จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
พฤษภาคม 24, 2024, 09:49:31 pm *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10
 81 
 เมื่อ: สิงหาคม 09, 2021, 09:31:15 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
รอบรู้เรื่องเมืองนครชุม
นครชุมดินแดนที่มีตำนานและทรงคุณค่า ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายที่น่าจดจำ ครูมาลัย ชูพินิจ นักประพันธ์เอก ผู้สร้างสรรค์นวนิยาย ที่โด่งดัง ฉายา “สุภาพบุรุษแห่งคลองสวนหมาก” นำเรื่องราวของวิถีชีวิตหรือตำนานไปเป็นแรงบันดาลใจในการประพันธ์นวนิยายที่มีชื่อเสียงอยู่หลายเรื่อง  จึงการันตีได้ว่าชุมชนนครชุมมีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย

นครชุม
      “นครชุม” เป็นตำบลเล็กๆ ในอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ที่มีประวัติยาวนานหลายร้อยปี มีโบราณสถานและโบราณวัตถุปรากฏเป็นหลักฐานอย่างมากมาย เมืองนครชุมอยู่ติดลุ่มแม่น้ำปิง ซึ่งมีลำคลองที่สำคัญคือ “คลองสวนหมาก”  เนื่องจากนครชุมในอดีตเป็นเมืองค้าขาย โดยเฉพาะค้าไม้และของจำเป็นอื่นๆ จึงมีทั้งพ่อค้าและแรงงานจากต่างถิ่นหลากหลายชนชาติทั้ง ไทย จีน กะเหรี่ยง มอญ และลาว ทำให้มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย นอกจากนั้นยังมีประวัติเล่าขานมากมาย มาเป็นนวนิยาย เรื่อง ทุ่งมหาราชครูมาลัย ชูพินิจ” ได้นำบรรยากาศของเมืองนครชุมและประวัติศาสตร์ของเมืองนครชุมมาเป็นฉากหลัง พร้อมกับหยิบเรื่องราวของ “พะโป้” ชาวกะเหรี่ยงผู้ได้รับสัมปทานไม้แห่งเมืองกำแพงเพชร ที่มาตั้งบ้านเรือนที่บริเวณปากคลองสวนหมาก ซึ่งเคยมีชีวิตอยู่จริงมาเป็นตัวละครในนวนิยายที่แต่งขึ้น      ทำให้นวนิยายเรื่องทุ่งมหาราช ฉายภาพชีวิต ของชาวบ้านปากคลองโดยเฉพาะทิดรื่น หรือขุนนิคมบริบาลผู้นำชาวบ้านปากคลอง  ได้อย่างชัดเจนที่สุดในสมัยของ ช่วงหนึ่งร้อยกว่าปีที่ผ่านมา
ประวัติ
ตำบลนครชุมตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มบริเวณปากคลองสวนหมากทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร จากจารึกหลักที่ 3 ในต้นพุทธศตวรรษ ที่ 19 (1900) บ้านนครชุมมีชื่อเรียกว่า “นครพระชุม” เป็นเมืองสำคัญในสมัยสุโขทัย ความสำคัญของเมือง ”นครพระชุม” เห็นได้จากการที่พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่วัดพระมหาธาตุโดยนำหน่อมาจากศรีลังกา และอาจจะทรงสร้างเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ อย่างน้อย 1 ในจำนวน 3 องค์ ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ภายในเจดีย์นั้น เมื่อครบรอบดิถีแห่งมาฆปูรณมี (เพ็ญเดือนสาม) พระองค์และเหล่าโยธาทวยหาญบริพารบรรดามี เสด็จยังวัดพระมหาธาตุเมืองนครพระชุม เพื่อประกอบกรณียกิจทางศาสนา
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 8 (2468)  ได้มีการเปลี่ยนชื่อจากเดิม บ้านปากคลองสวนหมาก เป็นบ้านนครชุม ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในตำบลของจังหวัดกำแพงเพชร เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีศิลปวัฒนธรรม ที่สืบทอดและผสมผสานความเป็นอยู่ของคนมอญ คนลาว พม่า กะเหรี่ยง จีน ไทย และคนในพื้นที่ไว้ด้วยกันอย่างแนบแน่น ผู้คนดำเนินชีวิตตามปกติในเมืองโบราณที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขด้วยสภาพของบ้านช่องที่ยังหลงเหลือให้ได้ชมและบรรยากาศโดยรวมยังมีกลิ่นอายของอดีตอยู่ไม่น้อย

สถานที่ท่องเที่ยว
ชุมชนนครชุมมีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามหลายแห่งขอรับประกันได้เลยว่าทุกท่านจะตื่นตาตื่นใจกับความงามอย่างไร้ของสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่าและควรค่าแก่การรับชมอย่างยิ่ง

ตลาดย้อนยุคนครชุม
ตลาดย้อนยุคนครชุมเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของชาวนครชุม โดยจะจัดขึ้นทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ในสัปดาห์แรกของทุกเดือน เวลา 15:00 - 21:00 น. โดยตลาดนั้นจะถูกจำลองให้เป็นแบบย้อนยุคที่ชวนให้นึกถึงบรรยากาศเก่าๆของตลาดซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางการค้าย่านธุรกิจที่มีการค้าขายเจริญรุ่งเรืองครั้งในอดีตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการค้าขายให้แก่คนในพื้นที่ เหล่าพ่อค้าแม่ขายจะแต่งกายแบบย้อนยุค และขายอาหารพื้นบ้านแบบดั้งเดิมให้ได้ลองชิมอีกด้วย อีกทั้งยังมีศิลปหัตถกรรม อาทิเช่น การจักสานไม้ไผ่ ให้ได้เยี่ยมชม นอกจากนั้นแล้วภายในตลาดจะมีการละเล่นพื้นบ้าน การประกวดร้องเพลงไทยลูกทุ่ง ตลอดจนการบรรเลงดนตรีเครื่องสายหรือบรรเลงดนตรีไทย เพื่อปลูกฝังคนรุ่นใหม่ให้อนุรักษ์และสืบสานขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของชาวนครชุมให้คงอยู่สืบต่อไป


บ้านห้างฯโบราณ สมัยรัชกาลที่ ๕
   เมื่อพูดถึงสถาปัตยกรรมที่ขึ้นชื่อของตำบลนครชุม บ้านห้างฯโบราณ สมัยรัชกาลที่ ๕ จัดได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีความสำคัญและเต็มไปด้วยเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านนครชุม รวมไปถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ เรียกได้ว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของตำบลนครชุมเลยก็ว่าได้
   บ้านห้างฯโบราณ สมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “บ้านห้างร. ๕”, “บ้านห้างล่ำซำ”, “บ้านผีสิง”, “บ้านห้างพะโป้”, และมีชื่อเรียกอีกมากมาย เป็นบ้านของคหบดีทำสัมปทานไม้ชาวกระเหรี่ยงนามว่า “พะโป้” ที่ได้ซื้อต่อมาจากพระยาราม เจ้าเมืองกําแพงเพชร เพื่อใช้เป็น สำนักงานบริหารกิจการไม้ ควบคุมเส้นทางการชักลากไม้ออกจากป่าคลองสวนหมาก แล้วลําเลียงผูกเป็นแพ ล่องลงไปยังนครสวรรค์อันเป็นชุมทางการค้าไม้ที่สำคัญในเขตภาคเหนือตอนล่าง โดยตัวบ้านนั้นเป็นรูปแบบอาคารไม้ ๒ ชั้น ในอดีตรูปอาคารเป็นทรงตัวยู แต่ในปัจจุบันได้มีบางส่วนปรักหักพักลงจึงคงเหลือไว้ให้เห็นเป็นอาคารไม้เดี่ยวเท่านั้น ซึ่งชั้นล่างสูงกว่าบ้านทั่วไปและยกพื้นพ้นดินขึ้นมามากกว่า ๑ วา สร้างด้วยไม้สักเกือบทั้งหลัง รูปแบบไทยผสมตะวันตก ประตูเป็นไม้ ฉลุลายอย่างละเอียด ประณีต ระเบียงชั้นบนล้อมรอบอาคาร ซึ่งสามารถที่จะเดินได้รอบตัวอาคาร บริเวณเชิงชายประดับด้วยไม้ฉลุลาย เสา ชายคา และลูกกรงเป็นรูปแบบงานกลึง ดูอ่อนช้อย สวยงาม เหมือนบ้านพักตากอากาศและคล้ายราชวังทางตะวันตก ซึ่งปัจจุบันบ้านหลังนี้มีอายุมากกว่า ๑๐๐ ปีแล้ว
   ครั้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๕ เสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชร ก็ได้เสด็จเยือน ณ บ้านห้างหลังนี้จึงเป็นที่มาของชื่อที่เรียกว่า “บ้านห้างร.๕” ซึ่งจะปรากฏอยู่ในพระราชนิพนธ์ในจดหมายเหตุการเสด็จประพาสต้นครั้งที่ ๒ ของพระพุทธเจ้าหลวง
   บ้านห้างฯโบราณ สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่หากใครมาเที่ยวนครชุมแล้วไม่ควรพลาดที่จะมาเยี่ยมชม เพราะสถานที่แห่งนี้นับว่าเป็นสถานที่ที่ทรงคุณค่า และควรค่าแก่การอนุรักษ์ เพื่อเป็นเอกลักษณ์และสัญลักษณ์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและตัวตนของคนนครชุม

ป้อมทุ่งเศรษฐี
             ป้อมทุ่งเศรษฐี เมืองกำแพงเพชร เป็นป้อมนอกเมืองกำแพงเพชรอยู่คนละฝั่งแม่น้ำปิงและตัวเมือง การก่อสร้างสร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบยุโรป คาดว่า เป็นชาติโปรตุเกส มาสร้างให้ โดยการขน ศิลาแลง มาจากฝั่งกำแพงเพชร มาทำป้อมปราการที่ทันสมัยและแข็งแกร่งที่สุดในสมัยนั้น
โดยตัวป้อมทุ่งเศรษฐีนั้น ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธินริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๑ ก่อนถึงตัวเมืองกำแพงเพชรเล็กน้อยและอยู่นอกเมืองนครชุมทางด้านทิศใต้ เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่จะเห็นได้ว่ามีกำแพงศิลาแลงเป็นป้อมและมีใบเสมาเหลืออยู่ ป้อมนี้ก่อด้วยศิลาแลงกว้าง ๘๓.๕ เมตร มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สูงประมาณ ๖ เมตร ตรงกลางแต่ละด้านมีช่องประตูเข้า – ออกบริเวณกึ่งกลางป้อมทั้ง ๔ ด้าน ทางด้านในก่อเป็นเชิงเทินพอเดินหลีกกันได้ ตรงฐานป้อมใต้เชิงเทินเป็นห้องมีทางเดินต่อกันได้ มีช่องมองอยู่ติดกับพื้นที่ก่อด้วยศิลาแลง กำแพงด้านนอกก่อเป็นผนังสูง ตอนบนสุดของกำแพงก่อเป็นรูปใบเสมา ใต้ใบเสมาทุกใบมีช่องซึ่งอาจจะใช้เป็นช่องปืน ส่วนตรงมุมกำแพงทั้ง ๔ มุม ทำเป็นป้อมรูปสี่เหลี่ยมยื่นออกมา ตอนล่างของแนวกำแพงมีช่องกุดทำเป็นวงโค้งมียอดแหลม ป้อมทุ่งเศรษฐีมีการก่อสร้างป้อมนี้ให้มีความมั่นคงมาก แต่ด้านทิศเหนือถูกรื้อออกไปด้านหนึ่ง จึงเหลือเพียง ๓ ด้าน บริเวณนี้มีวัดเก่าแก่หลายวัด เช่น วัดหนองพิกุล วัดซุ้มกอ วัดหนองลังกา เป็นต้น และที่สำคัญเป็นบริเวณที่พบพระเครื่องเลื่องลือว่าเป็นที่ขึ้นชื่อของเมืองกำแพงเพชร เช่น พระซุ้มกอ ลีลาเม็ดขนุน ทุ่งเศรษฐี หรือกำแพงเขย่ง ปัจจุบันกำแพงเหลืออยู่เพียงบางส่วน โดยบางส่วนนั้นได้ถูกรื้อออกเพื่อนำไปถมตลิ่งหน้าวัดพระบรมธาตุเจดียาราม เมื่อครั้งบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ ป้อมทุ่งเศรษฐีนี้ยังเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีการค้นพบพระเครื่องที่มีชื่อเสียงของป้อมทุ่งเศรษฐีอีกด้วย หลังรอดจากการรื้อเพราะมีการก่อสร้างถนน ผ่านป้อมอย่างหวุดหวิด เพราะทุกคนเห็นความสำคัญของป้อมทุ่งเศรษฐีแห่งนี้ ถ้าท่านผ่านมาลองเข้าไปชมความยิ่งใหญ่ และแข็งแกร่งของป้อมนี้ ท่านจะมีความภูมิใจเป็นอย่างมาก

วัดเจดีย์กลางทุ่ง
วัดเจดีย์กลางทุ่งถูกสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18-19 เดิมทีวัดนี้เป็นวัดที่ไม่มีชื่อ แต่ด้วยจุดเด่นของวัดนี้คือเจดีย์อันสูงใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่ในใจกลางของวัด ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ว่า วัดเจดีย์กลางทุ่ง ซึ่งเจดีย์ของวัดนี้ได้รับอิทธิพลมาจากอาณาจักรสุโขทัยซึ่งเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือ ทรงดอกบัวตูม บริเวณรอบๆ ของเจดีย์มีวิหารตั้งอยู่ ซึ่งปัจจุบันนี้วิหารได้พังทลายจนสิ้นจึงเหลือเพียงแค่เจดีย์องค์เดียว และยังมีคูน้ำขนาดใหญ่อยู่ล้อมรอบทั้ง4ด้าน เรียกว่า อุทกสีมา อีกทั้งยังมีลานที่เรียกว่าลานประทักษิณที่กว้างใหญ่สามารถทำศาสนพิธีได้อย่างสะดวกสบายอยู่บริเวณรอบๆของเจดีย์อีกด้วย บริเวณฐานของเจดีย์มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมเรียงซ้อนลดหลั่นลงมาอย่างสวยงามรับกับฐานบัวแก้วและอกไก่ได้อย่างลงตัว ในส่วนของยอดเจดีย์คาดการณ์ว่าได้หักลงมาแต่ยังคงไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด นับได้ว่าเจดีย์ของวัดนี้เป็นสัญลักษณ์ของเมืองนครชุมเลยทีเดียว แต่ทว่าปัจจุบันนี้ความเจริญได้มาทำให้ความงดงามของวัดสูญเสียไปมากทีเดียว

วัดพระบรมธาตุนครชุม
   วัดพระบรมธาตุนครชุม ตั้งอยู่ใน อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกับเมืองนครชุมเป็นวัดประจำเมือง ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดภายในวัดก็คือ พระบรมธาตุนครชุม มหาเจดีย์ทรงสูงใหญ่ งดงามงามไปด้วยสถาปัตยกรรมและสีทองอร่ามทั้งองค์เสมือนดั่งแบบ เจดีย์ชเวดากอง ในประเทศพม่า ภายในพระบรมธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุจำนวน ๙ องค์ ซึ่งชาวกำแพงเพชรมีความศรัทธาและความเชื่อต่อองค์พระธาตุดังจารึกที่ว่า "ผิผู้ใดได้ไหว้นบกระทำบูชาพระศรีรัตมหาธาตุและพระศรีมหาโพธิ์นี้ว่าไซร้ มีผลอานิสงส์พร่ำเสมอดังได้นบพระผู้เป็นเจ้า"
พระบรมธาตุเจดีย์อยู่คู่เมืองกำแพงเพชรมาตั้งแต่สมัยเป็นเมืองนครชุมยาวนานกว่า ๖๐๐ ปี ตามข้อมูลทางประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ว่า แต่เดิมนั้นเจดีย์เป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์(ทรงดอกบัว)สามองค์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๐๐  พระธรรมราชาที่ ๑(ลิไท) เสด็จมาเมืองนครชุม ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์ มาประดิษฐานในเมืองนครชุม  ในปี พ.ศ.๒๔๑๔ มีคหบดีชาวพม่าซึ่งมีอาชีพค้าไม้ชื่อ พระยาตะก่า(แซงพอ) ที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้ขอราชานุญาตรื้อพระเจดีย์องค์เดิมและสร้างพระเจดีย์ทรงมอญครอบแทนพระเจดีย์เดิมทั้งสามองค์ แต่ไม่แล้วเสร็จ อีกทั้งในปี พ.ศ.๒๔๑๘ พระยาตะก่าถึงแก่กรรม การปฏิสังขรณ์จึงถูกชะงักไป  พ.ศ.๒๔๔๗ พะโป้ น้องชายพระยาตะก่า ได้ทำการบูรณะต่อและได้นำยอดฉัตรมาจากพม่าขึ้นประดิษฐานบนยอดพระเจดีย์พระบรมธาตุ ในปี พ.ศ.๒๔๔๙  ดังนั้นพระเจดีย์จึงคงอยู่คู่เมืองนครชุมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน


วัดสว่างอารมณ์
 
 วัดสว่างอารมณ์ เป็นวัดเล็ก ๆ มีความเงียบสงบและงดงามเป็นอย่างมาก ตั้งอยู่บริเวณปากคลองสวนหมาก เป็นวัดที่สร้างขึ้นด้วยศิลปะแบบพม่าผสมไทย โดยพ่อค้าชาวพม่า ภายในวัดมีปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ หลวงพ่ออุโมงค์ พระพุทธรูป สมัยเชียงแสน ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของ จ.กำแพงเพชร พุทธลักษณะงดงาม บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่าง เมืองกําแพงเพชรและอาณาจักรล้านนาในอดีต โดยประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหาร
     จากคำบอกเล่าได้กล่าวว่า ได้พบหลวงพ่ออุโมงค์ ในบริเวณเนินดินลักษณะคล้ายจอมปลวก ซึ่งชาวบ้านได้ขุดและพบเจอโดยบังเอิญ โดยปรากฏลักษณะเหมือนประดิษฐานอยู่ภายในอุโมงค์ จึงเป็นที่มาของชื่อ หลวงพ่ออุโมงค์ เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 4 ชาว จังหวัดกำแพงเพชร จะจัดงานประเพณีนมัสการปิดทอง “หลวงพ่ออุโมงค์” เป็นประจำทุกปี ซึ่งนอกจากนี้ภายในวัดยังมีส่วนอื่นๆที่น่าสนใจ เช่น ศาลาเก่าของวัดท่าหมัน


วัดหนองพิกุล
    วัดหนองพิกุลแห่งนี้ ชาวบ้านเล่าต่อกันมาว่า ผู้สร้างวัดหนองพิกุล คือนางพิกุล ธิดาของเศรษฐีใหญ่แห่งบ้านป้อมเศรษฐี มาสร้างวัดนี้ จึงเรียกกันตามผู้สร้างว่าวัดหนองพิกุล วัดนี้จึงมีลักษณะสวยงามอ่อนช้อย มีลักษณะเหมือนสตรี และที่สำคัญวัดหนองพิกุล ได้ขุดพบพระเครื่องที่เรียกกันว่าพระนางกำแพงที่งดงามจำนวนมาก ทำชื่อเสียงให้แก่ชาวกำแพงเพชรมาตลอดนับศตวรรษ
    บางตำราว่าเรียกวัดหนองพิกุลเพราะบริเวณวัดมีต้นพิกุล ขนาดใหญ่หลายต้น และมีหนองน้ำโดยรอบ เลยเรียว่าวัดหนองพิกุล บริเวณวัดหนองพิกุลมีบ่อน้ำโบราณขนาดใหญ่ ที่ก่อด้วยอิฐ อายุประมาณ 700 ปี และวัดหนองพิกุลเป็นหน้าเป็นตาของ เมืองนครชุมและเมืองกำแพงเพชรสวยงามและแปลกกว่าทุกวัด  และเป็นวัดที่สร้างขึ้นในกลุ่มอรัญญิกนอกเมืองทางทิศใต้ มีคูน้ำโดยรอบทั้งสี่ด้าน “อุทกสีมา” สิ่งก่อสร้าง ภายในวัดแตกต่างจากวัดแห่งอื่นๆ คือ การสร้างมณฑปอยู่หลังวิหารทำหน้าที่เป็นเจดีย์ประธานของวัด ลักษณะมณฑปเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยม ฐานสูงประมาณ 1.50 เมตร ก่อผนังทึบทั้งสามด้านเว้นทางเข้าออกทางด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ส่วนบนของฒณฑปประธานนั้นพังเสียหาย เดิมเป็นเครื่องไม้ ใช้กระเบื้องดินเผาแบบตะขอเป็นกระเบื้องมุงหลังคา ทรงหลังคาเป็นแบบมณฑปยอดแหลม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ แต่ในปัจจุบันได้พังเสียหายเกือบหมด

วัดหนองยายช่วย
วัดหนองยายช่วยมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าวัดหนองพลับตั้งอยู่ในเขตอรัญญิก เมืองนครชุม เป็นโบราณสถานที่มีอายุมากกว่า 700 ปี
           วัดหนองยายช่วย อยู่ถัดจากวัดหนองลังกา ไปทางทิศตะวันออก ห่างจากวัดหนองลังกา ประมาณ 200 เมตร มีลักษณะรกร้าง รูปทรงเจดีย์ เป็นเจดีย์ ทรงลังกา ฐานแปดเหลี่ยม ที่มีลักษณะที่งดงามมาก มีศิลปะที่อ่อนช้อย รูปทรงเพรียวสมส่วนและยังสมบูรณ์ตั้งแต่คอระฆังลงมา ยอดที่หักไม่สามารถค้นพบได้ ส่วนบริเวณฐานพระเจดีย์ มีซุ้มพระ อีก 4 ซุ้ม มีลักษณะซุ้มที่ใหญ่มาก แต่ไม่พบพระว่ามีลักษณะใด แต่เมื่อเทียบกับวัดหนองลังกาแล้ว คาดว่าเป็นพระสี่อิริยาบถ คือยืน เดิน นั่ง นอน วัดที่มีลักษณะเหมือนกันในบริเวณนี้คือ วัดหนองลังกา วัดหม่องกาเล และวัดหนองยายช่วย และลักษณะที่พิเศษกว่าทุกวัด คือมีซุ้มพระ เจดีย์ราย และหนองน้ำขนาดใหญ่ล้อมรอบ แบบลัทธิลังกาวงศ์ ด้านหน้าวัด มีฐานวิหารขนาดใหญ่ ยังมีฐานที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ฐานพระประธาน มีขนาดใหญ่มาก ยังไม่ถูกทำลาย แต่องค์พระไม่มีแล้ว สันนิษฐานว่าจะเป็นพระปูนปั้น จึงได้ถูกทำลายไป พร้อมกับ เจดีย์ที่ถูกขุดค้นพบขึ้น…ลักษณะของวิหารเหมือนกับการสร้างโบสถ์ซ้อนอยู่ บนวิหาร มีลักษณะที่ เหมาะสมและงดงามอย่างที่สุด

วัดหนองลังกา
  วัดหนองลังกา เป็นวัดที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของฝั่งนครชุมและเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ อยู่นอกอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร วัดนี้มีมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 หรือสมัยพระธรรมราชาลิไท และสันนิษฐานกันว่าอาจเคยมีพระภิกษุจากลังกามาจำพรรษา โดยรอบตัววัดแห่งนี้มีร่องรอยการขุดคูน้ำรอบๆ ทั้งสี่ด้าน เป็นอุทกสีมา ตามแบบแผนสุโขทัยและโดดเด่นด้วยเจดีย์ทรงระฆังเพรียว สิ่งสำคัญภายในวัดคือเจดีย์ประธาน ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังศิลปะลังกาของสุโขทัยก่อด้วยอิฐ ที่ฐานจะปรากฏซุ้มพระยื่นออกมาจากฐานทั้งสี่ด้าน ถัดมาเป็นชั้นมาลัยเถาจะรองรับองค์ระฆังเป็นแบบบัวค่ำ - บัวหงายสามชั้น และส่วนยอดของเจดีย์ปรากฏบัลลังก์ ประกอบด้วย ปล้องไฉน บัวฝาระมีและปลียอด โดยมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปรากฏทั้งสี่ด้าน ส่วนผนังของวัดจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออกและมีพระวิหารตั้งอยู่ส่วนหน้าของเจดีย์ประธานก่อด้วยอิฐ ส่วนของผนังก่อเป็นซุ้มเข้าไปช่องเว้นช่องสวยงาม นับเป็นวัดที่มีสภาพสมบูรณ์มากที่สุดของเขตอรัญญิก


วัดหม่องกาเล
วัดหม่องกาเล ตั้งอยู่ในบริเวณอรัญญิกนครชุม บนแนวถนนโบราณหรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าถนนตาพระร่วง
 วัดนี้ชื่อปรากฏอย่างไม่แน่ชัด แต่ชาวบ้านเรียกวัดหม่องกาเลเพราะว่าวัดนี้ได้เคยอยู่ในที่ดินของชาวพม่า ชื่อว่าหม่องกาเลหลังจากนั้นตาหมอหร่องได้ครอบครองพื้นที่แห่งนี้และนายจันทร์ซึ่งเป็นลูกเขยของตาหมอหร่องได้ครอบครองพื้นที่นี้ต่อมานายจันทร์ได้ขายที่ดินนี้ให้ผู้อื่นซึ่งไม่สามารถสืบหาต่อได้ ปัจจุบันวัดหม่องกาเลได้รับการบูรณะแล้ว วัดนี้มีเจดีย์ประธานที่รูปทรงสวยงามขนาดเล็กกว่าวัดหนองลังกาเล็กน้อยและบริเวณฐานเจดีย์ได้มีซุ้มอยู่ประมาณสามซุ้ม ยอดของเจดีย์หักลงมาถึงบริเวณคอระฆังของเจดีย์และไม่พบซากของยอดเจดีย์ในบริเวณนั้น ด้านหน้าเจดีย์มีวิหารคล้ายวิหารของวัดเจดีย์กลางทุ่งอีกทั้งยังมีกรุพระเครื่องที่โด่งดังอย่าง พระซุ้มกอ ถูกพบอยู่ในบริเวณวัดนี้อีกด้วย

อาหาร
นอกจากจะมีสถานที่ที่สวยงามและน่าสนใจแล้ว นครชุมยังขึ้นชื่อในเรื่องของอาหารที่มีทั้งคาวและหวาน ที่นักท่องเที่ยวต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอร่อยและราคาประหยัดจนเป็นเหตุให้กลับมากินอีกครั้ง

อาหารและขนม
นครชุมนอกจากจะมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ชวนให้หลงใหลแล้ว ยังมีอาหารที่ขึ้นชื่อ และมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่อื่น ซึ่งรับประกันได้เลยว่า หากได้ลองชิมแล้วจะต้องติดใจและต้องกลับมาทานอีกครั้งอย่างแน่นอน
แกงขี้เหล็ก
ในวันเพ็ญเดือน 12 ชาวนครชุมจะทำแกงขี้เหล็ก ซึ่งเป็นประเพณีประจำถิ่นของชาวนครชุม โดยจะเก็บใบและดอกขี้เหล็กตอนเช้ามืดของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (หลังเที่ยงคืนก่อนเข้าสู่วันลอยกระทง) ก่อนจะรับประทานต้องทำพิธีขออนุญาตและขอพรจากต้นขี้เหล็ก โดยจุดธูป 3 ดอกและตั้งนะโม 3 จบ และทานให้หมดภายในวันนั้น เชื่อกันว่าขี้เหล็กเป็นยาอายุวัฒนะเพราะมีความเชื่อว่าในวันที่พระจันทร์เต็มดวง สารอาหารและสรรพคุณทางยาดึงดูดขึ้นไปที่ยอด ทำให้ได้กินแกงขี้เหล็กที่มีประโยชน์ที่สุด



เเกงหยวก
 แกงหยวก ถือเป็นอาหารที่มีความสำคัญกับคนในตำบลนครชุมเป็นอย่างมาก เพราะสื่อถึงการสืบทอดวิถีชีวิตของบรรพบุรุษ แกงหยวกนิยมทานเป็นอาหารหลักประจำครัวเรือน หยวกนั้นเป็นเเกนกลางของต้นกล้วย มีสีขาวอ่อน สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น เเกงใส่ไก่บ้าน เเละ  แกงใส่วุ้นเส้น วิธีการแกงหยวกคล้ายกับการเเกงอ่อมเเต่จะมีความพิเศษตรงที่มีกลิ่นหอมเเละความกรอบของหยวกกล้วย

แจ๋วบะหมี่เกี๊ยว
แจ๋วบะหมี่เกี๊ยว เป็นร้านบะหมี่เกี๊ยวแห่งเดียวที่มีการคิดค้นวิธีการทำเส้นบะหมี่ขึ้นมาเอง ซึ่งเป็นการทำแบบส่งต่อรุ่นสู่รุ่น เปิดมายาวนานถึง 60 ปี ปัจจุบันกิจการได้รับดูแลโดยรุ่นที่ 3 เป็นผู้บริหารกิจการต่อ ซึ่งความพิเศษของร้านแจ๋วบะหมี่เกี๊ยวก็คือ เส้นหมี่ที่ทำจากไข่ มีความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น โดยตัวเส้นจะมีความเหนียวนุ่ม รสชาติหอมอร่อย เมนูที่เป็นที่นิยมของร้านนี้ก็คือ เส้นหมี่เกี๊ยว หมูสับและหมูแดง สามารถมาลองทานได้ที่ร้านแจ๋วบะหมี่เกี๊ยว อยู่ใกล้ตลาดนครชุม ร้านแจ๋วบะหมี่เกี๊ยวเปิดให้บริการทุกวัน


ผัดไทยป้าสุภาพ
ผัดไทยป้าสุภาพ ผัดไทยนครชุม เป็นผัดไทยที่เก่าแก่ ตั้งแต่สะพานข้ามแม่น้ำปิงกำแพงเพชรแห่งแรกยังไม่ได้สร้าง ริเริ่มโดยแม่บุญเมือง อินทร์จันทร์ ร้านเปิดให้บริเวณการที่หน้าโรงภาพยนตร์เฉลิมนคร                 
ผัดไทยแม่สุภาพมีรสชาติอร่อย เส้นเหนียวหนึบนุ่ม ซอสผัดไทยรสเข้มสามรส ที่มีกลิ่นหอมของซีอิ๊ว ความพิเศษก็คือ แม่สุภาพใช้น้ำมันหมูผัดและใส่แคบหมูแทนถั่วลิสง และจัดเตรียมวัตถุดิบไม่อั้น เรื่องของผักที่ใช้กินกับผัดไทยคือ ใบกระเทียม ถั่วงอกและหัวปลีสด หากท่านใดสนใจอยากลองทาสามารถไปทานที่ร้านผัดไทยป้าสุภาพได้



เมี่ยงนครชุม
เมี่ยงนครชุม เป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลมาจากทางประเทศลาว ไส้ของเมี่ยงทำมาจาก มะพร้าวคั่ว กระเทียม ถั่วลิสง และขิง จากนั้นนำวัตถุดิบเหล่านี้ไปทอดกรอบ ทานคู่กับใบเมี่ยง (ใบชาหมัก) ใบชาหมักมีรสชาติเปรี้ยวเฝื่อน ส่วนมากนิยมทานกันทางฝั่งภาคเหนือ ซึ่งอาจมีการโรยกากหมูเพิ่มเติมไปด้วย ในสมัยโบราณเมี่ยงนั้นถือว่าเป็นอาหารพื้นบ้านและเป็นของฝากของทานเล่น เด็กและผู้ใหญ่สามารถทานได้ เมี่ยงนครชุมถือว่าเป็นเมี่ยงที่พิเศษกว่าที่อื่น เพราะไส้เมี่ยงจะมีรสชาติที่เเตกต่างออกไป อีกทั้งยังมีความหอมหวานของมะพร้าวคั่วเเละกลิ่นของมะพร้าวคั่วอีกด้วย จึงถือว่าเป็นเอกลักษณ์พิเศษอย่างหนึ่งให้ได้มาลองชิมกัน


ขนมจีบแป้งสด
ขนมจีบแป้งสด เป็นหนึ่งในอาหารว่างที่เป็นที่นิยมอย่างมาก โดยจะมีรสชาติอร่อยไม่เหมือนใคร  เพราะขนมจีบแป้งสดของนครชุมมีการนำแป้งข้าวเจ้ามาทำเป็นแผ่นบางใสสำหรับห่อไส้ ซึ่งประกอบไปด้วยหน่อไม้ กุ้ง หมูสับ พร้อมเครื่องเทศรสจัดจ้านและกลมกล่อม เวลาทานจะมีความรู้สึกถึงความเหนียวนุ่ม เต็มคำ ปัจจุบันนี้สามารถหาทานได้จากตลาดสดนครชุมและตลาดย้อนยุคนครชุมเท่านั้น


ขนมข้าวตอก
ขนมข้าวตอก หรือขนมข้าวตอกอัด จัดอยู่ในประเภทขนมหวาน ทำมาจาก ข้าวเปลือกข้าวเหนียว น้ำตาลปี๊บ และน้ำกะทิ ข้าวตอกอัดเป็นขนมโบราณที่มีมาอย่างช้านานของชาวบ้านนครชุม โดยเฉพาะขนมข้าวตอกอัดสูตรของบ้านยายประภาศรี เอกปาน ซึ่งเป็นบ้านที่ขึ้นชื่อเรื่องขนมโบราณแห่งเมืองนครชุม ที่ยังมีกรรมวิธีและรสชาติแบบดั้งเดิม ขนมข้าวตอกมีลักษณะเหนียวนุ่ม และมีกลิ่นหอม วิธีทำขนมข้าวตอกมีหลายขั้นตอนและใช้เวลานานกว่าจะได้ขนมที่มีความนุ่ม เหนียว และอร่อย มีกลิ่นหอมหวนชวนรับประทาน จึงนับเป็นของดีอีกหนึ่งอย่างของเมืองกำแพงเพชรไม่แพ้เฉาก๊วยชากังราว ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินิยมซื้อติดไม้ติดมือเป็นของฝาก แต่ในปัจจุบันนี้ขนมข้าวตอกอัดสูตรของบ้านยายประภาศรี นับเป็นของหายาก เพราะไม่ได้ทำขายเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ต้องสั่งทำเป็นพิเศษเท่านั้น แต่อย่างไรก็ดี ยังมีขนมข้าวตอกอัดจากเจ้าอื่นในนครชุมที่ยังสืบทอดเพื่อให้เป็นอาหารประจำท้องถิ่นของชาวนครชุมต่อไป สามารถหาทานได้จากตลาดย้อนยุคนครชุมและงานเทศกาลประเพณีที่สำคัญเท่านั้น



 82 
 เมื่อ: สิงหาคม 01, 2021, 07:08:30 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
แด่ แม่ประภาศรี  เอกปาน
ตำนานขนมข้าวตอกอัด บ้านปากคลอง นครชุม กำแพงเพชร
     เสียงอ่อนหวาน แสนไพเราะ เสนาะโสต       พูดเสียงเบา ตอบโจทย์  ทุกคำถาม
ใจงดงาม   สวยหมดจด  หมดทุกยาม               ท่านมีนาม ประภาศรี ที่คุ้นเคย
   ไปพบท่าน คราใด ไม่ผิดหวัง                  สาธิตพลัง ขนมไทย  ไม่อยู่เฉย
ข้าวตอกอัด แสนโด่งดัง  ไม่ละเลย                    เมื่อเราเอ่ย   ต้อนรับ  จับหัวใจ
   เล่าประวัติ  ครูมาลัย ไม่เคยหวง              พวกเราห่วง  สุขภาพ  ท่านสดใส
บอกแข็งแรง ไม่ต้องห่วง ดวงฤทัย                      ถึงเวลา ก็จากไป  อย่ากังวล
   มาวันนี้  เกือบปี ไม่พบหน้า                   ได้ข่าวว่า   ท่านจากไป  ให้สับสน
ไม่กล้าไป เยี่ยมเยือน กลัวโรคยล                      ให้ผ่านพ้น โรคร้าย จะไปเยือน
        ไม่ทันแล้ว แม่จวบ  จากแต่ร่าง                    ไม่จืดจาง  ความดีงาม  ใครจะเหมือน
ความงดงาม กายใจ ไม่ลืมเลือน                     แสนสะเทือน กุลสตรี  ที่จากไป
      ไม่มีแล้ว  สุนทร แสนอ่อนหวาน               ไม่มีแล้ว ตำนาน  ที่สดใส
ไม่มีแล้ว  ความศรัทธา  ที่จริงใจ                    ไม่มีแล้ว ดวงฤทัย  ใจเมตตา
     ขอแม่สู่  สรวงสวรรค์   ชั้นพิเศษ               ครูภูมิปัญญา ในเขต   แสนหรรษา
เสวยสุข  เกษมศักดิ์  ในวิชชา                        ดับจันทรา ใจสลาย  แม่ตายแล้ว
                                                 
                                            สันติ อภัยราช  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร

 83 
 เมื่อ: มิถุนายน 22, 2021, 04:46:25 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
นายฮุย จันทร์เจริญ
ชาตะ 2470
มรณะ 2544
สิริอายุ 73 ปี
สวนเกษตรลุงฮุย ตั้งอยู่บ้านหนองกรด ตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร
ลุงฮุยเป็นคนจังหวัดนครปฐม มีอาชีพเป็นพ่อค้าขายผลไม้โดยนำมาจากจันทบุรี อย่าง เงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง มะไฟ กระท้อน แล้วเกิดสงสัยว่า ถ้าลองปลูกที่กำแพงเพชรจะได้ไหม จึงลองนำผลไม้ที่ซื้อมาปลูกในพื้นที่ตัวเอง แล้วศึกษาหาความรู้วิธีปลูก ปรากฏสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้างสลับกัน จนชาวบ้านละแวกที่อาศัยดูแคลนว่า คงทำไม่ได้ เพราะผลไม้เหล่านี้ต้องปลูกที่จันท์เท่านั้นจึงจะได้ผล
แต่ในที่สุดลุงฮุยทำสำเร็จ จึงลงมือปลูกไม้ผลชนิดต่างๆ อย่าง ทุเรียนหมอนทอง ชะนีก้านยาว กระดุม รวมทั้งสิ้นกว่า 200 ต้น แล้วยังมีเงาะโรงเรียน จำนวน 300 ต้น ตลอดจนไม้ผลอื่นๆ ภายในพื้นที่ จำนวน 21 ไร่ แล้วนำผลไม้เหล่านั้นขายอยู่ในละแวกบ้าน มีรายได้ดีมาก เพราะชาวบ้านแถวนั้นได้ทานผลไม้ที่มีคุณภาพเช่นเดียวกับทางจันทบุรีโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไป ซึ่งครอบครัวนับเป็นรายแรกที่ได้นำผลไม้จากจังหวัดจันท์มาปลูกที่กำแพงเพชร
เหตุผลที่ในพื้นที่บริเวณนี้สามารถปลูกไม้ผลได้มีคุณภาพและรสชาติเหมือนกับทางเมืองจันท์ อาจเนื่องมาจากลักษณะเนื้อดินเป็นดินเหนียว มีคุณภาพดีมากเพราะอยู่ใกล้แม่น้ำ อีกทั้งสภาพอากาศบริเวณนี้มีความชุ่มชื้น ดูแล้วคล้ายกับทางจันทบุรี ดังนั้น จึงเพิ่มพันธุ์ทุเรียนเข้ามาอีก ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์มูซันคิง สาลิกา และกบสุวรรณ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในปัจจุบัน
ด้วยความที่มีสภาพพื้นที่เอื้อต่อการปลูกไม้ผลเช่นนี้จึงทำให้ทุกๆ ปีผลผลิตจะออกก่อนทางจันท์ โดยเริ่มทยอยมีผลผลิตตั้งแต่เดือนเมษายน จะเริ่มจากมะไฟก่อน ต่อด้วยทุเรียนกระดุม ชะนี และหมอนทอง ที่ออกพร้อมกับเงาะ แถมในช่วงปีที่ผ่านมาสภาพอากาศดีจึงทำให้ขายผลไม้ได้ราคาดี หมดในเวลาที่รวดเร็ว
นอกจากนั้นแล้วสวนลุงฮุยยังเน้นปลูกไม้ผลและพืชชนิดอื่นๆ ในแบบอินทรีย์เท่านั้น จะผลิตปุ๋ยอินทรีย์ทุกอย่างไว้ใช้เอง อีกทั้งการป้องกันโรค/แมลง ยังนำสารที่ผลิตจากธรรมชาติมาใช้ โดยการปลูกพืชแบบอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ได้ส่งผลต่อคุณภาพหรือปริมาณผลผลิตด้อยลงแต่ประการใดเลย
อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างคุณภาพและความเข้มแข็งให้แก่พืชไม้ผล ทำให้ผลผลิตมีรสอร่อย ขนาดใหญ่ รูปลักษณะสมบูรณ์มากกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รับความสนใจจากลูกค้ามากหากรู้ว่าเป็นอินทรีย์ซึ่งลูกค้าไม่ต่อรองราคาเลย ถึงวันนี้สวนเกษตรลุงฮุยมีอายุกว่า 40 ปีแล้ว

 84 
 เมื่อ: มิถุนายน 22, 2021, 04:42:54 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
นายฮุย จันทร์เจริญ
ชาตะ 2470
มรณะ 2544
สิริอายุ 73 ปี
สวนเกษตรลุงฮุย ตั้งอยู่บ้านหนองกรด ตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร
ลุงฮุยเป็นคนจังหวัดนครปฐม มีอาชีพเป็นพ่อค้าขายผลไม้โดยนำมาจากจันทบุรี อย่าง เงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง มะไฟ กระท้อน แล้วเกิดสงสัยว่า ถ้าลองปลูกที่กำแพงเพชรจะได้ไหม จึงลองนำผลไม้ที่ซื้อมาปลูกในพื้นที่ตัวเอง แล้วศึกษาหาความรู้วิธีปลูก ปรากฏสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้างสลับกัน จนชาวบ้านละแวกที่อาศัยดูแคลนว่า คงทำไม่ได้ เพราะผลไม้เหล่านี้ต้องปลูกที่จันท์เท่านั้นจึงจะได้ผล
แต่ในที่สุดลุงฮุยทำสำเร็จ จึงลงมือปลูกไม้ผลชนิดต่างๆ อย่าง ทุเรียนหมอนทอง ชะนีก้านยาว กระดุม รวมทั้งสิ้นกว่า 200 ต้น แล้วยังมีเงาะโรงเรียน จำนวน 300 ต้น ตลอดจนไม้ผลอื่นๆ ภายในพื้นที่ จำนวน 21 ไร่ แล้วนำผลไม้เหล่านั้นขายอยู่ในละแวกบ้าน มีรายได้ดีมาก เพราะชาวบ้านแถวนั้นได้ทานผลไม้ที่มีคุณภาพเช่นเดียวกับทางจันทบุรีโดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไป ซึ่งครอบครัวนับเป็นรายแรกที่ได้นำผลไม้จากจังหวัดจันท์มาปลูกที่กำแพงเพชร
เหตุผลที่ในพื้นที่บริเวณนี้สามารถปลูกไม้ผลได้มีคุณภาพและรสชาติเหมือนกับทางเมืองจันท์ อาจเนื่องมาจากลักษณะเนื้อดินเป็นดินเหนียว มีคุณภาพดีมากเพราะอยู่ใกล้แม่น้ำ อีกทั้งสภาพอากาศบริเวณนี้มีความชุ่มชื้น ดูแล้วคล้ายกับทางจันทบุรี ดังนั้น จึงเพิ่มพันธุ์ทุเรียนเข้ามาอีก ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์มูซันคิง สาลิกา และกบสุวรรณ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในปัจจุบัน
ด้วยความที่มีสภาพพื้นที่เอื้อต่อการปลูกไม้ผลเช่นนี้จึงทำให้ทุกๆ ปีผลผลิตจะออกก่อนทางจันท์ โดยเริ่มทยอยมีผลผลิตตั้งแต่เดือนเมษายน จะเริ่มจากมะไฟก่อน ต่อด้วยทุเรียนกระดุม ชะนี และหมอนทอง ที่ออกพร้อมกับเงาะ แถมในช่วงปีที่ผ่านมาสภาพอากาศดีจึงทำให้ขายผลไม้ได้ราคาดี หมดในเวลาที่รวดเร็ว
นอกจากนั้นแล้วสวนลุงฮุยยังเน้นปลูกไม้ผลและพืชชนิดอื่นๆ ในแบบอินทรีย์เท่านั้น จะผลิตปุ๋ยอินทรีย์ทุกอย่างไว้ใช้เอง อีกทั้งการป้องกันโรค/แมลง ยังนำสารที่ผลิตจากธรรมชาติมาใช้ โดยการปลูกพืชแบบอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ได้ส่งผลต่อคุณภาพหรือปริมาณผลผลิตด้อยลงแต่ประการใดเลย
อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างคุณภาพและความเข้มแข็งให้แก่พืชไม้ผล ทำให้ผลผลิตมีรสอร่อย ขนาดใหญ่ รูปลักษณะสมบูรณ์มากกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รับความสนใจจากลูกค้ามากหากรู้ว่าเป็นอินทรีย์ซึ่งลูกค้าไม่ต่อรองราคาเลย ถึงวันนี้สวนเกษตรลุงฮุยมีอายุกว่า 40 ปีแล้ว

 85 
 เมื่อ: มิถุนายน 07, 2021, 03:08:36 am 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
 ;)คำนึงครั้ง เยาว์วัย เป็นเพื่อนเล่น
แม้จะเป็น คุณอา ตามศักดิ์ศรี
อายุห่าง หลานสาว เพียงสามปั
มีชีวี ใกล้กัน อย่างมั่นใจ

เราอยู่บ้าน เดียวกัน  สองหลังหลัก
นอกชานแล่น กลางประจักษ์ ครอบครัวใหญ่
นอกชานกั้น  กลางบ้าน  เล่นรวมใจ
แดงพี่ใหญ่ ดูแลน้อง อีกหลายคน

แดง จุก เบิ้ม ขวัญ กล้วย แขก รา ตามลำดับ
พี่ระเวีย พี่สะใภ้รับ  กำกับหน
พี่สมนึก พี่ชายใหญ่ใจอดทน
เลี้ยงลูกหลาน จน เติบใหญ่ไม่ร้างลา

บ้านข้างหลัง พ่อ แม่ พี่น้องอยู่
สนุกเล่น อ่อยเหรียญ  อย่างหรรษา
แม่ย่าให้สตางค์แดง เล่นอ่อยมา
ทุกเวลา หยอกล้อ อย่างพอใจ

เมื่อเติบใหญ่ แยกย้าย ไปหลายแห่ง
อาไปตั้งหลักแหล่ง  นครใหญ่
นานนานมา เยี่ยมหลาน ด้วยฤทัย
แยกครอบครัว กันไป ในเส้นทาง

แดงได้เป็น ศอ.นอ. คนรู้จัก
มีคนรัก มากมาย ที่ถากถาง
การศึกษา ดูแล ชี้แนวทาง
เป็นตัวอย่าง แก่ครูบา มาช้านาน

เมื่อเกษียณ ยังทำงาน  การหลายหลาก
ไม่คิดว่า  จะจาก ยังเยี่ยมขาน
ครั้งสุดท้าย ไปเยี่ยมเยือน ที่โรงบาล
ไม่กี่วาร ลาจากไป มิได้ลา

มีลูกดี อย่างหมอเปิ้ล  คนกล่าวขาน
แดงมีหลาน สองคน แสนหรรษา
รักลูกหลาน ยิ่งชีวิต จิตศรัทธา
มอบเวลา ให้ลูกหลาน  อย่างมั่นคง

ฟ้ามาพราก จากไป ในครานี้  
ไม่ปราณี เจ็บช้ำ ย้ำประสงค์
ขอให้แดง อยู่คู่ฟ้า เจตน์จำนง
สุวิมล เทพประจง  เจิดวิมาน

 86 
 เมื่อ: มิถุนายน 02, 2021, 02:43:24 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
หลวงพ่อทำนอง]

ประวัติ
          ร้อยเอกทำนอง โยธินธนสมบัติ เป็นบุตรนายผ่าน-นางทองสุข ปัสสา เกิดเมื่อวันที่ 21 กรกฏาคม พ.ศ. 2467 ที่จังหวัดชัยนาท เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 13 คน สำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนวิชัยบำรุงราษฏร์ อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท จากนั้นได้ประกอบอาชีพครู ต่อมาได้รับราชการทหาร และใน พ.ศ.2525 ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุประจำอยู่ที่วัดศรีโยธินจนถึงทุกวันนี้

 ผลงาน
          ร้อยเอกทำนอง โยธินธนสมบัติ เป็นผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน และวัดศรีโยธิน หมู่ที่ 7 ตำบลหนองปลิง โดยจับจองซื้อที่ดินจากกำนันบุศย์ ประมาณ 200 กว่าไร่ และซื้อเพิ่มอีก 100 ไร่ เพื่อต้องการสร้างวัดและหมู่บ้าน ในปี พ.ศ. 2520 ได้สร้างวัด ตัดถนนและซอยทั้งหมด 17 ซอย รวมเป็นเนื้อที่ 51 ไร่ จากนั้นได้จัดแบ่งให้ราษฏรที่ไม่มีที่อยู่อาศัยมาอาศัยอยู่ครอบครัวละ 1 งาน ในเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ คนที่มาอาศัยส่วนใหญ่อพยพมาจากทางภาคอีสาน เมื่อรวบรวมผู้คนได้ประมาณ 40 กว่าหลังคาเรือน ก็แยกจากบ้านบ่อสามแสนตั้งหมู่บ้านขึ้นใหม่ เป็นหมู่ที่ 14 ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นหมู่ที่ 7 บ้านศรีโยธิน นอกจากนี้ยังได้แบ่งที่ดินให้เป็นที่ก่อสร้างสำนักงานขนส่งจังหวัด จำนวน 16 ไร่ แบ่งที่ดินให้เป็นที่สร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีกจำนวน 20 ไร่ ร้อยเอกทำนองสนใจในพระพุทธศาสนาจึงได้อุทิศตนเพื่อทำนุบำรุงพุทธศาสนาให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น ท่านร่วมกับชาวบ้านอัญเชิญหลวงปู่ศรีสรรเพชญมาประดิษฐาน ณ วัดศรีโยธิน ซึ่งหลวงปู่ศรีสรรเพชญเป็นพระพุทธรูปโบราณเนื้อศิลาแลงทั้งองค์ ขุดพบที่บริเวณวัดคูยาง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดศรีโยธิน
         บุคคลที่กล่าวมาเป็นบุคคลที่ได้กระทำความดี ทำประโยชน์ สร้างสรรค์และพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญก้าวหน้า สร้างความศรัทธา เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือแก่คนในท้องถิ่น แนวทางการทำงานและการกระทำความดีต่างๆ จะเป็นแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิตของชนรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป

คำสำคัญ : หลวงพ่อทำนอง

ที่มา : สันติ อภัยราช. (2548). หนองปลิง วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร. กำแพงเพชร: องค์การบริหารส่วนตำบลหนองปลิง.

 87 
 เมื่อ: พฤษภาคม 29, 2021, 12:51:35 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
แด่คุณแม่นิภา   เกตุอ่ำ
ราวเดือนดับ   ดาวร่วง  อีกดวงแล้ว   ประกายแวว  วูบดับ ลับหล่นหล้า
ในคืนนี้ ไม่มีแล้ว ดวงดารา                                 อยู่คู่ฟ้า  มานาน นิรันดร์กาล
          แม่นิภา  เกตุอ่ำ ยังเจิดจิต                          มีชีวิต   ที่งดงาม ตามประสาน
จากนางฟ้า วิชาชีพ  พยาบาล                              ต้องลาออก จากงาน  ติดตามไป
       นายอำเภอประเทือง เรืองยศา                     ด้วยศรัทธา  ย้ายตาม งามสดใส
หลายแห่งหน  หลายอำเภอ ทั้งใกล้ใกล                 มีจิตใจ ที่งดงาม  ตามสามี
      เลี้ยงลูกหลาน  ด้วยรัก ประจักษ์จิต                มีชีวิต ที่งดงาม  ในศักดิ์ศรี
แม่นิภา  เกตุอ่ำ   ยอดนารี                                 แม่จึงมี  พระคุณ  อิ่มอุ่นไอ
     สนับสนุน สามี และลูกหลาน                         อยู่เบื้องหลัง การงาน  ร่วมแก้ไช
งานทุกอย่าง   สำเร็จ  เสร็จด้วยใจ                       แม่จากไป ไม่กลับมา เมื่อเสร็จงาน
     รำลึกถึง ความดี ที่มีอยู่                                 เคยครองคู่  กับบิดา มหาศาล
หลายสิบปี  ครองคู่ นิรันดรฺกาล                           บรรเจิดจาร  จากไป  ไม่กลับคืน
      ต่อไปนี้ ไม่มีแล้ว คนห่วงหา                           คนดูแล  ทุกเวลา ไม่ขัดขืน
คนที่รัก ดูแล คนหยัดยืน                                   คนที่ฝีน แม้เหนื่อยอ่อน คนสอนดี
    ลูกสัญญา จะมิเลือน เตือนจากจิต                 มีชีวิต  ตามคำสอน ให้สุขี
ขอแม่สู่  สรวงสวรรค์ ชั้นปราณี                        เกษมศรี  สรวงสรรค์  ชั้นดารา
    แม่กลับสู่ ฟากฟ้า ดาราสวย                         ดาวคู่ด้วย ความดีงาม แสนสง่า
คงงดงาม สุกสว่าง กลางนภา                  ทุกหัวใจ  รักศรัทธา แม่นิรันดร์......
     









 88 
 เมื่อ: พฤษภาคม 24, 2021, 06:03:16 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
ภายในบริเวณวัดท้ายเกาะ ตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ได้ทำการรื้อถอนโบสถ์เก่า อายุ 82 ปี สร้างในปีพุทธศักราช 2482 มีลักษณะพื้นและผนังเป็นอิฐโบกปูน เสาเป็นไม้ หลังคามุงกระเบื้องดินเผา เนื่องจากได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จึงได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์สร้างโบสถ์ใหม่ พบว่า ใต้ฐานเสมามีลูกนิมิตที่แปลกลักษณะเป็นหินก้อนใหญ่ๆ จำนวน 9 ลูก มีชาวบ้านที่ทราบข่าวเดินทางมาที่วัดท้ายเกาะ เพื่อกราบไหว้ขอโชค ขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งปัจจุบันหาดูลูกนิมิตลักษณะนี้ได้ยากแล้ว มักจะพบเป็นลูกนิมิตที่ลักษณะทรงกลม  นอกจากนั้น ยังพบฐานหน้าองค์พระประธาน บรรจุพระพิมพ์ต่างๆ เทปูนปิดทับไว้ มีข้อความเขียนไว้  วิสาขะบูชา ปีระกา พ.ศ. 2512 สร้างพระพิมพ์แบบต่างๆ เป็นพุทธบูชา 135,610 องค์ เสร็จวันเพ็ญเดือน 9 บรรจุไว้ ถ้ำเขาตระบองนาค ตาคลี นครสวรรค์ 40,025 วัดคณฑีศรีวชิราราม กำแพงเพชร 40,025 และที่วัดศรีปุณณาวาสได้ทำพิธีปลุกเสก วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม 2513 โดยพระสงฆ์ 30 รูป บรรจุวันศุกร์ ในโอ่ง 7 โอ่ง จำนวน 55,565 และข้อความที่ไม่ชัดเจนคาดว่าเป็นของประชาชนอีกจำนวน 1 โอ่ง จำนวน 1,591 ส่วนบริเวณภายในวัดมีพุทธศาสนิกชนที่เลื่อมใสในพุทธศาสนา มาร่วมกันก่อสร้างบูรณะปฏิสังขรณ์โบสถ์ใหม่แทนหลังเก่า โดยพระครูอาทร วชิโรวาท  เจ้าคณะตำบลไตรตรึงษ์   เจ้าอาวาสวัดศรีปุณณาวาส เปิดเผยว่าโบสถ์หลังเก่าได้ชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก จึงได้ทำการรื้อเพื่อสร้างใหม่ให้เหมือนโบสถ์หลังเก่าให้ได้มากที่สุด จึงฝากบอกบุญญาติโยม สามารถมากราบไหว้ ร่วมทำบุญได้ที่วัดท้ายเกาะ สำหรับ วัดท้ายเกาะ หรือชื่อเป็นทางการว่า วัดศรีปุณณาวาส คำว่า วัดท้ายเกาะ หมายถึง วัดท้ายเกาะขี้เหล็ก ซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่หน้าเมืองไตรตรึงษ์ ที่เรียกว่าเกาะขี้เหล็กเพราะบนเกาะนั้นมีเศษตะกรันขี้เหล็กจำนวนมาก จากการสืบถามและสันนิษฐานว่า จะเป็นเกาะที่ทำอาวุธส่งเมืองกำแพงเพชรและเมืองใกล้เคียง

 89 
 เมื่อ: พฤษภาคม 17, 2021, 10:03:05 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
เอก บรมธาตุแล้ว            เอกองค์
เอก ราชวชิรเมธีจำนง     เอกล้ำ
เอก สงฆ์ชากังราวผจง     เอกมั่น  รูปนา
เอก เจ้าคณะจังหวัดค้ำ    เอกแล้วเรืองกำแพง

 90 
 เมื่อ: พฤษภาคม 17, 2021, 09:44:32 pm 
เริ่มโดย apairach - กระทู้ล่าสุด โดย apairach
Toggle navigation
หน้าหลัก


พระธรรมภาณพิลาส (อดุลย์ อมโร ป.ธ.๘)
 

เกิด   ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๕
อายุ   ๖๙ ปี
พรรษา   ๔๖
วัด   วัดคูยาง
ท้องที่   กำแพงเพชร
สังกัด   มหานิกาย
วุฒิการศึกษา   ป.ธ.๘, ศษ.บ., ศษ.ม., พธ.ด.



การศึกษา
ปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต (พธ.ด.)
พ.ศ. ๒๕๒๑ สอบได้ เปรียญธรรม ๘ ประโยค
พ.ศ. ๒๕๒๗ สำเร็จ ปริญญาศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย (ศษ.บ.) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
พ.ศ. ๒๕๓๙ สำเร็จ ปริญญาศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาบริหารการศึกษา (ศษ.บ.) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
พ.ศ. ๒๕๔๓ สำเร็จ ปริญญาศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา (ศษ.ม.) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ตำแหน่ง
ฝ่ายปกครอง
 เจ้าอาวาสวัดคูยาง พระอารามหลวง
 เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร
สมณศักดิ์
พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็น เปรียญธรรม ๘ ประโยค
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญ ที่ พระวิเชียรโมลี [1]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชวชิรดิลก ตรีปิฎกวิภูษิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [2]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพปริยัติ พิพัฒนศาสนกิจ ตรีปิฎกวิภูษิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [3]
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็น พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมภาณพิลาส ศาสนศาสก์สุนทร บวรปริยัติกิจ ตรีปิฎกวิภูษิต มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี [4]

ที่มา
1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๐๔, ตอนที่ ๒๕๓ ง, ๕ ธันวาคม ๒๕๓๐, หน้า ๙
2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๑๐, ตอนที่ ๒๐๒ ง, ๖ ธันวาคม ๒๕๓๖, หน้า ๓
3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๒๑, ตอนที่ ๓ ข, ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗, หน้า ๙
4. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๒๙, ตอนที่ ๖ ข, ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕, หน้า ๑
พระราชาคณะภูมิลำเนาภาคเหนือ
แจ้งเพิ่มข้อมูล info@sangkhatikan.com

www.sangkhatikan.com สร้างขึ้นเพื่อให้ผู้ที่สนใจ ศึกษาข้อมูล และเป็นที่รวบรวมข้อมูลพระสังฆาธิการทั่วประเทศ
ทางผู้จัดทำขออนุญาติ เจ้าของรูปและข้อมูลทุกท่าน ที่นำมาเผยแพร่

พระสังฆาธิการ : sangkhatikan.com
สำนักงานweb : วัดสำโรงเหนือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๑๐๑๓๐
E-mail : info@sangkhatikan.com
Facebook

 

หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10
Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!