จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
เมษายน 30, 2025, 08:48:34 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 10
 21 
 เมื่อ: มีนาคม 06, 2025, 11:42:25 am 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก”
ก่อนถึงวันพระราชทานเพลิงศพพระเทพวชิรเมธี,ผศ.ดร. (วีระ วรปญฺโญ)
เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร และเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง

ตอนที่ ๔ : จากบ้านคุยป่ารัง สู่วัดโพธาราม เมืองปากน้ำโพ
วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นวันที่หลวงพ่อได้เดินทางออกจากที่พักสงฆ์คุยป่ารัง บ้านคุยป่ารัง พร้อมด้วยพระราชวุฒิเมธีมาพำนักที่วัดโพธาราม ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ พระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญที่อยู่กลางตัวเมืองนครสวรรค์ วัตถุประสงค์การออกเดินทางมาอยู่ที่วัดโพธารามในครั้งนี้ ถือเป็นการตัดสินใจออกจากบ้านเป็น เวลานานครั้งแรกของหลวงพ่อ เพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรมนำมาซึ่งคำว่า “พระมหา” ซึ่งในสมัย นั้นถือว่า “ดูดี” เป็นอย่างมากสำหรับคนบ้านนอก และเมื่อเดินทางมาถึงวัดโพธารามก็ได้รับคำ ทักทายที่กลายเป็นคำปลุกใจจากพระมหาชุมพล เขมปญฺโญ ป.ธ. ๖ (ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่พระครูวชิรปริยัติคุณ) ครูสอนบาลีวัดโพธาราม ซึ่งหลวงพ่อนับถือว่าเป็นครูสอนบาลีรูปแรก ดังปรากฏในหนังสือคิดถึงพระมหาชุมพล เขมปญฺโญ ป.ธ. ๖ ว่า
“จากอดีต ข้าพเจ้าเข้าเรียนบาลี ณ สำนักเรียนบาลีวัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ โดยการนำพาของพระมหากอง ติกฺขวีโร (พระราชพุฒิเมธี เจ้าอาวาสวัดโพธาราม ปัจจุบัน) อาจารย์ท่านแรกที่พบคือ พระมหาชุมพล ร่างเล็ก ผอมสูง ทักทายอย่างกัลยาณมิตรว่า ท่านมาจากไหน กราบเรียนท่านไปว่า บ้านเดียวกับอาจารย์มหากอง คำแรกที่ชื่นใจที่สุด คือ โอ๊ย ! งี้เป็นมหาแน่นอน เหมือนน้ำมนต์รดใจเลย เพราะมุ่งมั่นอยากเป็นมหา คำพูดที่ปลุกใจแบบนี้ พระบ้านนอกมันรู้สึกอบอุ่นมาก อยากเรียนบาลีขึ้นมาอีกมากทีเดียว”
เมื่อหลวงพ่อเข้าพำนักยังวัดโพธารามก็ได้รับความเมตตาเป็นอย่างดีจากท่านเจ้าอาวาส และได้รับการดูแลอย่างดีจากพระราชวุฒิเมธีซึ่งขณะนั้นเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม - บาลีสำนักศาสนศึกษาวัดโพธาราม หลวงพ่อได้บันทึกความทรงจำของชีวิตช่วงที่มาอยู่วัดโพธาราม ใหม่ ๆ ในข้อความที่หลวงพ่อเขียนรำลึกพระคุณของพระราชวุฒิเมธี ว่า
“เมื่อมาอยู่วัดโพ ฯ ปี ๒๓ เป็นช่วงที่ท่านอาจารย์กองสอบได้ ป.ธ. ๖ แล้ว ท่านให้ข้าพเจ้า อยู่ที่ตึกสี่ชั้น ชั้นที่สาม ห้องเดียวกับหลวงพี่บุญมี ปญฺญาทีโป (ตันใจ) คนกำแพงเพชรเหมือนกัน บ้านอยู่แถว ๆ มอกล้วยไข่ ท่านคงเห็นว่าหลวงพี่บุญมีซึ่งเป็นพระเก่งบาลีมาก กำลังเรียนชั้น ป.ธ. ๓ ช่วยให้ข้าพเจ้าเก่งบาลีตาม ในยุคนั้นท่านอาจารย์มหากองทำหน้าที่หลายอย่างมาก ครูบา อาจารย์และนักเรียนให้ความเคารพนับถือมาก ข้าพเจ้าเข้ามาเห็นปฏิปทาของท่านพร้อมทั้งได้เห็น ความเคารพนับถือของคณะครูและนักเรียนจึงเกิดความภาคภูมิใจอย่างมาก จึงมีหลวงอาเป็น ไอดอลเสมอมา”
หลังจากที่หลวงพ่อเดินทางลงไปพักอยู่ที่วัดโพธารามไม่นานนัก ก็ทราบข่าวจากทางบ้าน ว่าโยมบิดาป่วยหนัก ทางลูกหลานได้นำส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดตาก และได้ส่งรถลงมารับหลวงพ่อกลับไปที่บ้านคุยป่ารัง แต่ปรากฏว่าโยมทวี ภูมิเมือง โยม บิดาของหลวงพ่อได้ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ด้วยโรคไตวาย สิริอายุ ๕๓ ปี ซึ่งถึงแก่กรรมใน ขณะที่ยังดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน หลวงพ่อก็ได้ขึ้นไปจัดการงานศพของโยมพ่อจนเสร็จเรียบร้อย จึงเดินทางกลับมาศึกษาต่อที่วัดโพธาราม
เพื่อไม่ให้เป็นการเสียความตั้งใจและเสียหน้าของพระราชวุฒิเมธีผู้เป็นหลวงอา หลวงพ่อ ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมจนสามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นโทในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ และ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอกในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ในนามสำนักเรียนคณะจังหวัดนครสวรรค์ในบันทึก ส่วนตัวของหลวงพ่อที่เกี่ยวเนื่องด้วยวันครู ๑๖ มกราคมของทุกปี หลวงพ่อเขียนรำลึกพระคุณของ พระอาจารย์ผู้สอนวิชานักธรรมชั้นโทและชั้นเอกไว้ว่า “พระมหาบุญช่วย ป.ธ. ๔ ครูสอนนักธรรมชั้นโท พระมหาจำเนียร ป.ธ. ๔ ครูสอนนักธรรมชั้นเอก” ซึ่งทุก ๆ ปี หลวงพ่อไม่เคยลืมที่จะแชร์ ข้อมูลนี้ในเฟสบุ๊ก (Facebook) ส่วนตัวของท่านเพื่อรำลึกพระคุณของครูผู้ให้ความรู้ตั้งแต่ระดับชั้น ประถมศึกษาจนกระทั่งสำเร็จการศึกษาเปรียญธรรม ๙ ประโยค
หลวงพ่อได้บันทึกบรรยากาศการเรียนบาลีที่วัดโพธารามเมื่อครั้งที่หลวงพ่อมาอยู่ใหม่ไว้ว่า
ข้าพเจ้าเรียนบาลีห้อง ก. ถือเป็นห้องคิงของสำนักเรียนวัดโพธารามเลย อาจารย์พระมหา จารึก สอนช่วงเช้า อาจารย์พระมหาชุมพลสอนช่วงบ่าย ก็น่าจะหลับนะช่วงนี้ แต่อย่านะ เสียงดัง ขู่ ดุ ข้าพเจ้าโดนเช่นกัน เช่น ปาแก้วเฉียดหัว ถามว่าอาจารย์โหดไหมสอนบาลี ตอบว่า ไม่ เพราะ ท่านเล็งไม่ให้ถูกลูกศิษย์อยู่แล้ว เทคนิคการสอนจะไม่เหมือนใครตรงที่ ถ้านักเรียนติดศัพท์หรือ ประโยคใด อาจารย์จะไม่มีทางบอกตรงๆเด็ดขาด ท่านจะถามอ้อมไปอ้อมมา ตีศัพท์แหลกละเอียด จำได้ว่า ให้พระเปีย (ชื่อจริงคือ บุญมี ปัจจุบัน พระครูโสภณปุญญวัชร เจ้าอาวาสวัดศรีไพศาล) แปลบาลี ท่านอาจารย์เรียกชื่อ เปีย เปีย เปีย จนดังลั่น แล้วเริ่มอธิบายแกะศัพท์ออกมาทีละเรื่อง เช่น กาเรติ ย่อมยังบุคคลให้กระทำ คำแรกที่ถามคือ เป็นศัพท์อะไร (นาม กิริยา อัพยยศัพท์ ฯลฯ) พอได้แล้วจะเริ่มกระจายศัพท์ออกให้เห็นรากศัพท์แท้จนนักเรียนเข้าใจถ่องแท้ ว่า ย่อม มาจากตัว ไหน ยังบุคคล มาจากอะไร ให้ มาจากวาจกอะไร กระทำออกมาจากไหน บางวัน สอนได้บรรทัด เดียว หมดเวลา
ปีแรกที่เรียนบาลีไวยากรณ์ พระมหาฉลอม กาญฺจนธโร ป.ธ. ๔ (อาจารย์ฉลอม ทีสี) เป็น ผู้สอนมูล ๑ นาม ข้าพเจ้ายังจับทิศทางไม่ถูก คะแนนสอบนั้น ท่องแบบ ๑๐๐ คะแนน ข้อเขียน ๑๐๐ คะแนน เรียนครบเดือนต้องสอบวัดผลเลื่อนชั้น สอบข้อเขียนข้าพเจ้าได้ ๑๐๐ เต็ม แต่สอบ แบบ อาจารย์พระมหาชุมพล บอกว่า พระวีระท่องแบบจบนานแล้ว ต้องให้มหานันทชัย (อาจารย์ นันทชัย เมฆี) เป็นกรรมการสอบ (ช่วงนั้น พระมหานันทชัย คือมือปราบเซียน โหดสุด ๆ) ปรากฏ ว่า สอบได้ ๙๘ คะแนน ยังแค้นใจไม่หาย แค่หยุดกลืนน้ำลายแป๊บเดียว ถูกตัดไป ๒ คะแนน ทำให้ มูล ๑ สอบได้ที่ ๓ ผู้ที่ได้ที่ ๑ คือ สามเณรอำนาจ ใดจิ๋ว ตัวเล็กนิดเดียว ผูกใจไว้เลยว่า จะไม่ยอม เณรตัวเล็กได้ที่ ๑ อีกต่อไป มูล ๒ ถึง มูล ๘ เลยได้ที่ ๑ ตลอด
พึ่งรู้ทีหลังว่า อาจารย์พระมหาชุมพล ท่านดูอุปนิสัยข้าพเจ้าแล้วว่า ต้องเล่นแบบนี้จึงจะ ไปถึงฝั่ง จึงให้มหานันทชัยตัดคะแนน ๒ คะแนน ถือว่า ๒ คะแนนนี้จริง ๆ ที่ทำให้ข้าพเจ้ามาถึงฝั่ง แห่งประโยค ป.ธ. ๙
ในยุคการเรียนบาลี/นักธรรมที่สำนักเรียนวัดโพธาราม นครสวรรค์ ช่วงประโยคต่ำ ๆ จะมี การแข่งขันการเรียนกันสูงมาก บรรยากาศเหล่านี้เกิดจากท่านอาจารย์พระมหาชุมพลพร้อมด้วย คณะครูได้จัดขึ้น โดยเฉพาะการสอบสนามวัดก่อนออกพรรษา นักธรรมชั้นตรี โท เอก บาลี ประโยค ๑ – ๒, ป.ธ. ๓, ป.ธ. ๔, ป.ธ. ๕ ทำให้นักเรียนดูหนังสือกันหนักมาก เพื่อชิงรางวัลในสนามวัด มีรายการรางวัลให้ชิงมากมาย เช่น รางวัลไม่ขาดเรียนทั้งนักธรรม/บาลี รางวัลที่ ๑, ๒, ๓ ชมเชย ประจำห้อง ก ข ค ง และรางวัลที่ ๑, ๒, ๓ ชมเชย ประจำสนามวัด รางวัลก็ไม่ใช่เป็นเงิน แบบปัจจุบันนี้ ส่วนมากจะเป็นกระเป๋า แฟ้ม ปากกาดีๆ หรือของใช้ วันประกาศผลจะเป็นวันก่อน ออกพรรษาหนึ่งวัน ทั้งนักเรียนทั้งครูสอนตื่นเต้นกันมาก เพราะทีมงานประกาศผลจะปกปิดเป็น ความลับมาก เรื่องสร้างบรรยากาศลุ้นสนุกแบบนี้ออกมาจากความคิดของท่านอาจารย์พระมหา ชุมพล และคณะครูในยุคนั้น
ปีที่เรียนประโยค ๑ - ๒ นั้นจะเรียนนักธรรมเอกคู่ไปด้วย ดังนั้น รางวัลไม่ขาดเรียนทั้ง บาลีทั้งนักธรรมก็เป็นของข้าพเจ้า รางวัลที่ ๑ นักธรรมเอก รางวัลที่ ๑ ประโยค ๑ - ๒ ห้อง ก. และที่ ๑ สนามวัด ก็เป็นของข้าพเจ้า กวาดทุกรางวัล ๑ ทั้งหมด อาจารย์พระมหาสุเมธ ป.ธ. ๗ ยัง บ่นเลยว่า ท่านเป็นพระไม่แบ่งรางวัลให้เณรบ้าง ท่านอาจารย์พระมหาชุมพลท่านเป็นเจ้าภาพ ถวายน้ำปานะเลี้ยงรางวัลที่ ๑ ทั้งห้อง ให้กำลังใจอย่างมาก ประทับใจไม่รู้ลืม ยุคสมัยการกระตุ้น ให้เรียนนักธรรมบาลีมันเปลี่ยนไปไกลแล้ว ”
ในระหว่างที่เรียนนักธรรมชั้นเอกกับพระมหาจำเนียร ป.ธ. ๔ หลวงพ่อก็ยังได้มุ่งมั่นที่จะ ศึกษาพระบาลีควบคู่กันไปด้วย เพื่อสานฝัน “พระมหา” โดยในการศึกษาบาลีประโยค ๑ - ๒ นั้น ได้รับความเมตตาจากพระมหาชุมพล เขมปญฺโญ ป.ธ. ๖ (ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่ พระครูวชิรปริยัติคุณ) และพระมหาจารึก ป.ธ. ๖ เป็นครูสอนบาลีประโยค ๑ - ๒ ทั้งยังมีพระราช วุฒิเมธีป.ธ. ๖ พระมหาฉลอม กาญฺจนธโร ป.ธ. ๔ และพระมหาบุญเหลือ ป.ธ. ๔ เป็นครูสอนบาลี ไวยากรณ์ จึงทำให้สามารถสอบไล่ได้ประโยค ๑ - ๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ พร้อมกับนักธรรมชั้นเอก

ผู้เขียน : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ
#ติดตามอ่านต่อตอนที่  ๕
#หลวงตาเอก #วัดพระบรมธาตุนครชุม

 22 
 เมื่อ: มีนาคม 06, 2025, 11:40:19 am 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก”
ก่อนถึงวันพระราชทานเพลิงศพพระเทพวชิรเมธี,ผศ.ดร. (วีระ วรปญฺโญ)
เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร และเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง

ตอนที่ ๓ : บวชแล้วเรียน เปลี่ยนชีวิต
หลวงพ่อ หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ซึ่งเป็นระดับชั้นการศึกษาสูงสุดของ โรงเรียนบ้านคุยป่ารังในขณะนั้น หลวงพ่อก็ไม่ได้เรียนต่อทั้งที่ในใจอยากเรียนต่อมาก จบชั้น ประถมศึกษาปีที่ ๔ โยมบิดาก็ให้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่กับหลวงปู่เหที่ที่พักสงฆ์คุยป่ารังเป็นเวลา ๑ พรรษา ในระหว่างนั้นพระมหากอง ติกฺขวีโร วัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ (ต่อมาได้รับ พระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่พระราชพุฒิเมธี) ซึ่งเป็นชาวบ้านคุยป่ารังและมีศักดิ์เป็นญาติของ หลวงพ่อ ซึ่งหลวงพ่อเรียกพระมหากองว่า “หลวงอา” ได้กลับมาเยี่ยมบ้าน และชวนหลวงพ่อ ขณะที่เป็นสามเณรไปเรียนพระบาลีที่วัดโพธาราม แต่มีเหตุขัดข้อง เนื่องจากโยมบิดากังวลเรื่อง การบิณฑบาตอาจจะไม่เพียงพอ เกรงว่าสามเณรลูกชายจะฉันไม่อิ่ม ทำให้หลวงพ่อไม่ได้เดินทางไป อยู่วัดโพธาราม ดังปรากฏในข้อความที่หลวงพ่อเขียนรำลึกพระคุณของพระเดชพระคุณพระราช วุฒิเมธี (กอง ติกฺขวีโร) ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ฯ ว่า “จริง ๆ แล้ว ข้าพเจ้าน่าจะได้มาอยู่วัดโพธาราม ตั้งแต่จบการศึกษาชั้น ป. ๔ แล้ว เพราะ ท่านอาจารย์กองไปเยี่ยมบ้านหลังสงกรานต์ตามปกติที่ท่านทำมา และก็มารับข้าพเจ้าไปเรียน พระบาลีตอนเป็นสามเณร แต่มีเหตุที่ไม่ได้มา ท่านอาจารย์กองจึงบอกว่าพร้อมเมื่อไหร่ค่อยไป เรียน” เมื่อลาลิกขาจากสามเณร หลวงพ่อก็ช่วยงานโยมบิดาและพี่ ๆ ในการทำการเกษตรกรรม หน้าที่หลักของหลวงพ่อก็คือ เลี้ยงควาย ในช่วงฤดูแล้งก็จะนำควายออกมาเลี้ยงตามท้องไร่ท้องนา แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าฝนก็จะลำบากหน่อย ต้องนำควายเข้าไปเลี้ยงในป่าบนเขากำโปงซึ่งอยู่ใกล้กับที่ นาของครอบครัว โดยจะมีชาวบ้านรวมกลุ่มกันนำควายขึ้นไปเลี้ยงด้วยกัน ตัดไม้มาล้อมรั้วทำเป็น คอกชั่วคราว ส่วนคนก็ทำเป็นห้างเล็ก ๆ ยกพื้นมุงหลังคาพอได้กันฝน เรียกว่า “ปางควาย” พักอยู่ ที่ปางควายเป็นเวลา ๒ - ๓ วันก็จะกลับเข้ามาในหมู่บ้านครั้งหนึ่งเพื่อขนเอาเสบียงอาหารขึ้นไป ซึ่งคนที่ปางควายก็จะเปลี่ยนสลับกันเฝ้าควายอยู่อย่างนี้จนถึงเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ จึงจะนำควาย กลับลงมากินหญ้ากินฟางที่ทุ่งนา หลวงพ่อก็เลี้ยงควายอยู่อย่างนี้ตั้งแต่อายุราว ๑๒ ปี จนถึงเกณฑ์ ทหาร หลวงพ่อเคยไปแสดงธรรมเทศนาที่งานศพญาติคนหนึ่งที่หมู่บ้านวังควงเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๖ ขณะนั้นผู้เขียนได้มีโอกาสติดตามได้ด้วย ในส่วนหนึ่งของการเทศนาหลวงพ่อได้เล่าถึงประวัติของ ตนเองในช่วงก่อนที่จะอุปสมบทว่า “อาตมาเนี่ย แต่ก่อนก็เลี้ยงควายอยู่แถวนี้ ทำไงได้ล่ะ ก็มันจบแค่ ป.๔ จะเรียนต่อก็ไม่ได้ น้องก็มีอีกตั้งหลายคน จะไม่เลี้ยงควายก็ไม่ได้ ก็เพราะมันมีคนแถวนี้คนหนึ่งหัวหมอ ออกเรือน แต่งงานไปก่อน (พูดแล้วก็หัวเราะเบา ๆ) อาตมาก็เลยต้องรับภาระเลี้ยงควาย คนโตเขาก็ต้องใช้ แรงงานทำนา คนเล็กก็สบาย แต่อาตมาเป็นลูกคนกลาง ๆ ก็เลยต้องเลี้ยงควาย แต่โชคดีว่ามี โอกาสได้บวช ได้เข้ามาอาศัยบวรพระพุทธศาสนา จึงทำให้ได้มีการศึกษาที่สูงขึ้น ใครจะไปคิดว่า จากเด็กเลี้ยงควายบ้านคุยป่ารังในวันนั้น จะได้มาเป็นเจ้าคุณราช ฯ ในวันนี้  แม้แต่ตัวอาตมาเอง ก็ไม่เคยคิดมาก่อน เนี่ยเห็นไหมว่าการบวชเรียนเขียนอ่านมันดียังไง” เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื่องจากโยมมารดาของหลวงพ่อได้ป่วย เป็นโรคมะเร็งกระดูก โยมบิดาและลูก ๆ ได้พาไปรักษาที่โรงพยาบาลพรานกระต่ายและรักษาด้วย วิธีต่าง ๆ เป็นเวลานานกว่า ๙ เดือน ใช้ทุนทรัพย์ในการรักษาโรคเป็นจำนวนมาก ทำให้โยมบิดา ต้องขายควายที่มีอยู่เกือบ ๕๐ ตัว จนเหลืออยู่ไม่ถึง ๑๐ ตัว เพื่อนำเงินมาจ่ายเป็นค่ารักษาโรค แต่ ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตโยมมารดาของหลวงพ่อเอาไว้ได้ ทำให้โยมบาง ภูมิเมือง ผู้เป็นโยมมารดาของ หลวงพ่อถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งกระดูกในปีต่อมา ทำให้หลวงพ่อมีความรู้สึกเศร้าเสียใจเป็น อย่างมาก
หลวงพ่อเล่าให้ฟังว่าก่อนที่จะอุปสมบทท่านก็ใช้ชีวิตอย่างวัยรุ่นชาวบ้านทั่วไป เวลามีงาน บุญประจำปีของหมู่บ้านข้างเคียงก็จะไปเที่ยวงาน เต้นรำวง สนุกสนานเฮฮากับเพื่อนฝูง แต่ท่านไม่ ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ ก่อนที่จะอุปสมบทหลวงพ่อเล่าว่าท่านมีสาวคนรักอยู่คนหนึ่ง เป็นหญิงสาวใน หมู่บ้านเดียวกัน อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ช่วงกลางวันก็จะไปเลี้ยงควายด้วยกันพร้อมกับคนอื่น ๆ หมายมั่นว่าจะแต่งงานเป็นคู่ชีวิต แต่ก็ไม่ได้มีอะไรเกินเลยต่อกัน เพราะค่านิยมสมัยนั้นต้องบวช ก่อนที่จะเบียดจึงจะถือว่าเป็นลูกผู้ชาย หลวงพ่อจึงพูดได้อย่างเต็มอกว่า “เราครองพรหมจรรย์มา ทั้งชีวิต”
บุคคลที่หลวงพ่อกล่าวถึงคือ ลุงสังวร ภูมิเมือง พี่ชายคนโตของหลวงพ่อ ซึ่งนั่งฟังพระธรรมเทศนาอยู่ในงานด้วย ขณะนั้นหลวงพ่อมีสมณศักดิ์เป็นที่พระราชวชิรเมธี รองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร

เมื่อหลวงพ่ออายุย่างเข้า ๒๑ ปีก็เข้าสู่กระบวนการตรวจเลือกทหารกองเกิน เป็นที่ลุ้นกัน ว่าหลวงพ่อต้องจับได้ใบแดเป็นทหารตามอย่างพี่ชาย ซึ่งเล่ากันว่าผู้ชายตระกูลภูมิเมืองส่วนใหญ่ มักจะจับได้ใบแดงเป็นทหารเกณฑ์ เหตุการณ์ช่วงนี้ข้อมูลไม่ชัดเจนนัก แต่ผลการตรวจเลือกทหาร กองเกินครั้งนั้นปรากฏว่าหลวงพ่อไม่ได้เป็นทหารเกณฑ์ ทั้งนี้ไม่ทราบว่าเป็นเพราะสามารถจับ สลากได้ใบดำ หรือเป็นเพราะลักษณะตาดำอยู่ไม่ตรงที่กันแน่ เมื่อไม่ถูกเกณฑ์เป็นทหาร โยมบิดา และหลวงปู่เห สนฺติกโร หัวหน้าที่พักสงฆ์คุยป่ารังซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องชายของปู่ของหลวงพ่อ และ หลวงพ่อเรียกว่า “หลวงปู่” นั้น ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าหลวงพ่อมีอายุครบที่จะบวชได้ โยมบิดาจึง ได้ปรารภกับหลวงพ่อว่า “หากอยากจะแต่งงานก็ดี หรืออยากไปทำงานที่กรุงเทพ ฯ ก็อยากให้ บวชก่อน บวชสักหนึ่งพรรษา แล้วค่อยสึก จะทำอะไรต่อก็ค่อยว่ากัน” ซึ่งหลวงพ่อก็ตกลงตามนั้น เพราะลึก ๆ ในใจก็อยากจะบวชอยู่แล้ว เนื่องจากได้ซึมซับมาจากการได้สัมผัสรับใช้หลวงปู่เหมา ตั้งแต่เด็ก หลวงพ่อได้ทำการบรรพชาอุปสมบทเมื่อเช้าวันพุธขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเมีย ซึ่งตรงกับ วันที่ ๑๔ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ ณ พัทธสีมาวัดสุวรรณาราม บ้านวังควง ตำบลวังควง อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร โดยมี พระอุปัชฌาย์คือ เจ้าอธิการประสิทธิ์ เตชวโร (ปัจจุบันได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูวชิรวราภรณ์ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร) วัดราษฎร์บูรณะ ตำบลวังตะแบก อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร พระกรรมวาจารย์คือ พระอธิการประเสริฐ กตสาโร (ปัจจุบันลาสิกขาแล้ว) วัดคลอง ราษฎร์เจริญ ตำบลหนองหัววัว อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร พระอนุสาวนาจารย์คือ พระดำรงศักดิ์ ธมฺมกาโม (ปัจจุบันได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูวิศาลวชิรกิจ เจ้าคณะตำบลหนองหัววัวกิตติมศักดิ์) วัดกุฏิการาม ตำบลพรานกระต่าย อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร
หลวงพ่ออุปสมบทเสร็จเป็นพระภิกษุทางพระพุทธศาสนาโดยสมบูรณ์เมื่อเวลาประมาณ๐๘.๒๐ น. ได้รับการตั้งฉายาทางธรรมจากพระอุปัชฌาย์เป็นภาษาบาลีว่า “วรปญฺโญ” ซึ่งแปลว่า ผู้มีบุญอันประเสริฐ
หลังจากอุปสมบทเสร็จ หลวงพ่อได้มาจำวัดอยู่ที่สำนักสงฆ์คุยป่ารังกับหลวงปู่เห สนฺติกโร ซึ่งอยู่ติดกับบ้านของหลวงพ่อ ในระหว่างอุปสมบทใหม่ ๆ ก็ได้ท่องมนต์พิธีต่าง ๆ ทั้งบทสวดเจ็ด ตำนานและบทสวดสิบสองตำนานได้จนขึ้นใจ จนกระทั่งเข้าพรรษาหลวงปู่เหก็ได้ส่งหลวงพ่อเข้า สมัครเรียนและสอบนักธรรมชั้นตรีตามแนวทางการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย โดยในการเรียน นักธรรมศึกษาชั้นตรีหลวงพ่อต้องเดินทางไปเรียนที่วัดสุวรรณาราม บ้านวังควง ที่อยู่ห่างจากบ้านคุยป่ารังออกไปราว ๒ กิโลเมตร โดยมีพระอธิการสมพร ถาวโร (ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูวิบูลวชิรโสภณ) เจ้าอาวาสวัดสุวรรณารามเป็นครูสอน

การเดินทางไปเรียนนักธรรมศึกษาชั้นตรีที่วัดสุวรรณาราม หลวงพ่อได้ปั่นจักรยานไปเรียน ในช่วงเข้าพรรษาสัปดาห์ละ ๑ วัน โดยในวันนั้นจะมีพระภิกษุสามเณรจากวัดต่าง ๆ ที่อยู่ใน ละแวกบ้านวังควงเดินทางมาเรียนหลายรูป ครูสอนนอกจากจะมีพระอธิการสมพร เป็นหลักแล้ว บางวันก็จะมีครูสอนจากวัดกุฏิการามมาร่วมสอนด้วย ซึ่งหลวงพ่อเดินทางไปเรียนอย่างสม่ำเสมอ ไม่เคยขาดเรียน แต่ก็มีบ่นในในว่า “การปั่นจักรยานมาเรียนที่วัดวังควงนั้นลำบากมาก กว่าจะปั่น ผ่านขี้โคลนไปได้ก็เหนื่อยเสียแล้ว ในใจคิดว่าถ้ามีรถเครื่องหรือรถมอเตอร์ไซค์ขี่ก็คงจะดีกว่านี้”

ในการเรียนนักธรรมชั้นตรีนี้ หลวงพ่อมีความตั้งใจพากเพียรเป็นอย่างมาก เนื่องจากว่า โยมบิดาได้มีข้อตกลงกับหลวงพ่อไว้ว่า “ถ้าสอบผ่านนักธรรมตรีแล้ว หากสึกออกมาจะซื้อรถ มอเตอร์ไซค์ให้” ด้วยหลวงพ่อไม่ได้คิดที่จะอุปสมบทครองสมณเพศอยู่นาน เมื่อได้ยินข้อตกลงของ โยมบิดาดังกล่าวก็เป็นแรงผลักดันให้มีความขยันหมั่นทบทวนตำราเพื่อที่จะสอบนักธรรมชั้นตรีให้ ผ่าน เพื่อรับรางวัลใหญ่ซึ่งในขณะนั้นใครที่ได้ขับรถมอเตอร์ไซค์ก็ถือว่าไม่ธรรมดา ในบ้านคุยป่ารังก็ ยังไม่มีรถมอเตอร์ไซค์สักคัน โดยหารู้ไม่ว่าผลการสอบนักธรรมชั้นตรีในครั้งนั้นจะทำให้หลวงพ่อ ไม่ได้ลาสิกขา และได้ครองสมณเพศตราบจนมรณภาพ ระหว่างที่หลวงพ่อพักอยู่กับหลวงปู่เห หลวงพ่อยังได้มีโอกาสศึกษาวิชาอาคมต่าง ๆ จาก หลวงปู่เห ซึ่งในสมัยนั้นเป็นที่กล่าวกันว่าเป็นผู้มีวิชาอาคมและเป็นที่พึ่งทางจิตใจของชาวคุยป่ารัง หลวงพ่อเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า “เราท่องมนต์พิธีต่าง ๆ เจ็ดตำนาน สิบสองตำนานได้หมดแล้ว เลย ถามหลวงปู่เหว่า มีมนต์อะไรให้ท่องอีกไหม หลวงปู่เหเลยบอกเราว่า มีแต่คาถา จะท่องเอาไหม เราก็เลยตอบว่า ถ้าหลวงปู่ให้ท่องก็จะท่อง หลวงปู่เหก็เลยสอนคาถาให้เราบ้าง แต่ก็ไม่ได้มากหรอก สมมติว่าหลวงปู่มีคาถาอยู่ทั้งหมดเหมือน ๕ นิ้วเรา (หลวงพ่อยกมือขึ้นมาแสดงด้วย) เราได้ เรียนจากหลวงปู่เหมาแค่เพียงข้อนิ้วมือเดียว แต่ก็พอเอาตัวรอดได้อยู่”
การสอบนักธรรมสนามหลวงชั้นตรีในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ หลวงพ่อได้เดินทางมาสอบไล่ที่วัด กุฏิการามหรือวัดป่าเรไรที่อยู่ติดกับตัวอำเภอพรานกระต่ายซึ่งเป็นสนามสอบ เมื่อสอบเสร็จก็มั่นใจ อย่างยิ่งว่า สอบผ่านแน่นอน เพราะตรงกับที่อ่านและฝึกเขียนกระทู้ธรรมมาทุกประการ การที่จะ ได้รับรางวัลรถมอเตอร์ไซค์อยู่ใกล้แค่เอื้อม หลังประกาศผลสอบก็จะลาสิกขา และจะขี่รถ มอเตอร์ไซค์ไปอวดตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในละแวกใกล้เคียง หลวงพ่อได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า
“หลังสอบนักธรรมตรีเสร็จ กลับมาอยู่วัดคุยป่ารังก็ไม่มีอะไรทำ ก็เรามันไฮเปอร์อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ หลวงปู่เหก็เลยบอกให้เราท่องพระปาฏิโมกข์ เพราะว่าพระปาฏิโมกข์ทำให้ได้บุญมาก เราก็ เลยลองท่องดู ไม่เสียหายอะไรเพราะยังไงก็ต้องออกพรรษา รอผลสอบนักธรรมตรีประกาศผล เรา ใช้เวลาท่องพระปาฏิโมกข์อยู่ ๒๘ วัน สามารถท่องจำได้จนขึ้นใจจนถึงบัดนี้ แต่รู้ไหม หลวงปู่เห มาบอกเราทีหลังว่า พระปาฏิโมกข์ใครเขาท่องกันเล่า เพราะถ้าใครท่องพระปาฏิโมกข์ได้เขาบอก ว่าจะต้องบวชตลอดชีวิต อ้าว ! ตายแล้ว ทำไงได้ล่ะ เราก็ไม่เชื่อหรอก ท่องได้แล้วก็ท่องไป เพราะ ถือว่าท่องได้ก็ได้บุญมาก”
เรื่องอานิสงส์ของการท่องพระปาฏิโมกข์ได้จะทำให้ได้บุญมากและจะต้องบวชตลอดชีวิต จะเป็นความจริงอย่างไรไม่อาจทราบได้ แต่เมื่อแม่กองธรรมสนามหลวงประกาศผลสอบนักธรรม ชั้นตรีในช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ปรากฏว่า พระวีระ วรปญฺโญ/ภูมิเมือง สำนักเรียนวัดสุวรรณาราม สอบไล่นักธรรมชั้นตรีผ่าน หลวงพ่อดีใจอย่างมากที่จะได้ลาสิกขาออกไปขี่รถมอเตอร์ไซค์เท่ ๆ ไป อวดสาว ๆ คนที่ดีใจ ไม่น้อยไปกว่าหลวงพ่อเลยก็คือ ผู้ใหญ่ทวี ภูมิเมือง โยมบิดาของหลวงพ่อ
ผู้ใหญ่ทวีเอาเรื่องที่พระลูกชายสอบผ่านนักธรรมชั้นตรีซึ่งในสมัยนั้นการสอบผ่านนักธรรม แต่ละชั้นถือว่าเป็นเรื่องยากมาก ต้องอาศัยการเล่าเรียนฝึกฝนพยายามเป็นอย่างมาก ไปบอกเล่าให้ ชาวบ้านและแขกที่มาเยี่ยมเยือนฟังด้วยความดีใจ สมกับเป็นลูกชายของผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งในสมัยนั้น การเป็นผู้ใหญ่บ้านถือว่าเป็นผู้มีบารมีพอสมควร การที่มีพระลูกชายสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรีนั้นก็ ถือว่าเป็นการเสริมบารมีอย่างหนึ่งให้กับความเป็นผู้ใหญ่บ้าน
 ระหว่างนี้หลวงพ่อเองก็มีความรู้สึกสองจิตสองใจว่าจะลาสิกขาหรือจะบวชต่อเพื่อเรียน นักธรรมชั้นโท เพราะว่าในหมู่บ้านขณะนั้นมีญาติของหลวงพ่อที่ได้บวชเรียนจนได้เป็นพระมหา เปรียญ คือ พระมหากอง ติกฺขวีโร/ศิรินาค และได้เป็นครูสอนพระบาลีที่วัดโพธาราม จังหวัด นครสวรรค์ ซึ่งหลวงพ่อให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันยังมีโยมกาบ ศิรินาค ซึ่ง เป็นโยมบิดาของพระมหากองคอยแนะนำอยากให้หลวงพ่อบวชเรียนต่อจนได้เป็นพระมหาเหมือน บุตรชายของตน ในที่สุด หลังตรวจเลือกทหารกองเกินแล้วเสร็จ ไม่ได้ไปเป็นทหารเกณฑ์ หลวงพ่อึงตัดสินใจที่จะบวชเรียนต่อ ทิ้งรถมอเตอร์ไซค์รางวัลใหญ่ที่เคยอยากได้ ทิ้งสาวบ้านคุยป่ารังที่เคย เลี้ยงควายด้วยกัน ไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ เหตุการณ์ชีวิตของ หลวงพ่อช่วงนี้ได้ปรากฏในข้อความที่หลวงพ่อเขียนรำลึกพระคุณของพระราชวุฒิเมธี ว่า
“พระเดชพระคุณ พระราชวุฒิเมธี (กอง ติกฺขวีโร) เจ้าคุณอาจารย์ อดีตเจ้าอาวาส วัดโพธาราม พระอารามหลวง และที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ เป็นพระมหาเถระที่ใจเย็น ที่สุดเท่าที่เคยพบมา ข้าพเจ้าเป็นศิษย์เก่าวัดโพธาราม ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๓ - ๒๕๒๙ ได้มาพึ่งใบบุญ ของท่านอาจารย์พระมหากองครั้งแรก วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ ในที่นี้ข้าพเจ้าเรียกท่าน อาจารย์กอง ตามที่พระเณรวัดโพ ฯ เรียกในยุคนั้น
ข้าพเจ้าเรียกท่านตามที่พี่น้องเรียก คือ หลวงอา เป็นญาติห่าง ๆ กัน และมีอายุน้อยกว่า โยมพ่อเล็กน้อย เพราะท่านอาจารย์กองเป็นคนบ้านเดียวกัน คือ บ้านคุยป่ารัง ตำบลวังควง (ในยุค ท่านอาจารย์กองยังขึ้นอยู่กับตำบลท่าไม้) อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ข้าพเจ้าบวช พระในพรรษาแรก โยมกาบ ซึ่งเป็นโยมพ่อของท่านอาจารย์กอง เป็นทายกวัดคุยป่ารัง จึงพยายาม ประคบประหงมข้าพเจ้า เพราะตั้งใจจะให้ไปเป็น “มหา” เหมือนพระลูกชายของตน จนข้าพเจ้า สอบนักธรรมตรีได้ และท่านอาจารย์กองกลับมาเยี่ยมบ้านจึงได้พาข้าพเจ้าเข้ามาเรียนพระบาลีที่ วัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์”
การตัดสินใจบวชต่อเพื่อไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดโพธารามให้เป็น “พระมหา” ของ พระวีระ วรปญฺโญ ในครั้งนั้นได้ทำให้ชีวิตของหลวงพ่อเปลี่ยนไปอย่างมาก และเป็นการ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น จากเด็กเลี้ยงควายกลายเป็นพระมหาและท่านเจ้าคุณ หลวงพ่อจึง มักจะกล่าวกับพระนิสิต พระภิกษุและสามเณรที่เข้ามาบวชหรือมาอยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมที่ วัดพระบรมธาตุเสมอว่า “บวชแล้วเรียน เปลี่ยนชีวิต”

ผู้เขียน : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ
#ติดตามอ่านต่อตอนที่  ๓
#หลวงตาเอก #วัดพระบรมธาตุนครชุม

 23 
 เมื่อ: มีนาคม 06, 2025, 11:34:27 am 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก”
ก่อนถึงวันพระราชทานเพลิงศพพระเทพวชิรเมธี,ผศ.ดร. (วีระ วรปญฺโญ)
เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร และเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง

ตอนที่ ๒ : การศึกษาภาคบังคับ
เมื่ออายุครบตามเกณฑ์ที่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนได้ หลวงพ่อก็เข้ารับการศึกษาใน ระดับชั้นเด็กเล็กและชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านคุยป่ารังซึ่งเป็นโรงเรียนประจำหมู่บ้าน หลวง พ่อเล่าว่า ตอนนั้นที่โรงเรียนบ้านคุยป่ารังมีครูอยู่ไม่กี่คน ท่านจำได้ว่าตอนเรียนตั้งแต่ชั้น ประถมศึกษาปีที่ ๑ จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ มีครูผู้สอนชื่อ ครูจรัส แจ่มหม้อ หลวงพ่อไม่เคย ลืมบุญคุณของครูจรัสเลย และมักจะพูดเสมอว่าที่สามารถอ่านออกเขียนได้จนมาเป็นครูเป็น อาจารย์สอนคนอื่นได้ก็เพราะครูจรัสที่เอาใจใส่และบังคับให้ฝึกอ่านฝึกเขียนจนสามารถมีความรู้ ทางภาษาพอเอาตัวรอดได้ หลวงพ่อศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนบ้านคุยป่ารังจนสำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษา ปีที่ ๔ ซึ่งเป็นระดับชั้นการศึกษาสูงสุดของโรงเรียนบ้านคุยป่ารังในขณะนั้นเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๕๑๒ หลวงพ่อเล่าว่า ด้วยความที่โรงเรียนบ้านคุยป่ารังเปิดทำการเรียนการสอนถึงแค่เพียงชั้น ประถมศึกษาปีที่ ๔ ซึ่งเป็นระดับการศึกษาภาคบังคับในสมัยนั้น จึงทำให้หลวงพ่อสำเร็จการศึกษา เพียงแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ แต่มีความสามารถอ่านออกเขียนได้ และมีความจำเป็นเลิศเป็นที่ ชื่นชมของครูผู้สอน หลวงพ่ออยากจะเรียนต่อให้จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗ ซึ่งสมัยนั้นถือว่าเป็น ระดับการศึกษาที่สูงทีเดียว แต่ด้วยความที่อยู่หมู่บ้านห่างไกลและมียังมีน้องอีกหลายคนที่ต้องเข้า เรียนหนังสือ ทำให้โยมบิดาไม่อนุญาตให้หลวงพ่อเดินทางมาเรียนที่โรงเรียนต่างหมู่บ้าน หลวงพ่อ มักจะพูดเสมอว่า “เราเนี่ยจบแค่ ป.๔ ทำไงได้ก็เรามันอยู่บ้านนอก จบ ป.๔ แล้วก็ออกโรงเรียนไป เลี้ยงควาย ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งจะได้มาเรียนจนจบด๊อกเตอร์กับเขา สมัยนั้นด๊อกเตอร์คืออะไรก็ยังไม่รู้จักเลย”

ด้วยความที่หลวงพ่อสามารถอ่านออกเขียนได้จากโรงเรียนบ้านคุยป่ารังจึงทำให้หลวงพ่อ มีความรักและผูกพันกับโรงเรียนแห่งนี้มาก ต่อมาในราว พ.ศ. ๒๕๔๕ โรงเรียนบ้านคุยป่ารังมี จำนวนนักเรียนที่ลดลงอย่างมาก ผู้บริหารและคณะครูส่วนใหญ่เป็นคนต่างถิ่น ย้ายมารับตำแหน่ง แล้วก็รอเวลาย้ายไปอยู่ที่อื่นต่อ ทำให้ผู้ปกครองมองว่าคุณภาพการศึกษาลดลง แล้วส่งบุตรหลาน ไปเรียนในโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่กว่าในเขตตัวอำเภอ จนนำไปสู่การสอดรับนโยบายที่จะมีการยุบ รวมโรงเรียนบ้านคุยป่ารังเข้ากับโรงเรียนบ้านวังควงซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้เคียง เป็น เหตุให้หลวงพ่อพยายามที่จะรักษาสถานภาพของโรงเรียนบ้านคุยป่ารักที่ท่านรักแห่งนี้เอาไว้จึง เข้ามารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขึ้นพื้นฐานโรงเรียนบ้านคุยป่ารัง เพื่อหา แนวทางในการรักษาและพัฒนาโรงเรียนแห่งนี้ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ หลวงพ่อได้มีตำแหน่งเป็น กรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต ๑ ซึ่งกำกับดูแลโรงเรียนในอำเภอพรานกระต่ายพอดี ทำให้เห็นทิศทางการช่วยเหลือผู้บริหารและคณะครูประคับประครองและ พัฒนาคุณภาพทางการศึกษาของโรงเรียนบ้านคุยป่ารัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ปกครองในการ นำบุตรหลานเข้ามาเรียน หลวงพ่อได้จัดทำผ้าป่าการศึกษาเพื่อนำเงินมาปรับปรุงพัฒนนาภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อม ภายในโรงเรียน นำเงินส่วนตัวมามอบให้โรงเรียนในการจัดหาอุปกรณ์การเรียนที่ทันสมัย และที่ สำคัญคือ หลวงพ่อได้ใช้เงินส่วนตัวจำนวนหนึ่งเป็นเงินเดือนเพื่อจ้างบุตรหลานของชาวบ้านที่ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาชีพครูมาเป็นครูอัตราจ้างของโรงเรียน ซึ่งหลวงพ่อได้ ดำเนินแนวทางดังกล่าวร่วมกับผู้บริหาร คณะครูและชาวบ้านมาได้ราว ๒ - ๓ ปี ความพยายาม ทุกอย่างก็ประสบความสำเร็จ โรงเรียนบ้านคุยป่ารังกลับมามีจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น การมีจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้นก็ทำให้ได้รับการจัดสรรตำแหน่งบรรจุครูผู้สอนเพิ่มมากขึ้นตามมาด้วย จากโรงเรียนเล็ก ๆ ในตำบลสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาจนทำให้นักเรียนชนะเลิศการแข่งขัน ทักษะทางวิชาการในระดับเขตพื้นที่การศึกษาหลายกิจกรรม และโรงเรียนก็ได้รับรางวัล ระดับประเทศหลายรางวัล จนทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านข้างเคียงส่งบุตรหลานมาเรียนที่โรงเรียน บ้านคุยป่ารัง

ขณะเดียวกัน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทุกวันที่ ๑๕ เมษายนของทุกปี หลวงพ่อจะพาญาติ พี่น้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับโยมบิดามารดาที่บ้านเกิด และช่วงสาย ๆ ก็จะจัดให้มีกิจกรรมเปิด โอกาสให้ชาวบ้านคุยป่ารังสรงน้ำขอพรจากหลวงพ่อและผู้สูงอายุที่โรงเรียนบ้านคุยป่ารัง ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด ภายหลังบางปีทางศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านคุยป่ารังยังได้มีการจัดกิจกรรม แข่งขันกีฬาการกุศลและเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในชุมชนด้วย ที่หลวงพ่อเลือกให้มีการจัด กิจกรรมสรงน้ำขอพรที่โรงเรียนบ้านคุยป่ารังแทนที่จะจัดที่ที่พักสงฆ์คุยป่ารังก็เพราะว่า ท่านอยากให้ศิษย์เก่าและคนในชุมชนได้เห็นความสำคัญของโรงเรียนในฐานะที่เป็นสถานที่อบรมบ่มเพาะวิชา ความรู้และทำให้คนในชุมชนได้รู้จักมักคุ้นเป็นเพื่อนเป็นเกลอกันเป็นรุ่น ๆ เรื่อยมา แม้จะไป ทำงานต่างถิ่น เมื่อกลับมาบ้านในเทศกาลสงกรานต์ก็จะได้มารำลึกความหลังในวัยเยาว์ร่วมกันที่ โรงเรียน ให้มีความรู้สึกหวงแหนอยากให้โรงเรียนคงอยู่คู่กับชุมชน บางปีก็มีการทอดผ้าป่าเพื่อ การศึกษา เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมกิจกรรมทางการศึกษาของโรงเรียนด้วย

ผู้เขียน : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ
#ติดตามอ่านต่อตอนที่  ๓
#หลวงตาเอก #วัดพระบรมธาตุนครชุม

 24 
 เมื่อ: มีนาคม 04, 2025, 12:40:34 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก”
ก่อนถึงวันพระราชทานเพลิงศพพระเทพวชิรเมธี,ผศ.ดร. (วีระ วรปญฺโญ)
เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร และเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง

ตอนที่ ๑ : เล่าประวัติพระเทพวชิรเมธี :หลวงตาเอกแห่งวัดพระบรมธาตุ
พระเดชพระคุณพระเทพวชิรเมธี (วีระ วรปญฺโญ/ภูมิเมือง, ป.ธ. ๙, ผศ.ดร.) อดีตเจ้าคณะ จังหวัดกำแพงเพชร อดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ถือเป็นพระนักการปกครอง เป็นพระนักการศึกษา ทั้งการศึกษา พระปริยัติธรรมและการศึกษาทางโลก เป็นพระนักพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่ยากผู้ใดเทียบได้ และเป็น พระนักการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ทรงภูมิความรู้ เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยสีลสุตาธิคุณ เป็นผู้ที่ใคร่ ต่อการศึกษาและพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา เป็นปราชญ์ผู้ที่เป็นครูอาจารย์ของศิษย์ทั้งหลาย เป็น เนื้อนาบุญยิ่งใหญ่ของชาวกำแพงเพชร บำเพ็ญประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและสังคม ประเทศชาตินานัปการมาโดยลำดับ จนได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวงแห่งแรกของจังหวัดกำแพงเพชร อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุนครชุมอัน ศักดิ์สิทธิ์ และได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร เรื่องราวประวัติ อัธยาศัย และเกียรติคุณทั้งหลายของพระเทพวชิรเมธีที่ปรากฏในเนื้อหาที่ทุกท่านจะได้อ่านต่อไปนี้จึงเป็น เพียงส่วนน้อยที่ผู้เขียนได้เรียบเรียงขึ้นจากเอกสาร ความทรงจำและคำบอกเล่าของผู้เกี่ยวข้อง เท่าที่จะทำได้ตามข้อจำกัดของเวลาเท่านั้น ผู้ที่เคยได้สัมผัสกับพระเทพวชิรเมธีในการร่วมทำงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ย่อมเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาและจิตใจของตนเองว่าพระเทพวชิรเมธีเป็น พระภิกษุที่มีเมตตากับทุกคนที่เข้ามาหา ไม่ถือตน ไม่ถือยศศักดิ์ ไม่ขัดศรัทธา มีอัธยาศัยไมตรีอันดี กับทุกคน จึงไม่แปลกที่พระเทพวชิรเมธีจะใช้นามปากกาและชื่อเฟสบุ๊ก (Facebook) ส่วนตัวว่า “หลวงตาเอก แห่งวัดพระบรมธาตุ” การนำเสนอประวัติของพระเทพวชิรเมธีในหนังสือที่จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงาน พระราชทานเพลิงศพของพระเทพวชิรเมธี ทางคณะศิษยานุศิษย์ผู้ใกล้ชิดและผู้รับผิดชอบในการ จัดทำหนังสืออนุสรณ์มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ควรเขียนนำเสนอประวัติของพระเทพวชิรเมธีใน แบบพรรณนาความเรียงที่อ่านเข้าใจง่าย และเป็นข้อมูลที่ต่างไปจากการนำเสนอประวัติแบบ สังเขปในแหล่งอื่น ซึ่งเป็นข้อมูลจากคำบอกเล่า การได้อยู่รับใช้ถวายงานและร่วมงานกับพระเทพ วชิรเมธีของผู้ที่ใกล้ชิดเท่าที่สามารถจะสืบค้นข้อมูลได้ตามข้อจำกัดเรื่องเวลา โดยมีผู้เขียน คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่เคยได้อยู่ใกล้ชิดและรับใช้ถวายงาน ด้านต่าง ๆ ต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๖ เรื่อยมา และได้มีโอกาสสัมภาษณ์และรับฟังเรื่องราวใน อดีตของพระเทพวชิรเมธีในหลายวาระเป็นผู้เรียบเรียง ซึ่งจากนี้ไปเพื่อความสะดวกและเข้าใจง่าย ของผู้อ่าน ผู้เขียนจึงขอใช้ชื่อ “หลวงพ่อ” แทนชื่อพระเทพวชิรเมธีตามที่ลูกศิษย์ส่วนใหญ่ใช้เรียก

ชาติภูมิของหลวงพ่อ
พระเทพวชิรเมธีเกิดที่บ้านเลขที่ ๖๐ หมู่ที่ ๕ บ้านคุยป่ารัง ตำบลวังควง (ขณะนั้นยัง ขึ้นกับตำบลท่าไม้) อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ แต่ด้วยความที่ใน ยุคนั้นการจดจำรายละเอียดวัน เดือน ปีเกิดยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก การแจ้งเกิดก็ล่าช้ากว่ากำหนด ข้อมูลจากการแจ้งเกิดจึงมักไม่ตรงกับความจริง ส่วนใหญ่มักจะจำเฉพาะปีเกิดเท่านั้น ซึ่งพิจารณา จากความเป็นไปได้แล้ว หลวงพ่อน่าจะเกิดราวต้นปี พ.ศ. ๒๕๐๑ มากกว่า เนื่องจากข้อมูลจากข้อมูลจากคำ บอกเล่าของญาติพี่น้องยืนยันตรงกันว่า หลวงพ่อผ่านการตรวจเลือกทหารกองเกินแล้วจึงทำการ อุปสมบท และการอุปสมบทในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ นั้นมีข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ ยืนยัน ตรงกัน ดังนั้น เรื่องวันเดือนปีเกิดจริง ๆ ของหลวงพ่อนั้นไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด แต่หลวงพ่อเล่าว่า โยมบิดาเคยเล่าให้ฟังว่าท่านเกิดเมื่อวันพุธ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๙ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๑๒ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๒ ซึ่งตรงกับวันธัมมัสสวนะพอดี ณ แต่เนื่องจาก ต่อมาได้เกิดความผิดพลาดในเรื่องการกรอกข้อมูลในเอกสารของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทำ ให้มีการระบุวันเกิดของหลวงพ่อคาดเคลื่อนเป็นวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ และถูกใช้เป็นวัน เกิดของหลวงพ่อที่ระบุในเอกสารราชการทุกอย่างเรื่อยมา เนื่องจากไม่มีหลักฐานหรือผู้รับรอง ข้อมูลที่จะยืนยันเพื่อจะเปลี่ยนแปลงข้อมูลดังกล่าวได้ แม้เอกสารราชการจะระบุว่าหลวงพ่อเกิดวันที่ ๖ กรกฎาคม แต่หลวงพ่อจะทำบุญวันเกิด เป็นการส่วนตัวในวันที่ ๑๒ สิงหาคมเป็นประจำทุกปีตามวันคล้ายวันเกิดที่โยมบิดาเล่าให้ฟัง ซึ่ง ในช่วงดังกล่าวทางวัดพระบรมธาตุจะมีกิจกรรมบวชศีลจาริณี(บวชชีพราหมณ์) เพื่อถวายเป็นพระ ราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตามดำริของ หลวงพ่อ ทำให้ในช่วงเช้าวันที่ ๑๒ สิงหาคมประจำทุกปีหลวงพ่อจะทำบุญวันเกิดด้วยการตักบาตร พระภิกษุสามเณรภายในวัด และบางปีก็จะงดรับนิมนต์เป็นพระสงฆ์สมณศักดิ์ในพิธีทำบุญตักบาตรและเจริญพระพุทธมนต์ถวายเป็นพระราชกุศล ฯ ที่ทางจังหวัดกำแพงเพชรจัดขึ้น โยมบิดาของหลวงพ่อ ชื่อ นายทวี ภูมิเมือง ส่วนโยมมารดา ชื่อ นางบาง ภูมิเมือง (สกุล เดิม เพชรวงษ์) ซึ่งทั้งคู่เป็นชาวบ้านคุยป่ารังโดยกำเนิด และได้เลือกตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ติดกับ ที่พักสงฆ์คุยป่ารัง ซึ่งทางตระกูลภูมิเมืองได้อุทิศให้เป็นที่ตั้งที่พักสงฆ์ ขณะนั้นมีหลวงปู่เห สนฺติกโร เป็นหัวหน้าที่พักสงฆ์ ซึ่งหลวงปู่เหมีศักดิ์เป็นน้องชายของนายทวน ภูมิเมือง ผู้เป็นบิดาของนายทวี หรือมีศักดิ์ปู่ของหลวงพ่อ ตระกูลภูมิเมืองและตระกูลเพชรวงษ์ถือเป็นตระกูลใหญ่ของหมู่บ้าน และมีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับตระกูลต่าง ๆ ในหมู่บ้าน หลวงพ่อเล่าว่า โยมบิดาของท่านซึ่ง เป็นคนที่มีความสุขุมลุ่มลึก เป็นที่นับถือและไว้วางใจของชาวบ้านเป็นอย่างมาก ทำให้ได้รับการเลือกตั้งจากชาวบ้านให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน เนื่องจากเป็นผู้นำที่มีความยุติธรรม เป็นที่พึ่ง ของชาวบ้านในการติดต่อประสานงานต่าง ๆ กับทางราชการ แม้ในขณะที่ทางอำเภอออกมาขอ ประชามติจากชาวบ้านคุยป่ารัง โยมบิดาของหลวงพ่อจะทำงานอยู่ที่ทุ่งนา ไม่ได้มาร่วมประชุมด้วย ก็ตาม
โยมบิดาของหลวงพ่อได้ตั้งชื่อหลวงพ่อเป็นทางการว่า “วีระ” ซึ่งแปลว่า ผู้กล้าหาญ และ ตั้งชื่อเล่นว่า “เอก” เนื่องจากตาของหลวงพ่อข้างขวามีตาดำที่อยู่ไม่ตรงที่ ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ตาเอก” ภายหลังเมื่ออุปสมบทและเรียนพระปริยัติธรรมหลวงพ่อจึงต้องสวมแว่นตาเพื่อถนอม สายตาตลอดมา หลวงพ่อมีพี่น้องร่วมอุทรเดียวกันจำนวน ๑๐ คน โดยหลวงพ่อเป็นบุตรคนที่ ๖ และมีพี่น้อง ได้แก่
๑) นายสังวร ภูมิเมือง (เกิดปีขาล พ.ศ. ๒๔๙๑)
 ๒) นายแสวง ภูมิเมือง (เกิดปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๙๔)
๓) นางเพ็ญ เพชรวงษ์ (เกิดปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๙๖)
๔) นางบ่าย เนื่องจุ้ย (เกิดปีวอก พ.ศ. ๒๔๙๙)
๕) นายสวง ภูมิเมือง (เกิดปีระกา พ.ศ. ๒๕๐๐)
๖) พระเทพวชิรเมธี (วีระ ภูมิเมือง) (เกิดปีกุน พ.ศ. ๒๕๐๒)
๗) นายพวัย ภูมิเมือง (เกิดปีเถาะ พ.ศ. ๒๕๐๖)
๘) นางพัยวัน สงเชื้อ (เกิดปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๕๐๘)
๙) นางพยับ ภูมิเมือง (เกิดปีวอก พ.ศ. ๒๕๑๑)
 ๑๐) นางสาวพยอม ภูมิเมือง (เกิดปีกุน พ.ศ. ๒๕๑๔)
บ้านคุยป่ารังซึ่งเป็นมาตุภูมิของหลวงพ่อเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้กับภูยอดเหล็กซึ่งมี แหล่งถลุงแร่เหล็กขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของเมืองกำแพงเพชร ลักษณะทางกายภาพส่วนใหญ่เป็นที่ เนินดินร่วนปนทราย ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พืชเพาะปลูกสำคัญตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันคือ ข้าวและมันสำปะหลัง การเดินทางเข้าไปยังหมู่บ้านนี้ต้องอาศัยความตั้งใจที่จะ เดินทางไปจึงจะพบ เนื่องจากไม่ได้เป็นหมู่บ้านทางผ่านที่ติดถนนสายหลัก และอยู่ห่างไกลจากตัว อำเภอพรานกระต่าย เมื่อหลวงพ่ออยู่ในวัยเด็กความเจริญหรือสิ่งสาธารณูปโภคต่าง ๆ ก็ยังเข้าไป ไม่ถึง ถนนหนทางก็ขรุขระลำบากโดยเฉพาะช่วงหน้าฝน ไฟฟ้าก็ยังไม่มีใช้ น้ำในการอุปโภคบริโภค ก็ต้องอาศัยน้ำจากบ่อน้ำและลำคลองเรือหอ ซึ่งอยู่ใกล้กับหมู่บ้าน ส่วนอาหารการกินก็อาศัยการ ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ และการหาของป่าตามฤดูกาลเป็นหลักในการประกอบอาหาร นาน ๆ จะได้กิน ของอร่อย ก็ต้องรอให้โยมบิดาเข้ามาทำธุระภายในตัวอำเภอ หลังจากโยมมารดาของหลวงพ่อได้คลอดนางสาวพะยอม ภูมิเมือง ซึ่งเป็นบุตรสาวคน สุดท้องได้๔ ปีโยมมารดาของหลวงพ่อก็ได้ถึงแก่กรรม ชีวิตในช่วงวัยรุ่นของหลวงพ่อจึงเติบโตมา ด้วยการเลี้ยงดูของโยมบิดาและพี่ ๆ ทั้ง ๕ คน ในขณะเดียวกันก็ได้ช่วยโยมบิดาดูแลน้องสาวด้วย บรรดาพี่น้องของหลวงพ่อต่างเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า ในวัยเด็กหลวงพ่อเป็นคนที่เลี้ยงง่าย อยู่ง่าย กินง่าย มีบุคลิกนิสัยเป็นเด็กที่ร่าเริง ชอบไปเที่ยวเล่นที่ท้องไร่ท้องนาตามโยมบิดา

ผู้เขียน : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ
#ติดตามอ่านต่อตอนที่  ๒

 25 
 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 22, 2025, 05:28:39 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
=== การแสดงแสง สี เสียง “ปฐมบทแห่งศรัทธา ตามรอยจารึกทรงคุณค่า นบพระ-เล่นเพลงคงคู่ฟ้า เทิดทูนบูรพกษัตริย์ไทย” ในงานประเพณี “นบพระ-เล่นเพลง และงานกาชาดจังหวัดกำแพงเพชร” ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๘ ===

วันศุกร์ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘  เวลา ๑๙.๐๐ น.  นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธานเปิดการแสดงแสง สี เสียง “ปฐมบทแห่งศรัทธา ตามรอยจารึกทรงคุณค่า นบพระ-เล่นเพลงคงคู่ฟ้า เทิดทูนบูรพกษัตริย์ไทย” ในงานประเพณี “นบพระ-เล่นเพลง และงานกาชาดจังหวัดกำแพงเพชร” ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๗ โดยมีนายอนันต์ ผลอำนวย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกำแพงเพชร นางสาวสุพัตรา คล้ายทิม นายอนุชา พัสถาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร พันเอก พงศธร เมืองแก่น รอง ผอ.รมน.จังหวัดกำแพงเพชร (ท) หัวหน้าส่วนราชการ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ และประชาชน เข้าร่วมรับชมการแสดง ด้วยจังหวัดกำแพงเพชร โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร ได้จัดโครงการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวและบริการ กิจกรรมหลักส่งเสริมกิจกรรมงานประเพณีของจังหวัด กิจกรรม “กำแพงเพชรเมืองสร้างสรรค์ วัฒนธรรมสร้างสุข” ในงานประเพณี “นบพระ-เล่นเพลง และงานกาชาดจังหวัดกำแพงเพชร” ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๘ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ด้านส่งเสริมงานประเพณีที่สำคัญของจังหวัด (Soft Power) ประชาสัมพันธ์ให้งานประเพณีนบพระเล่นเพลง เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ให้มาท่องเที่ยวในจังหวัดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในจังหวัด ทั้งนี้ สำนักงานวัฒนธรรม ดำเนินการจัดกิจกรรมการแสดงแสง สี เสียง ในงานประเพณี “นบพระ-เล่นเพลง และงานกาชาดจังหวัดกำแพงเพชร” ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๘ เรื่อง "ปฐมบทแห่งศรัทธา ตามรอยจารึกทรงคุณค่า นบพระ-เล่นเพลงคงคู่ฟ้า เทิดทูนบูรพกษัตริย์ไทย" โดยเป็นการแสดงแสง สี เสียง อิงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของงานประเพณีนบพระ เล่นเพลง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาและความสำคัญของงานประเพณีนบพระ-เล่นเพลง ซึ่งสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน และเพื่อร่วมเทิดพระเกียรติบูรพกษัตริย์ไทย และระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อปวงชนชาวไทยและชาวกำแพงเพชร
ซี่งคำว่า ”ปฐมบทแห่งศรัทธา" หมายถึง ประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานกว่า ๗๐๐ ปี ด้วยแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่สืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน และจุดเริ่มต้นที่อ้างถึงการจัดประเพณีนบพระ-เล่นเพลง และประวัติจังหวัดกำแพงเพชร "ตามรอยจารึกทรงคุณค่า" หมายถึง รูปแบบและแรงบันดาลใจในการเขียนบทการแสดง โดยนำเอาข้อมูลจากจารึกต่างๆ อาทิ จารึกนครชุม จารึกกฎหมายลักษณะโจร "นบพระ-เล่นเพลงคงคู่ฟ้า" หมายถึง ความสำคัญของประเพณีอันทรงคุณค่า มรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดกำแพงเพชร สร้างความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันทรงคุณค่า และธำรงรักษา สืบสานไว้ให้มั่นคงตลอดไป "เทิดทูนบูรพกษัตริย์ไทย" หมายถึง เมืองกำแพงเพชรนั้น เป็นเมืองที่มิเคยเว้นว่างจากการเสด็จของพระมหากษัตริย์หลายพระองค์นับจากอดีตจึงจัดการแสดงครั้งนี้เพื่อเทิดพระเกียรติบูรพกษัตริย์ไทย และระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อปวงชนชาวไทยและชาวกำแพงเพชร การแสดงแบ่งออกเป็น ๓ องก์ ดังนี้ องก์ที่ ๑ ปฐมบทแห่งศรัทธา องก์ที่ ๓ ตามรอยจารึก และองก์ที่ ๓ นบพระ-เล่นเพลง นำแสดงโดย ปาร์ค ภัทรพงศ์ ศิริธราพงศ์ สุดยอดลูกทุ่งไอดอลคนที่ ๔ ของเมืองไทย
ซึ่งจังหวัดกำแพงเพชร ให้ความสำคัญกับการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว โดยกำหนดเป็นประเด็นการพัฒนาจังหวัด ในการพัฒนาการท่องเที่ยวและส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเมืองมรดกโลก ซึ่งเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลด้าน Soft Power ของประเทศไทย ให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะประเทศไทยมีรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว การส่งเสริมประเพณีที่สำคัญของจังหวัดกำแพงเพชร จึงเป็นส่วนหนึ่งของการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมถึงการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทยในเวทีโลก และส่งเสริมให้งานประเพณีนบพระ-เล่นเพลง เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดกำแพงเพชรเพิ่มมากขึ้น และเป็นการกระจายโอกาสในการสร้างรายได้ไปสู่ชุมชนอย่างทั่วถึงและยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ การแสดงดังกล่าวจะมีไปจนถึงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘
ในการนี้ นายอภินันท์ มุสิกะพงษ์ วัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร พร้อมด้วย นางสาวพชรพรรณ ชุ่มเปี่ยม ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม นางสาวระวีวรรณ โตวารี ผู้อำนวยการกลุ่มกิจการพิเศษ นายกิตติพงษ์ เทพนิกร ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ข้าราชการ พนักงานราชการ บุคลากรสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานพิธี ดำเนินการจัดการแสดงแสง สี เสียง ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ณ โบราณสถานวัดพระแก้ว (ฐานไพทีใหญ่) อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร

 26 
 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 21, 2025, 03:32:55 am 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
https://phetkamphaengnews.com/archives/34923

โปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร จัดการแสดงละครเวทีนิเทศศาสตร์  เรื่องเล่า ณ สมุทรธาลัย

      วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 17:00 น. ที่ ห้องประชุมชั้น 8 อาคารคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏฏำแพงพชร จ.กำแพงเพชร โปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยราชภัฏฏำแพงพชร จัดการแสดงละครเวทีนิเทศศาสตร์ เรื่องเล่า ณ สมุทรธาลัย รอบสื่อมวลชน โดยมี ผศ.ดร.ปรียานุช พรหมภาสิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร  เป็นประธานในพิธีเปิดและร่วมรับชมการแสดงละครเวทีนิเทศศาสตร์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สื่อมวลชน ประขาชน และนักศึกษา

      ต้องขอชื่นชมน้องๆนักศึกษาทุกคนในทีมงานละครเวที “เรื่องเล่า ณ สมุทรธาลัย” ที่สามารถหล่อหลอมรวมใจกันจนเกิดเป็นละครดีๆในวันนี้ เป็นการแสดงสุดเข้มข้นที่สามารถตรึงทุกสายตาสะกดทุกอารมณ์ ต้องชื่นชมนักแสดงทุกคนที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์บุคลิกภาพของตัวละครออกมาได้อย่างสมจริง เป็นการแสดงที่กระชับเดินเรื่องได้เร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสลับฉาก สามารถทำได้อย่างรวดเร็วน่าประทับใจ การออกแบบเครื่องแต่งกาย costume design สามารถออกแบบได้อย่างเหมาะสมสื่อสารได้อย่างชัดเจน ผู้กำกับเสียง Sound Director ก็สามารถทำให้ผู้ชมมีอารมณ์คล้อยตามไปกับเรื่องราวที่ถ่ายทอดออกมาได้เป็นอย่างดี ที่ขาดไม่ได้ที่ต้องพูดถึงก็คือแม่ทัพของละครเรื่องนี้ นั่นก็คือน้องนุ้ยผู้กำกับคนเก่งของเรานั่นเอง ผู้หญิงตัวเล็กๆ ในทีมงานใหญ่แต่สามารถทำให้ทุกคนให้ตั้งใจทุ่มเทเสียสละเพื่อละครเวทีเรื่องนี้ ขอขอบคุณทีมงานทุกคนที่ทำให้พวกเราได้มีโอกาสได้ชมละครเวทีดีๆ “เรื่องเล่า ณ สมุทรธาลัย”

      สำหรับละครเวทีนิเทศศาสตร์นี้ ว่าด้วยเรื่องของวังสมุทรธาลัย ที่มีเรื่องเล่าขานถึงความรักต้องห้ามระหว่างนายและบ่าว ท่านชายคนโตแห่งวัง “เพชรพรรณราย” ได้ลอบคบหากับบ่าวในเรือนนามว่า “สมุทร” ทว่าในยุคสมัยที่ความรักระหว่างเพศเดียวกันและชนชั้นที่แตกต่างยังเป็นข้อห้าม ความรักของทั้งสองจึงเต็มไปด้วยอุปสรรค กระนั้น เพชรพรรณรายและสมุทรยังคงยึดมั่นและปกป้องกันเสมอมา จนกระทั่งความตายได้พรากพวกเขาออกจากกัน

     เมื่อกงล้อแห่งโชคชะตาหมุนเวียนอีกครา ท่านชายในอดีตกลับมาเกิดใหม่ในฐานะดาราดัง “หนึ่งพัชระ” ผู้ใช้ชีวิตอย่างมั่นคงและรุ่งโรจน์ ในขณะที่ “สมุทร” ยังคงติดอยู่ ณ วังสมุทรธาลัย เช่นเดิม และเมื่อโชคชะตานำพาหนึ่งพัชระให้หวนคืนสู่วังแห่งนี้อีกครั้ง เขาได้พบกับสมุทร คนรักที่รอคอยเขาอยู่ และ “ไพรฑูรย์” ชายผู้เป็นดั่งเงาแห่งความเกลียดชังที่ตามหลอกหลอนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การพบกันอีกครั้งของพวกเขาจะนำพาไปสู่บทสรุปเช่นไร หนึ่งพัชระและสมุทรจะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคและปกป้องกันได้หรือไม่? ร่วมสัมผัสเรื่องราวความรักข้ามภพ ในละครเวที “เรื่องเล่า ณ สมุทรธาลัย”

      ผศ.ดร.ปรียานุช พรหมภาสิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร กล่าวว่า ประทับใจลูกศิษย์มากๆเลยน่ารักมากๆ บทละครน่าติดตามดูตั้งแต่ต้นจนจบเลย นักแสดงสามารถแสดงได้เป็นธรรมชาติมากนักศึกษาสามารถทำงานเป็นทีมได้อย่างน่าประทับใจ “เพชรพรรณราย”ตัวเอกของเรื่องบทละครของเขาว่ายาวมากแต่ก็สามารถที่จะแสดงได้แบบต่อเนื่องโดยไม่มีติดขัด ”นิลกาฬ” ถือว่าเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของการแสดงละครเวทีเรื่องนี้   และในส่วนของนักศึกษาที่แสดงเป็นตัวโจ๊กสามารถที่สร้างเสียงหัวเราะของผู้ชมได้

      รศ.ดร.ศุภโชคชัย นันทศรี  ผู้ช่วยอธิการบดีงานด้านศิลปวัฒนธรรมและสื่อสารองค์กร  กล่าวว่า อย่างที่คาดหวังไว้คือเราไม่อยากให้ทำงานโดยคิดว่าเป็นงานของนักศึกษาวันนี้พวกเขาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นมืออาชีพจริงๆ ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง  อยากจะฝากให้ทุกคนได้มาดูว่าการทำงานแบบมือที่มันเป็นยังไง เรียนจากที่ราชภัฏกำแพงเพชรคณะนิเทศศาสตร์ของเราก็ไม่ได้น้อยหน้าที่ไหนสามารถทำงานได้อย่างมืออาชีพ อยากให้ทุกท่านได้มาสัมผัสด้วยตัวท่านเองแล้วจะได้เข้าใจว่านี่แหละของจริงไม่ผิดหวังที่ลูกหลานมาเรียนที่นี่

      นางสาวศศิธร พิรอดรัตน์ น้องนุ้ย ผู้กำกับละครเวที “เรื่องเล่า ณ สมุทรธาลัย”  สำหรับทีมงานนี้ก็อาจจะมีความดื้อมีความอะไรนิดหน่อยแต่ทุกคนตั้งใจมากค่ะในการทำละครเวทีเรื่องนี้พวกเราเจอปัญหามากมายแต่ก็ผ่านมาด้วยกัน น้องซ้อมกันหนักมากกว่าจะได้มาเป็นละครเรื่องนี้ วันนี้หนูดูจากข้างหลังมองผลงานมองความสำเร็จของทุกคนก็รู้สึกประทับใจค่ะเพราะว่าวันนี้น้องๆตั้งใจกันมาก  ความสำเร็จของละครเรื่องนี้เกิดขึ้นได้เพราะว่าพวกเราทุกคนร่วมมือกันค่ะมีความเป็นทีมมีความเป็นหนึ่งเดียวกันทำให้งานในครั้งนี้ผ่านมาได้ขนาดนี้ค่ะ

เปิดการแสดง 3 รอบ ชมฟรี
รอบที่ 1 : 19 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 17:00 น. เป็นต้นไป
รอบที่ 2 : 20 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 17:00 น. เป็นต้นไป
รอบที่ 3 : 21 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 17:00 น. เป็นต้นไป
ณ ห้องประชุมชั้น 8 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
สำรองที่นั่งได้ทาง Inbox :
https://www.facebook.com/wordofmouthkpru/
โทร : 094-3274127 (แสตมป์)

 27 
 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 20, 2025, 09:45:32 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
ชมละครเวที เรื่อง "เรื่องเล่า ณ สมุทรธาลัย "ของโปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ มรภ.กพ.  ดัวยความประทับใจ ในความสามารถ ของนักศึกษา และ คณาจารย์ ที่ทุ่มเท อย่างสุดหัวใจ สร้างความรักและความศรัทธา ความเป็นเอกภาพ ระหว่างครูกับศิษย์ รุ่นพี่กับรุ่นน้องทุกอย่างลงตัว ราวกับมืออาชึพ ชื่นชม ที่ท่านสามารถสรรค์สร้าง ศิษย์ ให้ทำงานเป็นทีม ได้อย่างน่าสนใจ ไม่นานกำแพงเพชร จะมีโรงละครที่ทันสมัย ในม.ราชภัฏกำแพงเพชร อย่างแน่นอน ขอบคุณมหามิตรอย่าง รศ. ดร. ศุภโชคชัย นันทศรี ที่ให้เกียรตื เชิญไปทัศนา
ยังมีอีกรอบในวันศุกร์ ๒๑.กพ. เวลา ๕ โมงเย็น ชั้นแปด คณะวิทยาการจัดการ  เมื่อชมแล้วท่านจะเห็นความยิ่งใหญ่ ของลูกหลานเรา

 28 
 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 17, 2025, 01:25:09 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
=== การประชุมนำเสนอผลการวิจัยโครงการวิจัย “การพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ไม้กวาดจังหวัดกำแพงเพชร ด้วยกลไกขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าใหม่บนฐานทุนทรัพยากรพื้นถิ่น” ===

วันศุกร์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘  เวลา ๑๓.๓๐ น.
นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดการประชุมนำเสนอผลการวิจัยโครงการวิจัย “การพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ไม้กวาดจังหวัดกำแพงเพชร ด้วยกลไกขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าใหม่บนฐานทุนทรัพยากรพื้นถิ่น” ภายใต้กรอบวิจัยการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprises) บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ โดยมีนายอนุชา พัสถาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวต้อนรับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรียานุช พรหมภาสิต อธิการบดีมหาวิทยาลับราชภัฏกำแพงเพชร กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรม พร้อมด้วย นายสันติ อภัยราช ที่ปรึกษาโครงการฯ ผู้แทนส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิจัย ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ไม้กวาด และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรม
ซึ่งการนำเสนอผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร จะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหา และพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดกำแพงเพชรในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม และเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ในการพัฒนาซึ่งจะเป็นโอกาสดีที่ฝ่ายท้องถิ่น จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล สภาพปัญหาในพื้นที่ข้อสงสัยที่ต้องการค้นคว้าหาคำตอบ อยู่นอกเหนือภารกิจหลักที่หน่วยงานราชการจะสามารถทำได้ ส่งต่อให้นักวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรได้นำไปเป็นโจทย์ในการค้นคว้าหาแนวทางแก้ไขปัญหาและนำข้อมูลไปประกอบการขอสนับสนุนทุนวิจัยได้ตรวจตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวเป็นการนำเสนอผลการวิจัยของนักวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านพัฒนาระดับพื้นที่ หรือหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ ในการแก้ไขปัญหาทางสังคมและสร้างสรรค์ผลงานที่จะนำไปสู่ การอยู่ดี กินดี มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน และรักษ์โลก ของชุมชนท้องถิ่น โดยผลการวิจัยที่ค้นพบจะสามารถนำไปสู่การกำหนดนโยบายและแผนการพัฒนาจังหวัดกำแพงเพชรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้สู่สังคมและเกื้อกูลกัน
ในการนี้ นายอภินันท์ มุสิกะพงษ์ วัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ณ ห้องประชุมดาวเรือง ชั้น ๙ อาคารเรียนรวมและอำนวยการ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร

#สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร
#สาสน์ศิลป์วัฒนธรรมกำแพงเพชร

 29 
 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 14, 2025, 08:28:32 am 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
=== พิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุฉุกเฉิน ผู้ป่วยนอกและบำบัดรักษา โรงพยาบาลกำแพงเพชร ===

วันพฤหัสบดีที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ เวลา ๐๙.๐๐ น. นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุฉุกเฉิน ผู้ป่วยนอกและบำบัดรักษา โรงพยาบาลกำแพงเพชร โดยมีแพทย์หญิงอังคณา อุปพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกำแพงเพชร กล่าวรายงานความเป็นมาการก่อสร้างอาคารอุบัติเหตุฉุกเฉิน ผู้ป่วยนอกและบำบัดรักษา และได้รับความเมตตาจากพระครูวชิรปัญญากร รองเจ้าคณะจังหวัด ผู้รักษาการแทนเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร เจ้าอาวาสวัดบ่อสามแสน เป็นประธานสงฆ์ ดร.คนึง ไทยประสิทธิ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกำแพงเพชร ร้อยตำรวจเอก ธีรยุทธ์ แรงเขตรการ อัยการจังหวัดกำแพงเพชร นายแพทย์ปริญญา นากปุณบุตร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกำแพงเพชร พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการและผู้อุปถัมภ์โรงพยาบาลกำแพงเพชร หัวหน้ากลุ่มงาน และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลกำแพงเพชร เข้าร่วมพิธี
ทั้งนี้ โรงพยาบาลกำแพงเพชร เป็นโรงพยาบาลทั่วไป ขนาด ๔๕๐ เตียง สังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีภารกิจป้องกันรักษา ส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพแก่ประชาชน มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการให้บริการควบคู่กับการพัฒนาด้านทรัพยากรบุคคลและอาคารสถานที่ โดยในปัจจุบันให้บริการรักษาผู้ป่วยนอก วันละ ๑,๕๐๐ คน ผู้ป่วยในวันละ ๕๐๐ คน ซึ่งอาคารสถานที่ที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการให้บริการ โรงพยาบาลจึงได้รับการจัดสรรงบประมาณจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในการก่อสร้างอาคารหลังนี้ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๑๐ ชั้น พื้นที่ใช้สอย ๒๒,๐๐๐ ตารางเมตร (โครงสร้างต้านแผ่นดินไหว) วงเงินงบประมาณ ๖๘๔ ล้านบาท ผลการประกวดราคาจ้างได้วงเงิน จำนวนเงิน ๕๙๔ ล้านบาท โดยมีระยะเวลดำเนินการในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ - ๒๕๗๐ ทั้งนี้ โรงพยาบาลกำแพงเพชร ได้มีการปรับรูปแบบให้เหมาะสมตามบริบทเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยที่มารับบริการ ซึ่งอาคารนี้เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเกิดประโยชน์กับชาวกำแพงเพชรและจังหวัดใกล้เคียงในด้านการให้บริการผู้ป่วยที่จะเดินทางมาเข้ารับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ให้มากที่สุดต่อไป
ในการนี้ นายอภินันท์ มุสิกะพงษ์ วัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร เข้าร่วมพิธี อีกทั้งมอบหมายให้ นายศุภชัย พูลสมบัติ นายภาณุสิทธิ์ ทะสน นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ พร้อมด้วย พนักงานราชการ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานพิธี สนับสนุนการปฏิบัติงานศาสนพิธีให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ณ โรงพยาบาลกำแพงเพชร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร

 30 
 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 12, 2025, 04:25:12 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
ฮืมฮืมฮืมฮืมฮืมฮืม??สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร เปิดโครงการสร้างกิจกรรมรองรับการท่องเที่ยว กิจกรรมหลัก ส่งเสริมกิจกรรมงานประเพณีของจังหวัด : กำแพงเพชรเมืองสร้างสรรค์ วัฒนธรรมสร้างสุข ในงานประเพณี “นบพระ-เล่นเพลง และงานกาชาดจังหวัดกำแพงเพชร” ประจำปี พ.ศ. 2568

           วันที่ 11 ก.พ.68 เวลา 18.00 น. ที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองกำแพงเพชร (หลังเก่า) ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธานเปิดโครงการสร้างกิจกรรมรองรับการท่องเที่ยว กิจกรรมหลัก ส่งเสริมกิจกรรมงานประเพณีของจังหวัด : กำแพงเพชรเมืองสร้างสรรค์ วัฒนธรรมสร้างสุข ในงานประเพณี “นบพระ-เล่นเพลง และงานกาชาดจังหวัดกำแพงเพชร” ประจำปี พ.ศ. 2568 โดยมีนางสาวสุพัตรา คล้ายทิม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร พ.อ. พงศธร เมืองแก่น รอง ผอ.รมน. จังหวัดกำแพงเพชร (ท) นายกองเอก ชัยพฤกติ์ เชียรธานรักษ์ ปลัดจังหวัดกำแพงเพชร นายสกุลเพชร พิกุลประเสริฐ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดกำแพงเพชร นายเทวัญ หุตะเสวี ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร (อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร) หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ ประชาชน และนักท่องเที่ยวเข้าร่วมภายในงาน และนายอภินันท์ มุสิกะพงษ์ วัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการ ฯ

            ทั้งนี้  ด้วยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชรได้รับการจัดสรรงบประมาณจากงบพัฒนาจังหวัดกำแพงเพชร ในการจัดโครงการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวและบริการ กิจกรรมหลักส่งเสริมกิจกรรมงานประเพณีของจังหวัด กิจกรรม “กำแพงเพชรเมือง สร้างสรรค์ วัฒนธรรมสร้างสุข” ในงานประเพณี “นบพระ-เล่นเพลง และงานกาชาดจังหวัดกำแพงเพชร” เพื่อนำทุนทางวัฒนธรรมมาพัฒนาสินค้า และบริการทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ทำนุบำรุง ศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดกำแพงเพชร สู่สายตานักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมงานประเพณีของจังหวัดกำแพงเพชร โดยมีกำหนดการจัดงาน 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-22 กุมภาพันธ์ 2568 ณ หน้าที่ว่าการอำเภอเมืองกำแพงเพชร (หลังเก่า) โดยมีกิจกรรม ประกอบด้วย จุดที่ 1 จำลองหมู่บ้าน 5 วิถีวัฒนธรรมของจังหวัดกำแพงเพชร จุดที่ 2 พื้นที่ลานกิจกรรมสำหรับจัดแสดงทางศิลปวัฒนธรรม จุดที่ 3 นิทรรศการสาธิตผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดกำแพงเพชร จุดที่ 4 พื้นที่ฉายภาพยนตร์รูปแบบหนังกลางแปลง จุดที่ 5 พื้นที่กิจกรรมสำหรับเด็ก จุดที่ 5 พื้นที่สำหรับการนวดแผนไทย ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์ และสนับสนุนการดำเนินงานจากผู้บริหาร ส่วนราชการจังหวัดกำแพงเพชร สภาวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร และชุมชนเครือข่ายทางวัฒนธรรมทุกแห่ง
นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร กล่าว่า จังหวัดกำแพงเพชร ให้ความสำคัญกับการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว โดยกำหนดเป็นประเด็นการพัฒนาจังหวัดในการพัฒนาการท่องเที่ยวและส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลก ธรรมชาติและวิถีชุมชนให้มีศักยภาพอย่างยั่งยืน โดยการ ส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชนแบบมีส่วนร่วม จึงได้สนับสนุนงบประมาณให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร จัดโครงการพัฒนาด้านการ ท่องเที่ยวและบริการ กิจกรรมหลักส่งเสริมกิจกรรมงานประเพณีของจังหวัด กิจกรรมกำแพงเพชรเมืองสร้างสรรค์ วัฒนธรรมสร้างสุข ในงานประเพณีนบพระ - เล่นเพลง และงานกาชาดจังหวัดกำแพงเพชรประจำปี พ.ศ. 2568 เพื่อส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชนแบบมีส่วนร่วม โดยนำ อัตลักษณ์ชุมชนมาเป็นจุดเด่นในการส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและกระจายโอกาสในการสร้างรายได้ไปสู่ชุมชนอย่างทั่วถึงและยั่งยืนต่อไป

หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 10
Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!