จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
พฤษภาคม 06, 2024, 01:13:30 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: 1 ... 8 9 [10]
 91 
 เมื่อ: เมษายน 01, 2021, 09:36:02 am 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
กว่าจะมาเป็น คณฑี เทพนคร
ภาคที่ ๑ อดีตเมื่องเอกราช

ถิ่นกำเนิดพ่อขุนศรี      ปราสาทเก่าเจ็ดร้อยปี           คณฑี เมืองโบราณ
                                           เล่าขานพระพุทธลีลา          กราบวันทาหลวงพ่อโต

ี           ตำบลคณฑี หรือตำบลบ้านโคน หรือ เมืองคณฑี เมืองที่ยิ่งใหญ่ ในอดีตมีคำขวัญประจำตำบลที่นำเสนอเอกลักษณ์ของตำบลอย่างชัดเจนคือ       
ถิ่นกำเนิดพ่อขุนศรี
 ปราสาทเก่าเจ็ดร้อยปี
คณฑี เมืองโบราณ
เล่าขานพระพุทธลีลา
 กราบวันทาหลวงพ่อโต
ถิ่นกำเนิดพ่อขุนศรี
 
มีหลักฐานชัดเจนจากชินกาลมาลีปกรณ์ ว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์มีกำเนิดที่บ้านโคน ยังมีชายคนหนึ่ง(จันทราชา)รูปงามมีกำลังมาก ท่องเที่ยวอยู่ในป่า มีนางเทพธิดาองค์หนึ่ง(สาวชาวบ้านเมืองคณฑี)เห็นชายคนนั้นแล้ว ใคร่ร่วมสังวาสด้วยจึงแสดงมารยาหญิง ชายคนนั้นก็ร่วมสังวาสกับนางเทพธิดาองค์นั้น เนื่องจากการร่วมสังวาสของทั้งสองคนนั้นจึงเกิดบุตรชายคนหนึ่ง และบุตรชายคนนั้นมีกำลังมาก รูปงาม เพราะฉะนั้น ชาวบ้านทั้งปวงจึงพร้อมใจกันทำราชาภิเษกบุตรชายคนนั้น บุตรชายซึ่งครองราชย์สมบัติในเมืองสุโขทัยนั้น ปรากฏพระนามในครั้งนั้นว่า โรจราช ภายหลังปรากฏพระนามว่าพระเจ้าล่วง (ร่วง)
ปราสาทเก่าเจ็ดร้อยปี
 

ซึ่งหมายถึง สิ่งก่อสร้างคล้ายพระเจดีย์ทรงปราสาท ภายในวัดปราสาท เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองคณฑี ปราสาท ที่ไม่มีใครกล้าแตะต้อง วันดีคืนดี มีพระพุทธรูปทองคำออกมาจากปราสาท ซึ่งแสดงปาฏิหาริย์ให้ชาวบ้านพบเห็นเนืองๆเป็นที่สักการะของชาวกำแพงเพชรและชาวจังหวัดใกล้เคียง
คณฑีเมืองโบราณ
ซึ่งหมายถึง เมืองคณฑีเป็นเมืองยุคแรกๆของกำแพงเพชร ตามตำนานเมืองเหนือกล่าวไว้ว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ แห่งกรุงสุโขทัย เสด็จไปจากบ้านโคน หรือเมืองคณฑี แสดงว่า เมืองคณฑีนี้เก่าแก่กว่าสุโขทัยเจริญรุ่งเรืองมาก่อนกรุงสุโขทัย นับร้อยปี ทำให้ชาวบ้านโคนภูมิใจในบรรพบุรุษจึงนำมาเป็นคำขวัญประจำเมือง



เล่าขานพระพุทธลีลา
 
 ที่เมืองคณฑีมีพระพุทธรูปลีลา ปางประทานพร ขนาดใหญ่สูงถึง 1.50เมตรมีพุทธลักษณะที่งดงามมาก เชื่อกันว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ประดิษฐานที่ วัดปราสาทมาช้านาน แม้จะถูกโจรกรรมไป ด้วยอภินิหารของพระพุทธลีลา ทรงเสด็จกลับมาประดิษฐานที่วัดปราสาทดังเดิม


กราบวันทาหลวงพ่อโต
 
 หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปสำคัญ ในวิหารวัดปราสาท ทรงความศักดิ์สิทธิ์และศรัทธายิ่งแก่ประชาชน เป็นที่พึ่งทางจิตใจ เมื่อสังเกตดูให้ดีพระพุทธรูปหลวงพ่อโต ได้มีปูนฉาบไว้ภายนอก องค์จริงน่าจะเป็นทองสัมฤทธิ์ ที่มีพุทธลักษณะงดงามมากประชาชนพากันมากราบไหว้มิได้ขาด
เมืองคณฑี จึงมีคำขวัญที่อธิบายเรื่องราวของบ้านเมืองไว้อย่างชัดเจนยิ่งนัก........เมืองคณฑีมีประวัติความเป็นมาที่พิสดารยิ่ง เกินพรรณนา เมืองคณฑี เป็นชุมชนโบราณ ที่ไม่มีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของลำน้ำปิง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มหาวชิราวุธ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จมาเมืองกำแพงเพชรครั้งที่ 2 เมื่อปี 2450 ทรงกล่าวถึงชุมชนบ้านโคนว่า
คงเป็นเมืองมาแต่โบราณ แต่หาคูหรือเชิงเทินและกำแพงไม่ได้ วัดเก่าที่อยู่ในบริเวณนี้คือวัดกาทึ้ง มีสิ่งก่อสร้างสำคัญ อุโบสถก่อด้วยอิฐแผ่นใหญ่ ถัดจากอุโบสถไปทางทิศตะวันออก เป็น
วิหารที่มีขนาดใหญ่กว่า ก่อด้วยอิฐแผ่นใหญ่เช่นเดียวกัน พระประธานภายในวิหารมีพระพุทธรูปเป็นพระพุทธรูปหมวดเมืองกำแพงเพชร ตามโคกเนิน พบเศษภาชนะดินเผา แบบธรรมดาและแบบเผาไม่แกร่ง ไม่เคลือบ และเครื่องเคลือบแบบสุโขทัย ชุมชนโบราณบ้านโคนนี้ เชื่อกันว่าน่าจะเป็นเมืองคณฑี ตามที่กล่าวไว้ในจารึกหลักที่ 1 ว่าเมืองหัวนอน รอดคณฑี พระบาง นอกจากนี้ยังมีตำนานเกี่ยวกับบรรพบุรุษของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์อีกด้วย
ตามตำนานเมืองเหนือ กล่าวว่า ที่บ้านโคน มีชายรูปงาม รูปร่างใหญ่โต แข็งแรง ได้เป็นที่พอใจของนางเทพธิดา จึงได้ร่วมสังวาสด้วย จึงเกิดบุตรชายที่สง่างาม มีบุญยิ่ง ชื่อโรจราช ได้ไป
เป็นกษัตริย์องค์แรกของเมืองสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ จึงน่าจะมาจากเมืองคณฑี หรือบ้านโคนแห่งนี้
เมืองคณฑี เป็นเมืองใหญ่ มาก่อนเมืองใดๆในลุ่มน้ำปิง ดังจารึกหลักที่ 1 ที่กล่าวถึงอาณาจักรสุโขทัยว่า ทิศใต้ ได้เมืองคณฑี ดังความว่า
สุโขทัยมีเมืองกว้างช้างหลาย ปราบเบื้องตะวันออก รอดสระหลวง สองแคว ลุมบาจาย
สคา เท้าฝั่งของ เถิงเวียงจันทร์ เวียงคำเป็นที่แล้ว เบื้องหัวนอน รอดคณฑี พระบาง แพรก สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ศรีรรมราช ฝั่งมหาสมุทรเป็นที่แล้ว…………….
ในจารึกหลักที่ 3 กล่าวถึงเมืองคณฑี ตั้งตนเป็นใหญ่ประกาศอิสรภาพ ตอนที่พญาลิไท เสด็จมาเมืองกำแพงเพชร ในปี พ.ศ. 1900 ประกาศตนเป็นเอกราช มีเจ้าผู้ครองนครของตน ความว่า
……….. หาเป็นขุนหนึ่ง เมืองคณฑีพระบาง หาเป็นขุนหนึ่ง เมืองเชียงทอง หาเป็นขุนหนึ่ง เมืองบางพานหาเป็นขุนหนึ่ง จากนั้นเมืองคณฑี แทบจะหายไป จากประวัติศาสตร์
จากการสำรวจครั้งสุดท้าย ปี 2549 เมืองคณฑี ที่มีที่ตั้งบริเวณวัดกาทึ้ง น่าใช้ลำคลองกาทึ้งเป็นคูเมืองป้องกัน อาจใช้ไม้เป็นระเนียด แทนแนวกำแพงเมือง หรือมีแนวกำแพงเมืองแต่ร้างไปนาน จึงทำให้ กำแพงเมืองซึ่งเป็นกำแพงดิน สลายตัวไปตามสภาพ สภาพวัดกาทึ้งอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ ถูกรุกที่ ไม่เห็นความสำคัญ ที่เป็นโบราณสถานที่มีอายุนานนับพันปี น่าเสียดายยิ่ง…
นอกจากวัดกาทึ้ง แล้ว ยังมีวัดปราสาท ที่เก่าแก่ใกล้เคียงกัน น่าจะมีอายุราวสมัยทวารวดี
จากการวิเคราะห์ สภาพโบราณสถาน โบราณวัตถุ พบซากโบราณสถานโบราณวัตถุจำนวนมาก
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตั้งแต่พ.ศ. 2450 มีเจดีย์ทรงปราสาทที่เรียก กันว่าวัดปราสาท
ทำให้วัดนี้น่าสนใจยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พิพิธภัณฑวัดปราสาท ที่งดงาม และมีโบราณวัตถุที่ยิ่งใหญ่มาก
โดยเฉพาะพระปางลีลา ที่งดงามที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา
……. เมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จผ่านวัดปราสาทว่า วันที่ 21 สิงหาคม 2449 ออกเวลา 2โมงเช้า 4โมงขึ้นเรือเหลือง
จนถึงบ้านโคน ซึ่งเดากันว่าเป็นเมืองเทพนคร แต่ไม่มีหลักฐานอันใด บ้านเรือนดี มีวัดใหญ่ เสาหงส์มากเกินปกติ……………
เมืองคณฑี จึงเป็นเมืองที่เก่าแก่ เสมอด้วยนครไตรตรึงษ์ เมืองเทพนคร เมืองคลองเมือง อายุกว่าพันปี จึงเป็นเมืองที่น่าศึกษายิ่ง ....
 ประวัติพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
                      ตามพงศาวดาร และคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์  ได้กล่าวไว้ว่าพ่อขุนศรี  อินทราทิตย์มีพระนามเต็ม  คือ  กำมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์  พระนามเดิม  พ่อขุนบางกลางหาว (ไม่ใช่  “กล่างท่าว”)  ทรงเป็นปฐมวงศ์ราชวงศ์พระร่วงแห่งอาณาจักรสุโขทัย  ครองราชย์สมบัติ  ตั้งแต่  พ.ศ.  1782 - 1822 (30 ปี คำนวณศักราชจากคัมภีร์สุริยยาตรตามข้อเสนอของ  ศ.ประเสริฐ  ณ  นครและ  พ.อ.พิเศษ  เอื้อนมณเฑียรทอง)
 
                       เมื่อจุลศักราช 536 พระเจ้าสุริยราชา ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ ได้ทรงตบแต่งซ่อมแซมแปลงเมืองพิจิตรปราการ(กำแพงเพชร)ขึ้นใหม่ครองราชย์สมบัติต่อไป มีพระอัครมเหสีทรงพระนามว่า สิริสุธาราชเทวี มีพระราชโอรสองค์หนึ่งด้วยพระอัครมเหสี ทรงพระนามว่าจันทกุมารพระเจ้าสุริยราชา เมื่อแรกได้ราชสมบัติพระชนม์ได้ 20 พรรษา อยู่ในราชสมบัติ 28 ปี เสด็จสวรรคตพระชนม์ได้ 47 พรรษา พระองค์ประสูติวันจันทร์ จุลศักราช 570 พระจันทกุมารราชโอรส ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ ทรงพระนามว่า พระเจ้าจันทรราชาและตามพระราชพงศาวดารโยนก หน้า 80 วรรค 2 กล่าวไว้ว่ายังมีข้อความในหนังสือชินกาลมาลินี กล่าวถึงมูลประวัติของพระเจ้าโรจนราชผู้ได้ พระพุทธสิหิงค์มาจากศรีธรรมนครนั้นว่า บุรุษผู้หนึ่งหลงป่าที่บริเวณ บ้านโคณคาม(เข้าใจว่าบ้านโคนริมเมืองเทพนคร)และได้พบนางเทพธิดาแปลงเป็นมนุษย์(สาวชาวบ้านเมืองคณฑี)มาร่วมสมัครสังวาสเกิดบุตรได้มาเป็นเจ้ากรุงสุโขทัยทรงนามว่า โรจราช
                           ประวัติพระองค์ท่านจากคัมภีร์ชินกาลมาลีปกรณ์  หน้า  112-113  ตอนหนึ่งกล่าวถึงการประสูติของพระองค์ ได้ยินว่าที่บ้านโค  (บ้านโคน จังหวัดกำแพงเพชร  ในปัจจุบัน)  ยังมีชายคนหนึ่ง(จันทราชา)รูปงามมีกำลังมาก ท่องเที่ยวอยู่ในป่า  มีนางเทพธิดาองค์หนึ่ง(สาวชาวบ้านเมืองคณฑี)เห็นชายคนนั้นแล้ว  ใคร่ร่วมสังวาสด้วยจึงแสดงมารยาหญิง  ชายคนนั้นก็ร่วมสังวาสกับนางเทพธิดาองค์นั้น  เนื่องจากการร่วมสังวาสของทั้งสองคนนั้นจึงเกิดบุตรชายคนหนึ่ง  และบุตรชายคนนั้นมีกำลังมาก  รูปงาม  เพราะฉะนั้น  ชาวบ้านทั้งปวงจึงพร้อมใจกันทำราชาภิเษกบุตรชายคนนั้น  บุตรชายซึ่งครองราชย์สมบัติในเมืองสุโขทัยนั้น ปรากฏพระนามในครั้งนั้นว่า  โรจราช    ภายหลังปรากฏพระนามว่าพระเจ้าล่วง
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์  ทั้งหมดเชื่อได้ว่า  เมืองคณฑีโบราณ  หรือตำบลคณฑี
จังหวัดกำแพงเพชร  ในปัจจุบันนั้นอยู่ในอาณาจักร  สุโขทัย  เนื่องจากพระเจ้าสุริยราชา  (พระอัยกาของ  พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ )  ครองราชย์สมบัติที่เมืองพิจิตปราการ  (เมืองกำแพงเพชร  ปัจจุบัน) หลังจากนั้นก็เสด็จสวรรคตและต่อมาพระจันทกุมารราชโอรส  (พระเจ้าจันทรราชา  พระราชบิดา  ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์)  ก็เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติต่อ  ระหว่างนี้เกิดปาฏิหาริย์หลายสิ่งมากมายจนกระทั่งได้มเหสีเป็นเชื้อชาตินางนาคกุมารี  และมีพระราชโอรสคือ  พระร่วง  (พ่อขุนศรีอินทราทิตย์)  นั่นเอง  เพราะอีกเหตุผลหนึ่งที่น่าเชื่อถือคือ  พ่อขุนศรีอินทราทิตย์  หรือพระนามเต็ม กำมรเตงอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์  ชินกาลมาลีปกรณ์  ว่า  บ้านเดิมของพระองค์อยู่ที่  “บ้านโคน ” ในจังหวัดกำแพงเพชร  พระองค์ทรงนำชนชาติไทยต่อสู้กับชนชาติขอมซึ่งเป็นใหญ่อยู่ในสุวรรณภูมิ  อันเป็นที่ตั้งของประเทศไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงกรุงสุโขทัยด้วย  ทรงได้ชัยชนะขอมและประกาศอิสรภาพ  ตั้งราชอาณาจักรสุโขทัย  ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์แรกและเป็นต้นราชวงศ์พระร่วง-             เป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย
ส่วนพระราชกรณียกิจที่สำคัญ
พ่อขุนศรีอินทราทิตย์เมื่อครั้งยังเป็นพ่อขุนบางกลางหาวได้ร่วมกับพ่อขุนผาเมือง  เจ้า  เมืองราด
แห่งราชวงศ์ศรีนาวนำถมรวมกำลังพลกัน  กระทำรัฐประหารขอมสบาดโขลญลำพง  โดยพ่อขุนบางกลางหาวตีเมือง  ศรีสัชนาลัย  และเมืองบางขลงได้  และยกทั้งสองเมืองให้พ่อขุนผาเมือง  ส่วนพ่อขุนผาเมืองตีเมืองสุโขทัยได้  ก็ได้มอบเมืองสุโขทัยให้พ่อขุนบางกลางหาว  พร้อมพระขรรค์ชัยศรีและยกพระกนิษฐา(นางเสือง)ให้เป็นมเหสีอีกด้วยส่วนพระนาม  “ศรีอินทรบดินทราทิตย์”  ซึ่งได้นำมาใช้เป็นพระนาม  ภายหลังได้กลายเป็น  ศรีอินทราทิตย์  โดยคำว่า “บดินทร” หายออกไป  เชื่อกันว่าเพื่อเป็นการแสดงว่ามิได้  เป็น  บดีแห่งอินทรปัต  คืออยู่ภายใต้อิทธิพลของเขมร  (เมืองอินทรปัต)  อีกต่อไป การเข้ามาครองสุโขทัยของพระองค์  ส่งผลให้  ราชวงศ์พระร่วง  เข้ามามีอิทธิพลในเขตนครสุโขทัยเพิ่มมากขึ้น  และได้แผ่ขยายดินแดนกว้างขวางมากออกไป  แต่เขตแดนเมืองสลวงสองแคว  ก็ยังคงเป็นฐานกำลังของราชวงศ์ศรีนาวนำถมอยู่ในกลางรัชสมัย  ทรงมีสงครามกับขุนสามชน  เจ้าเมืองฉอด  ทรงชนช้างกับขุนสามชน  แต่ช้างทรงพระองค์  ได้เตลิดหนีดังคำในศิลาจารึกว่า  “หนีญญ่ายพ่ายจแจ” ขณะนั้นพระโอรสองค์เล็ก  ทรงมีพระปรีชาสามารถ  ได้ชนช้างชนะขุนสามชนภายหลังจึงทรงเฉลิมพระนามพระโอรสว่า  รามคำแหงในยุคประวัติพ่อขุน
ศรีอินทราทิตย์มีพระราชโอรสและพระธิดารวม  5 พระองค์  ได้แก่
1.       พระราชโอรสองค์โต  (ไม่ปรากฏนาม)  เสียชีวิตตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
2.       พ่อขุนบานเมือง
3.       พ่อขุนรามคำแหงมหาราช  (พระนามขณะที่ยังทรงพระเยาว์ไม่ปรากฏ)
4.       พระธิดา  (ไม่ปรากฏนาม)
5.       พระธิดา  (ไม่ปรากฏนาม)
วิธีการคิดปั้นรูปหล่อ(จินตนาการ)พ่อขุนศรีฯ
เมื่อเทียบเคียงวิเคราะห์ในแง่มุมต่างๆ ของหลักฐานที่มีอยู่ จัดแบ่งลำดับขั้นตอนความสำคัญที่มีลักษณะเด่นเฉพาะ โดยนำมาประมวลออกแบบสร้างสรรค์ให้เป็นรูปธรรมขององค์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ซึ่งกำหนดลักษณะตามแบบอย่างพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงเครื่องพระอิสริยยศทรงจอมทัพไทย ประทับยืนทรงถือพระแสงขรรค์ชัยศรีด้วยพระหัตถ์ทั้งสองข้าง พระพักตร์ทอดพระเนตรเบื้องหน้าเสมือนกับทรงดูแลอาณาประชาราษฎร์ของพระองค์ให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขขณะเดียวกันก็ยังคงดูลักษณะการประทับยืนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นท่าประทับยื่นที่สง่างามกว่าทุกพระองค์) ประกอบไปด้วย
                เมื่อได้ลักษณะของรูปแบบจากความคิดแล้วออกแบบเขียนภาพร่าง โดยคัดเลือกคนผู้เป็นหุ่นยืนเป็นแบบเพื่อดูลักษณะการยืน ดูกล้ามเนื้อ ดูโครงสร้างของร่างกายแต่ละส่วน เพื่อพิจารณาถึงรายละเอียดที่จะต้องแสดงให้ปรากฏออกมา ซึ่งจะต้องมีความเป็นพิเศษต่างจากบุคคลทั่วไป เพื่อให้มีภาพลักษณ์เป็นองค์พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ จากนั้นเป็นเรื่องของแบบเครื่องทรง
                  เครื่องทรงของแบบรูปปั้นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์พระวรกายตอนบนเป็นลักษณะเครื่องทรงแบบสุโขทัยโบราณ ทรงสวมพระมงกุฎทรงเทริด ยอดพระมงกุฎเป็นลวดลายกลับบัว 3 ชั้น
พระศอมีสร้อยพระศอ และพระกรองศอ สร้อยสังวาลพร้อมทับทรวงพระพาหุตอนบน ประดับ
พาหุรัด ข้อพระหัตถ์เป็นทองกร พระวรกายจากบั้นพระองค์ถึงพระบาททรงฉลองพระภูษายาวกรอบข้อพระบาท พร้อมคาดปั้นเหน่งทับและห้อยพระสุวรรณกันถอบด้านหน้าพระภูษาทรงด้านเปิดชายผ้าชั้นนอกซ้าย-ขวาลักษณะทิ้งชายผ้าให้พลิ้วเคลื่อนไหว ชายผ้าทั้งชั้นนอกและชั้นในเป็น
ลายกรวยเชิงประดับ และข้อพระบาทประดับทองบาท(กำไลเท้า) พร้อมฉลองพระบาท ทั้งนี้เพื่อต้องการให้พระบรมรูปมีลักษณะของฉลองพระองค์เป็นแบบมหากษัตริย์สมัยสุโขทัยโบราณตามที่ได้ทำการศึกษาค้นคว้า












     ภาค๒ ก่อนถึงปัจจุบัน                   
    ผู้บุกเบิกบ้านโคนในยุคปัจจุบัน
บ้านโคนร้างมานานกว่า ห้าร้อยปี เมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์   นายพวง  และนางปุย ได้เมาบุกเบิกบริเวณป่าบ้านโคน จนกำเนิดผู้นำคนสำคัญของบ้านคณฑี ตือ  กำนันประสิทธิ์ วัฒนศิริ ในระยะแรก ท่านได้พาญาติพี่น้องอพยพไปตั้งบ้านเรือนบริเวณไร่นาของบิดา ( บ้านโคนเหนือ ) ในตอนแรกที่อพยพไปมีครอบครัวตั้งอยู่ก่อนแล้วประมาณ 5 ครอบครัว  พอกำนันประสิทธิ์ วัฒนศิริ และญาติพี่น้องพร้อมกับคนงานเข้าไปสมทบก็ประมาณราวๆ 20 ครัวเรือน  กำนันประสิทธิ์ วัฒนศิริ เป็นคนที่มีที่ดินมากหลายร้อยไร่ ก็ชวนชาวบ้านในแถบอื่นๆ เข้ามาตั้งบ้านเรือนสมทบ โดยได้แบ่งที่ดินขายให้ราคาถูกเพื่อจะได้มีเพื่อนบ้านเพราะในสมัยนั้นมีโจรผู้ร้ายชุกชุม มีการปล้นสะดมบ่อยครั้ง จะได้มีเพื่อนบ้านไว้คอยต่อสู้กับพวกผู้ร้าย  ต่อมาในบริเวณที่กำนันประสิทธิ์ วัฒนศิริ ไปตั้งถิ่นฐานชาวบ้านเรียกว่า “ บ้านโคนเหนือ “ซึ่งต่อมาท่านได้เป็นกำนันคนสำคัญของบ้านโคนมาเกือบ ๒๐ ปี คือกำนันประสิทธิ์ วัฒนศิริ นั่นเอง  ท่านมีส่วนสำคัญในการทำให้บ้านโคนเจริญรุ่งเรือง ขึ้นอย่างรวดเร็ว
 ต่อมาเมื่อความเจริญมากขึ้นประชากรมากขึ้น บ้านโคน จึงเมีการเปลี่ยนแปลงโดยแยกบ้านโคนเป็น  ๒ หมู่บ้าน คือบ้านโคนใต้และบ้านโคนเหนือ
บ้านโคนใต้  คือหมู่ที่ ๒ ตำบลคณฑี อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชรมีอาณาเขต
   ทิศเหนือ         ติดกับบ้านโพธิ์อำนวย
   ทิศใต้         ติดต่อกับบ้านท่าเสลี่ยง
   ทิศตะวันออก      ติดกับบ้านโพธิ์พัฒนา
           ทิศตะวันตก      ติดกับลำน้ำปิง
สภาพทั่วไปของหมู่บ้าน ห่างจากตัวเมืองกำแพงเพชร ไปทางทิศใต้ตามเส้นทางกำแพงเพชรท่ามะเขือ ประมาณ ๒๒ กิโลเมตรมีทั้งบ้านเรือนที่ตั้งริมน้ำและอยู่ในแนวถนน ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม
   บ้านโคนเหนือ คือหมูที่ ๙ตำบลเทพนครอำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชรแยกตัวมาจากบ้านโคนใต้ แต่กลับมาขึ้นกับตำบลเทพนครโดยมีอาณาเขต
      ทิศเหนือ         ติดกับหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร
      ทิศใต้         ติดต่อกับแม่น้ำปิง
      ทิศตะวันออก      ติดกับบ้านเกาะสง่า
                           ทิศตะวันตก      ติดกับบ้านท่าตะคร้อ
ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเหมือนบ้านโคนใต้ มีการพัฒนามาตลอดนอกจากการทำไร่ ทำนาแล้ว ที่บ้านโคนมีป่าไม้มากมากมาย อาชีพค้าไม้ จึงเป็นอาชีพสำคัญ

บุคคลสำคัญแห่งบ้านโคน
 

     นายประสิทธิ์  วัฒนศิริ อาจเรียกท่านว่า  กำนันนักบุญตำบลคณฑี     ท่านดำรงตำแหน่งกำนันที่ตำบลคณฑีมาเกือบ ๒๐ปี กำนันตำบลคณฑี อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร (๒๔๗๐ ถึง ๒๔๘๙)       
 นายประสิทธิ์ วัฒนศิริ เกิดเมื่อวันที่ ๒๑กรกฎาคม  ๒๔๔๗ ในหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ปากคลองลุน (บ้านโคนใต้) ซึ่งปัจจุบัน อยู่ในเขตหมู่ที่ ๑ ตำบลคณฑี อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร บิดาชื่อนายพวง แซ่ลิ้ม มารดาชื่อ นางปุย  ได้เรียนหนังสือจนอ่านออก เขียนได้ ทั้งภาษาไทยและภาษาขอม จากสำนักเรียนวัดปราสาท บ้านโคนใต้ จากนั้นในปี ๒๔๖๑ ได้เรียนจบการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จากโรงเรียนประชาบาล อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร  นายประสิทธิ์ วัฒนศิริ สมรสกับกลำภัก โพธิ์แย้ม ในปี ๒๔๗๑  มีธิดา 1 คน คือ น.ส.ทองรวม และบุตร 1 คน คือ ด.ช.บุญเลิศ ซึ่งต่อมาทั้งสองได้ถึงแก่กรรม จากนั้นได้สมรสอีกครั้งหนึ่งกับนางสุมาลี เฉยไว ในปี 2489 โดยได้รับความเห็นชอบจากนางกลำภัก นายประสิทธิ์ มีบุตรกับนางสุมาลีทั้งสิ้น ๕ คน ได้แก่
        ๑ นายแพทย์ดำรงศิริ วัฒนศิริ
          ๒. นายเลิศศิริ วัฒนศิริ
          ๓. นายสุวัฒน์  วัฒนศิริ 
          ๔. นายชำนาญ  วัฒนศิริ
          ๕. นายพิชัย  วัฒนศิริ
        นายประสิทธิ์ วัฒนศิริ เป็นคนเก่ง อ่านออก เขียนได้ มีความขยัน มีความเป็นผู้นำ จนได้รับคัดเลือกให้เป็นกำนันตำบลคณฑี (ตั้งแต่ปี ๒๔๗๐ ถึง ๒๔๘๙รวม ๑๙ ปี) และได้รับคัดเลือกให้เป็นกำนันดีเด่นของจังหวัดกำแพงเพชร ท่านได้มุ่งมั่นพัฒนาชุมชนให้เจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลคนขยันของจังหวัดกำแพงเพชรในปี  ๒๔๗๙  และพ่อตัวอย่างของจังหวัดกำแพงเพชร ในปี  ๒๕๒๕
        กำนันประสิทธิ์ วัฒนศิริ ได้มุ่งมั่นพัฒนาการศึกษา ควบคู่ไปกับการพัฒนา ได้บริจาคที่ดินให้สร้างโรงเรียนประถมศึกษาแห่งแรกในชุมชน ปัจจุบันคือโรงเรียนชุมชนบ้านคณฑี (ประสิทธิ์ อุปภัมภ์) และในปี ได้มอบที่ดินเพื่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก "ศูนย์พัฒนาเด็กวันมหาราช" ซึ่งปัจจุบันคือศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลคณฑี และ ได้บริจาคที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียนคณฑีพิทยาคม ซึ่งเปิดสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ปัจจุบันเปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น-ปลาย) จึงกล่าวได้ว่า กำนันประสิทธิ์ วัฒนศิริ บริจาคที่ดินให้กับชุมชนเพื่อให้การศึกษาแก่เยาวชนตั้งแต่เด็กเล็ก จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย   นอกจากนี้ ท่านและบิดาได้ถวายที่ดินแก่สงฆ์  เพื่อสร้างวัด ดังมีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้
๑.   พ.ศ. ๒๔๘๐ มอบที่ดินตั้งโรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนชุมชนบ้านคณฑี(ประสิทธิ์ อุปถัมภ์)  เนื้อที่ ๓ ไร่ ๓ งาน ๖๐ ตารางวา
๒.   พ.ศ.๒๔๘๓ จัดหาที่ดินเพื่อสร้างวัดคณฑีศรีวชิราราม เนื้อที่ ๕ไร่เศษ
๓.   พ.ศ.๒๔๘๘ มอบที่นาส่วนตัว เป็นสมบัติของวัด เนื้อที่ ๑๐๐ ไร่เศษ
๔.   พ.ศ. ๒๔๙๓ มอบที่ดินเพื่อจัดตั้งสถานีอนามัย เนื้อที่ ๔ไร่๒ งาน
๕.   พ.ศ. ๒๕๑๕ มอบที่ดินเพิ่มให้โรงเรียนชุมชนบ้านคณฑี(ประสิทธิ์ อุปถัมภ์) เนื้อที่ ๙ ไร่ ๒ งาน ๕๐ ตารางวา
๖.   พ.ศ.๒๕๑๘ มอบที่ดินสร้างศูนย์เด็กวันมหาราช เนื้อที่ ๓งาน
๗.   พ.ศ.๒๕๒๑ มอบที่ดินเพื่อสร้างโรงเรียนมัธยม คณฑีพิทยาคม เนื้อที่ ๓ตไร่ ๒งาน
๘.   พ.ศ. ๒๕๒๗ มอบเงินเพื่อจัดตั้งมูลนิธิประสิทธิ์ วัฒนศิริ  จำนวน ๑๑๒,๐๐๐ บาท
๙.   พ.ศ. ๒๕๓๔ มอบที่ดินให้โรงเรียนประถมศึกษาโรงเรียนชุมชนบ้านคณฑี(ประสิทธิ์ อุปถัมภ์) เพิ่มอีก ๑ไร่ ๓ งาน
กำนันประสิทธิ์ วัฒนศิริ ประพฤติคุณธรรมมาตลอดชีวิต ที่บ้านโคน ไม่มีใครเลยที่ไม่รักและเคารพท่าน ในที่สุดเมื่อชราภาพ ท่านจากไป เมื่อวันที่ ๒๘  กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ รวมอายุได้ ๘๖ ปี  ท่านผ่านชีวิต นักสู้ นักบุกเบิก นักปกครอง เป็นพ่อที่วิเศษของลูกๆ สมควรที่ได้รับการบันทึกไว้ให้เป็นแบบอย่าง ในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบ้านโคน คณฑี กำแพงเพชร ด้วยความคารวะ
ผลงานของกำนันประสิทธิ์ วัฒนศิริ
บริจาคที่ดินเพื่อสร้าง โรงเรียนชุมชนบ้านคณฑี (ประสิทธิ์อุปถัมภ์)   
ประวัติโรงเรียนชุมชนบ้านคณฑี (ประสิทธิ์อุปถัมภ์)   
 
โรงเรียนชุมชนบ้านคณฑี (ประสิทธิ์อุปถัมภ์)  ตั้งอยู่เลขที่ 444  หมู่  9 บ้านโคนเหนือ ตำบลเทพนคร  อำเภอเมืองกำแพงเพชร  จังหวัดกำแพงเพชร  รหัสไปรษณีย์  62000  โทรศัพท์  055-760131  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำแพงเพชร เขต 1  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  กระทรวงศึกษาธิการ
            โรงเรียนชุมชนบ้านคณฑี(ประสิทธิ์อุปถัมภ์) เดิมมี   นายประสิทธิ์   วัฒนศิริ    กำนันตำบลคณฑี ในสมัยนั้นได้ยกบ้านพักชั่วคราวถวายให้แก่ท่านพระครูนิทาน   โพธิ์วัฒน์  เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์(พระราชพรหมมาภรณ์ในปัจจุบัน) แต่ยังมิได้รื้อถอนไป  ต่อมานายประสิทธิ์   วัฒนศิริ ได้ยกที่ดินปลูกบ้านหลังนั้นให้เป็นสมบัติของกระทรวงศึกษาธิการ   เพื่อจัดตั้งโรงเรียน   ท่านพระครูนิทานจึงยกบ้านหลังดังกล่าวให้เป็นที่เรียนของนักเรียน    ทางโรงเรียนได้รับเด็กเข้าเรียน
เมื่อวันที่   26   มิถุนายน    พ.ศ.  2481
โรงเรียนชุมชนบ้านคณฑี   (ประสิทธิ์อุปถัมภ์) เดิมชื่อ  “โรงเรียนประชาบาลตำบลคณฑี 4 “ก่อตั้งเมื่อ 26 มิถุนายน 2481 โดยกำนันประสิทธิ์  วัฒนศิริ แกนนำชาวบ้านร่วมกันก่อตั้ง บนที่ดินของตนเอง ต่อมาในปีพ.ศ.2483 คณะกรรมการศึกษาได้อนุมัติเงินร่วมสมทบสร้างโรงเรียนหลังใหม่เพิ่มและเปิดดำเนินการได้เมื่อปี พ.ศ.2485โดยให้ใช้ชื่อโรงเรียนใหม่ว่าโรงเรียประชาบาลตำบลคณฑี 4 (ประสิทธิ์วิทยาคาร) และในปี พ.ศ. 2496  ทางราชการได้ตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า  “หมู่บ้านเกาะพังงา”อยู่ติดริมแม่น้ำปิง ทางโรงเรียนจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนบ้านเกาะพังงา” (ประสิทธิ์วิทยาคาร) ตามชื่อหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ติดกับบริเวณทิศเหนือของถนนสายกำแพงเพชร – ท่ามะเขือ หลักกิโลเมตรที่ 18 หมู่ที่ 9 ตำบลเทพนคร อำเภอเมืองกำแพงเพชรปัจจุบันปีการศึกษา   ๒๕๕๔  ได้เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลศึกษาปีที่  ๑  ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่  ๖   รวม ๘  ห้องเรียน  มีนักเรียนทั้งสิ้นจำนวน ๑๕๖  คน  มีครู  ๙  คน  มีลูกจ้างประจำตำแหน่ง นักการ๑  คน
นายอวยชัย  พิลึก   ชุมชนบ้านคณฑี (ประสิทธิ์อุปถัมภ์)  ดำรงตำแหน่ง  ผู้อำนวยการโรงเรียน



ท่านกำนันประสิทธิ์  วัฒนศิริ    บริจาคที่ดินเพื่อสร้าง วัดคณฑีศรีวชิราราม
 
                   หลวงพ่อธรรมบาล
เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่แต่โบราณ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประจำวัด  คณฑีศรีวชิราราม  เป็นที่สักการะบูชาของประชาชน ชาวเทพนครและคณฑี
จากการสืบค้น ตั้งแต่การก่อสร้างวัดบ้านโคนเหนือ(วัดคณฑีศรีวชิราราม ) ประมาณปีพุทธศักราช  ๒๔๘๒ ๒๔๘๓
ได้มีการสร้างศาลาใหญ่ชาวบ้านได้พร้อมใจไปอัญเชิญหลวงพ่อธรรมบาลซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่แก่อยู่ในโบสถ์เก่าโบราณ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำฝั่งตรงข้ามกับวัด ชาวบ้านเรียกว่าเกาะพริกแกว ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็นเกาะไอ้แจว
เกาะอีแจว ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดเสมางาม หมู่๒ ตำบลธำรง .อ.เมืองกำแพงเพชร สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย นำขึ้นล้อเกวียนมาในฤดูแล้ง น้ำลดลงต่ำมาก เมื่อพระพุทธศักราช ๒๔๙๖ ได้มีการเฉลิมฉลองสมโภชหลวงพ่อธรรมภิบาล ต่อมาสร้างศาลาใหญ่ พุทธศักราช ๒๔๙๗ ผู้ดำเนินการจะมีนายประสิทธิ์ วัฒนศิริ นายพายุ เกิดพันธ์ นายโม้ รัตถา และประชาชนชาวคณฑี ปัจจุบัน หลวงพ่อธรรมบาล เป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของประชาชน ในตำบลคณฑี และตำบลใกล้เคียง

 

วัดคณฑีศรีวชิราราม  ตั้งอยู่เลขที่ ๑๗ บ้านโคนเหนือ หมู่ที่ ๙ ตำบลเทพนคร อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินที่ตั้งวัดมี เนื้อที่ ๖ไร่ ๑ งาน ๔๗ ตารางวา  วัดคณฑีศรีวชิาราม ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ ชาวบ้านเรียกสั้นๆว่า “วัดคณที” ตามชื่อหมู่บ้าน วัดดังกล่าวมี นายประสิทธิ์  วัฒนศีริ เป็นผู้ริเริ่มนำชาวบ้านสร้างวัดขึ้นมา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสี เมือวันที่ ๒๓ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๑  เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร

 










พ.ศ. ๒๔๙๓ มอบที่ดินเพื่อจัดตั้งสถานีอนามัย เนื้อที่ ๔ไร่๒ งาน
 
 

 
โรงเรียนคณฑีพิทยาคม
ได้รับบริจาคที่ดินจากกำนันประสิทธิ์ วัฒนศิริ จำนวน 35 ไร่ 2 งาน 31 ตารางวา เป็นสถานที่ตั้งโรงเรียน โดยมีกำนันสมบูรณ์ รัตถา เป็นแกนนำร่วมกับประชาชนในท้องถิ่น สร้างอาคารชั่วคราว 1 หลัง จำนวน 3 ห้องเรียน
 
     โรงเรียนคณฑีพิทยาคม ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2522 และเริ่มเปิดทำการเรียนการสอนครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2522 โดยมีนักเรียนรุ่นแรก จำนวน 30 คน มีครู - อาจารย์ จำนวน 4 คน ลูกจ้างประจำ 2 คน และมีนายอนันต์ น่วมอินทร์ เป็นครูใหญ่
     ปัจจุบันโรงเรียนคณฑีพิทยาคม มีนักเรียนทั้งสิ้น จำนวน 455 คน ครูจำนวน 31 คน พนักงานราชการจำนวน 3 คน ครูอัตราจ้างจำนวน 3 คน ครูธุรการ จำนวน 1 คน เจ้าหน้าที่วิชาการจำนวน 1 คน ครูต่างชาติจำนวน 1 คน ลูกจ้างจำนวน 1 คน ลูกจ้างชั่วคราวจำนวน 3 คน โดยมีนายนายเผ่าชาย ชาญชึ่ยว ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน และนายชำนาญ  วัฒนศิริ ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน





 
 

 










 







ภาคที่ ๓ ภาคผนวก
คณฑี เทพนคร  ไตรตรึงษ์ สามนครที่ยิ่งใหญ่
ตามตำนานท้าวแสนปม...ได้กล่าวถึงเมืองเทพนคร ว่าเป็นเมืองเนรมิต จากอำนาจของ พระอินทร์ดังเรื่องที่เล่ากันว่าเมื่อท้าวแสนปมได้นางอุษาเป็นชายาแล้ว...ถูกขับออกไปทำไร่หักล้างถางพงแต่วันรุ่งขึ้น ต้นไม้เหล่านั้นได้กลับขึ้นมาใหม่....จึงซุ่มดูอยู่เห็นวานรตัวหนึ่งซึ่งเป็น พระอินทร์แปลงกายถือ อินทรเภรี คือกลองวิเศษ ..ท้าวแสนปมได้จับวานรได้..วานรได้มอบกลองวิเศษให้ และบอกว่า ตีกลองขอได้สามสิ่ง ท้าวแสนปมจึงตีครั้งที่ 1 ขอให้ปมทั้งหลายหายไปกลายเป็นบุรุษรูปงาม ตีครั้งที่ 2 ขอเมืองใหม่จึงเกิดเมืองเนรมิต ขึ้น เมืองนี้คือเมืองเทพนคร ตีครั้งที่ 3 ขออู่หรือเปลทองคำให้ราชโอรส ซึ่งเมื่อเติบโตขึ้นเป็นพระเจ้าอู่ทองปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาเราจึงคิดว่าเมืองเทพนครจึงแค่เป็นเมืองที่เล่าขานตามตำนานมิได้มีจริง.... จึงมิได้ค้นหาอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เมื่อหาร่องรอยเมืองเทพนครไม่พบ จึงเลิกค้นหา...
         .อาจารย์รุ่งเรือง สอนชู แห่งโรงเรียนบ้านเทพนคร สนใจเรื่องราวของเมืองเทพนครอย่างยิ่งได้แจ้งให้คณะทำงานโทรทัศน์วัฒนธรรมว่าได้ค้นพบ เมืองเทพนครแล้ว....เราจึงนัดหมายกันเพื่อไปค้นคว้า ...เมืองเทพนครเมืองที่หายสาปสูญไปหลายร้อยปี....อาจารย์รุ่งเรือง สอนชู อาจารย์วิไลพร สอนชู จากโรงเรียนบ้านเทพนคร นายสิน คำหงษา อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 15 ตำบลเทพนคร ประธานกรรมการสถานศึกษา โรงเรียนบ้านเทพนคร.... นางมรินทร์ ประสิทธิเขตกิจ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล เทพนคร อาจารย์เรืองศักดิ์ แสงทอง นักนิยมประวัติศาสตร์ท้องถิ่น จักรพรรดิ ร้องเสียง ตากล้องทีวีมือหนึ่งของเรา พร้อมด้วย คณะนักเรียนประถมปีที่ 6 โรงเรียนเทพนครอีก ประมาณ 20 คน.....ออกเดินทางไปยังบริเวณที่เรียกว่าคูเมืองเทพนคร ห่างจากถนนราว 800 เมตร เราพบแนวคูเมือง ที่เป็นลักษณะ สี่เหลี่ยมผืนผ้าอย่างจงใจ แนวกำแพงเมือง พบแล้ว เดินตามแนวกำแพงเมืองเทพนครไปราว 500 เมตร พบเนินดินที่เป็นลักษณะ เหมือนป้อมมุมเมืองเนื้อที่ราว 200 ตารางเมตร ยังอยู่ในสภาพดี ได้สำรวจจนทั่ว ทุกคนยืนยันว่าเป็นป้อมมุมเมือง แนวกำแพงที่เลี้ยวไปทางแม่น้ำ ถูกไถทำที่นา ทั้งหมด เมื่อไม่มีหลักฐานบริเวณนี้ คณะสำรวจได้เดินกลับไปทางเดิม เดินสำรวจไปทิศตรงกันข้าม ตามแนวคันดินและคูเมืองเทพนครด้านนอก อีกประมาณ 200 เมตร พบป้อมมุมเมืองเช่นเดียวกัน เห็นคันคูน้ำ ยาวเหยียดสุดสายตา.... ทั้งหมดเมืองเทพนคร มีหลักฐานให้เห็น คูเมือง เป็นลักษณะมุมฉาก เหลือประมาณ ร้อยละ 40 ส่วนกำแพงเมืองไม่พบร่องรอย นอกจากแนวถนนที่เราสันนิษฐานว่าเป็นกำแพงเมืองเท่านั้น....
         เรากลับมาที่บ้านของนายยงค์ ทองปรางค์ ตั้งอยู่ริมน้ำปิง ห่างจากแม่น้ำราว 20เมตร พบร่องรอยของวัดโบราณอาจเป็นวัดประจำเมืองเทพนคร มีหลักฐานแค่ฐานพระประธานให้เห็น และแนวฐานพระวิหารยังเห็นชัดอยู่ นายยงค์ ทองปรางค์ เล่าว่าค้นพบพระพุทธรูป ในบริเวณนี้ เมื่อขุดหลุมปลูกพริก ที่ได้นำพระพุทธรูปมาให้เราชมด้วย....มีพุทธลักษณะงดงามมาก... เมืองโบราณเทพนคร สร้างอย่างใหญ่โต.....และมีสถาปัตยกรรมที่ถูกต้องตามหลักยุทธศาสตร์ กล่าวกันว่า เมืองเทพนคร ป็นราชธานีอยู่เพียง 30 ปี ท้าวแสนปมขึ้นครองราชย์ ที่เมืองเทพนคร ทรงพระนามว่าพระเจ้าศิริชัยเชียงแสน ่วนราชโอรสที่เกิดจากนางอุษาที่ทรงบรรทมอู่ทองเนรมิตนั้น มีพระนามสืบกันมาว่าพระเจ้าอู่ทอง พระเจ้าศิริชัย เชียงแสน อยู่ในราชสมบัติ 25 ปี สวรรคตในปีพ.ศ. 1887 พระเจ้าอู่ทอง ครองราชย์สมบัติต่อมา อีก 5 ปีจึงอพยพผู้คนไปตั้งราชธานีที่กรุงศรีอยุธยา....ทำให้ทิ้งให้เมืองเทพนครร้าง ตั้งแต่ปี 1900 .....ไม่มีผู้คนอพยพไปตั้งบ้านเรือนอีกเลย.. ตำนานก็คือตำนาน...แต่มีเค้าความจริงอยู่ เมื่อเราค้นพบแนวกำแพงเมืองเทพนคร ประมาณ 2 กิโลเมตร มีคูเมืองปรากฏอย่างชัดเจน.....
.......ตามข้อสันนิษฐาน พระเจ้าศิริชัยเชียงแสน คงอพยพผู้คนมาจากทางเหนือ ปลอมตนเป็นชายเข็ญใจ และเมื่อได้กับนางอุษาที่เมืองไตรตรึงษ์แล้ว...จึงสร้างบ้านเมืองที่ฝั่งตรงข้ามกับเมืองไตรตรึงษ์ เมืองที่สร้างใหม่คือเมืองเทพนคร.....แต่เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วเมืองเทพนครมีปัญหาเหมือนเมืองนครชุมคือ แม่น้ำปิงกัดเซาะ ให้กำแพงในส่วนริมน้ำปิงพังพินาศหมด ....จึงต้องอพยพผู้คนไปหาชัยภูมิใหม่....อาจเป็นต้นกำเนิดคนไทยที่กรุงศรีอยุธยาจริง....
.....เป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์ใจ พระร่วงเจ้าไปจากเมืองคนฑี กำแพงเพชร เพื่อไปสร้างกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี
.....พระเจ้าอู่ทอง ไปจากเมืองเทพนคร ไปสร้างกรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานี.
......พระยาวชิรปราการไปจากเมืองกำแพงเพชร .....ไปสร้างกรุงธนบุรี เป็นราชธานีเช่นกัน เป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อแต่ก็มีหลักฐานที่ชัดเจน........
เราจึงร่วมกันภูมิใจ ในการที่เราเป็น ชาวคณฑี เทพนคร  และไตรตรึงษ์   กำแพงเพชร ร่วมกัน

 92 
 เมื่อ: พฤศจิกายน 25, 2020, 12:07:33 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
พระกำแพงสามขา พระบูชาล้ำค่า แห่งเมืองกำแพงเพชร
เมืองกำแพงเพชร ได้รับยกย่องจากองค์การยูเนสโก แห่งสหประชาชาติ ให้เป็นเมืองมรดกโลก ร่วมกับสุโขทัยและศรีสัชนาลัย ย่อมแสดงถึงความสำคัญของเมืองกำแพงเพชร ที่โลกยกย่องว่ามีอารยธรรม วัฒนธรรม และศิลปกรรมอันสูงส่ง มีค่าล้ำมีความเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง มาตลอด กำแพงเพชรจึงมีพระพุทธรูปที่ล้ำค่าและมีพุทธศิลป์เป็นของตนเอง อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญ ของเมืองกำแพงเพชร เมืองมรดกโลก พระบูชาที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะเมืองกำแพงเพชร               องค์นี้คือ   พระกำแพงสามขา
พระกำแพงสามขา มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าพระกำแพงขาโต๊ะ เป็นพระพุทธรูปของกำแพงเพชรแท้ๆ สร้างสมัย กำแพงเพชร เป็นเมืองลูกหลวง แห่งอาณาจักสุโขทัย สร้างราวพุทธศักราช  ๑๙๐๐ - ๒๐๐๐ พบได้ทั่วไป ในเกือบทุกวัดในเมืองและนอกเมือง กำแพงเพชร  มีหลายขนาด ที่ผู้เขียน เคยพบมีตั้งแต่ หน้าตัก สามนิ้ว  จนถึง สิบสองนิ้ว  เหตุที่เรียกขานว่าสามขาเพราะ แท่นที่ประทับของพระพุทธรูป มีสามขา เพราะมีด้านหน้าสอง ขา และด้านหลังหนึ่งขา รวมเป็นสามขา ผู้ค้นพบครั้งแรกๆเมื่อประมาณ ร้อยปีที่ผ่านมา ตั้งแต่กรุพระเมืองกำแพงเพชรยังไม่แตก ระยะแรกๆ ผู้แสวงหาทั้งหลาย เก็บแต่ของมีค่าในกรุพระ เช่น เครื่องเงิน เครื่องทอง เพชรนิลจินดา พระกำแพงสามขาและพระบุชา ตลอดจนพระเครื่อง ไม่เป็นที่ต้องการของผู้แสวงหา  เมื่อราวร้อยปีกว่า (๒๔๓๐ถึง ๒๔๕๓) ที่ผ่านมา พระบูชาเริ่มมีผู้สนใจเก็บไปเป็นสมบัติส่วนตัวมากขึ้น พระกำแพงสามขา ค่อยๆหายไป ในช่วงปี ๒๔๕๐ -ถึง๒๔๗๐ คติที่ว่า “พระควรอยู่วัด” หายไปจากความเชื่อ  พระบูชากลายเป็นที่ต้องการของผู้แสวงหา มากขึ้น เมื่อพระบูชา หมดไป จากกรุ พระเครื่อง เริ่มหายากมากขึ้น ในที่สุด ในราวปีพุทธศักราช ๒๔๗๐ ถึงปี ๒๔๙๐ พระเครื่อง ก็กลายเป็นสมบัติ ของนักแสวงหา ในหายไปหมดจากกรุ  อยู่ในครอบครองของ ข้าราชการและคหบดี ในเมืองกำแพงเพชร ตลอดจนคหบดีและข้าราชการต่างเมืองที่สนใจสะสมพระเครื่องและพระบูชามากขึ้น สนนราคา ของพระราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนคนสามัญจับต้องเป็นเจ้าของไม่ได้
พุทธลักษณะ ของพระกำแพงสามขา ที่พบส่วนใหญ่เป็นปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ  พระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ ขวาพระองคุลีทั้ง ๕ ไม่เท่ากัน เหมือน มนุษย์ธรรมดา พระดัชนี ชี้ลงล่างราว ให้แม่พระธรณีเป็นพยาน ในคราวปราบพญามาร พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา หงายพระหัตถ์แผ่งดงาม พระวรกายงดงามพระอุระนูน พระอุระใหญ่เม็ดพระถัน เห็นได้ชัดแม้ข้างซ้ายจะปกคลุมด้วยจีวร แต่ก็เห็นได้ชัดราวไม่ได้สวมจีวรกระนั้น บั้นพระองค์คอดงดงามสังฆาฏิ ด้านหลังยาวจรดฐาน ด้านหน้ายาวจรดพระนาภี อยู่ท่ามกลางพระถัน เบี่ยงมาทางซ้าย  พระศอมีรอยหยัก พระหนุเสี้ยม พระพักตร์รูปไข่ พระนลาฎกว้าง  พระโอษฐ์ แย้มยิ้มน้อยๆ เหมือนทรงเมตตา กับมวลพุทธศาสนิกชน พระขนงชิดติดกัน  โก่งราวคันศร ที่กำลังน้าวยิง พระเนตร มองลงล่างเล็กน้อย งดงาม พระนาสิกเป็นสันงามสมกับพระพักตร์  พระกรรณ ยาวเกือบถึงพระอังสา แนบพระพักตร์ พระศกเม็ดเล็กงดงาม สมกับขนาดพระเศียร  เปลวเพลิงเหนือพระเศียรสูง งดงามกว่าพระบูชาทุกแบบ  ฐานงดงาม มีความสูง เหมาะกับขนาดของพระกำแพงสามขา ซึ่งนับว่าน่าชม ที่สุด ในบรรดาพระบูชาของเมืองกำแพงเพชร ทุกแบบ พระกำแพงสามขา จึงกลาย          เป็นสัญลักษณ์ ของพระบูชา ในเมืองกำแพง ที่ผู้คนที่ชื่นชอบ และสนใจพระบูชา แสวงหา ที่จะได้บูชา กันทุกคน
พุทธคุณ ของพระกำแพงสามขา คนกำแพงเพชร เชื่อว่า มีพุทธคุณ ด้านโชคลาภ แคล้วคลาด ก้าวหน้า และเมตตามหานิยม 
พระกำแพงสามขา จึง มีความหมาย ต่อผู้ต้องการพระบูชา ไปบูชา เพื่อแสดงว่า เป็นพระกำแพง เป็นคนกำแพง และเป็นของดี กำแพงเพชร ไปนิจนิรันดร์
                     สันติ อภัยราช
                                                                                              ๒๕  พฤศจิกายน   ๒๕๖๓





 93 
 เมื่อ: กันยายน 28, 2020, 04:55:13 am 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
                                     แด่คุณพี่ เสมา อภัยราช
          ร่มโพธิ์ทอง  ของน้อง  ของลูกหลาน     อันตรธาน  เพียงร่างกาย  หายสาบสูญ
ตามกฎแห่ง ธรรมชาติ แสนอาดูร                ยังเพิ่มพูน วิปโยค โศกเศร้าใจ
      เก้าสิบเอ็ดปี ยืนเด่น  เป็นสง่า              พี่เสมา  กล้าแกร่ง  ไม่สงสัย
ยอดขุนศึก แสนสง่า  กลางฤทัย                  กำแพงเพชร อยู่ในใจ ทุกผู้คน
       ยอดฝีมือ ยอดความคิด ยอดสร้างสรรค์   ศิลปะ จำนรรจ์  ทุกแห่งหน
งานฝีมือ สรรค์สร้าง ราวเทพดล                   ทุกผู้คน ยลยิน  ทุกถิ่นไทย
       พระอิศวร  องค์จำลอง ที่ผ่องผุด            ฤทธิรุทธิ์ ฤทธิเลิศ ที่ศาลใหญ่
คือฝีมือ  พี่เสมา  ยังเกริกไกร                        คนกราบไหว้ บูชา ศิวาองค์
        พี่ปลูกปั้น สอนสั่ง ลูกหลานเหลน         ยืนต้นเป็น  ศรีสง่า อานิสงส์
พี่รักน้อง รักลูกหลาน รักมั่นคง                    พี่เสริมส่ง ทุกคน เป็นคนดี
       ต่อแต่นี้ ไม่มี  พี่ใหญ่แล้ว                    ดั่งดวงแก้ว  แตกสลาย ในวิถี
แต่โพธิ์ใหญ่ ยังยืนเด่น ในปฐพี                    อยู่กลางใจ  ทุกนาที แม้จากไป
       เคยเล่าเรื่อง สอนเรื่องราว ทุกคราวพบ   เคยบรรจบ  เคยบอกกล่าว เคยเล่าให้
มีความรู้ เรื่องราว ที่กว้างไกล                      เพราะพี่ใหญ่ ให้วิชา มาทุกวัน
      เติบโตมา เคียงกัน พลันมาจาก               เทพมาพราก พี่ไป ให้โศกศัลย์
จากครานี้ จากลา แรมนิรันดร์                       ไม่ได้เห็น หน้ากัน นิรันดร์กาล
       ร่มโพธิ์ใหญ่ หักล้ม ต้องข่มจิต                ราวนิมิต  พี่จากไป ใครเล่าขาน
ต่อแต่นี้ พี่เสมา คือตำนาน                            จะสืบสาน ความดีงาม ทุกยามไป
       ขอพี่สู่ สรวงสวรรค์ ชั้นเทพศิลป์              เทพกวี ศิลปิน ผู้ยิ่งใหญ่
สรวงสวรรค์ ชั้นเทพ เลิศวิไล                         พี่เสมา คือเทพไท้  กลางใจคน

                                                                                                     สันติ  อภัยราช
                                                                              ๒๘ กันยายน ๒๕๖๓


   

 94 
 เมื่อ: กันยายน 27, 2020, 05:02:46 am 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
                                       ประวัติ คุณพ่อเสมา อภัยราช
พ่อเสมา อภัยราช เป็นชาวกำแพงเพชร โดยกำเนิด บิดาชื่อ นายเสรี อภัยราช ปลัดอำเภอเมืองกำแพงเพชร มารดาชื่อ คุณละไม อินทรสูต เป็นหลานตา ของหลวงมนตรีราช (หวานอินทรสูต) ยกกระบัตรเมืองกำแพงเพชร ตาทวดคือ พระยาสุจริตรักษา(ทองคำ อินทรสูต) เจ้าเมืองตาก เทียดคือ พระยาสุรบดินทรสุรินทรฤาชัย (ทองอิน) เจ้าเมืองไชยนาท ต่อมาดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาสุรบดินทร์สุรินทรฤาชัย เจ้าเมืองกำแพงเพชรสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ท่านกำเนิดเมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พศ.๒๔๗๒ ท่านมีน้องทั้งหมด ๕ คน คิอ
   ๑.นางสุนันทนา  วารีเพชร  (ถึงแก่กรรม)
   ๒.นายอิสระ   อภัยราช      (ถึงแก่กรรม)
   ๓.นางศิวดี     ใจอินทร์     
   ๔.นายสันติ   อภัยราช
   ๕.นายสัมพันธ์  อภัยราช
ตุณพ่อเสมา อภัยราช ได้รับราชการตำรวจ ในตำแหน่งหัวหน้าแผนกยานพาหนะจังหวัดกำแพงเพชร ต่อมาได้ลาออกจากราชการ มาประกอบธุรกิจส่วนตัว ท่านสมรสกับ คุณแม่ระเวีย หาญกำจัดภัย บุตรตรี ร้อยตำรวจตรีหมื่นหาญกำจัดภัย(บก กันภัย) นายตำรวจสถานีตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชร มีบุตรธิดา ๗ คนคิอ
   ๑.นางสุวิมล  อภัยราช อดีต ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ และผู้พิพากษาสบทบศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกำแพงเพชร ๒สมัย
สมรส กับ นายสัญลักษณ์ กาญจนะโกมล อดีตเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกำแพงเพชร มีบุตรชาย ๑.คน คือ
 นายแพทย์ณัฐพงศ์ กาญจนะโกมล  อายุกรรมชำนาญการด้านหลอดเลือดและหัวใจ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์นครปฐม จังหวัดนครปฐม
   ๒.นางนวลอนงค์  อภัยราช อดีตพนักงานการประปากำแพงเพชร มีบุตรชายชื่อ นายชวนภ วงศ์สินอุดม  ผจก.ฝ่ายอำนวยการกลางการผลิต บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะจำกัด สาขากำแพงเพชร
   ๓.นายปฐมชัย อภัยราช อดีตหัวหน้าฝ่ายแบบแผนและก่อสร้างกองช่างเทศบาลเมืองกำแพงเพชร สมรสกับนางสาวพรรณี  น้อยสวรรค์  มีบุตรธิดา ๒ คนคือ
   ๓.๑ นายปริยพัฒน์  อภัยราช   เจ้าหน้าที่ ไอที บริษัทเอกชน
   ๓.๒ นางสาวภัทรสุดา อภัยราช พนักงานธุรกิจสัมพันธ์ลูกค้า ธนาคารออมสิน ศูนย์ smes ๗ กำแพงเพช         
         ๔.นางสาวสาวิตรี  อภัยราช อดีตหัวหน้าพยาบาล โรงพยาบาลกำแพงเพชร
         ๕. นายชัยพร  อภัยราช อดีต อาจารย์โรงเรียนสาธิต ม.ราชภัฎกำแพงเพชร สมรสกับนางสาวอัญชุลี อ่วมสถิตย์ ประกอบธุรกิจส่วนตัว   มีบุตรชาย ๒ คนคือ
   ๕.๑ นายเอกชัย อภัยราช  ฝ่ายซ่อมบำรุงบริษัทเอกชน
   ๕.๒ นายอุภัยพล  อภัยราช ผู้จัดการสาขาพิษณุโลก บริษัทเอสไอเอสดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย)จำกัด (มหาชน)
๖.นายชาญศักดิ์  อภัยราช  อดีตพนักงาน บริษัททีเคซี จังหวัดกำแพงเพชร (ถึงแก่กรรม) สมรสกับ นางสาวพัชรา คำกมล อดีตครูโรงเรียนเทศบาล๒ มีบุตร ๑ คน คือ
   นายพัชรพล  อภัยราช  นักศึกษา ม.ศิลปากร (ถึงแก่กรรม)
๗. นางสาวสุชีลา  อภัยราช  ผู้อำนวยการ โรงเรียนชากังราววิทยา จังหวัดกำแพงเพชร
   คุณพ่อเสมา  อภัยราช เป็นผู้มีสุขภาพดี แข็งแรง ออกกำลังกาย สม่ำเสมอ โดยการขี่จักรยานรอบตลาดกำแพงและริมแม่น้ปิง จนกระทั่งอายุย่างเข้าเก้าสิบปี ลูกหลานเห็นว่า  กลัวรถจะล้มหรือมีอุบัติเหตุ จึงขอร้องให้พ่อออกกำลัง อยู่ภายในบ้าน
   ต่อมาคุณพ่อเข้ารักษาตัวที่ โรงพยาบาลกำแพงเพชร หลายครั้ง และในครั้งสุดท้าย  ท่านเสียชีวิต เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน พศ. ๒๕๖๓ สิริรวมอายุ ได้ ๙๑ ปี ยังความเศร้าเสียใจ แก่ลูกหลานและญาติมิตร ขอให้คุณ่อเสมา อภัยราช มีความสุข ในสัมปราภพด้วยเทอญ















 95 
 เมื่อ: กันยายน 24, 2020, 09:27:29 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
                       เกษียณ  อย่าง  เกษม
           คุณสุทัศน์  ภักดีการ
                ผู้อำนวยการกองการศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลวังแขม อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร
                กาลเวลา  ผันผ่าน วันวานจาก             ทำงานยาก   มากล้ำ   นำทางถาง
        ผ่านร้อนหนาว  มากมาย ได้นำทาง              อุปสรรค  ต้องปล่อยวาง  ตามทางธรรม
      สาวบ้านนา ถามหา สิ่งถูกต้อง              ความงดงาม หมายปอง  เจ้างามขำ
         ขยันเรียน ขยันงาน  ความจดจำ            ตั้งใจทำ  ตั้งจิตสรรค์   อย่างมั่นใจ
               ทำงานครู  คือครูดี ที่สอนสั่ง             ระมัดระวัง กายจิต  อย่างสดใส
        ผ่านงานครู  อย่างดงาม ตามวินัย              ผ่านไปได้ อย่างดียิ่ง มิ่งชีวี
   ย้ายงานมา ศึกษาธิการ ก็ชาญเชี่ยว         คือแรงเรี่ยว  ท่านศึกษา เป็นศักดิ์ศรี
        ประทับใจ ประสานงาน ได้อย่างดี              คือวิถี ของสุทัศน์  รัตนา
          เปลี่ยน โอนมา  วัฒนธรรม กำแพงเพชร   ราวก่องเก็จ แสงสว่าง แสวงหา
        ทำงานด้วย ดวงจิต นักพัฒนา                    งานวัฒนธรรม  ล้ำหน้า ด้วยมือเธอ
           มาท้องถิ่น  แห่งสุดท้าย ในวันนี้             อบต. วังแขมดี  หมั่นเสมอ
         ผอ.กองการศึกษา ได้พบเจอ                    งามเสมอ  คุณสุทัศน์  ภักดีการ
   เกษียณเกษม ตำแหน่งรัก  ประจักษ์จิต     ทั้งชีวิต  ทุ่มเท  มหาศาล
        เธอรักงาน  การศึกษา มาเนิ่นนาน                จิตผันผ่าน อย่างเปรมปรีดิ์ มีคนรัก
            แสนเสียดาย ในฝีมือ เขาลือก้อง              หกสิบต้อง เกษียณ คนรู้จัก
       แสนเสียดาย  คุณสุทัศน์ ทุกคนทัก                 คนประจักษ์ ความดีงาม นามใดเกิน
           ใบไม้ร่วง ใบใหม่ ผลัดใบแล้ว                    ดั่งดวงแก้ว  ลับหาย ต้องห่างเหิน
        แสนเสียดาย คนดี  ที่ประเมิน                        ต้องห่างเหิน วิชาชีพ ที่เชี่ยวชาญ
     วันเวลา ราชการ รานพลัดพราก                    จำต้องจาก ในวิถี  ผู้กล้าหาญ
จะจดจำ คุณสุทัศน์  ภักดีการ                         มือประสาน ด้วยศรัทธา  มาพร้อมใจ
                                                                                       สันติ   อภัยราช

     
    
       

 96 
 เมื่อ: สิงหาคม 28, 2020, 08:57:25 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
แด่ท่านปิยะ  เพชรพรรณ (โกเม่ง)
คือนักบุญ คือนักสร้าง นักเสกสรร          อสม´คนสำคัญ  ผู้สรรหา
คือนักสู้  เสกชิวิต  จิตศรัทธา                 คือเทวา มาอุบัติ อย่างชัดเจน
จิตสาธารณะ ช่วยหลือเอื้อเฟื้อราษฎร์    ไม่เคยขาด   อาทร ทุกคนเห็น
ยื่นมือเข้าช่วยเหลือ เมื่อลำเค็ญ            ใจท่านเช่น ดั่งทองคำ ที่นำทาง
เมื่อเวลามาพราก ท่านจากโลก              แสนวิโยค  โศกศัลย์ ให้หมองหมาง
ฟ้าร่ำไห้ ใจแสนโศก ไม่จืดจาง       ผุ้ถางทาง  อสม, ให้มั่นคง
ชั่วชีวิต ทำงาน เพื่อผู้อื่น                     แปดสิบสอง หยิบยื่น ตามประสงค์
ถมทำทาง ให้คนเดิน เพลินดำรง         อสม´มั่นคง เพราะท่านทำ
บริจาค  ที่ ดิน ให้ วัชระ                      วิทยา คงจะ  มั่นคงซ้ำ
คือที่เรียน สำหรับเด็ก ไม่ระกำ            โลกจดจำ โกเม่ง   เร่งวิชชา
มาจากไกล ไร้ร่าง  กลางคนโศก         วิปโยค โศกแสน  สิ้นหรรษา
ขอท่านสู่ สรวงสวรรค์  วัฒนา           ขอนิทรา ชั่วนิรันดร์  ท่านปิยะ                                                                  ก














 97 
 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2020, 04:13:21 am 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
แด่พี่อิสระ อภัยราช

เคยเข้มแข็ง แกร่งกล้า มหาศาล
เคยกล้าหาญ อดทน คนรู้จัก
เคยไปไหน มาไหน ใครใครทัก
เคยประจักษ์ ปากใจ ที่ตรงกัน

เคยเป็นครู  สอนเด็ก ทั้งชีวิต
มีลูกศิษย์  มากมาย ไม่แปรผัน
เป็นพ่อพิมพ์  ของกำแพง นิจนิรันด์
เป็นพี่น้อง  รักกัน ทุกวันมา

เป็นร่มโพธิ์ ร่มไทร ที่ใหญ่ยิ่ง
พี่รักจริง   ทุกคน  พี่สรรหา
สิ่งใดดี  สิ่งใดงาม ตามจรรยา
พิจารณา หาให้   ด้วยไมตรี

ไม่เคยเจ็บ  ไม่เคยป่วย ไม่หาหมอ
ออกกำลัง ไม่รีรอ เชื่อศักดิ์ศรี
มีชีวิต  เข้มแข็ง  ทุกนาที
 มีชีวี  ที่เชื่อมั่น  ไม่พรั่นใจ

สุขสบาย มั่นคง ดำรงจิต
มีชีวิต พัฒนา ที่แจ่มใส
มันรวดเร็ว เกินกว่า จะทำใจ
พี่จากไป เพียงข้ามคืน ยืนเดียวดาย

เคยสอนสั่ง  ระวังใจ ระวังจิต
ใช้ชีวิต ให้ดี ไม่เสียหาย
เคยยืนข้าง เคียงจิต สนิทกาย
พี่วางวาย  ใครเล่า เฝ้าผูกพัน

เป็นพ่อดี สามีดี ครูยิ่งใหญ่
มีหัวใจ ให้ทุกคน พี่เลือกสรร
สิ่งใดดี ให้ลูกหลาน มิตรสัมพันธ์
ทุกคืนวัน ผันผ่าน  เนื่นนานมา

เจ็บป่วยไข้ ไม่กี่วัน  มาพลันจาก
ได้รับใช้ ยังไม่มาก  ให้ห่วงหา
คิดว่าพี่ แข็งแรง ไม่จากลา
อนิจจา  จากไป   ในวันวาน

พี่สมนึก จะอยู่ได้ อย่างไรหนอ
เคยเคียงคลอ ทุกแห่งหน  มหาศาล
พี่สะใภ้  เข้มแข็ง นิรันดร์กาล
ต้องยืนหยัด ผันผ่าน ในบัดดล

ยังทำใจ มิได้  ใจห่วงหา
พี่จากลา  ไปไกล ไร้แห่งหน
สู่สวรร คาลัย ไร้ทุกข์ทน
ไร้หมองหม่น หมดทุกข์  สุขนิรันดร์

อยู่สวรรค์ ชั้นฟ้า  มีค่านัก
มีที่พัก   พิงใหม่ ในสวรรค์
เสวยสุข เสวยเสพ ทุกสิ่งพลัน
รักนิรันดร์ แด่พี่ชาย ด้วยใจรัก

   สันติ อภัยราช   ๒๘ กค. ๖๓

 98 
 เมื่อ: กรกฎาคม 27, 2020, 12:22:46 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
อาจารย์อิสระ. อภัยราช หรือพี่อิสระของน้องๆ เป็นหนึ่งใน 11 ขุนพลจากวัดคูยางไปร่วมกันก่อสร้างโรงเรียนวัชรวิทยา โดยการนำของ ผู้อำนวยการสมรวม พูลเขียว ในสมัยก่อนโรงเรียนวัดคูยางเป็นโรงเรียนชั้นนำในระดับประถมศึกษาของจังหวัดกำแพงเพชร มีความพร้อมในทุกๆด้าน โดยเฉพาะอยู่ในตัวเมือง. มีวัสดุอุปกรณ์ครบครัน การร่วมมือของผู้ปกครอง. ความสามารถของนักเรียนสามารถแข่งขันกับทุกโรงเรียนได้อย่างดี. ในปี 2519-2520รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียรได้มีนโยบายทีจะให้โรงเรียนประถมศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษาทั้งหมดปรับเปลี่ยนเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาในจังหวัดกำแพงเพชรมี 3 โรงเรียนคือโรงเรียนขาณุวรลักษบุรี ไปรวมกับโรงเรียนขาณุวิทยา โรงเรียนเมืองกำแพงเพชร เป็นโรงเรียนวชิรปราการวิทยาคมส่วนโรงเรียนวัดคูยางให้ยกเลิกรับประถมศึกษา มารับมัธยมศึกษาเป็นปีแรก และเปิดการเรียนการสอนอยูในวัดคูยาง. อ อิสระ อภัยราช เป็นหัวแรงสำคัญในการเปิดการเรียนการสอนในระดับมัธยมโดยท่านทำหน้าที่ฝ่ายวิชาการ จัดการเรียนการสอนในอย่างดีเยี่ยม นักเรียนรุ่นแรกประสบผลสำเร็จหลายท่าน อาทิ ชัยวัฒน์ ศุภอรรถพานิช นายกเทศมนตรีเมืองกำแพงเพชร. สามภพ. วชิรบรรจง วิศวกรไฟฟ้า. การไฟฟ้าฝ่ายผลิต สุรพล หวังพิทักษ์วงศ์ นักธุรกิจอาหลั่ยรถ และอีกหลายๆท่าน. ต่อมารัฐบาลธานินทร์ หมดอำนาจลงนโบยาบายจัดการศึกษาก็เปลี่ยนแปลง ให้โรงเรียนวัดคูยางกลับมาเปิดประถมศึกษาเช่นเดิม และให้นำนักเรียนมัธยมไปฝากโรงเรียนใกล้เคียง ท่านผู้อำนวยการสมรวม ท่านยืนยันจะทำการเปิดโรงเรียนมัธยมศึกษาให้ได้ท่านจึงแจ้งความประสงค์ไปยังกรมสามัญศึกษา ทางกรมให้ทางออกโดยการแนะนำให้หาสถานที่ใหม่ และแยกตัวจากวัดคูยาง คือโรงเรียนวัชรวิทยาในปัจจุบัน. ท่านอาจารย์อิสระ เป็นขุนพลสำคัญที่ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ในการต่อสู้เพื่อเปิดโรงเรียนวัชรวิทยา หน้าทีสำคัญคือการเป็นผู้ประสานงานเชื่อมโยงกับครูรุ่นใหม่กับ ผู้บริหาร โดยร่วมมือกับอาจารย์สมนึก คู่ชีวิต ได้ช่วยกันสรรสร้างโรงเรียน ในภาวะการขาดแคลนงบประมาณ  ให้การสนับสนุนการทำงานของน้องๆ พร้อมทั้งชี้แนะประสบการณ์ในการครองตน ครองคน ครองงาน ท่านเป็นตัวอย่างของครอบครัวมัธยัสถ์ กินน้อยใช้พอเพียง ผมนำวิธีการครองเรือนของท่านมาใช้ก็ประสบผลสำเร็จในครอบครัวและอีกหลายคนในโรงเรียนวัชรวิทยา  นอกจากนี้ท่านได้ใช้ความรู้ความสามารถไปร่วมพัฒนาโรงเรียนมัธยมอีก 2 แห่งคือ โรงเรียนคลองขลุงราษฏร์ รังสรรค์ และโรงเรียนวชิรปราการ วิทยาคม ก่อนที่เกษียณอายุราชการ
       ผมเองหลังเกษียณอายุราชการได้คิดก่อตั้งชมรมครูอาวุโสของโรงเรียนวัชรวิทยา กับท่านอาจารย์เสริมศักดิ์ อ สุพิส อ เฉลิม และได้นำข้อบังคับของชมรมไปให้ท่านตรวจแก้ไข ท่านก็ดำเนินการให้อย่างดี และร่วมยินดีเป็นที่ปรึกษาชมรมครูอาวุโสวัชรวิทยา ท่านจะคอยเป็นที่ปรึกษาให้กำลังใจกับทีมงาน มาร่วมสังสรรค์กับชมรมทุกครั้ง ให้ข้อคิดเห็น เสนอแนะติติงเมื่อดำเนินการผิดพลาด ทำให้สมาชิกมีกิจกรรมร่วมพบปะสังสรรค์ มีสายใยต่อกันชมรมมีความเป็นปึกแผ่น หลายสถาบันนำไปเป็นแบบอย่าง
    ผมพบกันท่านครั้งสุดท้ายที่งานขึ้นบ้านใหม่ อ ประภาส ธารเปี่ยม ยังคุยกันสนุกสนานกันดี ยังปรึกษากับท่านว่าเราจะจัดงานรับน้องใหม่วัยเกษียณ ในเดือนกันยายน ท่านก็ยังแนะนำว่าควรจะดำเนินการเช่นไร จากนั้นทราบข่าวว่าท่านไปผ่าตัดที่ พิษณุโลก ผ่าตัดเรียบร้อยแล้วอาการปกติ อีกไม่นานก็จะได้กลับบ้าน ผมกับอาจารย์เฉลิม ปรึกษากันว่าเมื่อท่านกลับมาพวกเราจะนัดกันไปให้กำลังใจท่าน และอาจารย์สมนึกที่บ้าน แต่ในที่สุด เช้าวันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม 2563 ทราบข่าวจาก อ รุ่งศรี. ว่าพี่อิสระได้จากพวกเราไปแล้ว ผมกำลังประชุมฌาปนกิจออมทรัพย์ครู กำแพงเพชรอยู่ เมื่อเสร็จก็รีบมาประสานงานที่วัดคูยาง เพื่อแจ้งกำหนดการรดนำ้ศพให้กับสมาชิกทราบ
      ในนามของชมรมครูอาวุโส วัชรวิทยา ผมขออนุญาตเป็นตัวแทนไว้อาลัยให้กับท่านอาจารย์ อิสระ อภัยราช คุณความดีที่ท่านได้ทำไว้ขณะที่มีชีวิตอยู่ ผลบุญจะนำท่านไปสู่ไปสู่ภพภูมิที่ดี. 
                                         ด้วยความอาลัย
                                          วิริยะ. วัชรวดี
                         ประธานชมรมครูอาวุโสวัชรวิทยา
                                         27 กรกฎาคม 2563

 99 
 เมื่อ: กรกฎาคม 19, 2020, 06:08:11 am 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
การแสดงแสงเสียงประกอบจินตนาการ
เรื่อง ตามรอยเสด็จประพาสต้น พระพุทธเจ้าหลวง ณ เมืองไตรตรึงษ์
วันเสาร์ที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๓ ณ วัดวังพระธาตุ เวลา ๒๐.๐๐ น.
รวม ๕๐นาที

.................................................
ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ ทุกท่าน องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลนครไตรตรึงษ์ โรงเรียนนครไตรตรึงษ์ โรงเรียนบ้านไตรตรึไตรตรึงษ์ และประชาชนชาวนครไตรตรึงษ์ยินดีต้อนรับทุกท่าน เข้าสู่การแสดงแสงเสียงประกอบจินตนาการ  เรื่องตามรอยเสด็จประพาสต้น พระพุทธเจ้าหลวง ณ เมืองไตรตรึงษ์      ในเดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๔๙      พระพุทธเจ้าหลวง พระปิยมหาราช เสด็จประพาสต้น เมืองกำแพงเพชร ๑๐ วัน คือตั้งแต่วันที่ ๑๘ สิงหาคม ถึงวันที่ ๒๗ สิงหาคม ทรงโปรดปรานเมืองกำแพงเพชรมากที่สุด และ ในวันนัในอดีตคือวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๔๔๙ ทรงเสด็จมาประพาสต้น วัดวังพระธาตุ และเมืองนครไตรตรึงษ์แห่งนี้ ทรงบันทึกเรื่องราวของเมืองประวัติศาสตร์ ไว้อย่างละอียด ทำให้เราเห็นภาพของเมืองนี้ในอดีตได้อย่างชัดเจน เพื่อการแสดงได้อรรถรส โปรดปิดไฟในงานทุกจุด ปิดเครื่องมือสื่อสาร และงดการแสดงออกอื่นๆ และเพื่อแสดงความจงรักภักดี ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทุกท่าน โปรดยืนขึ้นเพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระองค์  (เปิดเพลงสรรเสริญบารมี)
เชิญทุกท่าน ได้เข้าสู่การแสดง แสงเสียง  เรื่อง ตามรอยเสด็จประพาสต้น พระพุทธเจ้าหลวง ณ เมืองไตรตรึงษ์ ณ บัดนี้..................................................................................
องค์ที่ ๑  เตรียมการรับเสด็จ (ที่บ้านกำนันสอน) (๕นาที)
(ที่บ้าน นายบ้านวังพระธาตุ  แม่บ้าน และนายบ้าน นั่งอยู่ด้วยกัน)
แม่บ้าน *  นี่พ่อกำนัน พ่อได้ข่าว พระเจ้าอยู่หัวเสด็จ  ถึงเกาะขี้เหล็ก เมื่อคืนทรงพักแรมที่เกาะขี้เหล็ก แขวงใกล้บ้านเรา หรือเปล่าพ่อ
พ่อกำนัน * ข้าได้ข่าว ตั้งแต่เสด็จเข้ากำแพงเพชร ตั้งแต่วันที่ ๑๘ สิงหาแล้ว เห็นกระบวนเรือของพระยาวิเชียรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชรของเรา ไปรับเสด็จที่ปากน้ำโพ และเห็นกระบวนหรือของพระยาสุจริตรักษาเจ้าเมืองตาก ตามไปรับเสด็จอีกขบวน แต่ข้าไม่ได้รับคำสั่งใดๆ จากท่านเจ้าเมืองเลย จึงไม่ได้ตัดสินใจ ว่าเราจะทำอย่างไรกัน แล้วก็ทำอะไรไม่ถูกแล้วด้วย ตื่นเต้น ตัวสั่นไปทั้งตัว ได้ข่าวว่าพระองค์จะเสด็จขึ้นวังพระธาตุบ้านเราด้วยนา แม่บุญนาค เราจะทำปรการใดดี
แม่บ้าน * ฉันทราบข่าวจาก คนที่กลับจากปากน้ำโพว่า การเสด็จประพาสต้นครั้งนี้ พระองค์เสด็จเป้นการส่วนพระองค์ ไม่ต้องการให้ใครไปต้อนรับ ทรงปลอมพระองค์มาเป็นสามัญชน กินอยู่อย่างเรียบง่าย ต้องการมาเยี่ยมพสกนิกรของพระองค์เท่านั้น ไม่ประสงค์ให้ใครเดือดร้อนแล้วพวกเราจะทำอย่างไรกันดีพ่อกำนัน
พ่อกำนัน *  เราจะเรียกประชุมชาวบ้านวังพระธาตุกันดีไหม หารือกันว่า เราจะทำฉันใดกันดี พระองค์เสด็จมาถึงบ้านเรา เราไม่รับเสด็จได้อย่างไร นับว่าเป็นมหากรุณาธิคุณสูงสุด แก่พวกเราชาววังพระธาตุ ตามธรรมเนียมไทย ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ นี่เป็นถึงช้างเหยียบนา   พระยาเหยียบเมืองเชียวนาแม่บุญนาค
แม่บ้าน * ฉันเห็นด้วยจ้า พระองค์ทรงโปรดราษฎร์ของพระองค์เช่นนี้ พวกเราต้องทำอะไรสักอย่างที่ตอบแทนพระคุณของพระองค์ ท่านพ่อกำนันคิดถูกต้องแล้ว
พ่อกำนัน  *( ตีเกราะเคาะไม้ เสียงดังสนั่นไปทั้งคุ้งน้ำ บ้านวังพระธาตุ ในตอนค่ำ ของวันที่ ๒๑ สิงหาคม ประชาชนทะยอยกันมาอยู่ลานบ้านกำนัน ราวทุ่มเศษ มากันครบทุกบ้าน (หน้าลานบ้านท่านกำนัน)
กำนัน * (ยืนขึ้น ชาวบ้านนั่งยองๆ รอบๆ กำนันด้านหน้า แม่บ้าน ยืนอยู่ข้างกำนัน)
กำนัน*  พวกเราชาววังพระธาตุ คงรู้กันทั่วไปแล้วว่า พระเจ้าอยู่หัวพระปิยมหาราข เสด็จ บ้านเราในวันพรุ่งนี้ ตอนสายๆ เราจะทำอย่างไรกันดี ข้าเชิญทุกท่านมาเพื่อปรึกษา การสำคัญอันนี้
ทิดแดง * ท่านกำนัน เราควรมาต้อนรับพระองค์ท่านที่ท่าน้ำหน้าวัดวังพระธาตุ ของเราให้เต็มท่าน้ำ เต็มลานวัด เตรียมการต้อนรับพระองค์อย่างสมพระเกียรติ ที่พระองค์ทรงเมตตาชาวป่าชาวดงอย่างพวกเรา เหลือเกิน ข้าขอจะเตรียมกระบวนกลองยาวไว้รับสด็จ ให้ดีที่สุดที่พวกเราเคยเล่นมามา
กำนัน* ดีมากเลยทิดแดง พระองค์คงเกษมสำราญมากๆ ที่เห็นประชาชนสามัคคีกัน และจงรักภักดีต่อสถาบัน พระมหากษัตริย์
อำแดงเอี่ยม*  ข้าจะถวายพระเครื่อง ที่วัดวังพระธาตุ แด่พระองค์ ได้ไหมกำนัน
อำแดงอิ่ม*  ข้าจะถวาย น้ำและหมากพลูแก่พระองค์ท่าน
แม่บ้าน* ดีมากเลยที่พวกเราช่ายกันและสามัคคีกัน ฉันได้ซ้อมระบำไว้หนึ่งชุด แนจะรำถวายพระองค์ หลังจากพระองค์ ประทับแล้ว
กำนัน * ยอดเยี่ยม เลยพี่น้อง ชาววังพระธาตุ พรุ่งนี้เราจะเห็นความสามัคคี ของพวกเราที่มีต่อ พระพุทธเจ้าหลวงของเรา ข้าขอบใจทุกคนมาก พรุ่งนี้ ย่ำรุ่ง เราไปพร้อมกันที่ท่าน้ำวัดวังพระธาตุ อย่างพร้อมเพรียงกัน เพื่อเตรียมการรับเสด็จมิให้บกพร่อง เอาละวันนี้เราแยกย้ายกันไปก่อน
ตัวละคร
 ๑ กำนันสอน
๒ ภรรยา แม่บุญนาค
๓ทิดแดง
๔อำแดงเอี่ยม
๕อำแดงอิ่ม
๖ ประชาชน ร่วมประชุม ราว ๓๐ คน

องค์ที่ ๒ ขบวนเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง   (๑๕นาที)
(คำบรรยาย) วันที่ ๒๒-สิงหา  เมื่อคืนฝนตกพร่ำเพรื่อ ไปยังรุ่ง แรกนอนไม่รู้สึกว่าจะเย็น ต่อหลับไปตื่นขึ้นจึงรู้สึกเย็นไปทั้งตัวท้องก็แข็งขลุกขลักอยู่เป็นนาน เอาสักหลาดขึงอุดหมด จึงนอนหลับ ตื่น สองโมงเช้าครึ่ง ออกเรือจวนสามโมง  มาจากท่าขี้เหล็ก เลี้ยวเดียวก็ถึงวังพระธาตุ อยู่ฝั่งตะวันตก มีบ้านเรือนราย ตลอดขึ้นมาแต่อยู่ฟากตะวันตก ฟากตะวันออกเป็นปาตั้งแต่พ้นคลองขลุงขึ้นมา มีต้นสักชุม แต่เป็นไม้เล็กๆ ซึ่งเป็นเวลาหวงห้าม เดินเรือวันนี้ว่าไปในป่ากลางสูง ได้ยินเสียงนกร้องต่างๆ อย่างชมดงเพรียกมาตลอดทาง
“ที่วังพระธาตุ เป็นชื่อชาวเรือตั้ง วังไม่ได้แปลว่าบ้าน แปลว่าห้วงน้ำ พระธาตุนั้นคือพระธาตุที่ตั้งตรงวังนั้นจอดเรือที่พักเหนือวังพระธาตุนิดหนึ่ง แล้วเสด็จขึ้นที่ท่าน้ำวังพระธาตุ”
( คำบรรยาย ไฟจับไปที่เรือพระที่นั่งหางแมงป่อง ในเรือพระที่นั่ง มี ผู้ตามเสด็จ ในเรือหลายคน) 
พระภิกษุ ยืน หน้ากำนันผู้ใหญ่บ้าน  ประชาชน นั่งเรียงราย ถวายของ ถวายการต้อนรับตามแนวรายทาง พระองค์ทรงเกษมสำราญ ทักทาย อาณาประชาราษฎร์ ทันใดวงกลองยาว ออกมาจากป่าริมทาง ขบวนใหญ่ ร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนาน เจ้าคนังเงาะป่าตามเสด็จ วิ่งออกจากขบวนเสด็จ เข้ารำกับประชาชนอย่างสนุกสนาน (ประมาณ ๕นาที)
เมื่อพระพุทธเจ้าหลวงทรงประทับ ณพลับพลาที่ชาวบ้านเตรียมถวาย การแสดงรำชุดหนึ่ง (ประมาณ ๕ นาที)
ตัวละคร
๑.   พระพุทธเจ้าหลวง อาจใช้ภาพ หรือคนแสดงที่เหมาะสม แต่งกายแบบสามัญชน
๒.   กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๓.   พระยาวิเชียรปราการ
๔.   พระยาสุจริตรักษา
๕.   นายคนัง เงาะป่า
๖.   ชาวบ้าน
๗.   ขบวนกองยาว
๘.   ชุดรำถวายหน้าพระที่นั่ง


องก์ที่ ๓ เสด็จทอดพระเนตรวัดวังพระธาตุ  (๕ นาที)
           (คำบรรยาย ทรงเสด็จทอดพระเนตร ไฟจับตามคำบรรยาย)
          พระธาตุนั้มีฐานแท่นซ้อนสามชั้น  แล้วถึงชั้นคูหาบนเป็นรูปกลม ซึ่งกรมหลวงนริศ เรียกว่าทะนาน ถัดขึ้นไปถึงถึงบัลลังก์ ปล้อง”ฉน ๗ปล้องปลีแล้วปักฉัตร  องค์พระเจดีย์พังมาเสียซีกหนึ่ง มีรากระเบียงรอบวิหาร สี่ทิศ วิหารใหญ่ที่บูชาอยู่ทิศใต้  พระอุโบสถที่มีสีมาเป็นสำคัญ อยู่ที่ทิศตะวันออก เยื้องไม่ตรงกลาง เขาปลูกโรงหลังคามุงกระเบื้องในที่ใกล้พระเจดีย์ด้านตะวันออก มีพระพุทธรูปทั้งนั่งและยืนหลายองค์  พระพุทธรูปหน้าตาดีแปลกกว่าที่เคยเห็น เป็นช่างได้ทำและถ่ายรูปที่เหล่านี้ไว้ เวลานี้มีพระที่มาจากเมืองนนท์ เป็นรู้จักมาแต่ก่อน ขึ้นมาจำพรรษาที่นี่ คิดจะปฎิสังขรณ์ ปลูกกุฎิอยู่เยื้องหน้าพระธาตุห่างจากศาลาบุงกระเบื้อง เดิมซึ่งอยู่ข้างลำน้ำใต้ลงไป  ล้วนน่าชื่นชม
ตัวละคร
๑.   พระพุทธเจ้าหลวง อาจใช้ภาพ หรือคนแสดงที่เหมาะสม แต่งกายแบบสามัญชน
๒.   กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
๓.   พระยาวิเชียรปราการ
๔.   พระยาสุจริตรักษา
๕.   นายคนัง เงาะป่า
๖.   กำนันสอน
๗.    ภรรยา แม่บ้านแม่บุญนาค
๘.   ทิดแดง
๙.   อำแดงเอี่ยม
๑๐ อำแดงอิ่ม
๑๐ ประชาชน ร่วมตามเสด็จ ราว ๓๐ คน
     ๑๑.พระภิกษุ เจ้าอาวาสวัดวังพระธาตุ
องก์ที่ ๔ นำเสด็จสู่เมืองโบราณ นครไตรตรึงษ์ ( ๒๐นาที)
บรรยาย เข้าไปยังเมืองไตรตรึงษ์  คูนั้นใหญ่ กว้างราว ๑๕ วา ลึกลงเสมอพื้นหาดแต่น้ำแห้ง ยื่นไปถึงเชิงเทิน เห็นเป็นเมืองใหญ่โตอยู่  พื้นแผ่นดินเป็นแลงทั่วทั้งนั้น พบเจดีย์เจ็ดยอด เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ เหมือนวัดวังพระธาตุ เล่ากันว่า พระเจ้าแผ่นดินลงมาจากเชียงราย มาตั้งเมืองไตรตรึงษ์แห่งนี้.......ความว่า.....(เป็นการแสดง)
 ราวพุทธศักราช ๑๕๔๐ พระเจ้าชัยศิริ โอรสพระเจ้าพรหม ได้ราขาภิเษก เสวยราชย์ในเมืองไชยปราการ แขวงเมืองเชียงราย ต่อจากราชบิดา  ครองได้เจ็ดพรรษาถูกกองทัพพม่าจากเมืองสุธรรมวดีเข้ามายึดเมืองไชยปราการ พระเจ้าชัยศิริทรงรักสงบ เกรงไพร่พลล้มตายจึงคิดมาสร้างเมืองใหม่
ปีพุทธศักราช ๑๕๔๗ ปีมะเส็ง วันพฤหัสบดี เดือนแปดแรมหนึ่งค่ำ พระเจ้าชัยศิริ ทรงพาประชาชนของพระองค์อพยพออกจากเมืองไชยปราการ มาทางดอยด้วน แล้วตัดไปทางทิศตะวันออก ข้ามแม่น้ำยมในท้องที่อำเภอปงจังหวัดพะเยาล่องลงใต้เข้าเขตจังหวัดแพร่ ผ่านอำเภอสอง อำเภอร้องกวาง อำเภอสูงเม่นตัดไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ได้ผ่านดอยผาหมื่น และผาแสนเข้าเขตสุโขทัย และเดินทางเข้ามาทางลำน้ำปิง สถาปนาเมืองไตรตรึงษ์ขึ้น ณ แผ่นดินแห่งนี้
พระเจ้าชัยศิริ * (ท่ามกลางท้องพระโรง มีผู้เข้าเฝ้าหลายคน) เมื่อเราถูกบุกรุก เรามีกำลังน้อยไม่สามารถต้านทานได้ ข้าเห็นว่า เราจะอพยพผู้คนลงใต้ ไปตั้งเมืองแถบลุ่มน้ำปิง บริเวณที่พระราชบิดาเสด็จไปปราบขอมเมื่อกาลก่อน ใครเห็นเป็นประการใด
มเหสี*  หม่อมฉันเห็นด้วย ที่เราจะอพยพผู้คนจาก เมืองไชยปราการไปทางลุ่มน้ำปิง เพราะที่นั้น เสด็จพ่อพระเจ้าพรหม เคยเล่าให้ฟังว่า ดินแดนลุ่มน้ำปิงอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการสร้างบ้านแปงเมืองยิ่งนัก ท่านอำมาตย์ผู้ใหญ่ และท่านแม่ทัพ ท่านมีความเห็นเช่นใด
อำมาตย์* เห็นสมควรตามที่ พระเจ้าอยู่หัวและพระมเหสี ทรงคิดกาลไกล แม้หนทางจะลำบาก ถ้าเราไปสร้างเมืองใหม่ ก็จะเป็นประโยชน์ ต่อผู้คนของเรา
แม่ทัพ  *ข้าพระพุทธเจ้า มีความเห็นเช่นเดียวกับท่านอำมาตย์ พระพุทธเจ้าข้า
พระเจ้าชัยศิริ* ท่านอำมาตย์และท่านแม่ทัพ ท่านได้ไปป่าวประกาศให้กับประชาขนว่า วันพรุ่ง เราจะทิ้งเมืองไชยปราการ เดินทางไปทางทิศใต้ ตามรอยพระจ้าพรหมพระราชบิดาแห่งเรา บริเวณท้ายน้ำแม่ระมิง ใครจะไปให้ตามมา ใครประสงค์จะไปอยู่เมืองอื่น ก็สามารถไปได้ เราจะไปตายเอาดาบหน้า
 วันรุ่งขึ้น พระเจ้าชัยศิริและไพร่พล เดินทางรอนแรม มาหนึ่งเดือนเศษ ก็มาถึงบริเวณแห่งนี้ และประกาศตั้งเมืองไตรตรึงษ์ขึ้น ณที่นี้
พระเจ้าชัยศิริ* แผ่นดินนี้อุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก มีแม่น้ำปิงไหลผ่านและเป็นปราการสำคัญ  ข้าวปลาอาหารบริบูรณ์  แผ่นดินน่าอยู่ งดงามยิ่งนัก ราวเมืองสวรรค์ ของอินทรา เราขอขนานนามเมืองใหม่นี้ว่า เมืองไตรตรึงษ์
(ชมระบำไตรตรึงษ์ ๕นาที)
ตัวละคร
๑.   พระเจ้าชัยศิริ
๒.   มเหสี
๓.   อำมาตย์
๔.   แม่ทำ
๕.   ประชาชนชุดเดิม
องก์ที่ ๕  ส่งเสด็จพระพุทธเจ้าหลวง สู่เมืองกำแพงเพชร (๕นาที) เปิดเพลง ปิยราชาบารมี ประกอบเบาๆ ปะกอบคำบรรยาย
พระพุทธเจ้าหลวง มีดำรัส แก่ประชาชนชาวไตรตรึงษ์ ท่ามกลางประชาชนที่มาส่งเสด็จ  ว่า
“เมืองไตรตรึงษ์ เป็นเมืองใหญ่มาแต่อดีต สร้างได้อย่างทันสมัย ประชาชนมีจำนวนมาก ประชาชนฉลาดหลักแหลม มีน้ำใจ มีความจงรักภักดี ขอให้ดูแลบ้านเมืองของท่านไว้ให้ดี รักษาวัฒนธรรมประเพณี ไว้ให้มั่นคง สืบชั่วลูกหลาน วันที่ ๒๒ สิงหาคม ของทุกปีจะกลายเป็นวันประวัติศาสตร์ของชาวนครไตรตรึงษ์ตลอดไป  ขอให้ทุกคนมีความสุขความเจริญ เราจะออกเดินทางเข้าเมืองกำแพงเพชร ในค่ำวันนี้ มีโอกาสเราจะมาเยี่ยมชาววังพระธาตุ นครไตรตรึงษ์อีกครั้ง เราประทับใจในการต้อนรับของทุกท่านเป็นอย่างยิ่ง (ทรงโบกพระหัตถ์“  ประชาชนก้มกราบ)
เรือพระที่นั่งหางแมงป่อง ค่อยๆเคลื่อนไปจากท่าน้ำวัดวังพระธาตุ สายพระเนตรของพระพุทธเจ้าหลวง มองราษฎร์ของพระองค์ด้วยความเมตตา
ประชาชนทุกคนน้ำตาคลอเบ้า ไม่คิดเลยว่า วันหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดิน ที่รักยิ่งของประชาชนพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช พระพุทธเจ้าหลวงของปวงชน ทรงไม่หวาดกลัวไข้ป่าและโรคระบาด ที่ชุมมากในเมืองไตรตรึงษ์ พระบารมีนี้จะปกเกล้า เหล่าชาวนครไตรตรึงษ์ ไปตลอดกาลสมัย ขอพระองค์ ทรงพระเจริญ...........
(ตัวละครทุกตัว เข้าอยูในฉากนี้)
(เปิดเพลง ปิยราชาบารมี ในแกฟินาเร)


 100 
 เมื่อ: มิถุนายน 27, 2020, 04:48:37 am 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
แด่แม่เสนอ  สิทธิ มารดาแห่งเพลงพื้นบ้านนครไตรตรึงษ์
แสงเจิดจ้า จับฟ้า  มหาศาล       แสงตระการ ส่องสว่าง ในกลางหน
แสงแห่งรัก แสงปราณี ให้ทุกคน     คือแสงแห่ง ปวงชน  คนไตรตรึงษ์
คือไทรใหญ่ นกกา   ได้อาศัย      คือดวงใจ  ของพวกเรา ที่เข้าถึง
คือแม่เสนอ สิทธิ ที่คนึง        แม่พระซึ่ง จากไป    ใจอาดูร
ใจงดงาม ตามใจ ใครมาหา      ใจเจิดจ้า กับทุกคน มาหายสูญ
ใจแสนงาม ตามใจ ทวีคูณ       ใจเกื้อกูล ต่อทุกคน จนวันตาย
ตุณแม่ครับ คุณยายขา คุณป้าจ๊ะ      คุณแม่จะ ให้คำตอบ  ไม่ห่างหาย
ท่านรู้จริง  ท่านรู้รัก ไม่พักกาย       คือคุณยาย    เสนอ  ยังเพ้อครวญ
พ่อคนนั้น แม่คนนี้ วจีเพราะ         แสนเสนาะ จับใจ  อาลัยหวน
เพลงระบำ ก.ไก่ ใจรัญจวน         เพลงยังครวญ ก้องดัง กลางดวงใจ
เพลงคล้องช้าง รำโทน ที่โอนอ่อน       เพลงแห่นาค บวร   เสียงสดใส
เพลงเห่กล่อม ลูกน้อย แม่กลอยฤทัย     ทุกเพลงเพราะจับใจเมื่อ่ได้ฟัง
เพลงเรียกขวัญ เพลงกลางบ้าน สราญจิต     คือชีวิต แม่เสนอ  ท่านสอนสั่ง
เล่าสนุก ท้าวแสนปม นิยมดัง           นิทานยัง   กึกก้อง  กลางหัวใจ
ไม่มีแล้ว แม่เสนอ ที่เพ้อหา           ไม่มีแล้วศรัทธา อันยิ่งใหญ่
ไม่มีแล้ว สายตา ละลายใจ             ไม่มีแล้ว ใครใคร ที่อาทร
แสงสว่าง แห่งกำแพง แสงแห่งรัก          เคยประจักษ์ ดับลง อนุสรณ์
ลูกจะรัก จะหลงใหล ในกาพย์กลอน        แม่สั่งสอน จากใจ  ให้ความดี
จะสืบทอด  เพลงพื้นบ้าน ที่แม่สอน           รักสุนทร อ่อนหวาน ทุกวิถี
ลูกสัญญา จะตามแม่ ในชีวี               เป็นคนดี เหมือนกับแม่ ไม่แชเชือน
ขอแม่สู่ สรวงสวรรค์ ในชั้นเทพ            มีสุขเสพ ภูมิปัญญา ไตรตรึงษ์เหมือน
มีนิทาน ท้าวแสนปม เป็นบ้านเรือน          แม่เสนอ ยังติดเตือน ในกลางใจ

 ด้วยหัวใจศรัทธา ในแม่เสนอ สิทธิ   ศิลปินเอกแห่งบ้านวังพระธาตุ นครไตรตึงษ์
อ.สันติ อภัยราช  ลูกศิษย์ผู้ที่แม่ให้ความเมตตาทุกครั้งตลอดมา ขอผู้เดินตามรอยเท้าแม่เสนอ  สิทธิ  ทุกย่างก้าวตลอดไป


หน้า: 1 ... 8 9 [10]
Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!