จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
เมษายน 25, 2024, 04:34:38 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ไทยทรงดำ บ้านวังน้ำ ตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง กำแพงเพชร  (อ่าน 6448 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1414


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: สิงหาคม 21, 2014, 02:37:39 pm »

ไทยทรงดำ  บ้านวังน้ำ  ตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง กำแพงเพชร

บ้านวังน้ำตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๒ อยู่ในพื้นที่ หมู่ ๔ ตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร เหตุผลที่เรียกว่า ?บ้านวังน้ำ?เพราะในอดีตในหมู่บ้านมีลำคลอง ?คลองเลียบตะลุง? ไหลผ่านกลางหมู่บ้าน มีน้ำไหลผ่านตลอด ฤดูน้ำหลาก น้ำจะท่วมมาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ราบลุ่ม การสัญจรไปมาไม่สะดวก ชาวบ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า ?บ้านวังน้ำ? ปัจจุบันนี้หมู่บ้านได้พัฒนา สร้างถนนหนทาง จนไม่เหลือพื้นที่ที่เป็นวังน้ำให้เห็นแล้ว ประชากรในหมู่บ้านอพยพมาจากจังหวัดนครสวรรค์ สุพรรณบุรี และชัยนาท ภาษาที่ใช้สื่อสาร คือภาษาลาวส้ง และนับถือศาสนาพุทธ ประกอบอาชีพทำนา ผู้ใหญ่บ้าน/กำนันตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คือ นายแอ แซ่รอ นายสมบูรณ์ โอรักษ์ นายพรม หะนาท นายลวน สิงห์รอ และนายอำนวย อินทนู วัดประจำหมู่บ้าน คือวัดวังน้ำสามัคคี(พระพูล ปัญญาวุตโฒ/เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน) เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและจัดกิจกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนบ้านวังน้ำ เป็นโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญของหมู่บ้าน คือ วิถีวัฒนธรรมไทยทรงดำ เน้นพิธีการไหว้ผีบรรพบุรุษ พิธีเสนเรือน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้อยู่ดีมีสุข เจริญก้าวหน้า และประเพณีของชาวพุทธ ตามเทศกาลต่าง ๆ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าสนใจ ได้แก่ หมอน้ำมันรักษาเรื่องกระดูก และ
 
ไทยทรงดำเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่พูดภาษาตระกูลไท เป็นชนชาติไทยสาขาหนึ่ง เรียกว่า พวกผู้ไท ซึ่งแบ่งออกตามลักษณะสีของเครื่องแต่งกาย เช่น ผู้ไทขาว, ผู้ไทแดง และผู้ไทดำ เป็นต้น ผู้ไทดำ นิยมแต่งกายด้วยสีดำ จึงเรียกว่าไทยทรงดำ หรือ เรียกได้หลายชื่อเช่น โซ่ง, ซ่ง, ไทยโซ่ง, ไทยซ่ง, ลาวโซ่ง, ลาวซ่ง, ลาวทรงดำ และ ลาวพุงดำ
คำว่า โซ่ง สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า ?ซ่วง? ซึ่งแปลว่า กางเกง เพราะเพราะชาวไทยทรงดำนิยมนุ่งกางเกงทั้งชายและหญิง คนไทยและลาวพวนจึงเรียกว่า ลาวซ่วง ซึ่งหมายถึงลาวนุ่งกางเกง ต่อมาเพี้ยนเป็น ลาวโซ่ง เหตุที่เรียกไทยทรงดำว่า ลาวโซ่ง เพราะคำว่า ?ลาว? เป็นคำที่คนไทยทั่วไปใช้เรียกคนที่อพยพมาจากถิ่นอื่น แต่ชาวไทยทรงดำถือตนเองว่าเป็นชนชาติไทย จึงเป็นที่มาและการตั้งถิ่นฐาน
 
ผลพวงจากสงครามสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) มาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทำให้ลาวโซ่ง หรือไทยทรงดำ ถูกกวาดครัวมาอยู่เพชรบุรี
ระยะแรกไทยทรงดำตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย (สมัยพระเจ้าตากสิน และรัชกาลที่ 1) ระยะที่สอง (สมัยรัชกาลที่ 3) โปรดฯ ให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลท่าแร้ง อำเภอบ้านแหลม ลาวโซ่งหรือไทยทรงดำ จึงมาตั้งถิ่นฐานที่ท่าแร้ง เมื่อปี พ.ศ. 2378 - 2381 ก่อนไทยมุสลิมท่าแร้ง ซึ่งถูกกวาดครัวเข้ามาภายหลังโซ่ง ไทยมุสลิมหรือที่เรียกว่า แขกท่าแร้ง มาสู่เพชรบุรีในลักษณะถูกกวาดครัว เข้ามาอยู่ ณ เมืองเพชรบุรีราวปี พ.ศ. 2328 เนื่องด้วยเหตุผลทางสงครามเช่นกัน
สงครามครั้งนั้น พวกลาวพวน หรือไทยพวน พวกลาวเวียง หรือไทยเวียง ซึ่งเป็นชนชาติไทยด้วยสาขาหนึ่ง ได้ถูกกวาดครัวมาด้วยกัน เมืองเพชรจึงประกอบด้วยชนกลุ่มน้อยที่เรียกว่า ?สามลาว? อันได้แก่ ลาวโซ่ง ลาวพวน และ ลาวเวียง

ธรรมชาติของลาวโซ่ง หรือไทยทรงดำ ชอบอยู่ที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง ชอบภูมิประเทศที่เป็นป่าเขา เสมือนถิ่นดั้งเดิมของตน ครัวโซ่งกลุ่มนี้ มิชอบภูมิประเทศที่ท่าแร้ง เพราะโล่งเกินไป จึงได้อพยพย้ายถิ่นฐานบ้านเรือนไปเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่สะพานยี่หน ทุ่งเฟื้อ วังตะโก บ้านสามเรือน เวียงคอย เขาย้อย ตามลำดับ
นิยมลักษณะที่อยู่อาศัย
โซ่งปลูกบ้านที่มีลักษณะของตนเองแบบหลังคาไม่มีจั่ว หลังคายกอกไก่สูง มุงด้วยตับต้นกกมิใช่ตับจาก รูปหลังคาลาดคุ่มเป็นรูปคล้ายกระโจม คลุมลงมาต่ำเตี้ยจรดฝา ดูไกลๆ จะดูเหมือนไม่มีฝาบ้าน เพราะหลังคาคลุมมิดจนมองไม่เห็น บ้านโซ่งจะไม่มีหน้าต่าง เนื่องจากโซ่งมาจากเวียดนามและลาว อยู่ตามเทือกเขา อากาศหนาวเย็น ไม่ชอบมีหน้าต่างให้ลมโกรก พื้นปูด้วยฟากไม้ไผ่ รองพื้นด้วยหนังสัตว์ มีใต้ถุนบ้านสูงโดยใต้ถุนบ้านใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ด้วย
โซ่งกับการก่อสร้างพระนครคีรี
การก่อสร้างพระราชวังบนเขา ห้วงที่เครื่องจักรกล เครื่องทุนแรงยังไม่มี การแผ้วถางปรับสภาพยอดเขาทั้งสามยอด ให้รานราบมีทางขึ้นลงเชื่อมต่อกัน การลำเลียง อิฐ หิน ดิน ทราย อุปกรณ์การก่อสร้าง จำเป็นต้องใช้แรงงานขั้นพื้นฐานจำนวนไม่น้อย
พระเจ้ายาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งพระสมุหกลาโหม ในฐานะแม่กองงานใหญ่ ในการก่อสร้างพระราชวังบนเขา มีทั้งอำนาจทางทหารกำลังไพร่พลในการควบคุมดูแลโซ่งที่ได้กวาดครัวมาไว้ที่เพชรบุรี สมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2378 ? พ.ศ. 2381) ได้อพยพมาจากท่าแร้งโดยตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เชิงเขากิ่ว สะพานยี่หน เวียงคอย วังตะโก ซึ่งอยู่ใกล้กับเขาสมน จึงถูกกำหนดเกณฑ์มาใช้เป็นแรงงาน สร้างพระราชวังในครั้งนี้
นับเนื่องแต่ พ.ศ. 2401 ? พ.ศ. 2405 เป็นต้นมาทุกเช้าจรดเย็น แรงงานโซ่งนุ่งกางเกง(ซ่วง)สีดำ สวมเสื้อก้อมย้อมสีครามดำ เดินออกจากหมู่บ้านสะพานยี่หนมุ่งตรงไปยังเขาสมน นับวัน นับเดือน นับปี ด้วยความซื่อสัตย์ และจงรักภักดีต่อหน้าที่
เมื่อพระราชวังบนเขา พระนครคีรี สำเร็จเป็นที่แปรพระราชฐาน ทรงงาน รับรองพระราชอาคันตุกะต่างประเทศ และเป็นที่พักผ่อนส่วนพระองค์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บุตรหลานเจ้าเมืองและคหบดีที่มีชื่อ มารับราชการเป็นมหาดเล็ก และโปรดเกล้าฯให้คัดเลือกโซ่งมาเป็นเด็กชาด้วย เนื่องจากทรงเห็นความดีความชอบจากที่โซ่งมาเป็นแรงงานก่อนสร้าง ช่วงก่อสร้างพระราชวังพระนครคีรีด้วยความอดทน อุตสาหะเรียกตนเองว่า ไทยโซ่ง หรือ ไทยทรงดำ
ไทยโซ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแคว้นสิบสองจุไท ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในแถบแม่น้ำดำและแม่น้ำแดง ปัจจุบันอยู่ในเขตเวียดนามเหนือตอนเชื่อมต่อกับลาวและจีนตอนใต้ ไทยโซ่งมีชื่อเดิมเรียกกันว่า ไทดำ  หรือ?ผู้ไทดำ?(Black Tai)  เพราะนิยมใส่เสื้อดำล้วน ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มคนไทยที่อยู่ใกล้เคียงกัน เช่น ?ไทขาว?หรือ?ผู้ไทขาว?(White Tai)  นิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาวและไทแดง หรือ?ผู้ไทแดง? (Red Tai) ชอบใช้สีแดงขลิบและตกแต่งชายเสื้อสีดำเป็นต้น ไทดำกลุ่มนี้ได้ถูกกวาดต้อนเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น คนไทยภาคกลางเรียกกันว่า ?ลาวทรงดำ?  เพราะเข้าใจว่าเป็นพวกเดียวกับลาวและอพยพมาพร้อมกับลาวกลุ่มอื่น ๆต่อมาชื่อเดิมได้หดหายลง คำว่า?ดำ? หายไปนิยมเรียกกันในปัจจุบันว่า?ลาวทรง?หรือ ?ลาวโซ่ง? จนบางครั้งไม่รู้ว่า ลาวโซ่งนี้คือพวกไทดำนั่นเอง
        
 

  แคว้นสิบสองจุไท ประกอบไปด้วยเมืองสำคัญสิบสองเมือง หรือสิบสองจุ แต่ละจุหรือ แขวงประกอบด้วยเมืองเล็ก ๆ และหมู่บ้านที่อยู่ใกล้กัน โดยอยู่ภายใต้ การปกครองของเจ้าเมืองในแขวงนั้น ๆ แต่ละเมืองจะมีการปกครองที่เป็นอิสระต่อกัน บางเมืองจะเกี่ยวพันโดยญาติหรือแต่งงานกัน ตามพงศาวดารเมืองไลหรือไลเจา (Lai Chaw)  กล่าวว่า เมืองที่พวกไทดำอาศัยอยู่ คือ ?แถน? หรือ ?เมืองแถน? หรือ ?เมืองทันต์?  ปัจจุบันคือ ?เมืองเดียนเบียนฟู? (Dien Bien Phu)  ประเทศเวียดนามเป็นเมืองศูนย์กลางที่สำคัญ เมืองความหรือเมืองกาย เมืองตุง  เมืองม่วยหรือม่วน เมืองลา เมืองหวัด เมืองซาง เมืองโมะ  รวม 8 เมือง กับเมืองที่ผู้ไทขาวอาศัยอยู่ 4 เมือง คือ เมืองไล เมืองเจียน เมืองมุน หรือเมืองบาง รวมทั้งหมด 12 เมือง เมืองดังกล่าว เรียกว่าแคว้นสิบสองจุไท หรือสิบสองผู้ไท ในการแบ่งเขตของแต่ละเมืองแต่ละจุนั้นเป็นไปตามธรรมชาติของพื้นที่ โดยอาศัยลักษณะภูมิประเทศเป็นแนวกั้นพรมแดน เช่น ลำห้วย ภูเขา ป่าไม้ ไม่มีการเขียนแผนที่แบ่งอาณาเขตแน่นอน  หมู่บ้านใดขึ้นอยู่กับเมืองใดก็ขึ้นอยู่กับความสะดวก ความใกล้ชิดทางพื้นที่และความสัมพันธ์ของความเป็นญาติ แคว้นสิบสองจุไทมิได้มีการรวบรวมการปกครองให้เป็นอาณาจักร อันหนึ่งอันเดียวกัน
           สิบสองจุไทเป็นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมของไทดำ ไทขาว  ไทแดง  และไทอื่น ๆ มาช้านาน ก่อนที่พวกญวณจะขยายอำนาจไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของแคว้นตังเกี๋ย และอานาม คนไทยแคว้นสิบสองจุไทได้ปกครองตนเองเป็นอิสระมาช้านาน จนกระทั่งกลุ่มไททางด้านทิศตะวันตกมีอำนาจขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 19-20
           บริเวณที่อยู่อาศัยระหว่างดินแดนภาคเหนือและแคว้นสิบสองจุไททางใต้ภายใต้การปกครองของเมืองหลวงพระบาง มีอยู่ห้าเมืองและต่อมาเพิ่มอีกหนึ่งเมืองเป็น 6 เมือง เรียกว่า ?หัวพันทั้งห้าทั้งหก? ได้แก่เมืองควาย เมืองดุง เมืองม่วย เมืองลา เมืองไล เมืองแถง โดยเฉพาะเมืองแถงอยู่ห่างไกลจากนครหลวงพระบาง มีอาณาเขตติดต่อกับภาคใต้ของจีน และตอนเหนือของเวียดนาม อำนาจของหลวงพระบางจึงปกครองได้ไม่ทั่วถึง จึงให้อำนาจในการปกครองตนเอง แต่ยังอยู่ในอำนาจของเจ้าหลวงพระบาง ดังนั้นในยุคนั้นบางสมัย หัวเมืองฝ่ายเหนืออันมีเมืองแถง เป็นต้น ขึ้นอยู่กับจีนบ้าง เวียดนามบ้าง เรียกว่า ?สามฝ่ายฟ้า? ต่อมา ?หัวพันทั้งห้าทั้งหก? มาเป็นจังหวัดหนึ่งของลาวตอนเหนือ เรียกว่า ?แขวงหัวพัน ซำเหนือ หรือเวียงไชย? กลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ส่วนมากเป็นชาวไทดำซึ่งลาวเรียกว่า ?ไทเหนือ? เพราะตั้งอยู่ติดกับเมืองแถงแห่งสิบสองจุไท และไม่ห่างจากแม่น้ำหลำ หรือดำ
          ไทดำอาศัยอยู่ทั่วไปตั้งแต่มณฑลกวางสียูนานและบริเวณแม่น้ำดำ แม่น้ำแดง ในแคว้นตั๋งเกี๋ย ไทดำจากแคว้นสิบสองได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทย
ไทยทรงดำ หรือ ลาวโซ่ง ถูกกวาดต้อนและอพยพเข้าสู่ประเทศไทย ๓ ครั้ง

        ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๒๒ สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี สาเหตุของเจ้าเมืองเวียงจันทน์ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก ยกกองทัพไปเวียงจันทน์ ได้รวบรวมครอบครัว    ชาวเวียงจันทน์มาอยู่ในไทยพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าให้สร้างบ้านเรือนอยู่ที่ จังหวัดสระบุรี     จังหวัดราชบุรี และจังหวัดจันทบุรี

      ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๓๕  สมัยรัชกาลที่ ๑ รวบรวมครอบครัว ลาวโซ่ง ลาวพวน ลาวเวียงมาประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง สาเหตุเมืองแถง เมืองพวน แข็งข้อต่อเมืองเวียงจันทน์ เจ้าเมืองเวียงจันทน์ยกกองทัพ ไปตีได้  ลาวโซ่ง ลาวพวน ลาวเวียง ลงมาถวายพระมหากษัตริย์ไทย ที่กรุงเทพฯ รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าให้ลาวเวียงไปอยู่ที่ จังหวัดสระบุรี ลาวพวนไปอยู่ที่ จังหวัดสุพรรณบุรี และลาวโซ่งมาอยู่ที่หมู่บ้านหนองเลา หรือ หนองลาว (หนองปรง)  ตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี

     ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๓๖๙ ? ๒๓๗๑ สมัยรัชกาลที่ ๓ เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ก่อกบฏ  ต่อประเทศสยาม สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ยกกองทัพไปปราบเมืองแถง ได้รวบรวมครอบครัวลาวโซ่งมาไว้ที่จังหวัดเพชรบุรี    ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ ตำบลท่าแร้ง อำเภอบ้านแหลม   แต่เนื่องจากลาวโซ่งอาศัยอยู่ที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง แต่บริเวณนั้นเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมถึง ลาวโซ่งไม่เคยชินกับความอยู่แบบนี้ จึงอพยพมาในอำเภอเขาย้อย เพราะลักษณะภูมิประเทศคล้ายเมืองแถง  มีทั้ง ป่า ภูเขา ลำห้วย จึงได้ตั้งบ้านเรือนหนาแน่น ที่สุด ที่ตำบลหนองปรง ตำบลห้วยท่าช้าง ตำบลทับคาง    ลาวโซ่งรุ่นเก่ายังไม่ลืมถิ่นฐานบ้านเดิม มีความปรารถนาจะกลับไปบ้านเกิดของตน เมื่อเดินทางไปนานๆ มีคนเจ็บคนตายไปเรื่อยๆ หลายคน พวกลูกหลานไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เพราะไม่รู้ถิ่นฐานบ้านเกิดจึงตั้งหลักอาศัยอยู่บริเวณนั้น ได้แก่ จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร เป็นต้น

 

พิธีงานแต่งงาน (25/7/2013)
ในวันแต่งงานหรือที่เรียกว่า ?ส่ง? เจ้าบ่าวและญาติพี่น้อง จะยกขันหมาก กะเหล็บเอาไว้ใส่หมากพลู ยาสูบ หมาก ๒๐ ใบ พลู ๑ ห่อ ยาสูบ ๑ ห่อ ปูนแดง ๑ ห่อ ๔ กะเหล็บ เครื่องเรือน ที่นอน ของใช้อื่นๆ ที่จำเป็น ขนม ๔ ถาด เหล้าขาว ๑ เท ของไหว้ผีเรือน หมู ไก่ ขนมใส่กระจาด เมื่อไปถึงบ้านเจ้าสาวก็จะทำพิธีให้เจ้าบ่าวไหว้ผีเรือน กินดองหรือกิน ดอง
    
 


คือ ประเพณีการแต่งงานหลังจากที่หนุ่มสาวได้ตกลงปลงใจต่อกันแล้ว จะส่งผู้ใหญ่ไปสู่ขอซึ่งเรียกว่าไป ส่อง หรือส่องขันหมากน้อย ซึ่งมีความหมายเท่ากับการหมั้นโดยจัดหมากพลูใส่กะเหล็บ ผู้ต้าวใช้ ๔ กะเหล็บ ผู้น้อย ๒ กะเหล็บ ซึ่งฝ่ายหญิงจะนำไปแจกญาติของตน เดือนที่ไม่นิยมแต่งงาน คือเดือน ๕ สำหรับวันต้องไม่ใช้วันเวนตง ของฝ่ายหญิง (วันเวนตงคือวันเลี้ยงผีประจำบ้าน) วันแต่งงานเจ้าบ่าว เจ้าสาวต้องใส่เสื้ฮี ผู้ต้าวมีเพื่อนเจ้าบ่าว เจ้าสาวจำนวน ๖ ? ๘ คน ผู้น้อยใช้ ๒ ? ๔ คน ชุดเจ้าบ่าวต่างจากชุดเพื่อนเจ้าบ่าวต้องใส่เสื้อฮีทุกคน เฉพาะเจ้าบ่าวต้องสวมหมวกงอบ สะพายย่ามแดงบ่าขวา สะพายฝักมีดบ่าซ้าย ซึ่งให้ความหมายว่ามีความขยันทำมาหากินแข็งแรง

การแต่งงานมีขั้นตอน ๔ ขั้นตอน คือ ส่อง สู่ สา ส่ง

ขั้นส่อง คือ การไปจีบสาวสอดส่องด้วยตนเองว่าสาวใดถูกใจ มักจะใช้ในโอกาสการเล่นการละเล่นพื้นบ้านหรืองานประเพณีต่างๆ

ขั้นสู่ คือ ฝ่ายชายหมายตาว่าจะให้หญิงนั้นเป็นคู่ครอง ก็จะให้ผู้ใหญ่ไปเจรจาสู่ขอจากพ่อแม่ของสาว ซึ่งต้องใช้ขันหมากพลูและเงินทองไปมอบให้ฝ่ายหญิง

ขั้นสา คือ ฝ่ายชายที่ได้ทำการสู่ขอสาวแล้วนั้นเป็นผู้ที่ยากจนมีเงินทองน้อย หรือทางฝ่ายหญิงไม่มีพี่น้องฝ่ายชายจึงช่วยทำงานให้กับพ่อแม่ ฝ่ายชายจะต้องนำตัวเองมา ?อาสา? ทำงานรับใช้พ่อแม่ฝ่ายหญิงเป็นการทดแทน บางรายใช้เวลาเป็นปี ในระยะนี้ชายและหญิงอาจอยู่กินฉันสามีภรรยาได้ด้วยเป็นบางรายเท่านั้น กรณีที่พ่อแม่ฝ่ายหญิงไม่เรียกสินสอดทองหมั้น สา คือ อาสา โดยฝ่ายชายต้องอยู่บ้านฝ่ายหญิง เพื่อช่วยทำมาหากิน ตามแต่จะกำหนดเวลาไว้ว่ากี่ปี แล้วจึงนำฝ่ายหญิงนำไปสู่บ้านของตนซึ่งจะต้องทำพิธี ?แต่งเข้าผี? โดยฝ่ายหญิงออกจากผีเรือนของฝ่ายตนไปฝากเนื้อฝากตัวให้ผีเรือนฝ่ายชายปกป้องคุ้มครองถือว่าเป็นการออกเรือนของหนุ่มสาว

ขั้นส่ง คือ งานเลี้ยงฉลองเพื่อส่งตัวเจ้าสาวไปยังบ้านเจ้าบ่าวเรียกว่า ?นัดมื้อส่ง? บรรดาญาติทั้งสองฝ่ายจะทำการเลี้ยงฉลองกันและกันทั้งสองฝ่าย งานส่งมักจะเป็นพิธีสำคัญในการแต่งงานตามประเพณีไทย ไทดำทั่วๆไป แต่ต้องใช้หมอพิธีดำเนินการเช่นเดียวกับประเพณีอื่นๆ ในการส่งตัวเจ้าสาวนั้น หมอพิธีจะต้องทำขวัญบ่าวสาวที่บ้านหนุ่มก่อนที่จะเข้าเรือนหอด้วยการทำขวัญแต่งงานส่วนใหญ่ คือการสอนให้รู้จักประพฤติปฏิบัติตนให้กับชายหญิงที่จะมีชีวิตร่วมกันในการครองเรือนเป็นสำคัญ



 

พิธีงานศพไทยทรงดำ (25/7/2013)
เมื่อผู้ตายเกิดขึ้นในบ้านเจ้าของบ้านยิงปืนขึ้นฟ้า เพื่อส่งวิญญาณผู้ตายไปที่ชอบ ความเป็นจริงคือแจ้งเพื่อนบ้านให้รู้ว่ามีการตายเกิดขึ้นเมื่อผู้ชราเสียชีวิตในบ้านบรรดาญาติพี่น้องในหมู่บ้านนั้นจะหยุดทำงานและมาชุมนุมแสดงความเสียใจ ศพจะตั้งไว้ในบ้าน หลังจากได้ทำความสะอาดและสวมเสื้อฮีประจำตัวให้และบรรจุโลงเรียบร้อยแล้ว
จากนั้นจะนำศพไปยังป่าช้า (แฮ่ว) หรือวัดเพื่อทำการเผา รุ่งขึ้นเช้าจึงทำการเก็บกระดูกหมอพิธีจะนำกระดูกบรรจุลงในภาชนะดินเผามีฝา ปิดฝังลงใต้ถุนบ้านซึ่งสร้างขึ้นอย่างหยาบๆ เพื่ออุทิศให้ศพ เช่น เสื้อผ้าที่ตัดเย็บเป็นตัวแล้ว เสื้อฮีและผ้าทอเป็นผืนๆ แขวนไว้บนเสาหลวงสร้างเรือนแก้วและเสายอดเป็นปลีดอกไม้ให้ จากนั้นที่บ้านของผู้ตายจะทำพิธีล้างเรือนให้เรือนสะอาด เขาเชื่อกันว่าเรือนที่มีคนตายจะเป็นเรือนที่ไม่สะอาด จึงต้องให้แม่มดมาทำพิธีรับเคราะห์และปล่อยไป รุ่งขึ้นจึงทำพิธีเชิญวิญญาณผู้ตายเข้าบ้านเพื่อเป็นผีเรือนประจำบ้านต่อไป บางรายก็ส่งวันเดียวแล้วห่อข้าวเผื่อวันรุ่งขึ้นกรณีที่ผู้ตายอายุ ๖๐ ปีเศษๆ หากอายุสูงปฏิบัติเช่นนี้ไม่ได้ การตายผู้ใดสิ้นลมที่บ้านมีลูกหลาน ห้อมล้อมถือว่ามีบุญ การอวยพรให้ทายาทผู้ตายนิยมกล่าวว่า ?เออเอ็มได้วางมั่นวางยืนไว้เห่าเน้อเห่าอายุมั่นขวัญยืนกวามเจ็บอย่าได้ไห กวามไล้อย่าได้มี? คำขีดเส้นใต้คือสถานภาพของผู้ตาย หากมีศักดิ์เป็น พ่อ ลุง อา ก็ว่าตามศักดิ์ หลังจากพิธีดังกล่าวมาแล้วนัดวันเอาผีขึ้นเรือนคือเชิญวิญญาณมาปกป้องคุ้ม ครองลูกหลานแต่ผู้นั้นต้องไม่ตายโหง
    
    
    






 

พิธีเสนเรือน (25/7/2013)
พิธีเสนเรือน(เซ่นผี) การไหว้ผีที่กะล้อห่อง ซึ่งแปลว่า มุมห้อง นิยมทำ ๒ ? ๓ ปีต่อครั้งเพื่อจะได้มีสุข ?เอ็ดนาก็มีข้าวขาย เอ็ดไฮก็มีหมากไม้? เดือนที่ไม่เสนเรือนคือเดือน ๙ เดือน ๑๐ เพราะผีเรือนไปเฝ้าแถน พิธีการเซ่นผู้น้อยกินหมู ผู้ต้าว(ท้าว)กินควาย ควายหรือหมูใช้ตัวผู้ เครื่องเซ่น จะจัดใส่ปานเผือน มักจะมีอย่างละ ๗ ห่อ
    
    

มีหมู ไก่ กล้วย เผือก มัน อ้อย ใช้คีบด้วยถู (ตะเกียบลาว) หมอผี จะเรียกตาม ?ปั๊บผีเรือน? คือ ชื่อคนตายที่ไม่ตายโหง(เสียชิวิตด้วยอุบัติเหตุ) คำนำหน้าผีชายเรียก กว้าน ผีหญิงเรียก น้องนาง (คำนำหน้าตอนเป็นคนชายเรียก บา หญิงเรียก อิ ไม่ใช่อี) เสนเรือนทำ ๓ วัน วันแรก เตรียมงานกลางดึงฆ่าหมู วันที่สองรวมญาติทำพิธี วันที่สามแป่ (รื้อ) หัวหมู กินหัวหมู เฉพาะญาติใกล้ชิด คือ ชื่อคนตายที่ไม่ตายโหง(เสียชิวิตด้วยอุบัติเหตุ) คำนำหน้าผีชายเรียก กว้าน ผีหญิงเรียก น้องนาง (คำนำหน้าตอนเป็นคนชายเรียก บา หญิงเรียก อิ ไม่ใช่อี) เสนเรือนทำ ๓ วัน วันแรก เตรียมงานกลางดึงฆ่าหมู วันที่สองรวมญาติทำพิธี วันที่สามแป่ (รื้อ) หัวหมู กินหัวหมู เฉพาะญาติใกล้ชิด



 

พิธีปาดตง (25/7/2013)
ไทยทรงดำต้องทำพิธีเซ่นไหว้ผีเรือนทุก 10 วัน เรียกว่า ?ปาดตง? หมายความว่านำเครื่องเซ่นไปวางตั้งไว้ (ปาด - วาง, ตง - ตั้งไว้) ที่กะล้อห่องแล้วกล่าวเชิญให้ผีเรือนมากิน เครื่องเซ่นก็มีข้าวกับข้าว หมากพลู บุหรี่ วันเซ่นไหว้เช่นนี้เรียกว่า ?มื้อเวนตง?
พิธีปาดตงข้าวใหม่
การได้กินข้าวใหม่แล้วจะต้องให้ผีเรือนมากินข้าวใหม่ก่อน เพื่อจะได้เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ในสมัยก่อนชาวไทยทรงดำ หมู่ ๑ ตำบลหนองเต่า อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ทำนา จะทำพิธีปาดตงข้าวใหม่ โดยเชิญญาติพี่น้องที่เป็นผีเดียวกันมาร่วมพิธีด้วย พิธีนี้นี้เจ้าของบ้านจะเป็นผู้ทำพิธีและจัดให้เสร็จภายในวันเดียว
ระยะเวลาจัดงานพิธีปาดตงข้าวใหม่เป็นพิธีที่ชาวไทยทรงดำหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว จะทำปาดตงข้าวใหม่ โดยจะทำ1ปีต่อครั้ง จัดขึ้นราวเดือนอ้าย เดือนยี่
วิธีการปาดตงข้าวใหม่โดย เตรียมข้าวเม่า (ข้าวในนานำมาคั่วแล้วตำ) นึ่งข้าวเหนียว ข้าวฮางปางข้าวใหม่(ข้าวเปลือกที่เป็นข้าวเหนียว มานึ่งแล้วนำมาตากแดดให้แห้ง เมื่อตากแดดแห้งแล้วก็เอาไปตำฟาดแกลบออก เอาแต่เมล็ดข้าวเหนียวมานึ่งอีกครั้งหนึ่ง) ข้าวตะหลาย(เป็นเมล็ดข้าวเหนียวที่เกี่ยวมาตากแล้วนำมาสีมาตำเป็นข้าว เหนียว)พอถึงวันปาดตงจึงนำข้าวเหนียว ข้างฮาง ส่วนข้าวเม่าคลุกเคล้ากับมะพร้าวขูดพรมน้ำเกลือ ขนมข้าวต้มมัด ขนมนมสาว(ขนมเทียน) อ้อย กล้วย เผือก มัน และผลไม้แล้วแต่จะหาได้ไก่1ตัว สำหรับทำแกงใส่หน่อไม้ ซึ่งแกงไก่ใส่หน่อไม้นี้จะขาดไม่ได้ นอกจากแกงหน่อไม้แล้ว จะมีแกงและอื่นๆ เช่น ผักจุ๊บ ผักแว่น ผักบุ้ง แจ่ว ปลาร้า เมื่อเตรียมเครื่องเซ่นเรียบร้อยแล้วก็เริ่มพิธีปาดตงเครื่องเซ่นที่เตรียม ใส่สำรับมีเล้า1ขวด ขันหมาก ขันน้ำ ข้าวเหนียวใส่กล่อง ข้าวเม่า ข้าวฮางใส่ถ้วย แล้วจัดสำรับทั้งคาวแล้วหวานไปไว้ที่กะล่องหองวางไว้บนเสื่อที่ปูเตรียมไว้ จากนั้นเจ้าของบ้านและเพื่อนบ้านก็จะเรียกให้ผีปู่ย่า ตายาย มากิน โดยจะใช้ระยะเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง หลังจากนั้นจึงเรียกญาติพี่น้องมากินปาดตงข้าวใหม่

 

พิธีขึ้นบ้านใหม่ (25/7/2013)
เมื่อปลูกเรือนใหม่ก็จะทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ มักทำเวลาบ่ายหลังจาก 15.00 น. ล่วงไปแล้ว หมอพิธีจะมาข่มขวง คือข่มสิ่งเลวร้าย ไล่สิ่งที่ไม่ดีออกไปให้หมด ผีร้ายออกจากไม้ไปอยู่ที่อื่น แล้วจึงเอาผีขึ้นบ้าน หมอจะเรียกขึ้น จะมีหาบ ที่นอน หมอน มุ้ง สิ่งที่เป็นมงคลขึ้นมาไว้ในห้อง ของใช้จำเป็นห้ามขาด เช่น เงิน ทอง น้ำ เกลือ ไปไว้ในห้องผีเรือน
    



   
   
      
      
       

   
       

การแต่งกาย เน้นด้วยผ้าสีดำหรือสีกรมท่า โดยแบ่งออกเป็นของผู้ชายและผู้หญิงการแต่งกายผู้ชาย คือ ใส่เสื้อไทติดกระดุมเงินตั้งแต่ ๑๑ เม็ดขึ้นไป สวมซ่วงก้อม หรือ (กางเกงขาสั้น) คาดด้วยสายคาดเอว หรือ (ฝักเอว) ใส่เสื้อฮีชายในชุดพิธีกรรม
เสื้อไทย ซ่วงก้อม           เสื้อฮีชาย


การแต่งกายผู้หญิง คือ ใส่เสื้อก้อมติดกระดุมเงินไม่เกิน ๑๑ เม็ด ฮ้างผ้าซิ่นลายแตงโม ทรงหน้าวัว หรือหน้าสั้นหลังยาว ผาดบ่าด้วยผ้าเปียว สะพายกะเหล็บ ใส่เสื้อฮีหญิงในชุดพิธีกรรม
เสื้อก้อม
ผ้าซิ่นลายแตงโม           เสื้อฮีหญิง
   
   
      
      
       

   
       

| | | |

ทรงผมแบ่งออกเป็น ๘ ทรง คือ เอื้อมไร สับปิ้น นกกะแลหรือช่อดอกแค จุ๊กต๊บ ขอกะต๊อก ขอดซอย ปั้นเกล้าต่วง ปั้นเกล้าต๊ก (หญิงที่สามีเสียชีวิต)
    
เอื้อมไร   สับปิ้น

        
จุ๊กต๊บ    นกกะแลหรือช่อดอกแค

    
ขอกะต๊อก   ขอดซอย

            
ปั้นเกล้าต่วง   ปั้นเกล้าต๊ก (หญิงที่สามีเสียชีวิต)
   
   
       

   
       

| | | |



ลักษณะบ้านเรือนของไทยทรงดำ
 
เฮือน(เรือน)ไทดำแบบดั้งเดิมมีลักษณะที่โดดเด่นเป็น เอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม คือ มีหลังคาทรงโค้งรูปกระดองเต่า มุงหญ้าคายาวคลุมลงมาเกือบถึงพื้นดินแทนฝาเรือน เพื่อป้องกันลม ฝน และอากาศที่หนาวเย็น(ในอดีตชุมชนไทยดำตั้งอยู่ในแถบอากาศหนาว) ตัวเรือนยกใต้ถุนสูงเพื่อประโยชน์ในการเก็บสิ่งของเครื่องใช้ เป็นที่ประกอบการงาน เช่น ทอผ้า ตำข้าว เป็นคอกเลี้ยงสัตว์ มักมีแคร่ไว้นั่งนอนและเป็นที่รับแขกในเวลากลางวัน เสาเรือนทำด้วยไม้ทั้งต้น มีง่ามไว้สำหรับวางคาน ยอดจั่วประดับด้วยไม้แกะสลักเป็นกิ่งคล้ายเขาควายไขว้กัน เรียกว่า ?ขอกุด? พื้นเรือนทำด้วยไม้ไผ่ทุบเป็นชิ้นๆแผ่ออกติดกัน ภายในตัวบ้านเป็นพื้นที่โล่งแบ่งส่วนสำหรับที่นอน ครัว และเป็นส่วนที่บูชาผีเรือน เรียกว่า ?กะล้อห่อง? มีชานแดดยื่นออกจากตัวบ้าน มีบันไดขึ้นเรือน 2 ทาง มียุ้งข้าวที่สร้างเป็นเรือนยกเสาสูงไว้ข้างที่พักอาศัย คนไทดำจะปลูกบ้านอยู่ใกล้ๆกัน
 ต่อมารูปแบบเรือนไทดำได้ เปลี่ยนแปลงไปตามความจำเป็นและความเหมาะสมตามยุคสมัย หญ้าคาที่นำมาทำวัสดุมุงหลังคาหายาก ไม่คงทน ทั้งยังเป็นวัสดุที่ง่ายต่อการติดไฟ เนื่องจากบ้านไทดำปลูกใกล้กันเป็นกลุ่ม หากเกิดไฟไหม้จะลุกลามไปบ้านอื่นๆได้รวดเร็ว ลักษณะบ้านและวัสดุที่ใช้จึงเปลี่ยนเป็นไม้เนื้อแข็ง หลังคาเป็นสังกะสี มีการแบ่งกั้นห้องตามลักษณะการใช้สอย


 ปัจจุบันเรือนไทดำมีลักษณะผสม ผสานระหว่างเรือนแบบดั้งเดิมกับเรือนสมัยใหม่ บ้างก็ใช้วัสดุผสมของปูนกับไม้ บางบ้านก็เป็นรูปทรงสมัยใหม่ไม่มีเอกลักษณ์ของไทยดำอยู่เลย แต่ไม่ว่าลักษณะที่อยู่อาศัยของคนไทยดำจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทุกบ้านจะมีห้องสำหรับบูชาผีเรือน นับเป็นความน่าเสียดายว่าลักษณะที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มไทดำ แท้ๆกำลังจะสูญหาย แม้ที่ตำบลหนองปรงจะมีเรือนไทยดำแบบดั้งเดิมอยู่ แต่ก็เป็นเพียงเรือนที่สร้างจำลองไม่มีผู้อยู่อาศัย
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 เดือนมีนาคม 2554 ได้เดินทางไป ชมพิธีเสนเรือนของ ชาวไทยทรงดำ บ้านวังน้ำ ตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ตามคำเชิญของคุณจันทรา กุลนันทคุณ วัฒนธรรมอำเภอคลองขลุงพร้อม ปฐมาภรณ์ บุญผดุงชัย นักวิชาการวัฒนธรรม พิธีกร และตากล้องยอดฝีมือ คุณจักรพรรดิ์ ร้องเสียง จากทิพย์เคเบิลทีวี เดินทางไปบ้าน คุณสมาน ศรีรัตน์ ศิลปินพื้นบ้านวังยาง และสืบตระกูลมาจากไทยทรงดำ โดยตรง อายุ 51 ปี เกิดที่บ้านวังน้ำนี่เอง ได้รับการต้อนรับจาก ท่านเจ้าของบ้านอย่างดียิ่ง พร้อมทั้ง ประชาชน ที่เป็นญาติพี่น้องในหมู่บ้าน หลายสิบคน สวมเสื้อผ้า ไทยทรงดำอย่างงดงาม
ชาวไทยทรงดำ เป็นชนเผ่าไทยกลุ่มหนึ่งซึ่งมีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่บริเวณดินแดนสิบสองจุไทยในเวียดนามเหนือปัจจุบัน คนไทยมักเรียกพวกเขาว่า 'ลาวโซ่ง' หรือ 'ไทยโซ่ง' เนื่องจากอพยพผ่านมาทางประเทศลาว ซึ่งคำว่า ?โซ่ง? เป็นคำที่ถูกเรียกตามชุดแต่งกายเพราะนุ่งส่วงดำหรือกางเกงสีดำ ปัจจุบันนิยมเรียกว่า 'ไทยทรงดำ'
ครั้งอดีตสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี(พ.ศ. 2322) ได้กวาดต้อนไทยดำพร้อมลาวในเวียงจันทน์และเมืองพวนมาอยู่ที่ธนบุรี ต่อมารัชกาลที่ 3 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ลาวเวียงอยู่ที่ จ.ราชบุรี ลาวพวนอยู่ที่ธนบุรี และให้ไทยทรงดำไปตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี และสืบลูกหลานมาเป็นไทยทรงดำเมืองเพชร ซึ่งตั้งบ้านเรือนกระจายอยู่ในเขตอำเภอเมือง บ้านแหลม บ้านลาด ท่ายาง หนองหญ้าปล้อง แต่ที่หนาแน่นที่สุดคือที่อำเภอเขาย้อย แถบบ้านห้วยช้าง, หนองปรง, หนองจิก, ทับคาง, ดอนทราย และหนองชุมพล ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แม้อิทธิพลจากภายนอกจะเข้ามาครอบงำมากขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่ต้องปรับตัวไปตามยุคสมัย แต่ชาวไทยทรงดำรุ่นก่อนๆ ยังคงดำเนินวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและรักษาประเพณีเดิมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะการแต่งกายอีกทั้งยังพยายามสืบทอดประเพณีวัฒนธรรมอันงดงามสู่ลูกหลานคนรุ่น ใหม่ ไม่ให้ถูกกลืนไปตามกระแสวัฒนธรรมสมัยใหม่ จนหลงลืมรากเหง้าของตนเอง
ประเพณี ที่จะนำเสนอในวันนี้ ชื่อว่า เสนเรือน หรือเสนเฮือน ซึ่งคุณสมาน ศรีรัตน์ ได้ตั้งใจ ที่จะเซ่นบรรพบุรุษหลายชั่วคน ดังได้รับคำอธิบายจากหมอผู้ทำพิธี คือหมอทุ้ย แขวนงาม หมอเสนเรือนจากตำบลโค้งไผ่ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร มีความสำคัญว่า
พิธีเสนเรือน เป็นพิธีสำคัญพิธีหนึ่งของลาวโซ่งซึ่งจะขาด หรือละเลยเสียมิได้เนื่องจากเชื่อว่าเป็นการกระทำที่เพิ่มความเป็นสวัสดิมงคลแก่ครอบครัว และจะต้องจัดทำอย่างน้อยปีละครั้งเพราะคำว่า "เสน"ในภาษาลาวโซ่ง หมายถึง การเซ่นหรือสังเวย "เสนเรือน" จึงหมายถึงการเซ่นไหว้ผีเรือนของพวกลาวโซ่ง อันได้แก่ การเซ่นไหว้ปู่ ย่า ตา ยาย รวมทั้งบรรพบุรุษทุกคนให้มารับเครื่องเซ่นไหว้ ที่บุตรหลานจัดหามาเซ่นไหว้จะได้ไม่อดอยาก และจะได้คุ้มครองบุตรหลานให้มีความสุขความเจริญสืบไป

การทำพิธีเสนเรือน เจ้าภาพจะเชิญผู้ประกอบพิธีคือ"หมอเสน" มาเป็นผู้ประกอบพิธีเสนเรือน พร้อมกับแจ้งญาติพี่น้อง ให้ทราบกำหนดวันทำพิธีไหว้ผีเรือน หรือเสนเรือน และจัดเตรียมเครื่องใช้ในการทำพิธีให้เรียบร้อย ได้แก่ เสื้อฮี-ส้วงฮี สำหรับเจ้าภาพสวมใส่ขณะทำพิธีเสนเรือน ปานเผือน (ภาชนะคล้ายกระจาดขนาดใหญ่ บรรจุอาหารเครื่องเซ่นผีเรือน) ปานข้าว(ภาชนะใส่อาหารในหม้อเสน) ตั่งก๋า (เก้าอี้หรือม้านั่ง สำหรับหมอเสนนั่งทำพิธีในห้องผีเรือน) และอาหารที่เป็นเครื่องเซ่นต่าง ๆ อาทิหมูจุ๊บ (เนื้อหมู เครื่องในหมูยำ) แกงไก่กับหน่อไม้เปรี้ยว เนื้อหมูดิบ ซี่โครงหมู ไส้หมู ข้าวต้มผัดใส่กล้วย มันเทศต้ม เผือกต้ม อ้อย ขนม ผลไม้ต่าง ๆ ตามฤดูกาล ข้าวเหนียวนึ่ง ๗ ห่อ ตะเกียบ ๗ คู่ หมากพลู บุหรี่ และเหล้าเป็นต้น
เมื่อได้เวลาเซ่นไหว้ผีเรือน เจ้าภาพจะจัดเครื่องเซ่นต่าง ๆ บรรจุลงในปานเผือนที่เตรียมไว้ และยกเข้าไปวางไว้ในห้องผีเรือนที่เรียกว่า "กะล่อห่อง" ซึ่งเป็นสถานที่ทำพิธี หมอเสนจะเริ่มเซ่นไหว้ ด้วยการเรียกหรือกล่าวเชิญบรรดาผีเรือน ที่เป็นบรรพบุรุษของเจ้าภาพ โดยเรียกชื่อบรรพบุรุษตามบัญชีรายชื่อ ที่เจ้าภาพจดร่วมกันไว้ในสมุดผีเรือน เรียกว่า "ปั๊บผีเรือน" หรือ "ปั๊บ" จนครบทุกรายชื่อเป็นจำนวน ๓ ครั้ง แต่ละครั้ง หมอเสนจะใช้ตะเกียบคีบหมู กับขนมทิ้งลงไปในช่องเล็ก ๆ ข้างขวาห้องผีเรือนที่ละครั้ง จึงเซ่นเหล้าแก่ผีเรือนอีก ๒ ครั้ง เพราะการเซ่นเหล้าเป็นสิ่งสำคัญอันไม่อาจขาดหรืองดเสียได้ เพื่อให้ผีเรือนได้กินอาหารและดื่มเหล้าอย่างอุดมสมบูรณ์
หลังจากเซ่นไหว้ผีเรือนเรียบร้อยแล้ว หมอเสนจะทำพิธีเสี่ยงทายให้แก่เจ้าภาพเรียกว่า "ส่องไก่"ด้วยการพิจารณาลักษณะของตีนไก่ในแกงหน่อไม้เปรี้ยวที่เจ้าภาพนำมาให้และจัดทำนาย ในลักษณะดังกล่าวคือหากตีนไก่หงิกงอแสดงว่า ไม่ดีจะมีเรื่องร้าย เกิดขึ้นอันได้แก่การเจ็บป่วย การตาย หรือการทำมาหากินประสบปัญหาต่าง ๆ เป็นต้น แต่ถ้าตีนไก่เหยียดตรง แสดงว่าทุกคนในครอบครัวของเจ้าภาพจะประสบแต่ความสุขความเจริญต่อจากนั้น เจ้าภาพจะทำพิธีขอบคุณหมอเสนที่มาช่วยทำพิธีเสนเรือน ให้แก่ครอบครัวของตนเรียกว่า "ฟายหมอ" แล้วจึงเลี้ยงอาหารแขกที่มาช่วยงานเป็นอันเสร็จพิธี
ขอบคุณ คุณสมาน ศรีรัตน์ ที่กรุณาให้คณะทำงานโทรทัศน์วัฒนธรรม ของเรา ได้ถ่ายทำพิธีเสนเรือนโดยละเอียด และประชาชนพี่น้องไทยทรงดำทุกคน ที่ให้การต้อนรับคณะของเราอย่างดียิ่ง
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: สิงหาคม 21, 2014, 02:39:40 pm โดย apairach » บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!