จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช

หมวดหมู่ทั่วไป => จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร => ข้อความที่เริ่มโดย: apairach ที่ สิงหาคม 17, 2014, 10:43:19 pm



หัวข้อ: แนวทางการวิจารณ์วรรณกรรมปัจจุบัน
เริ่มหัวข้อโดย: apairach ที่ สิงหาคม 17, 2014, 10:43:19 pm
การวิจารณ์วรรณกรรมทำได้หลายแนวทาง อาจวิจารณ์เพียงประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องวิจารณ์ทุกประเด็น ผู้วิจารณ์มองเห็นแง่มุมใดที่เด่นชัดต้องการจะนำเสนอก็หยิบแง่มุมนั้นมาวิจารณ์ เช่น วิจารณ์การใช้ภาษา วิจารณ์เนื้อหาหรือแนวคิด เป็นต้น ต่อไปนี้เป็นแนวทางการวิจารณ์ซึ่งผู้วิจารณ์สามารถนำไปใช้ได้กับวรรณกรรมทุกประเภท
      1. แนะนำเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้น เพื่อให้ผู้อ่านบทวิจารณ์รู้จักหนังสือ ได้แก่ ผู้แต่ง สมัยที่แต่ง เหตุจูงใจที่แต่ง เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสนใจเพื่อติดตามงานวิจารณ์ต่อไป
     2. เล่าเรื่องสังเขปให้ผู้อ่านบทวิจารณ์เข้าใจเนื้อเรื่อง เป็นพื้นฐานของการอ่านบทวิจารณ์ สามารถติดตามการวิจารณ์ได้สะดวก
     3.เจตนารมณ์ของผู้แต่ง หนังสือบางเล่มอาจบอกไว้ตอนต้นหรือตอนจบของหนังสือว่าแต่งเพื่ออะไร แต่หนังสือบางเล่มมิได้บอกเจตนารมณ์ไว้ ผู้วิจารณ์จะต้องค้นหาเอง อาจได้จากเนื้อเรื่อง ตัวละคร บทสนทนา หรือแฝงไว้ในโลกทัศน์ของผู้แต่งก็ได้
     4. พยายามชี้ให้เห็นว่าผู้แต่งมีแนวคิดหรือเชื่อมั่นในปรัชญาใด ซึ่งจะแฝงไว้ในเนื้อเรื่อง การดำเนินชีวิตของตัวละคร หรือบทสนทนา ผู้วิจารณ์สามารถนำมาประกอบเหตุผลได้
     5. ให้ผู้อ่านบทวิจารณ์ได้เห็นว่าผู้แต่งใช้วิธีเขียนในรูปแบบใด เช่น เป็นลิลิต นิทานอิงพงศาวดาร สารคดี เรื่องสั้น นวนิยาย เป็นต้น
     6. ชี้ให้ผู้อ่านได้เห็นความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ ของเรื่อง เช่นโครงเรื่อง ตัวละคร บทสนทนา ฉากของเรื่อง ได้แก่ สถานที่ เวลา และบรรยากาศ หากเป็นสารคดีก็จะต้องชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของเนื้อหาในส่วนอื่นๆ
     7. ชี้ให้เห็นศิลปะการเรียบเรียงซึ่งเป็นความสามารถของผู้แต่ง ได้แก่
         7.1 กลวิธีการแต่ง ผู้แต่งเสนอเรื่องด้วยกลวิธีใด เหมาะสมหรือไม่ และใช้กลวิธีนั้นๆ ได้ดีเพียงไร
         7.2 ลักษณะเฉพาะตัวของผู้แต่ง ผู้วิจารณ์ให้เห็นลักษณะเฉพาะตัวของผู้แต่ง ทั้งในด้านศิลปะแห่งการสร้างเรื่อง การสร้างภาพในจิต และอื่นๆ ผู้วิจารณ์ควรชี้ให้ผู้อ่านสังเกตเห็นลักษณะดังกล่าวนี้
         7.3 การสร้างบรรยากาศและอารมณ์ร่วม ผู้วิจารณ์ควรพยายามชี้ให้ผู้อ่านบทวิจารณ์ได้เห็นความสามารถของผู้แต่งในการสร้างความสนใจ บรรยากาศและอารมณ์ เพราะผู้แต่งที่มีความสามารถสูง จะสามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ให้แก่ผู้อ่านได้เป็นอย่างดี

 

แหล่งอ้างอิง: อัมพร สุขเกษม และบรรพต ศิริชัย. การอ่านและพิจารณาวรรณกรรม. กรุงเทพ : ไทยวัฒนาพานิช.