จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
มีนาคม 29, 2024, 12:49:42 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เชิญร่วมวิพากย์ รัฐธรรมนูญ ฉบับ อภิมหา พิสดาร รัฐ ๒รัฐ ทำงานพร้อมกัน ทางคลื่น  (อ่าน 2515 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1410


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: กันยายน 01, 2015, 02:10:52 pm »

เชิญร่วมวิพากย์ รัฐธรรมนูญ  ฉบับ อภิมหา พิสดาร  รัฐ ๒รัฐ ทำงานพร้อมกัน ทางคลื่น ๑๐๐.๒๕ วันพุธที่ ๒ กย. เวลา ๑๕.๐๐ น. โดย อ.สันติ อภัยราช และอ.อุบลรักษ์ สุวรรณรักรัศมี ทาง หมายเลข ๐๕๕๗๑๔๔๑๗

หมวด ๒
การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมและความปรองดอง
...................
ส่วนที่ ๑
คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ

มาตรา ๒๕๙ เพื่อประโยชน์แห่งการดำเนินการปฏิรูปประเทศไทยให้ต่อเนื่องจนบรรลุผล รวมทั้งเพื่อป้องกันและระงับความขัดแย้งระหว่างคนในชาติและสร้างความปรองดอง ให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติและสภาดำเนินการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง โดยมีองค์ประกอบที่มาและอำนาจหน้าที่ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา ๒๖๐ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการจำนวนไม่เกินยี่สิบสองคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบุคคลดังต่อไปนี้

(๑) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

(๒) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งจากผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ซึ่งเลือกกันเองในแต่ละประเภท ประเภทละหนึ่งคน และ

(๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินสิบเอ็ดคน ซึ่งแต่งตั้งตามมติรัฐสภา จากผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการปฏิรูปด้านต่างๆ และการสร้างความปรองดอง

ให้กรรมการตามวรรคหนึ่งเลือกผู้ซึ่งมีความเหมาะสมคนหนึ่งให้เป็นประธานยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ

คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม หลักเกณฑ์และวิธีการได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง อำนาจหน้าที่และการอื่นที่จำเป็นของคณะกรรมการตามมาตรานี้ รวมทั้งเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการ ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง

ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง

ในกรณีที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติมีกรรมการไม่ครบองค์ประกอบหรือจำนวนตามวรรคหนึ่ง หากมีกรรมการเหลืออยู่เกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดให้คณะกรรมการเท่าที่มีอยู่เป็นองค์ประกอบและองค์ประชุมและสามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปได้

ให้มีหน่วยธุรการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติและสภาดำเนินการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง ที่มีอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง

ให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการสร้างความปรองดองของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติและสภาดำเนินการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง เป็นประจำทุกปีโดยคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ แล้วแจ้งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ และสภาดำเนินการปฏิรูปและสร้างความปรองดองรับทราบ และประกาศผลการประเมินดังกล่าวให้ทราบเป็นการทั่วไป ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยยุทธศาสตร์และการปฏิรูปและการปรองดอง

มาตรา ๒๖๑ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ และคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองเพื่อศึกษาและเสนอแนะเรื่องการปฏิรูปและการเสริมสร้างความปรองดองต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ

(๒) ขับเคลื่อนการปฏิรูปโดยการเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปฏิรูป รวมทั้งข้อเสนอในการจัดสรรงบประมาณที่จำเป็นต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในด้านต่างๆ

(๓) นำข้อเสนอการปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ รวมทั้งแผนงานและยุทธศาสตร์การปฏิรูปของทุกภาคส่วน มาบูรณาการเพื่อให้สามารถพัฒนาประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน รวมทั้งปรับแผนและขั้นตอนดังกล่าวได้ตามที่เห็นว่าเหมาะสม

(๔) ดำเนินการที่จำเป็นเพื่อสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ระหว่างคู่ขัดแย้งและสร้างความปรองดองในหมู่ประชาชนตามหลักความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง

(๕) ดำเนินการหรือสั่งให้มีการดำเนินการที่จำเป็นเพื่อป้องกันและระงับความขัดแย้งหรือความรุนแรง และระงับหรือยังยั้งการกระทำที่มีผลเป็นการขัดขวางการปฏิรูปหรือการสร้างความปรองดอง ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง

(๖) ตรวจสอบและไต่สวนการไม่ปฏิบัติตามแผนหรือขั้นตอนที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติกำหนดตาม (๒) (๓) (๔) หรือ (๕)

(๗) เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจาณราวินิจฉัยกรณีตาม (๖) หรือกรณีอื่น ตามมาตรา ๒๒๒ หรือมาตรา ๒๕๗ วรรคสาม

(๘) ส่งเสริมการศึกษา การวิจัย และการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการปฏิรูปและการปรองดอง

(๙) เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของประชาชนเพื่อความเป็นพลเมืองที่ดี

(๑๐) ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปฏิรูปที่สอดคล้องและเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

(๑๑) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติ

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติมีอำนาจกำหนดยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง อำนวยการ และดำเนินการให้เกิดสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์และปรองดอง และเพื่อการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานของรัฐดำเนินการให้เป็นตามยุทธศาสตร์นั้น รวมทั้งมีอำนาจเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแนวทางและมาตรการต่างๆ ที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการขจัดความขัดแย้งและการสร้างความปรองดอง ทั้งนี้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน

เมื่อคณะรัฐมนตรีได้รับข้อเสนอตามวรรคหนึ่ง หรือแนวทางและมาตรการตามวรรคสอง ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการตามข้อเสนอหรือแนวทางและมาตรการดังกล่าว รวมทั้งให้การสนับสนุนงบประมาณ ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีไม่สามารถดำเนินการตามข้อเสนอหรือแนวทางและมาตรการใดได้ให้ชี้แจงเหตุผลให้รัฐสภา และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ทราบ ในการนี้ หากคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติทบทวนข้อเสนอ แนวทาง หรือมาตรการดังกล่าว และมีมติยืนยันด้วยเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้เป็นไปตามมติดังกล่าว

มาตรา ๒๖๒ ให้มีสภาดำเนินการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง ประกอบด้วยบุคคลตามมาตรา ๒๖๐ และมาตรา ๒๖๑ (๑) เพื่อดำเนินการปฏิรูปและสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง

ให้สภาดำเนินการปฏิรูปและสร้างความปรองดองประเมินผลการปฏิรูปและสร้างความปรองดองในแต่ละปี และจัดทำแผนปฏิรูปและสร้างความปรองดองในปีถัดไป รวมทั้งพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง ซึ่งต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีหรือรัฐสภาต่อไป และอำนาจหน้าที่อื่นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดอง

ให้ประธานกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติเป็นผู้เรียกประชุมและเป็นประธานการประชุมสภาดำเนินการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง

มาตรา ๒๖๓ ในการดำเนินการตามมาตรา ๒๖๑ หากเห็นว่ากรณีใดจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติขึ้นใช้บังคับ ให้สภาดำเนินปฏิรูปและสร้างความปรองดองจัดทำร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับกรณีนั้นเสนอคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติเพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ในการนี้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติจะแก้ไขเพิ่มเติมหรือส่งให้สภาดำเนินการปฏิรูปและสร้างความปรองดองแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนใดก่อนก็ได้

ให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยต้องประกอบด้วยสมาชิกสภาดำเนินการปฏิรูปและสร้างความปรองดองและผู้แทนคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติรวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด และในกรณีที่เป็นการพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการร่มกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวคณะกรรมาธิการร่วมกันนั้นจะต้องประกอบด้วยสมาชิกสภาดำเนินการปฏิรูปและสร้างความปรองดองและผู้แทนคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติรวมกันมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดด้วย

ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติที่เสนอตามวรรคหนึ่งเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน จะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคำรับรองของนายกรัญมนตรี ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีต้องพิจารณาให้คำรับรองภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่าง ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่แจ้งผลการพิจารณาภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่านายกรัฐมนตรีให้คำรับรอง

ส่วนที่ ๒
การปฏิรูปด้านต่างๆ

มาตรา ๒๖๔ ให้มีการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การบริหารราชการแผ่นดิน การบริหารท้องถิ่น และการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตามแนวทางดังนี้

(๑) จัดให้มีมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ จัดให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายและคดี พัฒนากระบวนการยุติธรรมทางเลือกและการระงับข้อพิพาทระหว่างประชาชน ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและสำนักงานตำรวจแห่งชาติตลอดจนองค์กรในกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งบูรณาการกระบวนการยุติธรรมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

(๒) บริหารราชการแผ่นดินและจัดสรรงบประมาณตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทบทวนภารกิจและบริการสาธารณะที่หน่วยงานของรัฐจัดทำอยู่ เพื่อขจัดความซ้ำซ้อน รวมทั้งส่งเสริมความเป็นพลเมืองและการมีส่วนร่วมของพลเมืองในการบริหารราชการแผ่นดิน

(๓) ให้มีกลไกที่มีเอกภาพและมีประสิทธิภาพเพื่อขับเคลื่อนการกระจายอำนาจ การจัดสรรรายได้ และการปรับบทบาทของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และให้มีกฎหมายและกลไกสำหรับการจัดตั้งองค์กรบริหารท้องถิ่นรูปแบบที่เหมาะสมกับการพัฒนาพื้นที่ โดยเร็ว

(๔) ให้มีกฎหมายและกลไกส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ ความโปร่งใสและธรรมาภิบาลในสังคม ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมทั้งให้มีการปฏิรูปองค์กรที่มีหน้าที่ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบให้มีความเป็นอิสระ และมีกระบวนการในการนำผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีโดยเร็ว

มาตรา ๒๖๕ ให้มีการปฏิรูปการศึกษา สาธารณสุข สังคม ศิลปวัฒนธรรม และการคุ้มครองผู้บริโภค ตามแนวทางดังนี้

(๑) จัดให้มีกลไกเพื่อปฏิรูปโครงสร้างการบริหารการศึกษาและระบบการเรียนรู้ทุกระดับ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา กระจายอำนาจการจัดการศึกษาให้สถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนมีอิสระและความรับผิดชอบในการจัดการศึกษา สนับสนุนให้ภาคเอกชน ชุมชน และองค์กรบริหารท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและปฏิรูปการศึกษา จัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัวโดยตรงแก่ผู้ระดับปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาอย่างเพียงพอและเป็นธรรม ส่งเสริมการอาชีวศึกษา และการวิจัยระดับอุดมศึกษา สร้างธรรมาภิบาลในวงการศึกษา ตลอดจนปรับปรุงกฎหมายที่จำเป็นเพื่อขจัดอุปสรรคต่อการปฏิรูปการศึกษา

(๒) ปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพและการเงินการคลังของกองทุนสุขภาพให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน ปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ รวมทั้งพัฒนากลไกการกำกับดูแลระบบสุขภาพให้มีคุณภาพและการให้บริการสุขภาพที่เป็นธรรม โดยให้มีราคาและค่าบริการที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้รับบริการ

(๓) จัดให้มีกลไกซึ่งทำหน้าที่ศึกษารวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะและกฎหมายต่างๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูปด้านสังคมและชุมชน ระบบสวัสดิการ ระบบการออมเพื่อการดำรงชีพในยามสูงอายุ ระบบบำนาญและระบบการดูแลอย่างต่อเนื่องให้กับผู้ด้อยโอกาส และผู้พิการหรือทุพพลภาพ รวมทั้งให้มีกฎหมายและกลไกสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนหรือธนาคารแรงงาน เพื่อส่งเสริมการออมและการพัฒนาตนเอง และจัดทำแนวทางในการรวมตัวกันและการเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ

(๔) สนับสนุนให้มีสมัชชาศิลปวัฒนธรรมระดับชาติและระดับท้องถิ่น รวมทั้งจัดให้มีระบบดูแลทุนทางวัฒนธรรมแห่งชาติเพื่อส่งเสริมประชาชนและชุมชนในการสร้างเสริมศิลปวัฒนธรรม

(๕) ปฏิรูประบบ โครงสร้าง องค์กร และกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการคุ้มครองผู้บริโภค สร้างความปลอดภัยจากสินค้าและบริการ และการเยียวยาความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ รวมทั้งจัดให้มีกลไกเพื่อคุ้มครองความมั่นคงด้านอาหาร

มาตรา ๒๖๖ ให้มีการปฏิรูปเศรษฐกิจ ตามแนวทางดังนี้

(๑) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแข่งขันทางการค้า ระบบรัฐวิสาหกิจ พัฒนาการเกษตร อุตสาหกรรม บริการ ท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสร้างสรรค์และนวัตกรรม ตลอดจนส่งเสริมสังคมผู้ประกอบการการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ในรูปแบบเขตเศรษฐกิจพิเศษและตามแนวชายแดน และการลงทุนของภาคเอกชนไทยในต่างประเทศ

(๒) ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ โดยให้มีกลไกกลางเพื่อกำหนดและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ จัดสรรงบประมาณเพื่อลดระดับความยากจนและความเหลื่อมล้ำ กระจายการถือครองที่ดิน ให้โอกาสที่เท่าเทียมด้านอาชีพ การศึกษา การสาธารณสุข บริการการเงิน สาธารณูปโภคที่สำคัญ และคุ้มครองเกษตรกรให้ได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนสนับสนุนให้ภาคเอกชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม

(๓) เสริมสร้างวินัยการเงิน การคลัง และการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว โดยให้มีกลไกอิสระในการปฏิรูประบบการคลังและภาษีอากร เพิ่มภาษีให้ครบฐาน ขยายขอบเขตของการครอบคลุมของระบบภาษีให้กว้างขวาง รวมทั้งจัดให้มีระบบบำนาญแห่งชาติที่มีความยั่งยืน ยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานและความมั่นคงของระบบการเงินระดับฐานรากและระบบสหกรณ์ ส่งเสริมตลาดทุนให้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้และมีวินัยทางการเงิน

มาตรา ๒๖๗ ให้มีการปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการผังเมือง การปฏิรูปด้านพลังงาน และการปฏิรูปด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตามแนวทางนี้

(๑) ปฏิรูประบบ โครงสร้าง องค์กร และกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาระบบการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ปฏิรูประบบกองทุนด้านสิ่งแวดล้อม ปฏิรูประบบการผังเมือง พัฒนาการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาองค์กรและกระบวนการยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม และปรับปรุงกลไกและกระบวนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

(๒) ให้มีการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีธรรมาภิบาลและยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตและสุขภาพของประชาชนและชุมชน รวมทั้งให้ประชาชนได้รับรู้ เข้าถึง และเข้าใจในข้อมูลด้านพลังงาน มีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบายและกระบวนการวางแผนพลังงาน ติดตามและตรวจสอบการดำเนินนโยบายและแผน และให้มีการจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

(๓) ให้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนเพื่อการปฏิรูประบบวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งสร้างกลไกระดับชาติเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าว กำหนดมาตรการในการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้และระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในด้านนี้อย่างเพียงพอ ตลอดจนจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายที่จำเป็นเพื่อขจัดอุปสรรคต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!