จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช

หมวดหมู่ทั่วไป => จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร => ข้อความที่เริ่มโดย: apairach ที่ เมษายน 16, 2017, 10:39:05 am



หัวข้อ: เรื่องเล่าชาวปากคลอง เรื่องที่ ๕ ตอนสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) กับ จารึกนครชุม
เริ่มหัวข้อโดย: apairach ที่ เมษายน 16, 2017, 10:39:05 am
เรื่องเล่าชาวปากคลอง
เรื่องที่ ๕ ตอนสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) กับ จารึกนครชุม
   เมื่อราวปลายรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระยากำแพงเพชร( น้อย) ได้ปลงศพท่านผู้หญิงแพง ซึ่งท่านเป็นธิดาของ  พระยารามรณรงคสงครามรามภักดีอภัยพิริยะปรากรมพาหุ (พระยากำแพงเพชร นุช) กับท่านผู้หญิงชี นามกาว ผู้สร้างวัดชีนางเกา ท่านผู้หญิงแพงมีศักดิ์เป็นมารดาของพระยากำแพง(น้อย) และมีศักดิ์เป็นป้า ของหลวงพ่อโต ได้รับพระราชทานไฟพระราชทานและจัดการศพที่หาดทราย หรือตรงข้ามโรงสีนายล้อม นุตตโยธินซึ่งเป็นบ้านของท่านมาแต่เดิม ปัจจุบัน ได้สูบทรายขึ้นมาเป็นสิริจิตอุทยาน
            ในการนี้สมเด็จพุฒาจารย์โต ได้เสด็จมาในงานด้วย เพราะท่านผู้หญิงแพง เป็นป้า สมเด็จพุฒาจารย์ ได้เสด็จไปประพาสในที่ต่างๆ ถึงวัดเสด็จ เดิมชื่อวัดไชยพฤกษ์ สังเกตเห็นปลวกอยู่แห่งหนึ่ง คือที่มณฑปพระพุทธบาทสวมไว้นั้น จึงเสด็จเข้าไปยืนหลับพระเนตรอยู่ประมาณ 10 นาที แล้วลืมพระเนตรตรัสกับพระยากำแพงเพชร(น้อย)ผู้เป็นหลานว่าให้ขุดปลวกเดี๋ยวนี้ มีใบเสมาจารึก เมื่อขุดปลวกก็พบใบเสมานั้นจริง เมื่อล้างน้ำทำความสะอาดแล้ว ทรงอ่านและแปลศิลาจารึก พร้อมเสวยเพลในวัดนั้น เมื่อแปลจารึกแล้วก็มีรับสั่งว่า มีพระธาตุอยู่ฝั่งโน้น ฝั่งตะวันตกด้านวังแปบ ให้รีบหาคนไปถากถาง พระยากำแพงทำตามรับสั่งก็พบพระธาตุ ปัจจุบันคือวัดพระบรมธาตุ มีพระธาตุครบถ้วน จึงได้ย้ายเชลย ชาวลาว 100 ครอบครัวที่อยู่เกาะยายจัน วัดป่าหมู เป็นเลกเฝ้าพระธาตุไปอยู่ตำบลนครชุม.จนปัจจุบัน ส่วนวัดชัยพฤกษ์กลายเป็นวัดเสด็จ เพราะสมเด็จพุฒาจารย์โตเสด็จมาประพาสวัดนี้.....
   จารึกนี้ นักประวัติศาสตร์ เรียกกันว่าจารึกหลักที่ ๓ หรือจารึกนครชุม  ผู้จารึกคือพญาลิไท    พระธรรมราชาที่ ๑ ใจความกล่าวถึง ประดิษฐานพระศรีรัตนมหาธาตุและได้ปลูกพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งได้มาจากลังกาทวีป ไว้ที่วัดพระบรมธาตุนครชุมปัจจุบันนี้ จารึกนครชุมหลักนี้ได้นำมากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ พร้อมกับรูปพระอิศวร (หลักที่ ๑๓)
   นับได้ว่าสมเด็จพุฒาจารย์(โต) มีพระคุณต่อชาวปากคลองและชาวกำแพงเพชร ในการค้นพบจารึกนครชุมและวัดพระบรมธาตุ ทำให้คนกำแพงได้ทราบเรื่องราวของตนเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น