จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช

หมวดหมู่ทั่วไป => จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร => ข้อความที่เริ่มโดย: apairach ที่ มีนาคม 03, 2017, 09:39:10 am



หัวข้อ: อำเภอไทรงาม
เริ่มหัวข้อโดย: apairach ที่ มีนาคม 03, 2017, 09:39:10 am
อำเภอไทรงาม
ไทรงาม เมืองคนแกร่ง      แหล่งธรรมรุ่ง   ทุ่งรวงทอง คลองใต้ดิน ถิ่นไทรงาม
อำเภอไทรงาม เป็นอำเภอสำคัญอำเภอหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชรเป็นอำเภอที่อุดมสมบูรณ์มากโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเกษตร มีทุ่งนาที่งดงามมีผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ และมีแหล่งธรรมรุ่ง คือมีวัดป่าไทรงามเป็นศูนย์กลางแห่งธรรมะของจังหวัดกำแพงเพชร  อำเภอไทรงาม แบ่งเป็น ๗ ตำบล คือ
1. ไทรงาม  (Sai Ngam)
2. หนองคล้า  (Nong Khla)
3. หนองทอง  (Nong Thong)
4. หนองไม้กอง  (Nong Mai Kong)
5. มหาชัย  (Maha Chai)
6. พานทอง  (Phan Thong)
7. หนองแม่แตง  (Nong Mae Taeng)
 อำเภอไทรงามตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดกำแพงเพชร  มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียง ดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอลานกระบือ
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอวชิรบารมีและอำเภอสามง่าม (จังหวัดพิจิตร)
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอบึงสามัคคีและอำเภอทรายทองวัฒนา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเมืองกำแพงเพชร    มีพื้นที่ 448.9 ตร.กม.  ประชากร 51,087 คน (พ.ศ. 2557) ความหนาแน่น 113.80 คน/ตร.กม.
     อำเภอ ไทรงาม แต่เดิมเป็นเขตป่าเตรียมสงวน ตั้งอยู่ในเขตตำบลหนองคล้า อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ในปี พ.ศ.2501 มีราษฎรกลุ่มหนึ่งจากบ้านทุ่งทราย และชาวนครสวรรค์ ประมาณ 12 ครอบครัว ซึ่งล้วนเป็นญาติโยมของหลวงปู่อินทร์ จันทูปโม ได้สำรวจสภาพพื้นที่พบว่าเป็นที่ราบกว้างใหญ่ มีคลองธรรมชาติ เหมาะแก่การตั้งหลักแหล่งและประกอบอาชีพ จึงอพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของ หมู่ ๕ ต.ไทรงาม ในปีต่อมาเกิดน้ำท่วมจึงอพยพไปอยู่ที่บ้านหนองทราย หรือบ้านไทรงามใต้ หมู่ 7 ต.ไทรงาม ในปัจจุบัน
มีเรื่องเล่ากันเป็นตำนาน ต่อกันมาว่าคืนหนึ่งมีปรากฏการณ์ที่มหัศจรรย์เกิดขึ้นในเวลาพลบ ค่ำ คือเกิดดวงประทีปดวงใหญ่ลอยลงมากลางหนองทราย ซึ่งมีต้นไทรใหญ่ขึ้นอยู่ตรงกลางเป็นภาพที่งดงามมากจึงได้เรียกชื่อหมู่บ้าน นี้ใหม่ว่า "บ้านไทรงาม" โดยมีเหตุผลว่าหากใช้ชื่อหนองทรายตามที่เรียกกันมา ฟังดูเป็นที่ลุ่มไม่เป็นมงคลและยังคล้ายกับบ้านทุ่งทราย ซึ่งมีจำนวนครอบครัวส่วนหนึ่งอพยพมา นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันสร้างสำนักสงฆ์ให้หลวงปู่อินทร์ พระสงฆ์ผู้ซึ่งได้รับการเคารพนับถือว่าเป็นเหมือนร่มโพธิ์ ร่มไทรของชาวบ้าน เรียกว่า "วัดไทรงาม" ปัจจุบันคือวัดไทรงามใต้
      ไม่นานนักมีจำนวนผู้อพยพครอบครัวมาอยู่อีก 23 ครอบครัวและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งชุมชนหนาแน่นขึ้น ในปี พ.ศ.2505 -2506 แกนนำที่เป็นผู้สำรวจพื้นที่ในคราวแรกได้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนใน พื้นที่บริเวณไทรงามเหนือ ซึ่งเป็นสถานที่ที่อพยพมาอยู่ในครั้งแรก และเป็นพื้นที่เขตเทศบาลในปัจจุบัน
     ปัจจุบัน อำเภอไทรงามตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกและห่างจากที่ตั้งศาลากลางจังหวัด กำแพงเพชรประมาณ 45 กิโลเมตร โดยมีถนนทางหลวงแผ่นดินกำแพงเพชร - พิจิตร ตัดผ่าน ลักษณะทั่วไปของพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มดินเป็นดินปนทราย ไม่อุ้มน้ำ ไม่มีภูเขาไม่มีแม่น้ำไหลผ่าน แต่เดิมพื้นที่อาณาบริเวณนี้เป็นเขตป่าเตรียมการสงวนตามมติคณะรัฐมนตรี ได้มีการจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอไทรงาม เมื่อปี พ.ศ.2518 และได้รับยกฐานเป็นอำเภอไทรงาม เมื่อปี พ.ศ.2522 ต่อมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยกรมป่าไม้ได้ออกกฎกระทรวง กำหนดให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอไทรงามเป็นเขต "ป่าสงวนแห่งชาติหนองคล้า - ดงฉัตร"
จากคำขวัญประจำอำเภอไทรงามที่ว่า
ไทรงาม เมืองคนแกร่ง      แหล่งธรรมรุ่ง   ทุ่งรวงทอง   คลองใต้ดิน  ถิ่นไทรงาม   มีความหมาย ที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
ไทรงาม เมืองคนแกร่ง      น่าจะหมายถึง ชาวไทรงาม ที่อพยพเข้าอยู่สถานที่นี้ ต้องผจญภัยต้องภัยธรรมชาติ ทั้งน้ำท่วม และฝนแล้ง จนต้องอพยพผู้คน ออกจากหมู่บ้าน ไปสร้างหมู่บ้านใหม่ ทำให้คนไทรงามในยุคแรกๆ เป็นคนที่ สู้ชีวิต จนประสบความสำเร็จ ในการสร้างบ้านเรือนใหม่จนกลายเป็นอำเภอไทรงามในปัจจุบัน
แหล่งธรรมรุ่ง  
        อำเภอไทรงามมีวัดป่าไทรงามเป็นแหล่งธรรมะที่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร ปัจจุบันอยู่ความปกครองดูแลของ พระครูโสภณวชิรกิจ หรือพระสง่า อุฏฐาโน โดยมีกำนันวิชัย ครองสมบัติ กำนันตำบลไทรงาม ทำหน้าที่สนับสนุนในกิจกรรมทาง พระพุทธศาสนา อยู่ในความร่วมมือของทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน วัดป่าไทรงามตั้งขึ้นจากการดำริของหลวงปู่อินทร์ ได้ปรารภที่สร้างวัดและสำนักปฏิบัติธรรมขึ้นแต่ท่านมรณภาพไปก่อน ต่อมาจึงเปิดเป็นสำนักสงฆ์อินทราราม โดยมีหลวงพ่อจันทร์ อินทวีโร (พระครูบรรพตวรกิจ) และในวันที่ 28 มีนาคม 2533 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศรับรองสำนักสงฆ์อินทราราม เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย ชื่อวัดไทรงาม โดยมีพระสง่า อุฎฐาโน เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก
"วัดไทรงาม" หรือในนามที่ประชาชนเรียกขานกันโดยทั่วไปว่า "วัดป่าไทรงาม" เป็นวัดสาขาที่ ๖๘ ของวัดหนองป่าพง ตั้งอยู่ที่บ้านไทรงาม หมู่ ๔ ต.ไทรงาม อ.ไทรงาม จ.กำแพงเพชร กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศยกย่องเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ให้วัดป่าไทรงามเป็นศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ
 
 
กระทรวงศึกษาธิการ ประจำ จ.กำแพงเพชร เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ
        วัดป่าไทรงามมีลักษณะพิเศษ คือเป็นสถานที่ฝึกอบรมคุณธรรม จริยธรรม ข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่น ตลอดจนนักเรียน นิสิตนักศึกษาและประชาชน ในปีหนึ่งจำนวนมากและได้ผลอย่างดียิ่งทุกครั้ง ทำให้วัดป่าไทรงาม มีผู้เข้ารับการอบรมอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนกระทั่งตั้งอาคารสำหรับทำบุญและอบรมคุณธรรมขนาดใหญ่ จุคนได้นับพันคนแต่กระนั้นก็ยังไม่พอกับความต้องการของผู้เข้ารับการอบรม ในศาลา มีพระประธานขนาดใหญ่ โดยจำลองมาจากประเทศอินเดีย พุทธลักษณะงดงามยิ่งแปลกตากว่าทุกวัด รอบวัดมีลักษณะเป็นวัดป่าที่กำลังพัฒนาให้เป็นป่าท่ามกลางท้องนา รอบๆศาลาอเนกประสงค์ มีสระบัวล้อมรอบ สะพานไม้ เราข้ามไปชมพระอุโบสถที่กำลังก่อสร้าง ที่แปลกกว่าอุโบสถโดยทั่วไปคือมีสองชั้น ชั้นล่างจะใช้สำหรับนั่งวิปัสสนากรรมฐาน ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สอนให้คนเกรงกลัวบาป ท่ามกลางสังคมที่สับสนเป็นการฝ่ากระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงของสังคม ไปอย่างกล้าหาญ
        ชั้นล่างด้านหลังพระอุโบสถ เป็นศูนย์ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย สายใยชุมชน ที่ตั้งใจจะทำให้ผู้เข้าชมได้รำลึกถึง ความต่อเนื่องระหว่างสมัย ระหว่างชีวิตที่มีคุณค่าอย่างมิขาดสายใย ชั้นบนเป็นพระอุโบสถ ที่เน้นการใช้ประโยชน์ในสังคม มากกว่าการยึดรูปแบบโดยทั่วไปนับว่าผู้ออกแบบมีความคิดก้าวหน้ามีวิสัยทัศน์ที่น่ายกย่องชมเชยยิ่งนัก
        วัดป่าไทรงาม หรือวัดไทรงาม เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีคุณค่าต่อการดำรงชีวิตในสังคมและมี คุณค่าต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อย่างต่อเนื่อง มิได้ใช้วัตถุนิยมนำหน้าจิตนิยม แต่สามารถผสมกลมกลืนระหว่างวัตถุนิยมและจิตนิยมได้อย่างเหมาะสมและลงตัว

ทุ่งรวงทอง
  อำเภอไทรงาม มีแปลงนาที่งดงามมาก มีการปลูกข้าวจำนวนมาก เมื่อเวลาข้าวในทุ่งนาสุกแก่ เหมาะแก่การเก็บเกี่ยว จะเหลืองสวย เป็นสีทอง งดงามทั้งอำเภอไทรงาม จึงได้คำขวัญอีกวรรคหนึ่งว่า ทุ่งรวงทอง
คลองใต้ดิน
พื้นที่อำเภอไทรงาม ทั้งอำเภอเป็นที่ราบลุ่ม มีน้ำใต้ดินตื้นอยู่ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าเจาะหรือขุดไปที่ใด
จะพบน้ำใต้ดินจำนวนมาก สูบไม่มีวันหมดสามารถ ทำนาได้ปีละสามครั้ง โดยไม่ต้องรอน้ำฝน ชาวบ้านจึงเปรียบเทียบว่าเหมือนมีคลองอยู่ใต้ดิน จึงกลายมาเป็นคำขวัญวรรคสำคัญอีกวรรคของอำเภอไทรงามว่า คลองใต้ดิน

 ถิ่นไทรงาม
ที่ตัวอำเภอไทรงามโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเข้าที่ว่าการอำเภอไทรงาม มีการปลูกต้นไทรไว้มากมาย ปลูกไว้ตั้งแต่ ปีพุทธศักราช ๒๕๒๑ อายุเกือบสี่สิบปี สูงใหญ่เป็นทิวแถว งดงาม ร่มเย็น เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญ ของอำเภอไทรงาม ส่วนต้นไทรงามเก่าแก่ ที่เป็นที่มาของคำขวัญประจำอำเภอ ได้ตายไปแล้ว ต้นไทรเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของคำขวัญวรรคสำคัญอีกวรรคหนึ่งของอำเภอไทรงามว่า ถิ่นไทรงาม

อำเภอ ไทรงามจึงมีลักษณะเด่น ๓ ประการตามคำขวัญ ที่แสนเหมาะสม คือ
      ไทรงาม เมืองคนแกร่ง      แหล่งธรรมรุ่ง   ทุ่งรวงทอง คลองใต้ดิน  ถิ่นไทรงาม

            บท อ.สันติ อภัยราช