จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
มีนาคม 28, 2024, 03:38:11 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: เอกสารประกอบการอบรม โครงการมัคคุเทศก์น้อยการตำบลแม่ลาด อ.ตลองขลุง จังหวัดกำแพงเพ  (อ่าน 7335 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1410


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: เมษายน 06, 2015, 11:55:50 am »

เอกสารประกอบการอบรม
โครงการมัคคุเทศก์น้อยการตำบลแม่ลาด อ.ตลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร  (Junior Guide)
ในวันพุธที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๖.๓๐ น.
ณ อาคารอเนกประสงค์องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลาด
หลักสูตรที่ใช้ในการอบรม
      (๑) ความสำคัญของแหล่งท่องเที่ยวต่อท้องถิ่น
      (๒) หลักการมัคคุเทศก์
      (๓) พฤติกรรมนักท่องเที่ยว
(๔) การต้อนรับนักท่องเที่ยวและการเป็นเจ้าบ้านที่ดี
      (๕) ศิลปะการพูดสำหรับมัคคุเทศก์
      (๖) แหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่น
      (๗) วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น
      (๘) การอนุรักษ์ทรัพยากรท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ
      (๙) การอนุรักษ์ทรัพยากรท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม

๑. เจ้าบ้านที่ดีในการต้อนรับนักท่องเที่ยว
                เจ้าบ้านหมายถึงบุคคลผู้เป็นเจ้าของบ้านเรือน ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เจ้าบ้าน  หมายรวมถึง ประชาชน พ่อค้า แม่ค้า นักเรียน และผู้ประกอบการอาชีพใดๆ ที่อาศัยอยู่ในท่องถิ่นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ     การเป็นเจ้าบ้านที่ดี จึงหมายถึงกลุ่มบุคคลเหล่านี้มีความเป็นมิตร มีความเชื่อมั่น รอบรู้เรื่องราวในท้องถิ่น ให้การตอบรับ ดูแลผู้มาเยือนหรือนักท่องเที่ยวให้มีความสุข และรู้สึกปลอดภัยเพราะเมื่อผู้มาเยือนได้รับความมีอัธยาศัยไมตรี และเจ้าบ้านให้การตอบรับอย่างอบอุ่น ย่อมทำให้ผู้มาเยือนเกิดความประทับใจ
 
ปัจจัยสำคัญของการเป็นเจ้าบ้านที่ดี
                ปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวเดิมของเราไม่กลับมาเป็นลูกค้าอีกมีด้วยกันหลายปัจจัย แต่ฐานะเจ้าบ้านแล้ว ปัจจัยที่เราสามารถควบคุมได้ คือ การเตรียมตนเองให้พร้อมสำหรับการเป็นเจ้าบ้านที่ดีและให้บริการแก่ลูกค้าด้วยความเต็มใจ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้งานบริการประสบผลสำเร็จ ก็คือ คนหรือบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ให้บริการแก่ลูกค้า เขาจะต้องรักในการบริการและมีคุณสมบัติอื่นๆประกอบ จึงจะช่วยให้การบริการนั้นสร้างความพอใจให้กลับนักท่องเที่ยวได้ ความสำเร็จหรือความล้มเหลวของผู้ที่เป็นเจ้าบ้านในการให้บริการขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆคือ
                ๑.บุคลิกภาพ  ได้แก่ รูปร่างหน้าตา กิริยาท่าทาง น้ำเสียง การพูดจาความยิ้มแย้มแจ่มใสความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความกระตือรือร้น ความซื่อสัตย์ ความจริงใจ ความเชื่อมั่นในตัวเอง ความรอบรู้ บริษัทใดมีพนักงานที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าบ้านที่ดี และมีบุคลิกภาพดีย่อมได้เปรียบคู่แข่งทั้งหลาย
                ๒.ความรู้  ผู้ที่เป็นเจ้าบ้านต้องมีความรู้ต่างๆเกี่ยวกับสถานที่และสิ่งต่างๆในขอบเขตความรับผิดชอบของตนเอง ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์/สินค้า/บริการ ที่เสนอให้กับลูกค้า ความรู้ที่เกี่ยวกับเทคนิคการขายความรู้เกี่ยวกับตลาดและคู่แข่งขัน ความรู้รายละเอียดและขั้นตอนงาน
                ๓.ทักษะ  ความชำนาญหรือประสบการณ์จะช่วยให้การเป็นเจ้าบ้านมีความเชื่อมั่นสูงขึ้น โดยทักษะจะเกิดขึ้นได้จากการฝึกฝน
                ๔.ทัศนคติ  เจ้าบ้านที่ดีต้องมีทัศนคติที่ดีในการเป็นเจ้าของบ้าน มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความสุขในการทำงาน มองโลกในแง่ดีตระหนักถึงความสำคัญของการบริการ คือ มีความเป็นเจ้าบ้านที่มีจิตใจของการบริการ
                ปัจจัยทั้ง ๔ ประการข้างต้นช่วยทำให้ผู้เป็นเจ้าบ้านประสบความสำเร็จในการปฏิบัติหน้าที่ คือ ถ้ามีคุณสมบัติครบถ้วนย่อมส่งผลให้เป็นเจ้าบ้านที่สร้างความรู้สึกที่ดีแก่ลูกค้า ผลงานเป็นที่น่าพอใจ ตนเองก็จะได้รับความภาคภูมิใจเกิดความสุขและความพอใจ
                นอกเหนือจากสิ่งที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังคาดหวังที่จะได้รับความช่วยเหลือและการบริการที่ดี ดังนั้นเจ้าบ้านที่ดีจึงมีหน้าที่
                ๑. ให้คำแนะนำเกี่ยวกับสินค้า ผลิตภัณฑ์ สถานที่ และอื่นๆ
                ๒. ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวเมื่อเขาต้องการบริการ
                ๓. แก้ไขข้อขัดข้องและความไม่พึงพอใจของนักท่องเที่ยว
                ๔. ช่วยแนะนำและแก้ปัญหาต่างๆให้กับนักท่องเที่ยว
                ๕. ช่วยบอกทิศทางในสถานที่ของเรา

            
   เจ้าบ้านที่ดีต้องมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ปรับปรุงบุคลิกภาพ เตรียมการต้อนรับ เตรียมการเสนอบริการต่างๆรู้จักวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าเลือกใช้คำพูดที่เหมาะสม รู้วิธีขจัดข้อโต้แย้งหรือรับฟังคำบ่นของ นักท่องเที่ยวตลอดจนให้บริการต่างๆเพื่อสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน
คุณสมบัติที่ดีของผู้ให้บริการ
- รักงานบริการและความต้องการที่จะก้าวหน้าในงานบริการที่ทำ
- มีบุคลิกภาพที่ดี และมีสุขภาพที่ดี คือสุขภาพแข็งแรง ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสสดชื่น มีบุคลิกภาพที่ดีและน่าไว้วางใจ น่าเชื่อถือ น่าเข้าใกล้ ทำงานรวดเร็วคล่องแคล่ว การแต่งกายเป็นระเบียบสวยงาม สะอาด เหมาะสมกับลักษณะงาน
- มีจิตใจชอบให้บริการ ชอบส่งเสริมช่วยเหลือผู้อื่น สนใจผู้อื่น ห่วงใยผู้อื่น สุภาพ เป็นมิตร และให้เกียรติผู้อื่น
                - มีความเต็มใจที่ปฏิบัติงานตามที่ นักท่องเที่ยว ร้องขอ อดกลั้นต่อการไม่มีมารยาท การเซ้าซี้ การไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ การเอาแต่ใจตนเอง หรือการเปลี่ยนแปลงไปมาของนักท่องเที่ยว เช่น ขอลัดคิว ชอบของแถม ชอบขอ ลดราคา ผิดนัด เลือกนาน เลือกแล้วไม่ซื้อ หรือซื้อแล้วเปลี่ยนใจ และในกรณีที่ไม่สุดวิสัย ไม่ขัดต่อระเบียบ และไม่ขัดต่อนักท่องเที่ยวรายอื่นเราต้องเชื่อว่าความต้องการของนักท่องเที่ยวนั้นถูกเสมอ
                - รู้ข้อมูลในงานและข่าวสารที่ทันต่อเหตุการณ์มีความรู้ดีเกี่ยวกับงานที่ทำ รู้กว้างและรู้ลึก                 มีความสามารถที่จะให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวหรือให้คำแนะนำนักท่องเที่ยวได้
                - มีนิสัยขยันทำงาน มีความกระตือรือร้น มีความรับผิดชอบมีการตรวจสอบงาน มีสมาธิขณะทำงาน      มีความประณีตในงาน
                - มีความเฉลียวฉลาด มีปฎิภาณไหวพริบ รู้จักสังเกตความต้องการของ นักท่องเที่ยวมีความจำดีรู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า พูดเป็น ฟังเป็น เข้าใจเรื่องราวสามารถยืดหยุ่นการปฏิบัติงานตามความต้องการของนักท่องเที่ยวได้หากบริษัทหรือนักท่องเที่ยวอื่นๆไม่เสียหาย
                - ซื่อสัตย์สุจริตในเรื่องเงินทองเวลานัดหมาย และคำพูดที่ให้กับนักท่องเที่ยว คือ มีความจริงใจ ซื่อสัตย์ ตรงต่อเวลา ไม่โกหกหลอกลวง ไม่เอาเปรียบผู้อื่น รักษาความลับได้ ไม่นินทาผู้อื่น ไม่นินทาสินค้า
                - ทำงานเป็นทีม มีการให้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการบริการ ให้ความช่วยเหลือและให้กำลังใจผู้ร่วมงาน
                - อากัปกิริยาวาจาอ่อนน้อม ต่อนักท่องเที่ยวทุกคนและทุกเวลา
                - ขยันและตั้งใจทำงานให้ดีที่สุดตามความต้องการของลูกค้าทุกครั้งตรวจสอบจำนวนและคุณภาพงานก่อนส่งมอบ ระมัดระวังและถนอมการใช้เอกสารของ นักท่องเที่ยวและส่งมอบคืนเอกสารหรือสิ่งของอุปกรณ์เครื่องใช้ให้กับนักท่องเที่ยวอย่างให้เกียรติและระมัดระวัง
                - รักษาความลับของนักท่องเที่ยว
การวิเคราะห์พฤติกรรมนักท่องเที่ยว
                หลังจากที่ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยวาจาและท่าทางที่เหมาะสมแล้วเจ้าบ้านต้องสามารถเข้าใจนักท่องเที่ยวมีความต้องการอะไร ซึ่งวิธีรับทราบความต้องการของนักท่องเที่ยวแต่ละคนทำได้โดย
- การรับฟัง
- การสอบถามเมื่อไม่แน่ใจ
- การสังเกตและจำในสิ่งที่เคยรับนักท่องเที่ยวและสิ่งที่นักท่องเที่ยวรับบริการมาก่อน
- การใช้หลักเกณฑ์ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์นักท่องเที่ยวมักต้องการสิ่งต่างๆดังนี้
-นักท่องเที่ยว อยากได้ของฟรี ของแถม หรือของราคาถูก โดยได้ของจำนวนมากและคุณภาพดี
-นักท่องเที่ยวอยากได้ของในช่วงที่ตนต้องการหรืออยากได้ลัดคิวก่อนผู้อื่น
-นักท่องเที่ยว ต้องการความสะดวกสบาย ได้นั่งไม่ต้องออกแรง ไม่ต้องกรอกแบบฟอร์ม มีแอร์เย็นๆมีน้ำดื่ม     มีขั้นตอนการขอรับบริการไม่ยุ่งยาก
-นักท่องเที่ยว ต้องการได้รับการให้บริการที่สุภาพ มีไมตรีจิต จริงใจ ได้รับเกียรติ ได้รับความเกรงใจ ความเชื่อถือ ต้องการให้ผู้บริการจำชื่อนักท่องเที่ยวได้ ต้องการผู้ให้บริการจำได้ว่าครั้งที่แล้วเคยมาขอรับการบริการเมื่อใด ยิ่งกว่านั้นต้องการได้รับการต้อนรับที่มีลักษณะดีกว่าหรือไม่ยิ่งหย่อนกว่าผู้อื่น
-นักท่องเที่ยวต้องการได้พบเห็นและได้อยู่ในที่สะอาดสวยงาม เป็นระเบียบและปลอดภัย
- นักท่องเที่ยวต้องการได้รับข้อมูลข่าวสารที่ระเอียดครบถ้วน เข้าใจง่ายและทันเวลา
-นักท่องเที่ยว ต้องการได้ซักถาม ได้แสดงความคิดเห็น ได้แสดงอารมณ์ตามที่ตนต้องการเชื่อว่าความคิดเห็นและความต้องการของตนถูกต้องและเป็นไปได้
                หากความต้องการของนักท่องเที่ยวคนหนึ่งคนใด เจ้าบ้านผู้ให้บริการไม่อาจสนองตอบได้ เพราะสุดวิสัย ขัดต่อกฎระเบียบ หรือทำให้นักท่องเที่ยวคนอื่นไม่พอใจห้ามตำหนิหรือทำสีหน้าไม่พอใจต่อนักท่องเที่ยวคนนั้น ควรกระทำโดยบอกข้อมูลหรือเหตุผลอย่างสุภาพ ด้วยใบหน้าที่มีไมตรีจิต และอาจเพิ่มเติมว่าจะพยายามให้บริการที่ดีที่สุดเท่าทีจะทำได้ให้กับนักท่องเที่ยวผู้นั้น แต่หากเกินความสามารถหรือขอบเขตความรับผิดชอบของตน ให้ขอร้องหัวหน้าหรือผู้บริหารเป็นผู้ชี้แจงและจัดการปัญหาให้กับนักท่องเที่ยวแทน

ภาษาและคำพูดที่ควรใช้
ความสำเร็จหรือล้มเหลวในการบริการของผู้ที่เป็นเจ้าบ้านขึ้นอยู่กับถ้อยคำและกิริยาที่แสดงต่อนักท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นการอธิบาย การให้รายละเอียด หรือการให้คำแนะนำต่างๆ
นักท่องเที่ยวมาจากที่ต่างๆกันมีความแตกต่างกันไปตามสิ่งต่างๆ เช่นภูมิหลัง อายุ การศึกษา ฐานะ ตำแหน่งหน้าที่ในสังคม อารมณ์ ครอบครัว วิถีชีวิต เป็นต้น เจ้าบ้านมีหน้าที่ที่จะให้บริการและสร้างความพอใจให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาขอคำแนะนำหรือใช้บริการในสถานที่ด้วยความระมัดระวัง ความจริงใจและความซื่อสัตย์ ระมัดระวังคือระมัดระวังในการใช้คำพูด รู้ว่าอะไรควรพูดอะไรไม่ควรพูด รู้ว่าควรใช้คำพูดอย่างไรที่จะทำให้นักท่องเที่ยวที่รู้สึกว่าเขาได้รับการยกย่อง ไม่ใช้คำพูดหรือกิริยาดูถูกนักท่องเที่ยว
ในด้านของผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าบ้านด้วยกันต้องระมัดระวังการพูดจาสนทนาระหว่างกัน ระมัดระวังคะพูดที่หยาบคาย ไม่สุภาพ คำพูดที่สามารถสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีต่อนักท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการลดค่าของบุคคลและชื่อเสียงของสถานที่ เพราะชื่อเสียงของบริษัท เราไม่ได้วัดกันที่ขนาด แต่ชื่อเสียงที่ดีได้มาจากการวัดที่ความรู้สึกของนักท่องเที่ยว ดังนั้น ผู้ที่เป็นเจ้าบ้านจะต้องระมัดระวังไว้เสมอในการใช้กิริยาท่าทางและคำพูดกับนักท่องเที่ยวและระหว่างผู้เป็นเจ้าของสถานที่ด้วยกันเอง

การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ
                จากผลการศึกษาวิจัยของผู้เชี่ยวชาญพบว่า ผู้คนทั่วไปสื่อสารโดยอาศัยภาษาท่าทาง๕๕%การแสดงออกทางสีหน้า๓๓%และอาศัยคำพูดเพียง๗%ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าสื่อสารไม่ได้มีความหมายเฉพาะเพียงแค่การสนทนา หรือ การสื่อสารด้วยวาจาเท่านั้น
                ในการสื่อสารกับลูกค้า ภาษาท่าทางและการแสดงออกทางสีหน้าเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความภูมิใจให้กับลูกค้าซึ่งการแสดงออกที่อบอุ่นและจริงใจจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ช่วยให้ลูกค้ารู้สึกคุ้นเคยและเกิดความไว้วางใจ อันจะนำไปสู่ความประทับใจในบริการที่จะได้รับ
                สร้างความประทับใจยามแรกพบ
                มีผู้กล่าวว่า ความประทับใจเกิดขึ้นได้ภายใน๖วินาทีแรกที่พบกัน ซึ่งโดยมากความประทับใจแรกพบจะเกิดจากการสื่อสารด้วยภาษาท่าทางและการแสดงออกทางสีหน้าที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งที่เราอาจทราบว่าความประทับใจของนักท่องเที่ยว ที่มีต่อเรานั้นเกิดขึ้นจากจุดใด แต่เราก็ต้องพยายามต้อนรับด้วยความเป็นมิตร อบอุ่น และจริงใจ
                เป็นที่กล่าวกันว่าความประทับใจเมื่อแรกพบคือความประทับใจที่จะคงอยู่ไปอีกนาน ดังนั้นหากภาพความประทับใจแรกพบที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยว ที่มีต่อตัวเราไม่ดีแม้เพียงเล็กน้อย ก็เป็นเรื่องยากที่ต้องใช้ทั้งเวลาและความอดทนที่จะเปลี่ยนแปลงความรู้สึกเหล่านั้นให้ดีขึ้น
                การสร้างความประทับใจที่ดีตั้งแต่แรกพบมีความสำคัญมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่องานบริการ ฉะนั้นเราจึงควรสร้างความรู้สึกที่ดีตั้งแต่วินาทีแรกพบกับนักท่องเที่ยว
                ภาษาตาและรอยยิ้ม
                รอยยิ้ม คือส่วนหนึ่งของการบริการที่ดีเลิศสำหรับลูกค้าทุกเพศทุกวัย การประเมินคุณภาพของการบริการที่ได้รับนั้นนักท่องเที่ยวไม่ได้คำนึงถึงเฉพาะสิ่งที่เป็นรูปธรรมอย่างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆของสถานที่เท่านั้น แต่สิ่งที่เป็นนามธรรมได้แก่ ?ความรู้สึกดีๆ ที่ได้ความสุภาพอ่อนโยนของผู้ให้บริการ โดยเฉพาะรอยยิ้ม ก็มีความสำคัญไม่น้อย อย่างไรก็ตาม เราจำเป็นต้องคำนึงถึงกาลเทศะ เช่น ไม่ควรยิ้มขณะกล่าวขอโทษ เป็นต้น
                ในการยิ้มเราต้องยิ้มอย่างจริงใจ เพราะการยิ้มอย่างจริงใจจะสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับผู้ที่พบเห็น ต่างกับรอยยิ้มที่จงใจให้ดูสวยหรือแสร้งทำ และประเด็นที่สำคัญสำหรับการเป็นเจ้าบ้านคือการฝึกควบคุมอารมณ์เพื่อสามารถให้บริการแก่ลูกค้าด้วยรอยยิ้มที่เป็นธรรมชาติได้
                นอกจากรอยยิ้มแล้ว ภาษาตา เป็นสิ่งแรกที่จะช่วยให้เกิดการสื่อสารระหว่างบุคคล หากปราศจากภาษาตาแล้ว การสื่อสารที่ดีก็จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้นเราต้องไม่ละเลยความสำคัญในการใช้ภาษาตา
                เราสามารถส่งความรู้สึกทั้งที่ดีและไม่ดีไปสู้ผู้อื่นได้ด้วยภาษาตา สายตาที่อ่อนโยนจะสร้างความไว้วางใจและความพึงพอใจให้กับผู้รับบริการได้ ขณะที่สื่อสารกับนักท่องเที่ยว เจ้าบ้านควรใช้สายตาที่แสดงความอ่อนโยนกับนักท่องเที่ยวเป็นระยะๆเพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าสามารถขอใช้บริการได้โยสะดวก
                เมื่อเจ้าบ้านให้บริการด้วยรอยยิ้มและสบสายตาอย่างอ่อนโยน นั้นจะช่วยให้ลูกค้ารู้สึกผ่อนคลายและเกิดทัศนคติที่ดี ระลึกไว้เสมอรอยยิ้มและดวงตาคือกุญแจดอกสำคัญที่ไขสู่ประตูใจ
 
วิธีปฏิบัติในการให้การให้บริการที่เป็นเลิศ
๑. จัดเตรียมสถานที่ จัดเตรียมสถานที่ให้สะอาดเป็นระเบียบสวยงามสะดวกสบายและปลอดภัย จัดวางเอกสาร จัดวางอุปกรณ์เครื่องใช้ในที่ที่หยิบใช้ง่าย ไม่กรีดขวาง หรือสร้างอุบัติเหตุ มีจำนวนเพียงพอ และจัดวางเป็นระเบียบมีที่ประจำก่อนที่นักท่องเที่ยวจะเข้ามาติดต่อหรือในช่วงเวลาที่เหมาะสม
๒. จัดเตรียมตนเอง เตรียมตนเองให้พร้อมทั้งในเรื่องสุขภาพ เครื่องแต่งกาย บุคลิกภาพ ความสะอาด อารมณ์ดี และว่างจากงานไม่สำคัญ
๓. เริ่มงานตรงเวลา เริ่มการปฏิบัติงานให้ตรงเวลา หรือเมื่อนักท่องเที่ยวสำคัญมารออยู่แล้วก็สามารถเริ่มงานก่อนเวลาได้ พักการทำงานหรือเลิกงานตรงเวลาแต่ถ้าเป็นนักท่องเที่ยวที่สำคัญหรือทำงานสำคัญของนักท่องเที่ยว อยู่ อาจพักงานหรือเลิกงานกลังจากที่งานเสร็จเรียบร้อยแล้ว
๔. แสดงอาการกิริยายินดีเมื่อพบนักท่องเที่ยวหรือผู้ติดต่อ อาจสบตา ยิ้มให้ ไหว โค้ง หรือทักทาย ฟังอย่างสนใจและอย่างเข้าใจความต้องการของนักท่องเที่ยว หรือสอบถามว่าจะให้ช่วยบริการใดๆให้ หรือถามย้ำว่าต้องการอย่างที่เคยได้รับแบบเดิมไม่ ทั้งนี้ควรสร้างบรรยากาศด้วยการยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ควรสร้างบรรยากาศที่เฉยเมย ตำหนิ ดูหมิ่น หรือโกรธเคือง เมื่อเข้าใจแล้วอาจพูดทวนย้ำสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการกับอีกครั้ง เพื่อเป็นการตรวจสอบความถูกต้อง
๕. หากนักท่องเที่ยวไม่แน่ใจว่าจะขอรับบริการอะไร ในปริมาณและคุณภาพมากน้อยเท่าใด ควรให้ข้อมูลลูกค้าอย่างเหมาะสม อาจช่วยจำแนกข้อดีของสินค้าแต่ละชนิดเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าใจง่ายและตัดสินใจง่าย ทั้งนี้ต้องไม่เป็นฝ่ายตัดสินใจแทนนักท่องเที่ยว ถ้าไม่ร้องขอ
๖. ให้ความสะดวกต่อนักท่องเที่ยว เช่น ช่วยกรอกแบบฟอร์ม ให้ยืมอุปกรณ์เครื่องเขียน อำนวยความสะดวกสบายแก่นักท่องเที่ยวขณะพักรอ เช่นจัดหาน้ำดื่ม หนังสือพิมพ์ อธิบายทางไปห้องน้ำหรือโรงอาหาร เปิดเพลงให้ฟัง
๗. รีบปฏิบัติงานตามที่นักท่องเที่ยวต้องการอย่างมีคุณภาพ จำนวนครบถ้วนเสร็จรวดเร็ว และประหยัดวัสดุสูญเสีย ระหว่างปฏิบัติงานไม่ควรชวนคุยแต่ควรทำงานอย่างมีสมาธิ ถ้านักท่องเที่ยวชวนคุยก่อนก็ควรจะหันมาคุยกับนักท่องเที่ยวบ้างแล้วขอตัวทำงานอย่างมีสมาธิต่อไป
๘. ระหว่างปฏิบัติงาน หากนักท่องเที่ยวต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ขอรับบริการใหม่ และหากการเปลี่ยนแปลงนั้นอยู่ในเหตุผลดังนี้ คือ
 (๑) อยู่ในวิสัยที่จะทำได้
 (๒) ไม่ผิดกฎหมาย และ
(๓) ไม่มีผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวอื่นๆอื่น ก็ยินดีรับการเปลี่ยนแปลงตามที่ต้องการ ไม่ทำหน้าตาเหนื่อยอ่อนหรือเบื่อหน่ายให้นักท่องเที่ยวเห็นแต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงตามที่ลูกค้าต้องการไม่อยู่ในเหตุผลสามประการข้างต้นก็ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงให้นักท่องเที่ยวทราบด้วยเจตนาดี และยินดีปรับปรุงสิ่งที่นักท่องเที่ยวขอรับบริการให้ใกล้เคียงกับความต้องการของเขาให้มากที่สุด


คุณสมบัติเบื้องต้นของนักพูดที่ดี

นักพูดที่ดีจำต้องปรับปรุงพื้นฐานของตนให้มีคุณสมบัติที่สำคัญเบื้องต้น ๕ ประการดังนี้
๑) เป็นนักฟังที่ดี นักพูดไม่ใช่ฝึกพูดอย่างเดียว ต้องฝึกฟังด้วย ต้องรู้ว่า เมื่อไรควรพูดเมื่อไรควรฟัง การฟังผู้อื่นทำให้เราได้รับความรู้เพิ่มขึ้น หรืออย่างน้อยก็ได้ทบทวนความรู้เดิมที่เรามีอยู่แล้ว ข้อสำคัญถ้าเลือกฟังในสิ่งที่มีประโยชน์ก็จะทำให้เพิ่มคุณค่าให้แก่ตัวเองมากขึ้น
๒) ศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ นักพูดต้องศึกษาหาความรู้ไม่หยุดยั้ง ความรู้ที่ว่านี้นอกจากจะได้จากการฟังแล้วความรู้ที่ได้จากการอ่านสำคัญที่สุด การอ่านเป็นวิธีตักตวงความรู้ที่รวดเร็วและรวบรัดที่สุด นักพูดต้องรักการอ่านให้มากจะเป็นประโยชน์แก่การพูด การพูดก็จะวนเวียนอยู่ที่เดิมไม่ไปไหน พอพูดซ้ำมากๆ เข้าก็จะเกิดความเบื่อตัวเอง เมื่อผู้พูดเบื่อตัวเองก็จะไม่มีผู้ฟังคนไหนอยากฟัง
๓) ยอมรับฟังคำวิจารณ์ นักพูดต้องยอมรับฟังวิพากษ์วิจารณ์จากผู้อื่นต้องต้อนรับทั้งคำติและชม น้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้น นำมาปรับปรุงแก้ไขตัวเอง
๔) เป็นตัวของตัวเอง นักพูดที่ดีต้องเป็นตัวของตัวเอง อย่าเลียนแบบใคร งานเลียนแบบเป็นงานที่ไร้เกียรติไม่สร้างสรรค์ และไม่ทำความภูมิใจให้แก่ตัวเอง ถ้ามีบุคคลใดเป็นตัวอย่างในการพูดที่ดี ขอให้จดจำนำเอาบางสิ่งบางอย่างของเขามาลองปฏิบัติดู อย่าเลียนแบบเขาทั้งหมด จงเป็นตัวของตัวเอง ได้ของดีจากใครได้ความรู้ข้อคิดดีๆจากใคร ถ้าทำได้ควรเอ่ยนามเขาให้ปรากฏ นอกจากจะได้แสดงมารยาทอันงดงามแล้ว ยังสามารถถ่ายทอดสิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้อย่างเต็มปากเต็มคำไม่เคอะเขินอีกด้วย
๕) มีความสุขในการถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่น นักพูดต้องมีความสุขและความพอใจที่จะถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ฟัง และถ่ายทอดให้จบสิ้นตามที่ผู้ฟังกำหนด นอกเสียจากเวลาหรือเงื่อนไขอื่นบังคับ เมื่อหมดแล้วก็แสวงหาสิ่งใหม่ทุกครั้งที่มีโอกาสพูดขอให้ถือว่าเป็นโอกาสดีที่เราจะได้ทำประโยชน์เป็นเกียรติยศที่ผู้ฟังหยิบยื่นให้แก่เรา ซึ่งจะทำให้มีความมุ่งมั่น ความกล้าที่จะทุ่มเทให้กับการพูดทุกครั้ง ขอให้จำง่าย ๆ ว่า " เป็นนักฟัง ยังศึกษา ท้าวิจารณ์ งานริเริ่ม เติมความสุข "

หลักการเลือกเรื่องที่จะพูด
ในการที่จะพูดที่ใดก็ตาม ผู้พูดควรคำนึงถึงเรื่องที่จะไปพูด ถ้าเป็นเรื่องที่ผู้พูดถนัดหรือมีความสนใจ      ก็จะทำให้ผู้พูดพูดได้ดี และถ้าเรื่องเดียวกันนั้นเป็นที่น่าสนใจของผู้ฟังด้วยผู้ฟังก็จะให้ความสนใจติดตามฟัง ผู้พูดก็ประสบความสำเร็จในการพูด ฉะนั้นถ้าผู้พูดเลือกเรื่องที่ตนถนัดก็จะพูดได้ดีนอกจากผู้พูดจะพิจารณาเลือกเรื่องที่ทั้งผู้พูดและผู้ฟังสนใจแล้วผู้พูดควรเลือกเรื่องที่จะให้ประโยชน์และความรู้แก่ผู้ฟัง เพราะตามหลักจิตวิทยานั้น คนเราชอบฟังเรื่องที่ตนจะได้รับผลประโยชน์ นอกจากนี้แล้วคนเรายังสนใจเรื่องที่เป็นแก่นสารของชีวิต เรื่องที่กำลังเป็นข่าว เรื่องที่ช่วยขจัดปัญหาของผู้ฟัง เรื่องที่เกี่ยวกับความบันเทิงและงานอดิเรก
๑. พูดเรื่องที่เรารู้ดี ที่สุด
๒. เตรียมตัวให้พร้อม ความ พร้อมทำให้ไม่ประหม่า หรือ ถ้าเคยประหม่ามากก็จะประหม่าน้อยลง
๓. สร้าง ความเชื่อมั่นให้กับตนเอง บอกกับตัวเองว่า "เรื่อง นี้ หัว ข้อนี้ สำหรับที่นี่ ฉัน รู้ดีที่สุด" แล้วพูดไปเลย
๔. ถ้าทำทั้งสามข้อแล้วยังไม่หายประหม่า มีข้อแนะนำคือ สูดลมหายใจลึก ๆ หรือดื่มน้ำสักแก้วบอกตัวเองในใจว่า "วันนี้ สู้ตาย" อย่าบอกว่า "วันนี้ ต้องตายแน่ ๆ" รวบรวมสติและกำลังใจ พูด เสียงดังตั้งแต่คำแรก หรือ ประโยคแรก แล้ว ทุกอย่างจะดีขึ้น
๕. แต่ง กายให้สะอาด เรียบร้อย เหมาะ สม
๖. ปรากฏกายอย่างกระตือรือร้น ทำ ตนให้สดชื่น กระปรี้กระเปร่า แสดง ถึงความพร้อม ความ เต็มใจที่จะพูดนอก จากจะทำให้คนฟังรู้สึกอยากฟังแล้ว ยังช่วยโน้มนำจิตใจ ของเราให้อยากพูด อยาก แสดงออกมาอีกด้วย
๗. ใช้ กริยาท่าทางประกอบการพูดไปด้วย อย่ายืนนิ่ง ๆ และ อย่าให้มือเกะกะวุ่นวาย ใช้ให้พอเหมาะและตรง กับเรื่องที่พุด กริยาท่าทางต้องใช้ เสริมการพุด ไม่ใช่ขัดขวางหรือ ทำลายความสนใจในการพูด "จง พูดจากความรู้สึกที่จริงใจ แล้วท่าทาง มือ ไม้ของท่านจะเป็นไปเองตามธรรมชาติ"
๘. พยายาม สบสายตากับผู้ฟัง การสบสายตาเป็นวิธี หนึ่งที่จะดึงความสนใจของผู้ฟัง ถ้าเรามองหน้าผู้ฟัง ผู้ ฟังก็จะมองเรา เวลาพูดอย่าหลบตาผู้ ฟัง อย่า มองพื้น มอง เพดาน มอง ต้นฉบับ หรือ มองข้ามผู้ฟังออกไปข้างนอก เมื่อใดการสื่อสารทาง สายตาขาดหายไป การสื่อสารทางจิตใจก็ ขาดลง
๙. ใช้น้ำเสียงให้เป็นไป ตามธรรมชาติ คือ พูด ให้เหมือนกับการคุยกัน อย่าดัดเสียงให้ผิดไป จากธรรมชาติ เสียงของนักพูดที่ดี มิได้หมายความว่า ต้องหวาน กังวานไพเราะเหมือนเสียงนักร้อง แต่ หมายความว่าต้องเป็นเสียงที่ออกมาจากความรู้สึกที่จริงใจ เต็ม ไปด้วยพลัง มีชีวิตชีวา สามารถตรึงผู้พูดเอาไว้ได้ "ธรรมชาติ ของเสียงเราปรับปรุงไม่ได้ แต่บุคลิกภาพของเสียง สามารถปรับปรุงได้" ดังนี้
พูดให้เสียงดังฟังชัด จังหวะ การพูดอย่าให้ช้าหรือเร็วเกินไป จังหวะการพูดอย่าให้ช้าเกินไป จะทำให้น่าเบื่อ และอย่ารัวหรือเร็วเกินไป จะทำให้ฟังไม่ทัน พูดให้ได้จังหวะพอดีอย่าพูดเอ้อ - อ้า ทำ ให้เสียเวลา เสีย รสชาติของการพูด ทำให้ผู้ฟังรำคาญ "เอ้อ..เสีย เวลา อ้า?เสีย คน" อย่าพูดเหมือนอ่าน หนังสือ หรือ ท่องจำ ใส่ความกระตือรือร้นลงไปในน้ำเสียง ใส่ อารมณ์ ความรู้สึก อย่า พูดราบเรียบ ขณะพูด ใช้ เสียงหนัก - เบา ใช้ เสียงสูง - ต่ำ มีการเว้นจังหวะการพูด การทอดเสียง การ เว้นจังหวะ การรัวจังหวะการพูด การ หยุดหายใจเล็กน้อยก่อนหรือหลังคำพูดที่สำคัญ ๆ
๑๐. การพูดที่ดีต้องมีการยกตัวอย่างประกอบเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น พยายาม หาเรื่องสนุกสนานมาสอดแทรก แต่อย่าให้ตลกโปกฮา เสียจนขาดเนื้อหาสาระ ให้มีลักษณะ "ฟัง สนุก และ มีสาระ"

รู้จักตำบลแม่ลาด
เหตุที่เรียกว่า  ตำบลแม่ลาดเนื่องมาจากว่าพื้นที่ในตำบลแม่ลาด เป็นพื้นที่ลาดต่ำ ในฤดูน้ำหลาก น้ำจากอำเภอคลองลานจะไหลผ่านตำบลวังไทร อำเภอคลองขลุง และจะไหลหลาก มาที่ตำบลแม่ลาดเป็นประจำทุกปี แต่ไม่มีน้ำท่วมขังเพราะตำบลแม่ลาดติดกับแม่น้ำปิง  ตำบลแม่ลาด จัดตั้งเป็นตำบลขึ้นเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๔ โดยมีเขตการปกครองรวม ๖ หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ ๑ โอนมาจากหมู่ที่ ๑ ตำบลวังยาง ,หมู่ที่ ๒ โอนมาจากหมู่ที่ ๑ ตำบลวังแขม ,หมู่ที่ ๓ โอนมาจากหมู่ที่ ๒ ตำบลวังแขม , หมู่ที่ ๔ โอนมาจากหมู่ที่ ๓ ตำบลวังแขม ,หมู่ที่ ๕ โอนมาจากหมู่ที่ ๔ ตำบลวังแขม และหมู่ที่ ๖ โอนมาจากหมู่ที่ ๑๓ ตำบลวังแขม ตำบลแม่ลาด  ประกอบไปด้วยหมู่บ้านจำนวนหมู่บ้าน ๖ หมู่บ้าน ดังนี้

หมู่ที่ ๑ บ้านใหม่สุขสมบูรณ์ มีพื้นที่
บ้านใหม่สุขสมบูรณ์ ตั้งอยู่พื้นที่หมู่ที่ ๑ ตำบลแม่ลาด อำเภอคลองขลุง ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕มีพื้นที่ทั้งหมด ๓,๙๑๖ ไร่ ประชากรที่อาศัยอยู่ อพยพมาจากบ้านวังยาง บ้านวังแขม บ้านคลองขลุง สาเหตุที่เรียกว่า “บ้านใหม่สุขสมบูรณ์” เนื่องจากชาวบ้านที่อพยพมาอยู่ ย้ายมาจากหมู่บ้านต่าง ๆ จึงเรียกที่มาอยู่แห่งใหม่ ว่าบ้านใหม่ และเห็นว่าพื้นที่ของหมู่บ้านมีน้ำอุดมสมบูรณ์ จึงได้เพิ่มชื่อหมู่บ้านให้มีความไพเราะยิ่งขึ้นว่า “บ้านใหม่สุขสมบูรณ์” ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ผู้ใหญ่บ้าน/กำนัน อดีตถึงปัจจุบันมีดังนี้ นายย้วน คมสัน, นายคง สัตตบุษย์, นายเอิบ บุญรอด และนายโกมล มาจาด ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร คือภาษาไทยกลาง สถานที่สำคัญ ๆ ของหมู่บ้าน คือ วัดคงคาราม เป็นวัดประจำหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านที่อพยพมาอยู่ ได้ร่วมกันจัดสร้างขึ้น เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และจัดงานประเพณีต่าง ๆ ประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญ ได้แก่ การทำบุญวันขึ้นปีใหม่ , ทำบุญวันสงกรานต์, ประเพณีสรงน้ำพระ, ทำบุญวันเข้าพรรษา, ทำบุญวันออกพรรษา และประเพณีลอยกระทง
บ้านใหม่สุขสมบูรณ์มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ ทิศเหนือจดหมู่ที่ ๓ บ้านท้องคุ้ง ตำบลคลองขลุง และแม่น้ำปิง ทิศใต้จดหมู่ที่ ๒ บ้านแม่ลาดใหญ่ ตำบลแม่ลาด ทิศตะวันออกจดหมู่ที่ ๕ บ้านเกาะแตง ตำบลแม่ลาด
ทิศตะวันตกจดหมู่ที่ ๑ บ้านถนนงาม ตำบลคลองขลุง อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร

หมู่ที่ ๒ บ้านแม่ลาดใหญ่ ตั้งอยู่บนพื้นที่หมู่ที่ ๒ ตำบลแม่ลาด อำเภอคลองขลุง ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๐มีพื้นที่ทั้งหมด ๖,๘๑๕ ไร่ สาเหตุที่เรียกว่า “บ้านแม่ลาดใหญ่” เพราะสมัยปู่ย่า ตายาย เล่ากันว่าที่หมู่บ้านเป็นพื้นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ ในฤดูฝน น้ำจะท่วมทุกปี และมีแอ่งน้ำ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “วังแม่ลาด” ชาวบ้านจึงได้นำมาเรียกเป็นชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านแม่ลาดใหญ่” ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ส่วนใหญ่อพยพมาจากบ้านโนนม่วง อำเภอวัดสิงห์, บ้านท่าแก้ว อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท, บ้านหนองตาสาม อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดนครปฐม ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา และเลี้ยงหมูสถานที่สำคัญ ๆ ของหมู่บ้านคือ โรงเรียนบ้านแม่ลาดใหญ่, วัดแม่ลาดใหญ่ ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ผู้ใหญ่บ้าน/กำนันตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คือ นายแพง ใจแสน, นายยัง พิมสอน, นายเสน่ห์ นิลาวัลย์, นายฝ้าย แก้วบัวดี, นายสนอง พิมสอน, นายทองสุข ขุนศรีสุขขา และนายเฮียง ใจแสน ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร คือภาษาไทยกลาง ประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญ ๆ ได้แก่ การทำบุญวันขึ้นปีใหม่, ทำบุญวันสงกรานต์, ประเพณีสรงน้ำพระ, ก่อพระเจดีย์ทราย การแห่ดอกไม้ ช่วงเย็นทุกวันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ และประเพณียกธง, ทำบุญวันเข้าพรรษา, ทำบุญวันออกพรรษา และทำบุญกลางบ้านในช่วงเดือน ๖ ของทุกปี โดยโยงสายสิญจน์รอบหมู่บ้าน
บ้านแม่ลาดใหญ่ มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ ทิศเหนือจดหมู่ที่ ๑ บ้านใหม่สุขสมบูรณ์ ตำบลแม่ลาด ทิศใต้จดหมู่ที่ ๖ บ้านห้วยน้อย ตำบลแม่ลาด ทิศตะวันออกจดหมู่ที่ ๔ บ้านท่ามะขาม และหมู่ที่ ๕ บ้านเกาะแตง ตำบลแม่ลาด ทิศตะวันตกจดหมู่ที่ ๑๓ บ้านหนองตาเถร ตำบลคลองขลุง อำเภอคลองขลุง จังหวัด
กำแพงเพชร
หมู่ที่ ๓ บ้านแม่ลาดน้อย
บ้านแม่ลาดน้อย ตั้งอยู่บนพื้นที่หมู่ที่ ๓ ตำบลแม่ลาด อำเภอคลองขลุง ตั้งขึ้นเมื่อ ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๐๐ มีพื้นที่ ๒,๐๗๐ ไร่ สาเหตุที่เรียกว่า “บ้านแม่ลาดน้อย” เพราะหมู่บ้านเดิมตั้งอยู่บริเวณบนเนื้อที่น้ำไหล ติดแม่น้ำปิง ปลายคลองแม่ลาดไหลลงสู่แม่น้ำปิง ซึ่งมีแอ่งน้ำเล็กเรียกว่า “วังแม่ลาด” เมื่อสมัยก่อนเวลาหน้าฝนจะเกิดน้ำท่วม และน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำปิง ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “น้ำหลาก” ต่อมาเพี้ยนไปเป็น “แม่น้ำลาด” นานเข้าก็เปลี่ยนเป็นแม่ลาดน้อย และได้นำมาตั้งชื่อหมู่บ้าน “บ้านแม่ลาดน้อย” จนถึงปัจจุบัน ประชากรที่อาศัยอยู่อพยพมาจากจังหวัดอยุธยา จังหวัดนครสวรรค์ ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร คือภาษาไทยกลาง และเนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำอุดมสมบูรณ์ เหมาะสำหรับการทำการเกษตร บ้านแม่ลาดน้อยจึงมีอัตลักษณ์ว่า “หมู่บ้านเกษตรกรรมธรรมชาติ” กำนันและผู้ใหญ่บ้านอดีตถึงปัจจุบัน คือ นายคง เสือกล้า, นายไหม เฮียะหลง, นายปอย สุดเขียว, นายไวยวุฒิ เถื่อนดำ และนางละมัย สุ่มกัน สถานที่สำคัญ ๆ ของหมู่บ้าน คือ วัดพรหมประดิษฐ์ เป็นวัดทางประวัติศาสตร์ของหมู่บ้าน กล่าวคือ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสต้น และมีโรงเรียนอยู่ในบริเวณวัด ประเพณีที่สำคัญ ๆ ของหมู่บ้าน ได้แก่ ทำบุญในวันปีใหม่, ทำบุญวันสงกรานต์, ประเพณีสรงน้ำพระ, ทำบุญวันเข้าพรรษา-ออกพรรษา และประเพณีลอยกระทง เป็นต้น
บ้านแม่ลาดน้อย มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ทิศเหนือจดหมู่ที่ ๔ บ้านท่ามะขาม ตำบลแม่ลาด ทิศใต้จดหมู่ที่ ๑ บ้านโรงสูบ ตำบลเกาะตาล อำเภอขาณุวรลักษบุรี ทิศตะวันออกจดแม่น้ำปิง และทิศตะวันตกจดหมู่ที่ ๖ บ้านห้วยน้อย ตำบลแม่ลาด อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร
หมู่ที่ ๔ บ้านท่ามะขาม
บ้านท่ามะขาม หมู่ที่ ๔ ตำบลแม่ลาด อำเภอคลองขลุง ตั้งขึ้นเมื่อ : ปี พ.ศ. ๒๕๒๑
ประชากรที่อาศัยอยู่เป็นคนพื้นบ้านทั้งหมดไม่ได้อพยพมาจากที่ไหน เหตุที่เรียกว่า “บ้านท่ามะขาม” เพราะสมัยก่อนมีต้นมะขามขึ้นอยู่ริมตลิ่งบริเวณท่าน้ำ(ริมน้ำใช้สำหรับขึ้น-ลง) ชาวบ้านจึงเรียกว่า “บ้านท่ามะขาม” สถานที่สำคัญ ๆ ของหมู่บ้าน คือศาลเจ้าพ่อเสือ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของคนในหมู่บ้าน เนื่องจากหมู่บ้านยังเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ จึงไม่มีวัดและโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน/กำนันอดีตถึงปัจจุบัน คือ นายหม้ง แจ้งสว่าง, นายไร หงส์ทอง, นายบุญลือ หมื่นจันทร์, นายจอม แก้วจันทร์, นายสนาม นาคนาม, นายสนิท มณีพราย, นายสนอง มณีพราย, นายสนิท มณีพราย และนายมนัส มณีพราย ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร คือภาษาไทยกลาง ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และประกอบอาชีพเกษตรกรรม ประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญ ๆ ได้แก่ การบุญวันขึ้นปีใหม่, ทำบุญวันสงกรานต์, ประเพณีสรงน้ำพระ, ทำบุญวันเข้าพรรษา, ประเพณีลอยกระทง และทำบุญวันออกพรรษา
บ้านท่ามะขาม มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ ทิศเหนือจดหมู่ที่ ๕ บ้านเกาะแตง ตำบลแม่ลาด ทิศใต้จดหมู่ที่ ๓ บ้านแม่ลาดน้อย ตำบลแม่ลาด ทิศตะวันออกจดแม่น้ำปิง ทิศตะวันตกจดหมู่ที่ ๒ บ้านแม่ลาดใหญ่ และหมู่ที่ ๖ บ้านห้วยน้อย ตำบลแม่ลาด อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร
หมู่ที่ ๕ บ้านเกาะแตง
บ้านเกาะแตง ตั้งอยู่บนพื้นที่หมู่ที่ ๕ ตำบลแม่ลาด อำเภอคลองขลุง มีพื้นที่ทั้งหมด ๓,๓๑๒ ไร่ เดิมเป็นพื้นที่เดียวกับหมู่ ๔ บ้านบึงลาด ตำบลวังแขม และเป็นพื้นที่ติดริมแม่น้ำปิง และมีเกาะกลางลำน้ำปิง มีเนื้อที่ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้แยกมาขึ้นอยู่กับองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลาด เพื่อความเหมาะสมในการบริหารจัดการของภาครัฐ เหตุที่เรียกว่า บ้านเกาะแตง เพราะเดิมประชากรในพื้นที่ได้เข้าไปปลูกแตงที่เกาะจำนวนมาก จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านตามลักษณะพื้นที่ที่ไม่เหมือนหมู่บ้านอื่น คือมีเกาะกลางแม่น้ำ ที่มีชาวบ้านไปปลูกต้นแตงจำนวนมากว่า “บ้านเกาะแตง” ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ผู้ใหญ่บ้าน / กำนันอดีตถึงปัจจุบัน คือ นายเยื้อง นาคนาม, นายประจิม ฤทธิ์นุช, นายประจิน นามัย, นายหาญ ประเสริฐดี ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร คือ ภาษาไทยกลาง สถานที่สำคัญ ๆ ของหมู่บ้าน คือ หมู่บ้านโฮมสเตย์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีความเป็นเอกลักษณ์เป็นธรรมชาติ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของหมู่บ้าน วัดและโรงเรียนในหมู่บ้านยังไม่มี ชาวบ้านนิยมไปทำบุญและร่วมกิจกรรมประเพณีกันที่วัดจันทาราม ตำบลวังแขม และวัดพรหมประดิษฐ์ ประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญๆ ได้แก่ การทำบุญวันขึ้นปีใหม่, ทำบุญวันสงกรานต์, ประเพณีสรงน้ำพระ, ทำบุญวันเข้าพรรษา, ประเพณีลอยกระทง และวันออกพรรษา
บ้านเกาะแตง มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ ทิศเหนือจดหมู่ที่ ๑ บ้านใหม่สุขสมบูรณ์ ตำบลแม่ลาด ทิศใต้จดหมู่ที่ ๔ บ้านท่ามะขาม ตำบลแม่ลาด ทิศตะวันออกจดแม่น้ำปิง ตำบลแม่ลาด ทิศตะวันตกจดหมู่ที่ ๒ บ้านแม่ลาดใหญ่ ตำบลแม่ลาด อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร
หมู่ที่ ๖ บ้านห้วยน้อย มีพื้นที่
บ้านห้วยน้อย ตั้งอยู่พื้นที่หมู่ที่ ๖ ตำบลแม่ลาด อำเภอคลองขลุง ตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ประชากรที่อาศัยอยู่อพยพมาจากจังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครปฐม และจังหวัดราชบุรี เหตุที่เรียกว่า”บ้านห้วยน้อย” เพราะเมื่อสมัยก่อนประชาชนที่อพยพมาโดยใช้เกวียนเป็นพาหนะแผ้วถ่างป่าซึ่งเป็นป่าทึบจับจองที่ดินเป็นของตนเอง พบลำห้วยอยู่ด้านหลังหมู่บ้าน มีขนาดเล็กจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านห้วยน้อย ผู้ใหญ่บ้าน/กำนันตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คือ นายกิ่ง ธรรมรงค์ นายเขียน สามงามยา นายสุนันต์ สามงามยา และนายวันชัย สระสรีโสม ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร คือ ภาษาลาวคั่ง ไทยทรงดำ ภาษาไทยกลาง ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญ ๆ ได้แก่ การทำบุญวันขึ้นปีใหม่, ทำบุญวันสงกรานต์, ประเพณีสรงน้ำพระ, ทำบุญเข้าพรรษา, ออกพรรษา
บ้านห้วยน้อย มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้ ทิศเหนือจดหมู่ที่ ๒ บ้านแม่ลาดใหญ่ ตำบลแม่ลาด อำเภอคลองขลุง ทิศใต้จดหมู่ที่ บ้านคลองน้ำเย็นใต้ บ้านท่าดินแดน ตำบลโค้งไผ่ และบ้านโรงสูบ ตำบลเกาะตาล อำเภอขาณุวรลักษบุรี ทิศตะวันออกจดหมู่ที่ ๓ บ้านแม่ลาดน้อย ตำบลแม่ลาด อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร
ทิศตะวันตกจดหมู่ที่ ๗ บ้านคลองน้ำเย็นใต้ ตำบลคลองขลุง อำเภอคลองขลุง
ประชากรส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพทำการเกษตรเป็นหลัก เช่น ทำนา ทำสวนผลไม้ สวนผักชี เลี้ยงปลาในกระชัง เลี้ยงสัตว์เป็นบางส่วน
สถานที่ท่องเที่ยวได้แก่
(๑) สถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (เกาะแตง)
(๒) วังแม่ลาด
 (๓) ฝายน้ำล้น
(๔) วัดพรหมประดิษฐ์ เป็นสถานที่รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสต้น
(๕) ริมแม่น้ำปิง
สถานที่สำคัญได้แก่  โรงเรียนบ้านแม่ลาด โรงเรียนวัดพรหมประดิษฐ์ โรงเรียนบ้านท่ามะขาม โรงเรียนบ้านห้วยน้อย องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลาด วัดคงคาราม วัดแม่ลาดใหญ่ วัดพรหมประดิษฐ์ วัดธรรมธาราม มีวัฒนธรรมประเพณี ได้แก่ ประเพณีสงกรานต์ ลอยกระทง เข้าพรรษา ออกพรรษา
มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
ทิศเหนือจด ตำบลคลองขลุง อำเภอคลองขลุง
ทิศใต้จด ตำบลเกาะตาล อำเภอขาณุวรลักษบุรี
ทิศตะวันออกจด ตำบลวังแขม อำเภอคลองขลุง
ทิศตะวันตกจด ตำบลคลองขลุง อำเภอคลองขลุง
การใช้ที่ดินในเขต อบต.
ลำดับที่   ประเภทการใช้ที่ดิน   พื้นที่ (ไร่)   ร้อยละ
๑   ทำนา   ๑๗,๕๙๔   ๘๕
๒   ทำไร่   ๔๙๒   ๒
๓   ทำสวนผสม   ๖๙๐   ๓
๔   ที่อยู่อาศัยและไร่นาสวนผสม   ๒,๐๙๙   ๑๐
รวม   ๒๐,๘๗๕   ๑๐๐.๐๐

๒. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
๒.๑ การคมนาคม
      การคมนาคมภายในตำบลแม่ลาด เส้นทางระหว่างตำบล หมู่บ้าน ดังนี้
(๑) ถนนสายโค้งวิไล – บ้านแม่ลาด (ลาดยาง ๗ กิโลเมตร)
(๒) ถนนสายห้วยน้อย – บ้านแม่ลาดน้อย (ลาดยาง ๓.๕ กิโลเมตร,ถนนลูกรัง ๓.๕ กิโลเมตร)
(๓) ถนนสายคลองขลุง – ขาณุฯ (ลาดยาง ๖ กิโลเมตร) ถึงบ้านใหม่สุขสมบูรณ์
(๔) ถนนสายคลองขลุง – ขาณุฯ (ถนนลูกรัง) ผ่าน ม.๔,ม.๓ ระยะทาง ๔ กิโลเมตร

๒.๒ ประปา
      ตำบลแม่ลาด  ได้ดำเนินการก่อสร้างระบบประปา จนครบทั้ง ๖ หมู่บ้าน จนปัจจุบันชาวบ้านมีน้ำประปาใช้กันอย่างทั่วถึง  แต่เนื่องจากน้ำประปาหมู่บ้านที่ใช้ในปัจจุบันไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน หมู่ที่ ๒ บ้านแม่ลาดใหญ่ หมู่ที่ ๓ บ้านแม่ลาดน้อย และหมู่ที่ ๕ บ้านเกาะแตง มีความประสงค์จะขุดบ่อน้ำลึกขึ้นใหม่ เนื่องจากน้ำไม่พอใช้ และหมู่ที่ ๕ บ้านเกาะแตงก็มีความประสงค์จะขยายเขตไฟฟ้าประปาหมู่บ้านให้ครอบคลุมพื้นที่ เนื่องจากปัจจุบันมีประชาชนออกมาตั้งบ้านเรือนติดถนนสายโค้งวิไล –แม่ลาด มากขึ้น

๒.๓ โทรศัพท์
      ตำบลแม่ลาดมีโทรศัพท์สาธารณะจำนวน   ๖ หมู่บ้าน ดังนี้
๑. หมู่ที่ ๒ บ้านแม่ลาดใหญ่  จำนวน     ๓     ตู้
๒. หมู่ที่ ๕ บ้านเกาะแตง     จำนวน     ๒     ตู้
๓. หมู่ที่  ๖ บ้านห้วยน้อย   จำนวน     ๑     ตู้
๔. หมู่ที่ ๔ บ้านท่ามะขาม    จำนวน     ๑     ตู้
๕. หมู่ที่ ๓ บ้านแม่ลาดน้อย  จำนวน     ๑     ตู้
๖. หมู่ที่ ๑ บ้านใหม่สุขสมบูรณ์   จำนวน     ๑     ตู้
สำหรับโทรศัพท์ประจำบ้าน ปัจจุบันองค์การโทรศัพท์อำเภอคลองขลุงได้เข้ามาดำเนินการ
ติดตั้งโทรศัพท์ระบบ ๔๗๐ MHZ  ไว้ ๓ หมู่บ้านด้วยกันคือ บ้านแม่ลาดใหญ่ บ้านแม่ลาดน้อย และบ้านห้วยน้อย ถ้าประชาชนท่านใดต้องการติดตั้งโทรศัพท์ก็สามารถดำเนินการได้เลย
๒.๔ แหล่งน้ำ
      แหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ คือ
แม่น้ำปิง ไหลผ่านพื้นที่ หมู่ที่ ๑ บ้านใหม่สุขสมบูรณ์ หมู่ที่ ๕ บ้านเกาะแตง หมู่ที่ ๔ บ้านท่ามะขาม หมู่ที่ ๓ บ้านแม่ลาดน้อย
คลองสีเสียด ไหลผ่านพื้นที่ หมู่ที่ ๖ บ้านห้วยน้อย
คลองวังน้ำเย็น ไหลผ่านพื้นที่ หมู่ที่ ๓ บ้านแม่ลาดน้อย และหมู่ที่ ๖ บ้านห้วยน้อย
คลองแม่ลาด ไหลผ่านพื้นที่ หมู่ที่ ๑ บ้านใหม่สุขสมบูรณ์ หมู่ที่ ๒ บ้านแม่ลาดใหญ่ หมู่ที่ ๕ บ้านเกาะแตง หมู่ที่ ๔ บ้านท่ามะขาม และหมู่ที่ ๓ บ้านแม่ลาดน้อย
๒.๕ แหล่งน้ำที่สร้างขึ้น
ฝาย  ๔  แห่ง
บ่อน้ำตื้น  ๑๙๕  แห่ง
บ่อบาดาล   ๒๘  แห่ง
ประปาหมู่บ้าน  ๖  แห่ง
วังแม่ลาด  ๑  แห่ง
ฝายน้ำล้น   ๑  แห่ง
๓. ด้านเศรษฐกิจ
๓.๑ อาชีพ
      ประชากรส่วนใหญ่ในตำบลแม่ลาด ประกอบอาชีพทำการเกษตรเป็นหลัก เช่น ทำนา ทำสวนผลไม้ สวนผักชี เลี้ยงปลาในกระชัง เลี้ยงสัตว์เป็นบางส่วน รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากร สำหรับในปี ๒๕๔๙ ผ่านเกณฑ์  กล่าวคือ สูงกว่าเกณฑ์ ๒๓,๐๐๐ บาท ( ข้อมูล จปฐ.ปี ๒๕๕๑) อนึ่ง เมื่อประมาณปี ๒๕๔๐ ได้มีนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดินในพื้นที่ หมู่ที่ ๒ บ้านแม่ลาดใหญ่ และหมู่ที่ ๑ บ้านใหม่สุขสมบูรณ์ ประมาณ ๖,๐๐๐ ไร่ ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งไม่มีที่ดินทำกิน ต้องประกอบอาชีพรับจ้าง ทำให้รายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว ต้องอพยพแรงงานไปทำงานต่างจังหวัด หรือในเมืองที่มีความเจริญกว่า
      นอกจากนี้เมื่อประมาณปี ๒๕๔๑ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ได้มีกลุ่มแม่บ้านได้รวมกลุ่มกันเพื่อทำอาชีพเสริมหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว เช่น การจัดทำผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว แปรรูปปลาร้าปลาทับทิม น้ำยาล้างจานน้ำลูกยอ ดอกไม้ประดิษฐ์จากถุงน่องใยบัวและการบูรหอม กลุ่มเพาะเห็ดนางฟ้า กลุ่มเลี้ยงปลาในกระชัง เพื่อหารายได้เสริมให้กับครอบครัว
ปัจจุบันได้มีเกษตรกรส่วนหนึ่ง ได้จัดทำปุ๋ยน้ำชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด เพื่อใช้ในการฉีดพ่นผลผลิตทางการเกษตร และใช้ปุ๋ยหว่านในนาข้าว เช่น ข้าว ผักและผลไม้ต่าง ๆ  ทำให้ช่วยลดต้นทุนการผลิต และเป็นการลดสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่งด้วย
ประกอบกับในปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลาด  เห็นว่าเกษตรกรประสบปัญหาน้ำมันแพง  จึงได้จัดให้มีการอบรมและส่งเสริมการปลูกสบู่ดำ  เพื่อลดต้นทุนในการผลิตสินค้า  ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั้งหมด  ๙๘ ราย  ขณะนี้เกษตรกรได้มีการปลูกสบู่ดำกันมากขึ้น
๓.๒ หน่วยธุรกิจในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล
      ในพื้นที่ตำบลแม่ลาด มีโรงงานเบียร์ช้าง จำนวน ๑ แห่ง, โรงคัดขวด จำนวน ๑ แห่ง ,ปั๊มน้ำมัน (ปั๊มหลอด) ๕ แห่ง ร้านค้าชุมชน  จำนวน  ๑  แห่ง  และกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต จำนวน ๗ กลุ่ม
๓.๓ การอุตสาหกรรม
      ปัจจุบันในพื้นที่ของตำบลแม่ลาด ได้มีโรงงานผลิตเบียร์ช้าง และโรงคัดขวด จำนวนอย่างละ ๑ แห่ง เพื่อผลิตเบียร์ น้ำดื่ม และโซดา และคัดแยกขวดเบียร์ ก็คือบริษัทเบียร์ไทย (๑๙๙๑) จำกัด (มหาชน) และบริษัทบางนาโลจิสติค จำกัด ตามลำดับ มีคนงานประมาณ ๘๐๐ คน
๓.๔ สถานที่ท่องเที่ยว
      ๑. สถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (เกาะแตง) ตั้งอยู่หมู่ที่ ๕ บ้านเกาะแตง  เนื้อที่ ๒๕๐ ไร่
      ๒. วังแม่ลาด  ตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ บ้านแม่ลาดใหญ่  มีเนื้อที่ ๓๔ ไร่
      ๓. ฝายน้ำล้น  ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑ บ้านใหม่สุขสมบูรณ์  มีเนื้อที่ประมาณ  ๒๐  ไร่
      ๔. วัดพรหมประดิษฐ์  ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ บ้านแม่ลาดน้อย  เป็นสถานที่รัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสต้น
      ๕. เกาะแตง ตั้งอยู่หมู่ที่ ๕ บ้านเกาะแตง มีเนื้อที่ประมาณ ๒๕๐ ไร่
      ๖.  ริมแม่น้ำปิง ผ่านบริเวณ หมู่ที่ ๑, หมู่ที่ ๕, หมู่ที่ ๔ และหมู่ที่ ๓
๔. ด้านสังคม
๔.๑ การศึกษา
      ตำบลแม่ลาด มีโรงเรียนประถมศึกษาสังกัด สปช.
๔.๒ การสาธารณสุข
      ตำบลแม่ลาด มีสถานีอนามัยประจำตำบล จำนวน ๑ แห่ง และสถานพยาบาล จำนวน ๒ แห่ง ตั้งอยู่ หมู่ที่ ๒ บ้านแม่ลาดใหญ่ และหมู่ที่ ๕ บ้านเกาะแตง

๔.๓ สถาบันและองค์กรทางศาสนา
      ประชาชนส่วนใหญ่ของตำบลแม่ลาดนับถือศาสนาพุทธ ตำบลแม่ลาดมีวัด จำนวน ๔ แห่ง ได้รับการจัดตั้งให้เป็นวัดโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ดังนี้
      วัดคงคาราม   ตั้งอยู่  หมู่ที่ ๑  บ้านใหม่สุขสมบูรณ์
      วัดแม่ลาดใหญ่   ตั้งอยู่  หมู่ที่ ๒  บ้านแม่ลาดใหญ่
      วัดพรหมประดิษฐ์   ตั้งอยู่  หมู่ที่ ๓  บ้านแม่ลาดน้อย
      วัดธรรมธาราม   ตั้งอยู่  หมู่ที่ ๖  บ้านห้วยน้อย
๖. ด้านการเมือง การบริหาร
๖.๑ ศักยภาพของชุมชนและพื้นที่
     ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลาด มีหมู่บ้าน จำนวน ๖ หมู่บ้าน ดังนี้
    (๑) หมู่ที่ ๑  บ้านใหม่สุขสมบูรณ์ ที่ตั้งทิศเหนือติดกับตำบลคลองขลุง ทิศตะวันออกติดริมฝั่งแม่น้ำปิง มีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ ราษฎรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม เช่น ปลูกข้าวทำสวนผลไม้ ไม้ผลที่นิยมปลูกกันมาก ได้แก่ ขนุน ส้มโอ กล้วย ฯลฯ อาชีพเสริมของกลุ่มแม่บ้านที่ได้รวมกลุ่มกันแปรรูปผลผลิต เช่น น้ำยาล้างจาน การบูรหอม กล้วยอบน้ำผึ้ง เมี่ยง และทำดอกไม้ประดิษฐ์จากถุงน่องใยบัว น้ำลูกยอ เลี้ยงปลาในกระชัง ปัจจุบันบริษัทอาหารเสริม จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือของบริษัทเบียร์ไทย ได้เช่านาของราษฎรหมู่ที่ ๑ ประมาณ  ๓๐๐ ไร่ เพื่อเลี้ยงปลาในนาข้าว
    (๒) หมู่ที่ ๒  บ้านแม่ลาดใหญ่ ที่ตั้งทิศตะวันตกจดตำบลคลองขลุง เป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่และราษฎรมากที่สุด และเป็นที่ตั้งของที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลาด สถานีอนามัย มีโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน ๒ แห่ง คือ บริษัท เบียร์ไทย (๑๙๙๑) จำกัด(มหาชน) และโรงคัดขวดเบียร์  ของบริษัทบางนาโลจิสติค จำกัด ราษฎรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม มีราษฎรบางส่วนเท่านั้นที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ปัจจุบันได้มีการรวมกลุ่มการทำน้ำส้มควันไม้, กลุ่มผู้เลี้ยงหมูหลุม, กลุ่มจักสาน, กลุ่มเลี้ยงโคและผู้เลี้ยงไก่ชน
    (๓) หมู่ที่ ๓  บ้านแม่ลาดน้อย ที่ตั้งทิศตะวันออกจดบริเวณริมฝั่งแม่น้ำปิง ทิศใต้จดตำบลเกาะตาล อำเภอขาณุวรลักษบุรี พื้นที่ส่วนใหญ่ทำการเกษตร โดยเฉพาะข้าว และสวนผักชี ปัจจุบันเกษตรกรได้รวมกลุ่มเลี้ยงหมูหลุม, กลุ่มทำไม้กวาด, กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า และกลุ่มผลิตปุ๋ยธรรมเทค (ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดและปุ๋ยน้ำชีวภาพ)  เพื่อลดต้นทุนในการผลิตซึ่งมีที่ทำการตั้งอยู่บ้านเลขที่ ๙๕ หมู่ที่ ๓  
    (๔) หมู่ที่ ๔  บ้านท่ามะขาม ทิศตะวันออกจดบริเวณริมฝั่งแม่น้ำปิง เป็นหมู่บ้านที่มีราษฎรน้อยที่สุด พื้นที่ส่วนใหญ่ทำการเกษตร เช่น ข้าว อ้อย และมีอาชีพเสริมที่สำคัญ  คือ การรวมกลุ่มกันเลี้ยงปลาในกระชัง (ปลาทับทิม) และกลุ่มแม่บ้านก็มีการแปรรูปผลผลิต ก็คือการทำปลาร้าปลาทับทิม และการทำผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว
    (๕) หมู่ที่ ๕  บ้านเกาะแตง ทิศตะวันออกจดริมฝั่งแม่น้ำปิง มีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ส่วนใหญ่ทำการเกษตร เช่น ข้าว และทำสวนผักชี กระชาย ฝรั่ง กระท้อน ฯลฯ ส่วนอาชีพเสริมที่สำคัญของหมู่ ๕ คือ กลุ่มทำน้ำพริก, กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า, กลุ่มทำเครื่องสำอางสมุนไพร, กลุ่มเลี้ยงปลาในกระชัง และทำปุ๋ยน้ำชีวภาพ
    (๖) หมู่ที่ ๖  บ้านห้วยน้อย ทิศตะวันตกจดตำบลคลองขลุง เป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่และจำนวนราษฎรมากเป็นอันดับสองรองจาก หมู่ที่ ๒ บ้านแม่ลาดใหญ่ พื้นที่โดยส่วนใหญ่ทำการเกษตร โดยเฉพาะข้าว  เมื่อปี ๒๕๔๕ สำนักงานเกษตรอำเภอคลองขลุงได้ให้เกษตรกรที่เข้าโครงการพักชำระหนี้เกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาล เข้าร่วมโครงการ “เพาะเห็ดครบวงจร” โดยส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มผู้พักชำระหนี้จัดทำโครงการดังกล่าว โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรอำเภอคลองขลุง ซึ่งปัจจุบันมีราษฎรได้ดำเนินการเพาะเห็ดเองที่บ้าน เพื่อออกจำหน่ายในท้องตลาด ถือว่าเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างดี
    โดยสรุปพื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลแม่ลาดเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ หมู่ที่ ๑,๓,๔,๕ มีอาณาเขตติดแม่น้ำปิง ทำให้ประชากรในตำบลส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพทำการเกษตร โดยเฉพาะข้าว เกษตรกรทำนาโดยเฉลี่ยปีละประมาณ ๓ ครั้ง/ปี
..................

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 06, 2015, 11:57:46 am โดย apairach » บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!