จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
เมษายน 19, 2024, 04:37:24 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ประเภทของวรรณกรรม  (อ่าน 5528 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1413


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: สิงหาคม 17, 2014, 10:32:01 pm »



ประเภทของวรรณกรรม
 


ร่วมส่งเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ คลิกที่นี่ บทความของท่านมีประโยชน์กับผู้ไม่รู้อีกมากมาย

 









ประเภทของวรรณกรรม
        เนื่องจาก วรรณคดี เป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรม ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว แม้จะมีความแตกต่างบ้างก็ตาม แต่เมื่อกล่าวถึงประเภทของวรรณกรรม ก็จะกล่าวถึง ประเภทของวรรณคดีด้วยเช่นกัน ซึ่งได้มีผู้เขียนได้แบ่งประเภท ตามเกณฑ์และลักษณะต่าง ๆ มากมาย ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
1.) แบ่งตามลักษณะการประพันธ์ มี 2 ประเภท คือ
1. วรรณกรรมร้อยแก้ว คือ วรรณกรรมที่ไม่กำหนดบังคับคำหรือฉันทลักษณ์ เป็นความ
เรียงทั่ว ไป การเขียนในลักษณะนี้ยังแบ่งย่อยออกเป็น
         1.1 บันเทิงคดี (Fiction) คือ วรรณกรรมที่มุ่งให้ความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านเป็นประการสำคัญ และให้ข้อคิด คตินิยม หรือ สอนใจ แก่ผู้อ่านเป็นวัตถุประสงค์รอง ดังที่ ม.ล. บุญเหลือ เทพยสุวรรณ (2518 : 9) กล่าวว่า บันเทิงคดี เป็นวรรณกรรมที่ผู้ประพันธ์มีจุดประสงค์ที่ให้ความเพลิดเพลิน แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าบันเทิงคดีเป็นวรรณกรรมที่ไร้สาระ บันเทิงคดีอาจมีสาระในด้านปรัชญา ด้านความเข้าใจการเมือง หรือประวัติศาสตร์ดีกว่าหนังสือสารคดีบางเรื่องก็ได้ วรรณกรรม ประเภทนี้ผู้ประพันธ์มุ่งหมายให้ความบันเทิง ต้องกระทบอารมณ์ผู้อ่าน มิใช่สำหรับให้ผู้อ่านได้ความรู้หรือความคิดเห็น บันเทิงคดีสามารถจำแนกย่อยได้ดังนี้
                1.1.1 นวนิยาย (Novel) คือ การเขียนผูกเรื่องราวของชีวิตอันมีพฤติกรรมร่วมกัน มีความสัมพันธ์กัน ในลักษณะจำลองสภาพชีวิตของสังคมส่วนหนึ่งส่วนใด โดยมีความมุ่งหมายให้ความบันเทิงใจแก่ผู้อ่าน คือให้ผู้อ่านเกิดสะเทือนอารมณ์ไปกับเนื้อเรื่องอย่างมีศิลปะ
                1.1.2 เรื่องสั้น (Short Story) คือ การเขียนเรื่องจำลองสภาพชีวิตในช่วงสั้น คือมุมหนึ่งของชีวิต หรือเหตุการณ์หนึ่ง หรือช่วงระยะหนึ่งของชีวิต เพื่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจผู้อ่าน หรือ นิยามอีกอย่างหนึ่ง ว่า เรื่องสั้น คือ วิกฤตการณ์ชุดหนึ่ง มีความสัมพันธ์สืบเนื่องกัน และนำไปสู่จุดยอดหนึ่ง (Climax) ( ธวัช บุณโณทก 2537 : 12)
                1.1.3 บทละคร (Drama) คือการเขียนที่ใช้ประกอบการแสดงเพื่อให้เกิดความบันเทิง เช่น บทละครวิทยุ บทละครพูด และบทละครโทรทัศน์ เป็นต้น
        1.2 สารคดี (Non-Fiction) คือ วรรณกรรมที่มุ่งให้ความรู้ หรือ ความคิด เป็นคุณประโยชน์สำคัญ อาจจะเขียนเชิงอธิบายเชิงวิจารณ์ เชิงพรรณนาสั่งสอน โดยอธิบายเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อย่างมีระบบมีศิลปะในการถ่ายทอดความรู้ เพื่อมุ่งตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นให้แก่ผู้อ่าน และก่อให้เกิดคุณค่าทางปัญญาแก่ผู้อ่าน ซึ่ง ธวัช ปุณโณทก ( 2527 : 11 ) ได้แบ่งย่อยดังนี้
                1.2.1 ความเรียง (Essay) คือ การถ่ายทอดความรู้ อาจจะได้มาจากการประสบ หรือตำราวิชาการ มาเป็นถ้อยความตามลำดับขั้นตอนเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจตามความรู้ ความคิดที่ผู้เขียนเสนอมา บางครั้งมีผู้เรียกว่า "สารคดีวิชาการ"
                1.2.2 บทความ ( Article) คือความคิดเห็นของผู้เขียนต่อเรื่องราวที่ประสบมาหรือต่อข้อเขียนของผู้อื่น หรือต่อเหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใด ในการเขียนบทความผู้เขียนมุ่งที่จะบอกถึงความเห็น ความรู้สึกนึกคิดมากกว่าที่จะถ่ายถอดความรู้เหมือนความเรียง
                12.3. สารคดีท่องเที่ยว ( Travelogue) คือ การบันทึกการท่องเที่ยวและเรื่องราวต่าง ๆ ที่ประสบพบเห็นขณะที่ท่องเที่ยวไป โดยมุ่งที่จะให้ความรู้แก่ผู้อ่านและให้ความเพลิดเพลินด้วย
                1.2.4. สารคดีชีวประวัติ (Biography) คือ การบันทึกพฤติกรรมต่าง ๆ ของบุคลิกภาพหนึ่งมุ่งที่จะให้เห็นสภาพชีวิตประสบการณ์ของบุคลิกภาพนั้นทุกแง่ทุกมุม แต่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ และนิยาย
                1.2.5. อนุทิน (Diary) คือการบันทึกประจำวันที่เกิดขึ้นแก่ตนเอง จะเป็นการบันทึกความรู้สึกนึกคิดของตนเองในประจำวัน หรืออาจจะบันทึกประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน หรือบันทึกเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเตือนความจำ
                1.2.6. จดหมายเหตุ ( Archive) คือ การบันทึกเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของทางราชการ หรือบันทึกเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของสถาบัน หน่วยงานหรือตระกูล โดยมีความมุ่งหมายเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานเชิงประวัติเหตุการณ์ของชาติ หรือของสถาบัน หรือหน่วยงานราชการ หรือของตระกูล
2. วรรณกรรม ร้อยกรอง คือ วรรณกรรมที่การเขียนมีการบังคับรูปแบบด้วยฉันทลักษณ์ต่างๆ เช่น บังคับคณะ บังคับคำ และแบบแผนการส่งสัมผัสต่าง ๆ บางครั้งเรียกงานเขียนประเภทนี้ว่า กวีนิพนธ์ หรือ คำประพันธ์ เช่น โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ลิลิต เป็นต้น นอกจากนี้วรรณกรรมร้อยกรองยังแบ่งเป็นชนิดย่อย ๆ ดังนี้
        2.1. วรรณกรรมประเภทบรรยาย (Narrative) คือ วรรณกรรมร้อยกรองที่มีโครงเรื่อง ตัวละคร และเหตุการณ์ต่าง ๆ ผูกเป็นเรื่องราวต่อเนื่องกันไป เช่น ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี อิเหนา เป็นต้น
        2.2. วรรณกรรมประเภทพรรณา หรือ รำพึงรำพัน ( Descriptive or Lyrical) มักเป็นบทร้อยกรองที่ผู้แต่งมุ่งแสดงอารมณ์ส่วนตัวอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่มีโครงเรื่อง เช่น นิราศ และเพลงยาว เป็นต้น (ประทีป เหมือนนิล . 2519 : 22-23.)
        2.3. วรรณกรรมประเภทบทละคร (Dramatic) เป็นบทร้อยกรองสำหรับการอ่านและใช้เป็นบทสำหรับการแสดงด้วย เช่น บทพากย์โขน บทละครร้อง บทละครรำ เป็นต้น
2) แบ่งตาม ลักษณะเนื้อเรื่อง มี 2 ประเภท คือ
        1. วรรณกรรมบริสุทธิ์ (Pure Literature) หมายถึง วรรณกรรมที่แต่งขึ้นจากอารมณ์สะเทือนใจต่าง ๆ ไม่มีจุดมุ่งหมายที่จะให้วรรณกรรมนั้น ทรงคุณค่าในทางใดเป็นพิเศษ แต่วรรณกรรมนั้นอาจจะล้ำค่า ในสายตาของนักอ่านรุ่นหลังๆ ก็เป็นได้ แต่มิได้เป็นเจตจำนงแท้จริงของผู้แต่ง ผู้แต่งเพียงแต่จะแต่งขึ้นตามความปรารถนาในอารมณ์ของตนเองเป็นสำคัญ
        2. วรรณกรรมประยุกต์ (Applied Literature) หมายถึงวรรณกรรมที่แต่งขึ้นโดยมีเจตจำนงที่สนองสิ่งใดสิ่งหนึ่งอาจเกิดความบันดาลใจที่จะสืบทอดเรื่องราวความชื่นชมในวีรกรรมของผู้ใดผู้หนึ่งนั่นหมายถึงว่า มีเจตนาจะเขียนเรื่องราวขึ้นเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่ง หรือมีจุดมุ่งหมายในการเขียนชัดเจน มิใช่เพื่อสนองอารมณ์อย่างเดียว เช่น วรรณกรรมประวัติศาสตร์ วรรณกรรมการละคร และอาจหมายรวมถึงพงศาวดารต่าง ๆ ด้วย (สมพร มันตะสูตร 2526 : 6)
3) แบ่งตามลักษณะการถ่ายทอด มี 2 ประเภท คือ
        1. วรรณกรรมมุขปาฐะ หมายถึง วรรณกรรมที่ถ่ายทอดโดยการบอก การเล่า และการขับร้อง ไม่ว่าจะเป็นในโอกาสหรือในวาระใด เช่น ในการนอน การเต้น การรำ หรือพิธีกรรมต่าง ๆ
วรรณกรรมมุขปาฐะมีปรากฏมานาน จึงมีอยู่ทุกภูมิภาคของโลก การที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะวรรณกรรมประเภทนี้เป็นผลสืบเนื่องจากภาษาของมนุษย์ เมื่อมนุษย์มีภาษาพูดก็ย่อมมีโอกาสถ่ายทอดจิตนาการและอารมณ์ได้มากขึ้น ประกอบกับภาษาพูดสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายและเร็วกว่าภาษาเขียน ดังนั้นวรรณกรรมมุขปาฐะจึงมีมาก และมีมานานกว่าวรรณกรรมประเภทอื่น
        2. วรรณกรรมลายลักษณ์ หมายถึง วรรณกรรมที่ถ่ายทอดโดยการเขียน การจาร และการจารึก ไม่ว่าจะเป็นการกระทำลงบนวัสดุใด ๆ เช่น กระดาษ เยื่อไม้ ใบไม้ แผ่นดินเผา หรือ ศิลา
วรรณกรรมลายลักษณ์เป็นวรรณกรรมที่พัฒนาสืบต่อมาจากวรรณกรรมมุขปาฐะ กล่าวคือ เกิดขึ้นในยุคที่มนุษย์เริ่มรู้จักใช้สัญลักษณ์หรือตัวอักษร เพื่อบันทึกความในใจ ความรู้สึก และความคิดเห็นของตน เพื่อถ่ายทอกให้ผู้อื่นรับรู้นั่นเอง และเนื่องจากตัวอักษรเป็นเครื่องมือบันทึกที่สื่อสารกันได้กว้างไกลและยั่งยืน มนุษย์จึงสร้างวรรณกรรมประเภทนี้กันอย่างกว้างขว้างในทุกภูมิภาคของโลกขณะเดียวกันก็พัฒนาเทคนิคและรูปแบบการสร้างวรรณกรรมให้เจริญมาเป็นลำดับ วรรณกรรมลายลักษณ์จึงกลายเป็นมรดกที่มนุษยชาติไม่อาจปฏิเสธได้ (ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์. 2525 : 25)
4) แบ่งตามลักษณะของเนื้อหา (ซึ่งจะเน้นไปทางด้านวรรณคดีไทยเป็นส่วนใหญ่) มี 7 ประเภท คือ
        1. วรรณคดีนิราศ วรรณคดีประเภทนี้มีลักษณะเฉพาะตัว เป็นการเขียนในทำนองบันทึกการเดินทาง การพลัดพราก การคร่ำครวญเมื่อต้องไกลที่อยู่อาศัย คนรักหรือสิ่งรัก การเขียนในเชิงนิราศนี้มีรูปแบบโดยเฉพาะ เป็นวรรณคดีที่กวีนิยมเขียนกันมาก มีวรรณคดีมากมายหลายเรื่อง เช่น กำสรวลศรีปราชญ์ ทวาทศมาส นิราศของสุนทรภู่ นิราศของพระยาตรัง นิราศนรินทร์ เป็นต้น
        2. วรรณคดีเฉลิมพระเกียรติ เป็นวรรณคดีในเชิงประวัติศาสตร์การบันทึกเหตุการณ์แผ่นดินในทำนองสรรเสริญพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ วรรณคดี ประเภทนี้มีปรากฏอยู่ในวรรณคดีเป็นจำนวนมากมาย เช่น ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตตะเลงพ่าย เพลงยาวเฉลิมพระเกียติร และโคลงเฉลิมพระเกียรติต่าง ๆ รวมทั้งวรรณคดีประเภทที่ต้องการบันทึกเรื่องราวสำคัญบางประการ เช่น โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์ เป็นต้น
        3. วรรณคดีศาสนา วรรณคดีประเภทนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาทั้งโดยตรงและโดยทางอ้อม คือ มีอิทธิพลมาจากความเชื่อทางศาสนา เช่น มหาชาติฉบับต่าง ๆ พระปฐมสมโพธิกถา ไตรภูมิพระร่วง ไตรภูมิฉบับต่าง ๆ รวมทั้งวรรณคดีจากชาดก ทั้งนิบาตชาดกและปัญญาสชาดก นันโทปทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง เป็นต้น
         4. วรรณคดีที่เกี่ยวกับพิธีการขนบธรรมเนียมประเพณี เนื้อหาของวรรณคดีประเภทนี้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี หรือ พิธีการต่าง ๆ เช่น ตำรานางนพมาศ พระราชพิธีสิบสองเดือน ฯลฯ
        5. วรรณคดีสุภาษิต วรรณคดีประเภทนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับคำสอน ข้อเตือนใจ เช่น กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ สุภาษิตพระร่วง โคลงราชสวัสดิ์ อิศรญาณภาษิต เป็นต้น
        6. วรรณคดีการละครหรือนาฏวรรณคดี วรรณคดีประเภทนี้นำไปใช้แสดงละคร หรือการแสดงทางนาฏศิลป์ในลักษณะอื่น เช่น เรื่องอิเหนา รามเกียรติ์ สังข์ทอง ไกรทอง เป็นต้น
        7. วรรณคดีนิยาย วรรณคดีประเภทนี้ถ้าเขียนเป็นการประพันธ์ประเภทกลอนจะเรียกว่ากลอนประโลมโลกย์ วรรณคดีนิยายนี้มีทั้งไม่เขียนเป็นกลอน เช่น ลิลิตพระลอ และที่เขียนเป็นกลอน เช่น พระอภัยมณี เสภาขุนช้าง - ขุนแผน เป็นต้น
5) แบ่งตามบ่งเกิดหรือที่มาของวรรณกรรม มี 6 ประเภท คือ
        1. วรรณกรรมอันเกิดจากการบอกเล่า หมายถึง วรรณกรรมที่บันทึกหรือถ่ายทอดจากผู้รู้ ผู้คงแก่เรียน หรือนักปราชญ์แต่ละสาขาของความรู้ วรรณกรรมจากบุคคลเหล่านี้จึงเป็นวรรณกรรมที่เรียกกันว่า "ตำรา" วรรณกรรมประเภทนี้อาจจะสมบูรณ์ถูกต้องหรือไม่ถูกต้องทั้งหมดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเชื่อถือและการพิสูจน์ โดยกรรมวิธีต่าง ๆ แต่โดยทั่วไปก็มักเชื่อโดยอนุโลมว่าเป็นความรู้ที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือได้
        2. วรรณกรรมอันเกิดจากญาณทัศน์ หมายถึงวรรณกรรมที่เกิดจาการหยั่งรู้โดยญาณ ซึ่งหมายถึง ปัญญา การหยั่งรู้ อาจจะเกิดจากการครุ่นคิด ไตร่ตรอง เพื่อหาคำตอบ เรื่องใดเรื่องหนึ่งเพื่อให้พ้นสงสัย แล้วจู่ ๆ ก็เกิดความรู้ในเรื่องนั้นผุดขึ้นในความคิดและได้คำตอบโดยไม่คาดฝัน จากคำตอบนั้นจึงได้นำมาบันทึกเป็นวรรณกรรม เราเรียกวรรณกรรมนี้ว่า วรรณกรรมอันเกิดจากญาณทัศน์
ในบางกรณีเมื่อมีแรงดลใจหรือจินตนาการบางอย่าง ก็อาจเกิดการหยั่งรู้ขึ้น ความรู้ที่เกิดจากญาณทัศน์นี้ นับเป็นจุดกำเนิดจองความรู้เชิงปรัชญา และพัฒนาไปเป็นทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์บ้าง สังคมศาสตร์บ้าง และศิลปกรรมบ้าง จนในที่สุดที่กลายเป็นวรรณกรรมในสาขาวิชาต่าง ๆ ไป เช่น วรรณกรรมวิทยาศาสตร์ วรรณกรรมสังคมศาสตร์ เป็นต้น
        3. วรรณกรรมอันเกิดจากเหตุผล หมายถึง วรรณกรรมที่เกิดจากการให้หลักของเหตุผล ซึ่งเป็นวิธีการทางตรรกวิทยา วรรณกรรมประเภทนี้เป็นบันทึกความรู้ที่เกิดจากการอ้างอิงความเป็นจริง หรือความรู้ที่มีอยู่แล้ว เพื่อนำไปสู่ความรู้ใหม่ วรรณกรรมทางคณิตศาสตร์นับเป็นวรรณกรรมที่เกิดขึ้นจากกรณีนี้โดยแท้จริง
        4. วรรณกรรมอันเกิดจากคัมภีร์ หมายถึง วรรณกรรมที่เกิดจากความเชื่อหรือวรรณกรรมที่บันทึกความเชื่อของมนุษย์ วรรณกรรมดังกล่าวนี้มีมูลฐานมาจากความเชื่อที่ว่าเป็นควาามรู้ที่พระผู้เป็นเจ้าประทานให้แก่ศาสดา เพื่อนำไปเผยแพร่แก่มวลมนุษย์ ส่วนใหญ่จะเป็นความรู้ที่ประมวลไว้ในคัมภีร์ทางศาสนา เช่น คัมภีร์พระไตรปิฏกของศาสนาพุทธ คัมภีร์อุปนิษัท และภควัทคีตาของศาสนาฮินดู คัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์ และคัมภีร์อัลกรุอานของศาสนาอิสลาม เป็นต้น
เป็นที่น่าสังเกตว่าศาสนาสำคัญ ๆ ของโลก มักจะมีคัมภีร์เป็นแหล่งประมวลคำสอนของศาสนา โดยถือว่าเป็นพระวัจนะของศาสดา วรรณกรรมประเภทนี้จึงได้รับการยอมรับจากศาสนิกชน หรือผู้นับถือศาสนานั้น ๆ ว่าเป็นวรรณกรรมอันเป็นสัจธรรม หรือความจริงอันแท้
        5. วรรณกรรมอันเกิดจากการประจักษ์ หมายถึง วรรณกรรมที่บันทึกความรู้มาจากวิธีวิทยาศาสตร์ การสังเกต การทดลอง การพิสูจน์ความจริง โดยการเก็บรวบรวม วิเคราะห์ และแปลความหมายของข้อมูล
วรรณกรรมประเภทนี้นับเป็นรากฐานของวิชาการวิจัยในยุคปัจจุบัน เพราะในปัจจุบันวงการศึกษา และอาชีพทั้งหลาย ต่างนำเอาวิธีการวิจัยเข้าไปใช้ในการพัฒนางานของตนอย่างกว้างขวาง จึงนับเป็นวรรณกรรมที่ได้รับการยอมรับสูงที่สุดในปัจจุบัน
        6. วรรณกรรมอันเกิดจากวรรณศิลป์ หมายถึงวรรณกรรมที่เกิดจากศิลปะการประพันธ์ โดยมีสุนทรียภาพ จินตนาการ และสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยการผลิต
สิ่งเร้าที่สะท้อนเข้าสู่จิตนั้นมีหลายอย่างสุดแท้แต่ว่าบุคคลอยู่ในสภาพแวดล้อมใดสิ่งเร้าที่นับว่ามีอิทธิพล และเป็นปัจจัยในการสร้างวรรณกรรมมาก ได้แก่ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ธรรมชาติ ศาสนา และความเชื่อ เป็นต้น (ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ 2525 : 25-27)
6) แบ่งตามคุณค่าที่มุ่งให้กับผู้อ่าน มี 3 ประเภท คือ
        1. วรรณกรรมที่ให้ความรู้หรือความคิด เช่น สารคดี รายงาน ตำรา พระราชพิธีพงศาวดาร
        2. วรรณกรรมมุ่งให้ความเพลิดเพลิน เช่น บทละคร นิทาน นิยาย เรื่องสั้น
        3. วรรณกรรมที่มุ่งผสมผสานความรู้ ความคิด และความบันเทิงเข้าด้วยกัน ผลงานนี้อาจอยู่ในวรรณคดีประเภทต่าง ๆ ได้ (วิภา กงกะนันทน์ 2523 : 32-34)
สำหรับ ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ (2525 : 28) แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้คือ
        1. วรรณกรรมเชิงวิชาการ หมายถึงวรรณกรรมที่มีจุดประสงค์หรือมีพันธกิจหลัก คือการให้ความรู้ความคิด อันได้จากการบอกเล่า จากญาณทัศน์ จากเหตุผล จากคัมภีร์ และจากการประจักษ์ วรรณกรรมประเภทนี้มุ่งเสนอเนื้อหาแก่ผู้อ่านเป็นสำคัญและไม่สู้จะให้ความสำคัญในเรื่องรูปแบบเทคนิค และกลวิธีการประพันธ์มากนัก กล่าวโดยสรุปก็คือเป็นวรรณกรรมที่มุ่งให้ความรู้เชิงวิชาการนั่นเอง
        2. วรรณกรรมเชิงวรรณศิลป์ หมายถึงวรรณกรรมที่แต่งขึ้นโดยเน้นรูปแบบ เทคนิค และกลวิธีการประพันธ์ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเนื้อเรื่อง แต่การเสนอความรู้ความคิดนั้น ไม่เน้นในเรื่องข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริงเท่ากับความบันเทิง และสุนทรียภาพ กล่าวโดยสรุปก็คือ เป็นวรรณกรรมที่มุ่งให้ความบันเทิงและสุนทรียภาพนั่นเอง
7) แบ่งตามรูปแบบหรือวัสดุและสื่อของการเสนอของวรรณกรรม มี 2 ประเภท คือ
1. วรรณกรรมในรูปของวัสดุสิ่งพิมพ์ (Printed Materials) หมายถึง วรรณกรรมที่ถ่ายทอดงานเขียนที่เป็นตัวอักษรและใช้กระดาษเป็นหลัก แบ่งย่อยออกเป็น
           1.1 หนังสือ แบ่งออกเป็น
                1.1.1 หนังสือสารคดี (Nonfiction Book) ซึ่งครอบคลุมถึง
                        1.1.1.1 หนังสือตำราวิชาการ (Textbook) เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นตามหลักสูตรในสถาบันการศึกษาระดับต่าง ๆ โดยเล่มหนึ่ง ๆ อาจจะเขียนครอบคลุมเนื้อหาในรายวิชาใดวิชาหนึ่งอย่างครบถ้วน หรืออาจเขียนเจาะเฉพาะหัวข้อใหญ่ ๆ หัวข้อใดหัวข้อหนึ่งก็ได้ หนังสือนี้ถ้าเป็นระดับการศึกษาสามัญคือ ประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา จะเรียกว่า หนังสือแบบเรียน ซึ่งต้องเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาตรงตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดและได้รับอนุมัติให้ใช้เป็นแบบเรียนได้ สำหรับระดับอุดมศึกษานั้นเรียกตำราวิชาการ คือจะกำหนดกรอบเนื้อหาไว้ให้ ส่วนผู้เขียนจะเขียนให้กว้างขวางหรือเจาะลึกอย่างไรก็แล้วแต่บุคคล
                        1.1.1.2 หนังสือเรียนและหนังสืออ่านประกอบ (Supplementary Reading) เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อใช้อ่านประกอบในเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ที่เล่าเรียนอยู่ในสถานศึกษา โดยมีเนื้อหาละเอียดขึ้น พิสดารขึ้น เจาะลึกขึ้น สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมให้ได้ความรู้ที่กว้างขวางไปอีก
                        1.1.1.3 หนังสือความรู้ทั่วไป เป็นหนังสือที่ผู้เขียนต่างๆ เรียบเรียงขึ้นตามที่ตนสนใจศึกษาค้นคว้าหรือที่รวบรวมได้ มิได้มุ่งหวังจะให้เป็นตำราสำหรับวิชาหนึ่งวิชาใด แต่เป็นการเสนอความรู้ในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
                        1.1.1.4 หนังสืออ้างอิง (Reference Book) เป็นหนังสือที่มีลักษณะพิเศษ
ทำขึ้นเพื่อเป็นการรวบรวมความรู้หลากหลายสาขาเอาไว้รวมกัน หรืออาจรวบรวมความรู้ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของแต่ละสาขาเอาไว้ หนังสือพวกนี้จะมีลักษณะหนาหลายหน้า หรือเป็นชุดหลายเล่มจบ เวลาใช้ไม่จำเป็นต้องอ่านทั้งหมด เพียงค้นหาคำตอบเฉพาะที่ต้องการใช้ก็พอ เช่นสารานุกรม พจนานุกรม หรือหนังสือคู่มือสาขาวิทยาศาสตร์ นามานุกรม เป็นต้น
                        1.1.1.5 รายงานวิจัย เป็นรายงานการศึกษาค้นคว้าในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง มีการจัดทำตามลำดับขั้นตอนวิธีวิจัยแบบต่าง ๆ นำข้อมูลมาวิเคราะห์ใช้สถิติต่าง ๆ ประกอบ และสรุปผลวิจัยออกมา เขียนอย่างมีระเบียบแบบแผน
                        1.1.1.6 ปริญญานิพนธ์หรือวิทยานิพนธ์ (Theses or Dissertation) เป็นบทนิพนธ์ที่เรียบเรียงขึ้นประกอบการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอกเนื้อหาเป็นผลการวิจัยในเรื่องที่ผู้ศึกษาสนใจ ส่วนใหญ่จะเป็นการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ หรือเป็นการพิสูจน์ทฤษฎีที่มีผู้กล่าวไว้หรือเป็นการพิสูจน์สมมุติฐานในเรื่องที่เป็นข้อสงสัย ซึ่งรูปแบบอาจจะแตกต่างกันไปแต่ละสถาบัน
                        1.1.1.7 คู่มือสถานศึกษา เป็นหนังสือที่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทำขึ้นเพื่อบอกรายละเอียดเกี่ยวกับสถาบันนั้น ๆ นับแต่ ประวัติ คณะวิชาที่เปิดสอน รายวิชาของคณะวิชาต่าง ๆ ระเบียบการเรียน ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ รายชื่อคณาจารย์
                        1.1.1.8 สิ่งพิมพ์รัฐบาล เป็นหนังสือ เอกสารที่ผลิตโดยหน่วยงานราชการ
และรัฐวิสาหกิจ อาจจะเป็นการรายงานกิจการประจำปีของหน่วยงาน อาจจะเป็นรายงานการประชุมทางวิชาการที่หน่วยนั้นจัดขึ้น อาจจะเป็นสถิติข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่หน่วยงานนั้นรับผิดชอบอยู่ หรืออาจจะเป็นเอกสารเผยแพร่เชิงวิชาการในเรื่องที่หน่วยงานนั้นเชี่ยวชาญ
                1.1.2 หนังสือบันเทิงคดี (Fiction Book) เป็นหนังสือที่เขียนขึ้นจากจินตนาการ มุ่งให้ความบันเทิงเป็นสำคัญ แบ่งย่อยได้ดังนี้
                        1.1.2.1 หนังสือนวนิยาย
                        1.1.2.2 หนังสือรวมเรื่องสั้น
                        1.1.2.3 หนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน ส่วนใหญ่เป็นหนังสือภาพ หรือเป็นเรื่องสั้น ๆ เขียนเพื่อสอนจริยธรรมแก่เด็ก หรือให้ความรู้ที่เด็กควรรู้ มักจะมีขนาดบาง หน้าไม่มากนักอย่างไรก็ตาม หนังสือเด็กและเยาวชนที่มีชื่อเดียว อาจเป็นการบันเทิงล้วน ๆ แต่แทรกคติสอนใจไว้อย่างเนียบเนียน
        1.2 สิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง หมายถึง สิ่งพิมพ์ที่ออกต่อเนื่องกันตามกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ สิ่งพิมพ์ประเภทนี้เมื่อก่อนภาษาอังกฤษใช้คำเรียกคลุมกว้าง ๆ ว่า periodicals แต่ปัจจุบันใช้คำว่า serials ซึ่งครอบคลุมถึงสิ่งพิมพ์ต่อไปนี้
                1.2.1 หนังสือพิมพ์รายวัน สิ่งพิมพ์ที่ออกประจำวัน แต่ถ้าเป็นหนังสือพิมพ์ใน
ท้องถิ่นอาจจะเป็นราย 7 วัน หรือราย 10 วัน ราย 15 วัน ตามความเหมาะสม หนังสือพิมพ์จะเสนอข่าวความเคลื่อนไหวเหตุการณ์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อสังคมหรือเหตุการณ์ที่สังคมสนใจ นอกจากนี้ยังเสนอบทความ ความคิดเห็นต่อเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เสนอเรื่องทางวิชาการ ตลอดจนนวนิยาย สารคดีที่น่าสนใจต่าง ๆ หนังสือพิมพ์แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
                        1.2.1.1 ประเภทเสนอข่าวให้คิด เสนอข่าวแนวการเมือง และเศรษฐกิจ
                        1.2.1.2 ประเภทเสนอข่าวให้ร้าวใจ ข่าวมีรายละเอียดมากเพื่อเร้าใจให้ผู้อ่านติดตามเรื่องราว หนังสือพิมพ์ประเภทนี้ มุ่งเสนอข่าวประเภทอาชญากรรม ข่าวอุบัติเหตุ ข่าวบันเทิง
                1.2.2 วารสาร (Periodicals) เป็นสิ่งพิมพ์ที่พิมพ์เผยแพร่มีชื่อเรียกแน่นอน และมีกำหนดเวลาออกไว้แน่นอน เช่น รายสัปดาห์ รายปักษ์ รายเดือน ราย 2 เดือน เป็นต้น ตีพิมพ์
บทความและเรื่องราวต่าง ๆ ที่ทันสมัยไว้ในเล่มเดียวกันเขียนโดยผู้เขียนหลายคน เนื้อหาสาระภายในจะเป็นเรื่องในแนววิชาเดียวกัน หรือเป็นเรื่องหลายเรื่องหลายแบบรวม ๆ กันก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการจัดทำวารสารนั้น ๆ เนื้อเรื่องจะจบในฉบับหรือต่อเนื่องกันไปหลายฉบับก็ได้ รูปเล่มของวารสารชื่อหนึ่ง ๆ มักจะเป็นแบบเดียวกันและจะให้หมายเลขของปีที่ (Volume) ฉบับที่ (Number) หรือวันเดือนปี (Date) ประจำฉบับไว้ด้วยโดยเลขที่ดังกล่าวจะต่อเนื่องกับฉบับก่อน ๆ ที่ตีพิมพ์มาแล้ว วารสารแบ่งตามลักษณะเนื้อหาได้ 3 ประเภท ดังนี้
                        1.2.2.1 วารสารวิชาการ (Journals) เป็นวารสารที่จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมความรู้และวิชาการต่าง ๆ เนื้อเรื่องจะให้ความรู้ทางวิชาการ รวมทั้งนำเสนอผลงานทางวิชาการ หรือผลการวิจัยที่ยังไม่เคยพิมพ์เผยแพร่มาก่อน จัดทำโดยนักวิชาการนั้น ๆ โดยตรง
                        1.2.2.2 วารสารทั่วไปหรือนิตยสาร (Magazines) เป็นวารสารสำหรับผู้อ่านทั่วไป มุ่งให้ทั้งความรู้และความบันเทิง ความรู้มักเป็นไปในลักษณะที่ให้ความรอบรู้ ความเข้าใจและทัศนคติในเชิงวิเคราะห์ ไม่ให้เนื้อหาทางวิชาการล้วน ๆ อาจแบ่งได้ 2 ลักษณะ คือ
ก. ประเภทมุ่งเสนอความบันเทิงเป็นหลัก เนื้อเรื่องส่วนใหญ่จะเป็นนวนิยาย เรื่องสั้น อาจจะแทรกเกร็ดความรู้ สารคดี เรื่องราวเบ็ดเตล็ด และสรุปข่าว เหตุการณ์ต่าง ๆ ไว้ด้วย
ข. ประเภทที่ให้ความรู้มากกว่าความบันเทิงหรือมีทั้งสองอย่างก้ำกึ่งกัน
                        1.2.2.3 วารสารเสนอข่าวเชิงวิจารณ์ (News Magazines) หมายถึง วารสารที่เสนอบทความและบทวิจารณ์ อธิบายข่าว วิเคราะห์ข่าว สรุปข่าวทางด้านการเมืองเศรษฐกิจ การศึกษาศิลปกรรม ภาพยนตร์ และอื่น ๆ เนื้อหาส่วนใหญ่ค่อนข้างหนัก เช่น มติชนสุดสัปดาห์ สยามรัฐ
สัปดาหวิจารณ์ เนชั่นสุดสัปดาห์ เป็นต้น

                1.2.3 หนังสือรายปี (Yearbook) เป็นสิ่งพิมพ์ที่ออกประจำต่อเนื่องกันทุกปี เช่นรายงานประจำปี รายงานการประชุมประจำปี สิ่งพิมพ์ประเภทนี้เมื่อห้องสมุดได้มา ส่วนใหญ่จะจัดรวมอยู่กับพวกหนังสือ
        1.3 จุลสาร (Pamphlet) เป็นหนังสือที่มีเรื่องราวสั้น ๆ มีความหนาไม่มาก โดยประมาณก็คือ 60 หน้า หรืออาจจะหนากว่านี้เพียงเล็กน้อย
2. วรรณกรรมในรูปของวัสดุไม่ตีพิมพ์ (Non-Printed Materials) หมายถึงวรรณกรรมที่
ถ่ายทอดงานลงในวัสดุไม่ตีพิมพ์ หรือโสตทัศนวัสดุ ซึ่งวรรณกรรมประเภทนี้บางครั้งได้ถ่ายทอดมาจากวรรณกรรม ภาพยนต์ที่นำเรื่องจากวรรณกรรมมาถ่ายทอดทำ หรืออาจจัดทำขึ้นโดยเฉพาะก็ได้ บทเพลงที่บันทึกลงในแผ่นเสียง แถบบันทึกเสียง หรือ แผ่นดิสก์ เป็นต้น วรรณกรรมในรูปของวัสดุไม่ตีพิมพ์ แบ่งย่อยออกเป็น
        2.1 โสตทัศนวัสดุ (Audio Visual Materials) ได้แก่
                2.1.1 แผ่นเสียง (Phonodisc) ทำด้วยครั่งหรือพลาสติก ผิวบนจะถูกเซาะเป็นร่อง
เล็ก ๆ ติด ๆ กันเป็นวงกลม มีความสูงต่ำไม่เท่ากัน เวลาใช้ต้องใช้กับเครื่องเล่นแผ่นเสียง เข็มของเครื่องเล่นจะครูดไปตามร่องของแผ่นเสียง จะเกิดการเสียดสีไปตามความลึกตื้นของร่อง ทำให้เกิดการสั่นสะเทือน เข็มจะส่งสัญญาณไปแปลงเป็นคลื่นไฟฟ้า แล้วแปลงต่อเป็นคลื่นแม่เหล็ก และเป็นคลื่นเสียงในที่สุด แผ่นเสียงมีหลายขนาด เช่น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 12 นิ้ว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว แต่ละขนาดความเร็วสำหรับการหมุนแผ่นก็จะไม่เท่ากัน
                2.1.2 แถบบันทึกเสียงหรือเทปบันทึกเสียง (Phonotape) เป็นแถบแม่เหล็กที่บันทึกคลื่นเสียงเอาไว้ ที่นิยมกันมีแบบเป็นม้วน (reel tape) และแบบคาสเส็ท (cassette tape)
                2.1.3 แผนเสียงระบบดิจิตอล (Compact Digital Audio Disc) เป็นแผ่นอะลูมิเนียมฉาบด้วยพลาสติกใสแล้วเคลือบด้วยแลกเกอร์ใสและแสงผ่านได้สัญญาณจะถูกอ่านด้วยลำแสงเลเซอร์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 ซม. สัญญาณเสียงที่ออกมาจะใกล้เคียงมากที่สุด
                2.1.4 ภาพยนตร์ (Motion Pictures) คือภาพถ่ายที่เป็นภาพนิ่งชนิดโปร่งใสที่บันทึกอิริยาบทหรืออาการเคลื่อนไหวติดต่อกัน เป็นจำนวนอย่างน้อย 16 ภาพ/วินาที ลงบนแผ่นฟิล์ม เมื่อนำเอาภาพซึ่งอยู่ในลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาฉายด้วยอัตราเร็วเดียวกันจะทำให้เห็นภาพในลักษณะเคลื่อนไหวเหมือนธรรมชาติ ฟิล์มภาพยนต์มีทั้งชนิดฟิล์มขาว-ดำ และชนิดฟิล์มสี และมีฟิล์มชนิดไม่มีเสียง (Silen Film) และฟิล์มมีแถบเสียง ฟิล์มภาพยนต์มีหลายขนาด เช่น ขนาด 8 มม. ธรรมดา 8 มม. พิเศษ ฟิล์มขนาด 16 มม. ชนิดมีเสียงและไม่มีเสียง ฟิล์มขนาด 35 มม. และฟิล์มขนาด 70 มม.
                2.1.5 วิดีทัศน์ (Video Tape) วิดีทัศน์เป็นสื่อโสตทัศน์ที่ให้ทั้งภาพและเสียง เช่นเดียวกับภาพยนต์ แต่อำนวยประโยชน์สะดวกสบาย และคล่องตัวในการใช้มากกว่า วิดีทัศน์ มี 2 ประเภท คือ

                        2.1.5.1 เทปวิดีทัศน์ (Video Tape) มีหลายขนาดดังนี้
ก. แบบตลับ (Videocassette) มีขนาด ? นิ้ว เรียกว่า ระบบยูเมติก (U-Matic) ขนาด ? นิ้ว นิยมใช้อย่างแพร่หลาย เรียกว่า ระบบวีเอชเอส (Video Home System หรือ VHS) และยังมีการพัฒนาให้มีคุณภาพสูงขึ้นทั้งการบันทึกและการเล่น เรียกว่า Super VHS หรือ S-VHS นอกจากนี้ยังมีเทปวิดีทัศน์ขนาดเล็ก คือ VHS-C และ 8 มม.
ข. แบบม้วนเปิด (Video reel) มีขนาด 2 นิ้ว 1 นิ้ว และ ? นิ้ว เป็นเทป
วิดีทัศน์ที่ใช้กับสถานีโทรทัศน์ภายหลังหันมาใช้ขนาด 1 นิ้วแทน เพราะเครื่องเล่นและม้วนเทปราคาแพง ค. แบบกล่อง (Video Cartridge) เป็นเทปขนาด 1 นิ้ว ไม่นิยมตามบ้าน แต่ใช้สำหรับการโฆษณา
                        2.1.5.2 แผ่นวิดีทัศน์ (Videodisc) แผ่นวิดีทัศน์ มีลักษณะคล้ายแผ่นเสียง แต่สามารถบันทึกข้อมูลได้ทั้งตัวอักษร ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และเสียง ด้วยสัญญาณดิจิตอล และอ่านสัญญาณข้อมูลด้วยแสงเลเซอร์ มี 2 แบบ คือ
ก. แผ่นวิดีทัศน์ชนิดใช้เข็ม
ข. แผ่นวิดีทัศน์ระบบเลเซอร์ หรือ LV (Laser Vision)
2.4 วัสดุคอมพิวเตอร์ ได้แก่
        2.4.1 จานแม่เหล็ก แบ่งได้ 2 ชนิด คือ
                2.4.1.1 จานแม่เหล็กแบบอ่อน (Floppy Disc) มี 2 ขนาด คือ 5 นิ้ว และขนาด 3 นิ้ว
                2.4.1.2 จานแม่เหล็กแบบแข็ง (Hard Disc) สามารถบรรจุข้อมูลได้มากกว่าชนิดบางหลายร้อยเท่า
        2.4.2 ฐานข้อมูลที่พัฒนาขึ้นเอง (In-house Database)
        2.4.3 ฐานข้อมูลสำเร็จรูป (Compact Disc-Read o?nly Memory : CD-ROM) มีลักษณะเหมือนแผ่น CD-Audio แต่ใช้บันทึกข้อมูลและสืบค้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ซีดีรอม 1 แผ่น สามารถบันทึกข้อมูลได้เท่ากับ จำนวนจานแม่เหล็กแบบอ่อน 1,500 แผ่น หรือประมาณ 600 เมกกะไบต์ ซึ่งเท่ากับจำนวนกระดาษขนาด A4 ประมาณ 250,000 หน้า นอกจากนี้ยังสามารถบันทึกภาพทั้งสี และขาว-ดำ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ภาพกราฟิก เสียงพูด และเสียงดนตรี ผู้ผลิตซีดีรอมได้บรรจุความรู้ต่าง ๆ เช่น สารานุกรม พจนานุกรม ฐานข้อมูล DAO, ERIC, LISA เป็นต้น
2.4.4 ฐานข้อมูลโทรคมนาคม (Telecommunication Database) เช่น Internet, Pulinet เป็นต้น (บุญถิ่น คิดไร. 2542 : 4-8 และ พวา พันธุ์เมฆา 2535 : 16-17)


เจ๋ง แบ่งตามต้นกำเนิดของวรรณกรรม แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
        1. วรรณกรรมปฐมภูมิ (Primary Source) เป็นวรรณกรรมที่เกิดจากความคิด ความริเริ่ม การค้นพบ และ ประสบการณ์ของผู้ผลิตเองสำหรับนำไปใช้งานหรือเผยแพร่แก่สาธารณชน เช่น เอกสารจดหมายเหตุ วิทยานิพนธ์ รายงานการวิจัย และเอกสารส่วนบุคคล เป็นต้น
        2. วรรณกรรมทุติยภูมิ (Secondary Source) เป็นวรรณกรรมที่เกิดจากการรวบรวม วิเคราะห์เลือกสรร ประมวล และเรียบเรียงข้อมูลมาจากวรรณกรรมปฐมภูมิ เช่น หนังสือตำราต่าง ๆ หนังสือพจนานุกรม และหนังสือสารานุกรม เป็นต้น
        3. วรรณกรรมตติยภูมิ (Tertiary Source) เป็นวรรณกรรมที่เกิดจาก การรวบรวม วิเคราะห์ เลือกสรร ประมวล และเรียบเรียงข้อมูลจากวรรณกรรมทุติยภูมิเป็นหลัก เช่น เอกสารคำสอน รายงานของนักศึกษา และคู่มือศึกษากระบวนวิชาต่าง ๆ เป็นต้น
จากทัศนะต่าง ๆ ที่มีผู้จำแนกประเภท ของวรรณกรรมนั้นจะทำให้ผู้ที่ศึกษาวรรณกรรม สามารถที่จะเข้าใจถึงรูปแบบต่าง ๆ ของวรรณกรรมได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการแบ่งตามคุณค่าที่มุ่งให้กับผู้อ่าน และตามรูปแบบหรือวัสดุและสื่อของการเสนอวรรณกรรม จะช่วยให้ผู้ศึกษาวรรณกรรมสามารถศึกษารูปแบบวรรณกรรมในศาสตร์ต่าง ๆ เชิงวิจารณ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
 











บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!