จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช

หมวดหมู่ทั่วไป => จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร => ข้อความที่เริ่มโดย: apairach ที่ เมษายน 17, 2017, 12:13:10 pm



หัวข้อ: เรื่องเล่าชาวปากคลอง เรื่องที่ ๙ การเข้าทรงแม่ศรี ที่บ้านปากคลอง การเข้าทรงแ
เริ่มหัวข้อโดย: apairach ที่ เมษายน 17, 2017, 12:13:10 pm
เรื่องเล่าชาวปากคลอง
   เรื่องที่ ๙ การเข้าทรงแม่ศรี ที่บ้านปากคลอง
      การเข้าทรงแม่ศรี ที่บ้านปากคลอง แตกต่างจาก การเข้าทรงแม่ศรี หรือการรำแม่ศรีที่อื่นๆ ครูมาลัย ชูพินิจ เขียนใว้ใน นวนิยายทุ่งมหาราชและมีเรื่องเล่าในบ้านปากคลองว่า
      สาวงามที่ชาวบ้านคัดเลือก ให้เป็นแม่ศรีในวันสงกรานต์จะนั่งเท้าทั้งสองเหยียบอยู่บนกะลาตาเดียวที่หงายไว้ มือทั้งคู่แตะอยู่ที่พื้นดิน เสียงเพลง ร้องจากผู้เล่นร่วมรอบวงว่า  
แม่ศรีเอย แม่ศรีสาวหงส์เชิญเจ้ามาลงแม่นางสร้อยทอง เชิญพี่เชิญน้อง เชิญแม่ทองศรีเอย วนไปหลายๆรอบ เสียงเย็นจับใจ เมื่อกะลาหมุนแสดงว่าแม่ศรีเข้าแล้ว เมื่อกะลาหยุดหมุนแม่ศรีจะลุกขึ้นรำโดยไม่รู้ตัว รำไปอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ตามเสียงเพลงที่แว่วข้าไปในโสตประสาท เพลงร้องต่อไปว่า
   แม่ศรีเอย แม่ศรีสาวสะ ยกมือไหว้พระว่าจะมีตนชม คิ้วเจ้าก็ต่อคอเจ้าก็กลม ชักผ้าปิดนมชมแม่ศรีเอย (แม่ศรีรำแบบไม่รู้ตัวจนผ้าสไบหลุดออกมาเห็น นม แม่ศรีได้ยินเสียงแว่วมา จึงชักผ้ามาปิดนมเสีย)
   แม่ศรีเอย แม่ศรีเอวกลม ห่อผ้าสีตอง (ทอง) เจ้าลอยละล่อง เข้าในห้องใครเอย เจ้าลอยละล่องเข้าในห้องไหนเอย เจ้าพวงมาลัยควรหรือจะไปจากห้อง เข้าลอยละล่อง เข้าในห้องไหนเอย
   แม่ศรีจะรำจนเหนื่อย และสนุกสนานทั้งวง แม่ศรี เพื่อนสนิทเห็นว่านานเกินไปจะเข้าไปจับไหล่ แล้วร้องว่ากระตู้วู้ข้างหู แม่ศรีจะออก คนเข้าทรงจะไม่ทราบเลยว่า ตัวเองทำอะไรลงไปบ้าง
   การเข้าทรงแม่ศรี เป็นภูมิปัญญาที่สำคัญของชาวปากคลอง ในการคัดเลือกสาวงามและการเลือกคู่ครอง ในวันสงกรานต์
ปัจจุบันยังมีการสืบทอดอยู่บ้าง แต่เป็นการละเล่นเสียแล้ว มิใช่เป็นการเข้าทรงเหมือนสมัยก่อน นับว่าบ้านปากคลองยังสามารถรักษาภูมิปัญญาการรำแม่ศรีไว้ได้ ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป