จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
พฤษภาคม 20, 2024, 07:26:11 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
  หน้าแรก ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
  แสดงกระทู้
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 95
31  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / วิทยากร วธ. เมื่อ: ธันวาคม 08, 2023, 06:11:14 pm
วิทยากร.สองวัน
32  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / ตำบลวังบัวแต่เดิมเป็นเขตการปกครองของตำบล ท่าพุทรา อ. คลองขลุง จ. กำแพงเพชร ต่อมา เมื่อ: พฤศจิกายน 27, 2023, 09:52:57 pm
ตำบลวังบัวแต่เดิมเป็นเขตการปกครองของตำบล ท่าพุทรา อ. คลองขลุง จ. กำแพงเพชร ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 ได้แยกการปกครอง ออกมาโดยตั้งชื่อตำบลใหม่ชื่อว่า ตำบลวังบัว ที่มีหมู่บ้านจำนวน 9 หมู่บ้าน ที่มาของชื่อตำบลนั้น มีชื่อคล้องกับบ้านวังบัวที่เป็นคลองเก่าและมีบัว ขึ้นมาก ดอกบัวเกิดขึ้นมาในริมคลอง ซึ่งเรียกภาษาในหมู่บ้านว่า "วัง" (คลองน้ำลึกเป็นลักษณะเหมือนวัง) และดอกบัว จึงเรียกขานกันมาว่า "วังบัว" บึงน้ำขนาดใหญ่เป็นแหล่งสัตว์น้ำและพืชน้ำชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะบัวประเภทต่าง ๆ มากมายมีความสวยงามเป็นที่เลื่องลือของชาวบ้าน และยังเป็น แหล่งน้ำที่ให้ประโยชน์แก่ชาวบ้านในการประกอบอาชีพ เมื่อมีการแยกตำบลชาวบ้านจึงเห็นสมควรใช้ชื่อวังบัวเพื่อเป็นสัญลักษณ์แก่บึงน้ำแห่งนั้น ในปี พ.ศ. 2539 สภาตำบลวังบัวได้ยกฐานะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2539 และ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113 ตอนที่ 9 ง ลงวันที่ 30 มกราคม 2539
 
      

องค์การบริหารส่วนตำบลวังบัว ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร มีสถานที่ตั้งของที่ทำการอยู่ที่ หมู่ที่ 10 บ้านระหารทราย และอยู่ห่างจากอำเภอคลองขลุงประมาณ 11 กิโลเมตร ห่างจากศูนย์ราชการจังหวัดกำแพงเพชรประมาณ 51 กิโลเมตร   
      

   ทิศเหนือ   ติดต่อกับ   ต.คณฑี อ.เมืองกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร   
    ทิศใต้   ติดต่อกับ   ต.ท่ามะเขือ อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร   
   ทิศตะวันออก   ติดต่อกับ   ต.ทุ่งทราย อ.ทรายทองวัฒนา จ.กำแพงเพชร   
    ทิศตะวันตก   ติดต่อกับ   ต.ท่าพุทรา อ.คลองขลุง จ.กำแเพงเพชร
33  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อเมืองกำแพงเพชร (ปาฐกถา เมื่อ: พฤศจิกายน 27, 2023, 09:40:20 pm
พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อเมืองกำแพงเพชร (ปาฐกถาพิเศษอังคาร ๑๘ มิย. ๖๒ ห้องประชุมอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร)
                                                                                                                                 สันติ อภัยราช
เมื่อข้าพเจ้าไปเมืองกำแพงเพชรครั้งแรก คือแวะเมื่อล่องกลับจากเชียงใหม่ ร.ศ. ๑๒๔ นั้น ได้พักอยู่ ๓ คืน ๒ วัน ได้เที่ยวดูในเมืองเก่าและตามวัดที่นอกเมืองบ้าง แต่ในเวลานั้นต้องนับว่ายังอ่อนอยู่มากในทางโบราณคดี คือยังไม่ใคร่ได้มีโอกาสตรวจค้นมาก ทั้งเวลาที่อยู่ก็น้อย และเป็นคนแรกที่ได้ไปดู จะอาศัยฟังความคิดความเห็นผู้ใดๆก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความเห็นในเวลานั้นจึงยังไม่กล้าแสดงให้แพร่หลายมากนัก เป็นแต่ได้ทำรายงานกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามที่ได้สังเกตเห็นด้วยตา และแสดงความเห็นส่วนตัวบ้างเล็กน้อย ภายหลังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ได้เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปประพาสเมืองกำแพงเพชร ทอดพระเนตรสถานต่างๆแล้ว พระราชทานพระบรมราโชวาทเป็นอันมาก ครั้นเมื่อได้ทราบกระแสพระราชดำริแล้ว เมื่อปลาย ร.ศ. ๑๒๖ ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปตรวจดูสถานที่ในเมืองกำแพงเพชรซ้ำอีก จึงเห็นทางแจ่มแจ้งดีกว่าครั้งแรกเป็นอันมาก
 
พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

ข้อความข้างต้นเป็นข้อความตอนหนึ่งในพระราชนิพนธ์เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง ของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยในการศึกษาค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีอย่างยิ่ง ได้เสด็จประพาสเมืองสุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร พิชัยและพิษณุโลกเพื่อทอดพระเนตรโบราณสถาน โบราณวัตถุระหว่างวันที่ ๔ มกราคม - ๖ มีนาคม รศ. ๑๒๖ (พ.ศ.๒๔๕๐) และโปรดฯ ให้จัดพิมพ์พระราชนิพนธ์เรื่อง “เที่ยวเมืองพระร่วง” ซึ่งทรงบันทึกเรื่องราวระยะทางเสด็จประพาสในคราวนั้นพร้อมพระราชวิจารณ์ในแง่ประวัติศาสตร์และโบราณคดี ก่อให้เกิดกระแสตื่นตัวในการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์และโบราณคดีไทยในเวลานั้นอย่างมาก
ในส่วนของเมืองกำแพงเพชร   พระองค์ ทรงเสด็จมากำแพงเพชร สองครั้ง หลักฐานจากจารึกวงเวียนต้นโพ หลักที่ ๒๓๙    สร้างจาก หินปูนสีเทา กว้าง ๗๘ เซนติเมตร สูง ๑๒๖ เซนติเมตร หนา ๘ เซนติเมตร เป็นรูปใบเสมา   จารึกด้านเดียว มี ๑๙ บรรทัด นายประสาร บุญประคอง ได้อ่านจารึกหลักนี้

 
ภาพจารึกในวงเวียน ต้นโพ หน้าเมืองกำแพงเพชร เป็นจารึกของรัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งเป็นมกุฎราชกุมาร

ความว่า

๑. ศุภมัสดุพระพุทธศาสนายุกาลได้ ๒๔๔๘ พรรษา
๒. จุลศักราช ๑๒๖๗ ศกมะเส็ง รัตนโกสินทรศก ๑๒๔
๓. เป็นปีที่ ๓๘ ในรัชกาลแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
๔. เจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ
๕. มกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชดำเนินจากมณฑลพายัพ
๖. มาถึงเมืองกำแพงเพชรนี้ วันอังคารเดือนยี่ แรม ๗ ค่ำ
๗. สุริยคติกาลกำหนด วันที่ ๑๖ เดือนมกราคม เสด็จประพาส
๘. ทอดพระเนตรโบราณสถานหลายแห่งเป็นครั้งแรก
๙. ประทับแรมอยู่ ๒ ราตรีตั้งพลับพลานอกกำแพง
๑๐. เมืองกำแพงเพชร ที่วัดชีนางเกา   ริมลำน้ำปิงฝั่งเหนือฯ
๑๑. ครั้นลุพระศาสนายุกาลได้ ๒๔๕๐ พรรษา
๑๒. จุลศักราช ๑๒๖๙ ศกมะแม รัตนโกสินทรศก ๑๒๖
๑๓. เป็นปีที่ ๔๐ ในรัชกาลแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
๑๔. เจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชพระองค์นั้น
๑๕. ได้เสด็จพระราชดำเนินมาถึงเมืองกำแพงเพชรนี้
๑๖. วันพุธเดือนยี่ขึ้น ๑๓ ค่ำ สุริยคติกาลกำหนด
๑๗. วันที่ ๑๕ มกราคม ได้เสด็จประพาสทอดพระเนตร
๑๘. โบราณสถานซ้ำอีกเป็นครั้งที่ ๒ ประทับแรมอยู่
๑๙. ๓ ราตรีที่พลับพลาเดิมฯ
 
                    นำจารึกในใบเสมาของรัชกาลที่ ๖ มาประดิษฐาน แก้เคล็ด ลักษณะฮวงจุ้ย

มีใจความสำคัญ สรุปได้ว่า 
พ.ศ. ๒๔๔๘ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินจากมณฑลพายัพมาถึงเมืองกำแพงเพชร ทอดพระเนตรโบราณสถานหลายแห่ง โดยประทับแรมที่พลับพลาบริเวณวัดชีนางเการิมลำน้ำปิงฝั่งเหนือ นอกเมืองกำแพงเพชร เป็นเวลา ๒ คืน ต่อมาในพ.ศ. ๒๔๕๐ เสด็จมาทอดพระเนตรโบราณสถานอีกครั้งหนึ่ง และทรงตั้งพลับพลาประทับแรม ๓ คืน ในที่เดิม
ในโอกาสที่ เสด็จเมืองกำแพงเพชรครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๐ ขณะนั้น ที่ว่าการเมืองกำแพงเพชร หลังแรก สร้างเสร็จพอดี (บริเวณที่ทำการเหล่ากาชาดกำแพงเพชร ในปัจจุบัน) พระองค์ทรงปลูกต้นสักไว้ที่หน้าที่ว่าการเมืองกำแพงเพชร เป็นที่ระลึก ปัจจุบันต้นสักทรงปลูก ยังสูงใหญ่และงดงามมาก
 
พลับพลาที่ประทับ ที่ ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มกุฎราชกุมาร บริเวณวัดชีนางเกานั้น เป็นทั้งที่ประทับแรมของพระพุทธเจ้าหลวงเมื่อคราประพาสต้น เมืองกำแพงเพชร ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ด้วย
ต่อมาจังหวัดกำแพงเพชร ได้ตั้งโรงเรียนสตรีขึ้น และได้ใช้พลับพลารับเสด็จและประทับแรม เป็นที่ทำการของโรงเรียน มีนามเป็นสิริมงคลว่า โรงเรียนสตรีพลับพลา ต่อมาได้ กลายเป็นโรงเรียนสตรีกำแพงเพชร “นารีวิทยา” ในที่สุด ได้รวมกันกับโรงเรียนชาย กำแพงเพชร “วัชรราษฎร์วิทบาลัย” เปลี่ยนนามเป็นโรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม ในปัจจุบัน 
        โรงเรียนสตรีพลับพลา สร้างอาคารเรียนใหม่ เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนสตรีกำแพงเพชร “นารีวิทยา”
ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ จังหวัดกำแพงเพชร ได้สร้างที่ทำการเมืองหลังใหม่เสร็จเรียบร้อย ภายในกำแพงเมืองกำแพงเพชร และสร้างสะพานคอนกรีตข้ามลำน้ำปิง ตรงมายังที่ว่าการเมืองเลยทีเดียว ซึ่งผู้รู้ทั้งหลายทักกันว่า ผิดหลักฮวงจุ้ย จะไม่เป็นมงคลกับเมืองกำแพงเพชร ไม่สามารถแก้ไข เปลี่ยนแปลง ทั้งที่ว่าการเมือง(ศาลากลาง)และสะพานกำแพงเพชรได้ ที่ประชุมกรรมการเมืองกำแพงเพชร และท่านผู้รู้ในเมืองกำแพงเพชร ได้แก้เคล็ด ฮวงจุ้ย ดังกล่าว โดยอัญเชิญ ใบเสมาศิลาจารึก ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มกุฎราชกุมาร ที่ประดิษฐานบริเวณต้นโพ ขึ้นมาประดิษฐานกลางวงเวียน ขวางกันไว้ มิให้สิ่งที่ไม่เป็นมงคลเข้าสู่เมืองกำแพงเพชร ที่ตั้งใบเสมาจารึกสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มกุฎราชกุมาร จึงตั้งตระหง่าน เป็นจุดศูนย์กลางของเมืองกำแพงเพชรมาจนถึงปัจจุบัน แม้ได้เปลี่ยน ฐานรองรับมาหลายรูปแบบ จนมาถึงปัจจุบัน
 
                           สะพานกำแพงเพชร ที่ตัดตรงไปยังศาลากลางจังหวัดกำแพงเพชร

นับว่าการเสด็จประพาสเมืองกำแพงเพชร สองครา คือพุทธศักราช ๒๔๔๘ และ ๒๔๕๐ ทรงพระราชทานสิ่งที่เป็นมงคลให้ชาวกำแพงเพชร มาจนถึงปัจจุบัน คือ
๑.ต้นสัก ทรงปลูก เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๐
๒.จารึกวงเวียนต้นโพ กลางเมืองกำแพงเพชร
๓.หนังสือพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง
๔.พลับพลารับเสด็จวัดชีนางเกา กลายเป็นโรงเรียนสตรีพลับพลา  โรงเรียนสตรีกำแพงเพชร “นารีวิทยา” และ เป็นกำแพงเพชรพิทยาคม เมื่อรวมกับ กำแพงเพชร “วัชรราษฎร์วิทยาลัย”
นับ เป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อเมืองกำแพงเพชร ที่ชาวกำแพงเพชร ประทับใจอยู่มิรู้คลาย

‘’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’’
34  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / วัดทุ่งสนุ่นรัตนาราม บ้านทุ่งสนุ่น ต.ระหาน อ.บึงสามัคคี จ.กำแพงเพชร เป็นวัดราษ เมื่อ: พฤศจิกายน 27, 2023, 08:09:46 pm
วัดทุ่งสนุ่นรัตนาราม
บ้านทุ่งสนุ่น ต.ระหาน อ.บึงสามัคคี จ.กำแพงเพชร

เป็นวัดราษฏร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีเนื้อที่ ๒๗ ไร่ ๒ งาน ๓๖ ตารางวา ตั้งอยู่ที่ บ้านทุ่งสนุ่น หมู่ที่ ๔ ตำบลระหาน อำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร เริ่มสร้างวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ โดยชาวบ้านซึ่งมีเชื้อสายลาวครั่ง และลาวเวียง ได้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานจากจังหวัดนครปฐม และ จังหวัดราชบุรี มาจับจองที่ดินเพื่อทำมาหากินที่บริเวณอำเภอขาณุวรลักษบุรี (บริเวณ อ.บึงสามัคคีในปัจจุบัน) ซึ่งในขณะนั้นบริเวณนี้ยังเป็นป่าดงดิบเต็มไปด้วยสัตว์ป่า อุดมสมบูรณ์ด้วยแหล่งน้ำ และมีต้นสนุ่น (ใคร้นุ่น) เกิดอยู่เต็มท้องทุ่งนา ชาวบ้านจึงเรียกขานบ้านตนเองว่า บ้านทุ่งสนุ่น และหลังจากนั้นไม่นานชาวอีสาน จากจังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดขอนแก่นก็อพยพมาสมทบกันอยู่เพิ่มเติมอีก จากนั้นจึงมีคนไทยเชื้อสายจีนเดินทางมาค้าขายทีหลัง

เมื่อมีประชาชนอพยพเข้ามาอยู่เรื่อยๆ จนกลายเป็นชุมชนใหญ่พอสมควรแล้ว ชาวบ้านจึงร่วมใจกันสร้างวัดขึ้นบนพื้นที่โรงเรียนอนุบาลบึงสามัคคีในปัจจุบัน และได้ไปนิมนต์ หลวงปู่เบี้ยว ถาวริโก จาก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี มาเป็นหัวหน้าที่พักสงฆ์ แต่ด้วยทำเลที่ตั้งวัดนั้นไม่เหมาะเพราะอยู่ติดทางโค้งหลวงปู่และชาวบ้านจึงได้แลกที่ดินกันกับโรงเรียน ทำให้วัดทุ่งสนุ่นรัตนารามได้มาตั้งอยู่ที่บริเวณสี่แยกบ้านทุ่งสนุ่นตราบเท่าปัจจุบัน ได้รับอนุญาตให้สร้างวัด เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๑๓ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า '''วัดทุ่งสนุ่นรัตนาราม''' ซึ่งแปลว่า วัดที่เปรียบเหมือนแก้วอันล้ำค่าของชาวบ้านทุ่งสนุ่น เปิดทำการเรียนการสอนนักธรรม ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘ เป๋นต้นมา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ และได้ทำการผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ มีเจ้าอาวาสตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

๑.หลวงปู่เบี้ยว ถาวริโก (น.ธ.โท) หัวหน้าที่พักสงฆ์ จากนั้นก็กลับมาจำพรรษาที่ บ้านโป่ง ราชบุรี
๒.พระอธิการเหรียญ ปภสฺสโร (น.ธ.เอก) เจ้าอาวาสรูปแรก จากนั้นได้ลาออกไปจำพรรษาที่จังหวัดนครปฐม
๓.พระครูแกะ สิริสาโร (น.ธ.โท) ลาออกจากตำแหน่ง
๔.เจ้าอธิการเหรียญ ปภส์สโร (สมัยที่ ๒) ญาติโยมไปนิมนต์กลับมาเป็นเจ้าอาวาสอีกครั้งและเป็นเจ้าคณะตำบลระหาน ภายหลังได้ลาสิกขา
๕.พระอธิการเบี้ยว ถาวริโก (น.ธ.โท) ญาติโยมไปนิมตน์หลวงปู่กลับมาเป็นเจ้าอาวาสอีกครั้ง จนกระทั่งมรณภาพ
๖.พระครูสุนทรวชิโรภาส (เดือน สมิงฺคิโก น.ธ.โท) มรณภาพ
๗.พระมหาอภิชาติ กิตฺติวรญฺญู (น.ธ.เอก ป.ธ.๗ พธ.บ. ป.วค. ศศ.ม.) ๒๕๔๘ - ปัจจุบัน เจ้าคณะตำบลระหาน-เทพนิมิต เขต ๑

ผลงานและรางวัลที่ได้รับ
๑.หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลดีเด่น ระดับอำเภอ กิตติคุณัปปกาสินี พ.ศ. ๒๕๕๒
๒.วัดส่งเสริมสุขภาพดีเด่นระดับประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๓
๓.สุดยอดส้วมแห่งปีระดับจังหวัด พ.ศ. ๒๕๕๓
๔.วัดส่งเสริมสุขภาพทันตกรรมดีเด่น พ.ศ. ๒๕๕๔
๕.รางวัลพุทธคุณูปการ ประเภท รัชตะเกียรติคุณ จากสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๕๓
๖.รางวัลเสาเสมาธรรมจักรพระราชทาน สาขา การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศ พ.ศ. ๒๕๕๕
๗. พัดเชิดชูเกียรติ หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลดีเด่น ระดับอำเภอ จากเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ พ.ศ. ๒๕๕๖
๘.พัดเชิดชูเกียรติ หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลดีเด่นระดับประเทศ จาก สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ พ.ศ. ๒๕๕๗
๙.รางวัลเสาเสมาธรรมจักร พระราชทาน สาขา องค์กร สมาคม มูลนิธิ หน่วยงานที่ส่งเสริมกิจกรรมพระพุทธศาสนา ๒๕๕๗ (สถานีวิทยุคนมีบุญ)
ศิลปวัฒนธรรมประเพณีของวัด
๑.บุญผะเหวด เทศน์มหาชาติ ตั้งแต่ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ - แรม ๒ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี
๒.ปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติ ตั้งแต่ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๓ - แรม ๒ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี
๓.ประเพณีบวชเณรภาคฤดูร้อน ๑-๑๕ เมษายน ของทุกปี
๔.ประเพณียกอ้อ ยอครู พระสัพพัญญูเจ้า วันที่ ๑๕ เมษายน ของทุกปี (วันพญาวัน)
๕.ประเพณีแห่เทียน เปลี่ยนชีวิต ก่อนเข้าพรรษา ๒ วันของทุกปี
๖.งานพุทธคุณูปการ สืบสานศิลปวัฒนธรรม ระหว่างพรรษากาลของทุกปี)
๗.ประเพณีตักบาตรเทโว แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี
๘.บุญกฐินสามัคคีประเพณีลอยกระทง วันขึ้น ๑๓ - ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ของทุกปี
๙.สวดมนต์ข้ามปี โชคดีตลอดไป วันที่ ๓๑ ธันวาคม ของทุกปี ฯลฯ

ความสำคัญของวัด
๑.เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหาลาโภ พระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น ขุดพบที่อำเภอบ้านโป่ง จ.ราชบุรี
๒.สถานีวิทยุชุมชนคนมีบุญ FM ๑๐๕.๒๕MHz. สถานีวิทยุที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา และศิลปวัฒนธรรม
๓.พิพิธภัณฑศาลา เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุจากกรุงเวียงจันทน์ และแสดงศิลปวัตถุโบราณ
๔.หลวงพ่อพระเจ้าบุญล้าน พระพุทธปฏิมาศิลปะล้านนา+เวียงจันทน์

สรุป
วัดทุ่งสนุ่นรัตนาราม นับตั้งแต่ พระมหาอภิชาติ กิตฺติวรญฺญู เป็นเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นต้นมา ท่านได้พัฒนาวัดและพัฒนาคนไปพร้อมๆกัน ถึงพื้นที่แห่งนี้มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ และทัศนคติที่อาจจะเห็นต่างกันบ้าง แต่ท่านก็ได้ใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนากับศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านมาเป็นตัวสื่อกลางเชื่อมความหลากหลายทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ให้รวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยจะเห็นได้จากเวลาที่วัดทุ่งสนุ่นรัตนารามจัดงานประเพณีบุญต่างๆไม่ว่าจะเป็นประเพณีไทยหรือประเพณีอีสาน ต่างก็ได้รับความสนใจจากประชาชนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเพณีบุญผะเหวด ซึ่งทางวัดได้จัดเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ นั้น มีประชาชนเข้าร่วมงานหลายหมื่นคน จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นงานบุญผะเหวดแห่งเดียวของภาคเหนือตอนล่างที่มีประชาชนเข้าร่วมงานมากที่สุด และจัดยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้เลยทีเดียว ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมอนุรักษ์ประเพณีของชาวลุ่มแม่น้ำโขง (ลาวครั่ง ลาวเวียง ลาวอีสาน) ที่อพยพมาอยู่ที่นี่ให้คงอยู่ไม่สูญหายไปตามกาลเวลาและระยะห่างจากรากเหง้าบรรพบุรุษของตนสืบไป
35  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / กำหนดการ สมาคมธุรกิจการถ่ายภาพ ร่ว เมื่อ: พฤศจิกายน 17, 2023, 12:30:12 pm
                                              กำหนดการ
สมาคมธุรกิจการถ่ายภาพ ร่วมกับ  ชมรมธุรกิจการถ่ายภาพจังหวัดกำแพงเพชร
จัดการเสวนาชมรมธุรกิจการถ่ายภาพทั่วประเทศ ณ จังหวัดกำแพงเพชร
  ๒๖ - ๒๘ มกราคม ๒๕๖๗   โรงแรมชากังราวริเวอร์วิว อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร
                              (จำนวนประมาณ ๒๐๐ท่าน)
๒๖  มกราคม ๒๕๖๗  
    ๘.๓๐น.               สมาชิกพร้อมที่วัดพระบรมธาตุ รับประธานอาหารร่วมกัน
                     นั่งรถไฟฟ้าชมเมืองจำนวน ๖ คัน จาก อุทยานประวัติศาสตร์  
                                    กำแพงเพชร ๒ คัน  อบจ.กำแพงเพชร ๒ คัน เทศบาลเมือง  
                                     กำแพงเพชร ๒ คัน
      
.               กล่าวต้อนรับโดย คุณอมร  ถาวรศักดิ์  นายกชมรมธุรกิจการ    
                                       ถ่ายภาพจังหวัดกำแพงเพชร
          ๙.๓๐น                นมัสการพระบรมธาตุ และนำชม วัดพระบรมธาตุ โดย  
                                     อาจารย์ สันติ อภัยราช
           ๑๐.๐๐น.               ชมกำแพงเมืองกำแพงเพชรและ อุทยานประวัติศาสตร์  
                                      กำแพงเพชร  โดยเจ้าหน้าที่อุทยานประวัติศาสตร์
             ๑๑.๐๐น.             สักการะเจ้าพ่อหลักเมือง ชมวัดพระแก้
             ๑๑.๓๐ น.            ชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
            ๑๒.๓๐ น.            รับประทานอาหารกลางวัน ที่พิพิธภัณฑ์เรือนไทย
                                     ชมพิพิธภัณฑ์เรือนไทย
   ๑๓.๓๐น.          เข้าที่พัก โรงแรมชากังราว  พักผ่อนตามอัธยาศัย
๒๗ มกราคม ๒๕๖๗
                              ห้องประขุม ชั้น ๗ โรงแรมชากังราว
   ซื้อสินค้า  อุปกรณ์ถ่ายรูป  กระดาษ  หมึก   กรอบรูป  จากบริษัท
               ชั้นนำของประเทศ พร้อมโปรโมชั่นส่วนลดพิเศษ
       ๑๐.๐๐น. เปิดการเสวนา เรื่อง การปรับตัวเพื่อเข้าสู่ยุคใหม่ของ   AI  2024
                      โดยดร.วิชา จันทร์เชื้อ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จังหวัด  
                       กำแพงเพชร  กล่าวรายงานโดย คุณอมร  ถาวรศักดิ์  นายกชมรมธุรกิจ
                        การถ่ายภาพจังหวัดกำแพงเพชร  “เริ่มการเสวนา”
   ๑๒.๐๐ น. รับประทานอาหารกลางวัน
         ๑๓.๐๐ น. เสวนาต่อ เรื่อง การปรับตัวเพื่อเข้าสู่ยุคใหม่ของ   AI  2024
         ๑๖.๓๐น. ปิดการเสวนา
๑๘.๓๐ น.รับประทานอาหารร่วมกัน เปิดงานสังสรรค์สมาคมธุรกิจการถ่ายภาพ ร่วมกับชมรมธุรกิจการถ่าย-ภาพจังหวัดกำแพงเพชร จัดการเสวนาชมรมธุรกิจการถ่ายภาพทั่วประเทศ ณ จังหวัดกำแพงเพชร
๑๙.๓๐น. การแสดงของชาวกำแพงเพชร ต้อนรับ สมาคมธุรกิจการถ่ายภาพและชมรมธุรกิจการถ่ายภาพทั่วประเทศ พร้อมมอบธงให้จังหวัดเจ้าภาพในปีต่อไป
๒๒.๐๐ น. พักผ่อนตามอัธยาศัย

๒๘ มกราคม ๒๕๖๗
   รับประทานอาหารเช้าร่วมกัน  สังสรรค์ กัน ตามอัธยาศัย
          กลับภูมิลำเนา โดยสวัสดิภาพ

                              ........................................................
หมายเหตุ กำหนดการ อาจเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม แ
36  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / ชราอย่างมีคุณภาพ บรรยายพิเศษ โรงเรียนผู้สูอายุ เทสบาลเมืองกำแพงเพชร เมื่อ: พฤศจิกายน 07, 2023, 09:29:13 am
เราจะสร้างคุณภาพชีวิตในวัยชราได้อย่างไร
๑.สร้างบุคลิกภาพให้ดูดี เช่นการปรากฏที่ดี อารมณ์ดี  แต่งตัวดูดี
๒.ควบคุมอารมณ์ของคุณให้ดี อย่าใช้อารมณ์มากเกินไป
๓.รู้จักปฏิเสธ และต้องมีพื้นที่ส่วนตัว จัดลำดับความสำคัญของงานได้
๔.ให้คำชมเชยยกย่องคนให้เป็น (ไม่ใช่ยอ) ชื่นชมคนใกล้ตัวด้วย เมื่อทำดี
๕.พูดให้น้อยลง ให้โอกาส แก่คู่สนทนาได้พูดบ้าง ฝึกการฟังอย่างกระตือรือร้น
๖.ทำตัวให้ผ่อนคลาย เคลื่อนไหวให้ช้าลง และมั่นคง ควบคุมตนเองได้ทุกสถานการณ์  อดทนรอให้เป็น อย่ารน อย่าเฉื่อยชา
๗. พูดให้ช้าลง เคลื่อนไหวให้น้อยลง  ฟังก่อน  คิดก่อน  แล้วค่อยพูด          พูด อย่างมีเป้าหมาย  ไม่แย่งกันพูด
๘. กำหนดขอบเขตของตนเอง ชีวิตต้องมีกรอบ ให้เกียรติผู้อื่นเสมอ มั่นคง สม่ำเสมอ ฝึกฝนที่จะดูแลตนเอง ออกกำลัง  อาหารการกิน
๙.ไม่ต้องทำตัวเราให้ใครๆประทับใจ เป็นตัวของตัวเอง  ไม่ต้องตามใจใครทุกคน อยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ปฏิเสธอย่างนิ่มนวล ตัวเองมีคุณค่า ไม่จำเป็นต้องคนอื่นเห็นคุณค่าเรา (ถ่อมตัวให้เป็น)
๑๐.สบตาคนอื่นเสมอ เมื่อสนทนาพูดคุย สนใจเรื่องที่เขาพูดความสัมพันธภาพจะแน่นและมั่นคง คุณจะมีเสน่ห์
ทั้งหมดคือคุณภาพชีวิต ในวัยชราที่เราสร้างได้ด้วยตนเอง









37  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / รายชื่อคณะกรรมการประกวดเพลงประจำจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อ: ตุลาคม 31, 2023, 07:52:43 pm
รายชื่อ
38  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / โค้ชสตรองจิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อ: ตุลาคม 14, 2023, 11:35:09 am
โค้ชสตรอง
39  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / คณะทำงานส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนไตรตรึงษ์ เมื่อ: ตุลาคม 14, 2023, 11:15:26 am
คณะทำงานส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนไตรตรึงษ์
40  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / ผู้ตรวจสอบหนังสือประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เมื่อ: ตุลาคม 13, 2023, 09:49:50 am
คำสั่งจังหวัดกำแพงเพชร
41  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / นายพิเชฐ พิมพา ป.ป.ช.จังหวัดกำแพงเพชร ย้ายไปสระแก้ว เมื่อ: ตุลาคม 12, 2023, 04:17:41 pm
คือคนดี คือคนเก่ง คือคนกล้า
เจรจา อ่อนน้อม ถนอมศักดิ์
ป.ป.ช.กำแพงเพชร ทุกคนรัก
ได้ประจักษ์ ศรัทธา มหาชน
ท่านยึดมั่น หลักการ สุจริต
มหามิตร มหาชน ไม่ฉ้อฉล
คือบรรทัด คือผู้นำ ที่อดทน
ของผู้คน ที่รู้จัก ตระหนักงาน
ประสานคน ประสานตน ประสานใจ
ประสานได้ สิบทิศ มหาศาล
ประทับใจ พิเชฐ พิมพา มาช้านาน
ผู้ก่อการ สุจริต มิตรไมตรี
ขอให้ท่าน ได้พบ แต่ความสุข
ไม่มีทุกข์ ในวิญญา คงศักดิ์ศรี
ถนอมรัก ถนอมคน ในปฐพี
สดุดี พิเชฐ พิมพา ผู้กล้าเอย
 
นายสันติ อภัยราช
รองประธานโคชสตรองจิตพอเพียงต้านทุจริต จังหวัดกำแพงเพชร
๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๖
42  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / ยกย่องนางสาวธัญดา.ศุภโชติพิมล เป็นผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา เมื่อ: ตุลาคม 06, 2023, 01:29:43 pm
ยกย่องนางสาวธัญดา   ศุภโชติพิมล เป็นผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่งยวด
43  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / คณะกรรมการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์เมิองกำแพงเพชร เมื่อ: กันยายน 19, 2023, 09:30:01 am
คณะกรรมการ
44  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / การแสดงแสงเสียงประกอบจินตนาการ นครไตรตรึงษ์ ปี ๖๖ เมื่อ: กรกฎาคม 21, 2023, 09:56:39 pm
                                                         การแสดงแสงเสียงประกอบจินตนาการ
                                                เรื่อง พระมหาบารมี วีรกษัตริย์  ปกฉัตร นครไตรตรึงษ์
      วันอังคารที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๖ณ วัดวังพระธาตุ  นครไตรตรึงษ์  จังหวัดกำแพงเพชร  เวลา ๒๐.๐๐ น.
                                                                        รวม  ๖๐นาที

                                                              .................................................
ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ ทุกท่าน องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลนครไตรตรึงษ์ โรงเรียนนครไตรตรึงษ์ โรงเรียนบ้านไตรตรึงษ์ และประชาชนชาวนครไตรตรึงษ์  ยินดีต้อนรับทุกท่าน เข้าสู่การแสดงแสงเสียงประกอบจินตนาการ  เรื่อง  พระมหาบารมี วีรกษัตริย์ ปกฉัตร  นครไตรตรึงษ์     
 ในเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๔๙      พระพุทธเจ้าหลวง พระปิยมหาราช เสด็จประพาสต้น เมืองกำแพงเพชร ๑๐ วัน คือตั้งแต่วันที่ ๑๘ สิงหาคม ถึงวันที่ ๒๗ สิงหาคม พุทธศักราช  ๒๔๔๙  ทรงโปรดที่จะท่องเที่ยวและเยี่ยมเยือน  เมืองกำแพงเพชรมากที่สุด และวันนี้  ในอดีตคือวันที่ ๒๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๔๙ ทรงเสด็จ ประพาสต้น ทอดพระเนตร วัดวังพระธาตุ และ นครไตรตรึงษ์ นครแห่งองค์อัมรินทร์แห่งนี้ ทรงบันทึกเรื่องราวของเมืองประวัติศาสตร์ นครไตรตรึงษ์ไว้อย่างละเอียดที่สุด ทำให้เราเห็นภาพของเมืองนครไตรตรึงษ์  ในอดีตและได้เกิดจินตภาพ อย่างชัดเจน ลึกซึ้ง และจะอยุ่ในความทรงจำแห่งชาวเราตลอดไปชั่วกัลปาวสาร
 เพื่อชมการแสดงได้อย่างมีอรรถรส   โปรดปิดไฟในงานทุกจุด ปิดเครื่องมือสื่อสาร และงดการแสดงออกอื่นๆ ทั้งสิ้น
และที่สำคัญที่สุด เพื่อแสดงความจงรักภักดี ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่รักและเคารพอย่างยิ่งของชาวไทยทุกคนขอเชิญทุกท่าน โปรดยืนขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระองค์  (เปิดเพลงสรรเสริญบารมี)
เชิญทุกท่าน ได้เข้าสู่การแสดง แสงเสียง  เรื่อง พระมหาบารมี วีรกษัตริย์  ปกฉัตร นครไตรตรึงษ์ ตามโครงการ ชากังราว นครแห่งศิลป์ ของ องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร     ณ บัดนี้           
..................................................................................
องก์ที่ ๑ …สถาปนา นครไตรตรึงษ์   (๑๕ นาที)
…….สายน้ำแม่ระมิงค์ที่ใสสะอาด ไหลผ่านนครเชียงใหม่ ลงมาทางทิศใต้สู่ ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ที่ยังเป็น ป่า ดงดิบที่ยังไม่มีผู้ใดค้นพบดินแดนอันงดงามและสงบสุข แห่งนี้
…..พระเจ้าพรหม โอรสแห่ง พระเจ้าพังคราชได้ขับไล่ขอมดําจากเหนือลงสู่ใต้ ระยะทางหลายร้อยเส้น มีการต่อสู้กันตลอดเส้นทางขอมดําได้สู้พลางถอยพลาง ผู้คนทั้งสองฝ่ายล้มตาย ราวใบไม้ร่วง ไล่ลงมาจนติดลําน้ำปิงตอนใต้ ขอมดํา ไม่ สามารถหนีไปได้ พากันล้มตายอย่างน่าเวทนาอย่างที่สุด
…..อัมรินทราธิราชเกรงผู้คนจะล้มตาย จนหมดสิ้น…จึงเสด็จมาจากสวรรค์ชั้น ดาวดึงส์ เปิดโลกสวรรค์กับโลกมนุษย์ให้เห็น กัน( เหาะมา) จึงรับสั่งแก่ พระวิษณุกรรมเทพเจ้าแห่ง ช่าง เป็น มธุรสวาจา ว่า
 พระอินทร์… ท่านวิษณุกรรมผู้ทรงไว้ซึ่งเทพเจ้าแห่ง ช่างอันประเสริฐที่สุด โปรดได้ เนรมิตกําแพงเมืองให้สูงตระหง่านและแข็งแกร่งประดุจเพชรกั้น ไม่ให้ ผู้คนทําร้ายซึ่งกันและกันให้สูญเผ่าพันธุ์เถิด
พระวิษณุกรรม   ท่าน เทพเจ้า ผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ ด้วยอำนาจแห่งความดีงาม และ ความซื่อสัตย์ ขอบันดาลให้เกิดกำแพงที่ยิ่งใหญ่ขวางกั้นมิให้มนุษย์สองเผ่าพันธุ์ ได้เข่นฆ่ากันให้เป็นบาปกรรม สืบต่อไป
.............ทันใด…เกิดกําแพงศิลาแลงอันมหัศจรรย์ขวางกั้นมิให้ทั้งสองฝ่ายประหัตถ์ ประหาร กัน…พระเจ้าพรหมจึง ยกกองทัพ กลับบ้านเมือง……
         พระเจ้าชัย ศิริโอรสพระเจ้าพรหม อพยพไพร่พล เพื่อตั้งราชธานีแห่งใหม่ รอนแรมมาแรมเดือน     มาถึงดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์นี้จึง สถาปนานครไตรตรึงษ์ ขึ้น เมื่อปีพุทธศักราช ๑๕๔๘
พระเจ้าชัยศิริ     แผ่นดินนี้ อุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก มีลำน้ำปิงไหลผ่าน ข้าวปลา อาหาร อุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก เหมาะกับการสร้างพระนคร ข้า จึงขอประกาศ   สถาปนา ให้พระนครแห่งนี้ มีนามว่าพระมหานครไตรตรึงษ์....................ขอให้ชื่อพระนครแห่งนี้ สถิตย์อยู่ชั่วกัลปาวสาร ................................
 (ระบำไตรตรึงษ์ เฉลิมฉลองพระนคร)
ตัวละคร
 ๑ พระเจ้าพรหม ทหารเอก 4 คน ทหารขอม 30 คน ทหารพระเจ้าพรหม30คน พระอินทร์ พระวิษณุกรรม
๒.พระเจ้าชัยศิริ  มเหสี  ( ราชธิดาน้อย ผู้แสดง อบจ. ) สนม กํานัล ทหารเอก 4 คน (เดิม) ทหาร 60 คนเดิม
๓ ระบำไตรตรึงษ์ ๕- ๙ คน
จบองค์ที่ ๑




องก์ ที่ ๒ ตำนานท้าวแสนปม กำเนิดพระเจ้าอู่ทอง  (๑๕ นาที)
          ที่นครไตรตรึงษ์ มีตำนานเล่าขานต่อๆกันมาว่า มีชายหนุ่ม รูปร่าง ประหลาดคนหนึ่ง มีปุ่มปม เต็มตัว  ถูกลอยแพ ตามแม่น้ำปิง มาถึง หน้านครไตรตรึงษ์  ติดอยู่ที่เกาะขี้เหล็ก ชายคนนั้น ขึ้นอาศัยบนเกาะ  ชาวบ้านเห็นชายหนุ่มนั้น จึงพากันเรียกว่าแสนปม ตามที่เห็น และเรียกเกาะขี้เหล็กว่า เกาะแสนปม ในกาลต่อมา  แสนปม ได้ ทำการปลูกกระท่อม และปลูกผักสวนครัว เลี้ยงชีวิต  มะเขือพร้าว เป็นพืชที่แสนปม ปลูกไว้จำนวนมาก มะเขือพร้าว มีผลขนาดใหญ่ มีสีขาวนวล งามมาก มีต้นหนึ่งแสนปมที่ปลูกไว้ข้างบันไดกระท่อม แสนปม ปัสวะรดทุกเช้า  จึงมีผลโตสวยงาม ขนาดใหญ่กว่าทุกต้นในสวนนั้น..............
     จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่ว พระนครไตรตรึงษ์ ว่า มะเขือพร้าว บนเกาะปมนั้นงามนัก มีผลขนาดใหญ่เป็นที่มหัศจรรย์ แก่ผู้พบเห็น .....ข่าวลือ ไปถึงพระกรรณของ พระนางอุษา พระราชธิดาผู้เลอโฉม ของ กษัตริย์แห่งนครไตรตรึงษ์
นางอุษา   พระพี่เลี้ยง ทั้ง ๔  เราได้ข่าวลือว่า ที่เกาะปม มีมะเขือพร้าวผลใหญ่ เป็นที่มหัศจรรย์ยิ่งนัก เราใคร่จะเห็น และอยากเสวยด้วย พี่ทั้งสี่ พาเราไปชมสวนมะเขือพร้าวที่เกาะแสนปม ได้หรือไม่
พระพี่เลี้ยง   พี่ว่าต้องไปทูลขออนุญาต จากเสด็จพ่อ เสด็จแม่ ของ พระราชธิดา ก่อน เราจึงไปได้เพค่ะ มิฉนั้น พระองค์ทรงพิโรธ แน่ๆ เพราะ ทั้งสองพระองค์ทรงห่วงและหวงพระราชธิดา ยิ่งนัก นะเพค่ะ
ณ ที่ในพระราชฐาน ชั้นในพระเจ้านครไตรตรึงษ์ และพระมเหสี เสด็จออก ขุนนางและมหาดเล็ก สนมกำนัล เข้าเฝ้าเต็มท้องพระโรง พระนางอุษา และพระพี่เลี้ยง เข้าเฝ้าอยู่ด้วย  เมื่อว่าราชการเรียบร้อยแล้ว  นางอุษาเสด็จเข้าไปใกล้ แล้วทูลขอพระราชทานบรมราชานุญาต
นางอุษา   เสด็จพ่อเสด็จแม่เพค่ะลูกขออนุญาตไปประพาสนอกพระนคร  เพื่อชมสวน ในเกาะแสนปม      หน้าเมืองใกล้แค่นี้เพค่ะ จะรีบไปรีบกลับ ไม่ให้ทั้งพระองค์เป็นห่วง เพค่ะ
พระเจ้าไตรตรึงษ์  อย่าไปเลยลูก พ่อเป็นห่วง ลูกยังไม่เคยออกนอกพระนครเลย   ลองถามแม่ ดูสิว่ามีความเห็นประการใด จะให้ไปไหม ลูกรักของพ่อ
นางอุษา   เสด็จแม่เพค่ะ ลูกขออนุญาต ไปกับพระพี่เลี้ยง ทั้ง๔ และ ทหารคุ้มกัน สัก สี่คน ลูกอยากชมบ้านเมืองและประชาราษฎรของเราด้วยเพค่ะเสด็จแม่อนุญาต นะเพค่ะ ลูกอยากไปเพค่ะ
พระมเหสี   เมื่อลูกอยากไปเยี่ยมพสกนิกร ของเรา แม่ก็อนุญาต  พระพี่เลี้ยง และทหารทั้ง ๔ ดูแลลูกเราให้ดี อย่าให้มีภยันตรายใดๆแก่ลูกของเรา ไปเถิดลูก
พระพี่เลี้ยงและ  ทหารทั้ง ๔    กราบทูลพร้อมกันว่า    พระพุทธเจ้าข้า กระหม่อมฉัน จะพิทักษ์พระธิดา ด้วยชีวิต ของกระหม่อมฉันพระพุทธเจ้าข้า  (ปิดไฟ)
ที่เกาะแสนปมพระธิดา เดินทอดพระเนตร เห็นมะเขือพร้าว ดกผลใหญ่ งดงามดังคำร่ำลือ  แสนปมเข้าเฝ้า ถวายมะเขือพร้าว ผลที่งามที่สุด ในสวน หลายผล
พระธิดา       เราขอบใจเจ้ามาก เจ้าแสนปม  ที่ถวายมะเขือพร้าวแก่ เรา เราจะนำไปทำอาหารเสวย ในพระราชวัง เราขอพระราชทาน  หมากให้แก่เจ้าหนึ่งคำ เป็นรางวัลเพื่อตอบแทนน้ำใจของเจ้า   เรากลับแล้วนะแสนปม
แสนปม      ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระองค์ทรงพระเจริญ ทรงพระสิริโฉมงดงาม เกษมสำราญทุกวารเวลา พระพุทธเจ้าข้า
                  (ปิดไฟ)
ในพระราชวัง ราชฐานชั้นใน ข่าวพระราชธิดา ทรงพระครรภ์  ล่วงรู้ถึง ท้าวไตรตรึงษ์ และพระมเหสี ทรงตรัสให้พระธิดา และพระพี่เลี้ยงเข้าเฝ้า ในราชสำนักส่วนพระองค์
พระเจ้าไตรตรึงษ์    อุษาลูกเรา  ลูกท้องกับใครบอกพ่อมา พ่อจะลากคอมันออกมารับผิดชอบ (สุรเสียงดัง ด้วยความโกรธ)
นางอุษา       ลูกไม่ทราบ เลยเพค่ะ ลูกไม่เคยยุ่งกับชายใดเลย ลงโทษลูกเถิดเพค่ะ ที่ทำให้เสด็จพ่อเสียพระเกียรติ ลูกยอมรับผิดทุกประการ แล้วแต่เสด็จพ่อเห็นสมควรเพค่ะ
พระมเหสี     เสด็จพี่เพค่ะ หม่อมฉัน คิดว่า เทพยดา คงลงมาเกิด เป็นหลานเรา ทรงพระบารมี เสริมพระชะตา  ของพระองค์เพค่ะในกาลข้างอาจเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ใหญ่ ชนะสิบทิศ นะเพค่ะ
พระเจ้าไตรตรีงษ์  เราจะเลี้ยงหลานเราไว้ เมื่อรู้ความ เราจะอธิฐานให้พบพระบิดาที่แท้จริง ของหลานเรา เจ้าอุษาจงดูแลพระครรภ์ของเธอให้จงดี อย่าให้เป็นอันตรายต่อหลานเรา
( ทุกคนกราบ ปิดไฟ)
เมื่อพระราชโอรส รู้ความ พระเจ้าไตรตรึงษ์ ทรงป่าวร้อง  ให้ ผู้ชาย ทั้งใกล้ไกล มาให้พระหลานขวัญเลือก ทรงอธิษฐานจิตว่า ถ้าพระหลานขวัญ รับของจากผู้ใดจะรับผู้นั้น อภิเษก กับพระราชธิดา เป็นพระราชบุตรเขย และยก นครไตรตรึงษ์ให้ครอบครอง
บรรดา กษัตริย์ต่างเมือง ต่างถือ ของดีๆ มาถวายพระราชโอรส ๆไม่รับของ จากใครๆเลย  บรรดาผู้ชายทุกคนที่ปรารถนาจะเป็นราชบุตรเขย ต่างผิดหวังตามๆกัน เมื่อพระราชโอรส มิรับของจากผู้ใดเลย มาถึงตนสุดท้าย แสนปม ถือก้อนข้าวเย็นมาถวาย
พระราชโอรสทรงรับ และเสวยข้าวเย็นนั้น ทำให้พระเจ้าไตรตรึงษ์ ทรงยอม ตามที่พระองค์ อธิษฐานไว้ ด้วยความไม่เต็มพระทัย
(มีผู้แสดง ประกอบการบรรยาย)
แสนปม พานางอุษาและพระราชโอรส  มาอยู่เกาะแสนปม อย่างมีความสุข  เมื่อแสนปม ไปทอดแห ที่คลองขมิ้นหน้าเมือง ทอดเท่าไร ก็ไม่ได้ปลา ได้แต่ขมิ้น ได้ทิ้งขมิ้นไป เหลือติดใต้ท้องเรือ เมื่อกลับมากระท่อม ขมิ้นเหล่านั้นกลายเป็นทองคำ  แสนปมนำทองคำมาทำอู่ให้ลูกนอน  จึงเรียกชื่อลูกว่า อู่ทอง ตามเปลทองที่นอนนั้น ชาวเมืองขนานนามเด็กคนนี้ว่าอู่ทอง เช่นกัน
(ปิดไฟ)
กาลต่อมา อัมรินทราธิราช  ประสงค์ที่จะช่วย แสนปม และด้วยบุญาธิการของเจ้าอู่ทอง ที่จะได้เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ภายภาตหน้า จึงแปลงกลายเป็นวานร ถือฆ้อง ใบน้อยลงมาลงมา เมื่อแสนปมหักล้างถางพง วันใด เช้าขึ้น ต้นไม้ที่ถากถางวันวาน กลับตั้งตรง ดังเดิม หลายครั้ง หลายครา แสนปมจึงลอบดู จึงได้ทราบว่า เป็นลิงน้อย ตีฆ้อง ทำให้ต้นไม้ตั้งขึ้น จึงจับลิงไว้ และลิงได้มอบฆ้องวิเศษให้และบอก ว่า ประสงค์สิ่งใดให้อธิษฐานสิ่งนั้นและตีฆ้อง จะได้ตามที่ปรารถนา ทุกประการ
      แสนปม จึง อธิษฐานให้รูปงาม และเนรมิต มหานครขึ้น เรียกขานราชธานีนั้นว่า เทพนคร อยู่ฝั่งตะวันออก ตรงข้ามนครไตรตรึงษ์ และแสนปม สถาปนาตนเอง เป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่าท้าวแสนปม มีนางอุษาเป็นพระมเหสี ส่วนราชโอรส เมื่อขึ้นครองราชย์ ตามตำนานเล่าว่า ไปสถาปนากรุงศรีอยุธยา ขึ้นเป็นราชธานี  ทรงพระนามว่า พระเจ้าอู่ทอง  ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา............................(ยิงพลุ)
ตัวละคร
          ท้าวไตรตรึงษ์  มเหสี    นางอุษา    แสนปม   ๒ ตัว   พี่เลี้ยง ๔ คน    ทหาร ๔ คน เดิม   เจ้าเมืองต่างๆ  สิบคน
ลิง ประชาชน  ๑๐ คน
อุปกรณ์ เปลทอง ฆ้อง  และของที่ เข้าต่างเมืองถือมา มะเขือ ต้น ผลมะเขือ
                                                    จบองก์ที่  ๒
องก์ที่ ๓ พระพุทธเจ้าหลวง เสด็จประพาสต้นกำแพงเพชร  ( ๕ นาที)

ทรงเริ่มออกเดินทางตั้งแต่ วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๔๙  ออกจากพระราชวังสวนดุสิต ๒ ทุ่ม  ถึงตำหนักแพวังหน้า ๕ ทุ่ม ถึงวัดเขมา ๕ ทุ่มครึ่ง      ทรงรอนแรมทางเรือ ผ่านเมืองต่างๆ จนกระทั่งเข้าเขตเมืองกำแพงเพชร ในวันที่ ๑๘ เดือนสิงหาคม ๒๔๔๙ ความว่า.................
วันที่ ๑๘ เวลาเช้าโมง ๑ ขึ้นไปถ่ายรูปที่วัดอรุณราชศรัทธารามหลังที่จอดเรือแล้วเดินขึ้นไปเขานอ ระยะ ๘๗ เส้น ตอนนอกเป็นป่าไผ่ แล้วมีสพานข้ามบึงตื้น ๆ ไปขึ้นชายป่าแล้วกลับลงที่ลุ่ม เมื่อเวลาน้ำมาครั้งก่อนท่วม แต่เวลานี้เฉพาะถูกคราวน้ำลด หนทางยังเป็นโคลนเดินยาก จนถึงชานเขาจึงดอน ตามคำเล่ากันว่าเปนเขาซึ่งนางพันธุรัตน์ตามมาพบพระสังข์ มีมนต์มหาจินดาเขียนอยู่ที่แผ่นศิลา
   วันที่ ๑๙ วันนี้ตื่นสายไป แล้วพระวิเชียรพาคนผมแดงมาให้ดู อันลักษณะผมแดงนั้นเป็นผมม้าแดงอย่างอ่อนหรือเหลืองอย่างแก่ ผมที่แดงนี้มาข้างพันธุ์พ่อ ถ้าผู้หญิงไปได้ผัวผมดำ ลูกออกมาก็ผมดำไปด้วย ผมแดงนั้นเปลี่ยน ๓ อย่าง แรกแดงครั้นอายุมากเข้าก็ดำหม่นลง แก่ก็เลยขาวทีเดียว บอกพืชพันธุ์ว่าทราบว่าตัวมาแต่เวียงจันทน์แต่มาก่อนอนุเป็นขบถ จะได้ตั้งอยู่ช้านานเท่าไรไม่ทราบ พูดเป็นไทยประพฤติอาการกิริยาก็เป็นไทย เฉพาะมีมากอยู่ที่เมืองขาณุ
ออกเรือเวลา ๓ โมงตรง เกือบ ๕ โมงจึงได้ขึ้นเรือเหลืองทำกับข้าว แวะเข้าจอดที่ ๆ ประทับร้อนเพราะระยะสั้นแต่จืดไปไม่สนุก จึงได้ไปจอด หัวหาดแม่ลาด ซึ่งมีต้นไม้ร่ม กินเข้าและถ่ายรูปเล่นในที่นั้นแล้วเดินทางต่อมา หมายว่าจะข้ามระยะไปนอน คลองขลุง แต่เห็นเวลาเย็น ที่พลับพลาตำบลบางแขม นี้ทำดี ตั้งอยู่ที่หาดแลพลับพลาหันหน้าต้องลม จึงได้หยุดพอเวลาบ่าย ๔ โมงตรง อาบน้ำแล้วมีพวกชาวบ้านลงมาหาเล่าถึงเรื่องไปทัพเงี้ยว เวลาเย็นขึ้นไปเทียว บ้านบางแขมนี้ก็เป็นบ้านหมู่ใหญ่อยู่ฝั่งตะวันออก
วันที่ ๒๐ ออกเรือเกือบ ๓ โมงเช้า ๔ โมงครึ่งขึ้นเรือเหลือง ทำกับเข้ามาจนถึงที่ประทับร้อนไม่แวะ เลยขึ้นมาข้างเหนือแวะฝั่งตะวันออก ตลิ่งชันแลสูงมาก แต่ต้นไม้งาม    ปีนขึ้นไปกินเข้าบนบกสำหรับถ่ายรูป แล้วลงเรือมาถึงวังนางร้างเป็นที่พักแรม   บ่าย ๓ โมงเท่านั้น ครั้นจะเลยไปอื่นระยะก็ห่าง จึงลงเรือเล็กไปถ่ายรูปฝั่งน้ำข้างตะวันออก แล้วข้ามมาตะวันตกหมายจะเข้าไปถ่ายรูปบ้านวังนางร้าง
วันที่ ๒๑ ออกเวลาเช้า ๒ โมงเศษ ๔ โมงครึ่งขึ้นเรือเหลือง  ถึงปึกผักกูดที่ประทับร้อน ไม่ได้หยุดเพราะกับข้าวยังไม่แล้ว ระยะสั้นจึงเลยไปจนถึงเกาะธำรง ซึ่งจัดไว้เป็นที่แรมก็เพียงเที่ยง เห็นควรจะย่นทางได้ หยุดกินข้าวเเล้วออกเรือต่อมา หยุดที่พักร้อนบ้านขี้เหล็ก ถึงบ่าย ๔ โมงครึ่ง  ตั้งแต่พลับพลาวังนางร้างมาฝั่งตะวันตกมีบ้านเรือนมาก มีเรือจอดมาก มีหีบเสียงเล่นด้วย เพราะเป็นท่าสินค้า  ต่อขึ้นมาก็มีเรือนราย ๆ แต่ฝั่งตะวันออกเป็นป่า จนถึงบ้านโคน ซึ่งเดากันว่าจะเป็นเมืองเทพนคร แต่ไม่มีหลักฐานอันใด  บ้านเรือนดีมีวัดใหญ่เสาหงส์มากเกินปรกติอยู่ฝั่งตะวันออก มาจนถึงบ้านท่าขี้เหล็กอยู่ฝั่งตะวันตก พลับพลาตั้งฝั่งตะวันออก เมื่อคืนนี้ฝนตกเกือบตลอดรุ่ง วันนี้ก็โปรยปรายเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปมีเวลาแดดน้อย จนต้องกินข้าวที่พลับพลาประทับร้อน ตั้งแต่บ่าย ๔ โมงเศษฝนก็ตกมาจนเวลานี้ ๒ ทุ่มเกือบครึ่งทีก็จะตลอดรุ่ง ที่พักอยู่ข้างจะกันดาร ........................
                                             จบองก์ที่ ๓

องค์ที่ ๔ เตรียมการรับเสด็จ (ที่บ้านกำนันสอน) ( ๑๐นาที)
(ที่บ้าน นายบ้านวังพระธาตุ  แม่บ้าน และนายบ้าน นั่งอยู่ด้วยกัน)
แม่บ้าน  นี่พ่อกำนัน พ่อได้ข่าว พระเจ้าอยู่หัวเสด็จ  เข้าเขตกำแพงเพชร แล้วแล้วใช่ไหม พ่อ

พ่อกำนัน * ข้าได้ข่าว ตั้งแต่เสด็จเข้ากำแพงเพชร ตั้งแต่วันที่ ๑๘ สิงหาแล้ว เห็นกระบวนเรือของพระยาวิเชียรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชรของเรา ไปรับเสด็จที่ปากน้ำโพ และเห็นกระบวนหรือของพระยาสุจริตรักษาเจ้าเมืองตาก ตามไปรับเสด็จอีกขบวน แต่ข้าไม่ได้รับคำสั่งใดๆ จากท่านเจ้าเมืองเลย จึงไม่ได้ตัดสินใจ ว่าเราจะทำอย่างไรกัน แล้วก็ทำอะไรไม่ถูกแล้วด้วย ตื่นเต้น ตัวสั่นไปทั้งตัว ได้ข่าวว่าพระองค์จะเสด็จขึ้นวังพระธาตุบ้านเราด้วยนา แม่บุญนาค เราจะทำประการใดดี
แม่บ้าน * ฉันทราบข่าวจาก คนที่กลับจากปากน้ำโพว่า การเสด็จประพาสต้นครั้งนี้ พระองค์เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ ไม่ต้องการให้ใครไปต้อนรับ ทรงปลอมพระองค์มาเป็นสามัญชน กินอยู่อย่างเรียบง่าย ต้องการมาเยี่ยมพสกนิกรของพระองค์เท่านั้น ไม่ประสงค์ให้ใครเดือดร้อนแล้วพวกเราจะทำอย่างไรกันดีพ่อกำนัน
พ่อกำนัน *  เราจะเรียกประชุมชาวบ้านวังพระธาตุกันดีไหม หารือกันว่า เราจะทำฉันใดกันดี พระองค์เสด็จมาถึงบ้านเรา เราไม่รับเสด็จได้อย่างไร นับว่าเป็นมหากรุณาธิคุณสูงสุด แก่พวกเราชาววังพระธาตุ ตามธรรมเนียมไทย ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ นี่เป็นถึงช้างเหยียบนา   พระยาเหยียบเมืองเชียวนาแม่บุญนาค
แม่บ้าน * ฉันเห็นด้วยจ้า พระองค์ทรงโปรดราษฎร์ของพระองค์เช่นนี้ พวกเราต้องทำอะไรสักอย่างที่ตอบแทนพระคุณของพระองค์ ท่านพ่อกำนันคิดถูกต้องแล้ว
พ่อกำนัน  *( ตีเกราะเคาะไม้ เสียงดังสนั่นไปทั้งคุ้งน้ำ บ้านวังพระธาตุ ในตอนค่ำ ของวันที่ ๒๑ สิงหาคม ประชาชนทยอยกันมาอยู่ลานบ้านกำนัน ราวทุ่มเศษ มากันครบทุกบ้าน (หน้าลานบ้านท่านกำนัน)
กำนัน * (ยืนขึ้น ชาวบ้านนั่งยองๆ รอบๆ กำนันด้านหน้า แม่บ้าน ยืนอยู่ข้างกำนัน)
กำนัน*  พวกเราชาววังพระธาตุ คงรู้กันทั่วไปแล้วว่า พระเจ้าอยู่หัวพระปิยมหาราข เสด็จ บ้านเราในวันพรุ่งนี้ ตอนสายๆ เราจะทำอย่างไรกันดี ข้าเชิญทุกท่านมาเพื่อปรึกษา การสำคัญอันนี้
ทิดแดง * ท่านกำนัน เราควรมาต้อนรับพระองค์ท่านที่ท่าน้ำหน้าวัดวังพระธาตุ ของเราให้เต็มท่าน้ำ เต็มลานวัด เตรียมการต้อนรับพระองค์อย่างสมพระเกียรติ ที่พระองค์ทรงเมตตาชาวป่าชาวดงอย่างพวกเรา เหลือเกิน ข้าขอจะเตรียมกระบวนกลองยาวไว้รับเสด็จ ให้ดีที่สุดที่พวกเราเคยเล่นมามา
กำนัน* ดีมากเลยทิดแดง พระองค์คงเกษมสำราญมากๆ ที่เห็นประชาชนสามัคคีกัน และจงรักภักดีต่อสถาบัน พระมหากษัตริย์
อำแดงเอี่ยม*  ข้าจะถวายพระเครื่อง ที่วัดวังพระธาตุ แด่พระองค์ ได้ไหมกำนัน
อำแดงอิ่ม*  ข้าจะถวาย น้ำและหมากพลูแก่พระองค์ท่าน
แม่บ้าน* ดีมากเลยที่พวกเราช่วยกันและสามัคคีกัน ฉันได้ซ้อมระบำไว้หนึ่งชุดหนึ่งจะรำถวายพระองค์ หลังจากพระองค์ ประทับแล้ว
กำนัน * ยอดเยี่ยม เลยพี่น้อง ชาววังพระธาตุ พรุ่งนี้เราจะเห็นความสามัคคี ของพวกเราที่มีต่อ พระพุทธเจ้าหลวงของเรา ข้าขอบใจทุกคนมาก พรุ่งนี้ ย่ำรุ่ง เราไปพร้อมกันที่ท่าน้ำวัดวังพระธาตุ อย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อเตรียมการรับเสด็จมิให้บกพร่อง เอาละวันนี้เราแยกย้ายกันไปก่อน
ตัวละคร
 ๑ กำนันสอน
๒ ภรรยา แม่บุญนาค
๓ทิดแดง
๔อำแดงเอี่ยม
๕อำแดงอิ่ม
๖ ประชาชน ร่วมประชุม ราว ๓๐ คน

องค์ที่ ๕ พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จเข้านครไตรตรึงษ์   (  ๑๕นาที)
(คำบรรยาย) วันที่ ๒๒-สิงหา  เมื่อคืนฝนตกพร่ำเพรื่อ ไปยังรุ่ง แรกนอนไม่รู้สึกว่าจะเย็น ต่อหลับไปตื่นขึ้นจึงรู้สึกเย็นไปทั้งตัวท้องก็แข็งขลุกขลักอยู่เป็นนาน เอาสักหลาดขึงอุดหมด จึงนอนหลับ ตื่น สองโมงเช้าครึ่ง ออกเรือจวนสามโมง  มาจาก          ท่าขี้เหล็ก เลี้ยวเดียวก็ถึงวังพระธาตุ อยู่ฝั่งตะวันตก มีบ้านเรือนราย ตลอดขึ้นมาแต่อยู่ฟากตะวันตก ฟากตะวันออกเป็นปาตั้งแต่พ้นคลองขลุงขึ้นมา มีต้นสักชุม แต่เป็นไม้เล็กๆ ซึ่งเป็นเวลาหวงห้าม เดินเรือวันนี้ว่าไปในป่ากลางสูง ได้ยินเสียงนกร้องต่างๆ อย่างชมดงเพรียกมาตลอดทาง
“ที่วังพระธาตุ เป็นชื่อชาวเรือตั้ง วังไม่ได้แปลว่าบ้าน แปลว่าห้วงน้ำ พระธาตุนั้นคือพระธาตุที่ตั้งตรงวังนั้นจอดเรือที่พักเหนือวังพระธาตุนิดหนึ่ง แล้วเสด็จขึ้นที่ท่าน้ำวังพระธาตุ”
( คำบรรยาย ไฟจับไปที่เรือพระที่นั่งหางแมงป่อง ในเรือพระที่นั่ง มี ผู้ตามเสด็จ ในเรือหลายคน)
พระภิกษุ ยืน หน้ากำนันผู้ใหญ่บ้าน  ประชาชน นั่งเรียงราย ถวายของ ถวายการต้อนรับตามแนวรายทาง พระองค์ทรงเกษมสำราญ ทักทาย อาณาประชาราษฎร์ ทันใดวงกลองยาว ออกมาจากป่าริมทาง ขบวนใหญ่ ร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน เจ้าคนังเงาะป่าตามเสด็จ วิ่งออกจากขบวนเสด็จ เข้ารำกับประชาชนอย่างสนุกสนาน (ประมาณ ๕นาที)
แล้วทรงเสด็จไปชมเจดีย์วัดวังพระธาตุ  ........ความในพระราชนิพนธ์ว่า.......................
         “ พระธาตุนั้นมีฐานแท่นซ้อนสามชั้น  แล้วถึงชั้นคูหาบนเป็นรูปกลม ซึ่งกรมหลวงนริศ เรียกว่าทะนาน ถัดขึ้นไปถึงถึงบัลลังก์ ปล้องไฉน ๗ปล้องปลีแล้วปักฉัตร  องค์พระเจดีย์พังมาเสียซีกหนึ่ง มีรากระเบียงรอบวิหาร สี่ทิศ วิหารใหญ่ที่บูชาอยู่ทิศใต้  พระอุโบสถที่มีสีมาเป็นสำคัญ อยู่ที่ทิศตะวันออก เยื้องไม่ตรงกลาง เขาปลูกโรงหลังคามุงกระเบื้องในที่ใกล้พระเจดีย์ด้านตะวันออก มีพระพุทธรูปทั้งนั่งและยืนหลายองค์  พระพุทธรูปหน้าตาดีแปลกกว่าที่เคยเห็น เป็นช่างได้ทำและถ่ายรูปที่เหล่านี้ไว้ เวลานี้มีพระที่มาจากเมืองนนท์ เป็นรู้จักมาแต่ก่อน ขึ้นมาจำพรรษาที่นี่ คิดจะปฎิสังขรณ์ ปลูกกุฎิอยู่เยื้องหน้าพระธาตุห่างจากศาลาบุงกระเบื้อง เดิมซึ่งอยู่ข้างลำน้ำใต้ลงไป  ล้วนน่าชื่นชม”
นำเสด็จสู่เมืองโบราณ นครไตรตรึงษ์ เดินจากวังพระธาตุไปตามลำน้ำข้างเหนือ ทาง ๒๖ เส้น ถึงคูด้านใต้ของเมืองไตรตรึงษ์ คูนั้นใหญ่กว้างราว ๑๕ วา ลึกลงเสมอพื้นหาดแต่น้ำแห้ง ยื่นเข้าไปจนถึงเชิงเทิน หลังเมืองไปมีถนนข้ามเข้าเมืองอยู่กลางย่านด้านใต้ แต่ด้านเหนือไม่มีถนน มีแต่ลำคูมาบรรจบด้านใต้ กำหนดเชิงเทินยาวตามลำแม่น้ำ ๔๐ เส้น ยืนเข้าไปทางตะวันตกตะวันออก ๓๗ เส้นเห็นเป็นเมืองใหญ่โตอยู่ พื้นแผ่นดินเป็นแลงไปทั่วทั้งนั้น ในท้องคูก็เป็นแลง เข้าไปในเมืองหน่อยหนึ่งพบโคก เห็นจะเป็นวิหารเจดีย์พังตั้งอยู่เบื้องหลัง ถัดเข้าไปอีกหน่อยหนึ่ง เรียกว่าเจดีย์ ๗ ยอด จะเป็นด้วยผู้ที่มาตรวจตราค้นพบสามารถจะถางเข้าไปได้แต่ ๗ ยอด แต่ที่จริงคราวนี้เขาได้ถางดีกว่าที่ได้ถางมาแต่ก่อน จึงได้ไปพบว่ากว่า ๗ คือพระเจดีย์ใหญ่ขนาดพระมหาธาตุริมน้ำอยู่กลาง มีพระเจดีย์ราย ๓ ด้าน
(เสด็จกลับมาที่วิหารวัดวังพระธาตุ)
พระพุทธเจ้าหลวง มีดำรัส แก่ประชาชนชาวไตรตรึงษ์ ท่ามกลางประชาชนที่มาส่งเสด็จ  ว่า
“เมืองไตรตรึงษ์ เป็นเมืองใหญ่มาแต่อดีต สร้างได้อย่างทันสมัย ประชาชนมีจำนวนมาก ประชาชนฉลาดหลักแหลม มีน้ำใจ มีความจงรักภักดี ขอให้ดูแลบ้านเมืองของท่านไว้ให้ดี รักษาวัฒนธรรมประเพณี ไว้ให้มั่นคง สืบชั่วลูกหลานเหลนของพวกเราทุกคนวันที่ ๒๒ สิงหาคม ของทุกปีจะกลายเป็นวันประวัติศาสตร์ของชาวนครไตรตรึงษ์ตลอดไป  ขอให้ทุกคนมีความสุขความเจริญ เราจะออกเดินทางเข้าเมืองกำแพงเพชร ในค่ำวันนี้ มีโอกาสเราจะมาเยี่ยมชาววังพระธาตุ นครไตรตรึงษ์อีกครั้ง เราประทับใจในการต้อนรับของทุกท่านเป็นอย่างยิ่ง (ทรงโบกพระหัตถ์“  ประชาชนก้มกราบ)
เรือพระที่นั่งหางแมงป่อง ค่อยๆเคลื่อนไปจากท่าน้ำวัดวังพระธาตุ สายพระเนตรของพระพุทธเจ้าหลวง มองราษฎร์ของพระองค์ด้วยความเมตตา
ประชาชนทุกคนน้ำตาคลอเบ้า ไม่คิดเลยว่า วันหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดิน ที่รักยิ่งของประชาชนพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช พระพุทธเจ้าหลวงของปวงชน ทรงไม่หวาดกลัวไข้ป่าและโรคระบาด ที่ชุมมากในเมืองไตรตรึงษ์ พระบารมีนี้จะปกเกล้า เหล่าชาวนครไตรตรึงษ์ ไปตลอดกาลสมัย ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ...........
ตัวละคร
๑.   พระพุทธเจ้าหลวง อาจใช้ภาพ หรือคนแสดงที่เหมาะสม แต่งกายแบบสามัญชน
๒.   กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๓.   พระยาวิเชียรปราการ
๔.   พระยาสุจริตรักษา
๕.   นายคนัง เงาะป่า
๖.   กำนันสอน
๗.    ภรรยา แม่บ้านแม่บุญนาค
๘.   ทิดแดง
๙.   อำแดงเอี่ยม
๑๐ อำแดงอิ่ม
๑๐ ประชาชน ร่วมตามเสด็จ ราว ๓๐ คน
 ๑๑.พระภิกษุ เจ้าอาวาสวัดวังพระธาตุ
   ๑๒   ขบวนกลองยาว
๑๓  ชุดรำถวายหน้าพระที่นั่ง                     
จบด้วย จินตลีลา ชุด ปิยมหาราชา บารมี
(ตัวละครทุกตัว เข้าอยู่ในฉากนี้)
(เปิดเพลง ..............................ในฉากฟินาเร)

                                                                                      จบบริบูรณ์


45  หมวดหมู่ทั่วไป / จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร / บันทึก สำรวจบึงน้อย บ้านน้ำดิบ กลางป่าแม่ระกา กำแพงเพชร วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ เมื่อ: กรกฎาคม 13, 2023, 09:19:16 pm
บันทึก สำรวจบึงน้อย บ้านน้ำดิบ กลางป่าแม่ระกา กำแพงเพชร

   วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๗  ได้นัดหมายกับ ดร.เอ (ดร.ลักษณ์ภัทรเกตุ  ชนประชา ชาญเชี่ยว ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา ความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ซึ่งท่านร้องขอให้ช่วยไปสำรวจ บึงน้อย หลังศูนย์เพาะกล้าพันธุ์ไม้ บ้านน้ำดิบ ว่าใช่เมืองโบราณหรือไม่ รับปากไว้กว่าเดือน ด้วยความเต็มใจ(เคยนัดสำรวจไว้เมื่อปีที่แล้วแต่บังเอิญสามีดร.เอเสียชีวิต กะทันหันจึงไม่ได้ไปสำรวจ) เพราะเคยไปสำรวจเมืองโบราณอย่างละเอียดแล้วทุกเมืองในกำแพงเพชร วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ เป็นวันอังคาร ดร.เอ มารับ เวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น. แปลกฝนตกหนักมาก จนคิดว่าไม่ได้ไปแล้ว แต่ดร.เอ ไม่ละความพยายาม มารับพร้อมกับคุณน้า วนิดา  ชาญเชี่ยว (มีศักดิ์เป็นแม่สามีดร.เอ) มีฟาร์โร หลานชาย ดร.เอเป็นสารถี  เราไปพร้อมกับอาจารย์จันทินี อภัยราช โดยนัด อ.รุ่งเรือง สอนชู  ไว้ที่หน้า ศูนย์ราชการจังหวัดกำแพงเพชร
   เมื่อพบกัน ครบถ้วนทุกคน เดินทาง เลี้ยวเข้าไปทางศูนย์เพาะพันธุ์พืช น้ำดิบ ซึ่งเป็นป่าแม่ระกา ทึบ รก ตลอดทางมี กิ่งไม้ ต้นไม้ล้มข้างทางหลายจุด เลาะเลี้ยว ไปสัก สิบนาที  ดร.เอ พาไปจุดที่เป็นบึงน้ำใหญ่  ชาวบ้านเรียกกันว่า บึงน้อย  เป็นบึงน้ำใหญ่เนื้อที่ไม่ต่ำกว่า ๕๐ ไร่ เป็นรูปวงรี  ข้างๆ บึงน้อย มีร่องรอยของคูเมือง ยาวเป็นรูป สี่เหลี่ยม  เนื้อที่ น่าจะอยู่ราว ๒๐๐ ไร่ จัดไว้อย่างเหมาะสม ( ดูหาพิกัดจากแผนที่ทางอากาศในกูเกิล) 
 
บริเวณจุดสีเหลือง สันนิษฐานว่า อาจเป็นแนวกำแพงเมือง(ซึ่งเป็นกำแพงดินเหมือนกำแพงเมืองสมัยสุโขทัย) เป็นรูปสี่เหลี่ยม คางหมู เหนือขึ้นไปเป็นบึงน้อย และเหนือขึ้นมาเป็นคลองแม่ระกา เชื่อต่อจากบึงน้อย ไหลขึ้นเหนือ มุ่งหน้าสู่สุโขทัย (ต้องสำรวจต่อไปว่า คลองแม่ระกาไหลไปถึง สุโขทัยในช่วงใด ดูในแผนที่กูเกิล ไหลขึ้นเหนือ ไป และหายไป ในช่วงสุโขทัย  ส่วนน้ำที่ไหลมา เข้าบึงน้อย ไหลมาจากคลองลำทวน หรือ คลองบางทวน  (เนื่องจากน้ำไหลทวนขึ้นเหนือ เพราะระดับแผ่นดิน สุโขทัย ต่ำกว่ากำแพงเพชร นับสิบเมตร (จีพีเอส)
คลองบางทวน จากปากคลอง ค่ายลูกเสือ วัดหนองปลิง ไหลเข้าสู่บึงน้อย
 
คลองแม่ระกา น้ำไหลออกจากบึงน้อย
ในบึงน้อย ได้สัมภาษณ์ กำนันชูชาติ กรัดแพ (กำนันจ็อก) กำนันตำบลบ้านนาเหนือ  ถึงความเป็นมาของบึงน้อย อย่างละเอียด ได้ความว่า
    หมู่บ้านนาเหนืออพยพมาจากบ้านหนองหัววัว  เกือบร้อยปี เดิมเป็นหมู่ที่ ๕ บ้านน้ำดิบ ปัจจุบันแบ่งแยกออกเป็น  บ้านคลองห้วยทราย และบ้านนาเหนือ  ท่านเล่าต่อไปว่า ในบึงน้อย มีความมหัศจรรย์เกิดขึ้นหลายเรื่อง  ตั้งแต่สมัยท่านเป็นเด็กๆ เมื่อน้ำลด พบหัวเรือ อาจเป็นเรือเรือสำเภาล่ม พบหลักฐานหลายชิ้น  เช่นเครื่องถ้วยชาม สมัยสุโขทัย และพระเครื่อง จำนวนมาก ได้นำพระเครื่องมาให้ชม เมื่อพิจารณาแล้ว มีส่วนที่จะ เป็นจริง บ้าง เพราะพระมีลักษณะพระสมัยสุโขทัย เกือบทั้งสิ้น มันเป็นไปได้อย่างมากว่า การติดต่อค้าขาย ในสมัยสุโขทัย ได้ใช้ลำน้ำ และใช้คลองลำทวน บึงน้อย คลองแม่ระกา หนองจระเข้ ติดต่อจนกระทั่งไปถึงสุโขทัย เป็นทางลัด ระหว่างเมืองสุโขทัย กับกำแพงเพชร มีความเป็นไปได้สูงทีเดียว แต่บางส่วนของลำน้ำอาจตื้นเขิน เหลือใช้ไม่ได้แล้ว
   และข้อสันนิษฐานว่า กษัตริย์สุโขทัย เคยเสด็จมาบริเวณนี้  ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนว่าพญาลิไท กษัตริย์แห่งสุโขทัย เคยเสด็จมากำแพงเพชร หลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี พุทธศักราช ๑๙๐๐ ได้ทรงนำพระบรมสารีริกธาตุ  และพระศรีมหาโพธิ์ มาประดิษฐ์ที่วัดพระบรมธาตุนครชุมนั้น เมื่อเสด็จมากำแพงเพชร ระยะต้นอาจเสด็จทางถนนพระร่วง  และเปลี่ยนมาเสด็จทางน้ำต่อ ตามคลองแม่ระกา ผ่านบึงน้อย และมาออกคลองลำทวน ตรงไปวัดพระบรมธาตุ ซึ่งอาจเป็นไปได้เช่นกัน เมื่อพระองค์เสด็จมาที่บึงน้อย อาจประทับที่บึงน้อยหลายราตรี เพราะ มีหลักฐาน ในป่า แม่ระกา พบว่า มีกองศิลาแลงคล้ายเจดีย์  มีแนวศิลาแลง เป็นอาคารจำนวนมาก บริเวณนี้  เมื่อพระองค์เสด็จมาประทับหลายเพลา อาจพบบาทบริจาริกา เป็นสตรีเมืองบึงน้อย อาจถึงขั้นสถาปนา เป็นพระสนมเอกได้เช่นกัน (ตามข้อกังขาของดร.เอที่ขอให้เราไปสำรวจถึงความเป็นไปได้ ในกรณีที่พิเศษเกินกว่าที่จะเขียนถึง)  เมื่อสำรวจไปถึงแนวกำแพงเก่า คูน้ำเก่า ตามคำบอกเล่าของผู้คน  ประกอบชมภาพถ่ายทางอากาศ แทบจะเชื่อได้เต็มที่ว่า  บริเวณบึงน้อย อาจเป็นเมืองโบราณ สำคัญเมืองหนึ่ง ที่มีหลายชื่อที่เรายังไม่สามารถค้นพบได้ 
 
กำนันชูชาติ กรัดแพ (กำนันจ็อก) กำนันตำบลบ้านนาเหนือ
 
แนวกองแลงที่พบบริเวณ เมืองโบราณ
 พระเครื่องที่พบ บริเวณ สำเภาล่ม
สำรวจแนวที่มีลักษณะคล้าย กำแพงโบราณ
ข้อสรุปในการสำรวจ     บริเวณบึงน้อย
   บึงน้อย เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญ ที่เชื่อมต่อกับ คลองลำทวน และคลองแม่ระกา น้ำไหลทวนขึ้นไป ถึงเขตสุโขทัย  จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า เมื่อคราวพญาลิไท เสด็จเมืองนครชุมเมื่อปีพุทธศักราช  ๑๙๐๐ เพื่อนำพระบรมสารีริกธาตุและพระศรีมหาโพธิ์ มาประดิษฐานที่เมืองนครชุม ตามจารึกหลักที่ ๓ จารึกนครชุมนั้น (เป็นตำนานประเพณีนบพระเล่นเพลง) พระองค์อาจมาประทับที่แห่งนี้ บริเวณบึงน้อย อาจสร้างตำหนักไว้เช่นกัน เพราะบริเวณนี้ มีบัวหลวงงดงามมาก ทั่วบริเวณ
   จากการสำรวจ ภูมิประเทศและภาพถ่ายแผนที่ทางอากาศ พบติดกับบึงน้อยมีแนว กำแพงเมืองขอบเขตกำแพงเมืองโบราณ มีคูน้ำคันดินที่ชัดเจน อาจสันนิษฐานได้ว่า อาจเป็นเมืองบางจันทร์  ที่ยังไม่ได้สรุปว่าอยู่ที่ใด ในเขตกำแพงเพชรนี้
   จากคำบอกเล่าของกำนัน และผู้นำชมนั้น อาจสรุปได้ว่าที่บึงน้อยนี้ มีอาถรรพณ์ ค่อนข้างลึกลับ ตามแบบฉบับของเมืองโบราณกำแพงเพชรโดยทั่วไป ซึ่งหาข้อพิสูจน์ได้ยากมากเพราะเป็นความเชื่อส่วนบุคคล และมิอาจดูแคลนว่า เป็นเรื่องเหลวไหลแต่ประการใด
   หลักฐานที่พบตาม ชัยภูมิ อาจสรุป ตามความเชื่อและหลักฐานของผู้เขียน ( อ.สันติ อภัยราช) ได้ว่า บริเวณบึงน้อย อาจเป็นเมืองโบราณสำคัญเมืองหนึ่ง คู่กับบางพาน นครชุม บางจันทร์ และเป็นเส้นทางเสด็จของพญาลิไท คราวเสด็จเมืองนครชุม ในปีพศ .๑๙๐๐ อาจประทับที่นี่หลายราตรี  หรืออาจมาอยู่ที่นี่ หลังจากสุโขทัย หมดอำนาจ อาจมามีบาทบริจาริกาที่นี่ ตามความเชื่อของดร.เอ  ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐาน ยังมิสามารถสรุปได้อย่างชัดเจน คงต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป



หมายเหตุ
   มีพระภิกษุ ระดับเจ้าอาวาส วัดสำคัญวัดหนึ่งในกำแพงเพชร  ได้รับนิมนต์เข้าไปในเขต บึงน้อยแห่งนี้ เพื่อทำพิธีกรรมทางศาสนา ท่านกลับออกมาอย่างรวดเร็ว โดยมิได้ทำพิธีใดๆ ท่านเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ท่านสัมผัสกับสิ่งที่ไม่เคยพบ เห็นและจะไม่เข้าไปรบกวน สิ่งที่สัมผัสอีกต่อไป เราจึงสนใจไปสำรวจบึงน้อย ว่าที่นี่คืออะไรกันแน่

                     สันติ อภัยราช
                     ๒ ตุลาคม ๒๕๕๗
                     เวลา ๙.๐๐ น.



หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 95
Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!