัพผ่านหมู่บ้านต่าง ๆไปได้เดือนหนึ่งเข้าแดนกำแพงเพชร ถึงสถานที่แห่งหนึ่ง( เมืองแปบ) ก็พักรี้พลนอนอยู่นั่นคืนหนึ่ง 
                     ในคืนนั้น พรหมกุมารนิมิตต์ไปว่า พระอินทร์ไม่ยอมให้พรหมกุมารไล่ฆ่าขอมอีกต่อไป จึงบังคับให้เทวบุตร  ลงมาเนรมิตกำแพงหินกั้นขวางที่พรหมกุมารจะเดินกองทัพต่อไปนั้นไว้  จนทำให้พรหมกุมารไม่สามารถจะนำทหารผ่านไปได้   เมื่อทรงตื่นขึ้นมาจึงหยุดยั้ง  นำทหารกลับคืนเมืองโยนกและให้พระเจ้าพังคราชพระราชบิดาเป็นกษัตริย์เมืองโยนกอีกครั้ง   พรหมกุมารก็ยังไม่ไว้วางใจเกรงขอมดำจะขึ้นมาทำลายเมืองโยนกอีก  จึงได้สร้างเมืองขึ้นใหม่คือ “เมืองไชยปราการ” (ปัจจุบันเป็นเมืองโบราณอยู่ระหว่างจังหวัดเชียงรายกับแม่น้ำโขง) แล้วขึ้นเป็นกษัตริย์  ได้ปกครองเมืองไชยปราการนานถึง ๕๙ พรรษา ก็ทิวงคตเมื่อจุลศักราช ๓๕๙  (พ.ศ. ๑๕๔๐)    พระเจ้าไชยสิริพระราชโอรสของพระเจ้าพรหมได้ราชาภิเษกเสวยราชสมบัติในเมืองไชยปราการต่อจากพระราชบิดา  ครองได้  ๗  พรรษา ถูกกองทัพของพม่า จากเมืองสุธรรมวดี(เมืองสเทิม) เข้ามายึดเมืองไชยปราการ พระเจ้าไชยศิริไม่สามารถจะป้องกันไว้ได้ 
                ศักราช  ๓๖๖ (พ.ศ. ๑๕๔๗)    ปีมะเส็ง วันพฤหัสบดี เดือน ๘  แรม ๑  ค่ำ  วันพฤหัสบดี  พระเจ้าไชยสิริทรงพาราษฎรอพยพออกจากเมืองไชยปราการ ครั้นจะขึ้นไปทางไชยบุรีเชียงแสน  เป็นทางที่จะผ่านแม่น้ำกก เป็นฤดูฝนน้ำหลากข้ามยาก  จึงเดินทางลงมาทางดอยด้วน แล้วตัดไปทางตะวันออกข้ามแม่น้ำยมในท้องที่อำเภอปง จังหวัดพะเยา  ล่องลงใต้เข้าเขตจังหวัดแพร่ ผ่านอำเภอสอง  อำเภอร้องกวาง  อำเภอสูงเม่น ตัดไปทางตะวันตกเฉียงใต้ผ่านดอยผาหมื่นและผาแสน เข้าเขตจังหวัดสุโขทัยผ่านอำเภอศรีสัชนาลัยบ้านหาดเสี้ยว อำเภอทุ่งเสลี่ยม อำเภอบ้านด่านลานหอย บ้านพุ (ริมเขาหลวงสุโขทัย) อำเภอคีรีมาส เข้าเขตจังหวัดกำแพงเพชร ผ่านอำเภอพรานกระต่าย เข้าอำเภอเมืองกำแพงเพชร  แล้วพักพลอยู่ที่เมืองแปบ  พอครบ ๓  วัน ถึงวันอังคาร เดือน  ๙  แรม ๔ ค่ำ จึงให้ฝังหลักเมืองตั้งพระนคร ล้อมระเนียดค่ายคูประตูหอรบครบบริบูรณ์ทั้งพระราชนิเวศน์มณเฑียรสถาน ครั้นสำเร็จจึงเสด็จขึ้นครองนครนั้น นามว่า “เมืองกำแพงเพชร” (โดยนำนิมิตต์ของพระราชบิดาคราวที่นำทหารไล่ตามขอมมานอนค้างคืนที่เมืองแปบ) มีพระนามว่า “พระเจ้าไชยศิริเชียงแสน”   เวลานั้นมีประชากรแสนครัวเรือนอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำปิง
                ในเวลาต่อมา พระเจ้าไชยศิริเชียงแสน ได้ทรงสร้างเมืองขึ้นมาอีกหนึ่งเมืองคือ เมืองไตรตรึงษ์ 
 “กษัตริย์เมืองกำแพงเพชรในสมัยทวารวดี”
                ในหนังสือ วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดกำแพงเพชร  หน้า ๓๑ ได้กล่าวถึง เมืองโบราณบริเวณลุ่มแม่น้ำปิงซึ่งมีการค้นพบและพอมีหลักฐานยืนยันได้ว่าเป็นเมืองเก่าแก่มาช้านาน คือ เมืองแปบ  เมืองเทพนคร เมืองไตรตรึงษ์ เมืองพาน เมืองคณฑี  เมืองนครชุม  เมืองชากังราว   เมืองพังคา  เมืองโกสัมพี  เมืองรอ  เมืองแสนตอ เมืองพงชังชา  และบ้านคลองเมือง  ซึ่งล้วนตั้งอยู่อาณาเขตจังหวัดกำแพงเพชรทั้งสิ้น  และในหนังสือเรื่องเล่มเดียวกันนั้นในหน้า  ๓๗-๓๘ ได้กล่าวถึงเมือง ๒ เมืองว่าเป็นเมืองในสมัยทวารวดี คือเมืองไตรตรึงษ์ และเมืองโบราณที่บ้านคลองเมือง
๑.พระเจ้าไชยศิริเชียงแสน    ผู้สถาปนาเมืองกำแพงเพชร
                 พระเจ้าไชยศิริเชียงแสน  จากตำนานเมืองเชียงแสน ในหนังสือประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๗   หน้า  ๑๐๕-๑๐๗   และ  จากพงศาวดารโยนก ในหนังสือประชุมพงศาวดารฉบับเดียวกัน หน้า  ๔๘๙-๔๙๑   กล่าวข้อความที่ตรงกันว่า เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพรหม  (ซึ่งเคยไล่ปราบขอมจากเมืองโยนกถึงเมืองกำแพงเพชร)  และเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๒  แห่งเมืองไชยปราการ(ปัจจุบันเป็นเมืองโบราณอยู่ระหว่างเชียงรายกับแม่น้ำโขง) ครอบครองเมืองไชยปราการได้ ๑๑  พรรษา   ถูกกองทัพของพม่าจาก
เมืองสเทิมเข้ามารุกราน    ไม่สามารถที่จะต่อสู้ได้  พระเจ้าไชยศิริทรงให้โหรตรวจดูชะตาเมือง โหรถวายพยากรณ์ว่าชะตาเมืองขาด  พระเจ้าไชยศิริทรงตัดสินพระทัยเผาเมืองไชยปราการแล้วหลบหนีออกมาพร้อมกับทหารและ ครอบครัวราษฎร เมื่อวันพฤหัสบดี  เดือน  ๘  แรม  ๑  ค่ำ      จุลศักราช  ๓๖๖  (พ.ศ. ๑๕๔๗ )   ปีมะเส็ง มาถึงเมืองกำแพงเพชร แล้วพักพลได้ ๓ คืน พอถึงวันอังคาร เดือน  ๙   แรม ๔ ค่ำ  จุลศักราช ๓๖๖   (พศ.๑๕๔๗) ปีมะเส็ง   ได้สถาปนาขึ้นเป็นเมืองกำแพงเพชรและมีพระนามว่า “พระเจ้าไชยศิริเชียงแสน”
                 จากพงศาวดารโยนกกล่าวว่าพระเจ้าไชยศิริเชียงแสนสร้างเมืองไตรตรึงษ์เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเมืองหลังจากที่สถาปนาเมืองกำแพงเพชรแล้ว
๒.พระเจ้าสุริยราชา   พระอัยกา(ปู่)ของท่านขุนศรีอินทราทิตย์
               พระเจ้าสุริยราชา  จากหนังสือประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๑  หน้า  ๑๗๗  กล่าวว่าทรงเป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าปทุมสุริวงษ์  ได้เข้ามาครอบครองเมืองกำแพงเพชรเมื่อจุลศักราช ๕๓๖   (พ.ศ. ๑๗๑๗)  มีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่าศิริสุทาราชเทวีมีพระโอรสองค์หนึ่งทรงพระนามว่าจันทกุมาร  ครองราชย์เมืองกำแพงเพชรได้ ๒๘ พรรษาสิ้นพระชนม์เมื่อจุลศักราช  ๕๖๔(พ.ศ.๑๗๔๕)
              นอกจากนี้แล้ว เรื่อง ตำนานของพระมหากษัตริย์แต่โบราณ ของกรมศิลปากร ในหนังสือ “คำให้การกรุงเก่า”       หน้า ๑๘๐ ได้กล่าวถึงพระเจ้าสุริยราชาที่ขึ้นครองราชย์เมืองกำแพงเพชรไว้ว่า “ พระมหา กษัตริย์ที่สร้างพระนครพิจิตรนั้น เป็นเชื้อพระวงศ์พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์
             ในหนังสือ “คำให้การกรุงเก่า” เล่มเดียวกันนี้  ผู้เขียนได้ตรวจชื่อเมืองที่หมายถึงเมืองกำแพงเพชรนั้น ได้พบในหน้า  ๑๑ มีหลายชื่อ ได้แก่ พิจิตปราการ  วิเชียรปราการ  ในหน้า ๑๘๐ เรียกว่า พระนครพิจิต และพระนครวิเชียรปราการ
             จากข้อความที่กล่าวมานี้สรุปได้ว่า พระเจ้าสุริยราชาเชื้อสายเขมร ได้ทรงเป็นกษัตริย์เมืองกำแพงเพชร ขึ้นครองราชย์เมื่อจุลศักราช ๕๓๖ (พ.ศ. ๑๗๑๗) ครองราชย์ได้ ๒๘  พรรษา ก็สิ้นพระชนม์เมื่อจุลศักราช ๕๖๔(พ.ศ. ๑๗๔๕)
๓. พระเจ้าจันทราชา   พระชนก(พ่อ)ของท่านขุนศรีอินทราทิตย์
           จากหนังสือประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๑หน้า ๑๗๗-๑๘๑ เป็นโอรสของพระเจ้าสุริยราชา ขึ้นครองราชย์เมืองกำแพงเพชร  เมื่อจุลศักราช ๕๗๐   (พ.ศ. ๑๗๕๑)   
            ก่อนขึ้นครองราชย์เมืองกำแพงเพชรนั้น ได้ทรงท่องเที่ยวไปพร้อมทหาร ได้มีความสัมพันธ์กับสาวชาวบ้านแห่งหนึ่ง  สาวงามนั้นไม่ยอมที่จะไปอยู่กับพระเจ้าจันทราชาในวัง   จึงต้องจากกัน    ต่อมาสาวนั้นตั้งครรภ์คลอดบุตรออกมาเป็นชายแล้วทิ้งไว้ในป่าอ้อย  ตายายเจ้าของไร่อ้อยมาพบได้นำไปเลี้ยงไว้    เมื่อมีอายุราว  ๑๕ ปี      มีรูปร่างที่สง่างาม  และมีอานุภาพมาก  จะออกปากสั่งสิ่งใดนั้นย่อมเป็นไปตามสิ่งนั้น  ตาและยายมีความรักบุตรบุญธรรมเป็นอย่างมาก และได้ตั้งชื่อว่า   “พระร่วง”   
          พระเจ้าจันทราชาทรงทราบ   จึงตรัสสั่งให้ทหารไปหาตา ยาย  พร้อมทั้งพระร่วง เข้าเฝ้า  ตายายทั้งสองจึงกราบบังคมทูลให้ทราบความตามเหตุผลที่ได้กุมารนั้นมา  พระเจ้าจันทราชาทรงฟังดังนั้นทรงเชื่อแน่ว่าเป็นโอรสของพระองค์เองที่ได้มีความสัมพันธ์กับสาวชาวบ้านที่ผ่านมา  จึงให้รับพระร่วงนั้นเลี้ยงไว้เป็นพระราชโอรสในพระราชวัง
         พระเจ้าจันทราชาได้ทรงย้ายจากเมืองกำแพงเพชรไปอยู่สุโขทัย  ในช่วงนั้นขอมแผ่ขยายอำนาจมาถึงกรุงสุโขทัย   พระเจ้าจันทราชา ทรงแต่งตั้งให้พระราชโอรส(พระร่วง)ยกกองทัพออกต่อสู้กับกองทัพเขมร  ฝ่ายกองทัพเขมรสู้ไม่ได้จึงต้องยกทัพถอยกลับไป
         พระเจ้าจันทราชาได้สิ้นพระชนม์  พระร่วงได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองสุโขทัย เมื่อ พ.ศ. ๑๗๘๑
ตำนาน“ท้าวแสนปม
             เรื่อง “ท้าวแสนปม”  เป็นเรื่องที่เล่าขานต่อเนื่องกันมาช้านาน  กล่าวถึงบุรุษผู้หนึ่งซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ของเมืองไตรตรึงษ์  ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมืองกำแพงเพชร             ในระยะแรก  ผู้เขียนรู้สึกแปลกใจ ที่พยายามจะศึกษาเรื่องราวของท้าวแสนปม  แต่ละคนที่ให้ความรู้ให้ข้อมูลแตกต่างกันออกไป ไม่เหมือนกัน   จึงได้พยายามสืบค้นจากเอกสารต่าง ๆ  จึงรู้ได้ว่าสาเหตุที่แตกต่างกันนั้น เกิดจากต้นเรื่องหรือข้อมูลของเรืองมาจากหลายแหล่ง    ซึ่งพอที่จะกล่าวถึงที่มาและเนื้อเรื่องดังนี้
   “ท้าวแสนปม” จากพงศาวดาร
“ท้าวแสนปม” จากพงศาวดาร
              จากเรื่องเทศนาจุลยุทธการวงศ์  โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส(สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์)   ในหนังสือประชุมพงศาวดาร  ฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๑  หน้า  ๑๘๙-๑๙๑ ได้ทรงเทศนาเรื่อง ท้าวแสนปมไว้ดังนี้
                 “ บัดนี้จะได้รับพระราชทานถวายพระสัทธรรมเทศนา ในจุลยุทธการวงศ์ สำแดงเรื่องลำดับโบราณกษัตริย์ในสยามประเทศนี้  อันบุพพาจารย์รจนาไว้ว่า
                  กาลเมื่อพระเจ้าเชียงรายพ่ายแพ้ยุทธสงครามแต่พระยาสตองเสียพระนคร  พาประชา
ราษฎรชาวเมืองเชียงราย  ปลาสนาการมาสู่แว่นแคว้นสยามประเทศ ถึงราวป่าใกล้เมืองกำแพงเพชร  ด้วยบุญญานุภาพแห่งพระองค์  สมเด็จอมรินทรทราธิราชนิมิตพระกายเป็นดาบสมาประดิษฐานอยู่ตรงหน้าช้างพระที่นั่ง  ตรัสบอกให้ตั้งพระนครในที่นี้เป็นชัยมงคลสถาน  บรมกษัตริย์ก็ให้สร้างพระนครลงในที่นั้น  จึงให้นามชื่อว่าเมืองไตรตรึงษ์  พระองค์เสวยไอศูริยสมบัติอยู่ในพระนครนั้นตราบเท่าทิวงคต  พระราชโอรสนัดดาครองสมบัติสืบๆ กันมาถึงสี่ชั่วกษัตริย์
                  ครั้งนั้นยังมีบุรุษผู้หนึ่ง เป็นปุ่มปมไปทั้งร่างกาย  ทำไร่ปลูกพริกมะเขืออยู่ในแดนพระนครนั้น  เก็บผลพริกมะเขือขายเลี้ยงชีวิต  แลมะเขือต้นหนึ่งอยู่ใกล้ห้าง  บุรุษนั้นไปถ่ายปัสสาวะลงที่ริมต้นนั้นเป็นนิจ  มะเขือนั้นออกผล  ผลหนึ่งใหญ่กว่ามะเขือทั้งปวง    พอพระราชธิดาไตรตรึงษ์มีพระทัยปรารถนาจะเสวยผลมะเขือ  จึงให้ทาสีไปซื้อ  ก็ได้ผลใหญ่นั้นมาเสวย  นางก็ทรงครรภ์  ทราบถึงพระราชบิดาตรัสไต่ถาม  ก็ไม่ได้ความว่าคบหาสมัครสังวาสกับบุรุษใด  ต่อมาพระธิดาประสูติพระราชกุมาร  พระรูปโฉมงามประกอบด้วยลักษณะอันบริบูรณ์  พระญาติทั้งหลายบำรุงเลี้ยงพระราชกุมารจนโตขึ้น  ประมาณพระชนม์สองสามขวบ  สมเด็จพระอัยกาปรารถนาจะทดลองเสี่ยงทายแสวงหาบิดาพระราชกุมาร  จึงให้ตีกลอง     ป่าวร้องบุรุษชาวเมืองทั้งหมด  ให้ถือขนมหรือผลไม้ติดมือมาทุกคน  มาพร้อมกันที่หน้าพระลาน  ทรงพระอธิษฐานว่าถ้าบุรุษผู้ใดเป็นบิดาของทารกนั้น  ขอจงทารกนี้รับเอาสิ่งของในมือแห่งบุรุษนั้นมาบริโภค  แล้วให้อุ้มกุมารนั้นออกไปให้ทุกคนรับรู้  บุรุษกายปมนั้นได้แต่ก้อนข้าวเย็นถือมาก้อนหนึ่ง  พระราชกุมารนั้นก็เข้ากอดเอาคอ  แล้วรับเอาก้อนข้าวมาบริโภค  ชนทั้งปวงเห็นก็พิศวงชวนกันกล่าวติเตียนต่าง ๆ  สมเด็จพระบรมกษัตริย์ก็ละอายพระทัย  ได้ความอัปยศ  จึงพระราชทานพระราชธิดาและพระนัดดาให้แก่บุรุษแสนปมให้ใส่แพลอยไปถึงที่ไร่มะเขือไกลจากพระนครทางวันหนึ่ง  บุรุษแสนปมก็พาบุตรภริยาขึ้นสู่ไร่อันเป็นที่อยู่  ด้วยอานุภาพแห่งชนทั้งสาม  บันดาลให้สมเด็จอมรินทริราช  นิมิตกายเป็นวานรนำทิพยเภรีมาส่งให้นายแสนปมนั้น  แล้วตรัสบอกว่า  ท่านจะปรารถนาสิ่งใดจงตีเภรีนี้  อาจให้สำเร็จที่ความปรารถนาทั้งสิ้น  บุรุษแสนปมปรารถนาจะให้รูปงามจึงตีกลองนั้นเข้า อันว่าปุ่มปมทั้งปวงก็อันตรธานหาย  รูปชายนั้นก็งามบริสุทธิ์  จึงนำเอากลองนั้นกลับมาสู่ที่สำนัก  แล้วบอกเหตุแก่ภริยา  ส่วนพระนางนั้นก็กอร์ปด้วยปิติโสมนัส  จึงตีกลองนิมิตทอง ให้ช่างกระทำอู่ทองให้พระราชโอรสไสยาสน์  เหตุดังนั้นพระราชกุมารจึงได้พระนามปรากฏว่าเจ้าอู่ทองจำเดิมแต่นั้นมา  เมื่อจุลศักราชล่วงได้ ๖๘๑ ปี  บิดาแห่งเจ้าอู่ทองราชกุมาร  จึงประหารซึ่งทิพยเภรีนิมิตเป็นพระนครขึ้นใหม่ที่นั้น  ให้นามชื่อว่าเทพนคร มีมหาชนทั้งปวงชวนกันมาอาศัยอยู่ในพระนครนั้นเป็นอันมาก  พระองค์ก็ได้เสวยไอศูรียสมบัติเมืองเทพนคร  ทรงพระนามกรชื่อพระเจ้าศิริไชยเชียงแสน  เมือจุลศักราชล่วงได้ ๗๐๖  ปี  พระเจ้าศิริไชยเชียงแสนเสด็จดับขันธ์ทิวงคต  กลองทิพย์นั้นก็       อันตรฐานหาย  สมเด็จพระเจ้าอู่ทองราชโอรสได้เสวยราชสมบัติแทนพระราชบิดาได้  6  พระวัสสา  ทรงพระปรารภจะสร้างพระนครใหม่  จึงให้ราชบุรุษให้เที่ยวแสวงหาภูมาประเทศที่มีพรรณมัจฉาชาติบริบูรณ์ครบทุกสิ่ง  ราชบุรุษเที่ยวหามาโดยทักษิณทิศ ถีงประเทศที่หนองโสน กอรปด้วยพรรณมัจฉาชาติพร้อมบริบูรณ์  สมเด็จบรมกษัตริย์ทรงทราบ  จึงยกจตุรงค์โยธาประชาราษฎรทั้งปวง  มาสร้างพระนครลงในประเทศที่นั้นในกาลเมื่อจุลศักราชล่วงได้  ๗๑๒  ปี  ให้นามบัญญัติชื่อว่ากรุงเทพมหานครนามหนึ่ง  ตามนามพระนครเดิมแห่งพระราชบิดา  ให้ชื่อว่าทวาราวดี  นามหนึ่ง  เหตุมีคงคาล้อมรอบเป็นของเขตดุจเมืองทวาราวดี  ให้ชื่อศรีอยุธยานามหนึ่ง  เหตุเป็นที่อยู่แห่งชนชราทั้งสอง  อันชื่อยายศรีอายุและตาอุทะยาเป็นสามีภริยากัน  อาศัยอยู่ในที่นั้น  ประกอบพร้อมด้วยนามทั้งสามจึงเรียกว่า  กรุงเทพหานคร บวรทวาราวดี  ศรีอยุธยา
                 สมเด็จพระเจ้าอู่ทองได้ราชาภิเษก เสวยสวริยาธิปัตย์ถวัลยราช  ณ  กรุงเทพมหานคร  ทรงพระนามสมเด็จพระรามาธิบดี  และวันเมื่อราชาภิเษกนั้น  ได้สังข์ทักษิณาวรรต  ณ  ภายใต้ต้นไม้หมันในพระนคร  เมื่อแรกได้ราชสมบัตินั้นพระชนม์ได้  ๓๗  พระวัสสา  แล้วให้พระบรมราชาธิราชผู้เป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ ตรัสเรียกว่าพระเชษฐาธิราชไปปกครองสมบัติ  ณ  เมืองสุพรรณบุรี  ให้พระนามพระราเมศวรกุมารไปผ่านสมบัติ ณ เมืองลพบุรี
                 ครั้งนั้นมีเมืองประเทศราชขึ้นแก่กรุงเทพมหานคร ๑๖  เมือง คือ เมืองมะละกา  เมืองชะวา
เมืองตะนาวสี  เมืองนครศรีธรรมราช  เมืองทวาย  เมืองเมาะตะมะ  เมืองเมาะลำเลิง  เมืองสงขลา  เมืองจันทบูร  เมืองพระพิศนุโลกย์  เมืองสุโขทัย  เมืองพิไชย  เมืองพิจิตร  เมืองสวรรคโลก  เมืองกำแพงเพชร  เมืองนครสวรรค์
                 พระองค์ทรงสร้างพุไทยสวรรค์ยาวาศวิหารและรัตนะวนาวาศรีวิหาร คือวัดป่าแก้ว  พระสถิตอยู่ในราชสมบัติ  ๒๐  พระวัสสาก็เสด็จทิวงคต ”
”ท้าวแสนปม” ได้สร้างกษัตริย์ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา
               “ท้าวแสนปม”  จากเรื่องเทศนาจุลยุทธการวงศ์  โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ถือว่าเป็นหลักฐานที่สำคัญซึ่งนักประวัติศาสตร์นำไปสืบค้นถึงพระราชประวัติของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) ว่าประสูติที่เมืองไตรตรึงษ์  มีพระราชมารดาเป็นธิดาของเมืองไตรตรึงษ์เชื้อสายกษัตริย์เชียงราย  ส่วนพระราชบิดานั้นมีพระนามว่า “ท้าวแสนปม”หรือ “ศิริไชยเชียงแสน” ซี่งจนบัดนี้นักประวัติศาสตร์ก็ยังไม่สามารถกล่าวได้ว่ามีเชื้อสายมาจากที่ใด   นอกจากนี้แล้วในเนื้อหาได้กล่าวไว้อย่างถูกต้องว่ามีการสร้างเมืองเทพนคร        ภาพถ่ายแสดงที่ตั้งเมืองโบราณไตรตรึงษ์และเมืองโบราณเทพนครตรงข้ามเมืองไตรตรึงษ์
กำแพงเพชรสมัยสุโขทัย
   พ่อขุนศรีอินทราทิตย์  :  เจ้าเมืองสุโขทัยเชื้อสายบ้านโคนเมืองกำแพงเพชร
               ข้อความในจารึกหลักที่ ๒  ศิลาจารึกวัดศรีชุม  ในหนังสือประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๑ หน้าที่       ๓๗-๓๙  ในบรรทัดที่ ๒๑-๔๐  อธิบายโดยสรุป ว่า  พ่อขุนศรีนาวนำถม ได้ครอบครองเมืองสุโขทัยและเมืองศรีสัชนาลัยมาก่อน  หลังสิ้นพ่อขุนศรีนาวนำถมแล้ว พ่อขุนบางกลางหาว ได้เข้ามาครอบครอง ต่อมาถูกขอมขยายอำนาจยึดเมืองต่าง ๆ ได้   พ่อขุนบางกลางหาวจึงต้องขอความช่วยเหลือไปยังพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราดซึ่งเป็นโอรสของพ่อขุนศรีนาวนำถม  พ่อขุนผาเมืองได้สั่งให้พ่อขุนบางกลางหาวไปนำทหารของพระองค์ ที่เมืองบางยางมาสู้รบ  พ่อขุนบางกลางหาวก็ยังไม่สามารถที่จะชนะขอมสบาดโขลญลำพงได้  จนทำให้พ่อขุนผาเมืองต้องยกทัพออกมาช่วย   จนในที่สุด  ได้เมืองบางขลัง ศรีสัชนาลัย  และเมืองสุโขทัยคืนได้และพ่อขุนผาเมืองได้อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวขึ้นเป็นเจ้าเมืองสุโขทัยทรงพระนามว่า                       “ศรีอินทรบดินทราทิตย์”    
                   ข้อความในจารึกหลักที่ ๑ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง ในหนังสือประชุมศิลาจารึก ภาคที่ ๑ หน้า  ๑๗ ได้กล่าวถึงราชวงศ์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ว่า มีมเหสีชื่อนางเสือง  โอรสองค์โตเสียชีวิตเมื่อยังเล็ก  โอรสองค์ที่  ๒  พ่อขุนบานเมือง โอรสองค์ที่  ๓ พ่อขุนรามคำแหง หรือรามราช  องค์ที่ ๔  และ ๕  เป็นราชธิดา
                    จากจารึกหลักที่ ๒ และ ๑  นั้นไม่ได้กล่าวถึงเชื้อชาติตระกูล หรือถิ่นฐานของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์  ว่ามาจากที่ใด        พระร่วงได้ครองราชยสมบัติเป็นเป็นสุขมาช้านาน เมื่อแรกขึ้นครองราชย์สมบัติมีพระชนม์ได้ ๓๕พรรษา อยู่ในราชสมบัติได้  ๓๕ พรรษา รวมพระชนมายุ ๗๕ พรรษาก็เสด็จสวรรคต
พระร่วงจากกำแพงเพชร  คือ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์
                         เจ้าเมืองสุโขทัย ทรงพระนามว่า “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์”  จากศิลาจารึก  และ “พระร่วง”  จากประชุมพงศาวดาร ย่อมเป็นบุคคลคนเดียวกัน โดยอาศัยหลักฐานต่อไปนี้
                           ๑.พระร่วงได้ขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. ๑๗๘๑-๑๘๒๑ ซึ่งตรงกับศักราชที่พ่อขุน     ศรีอินทราทิตย์ขึ้นครองราช ย์ ตามที่นักประวัติศาสตร์ตรวจสอบไว้
                           ๒. พงศาวดารพม่าได้บันทึกว่า มะกะโท เข้ามารับราชการที่กรุงสุโขทัยกับพระร่วง เมื่อ พ.ศ. ๑๘๑๕  ซี่งเป็นช่วงที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ยังครองเมืองสุโขทัยอยู่
                  ๓. จากหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์   ในหน้า ๑๑๒-๑๑๓ มีข้อความตอนหนึ่งเชื่อว่าพ่อขุน           ศรีอินทราทิตย์  ประสูติที่บ้านโคน กำแพงเพชร ดังข้อความต่อไปนี้
                    “ ได้ยินว่า  ที่ตำบลที่บ้านโค  ยังมีชายคนหนึ่งรูปงาม มีกำลังมาก  ท่องเที่ยวอยู่ในป่า มีนางเทพธิดาองค์หนึ่ง  เห็นชายคนนั้นแล้ว ใคร่จะร่วมสังวาสด้วย  จึงแสดงมารยาหญิง  ชายคนนั้นก็ร่วมสังวาสกับนางเทพธิดาองค์นั้น  เนื่องจากการร่วมสังวาสของเขาทั้งสองนั้น  จึงเกิดบุตรชายหนึ่งและบุตรชายคนนั้นมีกำลังมาก  รูปงาม เพราะฉะนั้น  ชาวบ้านทั้งปวงจึงพร้อมใจกันทำราชาภิเษกบุตรชายคนนั้น  บุตรชายซึ่งครองราชย์สมบัติในเมืองสุโขทัยนั้น ปรากฏพระนามในครั้งนั้นว่า โรจราช ภายหลังปรากฏพระนามว่า พระเจ้าร่วง”
 พญาลิไท กับวัดพระบรมธาตุนครชุม
วัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง
       เป็นวัดที่ตั้งอยู่ภายในเมืองนครชุม สันนิษฐานว่าสร้างมาแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย ดังความที่ปรากฏในจารึกหลักที่ ๓ ศิลาจารึกนครชุม) กล่าวถึงพระมหาธรรมราชาที่ ๑(ลิไทย) เสด็จฯไปทรงสร้างพระธาตุและทรงปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ที่เมืองนครชุม ใน พ.ศ.๑๙๐๐ พระธาตุที่กล่าวไว้ในจารึกเชื่อกันว่าอยู่ที่วัดพระบรมธาตุแห่งนี้ เจดีย์ที่วัดพระบรมธาตุเดิมมี๓ องค์ องค์กลางเป็นรูปพระเจดีย์ไทย (น่าจะหมายถึงพระเจดีย์ทรงดอกบัวหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์) ฝีมือช่างสมัยสุโขทัย แต่ที่พบในปัจจุบันเป็นแบบพระเจดีย์พม่าเพราะใน   รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชานุญาตให้พ่อค้าชาวพม่าชื่อ “พญาตะก่า” ซ่อมแซมปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ ซึ่งชาวพม่าผู้ศรัทธานั้นได้สร้างตามแบบเจดีย์พม่า และมีขนาดใหญ่กว่าองค์เดิม
                …พระยาลือไทราช ผู้เป็นลูกพระยาเลอไท เป็นหลานแก่พระยารามราช เมื่อได้เสวยราชย์ในเมืองศรีสัชนาลัย สุโขทัย ได้ราชาภิเษกเป็นท้าวพระยาขึ้นชื่อศรีสุริยพงศ์ มหาธรรมราชาธิราช หากเอา   พระศรีรัตนมหาธาตุอันนี้มาสถาปนาในเมืองนครชุมปีนี้นั้น พระมหาธาตุอันนี้ใช้ธาตุอันสามานต์ คือ พระธาตุแท้จริงแล้ เอาลุกแต่ลังกาทวีปพู้นมาดายเอาทั้งพืช พระศรีมหาโพธิ์อันพระพุทธเจ้าเราเสด็จอยู่ใต้ต้นและผจญขุนมาราธิราชได้ปราบแก่สัพพัญญุตญาณเป็นพระพุทธเจ้ามาปลูกเบื้องหลังพระมหาธาตุนี้ ผิผู้ใดได้ไหว้นบกระทำบูชาพระศรีรัตนมหาธาตุและพระศรีมหาโพธิ์นี้ว่าไซร้มีผลอานิสงส์พร่ำเสมอ ดังได้นบตนพระเป็นเจ้าบ้างแล…ข้อความจากจารึกนครชุมที่คัดมาได้บอกประวัติความเป็นมาของวัดพระบรมธาตุได้ชัดเจนที่สุด เป็นวัดที่ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระศรีมหาโพธิ์ มีอายุเก่าแก่กว่า 642 ปี คือตั้งแต่ปี พ.ศ.1900 สมัยพระมหาธรรมราชิลิไทแห่งสุโขทัยวัดพระบรมธาตุเป็นวัดที่สร้างขึ้นมาพร้อมกับเมืองนครชุม เป็นวัดประจำเมืองเหมือนกับวัดพระแก้วประจำเมืองกำแพงเพชร วัดพระบรมธาตุขึ้นทะเบียนเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. ๑๘๕๘ ในสมัยต้นกรุงสุโขทัย เมื่อตีความจากจารึกนครชุม วัดพระบรมธาตุควรจะสร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๗๖๒ ในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เจดีย์มหาธาตุเมืองนครชุมเดิมมีสามองค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน สันนิษฐานว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พ่อขุนรามคำแหง และพญาลิไท สร้างเป็นพุทธเจดีย์ประจำพระองค์วัดพระบรมธาตุเจริญรุ่งเรืองมากว่า ๒๐๐ ปี จนกระทั่งเมืองนครชุมถึงภาวะล่มสลายตามกฎแห่งอนิจจัง เพราะแม่น้ำปิงกัดเซาะแนวกำแพงเมืองนครชุมพังพินาศ ทำให้ความเจริญทางพุทธจักรและอาณาจักรได้สูญสิ้นไปจากเมืองนครชุม เมืองฝั่งตรงข้ามทางทิศตะวันออกคือเมืองกำแพงเพชรได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่          วัดพระบรมธาตุร้างมากว่า ๓๐๐ ปี จนกระทั่งถึงต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ วัดพระบรมธาตุมีหลักฐานที่ชัดเจนอีกครั้ง ใน พ.ศ. ๒๓๔๒ สมเด็จพุฒาจารย์ (โต) แห่งวัดระฆังโฆษิตาราม ได้เสด็จมาเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชร พักที่วัดเสด็จ ได้อ่านจารึกนครชุมที่ประดิษฐาน ณ อุโบสถวัดเสด็จ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ได้ทราบว่ามีเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่ที่ริมแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตกตรงข้ามเมืองเก่าสามองค์ ได้ให้เจ้าเมืองกำแพงเพชร พระยารามรณรงค์สงคราม (น้อย) ได้ป่าวร้องให้ประชาชนแผ้วถาง พบเจดีย์ตามจารึกจริงและปฏิสังขรณ์ขึ้น
          จากพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้นกำแพงเพชร เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ ทรงบันทึกถึงวัดพระบรมธาตุไว้ว่า……ครั้งแรกที่ได้พบเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุและพระพิมพ์เหล่านี้เดิม ณ ปีระกา เอกศก จุลศักราช ๑๒๑๑ (พ.ศ. ๒๓๔๒) สมเด็จพุฒาจารย์โต วัดระฆัง กรุงเทพขึ้นมาเยี่ยมญาติ ณ เมืองกำแพงเพชร ได้อ่านแผ่นจารึกอักษรไทย ที่ประดิษฐานอยู่ ณ อุโบสถวัดเสด็จได้ความว่า มีพระเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมธาตุอยู่ริมแม่น้ำปิงฝั่งตะวันตก ตรงข้ามเมืองเก่า ๓ องค์ ขณะนั้นพระยากำแพง (น้อย) ผู้ว่าราชการเมือง ได้จัดการค้นคว้าพบวัดและเจดีย์สมตามอักษรในแผ่นศิลา จึงป่าวร้องบอกบุญราษฎรช่วยกันแผ้วถางและปฏิสังขรณ์ขึ้น เจดีย์ที่พบมี ๓ องค์ใหญ่ ซึ่งบรรจุพระบรมธาตุชำรุดบ้างทั้ง   ๓ องค์…
     จากหลักฐานบันทึกการตรวจการณ์คณะสงฆ์ เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๖ ของสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ว่าเสด็จทอดพระเนตรโบสถ์ โบสถ์เล็กเตี้ย ฝาผนังตึก ในโบสถ์ไม่มีพระประธานเมื่อทรงสักการะแล้ว ดำรัสสั่งให้พระครูเมธีคุณานุรักษ์เชิญพระพุทธรูปที่บ้านโคน องค์ที่ทรงเลือกมาประดิษฐาน ณ อุโบสถนี้จากหลักฐานที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือว่าด้วยระยะทางล่องลำน้ำปิง ดังนี้กลับมาแวะที่วัดมหาธาตุ ถามพระครูถึงเรื่องศิลาจารึกของพระมหาธรรมราชาลิไท คือ ศิลาจารึก หลักที่ ๓ จารึกเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๐ ซึ่งอยู่ในหอสมุดฯ ทราบว่าได้ไปจากเมืองกำแพงเพชรแต่ยังไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด ได้ทราบจากพระครูชัดเจนว่า ศิลาจารึกแผ่นนั้นเดิมอยู่ที่วัดมหาธาตุแห่งนี้เอง ตั้งอยู่ที่มุขเด็จ วิหารหลวง ภายหลังผู้ว่าราชการเมืองกำแพงเพชรเอาไปรักษา ที่วัดเสด็จแล้วจึงส่งลงไปกรุงเทพ พระครูได้พาไปดูฐานที่ตั้งศิลาจารึกแผ่นนั้นยังอยู่ที่มุขเด็จ เป็นศิลาแลงแท่งใหญ่ พิเคราะห์ดูช่องพอได้กับขนาดศิลาจารึกแผ่นนั้น พระมหาธรรมราชาลิไททำไว้ที่วัดนี้และเมืองนี้ครั้งสมัยสุโขทัยเรียกว่าเมืองนครชุมไม่มีที่สงสัย วิหารหลวงหลังนี้เป็นวิหารเก้าห้อง ก่อด้วยแลงมีกำแพงแก้วก่อด้วยศิลาแลงทั้งแท่ง พระครูบอกว่าเดิมกำแพงชำรุด หักพัง ก้อนศิลาแลงกองเกลื่อนกลาดอยู่ เมื่อซ่อมพระมหาธาตุ ผู้ซ่อมเอาช้างลากก้อนแลงเหล่านั้นลงไปทิ้งน้ำทำเขื่อนกันน้ำเซาะ ยังปรากฏจนทุกวันนี้ องค์พระมหาธาตุนั้น พระครูบอกว่าฐานล่างเป็นศิลาแลง ส่วนพระเจดีย์ก่อด้วยอิฐแบบอย่างเจดีย์สุโขทัย ๓ องค์ อยู่กลางตรงศูนย์กลางพระวิหารองค์หนึ่ง ต่อมาทางตะวันออกองค์หนึ่ง ทางตะวันตกวิหารองค์หนึ่งบนฐานใหญ่เดียวกัน อยู่มามีพม่าพ่อค้าไม้คนหนึ่งเรียกกันว่า “พระยาตะก่า” ขออนุญาตปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุ ครั้งได้รับอนุญาตจากกรุงเทพแล้ว พม่าคนนั้นศรัทธาทำพระเจดีย์ใหม่ให้ใหญ่กว่าเดิม จึงรื้อองค์เดิมทิ้งเสียทั้ง ๓ องค์ พระครูได้ทันเห็นแล้วจึงเอาเข้าบรรจุไว้ใน พระเจดีย์ใหม่ ซึ่งพม่าผู้ศรัทธานั้นสร้างตามพระเจดีย์พม่า ก็ไม่เห็นเจ้าเมืองห้ามปราม พระมหาธาตุเมืองกำแพงเพชร จนกลายเป็นพระเจดีย์พม่าอยู่จนบัดนี้ มีงานไหว้พระมหาธาตุเป็นงานประจำปีทุกปี ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำจนถึง แรม ๑๕ ค่ำ
     หมายเหตุ พระยาตะก่า บูรณะเจดีย์วัดพระบรมธาตุยังไม่แล้วเสร็จ พระยาตะก่าเสียชีวิตก่อน พะโป้น้องชายได้บูรณะต่อมา โดยได้ไปนำยอดฉัตรจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่ามาประดิษฐ์ที่ยอดเจดีย์พระธาตุ โดยได้บริจาคเงินสร้างมากกว่าผู้ว่าราชการสมัยนั้น (เป็นเหตุให้รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสคลองสวนหมาก เพราะอยากพบ คหบดีที่บริจาคเงินจำนวนมากสร้างพระเจดีย์วัดพระบรมธาตุ)วัดพระบรมธาตุนครชุม มีหลักฐานจากแหล่งต่างๆ ที่ชัดเจนแสดงให้เห็นเป็นวัดที่เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองนครชุมอย่างแท้จริง ปัจจุบัน วัดพระบรมธาตุเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ได้รับการสถาปนาตั้งแต่วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๙ ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้รับพระราชทาน             วิสุงคาม สีมา ครั้งหลังเมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๗ เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างเป็นศูนย์กลางการศึกษา  พระปริยัติธรรมสำหรับพระภิกษุและสามเณร
กำแพงเพชรสมัยอยุธยา
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)  กษัตริย์เมืองเทพนคร 
 

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑(พระเจ้าอู่ทอง) เป็นกษัตริย์เมืองเทพนคร 
                  ตำนานกรุงเก่า ตอน 1 ประวัติกรุงเก่า  พระราชพงศาวดารสังเขป  ในหนังสือประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม๕  หน้า ๙  ได้กล่าวว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) เป็นกษัตริย์เมืองเทพนคร ก่อนไปตั้งกรุงศรีอยุธยา โดยคัดลอกข้อความเป็นบางส่วนมาอธิบายดังนี้
                 “ ครั้นเมื่อจุลศักราช ๗๑๒  ปี  พระเจ้าอู่ทองเป็นกษัตริย์ในราชวงศ์เชียงราย  ซึ่งเสวยราชสมบัติในเมืองเทพนคร  เมืองนี้ที่จะอยู่ใกล้กับเมืองที่มีอำนาจ  จะเป็นที่คับแคบ  ซึ่งพระเจ้าอู่ทองจะขยายเขตแดนออกไปอีกไม่ได้  หรือกลัวเมืองอื่นจะมาทำอันตรายได้ง่ายในอย่างใด  จึงได้เสด็จลงมาสร้างเมืองหลวงขึ้นที่ตำบลหนองโสนข้างทิศตะวันตกกรุงศรีอยุธยา”
                จากข้อความ สรุปได้ว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑(พระเจ้าอู่ทอง)ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์เมืองเทพนครต่อจากพระเจ้าศิริไชยเชียงแสน  แล้วจึงย้ายไปสร้างกรุงศรีอยุธยาในคราวหลัง
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)  กษัตริย์เมืองอู่ทอง  เป็นชาวกำแพงเพชร
               กษัตริย์ผู้ครองกรุงสุวรรณภูมิ จาก พงศาวดารโยนก  ในหนังสือประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๗  หน้า  ๔๓๕-๔๓๖    กษัตริย์ผู้ครองกรุงสุวรรณภูมิ ได้เรียงลำดับไว้ว่า ลำดับที่ ๖ พระยากาแต เชื้อนเรศร์หงสา   ลำดับที่ ๗  อู่ทอง มาแต่เชลียง  ลำดับที่   8๘ ขุนหลวงพงั่ว
               ลำดับที่ 7  อู่ทอง มาแต่เชลียง  ซึ่ง “เชลียง”  ก็หมายถึงเมืองกำแพงเพชรนั่นเอง
                เรื่อง “อธิบายรัชกาลครั้งกรุงเก่า” ซึ่งเป็นพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรง ราชานุภาพ ในหนังสือประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๑ หน้า ๓๕๖  ได้กล่าวถึงความเกี่ยวข้องของสมเด็จพระบรมราชาธิราช(หลวงพะงั่ว) กับสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)  ดังนี้
                 “ อธิบาย  เห็นว่าควรจะนับเปนราชวงษ์สุวรรณภูมิ์  เพราะเปนราชโอรสของพระเจ้ากรุงสุวรรณภูมิ์  ไม่ได้ร่วมวงษ์กับสมเด็จเด็จพระรามาธิบดีที่ 1  สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 เป็นแต่เขยราชวงษ์สุวรรณภูมิ์”
                ชาวเมืองสุพรรณบุรี   ได้กล่าวถึงประวัติของเมืองสุพรรณบุรีที่พบได้ในเอกสารต่าง ๆ กล่าวไว้ดอนหนึ่งมีข้อความว่า
                 “เมื่อพระเจ้ากาแต เชื้อสายมอญได้เสวยราชย์ในเมืองอู่ทอง แล้วย้ายราชธานีกลับมาอยู่ที่เมืองพันธุมบุรี ได้มอบหมายให้มอญน้อย (พระญาติ) สร้างวัดสนามไชยและบูรณะวัดลานมะขวิด (วัดป่าเลไลยก์) ในบริเวณเมืองพันธุมบุรีเสียใหม่ เมื่อบูรณะวัดแล้วทางราชการได้เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา และชวนกันออกบวชถึงสองพันคน จึงได้เรียกชื่อเมืองนี้ใหม่ว่า "เมืองสองพันบุรี"
                 เมืองอู่ทอง มีกษัตริย์ครองราชย์สืบต่อกันมาหลายพระองค์ เรียกว่า "พระเจ้าอู่ทอง" ทั้งสิ้น และพระราชธิดาของพระเจ้าอู่ทอง ได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าราม โอรสพระเจ้า
ศิริชัยเชียงแสน ต่อมาพระเจ้ารามขึ้นครองเมืองอู่ทองแทน (พ่อตา) คนทั่วไปก็เรียกว่า "พระเจ้าอู่ทอง"   เมื่อขุนหลวงพะงั่ว (พี่มเหสี) ขึ้นครองเมืองสองพันบุรี และได้ย้ายไปครองเมืองอู่ทอง
เมืองอู่ทองต้องกลายเป็นเมืองร้าง เพราะแม่น้ำจระเข้สามพันเปลี่ยนทางเดินใหม่และตื้นเขิน ซ้ำร้ายยังเกิดโรคห่า (อหิวาตกโรค) อีกด้วย ขุนหลวงพะงั่วจึงย้ายกลับมาประทับที่ เมืองสองพันบุรี และภายหลังจึงได้เปลี่ยนชื่อเมืองนี้เสียใหม่ว่า "เมืองสุพรรณบุรี" เมื่อ พ.ศ.๑๘๙๐”
                  จากหลักฐานที่นำมากล่าวนั้นพอที่จะสรุปได้ว่า  สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑(พระเจ้าอู่ทอง)ได้เป็นราชบุตรเขยของกษัตริย์เมืองอู่ทอง(เป็นน้องเขยหลวงพะงั่ว)  ต่อมา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑(พระเจ้าอู่ทอง) ได้ขึ้นครองเมืองอู่ทอง  และในคราวหลังหลวงพะงั่วได้ขึ้นครองเมืองอู่ทองต่อจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง)
กําแพงเพชรสมัยธนบุรี
         พ.ศ.๒๓๑๓ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดเกล้าฯให้ตั้งพระยาสุรบดินทร์ ข้าหลวง เดิมเป็นพระยากําแพงเพชร
ล่วงมาถึงปีขาล ๒๓๑๓ มีข่าวมาถึงกรุงธนบุรีว่า เจ้าพระฝางให้ส่งกำลังลงมาลาดตระเวณถึงเมืองอุทัยธานี และเมืองชัยนาท เป็นทำนองว่าจะคิดลงมาตีกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้เตรียมกองทัพ จะยกไปตีเมืองเหนือในปีนั้น
พระเจ้ากรุงธนบุรีเสด็จโดยกระบวนทัพเรือ ยกกำลังออกจากกรุงธนบุรี เมื่อวันเสาร์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ไปประชุมพล ณ ที่แห่งใดไม่ปรากฏหลักฐาน
เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบชุมนุมเจ้าพระฝางได้แล้ว ก็เท่ากับได้เมืองเหนือกลับมาทั้งหมด
พระองค์ได้ประทับจัดการปกครองเมืองเหนืออยู่ตลอดฤดูน้ำ เกลี้ยกล่อมราษฎรที่แตกฉานซ่านเซ็น ให้กลับมาอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม จัดการสำรวจไพร่พลในเมืองเหนือทั้งปวง พบว่า เมืองพิษณุโลกมีพลเมือง๑๕,๐๐๐คน เมืองสวรรคโลก มี ๗,๐๐๐คน เมืองพิชัย รวมทั้งเมือง สวรรคบุรี มี ๙๐,๐๐ คน เมืองสุโขทัย มี ๕,๐๐๐ คน เมืองกำแพงเพชร และเมืองนครสวรรค์ มีเมืองละ ๓,๐๐๐ คนเศษ
จากนั้นได้ทรงตั้งข้าราชการซึ่งมีบำเหน็จความชอบในการสงครามครั้งนั้นคือ พระยายมราช ให้เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราช อยู่สำเร็จราชการเมืองพิษณุโลก พระยาพิชัยราชา ให้เป็นเจ้าพระยาพิชัยราชา สำเร็จราชการเมืองสวรรคโลก พระยาสีหราชเดโชชัย ให้เป็นพระยาพิชัย พระยาท้ายน้ำ ให้เป็นพระยาสุโขทัย พระยาสุรบดินทร์ เมืองชัยนาท ให้เป็นพระยากำแพงเพชร พระยาอนุรักษ์ภูธร ให้เป็นพระยานครสวรรค์   เจ้าพระยาจักรี (แขก) นั้นอ่อนแอในสงคราม  มีรับสั่งให้เอาออกเสียจากตำแหน่ง สมุหนายก พระยาอภัยรณฤทธิ์ ให้เป็นพระยายมราช และให้บัญชาการมหาดไทยแทนสมุหนายกด้วย
เมื่อจัดการหัวเมืองเหนือเสร็จแล้ว จึงเสด็จกลับกรุงธนบุรี
   เหตุการณ์ช่วงนี้มีความน่าสนใจตามความเชื่อของชาวบ้านที่กำแพงเพชรเกี่ยวกับที่หลบภัยของกษัตริย์หรืออุโมงค์ ๓๒ ปล่องและสระมรกต เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากทรงกู้เอกราชได้ แต่ยังต้องทำศึกสงครามกับพม่า ซึ่งในตอนหนึ่งประมาณ พ.ศ. ๒๓๑๘ พม่ายกทัพเข้ามาตีเมืองกำแพงเพชรนับหมื่นคน พระยาสุรบดินทร์เจ้าเมืองกำแพงเพชร เห็นเหลือกำลังจะสู้รบจึงเทครัวหนีเข้าป่า แล้วไปแจ้งข่าวยังสมเด็จพระเจ้าตาก พระองค์ท่านทรงให้ยกทัพหลวงมาปราบพม่าที่ตั้งอยู่ในเมืองกำแพงเพชร เมื่อพิจารณาถึงสถานที่หลบภัยของเจ้าเมืองกำแพงเพชรแล้ว อาจเป็นบริเวณอุโมงค์ ๓๒ ปล่องก็เป็นได้ เพราะอยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปเกือบสิบกิโลเมตร ซึ่งในสมัยโบราณเป็นป่าทึบจึงใช้หลบภัยได้ง่าย
ส่วนพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จยกกองทัพหลวงขึ้นไปตั้งอยู่ที่ปากคลองขลุง  ฝ่ายพม่าได้ยกหนีขึ้นไปทางเหนือ  พระเจ้ากรุงธนบุรีก็เสด็จกลับคืนพระนคร  เมื่อวันเสาร์ ขึ้น๑๔ ค่ำ เดือน ๗  กองทัพไทยไล่ตามตี กำลังพม่าที่ยังตกค้างอยู่ในไทยจนถึงเดือน ๑๐ ปีวอก  จึงขับไล่พม่าออกไปจากบ้านเดิมบางนางบวช  แขวงเมืองสุพรรณบุรีต่อกับเมืองนครสวรรค์  หนีออกไปทางด่านเจดีย์สามองค์  สงครามครั้งนี้ได้รบกันตั้งแต่เดือนอ้าย ปีมะแม พ.ศ. ๒๓๑๘  ถึงเดือน ๑๐ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ เป็นเวลา ๑๐ เดือน
กำแพงเพชรสมัยรัตนโกสินทร์
พระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชร



ประวัติความเป็นมาของพระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชร

         พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
   สำหรับครอบครัวแขกชาวปัตตานี ๑๐๐ ครอบครัว ที่พระยากำแพงเพชร (นุช) ได้รับพระราชทานมา ได้จัดให้ครอบครัวแขกปัตตานีไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เกาะท้ายเมืองกำแพงเพชร ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า “บ้านเกาะแขก”  แต่ทุกวันนี้ที่บ้านเกาะแขกและในตัวเมืองกำแพงเพชรไม่มีเชื้อสายของแขกปัตตานีหลงเหลืออยู่เลย ทั้งที่น่าจะมีผู้สืบเชื้อสายหลงเหลืออยู่บ้างเหมือนอย่างต้นตระกูลของชาวนครชุมที่เดิมเป็นชาวเวียงจันทน์ถูกกวาดต้อนมาในสมัยปลายรัชกาลที่ ๓ ให้มาตั้งรกรากเป็นเลกวัดเฝ้าพระธาตุอยู่ที่คลองสวนหมาก ตำบลนครชุม ออกลูกหลานเป็นคนไทยไปแล้ว  ส่วนครอบครัวแขกปัตตานีที่มาอยู่ทางบ้านเกาะแขกนั้นสูญหายไร้ร่องรอยไปอย่างไม่เหลือสายพันธุ์ ทั้งที่เป็นชุมชนใหญ่มีขนาด ๑๐๐ ครอบครัว และเป็นมุสลิมที่มาจากทางใต้ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดอยากที่จะรับวัฒนธรรมและกลายเป็นศาสนาอื่นได้
   จากการค้นหาร่องรอยของครอบครัวแขกปัตตานีที่บ้านเกาะแขกว่าเคลื่อนย้ายหายไปไหนได้ความว่า หลังจากมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เกาะแขกท้ายเมืองกำแพงเพชรแล้ว ด้วยความเป็นชุมชนใหญ่ถึง ๑๐๐ ครัวเรือนและเคร่งครัดในการนับถือศาสนาอิสลามจนยากที่จะรับวัฒนธรรมต่างถิ่นทำให้ดูเหมือนเป็นพวกหัวรุนแรงและใฝ่ใจที่จะกลับคืนสู่ดินแดนของตนเอง จนมีข่าวออกมาว่าครอบครัวแขกปัตตานีคิดกบฏต่อต้านอำนาจรัฐจึงมีคำสั่งจากเมืองหลวงให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองคอยกวดขันหรือกวาดล้างเสียให้สิ้นซาก จึงอาจเป็นเหตุให้แขกปัตตานีทั้ง ๑๐๐ ครอบครัวพากันอพยพหนีหายไปจากบ้านเกาะแขกเมืองกำแพงเพชรจนไม่เหลือแม้กระทั้งครอบครัวเดียว มิฉะนั้นทุกวันนี้ที่บ้านเกาะแขกอาจมีชุมชนไทยมุสลิมอยู่กันอย่างหนาแน่นเหมือนชุมชนมหานาค ชุมชนหนองจอก ที่กรุงเทพมหานคร และบางแห่งในจังหวัดฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา ที่ครอบครัวแขกปัตตานีถูกจับมาปล่อยไว้ก็เป็นได้ในส่วนของพระแสงดาบด้ามทองฝักทองของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกซึ่งพระราชทานให้แก่พระยากำแพงเพชร (นุช) เจ้าเมืองกำแพงเพชรเป็นบำเหน็จเมื่อครั้งไปรบทัพชนะที่เมืองปัตตานี เมื่อพระยากำแพงเพชร (นุช) ถึงแก่อนิจกรรม ดาบฝักทองเล่มนี้ได้ตกทอดเป็นสมบัติของท่านผู้หญิงแพง บุตรีพระยากำแพงเพชร (นุช) ซึ่งคุณหญิงแพงได้แต่งงานกับพระยากำแพงเพชร (นาค) และได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรต่อจาก พระยากำแพงเพชร (นุช) ผู้เป็นพ่อตา จึงได้รับดาบด้ามทองฝักทองพระราชทานมาเป็นสมบัติประจำตระกูลพระยากำแพงเพชร (นาค) มีบุตรชายได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรถึง ๔ คน คือ พระยากำแพงเพชร (บัว) พระยากำแพงเพชร (เถื่อน) พระยากำแพงเพชร (น้อย) และ พระยากำแพงเพชร (เกิด) ซึ่งเจ้าเมืองกำแพงเพชรทุกท่านต่างได้รับการสืบทอดดาบด้ามทองฝักทองพระราชทานกันมาตามลำดับ จนมีเจ้าเมืองกำแพงเพชรมาจากสายสกุลอื่น ดาบฝักทองพระราชทานจึงได้ตกมาเป็นสมบัติพระยารามรณรงค์สงคราม (อ้น) ซึ่งเป็นบุตรชายของพระยากำแพงเพชร (เกิด) และได้ขึ้นเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรต่อจากพระยามหานุภาพเจ้าเมืองกำแพงเพชรจากสายสกุลอื่น เมื่อพระยากำแพงเพชร (อ้น) ถึงแก่กรรม พระยากำแพงเพชร (หรุ่น) ซึ่งเป็นบุตรเขยของกำแพงเพชร (เกิด) ได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรคนสุดท้ายของตระกูลพระยากำแพงเพชร ด้วยถูกถอดออกจากตำแหน่งให้เป็นพระยามหาพฤฒาพิสิฎฐ์ ไปสนองพระบรมราชโองการที่เมืองหลวงในสมัยรัชกาลที่ ๕ และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้  หลวงสรรค์บุรานุรักษ์ นายอำเภอสรรคบุรี เมืองชัยนาท มารั้งตำแหน่งว่าราชการงานเมืองแทน โดยได้รับพระราชทินนาม “พระวิเชียรปราการ” ต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองกำแพงเพชร       
พระยากำแพงเพชร (หรุ่น) เจ้าเมืองตระกูลพระยากำแพงเพชรคนสุดท้าย
   เมื่อสิ้นสุดตระกูลเจ้าเมืองกำแพงเพชรที่สืบครองต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนาน ดาบด้ามทองฝักทองพระราชทานได้เป็นมรดกตกทอดมายังหลวงพิพิธอภัย  ลูกชายพระยากำแพงเพชร (อ้น) หลานพระยากำแพงเพชร (เกิด)   หลวงพิพิธอภัย จึงเป็นผู้ครอบครองดาบด้ามทองฝักทองพระราชทานเป็นคนสุดท้ายของตระกูลพระยากำแพงเพชร
   หลวงพิพิธอภัย  ซึ่งเป็นผู้ครอบครองดาบด้ามทองฝักทองพระราชทานเป็นคนสุดท้าย ได้ถวายดาบพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชรในวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานคืนให้เป็นพระแสงราชศาตราประจำเมืองกำแพงเพชร ดังบทพระราชนิพนธ์ในจดหมายเหตุเสด็จประพาสต้นความว่า
   พระพุทธเจ้าหลวง เสด็จกำแพงเพชร ๑๐ วัน   ( ๑๘ สิงหาคม – ๒๗ สิงหาคม ๒๔๔๙)
“วันที่ ๒๖ หมายจะยังไม่ตื่นแต่หมาเข้าไปปลุก ๒ โมงเศษ กินข้าวแล้วออกไปแจกของให้ผู้ที่มาเลี้ยงดูและรับทั้งผู้หญิงผู้ชาย  หลวงพิธอภัย  ผู้ช่วยซึ่งเป็นบุตรของพระยากำแพง (อ้น) นำดาบฝักทอง ซึ่งพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานแก่พระยากำแพง (นุช) เป็นบำเหน็จเมื่อไปทัพแขกแล้วตกมาแก่พระยากำแพง (นาค) ซึ่งเป็นสามีแพง บุตรีพระยากำแพง (นุช) บุตรพระยากำแพง (นุช) และแพงภรรยาได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองกำแพงต่อมา ๔ คน คือ พระยากำแพง (บัว) พระยากำแพง (เถื่อน) พระยากำแพง (น้อย) พระยากำแพง (เกิด) ได้รับดาบเล่มนี้ต่อ ๆ กันมา   ครั้นพระยากำแพง (เกิด) ถึงแก่อนิจกรรมผู้อื่นนอกจากตระกูลนี้ได้มาเป็นพระยากำแพงหลายคน ดาบตกอยู่แก่นายอ้นบุตรพระยากำแพง (เกิด) ซึ่งเป็นบิดาหลวงพิพิธอภัย ภายหลังนายอ้นได้เป็นพระยากำแพง ครั้นพระยากำแพง (อ้น) ถึงแก่กรรม ดาบจึงตกอยู่กับหลวงพิพิธอภัยบุตรผู้นำมาให้นี้  พิเคราะห์ดูก็เห็นว่าจะเป็นดาบพระราชทานจริง  เห็นว่าเมืองกำแพงเพชรยังไม่มีพระแสงสำหรับเมือง เช่น แควใหญ่ ไม่ได้เตรียมมาจึงมอบดาบเล่มนี้ไว้เป็นพระแสงสำหรับเมือง ให้ผู้ว่าราชการเมืองรักษาไว้สำหรับใช้ในการพระราชพิธี”
พระวิเชียรปราการเจ้าเมืองกำแพงเพชร
ผู้ว่าราชการเมืองกำแพงเพชรที่เข้าเฝ้ารับมอบดาบพระราชทานหรือพระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชรจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๔๙ คือพระวิเชียรปราการเจ้าเมืองกำแพงเพชรหรือหลวงสรรค์บุรานุรักษ์ (ฉาย  อัมพเศวต) ซึ่งมาดำรงตำแหน่งแทนพระยากำแพงเพชร (หรุ่น) ปัจจุบันพระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชรองค์นี้ได้เก็บรักษาเอาไว้ในความดูแลของทางราชการโดยเก็บไว้ในห้องคลังบนศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร และจะอัญเชิญมาแต่งตั้งประดิษฐานในมณฑลพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราช วันที่ ๕ ธันวาคม ของทุกปี ณ ศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร หรือเฉพาะในงานราชพิธีเท่านั้น

   
พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรที่กำแพงเพชร

     ในหลวงกับการเสด็จกำแพงเพชร 3 ครั้ง
“ครั้งที่ ๑ เสด็จบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรฯ”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช “ ในหลวง”  ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย  ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก ได้ทรงอุทิศพระวรกาย พระราชหฤทัย และพระสติปัญญาบำเพ็ญพระราชกรณียกิจทั้งปวงเพื่ออาณาประชาราษฎร์ของพระองค์อย่างมากมายมหาศาล จนยากยิ่งที่จะหาพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในโลกมาเทียบเคียงได้ ดังนั้นในโอกาสมหามงคล จึงขอนำเรื่องราวแห่งความปลื้มปิติมาน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อชาวกำแพงเพชรด้วยการเสด็จถึง ๓ ครั้ง   
ตลอดระยะเวลากว่า ๖ ๙ ปีที่ทรงครองราชย์ เป็นช่วงเวลาที่พระองค์ทรงงานอย่างไม่เคยว่างเว้น และทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่พร้อมทั้งความบริสุทธิ์และบริบูรณ์ ตลอด ๖๙ ปีที่ผ่านมา จึงเป็นช่วงเวลาที่พสกนิกรชาวไทยอยู่ได้อย่างร่มเย็นเป็นสุขภายใต้ร่มพระบารมี พระราชกรณียกิจทั้งหลายที่พระองค์ทรงบำเพ็ญ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่เปรียบมิได้ที่พระองค์ทรงมีต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินเมืองกำแพงเพชรเพื่อทรงประกอบพระราชกรณียกิจและทรงเยี่ยมราษฎรถึง ๓ ครั้ง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ที่ยังคงประทับตราตรึงอยู่ในจิตของปวงชนชาวกำแพงเพชรอยู่มิรู้เสื่อมคลาย พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เสด็จพระราชดำเนินในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร มีดังนี้
ครั้งที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จในพื้นที่ของจังหวัดกำแพงเพชรโดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ บริเวณวังโบราณในเขตอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๑๐ เนื่องในวันคล้ายทรงกระทำยุทธหัตถีชนะพระมหาอุปราช
ในการเสด็จเมื่อครั้งนั้นทั้งสองพระองค์ยังทรงได้ปลูกต้นสักเอาไว้ที่หน้าศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร (ปัจจุบันเป็นที่ว่าการอำเภอเมืองกำแพงเพชร) ซึ่งสักทั้ง ๒ ต้น ได้เจริญงอกงามเป็นอนุสรณ์แห่งพระมหากรุณาธิคุณอยู่จนทุกวันนี้
ความเป็นมาของการเสด็จทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและบวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชดำริว่า การเสด็จไปถวายราชสักการถวายบังคม ณ พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์เพียงแห่งเดียว ยังไม่เป็นการเพียงพอ ด้วยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้นได้ทรงประกอบพระมหาวีรกรรมไว้ใหญ่หลวงนัก ได้ทรงกอบกู้เอกราชและนำความร่มเย็นเป็นสุขมาสู่ชาติบ้านเมืองและอาณาประชาราษฎร ซึ่งนับเป็นมหากรุณาธิคุณแก่ชาติไทยอย่างเหลือล้น  จึง  สมควรที่จะได้เผยแพร่พระราชกฤษฎาภินิหาร เทิดทูนพระเกียรติคุณโดยกตัญญุตาธรรมให้ยิ่งขึ้น
ทรงพระราชดำริว่าไม่มีทางใดที่จะดีกว่าเสด็จฯ ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลบวงสรวง อุทิศส่วนพระราชกุศลถวายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  และบรรดาบรรพชนชาวไทยในอดีตที่ได้เสียสละเลือดเนื้อเป็นชาติพลี ณ สถานที่ต่าง ๆ อันเป็นที่ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้เคยประทับ ได้เคยทรงประกอบพระวีรกรรม ได้เคยชุมนุมทัพหรือได้เคยกรีฑาทัพผ่าน
ดังนั้นในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๑๐  พระองค์ท่านจึงได้เสด็จไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศล บวงสรวงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ บริเวณพระราชวังโบราณในเขตจังหวัดกำแพงเพชร ด้วยเพราะเมืองกำแพงเพชรเคยเป็นสถานที่ตั้งทัพหลวงของพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช












ในหลวงเสด็จกำแพงเพชรเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๑๐









“ครั้งที่ ๒ เสด็จวัดคูยาง”

   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินเมืองกำแพงเพชรเป็นครั้งที่ ๒เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้าสิรินธร ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินส่วนพระองค์ ณ วัดคูยาง อำเภอเมืองกำแพงเพชร และทรงถวายพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเป็นทุนเริ่มต้นในการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่
   วัดคูยาง  ตั้งอยู่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร สภาพเดิมของวัดเคยเป็นวัดร้างมาแต่ครั้งโบราณ ไม่น้อยกว่า ๔๐๐ปี เคยมีซากโบราณสถาน อุโบสถและแท่นพระประธานก่อด้วยศิลาแลง วัดเดิมชื่ออะไร ใครเป็นผู้สร้าง และสร้างในสมัยใด ไม่มีใครรู้ได้แน่ชัด แต่ทราบต่อมาว่าเมื่อราวสมัยรัชกาลที่ ๔ ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๓๙๙ ได้มีการสร้างวัดขึ้นมาใหม่ในบริเวณที่ตั้งวัดเดิม
   ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เจ้าเมืองกำแพงเพชรได้เข้าร่วมทัพไปปราบเมือง                      ศรีสัตนาคหุต ตีเมืองเวียงจันทน์และหลวงพระบางได้สำเร็จ จึงได้รับบำเหน็จเป็นเชลยชาวเวียงจันทน์ ขมุ และยาง(กะเหรี่ยง) มาหลายร้อยครัวเรือน และได้จัดให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ตามเขตนอกเมืองกำแพงเพชรและที่ปากคลองสวนหมากฝั่งนครชุม
   ชาวขมุและชาวยางที่เข้ามาปักหลักสร้างฐานมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาจึงขออนุญาตต่อ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ทำการสร้างอุโบสถด้วยการขุดคูขนาดกว้าง ๖ วา ลึก ๒ วา แล้วเอาดินขึ้นมาถมพื้นที่ และยังเอาดินมาทำเป็นอิฐ กระเบื้องมุงหลังคาโบสถ์ วิหาร ส่วนทางด้านทิศใต้ได้สร้างหอไตรเอาไว้กลางคูน้ำ เพื่อป้องกันมดปลวกเข้ามารบกวนพระคัมภีร์ ด้วยศรัทธาอันแรงกล้าของชาวยางที่มุ่ง  ส่งเสริมพระพุทธศาสนาชาวบ้านเลยให้ชื่อวัดแห่งนี้ว่า “วัดคูยาง” (ยางหมายถึงชาว กระเหรี่ยง)
เมื่อได้มีการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ของวัดคูยางเสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๓ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้อัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ   ภ.ป.ร. มาประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถทางด้านหน้า และพระนามาภิไธย่อ ส.ก. มาประดิษฐานที่หน้าบันอุโบสถทางด้านหลังของอุโบสถวัดคูยาง
ถัดมาวันที่ ๓ กุมภาพันธ์  ๒๕๒๗ ได้ทรงพระราชทานนามพระพุทธรูปประธานซึ่งหล่อแบบศิลปะสุโขทัย หมวดกำแพงเพชร ขนาดหน้าตักกว้าง ๖ ศอก ๙ นิ้ว ว่า “พระพุทธวชิรปราการ”
   วัดคูยางจึงถือเป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองกำแพงเพชร ด้วยเหตุเพราะมีโบราณสถาน โบราณวัตถุและมีพระภิกษุจำพรรษาอยู่เป็นจำนวนมาก   จึงเป็นวัดที่พระเจ้าแผ่นดินและบุคคลสำคัญได้เสด็จมาเยี่ยมเยียนอยู่เป็นประจำ ดังหลักฐานที่ได้มีการบันทึกเอาไว้ดังนี้
   เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๔๙ พระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จวัดคูยางดังพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสต้นได้กล่าวไว้ดังนี้  “....วัดคูยางมีลำคูกว้างประมาณ ๖ หรือ ๘ วา มีน้ำขัง กุฏิและหอไตรตั้งอยู่ในน้ำแปลกอยู่ต่อข้ามคูเข้าไปจนถึงพระอุโบสถ ทางที่เข้าไปเป็นทิศตะวันตกด้านหลังหันหน้าออกทุ่ง มีพระอุโบสถหลังย่อมหลังหนึ่ง วิหารใหญ่หลังหนึ่ง ก่อด้วยศิลาแลงเสริมอิฐถือปูน หลังคาเห็นจะผิดรูปเตี้ยแบนไป หลังวิหารมีพระเจดีย์มีฐาน ๓ ชั้น อย่างพระเจดีย์เมืองนี้แต่ข้างบนแปลงเป็นพระปรางค์ เห็นจะแก้ไขขึ้นใหม่โดยพังเสียแล้ว ไม่รู้ว่ารูปทรงเดิมเป็นอย่างไร ในวิหารมีพระพุทธรูป  ต่าง ๆ ข้างจะดี พระครูเลือกไว้ให้เป็นพระ ๔ ลีลา สูงศอกคืบกับอะไรอีกองค์หนึ่งต้นเต็มที่ ไม่ชอบจึงได้เลือกเอาเอง ๔ องค์ เป็นพระยืนกำแพงโบราณแท้ เช่น เขมรองค์ ๑ พระนาคปรกขาดฐาน เขาหล่อฐานเติมขึ้นไว้องค์ ๑ พระกำแพงเก่าอีกองค์หนึ่ง พระชินราชจำลองเหมือน พอใช้อีกองค์ ๑ กลับจากวัดหยุดถ่ายรูปบ้าง จนเที่ยงจึงได้ลงเรือเหลือง”   








                         เสด็จวัดคูยางเมื่อวันที่ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๕


   







ในหลวงกับราษฎรที่รอรับเสด็จที่วัดคูยาง

 “ครั้งที่ ๓ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานธงลูกเสือชาวบ้าน”

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินเมืองกำแพงเพชรเป็นครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๒๑ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้าสิรินธรได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้านของอำเภอต่าง ๆ 117 รุ่น ณ อำเภอเมืองกำแพงเพชร และทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเข้าเฝ้ารับเสด็จฯ อยู่ในบริเวณนั้น
            ในครั้งนั้นได้มีราษฎรกิโล 2 บ้านกิโล 3 บ้านกิโล 6 และชาวบ้านใกล้เคียงในเขตอำเภอเมืองกำแพงเพชรได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานให้ทรงช่วยเหลือจัดหาน้ำให้ราษฎรเพื่อใช้ในการเพาะปลูกและอุปโภคและบริโภคได้ตลอดทั้งปี
   เมื่อพระองค์ได้ทรงทราบถึงทุกข์ของชาวบ้านกำแพงเพชร จึงได้ทรงให้กรมชลประทาน ดำเนิน"โครงการพระราชดำริคลองท่อทองแดง" เพื่อนำน้ำจากแม่น้ำปิงไปยังเมืองบางพาน อำเภอพรานกระต่าย อันเป็นการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำทำนาเช่นเดียวกับอดีต
            พระราชดำริอันล้ำเลิศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานแผนที่เส้นทางคลองส่งน้ำให้แก่กรมชลประทาน เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๒๑ เพื่อขุดลอกแนวคลองท่อปู่พระยาร่วงซึ่งมีมาแต่ครั้งโบราณแล้วนำน้ำจากแม่น้ำปิงเข้ามาใช้แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในการทำนา ตามที่ราษฎรบริเวณนั้นได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาทรงทราบ แนวคลองดังกล่าวได้สร้างแล้วเสร็จตามโครงการ    (พ.ศ. ๒๕๒๔-๒๕๒๘) สร้างความร่มเย็นเป็นสุขแก่ประสบนิกรในอาณาบริเวณนั้นหลายพันครัวเรือน
             แต่เดิมมีแนวคลองท่อปู่พระยาร่วงจากกำแพงเพชรจนถึงบางพาน ตามที่ปรากฏในจารึกหลักที่ ๑๓ พ.ศ. ๒๐๕๓ ซึ่งกล่าวถึงการบูรณะขุดลอกแนวคลองที่ถมหายนำน้ำไปเลี้ยงนาบริเวณเมืองบางพานให้เป็นนาเหมืองนาฝาย มิได้เป็นนาทางฟ้าเหมือนเมื่อสมัยเกือบ ๕๐๐ ปีมาแล้วนั้น
            "ท่อปู่พระยาร่วง" เป็นคลองชลประทานปรากฏนามในจารึก พ.ศ. ๒๐๕๓ บนฐานเทวรูปพระอิศวร พบที่เมืองโบราณกำแพงเพชร  ปัจจุบันเทวรูปนี้ประดิษฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัด         


กำแพงเพชรเมืองมรดกโลก
ยูเนสโก ประกาศให้ "อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร" ของไทยให้เป็นแหล่งมรดกโลกขึ้นทะเบียนมรดกโลกปี พ.ศ. 2534
ที่ตั้ง :
1.อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อ.เมือง จ.สุโขทัย 64210 โทรศัพท์/โทรสาร 055 611 110
2.อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย โทรศัพท์/โทรสาร 055 641 571
3.อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร อ.เมือง จ.กำแพงเพชร โทรศัพท์/โทรสาร 055 711 921
คุณค่าความเป็นมรดกโลก

ปัจจุบันสุโขทัย ศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชร เป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่ปรากฏหลักฐานร่องรอบของอารยธรรมอันรุ่งเรืองในอดีต สะท้อนให้เห็นภาพของอาณาจักรสุโขทัยในความเป็น "รุ่งอรุณแห่งความสุข" และเป็นรุ่งอรุณของประวัติศาสตร์ชาติไทย เมื่อครั้งเริ่มก่อตั้งบ้านเมืองในฐานะรัฐอิสระ จนกลานเป็นรัฐสำคัญของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18-19 เป็นเวลานานถึงกว่า 200 ปี ด้วยความโดดเด่นนี้เอง สงผลให้เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร ได้รับการอนุรักษ์และพัฒนาให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์และได้รับการขึ้นทะเบียนไว้ในบัญชีรายชื่อแหล่งมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ.2534 ด้วยคุณค่าและความโดดเด่นตามเกณฑ์มาตรฐาน ดังนี้
หลักเกณฑ์ข้อที่ 1 เป็นตัวแทนที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ด้านศิลปกรรมที่มีความงดงามและเป็นผลงานชิ้นเอกที่ได้รับการสร้างสรรค์จากอัจฉริยภาพด้านศิลปะอย่างแท้จริง
หลักเกณฑ์ข้อที่ 2 เป็นสิ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่หาได้ยากยิ่ง หรือหลักฐานที่แสดงขนบธรรมเนียม ประเพณี หรืออารยธรรม ซึ่งยังหลงเหลืออยู่ หรืออาจสูญหายไปแล้ว
โบราณวัตถุและโบราณสถานที่ปรากฏอยู่ในเมืองประวัติศาสตร์ทั้ง 3 เมืองนี้ แสดงให้เห็นถึงผลงานสร้างสรรค์ อันล้ำเลิศของมนุษย์ ความงดงามอลังการของสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมสุโขทัยเป็นต้นแบบที่มีอิทธิพลต่อศิลปกรรมไทยทุกสกุลช่างในระยะต่อมา ความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะของเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ และพระพุทธรูปปางลีลา เป็นสิ่งยืนยันถึงความสำเร็จของศิลปกรรมในยุคแรกนี้ได้เป็นอย่างดี
หลักฐานที่เป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุของเมืองโบราณทั้ง 3 แหล่ง ซึ่งยังคงปรากฏอยู่ในปัจจุบัน แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศาสนา สุโขทัยนับเป็น “รุ่งอรุณแห่งความสุข” และเป็นรุ่งอรุณของประวัติศาสตร์ชาติไทย นับแต่การก่อตั้งบ้านเมืองเป็นรัฐอิสระ กระทั่งกลายเป็นรัฐสำตัญของภูมิภาคเอเชัยอาคเนย์ในสมัยนั้น และได้กระจายอำนาจและความเจริญไปสู่เมืองบริวาร ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร ประกอบกันเป็นอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ และด้วยความงดงามทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น อันเป็นตัวแทนของศิลปกรรมสยามในยุคแรก และเป็นต้นกำเนิดการสร้างประเทศ ทำให้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก เมื่อปีพ.ศ.2534

อุทยานประวัติศาสตร์ทั้ง 3 แห่ง อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันและมีอายุไล่เลี่ยกันด้วย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 70 ตารางกิโลเมตร ในอดีตเคยเป็นนครหลวงแห่งแรกของไทย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18-20 เมื่อชนชาติไทยได้เริ่มตั้งรกรากวางรากฐานทางการเมืองและเศรษฐกิจ เป็นแหล่งที่วัฒนธรรมเจริญงอกงามสูงสุดยุคหนึ่ง มีโบราณสถานทั้งสิ้นอย่างน้อน 25 แห่ง ตั้งอยู่ท่ามกลางป่าเขาและธรรมชาติ สุโขทัยนับเป็นอีกแห่งหนึ่งที่วัฒนธรรมของชนชาติได้วิวัฒนาการถึงขั้นสูงสุด จนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของโลก ยูเนสโกได้เคยจัดส่งผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาแนะนำในการจัดทำแผนแม่บทสุโขทัย และให้ความช่วยเหลือทางด้านอุปกรณ์การเงิน และอื่นๆ ในขณะเดียวกันได้ทำการรณณรงค์ระดับนานาชาติเพื่อการสงวนรักษาแหล่งโบราณสถานสุโขทัย ทั้งยังจัดตั้งคณะทำงานร่วมไทย-ยูเนสโก เพื่อติดตามผลการดำเนินการในโครงการนี้ การดำเนินการของยูเนสโกในโครงการอนุรักษ์โบราณสถานของสุโขทัยนี้ ทำให้ชื่อเสียงของสุโขทัยเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลกและได้กลายเป็นแหล่งตัวอย่างข้อมูลการอนุรักษ์โบราณสถานในภูมิภาคนี้ของผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ
 อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ไม่ไกลจากเมืองเก่าสุโขทัยเท่าใดนัก ลักษณะของศิลปะและสถาปัตยกรรมในอุทยานแห่งนี้เป็นศิลปะแบบเดียวกับที่ปรากฏในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีโบราณสถานที่สวยงามและขนาดใหญ่มากมายหลายแห่ง ในอดีตเมืองกำแพงเพชรถือเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของอาณาจักรสุโขทัย
ตั้งอยู่ในอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย ในอดีตศรีสัชนาลัย มีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงเอกของสุโขทัย สถาปัตยกรรมที่ยังหลงเหลืออยู่แสดงให้เห็นว่าประชากรมีการจัดระเบียบทางสังคมดี มีการสร้างวัดวาอารามหลายแห่ง ทั้งในและนอกเขตกำแพงเมือง โดยมีไม่น้อยกว่า 100 วัด ทางด้านศิลปะ สถาปัตยกรรม ปรากฏว่าชาวเมืองศรีสัชนาลัยมีความรู้ความสามารถในการขุดตักศิลาแลงธรรมชาติมาใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้างศาสนสถาน และถาวรวัตถุอื่นๆ รวมทั้งเป็นวัตถุหลักในการสร้างประติมากรรม นอกจากนี้ลวดลายปูนปั้น ซึ่งประดับอยู่ตามโบราณสถานต่างๆ ยังมีความสวยงามประณีตแสดงถึงความก้าวหน้าทางศิลปกรรม อันเป็นแบบแผนของคนไทยมาโดยตลอด นอกจากนี้ศรีสัชนาลัยยังเป็นแหล่งผลิตเครื่องสังคโลกที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคนี้อีกด้วย
การจัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
   กรมศิลปากรได้ดำเนินการคุ้มครองป้องกันโบราณสถานเมืองกำแพงเพชรและเมือนครชุม โดยการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อ พ.ศ. 2478 และ พ.ศ. 2480 ต่อมาได้ประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดขอบเขตอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2511 ในส่วนของการขุดแต่ง บูรณะ และพัฒนาโบราณสถาน ได้เริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2508 จนถึง พ.ศ. 2525 กรมศิลปากรจึงได้บรรจุงานปรับปรุงโบราณสถานเมืองกำแพงเพชรในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (2525 – 2529) โดยใช้ชื่อ โครงการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร มุ่งเน้นการอนุรักษ์และพัฒนากลุ่มโบราณสถานทั้งภายในเมืองเนื้อที่ 503 ไร่ และเขตอรัญญิก เนื้อที่ 1,611 ไร่ เพื่อป้องกันมิให้ถูกทำลายหรือเสื่อมค่า พัฒนาโบราณสถาน และบริเวณเพื่อให้เป็นแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม เกิดความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติ กรมศิลปากรได้ดำเนินการเปิดอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรอย่างเป็นทางการเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 18 เมษายน พุทธศักราช 2534 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จเป็นองค์ประธาน
   โบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ยังเป็นงานสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ทั้งในด้านการใช้วัสดุศิลาแลงเป็นวัสดุก่อสร้าง รูปแบบทางศิลปกรรมเป็นของแท้ดั้งเดิมที่แสดงถึงฝีมือและความเชื่อของบรรพชนในอดีต ตลอดจนโบราณสถานรวมกลุ่มหนาแน่นในบริเวณป่าธรรมชาติ ซึ่งยังคงบรรยากาศพุทธสถานเขตอรัญวาสีดังเช่นในอดีต ดังนั้นคณะกรรมการมรดกโลกแห่งอนุสัญญาคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและฑรรมชาติของโลก จึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองสุโขทัยและเมืองบริวารคือ เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองกำแพงเพชรเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปีพุทธศักราช 2534
   โบราณสถานของเมืองกำแพงเพชร เกือบทั้งหมดเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์ โดยมีอายุไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 19 หรือสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไท พุทธศาสนาในสมัยนั้นมีพระสงฆ์สองฝ่ายคือ ฝ่ายคามวาสีหรือวัดที่อยู่ในเมือง และอรัญวาสีหรือฝ่ายที่อยู่นอกเมือง

โบราณสถาน โบราณวัตถุที่สำคัญในเมืองกำแพงเพชร
  กำแพงเมืองกำแพงเพชร
 เมืองกำแพงเพชร มีชื่อที่เรียกขานอย่างเป็นทางการว่ากำแพงเพชร ภาษาบาลี เรียกว่า
วชิรปราการ ซึ่งแปลว่ากำแพงเพชรเหมือนกัน กำแพงเมืองกำแพงเพชร แข็งแกร่งและงดงามราวกับเพชร จนทำให้เกิดตำนาน การสร้างกำแพงเมืองว่าผู้สร้างคือพระวิษณุกรรม เทพเจ้าแห่งช่างเป็นผู้สร้าง ตามตำนานสิงหนวัติกุมารที่บันทึกไว้ว่า....
........พระเจ้าพรหม ขับไล่ขอมดำ จากเหนือลงสู่ใต้ มาติดลุ่มน้ำแม่ปิง ไม่สามารถหนีต่อไปได้พระอินทร์ เกรงผู้คนจะล้มตายจนสูญเผ่าพันธุ์ จึงโปรดให้พระวิษณุกรรม เนรมิตรกำแพงเมืองขึ้น กำแพงนั้นคือ กำแพงเพชร ....พระเจ้าชัยศิริ โอรสพระเจ้าพรหม อพยพผู้คนลงมาทางใต้ เห็นแนวกำแพงที่แข็งแกร่งและงดงาม จึงตั้งเมืองกำแพงเพชรขึ้น ในราวพุทธศักราช 1600 ...กำแพงเมืองกำแพงเพชร เป็นที่เล่าลือกันมากว่าสร้างอย่างแข็งแกร่ง ใครๆกำเกรงและเรียกขานว่ากำแพงเพชรเป็นสมรภูมิที่มั่นคงที่สุด
.....สัญลักษณ์ของจังหวัดกำแพงเพชร คือกำแพงเมือง ซึ่งมีลักษณะเป็นรูป สี่เหลี่ยมผืนผ้า บวกกับสี่เหลี่ยมคางหมู แต่เป็นลักษณะโค้งเล็กน้อย ขนานไปกับลำน้ำปิงฝั่งตะวันออก ความยาวของกำแพงด้านเหนือ 2,200 เมตร ความยาวทางด้านใต้ 2,000เมตร ด้านกว้างทางทิศตะวันออก กว้าง 500 เมตร ด้านแคบสุดทางทิศตะวันตก ประมาณ 250 เมตร..
.....กำแพงเมืองกำแพงเพชร มีลักษณะเป็นตรีบูร คือมีคูน้ำและคันดินสามชั้น มีระบบการนำน้ำจากแม่น้ำปิงมาเลี้ยงคูเมืองโดยรอบทั้ง 3 ชั้น ทางคลองที่ไขน้ำเข้าบริเวณมุมเมืองได้ถูกทับถมตื้นเขินหมดสภาพไปแล้วแต่สามารถเห็นร่องรอยได้..
.......กำแพงเมืองชั้นใน เป็นชั้นที่แข็งแรงที่สุด โดยมีลักษณะการก่อสร้างแกนในที่เป็นดินที่ขุดจากคูเมืองขึ้นมาถมเป็นคันดินก
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!