จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
เมษายน 26, 2024, 04:34:58 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: วันสารทไทย ที่เมืองกำแพงเพชร  (อ่าน 2894 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1414


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: กันยายน 22, 2014, 09:56:38 pm »

วันสารทไทย ที่เมืองกำแพงเพชร
พิธีสารท ในสมัยสุโขทัย มีในตำนานนางนพมาศว่า
? ?ราชบุรุษชาวพนักงานตกแต่งโรงพิธีในพระราชนิเวศน์  ตั้งก้อนเส้าเตาเพลิงแลสัมภาระเครื่องใช้เบ็ดเสร็จ   นายนักการระหารหลวง ก็เก็บเกี่ยวครรภสาลีและรวงข้าวมาตากตำเป็นข้าวเม่า ข้าวตอก ส่งต่อมณเฑียรวังเวรเครื่อง  นายพระโคก็รีดน้ำขีรารสมาส่งดุจเดียวกันครั้งได้ฤกษ์ รับสั่งให้จ่าชาวเวรเครื่องทั้งมวลตกแต่งปรุงมธุปายาส ปรุงปนระดมเจือล้วนแต่โอชารส   มีขัณฑสกร  น้ำผึ้ง  น้ำอ้อย   น้ำตาล  นมสด  เป็นต้น   ใส่ลงในภาชนะซึ่งตั้งบนเตาเพลิงจึงให้สาวสำอาง กวนมธุปายาสโดยสังเขป ชาวดุริยางค์ดนตรีก็ประโคมพิณพาทย์   ฆ้อง กลอง เล่นการมหรสพ   ระเบงระบำล้วนแต่นารี   แล้วพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยราชบริพารนำข้าวปายาส ไปถวายพระมหาเถรานุเถระ?
ในนิราศเดือน ของนายมี กวีต้นรัตนโกสินทร์  ได้กล่าวถึงวันสารทเดือนสิบ ไว้ว่า
   "ถึงเดือนสิบเห็นกันเมื่อวันสารท
                    ใส่อังคาสโภชนาระยาหาร
                    กระยาสารทกล้วยไข่ใส่โตกพาน
                    พวกชาวบ้านทั่วหน้าสาธารณะ
                    เจ้างามคมห่มสีชุลีนบ
                    แล้วจับจบทัพพีน้อมศีรษะ
                    หยิบข้าวของกระยาสารทใส่บาตรพระ
                    ธารณะเสร็จสรรพกลับมาเรือน
หนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนได้กล่าวไว้ ว่า สารท ซึ่งเป็นนักขัตฤกษ์ (งานรื่นเริงตามธรรมเนียมตามฤดูกาล) เป็นที่นิยมของคนทั้งปวงทั่วไปว่าเป็นสมัยที่ได้ทำบุญ เมื่อปีเดือนวันคืนล่วงมาถึงกึ่งกลางรอบ ด้วยเหตุว่า เราถือเอากำหนด พระอาทิตย์ลงไปที่สุดทางใต้ กลับมาเหนือถึงกึ่งกลางปีเป็นต้นปี ครั้นเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นไปเหนือจนสุดทางจะกลับลงใต้ มาถึงกึ่งกลางก็เป็นพอบรรจบกึ่งกลางปี ? พูดง่ายๆ ก็คือ วันสารทไทย ถือเป็นวันทำบุญกลางปี ด้วยว่าสมัยก่อนเราถือเอาวันสงกรานต์ ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนเมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ดังนั้นช่วงเดือนสิบ จึงตกราวกลางปีพอดี คนทั่วไปจึงนิยมทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เสมือนเป็นการเตือนใจตัวเองว่า ชีวิตได้ดำเนินผ่านมาถึงกึ่งปีแล้ว ชีวิตข้างหน้าที่เหลือควรจะได้สร้างบุญกุศลไว้เพื่อความไม่ประมาท ซึ่งนอกจากการทำบุญดังกล่าวแล้ว ยังมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับอีกด้วย
ประเพณีสารทเดือนสิบมีขึ้นด้วยเหตุผลหลายประการ
1. เนื่องมาจากความเชื่อทางพุทธศาสนา เชื่อว่าในปลายเดือนสิบปูย่า ตายาย ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว และคนบาปทั้งหลายที่ตกนรก จะถูกปล่อยจากนรกให้ขึ้นมาพบญาติพี่น้องในวันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบ และให้กลับไปนรกดังเดิมในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ ดังนี้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็พยายามหาอาหารต่าง ๆ ไปทำบุญที่วัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับที่ขึ้นมาจากนรก
2. เป็นการทำบุญเนื่องจากความชื่นชมยินดีในโอกาสที่ได้รับผลิตผลทางการเกษตร
3. เพื่อนำพืชผลต่าง ๆ ที่ได้รับจากการเกษตรไปทำบุญสำหรับพระภิกษุจะได้เก็บไว้เป็นเสบียงในฤดูฝน ซึ่งจะเริ่มในตอนปลายเดือนสิบ
4. เพื่อเป็นการแสดงความรื่นเริงและสนุกสนานประจำปีร่วมกันเพราะความภาคภูมิใจ ความสุขใจ และความอิ่มใจ ที่ได้ปฏิบัติการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษ ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว
พระยาอนุมานราชธนได้เขียนเล่าในหนังสือเทศกาล และประเพณีไทยว่า คำว่า "สารท" เป็นคำอินเดีย หมายถึง "ฤดู" ตรงกับฤดูในภาษาอังกฤษที่เรียกว่า "ออตอม" หรือ ฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งจะมีเฉพาะบางเขตของโลกอย่างยุโรป จีน และอินเดียตอนเหนือเท่านั้น ช่วงนั้นเป็นระยะที่พืชพันธุ์ธัญชาติ และผลไม้เริ่มสุกให้พืชผลครั้งแรกในฤดู ดังนั้น ประชาชนจึงรู้สึกยินดี และถือเป็นเทศกาลแห่งความรื่นเริง จึงมักทำพิธีตามความเชื่อและเลี้ยงดูกันอย่างที่เรียกว่า "Seasonal Festival"
          โดยบางแห่งก็จะมีการนำพืชผลที่เก็บเกี่ยวได้ครั้งแรกที่เรียกว่า "ผลแรกได้" นี้ไปสังเวยหรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนนับถือ เพื่อความเป็นสิริมงคล และแสดงความเคารพที่ท่านช่วยบันดาลให้พืชพันธุ์ธัญหารอุดมสมบูรณ์จนเก็บเกี่ยวได้ เช่น พิธีปงคัล ในอินเดียตอนใต้ ที่มีพิธีต้มข้าวกับน้ำนมทำเป็นขนม เรียกว่า ข้าวทิพย์ข้าวปายาสถวายพระคเณศ เป็นต้น
          สำหรับในพจนานุกรมไทย สารท มีความหมายว่า เทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือน 10 โดยนำพืชพรรณธัญญาหารแรกเก็บเกี่ยวมาปรุงเป็นข้าวทิพย์ และข้าวมธุปายาสถวายพระสงฆ์ จะตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ซึ่งมักจะตกราว ๆ ปลายเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม
การทำบุญวันสารทนี้มีในหลายภูมิภาค โดยมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันดังนี้
            ภาคกลาง เรียกว่า "สารทไทย"
            ภาคเหนือ เรียก "งานทานสลากภัต" หรือ "ตานก๋วยสลาก"
            ภาคอีสาน เรียก "ทำบุญข้าวสาก"
            ภาคใต้ เรียก "งานบุญเดือนสิบ" หรือ "ประเพณีชิงเปรต" 
          ถึงแม้ว่าการทำบุญเดือนสิบในแต่ละท้องที่จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน แต่ก็มีจุดประสงค์เดียวกัน คือ การทำบุญกลางปี เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองที่มีชีวิตผ่านพ้นเวลามาได้ถึงกึ่งปี และเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว แต่อาจมีวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันบ้าง ดังนี้
ขนมประจำวันสารทไทย
  กระยาสารทเป็นขนมที่พบได้ทั่วไป ทั่วประเทศ นับว่ากระยาสารทเป็นภูมิปัญญาไทยในการถนอมอาหาร ในฤดูที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ จึงเก็บอาหารที่เหลือไว้รับประทานในฤดูขาดแคลน การรับประทานกระยาสารทให้อร่อยสุดยอดต้องรับประทานกับกล้วยไข่โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้วยไข่ที่ปลูกในแผ่นดินกำแพงเพชร
          กระยา หมายถึง เครื่อง สิ่งของ เครื่องกิน
          สารท หมายถึง เทศกาลทำบุญในวันสิ้นเดือนสิบ โดยนำพืชพรรณธัญญาหารแรกเก็บเกี่ยวมาปรุงเป็นข้าวทิพย์ และข้าวมธุปายาส ถวายพระสงฆ์
         เครื่องปรุง
            ถั่วลิสง งาขาว ข้าวเม่า ข้าวตอก น้ำตาลปี๊บ แบะแซ มะพร้าว น้ำผึ้ง
         
 วิธีทำ
             นำถั่วลิสง งา ข้าวเม่า มาคัดเมล็ด เอาเมล็ดที่เสียออกให้หมด เอาข้าวตอกที่คั่วแล้ว เตรียมพร้อมไว้ เอามะพร้าวมาขูดขั้นกะทิ ตั้งไฟเคี่ยวกับน้ำตาลปี๊บ จนกระทั่งได้ที่ แล้วนำลงจากเตาไฟ
            นำส่วนผสมที่คั่วไว้แล้ว เทลงในกระทะน้ำกะทิ คนให้เข้ากัน แล้วทิ้งไว้ให้อุ่น จึงตัดเป็นแผ่นๆหรือ บรรจุใส่ถุง หรือภาชนะที่เหมาะสม สามารถเก็บไว้ได้นาน
             ที่กำแพงเพชร มีการกวนกระยาสารทกันโดยทั่วไป ในอดีตกวนกันเกือบทุกบ้าน ไม่มีจำหน่าย แต่จะแจกกันเมื่อกวนแล้ว ส่วนสำคัญจะนำไปถวายพระ และกำแพงเพชรเป็นเมืองกล้วยไข่ จึงมีกล้วยไข่เป็นเครื่องเคียงที่อร่อยมาก กล้วยไข่ที่กำแพงเพชรมีมานานแล้ว มิใช่พึ่งมีเหมือนดังที่เข้าใจกัน และประเพณีสารทไทย กล้วยไข่นั้นคู่กับกำแพงเพชรมานับร้อยปี
             ที่ชุมชนอนันตสิงห์ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรชุมชนอนันต์สิงห์ ได้รวมตัวกัน กวนกระยาสารทเพื่อจัดจำหน่าย วันละหลายกระทะ มีรสชาติอร่อยหวานมัน หาที่เปรียบเทียบได้ยาก
             นางทองล้วน นาควังไทร ประธานกลุ่ม ได้สาธิตการกวนกระยาสารท ด้วยอัธยาศัย ไมตรีอันดียิ่ง ท่านเล่าว่าได้กวนกระยาสารท มาหลายสิบปีแล้ว มีความภูมิใจ ในอาชีพนี้เป็นอย่างยิ่ง นับว่าน่ายกย่อง แม่บ้านกลุ่มนี้ที่สุด
             กระยาสารท นับว่าเป็นภูมิปัญญาที่คู่กับชาติไทย คู่กับกำแพงเพชร อย่างไม่เสื่อมคลาย แม้การกวนกระยาสารท จะผ่านมาหลายร้อยปีแล้ว ความทรงจำ ยังอยู่คู่กำแพงเพชร คู่ชาติไทยไปตลอดกาล ไม่เสื่อมคลาย \
ที่จังหวัดกำแพงเพชร มีการกวนกระยาสารท มากมายหลายเจ้า แต่ละเจ้า ล้วนมี สูตรที่แตกต่างกัน มีความเอร็ดอร่อย ที่แตกต่างกันไป และหาซื้อ หารับประทานได้ทุกมุมเมือง ของกำแพงเพชร
          กระยาสารท เป็นขนมประจำวันสารทในทุกท้องถิ่นของประเทศไทย ด้วยมีความเชื่อว่า ถ้าไม่ได้ใส่บาตรขนมกระยาสารทในวันสารทไทยแล้ว ญาติผู้ล่วงลับก็จะไม่ได้ส่วนบุญส่วนกุศลที่กระทำในวันนั้น ขนมกระยาสารทมีส่วนประกอบ คือ ข้าวตอก ข้าวเม่า ถั่ว งา และน้ำตาล นำทั้งหมดมากวนเข้าด้วยกัน เมื่อสุกแล้วจึงนำมาปั้นเป็นก้อนกลม หรือจะตัดเป็นแผ่นก็ได้
          สำหรับการกวนกระยาสารทนั้น ต้องใช้เวลาและแรงคนหลาย ๆ คนจึงจะทำเสร็จได้ ดังนั้นการกวนกระยาสารทจึงต้องอาศัยความสามัคคีกันของคนในครอบครัว เมื่อกวนกระยาสารทเสร็จแล้ว ชาวบ้านก็จะนำไปทำบุญและแจกจ่ายให้เพื่อนบ้าน จะเห็นได้ว่าสาระสำคัญของประเพณีวันสารทไทยมิใช่เป็นเพียงเรื่องของขนมที่ใช้ในการทำบุญเท่านั้น หากแต่อยู่ที่กุศโลบายในการสร้างความสามัคคีภายในครอบครัว การแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และการแสดงน้ำใจไมตรีต่อกันระหว่างเพื่อนบ้านอีกด้วย
          ข้าวยาคู มีตำนานเล่ามาว่า มีชาวนาพี่น้องสองคน คนโตชื่อว่า มหาการ น้องชื่อ จุลการ มีไร่นากว้างใหญ่ ในฤดูที่ข้าวออกรวง คนน้องเห็นว่า ควรจะนำข้าวนั้นมาทำอาหารถวายพระพุทธเจ้าผู้ทรงนามว่า วิปัสสี แต่พี่ชายไม่เห็นด้วย เพราะจะต้องเสียข้าวในนาจำนวนไม่น้อย น้องชายจึงแบ่งไร่นา และนำเมล็ดข้าวในสวนไร่นาของตนไปทำอาหารที่เรียกว่า ข้าวยาคู ไปถวายพระวิปัสสี และอธิษฐานขอให้เกิดในบวรพระพุทธศาสนา ซึ่งภายหลังจุลการได้เกิดเป็นพระอัญญาโกณฑัญญะ สำหรับข้าวยาคูนี้จุลการได้ข้าวสาลีที่กำลังท้องฉีกรวงข้าวอ่อนออกมา แล้วต้มในน้ำนมสด เจือด้วยเนยใส น้ำผึ้งและน้ำตาลกรวด
          ข้าวมธุปายาส คือ ข้าวที่หุงเจือด้วยน้ำนม และน้ำผึ้ง มีตำนานเล่าว่า นางสุชาดา ลูกสาวเศรษฐีปรุงขึ้นเป็นอาหารไปแก้บน และได้เห็นพระพุทธเจ้า เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ประทับใต้ต้นนิโครธ (ต้นไทร ) ก็เข้าใจว่า พระองค์เป็นเทพยดา จึงนำอาหารนั้นไปถวาย พระโพธิสัตว์จึงได้เสวยข้าวมธุปายาสเป็นอาหารมื้อสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงมีความเชื่อกันว่า ข้าวมธุปายาส เป็นอาหารวิเศษ ผู้ใดมีวาสนาได้กินแล้ว จะมีร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัย อุดมด้วยสติปัญญา และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
          ข้าวทิพย์ หมายถึง อาหารอันโอชะ ที่มีเครื่องปรุงถึง 108 ชนิด ( หากทำแบบโบราณ ) แต่โดยหลักๆ ก็มี 9 อย่าง คือ น้ำนมข้าว เนย น้ำอ้อย น้ำผึ้ง น้ำตาล นม ถั่ว งาและข้าวเม่า ซึ่งการกวนแต่ละครั้งก็ต้องประกอบพิธีกรรมหลายอย่าง เช่น ต้อง ใช้สาวพรหมจารีย์กวน ฟืนที่ใช้ต้องเป็นไม้ชัยพฤกษ์หรือไม้พุทราเท่านั้น ส่วนไฟก็ต้องเกิดจากแดดผ่านแว่นขยายที่เรียกว่า "สุริยกานต์" เป็นต้น
          สำหรับวันสารทไทยในปีนี้ (2557) ตรงกับวันที่ 23 กันยายน 2557 ช่วยกันรักษาประเพณีไทยนี้ไว้ เพื่อไม่ให้ความเป็นไทย สูญหายไปตามกาลเวลา จังหวัดกำแพงเพชร จะทำบุญสารทที่วัดบาง วัดศูนย์กลางของตลาดเมืองกำแพงเพชร พระภิกษุทั้งสามวัด คือวัดคูยาง วัดเสด็จ และวัดบาง จะมารวมกัน ที่วัดบาง เพื่อให้ประชาชนในกำแพงเพชร มีโอกาสทำบุญอย่างทั่วถึงกัน   โดย ในวันพระใหญ่แต่ละวัน ชาวกำแพงเพชรจะเวียนกันไปทำบุญ ตามวัดต่างๆ เป็นประเพณีที่งดงามของชาวกำแพงเพชร แสดงถึงความรักและความสมานสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การ ทำบุญวันสารท นับว่าเป็นงานบุญที่ใหญ่ที่สุดวันหนึ่ง ในจังหวัดกำแพงเพชรเช่นกัน

บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!