จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
พฤศจิกายน 01, 2024, 07:38:21 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: คำสำคัญ ในวรรณกรรมเรื่องทุ่งมหาราช  (อ่าน 5967 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1439


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: มิถุนายน 14, 2015, 06:13:36 am »

“วัดท่าหมัน”
   “ผมกลับมา  ได้ข่าวว่าปีกลายฝีดาษกินเสียเตียนไปทั้งคลองเหนือ คลองใต้ ก็รีบเข้ามาเยี่ยม” ท่านเจ้าคุณบอกด้วยเสียงและสีหน้าสลด “เนจอนาถอะไรเช่นนั้น ตั้งแต่คลองเหนือ บ้านไร่ คลองใต้ หาผู้คนอยู่สักบ้านไม่ได้ พะโปเองก็ยังไม่กลับจากแม่พล้อ วัดท่าหมัน ก็ร้าง ทั้งตลาดคลองเหนือเหลือแต่เจ๊กขายของอยู่สองสามครัว”      (ทุ่งมหาราช หน้า ๒๘๗)
   จากข้อความที่ปรากฏในนวนิยายทุ่งมหาราช ของ “เรียมเอง” หรือครูมาลัย  ชูพินิจ ทำให้เราได้ทราบว่าบริเวณแถวตลาดครชุมในปัจจุบันเคยมีวัดเก่าอยู่วัดหนึ่งชื่อวัดท่าหมัน เป็นที่สร้างมานานนับร้อยปี เพราะเมื่อครั้งครูมาลัยเขียนนวนิยาย “ทุ่งมหาราช” ยังระบุเอาไว้ว่ามีสภาพเป็นวัดร้างไปแล้ว
   ในหนังสือสารคดีเรื่อง “ทุ่งโล่งและดงทึบ” ซึ่งประพันธ์โดย น้อย  อินทนนท์ หรือครูมาลัย  ชูพินิจ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้บรรยายถึงสภาพของวัดท่าหมันเอาไว้ดังนี้
   “เมื่อเราถึงถนนพหลโยธิน  ข้ามสะพาน  และเลี้ยวเข้าบริเวณวัดท่าหมันซึ่งท่านจะไม่แลเห็นวัด ไม่เห็นศาลาวางบาตร ต้นโพธิ์ และท่าควาย พร้อมด้วยบ้านญาติพี่น้อง มิตรสหายอีกต่อไป สถานที่นั้นกลายเป็นห้องแถว ตลาด โรงร้าน และที่พักรถเมล์ประจำทาง บ้างสร้างมาแล้ว บ้างกำลังปลูกอยู่ และบ้างก็จะได้ปลูกต่อไป”
   ร่องรอยของวัดท่าหมัน เคยมีภาพถ่ายในอดีตซึ่งผู้เขียนเคยเห็นจากหีบโบราณของอาจารย์สนิม  บุญหนัก  ซึ่งปัจจุบันท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว โดยภาพแรกเป็นศาลาท่าน้ำของวัดท่าหมัน มีเด็กนักเรียนหญิง ๘ คน อยู่ที่ท่าน้ำ เป็นเด็กนักเรียนของโรงเรียนประชาบาลวัดท่าหมัน สภาพของศาลาคงทรุดโทรมจะพังมิพังแหล่ ส่วนอีกภาพหนึ่งเป็นงานศพของนายส่างหม่อง ชาวไทยใหญ่ที่เข้ามาทำกิจการค้าไม้ที่คลองสวนหมาก เมื่อเสียชีวิตประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ทางญาติได้ตั้งบำเพ็ญการกุศลไว้ที่ศาลาวัดท่าหมัน ดูจากภาพถ่ายแล้วต้องเป็นพ่อค้าผู้ร่ำรวยอันดับต้น ๆ ของชุมชนคลองสวนหมาก
   ประวัติของวัดท่าหมันเท่าที่พอสืบค้นได้ เกิดจากชาวคลองสวนหมากที่ผ่านการต่อสู่กับโรคภัยไข้เจ็บ ภัยธรรมชาตินานาประการ เมื่อร้อยกว่าปีก่อนได้กลับเข้ามาสู้ชีวิตด้วยความเสียสละและความรักอันยิ่งใหญ่ที่มีต่อท้องถิ่นจนสามารถสร้างบ้านเมืองสืบทอดต่อมา เมื่อชุมชนเจริญขึ้น และเห็นว่าวัดพระบรมธาตุอยู่ไกลไม่สะดวกในการไปทำบุญ จึงได้มีการรวบรวมทุนทรัพย์แล้วจัดสร้างเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นบริเวณกลางหมู่บ้าน ใช้เนื้อที่ประมาณ ๔-๕ ไร่ โดยมีพระอาจารย์ช่วยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการสร้างวัด
   บริเวณของวัดมีท่าน้ำ เป็นทางขึ้นลงของล้อเกวียนและอยู่ใกล้กับต้นหมันใหญ่ชาวบ้านจึงเรียกชื่อวัดแห่งนี้ว่า “วัดท่าหมัน” โดยมีพระอาจารย์ช่วยได้ดูแลวัดจนมรณภาพ ด้วยคุณงามความดีของพระอาจารย์ช่วย ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันก่อสถูปเพื่อบรรจุอัฐิของท่านเอาไว้เพื่อระลึกถึงคุณงามความดี บริเวณที่เป็นสถูปอยู่แถวกลางตลาดนครชุมซึ่งปัจจุบันถูกรื้อถอนออกไปหมดแล้ว
   ภายหลังการมรณภาพของพระอาจารย์ช่วย ได้มีพระอาจารย์แก้ว เข้ามาดำเนินการต่อโดยพัฒนาและขยายบริเวณวัดให้กว้างขวางขึ้นกว่าเดิม ชาวบ้านเลยเรียกว่าวัดเป็น “วัดท่าหมันแก้วปุณณวาสน์” และมีการจัดตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้นเป็นหลังแรกของตำบลคลองสวนหมาก โดยใช้ศาลาของวัดเป็นอาคารเรียน
   ต่อมาพระอาจารย์แก้วขอลาสึกขาบท ได้มีพระอาจารย์ปลั่ง วังลึก เข้ามาเป็นเจ้าอาวาส และสร้างความเจริญก้าวหน้าให้วัดมากยิ่งขึ้น ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๐ นายส่างหม่อง พ่อค้าไม้ผู้ร่ำรวยได้สร้างศาลาไม้หลังใหม่ขึ้นมา  โดยวางเสาไม้ต้นใหญ่ตั้งไว้บนพื้นไม่ได้ฝังลงดินเหมือนที่อื่น ๆ  เมื่อวัดท่าหมันเริ่มร้างไปตามกาลเวลา ได้มีการย้ายศาลาวัดหลังนี้ไปสร้างไว้ที่วัดสว่างอารมณ์ ซึ่งปัจจุบันยังใช้การได้เป็นอย่างดี
   เรื่องราวของวัดท่าหมันที่ปากคลองเหนือได้หายไปจากความทรงจำของผู้คนรุ่นใหม่ไปนานแล้ว คงเหลือเพียงศาลาไม้หลังเก่าที่ย้ายไปสร้างที่วัดสว่างอารมณ์ และความทรงจำแห่งเรื่องราวจากบทประพันธ์ในนวนิยายของครูมาลัย  ชูพินิจ เพียงเท่านั้น
          
“ถอดกำไล”

   “ในตอนบ่ายวันสุดท้ายของสงกรานต์  สุดใจ—ยังสวมกำไลข้อเท้า ๑๖ ปี แต่เปล่งปลั่งเหมือนสาวใหญ่.. เปียกปอนไปทั้งตัวด้วยเล่นสาดน้ำกัน หน้าตายังขะมุกขะมอมเพราะดินหม้อจากการมอมตะลุมบอน”  (ทุ่งมหาราช หน้า ๕)
   “วันหนึ่งคลองใต้จะต้องเป็นอย่างนั้น”  เสียงของเขาเต็มไปด้วยความมั่นใจ  ขณะที่แดมือหญิงสาวลุกขึ้นจากขอนไม้  “ไปเถอะ  สุดใจ ไปเสียก่อนที่ข้าจะเปลี่ยนความคิด”
   “แล้วเมื่อไหร่  พี่ทิดจะกลับมา ?” ความอาลัยเมื่อรู้แน่ว่าจะต้องจากกันปรากฎชัดอยู่ในเสียงนั้น
   “อย่างเร็วปลายปีนี้  อย่างช้ากลางปีหน้า”  เขาบอกโอบร่างอันอบอุ่นละมุนมือไปด้วยความเปล่งปลั่งและเต่งตั่งของวัยสาวเข้ามากอดไว้ในอ้อมแขนอีก  “ทันใดที่ธุระข้าเสร็จจะกลับมาทันที  คอยข้าให้ได้สุดใจ  คอยข้า ฝันถึงข้าจนกว่าจะมาถอดกำไลให้เอ็ง” (ทุ่งมหาราช หน้า ๒๙)
   ตามรอยประวัติศาสตร์เมืองกำแพงเพชรในครั้งนี้เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับคำพูดที่เป็นนัย “ถอดกำไล” ซึ่งถูกนำมาบันทึกเอาไว้ในนวนิยาย “ทุ่งมหาราช” ของครูมาลัย  ชูพินิจ ว่ามีความหมายและความสำคัญอย่างไร
   ตามเนื้อหาในนวนิยาย “ทุ่งมหาราช” รื่นสัญญากับสุดใจว่าเขาจะกลับมาสู่ขอและแต่งงานกับสุดใจ 
   แต่ก่อนสาว ๆ ชาวปากคลองสวนหมากจะสวมกำไลข้อเท้า เมื่อแต่งงานมีสามีจึงจะถอดกำไล การ “ถอดกำไล” จึงถือเป็นสัญลักษณ์ทางประเพณีของชาวบ้านปากคลองสวนหมาก ซึ่งหมายความว่า เมื่อใดที่สาวปากคลองสวนหมากออกเรือน จะถอดกำไลที่สวมไว้ที่ข้อเท้า การ”ถอดกำไล” จึงหมายถึง “การแต่งงาน”
การใส่กำไลข้อเท้าสมัยก่อนของคนไทยมีมานานแล้ว  อันเป็นการบ่งบอกถึงสถานะอย่างหนึ่งของผู้หญิงไทย  โดยทั่วไปในสมัยโบราณเด็กหญิงจะใส่กำไลข้อเท้าติดตัวไปจนกว่าจะออกเรือน คือแต่งงาน มีสามี เมื่อแต่งงานแล้วจึงถอดกำไลข้อเท้าออกได้
การใส่กำไลข้อเท้าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งตามยุคสมัยที่นิยมมานาน ดังข้อบันทึกที่ว่า
“หญิงสยามเมื่อออกเรือน มีลูกมีเต้า  แม้อายุแค่สิบแปดสิบเก้า ก็ไม่กระดากที่จะเปลือยอก นอกจากนี้เธอถอดกำไลเท้าออกแล้วด้วย  ถ้ายังสาว ไม่ได้ออกเรือนก็ยังสวมอยู่  ธรรมเนียมนี้ชาวบ้านทำกันมาจนถึงรัชกาลที่ ๖
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการถอดกำไลโดยห้ามให้ผู้อื่นถอดกำไลให้ เพราะจะถูกแย่งคนรัก เหตุผลอันนี้คงเป็นการปลูกฝังมารยาทที่ดี โดยใช้อุบายเป็นเครื่องมือ หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นการใช้อุบายควบคุมความประพฤติของคนในสังคมนั่นเอง เพราะความจริงคือ คนเราไม่ควรไปถอดเครื่องประดับออกจากตัวคนอื่น เพราะถือเป็นการก้าวก่ายสิทธิ์และทรัพย์สินของคนอื่น ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม
การใส่กำไลข้อเท้าของสาว ๆ สมัยนี้ มิใช่ใส่เพื่อรอวัน “ถอดกำไล” แต่เป็นการใส่เพื่อเป็นเครื่องประดับตามกระแสแฟชั่นที่นิยมกันอยู่เท่านั้น อยากจะถอดเมื่อไรก็ถอดได้ตามใจชอบ       ไม่ต้องรอให้พระเอกมาถอดให้เหมือนนางเอกอย่าง “สุดใจ” ในนวนิยาย “ทุ่งมหาราช”

“การเสด็จประพาสวัดพระบรมธาตุ”
   แต่ การเสด็จประพาสวัดพระบรมธาตุ และคลองสวนหมากของพระพุทธเจ้าหลวงครั้งนั้นเอง เหมือนมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ มีความหมายที่จะชุบชีวิตซึ่งร่อยหรอประดุจดวงไฟที่หรี่จะดับมิดับแหล่ของตำบลให้สว่างโพลงยืนยงคงทนต่อไป ต่อหน้าโรคระบาด  อุทกภัยและทุพพิกขภัยอย่างที่ ไม่มีอำนาจอันใดจะมาทำลายให้ดับสูญไปได้ ( ทุ่งมหาราช หน้า ๓๓๐ )
   พระพุทธเจ้าหลวง ได้เสด็จประพาสต้นเพื่อเยี่ยมเยียนราษฎรของพระองค์อย่างสามัญชน
ไม่โปรดให้มีท้องตรา หรือสั่งเจ้าเมืองให้มาต้อนรับ ทรงต้องการสำราญพระราชอิริยาบถกับข้าราชบริพารอย่างง่าย ๆ และที่สำคัญทรงเลือกเมืองกำแพงเพชรเป็นจุดหมายปลายทางของการเสด็จประพาสต้น
   ทุกย่างก้าวที่พระราชดำเนินบนแผ่นดินกำแพงเพชร ยังคงตราตรึงอยู่ในดวงจิตของชาวกำแพงเพชรทุกคน และเพื่อเป็นการหวนระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของพระองค์ท่าน ที่ทรงบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของเมืองกำแพงเพชรเอาไว้อย่างละเอียดเป็นจดหมายเหตุเสด็จประพาสต้น
   ตลอดระยะเวลา ๑๐ วัน ที่เสด็จเข้าสู่เขตเมืองกำแพงเพชร นับตั้งแต่วันที่ ๑๘ - ๒๗ สิงหาคม ๒๔๔๙ ได้เกิดเรื่องราวแห่งความประทับใจขึ้นอย่างมากมาย โดยทรงบันทึกเรื่องราวแห่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของราษฎรเมืองกำแพงเพชรเอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งถือเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า ลึกซึ้งชวนให้หลงไหล และน่าติดตามเรื่องราวเป็นอย่างยิ่ง
   คงไม่มีคำบรรยายใด ๆ จะซาบซึ้งใจเท่ากับคำที่ครูมาลัย  ชูพินิจ ได้บันทึกเอาไว้ในนวนิยายเรื่องทุ่งมหาราช
    “เสด็จแล้วจริง ๆ ! “ เขาหันไปบอกทุก ๆ คน “วันนี้ข้าข้ามไปซื้อของในเมือง  ผ่านศาลากลางเห็นคนมุงกันแน่นอยู่แวะเข้าไปดูก็เจอะนายอำเภอกะเจ้าเมืองท่านพอดี  ท่านว่าพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จจากบางกอกแล้ว กำหนดถึงนครสวรรค์ราว ๆ ต้นเดือนหน้า  ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนเปลงราว ๆ ปลายเดือนหน้าก็คงถึงกำแพง”
   “เรายังมีเวลาเหลือเฟือสำหรับไม่ให้ขายหน้าทางเมืองเขาได้”  เขาบอกลูกบ้านทั้งหลาย  “ท่านเจ้าเมืองให้นายอำเภอใช้แรงนักโทษ กำหนดปลูกที่หน้าวัดชีนางเกา  แต่สำหรับเราจะลงมือกันเอง ท่านกะขนาดและที่ ๆ จะปลูกให้แล้วที่ลานพระธาตุชั้นในใต้ต้นบุนนาค  ใครขาดเครื่องมือมาเอาที่ข้าข้าวปลาอาหารสำหรับออกป่าไม่พอเบิกได้  วัวควายหรือล้อสำหรับลากไม้ก็เหมือนกัน”
   ภายใน ๗ วัน  พลับพลาพื้นฟากมุงแฝกหลังนั้นก็สำเร็จเรียบร้อยเหมือนเนรมิต ประดับไปด้วยประตูป่าเฟื่องระย้าห้อยทั้ง ๔ ทิศ แข็งแรงและกว้างขวางพอที่จะใช้เป็นท้องพระโรงาหรับให้ชาวบ้านชาวเมืองเฝ้าได้ทั่วถึง … (ทุ่งมหาราช หน้า ๓๒๗)
   ริ่นจะไม่มีวันลืมวันนั้นเลย แม้อีกหลายสิบปีจะล่วงไปและวัยจะโร่งโรยแล้ว ๒๕ สิงหาคม ๒๔๔๙ จะประทับแน่นอยู่ในความทรงจำของเขาต่อไปชั่วชีวิตอวสาน มิใช่เพราะมันเป็นครั้งแรกที่เขาได้ เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าหลวง โดยใกล้ชิดเป็นครั้งแรกในชีวิต เมื่อเสด็จขึ้นทอดพระเนตรวัดพระบรมธาตุในตอนบ่ายอย่างเดียว หากความตื้นตันใจต่อภาพประชาชนทั้งชาวปากคลอง หนองปลิง ลานดอกไม้ แม้กระทั่งชนบทและตำบลที่ห่างไกลเข้าไปในป่าลึกและดงสูง ที่มาชุมนุมรับเสด็จรอชมบารมีเจ้าเหนือหัวของเขาแน่นขนัดไปหมดทั้งลานวัดอีกด้วย ( ทุ่งมหาราช หน้า ๓๒๙ )
   นอกจากนี้ยังมีภาพเหตุการณ์ที่ลานวัดพระบรมธาตุนครชุมพระองค์ทรงบันทึกเอาไว้ว่า .....แล้วล่องลงมาขึ้นที่วัดพระบรมธาตุ ซึ่งแต่เดิมเป็นเจดีย์อย่างเดียวกับวังพระธาตุ ใหญ่องค์หนึ่ง ย่อมสององค์ พญาตะก่าสร้างรวมสามองค์เป็นองค์เดียว แปลงรูปเป็นเจดีย์มอญ แต่ยังไม่แล้วเสร็จพญาตะก่าตาย    พะโป้จึงได้มาปฎิสังขรณ์ต่อ ได้ยกยอดฉัตรซึ่งมาแต่เมืองมระแม่ง พึ่งแล้วแต่ฐานชุกชียังถือปูน    ไม่รอบ ......มีราษฎรมาหาเป็นอันมาก
   วันที่พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสวัดพระบรมธาตุคือ วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๔๔๙ แม้เหตุการณ์จะผ่านมาแล้วถึง ๑๐๐ ปี แต่ความประทับใจในครั้งนั้นยังเป็นเรื่องเล่าที่ชาวนครชุมยังคงจดจำกันได้ดี เพราะเป็นครั้งแรกที่ราษฎรชาวคลองสวนหมาก หนองปลิง ลานดอกไม้ และตำบลที่ห่างไกล ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด จึงพากันมาชุมนุมรับเสด็จกันอย่างเนืองแน่น
   เชื่อกันว่าหลังจากที่พระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับแล้ว ด้วยเดชะบารมีของพระองค์ได้นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของชาวคลองสวนหมาก เปรียบเหมือนมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยชุบชีวิตชาวบ้านให้โชติช่วงสว่างสดใส ทำให้ราษฎรหายจากความกลัวต่อสิ่งต่าง ๆ เช่น กลัวผีป่า กลัวโรคห่า กลัวเสนียดจัญไร มีกำลังใจลุกขึ้นมาต่อสู้กับความยากลำบากและโรคภัยไข้เจ็บได้ หันกลับเข้ามาสร้างบ้านเรือนให้เป็นปึกแผ่น เป็นชุมชนคลองสวนหมากที่เจริญรุ่งเรือง สมกับคำกล่าวที่ว่า
   “การเสด็จประพาสวัดพระบรมธาตุ และคลองสวนหมากของพระพุทธเจ้าหลวงครั้งนั้นเอง เหมือนมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ มีความหมายที่จะชุบชีวิตซึ่งร่อยหรอประดุจดวงไฟที่หรี่จะดับมิดับแหล่ของตำบลให้สว่างโพลงยืนยงคงทนต่อไป ต่อหน้าโรคระบาด อุทกภัยและทุพพิกขภัยอย่างที่ ไม่มีอำนาจอันใดจะมาทำลายให้ดับสูญไปได้”

“คลองสวนหมาก”
   “ชีวิตของชุมชนน้อย ๆ ในคลองใต้คงดำเนินต่อไปอย่างสงบ  แต่ก็เงียบเหงา นอกจากช้า ๆ นาน ๆ เรือส่งจากใต้จะแวะเข้ามาขายเสื้อผ้า  กะปิ  น้ำปลา  และภาชนะถ้วยชามหรือพวกล่องแพจากเหนือจะขึ้นมาเที่ยว.... (ทุ่งมหาราชหน้า ๔๒)
   “ปีนั้นชาวเมืองกำแพงเพชรและราษฎรตลอดสองฝั่งแม่น้ำปิง  ได้รับความตื่นเต้นขนานใหญ่ เมื่อ เรือกำปั่นท้องแบนระหัดข้าง จักท้าย ลำแรกของบริษัทป่าไม้ฝรั่งเล่นจากพระนครขึ้นไปถึงเมืองตาก  มันเป็นพฤติการณ์ที่โจษขานกันติดปากอยู่ช้านาน  แม้จะผ่านวัน  สัปดาห์และเดือน  หรือตำบลหนึ่งตำบลใดไปแล้วในความมหัศจรรย์ของยุคแห่งจักรยนต์กลไก และไอน้ำที่เริ่มศักราชใหม่ในเมืองไทย ซึ่งในชั่วชีวิตของชาวบ้านชาวเมือง ตามลุ่มน้ำปิงไม่เคยมีใครเห็น”
ยืนอยู่คู่กับสุดใจ ห่างไกลออกมาจากคนทั้งหลายในวันที่เรือมหัศจรรย์ลำนั้นผ่าน คลองสวนหมาก ไป ... (ทุ่งมหาราชหน้า ๒๒๒)
   คลองสวนหมาก เป็นชื่อของการเรียกตามลำคลองที่ไหลผ่านหมู่บ้าน คลองสวนหมากคือสายน้ำแห่งชีวิตของชาวนครชุมในอดีต เพราะปลายทางของคลองเป็นแหล่งชุมนุมของผู้คนที่ทำมาหากินแตกต่างกัน ลึกเข้าไปสู่ต้นกำเนิดของสายธารคลองสวนหมากยังมีป่าไม้และธรรมชาติที่สวยงาม
   คลองสวนหมาก  เป็นสายน้ำสำคัญอีกสายหนึ่งของจังหวัดกำแพงเพชรเพราะมีอดีตความเป็นมาที่ยิ่งใหญ่ เป็นลำน้ำที่พระพุทธเจ้าหลวงเคยเสด็จประพาสต้น และเป็นเส้นทางลำเลียงไม้ออกจากป่า มีน้ำไหลตลอดทั้งปี
คลองสวนหมาก มีต้นกำเนิดมาจากแนวสันปันน้ำของเทือกเขาสูงทางด้านตะวันตกบริเวณรอยต่อของตากกับกำแพงเพชร เป็นผืนป่าต้นน้ำลำธารอันอุดมสมบูรณ์ ให้น้ำหล่อเลี้ยงพื้นที่ในเขตตำบลคลองน้ำไหล ตำบลโป่งน้ำร้อน ตำบลสักงาม อำเภอคลองลาน ตำบลท่าขุนราม ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร  สุดปลายทางของคลองสวนหมากจะไหลลงสู่แม่น้ำปิงที่ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร
   จากริมน้ำหน้าวัดพระบรมธาตุลัดเลาะไปตามบ้านปากคลองใต้ ปากคลองกลาง ถนนขนานลำคลองจนมาข้ามฝากไปยังปากคลองเหนือสู่วัดสว่างอารมณ์วัดที่มีพระพุทธรูปศิลปเชียงแสนองค์ใหญ่ที่สุดในกำแพงเพชรประดิษฐานอยู่ ล้วนเป็นแหล่งชุมนุมการทำไม้ในอดีต ถึงวันนี้ยังพอเหลือเศษเสี้ยวแห่งความยิ่งใหญ่อยู่บ้างคือ “บ้านห้าง”ตำนานแห่งการทำไม้ของพะโป้ ทำให้ได้หวนรำลึกถึงเรื่องราวแห่งอดีต
   คลองสวนหมากถือเป็นสำน้ำสำคัญสายหนึ่งของจังหวัดกำแพงเพชร ด้วยเป็นสายน้ำที่พระพุทธเจ้าหลวงเคยเสด็จประพาสต้น เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๔๔๙ ดังบันทึกตอนหนึ่งในเสด็จประพาสต้นว่า
   “วันที่ ๒๕ วันนี้ตื่นสายเพราะวานนี้อยู่ข้างจะฟกช้ำ ๔ โมง จึงได้ลงเรือเหลืองข้ามฟากไปฝั่งตะวันตกยังไม่ขึ้นที่วัดพระธาตุ เลยไปคลองสวนหมากต้องขึ้นไปไกลอยู่หน่อย ในคลองนี้น้ำไหลเชี่ยวแต่น้ำใสเพราะเป็นลำห้วย มีคลองแยกที่ข้างขวามือ แต่ต้นทางที่จะเข้าไปเรียกแม่พล้อ ถ้าไปตามลำคลอง ๓ วัน จึงถึงป่าไม้ แต่มีหลักตอมาก เขาขึ้นเดินไปวันเดียวถึง ป่าไม้นี้พะโป้กะเหรี่ยงในบังคับอังกฤษเป็นคนทำ เมียเป็นคนไทยชื่ออำแดงท้องย้อย เป็นบุตรผู้ใหญ่บ้านวันและอำแดงไทย ตั้งบ้านเรือนอยู่ติดกันในที่นั้น คลองสวนหมากนี้ตามลัทธิเก่าถือกันว่าเป็นที่ร้ายนัก จะขึ้นล่องต้องเมินหน้าไปเสียข้างฝั่งตะวันออกเพียงแต่และดูก็จับไข้ ความจริงนั้นเป็นที่มีไข้ชุมจริงเพราะเป็นน้ำลงมาแต่ห้วยในป่าไม้”
   ครูมาลัย  ชูพินิจ ยังได้บรรยายถึงความน่าสะพรึงกลัวของคลองสวนหมากเอาไว้ในนวนิยาย “ทุ่งมหาราช” อีกหลายตอน อาทิ
   คนทางใต้ได้ยินชื่อปากคลองเข้าขนหัวลุก คนทางเหนือล่องเรือผ่านมา ยังต้องหันหน้ามองแต่ฝั่งตะวันออก ( ทุ่งมหาราช หน้า ๗ )
   ปากคลองเป็นบ้านร้าย หลายปีมาแล้วห่าลงกินตายเกือบหมดบ้าน ห้าสิบปีมันจะต้องมาเยี่ยมเสียทีหนึ่ง ( ทุ่งมหาราช หน้า ๘ )
   ใครจะมีชีวิตอยู่ที่ปากคลองได้ เขาถือว่าล้วนคนกระดูกแข็งเดนตายทั้งนั้น ( ทุ่งมหาราช หน้า ๘๓ )
   เรื่องราวและภาพถ่ายในอดีตของลำน้ำคลองสวนหมากทำให้มองเห็นความกว้างใหญ่ของสายน้ำ ขนาดเรือลำใหญ่ ๆ หลายลำจอดลอยเรืออยู่เหนือลำน้ำ แม้คลองสวนหมากในวันนี้อาจไม่เหลือความยิ่งใหญ่แห่งอดีตเอาไว้ แต่เงาของความทรงจำยังคงได้รับการบันทึกเอาไว้ในนวนิยายทุ่งมหาราชที่บ่งบอกถึงความเป็นสายน้ำที่สำคัญเป็นเส้นเลือดหลักของชาวนครชุม    

“ขุนนิคมบริบาล”
   “ขุนนิคมบริบาล  สิ้นใจเมื่อวันอาทิตย์แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล โทศก พุทธศักราช ๒๔๙๓…เก้าสิบสองปี หลังจากลืมตาและผ่านชีวิตมาแล้วอย่างยากที่ผู้ชายน้อยคนจะได้ผ่านและพบ การตายของแกเป็นไปอย่างสงบ ภายในอ้อมแขนของภรรยาคู่ยาก ยิ้มด้วยความสุขปรากฏอยู่ที่ริมฝีปากซึ่งเผยอ หนังตาอันหรี่หลับ ที่หน้าผากอันกว้าง และแก้มทั้งสองซึ่งซูบจนเห็นแต่กระดูกโปนเป็นสัน” (ทุ่งมหาราช หน้า ๑)
   ครูมาลัย  ชูพินิจ นำชื่อของขุนนิคมบริบาลมาเปิดเรื่องในนวนิยาย”ทุ่งมหาราช” นวนิยายที่แสดงให้เห็นถึงความรัก ความผูกพัน และการต่อสู่เพื่อแผ่นดินถิ่นเกิด
   “ไม่มีใครจะลืมขุนนิคมบริบาลได้ ๖๐ ปีเต็ม ๆ  แกใช้ชีวิตร่วมมากับชาวบ้านนั้น ๖๐ ปีเต็ม ๆ แกได้ผ่านการพบอย่างที่ปู่ย่าตายายของคนรุ่นใหม่ในจังหวัดเดียวกันได้ผ่านและพบ ๖๐ ปีของชีวิต ที่บางครั้งสงบ บางครั้งผาดโผน รู้รสดีว่าความจนหมายถึงอะไร ความทุกข์ทรมาน อันตราย อดทน และการเสียสละของมนุษย์หมายถึงอะไร ก่อนที่จะบุกด้วยความบากบั่นขึ้นมาถึงฐานะในปัจจุบัน
   ขุนนิคมบริบาลสิ้นใจแล้ว แต่ขณะเดียวกันแกยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนที่แกเคยเกี่ยวข้อง บ้างญาติพี่น้อง บ้างเป็นมิตรสหายและบ้างก็เป็นศัตรู ขุนนิคมบริบาลยังอยู่ในอากาศที่หายใจเข้าไป ในชีวิตและขนบประเพณีประจำวันของนครชุม   ในฐานะสิ่งหนึ่งและส่วนหนึ่งของตำบลบ้านเป็นสัญญลักษณ์ประจำถิ่นที่ไม่มีขนบประเพณีและอารยธรรมแผนใหม่ หรือกาลเวลาจะลบเลือนให้เจือจางไปได้” (ทุ่งมหาราช หน้า ๒)
   ขุนนิคมบริบาลเป็นใคร และมีความสำคัญเช่นไร ครูมาลัย  ชูพินิจ จึงได้นำมาขึ้นต้นเรื่อง ความตายของคนแก่คนหนึ่งที่มีอายุ ๙๒ ปี อาจจะถือเป็นเรื่องสามัญของชีวิต แต่ถ้าเข้าไปศึกษาถึงเส้นทางชีวิตของขุนนิคมบริบาลแล้ว คงทำให้เข้าใจได้ว่า บุคคลผู้นี้ต้องมีความสำคัญจนครูมาลัย  ชูพินิจ ต้องนำมากล่าวถึงและยกให้เป็นตัวเอกในนวนิยายทุ่ง “มหาราช”
   หากได้ศึกษาบุคลิกของตัวละครอย่างรื่นหรือขุนนิคมบริบาลแล้ว อาจดูใกล้เคียงกับบุคคลผู้หนึ่งซึ่งมีความใกล้ชิดกับครูมาลัย  ชูพินิจมากที่สุดคือ นายสอน  ชูพินิจ  ด้วยบทบาทในเรื่องของการต่อสู้เพื่อชีวิต การล่องแพค้าไม้ การได้เป็นกำนันปกครองลูกบ้านในตำบลคลองสวนหมากก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นตำบลนครชุม
ประวัติของนายสอน  ชูพินิจ  เป็นบุตรของนายพิน  มีเชื้อสายมาจากตระกูล ณ บางช้าง ซึ่งส่วนใหญ่นิยมรับราชการสืบต่อกันมาจนมาถึงนายพิน  ชูพินิจ ได้ย้ายมารับราชการที่กำแพงเพชรในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีหลักฐานจาการสำรวจยอดสัมโนครัวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘  โดยนายชุ่ม  ศุภดิฐ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๕ ตำบลคลองสวนหมาก พบว่านายพิน (ปู่ของครูมาลัย  ชูพินิจ) ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านเลขที่ ๒๗ หมู่ที่ ๕ ตำบลคลองสวนหมาก มีเรือน ๓ หลัง มีบุคคลที่อาศัยอยู่ในบ้านเป็นชาย ๒ คน หญิง ๕ คน นอกจากนี้ยังพบว่าปู่ของครูมาลัย ชูพินิจ กับพ่อของจอมพลถนอม  กิตติขจร เคยเป็นเพื่อนร่วมน้ำสาบานกัน
เมื่อมาถึงชั้นของนายสอน  ชูพินิจ ไม่เลือกที่จะรับราชการตามเชื้อสายเดิม แต่เลือกที่จะประกอบอาชีพอิสระด้วยการเป็นพ่อค้าไม้สักและไม้กระยาเลย อันเป็นทรัพยากรที่มีค่าและสร้างความร่ำรวยให้ผู้คนเป็นจำนวนมากในยุคสมัยนั้น     ภายหลังกิจการทำไม้ขาดทุนรอนทำให้ต้องเลิกลาได้เป็นกำนันตำบลคลองสวนหมากปกครองราษฎรอย่างสุจริตและยุติธรรม
ชีวิตในบั่นปลายของนายสอน  ชูพินิจ ได้เข้าไปอยู่กับครูมาลัย  ชูพินิจ ที่กรุงเทพฯ ได้ป่วยจนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชและถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลศิริราช
   แม้ครูมาลัย  ชูพินิจ ไม่ได้บอกเอาไว้ว่าได้ตั้งใจเขียนนวนิยาย “ทุ่งมหาราช” เพื่ออุทิศให้กับบุคคลใด แต่มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่ท่านได้เขียน “ทุ่งมหาราช” ขึ้นมาด้วยความตั้งใจที่จะให้เป็นอนุสรณ์แก่บุคคลที่ท่านรักมากคือ นายสอน  ชูพินิจ เพราะวิถีชิวิตตรงกับตัวเอกอย่าง “รื่น” หรือ”ขุนนิคมบริบาล” มากที่สุดในหลายฉากและหลายตอนของนวนิยาย “ทุ่งมหาราช” 
   
“นครชุมยังเป็นคลองสวนหมาก”

   “เมื่อ ๖๐ ปีก่อน ! นครชุม ยังเป็นคลองสวนหมากพร้อมด้วยเหย้าเรือนฝาขัดแตะและมุงแฝกไม่กี่สิบหลังคาเรือน” ( ทุ่งมหาราช หน้า ๓ )
นครชุม เป็นชื่อของเมืองโบราณในสมัยสุโขทัยต่อมาได้กลายเป็นเมืองร้าง ในสมัยรัตนโกสินทร์ไม่มีชื่อเป็นที่รู้จัก ผู้คนทั่วไปคงเรียกบริเวณที่ตั้งบ้านเรือนของราษฎรบริเวณนี้ว่า “ปากคลองสวนหมาก” เพราะมีคลองสวนหมากไหลมาออกแม่น้ำปิง ราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวลาวที่อพยพมาจากเวียงจันทน์  ที่มารู้จักว่าชื่อ นครชุม มามีในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ศึกษาศิลาจรึกที่นำไปเก็บไว้ที่วัดเสด็จและได้ทรงทราบว่าย้ายมาจากบริเวณวัดพระบรมธาตุนครชุม บริเวณเมืองโบราณที่ปากคลองสวนหมาก จึงเสด็จไปตรวจดูพบฐานที่ตั้งของศิลาจารึกจึงเรียกบริเวณนั้นว่า “เมืองนครชุม”
ตำบลคลองสวนหมาก เป็นชุมชนที่สร้างตัวขึ้นมาในสมัยพระพุทธเจ้าหลวงจากเหย้าเรือนฝาขัดแตะไม่กี่หลังคาเรือน แต่มีที่ทำกินในผืนดินอันอุดมสมบูรณ์เนื่องจากมีแม่น้ำปิงไหลผ่านและมีคลองสวนหมากไหลมาจากป่าโป่งน้ำร้อนให้น้ำหล่อเลี้ยงมาอย่างต่อเนื่อง สภาพภูมิประเทศจึงเหมาะแก่การสร้างเมืองเป็นอย่างยิ่ง สมดังที่รื่นตัวเอกของนวนิยายทุ่งมหาราชได้กล่าวไว้ว่า
“ ที่นี่ดีทุกอย่างสำหรับจะอยู่จะกินจะตาย ” และ “ปากคลอง ที่เต็มไปด้วยป่าไม้, ข้าว, ไต้, น้ำมันยาง, สีเสียด, ยาสูบ, หนังสัตว์...”
   และอีกฉากหนึ่งที่ครูมาลัย  ชูพินิจ บรรยายเอาไว้ดังนี้
“คลองสวนหมากมีแต่จะเติบโตต่อไปโตวันโตคืนต่อไปหลายครั้งมาแล้ว มันเคยพินาศด้วยไฟป่า หลายครั้งมาแล้วเหมือนกันที่มันเคยย่อยยับไปด้วยอุทกภัยและโรคระบาด แต่ทุกครั้งภัยธรรมชาติเหล่านั้นก็ไม่สามารถจะหยุดยั้งมันไว้ได้ ผู้ที่เหลืออยู่จะต่อสู้ดิ้นรนต่อไป ชีวิตใหม่ ๆ จะเกิดขึ้น ครอบครัวใหญ่ ๆ จะมาตั้งรกรากผืนแผ่นดินใหม่ ๆ จะถูกหักโค่น โก่งร้าง ป่าแดง ตั้งแต่พระเจดีย์กลางทุ่งมาจนถึงวังกระทะ และชานดงเศรษฐีกลายเป็นนา ป่ายางและเบญจพรรณระหว่างคลองเหนือคลองใต้ราบลงไปกลายเป็นบ้านไร่ หัวยาง วังยาง ก็กลายสภาพจากชุมนุมขึ้นเป็นหมู่บ้านในเวลาใกล้เคียงกัน”
มีหลักฐานที่ยืนยันถึงชื่อตำบลคลองสวนหมากเป็นหมายแต่งตั้ง นายชุ่ม  ศุภดิษฐ์ ให้เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๕ ตำบลคลองสวนหมาก ดังเนื้อความในหมายมีดังนี้ ”ที่ ๒ จากพระกำแพงพลล้าน ผู้ว่าราชการเมืองกำแพงเพชร ประกาศแก่บรรดาผู้ได้พบและอ่านหมายนี้ ให้ทราบทั่วกันว่าตามความในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร,ศ, ๑๑๖ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๗ โปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรเลือกผู้ใหญ่บ้านได้ตามสมัครใจของลูกบ้านเพื่อให้เป็นหัวหน้าดูแลกิจ สุข ทุกข์ ของราษฎรในหมู่บ้าน บัดนี้ราษฎรในหมู่ที่ ๕ ตำบลคลองสวนหมาก แขวงอำเภอเมือง โดยมากด้วยกันได้เห็นว่า นายชุ่ม  บุตรนายเชื่อม แดงพัน เป็นผู้สัตย์ซื่อ โอบอ้อมอารีต่อชาวบ้านสมควรจะเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่นี้ได้ … หมายตั้ง เมื่อ ณ วันที่ ๑๑ เดือนกรกฎาคม ๒๔๕๖”
ตำบลคลองสวนหมากเปลี่ยนมาเป็นตำบลนครชุมตั้งแต่เมื่อไร เท่าที่ตรวจค้นแม้จะไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้แน่ชัดนัก แต่ก็พอได้ทราบว่า ตำบลคลองสวนหมากเปลี่ยนมาเป็นตำบลนครชุมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ ตาม พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามอำเภอ กิ่งอำเภอ และตำบลบางแห่งพุทธศักราช ๒๔๘๒ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ตราไว้ ณ วันที่ ๑๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๒ เพื่อประโยชน์และความสะดวกแก่ประชาชนและราชการ กับเพื่อรักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์แห่งท้องถิ่น" จึงได้เปลี่ยนชื่อจากตำบลคลองสวนหมากมาใช้ชื่อเป็น ตำบลนครชุม

    ชาวนครชุมหรือชาวคลองสวนหมากในวันนี้ไม่มีภาพที่สร้างความหวาดกลัว ความโหดร้ายและสยดสยองจากฝีดาษมาระบาดคร่าชีวิตจนเกือบจะหมดปากคลองเหมือนอย่างอดีตจนผู้คนพากันกล่าวขานว่า “คนทางใต้ ได้ยินชื่อปากคลองเข้าขนหัวลุก คนทางเหนือล่องเรือผ่านมายังต้องหันหน้ามองแต่ฝั่งด้านตะวันออก” อีกต่อไป เพราะนครชุมวันนี้เป็นชุมชนที่เจริญรุ่งเรือง เป็นสุข แลร่มเย็น

“หลวงพิพิธอภัย”
   ท่านพระครูเงยหน้าจากถ้ำชา เลิกคิ้วด้วยความหัศจรรย์อย่างจริงใจ
   “ฉันไม่ยักรู้ว่าทางบ้านเมืองเปิดให้ทำป่าไม้ในเมืองเก่าได้” ท่านว่า
“ไหนวันหนึ่งฉันไปหา หลวงพิพิธ เขา ถามถึงคุณละเมียด ก็บอกว่าไปเที่ยวเมืองเก่ากับผู้ใหญ่” (ทุ่งมหาราช หน้า ๓๐๘)   
   หลวงพิพิธ ตามบทประพันธ์ของครูมาลัย  ชูพินิจ ที่กล่าวถึงในนวนิยาย “ทุ่งมหาราช” เมื่อตรวจสอบกับยุคสมัยของประวัติศาสตร์แล้ว จะพบว่าบุคคลผู้นั้นคือ หลวงพิพิธอภัย (หวล  รามสูตร) ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญประจำยุคสมัยที่ควรกล่าวถึง ด้วยเป็นผู้ถวายดาบฝักทองแด่พระพุทธเจ้าหลวงเมื่อครั้งเสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชร
   เมืองกำแพงเพชรมีพระแสงราชศัสตราประจำเมือง เป็นพระแสงดาบฝักทอง ประจำพระองค์ของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งพระราชทานให้พระยากำแพง (นุช) เจ้าเมืองกำแพงเพชรเป็น บำเน็จเมื่อครั้งไปรบทัพชนะที่เมืองปัตตานี  และดาบนี้ได้ตกทอดมาสู่เจ้าเมืองกำแพงเพชรคนต่อ ๆ มา จนมาเป็นสมบัติของหลวงพิพิธอภัย (หวล  รามสูต) ผู้เป็นหลานของพระยารามรณรงค์สงคราม (อ้น) เจ้าเมืองกำแพงเพชรผู้เป็นเจ้าของดาบคนสุดท้าย จึงได้ถวายแด่พระพุทธเจ้าหลวง ก่อนที่พระองค์จะทรงพระราชทานคืนให้เป็นพระแสงดาบประจำเมืองกำแพงเพชร
   หลวงพิพิธอภัย (หวล) ได้ถวายดาบฝักทองแด่พระพุทธเจ้าหลวงเมื่อครั้งเสด็จพระพาสต้นเมืองกำแพงเพชรมีหลักฐานเป็นจดหมายเหตุประพาสต้นที่ว่า
   “....วันที่ ๒๖ (๒๖ สิงหาคม ๒๔๔๙) หลวงพิพิธอภัยผู้ช่วยซึ่งเป็นบุตรของพระยากำแพง (อ้น) นำดาบฝักทอง ซึ่งพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานแก่พระยากำแพง (นุช) เป็นบำเหน็จเมื่อไปทัพแขกแล้วตกมาแก่พระยากำแพง (นาค) ซึ่งเป็นสามีแพง บุตรีพระยากำแพง (นุช) บุตรพระยากำแพง (นุช) และแพงภรรยาได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองกำแพงต่อมา  ๔ คน คือ พระยากำแพง (บัว) พระยากำแพง (เถื่อน) พระยากำแพง (น้อย) พระยากำแพง (เกิด) ได้รับดาบเล่มนี้ต่อ ๆ กันมา ครั้นพระยากำแพง(เกิด) ถึงแก้อนิจกรรมผู้อื่นนอกจากตระกูลนี้ได้มาเป็นพระยากำแพงหลายคน ดาบตกอยู่แก่นายอ้นบุตรพระยากำแพง (เกิด) ซึ่งเป็นบิดาหลวงพิพิธอภัย ภายหลังนายอ้นได้เป็นพระยากำแพง ครั้นพระยากำแพง(อ้น)  ถึงแก่กรรม ดาบจึงตกอยู่กับหลวงพิพิธอภัยบุตรผู้นำมาให้นี้ พิเคราะห์ดูก็เห็นว่าจะเป็นดาบพระราชทานจริง เห็นว่าเมืองกำแพงเพชรยังไม่มีพระแสงสำหรับเมือง เช่นแควใหญ่ ไม่ได้เตรียมมาจึงมอบดาบเล่มนี้ ไว้เป็นพระแสงสำหรับเมือง ให้ผู้ว่าราชการเมืองรักษาไว้สำหรับใช้ในการพระราชพิธี......”
   ประวัติของหลวงพิพิธอภัย (หวล  รามสูต) เท่าที่สืบค้นได้ พบว่าเป็นบุตรของ หลวงพิพิธผู้ช่วยต่าย กับคุณหญิงจีบ รามสูต  เป็นหลานของพระยากำแพง (เกิด) มีภรรยา ๒ คน คือ นางจันทร์ มีบุตรด้วยกัน ๒ คน คือ นางหวีด  ศุภดิษฐ์ (สาวงามเมืองกำแพงเพชรผู้ที่พระพุทธเจ้าหลวงให้โพสต์ถ่ายภาพ) และนายหอม รามสูต ส่วนบุตรกับภรรยาชื่อนางพันธ์ มีบุตรด้วยกัน ๘ คน คือ นายสืบ  รามสูต, นางกระจ่าง  รามสูต, น.ส.ประคอง  รามสูต, นายคลอง  รามสูต, นายถนอม  รามสูต, นางสมสนิท  อยู่สุขสวัสดิ์, น.ส.เสมอ  รามสูต, และนางสมาน  รามสูต
   หลวงพิพิธอภัย เป็นบุคคลที่เห็นความสำคัญของการศึกษา จึงได้ส่งลูก ๆ คือคุณกระจ่าง คุณสมสนิท และคุณเสมอ เข้าไปเรียนในกรุงเทพ ณ โรงเรียนราชินีน้อย โดยไปพักอาศัยอยู่กับเจ้าจอมทองหยิบ ซึ่งเป็นบุตรสาวของพระยารมรณรงค์สงคราม (เกิด) กับคุณหญิงทรัพย์ ซึ่งถวายตัวเป็นนางห้ามของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และต่อมาได้เป็นเจ้าจอม
   ลูกสาวของหลวงพิพิธอภัย (หวล  รามสูต) เมื่อเรียนจบได้กลับมาอยู่เมืองกำแพงเพชร เมื่อประมาณ ปี ๒๔๗๐ โดยเฉพาะครูสมสนิท ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาสำหรับสตรีว่าเป็น
สิ่งจำเป็น จึงได้เปิดสอนหนังสือให้แก่เด็ก ๆ บริเวณเรือนพลับพลารับเสด็จ   ต่อมาเมื่อกระทรวงศึกษาธิการมีคำสั่งให้จังหวัดกำแพงเพชรเปิดโรงเรียนแผนกสตรีประจำจังหวัดขึ้น โดยให้ชื่อว่า โรงเรียนสตรีกำแพงเพชร “นารีวิทยา” และแต่งตั้งให้ครูสมสนิทเป็นครูใหญ่คนแรก
   หลวงพิพิธอภัย  ถือเป็นบุคคลสำคัญผู้ทำคุณประโยชน์ต่อเมืองกำแพงเพชร ครูมาลัย  ชูพินิจ จึงได้นำนามและการบำเพ็ญกรณีย์มากล่าวไว้เป็นอนุสาวรีย์แห่งความทรงจำประจำเมืองกำแพงเพชร
 “ท่านเจ้าคุณกำแพงผู้ว่าราชการจังหวัด”
(พระวิเชียรปราการ)
   “เครื่องแต่งกายซึ่งเป็นที่สะดุดตาในภูมิประเทศบ้านป่าเช่นนั้น มากกว่าบรรดาผู้สวมเอง เรียกร้องความสนใจของเขา และทุกคนก้มหน้าทำธุระอยู่กับงานของตนเช้าวันนั้น ให้เงยหน้าขึ้นไปจับตาดูอยู่เป็นเป้าเดียวกัน แม้กระนั้นร่างเล็ก ๆ ของหล่อนพร้อมด้วยใบหน้าอันเกลี้ยงเกลา และนันย์ตาที่เป็นประกายวาวเพราะความตื่นเต้น ก็เป็นภาพแรกที่สะดุดสายตาเขา ในขณะที่คนอื่น ๆ บ้างยืนบ้างนั่ง ด้วยกิริยาท่าทางอันตื่นตะลึงต่าง ๆ กัน เมื่อ ปรากฎว่าร่างของชายชราในชุดกางเกงขาสั้นสวมถุงน่องรองเท้า หมวกกันแดดและเสื้อราช ปแตนต์ คนนำหน้าคือ ท่านเจ้าคุณกำแพง ผู้ว่าราชการจังหวัด” (ทุ่งมหาราช หน้า ๒๙๑)

   ท่านเจ้าคุณกำแพงผู้ว่าราชการจังหวัด ตัวละครที่ปรากฏในนวนิยายทุ่งมหาราช เป็นบุคลิกของเจ้าเมืองที่มีคุณธรรมและใส่ใจต่อความทุกข์ยากของราษฎรซึ่งตรงกับบุคลิกของพระวิเชียรปราการ ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชรซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญอีกผู้หนึ่งของเมืองกำแพงเพชร
   พระยาวิเชียรปราการ นามเดิม ฉาย  อัมพเศวต เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๔๑๐ ในรัชกาลที่ ๔ เป็นชาวเมืองสรรค์ (จังหวัดชัยนาท) เป็นบุตรของหลวงภักดีบริรักษ์ (อ่ำ) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นหลวงสรรค์บุรารักษ์ ตำแหน่งนายอำเภอสรรค์บุรี เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสหัวเมืองเหนือ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ หลวงสรรค์บุรานุรักษ์ได้จัดการรับเสด็จที่เมืองสรรค์เป็นที่เรียบร้อย พอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก
   ในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ตำแหน่งเจ้าเมืองกำแพงเพชรว่างลง ด้วยพระยารามรณรงค์สงคราม (หรุ่น)ต้องเข้าไปรายงานตัวในเมืองหลวง จึงโปรดเกล้าให้หลวงสรรค์บุรานุรักษ์ไปรับราชการเมืองกำแพงเพชร แล้วพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนเป็น “พระวิเชียรปราการ” ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘
   คุณงามความดีของพระวิเชียรปราการที่มีต่อเมืองกำแพงเพชรที่เด่นชัดคือ ถวายการต้อนรับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชร พ.ศ. ๒๔๔๙ และรับเสด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฏราชกุมาร เมื่อคราวเสด็จเที่ยวเมืองพระร่วง ในระหว่างเดือนมกราคม ๒๔๔๘ และ ๒๔๕๐ โดยนำเสด็จชมโบราณสถาน โดยศึกษาและสืบค้นไว้ทำให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ ดังปรากฏความหลายตอนในบทพระราชนิพนธ์ในการเสด็จประพาสต้น ครั้งที่ ๒
   “วันที่ ๑๙ วันนี้ตื่นสายไป แล้ว พระวิเชียร พาคนผมแดงมาให้ดู...”
    “..เมื่อถึงด้านตะวันออกเริ่มต้นเป็นประตูผีออก ซึ่งยังมีกำแพงอยู่ดีกว่าประตูอื่น ๆ ถัดไปถึงป้อมซึ่ง พระวิเชียร ให้ชื่อว่าป้อมเพชร เพราะเป็นด้านเหนือเขาถือว่าเป็นป้อมสำคัญ..”
   พระวิเชียรปราการเป็นผู้สืบค้นชื่อวัดและโบราณสถานต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในจดหมายเหตุเสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชร เช่น วัดพระแก้ว วัดช้างเผือก วัดพระนอน วัดพระยืน ซึ่งใช้เรียกกันจนมาถึงทุกวันนี้ และยังเป็นผู้ให้กำเนิดถนนหลายสายในจังหวัดกำแพงเพชร อาทิ ถนนราชดำเนิน ถนนเทศา ซึ่งริเริ่มทำเมื่อครั้งรับเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง และเมื่อพระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จผ่านแล้วจึงตั้งชื่อ ถนนราชดำเนิน ส่วนถนนเทศาได้ตั้งชื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระยาอมรินทร์ฤาชัย สมุหเทศาภิบาลนครสวรรค์ซึ่งตามเสด็จ นอกจากนี้ยังได้สร้างศาลากลางที่บริเวณสนามเด็กเล่นของเทศบาลแทนศาลากลางหลังเดิมซึ่งอยู่บริเวณโรงต้มกลั่นสุราที่ถูกไฟไหม้ไว้อีกด้วย    
   เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้เลื่อนเป็น “พระยาวิเชียรปราการ”
   ด้วยความที่เมืองกำแพงเพชรในอดีตเป็นเมืองที่มีไข้ชุม บุตร ภรรยา และบ่าวไพร่ของพระวิเชียรปราการ ที่อาศัยอยู่ในเมืองกำแพงเพชรได้ป่วยไข้ถึงแก่กรรมเกือบหมด รัชกาลที่ ๖ จึงโปรดให้ย้ายไปดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท  และพระราชทานสัญญาบัตรเป็น  “พระยาไชยนฤนาท”
   พระยาไชยนฤนาทได้อยู่ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาทไปจนป่วยเป็นลมด้วยโรคหัวใจพิการ และถึงแก่อนิจกรรมที่เมืองชัยนาท เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๔๖๓ รวมอายุ ๕๓ ปี
   เกียรติประวัติและคุณงามความดีของพระยาวิเชียรปราการนั้น ชาวกำแพงเพชรต่างระลึกถึงด้วยความเคาระและภาคภูมิใจอยู่เสมอ
 “พะโป้”
   “นับแต่วินาทีแรกที่เหลือบไปเห็นว่าชายผู้นั้นเป็นใคร มิใช่รูปร่างซึ่งสมบูรณ์สมกับคนเจ้าเนื้อ หรือการแต่งกายตามประเพณี มากไปกว่าความเป็นสง่าราศีของใบหน้า ของนัยน์ตา และผิวพรรณ พะโป้ขณะนั้นล่วงเข้าวัยกลางคนแล้ว แต่สีหน้ายังเอบอิ่มเหมือนคนหนุ่ม น้ำเสียงที่พูดก็แจ่มใสไพเราะเหมือนเสียงเด็ก” (ทุ่งมหาราช หน้า๑๖๕)
“เขามองหน้าบุรุษผู้นั่งหัวเราะต่อไปอยู่ต่อหน้าขณะนั้นครั้นแล้วก็ได้คิดขึ้นมาด้วยความสะท้านสะเทือนใจว่า นี่เองพะโป้ ผู้ยิ่งใหญ่ พะโป้ผู้มีบุญคุณแก่ชาวกำแพงเพชรโดยทั่วไปและคลองสวนหมากโดยเฉพาะ พะโป้ผู้นำฉัตรทองแต่ตะโก้งมาประดิษฐาน ณ ยอดพระบรมธาตุเป็นสัญญลักษณ์แห่งพระบวรพุทธศาสนา ( ทุ่งมหาราช หน้า ๑๖๙ )

   พะโป้เป็นใคร มีความสำคัญอย่างไรต่อชาวนครชุมและกำแพงเพชร  ครูมาลัย  ชูพินิจ จึงได้นำนามและการบำเพ็ญกรณีย์มากล่าวไว้เป็นอนุสาวรีย์ประจำกำแพงเพชรในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์แก่บ้านเมือง
มีเอกสารหลักฐานจากกองจดหมายเหตุแห่งชาติซึ่งเก็บรักษาเอาไว้ในช่วงพระยารามรณรงค์เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรระบุไว้ว่า พะโป้ มีชื่อเต็ม ๆ คือ พะโป้พะเลวาซวยล่า สะมะเย เป็นพ่อค้าไม้ผู้มั่งคั่งชาวกะเหรี่ยงอยู่ในบังคับของอังกฤษ เดินทางจากพม่าเข้ามาทำไม้ในเขตพื้นที่ป่าคลองสวนหมาก โดยการนำพาของ มองม่อมองปีล ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๒๙ เป็นต้นมา
   ป่าคลองสวนหมาก เป็นป่าไม้สักที่สำคัญของเมืองกำแพงเพชร มีผู้คนเข้ามาขอสัมปทานทำไม้กันมากมาย โดยก่อนหน้านั้นราวปลายรัชกาลที่ ๔ พญาตะก่า ได้เข้ามาเช่าทำไม้จากพระยากำแพงเพชร (อ่อง) ต่อมาพญาตะก่าถึงแก่กรรม หม่องสุเจ บุตรชายรับดำเนินกิจการสืบแทน แต่ทนกับภาวะขาดทุนไม่ไหวจึงปล่อยให้พระยารามรณรงค์เข้ามารับสัมปทานต่อ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๒๙ พะโป้จึงมาปรากฏกายที่เมืองกำแพงเพชรและขอรับสัมปทานการทำไม้ในป่าคลองสวนหมากแต่เพียงผู้เดียว
   เข้ามาทำไม้ที่เมืองกำแพงเพชรอยู่ได้ไม่นาน พะโป้ ได้แต่งงานกับคนไทยชื่อ แม่ทองย้อย บุตรสาวผู้ใหญ่บ้านวันและอำแดงไทย ซึ่งมีบ้านเรือนอยู่ริมคลองสวนหมากใกล้กับบ้านห้าง และได้มีบุตรธิดาด้วยกัน ๔ คน (ปัจจุบันเสียชีวิตหมดแล้ว)  เท่าที่พอสืบค้นได้รู้จักชื่อเพียง ๓ คนคือ ป้าแกล ป้าทับทิม และนายทองทรัพย์ ซึ่งได้ตั้งนามสกุล “รัตนบรรพต” สืบสายมาจนถึงทุกวันนี้
   การทำไม้ของพะโป้ เจริญรุ่งเรืองจนกลายเป็นคหบดีใหญ่แห่งบ้านปากคลอง เป็นที่นับหน้าถือตาของชาวคลองสวนหมากและชุมชนใกล้เคียง ด้วยความเป็นคนใจบุญและศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า พะโป้จึงได้ออกเงินส่วนตัวเพื่อทำการบูรณะพระบรมธาตุนครชุมต่อจากพญาตะก่าที่ทำค้างไว้ให้แล้วเสร็จเป็นจำนวนถึง ๑๔,๐๐๐ บาท จากค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ๑๕,๕๐๐ บาท เงินจำนวนนี้ในสมัยก่อนถือเป็นจำนวนมหาศาลเกินกว่าบุคคลธรรมดาจะทำได้ นอกจากนี้ยังได้ให้เงินอีก ๑,๗๐๐ บาท นำไปซื้อฉัตรจากเมืองมะระแหม่งเพื่อนำมาประดับไว้เหนือยอดเจดีย์อีกด้วย
   พะโป้มีเรือนหลังใหญ่ใช้เป็นสำนักงานเรียกว่าบ้านห้างแล้ว ยังมีเรือนบริวารอีกหลายหลัง มีโรงช้าง มีบ่าวไพร่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากมาย ทั้งคนไทย มอญ ลาว และกะเหรี่ยง  โดยแบ่งพื้นที่ทำกินและให้อาศัยอยู่บริเวณ รอบ ๆ บ้าน จึงปรากฏนามสถานที่ นาไทย นามอญ ซึ่งใช้เป็นที่ทำนาของบ่าวไพร่ ส่วนบ้านที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของพะโป้นั้น ตั้งอยู่บริเวณปากคลองใกล้กับบ้านห้างมีถึง ๑๐ หลัง เป็นบ้านทรงไทย
   พะโป้ถึงแก่กรรม เมื่อต้นรัชกาลที่ ๖ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้ตั้งศพไว้ที่ห้องโถงชั้นล่างของบ้านห้างเป็นเวลา ๑ ปี ตลอดเวลาจะมีพระสงฆ์มาสวดศพและทุก ๆ ๗ วัน ชาวกะเหรี่ยงจะพากันออกจากป่าเพื่อมาคารวะศพและทำการสวดตามพิธีของชาวกะเหรี่ยง ทำให้เสียงสวดมนต์ดังอยู่คู่บ้านนานนับปี เมื่อครบกำหนดจึงได้นำศพไปทำพิธีฌาปนกิจที่วัดสว่างอารมณ์ ตำบลนครชุม
   แม้กาลเวลาจะล่วงเลยไปกว่า ๑๐๐ ปี แต่ผู้คนชาวนครชุมและกำแพงเพชร ยังยังกล่าวขานถึงตำนานชีวิตของพะโป้อยู่เสมอ ด้วยพะโป้คือผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มีบุญคุณแก่ชาวกำแพงเพชรโดยทั่วไปและคลองสวนหมากโดยเฉพาะ พะโป้ผู้นำฉัตรทองแต่ตะโก้งมาประดิษฐาน ณ ยอดพระบรมธาตุเป็นสัญญลักษณ์แห่งพระบวรพุทธศาสนา
 “ท่านพระครู” พระครูธรรมาธิมุตมุนี (สี)

   “เสียงใบระกาต้องลมเวลาเช้ากรุ๋งกริ๋งอยู่รอบฉัตรเหนือยอดองค์พระธาตุเท่านั้นที่ต้อนรับท่านเจ้าคุณผู้ว่าราชการจังหวัด ขณะเมื่อเข้าสู่ลานกุฏิวัดใต้ ทั่วทั้งบริเวณเงียบเชียบเหมือนปราศจากทั้งพระทั้งเณรและลูกศิษย์ตามศาลาและกุฏิก็ว่างเปล่า” ( ทุ่งมหาราช หน้า ๒๘๓ )
“ขณะที่ผ่านหน้าท่านเจ้าคุณเข้าไปในโบสถ์ได้ยินเสียงพึมพำปรากฏขึ้นข้างในสักครู่
ท่านพระครู อยู่ในสภาพครองจีวรเรียบร้อยเพราะกำลังสวดมนต์ภาวนา หน้าตาและผิวพรรณท่านสดใสแม้อายุอยู่ในวัยเดียวกับท่านเจ้าคุณก็เดินอ้อมเบื้องหลังพระประธานออกมาที่หน้าประตู
   “เชิญข้างใน เจ้าคุณ” ท่านปราศัยเสียงกังวานอันไพเราะ “นี่กลับมาจากบางกอกแต่เมื่อไหร่?”
   “เมื่อวานซืนนี้เองขอรับ” ผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมด้วยคณะของท่านถอดรองเท้าแล้วตามหลังเข้าไป จนกระทั้งถึงกลางโบสถ์จึงก้มลงกราบพระพุทธรูป ซึ่งสุกเรืองอยู่กลางแสงเทียน และแสงสว่าง ที่ส่องลอดหน้าต่างโบสถ์เข้ามา จากภายนอกแลดูกระหึ่ม
   “ผมกลับมา ได้ข่าวว่าปีกลายฝีดาษกินเสียเตียนไปทั้งคลองเหนือคลองใต้ ก็รีบเข้ามาเยี่ยม.....คิดว่าจะไม่ได้พบหน้าท่านพระครูเสียแล้ว”
   “ก็หวุดหวิดไปเหมือนกัน เจ้าคุณ” ท่านเจ้าอาวาสบอก “ฉันออกฝีเหมือนกัน แต่อาการไม่ร้ายแรงอย่างคนอื่น ๆ เขา เป็นอยู่ราวเจ็ดแปดวันก็หาย ขณะที่พวกชาวบ้านตายกันเป็นเบือ ทั้งวัดไม่มีเหลือ นอกจากคุณไปล่ คุณปลัด กับฉัน เท่านั้น เด็กเล็กที่ฝากไว้ก็หนีตามไปอยู่กับพ่อแม่พี่น้องหมด เมื่อผู้ใหญ่รื่นเขาอพยพออกไปอยู่ที่วังกระทะ” ( ทุ่งมหาราช หน้า ๒๘๗ )
   ฉากการสนทนาระหว่างท่านผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชรและท่านพระครูเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ ที่ปรากฏอยู่ในนวนิยาย “ทุ่งมหาราช” ของครูมาลัย  ชูพินิจ สะท้อนภาพของวัดพระบรมธาตุและตำบลคลองสวนหมากในขณะที่ถูกโรคระบาดฝีดาษกินชีวิตของผู้คนไปจนเกือบหมดปากคลองสวนหมากจนชาวบ้านต้องอพยพไปอยู่ที่วังกระทะ
   ข้อความที่ปรากฏในนวนิยาย”ทุ่งมหาราช” ตอนนี้ ทำให้สืบค้นได้ว่าในช่วง พ.ศ. ๒๔๔๙ ท่านพระครูของวัดพระบรมธาตุที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชรพร้อมคณะไปเยี่ยมที่วัดพระบรมธาตุเมื่อครั้งเกิดฝีดาษระบาดไปทั่วปากคลองสวนหมากคือท่านเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุนครชุม อันน่าจะหมายถึง พระครูธรรมาธิมุตมุนี (สี) เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ ซึ่งมีสมณศักดิ์เป็นเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร
   ประวัติของพระครูธรรมาธิมุตมุนี (สี) ไม่ค่อยจะสืบทราบได้แน่ชัดนักว่ามาบวชเรียนเมื่อใด มาอยู่ที่วัดพระบรมธาตุเมื่อใด แต่พอมีเอกสารในสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นใบบอกเมืองกำแพงเพชร ซึ่งเก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร ทำให้ทราบว่า พระครูธรรมาธิมุตมุนี (สี) เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ มีสมณศักดิ์สูงสุดเป็นถึงเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร ในช่วงท้ายของชีวิตได้อาพาธเป็นวัณโรค และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๔๖๘ นับอายุได้ ๖๔ ปี รวมพรรษา ๔๔ พรรษา แสดงว่าท่านพระครูธรรมาธิมุตมุนี (สี) ได้เริ่มบวชเรียนตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๔ เป็นต้นมา
   เจ้าอาวาสของวัดพระบรมธาตุนั้นมีความสำคัญเป็นที่เคารพนับถือมิใช่เฉพาะของชาวบ้านปากคลองสวนหมากหรือชาวนครชุมเท่านั้น แต่ยังเป็นที่เคารพนับถือของชาวกำแพงเพชรและจังหวัดใกล้เคียงอีกด้วย ครูมาลัย ชูพินิจ ก็ยังเป็นศิษย์เมื่อชีวิตในเยาวัยได้มาศึกษาที่โรงเรียนวัดพระบรมธาตุ

“มิสหลุยส์”
   “ ฉันยังจำได้ดีทุกอย่าง  แม่เฒ่าคิด  จำได้แน่  เหมือนมันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน  มะม่วงสายทองต้นนั้น ซุงที่ท่าน้ำ  แม่ปิงที่เวิ้งว้าง  เต็มไปด้วยจอกและสวะ  เต็มไปด้วยแพไม้ แพเสา เรือโกลนติดธงสีต่าง ๆ กัน ระหัดท้ายของ มิสหลุยส์  ซึ่งไม่มีวันจะกลับมาอีก และก็เรือชะล่าลำนั้น  และ…และเขา! “ ( ทุ่งมหาราช หน้า ๔ )

   ครูมาลัย  ชูพินิจ ได้บรรยายสภาพของแม่น้ำปิงในอดีตที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา ซุงไม้ที่ท่าน้ำ ความเวิ้งว้างกว้างใหญ่ของแม่น้ำปิง จอกแหน กอสวะที่ไหลผ่านลงไปตามลำน้ำ พร้อมทั้งแพไม้ แพเสา เรือโกลนติดธงสีของบริษัททำไม้ต่าง ๆ ที่พากันเข้ามาทำไม้ในเขตเมืองกำแพงเพชรและหัวเมืองทางเหนือ จนทำให้กำแพงเพชรเป็นอีกหนึ่งชุมทางค้าไม้ นอกจากเรื่องราวแห่งอดีตที่ครูมาลัย  ชูพินิจ ได้บันทึกเอาไว้แล้วยังได้กล่าวถึงชื่อของบุคคลผู้หนึ่งที่ควรเข้าไปรู้จักคือ “มิสหลุยส์”
   ชีวิตของ “มิสหลุยส์” เป็นชื่อของผู้บุกเบิกการทำอุตสาหกรรมป่าไม้ในเขตภาคเหนือของประเทศไทย คงไมี่วันดับสูญไปจากความทรงจำของชาวหัวเมืองทางเหนือด้วยมีตำนานชีวิตที่น่าสนใจเป็นที่เล่าขานกันในหมู่พ่อค้าไม้ทั้งรายใหญ่และรายย่อย
   “มิสหลุยส์” มิใช่คนธรรมดาเหมือนสามัญชนชาวต่างประเทศทั่วไป แต่มิสหลุยส์ เป็นบุตรคนเล็กของแหม่มแอนนา เลโอโนเวนส์ หญิงผู้โด่งดังในราชสำนักสยามสมัยแผ่นดินพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เจ้าของเรื่องราว “แอนนา แอนด์ เดอะคิงส์” ภาพยนต์ต้องห้ามสำหรับคนไทย
   เมื่ออายุได้ราว ๖-๗ ขวบ “มิสหลุยส์” ซึ่งเป็นคนร่าเริง รักสนุก ได้ติดตามมารดาคือแหม่มแอนนาเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ช่วงชีวิตที่เปลี่ยนจากโลกตะวันตกมาสู่โลกตะวันออกเช่นนี้ ทำให้เขาเกิดความชื่นชอบกับการพจญภัยในภูมิประเทศแถบนี้ และยังมีความผูกพันและประทับใจต่อองค์พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสยามโดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
   “มิสหลุยส์” มีความสนิทผูกพันกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้รับการชักชวนจากพระองค์ให้เข้ารับราชการเป็นผู้บังคับบัญชาในกองกำลังรักษาพระองค์อยู่หลายปี ที่กรุงเทพฯ “มิสหลุยส์” ได้รับตำแหน่งในกองทหารม้าเป็นที่ทรงวางพระราชหฤทัยให้ทำหน้าที่ฝึกม้าเพื่อใช้ในกระบวนการพิธี แต่ด้วยความเป็นคนรักการพจญภัย ชอบความตื่นเต้น เขาจึงตัดสินใจกราบถวายบังคมลาออกจากราชการเพื่อเดินทางขึ้นเหนือไปกับกองทัพปราบฮ่อที่เข้ามารุกรานพื้นที่แถบนั้น  เพื่อสำรวจเขตแดนทำแผนที่มาตรฐานสากลสำหรับดินแดนในเขตประเทศไทยเป็นครั้งแรก
เมื่อมีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวไปในเขตพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย ทำให้ได้รู้ได้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ทางภาคเหนือ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับกิจการป่าไม้ และสร้างมิตรภาพกับผู้คนในแดนแดนทางเหนือ ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๒๗ เขาจึงได้เข้าเป็นเอเย่นส์สัมปทานป่าไม้สักในเขตภาคเหนือของบริษัทบอร์เนียวรับผิดชอบพื้นที่จากปากน้ำโพ กำแพงเพชร และตาก โดยบริษัทเบอร์เนียวได้สร้างบ้านไม้สักหลังใหญ่ใช้เป็นที่พักและที่ทำงานอยู่ที่เขตเมืองระแหง (ตาก) เพื่อให้ดำเนินกิจการรับซื้อและส่งออกไม้สัก
   การทำอุตสาหกรรมไม้สักเพื่อส่งออกในเมืองไทยในยุคแรก ๆ ได้เริ่มต้นโดยบริษัทจากประเทศอังกฤษเข้ามาเป็นผู้บุกเบิก โดยมีคนในบังคับอังกฤษเข้ามารับช่วงการรับจ้างทำไม้ เหตุที่คนไทยทางเหนือไม่ยอมทำไม้เพราะมีความเชื่อเรื่องผีสางนางไม้อย่างเหนียวแน่น กลัวจะมาทำร้ายถึงชีวิต จึงไม่ค่อยจะยอมไปรับจ้างบริษัทฝรั่งทำไม้ หน้าที่การตัดไม้จึงตกเป็นของพวกพม่าหรือกะเหรี่ยงที่เดินทางจากพม่าเข้ามาหากินในเมืองไทย โดยมีกงสุลอังกฤษดูแลรับผิดชอบ ผู้คนเหล่านั้นจึงได้ชื่อว่าเป็น “คนในบังคับของอังกฤษ”
   นับแต่ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๒๗ ที่ “มิสหลุยส์” เข้ามาเป็นเอเย่นส์สัมปทานป่าไม้ของบริษัทเบอร์เนียวและลาออกไปทำสัมปทานป่าไม้เองในเขตพื้นที่ทางภาคเหนือทำหน้าที่รับซื้อไม้ซุงที่ส่งลงมาจากเชียงใหม่และจากแถบกำแพงเพชรและตากมาเพิ่มเติมธุรกิจการค้าไม้สักเจริญรุ่งเรืองด้วยดี  ทำให้ผู้คนสองฝั่งแม่น้ำปิงจึงได้เห็นภาพแพไม้ติดธงของมิสหลุยส์ นายมิสเตอร์หลุยส์ หรือบริษัทหลุยส์ ล่องผ่านไปตลอดทั่วท้องน้ำปิงอันกว้างใหญ่
   มีตำนานอันน่าจดจำของบริษัทหลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ คือบริษัทของเขาได้อุทิศซุงไม้สักหลายต้นเพื่อให้ใช้ซ่อมแซมเสาชิงช้าหน้าวัดสุทัศน์ กรุงเทพฯ ซึ่งมีการซ่อมแซมจนแล้วเสร็จในปี ๒๔๖๓
   ในบั้นปลายของชีวิต “มิสหลุยส์” ได้เดินทางไปใช้ชีวิตอยู่ที่อังกฤษและเสียชีวิตที่กรุงลอนดอนในปี พ.ศ ๒๔๖๒ ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับฝรั่งผู้จัดการป่าไม้ของมิสหลุยส์ทั้งการเข้าป่าล่าสัตว์ที่ยกเข้าไปเหมือนกองทัพใหญ่ และการนำเรือระหัดท้ายเข้ามาวิ่งในแม่น้ำปิงเป็นลำแรก
 “แม่ทองย้อย”

“ ..ข้าไม่ใช่คนร่ำรวยอะไรนักหนาพยายามสะสมเงินทอง ที่ได้จากการค้าขาย ๒ ปีหลังนี่ก็ไม่กี่ชั่ง เคราะห์ดีลงไปธุระบางกอกถูกหวยรวยสองสามครั้ง  ได้มรดกจากยายที่ขาณุอีกกอง ถึงได้ซื้อเรือ ซื้อของ ซื้อทองมาสำหรับจะแต่งเมียกะเขาสักคน เป็นคนแรกในชีวิต คิด ๆ ก็น่าขัน แต่มันจะต้องเป็นไปตามที่ข้าตั้งใจไว้ ข้าจะบอกเอ็งจำปา ว่าข้าตั้งใจไว้อย่างไร--๑๐ ชั่งสำหรับสินสอด ๑๐ บาทสำหรับทองหมั่น เรือนหอมุงแฝกฝาปรือ พื้นกระดาน นั่นแหละข้าจะให้สุดใจ”
“พี่ทิด--”  ลมหายใจของจำปาสะดุด ขาที่ราน้ำหดขึ้นไปพับเพียบไว้กับแคมเรือ    “นั่น—นั่นมากเสียยิ่งกว่ารายใด ๆ ที่คนบ้านนี้เคยแต่งกันมาแล้วมากกว่าผู้หญิงทั้งกำแพง นอกจากคราวพะโป้ แต่งกะ แม่ทองย้อย”
บทสนทนาระหว่างรื่นกับจำปาเพื่อนรักของสุดใจ เกี่ยวกับเรื่องสินสอดทองหมั่นที่รื่นเตรียมไว้สำหรับมาขอสุดใจแต่งงานเป็นเงินและทองที่มากกว่าการแต่งงานของสาวใด ๆ ทั่วทั้งปากคลองและฝั่งกำแพง ยกเว้นคราวที่พะโป้แต่งกับแม่ทองย้อยซึ่งยิ่งใหญ่และโด่งดังไปทั่วทั้งเมือง
แม่ทองย้อย ที่ถูกกล่าวถึงในนวนิยายทุ่งมหาราชของครูมาลัย  ชินินิจ เป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง เป็นภรรยาของพะโป้ พ่อค้าไม้ผู้ร่ำรวยชาวกะเหรี่ยง
ประวัติของแม่ทองย้อย เท่าที่สืบค้นได้ เป็นบุตรของผู้ใหญ่บ้านวัน กับ อำแดงไทย ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองสวนหมากด้านวัดสว่างอารมณ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดารวม ๗ คน แม่ทองย้อยจะเป็นบุตรคนที่เท่าไรไม่สามารถสืบค้นได้ ทราบเพียงว่าในช่วง พ.ศ. ๒๔๕๙ เหลือพี่น้องอยู่เพียง ๔ คน
ด้วยการที่พะโป้เข้ามาทำไม้และตั้งบ้านเรือนอยู่ที่คลองสวนหมากบริเวณปากคลองเหนือ ทำให้มีโอกาสไปมาหาสู่กัน จนเกิดการรักใคร่ แต่งงานกันอย่างยิ่งใหญ่สมฐานะของลูกสาวผู้ใหญ่บ้านกับเจ้าบ่าวที่เป็นมหาเศรษฐีแห่งปากคลองเหนือ
แม่ทองย้อยกับพะโป้ใช้ชีวิตครอบครัวอยู่ร่วมกันมาอย่างเป็นสุข มีบุตรธิดาเท่าที่พอสืบค้นได้ คือ ป้าแกล ป้าทับทิม และนายทองทรัพย์ ซึ่งต่อมานายทองทรัพย์ได้แต่งงานกับแม่เน้ยก๊วย มีธิดาสืบสกุลคือ อาจารย์กัลยา  รัตนบรรพต  อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว
แม่ทองย้อย คงเป็นบุคคลที่ร่วมแรง ร่วมใจในการบริหารงานกับพะโป้ ช่วยดูแลกิจการการทำไม้ในป่าอยู่เป็นประจำ เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้าน เมื่อแม่ทองย้อยได้เสียชีวิตไปแล้ว ชาวบ้านที่จะเข้าป่าล่าสัตว์ยังต้องไปบนบานต่อศาลเจ้าแม่ทองย้อยที่คลองสมุย ดังบทความในสารคดี “ทุ่งโล่งดงลึก” ที่ครูมาลัย  ชูพินิจ ได้เขียนถึงแม่ทองย้อยภรรยาของพะโป้ซึ่งเป็นญาติห่าง ๆ กันและยังเล่าถึงศาลเจ้าแม่ทองย้อยเอาไว้ดังนี้
 “ถามใครก็ไม่ได้ความว่าใครปลูก และปลูกกันมาแต่เมื่อไร นอกจากเห็นกันมาหลายสิบปีแล้ว
กะเหรี่ยงบ้านนั้นตายกันหมดเพราะไข้ หรือย้ายไปไหนไม่มีใครรู้อีกเหมือนกัน  แต่ที่นี่นะ  พอหัวหน้าคนงานใหม่ของพะโป้แกมาอยู่ตั้งศาลเจ้าแม่ทองย้อยขึ้นมาเท่านั้นแหละครับ  โรคภัยไข้เจ็บหยุดรบกวนพวกที่มาตั้งปางทีเดียว”
   แม่ทองย้อยนอกจากจะเป็นผู้ขยันขันแข็งในการช่วยเหลือกิจการของพะโป้แล้ว ยังเป็นบุตรสาวที่ความกตัญญูต่อมารดาดังเหตุการณ์ที่ อำแดงไทยมารดาของแม่ทองย้อยทำฎีกาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในหลวงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงขอยืมพระราชทรัพย์ ๑๒,๐๐๐ บาท ไปทำทุนค้าขายไม้ขอนสัก ซึ่งภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเงินให้ยืม เมื่อแม่ทองย้อยกลับจากการขายไม้สักได้ทราบเรื่องเข้าจึงออกเงินให้อำแดงไทยถวายพระราชทรัพย์นั้นคืนด้วยกลัวพระราชอาญาให้ระคายเคืองใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
   แม่ทองย้อย จึงถือเป็นผู้หญิงเก่งและดีอีกคนหนึ่งของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกำแพงเพชรที่ควรบันทึกไว้เป็นตำนานสู่ลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

 “พญาตะก่า” 
   “...แต่ก่อนที่นี่มีพระเจดีย์อยู่สามองค์ ไม่มีใครรู้ว่ามีมาแต่ครั้งไหน ไม่มีใครรู้ว่าใครมาสร้างไว้ ?  นอกจากในเรื่องชาดกปรำปราหรือเทพนิยาย แต่ทุกคนรู้ว่าใครยกยอดฉัตรทอง แต่ก่อนมาข้า มอง ๆ ดูแล้วเคยคิดอัศจรรย์ใจว่า สุดวิสัยที่มนุษย์ธรรมดาสามัญสมัยนี้จะทำอย่างนั้นได้ ! -- มาเมื่อกี่นี่เอง ทันใดที่ก้มลงกราบองค์พระข้านึกถึงพะโป้ได้ สุดใจ ภายหลังที่ได้พูดจากับแกครั้งนั้นแล้ว ข้าคิดว่าข้าเข้าใจทำไมพระธาตุองค์นี้จึงเป็นเจดีย์มหึมาขึ้นมาได้ และทำไมการยกยอดฉัตรทองจึงสำเร็จ คนอย่าง พญาตะก่า พี่ พะโป้น้อง หาอีกไม่ได้ในชาตินี้ แกไม่ใช่คนไทยแต่แกก็รักเมืองไทย รักคนไทย เพราะมันเป็นถิ่นฐานที่สร้างแกขึ้นมา และเป็นคนที่แกจะหาความสุข ความรักด้วยได้ เอ็งยังจำคืนแรกที่เราพบกันได้ไหมสุดใจ ? ยังจำที่ข้าพูดได้ไหมว่า พญาตะก่า กะพะโป้สร้างพระธาตุ แต่ข้ากะเอ็งจะสร้างปากคลองให้เป็นของพวกเราต่อไป”  (ทุ่งมหาราช หน้า ๑๘๐ )
   พญาตะก่า หรือแซพอ เป็นพ่อค้าไม้ชนชาติกะเหรี่ยงจากพม่าเข้ามาทำกิจการไม้ที่คลองสวนหมาก เมืองกำแพงเพชรเป็นรายแรก ๆ ในช่วงก่อน พ.ศ. ๒๔๑๔ โดยเข้ามาขอรับแบ่งทำจากพระยากำแพงเพชร (อ่อง) ราวช่วงปลายรัชกาลที่ ๔ หรือต้นรัชกาลที่ ๕ ซึ่งสามารถบริหารกิจการได้ร่ำรวย มีใจศรัทธาขอบูรณะเจดีย์โบราณที่วัดพระบรมธาตุนครชุมด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัว แต่ทำยังไม่แล้วเสร็จได้เสียชีวิตเสียก่อนแซพอหรือพญาตะก่าถึงแก่กรรม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘ 
   ประวัติของพญาตะก่าสืบค้นได้น้อยมาก แต่ถือเป็นบุคคลสำคัญเป็นที่รู้จักกันทั่วไปแม้แต่ชาวกะเหรี่ยงจากหมู่บ้านต่าง ๆ ในจังหวัดกำแพงเพชรอย่าง หมู่บ้านกะเหรี่ยงน้ำตก วุ้งกระสัง โละโคะ ยังเคยได้ยินเรื่องราวของพญาตะก่าทั้งนั้น
   มีข้อมูลและรายชื่อผู้ปฏิสังขรเจดีย์ชเวเมียนโหว่นเซดีด่อที่เมืองเมียวดี ประเทศพม่า ซึ่งอยู่ติดกับอำเภอแม่สอด พบว่าในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมามีหัวหน้าพ่อค้าไม้ชาวกะเหรี่ยงนามว่า อูแตผ่อ ได้เข้ามาประกอบกิจการทำไม้ตามหัวเมืองต่าง ๆ ของพม่าและไทยบริเวณตาก กำแพงเพชร เรื่อยไปจนถึงหัวเมืองทางเหนือ การประกอบกิจการทำไม้ของ อูแตผ่อ ประสบความร่ำรวยมหาศาล และนิยมก่อสร้างหรือบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามและพระธาตุเจดีย์ต่าง ๆ ตามเส้นทางการค้าที่เข้าไปทำกิจการ ดังหลักฐานทางศิลปกรรมแบบพม่าที่ได้สร้างขึ้นตามวัดต่าง ๆ ในเขตภาคเหนือของไทย เช่น เจดีย์วัดพระบรมธาตุนครชุม หรือหมู่อาคาร กุฎิสงฆ์วัดศรีชุมจังหวัดลำปาง และวัดเจดีย์เหลี่ยม จังหวัดเชียงใหม่
            มีการตั้งข้อสังเกตว่า พญาตะก่า พี่ชายของพะโป้ ผู้ริเริ่มในการบูรณซ่อมแปลงพระธาตุนครชุม นั้น น่าจะเป็นคน ๆ เดียวกับ อู แตผ่อ พ่อค้าไม้ชาวกะเหรี่ยง เพราะคำว่า พญาตะก่า เป็นลักษณะนามพิเศษในภาษาพม่า ใช้สำหรับเรียกยกย่องแด่ผู้สร้างหรือผู้บูรณะพระเจดีย์ ชื่อ แตผ่อ ก็ออกเสียงคล้ายกับ แซภอ ข้อมูลในประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่ผู้สนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของกำแพงเพชรจะต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป
   หลักฐานสำคัญเกี่ยวกับแซภอหรือพญาตะก่าพ่อค้าไม้ชาวกะเหรี่ยงมีใจศรัทธาขอบูรณะปฏิสังขรณ์เจดีย์วัดพระบรมธาตุ พระยากำแพงเพชรเจ้าเมืองได้ทำหนังสือขออนุญาตลงมาที่กรุงเทพฯ ทางกรุงเทพฯ จึงได้ตอบอนุโมทนาและอนุญาตให้ซ่อมแซมได้ดังปรากฎเป็นสำเนาสารตราจากสมุหนายกซึ่งรับผิดชอบดูแลกำกับหัวเมืองฝ่ายเหนือ ดังนี้
   สารตราพระยาจักรีองค์รักษ์สมุหนายก อัครมหาเสนาบดีอภัยพิริยปราการมพาหุมาถึงพระยาแสนเสนาบดี ผู้สำเร็จราชการหัวเมืองฝ่ายเหนือ พระยากำแพงเพชรมีใบบอกลงไปว่า
   ...แซภอ... เข้ามาทำหนังสือสัญญาขอทำไม้ขอนสัก ณ ป่าคลองสวนหมาก คลองวังเจ้า คลองประกัง แขวงเมืองกำแพงเพชร ได้ผลประโยชน์มาก แซภอ มีใจศรัทธาอยากจะสร้างพระเจดีย์ก่อสวมพระเจดีย์เก่า ที่วัดพระธาตุหน้าเมืองกำแพงเพชร ฝั่งตะวันตก แซภอ ได้จ้างราษฎรทำอิฐเก้าหมื่นสิ้นเงิน ๔๔ ชั่ง ๗ ตำลึง ๒ บาท จะก่อสวมพระเจดีย์เก่าลงทั้งสามองค์ กว้าง ๑๕ วา ยาว ๑๕ วา ชักเป็น ๔ เหลี่ยม มีมุข ๔ ด้าน แล้วจะก่อเจดีย์บนมุขด้านละองค์ ขอพระราชทานที่ดินก่อกำแพงรอบพระเจดีย์หน้าสามศอก สองสี่ศอก ห่างพระเจดีย์ออกไปอีก ๑๐ วา จะเอาช่างเมืองนอกมาก่อจะลงมือกระทุ้งราก ณ เดือนหก ข้างขึ้นปีวอกจัตวาศก แต่รูปพระเจดีย์เก่าที่ชำรุดหักพังนั้น ได้นำแผนที่ถ่ายตัวอย่างให้ข้าหลวงชำนาญอักษรลงไปนั้น ได้แจ้งตามบอกแล้วจึงให้พระเสนาปลัดทูลฉลองมหาดไทยฝ่ายเหนือ บอกเสนอท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ท่านเจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุหนายก ได้ปรึกษาพร้อมกันเห็นว่า แซภอ กระเหรี่ยงมาทำป่าไม้ขอนสักแขวงเมืองกำแพงเพชร มีทุนรอนมากมีใจศรัทธาที่จะสถาปนาพระเจดีย์เก่า ทำมุขก่อกำแพงสวมพระเจดีย์ธาตุนั้น เป็นกองการกุศลของ แซภอ ต่อไปในพระพุทธศาสนาจะได้เป็นที่สักการะบูชาต่อไป”
   ต่อมา พ.ศ. ๒๔๑๘ แซภอ ถึงแก่กรรมทำให้การปฏิสังขรณ์พระธาตุชะงักไป จนมาถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๗-๒๔๗๘ พะโป้ผู้เป็นน้องของพญาตะก่า ได้สืบทอดเจตนารมณ์ต่อด้วยการบริจาคและรวบรวมทุนทรัพย์เริ่มปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่จนสำเร็จ
   แม้ แซพอ หรือพญาตะก่า จะบูรณพระธาตุนครชุมไม่ทันแล้วเสร็จ แต่ชาวนครชุมทุกคนยังคงกล่าวถึงบุญคุณของพญาตะก่าและพะโป้อยู่อย่างมิรู้ลืม






“วัดท่าหมัน”
   “ผมกลับมา  ได้ข่าวว่าปีกลายฝีดาษกินเสียเตียนไปทั้งคลองเหนือ คลองใต้ ก็รีบเข้ามาเยี่ยม” ท่านเจ้าคุณบอกด้วยเสียงและสีหน้าสลด “เนจอนาถอะไรเช่นนั้น ตั้งแต่คลองเหนือ บ้านไร่ คลองใต้ หาผู้คนอยู่สักบ้านไม่ได้ พะโปเองก็ยังไม่กลับจากแม่พล้อ วัดท่าหมัน ก็ร้าง ทั้งตลาดคลองเหนือเหลือแต่เจ๊กขายของอยู่สองสามครัว”      (ทุ่งมหาราช หน้า ๒๘๗)
   จากข้อความที่ปรากฏในนวนิยายทุ่งมหาราช ของ “เรียมเอง” หรือครูมาลัย  ชูพินิจ ทำให้เราได้ทราบว่าบริเวณแถวตลาดครชุมในปัจจุบันเคยมีวัดเก่าอยู่วัดหนึ่งชื่อวัดท่าหมัน เป็นที่สร้างมานานนับร้อยปี เพราะเมื่อครั้งครูมาลัยเขียนนวนิยาย “ทุ่งมหาราช” ยังระบุเอาไว้ว่ามีสภาพเป็นวัดร้างไปแล้ว
   ในหนังสือสารคดีเรื่อง “ทุ่งโล่งและดงทึบ” ซึ่งประพันธ์โดย น้อย  อินทนนท์ หรือครูมาลัย  ชูพินิจ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้บรรยายถึงสภาพของวัดท่าหมันเอาไว้ดังนี้
   “เมื่อเราถึงถนนพหลโยธิน  ข้ามสะพาน  และเลี้ยวเข้าบริเวณวัดท่าหมันซึ่งท่านจะไม่แลเห็นวัด ไม่เห็นศาลาวางบาตร ต้นโพธิ์ และท่าควาย พร้อมด้วยบ้านญาติพี่น้อง มิตรสหายอีกต่อไป สถานที่นั้นกลายเป็นห้องแถว ตลาด โรงร้าน และที่พักรถเมล์ประจำทาง บ้างสร้างมาแล้ว บ้างกำลังปลูกอยู่ และบ้างก็จะได้ปลูกต่อไป”
   ร่องรอยของวัดท่าหมัน เคยมีภาพถ่ายในอดีตซึ่งผู้เขียนเคยเห็นจากหีบโบราณของอาจารย์สนิม  บุญหนัก  ซึ่งปัจจุบันท่านได้เสียชีวิตไปแล้ว โดยภาพแรกเป็นศาลาท่าน้ำของวัดท่าหมัน มีเด็กนักเรียนหญิง ๘ คน อยู่ที่ท่าน้ำ เป็นเด็กนักเรียนของโรงเรียนประชาบาลวัดท่าหมัน สภาพของศาลาคงทรุดโทรมจะพังมิพังแหล่ ส่วนอีกภาพหนึ่งเป็นงานศพของนายส่างหม่อง ชาวไทยใหญ่ที่เข้ามาทำกิจการค้าไม้ที่คลองสวนหมาก เมื่อเสียชีวิตประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ทางญาติได้ตั้งบำเพ็ญการกุศลไว้ที่ศาลาวัดท่าหมัน ดูจากภาพถ่ายแล้วต้องเป็นพ่อค้าผู้ร่ำรวยอันดับต้น ๆ ของชุมชนคลองสวนหมาก
   ประวัติของวัดท่าหมันเท่าที่พอสืบค้นได้ เกิดจากชาวคลองสวนหมากที่ผ่านการต่อสู่กับโรคภัยไข้เจ็บ ภัยธรรมชาตินานาประการ เมื่อร้อยกว่าปีก่อนได้กลับเข้ามาสู้ชีวิตด้วยความเสียสละและความรักอันยิ่งใหญ่ที่มีต่อท้องถิ่นจนสามารถสร้างบ้านเมืองสืบทอดต่อมา เมื่อชุมชนเจริญขึ้น และเห็นว่าวัดพระบรมธาตุอยู่ไกลไม่สะดวกในการไปทำบุญ จึงได้มีการรวบรวมทุนทรัพย์แล้วจัดสร้างเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นบริเวณกลางหมู่บ้าน ใช้เนื้อที่ประมาณ ๔-๕ ไร่ โดยมีพระอาจารย์ช่วยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการสร้างวัด
   บริเวณของวัดมีท่าน้ำ เป็นทางขึ้นลงของล้อเกวียนและอยู่ใกล้กับต้นหมันใหญ่ชาวบ้านจึงเรียกชื่อวัดแห่งนี้ว่า “วัดท่าหมัน” โดยมีพระอาจารย์ช่วยได้ดูแลวัดจนมรณภาพ ด้วยคุณงามความดีของพระอาจารย์ช่วย ชาวบ้านจึงได้ร่วมกันก่อสถูปเพื่อบรรจุอัฐิของท่านเอาไว้เพื่อระลึกถึงคุณงามความดี บริเวณที่เป็นสถูปอยู่แถวกลางตลาดนครชุมซึ่งปัจจุบันถูกรื้อถอนออกไปหมดแล้ว
   ภายหลังการมรณภาพของพระอาจารย์ช่วย ได้มีพระอาจารย์แก้ว เข้ามาดำเนินการต่อโดยพัฒนาและขยายบริเวณวัดให้กว้างขวางขึ้นกว่าเดิม ชาวบ้านเลยเรียกว่าวัดเป็น “วัดท่าหมันแก้วปุณณวาสน์” และมีการจัดตั้งโรงเรียนประชาบาลขึ้นเป็นหลังแรกของตำบลคลองสวนหมาก โดยใช้ศาลาของวัดเป็นอาคารเรียน
   ต่อมาพระอาจารย์แก้วขอลาสึกขาบท ได้มีพระอาจารย์ปลั่ง วังลึก เข้ามาเป็นเจ้าอาวาส และสร้างความเจริญก้าวหน้าให้วัดมากยิ่งขึ้น ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๐ นายส่างหม่อง พ่อค้าไม้ผู้ร่ำรวยได้สร้างศาลาไม้หลังใหม่ขึ้นมา  โดยวางเสาไม้ต้นใหญ่ตั้งไว้บนพื้นไม่ได้ฝังลงดินเหมือนที่อื่น ๆ  เมื่อวัดท่าหมันเริ่มร้างไปตามกาลเวลา ได้มีการย้ายศาลาวัดหลังนี้ไปสร้างไว้ที่วัดสว่างอารมณ์ ซึ่งปัจจุบันยังใช้การได้เป็นอย่างดี
   เรื่องราวของวัดท่าหมันที่ปากคลองเหนือได้หายไปจากความทรงจำของผู้คนรุ่นใหม่ไปนานแล้ว คงเหลือเพียงศาลาไม้หลังเก่าที่ย้ายไปสร้างที่วัดสว่างอารมณ์ และความทรงจำแห่งเรื่องราวจากบทประพันธ์ในนวนิยายของครูมาลัย  ชูพินิจ เพียงเท่านั้น
          
“ถอดกำไล”

   “ในตอนบ่ายวันสุดท้ายของสงกรานต์  สุดใจ—ยังสวมกำไลข้อเท้า ๑๖ ปี แต่เปล่งปลั่งเหมือนสาวใหญ่.. เปียกปอนไปทั้งตัวด้วยเล่นสาดน้ำกัน หน้าตายังขะมุกขะมอมเพราะดินหม้อจากการมอมตะลุมบอน”  (ทุ่งมหาราช หน้า ๕)
   “วันหนึ่งคลองใต้จะต้องเป็นอย่างนั้น”  เสียงของเขาเต็มไปด้วยความมั่นใจ  ขณะที่แดมือหญิงสาวลุกขึ้นจากขอนไม้  “ไปเถอะ  สุดใจ ไปเสียก่อนที่ข้าจะเปลี่ยนความคิด”
   “แล้วเมื่อไหร่  พี่ทิดจะกลับมา ?” ความอาลัยเมื่อรู้แน่ว่าจะต้องจากกันปรากฎชัดอยู่ในเสียงนั้น
   “อย่างเร็วปลายปีนี้  อย่างช้ากลางปีหน้า”  เขาบอกโอบร่างอันอบอุ่นละมุนมือไปด้วยความเปล่งปลั่งและเต่งตั่งของวัยสาวเข้ามากอดไว้ในอ้อมแขนอีก  “ทันใดที่ธุระข้าเสร็จจะกลับมาทันที  คอยข้าให้ได้สุดใจ  คอยข้า ฝันถึงข้าจนกว่าจะมาถอดกำไลให้เอ็ง” (ทุ่งมหาราช หน้า ๒๙)
   ตามรอยประวัติศาสตร์เมืองกำแพงเพชรในครั้งนี้เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับคำพูดที่เป็นนัย “ถอดกำไล” ซึ่งถูกนำมาบันทึกเอาไว้ในนวนิยาย “ทุ่งมหาราช” ของครูมาลัย  ชูพินิจ ว่ามีความหมายและความสำคัญอย่างไร
   ตามเนื้อหาในนวนิยาย “ทุ่งมหาราช” รื่นสัญญากับสุดใจว่าเขาจะกลับมาสู่ขอและแต่งงานกับสุดใจ 
   แต่ก่อนสาว ๆ ชาวปากคลองสวนหมากจะสวมกำไลข้อเท้า เมื่อแต่งงานมีสามีจึงจะถอดกำไล การ “ถอดกำไล” จึงถือเป็นสัญลักษณ์ทางประเพณีของชาวบ้านปากคลองสวนหมาก ซึ่งหมายความว่า เมื่อใดที่สาวปากคลองสวนหมากออกเรือน จะถอดกำไลที่สวมไว้ที่ข้อเท้า การ”ถอดกำไล” จึงหมายถึง “การแต่งงาน”
การใส่กำไลข้อเท้าสมัยก่อนของคนไทยมีมานานแล้ว  อันเป็นการบ่งบอกถึงสถานะอย่างหนึ่งของผู้หญิงไทย  โดยทั่วไปในสมัยโบราณเด็กหญิงจะใส่กำไลข้อเท้าติดตัวไปจนกว่าจะออกเรือน คือแต่งงาน มีสามี เมื่อแต่งงานแล้วจึงถอดกำไลข้อเท้าออกได้
การใส่กำไลข้อเท้าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งตามยุคสมัยที่นิยมมานาน ดังข้อบันทึกที่ว่า
“หญิงสยามเมื่อออกเรือน มีลูกมีเต้า  แม้อายุแค่สิบแปดสิบเก้า ก็ไม่กระดากที่จะเปลือยอก นอกจากนี้เธอถอดกำไลเท้าออกแล้วด้วย  ถ้ายังสาว ไม่ได้ออกเรือนก็ยังสวมอยู่  ธรรมเนียมนี้ชาวบ้านทำกันมาจนถึงรัชกาลที่ ๖
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการถอดกำไลโดยห้ามให้ผู้อื่นถอดกำไลให้ เพราะจะถูกแย่งคนรัก เหตุผลอันนี้คงเป็นการปลูกฝังมารยาทที่ดี โดยใช้อุบายเป็นเครื่องมือ หรือเรียกอีกอย่างว่าเป็นการใช้อุบายควบคุมความประพฤติของคนในสังคมนั่นเอง เพราะความจริงคือ คนเราไม่ควรไปถอดเครื่องประดับออกจากตัวคนอื่น เพราะถือเป็นการก้าวก่ายสิทธิ์และทรัพย์สินของคนอื่น ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม
การใส่กำไลข้อเท้าของสาว ๆ สมัยนี้ มิใช่ใส่เพื่อรอวัน “ถอดกำไล” แต่เป็นการใส่เพื่อเป็นเครื่องประดับตามกระแสแฟชั่นที่นิยมกันอยู่เท่านั้น อยากจะถอดเมื่อไรก็ถอดได้ตามใจชอบ       ไม่ต้องรอให้พระเอกมาถอดให้เหมือนนางเอกอย่าง “สุดใจ” ในนวนิยาย “ทุ่งมหาราช”

“การเสด็จประพาสวัดพระบรมธาตุ”
   แต่ การเสด็จประพาสวัดพระบรมธาตุ และคลองสวนหมากของพระพุทธเจ้าหลวงครั้งนั้นเอง เหมือนมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ มีความหมายที่จะชุบชีวิตซึ่งร่อยหรอประดุจดวงไฟที่หรี่จะดับมิดับแหล่ของตำบลให้สว่างโพลงยืนยงคงทนต่อไป ต่อหน้าโรคระบาด  อุทกภัยและทุพพิกขภัยอย่างที่ ไม่มีอำนาจอันใดจะมาทำลายให้ดับสูญไปได้ ( ทุ่งมหาราช หน้า ๓๓๐ )
   พระพุทธเจ้าหลวง ได้เสด็จประพาสต้นเพื่อเยี่ยมเยียนราษฎรของพระองค์อย่างสามัญชน
ไม่โปรดให้มีท้องตรา หรือสั่งเจ้าเมืองให้มาต้อนรับ ทรงต้องการสำราญพระราชอิริยาบถกับข้าราชบริพารอย่างง่าย ๆ และที่สำคัญทรงเลือกเมืองกำแพงเพชรเป็นจุดหมายปลายทางของการเสด็จประพาสต้น
   ทุกย่างก้าวที่พระราชดำเนินบนแผ่นดินกำแพงเพชร ยังคงตราตรึงอยู่ในดวงจิตของชาวกำแพงเพชรทุกคน และเพื่อเป็นการหวนระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของพระองค์ท่าน ที่ทรงบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของเมืองกำแพงเพชรเอาไว้อย่างละเอียดเป็นจดหมายเหตุเสด็จประพาสต้น
   ตลอดระยะเวลา ๑๐ วัน ที่เสด็จเข้าสู่เขตเมืองกำแพงเพชร นับตั้งแต่วันที่ ๑๘ - ๒๗ สิงหาคม ๒๔๔๙ ได้เกิดเรื่องราวแห่งความประทับใจขึ้นอย่างมากมาย โดยทรงบันทึกเรื่องราวแห่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของราษฎรเมืองกำแพงเพชรเอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม ซึ่งถือเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่า ลึกซึ้งชวนให้หลงไหล และน่าติดตามเรื่องราวเป็นอย่างยิ่ง
   คงไม่มีคำบรรยายใด ๆ จะซาบซึ้งใจเท่ากับคำที่ครูมาลัย  ชูพินิจ ได้บันทึกเอาไว้ในนวนิยายเรื่องทุ่งมหาราช
    “เสด็จแล้วจริง ๆ ! “ เขาหันไปบอกทุก ๆ คน “วันนี้ข้าข้ามไปซื้อของในเมือง  ผ่านศาลากลางเห็นคนมุงกันแน่นอยู่แวะเข้าไปดูก็เจอะนายอำเภอกะเจ้าเมืองท่านพอดี  ท่านว่าพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จจากบางกอกแล้ว กำหนดถึงนครสวรรค์ราว ๆ ต้นเดือนหน้า  ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนเปลงราว ๆ ปลายเดือนหน้าก็คงถึงกำแพง”
   “เรายังมีเวลาเหลือเฟือสำหรับไม่ให้ขายหน้าทางเมืองเขาได้”  เขาบอกลูกบ้านทั้งหลาย  “ท่านเจ้าเมืองให้นายอำเภอใช้แรงนักโทษ กำหนดปลูกที่หน้าวัดชีนางเกา  แต่สำหรับเราจะลงมือกันเอง ท่านกะขนาดและที่ ๆ จะปลูกให้แล้วที่ลานพระธาตุชั้นในใต้ต้นบุนนาค  ใครขาดเครื่องมือมาเอาที่ข้าข้าวปลาอาหารสำหรับออกป่าไม่พอเบิกได้  วัวควายหรือล้อสำหรับลากไม้ก็เหมือนกัน”
   ภายใน ๗ วัน  พลับพลาพื้นฟากมุงแฝกหลังนั้นก็สำเร็จเรียบร้อยเหมือนเนรมิต ประดับไปด้วยประตูป่าเฟื่องระย้าห้อยทั้ง ๔ ทิศ แข็งแรงและกว้างขวางพอที่จะใช้เป็นท้องพระโรงาหรับให้ชาวบ้านชาวเมืองเฝ้าได้ทั่วถึง … (ทุ่งมหาราช หน้า ๓๒๗)
   ริ่นจะไม่มีวันลืมวันนั้นเลย แม้อีกหลายสิบปีจะล่วงไปและวัยจะโร่งโรยแล้ว ๒๕ สิงหาคม ๒๔๔๙ จะประทับแน่นอยู่ในความทรงจำของเขาต่อไปชั่วชีวิตอวสาน มิใช่เพราะมันเป็นครั้งแรกที่เขาได้ เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าหลวง โดยใกล้ชิดเป็นครั้งแรกในชีวิต เมื่อเสด็จขึ้นทอดพระเนตรวัดพระบรมธาตุในตอนบ่ายอย่างเดียว หากความตื้นตันใจต่อภาพประชาชนทั้งชาวปากคลอง หนองปลิง ลานดอกไม้ แม้กระทั่งชนบทและตำบลที่ห่างไกลเข้าไปในป่าลึกและดงสูง ที่มาชุมนุมรับเสด็จรอชมบารมีเจ้าเหนือหัวของเขาแน่นขนัดไปหมดทั้งลานวัดอีกด้วย ( ทุ่งมหาราช หน้า ๓๒๙ )
   นอกจากนี้ยังมีภาพเหตุการณ์ที่ลานวัดพระบรมธาตุนครชุมพระองค์ทรงบันทึกเอาไว้ว่า .....แล้วล่องลงมาขึ้นที่วัดพระบรมธาตุ ซึ่งแต่เดิมเป็นเจดีย์อย่างเดียวกับวังพระธาตุ ใหญ่องค์หนึ่ง ย่อมสององค์ พญาตะก่าสร้างรวมสามองค์เป็นองค์เดียว แปลงรูปเป็นเจดีย์มอญ แต่ยังไม่แล้วเสร็จพญาตะก่าตาย    พะโป้จึงได้มาปฎิสังขรณ์ต่อ ได้ยกยอดฉัตรซึ่งมาแต่เมืองมระแม่ง พึ่งแล้วแต่ฐานชุกชียังถือปูน    ไม่รอบ ......มีราษฎรมาหาเป็นอันมาก
   วันที่พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสวัดพระบรมธาตุคือ วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๔๔๙ แม้เหตุการณ์จะผ่านมาแล้วถึง ๑๐๐ ปี แต่ความประทับใจในครั้งนั้นยังเป็นเรื่องเล่าที่ชาวนครชุมยังคงจดจำกันได้ดี เพราะเป็นครั้งแรกที่ราษฎรชาวคลองสวนหมาก หนองปลิง ลานดอกไม้ และตำบลที่ห่างไกล ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด จึงพากันมาชุมนุมรับเสด็จกันอย่างเนืองแน่น
   เชื่อกันว่าหลังจากที่พระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับแล้ว ด้วยเดชะบารมีของพระองค์ได้นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของชาวคลองสวนหมาก เปรียบเหมือนมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยชุบชีวิตชาวบ้านให้โชติช่วงสว่างสดใส ทำให้ราษฎรหายจากความกลัวต่อสิ่งต่าง ๆ เช่น กลัวผีป่า กลัวโรคห่า กลัวเสนียดจัญไร มีกำลังใจลุกขึ้นมาต่อสู้กับความยากลำบากและโรคภัยไข้เจ็บได้ หันกลับเข้ามาสร้างบ้านเรือนให้เป็นปึกแผ่น เป็นชุมชนคลองสวนหมากที่เจริญรุ่งเรือง สมกับคำกล่าวที่ว่า
   “การเสด็จประพาสวัดพระบรมธาตุ และคลองสวนหมากของพระพุทธเจ้าหลวงครั้งนั้นเอง เหมือนมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ มีความหมายที่จะชุบชีวิตซึ่งร่อยหรอประดุจดวงไฟที่หรี่จะดับมิดับแหล่ของตำบลให้สว่างโพลงยืนยงคงทนต่อไป ต่อหน้าโรคระบาด อุทกภัยและทุพพิกขภัยอย่างที่ ไม่มีอำนาจอันใดจะมาทำลายให้ดับสูญไปได้”

“คลองสวนหมาก”
   “ชีวิตของชุมชนน้อย ๆ ในคลองใต้คงดำเนินต่อไปอย่างสงบ  แต่ก็เงียบเหงา นอกจากช้า ๆ นาน ๆ เรือส่งจากใต้จะแวะเข้ามาขายเสื้อผ้า  กะปิ  น้ำปลา  และภาชนะถ้วยชามหรือพวกล่องแพจากเหนือจะขึ้นมาเที่ยว.... (ทุ่งมหาราชหน้า ๔๒)
   “ปีนั้นชาวเมืองกำแพงเพชรและราษฎรตลอดสองฝั่งแม่น้ำปิง  ได้รับความตื่นเต้นขนานใหญ่ เมื่อ เรือกำปั่นท้องแบนระหัดข้าง จักท้าย ลำแรกของบริษัทป่าไม้ฝรั่งเล่นจากพระนครขึ้นไปถึงเมืองตาก  มันเป็นพฤติการณ์ที่โจษขานกันติดปากอยู่ช้านาน  แม้จะผ่านวัน  สัปดาห์และเดือน  หรือตำบลหนึ่งตำบลใดไปแล้วในความมหัศจรรย์ของยุคแห่งจักรยนต์กลไก และไอน้ำที่เริ่มศักราชใหม่ในเมืองไทย ซึ่งในชั่วชีวิตของชาวบ้านชาวเมือง ตามลุ่มน้ำปิงไม่เคยมีใครเห็น”
ยืนอยู่คู่กับสุดใจ ห่างไกลออกมาจากคนทั้งหลายในวันที่เรือมหัศจรรย์ลำนั้นผ่าน คลองสวนหมาก ไป ... (ทุ่งมหาราชหน้า ๒๒๒)
   คลองสวนหมาก เป็นชื่อของการเรียกตามลำคลองที่ไหลผ่านหมู่บ้าน คลองสวนหมากคือสายน้ำแห่งชีวิตของชาวนครชุมในอดีต เพราะปลายทางของคลองเป็นแหล่งชุมนุมของผู้คนที่ทำมาหากินแตกต่างกัน ลึกเข้าไปสู่ต้นกำเนิดของสายธารคลองสวนหมากยังมีป่าไม้และธรรมชาติที่สวยงาม
   คลองสวนหมาก  เป็นสายน้ำสำคัญอีกสายหนึ่งของจังหวัดกำแพงเพชรเพราะมีอดีตความเป็นมาที่ยิ่งใหญ่ เป็นลำน้ำที่พระพุทธเจ้าหลวงเคยเสด็จประพาสต้น และเป็นเส้นทางลำเลียงไม้ออกจากป่า มีน้ำไหลตลอดทั้งปี
คลองสวนหมาก มีต้นกำเนิดมาจากแนวสันปันน้ำของเทือกเขาสูงทางด้านตะวันตกบริเวณรอยต่อของตากกับกำแพงเพชร เป็นผืนป่าต้นน้ำลำธารอันอุดมสมบูรณ์ ให้น้ำหล่อเลี้ยงพื้นที่ในเขตตำบลคลองน้ำไหล ตำบลโป่งน้ำร้อน ตำบลสักงาม อำเภอคลองลาน ตำบลท่าขุนราม ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร  สุดปลายทางของคลองสวนหมากจะไหลลงสู่แม่น้ำปิงที่ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร
   จากริมน้ำหน้าวัดพระบรมธาตุลัดเลาะไปตามบ้านปากคลองใต้ ปากคลองกลาง ถนนขนานลำคลองจนมาข้ามฝากไปยังปากคลองเหนือสู่วัดสว่างอารมณ์วัดที่มีพระพุทธรูปศิลปเชียงแสนองค์ใหญ่ที่สุดในกำแพงเพชรประดิษฐานอยู่ ล้วนเป็นแหล่งชุมนุมการทำไม้ในอดีต ถึงวันนี้ยังพอเหลือเศษเสี้ยวแห่งความยิ่งใหญ่อยู่บ้างคือ “บ้านห้าง”ตำนานแห่งการทำไม้ของพะโป้ ทำให้ได้หวนรำลึกถึงเรื่องราวแห่งอดีต
   คลองสวนหมากถือเป็นสำน้ำสำคัญสายหนึ่งของจังหวัดกำแพงเพชร ด้วยเป็นสายน้ำที่พระพุทธเจ้าหลวงเคยเสด็จประพาสต้น เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๔๔๙ ดังบันทึกตอนหนึ่งในเสด็จประพาสต้นว่า
   “วันที่ ๒๕ วันนี้ตื่นสายเพราะวานนี้อยู่ข้างจะฟกช้ำ ๔ โมง จึงได้ลงเรือเหลืองข้ามฟากไปฝั่งตะวันตกยังไม่ขึ้นที่วัดพระธาตุ เลยไปคลองสวนหมากต้องขึ้นไปไกลอยู่หน่อย ในคลองนี้น้ำไหลเชี่ยวแต่น้ำใสเพราะเป็นลำห้วย มีคลองแยกที่ข้างขวามือ แต่ต้นทางที่จะเข้าไปเรียกแม่พล้อ ถ้าไปตามลำคลอง ๓ วัน จึงถึงป่าไม้ แต่มีหลักตอมาก เขาขึ้นเดินไปวันเดียวถึง ป่าไม้นี้พะโป้กะเหรี่ยงในบังคับอังกฤษเป็นคนทำ เมียเป็นคนไทยชื่ออำแดงท้องย้อย เป็นบุตรผู้ใหญ่บ้านวันและอำแดงไทย ตั้งบ้านเรือนอยู่ติดกันในที่นั้น คลองสวนหมากนี้ตามลัทธิเก่าถือกันว่าเป็นที่ร้ายนัก จะขึ้นล่องต้องเมินหน้าไปเสียข้างฝั่งตะวันออกเพียงแต่และดูก็จับไข้ ความจริงนั้นเป็นที่มีไข้ชุมจริงเพราะเป็นน้ำลงมาแต่ห้วยในป่าไม้”
   ครูมาลัย  ชูพินิจ ยังได้บรรยายถึงความน่าสะพรึงกลัวของคลองสวนหมากเอาไว้ในนวนิยาย “ทุ่งมหาราช” อีกหลายตอน อาทิ
   คนทางใต้ได้ยินชื่อปากคลองเข้าขนหัวลุก คนทางเหนือล่องเรือผ่านมา ยังต้องหันหน้ามองแต่ฝั่งตะวันออก ( ทุ่งมหาราช หน้า ๗ )
   ปากคลองเป็นบ้านร้าย หลายปีมาแล้วห่าลงกินตายเกือบหมดบ้าน ห้าสิบปีมันจะต้องมาเยี่ยมเสียทีหนึ่ง ( ทุ่งมหาราช หน้า ๘ )
   ใครจะมีชีวิตอยู่ที่ปากคลองได้ เขาถือว่าล้วนคนกระดูกแข็งเดนตายทั้งนั้น ( ทุ่งมหาราช หน้า ๘๓ )
   เรื่องราวและภาพถ่ายในอดีตของลำน้ำคลองสวนหมากทำให้มองเห็นความกว้างใหญ่ของสายน้ำ ขนาดเรือลำใหญ่ ๆ หลายลำจอดลอยเรืออยู่เหนือลำน้ำ แม้คลองสวนหมากในวันนี้อาจไม่เหลือความยิ่งใหญ่แห่งอดีตเอาไว้ แต่เงาของความทรงจำยังคงได้รับการบันทึกเอาไว้ในนวนิยายทุ่งมหาราชที่บ่งบอกถึงความเป็นสายน้ำที่สำคัญเป็นเส้นเลือดหลักของชาวนครชุม    

“ขุนนิคมบริบาล”
   “ขุนนิคมบริบาล  สิ้นใจเมื่อวันอาทิตย์แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล โทศก พุทธศักราช ๒๔๙๓…เก้าสิบสองปี หลังจากลืมตาและผ่านชีวิตมาแล้วอย่างยากที่ผู้ชายน้อยคนจะได้ผ่านและพบ การตายของแกเป็นไปอย่างสงบ ภายในอ้อมแขนของภรรยาคู่ยาก ยิ้มด้วยความสุขปรากฏอยู่ที่ริมฝีปากซึ่งเผยอ หนังตาอันหรี่หลับ ที่หน้าผากอันกว้าง และแก้มทั้งสองซึ่งซูบจนเห็นแต่กระดูกโปนเป็นสัน” (ทุ่งมหาราช หน้า ๑)
   ครูมาลัย  ชูพินิจ นำชื่อของขุนนิคมบริบาลมาเปิดเรื่องในนวนิยาย”ทุ่งมหาราช” นวนิยายที่แสดงให้เห็นถึงความรัก ความผูกพัน และการต่อสู่เพื่อแผ่นดินถิ่นเกิด
   “ไม่มีใครจะลืมขุนนิคมบริบาลได้ ๖๐ ปีเต็ม ๆ  แกใช้ชีวิตร่วมมากับชาวบ้านนั้น ๖๐ ปีเต็ม ๆ แกได้ผ่านการพบอย่างที่ปู่ย่าตายายของคนรุ่นใหม่ในจังหวัดเดียวกันได้ผ่านและพบ ๖๐ ปีของชีวิต ที่บางครั้งสงบ บางครั้งผาดโผน รู้รสดีว่าความจนหมายถึงอะไร ความทุกข์ทรมาน อันตราย อดทน และการเสียสละของมนุษย์หมายถึงอะไร ก่อนที่จะบุกด้วยความบากบั่นขึ้นมาถึงฐานะในปัจจุบัน
   ขุนนิคมบริบาลสิ้นใจแล้ว แต่ขณะเดียวกันแกยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนที่แกเคยเกี่ยวข้อง บ้างญาติพี่น้อง บ้างเป็นมิตรสหายและบ้างก็เป็นศัตรู ขุนนิคมบริบาลยังอยู่ในอากาศที่หายใจเข้าไป ในชีวิตและขนบประเพณีประจำวันของนครชุม   ในฐานะสิ่งหนึ่งและส่วนหนึ่งของตำบลบ้านเป็นสัญญลักษณ์ประจำถิ่นที่ไม่มีขนบประเพณีและอารยธรรมแผนใหม่ หรือกาลเวลาจะลบเลือนให้เจือจางไปได้” (ทุ่งมหาราช หน้า ๒)
   ขุนนิคมบริบาลเป็นใคร และมีความสำคัญเช่นไร ครูมาลัย  ชูพินิจ จึงได้นำมาขึ้นต้นเรื่อง ความตายของคนแก่คนหนึ่งที่มีอายุ ๙๒ ปี อาจจะถือเป็นเรื่องสามัญของชีวิต แต่ถ้าเข้าไปศึกษาถึงเส้นทางชีวิตของขุนนิคมบริบาลแล้ว คงทำให้เข้าใจได้ว่า บุคคลผู้นี้ต้องมีความสำคัญจนครูมาลัย  ชูพินิจ ต้องนำมากล่าวถึงและยกให้เป็นตัวเอกในนวนิยายทุ่ง “มหาราช”
   หากได้ศึกษาบุคลิกของตัวละครอย่างรื่นหรือขุนนิคมบริบาลแล้ว อาจดูใกล้เคียงกับบุคคลผู้หนึ่งซึ่งมีความใกล้ชิดกับครูมาลัย  ชูพินิจมากที่สุดคือ นายสอน  ชูพินิจ  ด้วยบทบาทในเรื่องของการต่อสู้เพื่อชีวิต การล่องแพค้าไม้ การได้เป็นกำนันปกครองลูกบ้านในตำบลคลองสวนหมากก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นตำบลนครชุม
ประวัติของนายสอน  ชูพินิจ  เป็นบุตรของนายพิน  มีเชื้อสายมาจากตระกูล ณ บางช้าง ซึ่งส่วนใหญ่นิยมรับราชการสืบต่อกันมาจนมาถึงนายพิน  ชูพินิจ ได้ย้ายมารับราชการที่กำแพงเพชรในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีหลักฐานจาการสำรวจยอดสัมโนครัวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘  โดยนายชุ่ม  ศุภดิฐ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๕ ตำบลคลองสวนหมาก พบว่านายพิน (ปู่ของครูมาลัย  ชูพินิจ) ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านเลขที่ ๒๗ หมู่ที่ ๕ ตำบลคลองสวนหมาก มีเรือน ๓ หลัง มีบุคคลที่อาศัยอยู่ในบ้านเป็นชาย ๒ คน หญิง ๕ คน นอกจากนี้ยังพบว่าปู่ของครูมาลัย ชูพินิจ กับพ่อของจอมพลถนอม  กิตติขจร เคยเป็นเพื่อนร่วมน้ำสาบานกัน
เมื่อมาถึงชั้นของนายสอน  ชูพินิจ ไม่เลือกที่จะรับราชการตามเชื้อสายเดิม แต่เลือกที่จะประกอบอาชีพอิสระด้วยการเป็นพ่อค้าไม้สักและไม้กระยาเลย อันเป็นทรัพยากรที่มีค่าและสร้างความร่ำรวยให้ผู้คนเป็นจำนวนมากในยุคสมัยนั้น     ภายหลังกิจการทำไม้ขาดทุนรอนทำให้ต้องเลิกลาได้เป็นกำนันตำบลคลองสวนหมากปกครองราษฎรอย่างสุจริตและยุติธรรม
ชีวิตในบั่นปลายของนายสอน  ชูพินิจ ได้เข้าไปอยู่กับครูมาลัย  ชูพินิจ ที่กรุงเทพฯ ได้ป่วยจนต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชและถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลศิริราช
   แม้ครูมาลัย  ชูพินิจ ไม่ได้บอกเอาไว้ว่าได้ตั้งใจเขียนนวนิยาย “ทุ่งมหาราช” เพื่ออุทิศให้กับบุคคลใด แต่มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งที่ท่านได้เขียน “ทุ่งมหาราช” ขึ้นมาด้วยความตั้งใจที่จะให้เป็นอนุสรณ์แก่บุคคลที่ท่านรักมากคือ นายสอน  ชูพินิจ เพราะวิถีชิวิตตรงกับตัวเอกอย่าง “รื่น” หรือ”ขุนนิคมบริบาล” มากที่สุดในหลายฉากและหลายตอนของนวนิยาย “ทุ่งมหาราช” 
   
“นครชุมยังเป็นคลองสวนหมาก”

   “เมื่อ ๖๐ ปีก่อน ! นครชุม ยังเป็นคลองสวนหมากพร้อมด้วยเหย้าเรือนฝาขัดแตะและมุงแฝกไม่กี่สิบหลังคาเรือน” ( ทุ่งมหาราช หน้า ๓ )
นครชุม เป็นชื่อของเมืองโบราณในสมัยสุโขทัยต่อมาได้กลายเป็นเมืองร้าง ในสมัยรัตนโกสินทร์ไม่มีชื่อเป็นที่รู้จัก ผู้คนทั่วไปคงเรียกบริเวณที่ตั้งบ้านเรือนของราษฎรบริเวณนี้ว่า “ปากคลองสวนหมาก” เพราะมีคลองสวนหมากไหลมาออกแม่น้ำปิง ราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวลาวที่อพยพมาจากเวียงจันทน์  ที่มารู้จักว่าชื่อ นครชุม มามีในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ศึกษาศิลาจรึกที่นำไปเก็บไว้ที่วัดเสด็จและได้ทรงทราบว่าย้ายมาจากบริเวณวัดพระบรมธาตุนครชุม บริเวณเมืองโบราณที่ปากคลองสวนหมาก จึงเสด็จไปตรวจดูพบฐานที่ตั้งของศิลาจารึกจึงเรียกบริเวณนั้นว่า “เมืองนครชุม”
ตำบลคลองสวนหมาก เป็นชุมชนที่สร้างตัวขึ้นมาในสมัยพระพุทธเจ้าหลวงจากเหย้าเรือนฝาขัดแตะไม่กี่หลังคาเรือน แต่มีที่ทำกินในผืนดินอันอุดมสมบูรณ์เนื่องจากมีแม่น้ำปิงไหลผ่านและมีคลองสวนหมากไหลมาจากป่าโป่งน้ำร้อนให้น้ำหล่อเลี้ยงมาอย่างต่อเนื่อง สภาพภูมิประเทศจึงเหมาะแก่การสร้างเมืองเป็นอย่างยิ่ง สมดังที่รื่นตัวเอกของนวนิยายทุ่งมหาราชได้กล่าวไว้ว่า
“ ที่นี่ดีทุกอย่างสำหรับจะอยู่จะกินจะตาย ” และ “ปากคลอง ที่เต็มไปด้วยป่าไม้, ข้าว, ไต้, น้ำมันยาง, สีเสียด, ยาสูบ, หนังสัตว์...”
   และอีกฉากหนึ่งที่ครูมาลัย  ชูพินิจ บรรยายเอาไว้ดังนี้
“คลองสวนหมากมีแต่จะเติบโตต่อไปโตวันโตคืนต่อไปหลายครั้งมาแล้ว มันเคยพินาศด้วยไฟป่า หลายครั้งมาแล้วเหมือนกันที่มันเคยย่อยยับไปด้วยอุทกภัยและโรคระบาด แต่ทุกครั้งภัยธรรมชาติเหล่านั้นก็ไม่สามารถจะหยุดยั้งมันไว้ได้ ผู้ที่เหลืออยู่จะต่อสู้ดิ้นรนต่อไป ชีวิตใหม่ ๆ จะเกิดขึ้น ครอบครัวใหญ่ ๆ จะมาตั้งรกรากผืนแผ่นดินใหม่ ๆ จะถูกหักโค่น โก่งร้าง ป่าแดง ตั้งแต่พระเจดีย์กลางทุ่งมาจนถึงวังกระทะ และชานดงเศรษฐีกลายเป็นนา ป่ายางและเบญจพรรณระหว่างคลองเหนือคลองใต้ราบลงไปกลายเป็นบ้านไร่ หัวยาง วังยาง ก็กลายสภาพจากชุมนุมขึ้นเป็นหมู่บ้านในเวลาใกล้เคียงกัน”
มีหลักฐานที่ยืนยันถึงชื่อตำบลคลองสวนหมากเป็นหมายแต่งตั้ง นายชุ่ม  ศุภดิษฐ์ ให้เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๕ ตำบลคลองสวนหมาก ดังเนื้อความในหมายมีดังนี้ ”ที่ ๒ จากพระกำแพงพลล้าน ผู้ว่าราชการเมืองกำแพงเพชร ประกาศแก่บรรดาผู้ได้พบและอ่านหมายนี้ ให้ทราบทั่วกันว่าตามความในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร,ศ, ๑๑๖ มาตรา ๙ และมาตรา ๑๗ โปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรเลือกผู้ใหญ่บ้านได้ตามสมัครใจของลูกบ้านเพื่อให้เป็นหัวหน้าดูแลกิจ สุข ทุกข์ ของราษฎรในหมู่บ้าน บัดนี้ราษฎรในหมู่ที่ ๕ ตำบลคลองสวนหมาก
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!