จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช

หมวดหมู่ทั่วไป => จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร => ข้อความที่เริ่มโดย: apairach ที่ มกราคม 15, 2017, 01:01:18 pm



หัวข้อ: อำเภอพรานกระต่าย เอกลักษณ์ภาษาถิ่น หินอ่อนเมืองพาน ตำนานถ้ำกระ
เริ่มหัวข้อโดย: apairach ที่ มกราคม 15, 2017, 01:01:18 pm
อำเภอพรานกระต่าย
       เอกลักษณ์ภาษาถิ่น     หินอ่อนเมืองพาน        ตำนานถ้ำกระต่ายทอง     เห็ดโคนดองรสดี
เป็นคำขวัญประจำอำเภอพรานกระต่าย ที่แสดงให้เห็นภาพถึงภาพประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของอำเภอพรานกระต่ายอย่างชัดเจน อำเภอพรานกระต่ายเป็นอำเภอสำคัญอำเภอหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร
  พรานกระต่ายเป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ทางเหนือของจังหวัด มีฐานะเป็นอำเภอมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์โดยได้รับจัดตั้งขึ้นเป็นอำเภอเมื่อปี 2438 เป็นส่วนหนึ่งในการปกครองของจังหวัดกำแพงเพชร มีมณฑลนครเป็นหน่วยปกครองส่วนภูมิภาคอีกชั้นหนึ่ง ชื่ออำเภอ “พรานกระต่าย” มีประวัติความเป็นมาเป็นตำนานเล่าขนานกันมาหลายชั่วคนดังนี้
          เมื่อประมาณปี พ.ศ. 1420 เมืองพรานกระต่ายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองบางพานมี มหาพุทธสาครเป็นกษัตริย์ ตัวเมืองตั้งอยู่ห่างจากอำเภอปัจจุบันทางทิศใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร เมืองบางพานนั้นเจริญรุ่งเรืองมา เพราะตั้งอยู่ในที่ราบลำน้ำใหญ่ไหลผ่านจากกำแพงเพชรไปสู่ที่จังหวัดสุโขทัย จึงเป็นเส้นทางคมนาคมเมืองใหญ่และเป็นแหล่งนี้อันอุดมสมบูรณ์ บ้านเรือนเรียงขนานแน่นสองฝั่งคลอง ปัจจุบันมีเมืองเก่าแก่ทรุดโทรมอยู่ในป่ารกเป็นคันเมือง คูเมือง (วัดเก่าหลายแห่ง) หมู่บ้านในอดีตยังเป็นหมู่บ้านในปัจจุบันอยู่บ้าง เช่น วัดโคก บ้านวังไม้พาน และบ้านจำปีจำปา เป็นต้น สัญลักษณ์แห่งความเจริญสูงสุดก็คือการสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองสัมฤทธิ์ไว้ที่ เขานางทอง บนเขานางทองใกล้เมืองบางพาน ชื่อ “นางทอง” เป็นชื่อของมเหสีพระร่วง มีถนนจากสุโขทัยผ่านอำเภอพรานกระต่ายไปถึงจังหวัดกำแพงเพชร เรียกว่า “ถนนพระร่วง”
          กล่าวกันว่าในปี พ.ศ. 1800 เศษ พระร่วงครองสุโขทัย ทรงมีนโยบายที่จะขยายอาณาเขตให้กว้างขวางและมั่นคง จึงดำริที่จะสร้างเมืองหน้าด่านขึ้นทุกทีซึ่งได้รับสั่งให้นายพรานผู้ชำนาญเดินป่าออกสำรวจเส้นทางและชัยภูมิที่มีลักษณะดี กลุ่มนายพรานจึงได้กระจายกันออกสำรวจเส้นทางต่าง ๆ จนกระทั่งมาถึงบริเวณแห่งนี้ได้พบกระต่ายป่าขนสีเหลืองเปล่งปลั่งด้วยทองสวยงามมาก นายพรานจึงกราบถวายบังคมทูลขอราชานุญาตจากพระร่วงเจ้าเสด็จไปติดตามจับกระต่ายขนสีทองตัวนี้มาถวายเป็นราชบรรณาการถวายแด่พระมเหสีพระร่วง นายพรานจึงกลับไปติดตามกระต่ายป่าตัวสำคัญ ณ บริเวณที่เดิมที่พบกระต่ายได้ใช้ความพยายามดักจับหลายครั้ง แต่กระต่ายตัวนั้นสามารถหลบหนีไปได้ทุกครั้ง นายพรานมีความมุมานะที่จะจับให้ได้จึงไปชวนเพื่อนฝูงนายพรานด้วยกันมาช่วยกันจับ แต่ยังไม่ได้จึงอพยพลูกหลานพี่น้อง และกลุ่มเพื่อนฝูง
ต่าง มาสร้างบ้านถาวรขึ้นเพื่อผลที่จะจับกระต่ายขนสีทองให้ได้ กระต่ายก็หลบหนีเข้าไปในถ้ำซึ่งหน้าถ้ำมีขนาดเล็กนายพรานเข้าไปไม่ได้แม้พยายามหาทางเข้าเท่าไรก็ไม่พบจึงได้ตั้งหมู่บ้านขึ้นหน้าถ้ำเพื่อเฝ้าคอยจับกระต่ายขนสีทอง           ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ซึ่งต่อมาหมู่บ้านได้ขยายตัวเป็นชุมชนขนาดใหญ่จึงได้เรียกชุมชนนั้นว่า “บ้านพรานกระต่าย” และเป็นชื่ออำเภอพรานกระต่าย ในสมัยต่อมา
          ในปัจจุบันถ้ำที่กระต่ายขนสีทองหนีเข้าไปซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ถ้ำกระต่ายทอง”ได้รับการบูรณะใหม่เพื่อทำให้เป็นสัญลักษณ์ประจำท้องถิ่นและประชาชนก็เห็นความสำคัญของสถานที่นี้จำได้ช่วยกันดูแลรักษาตกแต่งบริเวณให้สะอาดมีอนุสาวรีย์ของนายพรานที่มาล่ากระต่าย มีอาคาร เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญสำหรับ หมู่บ้านสมกับเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอพรานกระต่าย          
ถ้ำกระต่ายทองจึงเป็นตำนานที่ประชาชนเล่าขานกันต่อๆ มา และกลายเป็นอำเภอพรานกระต่ายในที่สุด ในปัจจุบัน
          รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็น สยามมงกุฎราชกุมาร ในรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จ เมืองพรานกระต่ายเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2450 ได้กล่าวถึงเมืองพรานกระต่ายว่า
          ถึงบ้านพรานกระต่ายจวนเที่ยง ที่บ้านพรานกระต่ายนี้ มีบ้านเรือนหนาแน่น ทุก ๆ บ้านมีรั้วกั้นเป็นอาณาเขต สังเกต ว่าบ้านช่องดี สะอาดเรียบร้อย เป็นระเบียบ จึงเข้าใจว่าราษฎร ตามแถบนี้อยู่จะบริบูรณ์ ... สังเกตกิริยามารยาทเรียบร้อย ซึ่งทำให้เข้าใจว่าที่นี่จะเป็นเมืองอย่างโบราณกาล
   
 
 
อำเภอพรานกระต่าย แบ่งเขตการปกครอง เป็น 10 ตำบล , 129 หมู่บ้าน
ประกอบด้วยตำบล พรานกระต่าย , หนองหัววัว , ท่าไม้ , วังควง , วังตะแบก , เขาคีริส , คุยบ้านโอง , คลองพิไกร , ถ้ำกระต่ายทอง , ห้วยยั้ง
อำเภอพรานกระต่ายมีเอกลักษณ์ที่สำคัญหลายประการเช่น
เอกลักษณ์ภาษาถิ่น
อำเภอพรานกระต่ายมีเอกลักษณ์สำคัญ คือภาษาถิ่น    ที่มีลักษณะพิเศษ สืบทอดมาแต่สมัยสุโขทัย
เป็นอำเภอเดียวที่มีภาษาพูดและมีสำเนียงที่มีเสน่ห์ไม่เหมือนกับแห่งใดในประเทศไทยดังตัวอย่าง (สัมภาษณ์ชาวพรานกระต่ายแท้ๆ)
หินอ่อนเมืองพาน
        แหล่งหินอ่อนที่สำคัญในจังหวัดกำแพงเพชร อยู่ที่อำเภอพรานกระต่าย บริเวณทิวเขา สว่างอารมณ์ เขาเขียว และเขาโทน ในทางธรณีวิทยา จัดว่าหินอ่อนที่เขาสว่างอารมณ์ มีอายุประมาณ 300 – 400 ล้านปี เป็นหินปูนที่ตกผลึกใหม่อาจเรียกว่า หินอ่อนในแง่การค้า เขาสว่างอารมณ์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของตลาดพรานกระต่าย ลักษณะเป็นภูเขายอดแหลม มีผาชันเช่นเช่นเดียวกับหินปูนทั่วไป ประกอบด้วยหินปูนตกผลึกใหม่ โดยทั่วไปมีชั้นหนาสีขาว สีเทาอ่อน สีเทาแก่ปานกลาง ชั้นหินทั้งหมดหนาประมาณ 150 เมตร ในปัจจุบัน รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการทำเหมืองหินอ่อน ในจังหวัดกำแพงเพชร โดยการให้สัมปทาน การทำเหมืองหินอ่อน ในเขตเขาโทน อันเป็นภูเขาลูกหนึ่ง ในทิวเขาสว่าง ให้ประทาน บัตร ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2524 หินอ่อนที่เขาโทนมีคุณสมบัติเด่น คือผิวเป็นมัน มีสีเทาและขาว อมชมพู
        การผลิตหินอ่อนที่อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร จึงเป็นอาชีพเด่นที่สุดอาชีพหนึ่งของจังหวัดกำแพงเพชร ที่นำรายได้มาสู่จังหวัด จำนวนมากหินอ่อนของพรานกระต่าย มีมาตรฐานการผลิต ที่พัฒนาแล้ว ทัดเทียมหรือบางอย่างอาจล้ำหน้าต่างชาติ ผลิตภัณฑ์หินอ่อนที่มีชื่อเสียงของอำเภอพรานกระต่าย จัดเป็นสินค้าของชุมชน อาทิ ช้างแกะสลัก โคมไฟ ที่ทับกระดาษ บาตรพระ แจกัน ศาลเจ้า นาฬิกาตั้งโต๊ะ โต๊ะ เก้าอี้ จานแก้ว ถังแช่ไวน์ และของแต่งบ้านจำนวนมาก มีความละเอียดอ่อนที่สวยงาม ทำชื่อเสียงและรายได้มาสู่จังหวัดกำแพงเพชร จำนวนมาก
เห็ดโคนดองรสดี
      พรานกระต่ายเป็นแหล่งเห็ดโคนที่รสดีมากๆ เป็นเห็ดโคนมี รสหวาน กรอบ ไม่เหนียว ขนาดไม่ใหญ่มาก ขึ้นทั่วไป ในป่าที่พรานกระต่าย มีราคาค่อนข้างสูง สามารถส่งออกไปขายต่างจังหวัดได้ มีมากจนต้อง นำมาดอง ถนอมอาหาร เป็นเห็ดโคนดองที่รสชาติอร่อย ที่สามารถรับประทานได้ทั้งปี
แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญคือ
      เมืองบางพาน อยู่ที่บ้านวังพาน ตำบลเขาคีริส อำเภอพรานกระต่าย เป็นชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่บนเส้นทางถนนพระร่วง ที่จะไปยังสุโขทัย มีลักษณะเมืองค่อนข้างกลม มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบสามชั้น ภายในเมืองพบซากโบราณสถานขนาดเล็ก มีสภาพเป็นกองศิลาแลง ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองมี เขานางทอง บนยอดเขามีโบราณและฐานพระเจดีย์ทรงดอกบัวตูม ภายในเมืองพานแม้ว่าจะพบซากโบราณสถานขนาดเล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของผังเมือง แต่ความสำคัญของชุมชนแห่งนี้คือ เป็นเมืองที่อยู่บนเส้นทางคมนาคม ที่ติดต่อกับกรุงสุโขทัย และเมืองอื่นได้สะดวก เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ท่ามกลางที่ราบลุ่มซึ่งเพาะปลูกได้ดี เคยเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ที่พญาลิไท นำมาประดิษฐานไว้
•   อำเภอพานกระต่าย ยังมีวัดที่เก่าแก่ และทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมและ โบราณคดี จำนวนมาก อาทิวัด
•   วัดไตรภูมิ ตำบลถ้ำกระต่ายทอง
•   วัดอินทาราม ตำบลท่าไม้
•   วัดกุฏิการาม ตำบลพรานกระต่าย
     อำเภอพรานกระต่าย เป็นอำเภอที่เก่าแก่ และมีประชาชน ที่อยู่มาตั้งแต่สมัยโบราณ  มีภาษา วัฒนธรรม และเอกลักษณ์เป็นของตนเอง นับว่าเป็นอำเภอที่ทรงคุณค่าที่น่าศึกษาที่สุดอำเภอหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร
                            บท สันติ อภัยราช