จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
มีนาคม 28, 2024, 07:11:45 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: การเขียนสารคดี  (อ่าน 4718 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1410


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: สิงหาคม 17, 2014, 10:46:31 pm »

  สารคดีเป็นงานเขียนที่มีมานานแล้วในประเทศไทย  แต่นิยมเขียนไว้ในรูปของ  พงศาวดาร  ตำนาน  ตำรา  หนังสือสอนศาสนา  จดหมายเหตุ  ประกาศของทางราชการ ฯลฯ  การเขียนสารคดีของไทยเริ่มมีรูปแบบที่ชัดเจนในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทั้งนี้เพราะได้มีการติดต่อกับประเทศทางตะวันตก
 
 
 
๑.     ความหมายของสารคดี       
 
                 พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช  ๒๕๔๒ อธิบายความหมายของสารคดีว่า  หมายถึง  ? เรื่องที่เขียนขึ้นจากเค้าความจริง  มิใช่เรื่องที่เกิดจากจินตนาการ? 
งานเขียนสารคดีจึงเป็นข้อเขียนที่ผู้เขียนต้องการจะให้สาระ ความรู้ ความคิด  โดยไม่ใช้จินตนาการและอารมณ์ผสมผสานลงไป  แต่จะต้องใช้ภาษาสำนวนที่มีศิลปะ  คมคาย  เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน
 
                 ด้วยเหตุที่  สารคดีเป็นเรื่องที่เขียนขึ้นจากความเป็นจริง  ทำให้เนื้อหาของสารคดีเกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ   ได้แก่  บุคคล  ภูมิศาสตร์  ประวัติศาสตร์  วิทยาศาสตร์  การเดินทางท่องเที่ยว การอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น  แนะนำกิจกรรมต่าง ๆ  สถานสำคัญ
ในแต่ละท้องถิ่น       
 
๒.    ประเภทของสารคดี                 
 
         สารคดีแบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้           
                  ๒.๑  สารคดีบุคคล  เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับชีวิตที่น่าสนใจของบุคคลทั่วไปในแง่มุมต่าง  ๆ 
                 ๒.๒  สารคดีโอกาสพิเศษ  เป็นเรื่องที่เขียนตามเทศกาลสำคัญต่าง ๆ ของแต่ละชาติ เช่น  วันสุนทรภู่  วันวิสาขบูชา                 
                 ๒.๓  สารคดีประวัติศาสตร์  เป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่นำมาเขียนขึ้นเพื่อย้ำเตือนจิตสำนึกของอนุชนรุ่นหลัง  หรือให้เห็นความสำคัญ  เช่น  สงครามยุทธหัตถี  การสร้างกรุงเทพมหานคร                 
                 ๒.๔  สารคดีท่องเที่ยว  เป็นการนำเรื่องราวที่พบเห็นจากการท่องเที่ยวมาเขียนถึงในแง่มุมต่าง ๆ ตามทัศนะของตน                 
                ๒.๕  สารคดีแนะนำวิธีทำ  เป็นเรื่องเกี่ยวกับการแสดงขั้นตอนการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่นการทำอาหาร  การผลิตธนบัตร                 
               ๒.๖  สารคดีเด็ก  เขียนถึงเรื่องราวของเด็กในแง่มุมต่างๆ เช่น การเลี้ยงดู
การใช้แรงงานเด็ก               
               ๒.๗  สารคดีสตรี  เขียนถึงสตรีในแง่มุมต่าง ๆ                 
               ๒.๘  สารคดีเกี่ยวกับสัตว์  เขียนถึงสัตว์ในแง่ของการให้ความรู้ที่เป็นสาระ                 
               ๒.๙  สารคดีความทรงจำ  เป็นเรื่องราวของความทรงจำในอดีตที่เล่าให้ผู้อื่นเขียน  หรือเขียนเอง  เช่น  การละเล่นสมัยก่อน  การอพยพหนีสงคราม                 
              ๒.๑๐  สารคดีจดหมายเหตุ  เป็นการบันทึกเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ 
 
๓.     หลักการเขียนสารคดี
 
         การเขียนสารคดีมีหลักในการเขียน  ดังนี้
 
                   ๓.๑   การเลือกเรื่อง   เรื่องที่นำมาเขียนเป็นสารคดี  จะต้องเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจ  หรือทันสมัย  หากเป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป  หรือเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต  ก็ควรนำเสนอให้น่าสนใจด้วยมุมมองที่แปลกใหม่  มีประโยชน์แก่ผู้อ่าน  และมุ่งนำเสนอข้อเขียนที่เป็นความรู้  ความคิดจากเรื่องจริง  เหตุการณ์จริง  และจะต้องเขียนให้อ่านเพลิดเพลิน  มีอรรถรส
 
                  ๓.๒   การตั้งชื่อเรื่อง  ควรตั้งชื่อเรื่องให้ผู้อ่านเกิดความสนใจ  สะดุดหู  สะดุดตา  ควรเป็นชื่อที่เข้ายุคเข้าสมัยในปัจจุบัน  ควรหาคำที่มีความหมายกว้าง ๆ  เพื่อให้ครอบคลุมเนื้อหา  แต่ชื่อเรื่องต้องตรงกับเนื้อหาด้วย  แนวทางการตั้งชื่อเรื่อง
 
                          -  แบบชี้นำเนื้อหา  โดยการนำความสำคัญของเนื้อหามาสรุปเป็นความคิดรวบยอดเช่น  ครูไทย...ภารกิจที่ไม่มีวันเสร็จสิ้น,  ยาบ้ามหาภัย
 
                          -  แบบสำบัดสำนวน  นำสำนวนแปลก ๆมาใช้ เช่น  แสนแสบแสบสยิว  สยึ๋มกึ๋ย                         
                          -  แบบคนคุ้นเคย  เหมือนผู้เขียนคุ้นเคยกับผู้อ่าน  เช่น  มาช่วยกันป้องกันเหตุร้ายกันเถอะ  การอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านจัดสรร                         
                          -  แบบคำถาม  เช่น  จริงหรือที่เขาว่าหัวหินสิ้นมนต์ขลัง                       
                          -  แบบชวนฉงน  เช่น  ตายแล้วฟื้น,   ตายแล้วไป....                     
 
 
 
                  ๓.๓  กำหนดจุดมุ่งหมายและแนวคิดสำคัญ    การกำหนดจุดมุ่งหมายอาจตั้งคำถามว่าต้องการเขียนให้ใครอ่าน ต้องการให้ผู้อ่านคิด/ ทำอย่างไร  ผู้เขียนต้องกำหนดแนวคิดให้ชัดเจนว่า  สารคดีเรื่องนี้ต้องการจะเสนอแนวคิดสำคัญอะไร  มีแก่นเรื่องอะไรนำเสนอแก่ผู้อ่าน  เพื่อจะได้นำเสนอเนื้อหาถ่ายทอดถ้อยคำหรือประโยคต่าง ๆ เพื่อมุ่งสู่แก่นเรื่องนั้น
 
                  ๓.๔  การหาข้อมูล  แหล่งความรู้ที่ใช้ประกอบการเขียนสารคดี  ได้แก่  หนังสือ  สารานุกรม  นิตยสาร  วารสาร  วิทยุ  โทรทัศน์  อินเทอร์เน็ต  การสัมภาษณ์  การสนทนา  และการเก็บข้อมูลภาคสนาม  เป็นต้น
 
                   ๓.๕  การวางโครงเรื่อง  ผู้เขียนต้องวางโครงเรื่องก่อนเขียน  เพื่อเป็นแนวทางในการเขียน  ว่าจะนำเสนอสาระสำคัญ  แยกเป็นกี่ประเด็น  ประเด็นใหญ่ ๆ มีอะไรบ้าง  ในประเด็นหลักมีประเด็นย่อย ๆ  มีตัวอย่าง  มีเหตุผล  เพื่อสนับสนุนประเด็นหลักอย่างไรบ้าง  การวางโครงเรื่องจะช่วยให้เขียนเรื่องได้โดยง่าย  ไม่สับสน  วกวน  นอกเรื่อง  ทำให้เรื่องมีเอกภาพ  มีลำดับต่อเนื่องกัน  และได้เนื้อความครบถ้วน
 
                  ๓.๖  การลงมือเขียน  สารคดีมีองค์ประกอบเช่นเดียวกับความเรียงทั่วไป  คือ
 
                          -  ความนำ / การเปิดเรื่อง                                   
                          -  เนื้อเรื่อง / การดำเนินเรื่อง                         
                          -  ความลงท้าย / การปิดเรื่อง
 
                          ๓.๖.๑   ความนำ / การเปิดเรื่อง  เป็นการเปิดเรื่องบอกกล่าวให้ผู้อ่านรู้ก่อนว่าจะเขียนอะไร  เพื่อชักจูงให้ผู้อ่านสนใจ  การขึ้นความนำอาจทำได้หลายประการ  เช่น
-  แบบสรุปเนื้อหาให้ผู้อ่านรู้ว่า  ใคร  ทำอะไร  ที่ไหน  เมื่อไร  ทำไม 
-  ขึ้นต้นจากชื่อเรื่องซึ่งเป็นเนื้อหาหลัก
-  เรื่องในสังคมที่คนกำลังสนใจ                                     
-  คำพูดของบุคคลสำคัญ
-  เล่าเรื่องลักษณะคล้ายนิทานแล้วโยงเข้าหาเนื้อเรื่อง
-  เหตูการณ์สำคัญในเรื่อง                                 
-  ยกสุภาษิต  คำพังเพย  กวี  นิพนธ์  คำคม
-  ใช้ประโยคสำคัญ  ที่ปรากฏในเนื้อเรื่องมากล่าว
-  ใช้คำถาม                                                     
-  ยกเหตุการณ์เปรียบเทียบ
-  พรรณนา                                                     
-  ย้อนอดีต  โยงเข้าสู่เหตุการณ์ปัจจุบัน
 
                          ๓.๖.๒   เนื้อเรื่อง  / การดำเนินเรื่อง   กลวิธีการดำเนินเรื่องของสารคดีอาจเป็นการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของผู้เขียน  หรือมีการแทรกบทสนทนา  หรือบทสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง  ผู้เขียนต้องสอดแทรกความคิดเห็นของตนในเนื้อเรื่องด้วย  เนื้อเรื่องต้องมีส่วนที่เป็นใจความหลัก และส่วนขยายความให้เนื้อหาชัดเจนขึ้น  เช่น  การเสนอข้อมูลแสดงสถิติ  แสดงการเปรียบเทียบ  ตัวอย่างประกอบ  แต่อย่าให้มากเกินไป
 
                       ๓.๖.๓  ความลงท้าย / การปิดเรื่อง  เป็นส่วนทำให้ผู้อ่านประทับใจ  ควรเขียนให้กะทัดรัดจับใจผู้อ่าน  โดยการสรุปข้อมูล  ข้อคิด แสดงข้อคิดเห็น  คำแนะนำ  วิธีแก้ปัญหาของผู้เขียน  อย่างสร้างสรรค์  โน้มน้าวให้เกิดความร่วมมือ  สรุปให้เกิดความตระหนัก
 
               ๓.๗  การใช้ภาษา  ควรใช้ภาษาที่ชัดเจน  ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์  เพราะจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย  หากเป็นการใช้ศัพท์เฉพาะหรือภาถิ่นควรอธิบายความหมายไว้ด้วย  นอกจากนี้ควรใช้โวหาร  สำนวน  ภาพพจน์  ตลอดจนระดับภาษาให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง  จะเขียนแบบพรรณนา  บรรยาย  อธิบาย  หรือ โน้มน้าว ก็ได้       
 
                 ๓.๘  ความยาวของสารคดี  ไม่ควรมีความยาวมากเกินไป  เพราะสารคดีมีลักษณะเป็นบทเป็นตอน  ไม่ใช่ตำราหรือหนังสืออ้างอิง  จึงควรมีความยาวในการอ่านประมาณ  ๑๕  นาที
 
                  ๓.๙  การสร้างลีลาการเขียนเฉพาะตัว  แต่ละคนมีลักษณะและลีลาการเขียนที่แตกต่างกัน  จะเลือกแบบใดก็ได้  แต่อย่าลืมว่าผู้เขียนได้ดีต้องเป็นนักอ่านที่ดีมาก่อน  แล้วจึงเลือกหาแนวถนัดของตนเองโดยไม่เลียนแบบผู้อื่น
 
                  ๓.๑๐  ทบทวนและปรับปรุง  เมื่อจบเรื่องควรทบทวนดูสาระของเรื่องว่าตรงกับชื่อเรื่องที่ตั้งไว้หรือไม่  จากนั้นอ่านตรวจทานอีกครั้ง  หรือถ้าได้เก็บเรื่องที่เขียนไว้สัก  ๒ ? ๓  วัน แล้วนำกลับมาอ่านตรวจอีกครั้งหนึ่ง  ก็จะยิ่งดี     
 
 ๔.     ภาพประกอบสารคดี
 
มีคำเปรียบเปรยไว้ว่า   ภาพดี ๆ เพียง ๑ ภาพ  แทนคำบรรยายได้นับ  ๑,๐๐๐ คำ  สารคดีจึงต้องมีภาพประกอบ  เพื่อให้งานเขียนสมบูรณ์  น่าเชื่อถือ  เรียกร้องความสนใจจากผู้อ่าน  ภาพประกอบสารคดีควรมีลักษณะ  ดังนี้  มีความคมชัด  เสริมให้เนื้อหาเด่น  ภาพกับเนื้อหาเป็นเรื่องเดียวกัน  เป็นภาพถ่ายจากแหล่งข้อมูลโดยตรง  มีมุมถ่ายหลายมุม  ถ้าใช้ภาพเขียนต้องให้ถูกต้องตามความเป็นจริง  มีคำบรรยายภาพที่ถูกต้อง  ชัดเจน  ภาพถ่ายมีทั้งแนวตั้ง  และแนวนอน
 
 ตัวอย่างสารคดี
 
 
 


 
 
ปลาตะเพียนใบลาน  คุณค่าของความงามในวิถีชีวิตไทย
 
                                                                             โดย มานพ  ถนอมศรี
 
         ร่ำลือกันว่า  แม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำป่าสักในอดีตนั้นชุกชุมไปด้วยปลาชนิดหนึ่ง  ซึ่งมีลำตัวแบนหนา  ครีบสีสันงดงาม  เกล็ดที่เรียงซ้อนกันอย่างประณีตและมีสีขาว  จะกลายเป็นสีเงิน  สีทอง  ยามสะท้อนกับแสง  ไม่เพียงแต่มีรูปร่างอันวิจิตรเท่านั้น  เนื้อยังหวานอร่อยติดปาก  ติดใจจนใคร ๆ ก็ยกย่องว่าเป็นอาหารยอดนิยมอย่างหนึ่งของคนไทย มาเป็นเวลาช้านาน   แม้ว่าทุกวันนี้  ปลาชนิดดังกล่าวจะลดจำนวนลงจนเกือบจะเรียกได้ว่า  สูญพันธ์ไปจากแม่น้ำทั้งสองสายไปแล้ว  แต่รูปร่างและความงามของปลาเหล่านั้นก็ยังได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นงาน  ศิลปหัตถกรรมที่แสดงถึงชีวิต  ความเป็นอยู่และความเชื่อถือของคนไทย
มาเป็นเวลามากกว่า 100 ปี  คนทั่วไปเรียกสิ่งที่กล่าวถึงนี้ว่า  ปลาตะเพียนใบลาน
 
         ปลาตะเพียนใบลาน  ทำขึ้นครั้งแรกเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน  แต่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า  ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นที่ของชนิดนี้แขวนอยู่กับอู่กับเปล  คนสมัยก่อนเขาเรียกว่าปลาโบราณ  ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นปลาใบลาน  แล้วก็กลายเป็นปลาตะเพียนใบลานอย่างที่ได้ยินกันในทุกวันนี้         
           ด้วยเหตุที่คนไทยสมัยก่อนอยู่ในเรือและแพเป็นส่วนใหญ่  ทำให้ชีวิตผูกพันกับสายน้ำและชีวิตที่อาศัยร่วมกันอยู่ในสายน้ำ  ปลาตะเพียนเกล็ดสีเงิน  สีทอง  ที่ชุกชมอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสักก็คงเป็นเพื่อนสนิทของผู้คนในสมัยนั้นด้วยเช่นกัน  ถึงขนาดเมื่อคิดจะสานเครื่องเล่นของเด็กขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง  จึงนึกถึงปลาตะเพียน
 
         บางกระแสบอกว่า  แขกเทศที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาเมื่อ 100 กว่าปีก่อนเป็นผู้ริเริ่มการสานปลาตะเพียนขึ้นมาก่อน  จากนั้นจึงสอนให้ลูกหลานที่ปักหลักปักฐานอยู่ในเมืองไทย  กระทั่งสามารถทำมาค้าขายเป็นที่นิยมไปทั่วอาณาจักร
 
         นอกจากคนไทยสมัยก่อน  จะรู้จักปลาตะเพียนใบลานในรูปของเครื่องเล่นเด็กที่จะนำไปผูกแขวนไว้เหนือเปลแล้ว  ยังมีคนจำนวนไม่น้อยใช้ของสิ่งนี้ไปในเรื่องของความเชื่อถือ  โดยจะบอกต่อ ๆ กันว่า  ปลาตะเพียนใบลานเป็นสิริมงคล  หากนำไปแขวนไว้ตามประตูทางเข้าบ้าน  จะทำให้เงินทองไหลมาเทมา  ส่วนเด็กที่เลี้ยงดูโดยการแขวนปลาตะเพียนไว้เหนือเปล  ก็จะเติบโตขึ้นเป็นคนขยันหมั่นเพียร  ดั่งคำทำนายของชื่อปลาที่นำมาให้ดู
 
         ผู้ใหญ่ที่เคยใช้ปลาตะเพียนใบลานเป็นเพื่อน  ลูกหลานบอกว่า  แต่เดิมนั้นปลาตะเพียนใบลานที่มีคนนำมาขายจะมีเพียงตัวเดียว  ผูกด้ายแขวน  ห้อยอยู่กับก้านที่ทำจากไม้สานเล็ก ๆ สีสันก็ไม่ได้ทาหรือเขียนอย่างที่เห็นในปัจจุบัน  หากไม่ปล่อยเป็นสีเนื้อ  ลานก็อาจจะทาด้วยขมิ้นและลายน้ำ  จนดูเป็นสีเหลือง ๆ เท่านั้น  ต่อมาจึงเริ่มมีคนคิดทำลูกปลาตัวเล็ก ๆ ห้อยอยู่ใต้ทอง 1 ตัวบ้าง 2 ตัวบ้าง ก่อนพัฒนาขึ้นมาเป็นพวงระย้าใหญ่อย่างที่เห็นในทุกวันนี้
 
          ปลาตะเพียนที่เห็นกันในปัจจุบัน  เป็นปลาตะเพียนสมัยใหม่ที่ได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมสีสัน  จนแทบไม่เหลือเค้ารอยเดิมอยู่  โดยเฉพาะความสวยงามของเนื้อลานที่เนียนนุ่มและเย็นตา  แต่ในส่วนของที่เพิ่มเติมไปใหม่ก็หาใช่จะไร้เหตุผล  หรือมุ่งแต่จะตกแต่งจนฟุ่มเฟือยเพียงอย่างเดียว  ในส่วนของสีสันนอกจากจะช่วยถนอมรักษาเนื้อลานให้คงทนมากขึ้น  ยังเพิ่มความสดใสน่ามองและความรู้สึกแบบไทยยิ่งขึ้น  เพราะนอกจากจะเป็นลวดลายเครือเถาที่มีแม่แบบมาจากลายไทยแล้ว  สิ่งที่เขียนลงไปบนปลาตะเพียนใบลานเหล่านี้ยังมีเค้าเดิมของเกล็ดเงินเกล็ดทองของปลาตะเพียนที่ลอยคออยู่ในแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยามาช้านานด้วย
 
         พวงปลาตะเพียนใบลานในวันนี้ประกอบด้วยชิ้นส่วนต่าง ๆ หลายอย่าง  ได้แก่  กระโจมปลา แม่ปลา  กระทงเกลือ  ปักเป้า  ลูกปลา  และใบโพธิ์
 
         กระโจมปลาเป็นส่วนบนสุดของพวงปลาตะเพียนใบลาน  มีลักษณะคล้ายดาว  มี 8 แฉก  ใช้เป็นที่ห้อยแม่ปลาและแขวนพวงปลาไว้กับเพดาน
 
         กระโจมปลาจะเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับแม่ปลา  ถ้าแม่ปลาตัวใหญ่  ก็ต้องทำกระโจมปลาตัวใหญ่  ตามไปด้วย
 
            สำหรับแม่ปลานั้นโดยทั่วไปแล้วมักจะทำที่มีขนาดใหญ่เท่าของจริง  คือประมาณ 30  เซนติเมตร  โดยเอาส่วนตัวที่สานขึ้นกับส่วนหางที่พับไว้มาติดกันแล้วเย็บด้วยด้าย  ความจริงการทำแม่ปลากับลูกปลา ก็แทบจะไม่มีอะไรแตกต่างกัน  เพียงแต่เปลี่ยนไปใช้ใบลานที่มีขนาดเล็กลง  กับไม่ต้องทำครีบเล็กตรงโคนหางเท่านั้น
 
         กระทงเกลือซึ่งมีรูปร่างคล้ายดาว  5  แฉก  มีไว้สำหรับตกแต่งให้พวงปลาสวยงามมากขึ้น   และไม่ทำให้แม่ปลาและลูกประหลาดูโล้นเกินไป  โดยใช้คู่กับปักเป้าซึ่งเป็นเม็ดรูปร่างคล้าย 4 เหลี่ยม  ซึ่งมีหน้าที่ปิดบังเส้นด้ายที่ร้อยอยู่ไม่ให้ดูขัดตา  ใบโพธิ์นั้นถึงจะทำหน้าที่ปิดเส้นด้ายเช่นเดียวกัน  แต่ก็อยู่ในตำแหน่งสุดท้ายของเส้นด้าย  ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้มองไม่เห็นด้ายที่ไม่ต้องการแล้ว  ยังทำให้เกิดการปะทะลมพาลูกปลาไหวโยนไปมาเหมือนกำลังแหวกว่ายอยู่ในน้ำ
 
            โดยทั่วไปพวงปลาตะเพียนใบลานมีอยู่  3  แบบ  ขนาดเล็กสุดมีแม่ปลา 1 ตัว  ลูกปลา 6 ตัว ขนาดกลาง  มีแม่ปลา 1 ตัว  ลูกปลา 9 ตัว  ส่วนขนาดใหญ่สุดมีแม่ปลา 1 ตัว  ลูกปลา 12 ตัว
 
         ก่อนที่จะนำแม่ปลาและลูกปลาพร้อมทั้งเครื่องตกแต่งนั้นมาประกอบเข้าด้วยกัน  จะต้อง  ทาสี  เขียนลวดลาย  เสียก่อน  สีที่นิยมกันมากที่สุดคือ  สีแดง  เพราะให้ความรู้สึกเก่าแก่และเป็นคนไทย ส่วนสีม่วง  สีน้ำเงิน  สีขาว  สีเหลือง  ก็ทำกันด้วย  เพราะคนสมัยใหม่ไม่ชอบสีแดงเพียงอย่างเดียว
 
         ลวดลายที่นำมาเขียนหากเป็นเกล็ดปลาก็มักจะใช้ลายต้นสน  ส่วนหางก็มีทั้งลายดอกไม้  ลายผักชี  และลายอื่นสุดแต่จะนึกขึ้นได้  แต่ที่สำคัญและจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้เป็นอันขาด  ก็คือสีที่นำมาเขียนลายและตัดเส้นส่วนใหญ่จะต้องเป็นสีเงินหรือสีทองเท่านั้น  สีอื่น ๆ จะไม่นำมาใช้เลย  เพราะทำให้ขาดความงดงามของปลาตะเพียนไป      วัสดุที่นำมาสานปลาตะเพียน  ที่จริงแล้วมีอยู่หลายอย่าง  ไม่ว่าจะเป็นใบตองสดหรือแห้ง  ใบมะพร้าว  ใบจาก  และใบตาล  แต่ก็ไม่นิยมทำกันเท่ากับใบลานด้วยลานเป็นใบไม้ที่มีความเหนียวและทนทานมากกว่าใบไม้ชนิดอื่น  นอกจากนั้นใบอ่อนเมื่อแห้งสนิทจะมีสีนวลนุ่มตา  มองดูสะอาดสะอ้าน  น่าจับต้องและงดงามมาก       
 
       ก่อนที่จะมีการทาสีและเขียนลวดลายลงบนปลาตะเพียนที่สานขึ้น  ก็ใช้สีของใบลานอ่อนที่แห้งสนิทแล้ว  ต่อมาแม้ว่าจะทาสีทับใบลานที่สานแล้ว  ก็ยังคงใช้ใบลานอ่อนอยู่นั่นเอง  ด้วยมีความนิ่มอ่อน  สะดวกในการสาน  ใบลานเหล่านี้แต่เดิมมีอยู่ทั่วไป  แต่ต่อมาถูกตัดทำลายและนำไปใช้งานมากขึ้นจนลดลงอย่างรวดเร็ว  ทำให้เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยที่บ้านทับลานและหมู่บ้านใกล้เคียง  ในอำเภอนาดี  จังหวัดปราจีนบุรี
 
         ใบลานก่อนที่จะนำมาใช้ในการสานปลาตะเพียนหลังจากตัดยอดอ่อนมาจากต้นลานแล้ว  จะทอนออกเป็นท่อนๆละประมาณ 70 เซนติเมตร จากนั้นจึงฉีกออกเป็นคู่ ๆ แล้วนำไปตากแดดให้แห้งสนิทเป็นเวลา 3 หรือ 4 แดด  ก่อนลงมือสานจะต้องนำมาเลียดให้ได้ขนาดเล็กใหญ่ตามต้องการเสียก่อน  ลานที่มีขนาดเท่ากันและเป็นเส้นตรงจะทำให้การสานปลาตะเพียนสะดวกง่ายขึ้น
 
         นอกจากทาสีเขียนลวดลายแล้ว  อาจจะย้อมสีใบลานเสียใหม่ก็ได้  ซึ่งก็สุดแต่ว่าจะนำไปใช้งานอะไรและมีความจำเป็นแค่ไหน  แต่โดยปกติมีน้อยนัก ที่คนทั่วไปจะชอบปลาตะเพียนที่มีสีเป็นเนื้อลานด้วยรู้สึกว่ายังไม่เสร็จ  แม้ว่าปลาตะเพียนใบลานจะเป็นของเก่าแก่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติอย่างมากมายมหาศาลเพียงใด  แต่ปัจจุบันจำนวนผู้ประกอบอาชีพสานปลาตะเพียนจำหน่ายก็ลดน้อยลง  จากทุกครอบครัวในจำนวนกว่า 30 หลังคาเรือนของชาวบ้านตำบลท่าวาสุกรี  อันเป็นตำบลเล็ก ๆ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ถือว่าเป็นชุมชนเก่าแก่แห่งหนึ่งเมื่อ 20 กว่าปีก่อน  เหลือเพียงบางครอบครัวเท่านั้นที่ยังคงทำงานนี้ต่อไปด้วยความอดทน  เพราะรายได้ไม่คุ้มกับการทำงาน
 
          100  กว่าปีที่ปลาตะเพียนใบลานยืนหยัดมาคงไม่ใช่เพราะความงดงามของ
การสอดสานใบลานให้เกิดเป็นรูปทรงปลาที่คนไทยรักเพียงอย่างเดียว  ความสอดคล้องกับวิถีชีวิตที่แทรกอยู่กับพวงปลาตะเพียน  น่าจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้สิ่งดีสิ่งนี้เป็นที่นิยมต่อไป  โดยเฉพาะในเรื่องของความรักระหว่างแม่และลูกที่ปรากฏอยู่ในเครื่องเล่นของเด็กไทยชิ้นนี้อย่างล้นเปี่ยม
 
         แม่ที่เฝ้าระวังลูกอยู่ทุกลมหายใจไม่ว่าจะเป็นแม่ปลาตะเพียนหรือมนุษย์
 
...
 
 
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!