จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
พฤษภาคม 03, 2024, 11:34:00 am *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
ข่าว: จดหมายเหตุวัฒนธรรมกำแพงเพชร โดย อาจารย์สันติ อภัยราช
ยินดีต้อนรับสมาชิก และผู้เยื่ยมชมทุกๆท่าน
 
   หน้าแรก   ช่วยเหลือ ค้นหา ปฏิทิน เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก  
หน้า: [1]
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระเจ้าพรหมมหาราชกษัตริย์แห่งเชียงแสนผู้ค้นพบเมืองกำแพงเพชร  (อ่าน 6479 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
apairach
Administrator
Hero Member
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1414


ดูรายละเอียด อีเมล์
| |
« เมื่อ: พฤศจิกายน 07, 2010, 10:08:37 pm »

เมืองกำแพงเพชร เป็นเมืองโบราณ ที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าพรหมมหาราชกษัตริย์แห่งเชียงแสนโดยตรง พระเจ้าพรหมมหาราช มหาราชองค์แรกของราชอาณาจักรไทย ที่เสด็จขับไล่ขอมแห่งเมืองอุโมงค์เสลา เตลิดเปิดเปิง ล้มตายจากเชียงแสนลงมาทางใต้ หนึ่งเดือนเศษ จนกระทั่งพวกขอมหนีไปติดลำน้ำปิง ไม่สามารถหนีต่อไปได้ ถูกพระเจ้าพรหมฆ่าตายเป็นอันมาก จนกระทั่งองค์อัมรินทราธิราช เกรงว่าพวกขอมจะสูญเผ่าพันธุ์ จึงขอให้พระวิษณุกรรม เทพเจ้าแห่งช่าง เนรมิตกำแพงสูงใหญ่ขวางกั้นไว้ไม่ให้พระเจ้าพรหมไล่ฆ่าขอมจนสูญเผ่าพันธุ์ กำแพงเนรมิตนั้นต่อมาผู้คนเรียกขานกันว่า กำแพงเพชร
     พระเจ้าพรหมมหาราช ผู้นี้ เปรียบเสมือนผู้ให้กำเนิด เมืองกำแพงเพชร  มีประวัติความเป็นมาที่มหัศจรรย์ ดังมีเรื่องที่น่าสนใจพิสดารดังนี้
      อาณาจักรไทยโยนก มีกษัตริย์ปกครองมาหลายสิบพระองค์ มีกษัตริย์องค์ที่ ๒๕พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า พระเจ้าพังคราช มีมเหสีทรงพระนามว่าพระนางเทวึ พระเจ้าพรหมมหาราชทรงเป็นราชโอรสองค์ที่สองของพระเจ้าพังคราช มีพระเชษฐาชื่อ เจ้าฟ้าทุกขิตกุมาร ซึ่งเป็นอุปราชของเชียงแสน       ในสมัยพระเจ้าพังคราช พวกของขอมแห่ง อุโมงค์เสลา ยกกองทัพมาต่อกับทัพไทย ที่เชียงแสน พวกขอมได้ชัยชนะ แล้วได้เนรเทศ พระเจ้าพังคราช  ไปอยู่เมืองสี่ตวง หรือเวียงสี่ตวง ปัจจุบันคือเวียงแก้ว ตำบลป่าสักน้อย อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย พระเจ้าพังคราช แต่งกายราว เป็นสามัญชน ต้องมาร่อนทองคำ ส่งให้ขอม หลอมเป็นทองคำขนาดผลมะตูม ส่งส่วยให้พวกขอมปีละสี่ลูก ทำให้ประชาชนและพระเจ้าพังคราชลำบากยิ่งนัก พวกขอมเข้าปกครองนครเชียงแสน กดขี่ไทยมาตลอด
     คนไทยตกอยู่ในอำนาจพระยาขอม ที่เมืองเชียงแสน ได้รับการกดขี่อย่างทารุณกรรม ดูถูกเหยียดหยามคนไทย ไม่เว้นแม้แต่ผู้ทรงศีลก็ได้รับความกดขี่ดูแคลนอย่างมากมาย ดังตำนานสิงหนวัติกุมาร ได้บันทึกไว้ว่า
     ที่เมืองสี่ตวง มีสามเณรรูปหนึ่ง  มีอายุราว ๑๙ ปี  ท่านได้ออกบิณฑบาต  ได้เดินเข้าไปในคุ้มของพระยาขอม พระยาขอมแสดงอาการดูถูกดูแคลน ว่าสามเณรเป็นคนไทย กล่าวปริภาษ ด้วยคำหยาบคายว่า เณรผู้นี้ เป็นคนไทย เป็นชาวไพร่ ไม่คู่ควรกับ เรือนและอาหารของพระยาขอมให้ไล่ออกไป จึงบอกแก่ไพร่พลว่า  สามเณรผู้นี้เป็นคนไทย เป็นลูกส่วย พวกสูทั้งหลายอย่าเอาข้าวของของกูไปใส่บาตรแก่มัน ขับไล่มันไป
     สามเณรได้ฟังรู้สึกอับอาย จึงคิดหาทางตอบแทนความชั่วของเจ้าขอมให้ได้ นำอาหารที่บิณฑบาตได้ไปถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระบรมธาตุแต้วตั้งจิตอธิษฐานว่า ด้วกุศลที่ข้าได้ทำไว้ จงบันดาลให้ข้าไปจุติ ภายในเจ็ดวัน และให้ข้าไปเกิดในครรภ์นางมหาเทวีมเหสีแห่งพระเจ้าพังคราช และถ้าข้าเกิดมา ขอให้มีรูปร่างอันงดงาม มีกำลังที่กล้าแข็ง มีอายุยืนยาว  เป็นที่รักของบิดามารดา และประชาชนทั้งปวง เมื่อข้าอายุได้ ๑๖ปี ให้ได้ชัยชนะแก่พระยาขอม ผู้โอหัง ไม่รู้คุณแห่งพระรัตนตรัย
       เมื่อสามเณร ได้ตั้งสัจจะอธิษฐาน ต่อพระบรมธาตุดอยกู่แก้วแล้ว ก็นั่งสมาธิอยู่ใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง ไม่ยอมฉันข้าวและน้ำครั้นล่วง 7 วัน สามเณรองค์นี้ก็ได้ถึงแก่มรณภาพ ด้วยสัจจวาจา ดวงวิญญาณ ของสามเณร ก็ได้ไปถือปฏิสนธิ ในครรภ์ของพระนางเทวี มเหสีของพระเจ้าพังคราชส่วนพระนางเทวี ในราตรีนั้นกาลคืนนั้น ขณะที่พระนางทรงบรรทมอยู่ พอใกล้สว่าง ก็ทรงสุบินนิมิตรว่าได้เห็นช้างเผือกตัวหนึ่ง มายืนอยู่ใกล้พระองค์ แล้วเดินผ่านเข้าไปในเวียงทางทิศใต้ เมื่อพ้นเวียงออกไปแล้ว ได้วิ่งไล่คนทั้งหลาย ฝูงชนได้แตกตื่นหนีกันเป็นวุ่นวาย เมื่อพระนางสดุ้งตื่นขึ้น จึงได้ทรงเล่านิมิตรนี้ ให้พระราชสวามีฟัง พระเจ้าพังคราชทรงทำนายว่า จะมีผู้มีบุญ มาเกิดในครรภ์ของพระนาง ตั้งแต่นี้ต่อไปขอให้พระนางจงรักษาพระครรภ์ไว้ให้ดีเถิด เมื่อพระนางทรงครรภ์ได้เป็นเวลา 3 เดือน พระนางทรงต้องการอาวุธต่างๆ พระเจ้าพังคราช ก็ทรงหาให้ตามความประสงค์ แสดงว่าพระราชโอรสจะต้องเป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่อย่างแน่นอน
      ครั้นพระครรภ์ครบถ้วนทศมาส พระนางก็ประสูติพระกุมาร มีวรรณผุดผ่อง สิริโฉมงดงาม ดังพระพรหมชั้นสูง พระบิดาจึงทรงขนานพระนามว่า "เจ้าพรหมราชกุมาร" เมื่อทรงเจริญวัย พระบิดา ได้ทรงให้เข้ารับการศึกษา จากครูอาจารย์ที่มีวิชาความรู้ ทางศิลปศาสตร์ และวิชาพิชัยสงคราม พระเจ้าพรหมกุมาร เป็นผู้มีจิตใจกล้าหาญสามารถเรียนศิลปศาสตร์ จากครูบาอาจารย์ได้อย่างว่องไว สามารถใช้อาวุธ และตำหรับตำราพิชัยสงคราม ได้เป็นอย่างดี พระเจ้าพังคราชพระราชบิดา ได้ทรงค้นหาครูบาอาจารย์ ผู้ทรงความรู้ทางพิชัยสงคราม และพระฤาษีผู้ทรงวิชาด้วยอิทธิฤทธิ์ ให้พระกุมารได้ศึกษาอบรม จนพระราชกุมารได้ศึกษาจนจบ ทรงมีฝีพระหัตถ์ อันเข้มแข็ง ยากที่จะหาผู้ที่เสมอเหมือน ในยุคนั้น ตาม
       จากตำนานสิงหนวัติกล่าวว่า พระเจ้าพรหมกุมาร จับช้างเผือกได้เชือกหนึ่ง จากกลางแม่น้ำโขง ชื่อว่า "ช้างเผือกพวงคำ" เมื่อได้ช้างเผือกคู่บารมีแล้ว พระเจ้าพรหมกุมาร ได้ทรงสร้างเมืองใหม่ขึ้นเมืองหนึ่ง ริมฝั่งแม่น้ำสาย ให้ประชาราษฎร์ ชาวบ้านชาวเมือง ช่วยกันขุดคูทดน้ำ จากแม่น้ำสายเข้ามาเป็นคูเมือง ทรงตั้งเมืองนี้ว่า "เมืองพวงคำ" เหมือนกับชื่อช้างเผือกคู่บารมี ปัจจุบันเมืองนี้เป็นที่ตั้งตัวอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
       พระเจ้าพรหมกุมาร ทรงใช้เมือง "พวงคำ" นี้เป็นค่ายฝึกไพร่พล ให้เกิดความชำนิชำนาญ วิชาการใช้อาวุธ ทั้งหัดไพร่พลให้รู้จักการยิงปืนไฟ ให้ได้คล่องแคล่ว เมื่อไพร่พลทั้งหลาย มีความชำนาญจนจบวิชาการรบแล้ว ก็ประกาศแข็งเมือง เลิกการส่งส่วยให้แก่ขอมต่อไป ในเวลาเดียวกันนั้น พระเจ้าพรหมกุมาร ก็ทรงแต่งตั้งไพร่พล ปลอมตัวเข้าไปสืบหาความลับ ข่าวสารในเมืองเชียงแสน อยู่เป็นประจำเพื่อต้องการทราบความเคลื่อนไหว ของพวกขอม ที่จะมีการเตรียมรี้พล ออกมาปราบปรามคนไทยอย่างไรต่อไป

       พญาขอม รอส่วยจากเจ้าแห่ง ไทย คือพระเจ้าพังคราชมาได้ สอง สามปี ไม่เห็นทางไทย นำส่วยที่เป็นทองคำเท่าลูมะตูมจำนวนปีละสี่ลูกไปถวาย พญาขอมก็บันดาลโทสะ คิดจะสั่งสอนคนไทยให้หัวอ่อนลงเสียบ้าง จึงเตรียมยกทัพ ที่จะมาเหยียบย่ำคนไทยให้แหลกอีกครั้งหนึ่ง ฝ่ายคนไทยที่ปลอมตัว อยู่กับฝ่ายขอมในเมืองเชียงแสน เมื่อสืบข่าว ได้เรื่องแน่ชัดแล้ว ก็รีบกลับนำข้อความ และเรื่องราวที่ได้รู้เห็นมากราบทูล พระเจ้าพรหมกุมารทรงทราบ
       พระเจ้าพรหมกุมาร จึงทรงให้แม่ทัพนายกอง ได้เตรียมกองทัพผู้กล้าหาญ ที่ได้ฝึกฝนมาดีแล้ว ออกไปตั้งรับ และสู้รบกับทหารของพวกขอม กองทัพไทยและกองทัพขอม ได้ทำการสู้รบกันที่ทุ่งสันทราย ฝ่ายซึ่งได้ฝึกมาดีกว่า ก็กำความมีชัยชนะ ได้อย่างง่ายดาย ทัพของขอมได้แตกพ่ายไม่เป็นส่ำ หนีเข้าเมืองเชียงแสน แล้วปิดประตูเมืองไว้ทุกด้าน ไม่ยอมออกมาสู้กับไทยอีก เพราะเกรงกลัวฝีมือรี้พลของพระเจ้าพรหมกุมาร กองทัพของเจ้าพรหมกุมาร ก็เข้าล้อมเมืองเชียงแสนไว้ ส่งทหารเข้าประชิดกำแพงเมือง ได้ชัยชนะและได้แก้แค้นดังที่ได้ตั้งอธิษฐานไว้ไทยได้เป็นเอกราชแก่ขอมตั้งแต่นั้นมาด้วยวิธีที่ชาญฉลาดดังนี้

       พระเจ้าพรหมกุมารทรงช้างคู่บารมีชื่อ "พวงคำ" นำพลเข้าบุกประตูเมือง ช้างคู่บารมี เข้าแทงประตูเมืองพังทลายลง ทหารไทยทั้งหลายก็ได้ตรูกันเข้าเมืองได้ คนไทยอดใจที่คับแค้นมานานแสนนาน ถึงทีแล้ว จึงห้ำหั่นทหารขอม ล้มตายลงอย่างมากมาย ให้สมกับที่พญาขอมได้ข่มเหงไทย มาเป็นเวลานาน 17 ปี พวกขอมที่รอดตาย ก็พากันหนีลงทางใต้เพื่อเอาชีวิตรอด ทหารพระเจ้าพรหมกุมาร ได้ขับไล่พวกขอมไป อย่างกระชั้นชิด ริบทรัพย์ และที่จับเป็นเชลยได้ ก็ให้เอาไปทำการงาน ที่ขัดขืนก็ได้ฆ่าเสียให้ตาย เพื่อกวาดล้างพวกขอม ให้สิ้นซากจากเมืองเชียงแสน ทหารพระเจ้าพรหมกุมาร ได้ยกทัพขับไล่พวกขอม ลงไปทางทิศใต้เป็นเวลา 1 เดือน จึงไปพบแผ่นดินกำแพงเพชร และกำแพงเมืองเนรมิตร ไม่สามารถไล่ฆ่าขอมได้อีกต่อไป กำแพงเนรมิตรนั้น ได้กลายเป็น เมืองกำแพงเพชรในเวลาต่อมา
   พรหมกุมาร จึงทรงให้กองทัพไทย เดินทางกลับเมืองเชียงแสน ปรับปรุงซ่อมแซมเมือง ให้เป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงได้อัญเชิญ พระเจ้าพังคราช พระราชบิดา มาครองเมืองเชียงแสนต่อไป พระเจ้าพังคราช ทรงรักใคร่พระเจ้าพรหมกุมารเป็นอย่างมาก แล้วทรงยกเมืองเชียงแสน ให้พระเจ้าพรหมกุมาร ทรงครอบครองต่อไป แต่พระเจ้าพรหมกุมารไม่ทรงรับ พระเจ้าพังคราช จะทรงตั้งให้เป็นมหาอุปราช พระเจ้าพรหมกุมารก็ไม่ทรงรับอีก กราบบังคมพระราชบิดาว่า ขอให้ยกพระเชษฐาธิราช คือ เจ้าฟ้า "ทุกขิตกุมาร" ขึ้นเป็นมหาอุปราชเถิด พระเจ้าพังคราชในเมื่อเห็นว่า ความตั้งพระทัยของพระราชโอรสน้อย เป็นอย่างนั้น จึงทรงได้ปฏิบัติตามความประสงค์ ของพระเจ้าพรหมกุมาร คือ ทรงตั้ง เจ้าฟ้าทุกขิตกุมาร เป็นมหาอุปราชแห่งเมืองเชียงแสน
      ฝ่ายพระเจ้าพรหมกุมาร เมื่อทรงปราบพวกขอมสงบราบคาบแล้ว ทรงคิดในอนาคต ไปข้างหน้าว่า เมื่อพวกขอมได้ปราชัยพวกไทย ในภายหลังพวกขอมอาจจะคิดการแก้แค้นอีกก็เป็นได้ พระเจ้าพรหม จึงได้กราบถวายเรื่องราว ให้พระราชบิดาทรงทราบ แล้วกราบลา พาเอาไพร่พล พร้อมทั้งช่างทั้งหลาย มีช่างตีเหล็ก ช่างทอง ช่างไม้ บัณฑิตผู้มีปัญญา พร้อมทั้ง พระสังฆมหาเถร อพยพไปทรงตั้งเมืองใหม่ขึ้น ทางทิศตะวันตก ของเมืองเชียงแสน เมืองนี้ตั้งอยู่บนฝั่งของแม่น้ำฝางตอนบน ทรงสถาปนาเมืองนี้ว่า "เมืองชัยปราการ " ซึ่งได้มีซากเมือง ปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ การที่พระองค์ทรงสร้างเมืองชัยปราการนี้ขึ้นก็เพื่อจะให้เป็นเมืองหน้าด่าน เพื่อป้องกันข้าศึก ที่จะมาทางทิศตะวันตกของเมืองเชียงแสน
     ตลอดสมัยพระเจ้าพรหมมหาราช ครั้นทรงสร้างเมืองชัยปราการ เสร็จเรียบร้อยแล้วประมาณ 3 ปี พระพุทธศักราชล่วงได้ 949 ปี (ตามบันทึกของกรมศิลปากร ว่า พ.ศ.1483) มีพระมหาเถระองค์หนึ่ง ชื่อว่า พระพุทธโฆษาจารย์ เป็นชาติมอญ มีบ้านเดิมอยู่เมืองสะเทิม (พม่าเรียกว่า ตะโถ่ง) อยู่ใกล้กับเมืองเมาะลำเลิง ประเทศพม่า พระพุทธโฆษาจารย์นี้ ท่านได้ออกจากเมืองมอญ ลงสำเภาไปศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศลังกา มีความรู้พระพุทธศาสนา จบพระไตรปิฏกอย่างแตกฉาน ก็ได้กลับมาสู่ประเทศของตน ท่านได้เผยแผ่พระพุทธศาสนา ในประเทศมอญ และประเทศพม่าตามลำดับ แล้วได้เดินทางเข้ามาในเมืองสุโขทัย ลำดับมา จนถึงเมืองโยนก ถึงเมืองเชียงแสน ในสมัยพระเจ้าพังคราช นอกจากพระพุทธโฆษาจารย์ จะนำพุทธศาสนา มาเผยแผ่ในนครโยนกแล้ว ท่านยังได้อัญเชิญพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้ามาด้วย 16 องค์ เป็นอัฏฐิหน้าผาก มีขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ได้แบ่งพระบรมธาตุขนาดใหญ่ 1 องค์ ขนาดกลาง 2 องค์ และขนาดเล็ก อีก 2 องค์ ถวายแก่พระญาเรือนแก้ว ส่วนที่เหลือได้ถวายแก่พระเจ้าพังคราช พระเจ้าพังคราชได้นำพระโกฏเงิน พระโกฏทอง และพระโกฏแก้ว มารองรับพระบรมธาตุทั้ง 11 องค์นั้น ทรงมอบให้พระเจ้าพรหมมหาราช นำไปประดิษฐาน ก่อพระเจดีย์ไว้ที่บนดอยน้อยหรือจอมกิตติ ซึ่งเป็นดอยที่ พระพุทธเจ้า ทรงประทานเกษาธาตุ บรรจุไว้ก่อนแล้ว ในสมัยโน้น  ราษฎรพากันนับถือพระพุทธศาสนา อย่างเคร่งครัด
    พระเจ้าพรหมราชให้ช่างก่อพระเจดีย์ชึ้น กว้าง 3 วา สูง 6 วา 2 ศอก บนดอยจอมกิตติ พระเจดีย์แล้วเสร็จ ในวันจันทร์ เดือน 6 เพ็ญ พ.ศ.1483 โดยบริบูรณ์ ได้ให้มีการทำบุญฉลองอย่างมโหฬาร ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ถวายมหาทานแก่ประชาราษฎร์ เป็นการมหาปางอันยิ่งใหญ่ พระพุทธศาสนาก็ได้เจริญรุ่งเรืองในเมืองเชียงแสน โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าพรหมมหาราชนี้ ได้เกิดศิลปกิจกรรม ในสร้างพระพุทธรูปด้วยทองสำริด ซึ่งเรียกว่า ศิลปกรรมสมัยเชียงแสน เมื่อพระเจ้าพรหมมหาราช ได้สร้างเจดีย์จอมกิตติสำเร็จเรียบร้อยแล้ว พระองค์เสด็จกลับ นครชัยปราการ พระองค์ได้ให้ช่างก่อพระเจดีย์ขึ้น ณ บนดอยพระธาตุสบฝาง หลังจากได้สร้าง เมืองชัยปราการเสร็จแล้ว 4 ปี พระองค์ได้นำเอาพระบรมธาตุที่ทรงแบ่งไว้ จากการสร้างพระธาตุดอยกิตติ ได้นำมาบรรจุไว้ที่เจดีย์วัดพระธาตุสบฝางนี้ นอกจากนี้ พระองค์ยังได้ให้ช่าง หล่อพระพุทธรูปขึ้นด้วยทองสำริด เป็นจำนวนมาก ได้นำไปถวายไว้ตามวัดที่พระองค์ทรงสร้าง มีวัดส้มสุก วัดเก้าตื้อ วัดป่าแดง วัดดอกบุญนาคเป็นต้น ประชาชนที่นับถือพุทธศาสนา ก็พากันสร้างพระพุทธรูป ตามเจตนาของแต่ละคนเป็นจำนวนหลายองค์ ถวายไว้ที่บนพระธาตุสบฝางนั้น สิ้นรัชกาลพระเจ้าพรหมมหาราช พระเจ้าชัยศิริโอรสขึ้นครองราชย์อพยพผู้คนมากำแพงเพชร ดังข้อความดังต่อไปนี้
 
 บทการแสดงแสงเสียง ในการสร้างเมืองกำแพงเพชร ของอาจารย์สันติ อภัยราช ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร ในงานประเพณีนบพระเล่นเพลง ปี๒๕๕๓ ว่า   ลุพุทธศักราช ๑๔๖๐  ในสมัยพระเจ้าพังคราช กษัตริย์องค์ที่ ๔๓ แห่งราชวงศ์สิงหนวัติ ได้ถูกพวกขอมขับไล่จากเมืองโยนกพันธ์ไปอยู่เวียงสี่ตวง ใกล้แม่น้ำสาย พระมเหสีทรงประสูติโอรส ทรงพระนามว่า พรหมกุมาร     พรหมกุมาร ทรงมีสติปัญญาเฉลี่ยวฉลาด มีความสามารถและโปรดปรานในการสงคราม เก่งกล้าสามารถมิมีผู้ใดเปรียบเทียบได้  เมื่อพรหมกุมารทรงพระชันษาได้ ๑๖ ชันษา  ได้ทรงปรึกษากับพระราชบิดา ในการขับไล่ขอมให้พ้นแผ่นดิน
พระเจ้าพังคราช ( ออกว่าราชการพร้อมพระมเหสีและขุนนางพร้อมพรหมกุมารขณะกำลังว่าราชการ ขุนเดโชทหารเอกขอมก้าวเข้ามาในท้องพระโรง)  
ขุนเดโช ( ท่าทางยะโส) : พระเจ้าพังคราช ปีนี้ ท่านส่งเครื่องราชบรรณการช้ามากข้าขอลงโทษโดยขอให้ท่านส่งเครื่องราชบรรณาการ ให้แก่พระเจ้ากรุงขอม เป็น๒ เท่าของเมื่อปีกลาย มิฉะนั้นกองทัพของเราจะบดขยี้บ้านเมืองของท่านให้ยับเยิน จำไว้
พระเจ้าพังคราช (แสดงอาการเกรงกลัว) ท่านขุนเดโช  ขอความกรุณาจาก พระยาขอมดำ เราส่งบรรณาการ ช้าเพราะ ข้าวยากหมากแพง  ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล จึงเก็บเกี่ยวได้น้อย  ราษฎรเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า  ขอทุเลาไปก่อน โปรดเห็นแก่ข้าเถอะท่านขุนเดโช
ขุนเดโช  ( ขว้างจอกสุราลงพื้นแตกกระจาย) ไม่ได้  ข้าขุนเดโช ในนามพระยาขอม ไม่อนุญาต ข้าให้เวลา สามเดือน ให้ท่านส่งเครื่องบรรณาการ สองเท่าของที่เคยส่งในเวลาสามเดือน  มิฉะนั้น ข้าจะเผาบ้านเมืองให้สิ้น  กวาดต้อนผู้คนไปกรุงขอม เป็นเชลยของเรา จำไว้ ( เดินออกไปอย่างรวดเร็ว)
พรหมกุมาร  ( เลื่อนตัวลงไปกราบถวายบังคมพระราชบิดาและพระราชมารดา)
ข้าแต่พระราชบิดา และพระราชมารดา  ลูกขออนุญาตจากท่านทั้งสอง ที่จะกำราบ   เจ้าขอม ที่กดขี่ข่มเหงเรามาช้านาน ยะโสโอหังมาก ลูกจะจัดการพวกมันเอง
 พระเจ้าพังคราช   (เลื่อนตัวลงมากอดพระราชโอรส)  ลูกยังเยาว์นัก อายุเพียงสิบห้าชันษา เจ้าจะต่อกรกับพระยาขอมที่โหดร้ายได้หรือลูก
พระมเหสี  ( เข้าสวมกอดราชโอรส)  ลูกรักของแม่ เจ้ามั่นใจหรือลูก พระยาขอม ร้ายกาจนัก จะต่อต้านได้หรือแม่เป็นห่วง
พรหมกุมาร ( ลุกขึ้นยืนแล้วประกาศก้องท้องพระโรง)  ข้าขอประกาศว่า ข้าจะขับไล่ขอมไปให้พ้นจากแผ่นดินไทยของเรา และต่อไปนี้ พวกขอมจะไม่สามารถเข้า มาในขอบขัณฑสีมาไทยได้อีก  ข้าสัญญา  เราจะกู้ชาติไทยของเราให้พ้นจากอำนาจของขอม ข้าจะสั่งสอนพวกมัน  
พระเจ้าพังคราช  พ่อกับแม่ ขออวยพรให้เจ้ามีชัยชนะต่อข้าศึก  อริราชศรัตรู จะมิสามารถเอาชนะลูกได้  

พรหมกุมาร (ประชุมทหารหาญ)  พี่น้องทหารหาญของข้า ถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะต้องกู้ชาติ ขับไล่พวกขอมออกไปจากแผ่นดินของเรา พวกมันกดขี่เรามานานแล้วถึงเวลาที่พวกเราจะปลดแอก ประกาศความเป็นไทยเสียที  ( ทหารโห่ร้องขึ้นพร้อมกัน)
กองทัพของพระเจ้าพรหม ปะทะกับกองทัพพระยาขอม กองทัพพระยาขอมสู้ไม่ได้ถอยหนีลงไปทางใต้ ล้มตายไปตลอดทาง จนไปติดลำน้ำปิงไม่สามารถหนีไปได้รอความตายอยู่  องค์อัมรินทราธิราช  สงสารเหล่ามนุษย์  เกรงจะสิ้นเผ่าพันธุ์ จึงตรัสแก่พระวิษณุกรรม ให้หาทางช่วย ไม่ให้ฆ่าฟันกันต่อไป
พระอินทร์  ท่านพระวิษณุกรรมเทพเจ้าแห่งช่างผู้ประเสริฐ  มนุษย์สองเหล่าเข่นฆ่ากัน
ขณะนี้ฝ่ายหนึ่งติดลำน้ำปิงหนีไปไม่ได้แล้ว ท่านจงเนรมิตรกำแพงเมืองขวางกั้นคนสองเผ่าพันธุ์ไว้  สงครามจะได้สิ้นสุด จงลงมือเถิด ท่านผู้ยิ่งใหญ่ เทพเจ้าแห่งช่าง   

พระวิษณุกรรม  พระพุทธเจ้าข้า  ............ขออำนาจแห่งความเมตตา ความดีงาม และความสามัคคี จงดลบันดาลให้ เกิดกำแพงศิลาแลงที่สูงใหญ่ กว่ากำแพงแห่งใด ขวางกั้นไว้ ไม่ให้ล้างเผ่าพันธุ์กัน ณ  บัดนี้ โอม.............
   ทันใดเกิดกำแพงเมืองที่ยิ่งใหญ่ ขวางกั้นทหาร  ของพรหมกุมาร  ใม่ให้ฆ่าฟันขอมดำต่อไปได้   พรหมกุมารจึงยกกองทัพกลับ
......ในกาลต่อมา ประชาชนยกย่อง  พรหมกุมารขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า  พระเจ้าพรหม  และเป็นพระเจ้าพรหมมหาราชในที่สุด....
......ต่อมาพระเจ้าชัยศิริ โอรสของพระเจ้าพรหม มหาราช  อพยพผู้คนลงมาทางใต้  เห็นกำแพงเนรมิตยิ่งใหญ่  แผ่นดินอุดมสมบูรณ์  มีลำน้ำปิงไหลผ่านจึงหยุดพัก ณ ที่แห่งนั้น
พระเจ้าชัยศิริ    ชัยภูมิแห่งนี้ เหมาะสม นัก ถ้าเราจะตั้งเมืองใหม่ขึ้นที่นี้  จะเหมาะสมสักเพียงใด
...............ทันใดมีชีผ้าขาวท่านหนึ่งปรากฏตังขึ้น  แล้วกล่าวอย่างก้องกังวานว่า
ชีผ้าขาว  ท่านมหาบพิตร  แผ่นดิน ณแห่ง นี้ เป็นแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์นัก อุดมสมบูรณ์  กำแพงเมืองแข็งแกร่งประดุจเพชร   เกิดขึ้นจากอำนาจแห่งพระวิษณุกรรม   ถ้าท่านสถาปนา เมืองขึ้นสถานที่ แห่งนี้ จะเป็นมหานครที่ยิ่งใหญ่ จะไม่มีข้าศึกใดมาทำลายเมืองได้  .....ขอจงทรงพระเจริญท่านมหาบพิตร
พระเจ้าชัยศิริ   (ประกาศสถาปนาเมืองกำแพงเพชรต่อหน้าทหารหาญ)
แผ่นดินแห่งนี้  มีชัยภูมิ เหมาะสม   น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ที่สำคัญที่สุด มีกำ แพงเมืองที่ยิ่งใหญ่ แข็งแกร่งประดุจเพชร จึงขอ สถาปนาเมืองแห่งนี้  เป็นเมืองสำคัญ ให้มีนามว่า
เมืองกำแพงเพชร  ขอให้เมืองกำแพงเพชร รุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ไปนิจนิรันดร์..........

                                                    สันติ อภัยราช
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 08, 2010, 12:28:20 am โดย apairach » บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by MySQL Powered by PHP Powered by SMF 1.1.11 | SMF © 2006-2009, Simple Machines LLC | Thai language by ThaiSMF Valid XHTML 1.0! Valid CSS!