จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
เมษายน 23, 2024, 06:52:01 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ตามรอยประวัติศาสตร์กำแพงเพชรจากนวนิยาย “ทุ่งมหาราช” ของ “เรียมเอง” เรืองศักดิ์  (อ่าน 13139 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1414


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: มิถุนายน 14, 2015, 06:09:26 am »

ตามรอยประวัติศาสตร์กำแพงเพชรจากนวนิยาย
“ทุ่งมหาราช” ของ “เรียมเอง”
เรืองศักดิ์ แสงทอง
การบันทึกเหตุการณ์ประจำยุคสมัย ประวัติของบ้านเมือง และตำบลถิ่นเกิดของตนเอง เพื่อถ่ายทอดให้อนุชนรุ่นหลังได้รับทราบ ถือเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่สำคัญยิ่ง เฉกเช่น  ครูมาลัย  ชูพินิจ ได้ประพันธ์นวนิยายเรื่อง “ทุ่งมหาราช” เพื่อบันทึกเหตุการณ์ภาพชีวิตของผู้คนในตำบลคลองสวนหมากเมื่อครั้งอดีต ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นตำบลนครชุม นวนิยายเรื่องนี้จึงมีคุณค่าเป็นอย่างยิ่งสำหรับชาวนครชุม ชาวกำแพงเพชร และคนไทยผู้รักการอ่านทุกคน
ครูมาลัย  ชูพินิจ  เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๔๔๙ เป็นบุตรนายสอน นางระเบียบ  ชูพินิจ พ่อค้าไม้และกำนันตำบลคลองสวนหมาก ผู้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของชาวกำแพงเพชรโดยกำเนิดและเป็นนักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย ผู้มีอัจฉริยะภาพในวงการประพันธ์และหนังสือพิมพ์ ท่านได้สร้างสรรค์ผลงานเอาไว้ในโลกแห่งบรรณพิภพอันเป็นอมตะ  ทั้งผลงานในวงการหนังสือพิมพ์และวงการประพันธ์ มีทั้งนวนิยาย  เรื่องสั้น  บทความ บทนำ เรื่องแปล ฯลฯ อย่างหลากหลาย จนได้รับการยอมรับจากนักประพันธ์และนักอ่านยกย่องให้ มาลัย  ชูพินิจ เป็นครู ผู้ให้ความรู้ ความคิดอิสระ และบันเทิงใจแก่ทุกคน
บทประพันธ์อันเป็นที่ประทับใจของนักอ่านมาทุกยุคทุกสมัยคือนวนิยาย “ทุ่งมหาราช” ซึ่งครูมาลัย  ชูพินิจ ได้ถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ สภาพชีวิตความเป็นอยู่ในท้องถิ่นจังหวัดกำแพงเพชรเอาไว้อย่างละเอียดลึกซึ้ง ถือเป็นวรรณกรรมที่มีคุณค่าและเป็นอมตะตลอดมา จนได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔-๖  และยังเป็นผลงานที่ถูกจัดให้อยู่ในหนังสือดี ๑๐๐ เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน
   “ทุ่งมหาราช”  เป็นนวนิยายที่แต่งขึ้นมาจากความทรงจำรำลึก เพื่อสะท้อนภาพแห่งอดีตอันประทับใจและสำนึกในบุญคุณของแผ่นดินถิ่นเกิดของครูมาลัย  ชูพินิจ นักเขียนปากกาทอง ฝีมือชั้นครู ซึ่งได้บันทึกภาพเหตุการณ์บ้านเมือง และหมู่บ้านคลองสวนหมากตั้งแต่ครั้งยังมีบ้านเรือนไม่กี่หลังจนกลายมาเป็นชุมชนและตำบลนครชุมเอาไว้ด้วยภาษาอันงดงาม ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพของบ้านเมืองในอดีตเมื่อร้อยปีที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจนและท้าทายให้เข้าไปศึกษา ค้นหาร่องรอยความนัยแห่งประวัติศาสตร์ตามที่ถูกบันทึกเอาไว้ในเนื้อเรื่อง
เรื่องย่อ “ทุ่งมหาราช”
   รื่น ลูกทิดรุ่ง เป็นคนวังแขม อาชีพเดิมเป็นพ่อค้าเรือเร่ มาพบรักกับ สุดใจ หลานป้าแคล้ว สาวงามชาวคลองสวนหมากในวงรำแม่ศรีช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ลานวัดพระบรมธาตุ โดยมีจำปาเพื่อนสาวลูกพี่ลูกน้องของสุดใจเป็นแม่สื่อแม่ชัก ด้วยความรักอันบริสุทธิ์ที่มีต่อสุดใจและความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินคลองสวนหมาก รื่นจึงขอแต่งงานกับสุดใจและร่วมกันสร้างชีวิต สร้างครอบครัวและชุมชนคลองสวนหมากให้เจริญเติบโตในผืนดินที่เหมาะสำหรับจะอยู่กินและยึดเป็นเรือนตาย
   ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้รื่นจึงหันมาเริ่มต้นเป็นพ่อค้าไม้ ล่องแพซุงด้วยทุนของตัวเองแข่งกับพ่อค้าไม้รายใหญ่อย่างนายเสถียรและละเมียดสองสามีภรรยานายทุนผู้มาจากแดนไกล ในบางครั้งธุรกิจการค้าไม้ของรื่นต้องประสบกับปัญหานานาประการ โดยนายเสถียรได้ทุ่มเงินซื้อไม้ตัดหน้าจากชาวบ้านโดยให้ราคาดีกว่ารื่นหลายเท่า แต่ด้วยความเป็นคนมีน้ำใจและจริงใจกับทุกคนตลอดสองฝั่งปิง รื่นจึงได้รับการช่วยเหลือและผ่านเหตุร้ายในชีวิตมาได้
   ชีวิตของรื่นต้องเข้าไปพัวพันกับละเมียดโดยเข้าไปช่วยละเมียดซึ่งถูกโจรปล้นที่ลานดอกไม้ ทำให้ละเมียดประทับใจในน้ำใจไมตรีของรื่น ต่อมาทั้งสองมีโอกาสร่วมเดินทางมาเรือกำปั่นท้องแบนระหัดข้างจักรท้ายลำแรกของบริษัทป่าไม้ฝรั่งที่เข้ามาทดลองวิ่งเป็นครั้งแรกจากปากน้ำโพถึงจังหวัดตาก แต่เรือประสบอุบัติเหตุล่มลงก่อนถึงขาณุ ทำให้รื่นและละเมียดต้องไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันสองต่อสองบนเกาะกลางลำน้ำปิง
   นอกจากจะต้องต่อสู้กับนายทุนที่หวังจะฮุบกิจการการทำไม้แล้ว ชีวิตของรื่นและสุดใจยังต้องประสบกับเคราะห์หามยามร้ายเมื่อครอบครัวต้องเสียบุตรชายคนโตและชาวบ้านไปกับโรคฝีดาษซึ่งระบาดคร่าชีวิตชาวบ้านคลองสวนหมากไปเกือบหมดหมู่บ้าน รื่นจึงต้องแสดงถึงความเป็นผู้นำที่เด็ดขาดด้วยการให้ชาวบ้านเผาบ้านทิ้งแล้วอพยพไปทำนาที่วังกระทะ
   เจ้าเมืองกำแพงเพชรทราบข่าวจึงพาคณะมาเยี่ยมเยียนรื่นและชาวบ้านและบอกข่าวสำคัญว่าทางการกำลังจะยกฐานะของคลองสวนหมากให้เป็นตำบล จึงอยากให้รื่นเป็นผู้นำชาวบ้านกลับเข้าไปสร้างบ้านเรือนเพื่อฟื้นชีวิตของชุมชนคลองสวนหมากให้กลับคืนมา และเพื่อเตรียมการรับเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงที่จะเสด็จกำแพงเพชรและคลองสวนหมาก ซึ่งการเสด็จประพาสต้นในครั้งนั้นคือมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ที่ชุบชีวิตของรื่นและชาวคลองสวนหมากที่กำลังจะดับมิดับแหล่ ให้ลุกโชนสว่างสดใส ทำให้ทุกคนมีกำลังใจในการสร้างคลองสวนหมากให้เป็นตำบลโดยมีรื่นเป็นกำนัน
   เมื่อเหตุร้ายผ่านพ้นไป รื่นเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการค้าไม้ที่รุ่งเรืองอีกครั้ง การกลับมาทำการค้าไม้ในครั้งนี้ของรื่นทำให้ได้รู้จักพะโป้ผู้ยิ่งใหญ่ในวงการค้าไม้ และได้พบกับละเมียดซึ่งได้รับเลือกให้เป็นผู้จัดการบริษัทแทนนายเสถียรโดยมีหลวงราชบริพารนายอำเภอเป็นผู้หนุนหลังให้เข้ามาเป็นเจ้าของสัมปทานป่าไม้ที่โป่งน้ำร้อน
รื่นต้องต่อสู้กับปัญหาสัมปทานป่าไม้ที่โป่งน้ำร้อน สู้เพื่อสิทธิ์อันเป็นประเพณีของชาวบ้านที่ทำมาหากินกับป่าโป่งน้ำร้อนและคลองสวนหมากมาอย่างอิสระตลอดชีวิต ผลจากการต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวของรื่นโดยไม่มีฝ่ายใดต้องสูญเสียชีวิตทำให้พะโป้ บริษัทของละเมียดและผู้ว่าราชการจังหวัด ยินยอมให้ป่าโป่งน้ำร้อนเป็นป่าสาธารณะสำหรับชาวคลองสวนหมากที่เต็มไปด้วยป่าไม้ ข้าว ไต้ น้ำมันยาง สีเสียด ยาสูบ และหนังสัตว์ สำหรับใช้ทำมาหากินตามวิถีชีวิตที่อิงแอบอยู่กับธรรมชาติอย่างอุดมสมบูรณ์ไปตลอดชีวิต
ย้อนยลความนัยแห่งประวัติศาสตร์   
   แม้ “ทุ่งมหาราช”  จะมิใช่บันทึกประวัติศาสตร์แต่ก็มีความนัยทางประวัติศาสตร์  ซึ่งครูมาลัย  ชูพินิจ ได้บันทึกเหตุการณ์เอาไว้อย่างแยบยล และเป็นจริงตามเรื่องราวของประวัติศาสตร์อย่างไม่มีผิดเพี้ยนแต่อย่างใด
หากสืบเสาะ ค้นคว้าเรื่องราวแห่งประวัติศาสตร์ตามฉาก ตามภาพเหตุการณ์ และบุคคลที่ปรากฏอยู่ในเรื่อง “ทุ่งมหาราช”  จะทำให้พบข้อเท็จจริงแห่งประวัติศาสตร์ของเมืองกำแพงเพชรอย่างมากมาย ดังตัวอย่างจากเนื้อเรื่องบางตอน
สภาพของชุมชนคลองสวนหมากเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๔๓ ซึ่งครูมาลัย  ชูพินิจ ได้บรรยายเอาไว้ว่า 
“ เมื่อ ๖๐ ปีก่อน นครชุมยังเป็นคลองสวนหมาก พร้อมด้วยเหย้าเรือนฝาขัดแตะและมุงแฝกไม่กี่สิบหลังคาเรือน และบ้านไร่เพิ่งมีพวกเวียงจันทน์อพยพมาอยู่ไม่กี่ครอบครัว ป่ามะพร้าวยังโหรงเหรง เนินกำแพงเมืองเก่าชั้นนอกยังไม่ถูกทำลายลงมาถมถนน และดงเศรษฐี ยังทิ้งซากของนครร้างเอาไว้เป็นอนุสรณ์แก่คนรุ่นหลัง..” ( ทุ่งมหาราช หน้า ๓ )
นครชุมในสมัยรัตนโกสินทร์ไม่มีชื่อเป็นที่รู้จัก ผู้คนทั่วไปคงเรียกบริเวณที่ตั้งบ้านเรือนของราษฎรบริเวณนี้ว่า “ปากคลองสวนหมาก” เพราะมีคลองสวนหมากไหลมาออกแม่น้ำปิง ราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวลาวอพยพมาจากเวียงจันทน์ ที่มารู้จักว่าชื่อ นครชุม มามีในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ศึกษาศิลาจารึกหลักที่ ๓ ที่นำไปเก็บไว้ที่วัดเสด็จ ตำบลในเมือง และได้ทรงทราบว่าย้ายมาจากบริเวณวัดพระบรมธาตุที่ปากคลองสวนหมาก จึงเสด็จไปตรวจดูพบฐานที่ตั้งของศิลาจารึกจึงเรียกบริเวณนั้นว่า “เมืองนครชุม”
ตำบลคลองสวนหมากเปลี่ยนมาเป็นตำบลนครชุมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒  ตาม พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนนามอำเภอ กิ่งอำเภอ และตำบลบางแห่งพุทธศักราช ๒๔๘๒ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ตราไว้ ณ วันที่ ๑๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๒ เพื่อประโยชน์และความสะดวกแก่ประชาชนและราชการ กับเพื่อรักษาไว้ซึ่งประวัติศาสตร์แห่งท้องถิ่น" จึงได้เปลี่ยนชื่อจากตำบลคลองสวนหมากมาใช้ชื่อเป็น ตำบลนครชุม
   การทำไม้และบรรยากาศของการล่องแพซุงในแม่น้ำปิงคงไม่มีคำบรรยายใดที่ฉายภาพได้  ชัดเจนเท่ากับคำบรรยายของครูมาลัย  ชูพินิจ ซึ่งได้ประพันธ์เอาไว้ในนวนิยายเรื่องทุ่งมหาราช
“ ฉันยังจำได้ดีทุกอย่าง แม่เฒ่าคิด จำได้แน่ เหมือนมันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน มะม่วงสายทองต้นนั้น ซุงที่ท่าน้ำ แม่น้ำปิงที่เวิ้งว้าง เต็มไปด้วยจอกและสวะ เต็มไปด้วยแพไม้ แพเสา เรือโกลน ติดธงสีต่าง ๆ กัน ..” ( ทุ่งมหาราช หน้า ๔ )
   “เจตนาอันเด็ดเดี่ยวของเขา เป็นสิ่งยากที่ใครจะทัดทานได้ การล่องแพ ในสมัยนั้น หมายถึงการเสี่ยงสารพัดตลอดระยะทาง ๕ คืน ๖ วัน หรือน้อยและมากกว่านั้น แล้วแต่น้ำและอุปสรรคหรือความสะดวกในการเดินทาง จากกำแพงเพชรถึงปากน้ำโพ เขารู้ดีว่าในฐานะที่เป็นคนแรกในบ้านคลองสวนหมากใต้ ที่ริจะค้าไม้และล่องแพด้วยตนเองย่อมจะตกอยู่ในสายตาของคนทั่วไปอย่างคนที่ความคิดวิตถาร การค้าไม้เป็นของคนใหญ่คนโตทุนรอนนับเล่มเกวียนอย่างพะโป้ และบริษัทฝรั่ง  ไม่ใช่คนอย่างเขา ซึ่งขาดเครื่องมือเกือบทุกสิ่งทุกอย่างนอกจากความทะเยอทะยาน ความฝันและกำลังใจอันแรงกล้า” ( ทุ่งมหาราช หน้า ๖๗ )
ในสมัยก่อนการทำไม้และการล่องแพซุงของเมืองกำแพงเพชร   เป็นกิจการที่เฟื่องฟูมาก ตามท่าน้ำริมตลิ่งเต็มไปด้วยแพซุง โดยมีชุมทางอยู่ที่คลองสวนหมาก เพราะไม้ส่วนใหญ่ถูกชักลากออกจากป่าโป่งน้ำร้อน ชาวบ้านจะตัดไม้ทิ้งไว้เป็นปีแล้วจึงชักลากมารวมกองที่ริมตลิ่ง รอขายให้กับพ่อค้าที่เข้ามารับซื้อ หรือผูกแพล่องไปขายที่ปากน้ำโพ ซึ่งเป็นชุมทางค้าไม้ในสมัยนั้น เวลาที่ใช้ในการเดินทางจากกำแพงเพชรถึงปากน้ำโพประมาณ ๕-๗ วัน  ตลอดเส้นทางต้องผจญภัยกับความเชี่ยวกรากของสายน้ำ เกาะแก่ง ที่จะทำให้แพแตกไม้ลอยหายหมดตัวไปก็หลายราย
ภาพลักษณ์แห่งวัฒนธรรมประเพณีเฉพาะถิ่นของชาวคลองสวนหมากและกำแพงเพชรอย่าง ตรุษสงกรานต์ การละเล่นเพลงพื้นบ้าน ภาพแห่งความสนุกรื่นเริง ด้วยการร้องรำทำเพลงอย่างเพลงแม่ศรี เพลงพวงมาลัย การเล่นช่วงชัย หรือก่อพระทรายหน้าวัด ถือเป็นภาพแห่งความทรงจำของประเพณีของชาวคลองสวนหมากที่ครูมาลัย ชูพินิจ ได้ตั้งใจบันทึกเอาไว้ให้ลูกหลานได้สานต่อ
   “ในตอนบ่ายวันสุดท้ายของสงกรานต์ สุดใจ-ยังสวมกำไลข้อเท้า ๑๖ ปี แต่เปล่งปลั่งเหมือนสาวใหญ่..เปียกปอนไปทั้งตัวด้วยเล่นสาดน้ำกัน หน้าตายังขมุกขมอมเพราะดินหม้อจากการตะลุมบอน ฉวยขันลงหินและสบู่ลงไปที่ตีนท่าหน้าบ้าน เร่งรีบจะอาบน้ำชำระกาย เพื่อกลับขึ้นไปแต่งตัวใหม่ให้ทันไปเข้าวง ช่วงชัย ในตอนเย็น” ( ทุ่งมหาราช หน้า ๕ )
“เมื่อสงกรานต์มาถึงในปีนั้น เสียงเพลงแม่ศรี พวงมาลัย และเสียงหัวเราะอันชื่นบานด้วยความบริสุทธ์ ซึ่งเงียบหายไปนานนับแต่ปีกลาย ก็กลับมาสู่ชาวบ้านอีกครั้ง และรื่น ยืนมองดูเด็ก ๆ และหนุ่มสาว ทั้งชาวปากคลองและลาวพวน สรวลเสเฮฮากันอยู่ ณ วงแม่ศรี  ช่วงชัย  หรือรอบองค์พระทรายหน้าวัดคราวใด  คราวนั้นก็อดคิดขึ้นมาไม่ได้ด้วยความรู้สึกอันตื้นตัน” ( ทุ่งมหาราช หน้า ๓๐๖ )
ความรกร้างและสูญหายไปของวัดท่าหมัน วัดเก่าแก่อยู่ใกล้ท่าน้ำริมคลองสวนหมากที่ปากคลองเหนือ  “ผมกลับมา  ได้ข่าวว่าปีกลายฝีดาษกินเสียเตียนไปทั้งคลองเหนือ คลองใต้ ก็รีบเข้ามาเยี่ยม” ท่านเจ้าคุณบอกด้วยเสียงและสีหน้าสลด “เนจอนาถอะไรเช่นนั้น ตั้งแต่คลองเหนือ บ้านไร่ คลองใต้ หาผู้คนอยู่สักบ้านไม่ได้ พะโป้เองก็ยังไม่กลับจากแม่พล้อ วัดท่าหมัน ก็ร้าง ทั้งตลาดคลองเหนือเหลือแต่เจ๊กขายของอยู่สองสามครัว”  (ทุ่งมหาราช หน้า ๒๘๗)
   จากการสืบค้นพบว่าบริเวณตลาดครชุมมีวัดเก่าอยู่วัดหนึ่งชื่อวัดท่าหมัน เป็นที่สร้างมานานนับร้อยปี แต่สูญสภาพกลายเป็นตลาดนครชุมไปหมดแล้ว เมื่อสอบถามผู้เฒ่าผู้เแก่แถวตลาดนครชุมยังพอได้เค้าเกี่ยวกับเรื่องราวของวัดท่าหมันว่า  มีการย้ายศาลาวัดท่าหมันซึ่งถูกปล่อยทิ้งร้างไปก่อสร้างไว้เป็นอนุสรณ์ที่วัดสว่างอารมณ์ ตำบลนครชุม
ร่องรอยของบ้านห้างหรือบ้านพะโป้ที่เคยเต็มไปด้วยผู้คนทั้งไทย มอญ กะเหรี่ยง เสียงเพลงและความคึกครื้นด้วยงานรื่นเริงบันเทิงใจ
“จากประตูใหญ่  ริมคลองระหว่างรั้วซึ่งใช้ไม้สักทั้งต้นแทนเสา  กระทู้ปักเรียงราย มิดชิด มั่นคง และแข็งแรงประดุจป้อมปราการของเจ้าผู้ครองนครสมัยโบราณ บ้านสามชั้น หลังนั้น ดูสูงตระหง่าน และมหึมาเหมือนปราสาทในเทพนิยาย  รื่นไม่เคยคิดมาก่อนเลย จนกระทั่งก้าวเข้าไปในบริเวณนั้นแล้วว่าความกว้างขวางใหญ่โตของสถานที่ และผู้คนซึ่งพลุกพล่านอยู่ในบริเวณนั้น จะทำให้เขารู้สึกเล็กลงไปเพียงใด ราวกับเด็กที่เดินอยู่ในดงเปลี่ยว... ( ทุ่งมหาราช หน้า ๑๖๓ )
   ปัจจุบันบ้านห้างหรือบ้านพะโป้ ตั้งอยู่ริมคลองสวนหมากมีสภาพทรุดโทรม  เรือนไม้หลังนี้มีประวัติความเป็นมาที่ทรงคุณค่าของชาวนครชุมและเมืองกำแพงเพชร และยังเป็นบ้านที่พระพุทธเจ้าหลวงเคยเสด็จมาประทับและถ่ายรูปเอาไว้       
ตัวละครอย่างพะโป้ พ่อค้าไม้ชาวกะเหรี่ยงอยู่ในบังคับของอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลในการค้าไม้ประจำเมืองกำแพงเพชรในสมัยนั้นเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง
   “เขามองหน้าบุรุษผู้นั่งหัวเราะต่อไปอยู่ต่อหน้าขณะนั้นครั้นแล้วก็ได้คิดขึ้นมาด้วยความสะท้านสะเทือนใจว่า นี่เองพะโป้ ผู้ยิ่งใหญ่  พะโป้ผู้มีบุญคุณแก่ชาวกำแพงเพชรโดยทั่วไปและคลองสวนหมากโดยเฉพาะ พะโป้ผู้นำฉัตรทองแต่ตะโก้งมาประดิษฐาน ณ ยอดพระบรมธาตุเป็นสัญญลักษณ์แห่งพระบวรพุทธศาสนา ( ทุ่งมหาราช หน้า ๑๖๙ )
   พะโป้ มีชื่อเต็ม ๆ คือ พะโป้พะเลวาซวยล่า สะมะเย เป็นพ่อค้าไม้ผู้มั่งคั่งชาวกะเหรี่ยง เดินทางจากพม่าเข้ามาทำไม้ในเขตพื้นที่ป่าคลองสวนหมาก ได้แต่งงานกับคนไทยชื่อ แม่ทองย้อย บุตรสาวผู้ใหญ่บ้านวันและอำแดงไทย ซึ่งมีบ้านเรือนอยู่ริมคลองสวนหมากใกล้กับบ้านห้าง มีบุตรธิดาด้วยกัน ๔ คน เป็นต้นตระกูล “รัตนบรรพต” ในปัจจุบัน
   พะโป้ถึงแก่กรรม ช่วงต้นรัชกาลที่ ๖ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้ตั้งศพไว้ที่ห้องโถงชั้นล่างของบ้านห้างเป็นเวลา ๑ ปี ตลอดเวลาจะมีพระสงฆ์มาสวดศพและทุก ๆ ๗ วัน ชาวกะเหรี่ยงจะพากันออกจากป่ามาคารวะศพและทำการสวดตามพิธีของชาวกะเหรี่ยง เมื่อครบกำหนดจึงได้นำศพไปทำพิธีฌาปนกิจที่วัดสว่างอารมณ์ ตำบลนครชุม
   ท่านเจ้าคุณกำแพง ผู้ว่าราชการจังหวัด  ผู้ทำคุณให้กับชาวกำแพงเพชรและผู้ปกครองราษฎรด้วยความปราณี เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ครูมาลัย  ชูพินิจ ได้นำมากล่าวไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งคุณงามความดี   
“เครื่องแต่งกายซึ่งเป็นที่สะดุดตาในภูมิประเทศบ้านป่าเช่นนั้น มากกว่าบรรดาผู้สวมเอง เรียกร้องความสนใจของเขา และทุกคนก้มหน้าทำธุระอยู่กับงานของตนเช้าวันนั้น ให้เงยหน้าขึ้นไปจับตาดูอยู่เป็นเป้าเดียวกัน แม้กระนั้นร่างเล็ก ๆ ของหล่อนพร้อมด้วยใบหน้าอันเกลี้ยงเกลา และนันย์ตาที่เป็นประกายวาวเพราะความตื่นเต้น ก็เป็นภาพแรกที่สะดุดสายตาเขา ในขณะที่คนอื่น ๆ บ้างยืนบ้างนั่ง ด้วยกิริยาท่าทางอันตื่นตะลึงต่าง ๆ กัน เมื่อ ปรากฎว่าร่างของชายชราในชุดกางเกงขาสั้นสวมถุงน่องรองเท้า หมวกกันแดดและเสื้อราชปแตนต์ คนนำหน้าคือท่านเจ้าคุณกำแพง ผู้ว่าราชการจังหวัด (ทุ่งมหาราช หน้า ๒๙๑)
ท่านเจ้าคุณกำแพงผู้ว่าราชการจังหวัด ตามที่ปรากฏในทุ่งมหาราชนั้น คือพระยาวิเชียรปราการ เจ้าเมืองเมืองกำแพงเพชร ในช่วง พ.ศ. ๒๔๔๗-๒๔๕๔
พระยาวิเชียรปราการ นามเดิม ฉาย  อัมพเศวต เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๔๑๐ ในรัชกาลที่ ๔ เป็นชาวเมืองสรรค์ (จังหวัดชัยนาท) เป็นบุตรของหลวงภักดีบริรักษ์ (อ่ำ) ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นหลวงสรรค์บุรารักษ์ ตำแหน่งนายอำเภอสรรคบุรี    ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ตำแหน่งเจ้าเมืองกำแพงเพชรว่างลง ด้วยพระยารามรณรงค์สงคราม (หรุ่น)ต้องเข้าไปรายงานตัวในเมืองหลวง จึงโปรดเกล้าให้หลวงสรรค์บุรานุรักษ์ไปรับราชการเมืองกำแพงเพชร แล้วพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนเป็น “พระวิเชียรปราการ” ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร และเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เลื่อนเป็น “พระยาวิเชียรปราการ”   เสด็จประพาสต้นคือมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ ครูมาลัย  ชูพินิจ ได้บันทึกประวัติศาสตร์แห่งความปลื้มปิติของชาวคลองสวนหมากที่มีต่อพระเจ้าอยู่หัวของพวกเขาเอาไว้อย่างประทับใจและมีสำนึกในพระมหากรุณาอันล้นพ้น
“ริ่นจะไม่มีวันลืมวันนั้นเลย แม้อีกหลายสิบปีจะล่วงไปและวัยจะโร่งโรยแล้ว ๒๕ สิงหาคม ๒๔๔๙ จะประทับแน่นอยู่ในความทรงจำของเขาต่อไปชั่วชีวิตอวสาน มิใช่เพราะมันเป็นครั้งแรกที่เขาได้ เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าหลวง โดยใกล้ชิดเป็นครั้งแรกในชีวิต เมื่อเสด็จขึ้นทอดพระเนตรวัดพระบรมธาตุในตอนบ่ายอย่างเดียว หากความตื้นตันใจต่อภาพประชาชนทั้งชาวปากคลอง หนองปลิง ลานดอกไม้ แม้กระทั่งชนบทและตำบลที่ห่างไกลเข้าไปในป่าลึกและดงสูง ที่มาชุมนุมรับเสด็จรอชมบารมีเจ้าเหนือหัวของเขาแน่นขนัดไปหมดทั้งลานวัดอีกด้วย” ( ทุ่งมหาราช หน้า ๓๒๙ )
“แต่การเสด็จประพาสวัดพระบรมธาตุและคลองสวนหมากของพระพุทธเจ้าหลวง ครั้งนั้นเองเหมือนมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ มีความหมายที่จะชุบชีวิตซึ่งร่อยหรอประดุจกองไฟที่จะหรี่และดับมิดับแหล่ ของตำบลนั้นให้สว่างโพลง ยืนยงคงทนต่อไป ต่อหน้าโรคระบาด อุทกภัย ทุพภิกภัยอย่างที่ไม่มีอำนาจใดจะมาทำลายให้ดับสูญไปได้”  (ทุ่งมหาราช หน้า ๓๓๐)
   พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสคลองสวนหมากและวัดพระบรมธาตุเป็นฉากที่สำคัญยิ่งฉากหนึ่งที่ปรากฏในนวนิยายเรื่องทุ่งมหาราช และเมื่อย้อนรอยเข้าไปศึกษาตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ก็พบความเป็นจริงว่า พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสคลองสวนหมากและวัดพระบรมธาตุเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๔๔๙ ในครั้งนี้มีประชาชนพากันมาเข้าเฝ้าอย่างแน่นขนัดทั้งชาวปากคลองสวนหมาก หนองปลิง ลานดอกไม้ และชนบทที่อยู่ห่างไกลออกไป
   การสะท้อนภาพชีวิตและประสบการณ์เดิมของครูมาลัย  ชูพินิจ ดังภาพเหตุการณ์เมื่อ พ.ศ ๒๔๕๙ เมื่อคราวไข้ทรพิษหรือฝีดาษระบาดที่ทำลายขวัญและชีวิตของชาวคลองสวนหมากจนเกือบสูญสิ้นทั้งตำบล รวมทั้งน้องชายร่วมมารดาของครูมาลัย  ชูพินิจ ด้วยผู้หนึ่ง
“…ทุก ๆ วัน ข่าวที่ได้รับจากบ้านไร่และคลองเหนือ ไม่บ้านใดก็บ้านหนึ่งจะต้องมีการป่วยด้วยโรคระบาดเดียวกันนี้ ความจริงนั้นหลายครอบครัวล้มเจ็บด้วยฝีดาษก่อนมณีจะลงมาถึงปากคลองด้วยซ้ำไป หลายคนโทษว่าลูกชายรื่นเป็นสื่อนำโรคนั้นมาสู่บ้านแต่อีกหลายคนก็ยืนยันได้โดยมีหลักฐานว่าคนงานของพะโป้นำมาจากป่าต้นคลองเหนือ เมื่อเวลาล่วงไปและอาการเจ็บไข้ระบาดออกไปทั่ว ต่างคนต่างก็วุ่นอยู่แต่สวัสดิภาพของตัวจนไม่มีเวลาพอที่จะไปคิดโทษใคร” (ทุ่งมหาราช หน้า ๒๗๒)
   “รื่นเป็นคนต่อมาที่สังเกตเห็นอาการทรุดหนักอย่างผิดปกติของลูกชายคนหัวปี สีหน้าของแกซึ่งไม่เป็นหน้าตาอีกต่อไป เกือบจะกลายเป็นสีขี้เถ้า แม้กระนั้นเขาก็มิได้เอ่ยอะไรกับสุดใจซึ่งตื่นขึ้นภายหลังวันนั้นทั้งวันผ่านไปอย่างเงียบเหงาประเดี๋ยวได้ข่าวคนตายจากบ้านไร่ ประเดี๋ยวจากท้ายวัด ประเดี๋ยวจากคลองเหนือ จากนอกชานเรือนของเขารื่นแลเห็นเรือหลายลำนำศพของผู้ตายข้ามไปยังฝั่งตรงข้าม ซึ่งเป็นป่าพุทรา—ป่าช้าฝังศพมาแต่ไหนแต่ไร บางรายเสียงร้องไห้ของญาติและมิตรของผู้ตายก็แว่วข้ามแม่น้ำมาถึง เขารู้ดีว่าวันหนึ่งบางทีจะชั่วโมงใดต่อไปข้างหน้า เขา สุดใจ จำปา ป้าแคล้วและคนในบ้านอันเป็นที่รักใคร่อย่างสุดสวาทขาดใจของเด็กผู้น่าสงสารก็คงจะต้องตกอยู่ในสภาพอย่างเดียวกัน รื่นรู้ว่าทุกชั่วนาฬิกาและนาทีเขาคอยเวลานั้นด้วยการปลงตกเสียแล้ว แต่เมื่อกาลอวสานของลูกชายหัวปีมาถึงเข้าจริง เขาก็อด สะเทือนใจ ทอดอาลัยตายอยากในชีวิตไปชั่วยามหนึ่งไม่ได้” (ทุ่งมหาราช หน้า ๒๗๕)
   นอกจากนี้ทุ่งมหาราช ยังมีฉากสำคัญอยู่หลายแห่งทั้งในเขตเมืองกำแพงเพชร ตำบลนครชุม ปากคลองเหนือ ปากคลองใต้ บ้านไร่ นาน้ำลาด วังกระทะ หนองปลิง ลานดอกไม้ วังแขม คลองขลุงแม่ลาด วังพระธาตุ ปากอ่าง เกาะธำมะรง เป็นต้น ฉากเหล่านี้ได้ถูกเชื่อมโยงกับตัวละครออกมาเป็นบทประพันธ์อันชวนอ่านด้วยฝีมือระดับชั้นครูที่ทำให้เรื่องราวของประวัติศาสตร์เต็มไปด้วยสีสัน
    “ทุ่งมหาราช” อาจเป็นเพียงนวนิยายเรื่องเล็ก ๆ แต่ก็มีคุณค่าอันยิ่งใหญ่ต่อการบันทึก     ร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์ของเมืองกำแพงเพชร ที่ทำให้อนุชนรุ่นหลังสามารถย้อนรอยประวัติศาสตร์   วิถีชีวิต ตัวบุคคล วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาในท้องถิ่นได้อย่างถูกต้องและน่าสนใจ
“ทุ่งมหาราช” ทุ่งใหญ่แห่งชีวิตของชาวคลองสวนหมาก
   ภาพชีวิตและเหตุการณ์อันประทับใจ ความยิ่งใหญ่ในการเสียสละ ความทรหดอดทนของชาวคลองสวนหมากในยุคนั้น   เป็นบรรยากาศแห่งภราดรภาพที่ยังพิมพ์อยู่ในอนุสติของครูมาลัย     ชูพินิจ ท่านจึงได้นำเสนอไว้ใน “ทุ่งมหาราช” นวนิยายเรื่องเล็ก ๆ  ที่เข้าถึงความสำคัญแห่งความ    ยิ่งใหญ่ในการใช้ชีวิตด้วยความสุขและสวัสดิภาพของชาวคลองสวนหมาก
   ถือเป็นความตั้งใจอย่างแท้จริงของครูมาลัย  ชูพินิจ ที่บรรจงเขียน “ทุ่งมหาราช” จากความทรงจำรำลึกถึงเหตุการณ์ประจำยุคสมัย ภาพของเมืองและตำบล ขนบธรรมเนียมประเพณี เหตุการณ์อันเกิดจาก มหาตภัยธรรมชาติ โรคระบาด อุทกภัยและทุพภิกขภัย ซึ่งผ่านเข้ามาในชีวิตของท่านและเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นขึ้นไป
   “ทุ่งมหาราช” เป็นนวนิยายที่บรรยายให้เห็นสภาพชีวิต เหตุการณ์ บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในช่วงสมัยรัชกาลที่ ๕ และก่อนหน้านั้นขึ้นไป โดยมีจุดเน้นอยู่ที่ตำบลคลองสวนหมากและวิถีชีวิตของผู้คนตามสายน้ำปิงซึ่งต้องต่อสู้กับความยากลำบากนานัปการ ตั้งแต่ความอดอยาก โรคภัยไข้เจ็บ โดยผ่านตัวละครที่มีเลือดเนื้อและจิตวิญญาณอย่าง “รื่น” หรือ ขุนนิคมบริบาล ผู้เต็มไปด้วยแนวคิดในการปกป้องรักษาแผ่นดินถิ่นเกิด ที่ทำมาหากิน ความรักอิสระ ด้วยภาษาสำนวนที่อ่านเข้าใจง่ายและการพรรณาที่มองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน    
   ทุกชาติและประเทศ ตำบลและหมู่บ้าน ล้วนมีประวัติความเป็นมาของตัวเองไม่มากก็น้อย เหมือนอย่างตำบลคลองสวนหมากที่เปลี่ยนมาเป็นนครชุม ซึ่งครูมาลัย  ชูพินิจ ได้บอกเล่าเอาไว้ใน นวนิยาย “ทุ่งมหาราช” แม้ท่านจะออกตัวว่ามิได้ตั้งใจให้เป็นประวัติของตำบลคลองสวนหมาก ขอให้เป็นเพียงบันทึกของเหตุการณ์ประจำยุคสมัยก็ตาม แต่การได้อ่าน “ทุ่งมหาราช” แล้วตามรอยเข้าไปศึกษาประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองในยุคนั้นถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่ายิ่งนัก เพราะแต่ละวรรคตอนล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราวของประวัติศาสตร์อันน่าสนใจ

เนื้อหาที่ควรตามรอยใน”ทุ่งมหาราช”

๑. ประวัติของครูมาลัย  ชูพินิจ
-   ชีวิตในวัยเด็ก      - การเส้นสู่เส้นทางนักหนังสือพิมพ์
-   การศึกษา         - นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่
-   ชีวิตครอบครัว      - การเที่ยวป่าล่าสัตว์
-   อาชีพครู         - ผลงานสร้างสรรค์ต่อวงการนักหนังสือพิมพ์
-   ชีวิตบั่นปลาย      - ผลงานสร้างสรรค์ต่อวงการนักประพันธ์
๒. ตามรอยประวัติศาสตร์จากนวนิยาย”ทุ่งมหาราช”
   ๒.๑ บุคคลในประวัติศาสตร์
      - ขุนนิคมบริบาล      - พวกเวียงจันทน์   - มิสหลุยส์
      - พะโป้,แม่ทองย้อย    - นายชื่นเศรษฐีใหญ่   -  แขกปาทาน
      - ท่านเจ้าคุณกำแพง   - เจ้าอาวาส      - พระพุทธเจ้าหลวง
      - หลวงพิพิธ      - พญาตะก่า      - ฯลฯ
   ๒.๒ สถานที่ในประวัติศาสตร์
      - กำแพงเมืองเก่าชั้นนอก –ดงเศรษฐี       - นครชุม
      - ลานดอกไม้      - คลองสวนหมาก   - วัดพระบรมธาตุ
      - นาน้ำลาด      - วังกะทะ      - ท่าขี้เหล็ก
      - ซากเมือง      - วัดชีนางเกา      - วังพระธาตุ
      - คุ้งน้ำธารทองแดง   - เมืองไตรตรึงษ์      - พรานกระต่าย
      - แม่ลาด      - วัดเสด็จ      - วัดเจ๊ก
      - ตลาดหน้าวัดบาง   - ท่าไม้แดง      - วัดท่าหมัน
      - เกาะรากเสียด      - คลองเมือง      - ปากอ่าง
      - บ้านโคน      - เกาะธำรง      - คลองขลุง
      - แม่วง         - บ้านไร่         - โป่งน้ำร้อน
      - เกาะใหญ่      - วังแขม         - ขาณุ
- หัวรอ         - ศาลาท่าน้ำหน้าศาลากลาง    - ฯลฯ
   ๒.๓ ประเพณีและวิถีชีวิตในประวัติศาสตร์
      - มหาสงกรานต์      - การฌาปนกิจศพ   - แพไม้
      - สวมกำไล      - ดินหม้อ      - วงช่วงชัย
      - ทรงแม่ศรี      - เพลงพวงมาลัย      - กางเกงแพร
      - เสื้อกุยเฮง      - ไปรบฮ่อ      - เทศน์มหาชาติ
      - มโหรี         - แห่สามถ้วย      - เพลงเกี่ยวข้าว
      - ลงแขก      - เสื้อห้าตะเข็บ      - แมงอีนูน
      - งานวัดพระบรมธาตุ   - เรือกำปั่นท้องแบน   - พระพิมพ์
      - งานประจำปีที่หลักเมือง- ขบวนเรือเสด็จ      - เพลงพื้นเมือง
      - ออกแขก ๑๒ ภาษา   - เจาะจมูกผูกแพ   - ขุดเรือโกลน
- เสด็จทอดพระเนตรวัดพระบรมธาตุ      - ฯลฯ








         
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!