จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
พฤษภาคม 19, 2024, 07:45:52 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
  หน้าแรก ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
  แสดงกระทู้
หน้า: 1 ... 84 85 [86] 87 88 ... 95
1276  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / ตำนานพระซุ้มกอ ฉบับสมบูรณ์ โดยอาจารย์สันติ อภัยราช เมื่อ: กันยายน 14, 2010, 12:10:16 pm
  ตำนานพระซุ้มกอ



มีกูไว้แล้วไม่จน  คือถ้อยคำประจำองค์พระซุ้มกอ  ซึ่งหมายถึง พระซุ้มกอสุดยอดทางโชคลาภ เมตตามหานิยม ใครมีไว้แล้วจะร่ำรวย เป็นมหาเศรษฐี เจริญรุ่งเรือง ในชีวิต  ทำให้ผู้คนทั้งประเทศปรารถนาที่จะเป็นเจ้าของพระซุ้มกอ การเช่าจึงอยู่ที่หลักล้านขึ้นไป พระซุ้มกอจึงกลายเป็น หนึ่งในเบญจภาคี  หรือหนึ่งในจักรพรรดิแห่งวงการพระเครื่อง
 เบญจภาคี คือ การนำเอาพระเครื่องที่เป็นพระเครื่องชั้นยอดมารวมกัน ๕ องค์ โดยผู้ทรงคุณวุฒิท่านหนึ่ง ในวงการพระเครื่องยุคแรก ที่วงการพระรู้จักท่านในนามปากกา " ตรียัมปวาย " เป็นผู้บัญญัติจัดตั้งขึ้น จนเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป พระเบญจภาคี ๕ องค์ ประกอบด้วย
 
                                                                 พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่
.   พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์พระประธาน หรือที่นิยมเรียกว่า พระพิมพ์ใหญ่ เป็นพระพิมพ์ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในบรรดาพระสมเด็จวัดระฆังทั้ง ๔ พิมพ์ ด้วยความสง่างดงาม  ขององค์พระ และความสมบรูณ์
สมส่วนขององค์ประกอบโดยรวมขององค์ประกอบศิลป์ทั้งหมด ประกอบกับจำนวนพระที่มีปริมาณเหมาะสม จึงส่งผลให้พระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์พระประธานนี้ นับเป็นสุดยอดของพระในตระกูลสมเด็จทั้งหมด
      พระสมเด็จวัดระฆังโฆษิตาราม
พระสมเด็จวัดระฆังเป็นพระที่สร้างจากเนื้อผงวิเศษ ๕ ชนิด คือ ปถมัง , อิทธเจ , มหาราช , พุทธคุณ และตรีนิสิงเห ตามลำดับ การเกิดผงวิเศษทั้ง ๕ นี้ นับเป็นขบวนการหล่อหลอมพระเวทย์วิทยาคมอันศักดิ์สิทธิ์ทั้ง ๕ มาเป็นหนึ่งเดียว วิธีการสร้างผงวิเศษนั้นเริ่มมาจากการบริกรรมพระคาถา เขียนสูตร ชักยันต์ด้วยชอล์กลงในกระดาษชนวน เขียนแล้วลบ ลบแล้วเขียนใหม่ทำเช่นนี้นับเป็นร้อยๆครั้ง จนเกิดเศษ ชอล์ก จากการลบ ซึ่งถือว่าเป็นผงศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดจากการตั้งจิตบริกรรมพระเวทย์ในขณะที่เขียนให้ครบถ้วนตามจำนวนที่พระเวทย์ในแต่ละบทกำหนดไว้ ขั้นผงที่ได้ออกมาเป็นผงที่ได้ออกมาเป็นผงที่มีชื่อ ? ปถมัง ? .....เมื่อได้ผง ? ปถมัง ? แล้ว นำผงนี้มาปั้นเป็นดินสอ ตากแห้ง แล้วนำแท่งดินสอชอล์กที่เกิดจากผงปถมัง มาเขียนสูตรพระเวทย์อีกบทหนึ่งเขียนแล้วลบ ทำซ้ำกันตามจำนวนครั้งที่พระเวทย์บทใหม่กำหนด จนเกิดผงชอล์กครั้งใหม่ ที่เรียกว่า ? ผงอิทธเจ ? แล้วก็ผงอิทธเจมาปั้นเป็นแท่งชอล์ก เขียนสูตรพระเวทย์อีก เขียนแล้วลบ ลบแล้วเขียนเช่นนี้จนได้ ผงมหาราช แล้วก็ผงมหาราช กระทำเช่นเดียวกับขั้นตอนการทำตอนการผงอื่นๆ หากแตกต่างกันที่สูตรในการเขียน อักขระเลขยันต์ และจำนวนครั้งที่ถือเป็นเฉพาะแต่ละสูตรจนได้ ผงพุทธคุณ และสุดท้ายคือ ผงตรีนิสิงเห อันเกิดจากหลอมรวมสูตรทั้ง ๕ มาเป็นหนึ่งเดียวจากนั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังษี ) จึงนำผงวิเศษนี้มาผสมรวมกันกับเปลือกหอยที่บดหอยที่บดละเอียดอันเป็นส่วนผสมหลัก นอกจากนี้ก็จะมีข้าวสุก ดินสอพอง กล้วย โดยมีน้ำตังอิ๊วเป็นตัวประสานส่วนผสมเหล่านี้ จากนั้นจึงนำพระที่ผสมเสร็จแล้วนั้น กดลงในแม่พิมพ์ซึ่งแกะพิมพ์โดย นายเทศ แห่งช่างหล่อ ทำให้ พิมพ์งดงามและสมบูรณ์แบบ
                     พระรอด วัดมหาวัน จ.ลำพูน

 
                                                                 พระรอด วัดมหาวัน จ.ลำพูน
วัดมหาวัน จ.ลำพูน พระอารามที่มีชื่อเสียงเลื่องลือไป ทั่วทุกภูมิภาคของเมืองไทย ทั้งนี้มิใช่เพราะเรื่องอื่นใด นอกจากเพียงประการเดียวคือ เป็นแหล่งกำเนิดของ "พระรอด" ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องชุดเบญจภาคี พระรอด วัดมหาวัน มีพระพุทธศิลป์เป็นยุคสมัยทวาราวดี ประทับนั่งปางมารวิชัยและขัดเพชรบนฐานบัว ๒ ชั้น ด้านหลังขององค์พระเป็นปรกโพธิ์เรียงตั้งแต่หัวเข่าขององค์พระขึ้นเป็นซุ้มครอบองค์พระ จำนวนใบโพธิ์และเอกลักษณ์ของ ก้านโพธิ์ที่ชัดเจนในแต่ละพิมพ์จะมีจำนวนไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพระรอดในแต่ละพิมพ์ การขุดหาพระรอดมีกันหลายครั้งหลายหน จนประมาณครั้งมิได้ เท่าที่สืบทราบมีดังนี้  การพบกรุพระรอดในสมัยเจ้าหลวงเหมพินธุไพจิตร เมื่อปี ๒๔๓๕-๒๔๔๕ พระเจดีย์มหาวันชำรุดทรุดโทรมและพังทลายลงมาเป็นส่วนมาก ดังนั้น เจ้าเหมพินธุไพจิตร จึงดำริให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่ โดยการสร้างสวมครอบองค์เดิมลงไป ส่วนเศษปรักหักพังที่กองทับถมกันอยู่นั้น ได้จัดการให้โกยเอาไปถมหนองน้ำซึ่งอยู่ระหว่างหอสมุดของวัด โอกาสนั้นได้พบพระรอดเป็นจำนวนมากมายภายในกรุพระเจดีย์มหาวัน พระรอดส่วนหนึ่งได้รับการบรรจุ กลับคืนเข้าไปในพระเจดีย์ตามเดิม อีกส่วนหนึ่งมีผู้นำไปสักการบูชา และส่วนสุดท้ายได้ปะปนกับสร้างกรุและ เศษดินทรายจมอยู่ในหนองน้ำพระรอดได้ขุดพบที่วัดมหาวัน พุทธศิลป์อยู่ในยุคกลางของสมัยหริภุญไชย (ลำพูน) อาณาจักรหริภุญไชย สร้างขึ้นราวต้นศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ เป็นอาณาจักรของ กลุ่มชนมอญโบราณ ทางภาคเหนือของประเทศไทย นับถือพระพุทธศาสนาหินยาน ใช้ภาษาบาลีจดคำสอนทางศาสนา ได้มีการกำหนดอายุและ ศิลปะพระรอดว่า สร้างในสมัยกษัตริย์จามเทวี เป็นยุคต้นของสมัยหริภุญไชย มีศิลปะสมัยทวารวดี ในทางพุทธศิลป์แล้ว พระรอดน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงหลังสมัยทวาราวดี รูปแบบของพระรอดคือประทับพระบาทสมาธิเพชร (ท่านั่งขัดสมาธิเพชร) ในสมัยทวาราวดีสร้างพระพุทธรูปนั่งขัดหลวมและหงายฝ่าพระบาทกางออก และไม่ปรากฏพระพุทธรูปนั่งขัดเพชรในศิลปะทวาราวดี พระพุทธรูปนั่งขัดเพชรเป็นแบบอย่างเฉพาะของพระพุทธรูปอินเดียฝ่ายเหนือ (มหายาน) พระพุทธรูปและพระเครื่องในลำพูนได้ปรากฏศิลปะสมัยต่างๆ รวมอยู่หลายสมัย คือ สมัยทวาราวดี ลพบุรี แบบหริภุญไชย พุกาม อู่ทองและสมัยล้านนา
พระนางพญา
 
     จากหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์พบว่า วัดนางพญาสร้างโดยกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา คือ พระวิสุทธิกษัตริย์ เป็นพระราชธิดา ท้าวศรี สุริโยทัย และเป็นพระมารดาขององค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผู้สร้างวัดราชบูรณะ คือพระมหาธรรมราชา จากเหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นอยู่ในระ หว่างศึกสงครามถูกพม่ารุกราน จึงมีการสร้างพระเครื่องมอบให้เป็นขวัญและกำลังใจแก่ทหารที่ออกรบ พระเครื่องรุ่นแรกๆจะมีรูปทรงและองค์พระไม่สวย งาม การทำแม่พิมพ์ก็ทำกันแบบรีบร้อน คือพิมพ์ได้ครั้งละ 3 องค์ แล้วนำไปตัดแยกออกด้วยตอก เนื่องจากในขณะนั้นเป็นช่วงของสงครามถูกพม่ารุกราน จึงทำกันอย่างรีบร้อนทำให้บางองค์ไม่ได้ตัดแบ่งแยกออกจากกันก็มี คือ ยังติดกันเป็นแผงสามองค์   หลังจากองค์สมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพ เป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาแล้ว จึงหันมาพัฒนาวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดนางพญา วัดราชบูรณะที่พระราชบิดาและพระราชมารดาทรงสร้างและสร้าง พระเครื่องให้เป็นขวัญและกำลังใจแก่ทหารที่ออกรบอีกครั้ง ที่เหลือก็นำไปบรรจุไว้ในกรุวัดทั้งสามเพราะมีเขตขัณฑสีมาติดต่อกัน
               พระนางพญาที่สร้างขึ้นมี ๖ พิมพ์ด้วยกัน คือพิมพ์เข่าตรง พิมพ์เข่าโค้ง พิมพ์สังฆาฏิ พิมพ์เทวดา พิมพ์อกนูนใหญ่ พิมพ์อกนูนเล็ก  ยุคแรกสร้างโดยพระวิสุทธิกษัตริย์ รูปทรงองค์พระไม่สวยงามนัก ยุคที่สองสร้างโดยองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช รูปทรงองค์พระสวยงามกว่ารุ่นแรกมาก พระนางพญาทั้งสองยุคนี้อายุการสร้างใกล้เคียงกัน มีพุทธคุณเหมือนกันคือเน้นหนักในเรื่องแคล้วคลาด อยู่ยงคงกระพัน โชคลาภ ค้าขายดี และเมตตามหา นิยมเป็นหลัก พิธีปลุกเสกใช้วิธีอัญเชิญเทพฯ เทวดา ฤาษี พระสงฆ์ผู้ทรงศีลและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในเมืองพิษณุโลกอันได้แก่หลวงพ่อพระพุทธชินราชเป็นต้น ปลุก เสกกันที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ
          มีประสบการณ์เล่าต่อๆกันมาว่า ทหารขององค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ไปรบที่ไหนก็ประสบชัยชนะที่นั่น เป็นที่หวั่นเกรงแก่พม่าในขณะนั้น และอีกประสบการณ์หนึ่งคือเมื่อครั้งที่ทหารไทยไปรบในสงครามอินโดจีนมีชัยชนะครั้งแล้วครั้งเล่า ต่อมามีนักสะสมพระเครื่องนำพระนางพญามาจัดเข้าชุด เบญจภาคี พุทธศิลป์ศิลปะอยุธยาประเภทเนื้อดินเผา ผสมมวลสารพระธาตุเหล็กไหล เหล็กน้ำพี้ โพรงเหล็กไหล พระธาตุสีขาวขุ่น พระธาตุสีชมพู ผงถ่าน ใบลาน เกสรดอกไม้ 108 ว่าน 108 น้ำมนต์ทิพย์ ดินมงคลตามที่ต่างๆ ทรายเงิน ทรายทอง และศาสตราวุธต่างๆ
               ความหมายของมวลสารที่นำมาผสมในพระสมเด็จนางพญามีดังนี้ 1. พระธาตุเหล็กไหล มีความสำคัญด้านคงกระพัน 2. เหล็กน้ำพี้ มีความสำคัญ ด้านแก้เคล็ดและความแข็งแกร่ง 3. โพรงเหล็กไหล มีความสำคัญด้านคงกระพัน แคล้วคลาด 4. พระธาตุสีขาวขุ่นและพระธาตุสีชมพู มีความสำคัญด้านสิริ มงคลและแก้อาถรรพ์ 5. ผงถ่านใบลาน มีความสำคัญด้านอยู่ยงคงกระพัน 6. เกสรดอกไม้ มีความสำคัญด้านเมตตามหานิยม 7. ว่าน 108 มีความสำคัญ ทางด้านแคล้วคลาดและคงกระพัน 8. น้ำมนต์ทิพย์ มีความสำคัญทางด้านแก้เคล็ดและแก้อาถรรพ์ 9. ดินมงคลตามที่ต่างๆ มีความสำคัญทางด้านสิริมงคล 10. ทรายเงินทรายทอง มีความสำคัญทางด้านโชคลาภและเงินทอง

พระผงสุพรรณ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรรณบุรี
 
พระผงสุพรรณ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรรณบุรี
   จังหวัดสุพรรณบุรี นอกจากเป็นดินแดนแห่ง ยุทธหัตถีแล้ว ยังเป็นเสมือนเมืองแห่งพระเครื่อง พระบูชา หลายสิบชนิด ตั้งแต่สมัยอมรวดี ทวาราวดี ศรีวิชัย ปาละ ลพบุรี อู่ทอง อยุธยา และรัตนโกสินทร์ ในจำนวนพระที่ขุดพบนั้น พระผงสุพรรณ กรุวัด พระศรีรัตนมหาธาตุ ถือว่าเป็นสุดยอดของพระทั้งหมด โดยจัดให้อยู่ในชุดพระเบญจภาคี วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือที่ชาวสุพรรณเรียกสั้นๆ ว่า วัดพระธาตุ เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองสุพรรณ สมัยอู่ทองและอยุธยา ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี มีองค์พระปรางค์สูงตระหง่าน ส่วนใครเป็นผู้สร้างวัดนั้น นักประวัติศาสตร์ไม่กล้ายืนยัน เพียงแต่สันนิษฐานว่า น่าจะสร้างใน สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามาพระยา) หรือ สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

พระซุ้มกอ

 
จากพระราชนิพนธ์ประพาสต้นกำแพงเพชรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบันทึกไว้ว่า นายชิด มหาดเล็กหลานพระยาประธานนคโรทัยจางวางเมืองอุทัยธานีเดิมได้รับราชการในกระทรวงมหาดไทยเป็นตำแหน่งนายอำเภอ อยู่ในมณฑลนครชัยศรี ป่วยลาออกมารักษาตัว อยู่บ้านภรรยาที่เมืองกำแพงเพชร ไปได้ตำนานพระพิมพ์มาให้  ว่ามีกษัตริย์องค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระยาศรีธรรมาโศกราช จะบำรุงพระพุทธศาสนาจึงไปเชิญพระธาตุมาแต่ลังกา สร้างเจดีย์ บรรจุไว้แควน้ำปิงและน้ำยมเป็นจำนวนพระเจดีย์ 84,000 องค์ พระฤาษีจึงได้สร้างพระพิมพ์ขึ้นถวายพระยาศรีธรรมาโศกราชเป็นอุปการะ จึงได้บรรจุพระธาตุและพระพิมพ์ไว้ ในพระเจดีย์แต่นั้นมา เหตุที่จะพบพระพิมพ์กำแพงเพชรขึ้นนี้ว่า
เมื่อปีระกาเอกศก จุลศักราช 1211 สมเด็จพระพุฒาจารย์โต วัดระฆัง ขึ้นมาเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชร ได้อ่านศิลาจารึกไทยโบราณมีอยู่ที่วัดเสด็จได้ความว่า มีพระเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมาตุอยู่ริมน้ำปิง ฝั่งตะวันตกตรงข้ามเมือง จึงได้ค้นคว้ากันขึ้น พบพระเจดีย์สามองค์นี้ ชำรุดทั้งสามองค์ เมื่อพญาตะก่าขอสร้างรวมเป็นองค์เดียว รื้อพระเจดีย์ลงจึงได้พบพระพิมพ์กับได้ลานเงินจารึกอักษรขอม เป็นตำนานสร้างพระพิมพ์ และวิธีบูชา นายชิดได้คัดตำนานและวิธีบูชามาให้ด้วย ของถวายในเมืองกำแพงเพชรนี้มีพระพิมพ์เป็นพื้น ได้คัดตำนานติด ท้ายหนังสือเล่มนี้ไว้ด้วย

                     เมืองกำแพงเพชร
               วันที่ 25 สิงหาคม รัตนโกสินทร์ศก 125
ข้าพระพุทธเจ้า นายชิด มหาดเล็กเวร หลานพระยานคโรทัย จางวางเมืองอุทัยธานี เดิมได้รับราชการในกระทรวงมหาดไทย เป็นตำแหน่งนายอำเภอ อยู่มณฑลนครชัยศรี  ข้าพระพุทธเจ้า เจ็บทุพลภาพจึงกราบถวายบังคมลาออกจากหน้าที่ราชการ ขึ้นมารักษาตัวอยู่บ้านภรรยาที่เมืองกำแพงเพชร ข้าพระพุทธเจ้า ได้สืบเสาะหาพระพิมพ์ของโบราณ ซึ่งมีผู้ขุดค้นได้ในเมืองกำแพงเพชรนี้ ได้ไว้หลายอย่างพร้อมกัน พิมพ์แบบทำพระหนึ่งแบบ ขอพระราชทานทูลเกล้าถวาย
ข้าพระพุทธเจ้า ได้สืบถามผู้เฒ่าผู้แก่ถึงตำนานพระพิมพ์เหล่านี้ อันเป็นที่เชื่อถือกันในแขวงเมืองกำแพงเพชรสืบมาแต่ก่อน ได้ความว่า พระพิมพ์เมืองกำแพงเพชรนี้ มีมหาชนเป็นอันมากนิยมนับถือลือชามาช้านาน ว่ามีคุณาสงส์แก่ผู้สักการบูชาในปัจจุบัน หรือมีอานุภาพทำให้สำเร็จผลความปรารถนาแห่งผู้สักการบูชาด้วยอเนกประการ  สัณฐานของพระพุทธรูปพิมพ์นี้ ตามที่มีผู้ได้พบเห็นแล้วมีสามอย่าง คือ
   พระลีลาศ ( ที่เรียกว่าพระเดิน)  อย่าง1 พระยืนอย่าง 1 พระนั่งสมาธิอย่าง 1
วัตถุที่ทำเป็นองค์พระต่างกันเป็น 4 อย่างคือ ดีบุกหรือตะกั่วอย่าง 1 ว่านอย่าง 1 เกสรอย่าง 1
ดินอย่าง 1     พระพิมพ์นี้ ครั้งแรกที่มหาชนจะได้พบเห็นนั้น  ได้ในเจดีย์วัดพระธาตุฝั่งตะวันตกเป็นเดิม
และการสร้างพระพิมพ์นี้ขึ้นนั้น ตามสามัญนิยมว่า ณ กาลครั้งหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว มีพระบรมกษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระยาศรีธรรมาโศกราช เป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ ทรงมหิทธิเดชานุภาพแผ่ไปในทิศานุทิศ ตลอดจนถึงลังกาทวีปรวบรวมพระบรมธาตุ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นำมาสร้างสถูปเจดีย์บรรจุไว้ ในแควน้ำปิงและน้ำยม เป็นต้นเป็นจำนวนเจดีย์  84,000 องค์ ครั้งนั้นพระฤาษี จึงได้กระทำพิธีสร้างพระพิมพ์เหล่านี้ถวายแก่พระยาศรีธรรมาโศกราช  เป็นการอุปการะในพระพุทธศาสนา  ครั้งแรกที่จะได้พบพระเจดีย์ บรรจุพระบรมธาตุและพระพิมพ์เหล่านี้  เดิม ณ ปีระกาเอกศกจุลศักราช 1211 สมเด็จพุฒาจารย์(โต) วัดระฆัง  กรุงเทพ ขึ้นมาเยี่ยมญาติ ณ เมืองกำแพงเพชร  ได้อ่านแผ่นศิลาจารึกอักษรไทยโบราณที่ประดิษฐานอยู่ ณ อุโบสถวัดเสด็จ ได้ความว่า...
มีเจดีย์โบราณบรรจุพระบรมธาตุ อยู่น้ำปิงฝั่งตะวันตก ตรงหน้าเมืองเก่าข้ามสามองค์ ขณะนั้นพระยากำแพง(น้อย)  ผู้งว่าราชการเมืองได้จัดการ ค้นคว้า  พบวัดและเจดีย์สมตามอักษรในแผ่นศิลา จึงป่าวร้องบอกบุญราษฎร ช่วยกันแผ้วถาง และปฏิสังขรณ์ขึ้น เจดีย์ที่ค้นพบเดิมมีสามองค์  องค์ใหญ่ซึ่งบรรจุพระบรมธาตุอยู่กลาง ชำรุดบ้างทั้งสามองค์ ภายหลังพระยากำแพง(อ่อง) เป็นผู้ว่าราชการเมือง  แซงพอกะเหรี่ยง ( ที่ราษฎรเรียกพญาตะก่า) ได้ขออนุญาตรื้อพระเจดีย์สามองค์นี้ทำใหม่ รวมเป็นองค์เดียว
ขณะที่รื้อพระเจดีย์ 3 องค์นั้น ได้พบตรุพระพุทธรูปพิมพ์ และลานเงินจารึกอักษรขอม กล่าวตำนานการสร้างพระพิมพ์ และลักษณะการสักการบูชาด้วยประการต่างๆ  พระพิมพ์ชนิดนี้ มีผู้ขุดได้ที่เมืองสรรค์บุรีครั้งหนึ่งแต่หามีแผ่นลานเงินไม่ แผ่นลานเงินในตำนานนี้กล่าวว่า มีเฉพาะแต่ ในพระเจดีย์วัดพระธาตุฝั่งน้ำปิงตะวันตกแห่งเดียว มีสำเนาที่ผู้อื่นเขียนไว้ดังนี้

            ตำนานที่ปรากฏในจารึกลานเงิน
ตำบลเมืองพิษณุโลก  เมืองกำแพงเพชร เมืองพิชัยสงคราม เมืองพิจิตร เมืองสุพรรณบุรี  ว่ายังมีฤาษี 11 ตน ฤาษีเป็นใหญ่สามตน ตนหนึ่งฤาษีพิลาไลย  ตนหนึ่งฤาษีตาไฟ ตนหนึ่งฤาษีตางัว เป็นประธานแก่ฤาษีทั้งหลาย  จึงปรึกษากันว่า เราท่านทั้งนี้ จะเอาอะไรให้แก่พระยาศรีธรรมาโศกราช ฤาษีทั้งสาม จึงว่าแก่ฤาษีทั้งปวงว่า เราจะทำด้วยฤทธิ์  ทำด้วยเครื่องประดิษฐานเงินทอง ไว้ฉะนี้ฉลองพระองค์ จึงทำเป็นเมฆพัด  อุทุมพร เป็นมฤตย์พิศม์ อายุวัฒนะ  พระฤาษี         ประดิษฐานในถ้ำเหวน้อยใหญ่ เป็นอานุภาพแก่มนุษย์ทั้งหลายสมณชีพราหมณาจารย์เจ้าไปถ้วน 5,000 พระพรรษา   ฤาษีตนหนึ่งจึงว่าแก่ฤาษีทั้งหลายว่า ท่านจงไปเอาว่านทั้งหลาย อันมีฤทธิ์เอามาได้สัก 1000 เก็บเอาเกสรไม้อันวิเศษที่มีกฤษณาเป็นอาทิให้ได้ 1000  ครั้นเสร็จแล้ว ฤาษีจึงป่าวร้องเทวดาทั้งปวงให้ช่วยกันบดยาทำเป็นพระพิมพ์ไว้สถานหนึ่ง เมฆพัดสถานหนึ่ง  ฤาษีทั้งสามองค์จึงให้ฤาษีทั้งปวง ให้เอาว่านทำเป็นผง เป็นก้อนประดิษฐาน ด้วยมนตร์คาถาทั้งปวงให้ประสิทธิทุกอัน จึงให้ฤาษีทั้งนั้นเอาเกสรและว่านมาประสมกันดี เป็นพระให้ประสิทธิแล้ว  ด้วยเนาวหรคุณ  ประดิษฐานไว้บนเจดีย์อันหนึ่งถ้าผู้ใดถวายพระพรแล้วจึงเอาไว้ใช้ตามอานุภาพเถิด  ให้ระลึกถึงคุณพระฤาษีที่ทำไว้นั้นเถิด ฤาษีไว้อุปเทศดังนี้.
   1.แม้อันตรายสักเท่าใด ให้นิมนต์พระใส่ศีรษะ อันตรายทั้งปวงหายสิ้น
   2. ถ้าทำการสงคราม ให้เอาพระใส่น้ำมันหอม แล้วใส่ผม จะไม่ต้องศัตราวุธ
   3. ถ้าจะใคร่มาตุคาม (สตรี)  เอาพระสรงน้ำมันหอมใส่ ใบพลู ทาตัว
   4. ถ้าจะเจรจาให้สง่างาม คนเกรงกลัวเอาพระใส่น้ำมันหอมหุงขี้ผึ้งเสกทาปาก
   5.ถ้าค้าขาย หรือเดินทาง เอาพระสรงน้ำหอมเสกด้วยพระพุทธคุณ
   6. ถ้าเป็นความกัน ให้เอาพระสรงน้ำหอม เอาด้าย 11 เส้น ชุบน้ำมันหอมนั้นและทำไส้เทียนตามถวายพระ แล้วพิษฐานตามใจชอบ ......จารึกลานเงินยังบันทึกว่า.....พระเกสรก็ดี พระว่านก็ดี พระปรอทก็ดี  อานุภาพดังกำแพงล้อมกันภัยแก่ผู้นั้น

ขนาดของพระซุ้มกอ เท่าที่พบในจังหวัดกำแพงเพชร มีหลายขนาดคือ
   พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่
   พระซุ้มกอพิมพ์กลาง
   พระซุ้มกอพิมพ์เล็ก
   พระซุ้มกอพิมพ์คะแนน
พิมพ์ของพระซุ้มกอ มีหลายพิมพ์ คือ
   พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ มีกนก
   พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ ไม่มีกนก (ซุ้มกอดำ)
   พระซุ้มกอพิมพ์กลาง
   พระซุ้มกอพิมพ์เล็ก
   พระซุ้มกอพิมพ์ขนมเปี๊ยะ (ไม่ตัดปีก)
   พระซุ้มกอพิมพ์เล็ก พัดใบลาน
พระซุ้มกอที่นิยมกันมากที่สุดคือ พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่มีลายกนก พบที่กรุทุ่งเศรษฐี และพระบรมธาตุนครชุม เป็นพระดินเผาเนื้อค่อนข้างนิ่ม ละเอียดมาก มีว่านดอกมะขามปรากฏทั่วองค์ การที่มีเนื้อละเอียดและนิ่มทำให้พระซุ้มกอพิมพ์ใหญ่ มักหักชำรุดเสียหายเป็นส่วนใหญ่ เหลือที่สมบูรณ์จริงๆน้อยมาก ทำให้ราคาเช่าสูงมาก เป็นที่นิยมสูงสุด    คนกำแพงเพชร น้อยคนนักที่ได้มีโอกาสเห็นพระซุ้มกอองค์นี้ทั้งที่ กรุอยู่ที่กำแพงเพชร
พุทธลักษณะของพระกำแพงซุ้มกอ เป็นปางสมาธิ พบทั้งสมาธิราบ และสมาธิเพชร เป็นศิลปะเชียงแสนผสมกับสุโขทัย คือองค์พระอวบอ้วน พระอุระผึ่งนูนดูเด่นสง่างามมาก แบบเชียงแสนพระนาภีเรียว การทิ้งพระพาหา และขัดสมาธิงดงามแบบสุโขทัย มีประภามณฑลรอบพระเศียรคล้ายรูปตัว
ก ไก่ บางท่านว่าซุ้มที่องค์พระเหมือนรูปก.ไก่มาก จึงเรียกกันว่าพระซุ้มกอ
   พระซุ้มกอมีหลายประเภท  มีหลายสี มีทั้งสีแดง สีดำ สีขาว สีเขียว ชนิดซุ้มกอดำ เป็นพระที่ไม่ได้เผา องค์พระสร้างด้วยไส้ในของเม็ดมะค่าผสมปูนกินหมาก ผงอิทธิเจ เกสรดอกไม้ 108 ชนิด



ความเชื่อบุญฤทธิ์ของพระซุ้มกอ
   1.พระซุ้มกอดำ มีอิทธิฤทธิ์ อานุภาพ ในทางเมตตามหานิยมและอยู่ยงคงกระพัน
มีลักษณะเป็นพระนั่งสมาธิมือวางบนพระเพลา ไม่เผามีรักทาทั้งองค์
   2.พระซุ้มกอแดง ขาวและเขียว มีอิทธิฤทธิ์สูงทางเมตตามหานิยมสูง มีลักษณะเดียวกับพระซุ้มกอดำ โดยเฉพาะพระซุ้มกอแดง เผาแล้วซัดด้วยว่านผง องค์พระจึงสีสดงดงามมาก เนื้อมันปู มีความแข็งแกร่งคงทนกว่าสีดำ ยังพอมีให้เห็นบ้างในบ้านคหบดีที่กำแพงเพชร

การค้นพบพระซุ้มกอ
เมื่อสมเด็จพุฒาจารย์(โต)เสด็จมาเยี่ยมญาติที่กำแพงเพชร บางท่านว่า มาฌาปนกิจท่านผู้หญิงแพง ภริยาพระยากำแพง(นาค) มีศักดิ์เป็นป้า หลวงพ่อโต ได้เสด็จมาพักที่วิหารวัดเสด็จ ท่านได้นั่งทางใน พบว่าในจอมปลวก มีสิ่งสำคัญอยู่ จึงโปรดให้เลกวัด(ผู้ดูแลรับใช้ในวัด) ขุดพบศิลาจารึกนครชุม (ศิลาจารึกหลักที่สาม) ท่านได้อ่านได้ทราบว่า มีพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เมืองนครชุม
ตรงข้ามเมืองกำแพงเพชร จึงโปรดให้พระยากำแพงผู้เป็นหลาน ได้ไปแผ้วถางและค้นพบ พระเจดีย์สามองค์อยู่บนฐานเดียวกัน เมื่อสมเด็จพุฒาจารย์(โต) ไปค้นหาพระธาตุ พบพระบรมธาตุ และค้นพบพระพิมพ์จำนวนมาก  มีพระซุ้มกอจำนวนมากด้วย ทรงสั่งให้ปฏิสังขรณ์  และรับสั่งให้ฟื้นฟูวัดพระบรม
ธาตุใหม่ แล้วพระองค์เสด็จกลับกรุงเทพ
   พญาตะก่า (แซงพอ)ชาวกะเหรี่ยง มาทำไม้ขอนสักที่เมืองกำแพง ได้ขออนุญาตรื้อพระเจดีย์ทั้งสามองค์ และสร้างเจดีย์ทรงมอญครอบไว้ แต่พญาตะก่าทำไม่เสร็จถึงแก่กรรมก่อน
   พะโป้ น้องชายพญาตะก่า เป็นคนในบังคับอังกฤษ มาขอสัมปทานป่าไม้ในกำแพงเพชร ได้ผลประโยชน์มากมาย จึงได้บูรณะปฏิสังขรณ์ พระบรมธาตุต่อ สร้างเสร็จก่อนพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกำแพงเพชร เพียงสามเดือน
   ระหว่างที่รื้อ เพื่อดำเนินการซ่อมพระบรมธาตุได้ค้นพบพระซุ้มกอจำนวนมาก ในสมัยนั้นประชาชนไม่นิยมนำพระไปไว้ที่บ้านถือว่าไม่เหมาะสม ไม่เป็นสิริมงคล เมื่อพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จเมืองกำแพงเพชร เมื่อเดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2449  จึงมีผู้นำพระเครื่องมาถวายจำนวนมากพระองค์พระราชนิพนธ์ไว้ว่า
   ต่อเมื่อเสด็จมา จึงรู้ว่าพระพิมพ์ มีมากถึงเพียงนี้ ต่างคนต่างเตรียมกันออกมาถวาย ไม่ได้ถือหรือห่อมาตามปกติ จัดมาในพานดอกไม้นั่งราย ตามริมถนนได้เสมอทุกวันไม่ได้ขาด
เมื่อพระพุทธเจ้าหลวงพระราชทาน พระเครื่องให้พระบรมวงศานุวงศ์และผู้ติดตาม ทำให้ประชาชนนิยมแขวนพระเครื่องหรือเก็บพระเครื่องไว้ กับตัวเอง เพื่อเป็นสิริมงคล จึงทำให้ประชาชนแสวงหาพระเครื่องกันอย่างมากมาย แต่ความเชื่อที่ว่า พระควรอยู่วัด ไม่ควรอยู่ที่บ้าน ยังอยู่ในหัวใจประชาชน
การค้นพบครั้งต่อมา ประมาณพุทธศักราช 2490 โดยนาคนาค บุญปรี ได้ค้นพบพระเครื่องจำนวนมาก ที่บริเวณป้อมทุ่งเศรษฐี  แต่ความจริงการขุดสมบัติ จากพระวัด และปราสาทราชวัง มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แล้ว การขุดในสมัยโบราณ นิยมเลือกเอาเฉพาะทองคำ เครื่องเพชร และสิ่งมีค่าที่ฝังไว้  .....  พระเครื่องจะไม่นิยมกันเลย เมื่อขุดพบ จะสาดทิ้ง ในบริเวณใกล้เคียง   นำสิ่งมีค่าไปขาย มีผู้ลักลอบขุดกัน ทั่วทั้งกำแพงเพชร ทั้งวัดและวัง จึงพังพินาศหมด
   พระเครื่องเริ่มมีราคาสูงขึ้น เพราะมีผู้นิยมมากโดยเฉพาะข้าราชการชั้นผู้ใหญ่นิยมนำไปให้เจ้านาย
เพื่อ ผลประโยชน์หลายด้าน ที่บ้านของผู้เขียน ในราวพุทธศักราช 2499 มีผู้ขุดพระเกือบทุกคน นำพระเครื่องมามอบให้บิดา (ปลัดเสรี อภัยราช) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอเมืองกำแพงเพชร จำได้ว่าทุกวัน จะนำพระไปตากที่นอกชานบ้าน ขนาดสนามบาสเกตบอล ทุกวัน มีมากขนาดที่ไม่มีใครสนใจ เลย บิดา ได้นำพระที่ตากแล้วใส่กระป๋องยาเส้น แยกขนาดและประเภทวางไว้ตามคร่าวข้างฝาเรียงรายเต็มไปหมด แต่ไม่มีใครในบ้านสนใจมากมาย นอกจากช่วยกันนับแยกประเภทออกเท่านั้น ภาพเหล่านั้นยังซึมซับอยู่บ้าง ระยะหลังบิดาได้ให้พระแก่ผู้มาขอไปทั้งหมด โดยมิได้เก็บไว้เลยและหมดไป ในระยะเวลาไม่ถึง 20 ปี เหลือไว้แต่เพียงภาพในอดีตเท่านั้น
   การค้นพบระยะหลังๆเป็นสาเหตุทำให้ พระเจดีย์น้อยใหญ่ วิหารโบสถ์ ถูกทำลายโดยสิ้นเชิง การขุดพระ ทำกันอย่างซ้ำซ้อนครั้งแล้วครั้งเล่า ขุดค้นกันทุกตารางนิ้ว แบบนำดินมาบดให้ละเอียดด้วยมือ เนื่องจากพบพระจำนวนมาก ทำให้ทุกคนแสวงหาพระเครื่องกันมาก ถนนทุกสาย มุ่งมาที่กำแพงเพชร มือใครยาวสาวได้สาวเอา บ้านเมืองในขณะนั้น ปากว่าตาขยิบ เมื่อพระกรุใดแตก ก็แบ่งพระกันไป ผู้เขียนเคยไปดูรุ่นพี่ๆเขาขุดกัน ขุดกันอย่างเปิดเผยแม้จะผิดกฎหมาย พระเครื่องพระบูชากำแพงเพชรมากจริงๆ เมื่อขุดลงไปราวๆ 10 เมตร โรยเชือกและตะเกียงเจ้าพายุลงไป พบพระบูชาวางเรียงรายเต็มฐานพระเจดีย์ นับร้อยองค์ ค่อยๆมัดองค์พระใส่เข่ง ดึงพระขึ้นมาจากหลุม มาแบ่งกันปากหลุม บางที ก็ซื้อขายกันปากหลุมเหมือนเป็นเรื่องปกติธรรม ในเมืองกำแพงเพชรขณะนั้น
   แม้แต่เศษของพระซุ้มกอ ก็ยังแสวงหาเพราะทรงอานุภาพมาก อิทธิฤทธิ์ของผงอิทธเจ และคาถาอาคมที่กำกับ  เกจิทั้งหลาย ทดลองมาปลุก ยังกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าแม้แค่ชิ้นส่วนยังทรงอานุภาพ  ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่พระซุ้มกอกำแพงเพชร มีค่าและราคา เลขเจ็ดหลัก  ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมจึง มีผู้คนแสวงหากันมาก
   ด้วยเหตุสำคัญนี้จึงมี ผู้ทำพระซุ้มกอปลอมจำนวนมาก ทั้งทำเหมือนขุดจากกรุ และลือว่ากรุแตก
โดยนำพระไปโรยไว้ที่หลุมที่อ้างว่าพบ พระ  การซื้อขายพระซุ้มกอทำเหมือนเป็นสินค้าเลยทีเดียว  เซียนทั้งหลาย ที่ตั้งตนเป็นเกจิเชี่ยวชาญการดูพระ โดนต้มไปเป็นจำนวนมาก  คนในพื้นที่ ที่ทราบความจริง ก็ได้แต่หัวเราะ เพราะพระซุ้มกอที่เมืองกำแพงเพชรไม่มี อีกแล้ว พระที่ขึ้นมาใหม่ ล้วนเป็นพระที่ฝังไว้ในช่วง 50 -60 ปีเท่านั้น มิใช่พระสมัยโบราณจริงๆ
   กรุที่พบพระซุ้มกอ
   1. กรุทุ่งเศรษฐี  เมืองนครชุม   พบทุกกรุและมีจำนวนมากมาย  อาทิ
      1.1 กรุวัดพระบรมธาตุ นครชุม เป็นกรุแรกที่ ค้นพบพระซุ้มกอ มีการขุดค้นกันตลอด แม้ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมายังมีการขุดค้นอยู่  อาจกล่าวได้ว่าเป็นต้นกำเนิดพระเครื่อง เพราะเนื่องจากพญาลิไท ได้บรรจุพระบรมธาตุและพระเครื่อง ที่วัดพระบรมธาตุแห่งนี้
      1.2 กรุเจดีย์กลางทุ่ง เป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์  หรือเจดีย์ทรงดอกบัวตูมที่มีลักษณะงดงามมาก สร้างราวสมัยพญาลิไท มีการขุดค้นพบพระกำแพงซุ้มกออย่างมากมายที่วัดแห่งนี้ ทั้งในพระเจดีย์และบริเวณอุทกสีมา
      1.3 กรุวัดพิกุล วัดพิกุลมีมณฑปทรงเทวาลัย คาดว่าก่อนหน้าพระพุทธศาสนา วัดพิกุลเป็นเทวาลัยของศาสนาพราหมณ์มาก่อน ผู้ขุดค้นที่วัดพิกุลเล่าให้ฟังว่า เมื่อราวพ.ศ.2490 วัดพิกุลยังเป็นป่าทึบ ได้ขุดค้นพบสมบัติมากมาย พร้อมโครงกระดูกมนุษย์โบราณที่ฝังไว้พร้อมกับเครื่องแต่งกายสมัยทวาราวดี ใต้ฐานบันไดขั้นที่ 2ของเทวาลัย มีดาบ สังวาล แหวนและเครื่องประดับอื่นๆ เป็นจำนวนมาก
เมื่อขุดค้นพบ ได้แบ่งปันกันไป และทำลายกระดูกนั้นเสีย ส่วนพระเครื่องไปสาดทิ้งในบริเวณอุทกสีมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระกำแพงนางพญาที่วัดพิกุลนี้งดงามมาก
      1.4 กรุวัดซุ้มกอ วัดซุ้มกอเป็นวัดเล็กๆในเขตอรัญญิกนครชุม อยู่หน้าศูนย์ท่ารถบขส.ในปัจจุบัน ถนนเข้าเมืองกำแพงเพชรตัดผ่านวัด ทำให้เสียหายมาก พระซุ้มกอที่ค้นพบในวัดนี้ มีจำนวนมาก จนประชาชนเรียกขานวัดแห่งนี้ว่าวัดซุ้มกอ เนื่องจากมีพระดีจำนวนมาก วัดจึงถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง  แต่เดิมเหลือสภาพเป็นแค่เนินดินคล้ายจอมปลวก  เมื่อผู้เขียนเป็นเด็ก มีไร่มีสวนอยู่หลังวัดซุ้มกอได้มีโอกาสเดินผ่านเกือบทุกวัน พบเห็นผู้คนขุดค้นกันทั้งกลางวันและกลางคืน
      1.5 กรุบ้านเศรษฐี อยู่บริเวณป้อมทุ่งเศรษฐี ในบริเวณหลังป้อม มีวัดหลายวัด แต่ในบริเวณป้อมไม่มีวัดอยู่ จากการขุดแต่งของกรมศิลปากร ไม่พบสิ่งก่อสร้างในบริเวณป้อมเลย   เจดีย์วิหารและโบสถ์ทั้งหลาย  ได้ถูกไถทิ้งไป ในคราวขุดสระขนาดใหญ่ของเอกชน  มีการขุดค้นพบพระซุ้มกอบริเวณนอกป้อมทุ่งเศรษฐี จำนวนมาก
      1.6 กรุวัดหนองลังกา  เป็นเจดีย์ทรงลังกา งดงามมากอยู่กลางทุ่ง   สร้างสมัยสุโขทัย
สันนิษฐานว่าสมเด็จพระสังฆราชจากลังกา เสด็จมาประทับที่วัดหนองลังกาแห่งนี้  มีการขุดค้นพระเครื่องที่วัดหนองลังกา อยู่ตลอดเวลาแม้ในปัจจุบัน
   นอกจากนั้น ยังพบ พระซุ้มกอ ในกรุอื่นๆในบริเวณทุ่งเศรษฐี  อีกหลายสิบกรุ
แต่หลักฐานส่วนสำคัญ ได้ถูกทำลายไปโดยสิ้นเชิง
     เนื้อพระซุ้มกอบริเวณทุ่งเศรษฐีนี้ งดงามมาก ใช้ดินบริเวณทุ่งเศรษฐีนี้เองในการมาพิมพ์พระ นับว่าเป็นเคล็ดลับสำคัญอย่างหนึ่งของ พระซุ้มกอกรุทุ่งเศรษฐี
   2. กรุพระซุ้มกอฝั่งกำแพงเพชร
      2.1 กรุวัดพระแก้ว  เป็นวัดหลวงอยู่กลางเมืองกำแพงเพชร เป็นวัดมีขนาดใหญ่เชื่อกันว่า เมื่อครั้งพระแก้วมาประดิษฐานที่กำแพงเพชร ได้มาประดิษฐานที่วัดพระแก้วแห่งนี้ จึงเรียกขานกันว่าวัดพระแก้ว  พบพระซุ้มกอ   เนื่องจากวัดพระแก้วเป็นวัดหลวง จึงพบพระซุ้มกอโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระซุ้มกอหน้าทองจำนวนมากที่วัดนี้
      2.2 วัดในเขตอรัญญิกของกำแพงเพชร ที่มีวัดอยู่กว่า 50 วัด อาทิวัดพระนอน วัดป่ามืด
วัดพระสี่อิริยาบถ วัดนาคเจ็ดเศียร วัดฆ้องชัย วัดสิงห์ วัดช้างรอบ  วัดกรุสี่ห้อง วัดริมทาง วัดอาวาสน้อย
วัดอาวาสใหญ่ วัดหมาผี วัดกำแพงงาม วัดช้าง  ฯลฯ  ปรากฏว่า ทุกวัดพบพระเครื่องซุ้มกอจำนวนมาก

   พระซุ้มกอเมืองกำแพงเพชร เป็นเหมือนดั่งอัญมณีที่สำคัญของเมืองกำแพงเพชร ทำให้คำขวัญวรรคแรกของ จังหวัดกำแพงเพชร   ว่า กรุพระเครื่อง   เมืองคนแกร่ง    ศิลาแลงใหญ่  กล้วยไข่หวาน น้ำมันลานกระบือ  เลื่องลือมรดกโลก  ผู้คนรู้จักกำแพงเพชร เพราะพระกำแพงซุ้มกอ จำนวนมากเช่นกัน คนกำแพงเพชร สมควรที่จะภูมิใจในความเป็นคนกำแพงเพชร และเมืองมรดกโลก ไปนานแสนนาน                          
 



1277  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / พระซุ้มกอ ฉบับย่อ โดยอาจารย์สันติ อภัยราช เมื่อ: กันยายน 14, 2010, 12:05:30 pm
ในวงการพระเครื่อง    ถือกันว่า พระเครื่องที่มีผู้นิยมสูงสุด ที่เรียกกันว่าเบญจภาคี นั้น  นักเลงพระทุกคนแสวงหาให้ได้ครบทั้งห้าองค์   ซึ่งอาจเรียกบุคคลนั้นว่าจักรพรรดิ์ แห่งวงการพระเครื่อง  พระดังกล่าวคือ
1.   พระกำแพงทุ่งเศรษฐี  อันได้แก่พระกำแพงซุ้มกอ  พระกำแพงเม็ดขนุน  พระกำแพงพลูจีบ  ใช้องค์ใดองค์หนึ่งแทนกันได้
2.   พระสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง
3.   พระรอด กรุมหาวัน ลำพูน
4.   พระผงสุพรรณ กรุวันมหาธาตุ  สุพรรณบุรี
5.   พระนางพระยา วัดนางพระยา  พิษณุโลก
พระกำแพงซุ้มกอของจังหวัดกำแพงเพชร  มีชื่อเสียงในด้านความสง่างามด้วยศิลปะแห่งประติมากรรมของสกุลช่างกำแพงเพชร  มีลักษณะงดงามเป็นอันดับหนึ่งของพระนั่งตระกูลทุ่งเศรษฐี  มีทั้งเนื้อดิน เนื้อชิน และเนื้อว่าน พุทธลักษณะมีทั้งสมาธิเพชร และสมาธิราบ โดยเฉพาะพระกำแพงซุ้มกอพิมพ์ใหญ่  มีพุทธลักษณะ ศิลปะเชียงแสนผสมกับสุโขทัย คือพระองค์อวบอ้วน พระอุระผึ่งนูนแลเด่นสง่างามแบบเชียงแสน พระนาภีเรียว  การทิ้งพระพาหา และการขัดสมาธิงดงามแบบสุโขทัย องค์พระมี
ประภามณฑล รอบพระเศียรคล้ายรูปทรงของตัว ก  จึงเรียกกันว่าซุ้มกอ มี 2แบบ คือแบบที่มีลายกนก และแบบไม่มีลายกนก การพบพระซุ้มกอ มีสองระยะ
   ระยะแรก เมื่อสมเด็จพุฒาจารย์ ( โต) เสด็จมาเยี่ยมญาติที่ กำแพงเพชร ราวพุทธศักราช 2392 ได้ค้นพบพระเครื่องที่วัดพระบรมธาตุ นครชุม เป็นพระซุ้มกอจำนวนมาก เป็นขนาดพิมพ์ใหญ่อย่าง เดียว พบจารึกลานเงิน กล่าวถึงการสร้างพระเครื่อง พบคาถาและวิธีการในการสร้างพระเครื่อง เล่ากันว่าทรงนำไป สร้างสมเด็จวัดระฆังอันศักด์สิทธิ์
   ระยะที่ 2 ประมาณพุทธศักราช 2490  ที่กรุทุ่งเศรษฐี  มียอดเจดีย์หัก พบพระซุ้มกอจำนวนมากมีอักขระ  อุ นะ อุ  แบบเชียงแสน  พระพักตร์และสีเนื้องดงามมาก
   ตามตำนานการสร้างพระเครื่อง  จากจารึกลานเงิน ที่พบที่วัดพระบรมธาตุนครชุม กล่าวไว้ว่า
มีฤาษี 3 ตน  ตนหนึ่งฤาษีพิลาไลย  ตนหนึ่งฤาษีตาไฟ   ตนหนึ่งฤาษีตาวัว ป็นประธานแก่ฤาษีทั้งหลายได้ทำพระเครื่องขึ้น
   พระกำแพงซุ้มกอ มีหลายพิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่    พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก  และพิมพ์คะแนน มีคำนิยามสำหรับพระซุ้มกอว่า  มีกูไว้แล้วไม่จน
กรุที่พบพระกำแพงซุ้มกอคือ กรุวัดน้อย (บ้านไร่นครชุม ) กรุฤาษี   กรุกลางทุ่ง (นาตาคำ ) กรุบ้านทุ่งเศรษฐี  กรุวัดหนองพิกุล
   พระพุทธคุณ ของพระกำแพงซุ้มกอ คือ เป็นยอดทางเมตตามหานิยม โภคทรัพย์ โชคลาภ
เป็นสิริมงคล ไม่มี สิ่งใดทำลายล้างได้
   คนทั้งประเทศพากันแสวงหา พระกำแพงซุ้มกอไว้เพื่อสักการบูชา กันทุกคน  คนกำแพงเพชร
มีไม่กี่คนที่มีพระเครื่องกำแพงซุ้มกอ?.. หนึ่งในเบญจภาคี ??สุดยอดแห่งพระเครื่อง??
1278  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / กำแพงเพชรใต้ร่มฟ้ามหาบารมี โดยอาจารย์สันติ อภัยราช เมื่อ: กันยายน 14, 2010, 12:01:08 pm
ทุกรอยพระ ยุคลบาท ประกาศก้อง      กำแพงเพชร ทั้งผอง  ร่วมสรรเสริญ
ทรงปลูกสุข  ดับทุกข์  ไทยจำเริญ         ทอดพระเนตร บาทดำเนิน ทั่วแผ่นดิน
   พระการุณ  ทั้งสามครา มาปรากฏ      กำแพงเพชร เลอยศ  ทั่วทุกถิ่น
ดั่งฝนโปรย ดับร้อน ชนยลยิน            ทุกชีวิน  ใต้ร่มฟ้ามหาบารมี

   จังหวัดกำแพงเพชร เป็นเมืองโบราณที่สำคัญยิ่ง มาตลอดยุคสมัย และเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไทยมาโดยตลอด อาจนับตั้งแต่ พระร่วงโรจนราช กษัตริย์ต้นราชวงศ์พระร่วง
จากตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ว่ามาจากบ้านโคน เมืองคณฑี จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งชาวบ้านโคนถือกันว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก แม้ตำนานท้าวแสนปม ได้กล่าวถึงท้าวแสนปมเป็นพระราชบิดาของ พระเจ้าอู่ทอง ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา..เป็นความเชื่อทั้งสองเรื่องที่คู่กับจังหวัดกำแพงเพชรเล่าขานสืบต่อกันมาช้านาน...ว่าปฐมกษัตริย์ทั้งกรุงสุโขทัย และอยุธยามาจากกำแพงเพชรทั้งสองพระองค์  ....
   จากตำนานสิงหนวติกุมาร ฉบับสอบค้น ของนายมานิต  วัลลิโภดม ได้กล่าวถึงกำแพงเพชรที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์หลายตอนอาทิ....พระเจ้าพรหม  เป็นวีรบุรุษ เป็นศูนย์กลางของพวกเผ่าพันธุ์ที่อยู่ในตระกูลไทย-ลาว เป็นผู้นำขับไล่พวกขอมดำสำเร็จ ในตำนานสิงหนวติกุมาร บอกว่าพรหมกุมารกำจัดพญาขอมดำและพวกขอมบริวารทั้งหลาย หนีลงไปทางทิศใต้ พรหมกุมารตามพิฆาตเข่นฆ่า จนร้อนถึงพระอินทร์ต้องเนรมิตกำแพงหินกั้นกางขวางหน้าไว้ เพื่อช่วยชีวิตพวกขอมดำมิให้สูญเผ่าพันธุ์ กำแพงขวางกั้นกลายเป็นกำแพงเพชร ในกาลต่อมา  พระเจ้าชัยสิริ โอรสพระเจ้าพรหม หนีพระยาสุธรรมวดี มาเดือนหนึ่งถึงแนวกำแพงที่พระอินทร์เนรมิต จึงประกาศสร้างเมืองกำแพงเพชร ณที่นั้น....
   หลักฐานมาปรากฏชัดเจน เป็นที่ยืนยันได้อย่างแน่นอนว่า พญาลิไท กษัตริย์แห่งสุโขทัยเสด็จมาเมืองนครชุม โดยมีหลักฐานจากจารึกนครชุม (จารึกหลักที่ 3) ว่า
พระยาลือไทยราช ผู้เป็นลูกพระยาเลอไทย เป็นหลานแก่พระยารามราช เมื่อได้เสวยราชย์ในเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยได้ราชาภิเษก อันฝูงเท้าพระยาทั้งหลายอันเป็นมิตรสหาย อันมีในสี่ทิศนี้ แต่งกระยาดงวาย ของฝากหมากปลามาไหว้อันยัดยัญอภิเษกเป็นท้าวเป็นพระยาจึงขึ้นชื่อศรีสุริยพงศ์มหาธรรมราชาธิราช...หากเอาพระศรีรัตนมหาธาตุอันนี้มาสถาปนาในเมืองนครชุมปีนี้นั้น พระมหาธาตุอันนี้ใช่ธาตุอันสามานย์ คือพระธาตุแท้จริงแล้ เอาลุกแต่ลังกาทวีปพู้นมาดาย เอาทั้งพืชพระศรีมหาโพธิ์ อันพระพุทธเจ้าเราเสด็จอยู่ใต้ต้นและผจญพลขุนมาราธิราช ได้ปราบแก่สัพพัญญุตญาณเป็นพระพุทธ มาปลูกเบื้องหลังพระมหาธาตุนี้ ผิผู้ใดได้ไหว้นบกระทำบูชาพระศรีรัตนมหาธาตุและพระศรีมหาโพธิ์นี้ว่าไซร้ มีผลอานิสงส์พร่ำเสมอดังได้นบตนพระเป็นเจ้าบ้างแล........
   ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี พระมหากษัตริย์ในยุคนั้นได้เสด็จมากำแพงเพชรหลายครั้งดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร
ครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2088  สมเด็จพระชัยราชาธิราช ยกกองทัพไปเชียงใหม่ ประทับพักทัพหลวง ณ เมืองกำแพงเพชร ถึงหนึ่งเดือน ตามพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐบันทึกไว้ว่า สมเด็จพระชัยราชาธิราชเจ้าเสด็จไปทัพเชียงใหม่ ให้พระยาพิษณุโลกเป็นทัพหน้าและยกพลตั้งทัพชัยตำบลบางพาน (เมืองเก่าในอำเภอพรานกระต่าย) ทัพหลวงประทับแรมที่เมืองกำแพงเพชร 1 เดือน
ครั้งที่ 2  ในปีพ.ศ. 2102 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จมาคล้องช้าง ณ เมืองแสนตอ ซึ่งขึ้นกับเมืองกำแพงเพชร ได้ช้าง 40 เชือก
ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2127 สมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพไปช่วยพระเจ้าหงสาวดีรบกับพระเจ้ากรุงอังวะจากพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐบันทึกไว้ว่า   ศักราช ๙๔๖ วอกศก (พ.ศ. ๒๑๒๗) ครั้งนั้นสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า เสวยราชสมบัติ ณ เมืองพิษณุโลก รู้ข่าวมาว่าพระเจ้าหงสากับพระเจ้าอังวะผิดกัน ครั้งนั้นเสด็จไปช่วยการเศิกพระเจ้าหงสาและอยู่ในวันพฤหัสบดี แรม ๓ ค่ำ เดือน ๕ ช้างต้นพลายสวัสดิมงคลและช้างต้นพลายแก้วจักรรัตน์ชนกัน และงาช้างต้นพลายสวัสดิมงคลลุ่ยข้างซ้าย และโหรทำนายว่าห้ามยาตรา และมีพระราชโองการตรัสว่าได้ตกแต่งการนั้นสรรพแล้ว จึงเสด็จพยุหยาตราไป ครั้งเถิง ณ วันพุธ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๕ เสด็จออกตั้งทัพชัยตำบลวัดยม ท้ายเมืองกำแพงเพชรในวันนั้นแผ่นดินไหว แล้วจึงยกทัพหลวงเสด็จไปถึงเมืองแกรง แล้วจึงทัพหลวงเสด็จกลับคืนมาพระนครศรีอยุธยา ฝ่ายเมืองพิษณุโลกนั้นอยู่ในวันพุธ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๐ เกิดอัศจรรย์แม่น้ำทรายหัวเมืองพิษณุโลกนั้น ป่วนขึ้นสูงกว่าพื้นน้ำนั้น ๓ ศอก อนึ่งเห็นสตรีภาพผู้หนึ่ง หน้าประดุจหน้าช้าง และทรงสัณฐานประดุจวงช้างและหูนั้นใหญ่ นั่งอยู่ ณ วัดประสาท หัวเมืองพิษณุโลก อนึ่ง ช้างใหญ่ตัวหนึ่งยืนอยู่ ณ ท้องสนามนั้นอยู่ก็ล้มตายลงกับที่บัดเดี๋ยวนั้น อนึ่งเห็นตักแตนบินมา ณ อากาศเป็นอันมาก และบังแสงพระอาทิตย์บดมาแล้วก็บินกระจัดกระจายสูญไป ในปีเดียวนั้นให้เทครัวเมืองเหนือทั้งปวง ลงมายังกรุงพระนครศรีอยุธยา ในปีเดียวนั้นพระเจ้าหงสาให้พระเจ้าสาวถี และพระยาพสิม ยกพลลงมายังกรุงพระนคร และ ณ วันพุธ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๒ เพลาเที่ยงคืนแล้ว ๒ นาฬิกา ๙ บาท เสด็จพยุหบาตราไปตั้งทัพตำบลสามขนอน ครั้งนั้นเศิกหงสาแตกพ่ายหนีไป อนึ่งม้าตัวหนึ่งตกลูกและศีรษะม้านั้นเป็นศีรษะเดียวกัน แต่ตัวม้านั้นเป็น ๒ ตัว และเท้าม้านั้นตัวละสี่เท้า ประดุจชิงศีรษะแก่กัน
ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2148 สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จเมืองกำแพงเพชร และประทับที่เมืองกำแพงเพชร 15 วัน
ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2310 พระยาวชิรปราการ (พระเจ้ากรุงธนบุรี) ได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่มิทันได้มาครองเมือง ไปช่วยราชการที่กรุงศรีอยุธยาก่อน
ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ ยกกองทัพผ่านเมืองกำแพงเพชร
ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2318  พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ครั้งเป็นพระยาจักรี ยกกองทัพมาตั้งที่เมืองกำแพงเพชร  เกิดตำนานสมเด็จพุฒาจารย์(โต)
ครั้งที่ 8 พ.ศ. 2488 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิศริยยศที่พระบรมโอรสาธิราช เพื่อทอดพระเนตรโบราณสถาน ในระหว่างวันที่ 16-17 มกราคม 2448  ประทับแรมที่พลับพลา หน้าวัดชีนางเกา 2 ราตรี
ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2449  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชร
ตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม ถึงวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2449  ทรงนำความเจริญและความสงบสุขมาสู่เมืองกำแพงเพชรอย่างมากมาย ทรงถ่ายภาพเมืองกำแพงเพชร ไว้จำนวนมาก และบันทึกการเดินทางประพาสต้นเมืองกำแพงเพชรไว้อย่างละเอียด
   ครั้งที่ 10 พ.ศ.2450 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระอิศริยยศที่พระบรมโอรสาธิราช เพื่อทอดพระเนตรโบราณสถาน ในวันที่ 15 มกราคม 2450 ประทับแรมที่พลับพลา หน้าวัดชีนางเกา 1 ราตรี พระบรมโอรสามหาวชิราวุธสยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็เมืองกำแพงเพชรสองคราว มีการจารึกเล่าเรื่องราวการเสด็จประพาสไว้ในศิลาแผ่นหนึ่ง ความว่า


   
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  ทรงพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนชาวไทยทั้งชาติทรงเสด็จไปเยี่ยมพสกนิกร ทั่วทั้งประเทศไม่มีสถานที่ใดในประเทศไทยที่พระเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จไปเยี่ยม นำความผาสุกร่มเย็นมาสู่คนไทยทั้งชาติ
ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ล้ำเลิศด้วยทศพิธราชธรรม เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาธิคุณ พระมหากรุณาธิคุณ มีน้ำพระราชหฤทัยห่วงใยประชาราษฏรทุกหมู่เหล่า ไม่ว่าท้องถิ่นนั้นจะทุรกันดารเพียงใด ทรงเสด็จไปทุกหนแห่ง ทำให้เกิดโครงการพระราชดำรินับร้อยนับพันโครงการ ซึ่งไม่มีพระมหากษัตริย์ใดในโลกเสมอเหมือน
   ตลอดระยะเวลา หกสิบปีที่เถลิงถวัลยราชสมบัติ   ระยะแปดสิบปีที่ปกครองดูแลพระบารมีแผ่ไพศาลทรง  ทรงมีพระราชอุตสาหะอันแรงกล้าที่จะบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อประโยชน์สุขแห่งราษฎรของพระองค์ที่อยู่ใต้ร่มฟ้าพระบารมีทั้งทางตรงและทางอ้อม พระบารมีที่ปกเกล้าปกกระหม่อมประจักษ์จิตชัดเจนทุกก้าวย่างจารจารึกในจิตใจประชนของพระองค์ไม่รู้ลืม
   โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดกำแพงเพชรของเรา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเสด็จมาเยือนถึงสามครั้ง แต่ละครั้งนำความปลื้มปิติ และสิ่งที่ดีมีมงคลมามอบให้ชาวกำแพงเพชรเสมอ
ทุกรอยละอองธุลีพระบาทที่ทรงยาตรย่ำลง ณ สถานที่ใด ชาวกำแพงเพชรยังจดจำอยู่มิรู้คลาย
ภาพต่างๆ ได้ประทับในดวงจิตชาวประชากำแพงเพชรมิลืมเลือน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดกำแพงเพชรครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ . 2510  ถึงกำแพงเพชรเวลา 10.30 น. เพื่อบวงสรวงสังเวยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเมื่อพ.ศ. 2126 ทรงกรีธาทัพผ่านเมืองกำแพงเพชร ประทับที่วัดยมท้ายเมืองกำแพงเพชรปัจจุบันคือวัดกะโลทัย วันรุ่งขึ้นพักทัพชัยที่ตำบลหนองปลิงสามเพลา)
นายร้อยตำรวจโทปิ่น  สหัสโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น เข้าเฝ้าถวายบังคมทูลอัญเชิญล้นเกล้าทั้งสองพระองค์เสด็จกระทำบวงสรวงสังเวยสมเด็จพระนเรศวร และเยี่ยมเยียนพสกนิกรของพระองค์ บรรดาราษฎรพากันตั้งโต๊ะหมู่บูชาสองข้างทาง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงรับศีลก่อนทำพิธีบวงสรวง เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์ จึงทรงบวงสรวงสังเวยสมเด็จพระนเรศวร แล้วเสด็จทอดพระเนตรผังเมืองเก่าและโบราณวัตถุที่กรมศิลปากรจัดให้ทอดพระเนตร จากนั้นเสด็จมายังศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร เพื่อเสวยพระกระยาหารกลางวัน จนกระทั่งเวลาประมาณ 14.30 น. จึงเสด็จออกมาปลูกต้นสัก ณ บริเวณ หน้าศาลากลางจังหวัด โดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปลูกต้นด้านขวา และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงปลูกต้นด้านซ้าย ของศาลากลาง แล้วจึงเสด็จเยี่ยมราษฎรของพระองค์ เสด็จกลับด้วยเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง
เพื่อเสด็จสู่จังหวัดพิษณุโลกและประทับเครื่องบินพระที่นั่งเสด็จนิวัติพระนคร
ปัจจุบันต้นสักที่ทั้งสองพระองค์ทรงปลูกไว้  จังหวัดกำแพงเพชร ได้นำภาพถ่ายที่ทั้งสองพระองค์ทรงปลูกมาขยายใหญ่ประดิษฐานไว้ ณ ที่ นั้น นับว่าเป็นการทำที่ถูกต้องเหมาะสมยิ่ง และการได้ขยายพันธุ์สักพระราชทาน ไปปลูกทั่วทั้งจังหวัดกำแพงเพชร นับมีวิสัยทัศน์อันกว้างไกล สมควรได้รับการปรบมือให้
   ครั้งที่สอง ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธร เสด็จมาบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินส่วนพระองค์ ณ วัดคูยาง อำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชร ขณะนั้นพระวิเชียรธรรมคณี (ทองพาน) เป็นเจ้าอาวาส
ทรงถวายพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อเป็นทุนเริ่มต้นในการก่อสร้างพระอุโบสถซึ่งกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล เป็นเงินหก
หมื่นบาท ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ   ภ.ป.ร. มาประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถด้านหน้า และพระนามาภิไธยย่อ  ส. ก.มาประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถด้านหลัง เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมพ.ศ. 2523    และพระราชทานนามพระพุทธรูปประธาน ซึ่งหล่อแบบศิลปะสุโขทัย  หมวดกำแพงเพชร ขนาดหน้าตักกว้าง 6 ศอก 9 นิ้ว ว่าพระพุทธวชิรปราการ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527    มีราษฎรมาเข้าเฝ้ารับเสด็จจำนวนมาก  ทั้งสามพระองค์ ทรงเกษมสำราญพระราชหฤทัย ทรงเยี่ยมเยียนราษฎรอย่างใกล้ชิดนำความสุขมาสู่ประชาชนอย่างถ้วนหน้า พระองค์ เสด็จนิวัติพระนครในวันเดียวกัน
   ครั้งที่สาม เมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จมาพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้าน ของอำเภอต่างๆในจังหวัดกำแพงเพชรจำนวน 117  รุ่น ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อพระราชทานธงประจำรุ่นลูกเสือชาวบ้านแล้วทรงพระราชทานพระบรมราโชวาท ต่อลูกเสือชาวบ้านและพสกนิกรที่มารับเสด็จ เมื่อเสร็จสิ้น
พิธีการทรงเสด็จพระราชดำเนิน เยี่ยมเยียนราษฎรที่เข้าเฝ้ารับเสด็จฯ ในบริเวณนั้น จำนวนมากมาย ในขณะนั้น ประชาชน บ้านกิโลสอง   บ้านกิโลสาม  และบ้านกิโลหก  และชาวบ้านใกล้เคียงในเขตอำเภอเมืองกำแพงเพชร ได้กราบทูลขอพระราชทาน ให้ทรงช่วยเหลือจัดหาน้ำให้เพื่อใช้ในการเพาะปลูกและในการอุปโภคและบริโภคได้ตลอดปี 
   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการพระราชดำริเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2521 ซึ่งในปัจจุบันประชาชน ทั้งหมดมีคลองชลประทาน ไปถึงหน้าบ้านและเรือกสวนไร่นาของประชาชน ทุกหนแห่ง สร้างความชื่นชมของชาวบ้านที่มีต่อพระองค์อย่างมิรู้คลาย
   การเสด็จกำแพงเพชรทั้งสามครั้งแม้เป็นเหตุการณ์ที่ ผ่านไปนานแสนนานแล้วก็ตาม แต่ประชาชนชาวกำแพงเพชร ทุกคนที่ได้ชมพระบารมี เมื่อไปสัมภาษณ์แต่ละท่าน ทุกท่านยังประทับใจในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างไม่ลืมเลือน  เพราะชาวกำแพงเพชร
จะอยู่ใต้ร่มฟ้ามหาบารมี   ของพระองค์ตลอดตราบนิจนิรันดร์     ขอพระองค์ทรงพระเจริญ

                                            สันติ   อภัยราช
                     

1279  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / หลักคุณธรรมและจริยธรรม การบริหารงานบุคคล โดยอาจารย์สันติ อภัยราช เมื่อ: กันยายน 14, 2010, 11:53:58 am
   การบรรยายพิเศษเรื่อง
 ข้อระเบียบ กฎหมาย หนังสือสั่งการ หลักคุณธรรมและจริยธรรม การบริหารงานบุคคล
และหลักการบริหารงานยุคใหม่ 
แก่ข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร
 ณ หอประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร
โดย นายสันติ อภัยราช 
        กศบ. น.บ. ,ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วัฒนธรรมศึกษา)
        อาจารย์ 3 ระดับ9 ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร

จุดอ่อนและภาพรวมเชิงลบ ของประเทศไทย ที่เป็นสาเหตุสำคัญให้สังคมไทยอ่อนแอ
   1.เป็นประเทศกำลังพัฒนา ยากจน
      หนี้สินครัวเรือน  หนี้นอกระบบ   หนี้กองทุนน้ำมัน   มากมาย
   2. สังคมไทยโดยพื้นฐาน ไม่มีกฏระเบียบ แสวงหาความสุข เที่ยวเตร่ ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือวัยรุ่น
        ไม่ได้หาเงินเอง แต่ใช้เงินฟุ่มเฟือยมาก โดยไม่คำนึงถึงที่มาของเงินที่ใช้ ไร้ศีลธรรมอย่างไร
   3. ทำอะไร ผิดระเบียบผิดกฏหมายได้ ถือว่าโก้ เส้นใหญ่ เช่น การแซงคิว การใช้อำนาจผู้ใหญ่
        ขอใบขับขี่คืน ในกรณีถูกจับ
4. ระบบจราจร ไม่ยึดถือ ในกรณีของหมวกกันน็อค ไม่สามารถสร้างความตระหนักได้ จึงจับกันทุก
     วัน มีปัญหาหลายอย่างตามมา
5. การลุกล้ำที่ดินสาธารณะ ป่าสงวน โดยเฉพาะอุทยานประวัติศาสตร์ ทั้งสองฝั่งปิง กำลังมีปัญหาอย่างมากมาย ป่าแดง ป่าแม่ระกา ปัญหาซับซ้อนมาก
6. การค้าประเวณี  อายุลดมาเหลือแค่ 10 ขวบ ผู้ซื้อ เป็นพ่อค้า นักการเมือง ข้าราชการ  ครูซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วงมาก
7. ยาเสพติด ยังมีทุกหัวระแหง หาซื้อง่าย เหมือนยาแก้ปวด ซึ่งรัฐกำลังหาทางแก้ปัญหาอยู่ นับว่าเป็นปัญหาระดับชาติ ที่แก้ได้ยากมาก
8. การฆาตรกรรม โจรผู้ร้าย ชุกชุมมาก มีการก่อดคีไม่เว้นวัน
9. มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงในทุกวงการ  การฮั้วประมูล  เป็นเหมือน มอดที่ชอนไช ประเทศชาติ
10. ผู้นำทางศีลธรรม มีปัญหา พระ ครู สื่อมวลชน มีปัญหาทางศีลธรรมเอง
11. ผู้นำประเทศ และชนชั้นนำในสังคม ถูกกล่าวหาว่าล้มเหลวทางศีลธรรม
12. การเคารพ นับถือ คนมีเงิน มีอำนาจ โดยไม่คำนึงถึง ความประพฤติและสิ่งที่เขาปฏิบัติว่าถูกต้องเพียงใดหรือไม่
13. การอ่อนล้า ทางวัฒนธรรม ทางจิตใจ  ตัวอย่างจากเณรแอ จะเห็นได้ชัดว่าสังคมไทยอ่อนแอจนน่าเป็นห่วง
   จะอยู่อย่างไรให้มีคุณธรรมและจริยธรรมในสังคม  หรือช่วยให้สังคมดีขึ้น สังคมเข้มแข็งขึ้น เริ่มต้นที่ตัวเรา
1.   ยิ้มแย้ม  แจ่มใส ให้การต้อนรับ  ตามวิถีชีวิตของคนไทย
2.   พูดให้เป็น พูดให้เพราะ พูดให้สร้างสรรค์
3.   บุคลิกท่าทางดี
4.   ชมคนเป็น ชื่นชมผู้อื่นเป็น
5.   รักษาสุขภาพไว้ งามตามวัย
6.   พูดให้น้อยลง อย่าอวดเก่งมากไป
7.   อย่านินทา อย่าวิจารณ์ หรือติเตียน อย่างไม่สร้างสรรค์
8.   เรียบง่าย ไม่เรื่องมาก
9.   ซ่อมแซมร่างกายให้อยู่ในสภาพดี
10.   ภูมิใจในตนเอง เมื่อกระทำความดี  เตือนตนเองเมื่อกระทำความชั่ว
11.   ตั้งใจว่าจะมีชีวิตอย่างมีคุณค่า ทำประโยชน์แก่สังคม
12.   ลดความระแวงลง ถ่อมตัวมากขึ้น รักผู้อื่นมากขึ้น ช่วยเหลือผู้อื่นมากขึ้น
13.   ให้อภัยคนอื่นเป็น  โกรธให้น้อยลง  มีอารมณ์ขัน เปลี่ยนอิจฉา เป็นยินดี
14.   ยอมเป็น พอเป็น ทำความดี อย่างกว้างขวางแม้คนที่ไม่รู้จัก
15.   ให้คนอื่นเป็นพระเอกบ้าง อย่าเป็นพระเอกคนเดียว
16.   หาเพื่อนใหม่เสมอ ยืดหยุ่นเป็น ไม่สร้างศัตรู  ไม่หลงตัวเอง
17.   ขยัน อดทน ไม่อายการทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทำในสิ่งใหม่ ๆอย่างท้าทาย
18.   อย่าช่วยเหลือ ทุกคนและทุกเรื่อง
19.   เริ่มต้นก่อน ได้รับก่อนเสมอ อย่าบ้างานเกินไป คนอื่นเขาก็ทำได้ถ้าไม่มีเรา
20.   เมื่อมีปัญหา ไม่ต้องหาคนถูกคนผิด ให้แก้ปัญหาก่อน
21.   แบ่งเวลาให้เป็น การทำงาน การพักผ่อน  ครอบครัว งานอดิเรก
22.   คนที่ประสบความสำเร็จ ขยัน อดทน หมั่นหาความรู้ใส่ตัว  เสี่ยงทำในสิ่งที่ควรทำ
มีคุณธรรม อาทิ กตัญญู กตเวที เสียสละ รับผิดชอบ ซื่อสัตย์ แลรักเพื่อนมนุษย์
      
1280  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / พูดอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร ในแบบผู้นำ โดยอาจารย์สันติ อภัยราช เมื่อ: กันยายน 14, 2010, 11:47:20 am
พูดอย่างไร
          ปฏิบัติอย่างไร
   ในแบบผู้นำ







วิทยากร
อาจารย์สันติ   อภัยราช  กศ.บ. ,น.บ., ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์
อาจารย์ 3 ระดับ 9    ผู้เชี่ยวชาญการพูดในที่ชุมชน
คนดีศรีกำแพงเพชร   ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร
ประธานชมรมผู้รักษ์เมืองกำแพงเพชร 
อุปนายกฝ่ายวิชาการสโมสรฝึกการพูดกำแพงเพชร
ลักษณะของผู้มีบุคลิกภาพที่ดีของผู้นำในองค์กร
                     เรื่อง   มากที่สุด   มาก   ปานกลาง   น้อย
1. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์            
2. เป้าหมายแน่นอน มั่นคง            
3. ปรับบุคลิกให้น่าเชื่อถือได้            
4. มีความเชื่อมั่นในตนเอง            
5. อย่าเกรงสิ่งใด เมื่อถูกต้องจงลงมือทำ            
6. ทำงานเพื่อคุณภาพ มิใช่ปริมาณ            
7. ประพฤติตน ในศีลธรรม อันดีงามเสมอ            
8.ไม่เป็นคนบาป ชอบแก้ตัว            
9. ชนะทุกข์ได้แม้ทุกข์ยากเพียงใด            
10. กล้าหาญ ทนลำบาก เพื่อคนอื่น            

บุคลิกภาพ ทางกาย  ทางอารมณ์  ทางสังคม และทางสติปัญญา   ต้องดีทุกด้านจึงเรียกว่าผู้มีบุคลิกดี
1.   มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
   ต้องเชื่อว่า สิ่งที่ริเริ่มเป็นผลดี และทำให้สำเร็จอย่างแน่นอน
   ตัดคำว่าเป็นไปไม่ได้   ไม่มีประโยชน์ ป่วยการทำ   ออกไปเสีย
   หาทางออก หรือทางแก้ไข จุดบอด เตรียมไว้เมื่อถึงเวลาต้องแก้ไข
   ยอมรับความคิดใหม่  อย่าลืมของเก่า ทดลองสิ่งใหม่ คบเพื่อนใหม่ แต่งตัวใหม่
ทรงผมใหม่ จัดโต๊ะทำงานใหม่ ทำตัวใหม่ ศึกษาต่อ
   ทำอย่างไร ชนะใจเพื่อนร่วมงาน
   ทำอย่างไรให้ คนอยู่สูงกว่าและต่ำกว่าพอใจ
   วิธีที่ทำให้ผู้อื่นยอมรับ  แสดงฝีมือ ทำงานหนักทั้งกายใจ ทำดีที่สุดทุกวัน ทุกกรณี
กระตุ้นให้ผู้อื่นคิด นำความคิดของเขามาปฏิบัติเขาจะทำงานอย่างสุดฝีมือ
   หาวิธีคิดใหม่  ประชุมกับคนต่างอาชีพ  คบเพื่อนต่างอาชีพ  อ่านหนังสือดี
ดูภาพยนตร์ดี  ทบทวนความคิด
    2.เป้าหมายแน่นอนมั่นคง
   2.1   เริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ทุกวัน เมื่อรู้ว่าไม่ถูกต้องและดีงาม
   2.2   สร้างนิสัยที่ดี  ทำงานเพื่องาน  มิใช่เพื่อเงินอย่างเดียว  ทำงานหนักขึ้น มากขึ้น
      เริ่มต้นทำงานอย่างกระตือรือร้น  อย่างหวงงาน  คบเพื่อนดี  หนักแน่น ไม่ตามใจ
ตนเอง
2.3   ปรับปรุงตนเอง เรื่อง  นอนตื่นสาย  ซุบซิบนินทา  พูดหยาบคาย กินเหล้า
เมายา  ติดการพนัน  โกหกหลอกลวง
2.4   สร้างนิสัยที่ดี ไปทำงานตามกำหนดเวลา ทำหน้าที่พลเมืองดี ถ้ามีโอกาส
วางแผนการทำงาน สำหรับวันรุ่งขึ้น เคร่งครัดศีลห้า พูดจาไพเราะทุกโอกาส
พูดจริงทำจริง
2.5   ทบทวนงานที่ทำไปแล้ว เสมอ  ยกย่องชมเชยผู้อื่น แก้ไขข้อผิดพลาด ปรับ
ระบบงาน ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม
2.6   สิ่งที่ทำลายบุคลิกตัวเอง ดูถูกตนเอง ไม่เก่ง โง่ ไม่ฉลาด  ใจไม่สู้  มักน้อย
พ่อแม่ครอบครัวบัญชา  คิดว่าสายเกินไป
   2.7    แต่งกายดี  สุภาพ  การแสดงออกดี  เดินดี ยืนดี นั่งดี นอนดี พูดดี วางตัวเหมาะสม
ดี สะอาด สุขภาพดี  ดูแลตนเองดี
3. ท่าทางต้องดี  เป็นเรื่องสำคัญ
   3.1   ท่าทางกระตือรือร้น ศึกษาเรื่องที่รับผิดชอบ ทำงานอย่างตั้งใจ และเต็มใจ
      พูดแต่ข่าวดี
3.2   ยกย่องให้ความสำคัญผู้อื่น   ให้คนอื่นสำคัญกว่าเราเสมอ  ยกย่องชมเชยทั้งต่อหน้าและลับหลัง  อย่าเอาหน้าคนเดียว  จำชื่อคนแม่น
3.3   ทำงานโดยไม่หวังผลตอบแทน   แข่งกันทำความดี  ทำงานเป็นระบบ  ยิ่งยากยิ่งชอบ ประเมินผลงาน ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
4. มีความเชื่อมั่น จะทำให้บุคลิกดี
4.1    อย่าหวาดระแวงกันเอง  ขี้หึง ไร้เหตุผล อย่าเอาชนะด้วยวิชามาร  หาทางออกที่ดี
   เมื่อว้าเหว่   ไม่มั่นคง จะเสียบุคลิกทันที
4.2   อย่าติฉิน นินทา  ให้ร้ายป้ายสี  จะเสียบุคลิก ไม่น่าเชื่อถือ  เกียจคร้านเบื่อหน่าย
4.3   การสร้างบุคลิกที่ดี ด้วยวิธีง่ายๆ  หัดนั่งแถวหน้า  ถามตอบ อภิปรายได้ดี  สบสายตาผู้พูด ยิ้มๆๆ  ศึกษาแต่ละเรื่อง  เพื่อรู้ข้อเท็จจริงอย่างละเอียด คบคนดี คนฉลาด คนมีความคิดสร้างสรรค์  พบคนนอกวงการ ฝึกการพูดในที่ชุมชน
5. อย่าเกรงสิ่งใด เมื่อถูกต้อง จงลงมือทำ
      ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น สร้างศรัทธาให้ได้   ไม่รอราชรถมาเกย ไม่คอยบุญหล่นทับ
      ไม่คอยโอกาส ไม่ฉวยโอกาส   อะไรแก้ไขไม่ได้ ลืมเสีย เริ่มต้นใหม่  เป็นนักบุกเบิก
      ลงมือทำก่อน
6.ทำงานเพื่อคุณภาพ มิใช่ปริมาณ   
      พัฒนาตนเอง  รู้จักปฏิเสธตัวเอง  ทำสิ่งใหญ่ขึ้นและดีขึ้นเสมอ  งานนอกเวลาเป็น
                           ประสบการณ์ที่ล้ำค่า  สังเกต  จดจำ  ประเมินผล  สรุปบทเรียนหาทางแก้ไข
7. ประพฤติตนในศีลธรรมอันดีเสมอ
        ทำตนเป็นตัวอย่าง สุขภาพจิตดี   มีอารมณ์ขัน ยิ้มแย้มแจ่มใสเสมอ
8. อย่าเป็นคนบาปชอบแก้ตัว
   อย่าอ้างว่า   สุขภาพไม่ดี  อายุยังน้อย สมองไม่ดี  โชคไม่ดี ไม่มีเส้น  ลืมไป  ไม่มีเวลา
   ควร   สะสางงานทุกวัน ขอคำแนะนำจากผู้รู้   ตื่นแต่เช้า เพิ่มเวลาทำงาน พึงตนเองเป็น
                            หลัก
9. ชนะทุกข์ให้ได้แม้ยากเพียงใด
   เมื่อผิดพลาด ศึกษา หาทางแห้ไข   ต้องเชื่อว่าเราทำได้     ทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีก  มีอุปสรรค 
              หยุดวิเคราะห์  แล้วเริ่มทำต่อ    ทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง  ยิ่งทำงานต่อเนื่องยิ่งมีพลัง
               สุดยอดของความอดทนได้  จึงได้ชื่อว่ายอดคน   ความสำเร็จมิใช่อยู่ข้ามคืน
10. กล้าหาญ ทนลำบากเพื่อผู้อื่น
   กล้าพูด  กล้าคิดกล้าทำ ไม่หวาดกลัว   มีความเชื่อมั่นในตนเอง ควบคมตนเองได้

บุคลิกภาพทางสังคม  ต้องเป็นคนที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดี  ในการปฏิบัติงาน
   1. อยากมีคนรักมากๆ    ต้องรู้จักเด็ก รู้จักผู้ใหญ่  ต้องรักคนอื่นสนใจคนอื่น ต้องให้เกียรติ
                   สุภาพสตรี  เคารพหน้าที่ตนเอง ไม่ก้าวก่ายหน้าที่ผู้อื่น
   2. อยากมีเพื่อนมากๆ  ต้องเอื้อเฟื้อ เสียสละ เมื่อถึงคราวเสียสละ   พูดจาน่าฟัง น่าเชื่อถือ
                  ชอบช่วยเหลือผู้อื่น  วางตนเสมอต้นเสมอปลาย
   3. อยากมีเพื่อนที่ดีนานๆ อย่าห่างกันเกินไป   อย่าใกล้ชิดกันเกินไป  อย่าขอความช่วยเหลือ
                  พร่ำเพรื่อ
   4. อยากมีเพื่อนแท้  ต้องรู้จักอุปการะกัน  รู้จักสงเคราะห์กัน  รู้จักเคารพในสิทธิ์และ
                   เสรีภาพของกันและกัน
   5. คนที่ลืมกันไม่ลง   ซื่อตรงต่อกัน  รู้คุณกัน และตอบแทนคุณกัน  จงรักภักดีต่อกัน
   6. ความสามัคคีเกิดจาก เอื้อเฟื้อกัน พูดจาอ่อนหวานต่อกัน ช่วยเหลือกันยามยาก วางตน
                  เสมอกัน ไม่ถือความขัดแย้งเป็นเรื่องสำคัญ  ไม่เอาแพ้ชนะกัน  ถือประโยชน์ส่วนรวม
   7. สิ่งที่ทำลายความสัมพันธ์และบุคลิกในการปฏิบัติงาน   อิจฉาริษยา   แก่งแย่งแข่งดี
                  ไม่รู้จักพฮ เอาเปรียบ  หลอกลวง  ประหัตประหารกัน หลงในรูปรสกลิ่น เสียง ลืมตัว


                                             .--------------------------------------------------------
                                  รู้มาก หากไม่ปฏิบัติ  ความรู้นั้นก็ไร้ประโยชน์







1281  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / ชุมชนโบราณบ้านโคน เมืองคณฑี เมื่อ: กันยายน 13, 2010, 01:12:00 pm
เมืองคณฑี

ถิ่นกำเนิดพ่อขุนศรี  ปราสาทเก่าเจ็ดร้อยปี        คณฑี เมืองโบราณ
            เล่าขานพระพุทธลีลา         กราบวันทาหลวงพ่อโต

ตำบลคณฑี หรือตำบลบ้านโคน หรือ  เมืองคณฑี เมืองที่ยิ่งใหญ่ ในอดีต มีคำขวัญประจำตำบล
ที่นำเสนอเอกลักษณ์ของตำบลอย่างชัดเจนคือ

ถิ่นกำเนิดพ่อขุนศรี  มีหลักฐานชัดเจนจากชินกาลมาลีปกรณ์  ว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์มีกำเนิดที่บ้านโคน ยังมีชายคนหนึ่ง(จันทราชา)รูปงามมีกำลังมาก ท่องเที่ยวอยู่ในป่า  มีนางเทพธิดาองค์หนึ่ง(สาวชาวบ้านเมืองคณฑี)เห็นชายคนนั้นแล้ว  ใคร่ร่วมสังวาสด้วยจึงแสดงมารยาหญิง  ชายคนนั้นก็ร่วมสังวาสกับนางเทพธิดาองค์นั้น  เนื่องจากการร่วมสังวาสของทั้งสองคนนั้นจึงเกิดบุตรชายคนหนึ่ง  และบุตรชายคนนั้นมีกำลังมาก  รูปงาม  เพราะฉะนั้น  ชาวบ้านทั้งปวงจึงพร้อมใจกันทำราชาภิเษกบุตรชายคนนั้น  บุตรชายซึ่งครองราชย์สมบัติในเมืองสุโขทัยนั้น ปรากฏพระนามในครั้งนั้นว่า  โรจราช    ภายหลังปรากฏพระนามว่าพระเจ้าล่วง (ร่วง)
   ปราสาทเก่าเจ็ดร้อยปี  ซึ่งหมายถึง   สิ่งก่อสร้างคล้ายพระเจดีย์ทรงปราสาท ภายในวัดปราสาท เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองคณฑี  ปราสาท ที่ไม่มีใครกล้าแตะต้อง วันดีคืนดี มีพระพุทธรูปทองคำออกมาจากปราสาท ซึ่งแสดงปาฏิหาริย์ให้ชาวบ้านพบเห็นเนืองๆเป็นที่สักการะของชาวกำแพงเพชรและชาวจังหวัดใกล้เคียง
   คณฑีเมืองโบราณ   ซึ่งหมายถึง  เมืองคณฑีเป็นเมืองยุคแรกๆของกำแพงเพชร ตามตำนานเมืองเหนือกล่าวไว้ว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ แห่งกรุงสุโขทัย เสด็จไปจากบ้านโคน หรือเมืองคณฑี แสดงว่า เมืองคณฑีนี้เก่าแก่กว่าสุโขทัยเจริญรุ่งเรืองมาก่อนกรุงสุโขทัย นับร้อยปี ทำให้ชาวบ้านโคนภูมิใจในบรรพบุรุษจึงนำมา
เป็นคำขวัญประจำเมือง
   เล่าขานพระพุทธลีลา   ที่เมืองคณฑีมีพระพุทธรูปลีลา ปางประทานพร ขนาดใหญ่สูงถึง 1.50เมตรมีพุทธลักษณะที่งดงามมาก เชื่อกันว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ประดิษฐานที่ วัดปราสาทมาช้านาน แม้จะถูกโจรกรรมไป ด้วยอภินิหารของพระพุทธลีลา ทรงเสด็จกลับมาประดิษฐานที่วัดปราสาทดังเดิม
   กราบวันทาหลวงพ่อโต       หลวงพ่อโต   เป็นพระพุทธรูปสำคัญ ในวิหารวัดปราสาท ทรงความศักดิ์สิทธิ์และศรัทธายิ่งแก่ประชาชน เป็นที่พึ่งทางจิตใจ เมื่อสังเกตดูให้ดีพระพุทธรูปหลวงพ่อโต ได้มีปูนฉาบไว้ภายนอก องค์จริงน่าจะเป็นทองสัมฤทธิ์ ที่มีพุทธลักษณะงดงามมากประชาชนพากันมากราบไหว้มิได้ขาด
   เมืองคณฑี จึงมีคำขวัญที่อธิบายเรื่องราวของบ้านเมืองไว้อย่างชัดเจนยิ่งนัก........เมืองคณฑีมีประวัติความเป็นมาที่พิสดารยิ่ง เกินพรรณนา
เมืองคณฑี  เป็นชุมชนโบราณ ที่ไม่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของลำน้ำปิง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  มหาวชิราวุธ สยามมกุฏราชกุมาร  เสด็จมาเมืองกำแพงเพชรครั้งที่ 2 เมื่อปี 2450 ทรงกล่าวถึงชุมชนบ้านโคนว่า
   คงเป็นเมืองมาแต่โบราณ แต่หาคูหรือเชิงเทินและกำแพงไม่ได้    วัดเก่าที่อยู่ในบริเวณนี้คือวัดกาทึ้ง มีสิ่งก่อสร้างสำคัญ อุโบสถก่อด้วยอิฐแผ่นใหญ่  ถัดจากอุโบสถไปทางทิศตะวันออก เป็น
วิหารที่มีขนาดใหญ่กว่า ก่อด้วยอิฐแผ่นใหญ่เช่นเดียวกัน พระประธานภายในวิหารมีพระพุทธรูปเป็นพระพุทธรูปหมวดเมืองกำแพงเพชร  ตามโคกเนิน พบเศษภาชนะดินเผา แบบธรรมดาและแบบเผาไม่แกร่ง ไม่เคลือบ และเครื่องเคลือบแบบสุโขทัย ชุมชนโบราณบ้านโคนนี้ เชื่อกันว่าน่าจะเป็นเมืองคณฑี ตามที่กล่าวไว้ในจารึกหลักที่ 1  ว่าเมืองหัวนอน รอดคณฑี พระบาง นอกจากนี้ยังมีตำนานเกี่ยวกับบรรพบุรุษของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์อีกด้วย
   ตามตำนานเมืองเหนือ กล่าวว่า ที่บ้านโคน มีชายรูปงาม รูปร่างใหญ่โต แข็งแรง  ได้เป็นที่พอใจของนางเทพธิดา จึงได้ร่วมสังวาสด้วย จึงเกิดบุตรชายที่สง่างาม มีบุญยิ่ง ชื่อโรจราช ได้ไป
เป็นกษัตริย์องค์แรกของเมืองสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ จึงน่าจะมาจากเมืองคณฑี หรือบ้านโคนแห่งนี้
   เมืองคณฑี เป็นเมืองใหญ่ มาก่อนเมืองใดๆในลุ่มน้ำปิง  ดังจารึกหลักที่ 1 ที่กล่าวถึงอาณาจักรสุโขทัยว่า ทิศใต้ ได้เมืองคณฑี ดังความว่า
   สุโขทัยมีเมืองกว้างช้างหลาย ปราบเบื้องตะวันออก รอดสระหลวง สองแคว  ลุมบาจาย
สคา  เท้าฝั่งของ เถิงเวียงจันทร์ เวียงคำเป็นที่แล้ว  เบื้องหัวนอน  รอดคณฑี  พระบาง แพรก สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ศรีรรมราช ฝั่งมหาสมุทรเป็นที่แล้ว?ฮืม?.
   ในจารึกหลักที่ 3  กล่าวถึงเมืองคณฑี  ตั้งตนเป็นใหญ่ประกาศอิสรภาพ ตอนที่พญาลิไท เสด็จมาเมืองกำแพงเพชร ในปี พ.ศ. 1900 ประกาศตนเป็นเอกราช มีเจ้าผู้ครองนครของตน ความว่า
ฮืม.. หาเป็นขุนหนึ่ง   เมืองคณฑีพระบาง  หาเป็นขุนหนึ่ง เมืองเชียงทอง หาเป็นขุนหนึ่ง เมืองบางพานหาเป็นขุนหนึ่ง  จากนั้นเมืองคณฑี แทบจะหายไป จากประวัติศาสตร์
   จากการสำรวจครั้งสุดท้าย ปี 2549 เมืองคณฑี ที่มีที่ตั้งบริเวณวัดกาทึ้ง น่าใช้ลำคลองกาทึ้งเป็นคูเมืองป้องกัน อาจใช้ไม้เป็นระเนียด แทนแนวกำแพงเมือง หรือมีแนวกำแพงเมืองแต่ร้างไปนาน จึงทำให้ กำแพงเมืองซึ่งเป็นกำแพงดิน สลายตัวไปตามสภาพ  สภาพวัดกาทึ้งอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ ถูกรุกที่ ไม่เห็นความสำคัญ ที่เป็นโบราณสถานที่มีอายุนานนับพันปี น่าเสียดายยิ่ง?
   นอกจากวัดกาทึ้ง แล้ว ยังมีวัดปราสาท ที่เก่าแก่ใกล้เคียงกัน น่าจะมีอายุราวสมัยทวารวดี
จากการวิเคราะห์  สภาพโบราณสถาน โบราณวัตถุ พบซากโบราณสถานโบราณวัตถุจำนวนมาก
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตั้งแต่พ.ศ. 2450 มีเจดีย์ทรงปราสาทที่เรียก กันว่าวัดปราสาท
ทำให้วัดนี้น่าสนใจยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พิพิธภัณฑวัดปราสาท ที่งดงาม และมีโบราณวัตถุที่ยิ่งใหญ่มาก
โดยเฉพาะพระปางลีลา ที่งดงามที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา
??.    เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จผ่านวัดปราสาทว่า วันที่ 21 สิงหาคม 2449 ออกเวลา 2โมงเช้า 4โมงขึ้นเรือเหลือง
จนถึงบ้านโคน  ซึ่งเดากันว่าเป็นเมืองเทพนคร แต่ไม่มีหลักฐานอันใด  บ้านเรือนดี มีวัดใหญ่ เสาหงส์มากเกินปกติ?ฮืม?
           เมืองคณฑี จึงเป็นเมืองที่เก่าแก่ เสมอด้วยนครไตรตรึงษ์ เมืองเทพนคร เมืองคลองเมือง อายุกว่าพันปี จึงเป็นเมืองที่น่าศึกษายิ่ง ....3วันที่ศึกษาอยู่ที่เมืองคณฑี ทำให้เห็นภาพเมืองคณฑีชัดเจนกว่าที่เคยเห็นมา...
            สันติ อภัยราช..



















1282  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / กำสรวล กำแพงเพชร แด่ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชน เมื่อ: กันยายน 13, 2010, 12:41:47 pm
                                        กำสรวล กำแพงเพชร
แด่
 สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
                                                                               
                  
         ฟ้ามืดมิดสนิทปฐพี   ราวอสุนีบาต ฟาดสยาม  ในยามพระพี่นางเสด็จสวรรคาลัย
ประชาไทยทวยเทศ   พระปกเกศมานิราศ     กำแพงเพชรขาดโพธิ์ทอง  พระแม่แบบของปวงประชา
การศึกษาทรงสนุก   สาธารณสุขใครดูแล   พระจริยวัตรต่อแต่นี้ใครฤาเห็น ทรงเป็นพระบรมครู  
ใครจะชื่นชูสยามทรงนิราศ   พระพี่นางประพาสสรวงสวรรค์   ไทยโศกศัลย์ทั่วทั้ง   สยามประเทศหยุดยั้ง
โศกแล้วอาดูร....
            ๑ สูญสิ้นโคมสวรรค์แล้ว   ฤาสยาม  
            ปฐพี มืดสนิทยาม         ย่างย้ำ
             เราจะหลงสู่คาม         เคืองเข็ญ  แน่ฤา
             สองมกราคมซ้ำ         สูญสิ้นโคมทอง
            
                           


    ๒ มองกำแพงเพชรกล้า      กลับเงียบ  สงบนา
         ทุกทั่วเขตเย็นเฉียบ         ฉ่ำพื้น
          นองเนตรพระพี่นางเปรียบ      คือแม่   เรานา
         โศกสลดหมดมิฟื้น         สิ้นแล้วแสงรวี
            ๓ปฐพีอำเภอเมืองเศร้า            โศกระงม  
         ต้นโพ กลางเมืองตรม         สลดแห้ง
         ต้นสักศักดิ์สิทธิ์ราวล้ม         เคยเด่น  เมืองนอ
         สลัดใบ สลัดร่มแล้ง         ร่มได้หายไป
         ๔หลักเมืองใดขาดหลักแล้ว      ครองกำแพง
         ขาดหลักพระพี่นางแสยง      ยิ่งฟ้า
         พระหลักเมืองสำแดง         เดชต่อ  พระนา
         คุ้มกำแพง คุ้มพสกเจิดจ้า      ร่มคุ้มพระพี่นาง




                                            


๕ พรานกระต่าย ต่างเต้น      หม่นหมอง
      ชาวประชาปรองดอง            เด่นล้ำ
      เสียงร่ำไห้เขานางทอง            ดังเกริก  นภานอ
      บึงสาปน้ำอุ่นย้ำ            ระลึกแล้วระลวงใจ
         ๖ ลานกระบือฤทัยเบิกฟ้า      ระงมเสียง
      บ่อน้ำมัน ไร้สำเนียง            พร่ำเพ้อ
      วัดแก้วสุริฉายเพียง            ตะวันดับ      
      กู่เพรียกเรียกกับเก้อ            พรากแล้วหลังเลือน
         ๗ ขาณุ แสนตอเตือน ต่อเจ้า      พระพี่  นางเฮย
      พระคุณ ท่าน ล้ำปฐพี              แหล่งหล้า
      เขากะล่อน เพรียกกวี            คืนกลับ มานา
      แม่น้ำปิงร่ำร่วมล้า            หยุดแล้วหลับใหล

       ๘ คลองขลุงใจ ขาดแล้ว      ขอดคลอง  ขลุงนา
                  เสียงพร่ำเพรียกน้ำตานอง      ท่วมฟ้า
                  ท่ามะเขือ มีครรลอง         สลดโศก
                  วัดศรีภิรมย์เจิดจ้า         กลับไร้เลือนแสง
                  ๙. โกสัมพีแรงร่ำไห้         ริมนคร
                          เมืองคลองเมืองทอดถอน      จิตหว้า
                  ขาดผู้ปรีชาชาญเรื่องสอน      ฝรั่งเศส นาพ่อ
                  ศาล ท้าวเวสสุวรรณว้า         โศกซ้ำโกสัมพี
      ๑๐. ทรายทองวัฒนาฤดีช้ำ      ทรายทอง
      พระเกื้อการุณผอง         ราษฎรแจ้ง
      แม่น้ำกงจีนถวิลมอง         ปรเมศ  สูญนา
      ทรายทองเหมือนทรายแล้ง      นิราศแล้ววิเศษสยาม



 

      ๑๑. ร่มไทรจากร่มแล้ว         ไทรงาม
      เคยร่มเย็นทุกโมงยาม         ย่ำแล้ว
      พระพี่นางเอกนารีนาม         เลอสว่าง   หนเอย
      สองกษัตริย์คู่แก้ว         นุชน้องนางอนงค์
      ๑๒. ปางศิลาทองทรงเพริศแพร้ว   พิจิตร  เลขนอ
      ศิลาทองสลายสนิท         ยุ่ยย้ำ
      ปรีชาการบินนิรมิต         บินเก่ง  
      จากไปใครมิช้ำ            แน่แล้วคือศิลา
      ๑๓.คลองลานหน้าผากว้าง      ธารตก  สง่านอ
      น้ำหลากไหลนองอุทก         สนั่นคุ้ง
      ไทยภูเขาสะอื้นตีอก         สะทก หวั่นนา
      พระองค์งามดั่งรุ้ง         เพริศแพร้วภูผา
      ๑๔. บึงสามัคคี นภาร้าง      จันทรา
      ขาดพระพี่นางวิทยา         หย่อนแล้ว
      ครูของครูเลอบา         เคยพบ  พระนอ
      รุ้งงามพาดฟ้าดั่งแก้ว         เหตุให้เจียรนัย

      ทรงเรียบง่ายงดงาม    จริยวัตรยามทุกบท      งามงดเหลือคำกล่าว
   ราวรุ้งร่วงจากนภา    ปวงประชาเย็นสยบ     ทั้งพิภพเย็นสดับ     ใครเข้าเฝ้ารับทรงเดช   
   จะยินเหตุแห่งองค์    เมื่อทรงนิราศราษฎร์    ไทยทั้งชาติโศกา   อีกนัครากำแพงเพชร
กำสรดโศกส่งเสด็จ  กำแพงเพชรนองน้ำตา  ทั่วนคราฟ้าหม่นหมอง  ปองพระองค์สู่สวรรคาลัย
ไทยทั่วไทยทุกด้าว   อกระบมรวดร้าว     จากแล้วพระนิพพาน

                           สันติ อภัยราช
                     ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร   




























1283  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / ๑๑ กันยายน ออกอากาศที่ อสมท. เรื่องหลวงพ่อปลอดภัย คุณอมร ถาวรศักดิ์ เป็นวิทยากร เมื่อ: กันยายน 11, 2010, 01:26:16 pm
หลวงพ่อปลอดภัย หรือพระวิบูลวชิรธรรม (สว่าง เจริญศรี) เกจิอาจารย์ชื่อดังของจังหวัดกำแพงเพชร แห่งวัดคฤหบดีสงฆ์ ตำบลท่าพุทรา อำเภอคลองขลุงจังหวัดกำแพงเพชร
   มีอภินิหาร และราคา ในตลาดพระกำแพงเพชร ถึงเลข ๖ หลัก ซึ่งนับว่าเป็นพระเหรียญ ที่ดังที่สุดในจังหวัดกำแพงเพชร ในงานประกวดพระ ปี๒๕๕๓ ในงานแข่งเรือ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร หนังสือ ที่พิมพ์จำหน่าย ในราคา ถึง๑๖๐๐ บาท
หายวับไปกับตา เพราะมีผู้ต้องการมาก



   คุณอมร ถาวรศักดิ์ เจ้าของร้านเพชรคัลเลอร์แลป ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเหรียญหลวงพ่อปลอดภัย กรุณาให้ความรู้ และเป็นวิทยากรทางสถานีวิทยุอสมท.
   รายละเอียด จะนำเสนอภายหลัง

                                                                                                


   สันติ อภัยราช
1284  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / โรงเรียนชุมชนบ้านหนองปลิง ๑๐ กันยายน ๒๕๕๓ สนใจดี ฉลาดกล้าตอบ ซน แต่น่ารัก เมื่อ: กันยายน 10, 2010, 11:35:16 pm
 บรรยาย เรื่องพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ กับสังคมไทย ให้โรงเรียนชุมชนบ้านหนองปลิงฟัง
มีเด็กนักเรียนเข้าฟัง ประมาณ ๑๕๐ คน
 มีนักเรียนออกมาแสดงความคิดเห็นหลายคนดังนี้
       ตาล ปิยธิดา พงษ์วิรัตน์
      สุ     สุกัญญา คนโทเงิน
      เล็ก  วีรศักดิ์ สี่สาย
      อ๊อฟ  นนทวัฒน์ สินเนียม
     เบียร์   พัลลภ กล่อมยัง
     เนย    วีรนุช สุขสวัสดิ์
     อ้อม   พัชราภรณ์ น้อยปานะ
    พลอย  กานดา ดาราน้อย
  ขวัญ       กนกพร  ยืนยก


















1285  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / ๑๐ กันยายน ๒๕๕๓ บรรยายจิตสำนึกและจริยธรรม ในการทำงาน อบต. ท่าขุนราม กำแพงเพชร เมื่อ: กันยายน 10, 2010, 10:57:52 pm
 ได้รับเชิญไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่องค์การบริหารส่วนตำบลท่าขุนราม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร  เจ้าหน้าที่ทุกคนน่ารักมาก นายประจวบ ชุมพู เป็นนายก รองนายกเป็นบุคคลที่ น่านับถือมาก หัวหน้าฝ่าย เก่ง คุณสงกรานต์ ผู้ประสานงานน่ารักมาก
ทุกท่านให้ความสนใจดีมาก สองชั่วโมงได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างทรงคุณค่ายิ่งนัก

                                                 สันติ อภัยราช






1286  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / ชมรมสวดพระมาลัยที่ตำบลบ่อถ้ำ สามัคคีกันดีมาก สามารถรักษาภูมิปัญญาไว้ได้น่าชื่นชม เมื่อ: กันยายน 10, 2010, 09:35:14 pm
 วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๓ ไปทำรายการโทรทัศน์วัฒนธรรม ที่ตำบลบ่อถ้ำอำเภอขาณวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร  มีชมรมสวดพระมาลัย รออยู่กว่า ๒๐ ท่าน ตั้งแต่อายุ ๔๐ ปีจนถึง ๗๐ปี แต่ละท่านมีความตั้งใจที่จะ สืบทอดการสวดพระมาลัยไว้ มีความตั้งใจเป็นอย่างมาก สมควรได้รับการยกย่อง ในความรักในวัฒนธรรมอย่างสูงส่ง
  การสวดพระมาลัย เริ่มตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ประพันธ์โดย เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร พระมาลัยเป็นพระอรหันต์องค์สุดท้าย ที่มีฤทธิ์อำนาจมาก สามารถเดินทางไปนรก และสวรรค์ นำเรื่องที่ไปนรกสวรรค์มาเล่าให้ประชาชนฟัง การสวดมาลัย จึงเกิดขึ้นในอดีตกว่า ๓๐๐ ปี เดิมใช้สวดเพื่อสั่งสอนบ่าวสาว ในงานแต่งงาน เป็นเรื่องที่ประชาชนสวด ไม่จำเป็นต้องเป็นพระสวด มีหลายทำนอง
ต้องตั้งใจฟังจึงจะเข้าใจ
   ปัจจุบันมาใช้สวดในงานศพ  ยังมีการสวดอยู่บ้างในบางแห่ง เป้าหมายที่ซ่อนไว้ คือการอยู่เป็นเพื่อนของเจ้าภาพ โดยมีน้ำใจในการทำให้ สวดให้โดยไม่คิดมูลค่า นับเป็นภูมิปัญญาที่สำคัญอย่างหนึ่ง ของสังคมไทย ที่จำเป็นต้องสืบทอดไว้ให้นานแสนนาน
   การสวดมาลัย พัฒนามาเป็นการสวดคฤหัสถ์ การสวดคฤหัสถ์พัฒนามาเป็นจำอวด การเล่นจำอวด พัฒนามาเป็นตลกในปัจจุบัน
ที่ตำบลบ่อถ้ำ มีชมรมสวดพระมาลัย มีนายพยงค์ งาเนียม อายุ ๖๗ ปี เป็นหัวหน้าคณะ มีสมาชิกอีกกว่า ๒๐ มีเนื้อหาที่สวดบางตอน กล่าวถึงการไปชมนรกสวรรค์ของพระมาลัย ดังตัวอย่างบางตอนว่า

"พระคุณเจ้าขอรับ ได้โปรดเวทนาพวกข้าพเจ้าด้วย เมื่อพระคุณเจ้ากลับไปถึงโลกมนุษย์แล้ว ขอได้แวะไปบ้านนั้น เมืองนั้น บอกญาติของข้าพเจ้าชื่อนั้น ให้เร่งทำบุญ แล้วอุทิศส่วนบุญมาให้ข้าพเจ้าด้วยเถอะ ข้าพเจ้าจะได้พ้นกรรมเร็วๆ เจ้าข้า"
ฝ่ายพระมาลัยครั้นกลับมาถึงโลกมนุษย์ ก็นำความตามที่สัตว์นรกพวกนั้นสั่งมาบอกแก่ ญาติ พี่ น้อง ตามตำบลที่ระบุไว้ทุกประการ บรรดาญาติ ครั้นได้ฟังท่านบอก ก็ทำบุญให้ทานอุทิศส่วนกุศลไปให้ โดยไม่รั้งรอ สัตว์นรกผู้เสวยกรรม เมื่อได้อนุโมทนาส่วนกุศลแล้ว ก็พ้นกรรมไปเกิดบนสวรรค์ เสวยสมบัติทิพย์เป็นที่สำราญในทันที.......
  การสวดพระมาลัย ควรได้รับการสืบทอดเพราะเรื่องที่สวดนั้น เป็นคำสอนให้คนทำแต่ความดี หลีกเลี่ยงความชั่วทั้งปวง ต้องชื่นชมชาวบ่อถ้ำอำเภอขาณุวรลักษบุรี  จังหวัดกำแพงเพชร ที่สามารถรักษาวัฒนธรรมสำคัญนี้ไว้ได้ สมควรได้รับการยกย่องและบันทึกไว้ในรายการโทรทัศน์วัฒนธรรม

                                                                          




[
    
        สันติ อภัยราช


1287  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / เลี้ยงส่ง ภัณฑิรา รามสูต (หม้ำ) จากอาสาสมัครวัฒนธรรมสู่พนักงานราชการครู เมื่อ: กันยายน 08, 2010, 05:23:34 pm
 ๗ กันยายน ๒๕๕๓ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร เลี้ยงส่งสาวน้อย คนสวย งามทั้งจริตกิริยา มารยาท พูดน้อยทำงานเก่งรับผิดชอบสูง คือภัณฑิรา รามสูต (หม้ำ)

    เธอจบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขนกรุงเทพ เกียรติยม เมื่อสอบสัมภาษณ์เธอเข้าทำงาน ในฐานะของเจ้าหน้าที่สภาวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร ปัจจุบันเรียกว่า อาสาสมัครวัฒนธรรม มีคนเข้าสัมภาษณ์ มากพอสมควร แต่พอเห็นหม้ำก็ตัดสินใจรับเธอเข้าทำงาน
 
    เธอทำงานเกือบสองปี เป็นที่รักใคร่ ของพี่ๆชาววัฒนธรรมทุกคน โดยเฉพาะผู้บันทึก ในฐานะผู้ดูแลโดยตรง ดูแลเธออย่างลูกหลาน เพราะรู้จักทั้งคุณพ่อและคุณแม่ของเธอ

    เข้าใจในวิธีทำงานของเธอ เธอมาพบ มาปรึกษา มาให้ลงนามหนังสือ นับว่าเป็นร้อยครั้ง  ไม่นับในการโทรศัพท์ การส่งเมลล์ ที่ติดต่อกัน เกือบทุกวัน
   
 ภัณฑิรา กำลังจะไปเป็นพนักงานราชการ ของโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ กำแพงเพชร จึงสนับสนุนให้เรียนประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู ในเสาร์อาทิตย์ และกำลังจะจบการศึกษา
 
    เมื่อเธอไปทำงานที่ก้าวหน้ากว่าปัจจุบัน ก็ต้องส่งเสริม ด้วยความรัก  แม้ไม่อยากให้ไป วิ่งเต้นให้ต่อสัญญาจ้างมาทุกปี เมื่อจำเป็นที่ก้าวหน้ากว่า ก็ส่งเสริมกัน

   เมื่อวันที่ ๗กันยายน ๒๕๕๓ เธอมาให้ลงนาม รับเงินเดือนงวดสุดท้าย  และบอกว่าสำนักงานวัฒนธรรมจะเลี้ยงส่ง แม้เรามีงานบรรยาย ถึงสามทุ่ม ก็ต้องไปเพราะ เธอทำงานให้สภาวัฒนธรรมมานาน และรักเธอราวกับหลานแท้ๆ

  คืนวันที่ ๗ กันยายน พี่ๆทุกคน แสดงความรักต่อเธอกันทุกคน ขอบันทึกเรื่องราวของ สาวน้อย ภัณฑิรา รามสูต ลงจดหมายเหตุวัฒนธรรมไว้ด้วยความรักยิ่ง คนวัฒนธรรมที่ต้องไปทำงานวัฒนธรรมที่อื่น

















                                                                     สันติ อภัยราช ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร
1288  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / ๗ กันย์ ๕๓ โรงเรียนวัดคูยาง กว่า ๒๐๐ คน สนใจดี พูดเก่ง ครูอาจารย์สนใจดีมาก เมื่อ: กันยายน 08, 2010, 03:57:44 pm
 นักเรียนชั้นประถมปีที่ ๖ โรงเรียนวัดคูยาง มาอบรมต้นกล้าจริยธรรม ที่วัดหนองปลิง นักเรียนกว่า สองร้อยคนให้ตวามสนใจดีมาก
ฉลาดเก่ง เข้าใจตอบ มีนักเรียนที่ทำได้ดีมากจำนวน ๑๐ คน แต่มีนักเรียนจำนวนมากที่เก่งแต่ไม่มีโอกาสออกมา อีกมากมายเพราะจำกัดด้วยเวลา จึงนำเสนอ ดังนี้

         พิชญาภรณ์ คมารักษ์ (บายศรี)
         เพ็ญประภา  ตันกร๊วด (นาย)
         กุลสตรี       แสนสุข  (อ้อนแอ้น)
         ศุภกิจ        เรืองแจ่ม (โบ้)
         พรรณธิดา   ตราชู     (พรรณ)
        มัทวรรณ     เพชรรัตน์ (แจม)
        สรวิทย์       สร้อยมุข  (ซิน)
        ชัยวัฒน์      นารอด   (เปญ)
        ธัญวรรณ     แก้วศิริ   (ตอย)
        วสุพล         รักษ์ชนม์ (ดล)




















ครูอาจารย์ทุกท่านสนใจดูแลนักเรียนเป็นอย่างดีขอชื่นชม

                                                                                 สันติ อภัยราช

1289  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / ศุกร์ที่ ๓ กันยายน โรงเรียนวังตะเคียนประชานุสรณ์ เข้ารับฟัง ที่วัดหนองปลิง เมื่อ: กันยายน 07, 2010, 02:40:08 pm
 มีนักเรียน เก่งมากหลายคน เข้ารับฟังประมาณ ๑๐๐ คน ต้องชื่นชม นักเรียนที่มีรายชื่อต่อไปนี้ ฉลาดและตั้งใจฟังตอบปัญหาแก้คำถามได้ดี
         สุกัญญา (ยา)
         ถนอม สุภาษิต (บอม)
         จิรายุส แจ้งสว่าง (บอส)
         น้ำเพชร เกษมสุข (น้ำ)
         ศรีสุดา  ยมรัตน์ (พลอย)
         สตาภิรมย์ ค้าวัตถุ (หญิง)
         มัลลิกา    สระแก้ว ( ตั๊กแตน)
         วีระ    มิก็ (ปิงปอง)
         อุทัย  สาริสิทธิ์ (โจโจ้)






   


  
 

     เด็กทั้งหมดมีอนาคตไกล ถ้าใฝ่รู้ใฝ่เรียนเช่นนี้ตลอดไป

                                                              สันติ อภัยราช
1290  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / ใบบอกเมืองกำแพงเพชร เมื่อ: กันยายน 07, 2010, 01:50:37 pm
สกุลของคุณครูวัฒนา ศุภดิษฐ์
จากใบบอกเมืองกำแพงเพชร และจดหมายเหตุประพาสต้นกำแพงเพชร
เอกสารสำคัญ ของเมืองกำแพงเพชร
 
                     บันทึกโดยอาจารย์สันติ อภัยราช
      ในสมัยโบราณ การติดต่อระหว่างหัวเมืองประเทศราช เมืองพระยามหานคร และเมืองต่างๆในพระบรมโพธิสมภาร มีการติดต่อและรายงานโดยการใช้ ใบบอก มีประโยชน์ในการรายงาน เรื่องราชการ ใบบอกเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างหนึ่ง อาจมีข้อเท็จจริงอยู่ในใบบอก ประสมกันอยู่ แต่อาจเป็นต้นเค้าของหลักฐานในการสืบค้นให้ลึกลงไปในอดีตที่ยังไม่มีใครสนใจนัก ประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นประวัติศาสตร์ของเมืองหลวงของราชธานี ส่วนประวัติศาสตร์ของหัวเมืองมิใคร่มีผู้ใดใส่ใจ ใบบอกจึงเป็นหลักฐานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ฉายภาพในอดีตของแต่ละเมืองอย่างชัดเจนในสมัยนั้นๆ
        ใบบอกเมืองกำแพงเพชร มีจำนวนมาก ตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนหน้านั้นเราไม่พบ อาจมีแต่ถูกทำลายไปสิ้นในสมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2
ใบบอกของเมืองกำแพงเพชรมีมากในสมัยปฏิรูปการเมืองของรัชกาลที่ 5 เพื่อให้หัวเมืองได้รายงานความเคลื่อนไหวทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องเล็กน้อยเพื่อสะดวกในการควบคุมดูแล มิให้กระด้างกระเดื่องหรือแข็งเมือง และสามารถควบคุมจัดการมิให้หัวเมืองได้มีโอกาสจัดการอะไรด้วยตนเองได้ นับว่าเป็นการลด ความสำคัญของเจ้าผู้ครองนครลง กำแพงเพชรก็เช่นกัน
        ใบบอกเมืองกำแพงเพชร จะขึ้นต้นด้วย ที่ตั้งคือเมืองกำแพงเพชร ใช้จุลศักราช เป็นสำคัญในการวันเดือนปี และจะขึ้นต้นด้วยคำว่า???
      ข้าพเจ้า พระยารามรณรงคสงครามรามภักดีอภัยพิริย์ภาหะ ผู้สำเร็จราชการเมือง
พระอินทแสนแสง ปลัดเมือง พระมนตรีราชยกบัตร...... ซึ่งทั้งสามท่านเป็นกรรมการเมืองกำแพงเพชร แสดงถึงมิให้รายงานคนเดียวเพื่อให้ข้อความเป็นจริง ตอนจบลงนาม พร้อมประทับตราทุกท่าน บางฉบับจะมีเฉพาะชื่อของพระยารามรณรงคสงครามรามภักดีอภัยพิริย์ภาหะเพียงท่านเดียว และต่อด้วยกรมการเมืองเลย
       เจ้าเมืองกำแพงเพชร มีชื่อราชทินนามว่า พระยารามรณรงคสงครามรามภักดีอภัยพิริย์ภาหะ มาตั้งแต่สมัยอยุธยามักเรียกกันสั้นๆว่าพระยาราม น่าจะสืบเชื้อสาย ในคนตระกูลเดียวกันมาหลายยุคหลายสมัย... มีหลักฐานจากหลายแห่งในพงศาวดารเกือบทุกฉบับ ซึ่งเราจะมิได้กล่าวถึงในที่นี้แต่จะกล่าวถึงเฉพาะ พระยารามรณรงคสงครามรามภักดีอภัยพิริย์ภาหะ ในใบบอกเมืองกำแพงเพชรที่ค้นคว้ามา เริ่ม
ตั้งแต่ พระยารามรณรงคสงครามรามภักดีอภัยพิริย์ภาหะ (เกริก) ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี คือราวพุทธศักราช 2310 ? 2325 เรียกกันโดยสามัญว่าเจ้าคุณเกริก ไม่ทราบชื่อภริยา เจ้าคุณเกริก มีบุตรหนึ่งคนชื่อเจ้าคุณนุชๆมีภริยาชื่อเกา ภายหลังบวชเป็นชี และได้สร้างวัดมีนามว่าวัดชีนางเกา(อยู่บริเวณเยื้องกับที่ทำการไปรษณีย์กำแพงเพชร) ในสมัยรัชกาลพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดให้นายนุช ร่วมทัพไปตีทัพแขกที่เมืองปัตตานี กับนายบุญศรี บุตรชาย ได้ชัยชนะกลับมา ได้รับพระราชทานความดีความชอบให้ดำรงตำ แหน่งพระยารามรณรงคสงครามรามภักดีอภัยพิริย์ภาหะแทนบิดาเมื่อบิดาถึงแก่อนิจกรรมแล้วพระราชทานครอบครัวแขก มาหนึ่งร้อยครอบครัว มาอยู่ที่บริเวณเกาะแขก ซึ่งอยู่ตอนใต้โรงพยายาบาลกำแพงเพชร (ปัจจุบันไม่มีแขกปัตตานีในบริเวณบ้านแขกแล้ว) และพระราชทานดาบฝักทอง ให้เป็นบำเหน็จมือ ซึ่งต่อมาดาบฝักทองได้เป็นพระแสงราชศัตราประจำเมืองกำแพงเพชร ส่วนคุณบุญศรีบุตรชาย ได้พระราชทานให้ไปกินเมืองศรีสัชชนาลัย นามว่าพระยาฤทธิเดช และได้พระราชทาน
หม่อมฉิม ให้เป็นภริยา นับว่ามีความดีความชอบมาก สังเกตจากการพระราชทานสิ่งของและบุคคลให้
ในส่วนของพระยาฤทธิเดช กับหม่อมฉิม มีธิดาชื่อคุณหญิงพลับๆ ได้สมรสกับพระยายกบัตรเมืองสุโขทัย
มีบุตรธิดา 4 คน คือ พระยานิ่ม พระยาพุ่มพิจิตร เจ้าคุณอ่อง และพระยารณชัย...และเนื่องจากไปกินเมืองอื่น จึงมิได้สืบค้นต่อ...
        ส่วนพระยารามรณรงคสงครามรามภักดีอภัยพิริย์ภาหะ (พระยากำแพง นุช) กับท่านผู้หญิงเกาหรือท่านผู้หญิงชี มีธิดาท่านหนึ่งนามว่า ท่านผู้หญิงแพง ท่านผู้หญิงแพงได้สมรสกับ เจ้าคุณนาค และได้รับพระราชทานตำแหน่ง เป็นพระยากำแพง พระยากำแพงนุชและท่านผู้หญิงแพง มีบุตรธิดา 7 ท่าน ล้วนได้รับพระราชทานตำแหน่งที่สำคัญทั้งสิ้น แสดงถึงบารมีของพระยากำแพงนุช ยังมีถึงลูกหลานอย่างทั่วถึงจึงได้รับพระราชทานตำแหน่งสำคัญเรียงตามอายุคือ
        1. พระยากำแพง(บัว) ได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร ต่อจากพระยากำแพงนาค นามพระราชทานว่าพระยารามรณรงคสงครามรามภักดีอภัยพิริย์ภาหะ (บัว)
        2. พระยากำแพง(เถื่อน) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นถวิล ได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร ต่อจากพระยากำแพง(บัว) ได้รับพระราชทานให้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรนามพระยารามรณรงคสงครามรามภักดีอภัยพิริย์ภาหะ (เถื่อน)
        3. พระยากำแพง(น้อย) ได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชร ต่อจากพระยากำแพง(เถื่อน) ได้รับพระราชทานนามว่า พระยารามรณรงคสงครามรามภักดีอภัยพิริย์ภาหะ (น้อย)
        4. พระยากำแพง(เกิด) ได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรต่อจากพระยากำแพง(น้อย) ได้รับพระราชทานนามว่า พระยารามรณรงคสงครามรามภักดีอภัยพิริย์ภาหะ(เกิด)
        5. หม่อมสุดใจ ได้ถวายตัวเป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2
        6. พระยาพลไกร(อ๋อง)
        7. คุณฉิม ( สืบไม่ได้น่าจะเป็นสตรี)

        พระยากำแพง(เกิด) กับท่านผู้หญิงทรัพย์ มีบุตรธิดา 9คน คือ
        1. คุณย่าหุ่น แต่งงานกับหลวงพินิจ
        2. คุณย่านก แต่งงานกับคุณปู่เสือ
        3. คุณย่าขำ ถึงแก่กรรมตั้งแต่เยาว์วัย
        4. หลวงวิเศษสงคราม(ดิศ)
        5. คุณย่าผึ้ง แต่งงานกับพระพล( เรียม นุชนิยม)
        6. หลวงพิพิธอภัยผู้ช่วย (ต่าย)
        7. พระยากำแพง (อ้น)
        8. คุณหญิงภู่ (ภริยาพระยารามรณรงคสงคราม หรุ่น อินทรสูต) คือพระยากำแพงคนสุดท้าย ในสกุลนี้
        9. คุณย่าหญิงทองหยิบ ถวายตัวเป็นนางห้าม รัชกาลที่ 4
        หลวงพิพิธอภัยผู้ช่วย (ต่าย) มีภรรยาชื่อคุณหญิงกระจับๆ เป็นภรรยาในนามของพระยากำแพง (อ้น)ซึ่งมีศักดิ์เป็นพี่สะใภ้ สันนิษฐานว่า เมื่อหลวงพิพิธอภัยผู้ช่วย (ต่าย) ถึงแก่กรรม หลวงพิพิธอภัย (หวล)ผู้เป็นบุตร ได้มาเป็นบุตรบุญธรรมของพระยากำแพง(อ้น) จากพระราชนิพนธ์จดหมายเหตุประพาสต้นกำแพงเพชรในรัชกาลที่ 5 บันทึกว่า หลวงพิพิธอภัย( หวล) เป็นบุตรพระยากำแพง(เกิด) ผู้ถวายดาบ
ฝักทองแด่รัชกาลที่ 5
        หลวงพิพิธอภัย (หวล) มีภรรยา 2 คน คือนางจัน มีบุตร ธิดา 2 คน คือ
1.นางหวีด รามสูต ภรรยารองอำมาตย์ตรี ขุนทรงราชผล (พลี ศุภดิษฐ์) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสาวงามกำแพงเพชร ในพระราชนิพนธ์จดหมายเหตุประพาสต้น ของพระพุทธเจ้าหลวง ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าหลวง พระองค์บันทึกไว้ว่า...... ผู้หญิงเมืองนี้ นับว่ารูปพรรณสัณฐานดีกว่าเมืองอื่นในข้างเหนือ คนงามทั้ง 4 ที่จะให้ถ่ายรูปนั้น เขาให้ถือกระเช้าหมากคอยแจก คือหวีด บุตรหลวงพิพิธอภัย อายุ 16 ปี คนนี้รุ้จักโปสต์ถ่ายรุป จึงได้ถ่ายรูปเฉพาะคนเดียว......... แม่หวีดผู้นี้คือมารดาของ คุณครูวัฒนา ศุภดิษฐ์
ขุนทรงราชผล (พลี ศุภดิษฐ์) ได้บันทึกไว้ว่า ได้แต่งงานกับแม่หวีด เมื่อเดือนแปด ปีมะแม พุทธศักราช 2450 หลังจากพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จกลับ 1 ปี แม่หวีด ถึงแก่กรรม เมื่อวันเสาร์แรม สองค่ำ เดือนยี่ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 18 มกราคม พุทธศักราช 2461 เวลา 7 นาฬิกา อายุได้ 29 ปี (แม่หวีดเกิดเมื่อวันศุกร์ เดือนสาม ปีขาน พุทธศักราช 2433 )
2.นายหอม รามสูต (มีรายละเอียดมากยังไม่นำเสนอ)
ส่วนภรรยาอีกคนหนึ่งคือ นางพัน มีบุตรธิดา 8 คน จะไม่นำเสนอในครั้งนี้
.....นับว่าสิ้นสุดประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เมื่อสิ้นสุดสมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนรายละเอียดได้เก็บไว้นำเสนอในคราวต่อไป

                                ใบบอกกำแพงเพชร ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีจำนวนมากแต่จะนำเสนอในบางส่วนที่น่าสนใจ
เรื่องที่ 1 การเบิกเงินของหัวเมืองกำแพงเพชร เพื่อจ่ายค่าทำทางสายโทรเลข เมื่อวันพุธขึ้นหนึ่งค่ำเดือนสิบ ปีระกาสัปตศก ศักราช 1247
        ความโดยย่อกล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงษ์ กรมหลวงภานุพันธ์
วรเดช สำเร็จราชการกรมไปรษณีย์โทรเลข กราบทูลว่า ให้หม่อมเทวาธิราชนุกุล ไปทำทางสายโทรเลข เบิกเงิน 1,400 บาทจากเมืองกำแพงเพชรเป็นเงินเดือน จำนวน 7 เดือน
เรื่องที่ 2 รายงานการสืบสวนจับกุมผู้ร้ายระหว่าเมืองกำแพงเพชรกับเมืองตากเมื่อวันพุธขึ้นหนึ่งค่ำเดือนสิบ ปีระกาสัปตศก ศักราช 1247

เรื่องที่ 2 รายงานการสืบสวนจับกุมผู้ร้ายระหว่าเมืองกำแพงเพชรกับเมืองตากเมื่อวันพุธขึ้นหนึ่งค่ำเดือนสิบ ปีระกาสัปตศก ศักราช 1247
        ความโดยย่อกล่าวถึง ระหว่างเมืองกำแพงเพชรกับเมืองตากมีโจรผู้ร้ายชุกชุมมาก ลูกค้าอังกฤษทำมาค้าขายเป็นที่ลำบากมาก ให้พระยารามฯแต่งพระมนตรีราชยกระบัตรออกชำระจับตัวผู้ร้ายให้ได้ จับได้ไอ้เสือถิ่น ไอ้เสือแย้ม ปล้นจีนถุ้ง และ ไอ้เอมผู้ร้ายปล้นฆ่าที่เมืองตาก มาซ่อนตัวที่ลานดอกไม้ จับตัวได้และพิจารณาตัดสินความแล้ว
        
เรื่องที่ 3 การขอเปลี่ยนทนายความของพระยากำแพงเพชร จากจีนแดงเป็นหลวงเทพสุภา ณ วันศุกร์แรมสองค่ำเดือนสิบปีระกาสัปตศก 1247
        ความโดยย่อกล่าวถึง นายกัก ฟ้องกล่าวโทษพระยากำแพง หลวงวัง หลวงแพ่ง หลวงพิไชยภักดี หลวงพรหม หลวงเทพอาญา นายขุนทอง นายเชยผู้คุม โดยมีจีนแดงเป็นทนายความให้ พระยากำแพงกับพวก ต่อมาพระยากำแพงกับพวก ขอเปลี่ยนทนายความจากจีนแดง เป็นหลวงเทพสุภาแพ่ง

เรื่องที่ 4 รายงานการติดตามเก็บส่วยคงค้างเพื่อนำส่งเข้าพระคลังมหาสมบัติ ณ วันพุธ ขึ้นสิบสามค่ำ
เดือนสิบเอ็ด ปีระกาสัปตศกศักราช 1247
        ความโดยย่อกล่าวถึง ตามที่ให้เก็บส่วยส่งถึงพระคลังมหาสมบัติให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยนั้นได้พยายามเก็บส่วยอย่างละเอียดแล้ว รวมเงิน หกชั่ง สิบห้าตำลึง พร้อมบัญชีหางว่าว ให้ขุนรักษาพลคุมลงมาส่ง กรุงเทพมหานคร (ส่วยในที่นี้คือเงินรัชชูปการเงินที่เรียกเก็บจากราษฎรชายที่มิได้รับราชการทหารเป็นรายบุคคล )

เรื่องที่ 5 รายงานการใช้เงินหลวง ให้สำหรับซื้อข้าว จ่ายราชการ ณ วันศุกร์ขึ้นสิบเอ็ดค่ำเดือนยี่ ปีระกาสัปตศกศักราช 1247
        ความโดยย่อกล่าวถึง พระยารามได้แต่งขุนพิพิธสาลี ว่าที่หลวงนา ไปเบิกเงินพระราชทาน หกชั่ง
เพื่อจัดซื้อข้าวสารจ่ายข้าราชการ ข้าวเปลือกเกวียนละห้าตำลึง และจัดทำฎีกาเพื่อเบิกเงินหลวงอีกสิบชั่ง เพื่อจัดซื้อข้าวอีกสำหรับจ่ายราชการบ้านเมือง

เรื่องที่ 6รายงานการตัดไม้จากกำแพงเพชร เพื่อนำไปใช้ในการทำพระเมรุงานพระราชทานเพลิงพระศพ
กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ณ วันศุกร์ขึ้นสิบเอ็ดค่ำเดือนยี่ ปีระกาสัปตศกศักราช 1247
        ความโดยย่อกล่าวถึงพระยารามฯ ได้รับตราพระราชสีห์ โดยหลวงพิจารณาถือมา ว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคลทิวงคต ให้หาไม้ไปทำพระเมรุที่ท้องสนามหลวง จึงได้ให้พระสวัสดิ์ภักดี คุมไพร่ออกตัดไม้ ได้ไม้รวมทั้งสิ้น หนึ่งร้อยหกสิบเจ็ดต้น แต่ปีนี้น้ำน้อยทำแพมาส่งไม่น่าจะทันราชการแต่ส่งไม้ไผ่สองพันลำไม้ใช้ร้อยห้าสิบต้น ได้ผูกแพบรรทุกเครื่องพระเมรุมาแล้ว

เรื่องที่ 7 คดีหลวงบรรเทา ณ วันจันทร์ขึ้นหกค่ำปีระกาสัปตศกศักราช 1247
        ความโดยย่อกล่าวถึง พระยารามฯ ได้ชำระคดีระหว่างขุนทรมาทิพย์ โจทย์ หลวงบรรเทา จำเลย ขัดข้อง จึงส่งสำนวนใส่ชะลอม และให้หลวงพิชัยภักดี ผู้ช่วย นำหลักฐานและนำทั้งโจทก์และจำเลย มาส่งที่กรุงเทพ เพื่อให้ตัดสินความ

เรื่องที่ 8 ขุนบานบุรี ฟ้องนายศิษย์กับพวก คดีทำร้ายร่างกายณ วันจันทร์ขึ้นหกค่ำปีระกาสัปตศกศักราช 1247
        ความโดยย่อว่า พระยารามบอกมาว่า ขุนบานบุรี ฟ้องนายศิษย์กับพวกทำร้ายร่างการแต่คดีซับซ้อนมาก จึงมอบให้หลวงพิไชยภักดี นำ เรื่องมาส่ง ณ กรุงเทพมหานคร

เรื่องที่ 9 เกณฑ์กองทัพกำแพงเพชร เพื่อไปทัพเมืองพิชัย ณวันจันทร์ แรมสิบสามค่ำ ปีระกาสัปตศก 1247
        ความโดยย่อว่า พระยารามฯว่าได้มีตราพระราชสีห์ ให้เกณฑ์ พระอินทรแสนแสง ปลัดหนึ่ง
ขุนหมื่น ไพร่ร้อยหนึ่งช้างสิบช้าง เข้ากองทัพเจ้าหมื่นไวยวรนาถ พร้อมอาวุธไปคอยรับกองทัพที่เมือง
พิไชย และให้เพิ่มอีกยี่สิบช้างรวม สามสิบช้าง แต่ในกำแพงเพชรมีช้างทั้งสิ้นยี่สิบสองช้าง พระอินทรแสนแสง ได้ไปส่งให้พระยาสีสิงหเทพ ณ เมืองพิไชยแล้ว

เรื่องที่ 10 หม่อมเทวาธิราชทำสายโทรเลขเมืองกำแพงเพชร ณวันจันทร์ เดือนเก้า ขึ้นสิบสามค่ำ ปีระกาสัปตศก 1247
        ความโดยย่อว่าหม่อมเทวาธราชเจ้าพนักงานโทรเลข เบิกเงินเดือน 1,400 บาท พระยารามได้แจ้งให้ทราบและให้หลวงพิไชยภักดี นำฎีกามาถวายขอหักเงินค่าไม้เกณฑ์ตัด ประจำปีระกาเบญจศก ต่อเจ้าพนักงานแล้ว

        นอกจากเรื่องราวเหล่านี้แล้ว ยังมีเรื่อง ดังต่อไปนี้ คือ
        ? กงสุลอังกฤษแจ้งว่ากำแพงเพชรและตากมีโจรผู้ร้ายชุกชุม
        ? ให้หลวงชำนาญสิงขรกับหมื่นแสวงภุมรา เสียค่าตัดฟันไม้
        ? ตั้งหลวงพิไชยภักดีเป็นพระกำแหงสงครามพระพล
        ? การทำทะเบียนคนจีนในกำแพงเพชร
        ? มองม่อพม่าขอทำไม้ขอนสักที่คลองขลุง
        ? การจัดช้างไปเมืองพิชัย
        ? เรื่องฉลองพระบรมอัฐิรัชกาลที่ 4
        ? โจรผู้ร้ายชุกชุมที่ขาณุ
        ? กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทิวงคต ใช้ชักลากไม้ทำพระเมรุ
        ? ให้ทำบัญชีวัดในกำแพงเพชร
        ? ผู้ร้ายลักม้าสีหมอกของหลวงประเวศ
        ? ค่าผูกปี ค่าแรงจีน
        ? เรียกตัวมองม่อ ไปกรมมหาดไทย
        ? จับโจรผู้ร้ายในแขวงเมืองกำแพงเพชร
        ? การลักช้างและพระรามยึดของกลาง
        ? การเกณฑ์ผู้คนดูแลเสาโทรเลขที่สร้างใหม่
        ? การผูกสีมาวัดบ้านลานดอกไม้
        ? การประเมินที่นาราษฎรกำแพงเพชร
        ? การติดตั้งสายโทรเลขประจำเมืองกำแพงเพชร
        ? หมื่นศรีสมบัติคุมเงินไปส่ง
        ? คดีหลวงพิพิธกับจีนชือเหียน
        ? ผู้ร้ายแย่งชิงนายร้อยคำปาง
        ? อำแดงแจงภรรยาหลวงพิพิธเป็นชู้กับจีนหวด
        ? เตือนนายกองปลัดกองให้เอาเงินส่วยของส่วยมาส่ง
        ? หลวงยกกระบัตรบัวชุม กล่าวโทษพระยากำแพงกับพวก
        ? พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นพิชิตปรีชากร เสด็จลำปาง ลำพูน เชียงใหม่
        ? นายสงกล่าวโทษพระวรลักษณ์แลกรมการเมือง
        ? ให้เจ้าของไม้ยื่นบัญชีไม้ต่อกรมการเมือง
        ? การก่อสร้างพัทธสีมาที่วัดทุ่งสวน
        ? ให้ส่งตัวนายสงมายังเมืองขาณุบุรี
        ? นายฉ่ำกล่าวโทษนายยัง กำนันบ้านบ่อถ้ำแขวงเมืองขาณุ
        ? จีนชิงหิน ไม้ขอนหายที่ลานดอกไม้
        ? คดีกระบือนายฉ่ำกับพวกหาย
        ? การเก็บเงินค่านาในแขวงเมืองกำแพงเพชร
        ? มิสเตอร์ยอดคูปองชาวอเมริกัน ทำไม้ขอนสักที่วังเจ้า
        ? ขอเบิกจ่ายค่าเซอร์เวย์ทางจากเมืองกำแพงเพชร
        ? อำแดงนวลกล่วโทษนายฉาย
        ? เอาตัวไอ้แยมมอบให้หลวงนามาส่งยังกรุงเทพ
        ? หลวงเทพนรินทร์ซื้อไม้ขอนสักจากกำแพงเพชรมาช่อมวิหารพระนอนจักรศรี
        ? ผู้ร้ายลักทรัพย์ลูกขุนตระเวณ
        ? ผู้ร้ายลักกระบือหลวงรามราชปลัดอำแดงกลีบตักยางของพระจัตุรงค์
        ? ขุนพินิจสุราการกล่าวโทษพระยาราม
        ? ให้ส่งพระยากำแพงกับพวกเข้ากรุงเทพ
        ? หลวงอินเกสรขอทำไม้ขอนสัก
        ? พระยากำแงแต่งหลวงเมืองเป็นทนาย
        ? พระยารามรณรงค์ยื่นทัณฑ์บนรับผิดขอกลับรับราชการตามเดิม
        ? มองเตงเผ่ ในบังคับอังกฤษ ขอเช่าไม้ตำบลคลองขลุง แขวงเมืองกำแพงเพชร
        รายละเอียดของใบบอกต่างๆนั้น ล้วนเป็นเรื่องที่ฉายภาพสังคมการเมืองและวัฒนธรรมในยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวของเมืองกำแพงเพชรได้เด่นชัดมาก สมควรได้มีการศึกษาค้นคว้า เพื่อจะได้เข้าใจในสังคม เมืองกำแพงเพชรมากขึ้น
        ภาพที่ชัดที่สุดคือภาพการฉ้อราษฎรบังหลวง ของพระยากำแพงเพชร (หรุ่น)ในปีพ.ศ.2447 ก่อนที่พระพุทธเจ้าหลวงส่งพระวิเชียรปราการ (ฉาย อัมพเศวต) นายอำเภอสรรค์บุรี มาเป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรแทน และทำให้ตระกูลพระยากำแพงเพชร ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี คือ พ.ศ. 2310 จนถึง 2447 เกือบหนึ่งร้อยสี่สิบปีที่ตระกูลพระยากำแพงมี อำนาจในกำแพงเพชรมีรายละเอียดจากใบบอกดังนี้



 
  
 
หน้า: 1 ... 84 85 [86] 87 88 ... 95
Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!