จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
กรกฎาคม 12, 2025, 12:54:39 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
  หน้าแรก ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
  แสดงกระทู้
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 101
31  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / ตอนที่ ๑๑ เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก” ก่อนถึงวันพ เมื่อ: มีนาคม 12, 2025, 03:23:24 am
เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก”
ก่อนถึงวันพระราชทานเพลิงศพพระเทพวชิรเมธี,ผศ.ดร. (วีระ วรปญฺโญ)
เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร และเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง

ตอนที่ ๑๑: (ต่อ) แนวทางพัฒนาวัดพระบรมธาตุ : “๕ ปีซ่อม ๕ ปีสร้าง ๕ ปีสวย”

๕ ปีสร้าง(๒)
๔. สร้างคนผ่านการอบรมยุวมัคคเทศก์ หลังจากที่หลวงพ่อบูรณปฏิสังขรณ์ศาลาการ เปรียญหลังเก่าเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านของศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุม ผู้เขียนได้มีโอกาสมารู้จักกับหลวงพ่อครั้งแรกผ่านการอบรมยุวมัคคเทศก์เมื่อราว พ.ศ. ๒๕๕๒ จำ ได้ว่าปีนั้นทางกระทรวงวัฒนธรรมได้มีการประกวดศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนทั่วประเทศ หลวงพ่อได้ติดต่อกับผู้เขียนผ่านทางคุณครูสุภิตรา ตัณศลารักษ์ และคุณครูอัญชรี กัลปพฤกษ์ โรงเรียนวชิรปราการวิทยาคม ซึ่งรู้จักกับผู้เขียนโดยบังเอิญในคราวคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดโครงการอบรมครูผู้สอนวิชาสังคมศึกษาในเขตภาคเหนือตอนล่าง โดย ผู้เขียนแนะนำผ่านคุณครูทั้งสองคนว่าวัดพระบรมธาตุมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่น่าสนใจ หากมีการนำ เยาวชนมาอบรมเป็นยุวมัคคุเทศก์ก็จะทำให้น่าสนใจมากขึ้น ซึ่งผู้เขียนขณะนั้นเป็นหัวหน้ากลุ่ม ประวัติศาสตร์สองข้างทาง สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ยินดี ที่จะมาช่วยอบรม คุณครูทั้งสองคนได้มาเล่าให้หลวงพ่อฟัง และคิดว่าควรมีการอบรมยุวมัคคเทศก์ ลองดู เผื่อจะถูกใจคณะกรรมการที่มาประเมินให้คะแนน

ผู้เขียนกับคณะเดินทางจากมหาวิทยาลัยนเรศวรโดยรถโดยสารมาถึงวัดพระบรมธาตุก็ราว เพลพอดี กินข้าวเที่ยงทำความคุ้นเคยกับนักเรียนที่จะมาอบรมราว ๒๐ คน จากนั้นก็อบรมความรู้ ภาคทฤษฎีเล็กน้อย ก่อนนำไปสู่การฝึกบรรยายนำชมจริง โดยหลวงพ่อให้โจทย์ว่า “ทำยังไงก็ได้ ขอให้เด็กพวกนี้พูดได้ บรรยายได้ และเข้าใจในสิ่งที่กำลังพูด” ปรากฏว่าเมื่อถึงบ่าย ๓ โมงกว่า ๆ นักเรียนที่เข้าอบรมก็สามารถบรรยายนำชมได้แล้ว วันนั้นหลวงพ่อได้ทำหน้าที่เป็นนักท่องเที่ยว เพื่อทดสอบการนำชมของยุวมัคคุเทศก์ด้วย ซึ่งหลวงพ่อประทับใจมาก ไม่คิดว่าทั้งคนฝึกและ นักเรียนจะสามารถทำได้ขนาดนี้ ก่อนที่จะกำชับว่าให้นักเรียนหมั่นเข้ามาฝึกฝน และนำชมจริง ๆ ได้เลยในช่วงวันหยุด ทางวัดจะดูแลเรื่องข้าวปลาอาหารเอง จากนั้นผู้เขียนและคณะก็เดินทางกลับ โดยหลวงพ่อจัดรถยนต์ของวัดมาส่งที่มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมทั้งเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารมื้อค่ำ เป็นการขอบคุณด้วย

ต่อมาเมื่อทางคณะกรรมการจากกระทรวงวัฒนธรรมมาประเมินตรวจเยี่ยมศูนย์ส่งเสริม วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุมที่วัดพระบรมธาตุ ทางยุวมัคคุเทศก์ที่ผ่านการอบรมก็ได้ แสดงฝีมือให้คณะกรรมการชม ปรากฏว่าผลการประกวดศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุมได้รับรางวัลดีเด่นระดับ ภาคเหนือ ผู้เขียนจำคร่าว ๆ ได้ว่าได้รับเงินรางวัล ๑๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมโล่เกียรติยศ เมื่อรับ รางวัลมาแล้วหลวงพ่อได้ประสานกับผู้เขียนอีกครั้ง บอกว่าครั้งนี้จะจัดอบรมยุวมัคคุเทศก์อย่าง เป็นทางการ มีนักเรียนจากโรงเรียนในชุมชนเข้าร่วม ๔๐ คน ใช้เวลาอบรม ๒ วัน ๑ คืน เรียกการ อบรมครั้งนั้นว่า “การอบรมยุวชนน้อยทูตวัฒนธรรม” การอบรมลุล่วงไปด้วยดีด้วยความช่วยเหลือ ของคุณครูสุภิตรา ตัณศลารักษ์ คุณครูอัญชรี กัลปพฤกษ์ คุณครูธิดามาตย์ สถิตย์อยู่ และคุณครูอีกหลายคนจากโรงเรียนวชิรปราการวิทยาคมและโรงเรียนอนุบาลเมืองกำแพงเพชร (บ้านนครชุม) หลังจากนั้นในช่วงวันหยุดก็จะมีนักเรียนหมุนเวียนกันตามเวรมาประจำที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านศูนย์ ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุมที่วัดพระบรมธาตุ เพื่อต้อนรับและบรรยายข้อมูล ให้กับนักท่องเที่ยวเรื่อยมา

จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ ศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุม ก็ได้รับ รางวัลโล่เกียรติยศดีเด่นระดับประเทศ ซึ่งคณะกรรมการผู้ประเมินให้ความเห็นว่า ที่ได้รับรางวัลก็ เพราะที่วัดพระบรมธาตุมียุวมัคคุเทศก์ ซึ่งเป็นการปลูกฝังให้เยาวชนได้เรียนรู้และอนุรักษ์ วัฒนธรรมท้องถิ่น มีคนหลายวัยมาร่วมทำกิจกรรม เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด ของโครงการศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนของกระทรวงวัฒนธรรม

แม้ว่าในช่วงหลังจากการอบรมราว ๒ ปี ยุวมัคคุเทศก์ที่มาคอยนำชมจะลดลง เนื่องจาก สำเร็จการศึกษา แต่หลวงพ่อก็พยายามที่จะ “สร้างคน” ให้เป็นคนที่มีจิตอาสาและรักบ้านเกิดผ่าน กิจกรรมอบรมยุวมัคคุเทศก์ ดังพบว่าในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ หลวงพ่อได้จัดอบรมยุวมัคคุเทศก์อีกครั้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการวิจัยเรื่อง “การอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณคดีตำบลนครชุม อำเภอ เมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร” ซึ่งหลวงพ่อเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย และได้รับการยกย่อง ให้เป็นงานวิจัยดีเด่นของสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในปี นั้นด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ก็ได้มีการพัฒนาจากการอบรมยุวมัคคุเทศก์เป็น “ยุววิจัย” ผ่าน โครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้การอนุรักษ์และพัฒนา แหล่งโบราณคดีจังหวัดกำแพงเพชร” ซึ่งได้รับการเงินสนับสนุนการวิจัยจากกองทุนสนับสนุนการ วิจัย (สกว.) จะเห็นได้ว่าหลวงพ่อพยายามที่จะ “สร้างคน” ในท้องถิ่นตั้งแต่ระดับนักเรียนและ เยาวชนให้เป็นผู้มีความรู้และมีจิตสำนึกรักบ้านเกิดมาโดยตลอด

ผลในความทุ่มเทในการ “สร้างคน” ไม่เพียงแต่หลวงพ่อจะเกิดความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วน ในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและคุณธรรมให้กับสังคมประเทศชาติเท่านั้น แต่ผลงาน อันเป็นรูปธรรมเชิงประจักษ์ของหลวงพ่อยังทำให้หลวงพ่อได้รับรางวัลจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ เกี่ยวข้องมากมาย เช่น ได้รับรางวัล “วัฒนคุณาธร” ซึ่งเป็นรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์แก่กระทรวงวัฒนธรรม ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้รับรางวัลศิษย์เก่าดีเด่น คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ และรางวัล “พุทธคุณูปการ” ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ในงาน ครบรอบ ๖๕ ปี คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ เป็นต้น

ในช่วง “๕ ปีสร้าง” หลวงพ่อไม่ได้แค่เพียงสร้างถาวรวัตถุและสร้างคนเท่านั้น ที่สำคัญคือ หลวงพ่อยัง “สร้างตน” อีกด้วย สร้างตนในที่นี้หมายถึงหลวงพ่อได้พยายามที่จะศึกษาหาความรู้ เพื่อพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้ง โดยสมัครเข้าศึกษาต่อระดับดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหาร การศึกษา ที่บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ หลวงพ่อ ทุ่มเทกับการเรียนอย่างเต็มที่ควบคู่กับการพัฒนาวัด โดยเดินทางมาเรียนในทุกวันเสาร์ - อาทิตย์ จนในที่สุดก็สำเร็จการศึกษาหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา จาก มหาวิทยาลัยนเรศวร ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ด้วยการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิตเรื่อง “อนาคต ศึกษามหาวิทยาลัยสงฆ์ไทย” ซึ่งเป็นความพยายามของหลวงพ่อที่จะใช้ข้อมูลจากการทำ วิทยานิพนธ์นี้ไปพัฒนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์

และในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ยังได้เข้าศึกษาต่อหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ (รุ่นที่ ๑) ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัด พระนครศรีอยุธยา ซึ่งหลวงพ่อต้องเดินทางลงมาเรียนทุกวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ในทุกสัปดาห์ โดยช่วงนี้หลวงพ่อมีรถตู้ส่วนตัวเป็นรถยี่ห้อฮุนไดเป็นพาหนะในการเดินทาง มีโยมพระนมหรือ คุณทณภพ ศิรินาค ชาวบ้านคุยป่ารังทำหน้าที่คนขับและอุปัฏฐากในระหว่างการเดินทาง นอกจาก จะเดินทางมาเรียนแล้ว หลวงพ่อยังต้องมาเป็นอาจารย์ผู้สอนในหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพุทธบริหารการศึกษา ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยด้วย เพราะหลวงพ่อ ได้รับแต่งตั้งเป็นอาจารย์ประจำหลักสูตรชุดแรกของหลักสูตรนี้ เนื่องจากมีคุณวุฒิระดับปริญญา เอกที่ตรงกับหลักสูตรที่ทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยทำการเปิดการเรียนการสอน

โชคดีว่าในการมาเรียนและมาสอนนั้นหลวงพ่อได้ชวนพระสังฆาธิการหลายรูปในจังหวัด กำแพงเพชรให้มาเรียนต่อระดับปริญญาเอกด้วยกัน นอกจากจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าน้ำมันรถแล้ว ยังเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อจะได้เปิดสอนหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสน ศาสตร์ ที่หน่วยวิทยบริการ ฯ มจร จังหวัดกำแพงเพชร ต่อไปในอนาคต ซึ่งประกอบด้วย พระครู วชิรคุณพิพัฒน์ (เอนก คุณวุฑฺโฒ ป.ธ. ๓) วัดถาวรวัฒนาใต้ เจ้าคณะอำเภอทรายทองวัฒนา และ รองผู้อำนวยการหน่วยวิทยบริการ ฯ ฝ่ายบริหาร (ปัจจุบันเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร

ผลงานที่หลวงพ่อทุ่มเทในการสร้างคนและสร้างวัดในช่วงเวลานี้ ทำให้เป็นที่ประจักษ์ต่อ สายตาบุคคลทั่วไปที่เข้ามายังวัดพระบรมธาตุ ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้หลวงพ่อได้รับ ยกย่องและได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย เช่น ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ได้รับโล่ “คุรุสดุดี” จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต ๑ และในปีเดียวกันนี้ หลวงพ่อยังได้รับรางวัลผู้มีคุณูปการต่อพระพุทธศาสนาระดับ “กาญจนเกียรติคุณ” โดย คณะกรรมาธิการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น

ด้วยอานิสงส์ผลบุญที่หลวงพ่อได้กระทำในการพัฒนาวัดพระบรมธาตุ พัฒนาคนและ พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ขึ้นมารับภารธุระเป็นเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ ยังทำให้ในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ให้หลวงพ่อเป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ “พระราชวชิรเมธี” ดังปรากฏในสัญญาบัตรว่า “ให้พระศรีวชิราภรณ์ เป็นพระราชวชิรเมธี ตรีปิฎกบัณฑิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี พระราชาคณะชั้นราช สถิต ณ วัดพระบรม ธาตุ พระอารามหลวง จังหวัดกำแพงเพชร” ตั้งแต่วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๓ ซึ่งราชทินนามที่ “พระราชวชิรเมธี” นั้นยังไม่เคยปรากฏว่าเป็นราชทินนามที่เคยมีการพระราชทานให้แก่พระภิกษุ รูปใดมาก่อน หลวงพ่อจึงเป็นพระภิกษุหรือพระราชาคณะรูปแรกของประเทศไทยที่ได้รับ พระราชทานราชทินนามว่า “วชิรเมธี” นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

ในการจัดงานต้อนรับสัญญาบัตร พัดยศและสมโภชสมณศักดิ์พระราชาคณะชั้นราชของ หลวงพ่อ จัดขึ้น ณ ศาลาเปรียญวัดพระบรมธาตุ ในงานได้มีพระเถรานุเถระและพุทธศาสนิกชน จำนวนมากมาร่วมแสดงมุทิตายินดีกับหลวงพ่อ หลวงพ่อเมตตาให้จัดสร้างวัตถุมงคลที่เป็นภาพ หลวงพ่อขึ้นเป็นรุ่นแรกในการนี้ เป็นเหรียญรูปพัดยศ แหนบรูปพัดยศ และเหรียญทรงกลม ซึ่งเป็น ที่กล่าวกันในภายหลังว่าวัตถุมงคลของหลวงพ่อรุ่นนี้เน้นเนื่องเมตตามหานิยมเป็นหลัก

ตอนนั้นผู้เขียนขึ้นไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ เมื่อได้ทราบข่าวอันเป็นมงคลก่อนที่หลวงพ่อจะเข้ารับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ จึงได้ ประสานกับคุณครูสุภิตรา ตัณศลารักษ์ เพื่อแจ้งความประสงค์ว่าจะขอเขียนหนังสือ “เมืองโบราณ นครชุมและพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน วัดพระบรมธาตุ” ซึ่งเป็นหนังสือรวมบทความเรื่องเมืองโบราณนครชุมและศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุม วัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง เพื่อจัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในโอกาสดังกล่าว คุณครูสุภิตราจึงได้เรียนให้หลวงพ่อทราบ และหลวงพ่อ มีความยินดีเป็นอย่างมากที่จะได้มีหนังสือที่มี องค์ความรู้ทางประวัติท้องถิ่นมอบให้ผู้มาร่วมงาน โดยทางคณะสงฆ์ กรรมการทายก ทายิกา วัดพระบรมธาตุ ได้จัดพิมพ์ถวายจำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม

ผู้เขียน : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ
#ติดตามอ่านต่อตอนที่  ๑๒
#หลวงตาเอก #วัดพระบรมธาตุนครชุม
32  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / ตอนที่ ๑๐เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก” ก่อนถึงวันพร เมื่อ: มีนาคม 11, 2025, 05:06:04 am
เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก”
ก่อนถึงวันพระราชทานเพลิงศพพระเทพวชิรเมธี,ผศ.ดร. (วีระ วรปญฺโญ)
เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร และเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง

ตอนที่ ๑๐ : (ต่อ) แนวทางพัฒนาวัดพระบรมธาตุ : “๕ ปีซ่อม ๕ ปีสร้าง ๕ ปีสวย”

๕ ปีสร้าง (๑)
แม้หลวงพ่อจะกำหนดไว้ว่าช่วง พ.ศ. ๒๕๕๑ - ๒๕๕๕ แต่ในความเป็นจริงการ ซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ภายในวัดพระบรมธาตุนั้นดูเหมือนจะลงตัวเข้าที่เข้าทางตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๙ จึงทำให้หลวงพ่อเริ่มที่จะสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ภายในวัดเพิ่มเติมขึ้นใหม่เพื่อใช้งานในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เริ่มต้นจากการก่อสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม “ธรรมกิตติวงศ์” ซึ่งเป็นอาคารชั้น เดียว กว้าง ๘ เมตร ยาว ๕๐ เมตร แบ่งเป็นห้องต่าง ๆ ทั้งห้องเรียนและห้องทำกิจกรรมของ นักเรียน (ปัจจุบันเป็นห้องเรียนของวิทยาลัยสงฆ์กำแพงเพชร) การตั้งชื่อโรงเรียนพระปริยัติธรรม ของวัดพระบรมธาตุว่า โรงเรียนพระปริยัติธรรม “ธรรมกิตติวงศ์” นั้น สืบเนื่องมาจากตั้งเป็น เกียรติแด่พระเดชพระคุณพระพรหมวชิรปัญญาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ. ๙) เป็นผู้อุปถัมภ์การ ก่อสร้าง ทั้งเป็นต้นแบบของพระภิกษุผู้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนแตกฉาน ได้รับพระกรุณาโปรด เกล้า ฯ เป็นราชบัณฑิต ทั้งยังเป็นพระภิกษุชาวกำแพงเพชรที่เคยอาศัยอยู่ที่วัดพระบรมธาตุมา ก่อน ซึ่งในขณะนั้นท่านมีสมณศักดิ์และราชทินนามที่ “พระธรรมกิตติวงศ์”

จากคำบอกเล่าของหลวงพ่อและพระเถระภายในวัดให้ข้อมูลตรงกันว่า ก่อนหน้าที่จะมี การสร้างอาคารเรียนของโรงเรียนพระปริยัติธรรม “ธรรมกิตติวงศ์” นั้น บริเวณทางทิศตะวันออก ของพระอุโบสถนั้นถูกปล่อยให้เป็นป่ารกร้าง มีต้นมะพร้าวขึ้นอยู่หลายต้น ด้านล่างเป็นป่าหญ้าคา แทบไม่มีใครอยากจะเดินไปทางนั้น บางครั้งเมื่อจะมีงานบวชทางเจ้าภาพก็ต้องไปถางป่าให้เตียน ให้เวียนรอบพระอุโบสถได้ เพราะเป็นพื้นที่ว่างไม่ได้ใช้ประโยชน์ หลวงพ่อจึงดำริให้มีการสร้าง อาคารเรียนขึ้นที่บริเวณดังกล่าว เพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่ของวัดให้คุ้มค่ามากที่สุด

จากนั้นหลวงพ่อยังได้ดำเนินการปรับถมที่ดินภายในบริเวณวัดทางทิศใต้ (บริเวณลานจอด รถปัจจุบัน) ที่ต่ำกว่าพื้นที่อื่น โดยการนำดินมาถมแล้วเกรดปรับระดับให้เท่ากับพื้นปกติ ขณะเดียวกันก็ดำเนินการปรับถมที่บริเวณสนามฟุตบอลของโรงเรียนวัดพระบรมธาตุและปลูก สนามหญ้า ทั้งนี้ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ นั้น มหาเถรสมาคมมีมติจัดพิธีทรงตั้งเปรียญธรรม ๓ ประโยค และมอบวุฒิบัตรประโยค ๑ - ๒ ของคณะสงฆ์หนเหนือ ณ วัดพระบรมธาตุ เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๑ จึงจำเป็นต้องปรับสถานที่เพื่อรองรับพระเถรานุเถระ สามเณรและญาติโยมจาก ทุกจังหวัดในภาคเหนือที่เดินทางมาร่วมงาน ถือว่าเป็นงานใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของวัดพระบรมธาตุ ในสมัยนั้น

พ.ศ. ๒๕๕๒ หลวงพ่อได้ดำเนินการสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมอีก ๑ หลัง เป็นอาคาร ทรงไทยพื้นถิ่น แบบนครชุม สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียวจำนวน ๕ ห้อง หลังคามุงด้วย กระเบื้องโบราณ พื้นปูด้วยหินแกรนิตอย่างดี มีพื้นที่ใช้สอย ๑๔๒ ตารางเมตร และมีเรือนมุขหน้า สำหรับเป็นห้องพักครูสอนด้วย ตลอดจนดำเนินการสร้างอาคารควบคุม - จ่ายน้ำประปาใช้ภายในวัดพระบรมธาตุ ตัวอาคารเป็นโครงเหล็กมุงด้วยกระเบื้องลอนคู่ พื้นปูด้วยกระเบื้องเซรามิค ถังน้ำ สแตนเลส

พ.ศ. ๒๕๕๓ หลวงพ่อได้ดำเนินการสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมเพิ่มเติมอีกเพื่อรองรับ จำนวนพระภิกษุสามเณรที่มาเรียนพระปริยัติธรรมจำนวนมากขึ้นเป็นอาคารทรงไทยพื้นถิ่น แบบ นครชุม สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว จำนวน ๑ ห้องเรียน ๑ ห้องบริหาร และ ๑ ห้อง ประชุม หลังคามุงด้วยกระเบื้องโบราณ พื้นปูด้วยกระเบื้องเซรามิคอย่างดี มีพื้นที่ใช้สอย ๑๗๐ ตารางเมตร และเริ่มดำเนินการสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมอีก ๑ หลัง เป็นอาคารทรงไทย ประยุกต์ สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว จำนวน ๑ ห้องเรียนรวม หลังคามุงด้วยกระเบื้อง ลอนคู่ พื้นปูด้วยกระเบื้องเซรามิคอย่างดี

พ.ศ. ๒๕๕๔ หลวงพ่อได้เริ่มปรับภูมิทัศน์ทางฝั่งคลองสวนหมากโดยปลูกสร้างสวนหย่อม บริเวณริมคลองสวนหมากทางทิศเหนือของวัด เพื่อเป็นการปรับภูมิทัศน์และใช้เป็นที่พักผ่อน หย่อนใจของพระภิกษุสามเณร และประชาชนโดยทั่วไป ทั้งยังสร้างลานปฏิบัติธรรมรอบต้นพระศรี มหาโพธิ์ภายในบริเวณวัด โดยการเทพื้นด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ปูด้วยกระเบื้องเซรามิคอย่างดี ขณะเดียวกันก็ได้เทพื้นคอนกรีตลานด้านหน้าพระบรมธาตุ เพื่อใช้เป็นที่จอดรถ โดยการปรับ พื้นดินเดิมให้เสมออัดเกลี่ยทราย วางโครงเหล็กเทคอนกรีตผสมเสร็จ ในปีเดียวกันนี้หลวงพ่อยังได้ ดำริให้มีการสร้างกุฏิสงฆ์น๊อคดาวน์จำนวน ๒๐ หลัง เป็นอาคารไม้สักทรงไทยแบบนครชุม เพื่อใช้ เป็นที่พักของผู้ปฏิบัติธรรมและพระนวกะในช่วงเข้าพรรษา โดยเปิดรับบริจาคเจ้าภาพร่วมสร้าง และหลวงพ่อยังได้ดำเนินการบูรณะเตาเผาศพของวัด โดยเปลี่ยนจากเตาเผาถ่านเป็นเตาเผาระบบ ไร้ควันพิษตามแบบของกระทรวงสาธารณสุข

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ นี้ยังเป็นปีที่หลวงพ่อต้องตัดสินใจในการที่จะหาวิธีการรักษาโรงเรียนวัด พระบรมธาตุเอาไว้ด้วย โรงเรียนวัดพระบรมธาตุเดิมตั้งอยู่ภายในวัดพระบรมธาตุทางทิศใต้ ซึ่งเป็น ส่วนกุฏิสงฆ์และลานจอดรถในปัจจุบัน หลวงพ่อเป็นประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขึ้นพื้นฐาน โรงเรียนวัดพระบรมธาตุมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้เห็นว่าจำนวนนักเรียนลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผู้ปกครองส่วนใหญ่ส่งบุตรหลานไปเรียนโรงเรียนอื่น เพราะเห็นว่ามีคุณภาพมากกว่า โรงเรียนวัด จนทำให้ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ โรงเรียนวัดพระบรมธาตุมีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ มีจำนวนนักเรียนเพียง ๓๙ คน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษากำแพงเพชร เขต ๑ จึงมีแนวคิดที่จะยุบโรงเรียนวัดพระบรมธาตุ

คุณครูเพ็ญรำเพย ขวัญวงศ์ ซึ่งเคยเป็นครูที่โรงเรียนวัดพระบรมธาตุได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า
“เมื่อหลวงพ่อทราบว่าเขาคิดจะยุบโรงเรียน หลวงพ่อไม่ยอมเด็ดขาด วัดกับโรงเรียนวัด เป็นของคู่กัน หลวงพ่อจึงได้วางแผนพัฒนาโรงเรียนใหม่ทั้งหมด เริ่มต้นใหม่ เริ่มจากย้ายโรงเรียนไปอยู่ทางทิศตะวันออกของวัด ฟากถนน ซึ่งหลวงพ่อจัดซื้อที่ดินจากชาวบ้านได้ ๒ ไร่ เงินที่ซื้อ ที่ดินนั้นสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ เป็นผู้อุปถัมภ์ จากนั้นให้เรียกชื่อโรงเรียนใหม่ ว่า โรงเรียนสาธิตวัดพระบรมธาตุ ไม่ยอมเอาชื่อวัดออกจากชื่อโรงเรียนเด็ดขาด แล้วให้ทาง โรงเรียนยื่นของบประมาณจัดสร้างอาคารเรียนหลัก ๆ จากทางกระทรวง ส่วนอาคารใช้สอยอื่น ๆ รวมทั้งรั้วโรงเรียน หลวงพ่อได้ใช้งบประมาณของทางวัดและใช้คนงานของวัดเป็นผู้ดำเนินการ

จากนั้นหลวงพ่อก็ให้เงินสนับสนุนให้จ้างครูที่จบใหม่เฉพาะด้าน ยังสอบบรรจุไม่ได้มาสอน เป็นครูอัตราจ้าง เช่นครูภาษาอังกฤษ ครูภาษาจีน ส่งพระเข้าไปเป็นพระวิทยากรอบรมธรรมศึกษา ทุกสัปดาห์ และทุกเช้าต้องมีพระหรือเณรไปบรรยายธรรมะสั้น ๆ ที่หน้าเสาธงให้นักเรียนฟังทุกวัน ทำกิจกรรมมัคนายกน้อย โดยให้นักเรียนมาร่วมทำบุญตักบาตรที่วัดในทุกวันพระ แล้วให้นักเรียน เป็นผู้นำในการไหว้พระ อาราธนาศีล ถ้ามีงานเผาศพในวัด แต่เดิมนักเรียนก็จะโดดเรียนมาแย่ง เหรียญโปรยทาน หลวงพ่อก็ให้นำนักเรียนมาเป็นจิตอาสา เสิร์ฟน้ำ แล้วให้เจ้าภาพมอบเป็น ทุนการศึกษาให้นักเรียนแทน ทางโรงเรียนก็หมุนเวียนจัดนักเรียนมาให้ทั่วถึง จากนั้นก็เริ่มมี ชาวบ้านนำลูกหลานมาเข้าเรียนเพิ่มมากขึ้น จากนักเรียน ๓๙ คนในปี ๕๔ ตอนนี้โรงเรียนสาธิตวัด พระบรมธาตุมีนักเรียนราว ๒๔๐ คน มันจะมีใครสักกี่คนที่จะกล้ามาลงทุนสร้างอะไรขนาดนี้ หลวงพ่อพูดตลอดเลยว่า ถ้าทางโรงเรียนขาดเหลืออะไรก็ขอให้บอก ไม่รู้จะมีปัญญาหาให้ได้ไหม แต่ก็จะพยายามสุดความสามารถที่มี”

ปีสุดท้ายตามแผน “๕ ปีสร้าง” ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ หลวงพ่อได้ดำเนินการสร้างกุฏิสงฆ์ซึ่ง หลวงพ่อตั้งชื่อว่า “กุฏิเฉาก๊วยชากังราวประชาสรรค์” เนื่องด้วยมีบริษัทเฉาก๊วยชากังราว นำโดย ดร. เสริมวุฒิ สุวรรณโรจน์ เป็นเจ้าภาพหลัก กุฏิหลังนี้เป็นอาคารทรงไทยแบบนครชุม สร้างด้วย คอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น จำนวน ๒๘ ห้อง หลังคามุงด้วยกระเบื้องโบราณ พื้นปูด้วยหินแกรนิต อย่างดี และดำเนินการบูรณะพระวิหารของวัดทางทิศใต้ขององค์พระบรมธาตุนครชุม โดยต่อเติมจากเดิม ๕ ห้องเป็น ๑๐ ห้อง และต่อมุขออก ๑ มุข โดยแบ่งประโยชน์ใช้สอยเป็น ๓ ส่วน คือ ใช้เป็นห้องสมุดของวัด ๑ ห้องโถงใหญ่ (๕ ห้องเล็กเดิม) เป็นห้องคอมพิวเตอร์ ๑ ห้องโถงใหญ่ และหน้ามุขที่ต่อใหม่เป็นวิหารที่ประดิษฐานรูปหล่ออดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุและเจ้าคณะ จังหวัดกำแพงเพชร ๓ รูป คือ พระครูธรรมาธิมุตมุนี (สี) พระวิเชียรโมลี (ปลั่ง) และพระสิทธิวชิร โสภณ (ช่วง)

ที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นการสร้างถาวรวัตถุภายในวัดพระบรมธาตุเพื่อประโยชน์ใช้สอย แต่นอกจากการสร้างถาวรวัตถุแล้ว ในช่วง “๕ ปีสร้าง” ของหลวงพ่อ ยังได้มีการ “สร้างคน” ซึ่ง หลวงพ่อบอกว่าเป็นการสร้างที่ยากและมีความสำคัญมากกว่าการสร้างสิ่งอื่นใด เพราะการสร้าง คนคือการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและคุณธรรมให้กับสังคมประเทศชาติ การสร้างคนของ หลวงพ่อสามารถแยกได้เป็น ๔ ส่วน

ได้แก่ ๑. สร้างคนผ่านการเรียนการสอนสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม หลังจากหลวงพ่อ ตั้งและสร้างอาคารเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรม “ธรรมกิตติวงศ์” ขึ้น ก็มีการเปิดรับพระภิกษุ สามเณรเข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งมีการเรียนการสอนทั้งแผนกธรรม แผนกบาลี และแผนก สามัญในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ม. ๓) เป็นการสร้างศาสนทายาทไปพร้อมกัน โดยหลวงพ่อ มีความโชคดีที่มีพระมหาจำเนียร จิรวํโส ป.ธ. ๙ ซึ่งเป็นนาคหลวงจากสำนักเรียนวัดนิมมานรดี กรุงเทพ ฯ ซึ่งเป็นชาวจังหวัดกำแพงเพชรมาเป็นอาจารย์ใหญ่ช่วยหลวงพ่อในการดูแลบริหารการ จัดการเรียนการสอนโรงเรียนพระปริยัติธรรม ซึ่งพระมหาจำเนียรก็ได้ติดตามมาช่วยงานหลวงพ่อ และได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ (ปัจจุบันพระ มหาจำเนียร จิรวํโส ป.ธ. ๙ ได้รับพระราชทานสมศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ เปรียญ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙ ที่พระเมธีวชิรภูษิต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ และรักษาการเจ้าอาวาสวัดพระ บรมธาตุ) ปัจจุบันมีพระครูศรีวชิรธำรง (ทรงวุฒิ อายุโท ป.ธ. ๗) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ใหญ่ต่อจากพระเมธีวชิรภูษิต ซึ่งมีภาระงานทางคณะสงฆ์เพิ่มมากขึ้น

การเรียนการสอนในช่วงแรกหลวงพ่อทุ่มเทกับการสอนมาก ในช่วงเย็นจะให้สามเณรมา สอบท่องบาลีเป็นประจำ หลวงพ่อจะให้กำลังใจนักเรียนเสมอ ขอให้ตั้งใจเรียนเพื่ออาศัยพระบาลี รักษาพระพุทธศาสนาและทำให้มีอนาคตที่เจริญยิ่งขึ้นเหมือนหลวงพ่อ ช่วงเวลาดังกล่าวมี พระภิกษุสามเณรมาบวชเรียนที่วัดพระบรมธาตุจำนวนมาก ปีละไม่น้อยกว่า ๑๐๐ รูป ต่อมา เนื่องจากครูสอนมีไม่มากจึงสามารถเรียนได้ถึงเปรียญธรรม ๖ ประโยคเท่านั้น หากรูปไหนมีความ ประสงค์จะศึกษาต่อหลวงพ่อก็จะฝากฝังให้เข้าเรียนในสำนักเรียนต่าง ๆ ในกรุงเทพ ฯ ทำให้มี พระภิกษุสามเณรที่เคยศึกษาอยู่ที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม “ธรรมกิตติวงศ์” ผ่านการสอบไล่ตั้งแต่เปรียญธรรม ๗ ประโยคจนถึงเปรียญธรรม ๙ ประโยคจำนวนหลายรูป ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้แก่หลวงพ่อเป็นอย่างมาก เวลาเล่าถึงพระมหาที่สอบได้ประโยคสูง ๆ ที่หลวงพ่อเคยสอน ท่าน จะเล่าอย่างมีความสุขและภาคภูมิใจเสมอ เช่น พระมหาสุขุม อุตฺตโม ป.ธ. ๙ เจ้าอาวาสวัดบุญมั่น ศรัทธาราม พระมหานพรัตน์ ภทฺทวิญฺญู ป.ธ. ๙ ครูสอนบาลีวัดสุทัศนเทพวราราม และพระครู ปลัดสุวัฒนสารคุณ (สุชาติ สุชาตเมธี ป.ธ. ๘) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม เป็นต้น

พระมหานพรัตน์ ภทฺทวิญฺญู ป.ธ. ๙ วัดสุทัศนเทพวราราม ได้บันทึกคำสอนของหลวงพ่อ ที่มอบให้กับนักเรียนบาลีที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม “ธรรมกิตติวงศ์” วัดพระบรมธาตุเมื่อราว พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งหลวงพ่อเรียกว่า “คาถาประสบความสำเร็จ” เอาไว้ว่า
“พอจะจำความได้ว่า เมื่อครั้งประชุมประจำเดือนหรือการปฐมนิเทศของวัดพระบรมธาตุ กำแพงเพชรนี่แหละแต่จำได้แม่นคือ เป็นปี ๒๕๕๔ แน่ หลวงพ่อพระราชวชิรเมธี (ปัจจุบัน พระเทพวชิรเมธี) ได้กล่าวให้กำลังใจกับนักเรียนบาลีและได้ให้คาถาประสบความสำเร็จ ท่านบอก ว่า ถ้าใครอยากประสบความสำเร็จในการเรียนบาลีให้ท่องจำคาถานี้ไว้ให้ดี (ไอ้เราก็นึกในใจด้วย ความดีใจว่า คงจะเป็นคาถาเด็ดจากหลวงพ่อเป็นแน่ จึงตั้งหน้าตั้งตาฟังอย่างดี) ท่านว่าคาถานี้มี อยู่แค่ ๓ คำเท่านั้น คือ “ทน ทน ทน” อดทนถึงที่ได้ดีทุกคน ไม่น่าเชื่อด้วยคำเพียงเท่านี้ กระผม จำได้ตั้งแต่วันนั้นไม่ลืมจนถึงวันนี้ เมื่อครั้งเรียนบาลี เรียนทางโลก หรือทำอะไรก็ตาม พอเกิดความ เบื่อ เหนื่อย เมื่อย ล้า หน่าย ก็จะระลึกถึงคาถาของหลวงพ่ออยู่ตลอดเวลา จึงทำให้มีแรงใจสู้ ตลอดเรื่อยมา กระทั่งปัจจุบันเป็นครูสอนบาลีก็จะใช้คาถานี้บอกกับนักเรียนเพื่อเป็นกำลังใจให้เขา อดทนกับการเรียน”

แม้ในช่วงจากนี้ไปหลวงพ่อจะมีภารธุระทั้งงานบริหารวัด บริหารมหาวิทยาลัยสงฆ์ และ กิจนิมนต์ต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น แต่หลวงพ่อก็ไม่เคยทิ้งการเป็นครูสอนบาลีเลย วันไหนที่ว่าง ๆ อยู่ ภายในวัด หลวงพ่อก็จะให้นักเรียนบาลีชั้นเปรียญธรรม ๕ - ๖ ประโยคเข้ามาเรียนที่กุฏิเสมอ นอกจากนี้ หลวงพ่อยังได้รับแต่งตั้งจากแม่กองบาลีสนามหลวงให้เป็นกรรมการตรวจบาลี สนามหลวง ชั้นประโยค ป.ธ. ๕ ณ วัดสามพระยา กรุงเทพ ฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นต้นมา จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๖๓ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจบาลีสนามหลวง ชั้นประโยค ป.ธ. ๖ ทุกปีหลวงพ่อจะลงไปทำหน้าที่กรรมการตรวจข้อสอบมิเคยขาด จนกระทั่งอาพาธหนักจึง แจ้งให้ทางแม่กองบาลีสนามหลวงทราบว่าไม่สามารถไปตรวจข้อสอบได้

๒. สร้างคนผ่านการสอบธรรมศึกษา หลวงพ่อได้ส่งเสริมให้โรงเรียนวัดพระบรมธาตุ โรงเรียนอนุบาลเมืองกำแพงเพชร (บ้านนครชุม) และโรงเรียนวชิรปราการวิทยาคมซึ่งอยู่ในเขต ชุมชนนครชุมและอยู่ใกล้กับวัดพระบรมธาตุเข้าร่วมโครงการสอบธรรมศึกษาของคณะสงฆ์ โดย หลวงพ่อได้สนับสนุนพระภิกษุสามเณรเข้าไปสอนธรรมศึกษาและอบรมธรรมศึกษาในโรงเรียน ดังกล่าวสัปดาห์ละ ๑ วัน ซึ่งทำอย่างนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๕๐ แล้ว และมีผู้กล่าวว่านี่ เป็นบทบาทสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของหลวงพ่อที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

คุณครูสุภิตรา ตัณศลารักษ์ ข้าราชการบำนาญ อดีตครูโรงเรียนวชิรปราการวิทยาคม ซึ่ง เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้มีการสอบธรรมศึกษาของนักเรียนโรงเรียนวชิรปราการ วิทยาคมได้กล่าวเน้นย้ำกับผู้เขียนว่า “การเขียนประวัติหลวงพ่อครั้งนี้ อย่าลืมเขียนเรื่องการสอบ ธรรมศึกษาโดยเด็ดขาด เพราะเป็นผลงานที่สุดยอดของหลวงพ่อที่หาใครมาเทียบไม่ได้ การสอบ ธรรมศึกษามันไม่ใช่ได้ผลงานจากจำนวนผู้เข้าสอบหรือตัวเลขผู้สอบผ่านนะ แต่หลวงพ่อให้พระ เณรเข้ามาอบรมนักเรียนช่วงก่อนสอบ และมีพระเณรมาสอนทุกสัปดาห์ หมุนเวียนกันมา การสอน ก็ไม่ได้มีแค่มุ่งให้สอบผ่านอย่างเดียวไง แต่มันเป็นกระบวนการขัดเกลาจิตใจและพฤติกรรมของ นักเรียนร่วมด้วย สมัยนั้นก่อนที่หลวงพ่อยังไม่อาพาธ นักเรียนนี่เชื่อฟังครูนะ ไม่เหมือนทุกวันนี้ที่ พระเณรก็ห่าง ๆ โรงเรียนไปตามบริบทนั่นแหละ”

คำพูดดังกล่าวก็ไม่เกินไปจากความเป็นจริง เพราะเป็นผลงานการสร้างคนที่ทำให้เยาวชน ในเขตตำบลนครชุมและพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดกำแพงเพชรได้เรียนรู้หลักธรรมทาง พระพุทธศาสนา และนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นที่ชื่นชมของบุคคลต่าง ๆ ซึ่งทาง โรงเรียนก็ร่วมมือกับหลวงพ่อเป็นอย่างดี เพราะถือเป็นการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาแนว ใหม่ ทำให้มีการขยายสถานที่สอบจากวัดไปสู่โรงเรียน เริ่มต้นจากโรงเรียนวชิรปราการวิทยาคมซึ่ง ขณะนั้นมี ดร. สุทธิพงษ์ ธรรมสอน เป็นผู้อำนวยการก็ได้เอาใจใส่กิจกรรมสอบธรรมศึกษาและสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของวัดเป็นอย่างดี ก่อนที่จะขยายไปยังโรงเรียนวัดพระบรมธาตุ โรงเรียน อนุบาลเมืองกำแพงเพชร (บ้านนครชุม) โรงเรียนเพ็ชระศึกษา และโรงเรียนเจริญสุขอุดมวิทยา

สนามสอบธรรมสนามหลวง โรงเรียนวชิรปราการวิทยาคม ถือเป็นสนามสอบธรรมศึกษาที่ ใหญ่ที่สุดในจังหวัดกำแพงเพชร หลวงพ่อจะเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทนมาเป็นประธานนพิธี เปิดการสอบเสมอ โดยมีหลวงพ่อเป็นผู้แทนแม่กองธรรมสนามหลวงอ่านคำปรารภแม่กองธรรม สนามหลวง เมื่อผลของการสร้างคนเริ่มผลิบาน ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและสนับสนุน การสอบธรรมศึกษาในโรงเรียน หลวงพ่อก็ส่งเสริมให้ได้รับรางวัลเสาเสมาธรรมจักร ผู้ทำ คุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา โดยเข้ารับพระราชทานเสาเสมาธรรมจักรจากสมเด็จพระ กนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อครั้งดำรงพระยศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา เช่น โรงเรียนว ชิรปราการวิทยาคม โรงเรียนวัดพระบรมธาตุ คุณครูสุภิตรา ตัณศลารักษ์ คุณครูเพ็ญรำเพย ขวัญ วงศ์ เป็นต้น ซึ่งทำให้ผู้ปฏิบัติงานสนองงานคณะสงฆ์ด้านการสอบธรรมศึกษาเกิดขวัญกำลังใจเป็น อย่างมาก

๓. สร้างคนผ่านการเรียนที่หน่วยวิทยบริการ มจร กำแพงเพชร แม้ว่าหลวงพ่อจะย้าย ขึ้นมาอยู่วัดพระบรมธาตุแล้ว แต่หลวงพ่อก็ยังต้องเดินทางลงไปสอนที่วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์เป็น ประจำ และได้ทราบว่ามีพระภิกษุสามเณรในเขตจังหวัดกำแพงเพชรที่สนใจศึกษาต้องเดินทางไกล ลงไปเรียนที่จังหวัดนครสวรรค์ ด้วยเหตุนี้ หลวงพ่อจึงดำเนินการขออนุญาตเปิดหน่วยวิทยบริการ วิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ ณ วัดพระบรมธาตุ จังหวัดกำแพงเพชร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (หน่วยวิทยบริการ ฯ มจร จังหวัดกำแพงเพชร) ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยหลวงพ่อได้รับ แต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการหน่วยวิทยบริการ มจร จังหวัดกำแพงเพชร ทำการเรียนการสอนใน หลักสูตรประกาศนียบัตร การบริหารกิจการคณะสงฆ์ (ป.บส.) สำหรับพระสังฆาธิการ แล้วปีต่อมา ก็เปิดหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเชิงพุทธ สำหรับพระภิกษุสามเณร และ หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ สำหรับบุคคลทั่วไป ตามลำดับ

การตั้งหน่วยวิทยบริการ มจร จังหวัดกำแพงเพชรขึ้นนั้นได้ใช้อาศัยเรียนส่วนหนึ่งของ โรงเรียนพระปริยัติธรรม “ธรรมกิตติวงศ์” ภายในวัดพระบรมธาตุเป็นสถานที่เล่าเรียนและเป็นที่ ปฏิบัติงานของบุคลากร กล่าวได้ว่าหน่วยวิทยบริการ มจร จังหวัดกำแพงเพชร ถือว่าเป็นแหล่ง สร้างพระสังฆาธิการที่มีความรู้ความสามารถทางวิชาการและการบริหารกิจการคณะสงฆ์ให้กับ คณะสงฆ์จังหวัดกำแพงเพชร เพราะนิสิตที่มาเรียนส่วนใหญ่ที่มาเรียนล้วนแต่เป็นพระสังฆาธิการ ระดับเจ้าคณะอำเภอและเจ้าคณะตำบลในเขตจังหวัดกำแพงเพชร ส่วนหลักสูตรรัฐศาสตร์ก็มี บุคคลทั่วไปมาเรียนจำนวนมาก นิสิตกลุ่มนี้ก็เป็นกำลังในการส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

ผู้เขียน : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ
#ติดตามอ่านต่อตอนที่  ๑๑
#หลวงตาเอก #วัดพระบรมธาตุนครชุม
33  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / ตอนที่ ๙เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก” ก่อนถึงวันพระ เมื่อ: มีนาคม 11, 2025, 05:00:30 am
เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก”
ก่อนถึงวันพระราชทานเพลิงศพพระเทพวชิรเมธี,ผศ.ดร. (วีระ วรปญฺโญ)
เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร และเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง

ตอนที่ ๙ :  แนวทางพัฒนาวัดพระบรมธาตุ : “๕ ปีซ่อม ๕ ปีสร้าง ๕ ปีสวย”

 เมื่อหลวงพ่อได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ตามระเบียบ กฎหมายของคณะสงฆ์ก็ถือว่าหลวงพ่อเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดพระบรมธาตุ ที่มี ความอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์และคุณวุฒิ (ซึ่งแต่เดิมพระมหาเปรียญธรรม ๙ ประโยคก็เป็น สมณศักดิ์ที่สูงกว่าพระครูผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับภายใน วัด) ทางเจ้าคณะผู้ปกครองจึงเสนอชื่อหลวงพ่อเพื่อรับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชแต่งตั้งให้ หลวงพ่อเป็นเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ จังหวัดกำแพงเพชร

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน ป.ธ. ๙) เมื่อครั้งดำรง พระยศสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จึงอาศัยอำนาจตาม ความในข้อ ๓๓ แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระ สังฆาธิการ ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และตามมติมหาเถรสมาคม ในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๕ จึงแต่งตั้งให้พระศรีวชิราภรณ์ (วีระ) ฉายา วรปญฺโญ อายุ ๔๒ พรรษา ๒๒ วิทยาฐานะ ป.ธ. ๙ พธ.บ. วัดพระบรมธาตุ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระ บรมธาตุ ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร มีอำนาจและหน้าที่ตาม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ แต่งตั้ง ณ วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๔๕

การที่หลวงพ่อได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุอย่างเป็นทางการ ถือ ว่าเป็นผลดีสำหรับการเริ่มต้นในการปรับปรุง ซ่อมแซมและพัฒนาวัดพระบรมธาตุของหลวงพ่อ ที่ สำคัญคือยังความสมัครสมานสามัคคีให้เกิดขึ้นภายในวัดพระบรมธาตุ เพราะจากนี้ไปภายในวัดพระบรมธาตุจะไม่มีการแบ่งกลุ่มแบ่งพวกเหมือนช่วง ๓ - ๔ ปีที่ผ่านมา เนื่องจากบัดนี้ทางวัดได้ เจ้าอาวาสตัวจริงแล้ว ซึ่งในท้ายพระบัญชาแต่งตั้งเจ้าอาวาสพระอารามหลวงยังมีข้อความกำชับไว้ ชัดเจนว่า “พระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ที่อยู่ในวัดดังกล่าวข้างต้น จงอยู่ในโอวาทของเจ้าอาวาส ที่ได้รับแต่งตั้งแล้วนั้น ซึงปฏิบัติการโดยชอบด้วยพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติประกาศของมหาเถรสมาคม” ดังนั้น พระภิกษุสามเณรภายในวัดจึง ต้องปฏิบัติตาม หลวงพ่อจึงมีอำนาจโดยชอบธรรมในการบริหารวัดพระบรมธาตุ

ในปีเดียวกันนี้ หลวงพ่อยังได้รับคัดเลือกจากคณะสงฆ์จังหวัดกำแพงเพชรในการเข้าสอบ พระอุปัชฌาย์ และหลวงพ่อสามารถสอบผ่านทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติตามเกณฑ์ของมหาเถร สมาคม ทำให้หลวงพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ประเภทวิสามัญ (คือสามารถทำการบรรพชา อุปสมบทกุลบุตรนอกเขตปกครองของตนเองได้) อีกด้วย

หลวงพ่อเล่าให้ผู้เขียนและลูกศิษย์โดยเฉพาะกลุ่มที่ศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยฟังเสมอว่า ในการพัฒนาวัดพระบรมธาตุนั้นหลวงพ่อมีแนวทางหรือ แผนงานในการปฏิบัติว่า “๕ ปีซ่อม ๕ ปีสร้าง ๕ ปีสวย” ซึ่งหลวงพ่ออธิบายว่า

๕ ปีซ่อม หมายถึง จะให้ช่วงเวลา ๕ ปี (กำหนดไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๖ - ๒๕๕๐) ในการ ซ่อมแซมปรับปรุงอาคารเสนาสนะและสถานที่สำคัญภายในวัดให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ใช้งาน ไดดี และยังศรัทธาของพุทธศาสนิกชนให้เกิดขึ้น

 ๕ ปีสร้าง หมายถึง หลังจากผ่านไป ๕ ปีแล้วจะใช้เวลาอีก ๕ ปี (กำหนดไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๑ - ๒๕๕๕) ในการสร้างสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ที่มีความจำเป็นสำหรับการพัฒนาวัดพระบรม ธาตุให้เกิดขึ้น รวมทั้งสร้างพระภิกษุสามเณรที่มีความรู้ความสามารถให้กับพระพุทธศาสนา สร้าง คนหรือเยาวชนสำหรับเป็นกำลังหลักในการพัฒนาสังคมประเทศชาติ

๕ ปีสวย หมายถึง จะใช้เวลาการปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในวัดพระบรมธาตุอีก ๕ ปี (กำหนดไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๖ - ๒๕๖๐) เพื่อให้มีความสวยงาม เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้และแหล่ง ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดกำแพงเพชรในด้านพระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี และ ศิลปวัฒนธรรม
ที่ผ่านมาจากการที่ได้สัมผัสหลวงพ่อก็จะพบว่า ท่านพยายามใช้แนวคิดนี้ให้ประสบ ความสำเร็จดังที่ตั้งใจไว้ แม้ว่าบางอย่างอาจจะช้ากว่าที่ตั้งเป้าไว้ก็ตาม แต่ทั้งหมดทั้งปวงล้วนแต่ เห็นได้ถึงวิสัยทัศน์ในการพัฒนาวัดพระบรมธาตุของหลวงพ่อ ซึ่งผู้เขียนขอสรุปผลการพัฒนาวัด พระบรมธาตุของหลวงพ่อตามแนวคิด “๕ ปีซ่อม ๕ ปีสร้าง ๕ ปีสวย” ดังนี้

ฮืม?๕ ปีซ่อม ซึ่งหลวงพ่อกำหนดไว้ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๖ - ๒๕๕๐ หลวงพ่อได้ดำเนินการ ซ่อมแซมปรับปรุงวัดพระบรมธาตุโดยเฉพาะเรื่องของสิ่งปลูกสร้างและเสนาสนะต่าง ๆ ได้แก่
พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้บูรณปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญหลังเก่าซึ่งทรุดโทรมอย่างมาก จาก หลังคาทรงไทยจั่วเดียวเป็นหลังคาทรงไทยสามจั่ว เมื่อบูรณปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จในปีต่อมาก็ ปรับปรุงพื้นที่ศาลาการเปรียญชั้นบนเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน เป็นที่รวบรวมและจัดแสดง โบราณวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้และนิทรรศการภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยจัดตั้งเป็นศูนย์ส่งเสริม วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนตำบลนครชุม

ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๗ - ๒๕๔๘ หลวงพ่อเห็นว่าองค์พระบรมธาตุนครชุมซึ่งเป็นปูชนีย สถานศักดิ์สิทธิ์ของวัดพระบรมธาตุที่ทาด้วยสีขาวนั้นเต็มไปด้วยคราบตะไคร่น้ำเป็นสีดำกระจายอยู่ ทั่วองค์พระบรมธาตุนครชุม ไม่เป็นที่รื่นรมย์สบายใจและยังศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ประกอบ กับหลวงพ่อได้ศึกษาข้อมูลจากภาพถ่ายเก่าพบว่าเดิมที่องค์พระบรมธาตุเคยทาด้วยสีเหลืองทอง จึงพร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนซึ่งประกอบด้วยคณะศรัทธาหลายคณะ ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพในการบูรณะและทาสีทองทั่วองค์พระบรมธาตุนครชุม ซ่อมแซมฉัตร ปูหินแกรนิตและสร้างรั้วอัลลอยด์ รอบองค์พระบรมธาตุนครชุม รวมเงินทั้งหมดประมาณ ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท โดยมีพิธีนำยอดฉัตรลง เมื่อวันมาฆบูชาปีนั้น บูรณะอยู่ ๓ เดือนจึงแล้วเสร็จ และมีพิธียกยอดฉัตรขึ้นเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ทำให้องค์พระบรมธาตุนครชุมมีสีทองดังที่ปรากฏในปัจจุบัน ในการยกยอด ฉัตรขึ้นประดิษฐานเหนือองค์พระบรมธาตุ มีเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ. ๙) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ กรุงเทพ ฯ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือในขณะนั้นเป็นประธาน

พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้บูรณะพระวิหารหลังเก่าทางด้านหลังพระอุโบสถ ปรับเป็นห้องสมุด พระพุทธศาสนา ปัจจุบันยังไดขยายใช้เป็นห้องสมุดและห้องคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยมหา จุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์กำแพงเพชร

นอกจากการซ่อมแซมบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะภายในวัดแล้ว หลวงพ่อยังต้องใช้ความรู้ ความสามารถที่มีในการแก้ปัญหาชุมชนแออัดซึ่งเป็นที่อยู่ของคนไร้บ้านและที่ทำกินที่มาสร้างที่พัก ชั่วคราวขึ้นอยู่บริเวณตามแนวตลิ่งคลองสวนหมากเดิมทางด้านทิศเหนือของวัด (เรียงยาวตั้งแต่ บริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์ทางทิศเหนือไปจนถึงห้องสมุดประชาชน ฯ เดิมบริเวณนี้เรียกว่า หน้าวัด เพราะอดีตติดคลองสวนหมากซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมหลักของชุมชนนครชุม) ซึ่งคนกลุ่มที่อาศัย อยู่ที่นี่เป็นปัญหาสังคมที่เรื้อรังมานานมาก ทั้งเป็นแหล่งมั่วสุมยาเสพติดและเสี่ยงต่อการเกิด อาชญากรรม แทบไม่มีใครอยากจะเดินผ่านไปทางนั้น หลวงพ่อเล่าว่าเมื่อตอนมาอยู่วัดพระบรม ธาตุใหม่ ๆ ได้ขึ้นมาพักอยู่บนชั้นสองของศาลาการเปรียญหลังเก่าซึ่งอยู่คนละฝากถนนกับ บ้านเรือนชั่วคราวดังกล่าว ได้เห็นทั้งภาพการซื้อขายยาบ้า ได้ยินการวางแผนลักขโมย ที่หนักกว่า นั้นคือได้ยินว่า “เจ้าอาวาสมาใหม่ จะแน่สักแค่ไหน ถ้ามายุ่งกับพวกกูก็จะยิงทิ้ง” ทำให้หลวงพ่อ ตระหนักถึงปัญหาชุมชนแออัดนี้เป็นอย่างมาก

หลวงพ่อใช้วิธีการเป็นมิตรเข้าหาคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดนี้ นำหลักพุทธธรรม “พรหมวิหาร ๔” มาใช้ในการแก้ปัญหา โดยเอาข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นไปมอบให้บ้าง เอาขนม นมเนยไปแจกเด็ก ๆ บ้าง ชวนคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ชวนคนที่ว่างงานมาช่วยงานภายในวัด จากนั้นหลวงพ่อก็ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากคนกลุ่มนี้มากขึ้น เมื่อมีความไว้วางใจต่อกันและ เข้าใจปัญหาของชาวบ้านกลุ่มนี้ โดยเฉพาะเรื่องการไม่มีที่ดินอยู่อาศัยหรือที่ดินทำกิน หลวงพ่อจึง ปรึกษาหารือกับหน่วยงานราชการในจังหวัดกำแพงแพชรในการช่วยแก้ปัญหา ท้ายที่สุดก็ได้ แนวทางว่าทางราชการมีที่ว่างเปล่าสำหรับให้ชาวบ้านอยู่อาศัยได้ในท้องที่บ้านป่าไผ่ หมู่ที่ ๖ ตำบลนครชุม ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตก โดยทางราชการจะจัดสรรที่ดินให้ปลูกบ้าน ขณะที่ ทางวัดพระบรมธาตุก็จะสนับสนุนการรื้อถอนบ้านไปปลูก และมอบเงินช่วยเหลือจำนวนหนึ่ง จนเป็นที่พอใจของชาวบ้านกลุ่มนี้ และยินดีย้ายออกไปอยู่ที่หมู่บ้านป่าไผ่จนเกือบหมดทุกครัวเรือน (เหลือครัวเรือนเดียว ซึ่งต่อมาได้ย้ายไปอยู่ฟากคลองสวนหมากแทน)

หลังจากที่ชาวบ้านย้ายออกไป หลวงพ่อก็ร่วมกับทางเทศบาลตำบลนครชุมในการปรับภูมิ ทัศน์รอบต้นพระศรีมหาโพธิ์และบริเวณทางทิศเหนือของวัด ให้มีความปลอดภัยและน่าเยี่ยมชม มากขึ้น ทางทิศตะวันตกของต้นพระศรีมหาโพธิ์ทางเทศบาลตำบลนครชุมเข้ามาจัดสร้างเป็นสวน สุขภาพสำหรับเป็นที่ออกกำลังกายของชาวบ้านหมู่ที่ ๓ บ้านปากคลองใต้ ส่วนพื้นที่ด้านทิศเหนือ ตรงข้ามกับพระอุโบสถหลวงพ่อให้ปรับเป็นสวนเกษตรของวัด สำหรับให้สามเณรได้มาปลูกผัก ปลอดสารพิษเพื่อใช้ในการประกอบภัตตาหารเพลสำหรับพระภิกษุสามเณรภายในวัด

การบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่าง ๆ ภายในวัดพระบรมธาตุให้มั่นคงถาวร และปรับปรุง ภูมิทัศน์ภายในวัดให้มีความเป็นสัปปายะสมกับเป็นพระอารามหลวง ทำให้เจ้าคณะพระสังฆาธิการ ผู้ปกครองทั้งในระดับจังหวัดและระดับภาคเล็งเห็นในความรู้ความสามารถ จึงเสนอชื่อหลวงพ่อไป ยังมหาเถรสมาคมเพื่อแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร โดยที่หลวงพ่อไม่เคยดำรง ตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอมาก่อน ซึ่งหลวงพ่อเองเคยเคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า

“แค่เราถูกส่งมาอยู่วัดพระบรมธาตุก็ถูกจับจ้องมากแล้ว บางคนก็ว่าเรามาแย่งเขา ผู้ใหญ่ ก็ยังจะให้เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดอีก ไอ้เราก็ไม่อยากเป็นหรอก เพราะเพิ่งมาอยู่ใหม่ อีกอย่าง หลวงพ่อสิทธิ์  พระอุปัชฌาย์ของเราตอนนั้นก็เป็นเจ้าคณะอำเภอลานกระบือ จะให้เป็นรอง จังหวัดสูงกว่าครูบาอาจารย์เราก็ไม่อยากเป็น แต่ผู้ใหญ่ก็สั่งมาว่าเจ้าคุณศรี ฯ ต้องเป็นรองเจ้าคณะ จังหวัดเท่านั้น ช่วยสนองงานคณะสงฆ์ทางด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม เรื่องอื่น ๆ ไม่ต้องกังวล เชื่อว่าทุกรูปจะเข้าใจ เราก็เลยว่าแล้วแต่ผู้ใหญ่จะเมตตา ขัดไม่ได้เพราะท่านว่าผู้ใหญ่วางตัวเอาไว้ แต่แรกแล้ว”

ต่อมา สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ ป.ธ. ๙) วัดสระเกศ กรุงเทพ ฯ ซึ่งเป็น ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๑๖ แห่งกฎ มหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๔๑) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ออกตาม ความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ และตามมติมหาเถรสมาคม ในการประชุมครั้งที่ ๕/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ จึงแต่งตั้งให้พระศรีวชิราภรณ์ (วีระ) ฉายา วรปญฺโญ อายุ ๔๘ พรรษา ๒๘ วิทยาฐานะ ป.ธ. ๙ พธ.บ. ศษ.บ. วัดพระบรมธาตุ ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัด กำแพงเพชร ปัจจุบันมีตำแหน่งในทางปกครองคณะสงฆ์เป็นเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร มีอำนาจหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ในเขตจังหวัดของตน ตามที่เจ้าคณะจังหวัดมอบหมาย แต่งตั้ง ณ วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๐

พระเทพปริยัติ (อดุลย์ อมโร ป.ธ. ๘) เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร (สมณศักดิ์และ ตำแหน่งของพระพรหมวัชรวิสุทธิ์ในขณะนั้น) ได้มอบหมายให้หลวงพ่อเป็นรองเจ้าคณะจังหวัด กำแพงเพชร ฝ่ายการศึกษา รับผิดชอบดูแลงานการศาสนศึกษาและการศึกษาสงเคราะห์ของ คณะสงฆ์จังหวัดกำแพงเพชร และหลวงพ่อได้แต่งตั้งให้พระเมธีวชิรภูษิต (จำเนียร จิรวํโส ป.ธ. ๙) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ เป็นเลขานุการรองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร ฝ่ายการศึกษา

ผู้เขียน : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ
#ติดตามอ่านต่อตอนที่  ๑๐
#หลวงตาเอก #วัดพระบรมธาตุนครชุม
34  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / ตอนที่ ๘เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก” ก่อนถึงวันพระ เมื่อ: มีนาคม 11, 2025, 04:58:21 am
เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก”
ก่อนถึงวันพระราชทานเพลิงศพพระเทพวชิรเมธี,ผศ.ดร. (วีระ วรปญฺโญ)
เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร และเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง

ตอนที่ ๘ : กลับถิ่นมาตุภูมิ

การกลับมาอยู่ในเขตจังหวัดกำแพงเพชรซึ่งเป็นดินแดนมาตุภูมิของหลวงพ่อในครั้งนี้ เริ่มต้นมาจากพระสิทธิวชิรโสภณ (ช่วง ปญฺญาโชโต) เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ และเจ้าคณะ จังหวัดกำแพงเพชร มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ เป็นเหตุให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัด พระบรมธาตุว่างลง และยังหาพระเถระผู้ที่มีความเหมาะสมในการดำรงตำแหน่งไม่ได้ต่อเนื่องมา จนถึง พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยในช่วงเวลาที่ยังไม่มีพระบัญชาแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุนั้น ทาง เจ้าคณะผู้ปกครองได้แต่งตั้งให้พระครูอาทรวชิโรดม (อุดม อุปโล) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสเป็นเวลา ๔ ปี และแต่งตั้งพระมหาอดุลย์ อมโร ป.ธ. ๘ (ปัจจุบันได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่พระพรหมวัชรวิสุทธิ์) เจ้าอาวาสวัดคูยาง และเจ้าคณะ จังหวัดกำแพงเพชรในขณะนั้นมาเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุอีก ๑ ปี

ในระหว่างนี้ ทางพระเถระผู้ใหญ่ได้ทาบทามพระเดชพระคุณพระพรหมวัชรวิสุทธิ์(อดุลย์ อมโร ป.ธ. ๘) ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าอาวาสวัดคูยาง และเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร ให้ย้ายมาเป็น เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุซึ่งเป็นพระอารามหลวง โดยส่วนตัวของพระพรหมวัชรวิสุทธิ์เองก็เป็น ลูกศิษย์ของพระสิทธิวชิรโสภณและเคยพำนักอยู่ที่วัดพระบรมธาตุมาก่อนนับว่ามีความเหมาะสม อย่างยิ่ง แต่ท่านไม่รับ ต่อมาทางพระเถระผู้ใหญ่จึงได้ทาบทามพระครูวชิรปริยัติคุณ (ชุมพล เขมปญฺโญ ป.ธ. ๖) เจ้าอาวาสวัดบุญมั่นศรัทธาราม รองเจ้าคณะอำเภอขาณุวรลักษบุรี ซึ่งเคยอยู่ที่ วัดพระบรมธาตุมาตั้งแต่เป็นพระภิกษุหนุ่ม ให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ ท่านก็ไม่รับอีก ทำ ให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุว่างอยู่หลายปีต่อกัน

จนกระทั่งในราวปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๓ พระเดชพระคุณพระพรหมวชิรปัญญาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ. ๙) เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม กรุงเทพ ฯ ซึ่งมีชาติภูมิเป็นชาวอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ผู้เป็นครูสอนบาลีเปรียญเอกของหลวงพ่อและมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับ หลวงพ่อเป็นอย่างดีในฐานะคนพรานกระต่ายด้วยกัน ได้รับอาสาเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัช มังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ ป.ธ. ๙) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ กรุงเทพ ฯ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือใน ขณะนั้น ว่าจะเป็นผู้หาเจ้าอาวาสให้วัดพระบรมธาตุเอง และเห็นว่าหลวงพ่อเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถในการบริหารจัดการงานในพระอารามได้ จากที่เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาส พระอารามหลวง วัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ และเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนพระปริยัติธรรม คุณาภรณ์ประสาธน์ วัดโพธาราม ทั้งยังเป็นชาวกำแพงเพชร น่าจะสามารถฟื้นฟูวัดพระบรมธาตุให้ รุ่งเรืองได้ จึงได้ทาบทามและเสนอชื่อหลวงพ่อไปยังเจ้าคณะภาค ๔ เพื่อให้มหาเถรสมาคมมีมติให้ หลวงพ่อไปดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงวัดพระบรมธาตุก่อน หากว่าสามารถจัดการบริหารดูแลวัดพระบรมธาตุได้ จึงค่อยกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชเพื่อมีพระบัญชาแต่งตั้ง เป็นเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุต่อไป

หลวงพ่อได้บันทึกบอกเล่าเหตุการณ์ช่วงรอยต่อของชีวิตที่จะย้ายจากวัดโพธาราม จังหวัด นครสวรรค์ มาอยู่ที่วัดพระบรมธาตุ จังหวัดกำแพงเพชร ไว้ในหนังสือคิดถึงพระมหาชุมพล เขมปญฺโญ ป.ธ. ๖ ว่า

“ข้าพเจ้าไม่รู้มาก่อนเลยว่า พระมหาสายติ่ง ป.ธ. ๘ อาจารย์ใหญ่สำนักเรียนวัดโพธาราม และอาจารย์พระมหาชุมพล ป.ธ. ๖ เคยอยู่วัดพระบรมธาตุมาก่อน แต่ไม่ได้ถามใครเลยว่าท่าน อาจารย์ทั้งสองนั้นอยู่ในช่วง พ.ศ. ใด คงน่าจะก่อนที่ข้าพเจ้าไปอยู่วัดโพธาราม พ.ศ. ๒๕๒๓

เหตุการณ์ช่างเหลือเชื่อ คือ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ข้าพเจ้าต้องกลับมาอยู่วัดโพธารามอีก รอบ เพราะหลวงอา พระเกศีวิกรม (กอง ติกฺขวีโร ป.ธ. ๖ นามสกุล ศิรินาค ปัจจุบันคือ พระราช พุฒิเมธี) ผู้มีพระคุณของข้าพเจ้า ผู้เปลี่ยนชีวิตเด็กบ้านนอกพามาจากบ้านคุยป่ารัง ตำบลวังควง อำเภอพรานกระต่าย ซึ่งเป็นบ้านเกิดของหลวงอา เป็นมหาประโยค ๙ ในกรุง หลวงอาพระมหา กอง ได้เป็นโรคอัมพฤกษ์ เดินไม่ได้ ข้าพเจ้าต้องลาออกจากวัดราชบุรณะมาอยู่วัดโพธาราม ดูแล ปรนนิบัติหลวงอา ฝึกเดินพาไปเปิดหูเปิดตา จนอาการหลวงอาดีขึ้นตามลำดับ หายเกือบปกติ อาจารย์พระมหาชุมพลดีใจมากที่ข้าพเจ้ามาอยู่วัดโพ ฯ อีกครั้ง หลวงอาได้เป็นเจ้าอาวาสวัด โพธาราม ข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์ใหญ่ เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง

แต่เหตุการณ์พลิกผัน ประวัติศาสตร์ย้อนรอย เพราะหลวงพ่อพระสิทธิวชิรโสภณ เจ้า อาวาสวัดพระบรมธาตุ กำแพงเพชร มรณภาพ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ กลางปี จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ก็ยังไม่มีใครเป็นเจ้าอาวาส ได้ทราบว่า (ไม่กล้ายืนยันจริงเท็จประการใด) พระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณอาจารย์พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ. ๙) ซึ่งลูกศิษย์หลวงพ่อเจ้าคุณ พระสิทธิวชิรโสภณ รับอาสาเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ว่า จะหาเจ้าอาวาสให้วัดพระบรมธาตุเอง และได้ทราบจากปากพระเดชพระคุณเจ้าคุณอาจารย์เองว่า ได้ทาบทามท่านเจ้าคุณเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชรรูปปัจจุบัน (พระธรรมภาณพิลาส อดุลย์ ป.ธ. ๘) ซึ่งเคยอยู่วัดพระบรมธาตุมาก่อน ไปเป็นเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ แต่ท่านไม่รับ จึงไป ทาบทามอาจารย์พระมหาชุมพล ที่วัดบุญมั่น ฯ นี่ก็ไม่รับเช่นกัน จนกระทั่งถึงคิวข้าพเจ้า ได้พบ ท่านอาจารย์เจ้าคุณพระมหาโพธิวงศาจารย์ที่วัดเลียบ สะพานพุทธ ท่านได้เรียกไปพบและสั่งการแบบปฏิเสธไม่ได้เลย ท่านได้ดำเนินการให้ข้าพเจ้ามาอยู่วัดพระบรมธาตุ แบบผู้ใหญ่ ผู้บริหารคุย กันภายใน จนกระทั่งย้ายจากวัดโพธารามมาอยู่วัดพระบรมธาตุ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔
ราชทินนามของพระพรหมวชิรปัญญาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ. ๙) ในช่วงเวลาที่หลวงพ่อบันทึก
 ภายหลังได้รับพระราขทานสมณศักดิ์เป็นที่พระพรหมวชิรวิสุทธิ์ และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะภาค ๔

ยากมาก ๆ ที่จะเข้าไปกราบเหล่าเรื่องให้หลวงอาพระมหากองทราบได้ ในวันหนึ่ง พระมหาฉลอง เลขา ฯ เจ้าคณะภาค ๔ ก็บอกให้รีบดำเนินการ จึงตัดสินใจบอกหลวงอาว่า จะไป อยู่วัดพระบรมธาตุ ถามท่านว่า “เห็นด้วยไหม ?” ท่านพูดคำเดียวว่า “ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ ทำไง” แล้วทั้งคู่ก็ไม่คุยอะไรกันอีกเลย ได้แต่ก้มหน้า เมื่อวัดโพ ฯ เอาพระจากวัดพระบรมธาตุไป ๑๔ ประโยค มันจึงเป็นการที่วัดพระบรมธาตุเอาคืนมาเพียง ๙ ประโยค นี่คือการย้อนอดีตที่ แน่นแฟ้นของสองวัด”

หลวงพ่อเคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า แท้จริงแล้วนั้นพระพรหมวชิรปัญญาจารย์ได้มีความ ประสงค์ที่จะให้หลวงพ่อมาอยู่วัดพระบรมธาตุเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระงานของพระสิทธิวชิรโสภณ ซึ่งเป็นอาจารย์ของพระพรหมวชิรปัญญาจารย์และมีอายุมากแล้ว ตั้งแต่เมื่อครั้งหลวงพ่อสอบได้ เปรียญธรรม ๙ ประโยคที่วัดราชบุรณะ แต่ว่าพระสิทธิวชิรโสภณไม่เห็นด้วย จึงทำให้พระพรหม วชิรปัญญาจารย์ยุติความคิดดังกล่าว และไม่ได้บอกเรื่องนี้ให้หลวงพ่อทราบ จนกระทั่งหลวงพ่อ ได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุแล้ว พระพรหมวชิรปัญญาจารย์จึงได้เล่าให้หลวงพ่อฟังว่าเคย เสนอให้หลวงพ่อขึ้นมาช่วยงานพระสิทธิวชิรโสภณ แต่ท่านปฏิเสธ แต่ถึงกระนั้นอาจด้วยบุพเพ วาสนาในอดีตก็ทำให้หลวงพ่อได้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุต่อจากพระสิทธิวชิรโสภณ และ พัฒนาวัดพระบรมธาตุให้รุ่งเรือง สมดังคำกล่าวของพระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่งที่เคยกล่าวในช่วงที่วัด พระบรมธาตุยังไม่มีเจ้าอาวาสว่า “เดี๋ยวเจ้าของวัดตัวจริงก็มา เขาเคยสร้างไว้ เดี๋ยวเขาก็กลับมา ดูแลของเขา รับรองเปลี่ยนจากหลังมือเป็นหน้ามือแน่นอน”

แม้ว่าหลวงพ่อจะไม่อาจขัดคำสั่งของพระพรหมวชิรปัญญาจารย์ได้ แต่ก่อนที่จะตัดสินใจ รับภาระธุระในการปกครองดูแลวัดพระบรมธาตุนั้น หลวงพ่อก็ได้ปรึกษากับครูบาอาจารย์และทาง ญาติพี่น้อง ญาติ ๆ ของหลวงพ่อได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ก่อนที่หลวงพ่อจะขึ้นมาอยู่วัดพระบรมธาตุ นั้นได้มาปรึกษากับทางญาติพี่น้องว่า ผู้ใหญ่สั่งให้ขึ้นมาอยู่วัดพระบรมธาตุ เพราะว่าอยู่ใกล้บ้าน ใกล้ญาติพี่น้อง จะเห็นด้วยไหม ? ทางญาติพี่น้องก็บอกว่าแล้วแต่หลวงพ่อจะตัดสินใจ แต่ถ้าได้มา อยู่วัดพระบรมธาตุจริงก็ดีใจอยู่ เพราะจะได้ไปมาหาสู่กันได้สะดวก ในครั้งนั้นหลวงพ่อยังได้พูดกับ ญาติพี่น้องว่า “เขาจะให้มาฝ่าวัดพระธาตุ ไม่รู้ว่าจะไหวไหม ไหวก็อยู่ ไม่ไหวก็กลับวัดโพ ฯ” ซึ่ง สะท้อนว่าในช่วงเวลานั้นวัดพระบรมธาตุมีปัญหาบางอย่าง

การขึ้นมาดูแลวัดพระบรมธาตุของหลวงพ่อในช่วงแรกก็ไม่ได้ราบรื่นนัก หลวงพ่อเดินทาง จากวัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ มายังวัดพระบรมธาตุ จังหวัดกำแพงเพชรในช่วงหน้าหนาวต้น ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ โดยมีคณะสงฆ์และญาติโยมจากวัดโพธารามตามมาส่งจำนวนไม่มากนัก แม้จะมีพระบัญชาแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดพระบรมธาตุแต่ทางพระภิกษุสามเณร ภายในวัดพระบรมธาตุก็หาได้ให้ความสำคัญกับหลวงพ่อไม่ เมื่อทางคณะวัดโพธารามมาส่งในช่วง เช้าแล้ว ก็เดินทางกลับ โดยที่ในช่วงเวลานั้นหลวงพ่อไม่รู้จักใครที่อยู่ภายในวัดพระบรมธาตุหรือ รอบ ๆ วัดพระบรมธาตุเลย โชคดีที่มีพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งทราบเรื่องว่าหลวงพ่อจะมาเป็นเจ้า อาวาสรูปใหม่ และมาถึงวัดพระบรมธาตุแล้ว จึงได้บอกให้โยมบิดาที่ชื่อ ยงยุทธ รักษาสิทธิ์ ซึ่งมี บ้านอยู่ใกล้กับวัดเข้ามาดูแลสอบถาม เมื่อโยมยงยุทธมาสอบถามก็ได้ความว่า หลวงพ่อจะมาเป็น เจ้าอาวาสรูปใหม่ของวัดจึงได้จัดภัตตาหารเพลมาถวาย และให้พักที่ชั้นล่างกุฏิเดิมของพระสิทธิ วชิรโสภณ โดยในช่วงแรก ๆ ที่มาอยู่วัดพระบรมธาตุ หลวงพ่อก็ได้ครอบครัวของคุณโยมยงยุทธ รักษาสิทธิ์ในการอุปัฏฐากดูแล ทั้งยังทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถในพาไปปฏิบัติศาสนกิจยังที่ต่าง ๆ ด้วย

แม้ในพระบัญชาที่จะบุว่าแต่งตั้งให้หลวงพ่อเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ แต่ในเชิง พฤตินัยก็เป็นที่ทราบกันว่าหลวงพ่อมาอยู่เป็นเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ เพราะหลังจากได้รับคำสั่ง แต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าวาสวัดพระบรมธาตุได้ไม่นาน หลวงพ่อก็ได้รับคำสั่งแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการใน ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ ขณะที่หลวงพ่อมาอยู่ที่วัดพระบรมธาตุมีพรรษาเพียง ๒๒ พรรษา แต่ภายในวัดพระบรมธาตุมีพระภิกษุที่มีพรรษาอาวุโสกว่าหลวงพ่อหลายรูป และแต่ละรูป ต่างก็มีความพยายามที่จะแย่งชิงกันเป็นรักษาการเจ้าอาวาสหรือเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ แต่ พระเถระผู้เป็นเจ้าคณะปกครองไม่เห็นด้วย จึงเกิดความขัดแย้งภายในวัด ว่าที่เจ้าอาวาสรูปใหม่แต่ มีพรรษาน้อยกว่าพระภิกษุในวัดก็ย่อมมีความกังวลเป็นธรรมดา โดยเฉพาะเวลาที่ลงปฏิบัติ ศาสนกิจร่วมกันที่ศาลาการเปรียญการเรียงลำดับการนั่งจะต้องทำอย่างไร

ขณะนั้น หลวงพ่อโชคดีที่มีพระภิกษุรูปหนึ่งคอยเป็นผู้ช่วยคือ พระกฤษฎา (ภายหลัง หลวงพ่อแต่งตั้งเป็นพระครูฐานานุกรมพระราชาคณะชั้นราชที่ พระครูปลัดกฤษฎา) ซึ่งมีอายุ พรรษาน้อยกว่าหลวงพ่อ ๑ พรรษา ได้แสดงความคิดเห็นท่ามกลางสงฆ์ว่า “พระมหาวีระมาเป็น เจ้าอาวาส เจ้าอาวาสเวลาขึ้นศาลาก็ต้องนั่งหัวแถวเท่านั้น ส่วนเรื่องสังฆกรรมก็ค่อยว่าตาม พรรษา” จากคำพูดดังกล่าวทำให้ไม่มีใครแสดงความคิดเห็นคัดค้าน หลังจากนั้นเวลาปฏิบัติ ศาสนกิจภายในวัดพระบรมธาตุหลวงพ่อก็จะนั่งหัวแถวตลอดในฐานะเจ้าอาวาส และภายหลัง เหล่าพระเถระที่มีพรรษาอาวุโสกว่าหลวงพ่อก็ยอมรับนับถือในความสามารถของหลวงพ่อ อีกทั้ง เมื่อจะทำกิจกรรมต่าง ๆ หลวงพ่อก็ขอคำปรึกษาจากพระเถระภายในวัดเสมอ จึงทำให้ความ ขัดแย้งตึงเครียดที่เคยมีมาค่อย ๆ หายไปในที่สุด

ส่วนความสัมพันธ์กับญาติโยมชาวนครชุมนั้น หลวงพ่อก็ค่อย ๆ ใช้วิธีเข้าหาเพื่อสร้าง ความคุ้นเคยและความสัมพันธ์ที่ดี ในการเดินออกบิณฑบาตตอนเช้าหลวงพ่อก็มักจะพูดคุย สอบถามสารทุกข์สุกดิบ เวลามีชาวบ้านมาที่วัดก็จะเข้าไปชวนคุยและปรึกษาหารือขอความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาวัด ทำให้ญาติโยมชาวนครชุมมีความหวังว่าวัดพระบรมธาตุนับจากนี้ไปจะเกิด ความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันในการทำกิจกรรมพัฒนาวัด หลวงพ่อจะเป็นผู้นำ ในการพัฒนาเอง ลงมือทำเป็นตัวอย่างแก่พระภิกษุสามเณรภายในวัด เมื่อพระภิกษุสามเณรเห็น หลวงพ่อลงมือทำก็เกิดความเกรงใจและสำนึกต่อหน้าที่และกิจวัตรของสงฆ์ที่พึงปฏิบัติ ก็ลงมือทำ ตามหลวงพ่อ

นอกจากนี้ หลวงพ่อยังรับธุระของคณะสงฆ์ในการเป็นผู้ดำเนินรายการ “ธรรมะรับอรุณ” ของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดกำแพงเพชร (สวท. 97.25 Mhz) ช่วงเวลา ๐๕.๐๐ - ๐๖.๐๐ น. เป็นประจำทุกวัน และจัดรายการเช่นนี้เรื่อยมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๔ จนกระทั่งอาพาธหนักจึงมอบหมายให้พระเถระรูปอื่นจัดรายการแทน การจัดรายการวิทยุดังกล่าว ก็ทำให้ชาวกำแพงเพชรได้รู้จักชื่อของหลวงพ่อมากขึ้น และมีแฟนคลับติดตามรายการ ซึ่งมักจะ เดินทางมาทำบุญที่วัดในช่วงวันหยุดจำนวนหนึ่งด้วย ภายหลังในยุคโซเชี่ยลมีบทบาทในสังคม หลวงพ่อยังได้จัดรายการ “สนทนาธรรมกับหลวงตาเอก” ผ่านทางเฟสบุ๊กส่วนตัว (Facebook Live) ซึ่งมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ศิษยานุศิษย์สามารถรับชมรับฟังเทศนาของหลวงพ่อได้จากทั่ว โลก จนกระทั่งอาพาธหนักต้องเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชหลวงพ่อจึงงดจัดรายการ ดังกล่าว

คุณครูเพ็ญรำเพย ขวัญวงศ์ ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้กับวัดพระบรมธาตุได้เล่าเหตุการณ์เมื่อครั้งที่ หลวงพ่อมาอยู่วัดพระบรมธาตุใหม่ ๆ ว่า “จำได้ว่าหลวงพ่อมาอยู่วัดพระบรมธาตุใหม่ ๆ เป็นช่วง หน้าหนาวต้นปี ๔๔ ครูเพ็ญตามหาลูกหมาที่หายออกจากบ้านมาอยู่ในวัด เมื่อเข้ามาในวัดก็ถาม พระเณรตามกุฏิต่าง ๆ ว่าเจอไหม จู่ ๆ ก็ได้ยินเสียงจากพระแปลกหน้ารูปหนึ่งที่ทำงานอยู่กับ สามเณรว่า กะอีแค่หมาตายตัวเดียวทำเป็นโวยวายทั่ววัด เณรเอาไปทิ้งแล้ว ไม่ต้องตามหาหรอก ครูเพ็ญก็แปลกใจ รู้ได้ไงว่าหมาที่ตายนั้นคือหมาครูเพ็ญ ก็เลยถามต่อว่า ท่านเป็นใครคะ หลวงพ่อ ตอบว่า คุมเณรทำงานได้ขนาดนี้ก็คงเป็นเจ้าอาวาสสิ จากนั้นครูเพ็ญก็คอยดูว่าเจ้าอาวาสใหม่จะทำ อะไรในวัดบ้าง สุดท้ายก็เห็นว่าเจ้าอาวาสใหม่ทำทุกอย่างจริง ๆ กวาดวัด ปรับภูมิทัศน์ ทำงานเป็น ตัวอย่างพระเณร วัดจากที่รก ๆ ก็เริ่มสะอาดน่าชมขึ้น คนก็เริ่มเข้าวัดมากขึ้น ครูเพ็ญก็เข้ามา ช่วยงาน ช่วงแรก ๆ ก็ยังมีครูสุภิตรา* ครูอัญชลี** ครูสาว***ทีมจากวชิรปราการก็เข้ามา ทุกคน มาช่วยงานวัดเพราะศรัทธาในตัวหลวงพ่อ และก็ไม่น่าเชื่อว่าจะเจริญรุ่งเรืองมาได้จนถึงขนาดนี้”
* คุณครูสุภิตรา ตัณศลารักษ์ ข้าราชการบำนาญ อดีตครูโรงเรียนวชิรปราการวิทยาคม.
** คุณครูอัญชลี กัลปพฤกษ์ ครูโรงเรียนวชิรปราการวิทยาคม.
*** คุณครูอรุณ ยอดนิล ครูโรงเรียนวชิรปราการวิทยาคม.

ในปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๔ หลวงพ่อได้รับข่าวอันเป็นมงคลยิ่งของชีวิต พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสมณศักดิ์ให้หลวงพ่อเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ เปรียญ ที่ “พระศรีวชิราภรณ์” ดังปรากฏในสัญญาบัตรว่า “ให้พระมหาวีระ ๙ ประโยค วัดพระบรมธาตุ จังหวัดกำแพงเพชร เป็น พระราชาคณะมีนามว่า พระศรีวชิราภรณ์” ตั้งแต่วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๔ ซึ่งเป็นวันที่เข้ารับ พระราชทานสัญญาบัตรและพัดยศ นำมาซึ่งความปลื้มปีติยินดียิ่งของญาติพี่น้องและศิษยานุศิษย์ ทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ พุทธศาสนิกชนชาวนครชุมและใกล้เคียงต่างก็เรียกหลวงพ่อว่า “ท่าน เจ้าคุณศรี ฯ” ตามคำขึ้นต้นของราชทินนามที่ได้รับพระราชทาน

ผู้เขียน : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ
#ติดตามอ่านต่อตอนที่  ๙
#หลวงตาเอก #วัดพระบรมธาตุนครชุม
35  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / ตอนที่ ๗เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก” ก่อนถึงวันพระ เมื่อ: มีนาคม 09, 2025, 07:43:42 am
เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก”
ก่อนถึงวันพระราชทานเพลิงศพพระเทพวชิรเมธี,ผศ.ดร. (วีระ วรปญฺโญ)
เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร และเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง

ตอนที่ ๗ :  ทุ่มเทเพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรมและอุดมศึกษาที่นครสวรรค์

หลังจากสำเร็จการศึกษาเปรียญธรรม ๙ ประโยค หลวงพ่อยังพักประกอบศาสนกิจและ ศึกษาต่อระดับปริญญาโทอยู่ที่วัดราชบุรณะต่อจนถึง พ.ศ. ๒๕๓๙ จนกระทั่งเมื่อทราบข่าวว่า พระราชพุฒิเมธีอาพาธเป็นอัมพฤกษ์ ขาดคนดูแล หลวงพ่อจึงตัดสินใจกลับวัดโพธารามเพื่อดูแล พระราชพุฒิเมธีผู้มีพระคุณที่เป็นทั้งญาติและอาจารย์ หลวงพ่อได้บันทึกเหตุผลที่ย้ายกลับมาอยู่ วัดโพธารามไว้ในข้อความที่หลวงพ่อเขียนรำลึกพระคุณของพระราชวุฒิเมธี ว่า

“ข้าพเจ้าลาท่านอาจารย์มหากองและวัดโพ ฯ ไปเรียนพระบาลีที่กรุงเทพมหานคร วัดราชบูรณะ พ.ศ. ๒๕๒๙ ใช้เวลาเรียนประมาณสิบปี จบประโยคเก้า ท่านอาจารย์และคณะครูของ วัดโพ ฯ ได้ไปแสดงความยินดีกับข้าพเจ้าในฐานะศิษย์และหลาน พระคุณอันนี้ยังตราตรึงในใจ ตลอดเวลา จนกระทั่งท่านอาจารย์มหากองอาพาธ เป็นโรคเส้นเลือดอุดตันเป็นอัมพฤกษ์เดินไม่ได้ ขาดคนดูแลแบบถึงลูกถึงคน คณะศิษย์ที่วัดโพธารามจึงพาท่านอาจารย์มหากองมาในสภาพที่เดิน ไม่ค่อยได้ ขึ้นกุฏิข้าพเจ้าต้องอุ้มขึ้นมา ทำเอาข้าพเจ้าถึงกับร้องไห้ น้ำตาไหลพราก เพราะไม่นึกว่า จะเห็นสภาพท่านอาจารย์แบบนี้เลย และยิ่งได้ทราบว่าที่มานี้จะมานิมนต์กลับวัดโพธารามเพื่อช่วย ดูแลสุขภาพท่านอาจารย์และช่วยบริหารวัดแทนท่านอาจารย์ ใจจริงเราผูกติดกับวัดโพ ฯ อยู่แล้ว และเป็นห่วงท่านอาจารย์อย่างมาก จึงรับปากคณะที่ไปนิมนต์ว่าจะกลับไปอยู่วัดโพ ฯ แต่ช่วงนั้น ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหิดล พอทำวิทยานิพนธ์เสร็จไม่ทันรับปริญญาก็เดินทาง กลับวัดโพ ฯ โดยมีหลวงพ่อพระสุนทรธรรมวาที เจ้าอาวาสวัดโพ ฯ ในขณะนั้นและคณะครูบา อาจารย์มารับเดินทางกลับ จำได้ว่า วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ก่อนอาสาฬหบูชาหนึ่งวัน พ.ศ. ๒๕๓๙

การดูแลอาการป่วยของท่านอาจารย์กองนั้นได้สูตรมาว่า คนเป็นอัมพฤกษ์เกี่ยวข้องกับ จิตใจด้วย หากได้ญาติพี่น้องมาช่วยดูแลจะดีขึ้น ข้าพเจ้าจึงได้ไปเชิญญาติของท่านอาจารย์มานอน ด้วยคนละห้าคืน สิบคืน มาคุย มาช่วยนวด มาทำอาหารพอที่จะทำได้ และวันว่างก็พานั่งรถไปในที่ ต่าง ๆ จนอาการค่อย ๆ ดีขึ้น และเมื่อหลวงพ่อพระสุนทรธรรมวาที เจ้าอาวาสวัดโพธาราม มรณภาพ ท่านอาจารย์ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส เป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองนครสวรรค์ อายุ ท่านครบ ๘๐ ปี ก็ได้รับยกเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ เป็นที่น่าอัศจรรย์ หรือด้วยบุญ บารมีของท่านอาจารย์ ท่านจึงสุขภาพแข็งแรง จากการที่ท่านอาพาธเป็นอัมพฤกษ์มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๘ มีอายุยืนยาวมาได้ถึง พ.ศ. ๒๕๖๕ รวม ๒๗ ปี ซึ่งหลายคนพูดเป็นแนวเดียวกันว่า ท่าน อาจารย์กองคงมีชีวิตอยู่อีกไม่นาน ความดีที่ท่านทำไว้ สร้างศิษยานุศิษย์เป็นมหาเปรียญมากมาย เป็นผลบุญอันยิ่งใหญ่ส่งผลให้ท่านมีอายุยืนยาว”

หลวงพ่อกลับมาอยู่วัดโพธารามตรงกับวันเสาร์ที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๓๙ เมื่อกลับมาอยู่วัด โพธารามก็ได้ทำการดูแลอุปัฏฐากพระราชพุฒิเมธีอย่างสุดความสามารถ จนเป็นที่ยกย่องชื่นชม จากญาติและคณะสงฆ์ว่าเป็นผู้ที่ความกตัญญูเป็นเลิศ ไม่นานนักหลวงพ่อก็ได้รับแต่งตั้งเป็น อาจารย์ใหญ่โรงเรียนพระปริยัติธรรมคุณาภรณ์ประสาธน์ วัดโพธาราม แทนพระราชพุฒิเมธีซึ่ง อาพาธ

หลังจากย้ายมาอยู่วัดโพธารามได้ ๑ พรรษา และทำหน้าที่เป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียน พระปริยัติธรรมคุณาภรณ์ประสาธน์ได้ครบ ๑ ปี พระสุนทรธรรมวาที เจ้าอาวาสวัดโพธาราม และ พระเถระภายในวัดได้เห็นความรู้ความสามารถของหลวงพ่อ และมีความเหมาะสมทั้งวัยวุฒิและ คุณวุฒิจึงเสนอชื่อหลวงพ่อเป็นพระสังฆาธิการ ในตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ หลวงพ่อจึงได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดโพธาราม พระอารามหลวง และในปีเดียวกันนี้ หลวงพ่อยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบาลีเตรียมอุดมศึกษาวัด โพธาราม และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพธารามอีกด้วย

ช่วงเวลาที่หลวงพ่อดูแลบริหารโรงเรียนพระปริยัติธรรมคุณาภรณ์ประสาธน์วัดโพธาราม อยู่นั้น ได้ใช้แนวทางที่ครูบาอาจารย์รุ่นก่อน ๆ ดำเนินไว้เป็นตัวอย่าง ดูแลการจัดการเรียนการ สอนให้มีความเข้มงวด จัดครูสอนให้เหมาะสมกับชั้นเรียน แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวจำนวนพระภิกษุ สามเณรที่บวชเรียนได้ลดจำนวนลงมากกว่าตั้งแต่ครั้งที่หลวงพ่อมาอยู่วัดโพธารามใหม่ ๆ ประกอบ กับมีการเปิดสำนักเรียนบาลีขึ้นหลายแห่ง ทั้งในจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดข้างเคียง แต่ถึง กระนั้นจำนวนนักเรียกก็ไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ รูป ซึ่งถือว่าเป็นสำนักเรียนขนาดใหญ่ ช่วงก่อนสอบบาลี สนามหลวงก็จะมีการจัดอบรมบาลีก่อนสอบตามแนวทางที่พระครูวชิรปริยัติคุณเคยพาทำ นอกจากนี้ในช่วงปิดเทอมหรือหลังสอบบาลีก็ยังมีการจัดทัศนศึกษาเพื่อเป็นการผ่อนคลายและเป็นขวัญกำลังใจให้กับนักเรียน ภายใต้การสนับสนุนอย่างเต็มที่จากพระราชพุฒิเมธี เจ้าอาวาสวัดที่ ครองวัดต่อจากพระสุนทรธรรมวาทีซึ่งมรณภาพเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๑

นอกจากการรับภาระในการเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนพระปริยัติธรรมคุณาภรณ์ประสาธน์ วัดโพธารามแล้ว เมื่อหลวงพ่อกลับมาอยู่วัดโพธารามได้เพียง ๑ เดือน พระเดชพระคุณเพระเทพ ญาณโมลี (ประสิทธิ์มิตฺตธมฺโม ป.ธ. ๖) อดีตรองเจ้าคณะภาค ๔ และเจ้าอาวาสวัดนครสวรรค์ ได้ มีดำริเรื่องจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาเพื่อพระภิกษุสามเณรให้ได้รับการศึกษาชั้นสูง นอกจากการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและบาลีจึงได้ปรึกษากันภายในกับพระศรีวิสุทธิ คุณ (สฤษฏิ์สิริธโร ป.ธ. ๙) เลขานุการรองเจ้าคณะภาค ๔ และรองเจ้าอาวาสวัดนครสวรรค์ (ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่พระธรรมวชิรธีรคุณ เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์) และ พระมหา วีระ วรปญฺโญ ป.ธ. ๙ วัดโพธาราม ณ กุฏิเทพวิจิตร วัดนครสวรรค์ ช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งพระเทพญาณโมลีพิจารณาเห็นว่า พระศรีวิสุทธิคุณและพระมหาวีระ วรปญฺโญ จัก เป็นกำลังสำคัญในการบริหารจัดการการศึกษาแนวใหม่ให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองได้ และทั้งสองรูป รับปากว่าจะช่วยกันสนองงานและสานงานตามเจตนารมณ์อย่างเต็มกำลังความสามารถ
 
นอกจากการรับภาระในการเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนพระปริยัติธรรมคุณาภรณ์ประสาธน์ วัดโพธารามแล้ว เมื่อหลวงพ่อกลับมาอยู่วัดโพธารามได้เพียง ๑ เดือน พระเดชพระคุณเพระเทพ ญาณโมลี (ประสิทธิ์มิตฺตธมฺโม ป.ธ. ๖) อดีตรองเจ้าคณะภาค ๔ และเจ้าอาวาสวัดนครสวรรค์ ได้ มีดำริเรื่องจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาเพื่อพระภิกษุสามเณรให้ได้รับการศึกษาชั้นสูง นอกจากการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและบาลีจึงได้ปรึกษากันภายในกับพระศรีวิสุทธิ คุณ (สฤษฏิ์สิริธโร ป.ธ. ๙) เลขานุการรองเจ้าคณะภาค ๔ และรองเจ้าอาวาสวัดนครสวรรค์ (ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่พระธรรมวชิรธีรคุณ เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์) และ พระมหา วีระ วรปญฺโญ ป.ธ. ๙ วัดโพธาราม ณ กุฏิเทพวิจิตร วัดนครสวรรค์ ช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งพระเทพญาณโมลีพิจารณาเห็นว่า พระศรีวิสุทธิคุณและพระมหาวีระ วรปญฺโญ จัก เป็นกำลังสำคัญในการบริหารจัดการการศึกษาแนวใหม่ให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองได้ และทั้งสองรูป รับปากว่าจะช่วยกันสนองงานและสานงานตามเจตนารมณ์อย่างเต็มกำลังความสามารถ

 ต่อมามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีหนังสือที่ มจร ๐๐๑/๕๒ ลงวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๔๐ ถึงพระศรีวิสุทธิคุณ ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัด นครสวรรค์ เรื่อง แจ้งมติการประชุมสภามหาวิทยาลัย ความว่าทางสภามหาวิทยาลัย มีมติในการ ประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๔๐ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ อนุมัติให้จัดตั้งศูนย์การศึกษา ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ศูนย์การศึกษาวัดนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยจัดตั้งคณะ พุทธศาสตร์ คณะเดียวเท่านั้น ส่วนการดำเนินการในรายละเอียดต่าง ๆ ขอให้ติดต่อประสานงานที่ คณะพุทธศาสตร์

จากมติสภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นเหตุให้กำเนิด “ศูนย์การศึกษา วัดนครสวรรค์จังหวัดนครสวรรค์” โดยใช้อาคารเรียนเทพประสิทธิ์วิทยากร ตามเจตนารมณ์ของ คณะสงฆ์จังหวัดนครสวรรค์ ตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๐ เป็นต้นมา จัดการศึกษาระดับ ปริญญาตรีคณะพุทธศาสตร์สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มีนิสิตรุ่นแรก จำนวน ๔๕ รูป โดยมี พระศรีวิสุทธิคุณ (สฤษฏิ์สิริธโร ป.ธ. ๙) เจ้าอาวาสวัดนครสวรรค์และรองเจ้าคณะจังหวัด นครสวรรค์ เป็นผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ประจำศูนย์การศึกษาวัดนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ มีพระมหาวีระ วรปญฺโญ ป.ธ. ๙, พระมหาสมส่วน ปฏิภาโณ ป.ธ. ๙ (ปัจจุบันได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่พระศรีสุทธิพงศ์) และพระอดิศัย ปภสฺสโร, ดร. เป็นอาจารย์ประจำ

จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ศูนย์การศึกษาวัดนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ พระศรีวิสุทธิคุณได้รับ แต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ ส่วนหลวงพ่อก็ได้รับความเมตตาให้สนองงานด้าน การบริหารวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ โดยได้รับแต่งตั้งเป็นรองผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ ทำงานพัฒนาวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ควบคู่กับพระศรีวิสุทธิคุณมาตามลำดับ จนปัจจุบันวิทยาลัย สงฆ์นครสวรรค์ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาเขตนครสวรรค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๙ พระศรีวิสุทธิคุณ หรือในปัจจุบันคือพระธรรมวชิรธีรคุณได้รับแต่งตั้งเป็นรองอธิการบดีวิทยาเขตนครสวรรค์ ส่วน หลวงพ่อได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐

หลวงพ่อบริหารดูแลโรงเรียนพระปริยัติธรรมคุณาภรณ์ประสาธน์ วัดโพธารามได้ราว ๔ ปี ทุกอย่างลงตัวเข้าที่เข้าทางหมดแล้ว ส่วนวิทยาลัยสงฆ์นครสวรรค์ก็กำลังเริ่มพัฒนาให้เป็นระบบ หลังยกฐานะเป็นวิทยาลัยสงฆ์ได้ปีกว่า ๆ ก็มีเหตุที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตหลวงพ่ออีก ครั้ง เมื่อพระเถระผู้ใหญ่ได้มีคำสั่งให้หลวงพ่อกลับไปอยู่จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อบริหารและดูแล วัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง ซึ่งมีทั้งปูชนียสถานสำคัญและมีสำนักเรียนบาลีที่ร่วงโรยหลัง การมรณภาพของพระสิทธิวชิรโสภณ (ช่วง ปญฺญาโชโต) เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ และเจ้าคณะ จังหวัดกำแพงเพชร

อย่างไรก็ดี ผลของความทุ่มเทในการส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมและการศึกษา ระดับอุดมศึกษาของหลวงพ่อที่ทำไว้เมื่อครั้งอยู่วัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ นอกจากจะผลิต นักเรียนและบัณฑิตที่มีคุณภาพและคุณธรรมให้กับพระพุทธศาสนาและสังคมแล้ว หลวงพ่อยัง ได้รับการคัดเลือกจากคณะสงฆ์จังหวัดนครสวรรค์ให้ส่งรายชื่อเข้ารับรางวัลเสาเสมาธรรมจักร ผู้ทำ คุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา สาขาส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งหลวงพ่อก็ได้รับการ คัดเลือกในระดับประเทศ ให้เข้ารับพระราชทานเสาเสมาธรรมจักรจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราช เจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเมื่อครั้งดำรงพระยศสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีในเทศกาลวันวิสาขบูชา พ.ศ. ๒๕๔๔

แม้ว่าหลวงพ่อจะย้ายมาอยู่ที่วัดพระบรมธาตุ จังหวัดกำแพงเพชร แต่ในทุกวันที่ ๑๐ ตุลาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันมรณภาพของพระธรรมคุณาภรณ์ (เช้า ฐิตปญฺโญ ป.ธ. ๙) อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธาราม ศิษยานุศิษย์วัดโพธารามถือว่าวันนี้เป็นวันกตัญญู เป็นวันรวมพลศิษย์ เก่าวัดโพธารามประจำปีหลวงพ่อก็จะเดินทางไปร่วมงานทุกปี และภายหลังหลวงพ่อยังได้รับเลือก ให้เป็นประธานศิษย์เก่าวัดโพธารามอีกด้วย

ผู้เขียน : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ
#ติดตามอ่านต่อตอนที่  ๘
#หลวงตาเอก #วัดพระบรมธาตุนครชุม
36  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / ตอนที่ ๖ เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก” ก่อนถึงวันพร เมื่อ: มีนาคม 06, 2025, 01:47:08 pm
เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก”
ก่อนถึงวันพระราชทานเพลิงศพพระเทพวชิรเมธี,ผศ.ดร. (วีระ วรปญฺโญ)
เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร และเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง

ตอนที่ ๖: มุ่งหน้าสู่การเป็นพระมหาเปรียญธรรม ๙ ประโยค

การลงไปอยู่กรุงเทพ ฯ หลวงพ่อได้รับเมตตาจากพระราชพฤฒาจารย์ (เชียง อินฺทโชโต) ให้เข้าพักที่วัดราชบุรณะหรือวัดเลียบ พระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ที่อยู่ใกล้เชิง สะพานพระพุทธยอดฟ้า แขวงวังบูรพาภิรมย์เขตพระนคร แต่กว่าจะได้วัดเข้าพักเพื่อศึกษาเล่า เรียนนั้นก็ลำบากมาก กว่าจะได้มาอยู่วัดราชบุรณะก็ผ่านมาแล้วหลายวัด โชคดีที่มีพระครูวชิรปริยัติคุณเมตตาประสานงานกับลูกศิษย์ทางกรุงเทพ ฯ ให้ช่วยหาวัดให้ และมีพระครูวชิรปริยัติคุณ รับรองความประพฤติจึงสามารถเข้าพักที่วัดราชบุรณะได้ ดังที่หลวงพ่อบันทึกไว้ว่า

 “ท่านอาจารย์(ในที่นี้หมายถึงพระครูวชิรปริยัติคุณ) มอบหมายให้พระมหาประจวบ ฐิติสมฺปนฺโน วัดคลองเตยนอก พาข้าพเจ้าหาวัดอยู่เรียน พ.ศ. ๒๕๒๙ หาวัดยากมาก ในเกาะ รัตนโกสินทร์ เข้าสมัครทุกวัด พระมหาประจวบพาเดินมากกว่านั่งรถ ซาบซึ้งท่านมาก ท่าน อาจารย์บังคับ พระมหาสุรพล (ปัจจุบันคือรองศาสตราจารย์ ดร. สุรพล สุยะพรม) หากข้าพเจ้าหา วัดอยู่ไม่ได้ ต้องรับเข้าวัดสะพานสูง บางซื่อ จริงๆ ท่านอาจารย์อยากให้ข้าพเจ้าอยู่วัดทองนพคุณ ซึ่งฝากสามเณรวันนา ฐานโอภาส และสามเณรบุญเลิศ โคตรภัตร อยู่ได้แล้ว แต่กฎเกณฑ์ของวัด ทองนพคุณ รับพระอายุไม่เกิน ๒๕ ข้าพเจ้า ๒๖ เกินไปปีเดียว ขอเท่าไหร่ก็ไม่ได้ แม้ท่านเจ้าคุณ อาจารย์เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันจะคุ้นเคยสนิทกันตอนเป็นวิทยากรอบรมบาลีที่วัดโพ ฯ ก็เถอะ ในที่สุดก็ได้เข้าอยู่อาศัยประจำที่วัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) เชิงสะพานพุทธ ด้วยบารมีพระมหาสฤษดิ์ (ปัจจุบันคือพระธรรมวชิรธีรคุณ เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์) และพระมหามานพ (พันเอกมานพ เมืองแก้ว อนุศาสนาจารย์) ท่านอาจารย์พระมหาชุมพล รับรองประวัติและความประพฤติ”

ในการเรียนชั้นเปรียญธรรม ๕ ประโยค ที่สำนักศาสนศึกษาวัดราชบุรณะ หลวงพ่อได้รับ เมตตาจากพระมหาปรีชา อภิวณฺโณ ป.ธ. ๙ (ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นธรรมที่พระธรรมวชิรนายก และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบุรณะ และเจ้าคณะภาค ๘) เป็นครูผู้สอน และผลของความเพียรพยายามตั้งใจเรียนก็ไม่ทำให้หลวงพ่อผิดหวัง การประกาศผล สอบบาลีสนามหลวงในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ หลวงพ่อสามารถสอบไล่ได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค ซึ่ง ทำให้หลวงพ่อรู้สึกว่าการตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเลขานุการรองเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ และมุ่งหน้าเข้ามาศึกษาพระบาลีที่กรุงเทพ ฯ เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว

การลงไปใช้ชีวิตเป็นพระกรุงเทพ ฯ มีความแตกต่างจากการเป็นพระบ้านนอกโดยสิ้นเชิง หลวงพ่อบันทึกไว้ว่าเพราะได้กำลังใจและคำสอนสั่งจากพระครูวชิรปริยัติคุณ (พระมหาชุมพล) จึง ทำให้ปรับตัวอยู่ได้ ดังที่หลวงพ่อบันทึกไว้ว่า “ชีวิตพระกรุงเทพมันต่างจากพระบ้านนอกโดย สิ้นเชิง ท่านอาจารย์สอนว่าต้องอดทน เพราะเรามาเรียนไม่ใช่มาสุขสบาย โชคดีที่ข้าพเจ้าไม่ ลำบากที่อยู่ แต่ที่เรียนนั้นพอทน ออกไปเรียนนอกวัดด้วย ช่วงปีแรกท่านอาจารย์บอกให้เรียนบาลี เต็มที่อย่าทำอย่างอื่น ข้าพเจ้าบอกกับตัวเองว่าต้องเรียนเยอะ ๆ ป.ธ. ๕ ปีสอง จึงแสวงหาที่เรียน เต็มที่ เช้าเรียนที่วัดทองนพคุณ ท่านเจ้าคุณอาจารย์เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันสอน บ่ายไปเรียนวัด บพิตรพิมุข ท่านเจ้าคุณอาจารย์เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันสอน ค่ำเรียนที่วัดที่อยู่ คือวัดราชบุรณะ ท่าน เจ้าคุณเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันสอน ต่างจากอยู่วัดโพ ฯ ที่ถือหนังสือเดินเข้าโรงเรียน

ความห่วงลูกศิษย์ ท่านอาจารย์พระมหาชุมพลไปเยี่ยม ถามสารทุกข์สุขดิบหลายครั้งกลัว จะอยู่ไม่ได้ แต่พอเห็นข้าพเจ้าเรียนแบบเอาเป็นเอาตายก็ห่วงอีกแบบคือ กลัวผิดหวังมากหากสอบ ตก ข้าพเจ้าบอกให้ท่านอาจารย์สบายใจได้ การเรียนแบบเป็นอาชีพหลัก พอออกพรรษาเรียนจบ หลายรอบ พอถึงสิ้นปีใจมันอยากสอบแล้ว แต่ต้องรอจนต้นกุมภาพันธ์ อานิสงส์ดูหนังสือหนัก เรียนหนัก รางวัลคือสอบได้ในปีนั้น ท่านอาจารย์ไปรอผลสอบวันประกาศผลที่วัดเบญจมบพิตร (ปี นั้นเลขาแม่กองบาลีอยู่ที่นั่น) มีรุ่นพี่คือพระมหาอภิชาติทำงานตรงนั้นเลยได้ผลมาอย่างไม่เป็น ทางการ ท่านรีบโทรศัพท์มาบอกข้าพเจ้าอย่างรวดเร็ว ครูอยากรู้ผลสอบมากกว่าศิษย์ วันที่ข้าพเจ้า ทำให้อาจารย์ปลื้มใจที่สุด คือ ปี ๒๕๓๓ สอบได้ประโยค ๙ ท่านอาจารย์ไปควบคุมการเตรียมการ เข้ารับพัดที่วัดเลียบอยู่ ๓ วัน นี่คือหัวอกครู”

นอกจากนี้ หลวงพ่อยังเคยเล่าชีวิตความเป็นอยู่ของพระมหาบ้านนอกที่เข้าไปอยู่ในเมือง พระนครก็ต้องมีการปรับตัวเป็นธรรมดา ว่า
“ตอนเราอยู่วัดเลียบ เราก็อยู่อย่างที่รุ่นพี่ ๆ เขาอยู่มาก่อน ถึงเวลาก็ลง ทำวัตรสวดมนต์ แยกย้ายกันไปเรียนตามสำนักเรียนต่าง ๆ เย็นก็กลับมาเรียนที่วัดเลียบ แล้วก็ท่องหนังสือ สมัยนั้น แต่ละคนต่างก็มุ่งมั่นท่องหนังสือ ไม่ค่อยได้สุงสิงกันมากนัก บรรยากาศการเรียนพระบาลีที่วัด เลียบสมัยนั้นมันหาได้ยากนะในสมัยนี้ มันเรียนแบบเอาเป็นเอาตายจริง ๆ เวลาบิณฑบาตเราก็โชค ดีหน่อย มีโยมที่คอยอุปัฏฐาก เรื่องอาหารการขบฉันจึงไม่มีปัญหา ปัจจัยเงินทองก็พอได้ใช้สอยไม่ ขัดสน หลังสอบบาลีเสร็จ บางปีก็จะกลับมาวัดโพธาราม และขึ้นมาเยี่ยมญาติพี่น้องที่บ้านคุยป่ารัง รอจนใกล้ประกาศผลสอบจึงค่อยกลับลงไปลุ้นผลสอบที่วัดเลียบ”

การศึกษาเปรียญธรรม ๖ ประโยคต่อนั้น หลวงพ่อเล่าว่ามีพระมหาอดิศร ป.ธ. ๘ และ พระพรหมวชิรานุวัตร (อาทร อินฺทปญฺโญ ป.ธ.๙) เป็นครูสอน หลวงพ่อก็ยังตั้งมั่นที่จะสอบให้ผ่าน เปรียญธรรมชั้นนี้ให้ได้ เนื่องจากเป็นชั้นสูงสุดในระดับเปรียญโท แม้ในปีนี้เริ่มที่จะรับนิมนต์จาก หน่วยงานราชการและสถานศึกษาต่าง ๆ ในการบรรยายธรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและ กิจกรรมอบรมด้านคุณธรรมจริยธรรม แต่หลวงพ่อก็ได้แบ่งเวลาในการท่องจำหนังสือไม่เคยทิ้งห่าง จนสามารถสอบไล่ได้เปรียญธรรม ๖ ประโยคในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ในปีเดียวกันนี้หลวงพ่อยังได้รับ แต่งตั้งเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมประจำสำนักเรียนวัดราชบุรณะ และได้รับการแต่งตั้งเป็น กรรมการตรวจปัญหาบาลีสนามหลวง เมื่อใกล้ถึงเทศกาลสอบไล่พระบาลีหลวงพ่อยังได้ทำหน้าที่ เป็นวิทยากรอบรมบาลีก่อนสอบสนามหลวงของสำนักเรียนวัดราชบุรณะด้วย

ในระหว่างที่ศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดราชบุรณะ หลวงพ่อมักจะกลับบ้านเกิดเป็นส่วนตัว ๒ - ๓ เดือนต่อ ๑ ครั้ง ไม่เคยห่างหายไปจากบ้านเกิดที่ญาติพี่น้องที่ผูกพันเลย และอย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง คือ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ๑ ครั้ง และในช่วงวันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันจัดงาน เทศน์มหาชาติของที่พักสงฆ์คุยป่ารังอีกหนึ่งครั้ง หลวงพ่อจะพาญาติโยมจากกรุงเทพ ฯ นั่งรถตู้ ขึ้นมาด้วยครั้งละ ๒ - ๓ คัน แล้วพักที่บ้านโยมพี่สาว บางปีก็จะนำคณะผ้าป่าขึ้นมาทอดถวายที่พัก สงฆ์ แต่ปกตินั้นหลวงพ่อจะมีทุนการศึกษามาแจกนักเรียน มีข้าวของเครื่องใช้มาแจกผู้สูงอายุ มี อุปกรณ์การเรียนมาแจกนักเรียน พร้อมด้วยเครื่องไทยธรรมจำนวนมากมาถวายไว้ที่พักสงฆ์บ้าน คุยป่ารัง ทำให้หลวงพ่อเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้านคุยป่ารังเป็นอย่างมาก

ช่วงที่หลวงพ่อพำนักศึกษาพระบาลีอยู่ที่วัดราชบุรณะ ได้รับการอุปถัมภ์จากโยมเจ้าของ ร้านขายเสื้อผ้าในกรุงเทพ ฯ หลวงพ่อเคยเล่าให้ผู้เขียนฟังคร่าว ๆ ว่า “ตอนเราอยู่วัดเลียบ ถือว่า โชคดีหน่อย มีโยมเขาศรัทธามาอุปถัมภ์เราทุกอย่าง เป็นเจ้าของร้านขายเสื้อผ้าอยู่ในกรุงเทพ ฯ ชื่อร้านพรเพ็ง ชื่อโยมพรพิมล มาอุปัฏฐากดูแล ทำอาหารมาถวาย ถวายปัจจัยในการใช้สอย สมัย นั้นปัจจัยก็หายากนะ พระเณรองค์ไหนมีโยมอุปถัมภ์ก็ถือว่าโชคดีโยมแม่ของโยมพรพิมลท่านรัก เรามาก รักเหมือนลูกชายคนหนึ่งเลยก็ว่าได้สนิทสนมคุ้นเคยกันทั้งครอบครัว เวลาจะกลับบ้านคุยป่ารังแต่ละทีก็จัดหารถตู้พามา บางปีก็จะจัดเสื้อผ้าให้มาแจกชาวบ้านด้วย ถือเป็นบุญวาสนาของ เรา ตอนมาอยู่วัดโพ ฯ ทางคุณโยมก็ยังคอยช่วยเหลือเรา”

เมื่อผ่านการสอบไล่เปรียญธรรม ๖ ประโยค ก็เข้าสู่การเรียนพระบาลีในระดับที่เข้มข้นขึ้น ในระดับเปรียญเอก หลวงพ่อเดินทางมาเรียนที่สำนักเรียนส่วนกลางของคณะสงฆ์ที่วัดสามพระยา และสามารถสอบไล่ได้ทุกปีต่อเนื่องจนกระทั่งสอบไล่ได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ หลวงพ่อบันทึกเกี่ยวกับครูสอนชั้นเปรียญธรรม ๗ - ๙ ประโยคไว้ว่าประกอบด้วย พระพรหมวชิร ธีรคุณ (สมคิด เขมจารี ป.ธ. ๙), พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม ป.ธ. ๙), พระราชสิริธรรมเมธี (ป.ธ. ๙), สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ. ๙), พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ. ๙), พระราชเมธี (ป.ธ. ๘), พระมหาสถิตย์ (ป.ธ. ๙) และพระธรรมวโรดม (บุญมา คุณสมฺปนฺโน ป.ธ. ๙) เป็นต้น
ผลการสอบไล่เปรียญธรรม ๗ - ๙ ประโยค หลวงพ่อสามารถสอบไล่ได้ทุกปีต่อเนื่องตั้งแต่ เปรียญธรรม ๗ ประโยค ในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ จนถึงเปรียญธรรม ๙ ประโยค ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ผล การสอบไล่ครั้งนี้ทำให้เห็นว่าหลวงพ่อเป็นผู้มีความเพียรพยายามในการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติ ธรรมเป็นเลิศ และการสำเร็จการศึกษาเปรียญธรรม ๙ ประโยค ถือว่าเป็นระดับชั้นสูงสุดของ การศึกษาแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย พระภิกษุสามเณรผู้สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค จะ ได้รับพระราชทานพัดยศเปรียญธรรม ๙ ประโยค ซึ่งมีลักษณะเป็นพัดหน้านาง ประโยค ป.ธ. ๙ พื้นสักหลาดสีเหลืองด้ามสีขาว ปักดิ้นเลื่อมตรงกลางว่าง ไม่มีตัวเลข เมื่อเข้ารับพระราชทาน ปริญญาบัตรและพัดเปรียญในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว จะได้รับพระมหา กรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ จัดเจ้าพนักงานขับรถหลวงปลดระวาง ส่งถึงยังอาราม

หลังจากหลวงพ่อเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรและพัดเปรียญจากพระบาทสมเด็จ 
พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แล้ว ก็มีการนำปริญญาบัตร
 และพัดเปรียญธรรม ๙ ประโยค มาจัดพิธีสมโภชที่ที่พักสงฆ์คุยป่ารัง ในช่วงเวลานั้นถือเป็นงานบุญใหญ่ของหมู่บ้าน บรรดาญาติพี่น้องและชาวบ้านต่างก็เตรียมงานอย่างขะมักเขม้นด้วยความอิ่มเอมในใจ ครั้นถึงวันงานมีพระเถระผู้ใหญ่จากกรุงเทพ ฯ จากนครสวรรค์ และจากอารามต่าง ๆ ในจังหวัดกำแพงเพชร และที่คุ้นเคยกับหลวงพ่อมาร่วมงานแสดงมุทิตาจิตเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ญาติโยมจากกรุงเทพ ฯ นครสวรรค์ และชุมชนต่างๆ ก็มาร่วมกันนับพันคน ถือเป็นงานบุญใหญ่ ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่พักสงฆ์คุยป่ารังก็ว่าได้ ทำให้ชื่อของ “พระมหาวีระ” เป็นที่รู้จัก อย่างกว้างขวาง

ไม่เพียงแต่การศึกษาด้านพระปริยัติธรรมเท่านั้น ในช่วงที่ศึกษาระดับเปรียญเอก หลวงพ่อ ยังมองว่าการศึกษาทางโลกก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการศึกษาทางธรรม จำเป็นที่จะต้อง เรียนรู้ไปควบคู่กับการเรียนพระปริยัติธรรม หลวงพ่อจึงได้สมัครสอบเพื่อรับประกาศนียบัตร ประโยคครูพิเศษมัธยม (พ.ม.) ซึ่งเทียบเท่าระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ. สูง) หรือระดับอนุปริญญาของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะต้องสอบชุดวิชาบังคับได้ ๑ หมวด ชุด วิชาเลือกได้ ๕ หมวด และชุดวิชาเลือกพิเศษได้๖ หมวด ผู้ที่สอบผ่านจะได้รับการรับรองคุณวุฒิ จากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งหลวงพ่อก็สามารถสอบผ่านสำเร็จชั้นประกาศนียบัตรประโยคครู พิเศษมัธยม (พ.ม.) ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับปีที่สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค

ขณะเดียวกันก็ได้ใช้คุณวุฒิการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม. ๖) ที่สำเร็จจาก สำนักงานการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) อำเภอเมืองนครสวรรค์ เข้าสมัครเรียนต่อระดับปริญญา ตรีหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประถมศึกษา ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่ง เป็นมหาวิทยาลัยเปิด หลวงพ่ออ่านหนังสือและทบทวนความรู้ของวิชาต่าง ๆ ในแต่ละเทอมจน สามารถสอบผ่านทุกวิชาตามที่หลักสูตรกำหนด จนสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี หลักสูตรศึกษา ศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาประถมศึกษา จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในปี พ.ศ. ๒๕๓๔

ไม่เพียงเท่านี้ ในช่วงเวลาที่เรียนชั้นเปรียญเอกหลวงพ่อยังได้สมัครเข้าศึกษาต่อระดับ ปริญญาตรี หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต คณะพุทธศาสตร์ วิชาเอกศาสนา ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬา ลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพ ฯ ซึ่งขณะนั้นยังมีสถานะเป็นเพียงมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ใน พระบรมราชูปถัมภ์ จนสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เรียกกันว่า “พธ.บ. รุ่นที่ ๓๘”

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยแล้ว หลวงพ่อมีความคิดว่าคงจะไม่ลาสิกขาแล้ว แม้ว่าในช่วงเวลาก่อนหน้านี้มีครูที่สอนบาลีและเพื่อนที่ เรียนด้วยกันได้ลาสิกขาไปหลายคน ด้วยคิดว่าการศึกษาพระบาลีนั้นทำให้ชีวิตของหลวงพ่อดีขึ้น จากการเป็นเด็กเลี้ยงควายกลายมาเป็นพระมหาผู้มีความรู้ มีการศึกษา และเป็นที่ยอมรับของ บุคคลทั่วไป ดังนั้น หลวงพ่อจึงอยากที่จะอยู่ในเพศบรรพชิตเพื่อที่จะเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม ให้กับกุลบุตรผู้ที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาได้เข้ามาบรรพชาอุปสมบทและเล่าเรียนเพื่อยกฐานะ ความเป็นอยู่ของตนเองและครอบครัวให้ดีขึ้น มีอนาคตและมีทางเลือกในการประกอบอาชีพที่ หลากหลายขึ้น จึงเป็นครูสอนบาลีต่อที่วัดราชบูรณะ

หลังจากที่หลวงพ่อจากวัดราชบูรณะขึ้นไปอยู่วัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ และวัด พระบรมธาตุ จังหวัดกำแพงเพชร ในทุกวันที่ ๑๘ เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันทำบุญกตัญญู บูรพาจารย์รำลึกถึงอดีตเจ้าอาวาสและพระเถระของวัดราชบุรณะ หลวงพ่อจะเดินทางลงมาร่วม งานเป็นประจำทุกปีมิเคยขาด เพราะหลวงพ่อสำนึกในบุญคุณของพระเถระผู้เป็นครูบาอาจารย์ และสำนึกในบุญคุณของวัดราชบุรณะซึ่งเป็นทั้งสำนักเรียนและชายคาพักอาศัยจำพรรษาใน ระหว่างที่มาศึกษาต่อตั้งแต่ชั้นเปรียญธรรม ๕ ประโยค จนถึงชั้นเปรียญธรรม ๙ ประโยค และ ตั้งแต่เรียนปริญญาตรีจนจบปริญญาโท หลวงพ่อกล่าวกับผู้เขียนว่า “ที่เราได้มาเป็นเจ้าคุณ ได้มา เป็นอาจารย์ ได้เป็นมหาประโยค ๙ ส่วนหนึ่งก็เพราะบุญคุณของวัดเลียบ ที่เป็นแหล่งบ่มเพาะให้ เราเป็นผู้มีความมานะอดทนในการเรียนหนังสือ จนทำให้เราซึ่งจบแค่ ป. ๔ ได้จบประโยค ๙ และ จบด๊อกเตอร์”

ผู้เขียน : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ
#ติดตามอ่านต่อตอนที่  ๗
#หลวงตาเอก #วัดพระบรมธาตุนครชุม
37  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / ตอนที่๕เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก” ก่อนถึงวันพระร เมื่อ: มีนาคม 06, 2025, 11:44:15 am
เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก”
ก่อนถึงวันพระราชทานเพลิงศพพระเทพวชิรเมธี,ผศ.ดร. (วีระ วรปญฺโญ)
เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร และเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง

ตอนที่ ๕ : จากบ้านคุยป่ารัง สู่วัดโพธาราม เมืองปากน้ำโพ (ต่อ)
เมื่อสอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอกซึ่งถือว่าเป็นการศึกษาชั้นสูงสุดของแม่กองธรรมสนามหลวง หลวงพ่อก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระธรรมทูต จังหวัดนครสวรรค์ และการสอบไล่ได้ประโยค ๑ - ๒ ซึ่ง ถือว่าเป็นชั้นเริ่มต้นของการศึกษาพระบาลีของบาลีสนามหลวง ก็ทำให้หลวงพ่อมีความตั้งใจมุ่งมานะพยายามอ่านหนังสือและท่องหนังสืออย่างหนัก เพื่อให้สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค พระภิกษุสามเณรผู้ที่สามารถสอบไล่ได้เปรียญธรรม ๓ ประโยคก็จะได้ชื่อว่าเป็น “มหาเปรียญ” อันเป็นความใฝ่ฝันของหลวงพ่อที่จะก้าวตามรอยของหลวงอาพระมหากอง ประกอบกับใน ช่วงเวลานั้นทางครูสอนได้มีแนวคิดในการจัดอบรมบาลีก่อนสอบสนามหลวง ทำให้มีความมั่นใจ การการทำข้อสอบมากขึ้น ที่สำคัญคือ ในการสอบชั้นประโยค ๑ - ๒ ปีนั้นออกตรงกับที่พระครู วชิรปริยัติคุณ (พระมหาชุมพล) เก็งให้กับนักเรียน ทำให้หลวงพ่อมีความหวังตั้งแต่เห็นข้อสอบแล้ว ดังที่หลวงพ่อได้เขียนรำลึกถึงพระคุณของพระครูวชิรปริยัติคุณ ผู้เก็งข้อสอบในปีนั้นไว้ว่า
“จากนวัตกรรมอันยอดเยี่ยม คือโครงการอบรมบาลีก่อนสอบสนามหลวง ทำให้ผู้สอบได้ บาลีสนามหลวงของสำนักวัดโพธารามมีจำนวนมากขึ้นโดยลำดับ ในยุคนั้นสอบบาลีได้ใน สนามหลวงเริ่มเกิน ๑๐๐ รูป สูงที่สุดน่าจะเป็น ๑๕๒ รูป การอบรมบาลีก่อนสอบสนามหลวงในปี ถัดมา ท่านอาจารย์พระมหาชุมพลได้ปรับปรุงการอบรมบาลีก่อนสอบให้มีรูปแบบที่เข้มข้นมาก ยิ่งขึ้น เช่นการแข่งขันตอบปัญหา การจัดรางวัลที่แยกย่อยชั้นต่าง ๆ ออกไป การประกาศผล คะแนนที่ยั่วยุให้นักเรียนมีความมุ่งมั่นที่จะทำคะแนนให้ดีมากยิ่งขึ้นในวันต่อไป ทั้งคณะครูและ นักเรียนร่วมไม้ร่วมมือกันเป็นอย่างดีอาจารย์พระมหากองได้ขอทำงบประมาณเพิ่มมากขึ้นและ อาจารย์ใหญ่พระมหาสายติ่งก็ยินดีอนุมัติงบประมาณในการจัดการอบรมบาลีทำให้ในช่วงนั้นมีการ สอบบาลีได้มากเป็นลำดับ
ข้าพเจ้าเองเป็นนักเรียนชั้นประโยค ๑ - ๒ ดูหนังสือเรียกได้ว่าแทบจะท่องจำได้เลย เมื่อ ปิดโครงการอบรมบาลีก่อนสอบ มองดูต้นไม้ แผ่นดินเหลืองไปหมด แต่กระนั้นก็ตามอาจารย์ พระมหาชุมพลก็ยังติวเข้มในวันสอบช่วงเช้า นักเรียนนั่งล้อมวงหน้าโรงเรียนแบบสบาย ๆ นำเอา ประโยคเก็งมากระตุ้นให้นักเรียนดูหนังสือ ยังจำได้ว่าประโยค ๑ - ๒ นั้น ปีที่แล้ว ออกเรื่องมัฏฐะ กุณฑลีไปแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าท่านอาจารย์พระมหาชุมพลเก็งแม่นมาก ปีข้าพเจ้าสอบท่านก็ยังเก็ง มัฏฐะกุณฑลีต่อจากปีที่แล้วอีก มีครูหลายรูปค้านบอกเสียเวลานักเรียน (ข้อมูลนี้สามารถเปิดสถิติ การออกข้อสอบสนามหลวงประโยค ๑ - ๒ ปี ๒๕ - ๒๖ ดูได้) แต่ท่านอาจารย์ให้อาจารย์พระมหา สุเมธเป็นผู้แปลให้นักเรียนฟังเวลาเช้า ช่วงบ่ายไปสอบปรากฏว่าออกตรงตามนั้น จำได้ว่าสามเณร บุญสิน คนนครศรีธรรรมราช ปัญหาตรงจนเหงื่อออกมือสั่น เวลาผ่านไปหนึ่งชั่วโมงยังเขียนไม่ได้ เลย”
ด้วยความที่หลวงพ่อเป็นผู้มีความจำเป็นเลิศประกอบกับความเพียรพยายามในการท่องจำ บาลีไวยากรณ์ รวมไปถึงการได้รับการสอนที่เข้มงวดจากพระมหาจรัญ วิจารณเมธี ป.ธ. ๙ และ พระมหาสุเมธ ป.ธ. ๗ ซึ่งเป็นครูสอนเปรียญธรรม ๓ ประโยคของสำนักศาสนศึกษาวัดโพธาราม ทำให้หลวงพ่อสามารถสอบไล่ได้เปรียญธรรม ๓ ประโยคในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ นับว่าบรรลุความตั้งใจในขั้นต้นของหลวงพ่อ นำมาซึ่งความภาคภูมิใจและปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งของโยมบิดาและญาติพี่ น้อง หลวงพ่อเล่าว่า “ในการสอบประโยค ๓ ปีนั้น เราออกจากห้องสอบด้วยความมั่นใจอย่างมาก ว่ายังไงก็ต้องสอบผ่านแน่ เพราะมันใกล้เคียงกับที่พระอาจารย์เก็งข้อสอบให้ และเราก็ท่องได้จน ขึ้นใจ พอผลสอบออกมาเรานี่ดีใจจนน้ำตาไหล ในที่สุดก็สามารถเป็นพระมหาได้แล้ว ภาพโยมพ่อ โยมแม่นี่ลอยมาเลย ตอนนั้นอยากให้ได้ยินข่าวดีมากเลย แต่การสื่อสารมันก็ลำบาก รีบเขียน จดหมายส่งไปคุยป่ารังทันที”
ปีนั้นหลวงพ่อได้เข้ารับพระราชทานใบประกาศนียบัตรและพัดยศเปรียญธรรม ๓ ประโยค จากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวราลงกรณ เมื่อครั้งดำรงพระยศสมเด็จพระอริยวงศา คตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นประธาน เมื่อรับพัดเปรียญธรรม ๓ ประโยคแล้ว ก็นำพัดยศกลับมาฉลองสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ ณ ที่พักสงฆ์ คุยป่ารัง นำมาซึ่งความปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่งของญาติพี่น้องและชาวบ้านคุยป่ารังที่มีพระมหา เป็นชาวบ้านคุยป่ารังถึง ๒ รูปด้วยกัน
การสอบไล่ได้เปรียญธรรม ๓ ประโยค ทำให้หลวงพ่อมีความเพียรพยายามเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะความมุ่งมั่นตั้งใจว่า “เราจะต้องเป็นพระมหาเปรียญธรรม ๙ ประโยคให้ได้” จึงตั้งใจ ท่องตำราของหลักสูตรชั้นเปรียญธรรม ๔ ประโยค โดยมีพระมหาสายติ่ง ฐิตสจฺโจ ป.ธ. ๘ ซึ่งเป็น อาจารย์ใหญ่ของสำนักศาสนศึกษาวัดโพธารามเป็นครูสอนเปรียญธรรม ๔ ประโยค ทั้งยังได้รับ ความเมตตาจากพระมหาสมคิด เขมจารี ป.ธ. ๙ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ พระอารามหลวง กรุงเทพ ฯ (ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่พระพรหมวชิร ธีรคุณ และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ และเจ้าคณะภาค ๑๑) ซึ่งขณะนั้นขึ้นมาช่วยสอนบาลีในการอบรมบาลีก่อนสอบสนามหลวงที่สำนักเรียนวัดโพธารามพอดี ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ของหลวงพ่อ ในที่สุดผลการสอบไล่บาลีสนามหลวงประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ก็ปรากฏว่า พระมหา วีระ วรปญฺโญ พรรษา ๕ วัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ สามารถสอบไล่ได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค
ช่วงที่หลวงพ่อเรียนชั้นเปรียญธรรม ๔ ประโยค ยังได้รับโอกาสจากผู้บริหารโรงเรียน พระปริยัติธรรมคุณาภรณ์ประสาธน์ให้เป็นครูผู้สอนบาลีด้วยเป็นกรณีพิเศษ โดยการนำเสนอของ พระครูวชิรปริยัติคุณ (พระมหาชุมพล) ดังปรากฏในบันทึกของหลวงพ่อว่า
“ข้าพเจ้าจำได้ว่า ในปีที่สอบได้ ป.ธ. ๓ นั้น ตามภูมิรู้และระเบียบคณะครู จะได้บรรจุสอน เพียงโรงเรียนสัตตาหศึกษาวันอาทิตย์เท่านั้น ส่วนโรงเรียนพระปริยัติธรรมจะยังไม่สามารถบรรจุ สอนได้ เนื่องจากยังไม่ได้ ป.ธ. ๔ แต่ท่านอาจารย์พระมหาชุมพล ได้เสนอในที่ประชุมว่าให้บรรจุ พระมหาวีระสอนบาลีด้วย เพราะมีความรู้ความสามารถ ข้าพเจ้าจึงได้สอนบาลีตั้งแต่ปีที่สอบได้ ป.ธ. ๓ เพราะอาศัยเมตตาท่านอาจารย์ รุ่นแรกที่ข้าพเจ้าสอน พอจำได้คือ พระมหาสุพรต (ปัจจุบันคือรองศาสตราจารย์ ดร.สุพรต บุญอ่อน) ได้ถึง ป.ธ. ๗ ดร. สนั่น กัลปา ได้ถึง ป.ธ. ๗ พระมหาแสง ได้ถึง ป.ธ. ๙ พระมหาอนันต์ ได้ถึง ป.ธ. ๕ พระมหานิโครธ ได้ถึง ป.ธ. ๖ ฯลฯ ศิษย์ ที่ข้าพเจ้าสอนทุก ๆ รุ่นก็ขอให้นับถืออาจารย์พระมหาชุมพลเป็น “อาจารย์ปู่” ด้วย”
ในระหว่างนี้ หลวงพ่อยังได้นำวุฒิบัตรนักธรรมชั้นเอก ซึ่งเทียบวุฒิการศึกษาเท่ากับชั้น มัธยมศึกษาตอนต้น (ม. ๓) ไปสมัครเรียนต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่สำนักงานการศึกษา นอกโรงเรียน (กศน.) อำเภอเมืองนครสวรรค์เพื่อให้สำเร็จการศึกษาในระดับสูงขึ้น และในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ หลวงพ่อก็สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม. ๖) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความ พยายามในการศึกษาเล่าเรียนให้ควบคู่กันทั้งทางโลกและทางธรรม
ด้วยความทุ่มเทในการศึกษาบาลีของหลวงพ่อ ทำให้หลวงพ่อได้รับคำชมจากครูผู้สอนมา โดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพระครูวชิรปริยัติคุณ (พระมหาชุมพล) ซึ่งมักจะชมหลวงพ่ออยู่ เสมอ เมื่อครั้งผู้เขียนมาอยู่วัดพระบรมธาตุท่านพระครูวชิรปริยัติคุณยังพูดชมหลวงพ่อเมื่อครั้งที่ยัง เรียนบาลีที่วัดโพธารามให้ฟังอยู่เสมอ ในหนังสือคิดถึงพระมหาชุมพล เขมปญฺโญ ป.ธ. ๖ หลวงพ่อ ได้บันทึกเกี่ยวกับคำชมของพระครูวชิรปริยัติคุณไว้ว่า
“ส่วนตัวข้าพเจ้าเอง ท่านอาจารย์ก็ชมอยู่บ้าง เช่น เจ้าคุณราช ฯ ตอนเรียนบาลี ลักษณะ การเรียนไม่ได้มุ่งสอบได้ แต่มุ่งเป็นครูสอนบาลีเลย ยังนึกชื่นชมท่านอาจารย์ท่านลึกซึ้งจริง ๆ หากจะถามข้าพเจ้าก็พูดแบบนั้นเหมือนกัน เพราะใหม่ๆ รักศรัทธาบาลีมาก ยิ่งได้ท่านอาจารย์พระ มหาชุมพลเอาจริงเอาจังแบบนี้ด้วยแล้ว ขอเรียนแบบถวายชีวิตเลย”

เมื่อสอบไล่ได้เปรียญธรรม ๔ ประโยคแล้ว หลวงพ่อเล่าว่า ในเวลานั้นได้รับตำแหน่ง เลขานุการโรงเรียนสัตตาหศึกษาวันอาทิตย์ (คือโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดโพธาราม) ซึ่งมีนักเรียนจำนวนมากมาเรียนทุกวันอาทิตย์ การควบคุมดูแลนักเรียนและทำงานเอกสารต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องทุ่มเทเป็นอย่างมาก ทำให้หลวงพ่อต้องแบ่งเวลาทั้งการท่องพระบาลีในการเรียนต่อ เปรียญธรรม ๕ ประโยค และการเรียน กศน. มาให้กับการทำงานเลขานุการรองเจ้าคณะจังหวัด
ไม่เพียงเท่านี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ นี้ เจ้าอาวาสและผู้บริหารสำนักศาสนศึกษาวัดโพธาราม ยังเห็นว่าหลวงพ่อเป็นผู้มีความรู้ความสามารถทางการศึกษาพระปริยัติธรรม สามารถสอบได้ นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม ๔ ประโยคแล้ว จึงมอบหมายให้หลวงพ่อเป็นครูสอนพระปริยัติ ธรรมทั้งแผนกธรรมและแผนกบาลีประจำสำนักศาสนศึกษาวัดโพธาราม โดยหลวงพ่อได้สอนนักธรรมชั้นโท - เอก และชั้นเปรียญธรรม ๓ ประโยค นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ยังได้รับการ แต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจปัญหาธรรมสนามหลวง
การที่หลวงพ่อได้รับภาระงานที่มากขึ้นดังกล่าวมานี้ แสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถ ของหลวงพ่อที่ทางเจ้าอาวาสและพระเถระภายในวัดโพธารามเล็งเห็น และหลวงพ่อก็ปฏิบัติงาน ตามที่ได้รับแต่งตั้งหรือได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ไม่มีบกพร่อง แต่ทว่าการทำงานที่มากขึ้นควบคู่ กับการเรียนเปรียญธรรม ๕ ประโยค ซึ่งมีพระมหาสายติ่ง ฐิตสจฺโจ ป.ธ. ๘ เป็นผู้สอนทำได้ไม่เต็ม เม็ดเต็มหน่วยเหมือนตอนที่เรียนเปรียญธรรม ๔ ประโยค เวลาในการท่องจำหนังสือก็น้อยลง จึง ทำให้ในการสอบไล่เปรียญธรรม ๕ ประโยคในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ หลวงพ่อสอบตก ทำให้ท่านรู้สึก เสียใจเป็นอย่างมาก
การสอบตกเปรียญธรรม ๕ ประโยคเป็นสาเหตุที่ทำให้หลวงพ่อเลือกตัดสินใจเดินทางลง ไปศึกษาพระบาลีที่กรุงเทพ ฯ หลวงพ่อบันทึกไว้ว่า “สาเหตุที่ย้ายเพราะปี ๒๘ - ๒๙ ข้าพเจ้าเรียน ป.ธ. ๕ และรับตำแหน่งเลขานุการโรงเรียนสัตตาหศึกษาวันอาทิตย์ บ้างาน เรียนน้อย ผลปรากฏ ว่า สอบตก ใจหวิวเลย ตัดสินใจเข้ากรุงเทพ มุ่งประโยค ๙”

ผู้เขียน : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ
#ติดตามอ่านต่อตอนที่  ๖
#หลวงตาเอก #วัดพระบรมธาตุนครชุม
38  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / ตอนที่ ๔ เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก” ก่อนถึงวันพร เมื่อ: มีนาคม 06, 2025, 11:42:25 am
เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก”
ก่อนถึงวันพระราชทานเพลิงศพพระเทพวชิรเมธี,ผศ.ดร. (วีระ วรปญฺโญ)
เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร และเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง

ตอนที่ ๔ : จากบ้านคุยป่ารัง สู่วัดโพธาราม เมืองปากน้ำโพ
วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นวันที่หลวงพ่อได้เดินทางออกจากที่พักสงฆ์คุยป่ารัง บ้านคุยป่ารัง พร้อมด้วยพระราชวุฒิเมธีมาพำนักที่วัดโพธาราม ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ พระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญที่อยู่กลางตัวเมืองนครสวรรค์ วัตถุประสงค์การออกเดินทางมาอยู่ที่วัดโพธารามในครั้งนี้ ถือเป็นการตัดสินใจออกจากบ้านเป็น เวลานานครั้งแรกของหลวงพ่อ เพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรมนำมาซึ่งคำว่า “พระมหา” ซึ่งในสมัย นั้นถือว่า “ดูดี” เป็นอย่างมากสำหรับคนบ้านนอก และเมื่อเดินทางมาถึงวัดโพธารามก็ได้รับคำ ทักทายที่กลายเป็นคำปลุกใจจากพระมหาชุมพล เขมปญฺโญ ป.ธ. ๖ (ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่พระครูวชิรปริยัติคุณ) ครูสอนบาลีวัดโพธาราม ซึ่งหลวงพ่อนับถือว่าเป็นครูสอนบาลีรูปแรก ดังปรากฏในหนังสือคิดถึงพระมหาชุมพล เขมปญฺโญ ป.ธ. ๖ ว่า
“จากอดีต ข้าพเจ้าเข้าเรียนบาลี ณ สำนักเรียนบาลีวัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ โดยการนำพาของพระมหากอง ติกฺขวีโร (พระราชพุฒิเมธี เจ้าอาวาสวัดโพธาราม ปัจจุบัน) อาจารย์ท่านแรกที่พบคือ พระมหาชุมพล ร่างเล็ก ผอมสูง ทักทายอย่างกัลยาณมิตรว่า ท่านมาจากไหน กราบเรียนท่านไปว่า บ้านเดียวกับอาจารย์มหากอง คำแรกที่ชื่นใจที่สุด คือ โอ๊ย ! งี้เป็นมหาแน่นอน เหมือนน้ำมนต์รดใจเลย เพราะมุ่งมั่นอยากเป็นมหา คำพูดที่ปลุกใจแบบนี้ พระบ้านนอกมันรู้สึกอบอุ่นมาก อยากเรียนบาลีขึ้นมาอีกมากทีเดียว”
เมื่อหลวงพ่อเข้าพำนักยังวัดโพธารามก็ได้รับความเมตตาเป็นอย่างดีจากท่านเจ้าอาวาส และได้รับการดูแลอย่างดีจากพระราชวุฒิเมธีซึ่งขณะนั้นเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม - บาลีสำนักศาสนศึกษาวัดโพธาราม หลวงพ่อได้บันทึกความทรงจำของชีวิตช่วงที่มาอยู่วัดโพธาราม ใหม่ ๆ ในข้อความที่หลวงพ่อเขียนรำลึกพระคุณของพระราชวุฒิเมธี ว่า
“เมื่อมาอยู่วัดโพ ฯ ปี ๒๓ เป็นช่วงที่ท่านอาจารย์กองสอบได้ ป.ธ. ๖ แล้ว ท่านให้ข้าพเจ้า อยู่ที่ตึกสี่ชั้น ชั้นที่สาม ห้องเดียวกับหลวงพี่บุญมี ปญฺญาทีโป (ตันใจ) คนกำแพงเพชรเหมือนกัน บ้านอยู่แถว ๆ มอกล้วยไข่ ท่านคงเห็นว่าหลวงพี่บุญมีซึ่งเป็นพระเก่งบาลีมาก กำลังเรียนชั้น ป.ธ. ๓ ช่วยให้ข้าพเจ้าเก่งบาลีตาม ในยุคนั้นท่านอาจารย์มหากองทำหน้าที่หลายอย่างมาก ครูบา อาจารย์และนักเรียนให้ความเคารพนับถือมาก ข้าพเจ้าเข้ามาเห็นปฏิปทาของท่านพร้อมทั้งได้เห็น ความเคารพนับถือของคณะครูและนักเรียนจึงเกิดความภาคภูมิใจอย่างมาก จึงมีหลวงอาเป็น ไอดอลเสมอมา”
หลังจากที่หลวงพ่อเดินทางลงไปพักอยู่ที่วัดโพธารามไม่นานนัก ก็ทราบข่าวจากทางบ้าน ว่าโยมบิดาป่วยหนัก ทางลูกหลานได้นำส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดตาก และได้ส่งรถลงมารับหลวงพ่อกลับไปที่บ้านคุยป่ารัง แต่ปรากฏว่าโยมทวี ภูมิเมือง โยม บิดาของหลวงพ่อได้ถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ด้วยโรคไตวาย สิริอายุ ๕๓ ปี ซึ่งถึงแก่กรรมใน ขณะที่ยังดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน หลวงพ่อก็ได้ขึ้นไปจัดการงานศพของโยมพ่อจนเสร็จเรียบร้อย จึงเดินทางกลับมาศึกษาต่อที่วัดโพธาราม
เพื่อไม่ให้เป็นการเสียความตั้งใจและเสียหน้าของพระราชวุฒิเมธีผู้เป็นหลวงอา หลวงพ่อ ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมจนสามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นโทในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ และ สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอกในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ในนามสำนักเรียนคณะจังหวัดนครสวรรค์ในบันทึก ส่วนตัวของหลวงพ่อที่เกี่ยวเนื่องด้วยวันครู ๑๖ มกราคมของทุกปี หลวงพ่อเขียนรำลึกพระคุณของ พระอาจารย์ผู้สอนวิชานักธรรมชั้นโทและชั้นเอกไว้ว่า “พระมหาบุญช่วย ป.ธ. ๔ ครูสอนนักธรรมชั้นโท พระมหาจำเนียร ป.ธ. ๔ ครูสอนนักธรรมชั้นเอก” ซึ่งทุก ๆ ปี หลวงพ่อไม่เคยลืมที่จะแชร์ ข้อมูลนี้ในเฟสบุ๊ก (Facebook) ส่วนตัวของท่านเพื่อรำลึกพระคุณของครูผู้ให้ความรู้ตั้งแต่ระดับชั้น ประถมศึกษาจนกระทั่งสำเร็จการศึกษาเปรียญธรรม ๙ ประโยค
หลวงพ่อได้บันทึกบรรยากาศการเรียนบาลีที่วัดโพธารามเมื่อครั้งที่หลวงพ่อมาอยู่ใหม่ไว้ว่า
ข้าพเจ้าเรียนบาลีห้อง ก. ถือเป็นห้องคิงของสำนักเรียนวัดโพธารามเลย อาจารย์พระมหา จารึก สอนช่วงเช้า อาจารย์พระมหาชุมพลสอนช่วงบ่าย ก็น่าจะหลับนะช่วงนี้ แต่อย่านะ เสียงดัง ขู่ ดุ ข้าพเจ้าโดนเช่นกัน เช่น ปาแก้วเฉียดหัว ถามว่าอาจารย์โหดไหมสอนบาลี ตอบว่า ไม่ เพราะ ท่านเล็งไม่ให้ถูกลูกศิษย์อยู่แล้ว เทคนิคการสอนจะไม่เหมือนใครตรงที่ ถ้านักเรียนติดศัพท์หรือ ประโยคใด อาจารย์จะไม่มีทางบอกตรงๆเด็ดขาด ท่านจะถามอ้อมไปอ้อมมา ตีศัพท์แหลกละเอียด จำได้ว่า ให้พระเปีย (ชื่อจริงคือ บุญมี ปัจจุบัน พระครูโสภณปุญญวัชร เจ้าอาวาสวัดศรีไพศาล) แปลบาลี ท่านอาจารย์เรียกชื่อ เปีย เปีย เปีย จนดังลั่น แล้วเริ่มอธิบายแกะศัพท์ออกมาทีละเรื่อง เช่น กาเรติ ย่อมยังบุคคลให้กระทำ คำแรกที่ถามคือ เป็นศัพท์อะไร (นาม กิริยา อัพยยศัพท์ ฯลฯ) พอได้แล้วจะเริ่มกระจายศัพท์ออกให้เห็นรากศัพท์แท้จนนักเรียนเข้าใจถ่องแท้ ว่า ย่อม มาจากตัว ไหน ยังบุคคล มาจากอะไร ให้ มาจากวาจกอะไร กระทำออกมาจากไหน บางวัน สอนได้บรรทัด เดียว หมดเวลา
ปีแรกที่เรียนบาลีไวยากรณ์ พระมหาฉลอม กาญฺจนธโร ป.ธ. ๔ (อาจารย์ฉลอม ทีสี) เป็น ผู้สอนมูล ๑ นาม ข้าพเจ้ายังจับทิศทางไม่ถูก คะแนนสอบนั้น ท่องแบบ ๑๐๐ คะแนน ข้อเขียน ๑๐๐ คะแนน เรียนครบเดือนต้องสอบวัดผลเลื่อนชั้น สอบข้อเขียนข้าพเจ้าได้ ๑๐๐ เต็ม แต่สอบ แบบ อาจารย์พระมหาชุมพล บอกว่า พระวีระท่องแบบจบนานแล้ว ต้องให้มหานันทชัย (อาจารย์ นันทชัย เมฆี) เป็นกรรมการสอบ (ช่วงนั้น พระมหานันทชัย คือมือปราบเซียน โหดสุด ๆ) ปรากฏ ว่า สอบได้ ๙๘ คะแนน ยังแค้นใจไม่หาย แค่หยุดกลืนน้ำลายแป๊บเดียว ถูกตัดไป ๒ คะแนน ทำให้ มูล ๑ สอบได้ที่ ๓ ผู้ที่ได้ที่ ๑ คือ สามเณรอำนาจ ใดจิ๋ว ตัวเล็กนิดเดียว ผูกใจไว้เลยว่า จะไม่ยอม เณรตัวเล็กได้ที่ ๑ อีกต่อไป มูล ๒ ถึง มูล ๘ เลยได้ที่ ๑ ตลอด
พึ่งรู้ทีหลังว่า อาจารย์พระมหาชุมพล ท่านดูอุปนิสัยข้าพเจ้าแล้วว่า ต้องเล่นแบบนี้จึงจะ ไปถึงฝั่ง จึงให้มหานันทชัยตัดคะแนน ๒ คะแนน ถือว่า ๒ คะแนนนี้จริง ๆ ที่ทำให้ข้าพเจ้ามาถึงฝั่ง แห่งประโยค ป.ธ. ๙
ในยุคการเรียนบาลี/นักธรรมที่สำนักเรียนวัดโพธาราม นครสวรรค์ ช่วงประโยคต่ำ ๆ จะมี การแข่งขันการเรียนกันสูงมาก บรรยากาศเหล่านี้เกิดจากท่านอาจารย์พระมหาชุมพลพร้อมด้วย คณะครูได้จัดขึ้น โดยเฉพาะการสอบสนามวัดก่อนออกพรรษา นักธรรมชั้นตรี โท เอก บาลี ประโยค ๑ – ๒, ป.ธ. ๓, ป.ธ. ๔, ป.ธ. ๕ ทำให้นักเรียนดูหนังสือกันหนักมาก เพื่อชิงรางวัลในสนามวัด มีรายการรางวัลให้ชิงมากมาย เช่น รางวัลไม่ขาดเรียนทั้งนักธรรม/บาลี รางวัลที่ ๑, ๒, ๓ ชมเชย ประจำห้อง ก ข ค ง และรางวัลที่ ๑, ๒, ๓ ชมเชย ประจำสนามวัด รางวัลก็ไม่ใช่เป็นเงิน แบบปัจจุบันนี้ ส่วนมากจะเป็นกระเป๋า แฟ้ม ปากกาดีๆ หรือของใช้ วันประกาศผลจะเป็นวันก่อน ออกพรรษาหนึ่งวัน ทั้งนักเรียนทั้งครูสอนตื่นเต้นกันมาก เพราะทีมงานประกาศผลจะปกปิดเป็น ความลับมาก เรื่องสร้างบรรยากาศลุ้นสนุกแบบนี้ออกมาจากความคิดของท่านอาจารย์พระมหา ชุมพล และคณะครูในยุคนั้น
ปีที่เรียนประโยค ๑ - ๒ นั้นจะเรียนนักธรรมเอกคู่ไปด้วย ดังนั้น รางวัลไม่ขาดเรียนทั้ง บาลีทั้งนักธรรมก็เป็นของข้าพเจ้า รางวัลที่ ๑ นักธรรมเอก รางวัลที่ ๑ ประโยค ๑ - ๒ ห้อง ก. และที่ ๑ สนามวัด ก็เป็นของข้าพเจ้า กวาดทุกรางวัล ๑ ทั้งหมด อาจารย์พระมหาสุเมธ ป.ธ. ๗ ยัง บ่นเลยว่า ท่านเป็นพระไม่แบ่งรางวัลให้เณรบ้าง ท่านอาจารย์พระมหาชุมพลท่านเป็นเจ้าภาพ ถวายน้ำปานะเลี้ยงรางวัลที่ ๑ ทั้งห้อง ให้กำลังใจอย่างมาก ประทับใจไม่รู้ลืม ยุคสมัยการกระตุ้น ให้เรียนนักธรรมบาลีมันเปลี่ยนไปไกลแล้ว ”
ในระหว่างที่เรียนนักธรรมชั้นเอกกับพระมหาจำเนียร ป.ธ. ๔ หลวงพ่อก็ยังได้มุ่งมั่นที่จะ ศึกษาพระบาลีควบคู่กันไปด้วย เพื่อสานฝัน “พระมหา” โดยในการศึกษาบาลีประโยค ๑ - ๒ นั้น ได้รับความเมตตาจากพระมหาชุมพล เขมปญฺโญ ป.ธ. ๖ (ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่ พระครูวชิรปริยัติคุณ) และพระมหาจารึก ป.ธ. ๖ เป็นครูสอนบาลีประโยค ๑ - ๒ ทั้งยังมีพระราช วุฒิเมธีป.ธ. ๖ พระมหาฉลอม กาญฺจนธโร ป.ธ. ๔ และพระมหาบุญเหลือ ป.ธ. ๔ เป็นครูสอนบาลี ไวยากรณ์ จึงทำให้สามารถสอบไล่ได้ประโยค ๑ - ๒ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ พร้อมกับนักธรรมชั้นเอก

ผู้เขียน : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ
#ติดตามอ่านต่อตอนที่  ๕
#หลวงตาเอก #วัดพระบรมธาตุนครชุม
39  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / ตอน๓ เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก” ก่อนถึงวันพระราช เมื่อ: มีนาคม 06, 2025, 11:40:19 am
เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก”
ก่อนถึงวันพระราชทานเพลิงศพพระเทพวชิรเมธี,ผศ.ดร. (วีระ วรปญฺโญ)
เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร และเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง

ตอนที่ ๓ : บวชแล้วเรียน เปลี่ยนชีวิต
หลวงพ่อ หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ซึ่งเป็นระดับชั้นการศึกษาสูงสุดของ โรงเรียนบ้านคุยป่ารังในขณะนั้น หลวงพ่อก็ไม่ได้เรียนต่อทั้งที่ในใจอยากเรียนต่อมาก จบชั้น ประถมศึกษาปีที่ ๔ โยมบิดาก็ให้บรรพชาเป็นสามเณรอยู่กับหลวงปู่เหที่ที่พักสงฆ์คุยป่ารังเป็นเวลา ๑ พรรษา ในระหว่างนั้นพระมหากอง ติกฺขวีโร วัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ (ต่อมาได้รับ พระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่พระราชพุฒิเมธี) ซึ่งเป็นชาวบ้านคุยป่ารังและมีศักดิ์เป็นญาติของ หลวงพ่อ ซึ่งหลวงพ่อเรียกพระมหากองว่า “หลวงอา” ได้กลับมาเยี่ยมบ้าน และชวนหลวงพ่อ ขณะที่เป็นสามเณรไปเรียนพระบาลีที่วัดโพธาราม แต่มีเหตุขัดข้อง เนื่องจากโยมบิดากังวลเรื่อง การบิณฑบาตอาจจะไม่เพียงพอ เกรงว่าสามเณรลูกชายจะฉันไม่อิ่ม ทำให้หลวงพ่อไม่ได้เดินทางไป อยู่วัดโพธาราม ดังปรากฏในข้อความที่หลวงพ่อเขียนรำลึกพระคุณของพระเดชพระคุณพระราช วุฒิเมธี (กอง ติกฺขวีโร) ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ฯ ว่า “จริง ๆ แล้ว ข้าพเจ้าน่าจะได้มาอยู่วัดโพธาราม ตั้งแต่จบการศึกษาชั้น ป. ๔ แล้ว เพราะ ท่านอาจารย์กองไปเยี่ยมบ้านหลังสงกรานต์ตามปกติที่ท่านทำมา และก็มารับข้าพเจ้าไปเรียน พระบาลีตอนเป็นสามเณร แต่มีเหตุที่ไม่ได้มา ท่านอาจารย์กองจึงบอกว่าพร้อมเมื่อไหร่ค่อยไป เรียน” เมื่อลาลิกขาจากสามเณร หลวงพ่อก็ช่วยงานโยมบิดาและพี่ ๆ ในการทำการเกษตรกรรม หน้าที่หลักของหลวงพ่อก็คือ เลี้ยงควาย ในช่วงฤดูแล้งก็จะนำควายออกมาเลี้ยงตามท้องไร่ท้องนา แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าฝนก็จะลำบากหน่อย ต้องนำควายเข้าไปเลี้ยงในป่าบนเขากำโปงซึ่งอยู่ใกล้กับที่ นาของครอบครัว โดยจะมีชาวบ้านรวมกลุ่มกันนำควายขึ้นไปเลี้ยงด้วยกัน ตัดไม้มาล้อมรั้วทำเป็น คอกชั่วคราว ส่วนคนก็ทำเป็นห้างเล็ก ๆ ยกพื้นมุงหลังคาพอได้กันฝน เรียกว่า “ปางควาย” พักอยู่ ที่ปางควายเป็นเวลา ๒ - ๓ วันก็จะกลับเข้ามาในหมู่บ้านครั้งหนึ่งเพื่อขนเอาเสบียงอาหารขึ้นไป ซึ่งคนที่ปางควายก็จะเปลี่ยนสลับกันเฝ้าควายอยู่อย่างนี้จนถึงเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ จึงจะนำควาย กลับลงมากินหญ้ากินฟางที่ทุ่งนา หลวงพ่อก็เลี้ยงควายอยู่อย่างนี้ตั้งแต่อายุราว ๑๒ ปี จนถึงเกณฑ์ ทหาร หลวงพ่อเคยไปแสดงธรรมเทศนาที่งานศพญาติคนหนึ่งที่หมู่บ้านวังควงเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๖ ขณะนั้นผู้เขียนได้มีโอกาสติดตามได้ด้วย ในส่วนหนึ่งของการเทศนาหลวงพ่อได้เล่าถึงประวัติของ ตนเองในช่วงก่อนที่จะอุปสมบทว่า “อาตมาเนี่ย แต่ก่อนก็เลี้ยงควายอยู่แถวนี้ ทำไงได้ล่ะ ก็มันจบแค่ ป.๔ จะเรียนต่อก็ไม่ได้ น้องก็มีอีกตั้งหลายคน จะไม่เลี้ยงควายก็ไม่ได้ ก็เพราะมันมีคนแถวนี้คนหนึ่งหัวหมอ ออกเรือน แต่งงานไปก่อน (พูดแล้วก็หัวเราะเบา ๆ) อาตมาก็เลยต้องรับภาระเลี้ยงควาย คนโตเขาก็ต้องใช้ แรงงานทำนา คนเล็กก็สบาย แต่อาตมาเป็นลูกคนกลาง ๆ ก็เลยต้องเลี้ยงควาย แต่โชคดีว่ามี โอกาสได้บวช ได้เข้ามาอาศัยบวรพระพุทธศาสนา จึงทำให้ได้มีการศึกษาที่สูงขึ้น ใครจะไปคิดว่า จากเด็กเลี้ยงควายบ้านคุยป่ารังในวันนั้น จะได้มาเป็นเจ้าคุณราช ฯ ในวันนี้  แม้แต่ตัวอาตมาเอง ก็ไม่เคยคิดมาก่อน เนี่ยเห็นไหมว่าการบวชเรียนเขียนอ่านมันดียังไง” เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื่องจากโยมมารดาของหลวงพ่อได้ป่วย เป็นโรคมะเร็งกระดูก โยมบิดาและลูก ๆ ได้พาไปรักษาที่โรงพยาบาลพรานกระต่ายและรักษาด้วย วิธีต่าง ๆ เป็นเวลานานกว่า ๙ เดือน ใช้ทุนทรัพย์ในการรักษาโรคเป็นจำนวนมาก ทำให้โยมบิดา ต้องขายควายที่มีอยู่เกือบ ๕๐ ตัว จนเหลืออยู่ไม่ถึง ๑๐ ตัว เพื่อนำเงินมาจ่ายเป็นค่ารักษาโรค แต่ ก็ไม่สามารถยื้อชีวิตโยมมารดาของหลวงพ่อเอาไว้ได้ ทำให้โยมบาง ภูมิเมือง ผู้เป็นโยมมารดาของ หลวงพ่อถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งกระดูกในปีต่อมา ทำให้หลวงพ่อมีความรู้สึกเศร้าเสียใจเป็น อย่างมาก
หลวงพ่อเล่าให้ฟังว่าก่อนที่จะอุปสมบทท่านก็ใช้ชีวิตอย่างวัยรุ่นชาวบ้านทั่วไป เวลามีงาน บุญประจำปีของหมู่บ้านข้างเคียงก็จะไปเที่ยวงาน เต้นรำวง สนุกสนานเฮฮากับเพื่อนฝูง แต่ท่านไม่ ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ ก่อนที่จะอุปสมบทหลวงพ่อเล่าว่าท่านมีสาวคนรักอยู่คนหนึ่ง เป็นหญิงสาวใน หมู่บ้านเดียวกัน อายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ช่วงกลางวันก็จะไปเลี้ยงควายด้วยกันพร้อมกับคนอื่น ๆ หมายมั่นว่าจะแต่งงานเป็นคู่ชีวิต แต่ก็ไม่ได้มีอะไรเกินเลยต่อกัน เพราะค่านิยมสมัยนั้นต้องบวช ก่อนที่จะเบียดจึงจะถือว่าเป็นลูกผู้ชาย หลวงพ่อจึงพูดได้อย่างเต็มอกว่า “เราครองพรหมจรรย์มา ทั้งชีวิต”
บุคคลที่หลวงพ่อกล่าวถึงคือ ลุงสังวร ภูมิเมือง พี่ชายคนโตของหลวงพ่อ ซึ่งนั่งฟังพระธรรมเทศนาอยู่ในงานด้วย ขณะนั้นหลวงพ่อมีสมณศักดิ์เป็นที่พระราชวชิรเมธี รองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร

เมื่อหลวงพ่ออายุย่างเข้า ๒๑ ปีก็เข้าสู่กระบวนการตรวจเลือกทหารกองเกิน เป็นที่ลุ้นกัน ว่าหลวงพ่อต้องจับได้ใบแดเป็นทหารตามอย่างพี่ชาย ซึ่งเล่ากันว่าผู้ชายตระกูลภูมิเมืองส่วนใหญ่ มักจะจับได้ใบแดงเป็นทหารเกณฑ์ เหตุการณ์ช่วงนี้ข้อมูลไม่ชัดเจนนัก แต่ผลการตรวจเลือกทหาร กองเกินครั้งนั้นปรากฏว่าหลวงพ่อไม่ได้เป็นทหารเกณฑ์ ทั้งนี้ไม่ทราบว่าเป็นเพราะสามารถจับ สลากได้ใบดำ หรือเป็นเพราะลักษณะตาดำอยู่ไม่ตรงที่กันแน่ เมื่อไม่ถูกเกณฑ์เป็นทหาร โยมบิดา และหลวงปู่เห สนฺติกโร หัวหน้าที่พักสงฆ์คุยป่ารังซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องชายของปู่ของหลวงพ่อ และ หลวงพ่อเรียกว่า “หลวงปู่” นั้น ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าหลวงพ่อมีอายุครบที่จะบวชได้ โยมบิดาจึง ได้ปรารภกับหลวงพ่อว่า “หากอยากจะแต่งงานก็ดี หรืออยากไปทำงานที่กรุงเทพ ฯ ก็อยากให้ บวชก่อน บวชสักหนึ่งพรรษา แล้วค่อยสึก จะทำอะไรต่อก็ค่อยว่ากัน” ซึ่งหลวงพ่อก็ตกลงตามนั้น เพราะลึก ๆ ในใจก็อยากจะบวชอยู่แล้ว เนื่องจากได้ซึมซับมาจากการได้สัมผัสรับใช้หลวงปู่เหมา ตั้งแต่เด็ก หลวงพ่อได้ทำการบรรพชาอุปสมบทเมื่อเช้าวันพุธขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเมีย ซึ่งตรงกับ วันที่ ๑๔ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ ณ พัทธสีมาวัดสุวรรณาราม บ้านวังควง ตำบลวังควง อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร โดยมี พระอุปัชฌาย์คือ เจ้าอธิการประสิทธิ์ เตชวโร (ปัจจุบันได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูวชิรวราภรณ์ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร) วัดราษฎร์บูรณะ ตำบลวังตะแบก อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร พระกรรมวาจารย์คือ พระอธิการประเสริฐ กตสาโร (ปัจจุบันลาสิกขาแล้ว) วัดคลอง ราษฎร์เจริญ ตำบลหนองหัววัว อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร พระอนุสาวนาจารย์คือ พระดำรงศักดิ์ ธมฺมกาโม (ปัจจุบันได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูวิศาลวชิรกิจ เจ้าคณะตำบลหนองหัววัวกิตติมศักดิ์) วัดกุฏิการาม ตำบลพรานกระต่าย อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร
หลวงพ่ออุปสมบทเสร็จเป็นพระภิกษุทางพระพุทธศาสนาโดยสมบูรณ์เมื่อเวลาประมาณ๐๘.๒๐ น. ได้รับการตั้งฉายาทางธรรมจากพระอุปัชฌาย์เป็นภาษาบาลีว่า “วรปญฺโญ” ซึ่งแปลว่า ผู้มีบุญอันประเสริฐ
หลังจากอุปสมบทเสร็จ หลวงพ่อได้มาจำวัดอยู่ที่สำนักสงฆ์คุยป่ารังกับหลวงปู่เห สนฺติกโร ซึ่งอยู่ติดกับบ้านของหลวงพ่อ ในระหว่างอุปสมบทใหม่ ๆ ก็ได้ท่องมนต์พิธีต่าง ๆ ทั้งบทสวดเจ็ด ตำนานและบทสวดสิบสองตำนานได้จนขึ้นใจ จนกระทั่งเข้าพรรษาหลวงปู่เหก็ได้ส่งหลวงพ่อเข้า สมัครเรียนและสอบนักธรรมชั้นตรีตามแนวทางการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย โดยในการเรียน นักธรรมศึกษาชั้นตรีหลวงพ่อต้องเดินทางไปเรียนที่วัดสุวรรณาราม บ้านวังควง ที่อยู่ห่างจากบ้านคุยป่ารังออกไปราว ๒ กิโลเมตร โดยมีพระอธิการสมพร ถาวโร (ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูวิบูลวชิรโสภณ) เจ้าอาวาสวัดสุวรรณารามเป็นครูสอน

การเดินทางไปเรียนนักธรรมศึกษาชั้นตรีที่วัดสุวรรณาราม หลวงพ่อได้ปั่นจักรยานไปเรียน ในช่วงเข้าพรรษาสัปดาห์ละ ๑ วัน โดยในวันนั้นจะมีพระภิกษุสามเณรจากวัดต่าง ๆ ที่อยู่ใน ละแวกบ้านวังควงเดินทางมาเรียนหลายรูป ครูสอนนอกจากจะมีพระอธิการสมพร เป็นหลักแล้ว บางวันก็จะมีครูสอนจากวัดกุฏิการามมาร่วมสอนด้วย ซึ่งหลวงพ่อเดินทางไปเรียนอย่างสม่ำเสมอ ไม่เคยขาดเรียน แต่ก็มีบ่นในในว่า “การปั่นจักรยานมาเรียนที่วัดวังควงนั้นลำบากมาก กว่าจะปั่น ผ่านขี้โคลนไปได้ก็เหนื่อยเสียแล้ว ในใจคิดว่าถ้ามีรถเครื่องหรือรถมอเตอร์ไซค์ขี่ก็คงจะดีกว่านี้”

ในการเรียนนักธรรมชั้นตรีนี้ หลวงพ่อมีความตั้งใจพากเพียรเป็นอย่างมาก เนื่องจากว่า โยมบิดาได้มีข้อตกลงกับหลวงพ่อไว้ว่า “ถ้าสอบผ่านนักธรรมตรีแล้ว หากสึกออกมาจะซื้อรถ มอเตอร์ไซค์ให้” ด้วยหลวงพ่อไม่ได้คิดที่จะอุปสมบทครองสมณเพศอยู่นาน เมื่อได้ยินข้อตกลงของ โยมบิดาดังกล่าวก็เป็นแรงผลักดันให้มีความขยันหมั่นทบทวนตำราเพื่อที่จะสอบนักธรรมชั้นตรีให้ ผ่าน เพื่อรับรางวัลใหญ่ซึ่งในขณะนั้นใครที่ได้ขับรถมอเตอร์ไซค์ก็ถือว่าไม่ธรรมดา ในบ้านคุยป่ารังก็ ยังไม่มีรถมอเตอร์ไซค์สักคัน โดยหารู้ไม่ว่าผลการสอบนักธรรมชั้นตรีในครั้งนั้นจะทำให้หลวงพ่อ ไม่ได้ลาสิกขา และได้ครองสมณเพศตราบจนมรณภาพ ระหว่างที่หลวงพ่อพักอยู่กับหลวงปู่เห หลวงพ่อยังได้มีโอกาสศึกษาวิชาอาคมต่าง ๆ จาก หลวงปู่เห ซึ่งในสมัยนั้นเป็นที่กล่าวกันว่าเป็นผู้มีวิชาอาคมและเป็นที่พึ่งทางจิตใจของชาวคุยป่ารัง หลวงพ่อเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า “เราท่องมนต์พิธีต่าง ๆ เจ็ดตำนาน สิบสองตำนานได้หมดแล้ว เลย ถามหลวงปู่เหว่า มีมนต์อะไรให้ท่องอีกไหม หลวงปู่เหเลยบอกเราว่า มีแต่คาถา จะท่องเอาไหม เราก็เลยตอบว่า ถ้าหลวงปู่ให้ท่องก็จะท่อง หลวงปู่เหก็เลยสอนคาถาให้เราบ้าง แต่ก็ไม่ได้มากหรอก สมมติว่าหลวงปู่มีคาถาอยู่ทั้งหมดเหมือน ๕ นิ้วเรา (หลวงพ่อยกมือขึ้นมาแสดงด้วย) เราได้ เรียนจากหลวงปู่เหมาแค่เพียงข้อนิ้วมือเดียว แต่ก็พอเอาตัวรอดได้อยู่”
การสอบนักธรรมสนามหลวงชั้นตรีในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ หลวงพ่อได้เดินทางมาสอบไล่ที่วัด กุฏิการามหรือวัดป่าเรไรที่อยู่ติดกับตัวอำเภอพรานกระต่ายซึ่งเป็นสนามสอบ เมื่อสอบเสร็จก็มั่นใจ อย่างยิ่งว่า สอบผ่านแน่นอน เพราะตรงกับที่อ่านและฝึกเขียนกระทู้ธรรมมาทุกประการ การที่จะ ได้รับรางวัลรถมอเตอร์ไซค์อยู่ใกล้แค่เอื้อม หลังประกาศผลสอบก็จะลาสิกขา และจะขี่รถ มอเตอร์ไซค์ไปอวดตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในละแวกใกล้เคียง หลวงพ่อได้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า
“หลังสอบนักธรรมตรีเสร็จ กลับมาอยู่วัดคุยป่ารังก็ไม่มีอะไรทำ ก็เรามันไฮเปอร์อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ หลวงปู่เหก็เลยบอกให้เราท่องพระปาฏิโมกข์ เพราะว่าพระปาฏิโมกข์ทำให้ได้บุญมาก เราก็ เลยลองท่องดู ไม่เสียหายอะไรเพราะยังไงก็ต้องออกพรรษา รอผลสอบนักธรรมตรีประกาศผล เรา ใช้เวลาท่องพระปาฏิโมกข์อยู่ ๒๘ วัน สามารถท่องจำได้จนขึ้นใจจนถึงบัดนี้ แต่รู้ไหม หลวงปู่เห มาบอกเราทีหลังว่า พระปาฏิโมกข์ใครเขาท่องกันเล่า เพราะถ้าใครท่องพระปาฏิโมกข์ได้เขาบอก ว่าจะต้องบวชตลอดชีวิต อ้าว ! ตายแล้ว ทำไงได้ล่ะ เราก็ไม่เชื่อหรอก ท่องได้แล้วก็ท่องไป เพราะ ถือว่าท่องได้ก็ได้บุญมาก”
เรื่องอานิสงส์ของการท่องพระปาฏิโมกข์ได้จะทำให้ได้บุญมากและจะต้องบวชตลอดชีวิต จะเป็นความจริงอย่างไรไม่อาจทราบได้ แต่เมื่อแม่กองธรรมสนามหลวงประกาศผลสอบนักธรรม ชั้นตรีในช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ปรากฏว่า พระวีระ วรปญฺโญ/ภูมิเมือง สำนักเรียนวัดสุวรรณาราม สอบไล่นักธรรมชั้นตรีผ่าน หลวงพ่อดีใจอย่างมากที่จะได้ลาสิกขาออกไปขี่รถมอเตอร์ไซค์เท่ ๆ ไป อวดสาว ๆ คนที่ดีใจ ไม่น้อยไปกว่าหลวงพ่อเลยก็คือ ผู้ใหญ่ทวี ภูมิเมือง โยมบิดาของหลวงพ่อ
ผู้ใหญ่ทวีเอาเรื่องที่พระลูกชายสอบผ่านนักธรรมชั้นตรีซึ่งในสมัยนั้นการสอบผ่านนักธรรม แต่ละชั้นถือว่าเป็นเรื่องยากมาก ต้องอาศัยการเล่าเรียนฝึกฝนพยายามเป็นอย่างมาก ไปบอกเล่าให้ ชาวบ้านและแขกที่มาเยี่ยมเยือนฟังด้วยความดีใจ สมกับเป็นลูกชายของผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งในสมัยนั้น การเป็นผู้ใหญ่บ้านถือว่าเป็นผู้มีบารมีพอสมควร การที่มีพระลูกชายสอบไล่ได้นักธรรมชั้นตรีนั้นก็ ถือว่าเป็นการเสริมบารมีอย่างหนึ่งให้กับความเป็นผู้ใหญ่บ้าน
 ระหว่างนี้หลวงพ่อเองก็มีความรู้สึกสองจิตสองใจว่าจะลาสิกขาหรือจะบวชต่อเพื่อเรียน นักธรรมชั้นโท เพราะว่าในหมู่บ้านขณะนั้นมีญาติของหลวงพ่อที่ได้บวชเรียนจนได้เป็นพระมหา เปรียญ คือ พระมหากอง ติกฺขวีโร/ศิรินาค และได้เป็นครูสอนพระบาลีที่วัดโพธาราม จังหวัด นครสวรรค์ ซึ่งหลวงพ่อให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันยังมีโยมกาบ ศิรินาค ซึ่ง เป็นโยมบิดาของพระมหากองคอยแนะนำอยากให้หลวงพ่อบวชเรียนต่อจนได้เป็นพระมหาเหมือน บุตรชายของตน ในที่สุด หลังตรวจเลือกทหารกองเกินแล้วเสร็จ ไม่ได้ไปเป็นทหารเกณฑ์ หลวงพ่อึงตัดสินใจที่จะบวชเรียนต่อ ทิ้งรถมอเตอร์ไซค์รางวัลใหญ่ที่เคยอยากได้ ทิ้งสาวบ้านคุยป่ารังที่เคย เลี้ยงควายด้วยกัน ไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์ เหตุการณ์ชีวิตของ หลวงพ่อช่วงนี้ได้ปรากฏในข้อความที่หลวงพ่อเขียนรำลึกพระคุณของพระราชวุฒิเมธี ว่า
“พระเดชพระคุณ พระราชวุฒิเมธี (กอง ติกฺขวีโร) เจ้าคุณอาจารย์ อดีตเจ้าอาวาส วัดโพธาราม พระอารามหลวง และที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ เป็นพระมหาเถระที่ใจเย็น ที่สุดเท่าที่เคยพบมา ข้าพเจ้าเป็นศิษย์เก่าวัดโพธาราม ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๓ - ๒๕๒๙ ได้มาพึ่งใบบุญ ของท่านอาจารย์พระมหากองครั้งแรก วันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ ในที่นี้ข้าพเจ้าเรียกท่าน อาจารย์กอง ตามที่พระเณรวัดโพ ฯ เรียกในยุคนั้น
ข้าพเจ้าเรียกท่านตามที่พี่น้องเรียก คือ หลวงอา เป็นญาติห่าง ๆ กัน และมีอายุน้อยกว่า โยมพ่อเล็กน้อย เพราะท่านอาจารย์กองเป็นคนบ้านเดียวกัน คือ บ้านคุยป่ารัง ตำบลวังควง (ในยุค ท่านอาจารย์กองยังขึ้นอยู่กับตำบลท่าไม้) อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ข้าพเจ้าบวช พระในพรรษาแรก โยมกาบ ซึ่งเป็นโยมพ่อของท่านอาจารย์กอง เป็นทายกวัดคุยป่ารัง จึงพยายาม ประคบประหงมข้าพเจ้า เพราะตั้งใจจะให้ไปเป็น “มหา” เหมือนพระลูกชายของตน จนข้าพเจ้า สอบนักธรรมตรีได้ และท่านอาจารย์กองกลับมาเยี่ยมบ้านจึงได้พาข้าพเจ้าเข้ามาเรียนพระบาลีที่ วัดโพธาราม จังหวัดนครสวรรค์”
การตัดสินใจบวชต่อเพื่อไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดโพธารามให้เป็น “พระมหา” ของ พระวีระ วรปญฺโญ ในครั้งนั้นได้ทำให้ชีวิตของหลวงพ่อเปลี่ยนไปอย่างมาก และเป็นการ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น จากเด็กเลี้ยงควายกลายเป็นพระมหาและท่านเจ้าคุณ หลวงพ่อจึง มักจะกล่าวกับพระนิสิต พระภิกษุและสามเณรที่เข้ามาบวชหรือมาอยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมที่ วัดพระบรมธาตุเสมอว่า “บวชแล้วเรียน เปลี่ยนชีวิต”

ผู้เขียน : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ
#ติดตามอ่านต่อตอนที่  ๓
#หลวงตาเอก #วัดพระบรมธาตุนครชุม
40  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / ตอน ๒ เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก” ก่อน เมื่อ: มีนาคม 06, 2025, 11:34:27 am
เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก”
ก่อนถึงวันพระราชทานเพลิงศพพระเทพวชิรเมธี,ผศ.ดร. (วีระ วรปญฺโญ)
เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร และเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง

ตอนที่ ๒ : การศึกษาภาคบังคับ
เมื่ออายุครบตามเกณฑ์ที่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนได้ หลวงพ่อก็เข้ารับการศึกษาใน ระดับชั้นเด็กเล็กและชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านคุยป่ารังซึ่งเป็นโรงเรียนประจำหมู่บ้าน หลวง พ่อเล่าว่า ตอนนั้นที่โรงเรียนบ้านคุยป่ารังมีครูอยู่ไม่กี่คน ท่านจำได้ว่าตอนเรียนตั้งแต่ชั้น ประถมศึกษาปีที่ ๑ จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ มีครูผู้สอนชื่อ ครูจรัส แจ่มหม้อ หลวงพ่อไม่เคย ลืมบุญคุณของครูจรัสเลย และมักจะพูดเสมอว่าที่สามารถอ่านออกเขียนได้จนมาเป็นครูเป็น อาจารย์สอนคนอื่นได้ก็เพราะครูจรัสที่เอาใจใส่และบังคับให้ฝึกอ่านฝึกเขียนจนสามารถมีความรู้ ทางภาษาพอเอาตัวรอดได้ หลวงพ่อศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียนบ้านคุยป่ารังจนสำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษา ปีที่ ๔ ซึ่งเป็นระดับชั้นการศึกษาสูงสุดของโรงเรียนบ้านคุยป่ารังในขณะนั้นเมื่อราวปี พ.ศ. ๒๕๑๒ หลวงพ่อเล่าว่า ด้วยความที่โรงเรียนบ้านคุยป่ารังเปิดทำการเรียนการสอนถึงแค่เพียงชั้น ประถมศึกษาปีที่ ๔ ซึ่งเป็นระดับการศึกษาภาคบังคับในสมัยนั้น จึงทำให้หลวงพ่อสำเร็จการศึกษา เพียงแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ แต่มีความสามารถอ่านออกเขียนได้ และมีความจำเป็นเลิศเป็นที่ ชื่นชมของครูผู้สอน หลวงพ่ออยากจะเรียนต่อให้จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๗ ซึ่งสมัยนั้นถือว่าเป็น ระดับการศึกษาที่สูงทีเดียว แต่ด้วยความที่อยู่หมู่บ้านห่างไกลและมียังมีน้องอีกหลายคนที่ต้องเข้า เรียนหนังสือ ทำให้โยมบิดาไม่อนุญาตให้หลวงพ่อเดินทางมาเรียนที่โรงเรียนต่างหมู่บ้าน หลวงพ่อ มักจะพูดเสมอว่า “เราเนี่ยจบแค่ ป.๔ ทำไงได้ก็เรามันอยู่บ้านนอก จบ ป.๔ แล้วก็ออกโรงเรียนไป เลี้ยงควาย ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งจะได้มาเรียนจนจบด๊อกเตอร์กับเขา สมัยนั้นด๊อกเตอร์คืออะไรก็ยังไม่รู้จักเลย”

ด้วยความที่หลวงพ่อสามารถอ่านออกเขียนได้จากโรงเรียนบ้านคุยป่ารังจึงทำให้หลวงพ่อ มีความรักและผูกพันกับโรงเรียนแห่งนี้มาก ต่อมาในราว พ.ศ. ๒๕๔๕ โรงเรียนบ้านคุยป่ารังมี จำนวนนักเรียนที่ลดลงอย่างมาก ผู้บริหารและคณะครูส่วนใหญ่เป็นคนต่างถิ่น ย้ายมารับตำแหน่ง แล้วก็รอเวลาย้ายไปอยู่ที่อื่นต่อ ทำให้ผู้ปกครองมองว่าคุณภาพการศึกษาลดลง แล้วส่งบุตรหลาน ไปเรียนในโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่กว่าในเขตตัวอำเภอ จนนำไปสู่การสอดรับนโยบายที่จะมีการยุบ รวมโรงเรียนบ้านคุยป่ารังเข้ากับโรงเรียนบ้านวังควงซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้เคียง เป็น เหตุให้หลวงพ่อพยายามที่จะรักษาสถานภาพของโรงเรียนบ้านคุยป่ารักที่ท่านรักแห่งนี้เอาไว้จึง เข้ามารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขึ้นพื้นฐานโรงเรียนบ้านคุยป่ารัง เพื่อหา แนวทางในการรักษาและพัฒนาโรงเรียนแห่งนี้ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ หลวงพ่อได้มีตำแหน่งเป็น กรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต ๑ ซึ่งกำกับดูแลโรงเรียนในอำเภอพรานกระต่ายพอดี ทำให้เห็นทิศทางการช่วยเหลือผู้บริหารและคณะครูประคับประครองและ พัฒนาคุณภาพทางการศึกษาของโรงเรียนบ้านคุยป่ารัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ปกครองในการ นำบุตรหลานเข้ามาเรียน หลวงพ่อได้จัดทำผ้าป่าการศึกษาเพื่อนำเงินมาปรับปรุงพัฒนนาภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อม ภายในโรงเรียน นำเงินส่วนตัวมามอบให้โรงเรียนในการจัดหาอุปกรณ์การเรียนที่ทันสมัย และที่ สำคัญคือ หลวงพ่อได้ใช้เงินส่วนตัวจำนวนหนึ่งเป็นเงินเดือนเพื่อจ้างบุตรหลานของชาวบ้านที่ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาชีพครูมาเป็นครูอัตราจ้างของโรงเรียน ซึ่งหลวงพ่อได้ ดำเนินแนวทางดังกล่าวร่วมกับผู้บริหาร คณะครูและชาวบ้านมาได้ราว ๒ - ๓ ปี ความพยายาม ทุกอย่างก็ประสบความสำเร็จ โรงเรียนบ้านคุยป่ารังกลับมามีจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น การมีจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้นก็ทำให้ได้รับการจัดสรรตำแหน่งบรรจุครูผู้สอนเพิ่มมากขึ้นตามมาด้วย จากโรงเรียนเล็ก ๆ ในตำบลสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาจนทำให้นักเรียนชนะเลิศการแข่งขัน ทักษะทางวิชาการในระดับเขตพื้นที่การศึกษาหลายกิจกรรม และโรงเรียนก็ได้รับรางวัล ระดับประเทศหลายรางวัล จนทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านข้างเคียงส่งบุตรหลานมาเรียนที่โรงเรียน บ้านคุยป่ารัง

ขณะเดียวกัน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทุกวันที่ ๑๕ เมษายนของทุกปี หลวงพ่อจะพาญาติ พี่น้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับโยมบิดามารดาที่บ้านเกิด และช่วงสาย ๆ ก็จะจัดให้มีกิจกรรมเปิด โอกาสให้ชาวบ้านคุยป่ารังสรงน้ำขอพรจากหลวงพ่อและผู้สูงอายุที่โรงเรียนบ้านคุยป่ารัง ต่อเนื่องกันมาโดยตลอด ภายหลังบางปีทางศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านคุยป่ารังยังได้มีการจัดกิจกรรม แข่งขันกีฬาการกุศลและเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในชุมชนด้วย ที่หลวงพ่อเลือกให้มีการจัด กิจกรรมสรงน้ำขอพรที่โรงเรียนบ้านคุยป่ารังแทนที่จะจัดที่ที่พักสงฆ์คุยป่ารังก็เพราะว่า ท่านอยากให้ศิษย์เก่าและคนในชุมชนได้เห็นความสำคัญของโรงเรียนในฐานะที่เป็นสถานที่อบรมบ่มเพาะวิชา ความรู้และทำให้คนในชุมชนได้รู้จักมักคุ้นเป็นเพื่อนเป็นเกลอกันเป็นรุ่น ๆ เรื่อยมา แม้จะไป ทำงานต่างถิ่น เมื่อกลับมาบ้านในเทศกาลสงกรานต์ก็จะได้มารำลึกความหลังในวัยเยาว์ร่วมกันที่ โรงเรียน ให้มีความรู้สึกหวงแหนอยากให้โรงเรียนคงอยู่คู่กับชุมชน บางปีก็มีการทอดผ้าป่าเพื่อ การศึกษา เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมกิจกรรมทางการศึกษาของโรงเรียนด้วย

ผู้เขียน : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ
#ติดตามอ่านต่อตอนที่  ๓
#หลวงตาเอก #วัดพระบรมธาตุนครชุม
41  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / ตอน ๑ เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก เมื่อ: มีนาคม 04, 2025, 12:40:34 pm
เล่าสู่กันฟัง เรื่องราวของ “พระเทพวชิรเมธี หรือ หลวงตาเอก”
ก่อนถึงวันพระราชทานเพลิงศพพระเทพวชิรเมธี,ผศ.ดร. (วีระ วรปญฺโญ)
เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร และเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง

ตอนที่ ๑ : เล่าประวัติพระเทพวชิรเมธี :หลวงตาเอกแห่งวัดพระบรมธาตุ
พระเดชพระคุณพระเทพวชิรเมธี (วีระ วรปญฺโญ/ภูมิเมือง, ป.ธ. ๙, ผศ.ดร.) อดีตเจ้าคณะ จังหวัดกำแพงเพชร อดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ถือเป็นพระนักการปกครอง เป็นพระนักการศึกษา ทั้งการศึกษา พระปริยัติธรรมและการศึกษาทางโลก เป็นพระนักพัฒนาชุมชนท้องถิ่นที่ยากผู้ใดเทียบได้ และเป็น พระนักการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ทรงภูมิความรู้ เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยสีลสุตาธิคุณ เป็นผู้ที่ใคร่ ต่อการศึกษาและพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา เป็นปราชญ์ผู้ที่เป็นครูอาจารย์ของศิษย์ทั้งหลาย เป็น เนื้อนาบุญยิ่งใหญ่ของชาวกำแพงเพชร บำเพ็ญประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาและสังคม ประเทศชาตินานัปการมาโดยลำดับ จนได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวงแห่งแรกของจังหวัดกำแพงเพชร อันเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุนครชุมอัน ศักดิ์สิทธิ์ และได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร เรื่องราวประวัติ อัธยาศัย และเกียรติคุณทั้งหลายของพระเทพวชิรเมธีที่ปรากฏในเนื้อหาที่ทุกท่านจะได้อ่านต่อไปนี้จึงเป็น เพียงส่วนน้อยที่ผู้เขียนได้เรียบเรียงขึ้นจากเอกสาร ความทรงจำและคำบอกเล่าของผู้เกี่ยวข้อง เท่าที่จะทำได้ตามข้อจำกัดของเวลาเท่านั้น ผู้ที่เคยได้สัมผัสกับพระเทพวชิรเมธีในการร่วมทำงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ ย่อมเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาและจิตใจของตนเองว่าพระเทพวชิรเมธีเป็น พระภิกษุที่มีเมตตากับทุกคนที่เข้ามาหา ไม่ถือตน ไม่ถือยศศักดิ์ ไม่ขัดศรัทธา มีอัธยาศัยไมตรีอันดี กับทุกคน จึงไม่แปลกที่พระเทพวชิรเมธีจะใช้นามปากกาและชื่อเฟสบุ๊ก (Facebook) ส่วนตัวว่า “หลวงตาเอก แห่งวัดพระบรมธาตุ” การนำเสนอประวัติของพระเทพวชิรเมธีในหนังสือที่จัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงาน พระราชทานเพลิงศพของพระเทพวชิรเมธี ทางคณะศิษยานุศิษย์ผู้ใกล้ชิดและผู้รับผิดชอบในการ จัดทำหนังสืออนุสรณ์มีความเห็นสอดคล้องกันว่า ควรเขียนนำเสนอประวัติของพระเทพวชิรเมธีใน แบบพรรณนาความเรียงที่อ่านเข้าใจง่าย และเป็นข้อมูลที่ต่างไปจากการนำเสนอประวัติแบบ สังเขปในแหล่งอื่น ซึ่งเป็นข้อมูลจากคำบอกเล่า การได้อยู่รับใช้ถวายงานและร่วมงานกับพระเทพ วชิรเมธีของผู้ที่ใกล้ชิดเท่าที่สามารถจะสืบค้นข้อมูลได้ตามข้อจำกัดเรื่องเวลา โดยมีผู้เขียน คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่เคยได้อยู่ใกล้ชิดและรับใช้ถวายงาน ด้านต่าง ๆ ต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๖ เรื่อยมา และได้มีโอกาสสัมภาษณ์และรับฟังเรื่องราวใน อดีตของพระเทพวชิรเมธีในหลายวาระเป็นผู้เรียบเรียง ซึ่งจากนี้ไปเพื่อความสะดวกและเข้าใจง่าย ของผู้อ่าน ผู้เขียนจึงขอใช้ชื่อ “หลวงพ่อ” แทนชื่อพระเทพวชิรเมธีตามที่ลูกศิษย์ส่วนใหญ่ใช้เรียก

ชาติภูมิของหลวงพ่อ
พระเทพวชิรเมธีเกิดที่บ้านเลขที่ ๖๐ หมู่ที่ ๕ บ้านคุยป่ารัง ตำบลวังควง (ขณะนั้นยัง ขึ้นกับตำบลท่าไม้) อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ แต่ด้วยความที่ใน ยุคนั้นการจดจำรายละเอียดวัน เดือน ปีเกิดยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก การแจ้งเกิดก็ล่าช้ากว่ากำหนด ข้อมูลจากการแจ้งเกิดจึงมักไม่ตรงกับความจริง ส่วนใหญ่มักจะจำเฉพาะปีเกิดเท่านั้น ซึ่งพิจารณา จากความเป็นไปได้แล้ว หลวงพ่อน่าจะเกิดราวต้นปี พ.ศ. ๒๕๐๑ มากกว่า เนื่องจากข้อมูลจากข้อมูลจากคำ บอกเล่าของญาติพี่น้องยืนยันตรงกันว่า หลวงพ่อผ่านการตรวจเลือกทหารกองเกินแล้วจึงทำการ อุปสมบท และการอุปสมบทในเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ นั้นมีข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ ยืนยัน ตรงกัน ดังนั้น เรื่องวันเดือนปีเกิดจริง ๆ ของหลวงพ่อนั้นไม่มีความชัดเจนแต่อย่างใด แต่หลวงพ่อเล่าว่า โยมบิดาเคยเล่าให้ฟังว่าท่านเกิดเมื่อวันพุธ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๙ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๑๒ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๐๒ ซึ่งตรงกับวันธัมมัสสวนะพอดี ณ แต่เนื่องจาก ต่อมาได้เกิดความผิดพลาดในเรื่องการกรอกข้อมูลในเอกสารของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทำ ให้มีการระบุวันเกิดของหลวงพ่อคาดเคลื่อนเป็นวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ และถูกใช้เป็นวัน เกิดของหลวงพ่อที่ระบุในเอกสารราชการทุกอย่างเรื่อยมา เนื่องจากไม่มีหลักฐานหรือผู้รับรอง ข้อมูลที่จะยืนยันเพื่อจะเปลี่ยนแปลงข้อมูลดังกล่าวได้ แม้เอกสารราชการจะระบุว่าหลวงพ่อเกิดวันที่ ๖ กรกฎาคม แต่หลวงพ่อจะทำบุญวันเกิด เป็นการส่วนตัวในวันที่ ๑๒ สิงหาคมเป็นประจำทุกปีตามวันคล้ายวันเกิดที่โยมบิดาเล่าให้ฟัง ซึ่ง ในช่วงดังกล่าวทางวัดพระบรมธาตุจะมีกิจกรรมบวชศีลจาริณี(บวชชีพราหมณ์) เพื่อถวายเป็นพระ ราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตามดำริของ หลวงพ่อ ทำให้ในช่วงเช้าวันที่ ๑๒ สิงหาคมประจำทุกปีหลวงพ่อจะทำบุญวันเกิดด้วยการตักบาตร พระภิกษุสามเณรภายในวัด และบางปีก็จะงดรับนิมนต์เป็นพระสงฆ์สมณศักดิ์ในพิธีทำบุญตักบาตรและเจริญพระพุทธมนต์ถวายเป็นพระราชกุศล ฯ ที่ทางจังหวัดกำแพงเพชรจัดขึ้น โยมบิดาของหลวงพ่อ ชื่อ นายทวี ภูมิเมือง ส่วนโยมมารดา ชื่อ นางบาง ภูมิเมือง (สกุล เดิม เพชรวงษ์) ซึ่งทั้งคู่เป็นชาวบ้านคุยป่ารังโดยกำเนิด และได้เลือกตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ติดกับ ที่พักสงฆ์คุยป่ารัง ซึ่งทางตระกูลภูมิเมืองได้อุทิศให้เป็นที่ตั้งที่พักสงฆ์ ขณะนั้นมีหลวงปู่เห สนฺติกโร เป็นหัวหน้าที่พักสงฆ์ ซึ่งหลวงปู่เหมีศักดิ์เป็นน้องชายของนายทวน ภูมิเมือง ผู้เป็นบิดาของนายทวี หรือมีศักดิ์ปู่ของหลวงพ่อ ตระกูลภูมิเมืองและตระกูลเพชรวงษ์ถือเป็นตระกูลใหญ่ของหมู่บ้าน และมีสายสัมพันธ์ทางเครือญาติกับตระกูลต่าง ๆ ในหมู่บ้าน หลวงพ่อเล่าว่า โยมบิดาของท่านซึ่ง เป็นคนที่มีความสุขุมลุ่มลึก เป็นที่นับถือและไว้วางใจของชาวบ้านเป็นอย่างมาก ทำให้ได้รับการเลือกตั้งจากชาวบ้านให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน เนื่องจากเป็นผู้นำที่มีความยุติธรรม เป็นที่พึ่ง ของชาวบ้านในการติดต่อประสานงานต่าง ๆ กับทางราชการ แม้ในขณะที่ทางอำเภอออกมาขอ ประชามติจากชาวบ้านคุยป่ารัง โยมบิดาของหลวงพ่อจะทำงานอยู่ที่ทุ่งนา ไม่ได้มาร่วมประชุมด้วย ก็ตาม
โยมบิดาของหลวงพ่อได้ตั้งชื่อหลวงพ่อเป็นทางการว่า “วีระ” ซึ่งแปลว่า ผู้กล้าหาญ และ ตั้งชื่อเล่นว่า “เอก” เนื่องจากตาของหลวงพ่อข้างขวามีตาดำที่อยู่ไม่ตรงที่ ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ตาเอก” ภายหลังเมื่ออุปสมบทและเรียนพระปริยัติธรรมหลวงพ่อจึงต้องสวมแว่นตาเพื่อถนอม สายตาตลอดมา หลวงพ่อมีพี่น้องร่วมอุทรเดียวกันจำนวน ๑๐ คน โดยหลวงพ่อเป็นบุตรคนที่ ๖ และมีพี่น้อง ได้แก่
๑) นายสังวร ภูมิเมือง (เกิดปีขาล พ.ศ. ๒๔๙๑)
 ๒) นายแสวง ภูมิเมือง (เกิดปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๙๔)
๓) นางเพ็ญ เพชรวงษ์ (เกิดปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๙๖)
๔) นางบ่าย เนื่องจุ้ย (เกิดปีวอก พ.ศ. ๒๔๙๙)
๕) นายสวง ภูมิเมือง (เกิดปีระกา พ.ศ. ๒๕๐๐)
๖) พระเทพวชิรเมธี (วีระ ภูมิเมือง) (เกิดปีกุน พ.ศ. ๒๕๐๒)
๗) นายพวัย ภูมิเมือง (เกิดปีเถาะ พ.ศ. ๒๕๐๖)
๘) นางพัยวัน สงเชื้อ (เกิดปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๕๐๘)
๙) นางพยับ ภูมิเมือง (เกิดปีวอก พ.ศ. ๒๕๑๑)
 ๑๐) นางสาวพยอม ภูมิเมือง (เกิดปีกุน พ.ศ. ๒๕๑๔)
บ้านคุยป่ารังซึ่งเป็นมาตุภูมิของหลวงพ่อเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้กับภูยอดเหล็กซึ่งมี แหล่งถลุงแร่เหล็กขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของเมืองกำแพงเพชร ลักษณะทางกายภาพส่วนใหญ่เป็นที่ เนินดินร่วนปนทราย ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พืชเพาะปลูกสำคัญตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบันคือ ข้าวและมันสำปะหลัง การเดินทางเข้าไปยังหมู่บ้านนี้ต้องอาศัยความตั้งใจที่จะ เดินทางไปจึงจะพบ เนื่องจากไม่ได้เป็นหมู่บ้านทางผ่านที่ติดถนนสายหลัก และอยู่ห่างไกลจากตัว อำเภอพรานกระต่าย เมื่อหลวงพ่ออยู่ในวัยเด็กความเจริญหรือสิ่งสาธารณูปโภคต่าง ๆ ก็ยังเข้าไป ไม่ถึง ถนนหนทางก็ขรุขระลำบากโดยเฉพาะช่วงหน้าฝน ไฟฟ้าก็ยังไม่มีใช้ น้ำในการอุปโภคบริโภค ก็ต้องอาศัยน้ำจากบ่อน้ำและลำคลองเรือหอ ซึ่งอยู่ใกล้กับหมู่บ้าน ส่วนอาหารการกินก็อาศัยการ ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ และการหาของป่าตามฤดูกาลเป็นหลักในการประกอบอาหาร นาน ๆ จะได้กิน ของอร่อย ก็ต้องรอให้โยมบิดาเข้ามาทำธุระภายในตัวอำเภอ หลังจากโยมมารดาของหลวงพ่อได้คลอดนางสาวพะยอม ภูมิเมือง ซึ่งเป็นบุตรสาวคน สุดท้องได้๔ ปีโยมมารดาของหลวงพ่อก็ได้ถึงแก่กรรม ชีวิตในช่วงวัยรุ่นของหลวงพ่อจึงเติบโตมา ด้วยการเลี้ยงดูของโยมบิดาและพี่ ๆ ทั้ง ๕ คน ในขณะเดียวกันก็ได้ช่วยโยมบิดาดูแลน้องสาวด้วย บรรดาพี่น้องของหลวงพ่อต่างเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า ในวัยเด็กหลวงพ่อเป็นคนที่เลี้ยงง่าย อยู่ง่าย กินง่าย มีบุคลิกนิสัยเป็นเด็กที่ร่าเริง ชอบไปเที่ยวเล่นที่ท้องไร่ท้องนาตามโยมบิดา

ผู้เขียน : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีระวัฒน์ แสนคำ
#ติดตามอ่านต่อตอนที่  ๒
42  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / === การแสดงแสง สี เสียง “ปฐมบทแห่งศรัทธา ตามรอยจารึกทรงคุณค่า นบพระ-เล่นเพลงคงคู เมื่อ: กุมภาพันธ์ 22, 2025, 05:28:39 pm
=== การแสดงแสง สี เสียง “ปฐมบทแห่งศรัทธา ตามรอยจารึกทรงคุณค่า นบพระ-เล่นเพลงคงคู่ฟ้า เทิดทูนบูรพกษัตริย์ไทย” ในงานประเพณี “นบพระ-เล่นเพลง และงานกาชาดจังหวัดกำแพงเพชร” ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๘ ===

วันศุกร์ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘  เวลา ๑๙.๐๐ น.  นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เป็นประธานเปิดการแสดงแสง สี เสียง “ปฐมบทแห่งศรัทธา ตามรอยจารึกทรงคุณค่า นบพระ-เล่นเพลงคงคู่ฟ้า เทิดทูนบูรพกษัตริย์ไทย” ในงานประเพณี “นบพระ-เล่นเพลง และงานกาชาดจังหวัดกำแพงเพชร” ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๗ โดยมีนายอนันต์ ผลอำนวย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดกำแพงเพชร นางสาวสุพัตรา คล้ายทิม นายอนุชา พัสถาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร พันเอก พงศธร เมืองแก่น รอง ผอ.รมน.จังหวัดกำแพงเพชร (ท) หัวหน้าส่วนราชการ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ และประชาชน เข้าร่วมรับชมการแสดง ด้วยจังหวัดกำแพงเพชร โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร ได้จัดโครงการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวและบริการ กิจกรรมหลักส่งเสริมกิจกรรมงานประเพณีของจังหวัด กิจกรรม “กำแพงเพชรเมืองสร้างสรรค์ วัฒนธรรมสร้างสุข” ในงานประเพณี “นบพระ-เล่นเพลง และงานกาชาดจังหวัดกำแพงเพชร” ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๘ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ด้านส่งเสริมงานประเพณีที่สำคัญของจังหวัด (Soft Power) ประชาสัมพันธ์ให้งานประเพณีนบพระเล่นเพลง เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ให้มาท่องเที่ยวในจังหวัดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในจังหวัด ทั้งนี้ สำนักงานวัฒนธรรม ดำเนินการจัดกิจกรรมการแสดงแสง สี เสียง ในงานประเพณี “นบพระ-เล่นเพลง และงานกาชาดจังหวัดกำแพงเพชร” ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๘ เรื่อง "ปฐมบทแห่งศรัทธา ตามรอยจารึกทรงคุณค่า นบพระ-เล่นเพลงคงคู่ฟ้า เทิดทูนบูรพกษัตริย์ไทย" โดยเป็นการแสดงแสง สี เสียง อิงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของงานประเพณีนบพระ เล่นเพลง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาและความสำคัญของงานประเพณีนบพระ-เล่นเพลง ซึ่งสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน และเพื่อร่วมเทิดพระเกียรติบูรพกษัตริย์ไทย และระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อปวงชนชาวไทยและชาวกำแพงเพชร
ซี่งคำว่า ”ปฐมบทแห่งศรัทธา" หมายถึง ประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานกว่า ๗๐๐ ปี ด้วยแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่สืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน และจุดเริ่มต้นที่อ้างถึงการจัดประเพณีนบพระ-เล่นเพลง และประวัติจังหวัดกำแพงเพชร "ตามรอยจารึกทรงคุณค่า" หมายถึง รูปแบบและแรงบันดาลใจในการเขียนบทการแสดง โดยนำเอาข้อมูลจากจารึกต่างๆ อาทิ จารึกนครชุม จารึกกฎหมายลักษณะโจร "นบพระ-เล่นเพลงคงคู่ฟ้า" หมายถึง ความสำคัญของประเพณีอันทรงคุณค่า มรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดกำแพงเพชร สร้างความภาคภูมิใจในศิลปวัฒนธรรม ประเพณีอันทรงคุณค่า และธำรงรักษา สืบสานไว้ให้มั่นคงตลอดไป "เทิดทูนบูรพกษัตริย์ไทย" หมายถึง เมืองกำแพงเพชรนั้น เป็นเมืองที่มิเคยเว้นว่างจากการเสด็จของพระมหากษัตริย์หลายพระองค์นับจากอดีตจึงจัดการแสดงครั้งนี้เพื่อเทิดพระเกียรติบูรพกษัตริย์ไทย และระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อปวงชนชาวไทยและชาวกำแพงเพชร การแสดงแบ่งออกเป็น ๓ องก์ ดังนี้ องก์ที่ ๑ ปฐมบทแห่งศรัทธา องก์ที่ ๓ ตามรอยจารึก และองก์ที่ ๓ นบพระ-เล่นเพลง นำแสดงโดย ปาร์ค ภัทรพงศ์ ศิริธราพงศ์ สุดยอดลูกทุ่งไอดอลคนที่ ๔ ของเมืองไทย
ซึ่งจังหวัดกำแพงเพชร ให้ความสำคัญกับการพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยว โดยกำหนดเป็นประเด็นการพัฒนาจังหวัด ในการพัฒนาการท่องเที่ยวและส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเมืองมรดกโลก ซึ่งเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลด้าน Soft Power ของประเทศไทย ให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะประเทศไทยมีรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว การส่งเสริมประเพณีที่สำคัญของจังหวัดกำแพงเพชร จึงเป็นส่วนหนึ่งของการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมถึงการสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทยในเวทีโลก และส่งเสริมให้งานประเพณีนบพระ-เล่นเพลง เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดกำแพงเพชรเพิ่มมากขึ้น และเป็นการกระจายโอกาสในการสร้างรายได้ไปสู่ชุมชนอย่างทั่วถึงและยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ การแสดงดังกล่าวจะมีไปจนถึงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘
ในการนี้ นายอภินันท์ มุสิกะพงษ์ วัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร พร้อมด้วย นางสาวพชรพรรณ ชุ่มเปี่ยม ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม นางสาวระวีวรรณ โตวารี ผู้อำนวยการกลุ่มกิจการพิเศษ นายกิตติพงษ์ เทพนิกร ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ข้าราชการ พนักงานราชการ บุคลากรสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานพิธี ดำเนินการจัดการแสดงแสง สี เสียง ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ณ โบราณสถานวัดพระแก้ว (ฐานไพทีใหญ่) อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร
43  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / https://phetkamphaengnews.com/archives/34923 โปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัย เมื่อ: กุมภาพันธ์ 21, 2025, 03:32:55 am
https://phetkamphaengnews.com/archives/34923

โปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร จัดการแสดงละครเวทีนิเทศศาสตร์  เรื่องเล่า ณ สมุทรธาลัย

      วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 17:00 น. ที่ ห้องประชุมชั้น 8 อาคารคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏฏำแพงพชร จ.กำแพงเพชร โปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการมหาวิทยาลัยราชภัฏฏำแพงพชร จัดการแสดงละครเวทีนิเทศศาสตร์ เรื่องเล่า ณ สมุทรธาลัย รอบสื่อมวลชน โดยมี ผศ.ดร.ปรียานุช พรหมภาสิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร  เป็นประธานในพิธีเปิดและร่วมรับชมการแสดงละครเวทีนิเทศศาสตร์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สื่อมวลชน ประขาชน และนักศึกษา

      ต้องขอชื่นชมน้องๆนักศึกษาทุกคนในทีมงานละครเวที “เรื่องเล่า ณ สมุทรธาลัย” ที่สามารถหล่อหลอมรวมใจกันจนเกิดเป็นละครดีๆในวันนี้ เป็นการแสดงสุดเข้มข้นที่สามารถตรึงทุกสายตาสะกดทุกอารมณ์ ต้องชื่นชมนักแสดงทุกคนที่สามารถถ่ายทอดอารมณ์บุคลิกภาพของตัวละครออกมาได้อย่างสมจริง เป็นการแสดงที่กระชับเดินเรื่องได้เร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสลับฉาก สามารถทำได้อย่างรวดเร็วน่าประทับใจ การออกแบบเครื่องแต่งกาย costume design สามารถออกแบบได้อย่างเหมาะสมสื่อสารได้อย่างชัดเจน ผู้กำกับเสียง Sound Director ก็สามารถทำให้ผู้ชมมีอารมณ์คล้อยตามไปกับเรื่องราวที่ถ่ายทอดออกมาได้เป็นอย่างดี ที่ขาดไม่ได้ที่ต้องพูดถึงก็คือแม่ทัพของละครเรื่องนี้ นั่นก็คือน้องนุ้ยผู้กำกับคนเก่งของเรานั่นเอง ผู้หญิงตัวเล็กๆ ในทีมงานใหญ่แต่สามารถทำให้ทุกคนให้ตั้งใจทุ่มเทเสียสละเพื่อละครเวทีเรื่องนี้ ขอขอบคุณทีมงานทุกคนที่ทำให้พวกเราได้มีโอกาสได้ชมละครเวทีดีๆ “เรื่องเล่า ณ สมุทรธาลัย”

      สำหรับละครเวทีนิเทศศาสตร์นี้ ว่าด้วยเรื่องของวังสมุทรธาลัย ที่มีเรื่องเล่าขานถึงความรักต้องห้ามระหว่างนายและบ่าว ท่านชายคนโตแห่งวัง “เพชรพรรณราย” ได้ลอบคบหากับบ่าวในเรือนนามว่า “สมุทร” ทว่าในยุคสมัยที่ความรักระหว่างเพศเดียวกันและชนชั้นที่แตกต่างยังเป็นข้อห้าม ความรักของทั้งสองจึงเต็มไปด้วยอุปสรรค กระนั้น เพชรพรรณรายและสมุทรยังคงยึดมั่นและปกป้องกันเสมอมา จนกระทั่งความตายได้พรากพวกเขาออกจากกัน

     เมื่อกงล้อแห่งโชคชะตาหมุนเวียนอีกครา ท่านชายในอดีตกลับมาเกิดใหม่ในฐานะดาราดัง “หนึ่งพัชระ” ผู้ใช้ชีวิตอย่างมั่นคงและรุ่งโรจน์ ในขณะที่ “สมุทร” ยังคงติดอยู่ ณ วังสมุทรธาลัย เช่นเดิม และเมื่อโชคชะตานำพาหนึ่งพัชระให้หวนคืนสู่วังแห่งนี้อีกครั้ง เขาได้พบกับสมุทร คนรักที่รอคอยเขาอยู่ และ “ไพรฑูรย์” ชายผู้เป็นดั่งเงาแห่งความเกลียดชังที่ตามหลอกหลอนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การพบกันอีกครั้งของพวกเขาจะนำพาไปสู่บทสรุปเช่นไร หนึ่งพัชระและสมุทรจะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคและปกป้องกันได้หรือไม่? ร่วมสัมผัสเรื่องราวความรักข้ามภพ ในละครเวที “เรื่องเล่า ณ สมุทรธาลัย”

      ผศ.ดร.ปรียานุช พรหมภาสิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร กล่าวว่า ประทับใจลูกศิษย์มากๆเลยน่ารักมากๆ บทละครน่าติดตามดูตั้งแต่ต้นจนจบเลย นักแสดงสามารถแสดงได้เป็นธรรมชาติมากนักศึกษาสามารถทำงานเป็นทีมได้อย่างน่าประทับใจ “เพชรพรรณราย”ตัวเอกของเรื่องบทละครของเขาว่ายาวมากแต่ก็สามารถที่จะแสดงได้แบบต่อเนื่องโดยไม่มีติดขัด ”นิลกาฬ” ถือว่าเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของการแสดงละครเวทีเรื่องนี้   และในส่วนของนักศึกษาที่แสดงเป็นตัวโจ๊กสามารถที่สร้างเสียงหัวเราะของผู้ชมได้

      รศ.ดร.ศุภโชคชัย นันทศรี  ผู้ช่วยอธิการบดีงานด้านศิลปวัฒนธรรมและสื่อสารองค์กร  กล่าวว่า อย่างที่คาดหวังไว้คือเราไม่อยากให้ทำงานโดยคิดว่าเป็นงานของนักศึกษาวันนี้พวกเขาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นมืออาชีพจริงๆ ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง  อยากจะฝากให้ทุกคนได้มาดูว่าการทำงานแบบมือที่มันเป็นยังไง เรียนจากที่ราชภัฏกำแพงเพชรคณะนิเทศศาสตร์ของเราก็ไม่ได้น้อยหน้าที่ไหนสามารถทำงานได้อย่างมืออาชีพ อยากให้ทุกท่านได้มาสัมผัสด้วยตัวท่านเองแล้วจะได้เข้าใจว่านี่แหละของจริงไม่ผิดหวังที่ลูกหลานมาเรียนที่นี่

      นางสาวศศิธร พิรอดรัตน์ น้องนุ้ย ผู้กำกับละครเวที “เรื่องเล่า ณ สมุทรธาลัย”  สำหรับทีมงานนี้ก็อาจจะมีความดื้อมีความอะไรนิดหน่อยแต่ทุกคนตั้งใจมากค่ะในการทำละครเวทีเรื่องนี้พวกเราเจอปัญหามากมายแต่ก็ผ่านมาด้วยกัน น้องซ้อมกันหนักมากกว่าจะได้มาเป็นละครเรื่องนี้ วันนี้หนูดูจากข้างหลังมองผลงานมองความสำเร็จของทุกคนก็รู้สึกประทับใจค่ะเพราะว่าวันนี้น้องๆตั้งใจกันมาก  ความสำเร็จของละครเรื่องนี้เกิดขึ้นได้เพราะว่าพวกเราทุกคนร่วมมือกันค่ะมีความเป็นทีมมีความเป็นหนึ่งเดียวกันทำให้งานในครั้งนี้ผ่านมาได้ขนาดนี้ค่ะ

เปิดการแสดง 3 รอบ ชมฟรี
รอบที่ 1 : 19 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 17:00 น. เป็นต้นไป
รอบที่ 2 : 20 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 17:00 น. เป็นต้นไป
รอบที่ 3 : 21 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 17:00 น. เป็นต้นไป
ณ ห้องประชุมชั้น 8 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
สำรองที่นั่งได้ทาง Inbox :
https://www.facebook.com/wordofmouthkpru/
โทร : 094-3274127 (แสตมป์)
44  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / ชมละครเวที เรื่อง "เรื่องเล่า ณ สมุทรธาลัย "ของโปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ มรภ.กพ. ด เมื่อ: กุมภาพันธ์ 20, 2025, 09:45:32 pm
ชมละครเวที เรื่อง "เรื่องเล่า ณ สมุทรธาลัย "ของโปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ มรภ.กพ.  ดัวยความประทับใจ ในความสามารถ ของนักศึกษา และ คณาจารย์ ที่ทุ่มเท อย่างสุดหัวใจ สร้างความรักและความศรัทธา ความเป็นเอกภาพ ระหว่างครูกับศิษย์ รุ่นพี่กับรุ่นน้องทุกอย่างลงตัว ราวกับมืออาชึพ ชื่นชม ที่ท่านสามารถสรรค์สร้าง ศิษย์ ให้ทำงานเป็นทีม ได้อย่างน่าสนใจ ไม่นานกำแพงเพชร จะมีโรงละครที่ทันสมัย ในม.ราชภัฏกำแพงเพชร อย่างแน่นอน ขอบคุณมหามิตรอย่าง รศ. ดร. ศุภโชคชัย นันทศรี ที่ให้เกียรตื เชิญไปทัศนา
ยังมีอีกรอบในวันศุกร์ ๒๑.กพ. เวลา ๕ โมงเย็น ชั้นแปด คณะวิทยาการจัดการ  เมื่อชมแล้วท่านจะเห็นความยิ่งใหญ่ ของลูกหลานเรา
45  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / === การประชุมนำเสนอผลการวิจัยโครงการวิจัย “การพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามาร เมื่อ: กุมภาพันธ์ 17, 2025, 01:25:09 pm
=== การประชุมนำเสนอผลการวิจัยโครงการวิจัย “การพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ไม้กวาดจังหวัดกำแพงเพชร ด้วยกลไกขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าใหม่บนฐานทุนทรัพยากรพื้นถิ่น” ===

วันศุกร์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘  เวลา ๑๓.๓๐ น.
นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดการประชุมนำเสนอผลการวิจัยโครงการวิจัย “การพัฒนาศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ไม้กวาดจังหวัดกำแพงเพชร ด้วยกลไกขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าใหม่บนฐานทุนทรัพยากรพื้นถิ่น” ภายใต้กรอบวิจัยการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprises) บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ โดยมีนายอนุชา พัสถาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวต้อนรับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรียานุช พรหมภาสิต อธิการบดีมหาวิทยาลับราชภัฏกำแพงเพชร กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรม พร้อมด้วย นายสันติ อภัยราช ที่ปรึกษาโครงการฯ ผู้แทนส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิจัย ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ไม้กวาด และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรม
ซึ่งการนำเสนอผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร จะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหา และพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจังหวัดกำแพงเพชรในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม และเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ในการพัฒนาซึ่งจะเป็นโอกาสดีที่ฝ่ายท้องถิ่น จะได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล สภาพปัญหาในพื้นที่ข้อสงสัยที่ต้องการค้นคว้าหาคำตอบ อยู่นอกเหนือภารกิจหลักที่หน่วยงานราชการจะสามารถทำได้ ส่งต่อให้นักวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรได้นำไปเป็นโจทย์ในการค้นคว้าหาแนวทางแก้ไขปัญหาและนำข้อมูลไปประกอบการขอสนับสนุนทุนวิจัยได้ตรวจตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวเป็นการนำเสนอผลการวิจัยของนักวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านพัฒนาระดับพื้นที่ หรือหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ ในการแก้ไขปัญหาทางสังคมและสร้างสรรค์ผลงานที่จะนำไปสู่ การอยู่ดี กินดี มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน และรักษ์โลก ของชุมชนท้องถิ่น โดยผลการวิจัยที่ค้นพบจะสามารถนำไปสู่การกำหนดนโยบายและแผนการพัฒนาจังหวัดกำแพงเพชรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้สู่สังคมและเกื้อกูลกัน
ในการนี้ นายอภินันท์ มุสิกะพงษ์ วัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ณ ห้องประชุมดาวเรือง ชั้น ๙ อาคารเรียนรวมและอำนวยการ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร

#สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร
#สาสน์ศิลป์วัฒนธรรมกำแพงเพชร
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 101
Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!