หลวงพ่อวิเชียรโมลี (ปลั่ง พฺรหมฺโชโต)

(1/1)

apairach:
หลวงพ่อวิเชียรโมลี (ปลั่ง พฺรหมฺโชโต)
"พระวิเชียรโมลี" อดีตเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร และอดีตเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร พระภิกษุผู้ทรงวิทยาคุณ ที่ชาวเมืองกำแพงเพชร ให้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง         
พระวิเชียรโมลี มีนามเดิมว่า "ปลั่ง" ท่านเป็นชาวกำแพงเพชรโดยกำเนิด เกิดที่บ้านตำบลลานดอกไม้ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อปี พ.ศ.2417 บิดาชื่อ นายพุ่ม มารดาชื่อ นางน้อย ครอบครัวประกอบอาชีพกสิกรรม ท่านเป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนบุตร 5 คน ได้รับการศึกษาเบื้องต้นจนสามารถอ่านออกเขียนได้ที่วัดพระบรมธาตุ เมื่ออายุครบ
อุปสมบทแล้ว ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดคูยาง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร โดยมีพระครูธรรมาธิมุตมุนี (กลึง) วัดคูยาง เป็นพระอุปัชฌาย์พระปลัดจอก วัดเสด็จ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูชื่น วัดทุ่งสวน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า "พรหมโชโต" หลังจากอุปสมบทท่านได้เดินทางไปศึกษาหาความรู้ที่จังหวัดเชียงใหม่อยู่ระยะหนึ่งแล้วกลับมาอยู่ที่จังหวัดตาก
ต่อมาท่านได้กลับมาอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชรแดนมาตุภูมิอีกครั้ง โดยจำพรรษาที่วัดราษฎร์เจริญพร ตำบลหนองปลิง ก่อนย้ายไปอยู่ที่วัดอมฤต ตำบลลานดอกไม้ตก จากนั้นกลับไปอยู่ที่วัดคูยางอีกครั้ง ก่อนที่จะได้รับอาราธนาให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ เป็นลำดับ
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ. 2469 ครั้งแรกที่ได้รับพระราชทานแต่งตั้ง คือ พระครูเมธีคณานุรักษ์ ตำแหน่งผู้รักษาพระบรมธาตุ รั้งตำแหน่งรักษาการเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร เมื่อปี พ.ศ. 2473 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระครูวิเชียรโมลี ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร และเมื่อปีพ.ศ.2478 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยกเป็น พระวิเชียรโมลี ศรีวชิรปราการคณานุรักษ์ สังฆปาโมกข์ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร
พระวิเชียรโมลี (ปลั่ง) วัดพระบรมธาตุ นครชุม เป็นพระเถระผู้ทรงวิทยาคุณ ได้รับอาราธนาเข้าร่วมในพิธีปลุกเสก พระกริ่งชนะสงคราม ที่รัฐบาลในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นมิ่งขวัญกำลังใจแก่ทหารหาญ นับว่าเป็นพระเถระผู้ทรงวิทยาคุณที่มีชื่อเสียงมากรูปหนึ่งในสมัยนั้น สมัยสงครามอินโดจีน ท่านยังได้ทำเสื้อยันต์แดง แจกทหารผู้ไปราชการสงคราม ทำให้มีผู้เลื่อมใสในตัวท่านเป็นอันมาก เนื่องจากประจักษ์ในวิทยาคม จนได้รับอาราธนาให้นั่งเครื่องบินเพื่อหว่านทรายเสกให้ประชาชนและทหารรอดพ้น จากอันตรายจากภัยสงคราม
นอกจากนี้ พระวิเชียรโมลี ยังมีวัตถุมงคลเครื่องรางของขลัง เป็นที่ปรารถนาของประชาชนอีกมากมาย อาทิ หนังหน้าเสือลงยันต์ นางกวัก ผ้ายันต์นกคุ้ม รูปหล่อลอยองค์ขนาดเล็กหน้าตัก 1 นิ้ว เหรียญรูปท่านรุ่นต่างๆ แหวนและพระกริ่ง ซึ่งเป็นที่นิยมมากในสมัยนั้น และในปัจจุบันนี้ ก็ยังเสาะแสวงหาครอบครองกันอยู่ แต่มีน้อยนักที่จะได้ไว้ในครอบครอง
พระวิเชียรโมลี เน้นหลักคุณธรรม คือ ความเมตตา และความเสียสละ ละความโลภในลาภสักการะได้สิ้นเชิง ท่านเดินทางไปที่แห่งใด ไม่เคยต้องพกเงินติดตัวไปเลย ด้วยมีแต่ผู้คนเอามาถวายท่าน แต่ท่านก็ไม่เคยเก็บสะสมเงินทองที่ได้มานั้นไปใช้เป็นการส่วนตัว มีแต่นำไปพัฒนาบูรณะวัดให้สวยงามเป็นที่น่าศรัทธาเลื่อมใสของผู้มาทำบุญที่วัด นับว่าเป็นพระแท้ที่น่ายกย่องสรรเสริญกราบไหว้ได้อย่างสนิทใจอีกรูปหนึ่ง         
เจ้าคุณวิเชียรโมลี มรณภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2488 อายุ 71 ปี

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ